พุทธศาสนากับเทวดา

 

พุทธศาสนากับเทวดา

ความเชื่อเรื่องเทวดา ของชาวพุทธในประเทศไทย กล่าวถึงความหมายของคำว่า เทวดา การกำเนิดอุบัติ และประเภทของเทวดาที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา และความเชื่อของเทวดามีรายละเอียด ดังนี้

ความหมาย และประเภทของเทวดา พุทธศาสนิกชนมีการยอมรับนับถือเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เกี่ยวข้องกับเทวดามาอย่างช้า นาน โดยยึดถือเชื่อตามตำราว่ามนุษย์ที่ได้เคยกระทำความดีเอาไว้เมื่อตายไปแล้ววิญญาณจะไปเกิดใน ดินแดนที่เรียกว่าสวรรค์ นอกจากนั้นยังมีปราชญ์ในทางพุทธศาสนาได้ให้ความหมายเกี่ยวกับเทวดาไว้ อีกมาก อีกทั้งยังมีการแบ่งเทวดาออกเป็นหลายประเภท ดังต่อไปนี้

ความหมายของเทวดา ตามรากศัพท์ เช่น ในเทวดาสังยุติ(๑) และจากสักกปัณห สูตร(๒) คำว่า เทวดา มีการวิเคราะห์ศัพท์ ดังนี้ เทวดา มาจาก เทวตา เทวตานิ ( เทว + ตา เทวตา + นิ) แปลว่า เทพ เทวตา มาจาก เทว (ทิวุ กีฬาย̊+ ) แปลว่า เทวดา เทพ เทวะ เทวดา มาจาก ทิโวก (ทิว + โอก) แปลว่า ผู้อาศัยอยู่ในเทวโลก คัมภีร์สัททนีติธาตุมาลาบาลีมหาไวยกรณ์ ได้แสดงความหมายของเทวดาเอาไว้ว่า คือ ผู้ เพลิดเพลินด้วยกามคุณ ฌาน อภิญญา และความเป็นใหญ่ในจิต หรืออีกนัยหนึ่งว่า ผู้ควรปรารถนา โดยประกอบด้วยความงามเป็นพิเศษ ชื่อว่าเทวดา(๓)

คัมภีร์จักรวาลทีปนีได้กล่าวถึงเทวดาว่า คือ ผู้ที่มีอานุภาพพิเศษ มีความสว่างไสวสามารถ ดำเนินไปในอากาศได้ เป็นผู้รุ่งเรืองด้วยอานุภาพแห่งบุญที่กระทำไว้ จะไปในที่ใดก็งดงามมีความโดดเด่น จะปรารถนาสิ่งใดก็ได้สมความปรารถนาทุกประการ(๔)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต ) กล่าวไว้ในเรื่องสามัญวิสัยอิทธิปาฎิหาริย์เทวดาว่าเทวดา หรือ เทพ ใช้คลุมถึงพรหมทั้งหลายด้วย โดยแบ่งเป็นชั้น กามาวจรหรือฉกามาวจร หรือ สวรรค์ของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องกับกามคุณทั้ง ๖ ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา จนถึงชั้นปรินิมวสวัตตี ต่อจากนั้น ก็มีเทพชั้น รูปาวจร (รูปพรหม) ๖ ชั้น และเทพสูงสุดมีชั้น อรูปาวจร (อรูปพรหม) ๔ ชั้น(๕)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ได้ให้ความหมายของเทวดาไว้ว่า ได้แก่ หมู่เทพ ชาวสวรรค์ เป็นคำรวมเรียกชาวสวรรค์ ทั้งเพศชาย และเพศหญิง(๖)

พจนานุกรม ฉบับราชบัณทิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของเทวดาไว้ว่า พวกชาวสวรรค์ ผู้มีตาทิพย์ หูทิพย์ และอาหารทิพย์(๗)

พระครูวินัยธรสุเทพ อกิญฺจโน (ทับทิมเทศ) ได้วิเคราะห์เอาไว้ในบทความทางวิชาการว่า เทวดา ตามรูปศัพท์ที่มีความหมายว่า การเล่นและบูชา ได้อธิบายความหมายและวิเคราะห์ว่า สวรรค์ หรือ สัคคะ แปลว่า โลกที่เลิศเลอเพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ สวรรค์ คือ โลกที่งดงามเพียบพร้อมด้วยสิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นบุญ(๘)

ดังนั้น สวรรค์จึงหมายถึง ที่อยู่ของเทวดาผู้ที่มาเกิด ด้วยกุศลกรรมบางอย่าง และในอีกนัยยะหนึ่งซึ่งกล่าวถึงเทวดาว่า ด้วยอานุภาพของฤทธิ์วิเศษนานา ชนิด ด้วยอานุภาพของตนมีความรุ่งเรืองสว่างไสวดำเนินไปในอากาศ เป็นผู้ที่มนุษย์ยึดถือเอาว่าเป็นที่ พึ่ง ควรแก่การสรรเสริญ ชื่อว่า เทวะ ดังนั้นความสุขและความบันเทิงของเทวดานี้ จึงมีมาจาก คำว่า เล่น ส่วนในความหมายของการบูชา นั้นหมายถึง เทวดาที่มนุษย์บางพวกได้ยึดถือเป็นที่พึ่งทางใจใน ความหมายนี้คือ เป็นทักขิไณย์ ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเทวดา โดยที่มนุษย์เคารพเทวดา เพราะเป็นผู้ที่มีคุณวิเศษ และฤทธิ์เดชนั้นเอง(๙)

นอกจากนี้ที่ปราชญ์ทางพุทธศาสนาได้กล่าวถึง คำว่า เทวดาตามความหมาย และทัศนะของ ตนเอง ยังมีการอ้างอิงในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาอีกด้วย ดังนี้

เทวดาที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก ในพระไตรปิฎกพระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติ พระวินัยไว้เพื่อการดำรงรักษาความสงบ เรียบร้อยแห่งหมู่สงฆ์ไว้ ในการบัญญัติสิกขาบทต่างๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเทวดาโดยตรง แต่จะมี ก็เป็นนัยยะของการเกี่ยวข้องของเทวดา เช่น เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตร แก่เหล่าปัญจวคีย์ ดังในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ สรุปในบางตอนว่า ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว เหล่าภุมมเทวดาได้ลั่นลือ เสียงว่า นั่นพระธรรมจักรอันยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคทรงประกาศให้เป็นไปแล้วฯ อัน สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆในโลกจะปฏิวัติไม่ได้ และเสียงสาธุการก็ได้ดัง กระฉ่อนยิ่งๆขึ้นไป จนไปถึงพรหมโลกด้วยประการฉะนี้แล ทั้งหมื่นโลกธาตุนี้ได้หวั่นไหว สะเทือนสะท้าน ทั้งแสงสว่างอันยิ่งใหญ่หาประมาณมิได้ ได้ปรากฏแล้วในโลก ล่วงเทวานุ ภาพของเทวดาทั้งหลาย(๑๐)

ในภูตคามสิกขาบท ว่าด้วยการพรากภูตคาม สืบเนื่องมาจากภิกษุชาวเมืองอาฬวี ได้ตัดต้นไม้อันเป็นที่สิงสถิตอยู่ของเทวดา แม้เทวดาจะบอกกล่าวห้ามเตือนแล้ว แต่ภิกษุก็ไม่ได้เชื่อฟังแต่ อย่างใด และได้ตัดต้นไม้ถูกแขนลูกของเทวดาที่นั้น แม้เทวดาจะคิดฆ่าภิกษุนั้นเสียก็ห้ามใจไม่ทำ เทวดาองค์นั้นจึงได้ไปกราบทูลต่อพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ได้ทรงยกย่องสาธุการว่า ดีแล้ว ดีหนักหนาที่ท่านไม่ฆ่าภิกษุ จนทำให้ชาวบ้านต่างพากันตำหนิประณาม โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อ สายศากยบุตร ว่าเบียดเบียนชีวะซึ่งอินทรีย์เดียว พระพุทธองค์จึงได้ทรงประชุมสงฆ์ เพื่อบัญญัติ สิกขาบทว่า โมฆบุรุษทั้งหลาย พวกเธอจึงตัดบ้าง ใช้ให้ตัดบ้าง โมฆบุรุษทั้งหลาย เพราะพวกชาวบ้าน มีความสำคัญว่า ต้นไม้มีชีวิต โมฆบุรุษทั้งหลายการกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ และได้บัญญัติสิกขาบท ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์เพราะพรากภูตคาม(๑๑)

นอกจากนี้ยังปรากฏข้อความเกี่ยวกับเทวดาใน ปฐมบัญญัตินิทาน ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับตาเถนมิลัณฑิกะ ผู้ที่เข้าใจผิดด้วยมิจฉาทิฐิรับจ้างเอาบาตรและจีวรจึงฆ่าภิกษุมากมายได้พบกับเทวดาตนหนึ่ง ความว่า เมื่อตาเถนมิลัณฑิกะกำลังล้างดาบเปื้อนเลือดอยู่ ได้มีความกังวลใจ เดือดร้อนใจว่า ไม่ใช่ลาภของเราหนอ เราไม่มีลาภหนอ เราได้ชั่วแล้วหนอ เราได้ไม่ดีหนอ เราได้สร้างบาปไว้มากที่ได้ฆ่าภิกษุผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม ขณะนั้นเทวดาผู้นับเนื่องในหมู่มารตนหนึ่ง เดินมาบนผิวน้ำไม่แตกกระเซ็นกล่าวว่า ดีแล้วๆ ท่านสัตบุรุษ เป็นลาภเป็นโชคของท่าน ท่านได้สั่งสมบุญไว้มากที่ได้ช่วยส่งคนที่ยังไม่พ้นทุกข์ให้ข้ามพ้นทุกข์ได้ ครั้นตาเถนมิคลัณฑิกะได้ทราบว่า เป็นลาภเป็นโชคของเรา เราได้สั่งสมบุญ ไว้มากที่ได้ช่วยส่งคนที่ยังไม่พ้นทุกข์ให้ข้ามพ้นทุกข์ได้ จึงถือดาบคมกริบเข้าไป บริเวณวิหารกล่าวว่า ใครที่ยังไม่พ้นทุกข์ ข้าพเจ้าจะช่วยให้ใครพ้นทุกข์ได้บ้าง ในภิกษุเหล่านั้น พวกภิกษุผู้ยังมีราคะ เกิดความหวาดกลัวขนพองสยองเกล้าส่วนพวกภิกษุผู้ที่ไม่มีราคะ ย่อมไม่หวาดกลัว ไม่ขนพองสยองเกล้าเวลานั้น...(๑๒)

 ในบทภาชนีย์มาติกา ว่าด้วยพระวินัยข้อสังฆาทิเสส ถึงวาจาที่ชื่อว่า ชั่วหยาบ ได้แก่ ถ้อยคำที่พาดพิงเมถุนธรรมทางทวารหนัก ทวารเบาได้ปรากฏข้อความตอนหนึ่งเกี่ยวกับเทวดาว่า ภิกษุพูดชมบ้าง พูดติบ้าง ขอบ้าง อ้อนวอนบ้าง ถามบ้าง ถามซ้ำบ้าง บอกบ้างสอนบ้าง ด่าบ้าง พาดพิงทวารทั้งสองที่ชื่อว่า พูดชม คือ พูดชมเชย พรรณนา พูดสรรเสริญทวารทั้งสองที่ชื่อว่า พูดติ คือ พูดข่มพูดเสียดสี พูดติเตียนทวารทั้งสองที่ชื่อว่า ขอ คือ พูดว่า จงให้แก่เรา ควรให้แก่เรา ที่ชื่อว่า อ้อนวอน คือ พูดว่า เมื่อไรมารดาของเธอจักเลื่อมใส เมื่อไรบิดาของเธอจักเลื่อมใส เมื่อไรเทวดาของเธอจักเลื่อมใส เมื่อไรเธอจะมีขณะดี มีลยะดี มีครู่ดี เมื่อไรเราจะได้เสพเมถุนธรรมกับเธอ ที่ชื่อว่า ถาม คือ ถามว่า เธอให้แก่สามีอย่างไรหรือให้แก่ชายชู้อย่างไร ที่ชื่อว่า ถามซ้ำ คือ สอบถามว่า ทราบว่า เธอให้แก่สามีอย่างนี้ ให้แก่ชายชู้อย่างนี้หรือ ที่ชื่อว่า บอก คือ พอถูกถามจึงบอกว่า เธอจงให้อย่างนี้เมื่อให้อย่างนี้จะเป็นที่รักใคร่พอใจของสามี(๑๓)

 ในราชายตนกถา ว่าด้วยเหตุการณ์ขณะประทับอยู่ ณ ควงต้นราชายตนะ มีข้อความปรากฏถึงเทวดาว่า ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาคทรงออกจากสมาธินั้น แล้วเสด็จจากควงต้นมุจลินท์ไปยังควงต้นราชายตนะ๒ ครั้นถึงแล้วจึงประทับนั่งโดยบัลลังก์เดียวเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ควงต้นราชายตนะเป็นเวลา ๗ วันครั้งนั้น พ่อค้า ๒ คนชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ เดินทางไกลจากอุกกลชนบทมาถึงที่นั้น ขณะนั้น เทวดาผู้เป็นญาติร่วมสายโลหิตของ ตปุสสะ และภัลลิกะพ่อค้าทั้งสอง ได้กล่าวว่า ท่านผู้นิรทุกข์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ เมื่อแรกตรัสรู้ประทับอยู่ ณ ควงต้นราชายตนะท่านทั้งสองจงไปต้อนรับพระองค์ด้วยข้าวตูผงและข้าวตูก้อนปรุงด้วยน้ำผึ้งเถิด การบูชาของท่านทั้งสองจักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขสิ้นกาลนาน(๑๔)

 ดังข้อความที่ปรากฏในพระวินัยปิฎกที่ได้กล่าวถึงเทวดาในลักษณะต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการทรงบัญญัติพระวินัยของพระบรมศาสดานั่นเอง

เทวดามีปรากฏในพระสุตตันตปิฎกมากที่สุด เพราะถือว่า เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมคำสั่งสอน จากพุทธวจนะ คำบรรยายธรรม และเรื่องเล่าต่างๆ มากที่สุด ซึ่งในการแสดงธรรมของพระพุทธองค์จะทรงแสดงเพื่อโปรดเหล่าหมู่สัตว์ อันมีมนุษย์ และเทวดา เป็นต้น ในพุทธกิจ ๕ ข้อ(๑๕) เทวดามักนิยมมาฟังธรรมจากพระพุทธองค์ในเวลากลางคืน แสดงถึงความเลื่อมใสในธรรม และยืนยันได้ว่า สวรรค์เป็นที่อยู่ของผู้มีจิตใจประกอบด้วยกุศล จึงมีเรื่องของเทวดาปรากฏในพระสูตรมากมาย เช่น เทวตาสังยุต ใจความว่า

 สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไปเทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควรได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระองค์ทรงข้ามโอฆะ ๔ ได้อย่างไร(๑๖) ซึ่งเป็นการที่เทวดามาถามตอบปัญหาธรรมนั่นเองหรือเทวปุตตสังยุต ได้กล่าวถึงเทวดา มีใจความตอนหนึ่งปรากฏนามของเทพบุตรองค์หนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า กัสสปเทพบุตร ถ้าอย่างนั้น การประกาศคำสั่งสอนนั้นจงปรากฏแก่ท่าน ณ ที่นี้เถิด กัสสปเทพบุตรกราบทูลว่า บุคคลพึงศึกษาคำสุภาษิต ศึกษาการเข้าไปนั่งใกล้สมณะ ศึกษาการนั่งในที่สงัดแต่ผู้เดียว และศึกษาการสงบระงับจิต กัสสปเทพบุตรได้กล่าวดังนี้ พระศาสดาทรงพอพระทัยแล้ว ลำดับนั้น กัสสปเทพบุตรทราบว่า พระศาสดาของเราทรงพอพระทัยแล้ว จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วหายตัวไป ณ ที่นั้นเอง(๑๗) ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงสอนธรรมมะแก่เทวดาเช่นกัน

ในพรหมสังยุต ว่าครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทราบความรำพึงของพระผู้มีพระภาคด้วยใจแล้ว ได้มีความคิดดังนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โลกจะฉิบหายหนอ โลกจะพินาศหนอเพราะพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อการขวนขวายน้อย มิได้น้อมพระทัยไปเพื่อแสดงธรรม จึงหายตัวจากพรหมโลก มาปรากฏอยู่ ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้า ฉะนั้น แล้วห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง คุกเข่าเบื้องขวาลงบนแผ่นดิน ประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตได้โปรดแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสดุจธุลีในตาน้อยมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นย่อมเสื่อมเพราะไม่ได้สดับธรรมเพราะจักมีผู้รู้ธรรม(๑๘) ส่วนนี้แสดงถึงพระพรหมได้กราบอาราธนาธรรมจากพระพุทธองค์นั่นเอง

 ในมหาสมยสูตร ก็มีการกล่าวถึงการประชุมครั้งใหญ่ของเทวดาเช่นกัน มีใจความว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน เขตกรุงกบิลพัสดุ์แคว้นสักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์มีเหล่าเทวดาจำนวนมากจาก ๑๐ โลกธาตุมาประชุมกันเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค และเยี่ยมภิกษุสงฆ์เทพชั้นสุทธาวาส ๔ องค์ ได้มีความดำริดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์ มีเหล่าเทวดาจำนวนมากจาก ๑๐ โลกธาตุมาประชุมกัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค และเยี่ยมภิกษุสงฆ์ ทางที่ดี เราก็ควร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกล่าวคาถาองค์ละคาถาในสำนักพระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น เทพเหล่านั้นหายไปจากเทวโลกชั้นสุทธาวาสมาปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนออกหรือคู้แขนเข้าฉะนั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร เทพองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ว่า การประชุมครั้งใหญ่ในป่าใหญ่ มีหมู่เทพมาประชุมกัน พวกเราพากันมายังธรรมสมัยนี้ก็เพื่อได้เยี่ยมสงฆ์ผู้ไม่พ่ายแพ้(๑๙) ซึ่งเป็นการแสดงว่า เทวดายังนิยมมาฟังธรรมกันเป็นหมู่ใหญ่ด้วย และยังมีเรื่องราวที่ปรากฏในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกอีกมาก ที่กล่าวถึงเทวดาที่มาทูลถามปัญหาธรรมกับพระพุทธเจ้า เช่นใน สักกสังยุตต์ และวิมานวัตถุ เป็นต้น

เทวดาที่ปรากฏในพระอภิธรรมปิฎก พระอภิธรรมปิฎกเป็นส่วนที่กล่าวถึงธรรมล้วน ซึ่งมีอยู่ ๗ คัมภีร์ คือ ธัมมสังคณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก ปัฏฐาน ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสเทศนาธรรมนี้ไว้ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ครั้งที่โปรดพุทธมารดา ในตลอดพรรษาที่ ๗ เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสด็จถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ท้าวสักกะเทวราช และเทพบุตรเทพธิดา ต่างออกมาจากวิมาน เพื่อมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหรือแม้แต่เทวดาเหล่าอื่นในหมื่นจักรวาล ต่างพาเนรมิตกายเท่าอณูปรมาณู แต่พระพุทธองค์มิได้ทรงเห็น สันดุสิตเทพบุตรผู้เคยเป็นมารดา จึงได้ตรัสบอกท้าวสักกเทวราชให้ไปยังสวรรค์ชั้นดุสิต ตรัสบอกเทพบุตรพุทธมารดาให้มาฟังธรรมจากพระพุทธองค์ เมื่อเทพบุตรพุทธมารดาเสด็จลงมาแล้วจึงได้ถวายนมัสการเบื้องหน้า พระพุทธองค์ทรงดำริที่จะสนองพระคุณพุทธมารดาด้วยธรรมอันสมควรค่าที่จะตอบแทนพระคุณแก่มารดาได้ จึงทรงพิจารณาว่า ธรรมวินัย และพระสูตรก็ยังน้อยนัก เห็นมีแต่พระอภิธรรมเท่านั้นที่พอจะยกขึ้นเทียบได้ พระองค์จึงทรงกวักพระหัตถ์เรียกพระพุทธมารดาว่า ดูกร ชนนี ตถาคตจะใช้ค่าน้ำนมป้อนป้อนข้าวของมารดา อันเลี้ยงตถาคตนี้มาอเนกชาติในอดีตภพ แล้วจึงทรงกระทำให้พระพุทธมารดาเป็นประธานมนเทวสมาคมนั้น ทรงตรัสพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ฯลฯ ให้สมควรแก่ปัญญาบารมีของพระพุทธมารดาและหมู่ทวยเทพ ณ เทวโลกชั้นดาวดึงส์ตลอด ๓ เดือนเต็มตามเวลาในโลกมนุษย์ สันดุสิตเทพบุตรพุทธมารดาได้บรรลุโสดาปัตติผล สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นแรกในพระพุทธศาสนา(๒๐)

 ยังมีปรากฏข้อความใน พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ ปัญจกนิทเทส ที่กล่าวถึง เจตโสวินิพันธะ ๕ เกี่ยวกับเทวดาอีกว่า บุคคลปรารถนาจะเกิดในหมู่เทพหมู่หนึ่งแล้วประพฤติพรหมจรรย์ด้วยผูกใจว่า เราจักเป็นเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ หรือเทวดาผู้มีศักดิ์น้อยองค์ใดองค์หนึ่งด้วยศีลนี้ ด้วยวัตรนี้ ด้วยตบะนี้หรือด้วยพรหมจรรย์นี้เหล่านี้ชื่อว่า เจตโสวินิพันธะ ๕(๒๑)

 ในตัณหาวิจริตนิทเทส มีข้อความปรากฏถึงเทวดา ในเรื่องตัณหา คือการปรารถนาเป็นเทวดาในสัญญาธรรมว่า ตัณหาว่า เราจักเป็นกษัตริย์หรือจักเป็นพราหมณ์ จักเป็นแพศย์หรือจักเป็นศูทร จักเป็นคฤหัสถ์หรือจักเป็นบรรพชิต จักเป็นเทวดาหรือจักเป็นมนุษย์ จักเป็นพรหมมีรูปหรือจักเป็นพรหมไม่มีรูป จักเป็นพรหมมีสัญญาหรือจักเป็นพรหมไม่มีสัญญาจักเป็นพรหมมีสัญญาก็มิใช่หรือจักเป็นพรหมไม่มีสัญญาก็มิใช่ อย่างนี้ตัณหาว่าเราจักเป็นอย่างนี้ก็มี(๒๒)

 พระอภิธรรม ปุคคลกถา ได้กล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับเทวดาว่า มนุษย์กับเทวดาเป็นบุคคลคนเดียวกันกันใช่หรือไม่ มีความว่า หากบุคคลเป็นมนุษย์แล้วจึงเป็นเทวดา เป็นเทวดาแล้วจึงเป็นมนุษย์ (ดังนั้น) ผู้เกิดเป็นมนุษย์กับเทวดาจึงเป็นคนละคนกัน คำที่ว่า บุคคลผู้เกิดเป็นมนุษย์คนเดียวกันนี้นั่นแหละท่องเที่ยวไป ดังนี้ จึงผิด ฯลฯ อนึ่ง หากบุคคลคนเดียวกันนั่นแหละท่องเที่ยวไป จุติจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น มิใช่คนละคนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ความตายก็จักไม่มี แม้แต่ปาณาติบาตก็หยั่งรู้ไม่ได้ กรรมมีอยู่ ผลของกรรมก็มีอยู่ ผลของกรรมทั้งหลายที่ทำแล้วก็มีอยู่ เมื่อกุศล และอกุศลให้ผลอยู่ คำที่ว่า บุคคลคนเดียวกันนี้นั่นแหละท่องเที่ยวไป ดังนี้ จึงผิด(๒๓)

 ในกถาวัตถุ สังวรกถา ได้มีข้อความที่กล่าวถึงเทวดาในเรื่อง ความสำรวมไม่มีในหมู่เทวดามีดังนี้ว่า หากความสำรวมจากความไม่สำรวมเป็นศีล และความสำรวมมีอยู่ในหมู่เทวดา ดังนั้น ท่านจึงควรยอมรับว่า ความสำรวมจากความไม่สำรวมใดเป็นศีล ความไม่สำรวมนั้นมีอยู่ในหมู่เทวดา ท่านกล่าวคำขัดแย้งใดในตอนต้นนั้นว่า ข้าพเจ้ายอมรับว่า ความสำรวมจากความไม่สำรวมเป็นศีลความสำรวมมีอยู่ในหมู่เทวดาแต่ไม่ยอมรับว่า ความสำรวมจากความไม่สำรวมใดเป็นศีล ความไม่สำรวมนั้นมีอยู่ในหมู่เทวดา คำนั้นของท่านจึงผิดอนึ่ง หากท่านไม่ยอมรับว่า ความสำรวมจากความไม่สำรวมใดเป็นศีลความไม่สำรวมนั้นมีอยู่ในหมู่เทวดา ท่านก็ไม่ควรยอมรับว่า ความสำรวมจากความไม่สำรวมเป็นศีล ความสำรวมมีอยู่ในหมู่เทวดา ท่านกล่าวคำขัดแย้งใดในตอนต้นนั้นว่า ข้าพเจ้ายอมรับว่า ความสำรวมจากความไม่สำรวมเป็นศีล ความสำรวมมีอยู่ในหมู่เทวดา แต่ไม่ยอมรับว่า ความสำรวมจากความไม่สำรวมใดเป็นศีลความไม่สำรวมนั้นมีอยู่ในหมู่เทวดา คำนั้นของท่านจึงผิด(๒๔)

 อนึ่ง ในพระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ(๒๕) ได้แสดงถึงคติของการกำเนิดแห่งโปปาติกะที่ได้พัฒนาตนเองให้มีศักยภาพที่สูงยิ่งขึ้น จนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคลได้ด้วย จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า เทวดาก็มีปรากฏในพระอภิธรรมปิฎกด้วยเช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเกี่ยวข้องของเทวดาที่มีต่อพุทธศาสนาตลอดมา

ประเภทของเทวดา ตามหลักคำสอนในทางพุทธศาสนา พระเทพเวทีได้แสดงทัศนะว่า การจัดประเภทของเทวดานั้นก็เพื่อมีจุดมุ่งหมายให้ตระหนักรู้ว่า มนุษย์ก็สามารถเป็นเทวดาได้ในปัจจุบันชาติ ไม่ต้องรอให้ถึงภพหน้า เรียกว่าเป็น สมมติเทพ คือ เทวดาโดยสมมติได้ด้วยคุณธรรม อันมี หิริ และโอตตัปปะ คือ ความละอาย และเกรงกลัวในบาป ซึ่งมนุษย์ และเทวดาก็มิได้มีความแตกต่างกัน แต่มนุษย์นั้นมีโอกาสมากกว่าในการที่จะพัฒนาคุณธรรมและความสามารถของตนมากกว่า ซึ่งหากมนุษย์ปรับปรุงตัวเมื่อไรก็จะขึ้นไปเทียบเท่าหรือแม้แต่สูงกว่าดีกว่าเทวดา(๒๖)

 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ได้มีการจำแนกเทวดาออกเป็น ๓ ประเภท คือ

 ๑. สมมุติเทพ คือ พระราชา พระราชกุมาร และพระราชเทวี เหล่านี้เรียกว่า สมมุติเทพ

 ๒. อุบัติเทพ คือ เทวดาชั้นจาตุมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ เทวดาผู้นับเนื่องในหมู่พรหม และเทวดาชั้นสูงกว่านั้น เหล่านี้เรียกว่า อุบัติเทพ

 ๓. วิสุทธิเทพ คือ พระตถาคต สาวกของพระตถาคต พระอรหันตขีณาสพ และพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า เหล่านี้เรียกว่า วิสุทธิเทพ พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดเหล่าสมมุติเทพว่า เป็นอธิเทพทรงรู้จักเหล่าอุบัติเทพว่า เป็นอธิเทพ ทรงรู้ชัด คือ ทรงทราบ เทียบเคียง พิจารณา ทำให้กระจ่าง ทำให้แจ่มแจ้งซึ่งเหล่าวิสุทธิเทพว่า เป็นอธิเทพ รวมความว่า ทรงรู้ชัดอธิเทพ คำว่า ทรงรู้ชัดธรรมของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง อธิบายว่า พระผู้มีพระภาค ทรงรู้ คือ ทรงทราบ ทรงถูกต้อง แทงตลอดธรรมที่ทำพระองค์ และชนเหล่าอื่นให้เป็นอธิเทพ(๒๗)

 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส มาณวปัญหานิทเทส ได้แสดงถึงความหมายของพระพุทธองค์ว่า ทรงเป็นเทพที่อยู่เหนือกว่าเทพทั้ง ๓ ว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นเทพ เป็นอติเทพ และเป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ยิ่งกว่าสมมุติเทพ อุบัติเทพ และวิสุทธิเทพทั้งหลาย ทรงเป็นราชสีห์ยิ่งกว่าราชสีห์ เป็นนาคยิ่งกว่านาค เป็นผู้นำหมู่ยิ่งกว่าผู้นำหมู่ เป็นพระมุนียิ่งกว่าพระมุนี เป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา คำว่า ข้าพระองค์ย่อมเห็น ... ในเทวโลกและมนุษยโลก อธิบายว่า ข้าพระองค์ย่อมเห็น คือ แลเห็น มองดู เพ่งพินิจ พิจารณาเห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นเทพ ผู้ทรงเป็นอติเทพ ผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพ รวมความว่า ข้าพระองค์ย่อมเห็น...ในเทวโลก และมนุษยโลก(๒๘)

 เห็นได้ว่า ลักษณะประเภทของเทวดานั้น จึงไม่ได้หมายถึงเฉพาะชาวสวรรค์ที่อาศัยอยู่ในเทวโลก หรือพรหมโลกเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง ผู้ที่มีชีวิตอยู่แต่ได้สั่งสมคุณธรรมของตนเอาไว้แม้ว่ายังคงเป็นมนุษย์อยู่ จนมีสภาวะจิตใจที่สูงส่งเทียบเท่ากับเทวดา หรือสูงกว่าเทวดาด้วยหลักของ เทวธรรม อันแปลว่า คุณธรรมที่ทำให้คนเป็นเทพ ประกอบไปด้วย ๒ อย่าง คือ ๑.หิริ : ความละอายบาป, ละอายใจต่อการทำความชั่ว (Hiri: moral shame; conscience) และ๒. โอตตัปปะ : ความกลัวบาป, เกรงกลัวต่อความชั่ว (Ottappa: moral dread)

โดยสรุปแล้ว เทวดาตามความหมายในคัมภีร์พระไตรปิฎก หมายถึง ผู้อาศัยอยู่ในเทวโลก ที่มีอานุภาพพิเศษแห่งบุญที่เคยกระทำไว้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ และอาหารทิพย์ เพลิดเพลินไปด้วยกามคุณทั้ง ๕ สามารถจำแนกได้ ๓ ประเภท คือ ๑.สมมุติเทพ คือ เทพโดยสมมุติ เช่น พระราชา พระมหากษัตริย์ ๒. อุบัติเทพ คือ เทพที่อุบัติขึ้นในสรวงสวรรค์ เช่น เทพชั้นสูงนับเนื่องถึงหมู่พรหม ๓. วิสุทธิเทพ คือผู้ที่ได้แจ่มแจ้งในความบริสุทธิ์ เช่น พระอรหันต์ โดยอาศัยธรรมเป็นเบื้องต้น คือ หิริ และโอตตัปปะ หมายถึง ความละอาย และเกรงกลัวต่อบาป

การอุบัติ และจุติของเทวดา ในทางพุทธศาสนาได้สอนให้เรา เชื่อในหลักของเหตุผล และปัจจัยที่เกิดจากเหตุของการได้อุบัติ รวมถึงเหตุของการจุติของเทวดา การอุบัติของเทวดา ผู้ที่จะสามารถเกิดเป็นเทวดาได้ ย่อมเกิดจากมนุษย์ผู้ได้กระทำกุศลกรรมไว้ เมื่อตายลงบุญกุศลนั้นก็จะส่งผลให้ไปอุบัติเป็นเทวดานั่นเอง ซึ่งในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะ การอุบัติของเทวดา ประเภท อุปัตติเทพเท่านั้น โดยหลักฐานที่ปรากฏในทีฆนิกายปาฎิวรรค ได้แสดงถึง โยนิ (กำเนิด) ๔ ดังนี้ ๑. อัณฑชโยนิ (กำเนิดของสัตว์ที่เกิดในไข่) ๒. ชลาพุชโยนิ (กำเนิดของสัตว์ที่เกิดในครรภ์) ๓. สังเสทชโยนิ (กำเนิดของสัตว์ที่เกิดในเถ้าไคล) ๔. โอปปาติกโยนิ (กำเนิดของสัตว์ที่เกิดผุดขึ้น)(๒๙)

 อุปัตติเทพ คือ เทวดาที่ถือกำเนิดใน โอปปาติกโยนิ(๓๐) เมื่อเกิดก็จะอุบัติขึ้นมา โดยไม่ต้องนอนในครรภ์มารดาเหมือนอย่างมนุษย์ เมื่ออุบัติขึ้นก็จะมีรูปร่างเป็นทิพย์ ตั้งอยู่ในวัยหนุ่มสาวเป็นเทพบุตร เทพธิดา และไม่มีการแก่นั่นเอง ซึ่งเทพผู้มาเกิดใหม่หากได้สร้างสมกุศลไว้มาก ก็จะมีวิมานเป็นของตนเอง แต่หากสร้างสมกุศลไว้น้อย จะต้องไปอาศัยวิมานของเทวดาอื่น จึงมีฐานะที่แตกต่างกันไป ตามที่นางสาวธมกร แซ่ฟอง ได้อธิบายเอาไว้ในเอกสารวิชาการว่า ผู้ที่ไปอุบัติบนตักของเทวดาองค์ใด ต้องเป็นบุตรหรือธิดาของเทพยดาองค์นั้นถือว่า เป็นเทวบุตร เทวธิดาหญิงที่ไปอุบัติเกิดบนแท่นบรรทมของเทพยดาองค์ใด ต้องเป็นผู้รับใช้ของเทวดาองค์นั้น ผู้ที่อุบัติภายในประสาทของเทพยดาองค์ใด ต้องเป็นบริวารของเทพยดาองค์นั้นผู้ใดไปอุบัติระหว่างแดนต่อของวิมานทั้งหลาย มหาเทพผู้เป็นใหญ่ที่ปกครองสวรรค์ชั้นนั้นๆ จะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจ(๓๑)

 เห็นได้ว่า การอุบัติเกิดในสวรรค์นั้น เกิดจากอำนาจของบุญกุศลที่ทำมาเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ อำนาจแห่งบุญกุศลนั้นจึงทำให้มีวิมาน โดยในวิมานวัตถุ กล่าวว่า วิมานหมายถึง ที่เล่น ที่อยู่ของเหล่าเทวดา ซึ่งถือว่า เป็นสถานที่อันประเสริฐ(๓๒) ประกอบด้วย แก้วมณี ทองคำ และมีสระน้ำสวนอันงดงาม พรั่งพร้อมด้วยบริวาร และสิ่งของอันเป็นทิพย์ แต่ในเทพบางองค์ที่บุญไม่มากพอก็ต้องอาศัยบุญอำนาจจากเทพองค์อื่นแทน

เหตุที่ทำให้เกิดเป็นเทวดา เหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเป็นเทวดาได้ เกิดจากหลักสำคัญที่เราชาวพุทธควรศึกษาอย่างเข้าใจในหลักเหตุ และผล ดังนี้

 ๑. เกิดจากผลบุญที่ได้ทำมา บุญ เป็นชื่อของความสุข นั้นคือ ผู้ใดสร้างสมบุญ ผลแห่งบุญนั้นย่อมนำสุขมาให้ ทั้งในภพนี้ และในภพหน้า ดังข้อ ความตามพระสูตรว่า ความเป็นพระราชาในประเทศ ความเป็นอิสระ ความสุขของความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอันน่าพอใจ และแม้ความเป็นเทวราชของเทวดาในหมู่เทพ ทั้งหมดก็จะได้ด้วยขุมทรัพย์นี้ ฯลฯ เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ จึงสรรเสริญภาวะแห่งบุญที่ทำไว้แล้ว(๓๓) ดังจะเห็นได้ว่า บุญ คือ เครื่องให้ถึงยังสุคติภูมิของเหล่าเทวดา ซึ่งก็คือคุณงามความดีที่ได้สร้างสมมา ด้วยการชำระสันดาน ประพฤติชอบ ทั้งทางกาย วาจา และใจ เกิดเป็นกุศลธรรม บุญกุศลที่กระทำไว้สามารถยังความเจริญให้แก่อัตภาพภายหน้าได้ แต่บุญก็สามารถอาศัยกำลังของคุณธรรมหลายประการ ความว่า ความเจริญ ๓ ประการอะไรบ้าง คือ ๑. ศรัทธา ๒. ศีล ๓. ปัญญา ภิกษุทั้งหลาย ชนภายในอาศัยพ่อบ้านผู้มีศรัทธาย่อมงอกงามด้วยความเจริญ ๓ ประการนี้ภูเขาหินมีอยู่ในป่าใหญ่ หมู่ไม้เหล่านั้นอาศัยภูเขานั้น เจริญงอกงามเติบโตในป่า แม้ฉันใด บุตร ภรรยา พวกพ้อง อำมาตย์ หมู่ญาติและชนผู้อาศัยเขาเลี้ยงชีพ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาศัยพ่อบ้านผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมงอกงามในโลกนี้ ชนผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง เห็นศีล จาคะ(ความเสียสละ) และสุจริต(ความประพฤติดี)ของพ่อบ้านผู้มีศีลนั้นแล้วย่อมทำตาม บุคคลประพฤติธรรมซึ่งเป็นทางนำสัตว์ไปสู่สุคติ ย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้สมปรารถนา ย่อมบันเทิงในเทวโลก(๓๔) รวมความแล้วก็หมายถึง ผู้ที่ประพฤติชอบด้วยศีล และด้วยความสุจริตธรรม เกิดความศรัทธาเสียสละน้อมนำปัญญา ย่อมนำพาให้ถึงยังความเป็นเทวดานั่นได้เอง

 ๒. เกิดจากผลกรรมที่ได้ทำมา พระพุทธองค์ได้ทรงสอนเราให้เชื่อในกฎแห่งกรรม นั่นคือ การสร้างเหตุแห่งการกระทำที่ชอบ ด้วยธรรม ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กายสุจริต ๒. วจีสุจริต ๓. มโนสุจริต ดังความว่า ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีความเสียหาย ไม่ถูกผู้รู้ติเตียน และประสพบุญเป็นอันมาก(๓๕) ดังข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า การมีสุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจย่อมบังเกิดผลแห่งกรรมที่เป็นบุญ และมีพระปฐมเทวสูตร ได้ตรัสถึงการได้อุบัติเป็นพระอินทร์ว่า

ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตตบท ๗ ประการอย่างบริบูรณ์ เพราะสมาทานวัตตบท ๗ ประการ จึงได้เป็นท้าวสักกะ วัตตบท ๗ ประการ ดังนี้ ๑. เราพึงเลี้ยงมารดา และบิดาตลอดชีวิต ๒. เราพึงประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต ๓. เราพึงพูดจาแต่คำอ่อนหวานตลอดชีวิต ๔. เราไม่พึงพูดคำส่อเสียดตลอดชีวิต ๕. เราพึงมีใจปราศจากความตระหนี่ที่เป็นมลทิน อยู่ครองเรือน มีการบริจาคเป็นประจำ มีมือชุ่มเป็นนิตย์ ยินดีในการเสียสละ ควรที่ผู้อื่นจะขอ ยินดีในการแจกจ่ายทานตลอดชีวิต ๖. เราพึงพูดแต่คำสัตย์ตลอดชีวิต ๗. เราไม่พึงโกรธตลอดชีวิต ถ้าแม้ความโกรธพึงเกิดขึ้นแก่เรา เราก็จะกำจัดโดยฉับพลันทันที

ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ได้สมาทานวัตตบท ๗ ประการนี้อย่างบริบูรณ์ เพราะสมาทานวัตตบท ๗ ประการ จึงได้เป็นท้าวสักกะ พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า เทพชั้นดาวดึงส์ กล่าวถึงนรชนผู้เลี้ยงมารดา และบิดา มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล เจรจาแต่คำอ่อนหวาน สมานมิตร ละคำส่อเสียด ประกอบในอุบายกำจัดความตระหนี่ มีวาจาสัตย์ ครอบงำความโกรธได้นั้นแลว่า เป็นสัตบุรุษ(๓๖) และครั้งพระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพธิดาองค์หนึ่ง ว่าทำกรรมอันใดมาจึงได้บังเกิดเป็นเทพธิดาที่มีวรรณะสว่างไสว นางจึงตอบว่า เมื่อดิฉันยังครองเรือนอยู่ มิได้มีความริษยา ความตระหนี่ ความตีเสมอ ดิฉันมีนิสัยไม่มักโกรธ ประพฤติตามคำสั่งสามี และไม่ประมาทในการรักษาศีลอุโบสถเป็นนิตย์ ดิฉันเข้าจำอุโบสถศีลซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ ทุกวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ และตลอดปาฏิหาริยปักษ์ ฉันสำรวมระวังในศีลตลอดเวลา และแจกจ่ายทานด้วยความเคารพ จึงได้ครอบครองวิมานนี้ ดิฉันงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักขโมย จากการประพฤตินอกใจสามีสำรวมระวังจากการพูดเท็จ และเว้นไกลการดื่มน้ำเมา ดิฉันยินดีในศีล ๕ ฉลาดในอริยสัจเป็นอุบาสิกาของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าโคดม ผู้มีพระจักษุ มีพระยศ เพราะศีลของตน ดิฉันนั้นจึงมีเกียรติยศบริวารยศ เสวยผลบุญของตนอยู่เป็นสุข ไร้โรค เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้ ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้ และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน ฯลฯ(๓๗)

 แสดงให้เห็นถึงกรรมที่เกิดจากกุศลในการรักษาศีล ๕ และศีล ๘ ในวันอุโบสถ จึงส่งผลให้ได้บังเกิดทิพยสมบัติ อัตภาพความเป็นเทวดาได้นั่นเอง และด้วยความตั้งใจในการปรารถนาจักได้มาซึ่งอัตภาพของเทวดา จึงทำให้ได้เกิดเป็นเทวดาได้ดังความตอนหนึ่งที่พระภิกษุทูลถามพระตถาคตว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้ หลังจาก ตายแล้วจะเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพพวกสีตวลาหก พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุบุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติสุจริตทางกาย วาจา และใจ เขาได้ฟังมาว่า เทพพวกสีตวลาหก มีอายุยืน มีผิวพรรณงาม มี ความสุขมาก จึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอหลังจากตายแล้ว ขอเราพึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพพวกสีตวลาหกจึงให้ข้าว...ให้น้ำ ให้ผ้า ให้ยาน ให้ดอกไม้ ให้ของหอม ให้เครื่องลูบไล้ ให้ที่นอน ให้ที่พัก ให้เครื่องประทีป หลังจากตายแล้วจึงเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพพวกสีตวลาหก ภิกษุ นี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลบางคนในโลกนี้ หลังจากตายแล้วจะ เข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทพพวกสีตวลาหก(๓๘)

 จากข้อความนี้ทำให้เห็นว่า การที่บุคคลสร้างกุศลกรรมฝ่ายดีด้วยการ ให้ทาน แล้วตั้งจิตปรารถนาไว้ดีแล้ว ก็สามารถส่งผลให้ได้อัตภาพความเป็นเทวดาได้เช่นกัน ๓ คุณธรรมที่สั่งสมมา ธรรมอันเป็นเครื่องนำพาไปสู่ความเป็นเทวดานั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนไว้ว่า เทวมรรค ชื่อว่า ทางแห่งเทวะ หมายถึง ธรรมของเทวดา ได้แก่ (๑) หิริ (๒) โอตตัปปะ (๓) สุกกธรรม แปลว่าธรรมฝ่ายขาว เป็นชื่อแห่ง หิริ และโอตัปปะ สุกกธรรมได้แก่ สุจริตในไตรทวาร คือ ๑. กายสุจริต ๓ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ๒. วจีสุจริต ๔ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ๓. มโนสุจริต ๓ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น ไม่มีจิตคิดพยาบาท มีความเห็นชอบ(๓๙) และคุณธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสขยายความลงไปอีกในสาเลยยกสูตร กล่าวถึง กุศลกรรมบถ ๑๐ ว่า

ความประพฤติสม่ำเสมอ คือ ความประพฤติธรรมทางกายมี ๓ ประการ ความประพฤติสม่ าเสมอ คือความประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ ประการ ความประพฤติสม่ำเสมอ คือ ความประพฤติธรรมทางใจมี ๓ ประการ ความประพฤติสม่ าเสมอ คือ ความประพฤติธรรมทางกายมี ๓ ประการ ดังนี้

 ๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธมีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่

 ๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ คือ ไม่ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของมิได้ให้ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย

 ๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม คือ ไม่เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครองของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดาที่อยู่ในปกครองของมารดาบิดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ในปกครองของพี่สาวน้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครองโดยที่สุด แม้สตรีที่บุรุษสวมด้วยพวงมาลัยหมายไว้ ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางกายมี ๓ ประการ อย่างนี้แล

ความประพฤติสม่ำเสมอ คือ ความประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ ประการ ดังนี้

 ๑. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ อยู่ในสภา อยู่ในบริษัท อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ อยู่ท่ามกลางหมู่ทหารหรืออยู่ท่ามกลางราชสำนัก ถูกเขาอ้างเป็นพยานซักถามว่า ท่านรู้สิ่งใด จงกล่าว สิ่งนั้น บุรุษนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า ไม่รู้หรือรู้ก็กล่าวว่า รู้ ไม่เห็นก็กล่าวว่า ไม่เห็นหรือเห็นก็กล่าวว่า เห็น ไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้เพราะตนเป็นเหตุบ้าง เพราะบุคคลอื่นเป็นเหตุบ้าง เพราะเหตุ คือ เห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง

 ๒. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไม่ไป บอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกแยกกันส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี

 ๓. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะน่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ

 ๔. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดแต่คำจริงพูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลาความประพฤติสม่ำเสมอ คือ ความประพฤติธรรมทางวาจามี ๔ ประการ อย่างนี้แล

 ความประพฤติสม่ำเสมอ คือ ความประพฤติธรรมทางใจมี ๓ ประการ ดังนี้

 ๑. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ทำอย่างไร ทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา

 ๒. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือ ไม่มีจิตคิดร้ายว่า ขอสัตว์เหล่านี้ จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิด

 ๓. เป็นสัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ทานที่ให้แล้วมีผลยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดี และทำชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณโอปปาติกสัตว์มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง มีอยู่ในโลก ความประพฤติสม่ำเสมอ คือ ความประพฤติธรรมทางใจมีอยู่ ๓ ประการอย่างนี้แล พราหมณ์ และคหบดีทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมเป็นเหตุ อย่างนี้(๔๐)

 ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ... หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช, เทพชั้นดาวดึงส์, เทพชั้นยามา, เทพชั้นดุสิต, เทพชั้นนิมมานรดี, เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี,เทพผู้นับเนื่องในหมู่พรหมฯลฯ เทพชั้นอาภา, เทพชั้นปริตรตาภา, เทพชั้นอัปปมาณาภา, เทพชั้นอาภัสสรา, เทพชั้นปริตตสุภา, เทพชั้นอัปปมาณสุภา, เทพชั้นสุภกิณหา ,เทพชั้นเวหัปผลา, เทพชั้นอวิหา, เทพชั้นอตัปปา, เทพชั้นสุทัสสา, เทพชั้นสุทัสสี, เทพชั้นอกนิฏฐภพ, เทพผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ, เทพผู้เข้าถึงวิญญาณัญจายตนภพ, เทพผู้เข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ, เทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ และเทพผู้เข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภพ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ าเสมอ คือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล(๔๑)

 จากข้อความตามพระสูตรที่ยกมาพอสรุปได้ว่า เหตุของปัจจัยที่ทำให้ได้บังเกิดเป็นเทวดาได้นั้น มีอยู่ ๓ ประการ ได้แก่

 ๑. บุญกุศลจากการสละให้ทานด้วยศรัทธา อันมีด้วยวัตถุทานทั้ง ๑๐ ประการ ได้แก่ ข้าวน้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป

 ๒. การตั้งมั่นในการสมาทานรักษาศีล ๕ และศีล ๘ ประพฤติชอบสุจริตธรรม ประกอบด้วยกุศลกรรม ๑๐ ประการ ด้วยทางกาย ทางวาจา และทางใจ

 ๓. คุณธรรมที่นำไปสู่ความเป็นเทวดา นั่นคือ หิริ และและโอตัปปะ สุกกธรรม ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือเหตุชนิดของกรรมที่นำไปสู่อัตตภาพความเป็นเทวดาได้นั่นเอง

ที่อยู่ของเทวดา การอุบัติขึ้นของเทวดา ที่ปรากฏในคัมภีร์โลกศาสตร์ ได้มีการพรรณาถึงลักษณะที่อยู่ของเทวดาบนสวรรค์ไว้อย่างงดงาม ด้วยจุดประสงค์เพื่อที่จะให้เกิดความชื่นชมศรัทธาเลื่อมใสของสาธุชนเป็นที่ตั้ง(๔๒)

 ๑. เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นสวรรค์ชั้นแรกของเหล่าเทวดา ผู้เล่นสนุกสนานด้วยกามคุณ ๕ มีเทวดาผู้เป็นใหญ่ปรกครองอยู่ ๔ ท่าน คือ ท้าวธครฐ ปกครองเหล่าคนธรรพ์ อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหก ปกครองเหล่ากุมภัณฑ์ อยู่ทางด้านทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์ ปกครองเหล่าพญานาคอยู่ทางทิศตะวันตก และท้าว เวสสวัณ ปกครองเหล่ายักษ์ อยู่ทางทิศเหนือ เทวดาที่อาศัยอยู่ในสวรรค์ชั้นนี้จะมีหน้าที่ รักษาผู้ที่จะมารุกรานสวรรค์ และยังเป็นผู้ตรวจดูแลมนุษย์โลก แสดงเป็นภาษิตจากพุทธองค์ว่า ในวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์ อมาตย์ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลกในวัน ๑๕ ค่ำแห่งปักษ์ เพื่อตรวจดูโลกว่า มนุษย์พากันบำรุงมารดาบิดา บำรุงสมณะพราหม์ เคารพนอบน้อมผู้ใหญ่ในตระกูลรักษาอุโบสถ ทำบุญทำกุศล มีจำนวนมากด้วยกันอยู่หรือไม่(๔๓)

นางสาวธมกร ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เทวดาเหล่านี้ มีอายุ ๕ ปีทิพย์ (๙ ล้านปีมนุษย์)(๔๔) และในคู่มือพระอภิธัมมัตถสังคหะ ที่พระอนุรุทธาจารย์ รจนาไว้ เทวดาที่อยู่ภายใต้การปกครองของท้าวจาตุมมหาราช คือ ๑. ปัพพัฏฐเทวดา เทวดาที่ อาศัยภูเขาอยู่ ๒. อากาสัฏฐเทวดา เทวดาที่ อาศัยอยู่ในอากาศ ๓. ขิฑฑาปโทสิกเทวดา เทวดาที่ มีความเพลิดเพลินในการเล่นกีฬา จนลืมบริโภคอาหารแล้วตาย ๔. มโนปโทสิกเทวดา เทวดาที่ ตายเพราะความโกรธ ๕. สีตวลาหกเทวดา เทวดาที่ ทำให้อากาศเย็นเกิดขึ้น ๖. อุณหวลาหกเทวดา เทวดาที่ ทำให้อากาศร้อนเกิดขึ้น ๗. จันทิมเทวปุตตเทวดา เทวดาที่ อยู่ในพระจันทร์ ๘. สุริยเทวปุตตเทวดา เทวดาที่ อยู่ในพระอาทิตย์

 ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์นี้ เป็นผู้รักษามนุษย์โลกด้วย ฉะนั้นจึงเรียกว่า ท้าว จตุโลกบาล บางทีก็เลยเรียกท้าวจตุโลกบาลนี้ว่า อินทะ ยมะ วรุณะ กุเวระ เทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกานี้มีที่อยู่ตอนกลางเขาสิเนรุ ตลอดลงมาถึงพื้นดิน ที่มนุษย์อยู่ เรียกชื่อตามที่อยู่ที่อาศัย ดังนี้ ก. ที่อยู่บนพื้นแผ่นดิน เรียกว่า ภุมมัฏฐเทวดา ข. ที่อยู่บนต้นไม้ เรียกว่า รุกขัฏฐะเทวดา ค. ที่อยู่ในอากาศ(มีวิมานอยู่) เรียกว่า อากาสัฏฐะเทวดา

เทวดาในจาตุมมหาราชิกาภูมิ ที่มีใจโหดร้ายก็มีถึง ๔ จำพวก คือ ๑. คันธัพโพ คันธัพพี ได้แก่ เทวดาคันธัพพะ ที่ถือกำเนิดภายในต้นไม้ที่มี กลิ่นหอมเราเรียกกันว่า นางไม้หรือ แม่ย่านาง ชอบรบกวนให้เกิดอุปสรรคต่าง ๆ เช่น ให้เกิดเจ็บป่วย หรือทำอันตรายแก่ทรัพย์สมบัติ ของผู้ที่น าไม้นั้นมาใช้สอย หรือมาปลูกบ้านเรือน เทวดาจำพวกนี้อยู่ในความปกครองของท้าวธตรัฏฐะคันธัพพเทวดานี้ สิงอยู่ในต้นไม้นั้นตลอดไป แม้ว่าใครจะตัดฟันไปทำเรือ แพบ้านเรือน หรือเครื่องใช้ไม้สอยอย่างใดๆ ก็คงสิงอยู่ในไม้นั้น ซึ่งผิดกับรุกขะเทวดา ที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้เหมือนกัน แต่ถ้าต้นไม้นั้นตาย หรือถูกตัดฟันก็ย้ายจากต้นนั้น ไปต้นอื่น ๒. กุมภัณโฑ กุมภัณฑี ได้แก่ เทวดากุมภัณฑ์ ที่เราเรียกกันว่า รากษส เป็นเทวดาที่รักษาสมบัติต่างๆ มีแก้วมณี เป็นต้น และรักษาป่า ภูเขา แม่น้ำ ถ้ามีผู้ล่วง ล้ำก้ำเกิน ก็ให้โทษต่างๆ เทวดาจำพวกนี้อยู่ในความปกครองของท้าววิรุฬหกะ ๓. นาโค นาคี ได้แก่ เทวดานาค มีวิชาเกี่ยวแก่เวทย์มนต์คาถาต่างๆ ขณะ ท่องเที่ยวมาในมนุษย์โลก บางทีก็เนรมิตเป็นคน หรือเป็นสัตว์ เช่น เสือ ราชสีห์ เป็นต้น โดยเฉพาะ ชอบลงโทษพวกสัตว์นรก เทวดาจำพวกนี้อยู่ในความปกครอง ของท้าววิรูปักขะ ๔. ยักโข ยักขินี ได้แก่ เทวดายักษ์ พอใจเบียดเบียนสัตว์นรก เทวดาจำพวกนี้อยู่ในความปกครองของท้าวกุเวระหรือท้าวเวสสุวรรณ(๔๕)

 ๒. เทวดาชั้นดาวดึงส์ ดาวดึงส์ มาจากคำว่า ตาวติงสะ แปลว่า พวกเทพ ๓๓ องค์ มีท้าวสักกเทวราชหรือพระอินทร์เป็นประธาน สวรรค์ชั้นนี้เป็นชั้นที่ ๒ อยู่ในอากาศ เป็นวิมานทิพย์ มีปราสาทเวชยันต์ และสระโบกขรณี มีต้นไม้ทิพย์ชื่อ ปาริฉัตร ท่านท้าวสักกะเทวราชปกครองสวรรค์ชั้นนี้ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า

ภิกษุทั้งหลาย ก็ท้าวสักกะจอมเทพนั้นอาศัยผลบุญของพระองค์เป็นอยู่ เสวยราชสมบัติอันมีความเป็นใหญ่ยิ่งด้วยความเป็นใหญ่แห่งเทพชั้นดาวดึงส์ ยังมาพรรณนาคุณแห่งความเพียร คือ ความขยันได้ ข้อที่พวกเธอบวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ ขยันหมั่นเพียรพยายามเพื่อบรรลุมรรคผลที่ยังไม่บรรลุเพื่อได้มรรคผลที่ยังไม่ได้ เพื่อทำให้แจ้งมรรคผลที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง นี้จะพึงงดงามในธรรมวินัยนี้โดยแท้(๔๖) และท้าวสักกเทวราช ยังเป็นผู้มีบทบาทในทางพระพุทธศาสนามาก ทรงเป็นผู้ใฝ่ธรรม ทรงเป็นอริยสาวกของพระพุทธองค์ ดังความจากพระสูตรว่า เมื่อครั้งที่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งสิ้นนั่งประชุมกันในสุธัมมาเทวสภา มีพวกเทพบริษัทมากมายนั่งอยู่โดยรอบ มีท้าวจาตุมหาราชประทับอยู่ในทิศทั้ง ๔ นี้เป็นธรรมเนียมในการนั่งของท้าวจาตุมหาราช ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบความ เลื่อมใสของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ จึงทรงอนุโมทนาด้วยคาถาเหล่านี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกเทพชั้นดาวดึงส์ มีพระอินทร์เป็นประธานถวายนมัสการพระตถาคต และความดีของพระธรรม เมื่อเห็นเทพเหล่าใหม่ผู้มีวรรณะและยศ ผู้เคยประพฤติพรหมจรรย์ในพระสุคต ซึ่งมา ณ ที่นี้ (ด้วย) ก็พากันบันเทิงใจนัก เทพเหล่านั้นเป็นสาวกของพระผู้มีพระปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน ทั้งหมดเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นในที่นี้ด้วยวรรณะ ยศ และอายุ พวกเทพชั้นดาวดึงส์มีพระอินทร์เป็นประธาน ครั้นเห็นเหตุนี้แล้วพากันเพลิดเพลิน ถวายนมัสการพระตถาคต และความดีของพระธรรม(๔๗)

ทำให้เห็นว่า สวรรค์ชั้นนี้มีความพิเศษที่มีธรรมสภาของเหล่าเทวดา ที่มีจิตศรัทธาในพระธรรม ได้น้อมนำ และบูชาแห่งพระตถาคตเป็นอย่างยิ่ง ด้วยการมาชุมนุมกันเป็นอันมาก ในปกรณ์อันรวบรวมซึ่งอรรถแห่งพระอภิธรรม ที่พระอนุรุทธาจารย์ รจนาไว้ ตอนหนึ่งได้พรรณเกี่ยวกับเทวดาบนสรวงสวรรค์มีว่า ศาลา สุธัมมา เป็นที่ประชุมฟังธรรม มีเจดีย์แก้วมรกต ชื่อว่า พระจุฬามณี บรรจุพระเขี้ยวแก้ว (ข้างขวา) กับบรรจุพระเกศา (ที่ทรงตัดออกตอน เสด็จออกทรงผนวช) อีกส่วนหนึ่งชื่อ สวนมหาวัน มีสระชื่อ สุนันทา สวนนี้เป็นที่ ประทับสำราญพระอิริยาบถของท้าวสักกเทวราชที่ศาลาสุธัมมา ตามปกติมีพรหมชื่อ สนังกุมาระ เป็นผู้เสด็จลงมาแสดงธรรม แต่ในบางโอกาสท้าวสักกเทวราช หรือเทวดาองค์อื่นที่ทรงความรู้ในธรรมดี ก็เป็นผู้แสดง เทวดาตั้งแต่ชั้นดาวดึงส์นี้ขึ้นไปปฏิสนธิด้วยโอปปาติกกำเนิดอย่างเดียวเท่านั้น เทวดาชั้นเดียวกัน ย่อมเห็นซึ่งกัน และกันได้ และเห็นผู้ที่อยู่ชั้นต่ำกว่าตนได้ด้วย แต่ไม่สามารถจะเห็นผู้ที่อยู่ในชั้นที่สูงกว่าตนได้ ท้าวสักกเทวราช หรือท้าวโกสีย์อัมรินทร์ ซึ่งเรียกกันสั้นๆ ว่า พระอินทร์นี้ อยู่ในชั้นดาวดึงส์ แต่เป็นผู้ปกครอง เทพยดาทั้งในชั้นดาวดึงส์ และชั้นจาตุมมหาราชิกาด้วย บางทีก็เรียก ท้าวสหัสสนัย คือ ท้าวพันตา เพราะจักขุดีมาก เห็นได้ชัดเจน และเห็นได้ไกลมากเท่ากับดวงตาตั้งพันดวง พระอินทร์องค์ปัจจุบันนี้ สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว เมื่อจุติจากเทวโลก ก็จะมาบังเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ในมนุษย์โลก และจะได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีจุติจากมนุษย์โลก จะไปบังเกิดในชั้นดาวดึงส์อีก คราวนี้ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี จุติทีนี้ก็จะไปบังเกิดในชั้นสุทธาวาส ตั้งแต่ชั้นอวิหา เป็นต้นไปตามลำดับจนถึงชั้น อกนิฏฐา และสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในชั้นนั้น เทวดาในดาวดึงส์ภูมินี้มี ๒ พวก คือ ภุมมัฏฐเทวดาอาศัยพื้นแผ่นดินอยู่ และ อากาสัฏฐเทวดา มีวิมานลอยอยู่ในอากาศเป็นที่อยู่(๔๘) ลักษณะของเทพชั้นดาวดึงส์มีภาวะจิตที่สูงและอายุเป็นต้น อาภรณ์ของเทพเหล่านี้งามด้วยสีสันคล้ายกันกับกษัตริย์ลิจฉวี ซึ่งครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า ผู้ใดยังไม่เคยเห็นเทพดาวดึงส์ก็ให้มองกลุ่มกษัตริย์ลิจฉวี(๔๙) และยังมีเทพนามว่า ปัญจสิขรหรือคือ คนธรรพ์ แต่เนื่องจากรับใช้พระอินทร์อยู่เสมอ จึงได้รับการยกย่องให้เป็นเทวสหาย และเทวดาองค์นี้จะมีการถือพิณทองคำ ซึ่งเดิมเป็นของพระยามาร สายพิณเป็นเงิน และลูกบิดทำด้วยแก้วประพาฬ พิณนี้มีเสียงที่ชวนฟังนัก ทำให้เกิดเสียงไพเราะเป็นอันมาก ปัญจสิงขรประดับกายด้วยสีสันเฉิดฉายนัก อาภรณ์เป็นสีแดง และประดับด้วยทองคำ

เทพอีกองค์หนึ่งที่มีกล่าวไว้ในไตรภูมิพระร่วง คือ วัสสุกัมมาหรือวิศวกรรม แต่เดิมเป็นเทพที่อยู่สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา แต่มักปรากฏกายคู่กับพระอินทร์จึงถือว่า อยู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยเทพผู้นี้เป็นนักออกแบบ วางแผนเมือง และมัณฑนกรเช่นเดียวกับมนุษย์ จากในชาดกต่างๆ ยืนยันว่า เทวบัญชาของสักกะ วิสสกรรมมาจะสร้างปราสาท ,อาศรม ฯลฯ แก่ผู้มีบุญอยู่บ่อยครั้ง...พระเวสสุกรรมได้สร้างอาศรมส าหรับพระโพธิสัตว์ด้วย(๕๐) และยังมีกล่าวถึงมาตลี คือ เทพสารถีของพระอินทร์ ที่เป็นสหายทั้งในยามสงบหรือยามออกศึก ที่คอยนำทางให้แก่พระอินทร์ ที่สามารถแปลงกายเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ต่างๆ ตามที่พระอินทร์ทรงบัญชา รวมถึงเทพเหล่าต่างๆ ที่ปรากฏในพระสูตร เช่น วรุณวารุณเทวดา ในสุมังคลวิจาสินี หรืออุชฌานสัญญิกาเทวดา ในอุฌานสัญญิกาสูตร มโนสัตตเทวดา ในอุบาลีสูตร ที่ได้กล่าวยกอ้างถึงเหล่าเทวดาที่รักษา และอาศัยอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แห่งนี้ร่วมกับมหาเทพผู้ปกครอง คือ พระอินทร์นั่นเอง

 ๓. สวรรค์ชั้นยามา เป็นสวรรค์ชั้นที่อยู่แห่งเทพผู้ปราศจากทุกข์ มีท้าวสุยามาเป็นผู้ปกครองสวรรค์ชั้นนี้ ซึ่งเป็นเทวดาผู้ประกอบด้วยบุญกริยา บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ท าบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง แต่ไม่จัดแจงบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย หลังจากตายแล้ว เขาย่อมเกิดร่วมกับเทวดาชั้นยามา ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสุยามเทพบุตรในชั้นยามานั้นทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานให้ยิ่งขึ้น ท าบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลให้ยิ่งขึ้น ย่อมครอบงำเทวดาชั้นยามาได้โดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุที่เป็นทิพย์... โผฏฐัพพะที่เป็นทิพย์(๕๑) สวรรค์ชั้นนี้ไม่มีดวงอาทิตย์ และพระจันทร์ แต่อาศัยแสงจากแก้วมณีที่ส่องแสงจากกายเทวดา ที่เกิดจากทิพยสมบัติที่เคยสร้างไว้จากบุญกริยานั่นเอง เทวดาที่อยู่ในยามาภูมินี้ เป็นจำพวกอากาสัฏฐเทวดาจำพวกเดียว เพราะมี วิมานลอยอยู่ในอากาศเป็นที่อยู่ เทวดาที่อยู่ในภูมิที่สูงขึ้นไปกว่าชั้นนี้ ก็ล้วนแต่เป็น อากาสัฏฐเทวดาทั้งสิ้น(๕๒) เทพในสวรรค์ชั้นยามานี้มีความศรัทธาในพระพุทธองค์มาก โดยจะปรากฏเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประชุมในการฟังธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์อยู่เสมอ เช่น นางสิริมาน้องสาวของชีวกได้เป็นเทพในชั้นนั้น และเป็นมเหสีของท้าวสุยาม เนื่องจากความพอใจในการบริจาคทาน เทพในสวรรค์ชั้นนี้พอใจที่จะมีสภาวะดังมนุษย์ เช่น การประกอบกุศลกรรมจากการรักษาศีลอุโบสถ เป็นต้น

 ๔. สวรรค์ชั้นดุสิต สวรรค์ชั้นนี้ มาจากคำว่า ตุสิตาหรือตุสิตะ แปลว่า ยินดี ชื่นบาน ในสมบัติทิพย์ของตน มีท้าวสันดุสิตเป็นผู้ปกครอง ดังความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง แต่ไม่จัดแจงบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย หลังจากตายแล้ว เขาย่อมเกิดร่วมกับเทวดาชั้นดุสิต ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสันดุสิตในชั้นดุสิตนั้นทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานให้ยิ่งขึ้น ท าบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลให้ยิ่งขึ้น ย่อมครอบงำเทวดาชั้นดุสิตได้โดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุที่เป็นทิพย์... โผฏฐัพพะที่เป็นทิพย์(๕๓)

 ในปกรณ์อันรวบรวมซึ่งอรรถแห่งพระอภิธรรม ที่พระอนุรุทธาจารย์ รจนาไว้ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทวดาในสวรรค์ชั้นดุสิตอีกว่า สิตาภูมิ เป็นภูมิของอากาสัฏฐเทวดา ที่ชื่อว่า ดุสิตา ดังนั้นภูมินี้ จึงชื่อว่า ตุสิตาภูมิ หรือดุสิตาภูมิหรือดุสิตภูมิ เป็นภูมิที่ปราศจากความร้อนใจ มีแต่ความชุ่มชื่นอยู่เป็นนิจ ในทิพย์สมบัติอัน เป็นศิริมงคลของตน เป็นภูมิที่ประเสริฐกว่าเทวดาภูมิชั้นอื่นๆ เพราะว่า พระโพธิสัตว์ทุกๆ พระองค์ก่อนที่จะมาบังเกิดในมนุษย์โลก และได้สำเร็จอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นภพสุดท้าย ตลอดจนผู้ที่จะได้มาตรัสรู้เป็นพระอัครสาวก ก็ย่อมบังเกิดในชั้น ดุสิตนี้ก่อนทั้งนั้น(๕๔) ซึ่งท้าวสันดุสิตจะเป็นผู้อัญเชิญให้เทพบุตรโพธิสัตว์ผู้มีปัญญาบารมีเป็นผู้แสดงธรรม ได้แก่ พระศรีอริยเมตไตรพระโพธิสัตว์ก็มักจะได้รับอาราธนาให้เป็นองค์แสดงธรรมโปรดเทวดา ในสวรรค์ชั้นนี้อยู่เสมอ(๕๕)

 ๕. สวรรค์ชั้นนิมมานรดี สวรรค์ชั้นนี้เป็นที่อยู่ของเทวดาเหล่ากามาวจร คำว่า นิมมานรดี แปลว่า แดนแห่งเทพผู้มีความยินดีในการเนรมิต มีท้าวสุนิมมิตเทพบุตรปกครองสวรรค์ชั้นนี้ ดังใจความในพระสูตรว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง แต่ไม่จัดแจงบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย หลังจากตายแล้ว เขาย่อมเกิดร่วมกับเทวดาชั้นนิมมานรดี ภิกษุทั้งหลาย ท้าวสุนิมมิตเทพบุตรในชั้นนิมมานรดีนั้นทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานให้ยิ่งขึ้นทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลให้ยิ่งขึ้น ย่อมครอบงำเทวดาชั้นนิมมานรดีได้โดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุที่เป็นทิพย์...โผฏฐัพพะที่เป็นทิพย์(๕๖) เทวดาในชั้นนี้ มีความสุขความเพลิดเพลินในกามคุณทั้ง ๕ ที่ตนเนรมิตขึ้น ตามความพอใจของตนเองทุกประการ เมื่อได้เพลิดเพลินในกามคุณนั้นสมใจแล้ว สิ่งที่เนรมิต คือ นิมิตนั้นก็จะปลาสนาการไป(๕๗)

 ๖. สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี สวรรค์ชั้นนี้ มีเทวดาที่เลิศกว่าเทวดาที่กล่าวมาแล้ว คือเมื่อปรารถนาสิ่งใดก็จะมีผู้อื่นรู้ความคิดของจิตที่ต้องการ แล้วจึงเนรมิตให้ดังใจปรารถนา อันเกิดจากผลบุญที่ตนได้กระทำสร้าง ดังความตอนหนึ่งที่ สิริมาเทพธิดานั้นตอบพระเถระว่า ถัดลงมาจากหมู่ปรนิมมิตวสวัตดีเทพผู้ถึงความเป็นเลิศด้วยกามคุณ ที่บัณฑิตกล่าวชมว่า ยอดเยี่ยมนั้น มีนิมมานรดีเทพซึ่งเนรมิตสมบัติได้เองแล้วชื่นชมอยู่ ดิฉันเป็นนางอัปสรจากหมู่นิมมานรดีเทพนั้น ซึ่งมีรูปร่างน่าพึงใจ ประสงค์จะนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งหาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้ จึงมาสู่มนุษยโลกนี้(๕๘) แต่การเนรมิตนั้นก็ย่อมเกิดจากผลบุญที่ตนได้ทำสั่งสมเอาไว้ ในครั้งที่เป็นมนุษย์นั่นเอง อ้างอิงจากพระสูตรที่ว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง แต่ไม่จัดแจงบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย หลังจากตายแล้ว เขาย่อมเกิดร่วมกับเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ภิกษุทั้งหลาย ท้าววสวัตดีเทพบุตรในชั้นปรนิมมิตวสวัตดีนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานให้ยิ่งขึ้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลให้ยิ่งขึ้น ย่อมครอบงำเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดีได้ โดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุที่เป็นทิพย์ วรรณะที่เป็นทิพย์ สุขที่เป็นทิพย์ ยศที่เป็นทิพย์ อธิปไตยที่เป็นทิพย์ รูปที่เป็นทิพย์ เสียงที่เป็นทิพย์ กลิ่นที่เป็นทิพย์ รสที่เป็นทิพย์ โผฏฐัพพะที่เป็นทิพย์(๕๙)

ในทางพุทธศาสนาเชื่อว่า สวรรค์ชั้นนี้แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายเทวดาพระ และเทวดาฝ่ายมาร คือ มีท่านพญาสวัตตีมารเป็นผู้ปกครอง และเป็นผู้คอยขัดขวางการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธองค์ ดังมีกล่าวไว้ใน พระปฐมสมโพธิกถา ตอนหนึ่งว่า บัดนี้ก็สำเร็จมโนปณิธานแล้วจะกระทำประโยชน์แก่สัตว์โลกให้ลำบากพระกายไปใยเล่า ขอเชิญเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานในวันนี้เถิด...(๖๐)ซึ่งเป็นการแสดงว่า เทวดาฝ่ายพระนั้นมีมิจฉาทิฐิ คอยขัดขวางผู้ปฏิบัติธรรมนั่นเอง

 จึงสรุปว่า เทวดานั้นอุบัติบังเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจแห่งบุญกุศลที่ได้เคยกระทำมา ส่งผลให้เกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ ทั้ง ๖ ชั้น ซึ่งได้แก่ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวตี เป็นสวรรค์ที่เสวยสุขของเหล่าหมู่เทพ ตามอำนาจ และความละเอียดบริสุทธิ์ของบุญนั้นๆ อีกทั้งยังมีพระอริยบุคคลผู้บรรลุธรรมแล้ว มาอุบัติเกิดยังสวรรค์ด้วย ถือเป็นสุคติภูมิที่เต็มไปด้วยความสุขจากความเป็นทิพย์นั่นเอง

เหตุและผลของการจุติจากเทวดา หลักคำสอนของพระพุทธองค์ ได้ทรงสอนเราให้เห็นถึงเหตุและผล ของการได้จุติเป็นเทวดา ซึ่งคำว่า จุติ แปลว่า ตายจากภพหนึ่งสู่อีกภพหนึ่ง ซึ่งพระมหาวิวัฒน์ จิรวฑฺโน ได้อธิบายถึงการจุติของเทวดาว่า มีเหตุอยู่ ๔ ประการ(๖๑) ได้แก่

 ๑. อายุขัย คือ จุติ เพราะสิ้นอายุ หมายถึง ได้เสวยทิพยสมบัตินั้น ด้วยอำนาจของผลบุญที่ได้สั่งสมไว้ได้ครบอายุทิพย์ในเทวโลกที่สถิตนั้นแล้ว จึงจำต้องจุติไปเกิดในภพภูมิต่อไป

 ๒. บุญญขัย คือ จุติ เพราะสิ้นบุญ หมายถึง เหล่าเทวดาที่ได้กระทำสั่งสมบุญมาน้อย เมื่ออำนาจแห่งบุญนั้นหมดลง แต่ยังไม่สิ้นอายุขัย ก็จำต้องจุติไปเกิดในภพภูมิอื่น

 ๓. อาหารขัย คือ จุติ เพราะสิ้นอาหาร หมายถึง เทวดาบางพวกมัวแต่หลงเพลินกับการเสพสุขในสวรรค์ จนหลงลืมการบริโภคอาหารทิพย์ อันเป็นปัจจัยแก่ชีวิตเทวดา แม้เพียงแค่ครั้งเดียว ก็สามารถทำให้ร่างกายแห้งเหี่ยวลงได้ ซึ่งไม่สามารถฟื้นคืนได้โดยง่าย จึงทำให้เทวดาต้องตาย และจุติจากภพนั้นลง

 ๔. โกธพลขัย คือ จุติเพราะความโกรธ หมายถึง เทวดาบางพวกที่เห็นเทวดาเหล่าอื่นที่มีทิพยสมบัติมากกว่า หรือดีเลิศกว่าตน จึงบังเกิดความริษยาพาลพาให้ทะเลาะวิวาทกัน ไฟแห่งความโกรธนี้จึงเปรียบเสมือนไฟที่จะไหม้กายให้มอดไหม้ และต้องจุติตายจากภพนั้นลงได้ หากไม่มีขันติความอดทนที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของเทวดา ซึ่งก่อนที่เทวดาจะจุติลง จะมีนิมิตล่วงหน้า เสมือนเป็นลางบอกเหตุให้ทราบดังความตามพระปัญจปุพพนิมิตตสูตร ว่าด้วยบุพพนิมิต ๕ ประการ สูตรว่า ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาที่เทพบุตรจะจุติจากหมู่เทพ ย่อมปรากฏบุพพนิมิต ๕ ประการ ดังนี้  ๑. ดอกไม้ที่ประดับเหี่ยวแห้ง ๒. พัสตราภรณ์ที่สวมใส่หมองจางลง ๓. เหงื่อไหลออกจากรักแร้ ๔. ผิวพรรณเศร้าหมองปรากฏที่กาย ๕. เทพบุตรนั้นจะหมดความยินดีในทิพยสมบัติของตน(๖๒)

 เมื่อเทวดาที่สิ้นบุญสิ้นอายุขัยแล้ว ย่อมปรากฏลางบอกเหตุด้วยนิมิตเช่นนี้ คือ ดอกไม้ทิพย์ที่ประดับประดากาย หมดความงดงามและเหี่ยวแห้งลง เครื่องประดับอาภรณ์ทิพย์ที่ประดับประดากาย หมองจางลง ไม่แวววาวเช่นเดิม มีเหงื่อไหลออกจากรักแร้ทั้งสองข้าง ซึ่งปรกติเทวดาจะไม่มีซึ่งเหงื่อไคล และผิวพรรณวรรณะทิพย์รัศมีกายจะหมดสิ้นลง หากเทวดาตนใดถึงคราวต้องจุติ ก็จักเกิดความเศร้าสลดใจ เพราะไม่อยากต้องสละจากสุคติภูมินี้ไป ดังในอรรถก ทีฆนิกาย มหาวรรค สักกปัญหสูตร ที่ท้าวสักกเทวราชเกิดความวิตก จักต้องจุติตายจากสวรรค์เพราะบุญของตนได้หมดลงแล้วนัยว่า สมัยนั้น พระชนมายุของท้าวเธอหมดแล้ว. ท้าวเธอได้ทรงเห็นบุรพนิมิตห้าประการ ทรงทราบว่า บัดนี้ เราหมดอายุแล้ว ก็เครื่องหมายความตายปรากฏแก่เทวบุตรเหล่าใด ในเทวบุตรเหล่านั้น พวกใดเกิดในเทวโลกด้วยบุญกรรมเล็กน้อย พวกนั้นก็ย่อมถึงความหวาดสะดุ้ง เพราะความกลัวว่า คราวนี้ เราจักเกิดที่ไหนหนอ พวกใดได้เตรียมป้องกันภัยที่น่าสะพึงกลัวไว้ ทำบุญไว้มากเกิดแล้ว พวกนั้นคิดว่า เราอาศัยทานที่ตนได้ให้ ศีลที่รักษาไว้และภาวนาที่ได้อบรมไว้แล้ว จักเสวยสมบัติในเทวโลกชั้นสูง ย่อมไม่กลัว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้

เมื่อเทพบุตรจะจุติจากเทวโลก เพราะสิ้นอายุ เทวดาผู้พลอยยินดี ย่อมเปล่งเสียงอวยพร ๓ ประการ คือ ท่านผู้เจริญ ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้ว ขอให้ไปเกิดในภูมิที่ดี คืออยู่ร่วมกับมนุษย์เถิด ท่านเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ขอให้ได้มีศรัทธาอย่างสูงยิ่ง ในพระสัทธรรมเถิด ศรัทธาของท่านนั้นขอให้ตั้งมั่น มีเหตุเกิด หยั่งลง มั่นคงในสัทธรรม ที่ตถาคตประกาศไว้ดีแล้ว ใครๆ ทำให้คลอนแคลนไม่ได้ตลอดชีวิตเถิด ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตได้ทั้งหมด รวมทั้งละกรรมชั่วที่ประกอบด้วยโทษอื่นๆ จงทำความดีทางกาย วาจาให้มาก และทำความดีทางใจที่ประมาณมิได้ ปราศจากอุปธิ นอกจากนั้น ท่านจงทำบุญ ที่ให้เกิดสมบัตินั้นให้มาก ด้วยการให้ทานชักชวนผู้อื่นให้ดำรงอยู่ในสัทธรรม ในพุทธศาสนาเถิด(๖๓)

 ดังข้อความทั้งหมดที่ได้ยกมานี้ จึงทำให้ทราบว่า เทวดาจะจุติจากภพสวรรค์ชั้นต่างๆ ก็ด้วยเหตุ ๔ ประการ นั้นคือ หมดอายุขัย หมดบุญ ไม่ได้บริโภคอาหารทิพย์ และบังเกิดความโกรธขึ้นทั้งนี้เทวดาเป็นการอุบัติเกิดแบบโอปปาติกะ คือ เกิดแล้วโตได้ในทันที และครั้งเมื่อจุติตาย ก็จะสลายร่างในทันทีเช่นเดียวกัน(๖๔)

ความเป็นทิพย์ของเทวดา ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เทวดานั้นอุบัติขึ้นด้วยอำนาจของบุญกุศลเป็นเหตุ และแตกดับไปตามอำนาจของบุญกุศลเช่นกัน แต่เมื่อได้อัตภาพความเป็นเทวดาแล้ว ย่อมนำมาซึ่งสมบัติอันเป็นทิพย์ตามอำนาจของกรรมดีที่สั่งสมมาเช่นเดียวกัน ดังนี้

 กายอันเป็นทิพย์ เทวดาเป็นโอปปาติกะที่ถือกำเนิดแล้วเติบโตทันที จึงมีกายอันเป็นทิพย์ด้วยฤทธิ์ของตนเอง มีผิวพรรณอันเป็นทิพย์ ดังปรากฏในมหาสมยสูตร เรื่องการประชุมของเทวดาว่า เทพทั้ง ๑๐ หมู่นี้แบ่งเป็น ๑๐ พวก ทั้งหมดล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก มีฤทธิ์ มีความรุ่งเรือง มีผิวพรรณงดงาม มียศ ต่างยินดีมุ่งมายังป่าที่ประชุมของภิกษุทั้งหลาย เทพทั้งหมด ๖๐ หมู่ ล้วนมีผิวพรรณหลายหลาก มาแล้วตามก าหนด ชื่อหมู่เทพและเทพพวกอื่น ผู้มีผิวพรรณ และชื่อเช่นนั้นก็มา(๖๕)

 ด้วยเพราะอำนาจแห่งบุญที่ทำมานั่นเอง แต่การเปรียบเทียบผิวพรรณกายทิพย์ที่แตกต่างกันนั่นก็เพราะอำนาจของบุญของเทวดาในสวรรค์แต่ละชั้นเช่นกัน อีกข้อความที่กล่าวไว้อีกว่า อนึ่ง เมื่อกล่าวเทียบถึงรูปโฉมงาม ความงามของชาวโลกต่างๆ ตั้งแต่สัตว์นรก จนกระทั่งถึงชั้นอกนิษฐพรหม พระภูมิ (ภูมัฏฐเทวดา) ย่อมงามกว่าพระยาจักรพรรดิราช ซึ่งเป็นตัวแทนของความงามอันเลิศของเหล่ามนุษย์ทั้งหลาย เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาย่อมงามกว่าพระภูมิเหล่านั้น ทำนองเดียวกันเทวดาชั้นดาวดึงส์ ย่อมงามกว่าเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา และเทวดาชั้นดุสิตย่อมงามกว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ ในกรณีนี้จะเห็นว่า เทวดาชั้นสูงกว่าย่อมงดงามกว่าชั้นต่ำกว่า และในเรื่องราวความงามของเทวดาเป็นปรกติวิสัยว่าจะต้องงามกว่ามนุษย์เสมอ(๖๖)

 จากข้อความดังกล่าวสรุปได้ว่า เทวดามีร่างกาย วรรณะผิวพรรณที่งดงาม เกินกว่าปรกติวิสัยของมนุษย์มากยิ่งนัก ยิ่งเป็นเทวดาชั้นสูงขึ้นไปก็ยิ่งงดงามเกินกว่ามากยิ่งนัก

รัศมีทิพย์ความเป็นทิพย์อีกประการ คือ ข้าวของเครื่องใช้ในสวรรค์ก็จะมีความเป็นทิพย์เช่นเดียวกันนางสาวธมกร ได้อธิบายเอาไว้ในเรื่องนี้ว่า ของรัศมีแห่งอาภรณ์วิภูษิตต่างๆ รัศมีแห่งวิมานที่สถิตอยู่ รัศมีแห่งกายเทพยดาทุกองค์มีร่างกายงดงาม มีรัศมีสว่างสร้านออกจากตัวไปไกล ทั้งเครื่องใช้สอยทุกอย่าง วิจิตรมีแต่ความสวยงาม ด้วยอำนาจรัศมีเงิน รัศมีทอง แก้วเก้าเนวรัตน์อันเป็นทิพย์ รัศมีย่อมรุ่งเรืองส่องสว่างประดุจกลางวันอยู่เป็นนิจ และผ้าทิพย์ภูษาที่นุ่งห่มผืนเล็กนิดเดียว มีประมาณเท่าดอกปีบเมื่อคลี่ออกจะนุ่งห่มนั้น กลับพันใหญ่ยาว และกว้างพอเหมาะพอดีแก่ร่างกายทองเทพยดาผู้เป็นเจ้าของ(๖๗) ซึ่งรัศมีทิพย์ของเทวดา ก็ยังไม่อาจเทียบเทวดาชั้นสูงยิ่งขึ้นไปได้อีก ดังในความตอนหนึ่งในชนวนสภสูตร ที่กล่าวถึงการปรากฏกายของเทวดาชั้นสูงครั้งนั้น ได้เกิดแสงสว่างเจิดจ้าขึ้น ปรากฏโอภาส เกินเทวานุภาพของเทพทั้งหลาย เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ พระองค์ก็รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ ร่างกายที่เป็นทองคำ ย่อมงดงามเกินร่างกายมนุษย์ ฉันใด เมื่อสนังกุมารพรหมปรากฏแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ พระองค์ก็รุ่งเรืองเกินเทพเหล่าอื่นด้วยวรรณะและยศ ฉันนั้นเหมือนกัน(๖๘)

 แต่กระนั้น ก็ยังมีรัศมีของกายทิพย์ที่ส่องสว่างยิ่งกว่าเทวดาทั้งหลาย นั่นคือ เทวดาผู้ที่จะได้อุบัติมาตรัสรู้มาเป็นพระพุทธเจ้า ในมหาปทานสูตร ได้กล่าวถึงแสงสว่างโอภาสอันหาประมาณมิได้ของพระองค์ว่า เวลาที่พระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตเสด็จ ลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา แสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ ปรากฏขึ้นในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ล่วงเทวานุภาพของ เหล่าเทพ แม้ในช่องว่างระหว่างโลกกึ่งไม่มีอะไรคั่น มีสภาพมืดมิด หรือที่ที่ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากส่องแสงไปไม่ถึง ก็มีแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ปรากฏขึ้น ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ เพราะแสงสว่างนั้น เหล่าสัตว์ที่เกิด ในที่นั้น ๆ จึงรู้จักกันและกันว่า ยังมีสัตว์อื่นเกิดในที่นี้เหมือนกันและ ๑๐ สหัสสีโลกธาตุ นี้สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ทั้งแสงสว่างเจิดจ้าหาประมาณมิได้ก็ปรากฏขึ้นในโลก ล่วงเทวานุภาพของเหล่าเทพ ข้อนี้เป็นกฎธรรมดา(๖๙)

 อำนาจทิพย์เทวดาย่อมต้องมาคู่กับเทวฤทธิ์ นั่นคือ อำนาจที่เกิดจากเทพยดานั้นๆ โดยเทวดาจะมีฌาน อภิญญา หูทิพย์ ตาทิพย์ เหาะเหินเดินอากาศได้ มีอำนาจแปลงกาย หรือเนรมิตกายได้ดังในพระสูตรว่า กุมารีทั้งหลาย มาตุคามประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล หลังจากตายแล้ว จะเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับเทวดาเหล่ามนาปกายิกา [อรรถกถา แปลความว่า] เทวดาเหล่ามนาปกายิกา หมายถึงเทวดาชั้นนิมมานรดี เทวดาเหล่านี้เรียกว่า เทพนิมมานรดี และเทพมนาปา เพราะเนรมิตรูปตามที่ตนปรารถนาได้ และชื่นชมรูปที่เนรมิตนั้น(๗๐) และในอรรถกถาอุคคหสูตรที่ ๓ บทว่า มนาปา นาม เต เทวา ได้แก่ เทวดาชั้นนิมมานรดีก็จริงอยู่ เทวดาเหล่านั้นเรียกกันว่า นิมมานรดีและมนาปา เพราะเนรมิตรูปที่ตนปรารถนาๆ แล้วอภิรมย์(๗๑) ดังข้อความข้างต้นจึงเห็นได้ว่า เทวดานั้นสามารถเนรมิตกายด้วยอำนาจความเป็นทิพย์ของตนได้

อาหารทิพย์ ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า เทวดานั้นมีอาหารทิพย์เป็นปัจจัยในการด ารงอัตตภาพ หากขาดซึ่งอาหารทิพย์แม้เพียงครั้ง ก็ยังทำให้สามารถร่างกายเหี่ยวแห้งลง และอาจถึงการจุติตายลงได้ ดังในคัมภีร์พระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๕ วิถีมุตตสังคหวิภาค กล่าวถึงเทวดาจำพวกหนึ่งชื่อ ขิฑฑาปโทสิกเทวดา เทวดาที่ มีความเพลิดเพลินในการเล่นกีฬา จนลืมบริโภคอาหารแล้วตาย(๗๒)

พระมหาวิวัฒน์ ได้กล่าวถึงเรื่องของอาหารทิพย์เช่นกันว่า เทวดามี ๒ พวก คือ เทวดาที่ยังต้องบริโภคอาหาร และเทวดาที่ไม่ต้องบริโภคอาหาร ๑. เทวดาที่ยังต้องบริโภคอาหาร ย่อมบริโภคกวฬิงการาหาร (อาหาร คือ คำข้าว)(๗๓) อาหารอันโอชาทั้งหยาบและละเอียด แต่อาหารของเทวดานั้นละเอียดเป็นทิพย์อย่างยิ่ง เมื่อจะเทียบอาหารเทวดากับอาหารอย่างอื่น [และมีแปลในอรรถกถาเพิ่มเติมว่า] อาหารของเทวดาชั้นจาตุมหาราชละเอียดกว่า ฯลฯ ๒. เทวดาที่ไม่ต้องบริโภคอาหาร ในสัมมาทิฏฐิสูตร ระบุว่า เทพอีกพวกหนึ่งที่ไม่ต้องการอาหาร ได้แก่ เทพจำพวกอสัญญสัตตะ เป็นอตุกะไม่มีอาหาร ไม่มีผัสสะ แต่มีฌานเป็นอาหาร(๗๔)

 ดังนั้น อาหารทิพย์นี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอันปราณีตของเทวดา เมื่อเทวดาได้บริโภคแล้วย่อมบังเกิดผลให้ สามารถกำจัดบาปธรรมได้ ๑๒ ประการ ก็อาหารทิพย์นั้นบุคคลผู้บริโภคแล้วย่อมกำจัดบาปธรรมได้ ๑๒ ประการ คือ ๑. ความหิว ๒. ความกระหาย ๓. ความไม่ยินดี ๔. ความกระวนกระวาย ๕. ความเหน็ดเหนื่อย ๖. ความโกรธ ๗. ความผูกโกรธ ๘. ความวิวาท ๙. ความส่อเสียด ๑๐. ความหนาว ๑๑. ความร้อน ๑๒. ความเกียจคร้าน อาหารทิพย์นี้รสยอดเยี่ยม(๗๕) แม้แต่มนุษย์ผู้ประสงค์ อยากจะลิ้มรสอาหารทิพย์นี้ได้ ก็จักต้องสร้างเหตุแห่งบุญนั้นไว้นั่น คือ กรรมดีที่จะส่งผลให้บังเกิดเป็นอาหารทิพย์ ดังภาษิตว่า สัตว์ทั้งหลายที่ไม่ทำบาปย่อมหมดจดด้วยอาการอย่างนี้ อนึ่ง ผลกรรมที่ประพฤติดีแล้วจะไม่สูญหายสัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งได้เห็นอาหารทิพย์สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดได้ถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์(๗๖)

 มีข้อความกล่าวถึงอีกว่า พวกเทวดาจึงจะบริโภคสุทธาโภชน์ ซึ่งเป็นอาหารทิพย์ สุทธาโภชน์ที่บริโภคเข้าไปแล้ว จะซึมหายไปในกายหมด และตราบที่ยังมีชีวิตเป็นเทพอยู่บนสวรรค์อุปัทวันตรายใดๆ ที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือศัสตราวุธ จะไม่สามารถมาเบียดเบียดได้(๗๗) แต่หากเทวดาที่มัวเมาในความสุขคือการละเล่นเป็นบันเทิงสุข และหัวเราะสนุกสนาน จนลืมกินอาหารแล้วร่างกายก็จะซูบเซียวคล้ายดอกไม้ที่ร่วงโรย ดังความมีว่า เทพยดาลางจำพวกอยู่เล่นสนุกนี้ด้วยนางฟ้า และลืมกินอาหารทั้งหลาย เทพยดานั้นก็สิ้นชีวิต แม้นว่า ลืมกินแต่งายดังนั้นก็ดี ลืมกินแต่เพราดังนั้นก็ดี แม้นว่ามากินเมื่อภายหลังได้แลร้อยคาบก็ดี ก็มิอาจคงชีวิตได้เลย เหตุว่า เนื้อของเทวดานั้นอ่อนอุปมาดังดอกบัวแลเอาไปตากไว้หนังศิลา เมื่อแดดร้อนวันหนึ่งยังค่ำแลเอามาแช่น้ำเล่า แม้นว่าแช่ไว้นานเท่าใดๆ ก็ดีอันว่าดอกบัวนั้นก็มิอาจคืนสดชื่นมาดังเก่าเลย(๗๘)

 ในความเชื่อทางพุทธศาสนาก็มีความเชื่อมโยงว่า หากครั้งที่ยังเป็นมนุษย์ ได้ให้ทานอย่างไร ก็จักส่งผลให้ทานนั้นไปบังเกิดในภพภายหน้าเมื่อได้อัตตภาพความเป็นเทวดา ดังในพระทานมหัปผล พระพุทธองค์ได้ทรงตอบพระสารีบุตร ถึงทานที่บังเกิดผลมากในภพภายหน้าว่า สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ให้ทานอย่างมีใจเยื่อใย ให้ทานอย่างมีจิตผูกพัน ให้ทานอย่างมุ่งหวังสั่งสมบุญ ให้ทานด้วยคิดว่า เราละโลกนี้ไปแล้วจักบริโภคผลทานนี้ เขาจึงให้ทานนั้น คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอมเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์ สารีบุตรเธอเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ควรให้ทานเช่นนั้นหรือไม่ ควรให้ พระพุทธเจ้าข้า สารีบุตร ในการให้ทานเช่นนั้น บุคคลผู้ให้ทานอย่างมีใจเยื่อใย ให้ทานอย่างมีจิตผูกพัน ให้ทานอย่างมุ่งหวังสั่งสมบุญ ให้ทานด้วยคิดว่า เราละโลกนี้ไปแล้วจักบริโภคผลทานนี้ เขาให้ทานนั้นแล้ว หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดร่วมกับพวกเทวดาชั้นจาตุมหาราช เขาให้กรรมนั้นสิ้นไป ให้ฤทธิ์นั้นสิ้นไป ให้ยศนั้นสิ้นไปให้ความเป็นใหญ่นั้นสิ้นไป เป็นผู้ยังต้องมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้(๗๙)

ธรรมเนียมการปฏิบัติบูชาต่อเทวดาในทางพุทธศาสนา เมื่อมนุษย์อยู่กับมนุษย์ก็ย่อมมีธรรมเนียมในการปฏิบัติตนต่อกัน และระหว่างมนุษย์ และเทวดา ก็ย่อมมีธรรมเนียมในการปฏิบัติตนต่อกัน ซึ่งหากจะกล่าวไปแล้ว เทวดาย่อมเป็นผู้ที่มีฐานะเหนือกว่ามนุษย์ มนุษย์จึงจำเป็นต้องบูชา และเคารพเทวดาเป็นธรรมดา พระราชวรมุนี (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวเอาไว้อีกว่า ในลัทธิศาสนาที่มีมาแต่ก่อนพุทธกาล เชื่อว่ามีเทวดาอยู่มากมาย และมีเทวดาสูงสุดเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งมนุษย์ไม่อาจจะเทียบได้ มนุษย์จึงสร้างความสัมพันธ์ด้วยการอ้อนวอนร้องขอต่อเทวดา ด้วยการยกย่อง สดุดี บวงสรวง สังเวย บูชายัญ และการปรนเปรอเอาอกเอาใจหือไม่ก็ด้วยการเรียกร้องให้เทวดาสนใจ หรือไม่ก็บีบบังคับให้เทวดาสงสารเมตตา ซึ่งเร้าให้เทวดาเกิดความร้อนใจจนทนไม่ได้ที่จะหันมาดูแล หรือหาทางแก้ไข เช่นสนองความต้องการให้แก่มนุษย์ ทั้งนี้ โดยวิธีการข่มขี่ บีบคั้น ลงโทษทรมานตนเอง ที่เรียกว่า ประพฤติพรต และการบ าเพ็ญตบะต่างๆ(๘๐)

 นอกจากนี้เทวดา ที่มนุษย์ทำการเคารพบูชาที่เป็นชาวสวรรค์แล้ว คำว่า บูชา ยังหมายรวมถึง สิ่งของต่างๆ ที่มนุษย์เคารพนับถือ ทั้งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต เช่น การบวงสรวงสังเวย เซ่นไหว้ด้วยข้าวปลาอาหาร และการบูชาด้วยจิตใจหรือความศรัทธา ซึ่งท่านพระราชวรมุนี (ป.อ. ปยุตฺโต) ก็ได้กล่าวอีกว่า ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาปรากฏว่า มีเรื่องเกี่ยวกับเทวดาเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ดังนั้น จึงถือว่า คติการบูชานับถือเทวดานั้น ย่อมเป็นไปตามเหตุผลสามัญวิสัยของมนุษย์เอง มนุษย์จำนวนมากตั้งแต่สมัยอดีตโบราณมาจนถึงปัจจุบัน มีความเชื่อถือเคารพบูชา หรือมีความหวั่นเกรงต่ออำนาจของผีสางเทวดา มนุษย์ต่างพากันมุ่งหวังที่จะขอความช่วยเหลือจากเทวดา แต่เมื่อพุทธศาสนาเกิดขึ้นก็ได้สั่งสอนให้เลิกวิธีการเหล่านั้น และสามารถชี้แสดงเหตุแสดงผลให้แจ่มชัดกับคุณ และโทษตลอดถึงวิธีปฏิบัติต่อเทวดา(๘๑)

 ตามทัศนะของพุทธศาสนา เทวดาก็เป็นเพียงสัตว์ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ร่วมสังสารวัฏเช่นเดียวกับมนุษย์ ซึ่งสภาพทางจิตใจก็ไม่ได้ต่างจากมนุษย์ไปมาก คือยังมีความหมกมุ่นอยู่ในกามคุณหรือการเสพสุขอยู่เช่นกัน หากจะต่างก็เป็นด้านคุณธรรมที่สูงส่งกว่ามนุษย์บางจำพวก ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า เทวดาเองก็มีทั้งที่เป็นสัมมาทิฐิ คือ มีความเห็นชอบ และเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฐิ คือยังมีความเห็นผิดอยู่เช่นกัน เพียงแต่อาศัยปัจจัยของบุญ ในการด ารงทรงอยู่ในอัตตภาพความเป็นเทวดาอยู่เท่านั้น ดังในพระคาถาที่ปรากฏในติฐานสูตรว่า ภิกษุทั้งหลาย เทวดาชั้นดาวดึงส์เหนือกว่ามนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีป และมนุษย์ชาวชมพูทวีปด้วยฐานะ ๓ ประการ คือ ๑. อายุอันเป็นทิพย์ ๒. วรรณะอันเป็นทิพย์ ๓. สุขอันเป็นทิพย์

ภิกษุทั้งหลาย เทวดาชั้นดาวดึงส์เหนือกว่ามนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีป และมนุษย์ชาวชมพูทวีปด้วยฐานะ ๓ ประการนี้แลฯ มนุษย์ชาวชมพูทวีปเหนือกว่ามนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีป และเทวดาชั้นดาวดึงส์ ด้วยฐานะ ๓ ประการ คือ ๑. เป็นผู้แกล้วกล้า ๒. เป็นผู้มีสติ ๓. เป็นผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในชมพูทวีปนี้ ภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวชมพูทวีปเหนือกว่ามนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีป และเทวดาชั้นดาวดึงส์ ด้วยฐานะ ๓ ประการนี้แล(๘๒)

 ดังพุทธพจน์นี้ จึงแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเทวดาจะมีฐานะเหนือกว่ามนุษย์อยู่จริงในเรื่อง อายุ วรรณะ สุข อันเป็นทิพย์ แต่มนุษย์ก็ยังมีสิ่งที่เหนือกว่าเทวดาอยู่เช่นกันคือ ความเป็นผู้กล้า เป็นผู้มีสติ และเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ได้ สิ่งสำคัญ คือ สามารถปรับปรุงตัวให้มีคุณธรรมยิ่งกว่าเทวดาได้ ซึ่งเป็นภพภูมิที่สามารถสร้างได้ทั้งบุญ และบาป ดังพุทธพจน์ว่า พวกอบายมีหลายชั้น ชั้นเดียวกันก็มีบาปกรรมใกล้เคียงกัน พวกเทพก็มีหลายชั้นยิ่งกว่าอบาย มีคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ประณีตลดหลั่นกันไปตามลำดับ ชั้นเดียวกันมีคุณธรรมใกล้เคียงกัน ส่วนโลกมนุษย์แดนเดียวนี้ เป็นที่รวมของบาปธรรม และคุณธรรม ทุกอย่างทุกระดับ มีคนชั่วซึ่งมีบาปธรรมหยาบหนา เหมือนดังชาวนรกชั้นต่ำสุด และคนดีซึ่งมีคุณธรรมประณีต เท่ากับพรหมชั้นสูงสุด ตลอดจนท่านผู้พ้นแล้วจากภพภูมิทั้งหลาย ซึ่งแม้แต่เหล่าเทพ มาร พรหม ก็เคารพบูชา ภาวะเช่นนี้นับได้ว่าเป็นลักษณะของมนุษย์ ที่เป็นวิสัยกว้างสุดแห่งบาปอกุศลและคุณธรรม(๘๓)

 ด้วยเหตุที่มนุษย์ และเทวดาเป็นภพภูมิที่อยู่ใกล้เคียงกัน เพราะเทวดาสถิตอยู่ในทุกแห่งหนมนุษย์เองจึงมีความยำเกรง และมีการบูชา บวงสรวงเทวดา เพื่อให้เทวดาเหล่านั้นชื่นชอบโปรดปราน และรักษาคุ้มครอง หรือแม้กระทั่งอนุเคราะห์ประโยชน์ช่วยเหลือดังที่มนุษย์ร้องขอต้องการ ดังมีความตามมหาปรินิพพานสูตรที่ว่า ด้วยเรื่องการพึงอุทิศทักษิณา หมายถึง พึงให้ส่วนบุญให้แก่เทวดาว่า บัณฑิตอยู่ในที่ใด เลี้ยงดูท่านผู้มีศีล ผู้สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ ในที่ที่ตนอยู่นั้น พึงอุทิศทักษิณาแก่เหล่าเทวดาผู้สถิตอยู่ในที่นั้น เทวดาเหล่านั้นอันเขาบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบ อันเขานับถือแล้ว ย่อมนับถือเขาตอบ จากนั้นย่อมอนุเคราะห์บัณฑิตนั้นเป็นการตอบแทน ดุจมารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เกิดแต่อก ดังนั้น ผู้ที่เทวดาอนุเคราะห์แล้ว ย่อมพบเห็นแต่สิ่งที่เจริญทุกเมื่อ(๘๔)

 มีคติหนึ่งซึ่งกล่าวถึง การระลึกนึกถึงเทวดาเพื่อที่ว่าก่อนตายจะได้ระลึกนึกถึงเป็นอารมณ์ ในพระอภิธรรมอนุสสติฏฐานสูตรแสดงว่า เทวดาเป็น ๑ ใน ๑๐ แห่งธรรมที่เป็นเครื่องระลึก ขอสติซึ่งมีชื่อว่า เทวตานุสฺสติ(การระลึกนึกถึงเทวดาเป็นอารมณ์) ทั้งนี้เพราะเทวดาบังเกิดขึ้นโดยอานิสงส์ของ สัปปุริสธรรม ๗ ประการ ได้แก่ สัทธา สีล จาคะ สุตะ ปัญญา หิริ โอตตัปปะ เมื่อมีสติระลึกอยู่ในอารมณ์อย่างนี้ ย่อมเป็นกุศล ได้ความปิติอิ่มเอิบ จิตใจก็ไม่ แกว่งไกวไปในราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นสิ่งที่ท าให้เศร้าหมองและเร่าร้อน ความว่า อริยสาวกระลึกถึงเทวดาทั้งหลายว่า มีเทวดาชั้นจาตุมหาราช เทวดาชั้นดาวดึงส์ เทวดาชั้นยามา เทวดาชั้นดุสิต เทวดาชั้นนิมมานรดี เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี เทวดาชั้นพรหมกายเทวดาชั้นสูงขึ้นไปกว่านั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปเกิดในเทวโลกนั้น แม้เราเองก็มีศรัทธาเช่นนั้นเทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด ... สุตะ ...จาคะ ... ปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปเกิดในเทวโลกนั้น แม้เราเองก็มีปัญญาเช่นนั้นสมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญาของตน และของเทวดาเหล่านั้น สมัยนั้น จิตของเธอย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความกำหนัด(๘๕)

 เมื่อได้ระลึกนึกถึงเทวดาแล้วจิตจะเป็นกุศล ตามคตินิมิตตารมณ์ คือ นิมิตที่ปรากฏให้เห็นคติที่จะไปเกิดเมื่อตายไปแล้ว ถ้าโลกนรกก็จะปรากฏเห็นเป็นเปลวไฟ หม้อเหล็กร้อนแดง ฯ แต่ถ้าจะเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาจะเห็นเป็นทิพยวิมาน ปราสาท ราชวัง(๘๖) แต่การระลึกถึงเทวดา ที่เรียกว่า เทวตานุสสติ นี้พระพุทธองค์ทรงวางหลักการ และวิธีการ ไม่ใช่นึกไปลอยๆหรือ นึกแต่จะขอร้องพึ่งพาอย่างเดียว เช่นนั้นจะไม่เกิดเป็นบุญเป็นกุศล จำต้องระลึกตามที่พระพุทธองค์ทรงสอน ดังนี้

 ๑. ควรระลึกในเบื้องต้นว่า เทวดามีจริง มีหลายภพ หลายภูมิ มีหลายระดับ

 ๒. ให้นึกถึง คุณธรรมของเทวดา แล้วเทียบกับคุณธรรมของเราว่า เทวดามีคุณธรรมความดีอะไรบ้าง เรามีอย่างนั้นแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มีก็ควรกระทำจนมีคุณธรรมเหล่านั้น ถ้ามีแล้ว ก็ให้ปีติอิ่มใจว่า คุณธรรมอย่างนั้นเราก็มีแล้ว

คัมภีร์วิสุทธิมรรคได้มีการกล่าวถึงอานิสงส์การเจริญเทวตานุสสติกัมมัฏฐาน คือ ระลึกนึกถึงเทวดาเป็นสตินั้นมีอานิสงส์มากว่าก็แหละ ภิกษุผู้ประกอบเทวตานุสสติกัมมัฏฐานนี้อยู่เนืองๆ ย่อมเป็นที่รักใคร่เป็นที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย ย่อมจะประสบความไพบูลย์ด้วยคุณมีศรัทธา เป็นต้น โดยประมาณยิ่งเป็นผู้มากล้นด้วยปีติและปราโมทย์ ก็แหละ เมื่อยังไม่ได้แทงตลอดคุณวิเศษชั้นสูงขึ้นไป (ในชาตินี้ ) ก็จะเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า(๘๗)

 อังคุตตรบาลีแสดงว่า เทวดายังเป็นวัตถุอันควรเคารพบูชา ดังใน การเคารพเทพยเจ้าที่สิงสถิตย์อยู่ในบ้าน ในเรือน ในหมู่บ้าน ย่อมเกิดมงคลแก่ผู้แสดงว่า กุลบุตรในโลกนี้สักการะ เคารพ นับถือ บูชาเทวดาผู้รับพลีกรรม ด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวม ด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำ ประกอบด้วยธรรมได้มาโดยธรรม เทวดาผู้รับพลีกรรม ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชาแล้วย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรนั้นด้วยน้ำใจอันงามว่า ขอท่านจงมีชีวิตยืนนาน มีอายุยืนนาน กุลบุตรผู้อันเทวดาอนุเคราะห์แล้ว พึงหวังได้ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย(๘๘)

 รัตนสูตรได้แสดงถึง บุคคลผู้บูชาสักการะปวงเทพยดานั้น ย่อมได้รับเมตตาจิตเป็นการตอบแทนจากเทวดาด้วยเช่นกันว่า ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้นหรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ขอให้ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจดี และจงฟังภาษิตโดยเคารพเถิด เพราะฉะนั้นแล ภูตทั้งปวงท่านจงใคร่ครวญจงแผ่เมตตาต่อหมู่มนุษย์ด้วยเถิด มนุษย์เหล่าใดนำเครื่องเซ่นสรวงมาให้ทั้งกลางวัน และกลางคืน เพราะเหตุนั้น ขอท่านทั้งหลายอย่าประมาท จงรักษามนุษย์เหล่านั้น(๘๙)

 เปตวัตถุแสดงว่า ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ เป็นผู้รักษาคุ้มครอง มนุษย์โลก ผู้ใดทำการบูชาท่าน ย่อมไม่เสียผลในการบูชา โดยจะได้รับความสุข ความสบายเป็นเครื่องตอบแทนจากการบูชาเทวดานั้น บุคคลผู้ไม่ตระหนี่ ควรทำเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นอารมณ์ คือ ปรารภบุรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือเทวดาผู้สิงอยู่ในเรือน หรือท้าวมหาราชทั้ง ๔ ผู้รักษาโลก มีบริวารยศ คือ ท้าวกุเวร ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ และท้าววิรูฬหก แล้วพึงถวายทานท่านเหล่านั้น เป็นผู้อันบุคคลบูชาแล้ว และทายกก็ไม่ไร้ผล(๙๐) และที่มนุษย์มักกระทำกันมากนั่นคือ การบวงสรวงบูชาด้วยข้าวปลาอาหาร เครื่องหอม และสิ่งบูชาที่สรรหามาได้ เชื่อว่าสิ่งนี้คือ การสงเคราะห์ บวงสรวง น้อมให้ หรือส่วย มีประกอบด้วยกัน ๕ ประการ เรียกว่า พลีกรรม ๕ ดังนี้

อริยสาวกย่อมทำพลี ๕ อย่าง คือ ญาติพลี อติถิพลี ปุพพเปตพลี ราชพลี เทวตาพลีด้วยโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร เก็บรวบรวมด้วยน้ำพักน้ำแรง อาบเหงื่อต่างน้ำประกอบด้วยธรรม ได้มาโดยธรรม นี้เป็นฐานะที่ ๓ ที่อริยสาวกนั้นถึงแล้ว ถึงโดยสมควร ใช้สอยตามเหตุ(๙๑)

 พระสูตรต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ได้แสดงถึงความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีแต่เทวดาที่ส่วนใหญ่แล้ว มนุษย์จะเคารพบูชาเทวดาตามศักดิ์ที่สูงกว่า และนำมาซึ่งการบวงสรวง เซ่นสังเวย อ้อนวอน และร้องขอต่อเทวดา ในรูปแบบที่นำเทวดามาเป็นที่พึ่งที่อาศัย ด้วยใจที่ปรารถนาให้ได้เกื้อกูลต่อกัน ดังนั้นเทวดาจึงมีอำนาจที่จะบันดาลสุขให้แก่มนุษย์ผู้มีใจศรัทธา แต่มักจะเป็นไปในรูปแบบของการบูชาที่ตัวตนของเทวดาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแท้จริงแล้วการระลึกนึกถึงเทวดา ในฐานะที่เป็นผู้มีคุณธรรม และเทวลักษณะ คุณลักษณะอันเกิดได้ด้วยบุญแล้วจิตผ่องใส พระพุทธองค์ให้ทรงนึกถึงเป็นการเจริญสติ กล่าวคือ ระลึกเพื่อให้บังเกิดความเบิกบาน ผ่องใส และใจไม่ตกต่ำ ว่าคุณธรรมใดที่เทวดามี เราที่เป็นมนุษย์ก็มีด้วยเช่นกัน เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วย่อมเข้าถึงอัตตภาพความเป็นเทวดาได้เช่นกันนั่นเอง แต่กระนั้นมนุษย์ก็ยังคงต้องคอยหวังพึ่งเทวดาอยู่ ตราบใดที่ความสัมพันธ์นี้ยังมีอยู่

 สรุปได้ว่า เทวดาตามความหมายในทางพุทธศาสนา ก็คือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในเทวโลก ในชั้นสวรรค์มี ๖ ชั้น จึงมีชื่อเรียกว่า ฉกามาพจร ซึ่งมีความหมายถึง ภพภูมิที่ยังติดอยู่ในบ่วงกามตัณหายังมีความอยาก ความใคร่ มีการจุติ เกิด ดับ เหมือนโลกมนุษย์แบ่งออกได้เป็น ชั้นจตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี ดังที่มีปรากฏยืนยันในคัมภีร์พุทธศาสนา คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก และนอกจากนั้นในทางพุทธศาสนายังสามารถแบ่งแยกย่อยลงไปเป็นอีก ๓ ประเภท คือ สมมุติเทพ คือ เทพโดยสมมุติเช่น พระราชา พระมหากษัตริย์ อุบัติเทพ คือ เทพที่เกิดโดยการอุบัติขึ้น และวิสุทธิเทพ คือ ผู้ที่ชำระกิเลสให้ผ่องใสแล้ว เช่น พระอริยสงฆ์ โดยการอุบัติขึ้นมาของเทวดานั้นเกิดจาก ผลบุญที่ได้เพียรกระทำสั่งสมเอาไว้ จนเกิดเป็นเหตุปัจจัยของกุศลกรรม และคุณธรรมเบื้องต้น คือ หิริ โอตตัปปะ นำพาให้ไปเกิดบนสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ ได้เสวยทิพย์สมบัติของเทวดา เช่น มีกายทิพย์ รัศมีทิพย์ อำนาจทิพย์ และเสวยอาหารที่เป็นทิพย์ แต่กระนั้นเทวดาก็สามารถจุติดับลงจากภพสวรรค์ได้เช่นกัน หากหมดบุญหรืออายุขัยใน เทวโลกลงแล้ว

 ดังนั้น จึงมีธรรมเนียมการปฏิบัติบูชาต่อเทวดาเพื่อการยกย่อง ในคุณงามความดีที่ได้กระทำตนเป็นแบบอย่าง อีกทั้งยังใช้เพื่อระลึกเป็นสติ เรียกว่า เทวานุสติ เพราะด้วยคุณธรรมที่มีอยู่ในเทวดา คือ สัปปุริสธรรม ๗ ประการ เพื่อให้จิตใจบังเกิดกุศลธรรมนำไปสู่ความเบิกบาน และผ่องใส รวมไปถึงการได้สละอุทิศบุญให้แก่เทวดา ในการทำเทวตาพลี เช่น การสงเคราะห์ บวงสรวง น้อมให้แก่เทวดาเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเคารพยำเกรง และเป็นที่รักของเทวดา ซึ่งเทวดานั้นมีคำสอนรองรับในคัมภีร์พระไตรปิฎกว่า มีอยู่จริง และเป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกับมนุษย์ในฐานะของสัตว์ในสังสารวัฏ และได้รับการยืนยันจากปราชญ์ผู้รู้ทางพุทธศาสนาเพื่อให้แน่ใจว่า ความมีอยู่จริงนี้มีสาระแก่นสารอยู่มากน้อยเพียงใด อย่างน้อยก็ทำให้พุทธศาสนิกชนที่ยังเลื่อมใสในความเชื่อเหล่านี้ และสามารถเข้าใจในวิถีปฏิบัติต่อกันอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

----------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

(๑) ส .ส. (ไทย) ๑๕/๑/๑., (๒) ที.ม. (ไทย) ๑๐/๓๔๔/๒๗๒., (๓) พระอัคควังสเถระ, สัททนีติธาตุมาลา คัมภีร์หลักบาลีไวยากรณ์, กรุงเทพมหานคร : ไทยรายวันการ พิมพ์, ๒๕๒๕. หน้า ๕๗๘., (๔) กรมศิลปากร, จักรวาลทีปนี, กรุงเทพมหานคร : เนททัลเอ็กเพลสศึกษาการพิมพ์, ๒๕๒๓. หน้า ๑๓๒., (๕) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), เรื่องเหนือสามัญวิสัย อิทธิปาฎิหาริย์เทวดา, พิมพ์ครั้งที่ ๔, กรุงเทพมหานคร: ธรรมดา, ๒๕๕๓. หน้า ๔๗-๔๘., (๖) พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ ๑๐, (กรุงเทพมหานคร: เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์, ๒๕๔๖), หน้า ๑๐๑., (๗) ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒, (กรุงเทพมหานคร: นาน มีบุ๊คส์พับลิเคชั่น, ๒๕๔๖), หน้า ๕๔๐., (๘) พระครูวินัยธรสุเทพ อกิญฺจโน(ทับทิมเทศ), “การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องเทวดาในพระพุทธศาสนาเถร วาท”, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, (บัIฑิตวิทยาลัย: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ๒๕๓๙), หน้า ๑๑., (๙) พระครูวินัยธรสุเทพ อกิญฺจโน (ทับทิมเทศ), “การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องเทวดาในพระพุทธศาสนา เถรวาท”, หน้า ๑๑.,(๑๐) วิ.ม. (ไทย) ๔/๑๗/๒๕., (๑๑) วิ.มหา.(ไทย) ๒/๘๙/๒๗๗., (๑๒) วิ.มหา.(ไทย) ๑/๑๖๓/๑๓๕., (๑๓) วิ.มหา.(ไทย) ๑/๒๘๕/๓๑๗., (๑๔) วิ.ม.(ไทย) ๔/๖/๙., (๑๕) พระเทพเวที (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, หน้า ๑๘๙., (๑๖) สํ.ส. (ไทย) ๑๕/๑/๑., (๑๗) ส .ส. (ไทย) ๑๕/๕๒/๘๗., (๑๘) สํ.ส. (ไทย) ๑๕/๑๗๒/๒๒๙., (๑๙) ที.ม. (ไทย) ๑๐/๓๓๑/๒๕๙., (๒๐) อภิ.สง.อ. (ไทย) ๔๘/๑/๓๕., (๒๑) อภิ.วิ. (ไทย) ๓๕/๙๔๑/๕๙๔., (๒๒) อภิ.วิ. (ไทย) ๓๕/๙๗๔/๖๒๔., (๒๓) อภิ.ปุ.(ไทย) ๓๗/๗๘/๔๗., (๒๔) อภิ.ปุ.(ไทย) ๓๗/๓๗๙/๓๘๓., (๒๕) ปุคคลบัญญัติ เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยการกำหนดลักษณะของบุคคลประเภทต่างๆ โดยบัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรม เช่นว่า โสดาบันได้แก่ บุคคลผู้ละสังโยชน์ ๓ ได้แล้ว ดังนี้ เป็นต้น, พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต), (๒๕๕๑),พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, หน้า ๑๑๖., (๒๖) พระราชวรมุนี (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม, (กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘), หน้า ๔๖๗., (๒๗) ขุ.จู (ไทย) ๓๐/๑๑๙/๓๘๘., (๒๘) ขุ.จู (ไทย) ๓๐/๓๒/๑๖๐., (๒๙) ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๓๖/๒๙๓., (๓๐) โอปปาติกสัตว์ คือสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ(ตาย) ก็หายวับไป ไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น เทวดาและสัตว์นรก (ที.สี.อ. ๑/๑๗๑/๑๔๙)., (๓๑) ธมกร แซ่ฟอง, “ศึกษาการบรรลุธรรมของผู้อุบัติในเทวภูมิ”, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต,(บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๖๐), หน้า ๕๓-๕๔., (๓๒) ขุ.วิ. (ไทย) ๒๖/๑/๑ (คำว่า วิมาน หมายถึง ที่เล่น ที่อยู่ของเหล่าเทวดาซึ่งถือว่าเป็นสถานที่อันประเสริฐ และคำว่าวิมานวัตถุ หมายถึง เรื่องวิมาน หรือที่ตั้งวิมานนั้นๆ), (ขุ.วิ.อ. ๒)., (๓๓) ขุ.ขุ. (ไทย) ๒๕/๑๒,๑๖/๑๙-๒๐., (๓๔) องฺ.ติก. (ไทย) ๒๗/๔๙/๒๑๐., (๓๕) องฺ.ติก. (ไทย) ๒๐/๙/๑๔๗., (๓๖) ส .ส. (ไทย) ๑๕/๒๕๗/๓๗๕., (๓๗) ขุ.วิ. (ไทย) ๒๖/๑๒๘-๑๓๓/๒๒-๒๓., (๓๘) สํ.ข. (ไทย) ๑๗/๕๕๒-๕๖๑/๓๗๐., (๓๙) ขุ.ม. (ไทย) ๒๙/๑๐๓/๓๑๘., (๔๐) ม.มู. (ไทย) ๑๒/๔๔๑/๔๗๕-๔๗๘., (๔๑) ม.มู (ไทย) ๑๒/๔๔๒/๔๗๘-๔๗๙., (๔๒) พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ (วันจันทร์), “นรกและสวรรค์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท”,วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต,(บัณฑิตวิทยาลัย : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕), หน้า ๗๓., (๔๓) องฺ.ติก. (ไทย) ๒๗/๓๘/๑๙๕-๑๙๖., (๔๔) ธมกร แซ่ฟอง, การศึกษาการบรรลุธรรมของผู้อุบัติในเทวภูมิ, หน้า๕๕-๕๖., (๔๕) พระอนุรุทธาจารย์, ปกรณ์อันรวบรวมซึ่งอรรถแห่งพระอภิธรรม ปริจเฉทที่ ๕ (วิถีมุตตสังคหวิภาค), หน้า ๑๔-๑๕, [ออนไลน์], แหล่งที่มา https://www.thepathofpurity.com [๑๔ ก.ย.๒๕๖๐]., (๔๖) ส .ส. (ไทย) ๑๑/๒๔๗/๓๕๗., (๔๗) ที.ม. (ไทย) ๑๐/๒๙๕/๒๒๘., (๔๘) พระอนุรุทธาจารย์, ปกรณ์อันรวบรวมซึ่งอรรถแห่งพระอภิธรรม ปริจเฉทที่ ๕ (วิถีมุตตสังคหวิภาค), หน้า ๑๖., (๔๙) อุดม รุ่งเรืองศรี, เทวดาพุทธ: เทพเจ้าในพระไตรปิฎกและไตรภูมิพระร่วง, ( เชียงใหม่: ศูนย์หนังสือเชียงใหม่, ๒๕๒๓), หน้า ๗๑., (๕๐) อ้างที่เดียวกัน, หน้า ๘๙., (๕๑) องฺ.อฏฺ ก. (ไทย) ๒๓/๓๖/๒๙๕., (๕๒) พระอนุรุทธาจารย์, ปกรณ์อันรวบรวมซึ่งอรรถแห่งพระอภิธรรม ปริจเฉทที่ ๕ (วิถีมุตตสังคหวิภาค), หน้า ๑๗., (๕๓) องฺ.อฏฺ ก. (ไทย) ๒๓/๓๖/๒๙๕., (๕๔) พระอนุรุทธาจารย์, ปกรณ์อันรวบรวมซึ่งอรรถแห่งพระอภิธรรม ปริจเฉทที่ ๕ (วิถีมุตตสังคหวิภาค), หน้า ๑๗., (๕๕) พระพรหมโมลิ(วิลาส ญาณวโร), ภูมิวิลาสินี, (กรุงเทพมหานคร : ดอกหญ้า, ๒๕๓๗), หน้า ๓๗๔., (๕๖) องฺ.อฏฺ ก. (ไทย) ๒๓/๓๖/๒๙๖., (๕๗) พระอนุรุทธาจารย์, ปกรณ์อันรวบรวมซึ่งอรรถแห่งพระอภิธรรม ปริจเฉทที่ ๕ (วิถีมุตตสังคหวิภาค), หน้า ๑๘., (๕๘) ขุ.วิ. (ไทย) ๒๖/๑๓๙/๒๔., (๕๙) องฺ.อฏฺ ก. (ไทย) ๒๓/๓๖/๒๙๖., (๖๐) สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส, พระปฐมสมโพธิกถา, (กรุงเทพมหานคร : อ านวยสาสน์การพิมพ์,๒๕๒๙), หน้า ๓๗๔., (๖๑) พระมหาวิวัฒน์ จิรวฑฺโน (ตรีมิ่งมิตร), “การศึกษาเปรียบเทียบเหตุที่ทำให้เป็นเทวดาและมนุษย์ในกามาวจรภูมิ”, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๕๕), หน้า ๒๖-๓๐., (๖๒) ขุ.อิติ. (ไทย) ๒๕/๘๓/๔๔๗-๔๔๘., (๖๓) ขุ.อิติ. (ไทย) ๒๕/๘๓/๔๔๗-๔๔๘., (๖๔) ที.สี.(ไทย) ๙/๖๕/๒๗, เชิงอรรถ :๑ โอปปาติกะ สัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ(ตาย) ก็หายวับไป ไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่น เทวดา และสัตว์นรก เป็นต้น (ที.สี.อ. ๑๗๑/๑๔๙)., (๖๕) ที.ม. (ไทย) ๑๐/๓๔๐/๒๗๐., (๖๖) อุดม รุ่งเรืองศรี , เทวดาพุทธ, (เชียงใหม่ : ภ าค วิช าภ าษ าไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๒๓), หน้า ๒๕., (๖๗) ธมกร แซ่ฟอง, การศึกษาการบรรลุธรรมของผู้อุบัติในเทวภูมิ, หน้า ๖๑-๖๒., (๖๘) ที.ม. (ไทย) ๑๐/๒๘๔/๒๑๕., (๖๙) ที.ม. (ไทย) ๑๐/๑๘/๑๑., (๗๐) องฺ.ปญฺจก. (ไทย) ๒๒/๓๓/๕๓., (๗๑) องฺ.ปญฺจก.อ. (แปล) ๓/๓๓/๒๑., (๗๒) พระอนุรุทธาจารย์, ปกรณ์อันรวบรวมซึ่งอรรถแห่งพระอภิธรรม ปริจเฉทที่ ๕ (วิถีมุตตสังคหวิภาค), หน้า ๑๔., (๗๓) ม.มู (ไทย) ๑๒/๔๐๒/๔๓๔., (๗๔) พระมหาวิวัฒน์ จิรวฑฺโน (ตรีมิ่งมิตร), “การศึกษาเปรียบเทียบเหตุที่ทำให้เป็นเทวดาและมนุษย์ในกามาวจรภูมิ”, หน้า ๓๔-๓๕., (๗๕) ขุ.ชา.อสีติ. (ไทย) ๒๘/๒๒๙/๑๒๒., (๗๖) ขุ.ชา.อสีติ. (ไทย) ๒๘/๒๘๗/๑๓๓., (๗๗) ธ ร ร ม ะ ส อนใ จ, “ท่อ ง ส ว ร รค์ ตอน ชีวิตค ว ามเป็น อยู่ข อ งเท วด า”, [ ออนไ ล น์ ] ,แหล่งที่มา:https://www.dmc.tv/pages/ [๑๖ กันยายน ๒๕๖๑ ]., (๗๘) อุดม รุ่งเรืองศรี, เทวดาพุทธ: เทพเจ้าในพระไตรปิฎกและไตรภูมิพระร่วง, หน้า ๓๙., (๗๙) องฺ.สตฺตก. (ไทย) ๒๓/๕๒/๙๐., (๘๐) พระราชวรมุนี (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม, หน้า ๔๖๘., (๘๑) เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๕๖., (๘๒) องฺ.นวก. (ไทย) ๒๓/๒๑/๔๗๕., (๘๓) พระราชวรมุนี (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม, หน้า ๔๖๗., (๘๔) ที.ม. (ไทย) ๑๐/๑๕๓/๙๗., (๘๕) องฺ.ฉกฺก. (ไทย) ๒๒/๒๕/๔๕๘., (๘๖) พระราชวิสุทธิโสภณ (วิลาส านวโร), โลกทีปนี, หน้า ๘-๑๕., (๘๗) พระพุทธโฆสเถระ, คัมภีร์วิสุทธิมรรค, หน้า ๓๗๙., (๘๘) องฺ.ปญฺจก. (ไทย) ๒๒/๕๘/๑๐๖., (๘๙) ขุ.ขุ (ไทย) ๒๕/๑/๙., (๙๐) ขุ.เปต. (ไทย) ๒๖/๑๐/๑๖๙., (๙๑) องฺ.จตุกฺก. (ไทย) ๒๑/๖๑/๑๐๓.

 

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

________. พระไตรปิฎกภาษาไทย อรรถกถาแปล. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๐.

กรมศิลปากร. จักรวาลทีปนี. กรุงเทพมหานคร: เนททัลเอ็กเพลสศึกษาการพิมพ์, ๒๕๒๓.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). เรื่องเหนือสามัญวิสัย อิทธิปาฏิหาริย์เทวดา. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพมหานคร: ธรรมดา, ๒๕๕๓.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ ๑๐, (กรุงเทพมหานคร: เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์, ๒๕๔๖)

พระพรหมโมลิ(วิลาสาณวโร). ภูมิวิลาสินี. กรุงเทพมหานคร: ดอกหญ้า, ๒๕๓๗.

พระอัคควังสเถระ. สัททนีติธาตุมาลา คัมภีร์หลักบาลีไวยากรณ์. กรุงเทพมหานคร: ไทยรายวันการ

 พิมพ์, ๒๕๒๕.

พระอนุรุทธาจารย์, ปกรณ์อันรวบรวมซึ่งอรรถแห่งพระอภิธรรม ปริจเฉทที่ ๕ (วิถีมุตตสังคหวิภาค), หน้า ๑๔-๑๕, [ออนไลน์], แหล่งที่มา https://www.thepathofpurity.com [๑๔ ก.ย.๒๕๖๐].

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒. กรุงเทพมหานคร: นานมีบุ๊คส์

 พับลิเคชั่น, ๒๕๔๖.

สนิท สมัครการ. ความเชื่อและศาสนาในสังคมไทย วิเคราะห์เชิงสังคม-มานุษยวิทยา.กรุงเทพมหานคร: โอเดียนสโตร์, ๒๕๓๙.

สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส. พระปฐมสมโพธิกถา. กรุงเทพมหานคร: อ านวยสาสน์การพิมพ์,

 ๒๕๒๙.

อุดม รุ่งเรืองศรี. เทวดาพุทธ. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๒๓.

________. เทวดาพุทธ: เทพเจ้าในพระไตรปิฎกและไตรภูมิพระร่วง. เชียงใหม่: ศูนย์หนังสือ เชียงใหม่, ๒๕๒๓.

ธมกร แซ่ฟอง. ศึกษาการบรรลุธรรมของผู้อุบัติในเทวภูมิ”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต.

 บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๖๐.

พระครูวินัยธรสุเทพ อกิญฺจโน (ทับทิมเทศ). การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องเทวดาในพระพุทธศาสนาเถรวาท”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ๒๕๓๙.

พระมหาวิวัฒน์ จิรวฑฺโน(ตรีมิ่งมิตร). การศึกษาเปรียบเทียบเหตุที่ทำให้เป็นเทวดาและมนุษย์ใน กามาวจรภูมิ”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๕๕.

พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ (วันจันทร์). นรกและสวรรค์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท”. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต. บัณฑิตวิทยาลัย : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๕.

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML