การเกิดเป็นมนุษย์ในพุทธศาสนา

 


การเกิดเป็นมนุษย์ในพุทธศาสนา

การเกิดเป็นมนุษย์ นับว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ และมหัศจรรย์ มีความสลับซับซ้อนมากที่สุด ส่วนใหญ่แล้ว เราไม่เข้าใจว่าเราเกิดมาจากไหน และก็คงมีผู้ตอบปัญหานี้ได้น้อยมาก เพราะคนเรามักไม่ค่อยสนใจหรือทำความเข้าใจในเรื่องของตัวเอง แต่กลับสนใจเรื่องที่อยู่ไกลตัว ชีวิตในชาตินี้ จึงถูกครอบงำด้วยกิเลส ตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง ชีวิตจึงมีแต่ความทุกข์เดือดร้อนอยู่ร่ำไป หลักคำสอนของพุทธศาสนา มีแนวคิดว่า การเกิดเป็นมนุษย์นั้นยาก ดังที่ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในพาลปัณฑิตสูตรว่า เปรียบเหมือนบุรุษโยนห่วงวงกลมอันเดียวลงไปในน้ำทะเล ที่มีคลื่นลมแรง และมีเต่าตาบอดอยู่ตัวหนึ่ง อยู่ใต้ทะเล ในระยะเวลา 100 ปี เต่าตัวนั้นถึงจะโผล่หัวออกมา โอกาสที่หัวเต่าตัวนั้นจะเอาคอสวมเข้าไปในห่วงวงกลมอันเดียวนั้นยังยาก และถ้าหากจะเอาคอเข้าได้ง่าย ก็ยังดีกว่าที่คนพาลตกอยู่ในกำเนิดอันต่ำแล้วจะกลับคืนมาสู่ความเป็นมนุษย์อีกนั้นยาก เพราะในภพภูมิที่ต่ำนั้นไม่มีการประพฤติธรรม ทำบุญ สร้างกุศล จะฆ่าแกงกินกันเอง และถ้าหากจะมีโอกาสในการเกิดก็จะเกิดในตระกูลที่ต่ำ ยากจนข้นแค้น ลำบากในการใช้ชีวิตอยู่(1)

เมื่อกล่าวถึงหลักกรรม ชีวิตที่ยังไม่สิ้นกิเลส ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกหลายร้อยชาติ เพื่อใช้กรรม ที่ได้ทำไว้ในอดีตชาติ เพราะชีวิตเดียว หากเกิดมาชาติเดียวนั้นสั้นเกินไป ไม่เพียงพอใช้กรรมให้หมดสิ้นไปได้ ตราบใดที่มนุษย์ยังมีกิเลสอยู่ เขาก็ย่อมเกิดมาอีกเพื่อใช้กรรมตราบนั้น การเกิดในภพภูมิของมนุษย์ที่ได้ชื่อว่า เป็นภพภูมิกลางๆ กล่าวคือ เป็นสถานที่สร้างกรรมใหม่ พร้อมๆ กับการรับวิบากกรรมเก่าไปด้วย ซึ่งผิดกับภพภูมิอื่น เช่น นรก สัตว์เดรัจฉาน เทวดา ที่เกิดมาเพื่อรับกรรมอย่างเดียว คือ ถ้าไม่ทุกข์ ก็เป็นสุขอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นภาวะสุดโต่งที่ไม่มีความสมดุลเลย แต่การเกิดในภพภูมิมนุษย์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เป็นสภาวะกลางๆ ที่มีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง คละเคล้ากันไป ซึ่งเป็นสภาวะที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้สัจธรรมของชีวิต นั่นคือ สามารถเรียนรู้ความเป็นอนิจจัง และมายาของชีวิต ทำให้ตั้งปัญหาถามเรื่องเกี่ยวกับชีวิตว่า เกิดมาทำไม เป้าหมายของชีวิต คือ อะไร จึงมีโอกาสที่จะได้สร้างกรรมดีหรือกุศลกรรมบถ 10 ที่จะพัฒนาชีวิตให้สูงส่งยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้หลุดพ้นได้ ฉะนั้น การเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วได้พบพุทธศาสนา จึงต้องนับว่า เป็นลาภอันประเสริฐ

ความหมายของการเกิดเป็นมนุษย์ในพุทธศาสนา มีการนิยามศัพท์ของคำว่า การเกิด ชื่อว่า ชาติ ซึ่งในคัมภีร์อภิธานก็ได้นิยาม การเกิด ชื่อว่า ชาติ มาจาก ชน ชนเน+ติ ชนนํ ชาติ อาเทศ (แปลง) น ที่สุดธาตุเป็น อา เช่น กึปจฺจยา ชาติ ภวปจฺจยา ชาติ ชาติมีอะไรเป็นปัจจัย ชาติมีภพเป็นปัจจัย(2)

การอธิบายความหมายของชาติ ในพระไตรปิฎกจะครอบคลุมความหมายทั้งแบบข้ามภพข้ามชาติและแบบปัจจุบัน เพราะอธิบายกว้างๆ ว่า หมายถึง ความเกิดหรือความปรากฏแห่งขันธ์ ซึ่งในคัมภีร์วิสุทธิมรรคอธิบายว่า ชาติ มีหลายความหมาย เช่น หมายถึง ภพ(3) และการปฏิสนธิ (ความปรากฏของจิตหรือวิญญาณดวงแรกในครรภ์มารดา) รวมถึงการคลอดออกมา ชาติในความหมายแบบข้ามภพข้ามชาติจึงหมายถึง การเกิดหรือการปรากฏของขันธ์ 5 ในภพใหม่ โดยมีกรรมภพเป็นปัจจัย อุปปัตติภพไม่ได้เป็นปัจจัยแก่ชาติ(4)

กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ กรรมภพเป็นปัจจัยแก่ อุปปัตติภพ(5) และชาติ เพราะอุปปัตติภพ คือ ขันธ์ที่เกิดในภพใหม่ตามอำนาจของกรรม คือ กรรมภพ ส่วนชาติ คือ การปรากฏของอุปปัตติภพ คือ ขันธ์ใหม่ซึ่งไม่ใช่อีกสิ่งหนึ่งต่างหากจากภพ จึงต้องเป็นไปตามอำนาจของกรรมภพด้วยเช่นกัน

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็ทรงอธิบายไว้ว่า การเกิดได้ชีวิตมานั้น หมายถึง ตั้งแต่ปฐมจิตหรือตั้งแต่ปรากฏขึ้นว่า มีทารกอยู่ในครรภ์ และยังมีลมหายใจอยู่(6)

ฐิตวณฺโณ ภิกขุ อธิบายว่า การเกิดของชีวิตมนุษย์ นับตั้งแต่มีจิตเข้าไปถือครอง จิต คือ ปฏิสนธิจิต เรียกว่า คันธัพพะ คือ มีสัตว์มาเกิดหรือจุติวิญญาณ เคลื่อนมาปฏิสนธิ จึงเกิดเป็นปฏิสนธิวิญญาณ(7)

ดังนั้น การเกิดของขันธ์ในภพใหม่จึงมีกรรมภพหรือกรรมที่ทำไว้ในอดีตชาติเป็นปัจจัย คือ สัตว์ทั้งหลายจะเกิดมามีร่างกาย และรูปร่างหน้าตาสวยงามหรืออัปลักษณ์ สมบูรณ์หรือพิการ ร่ำรวยหรือยากแค้น ก็แล้วแต่กรรมที่ทำมาเป็นตัวกำหนด ซึ่งเป็นการอธิบายการเกิดแบบข้ามภพข้ามชาติ ที่เข้าใจได้ง่าย เพราะกรรมที่เป็นปัจจัยให้เราไปเกิดในภพใหม่หรือชาติหน้าอาจไม่ใช่กรรมที่ทำในชาตินี้แต่เป็นอดีตชาติที่ล่วงมาแล้วหลายชาติ

ในพระอภิธรรม ได้กล่าวถึง ชาติ ในความหมายแบบข้ามภพข้ามชาติ หมายถึง การเกิดขึ้นครั้งแรกของโลกียวิบาก และกัมมชรูป(8) อันเป็นอุปปัตติภพใน 31 ภูมิ โดยมีขันธ์ 1(9)บ้าง 4 ขันธ์(10) บ้าง 5 ขันธ์(11) บ้าง เมื่อว่า โดยองค์ธรรม หมายถึง ชาติในปฏิสนธิกาลอัน ได้แก่ ปฏิสนธิจิต 19 เจตสิก 35 และกัมมชกลาป 3 หรือ 4 หรือ 7 กลาป รวมถึงชาติในปวัตติกาล อันได้แก่ โลกียวิบาก 32 และกัมมชรูป 20 กัมมชรูป และ กัมมชกลาป (เป็นกลุ่มรูปที่เกิดจากกรรม) เกิดมีขึ้นได้เฉพาะวัตถุที่มีวิญญาณ คือ สิ่งมีชีวิตเท่านั้น ส่วนวัตถุที่ไม่มีวิญญาณ คือ สิ่งที่ไม่มีชีวิตนั้น ไม่มีกัมมชรูปหรือกัมมชกลาป

ตามมติฝ่ายอภิธรรม ชาติ เมื่อจำแนกตามกาลมี 3 อย่าง คือ ปฏิสนธิชาติ หมายถึง รูปขันธ์ และนามขันธ์ที่เกิดในปฏิสนธิกาล ได้แก่ การเกิดของปฏิสนธิจิต 19 เจตสิก 35 กัมมชกลาป 3 หรือ 4 หรือ 7 กลาป ที่เกิดในปฏิสนธิกาล สันตติชาติ หมายถึง นามขันธ์ และรูปขันธ์ที่เกิดขึ้นติดต่อกันไปไม่ขาดสายหลังจากปฏิสนธิกาลแล้ว ได้แก่การสืบต่อของจิต เจตสิก และรูปทั้งหมด ขณิกชาติ หมายถึง นามขันธ์ และรูปขันธ์ที่เกิดขึ้นในขณะหนึ่งๆ ได้แก่ การเกิดขึ้นในขณะหนึ่งๆ ของจิต เจตสิก และรูปทั้งหมด(12)

รศ.ดร. วัชระ งามจิตรเจริญ ได้ให้ทรรศนะไว้ว่า สันตติชาติ คือ ชาติในปวัตติกาลซึ่งเป็นได้ทั้งชาติในความหมายแบบข้ามภพข้ามชาติ และแบบปัจจุบัน ส่วนขณิกชาติแม้จะมีความหมายกว้างเพราะนามและรูปทั้งหมดต้องเกิดดับตลอดเวลาหรือทุกขณะ ซึ่งน่าจะจัดเป็นชาติ ในความหมายแบบชาติปัจจุบันเพื่อจะได้เข้ากับความหมายของปัจจัยต่างๆ ในแบบชาติปัจจุบันที่เกิดดับเป็นขณะ(13) ชาติ ในความหมายแบบปัจจุบันของชาตินี้ คือ การปรากฏของภาวะชีวิตหรือสภาพชีวิตหรือพฤติกรรม และบุคลิกภาพทั้งมวลในแต่ละขณะ ซึ่งในชาติหนึ่ง เราจะมีความเกิดของภาวะชีวิต และพฤติกรรมต่างๆ นับไม่ถ้วน ชาติ หมายถึง การเกิดของสภาพชีวิตใหม่ในปัจจุบัน

พระพรหมคุณาภรณ์ (..ปยุตฺโต) อธิบายว่า ชาติ หมายถึง เริ่มแต่ปฏิสนธิวิญญาณที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับพลังแห่งกรรมนั้น ปฏิสนธิขึ้นในภพที่สมควรกับกรรม บังเกิดขันธ์ 5 ขึ้นพร้อมเริ่มกระบวนการแห่งชีวิตให้ดำเนินต่อไป คือ เกิดนามรูป สฬายตนะ ผัสสะ และเวทนา ขึ้นหมุนเวียนวงจรอีก(14)

ในทรรศนะทางพุทธศาสนา การเกิด หมายถึง การเกิดขึ้นของรูป และนาม หรือการเกิดขึ้นของขันธ์ 5 อันประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มาประกอบกันเข้าเป็นสิ่งที่บัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล เรา เขา ซึ่งในทางพุทธศาสนา ถือว่า มีอยู่ 4 ประการ เรียกว่า โยนิ หมายถึง กำเนิดหรือสิ่งที่ปฏิสนธิวิญญาณอาศัยเกิด คือ 1) อัณฑชโยนิ (กำเนิดของสัตว์ที่เกิดในไข่) 2) ชลาพุชโยนิ (กำเนิดของสัตว์ที่เกิดในครรภ์) 3) สังเสทชโยนิ (กำเนิดของสัตว์ที่เกิดในเถ้าไคล) 4) โอปปาติกโยนิ (กำเนิดของสัตว์ที่เกิดผุดขึ้น)(15)

เหตุผล และหลักฐานที่ปรากฏทางคัมภีร์พุทธศาสนา หลักคำสอนทางพุทธศาสนาถือว่า เรื่องกรรมมีความสัมพันธ์ และเกี่ยวโยงกับสาเหตุแห่งการเกิด เพราะว่า หลักกรรมจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยมีเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด หรือ การเกิดมาของชีวิตที่ต้องเกิดมาเพื่อใช้กรรม ทำกรรม และพัฒนากรรมที่ได้ทำไว้การเกิดเป็นมนุษย์นั้น มีวิวัฒนาการต่างๆ เป็นมาอย่างไร ศาสนาถือว่า เป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องตอบคำถามในเรื่องนี้ เพื่อคลายความสงสัยของมนุษย์ และสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้น

พระพุทธเจ้าได้แสวงหาความจริงของสรรพสิ่งเกี่ยวกับความดับทุกข์ของมวลมนุษยชาติ ได้ชี้หนทางในการแก้ไขมากกว่าที่จะสนใจปัญหาทางอภิปรัชญา ซึ่งเป็นอัพยากตปัญหา คือ ปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ เพราะเป็นปัญหาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดับทุกข์ พระองค์ทรงเปรียบบุคคลที่ต้องการทราบปัญหาเหล่านั้นดังที่ปรากฏในจูฬมาลุงกยสูตรว่า เหมือนบุคคลถูกยิงด้วยธนูที่มีลูกศรอาบยาพิษมีฤทธิ์ร้ายแรง มีอาการปางตาย ญาติของเขาไปหาแพทย์เพื่อทำการรักษา แต่เขากลับห้ามไว้ว่า ให้รอไปก่อนจนกว่าเขาจะรู้ว่า ใครเป็นผู้ยิง มีชื่อ โคตรว่า อย่างไร เป็นคนผิวดำ ผิวขาว หรือผิวสองสี อยู่ที่บ้านไหน ธนูมีลักษณะอย่างไร ลูกศรที่ใช้ยิงทำด้วยอะไร กว่าจะได้คำตอบ ของคำถามเหล่านี้ คนที่ถูกยิงจะตายเสียก่อน(16)

อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงละเลยปัญหาเกี่ยวกับการเกิดของมนุษย์เสียทีเดียว หลักฐานที่ปรากฏในคัมภีร์อัคคัญญสูตร พระองค์ได้ทรงคัดค้านคำสอนของพวกพราหมณ์ที่ถือว่า ตัวเองเกิดมาจากปากของพระพรหม โดยทรงอธิบายให้พราหมณ์ที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนาฟังว่า มนุษย์ทุกคนมีบรรพบุรุษเดิมมาจากต้นเค้าเดียวกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะอยู่ในวรรณะใด ชีวิตยุคแรกๆ นั้น จุติมาจากอาภัสสรพรหม ยังไม่มีเพศ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง และสัญจรไปในอากาศ ในสมัยนั้นตั้งแต่ตอนต้นแห่งวิวัฏฏกัป คือ ช่วงที่โลกกลับก่อตัวขึ้นใหม่ เริ่มจากสภาพที่เป็นน้ำแผ่เต็มอวกาศอันเวิ้งว้างว่างเปล่า ไม่มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดวงดาวใดๆ จักรวาลทั้งสิ้นยังเป็นน้ำ มืดมนมองไม่เห็นอะไร ไม่มีกลางวันกลางคืนทั่วบริเวณมืดมิด โลกค่อยๆ แข็งตัวขึ้น มีพืชพรรณเกิดขึ้นตามลำดับ คือ ง้วนดิน ซึ่งมีสีเหมือนเนยใสหรือเนยข้น มีกลิ่น และรสเหมือนน้ำผึ้ง ลอยอยู่บนผิวน้ำ สัตว์ผู้หนึ่งมีความโลภความอยากรู้และสงสัยอยากทดลอง จึงเอานิ้วมือจิ้มง้วนดินที่ว่านั้นขึ้นมาชิมดู เกิดความพอใจ และติดใจในรสชาติของง้วนดิน เพราะมีความอร่อยมากกว่าปีติเป็นไหนๆ เกิดความอยากทวีคูณขึ้น และสัตว์อื่นๆ ต่างพากันทำตาม เมื่อมีความอยากมากเข้า การใช้นิ้วจิ้มกินไม่ทันใจเสียแล้ว จึงปั้นเป็นคำๆ บริโภคกัน จากการทำดังกล่าวปรากฏว่า แสงสว่างที่เคยมีในตัว ก็อันตรธานไปสัตว์โลกพวกนี้ จากที่เคยมีอาหารละเอียด แต่เพราะเปลี่ยนมาบริโภคง้วนดินนานๆ เข้าร่างกายจึงเปลี่ยนแปลงมากขึ้น บางพวกมีผิวพรรณดี บางพวกมีผิวพรรณเลว จึงเกิดเหยียดผิวกันเพราะเหยียดผิวกัน ง้วนดินจึงหายไป พวกเขาจึงเกิดความโหยหาขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อง้วนดินหายไป จึงเกิดมีสะเก็ดดินที่มีสีกลิ่น และรสเหมือนง้วนดินทุกประการเกิดขึ้น สัตว์โลกพวกนี้จึงใช้สะเก็ดดินเป็นอาหารแทนง้วนดินที่หายไป เมื่อบริโภคสะเก็ดดินไปนานๆ ร่างกายได้เปลี่ยนแปลงมากขึ้น ผิวพรรณต่างกันมากขึ้น การเหยียดผิวกันก็รุนแรงขึ้น ทำให้สะเก็ดดินหายไป พวกสัตว์โลกได้เกิดความรู้สึกโหยหาขึ้นอีกสะเก็ดดินอันตรธานหมดไปอีก จึงเกิดเครือดินขึ้นมาแทน พวกเขาก็ใช้เครือดินเป็นอาหารแทนสะเก็ดดินที่หายไป และเมื่อบริโภคไปนานๆ จึงมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากขึ้นการเหยียดผิวก็ยิ่งรุนแรงขึ้น จนเครือดินหายไป พวกเขากลับรู้สึกโหยหาต่อไปอีกโดยนัยเดียวกันนั้นเอง เครือดินที่ว่ามานี้ก็หมดไป ข้าวสาลี (เกิดเอง) เกิดขึ้น พวกเขาก็ใช้ข้าวสาลีนี้เป็นอาหารแทน ข้าวสาลีที่ว่านี้ มีลักษณะพิเศษ คือ ไม่ต้องหุงต้มด้วยฟืนไฟ บริโภคได้เลย มีแต่เมล็ด ข้าวสาลีไม่มีแกลบ ไม่มีรำ และไม่มีเปลือกห่อหุ้ม มีแต่เมล็ดข้าวสาลีล้วนๆ มีกลิ่นหอม ข้าวสาลีที่ถูกเก็บมาบริโภคตอนเย็น พอถึงตอนเช้าก็งอกขึ้นสุกดังเดิม ที่เก็บมาบริโภคตอนเช้าพอถึงตอนเย็นก็กลับงอกสุกเช่นเดิมอีก และเมื่อบริโภคข้าวสาลีไปนานๆ จึงมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากขึ้นมีการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ จึงเกิดทวารเพื่อขับถ่าย มีความหยาบของร่างกาย และผิวพรรณ คือ เกิดอวัยวะเพศชาย และเพศหญิงขึ้น ทำให้เกิดลักษณะเป็นมนุษย์ผู้ชาย และผู้หญิงเด่นชัด เมื่อคนต่างเพศเพ่งมองกันจึงเกิดความรู้สึกทางเพศขึ้น และได้เสพเมถุนธรรมกัน การเสพเมถุนธรรมนี้ เขาถือว่า เป็นความชั่ว ฉะนั้น เมื่อเห็นผู้ใดเสพเมถุนธรรมกัน คนส่วนมากจะพากันขับไล่ออกไปจากหมู่ ต่อมาผู้นิยมเสพเมถุนธรรมจึงแยกตัวไปปลูกเรือนอยู่ เพื่อมิให้ผู้อื่นเห็น และได้กำเนิดบุตรออกมา(17)

จากหลักฐานในอัคคัญญสูตร เมื่อผู้คนได้เสพเมถุนธรรม ชีวิตมนุษย์ ก็ได้เกิดขึ้นในสมัยนั้น โดยใน ปฐมภวสูตร กล่าวถึงพื้นฐานชีวิตการเกิดอยู่ 3 อย่าง คือ 1. กมฺมํ เขตฺตํ กรรม เป็นพื้นที่ของชีวิต (กรรมเป็นพื้นที่นา) 2. วิญฺญาณํ พีชํ วิญญาณ เป็นพืชพันธุ์ของชีวิต (วิญญาณเป็นพืช) 3. ตณฺหํ สิเนหํ กิเลส ตัณหาความทะยานอยากเป็นน้ำเชื้อของชีวิต การเกิดในภพใหม่จึงมีต่อไปอีกได้(18) ชีวิตการเกิดของมนุษย์ ถ้ามี 3 อย่างนี้อยู่ ก็มีการสร้างชีวิตเกิดขึ้นมา เพราะมีกรรม มีวิญญาณ และกิเลสตัณหาอุปาทาน สิ่งที่สร้างชีวิตมนุษย์ให้เกิดขึ้นมา ที่สำคัญที่สุด คือ ตัณหา อันเป็นกิเลส เป็นเหตุให้ทำกรรม เมื่อทำกรรมก็ต้องได้รับผลกรรม กิเลสก็เกิดขึ้นให้เป็นเหตุทำกรรมอีก วนเวียนกันไปไม่รู้จบสิ้น เรียกว่า วัฏฏะ19 แปลว่า วน 3 อย่าง คือ กิเลสวัฏฏะ (วน) คือ กิเลส กรรมวัฏฏะ (วน) คือ กรรม วิปากวัฏฏะ (วน) คือ วิบาก ได้แก่ ผลของกรรมนั้น

สาเหตุของการเกิด ปฏิจจสมุปบาทกระบวนการเกิดแห่งชีวิต การเกิดในทรรศนะทางพุทธศาสนา เป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยเชื่อมโยงต่อเนื่องกันอิงอาศัยกัน และกันโดยไม่ขาดสายเกิดขึ้น การอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นของสิ่งทั้งปวงนี้พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า หลักปฏิจจสมุปบาท พระพุทธองค์ทรงอธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ว่า เป็นธรรมที่ลึกซึ้งสุดจะคาดคะเนได้ เพราะหมู่สัตว์ไม่รู้ไม่เข้าใจปฏิจจสมุปบาทนี้ จึงยุ่งเหมือนขอดด้ายของช่างหูก เป็นปม นุงนังเหมือนกระจุกด้าย เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่าย และหญ้าปล้อง จึงไม่อาจข้ามอบาย ทุคติ วินิบาต และวัฏฏะได้ พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงวงจรแห่งการเกิดขึ้นแห่งชีวิตมนุษย์ตามกระบวนการนี้ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัยสฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะโทมนัส อุปายาสจึงมี(20)

ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นหลักธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งยากแก่การเข้าใจ กระนั้นก็ตามพระพุทธองค์ก็ทรงหวังให้หมู่มนุษย์ได้รู้ได้เข้าใจถึงกระบวนการเกิดแห่งชีวิตนี้ให้กระจ่างแจ้งยิ่งขึ้นถึงแม้จะเป็นหลักธรรมที่ยากแก่การทำความเข้าใจก็ตาม แต่เพื่อประโยชน์สุขของหมู่ประชาที่จะได้รับรู้รับทราบได้เข้าใจในหลักธรรมอันละเอียดลึกซึ้งนี้โดยไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป ทรงอาศัยพระมหากรุณาธิคุณอธิบายความหมายของปฏิจจสมุปบาท โดยทรงตั้งคำถามนำแบบ ถาม-ตอบ ให้ท่านพระอานนท์ตอบ มีสาระสำคัญ ดังนี้

ข้อที่ตรัสว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี นั้น ทรงแสดงเหตุผลไว้ว่า ถ้าชาติ คือ การเกิดเป็นเทพ เป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นภูต เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ ไม่มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เพราะชาติดับไป ชรามรณะจะปรากฏได้หรือเมื่อท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า ปรากฏไม่ได้ จึงทรงสรุปว่า เพราะเหตุนั้น ต้นเหตุ และปัจจัยแห่งชรามรณะ ก็คือ ชาตินั่นเอง

ข้อที่ตรัสว่า เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี นั้นทรงแสดงเหตุผลไว้ว่า ถ้าภพ คือ กามภพ รูปภพ หรืออรูปภพ ไม่มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เพราะภพดับไป ชาติจะปรากฏได้หรือเมื่อท่านพระอานนท์ ทูลตอบว่า ปรากฏไม่ได้ จึงทรงสรุปว่า เพราะเหตุนั้น ต้นเหตุและปัจจัยแห่งชาติ ก็คือ ภพนั่นเอง

ข้อที่ตรัสว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี นั้น ทรงแสดงเหตุผลไว้ว่า ถ้าอุปาทาน คือ ความยึดมั่นในกาม ความยึดมั่นในทิฏฐิ ความยึดมั่นในศีลพรตหรือความยึดมั่นในวาทะว่า มีอัตตา ไม่มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เพราะอุปาทานดับไป ภพจะปรากฏได้หรือเมื่อท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า ปรากฏไม่ได้ จึงทรงสรุปว่า เพราะเหตุนั้นต้นเหตุ และปัจจัยแห่งภพ คือ อุปาทานนั่นเอง

ข้อที่ตรัสว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี นั้นทรงแสดงเหตุผลไว้ว่า ถ้าตัณหา คือ ความอยากในรูป ความอยากในเสียง ความอยากในกลิ่น ความอยากในรส ความอยากในสัมผัส ความอยากในธรรมารมณ์ ไม่มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เพราะตัณหาดับไป อุปาทานจะปรากฏได้หรือเมื่อท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า ปรากฏไม่ได้ จึงทรงสรุปว่า เพราะเหตุนั้น ต้นเหตุ และปัจจัยแห่งอุปาทาน คือ ตัณหานั่นเอง

ข้อที่ตรัสว่า เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี นั้น ทรงแสดงเหตุผลไว้ว่า ถ้าเวทนา คือ เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส ที่เกิดจากโสตสัมผัส ที่เกิดจากฆานสัมผัส ที่เกิดจากชิวหาสัมผัส ที่เกิดจากกายสัมผัส และที่เกิดจากมโนสัมผัส ไม่มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เพราะเวทนาดับไป ตัณหาจะปรากฏได้หรือ เมื่อท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า ปรากฏไม่ได้ จึงทรงสรุปว่า เพราะเหตุนั้น ต้นเหตุและปัจจัยแห่งตัณหาก็คือเวทนานั่นเอง

ข้อที่ตรัสว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี นั้นทรงแสดงเหตุผลไว้ว่าถ้าผัสสะ คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส และมโนสัมผัส ไม่มีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่ง เพราะผัสสะดับไป เวทนาจะปรากฏได้หรือเมื่อท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า ปรากฏไม่ได้ จึง สรุปว่า เพราะเหตุนั้น ต้นเหตุและปัจจัยแห่งเวทนาก็คือ ผัสสะนั่นเอง

ข้อที่ตรัสว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี นั้น ทรงแสดงเหตุผลไว้ว่า การบัญญัตินามกาย (นามขันธ์ 421) และรูปกาย (รูปขันธ์) ต้องพร้อมด้วยอาการ เพศ นิมิต และอุทเทส ไม่มีผัสสะ คือ การสัมผัสแต่เพียงชื่อในรูปกายหรือชื่อในนามกายจะปรากฏได้หรือ เมื่อท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า ปรากฏไม่ได้ จึงทรงสรุปว่า เพราะเหตุนั้น ต้นเหตุและปัจจัยแห่งผัสสะ ก็คือ นามรูปนั่นเอง

ข้อที่ตรัสว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี นั้น ทรงแสดงเหตุผลไว้ว่า ถ้าวิญญาณไม่หยั่งลงในท้องมารดา นามรูปจะก่อตัวขึ้นในท้องมารดาได้หรือ ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า ไม่ได้ ทรงซักถามต่อไปว่า ถ้าวิญญาณหยั่งลงในท้องมารดาแล้ว แต่ล่วงเลยไป นามรูปจะบังเกิดเป็นทารกได้หรือ ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า ไม่ได้ ทรงซักถามต่อไปว่า ถ้าวิญญาณเด็กชายหรือเด็กหญิงผู้เยาว์วัยขาดความสืบต่อ นามรูปจะเจริญงอกงามไพบูลย์ได้หรือ เมื่อท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า ไม่ได้ จึงทรงสรุปว่า เพราะเหตุนั้น ต้นเหตุและปัจจัยแห่งนามรูป ก็คือ วิญญาณนั่นเอง

ข้อที่ตรัสว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี นั้น ทรงแสดงเหตุผลไว้ว่า ถ้าวิญญาณไม่ได้อาศัยนามรูป ชาติ ชรา มรณะ และความเกิดขึ้นแห่งทุกขสมุทัยจะปรากฏได้หรือเมื่อท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า ไม่ได้ จึงทรงสรุปว่า เพราะเหตุนั้นต้นเหตุ และปัจจัยแห่งวิญญาณ ก็คือ นามรูปนั่นเอง ทรงสรุปรวมว่า ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ วิญญาณ และนามรูปจึงเกิด แก่ ตาย จุติหรืออุบัติด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำที่เป็นเพียงชื่อ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำที่ใช้ตามความหมาย ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำบัญญัติ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีคำที่สื่อความเข้าใจ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงมีวัฏฏะหรือวิวัฏฏะ (22) ความเป็นอย่างนี้ ย่อมปรากฏโดยการบัญญัติ คือ นามรูปย่อมเป็นไปพร้อมกับวิญญาณ เพราะต่างก็เป็นปัจจัยของกัน และกัน(23)

จากบทที่พระพุทธองค์ตั้งเป็นเชิงคำถาม-ตอบ โดยตรัสอธิบายถึงกระบวนการเกิดขึ้นของชีวิตตามนัยปฏิจจสมุปบาทข้างต้น แต่ละข้อล้วนเป็นปัจจัยอาศัยซึ่งกัน และกันเกี่ยวประสานกันเกิดขึ้นดุจลูกโซ่หาที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายมิได้ เป็นหลักธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลของกันและกันว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ(24) บทถาม-ตอบข้างต้นนั้นมีนัยแห่งวงจรปฏิจจสมุปบาทเป็นสองสาย ได้แก่ สายเกิด กับสายดับ สายเกิดเรียกว่า สมุทยวาร สายดับเรียกว่า นิโรธวาร การจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นแห่งชีวิตหรือแห่งธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็เนื่องด้วยเหตุปัจจัยทั้งสองสายนี้เป็นสำคัญ จะเห็นได้ว่า ข้อที่ตรัสว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมีนั้น ก็หมายความว่า พระพุทธองค์ทรงมุ่งอธิบายให้กระจ่างชัดในสิ่งซึ่งเป็นกระบวนการที่นำให้เกิดชีวิตอันเป็นเหตุปัจจัยแก่กัน และกันว่า ถ้าชาติ คือ การเกิดเป็นเทพ เป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นภูต เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ ยังมีแก่ใครๆ ในภพไหนๆ ทั่วทุกแห่งตราบใด ชรา คือ ความแก่ ภาวะของผมหงอก ฟันหลุด หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่ของอินทรีย์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยงเป็นทุกข์อยู่ในตัว มรณะ คือ ความเคลื่อน ความทำลาย ความตาย ความแตกแห่งขันธ์ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ ยังมีตราบนั้น นั่นเป็นเพราะอะไรก็เพราะมีชาติ คือ ความเกิดนั่นเองที่เป็นต้นเหตุ และปัจจัยของชรา มรณะ และเมื่อมีการเกิดเช่นนี้ กองทุกข์ทั้งมวล คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสก็ย่อมเกิดมีเป็นเงาตามตัวด้วยนัยตรงกันข้ามเพราะชาติ คือ ความเกิดนี้ดับไป ชรามรณะ และกองทุกข์ทั้งมวล ได้แก่ ความโศกเศร้า ร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ความคับแค้นใจเหล่านี้ก็ดับสิ้นไปด้วย นั่นหมายถึงว่า ถ้าต้องการจะดับทุกข์ทั้งหลายทั้งมวลที่จะเกิดขึ้นตามลำดับนี้ลงได้ ก็จะต้องดับต้นตอแห่งเหตุ และปัจจัยของความทุกข์เหล่านี้ให้ได้ ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์เป็นชรามรณะก็คือ ชาตินั่นเอง ข้ออื่นๆ พระพุทธองค์ก็ตรัสการเกิดขึ้น และไม่เกิดขึ้นโดยทำนองเป็นเหตุ และปัจจัยแก่กัน และกันเช่นนี้เหมือนกัน ปฏิจจสมุปบาททั้งสองสายนั้นไม่ว่าจะเป็นสายเกิด และสายดับล้วนอิงอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นพร้อมกันทำหน้าที่ต่อเนื่องกันไม่มีสิ่งใดเลยที่จะเกิดขึ้น และดับลงอย่างลอยๆ สรุปความ ดังนี้

ปฏิจจสมุปบาทสายเกิด (สมุทยวาร) เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะโทมนัส อุปายาสจึงมีปฏิจจสมุปบาทสายดับ (นิโรธวาร) เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะโทมนัส อุปายาสจึงดับ(25)

จากองค์ประกอบของกระบวนการปฏิจจสมุปบาทข้างต้นนี้ แต่ละองค์ประกอบมีการอธิบายขยายความไว้ ดังนี้ อวิชชา คัมภีร์วิสุทธิมรรคอธิบายว่า หมายถึง ธรรมชาติที่ปกปิดทำให้ไม่รู้แจ้งความจริงของชีวิตว่าเป็นเพียงกองแห่งขันธ์ เป็นเพียงธาตุที่ว่างเปล่าหรือปกปิดไม่ให้เห็นความจริง 4 อย่าง (อริยสัจ 4) มีความจริงของทุกข์ เป็นต้น(26) เป็นความไม่รู้ทั่วไปในชีวิต ไม่รู้ความจริงของชีวิตพอที่จะทำลายกิเลส และหลุดพ้นจากสังสารวัฏได้

ในอภิธรรม ยังกล่าวถึงอวิชชาว่า หมายถึง ความไม่รู้ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ที่เป็นอดีต อนาคต และทั้งอดีต และอนาคต ไม่รู้ธรรมที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น พระสัทธัมมโชติกะอธิบายว่า ความไม่รู้ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ที่เป็นอดีต ก็คือ ความไม่รู้ว่าตัวเองหรือคนอื่นเคยเกิดเป็นมนุษย์ เทวดา พรหม อบาย สัตว์รู้แต่ว่าชาติต่อไปจะต้องเกิดอีก ดังเช่นผู้ที่เชื่อว่า สัตว์ทั้งหลายมีพระเจ้าเป็นผู้สร้าง ฉะนั้นเมื่อตายลงก็ต้องไปเกิดตามคำสั่งของพระเจ้าอีก ความไม่รู้ขันธ์ ธาตุ อายตนะที่เป็นอนาคต คือ ความไม่รู้ว่าจะต้องเกิดอีก เพราะเชื่อว่าเมื่อตายแล้วไม่มีการเกิดอีก แต่เชื่อว่า สัตว์ทั้งหลายเคยเกิดมาแล้วในชาติก่อน และความไม่รู้ขันธ์ ธาตุ อายตนะที่เป็นทั้งอดีตและอนาคต คือ ความไม่รู้ว่า ตนเองหรือคนอื่น เคยเกิดมาแล้ว และจะเกิดต่อไปอีก ความไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท คือ ความไม่รู้ว่ารูปนามเกิดจากเหตุ คือ ความไม่รู้ว่า ร่างกายของสัตว์มีตาเป็นต้น และพฤติกรรมมีการเห็น เป็นต้น เป็นผลที่เกิดจากเหตุ คือ การกระทำด้วยกาย วาจา ใจ ทั้งดี และไม่ดี ซึ่งมีอวิชชา ตัณหาเป็นมูล กล่าวอีกอย่าง คือ ความไม่รู้ว่า ความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายไม่มีอะไรอื่นนอกจากธรรมที่เป็นเหตุ และผล อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะพระเจ้าสร้าง(27)

ดังนั้น อวิชชาในบริบทนี้ หมายถึง ความไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริงของโลก และชีวิตจนพอจะทำลายกิเลสได้ กล่าวคือ ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ 4 อันเป็นความจริงของโลก และชีวิต ซึ่งความไม่รู้ที่เรียกว่า อวิชชา นี่แหละเป็นเหตุให้ทำกรรม ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดและเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป เพราะอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริงย่อมทำให้สัตว์ทั้งหลายลุ่มหลงในวัตถุ คือ อารมณ์ทั้งหลาย และพร้อมกันนั้นก็ทำหน้าที่เป็นปัจจัยหนุนเนื่องให้เกิดเป็นสังขาร สังขาร คัมภีร์วิสุทธิมรรคอธิบายว่า หมายถึง สังขาร(28) มีปุญญาภิสังขาร(29) ซึ่งได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นกามาวจรและรูปาวจร อปุญญาภิสังขาร(30) ได้แก่ อกุศลเจตนาที่เป็นกามาวจร อเนญชาภิสังขาร(31) ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร อีกนัยหนึ่ง หมายถึง สังขารอันเป็นตัวปรุงแต่งอัน ได้แก่ เจตนาที่เป็นกุศล และอกุศลอันเป็นไปในภูมิ 3 (32)

กล่าวอีกนัยหนึ่ง สังขาร คือ เจตนาหรือความจงใจที่จะทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งทางทวารทั้ง 3 คัมภีร์วิสุทธิมรรคอธิบายไว้ว่า ถ้าเป็นเจตนาเกี่ยวกับทางกาย เรียกว่า กายสังขาร(33)หรือกายสัญเจตนา ได้แก่ เจตนา 20 คือ กามาวจรกุศลเจตนา 8 และ อกุศลเจตนา 12 ที่ทำให้เกิดกายวิญญัติ(34) คือ การเคลื่อนไหวทางกาย เป็นไปทางกายทวาร เกี่ยวกับทางวาจา คือ วจีสัญเจตนา เรียกว่า วจีสังขาร(35) ได้แก่ เจตนา 20 เหมือนกัน แต่เป็นเจตนาที่ทำให้เกิดวจีวิญญัติ คือ การเคลื่อนไหวทางวาจา เป็นไปทางวจีทวาร เกี่ยวกับทางใจ คือ มโนสัญเจตนา เรียกว่า จิตตสังขาร(36) ได้แก่ เจตนา 29 ทั้งหมดที่เป็นไปทางมโนทวารอย่างเดียว(37) ซึ่งเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วมุ่งหมายการตั้งเจตจำนงที่เนื่องด้วยอวิชชาอันเป็นเหตุให้ลงมือทำกรรมต่างๆ ทั้งดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ในแต่ละชาติ จิตจึงถูกพลังแห่งกรรมดีและไม่ดีเหล่านั้นปรุงแต่งให้มีคุณสมบัติเฉพาะอย่างเฉพาะตน ซึ่งส่งผลให้ไปเกิดในภพใหม่เพื่อเสวยผลของกรรมเหล่านั้นต่อไป สังขารคือเจตนาที่ทำให้เกิดการทำกรรมต่างๆ เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ดังกล่าวแล้วก็สืบต่อหนุนเนื่องเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ วิญญาณ(38) คัมภีร์วิสุทธิมรรคอธิบายว่า หมายถึง วิญญาณ 6 มี จักขุวิญญาณ เป็นต้น

วิญญาณเหล่านี้ คือ วิปากวิญญาณที่เป็นโลกิยะ เมื่อจำแนกโดยละเอียดมีรวมทั้งหมด 32 ดวง ซึ่งเป็นไปในปฏิสนธิกาล(39)หรือในขณะปฏิสนธิ คือ อุปปาทขณะหรือขณะเกิดอันเป็นขณะแรกของปฏิสนธิจิต(40) และในปวัตติกาล(41) คือ ช่วงเวลาหลังจากปฏิสนธิกาล ได้แก่ ตั้งแต่ฐิติขณะหรือขณะที่ดำรงอยู่อันเป็นขณะที่สองของปฏิสนธิจิตเป็นต้นไป จนถึงจุติกาล คือ ขณะเกิดจุติจิตเวลาตาย(42)หมายความว่า วิญญาณกล่าวรวมถึงปฏิสนธิวิญญาณ(43)ที่ทำหน้าที่ในการเกิดในภพใหม่ และวิญญาณ 6 ที่ทำหน้าที่ต่างๆ ทางตา เป็นต้น หลังจากเกิดแล้วหรือขณะยังมีชีวิตอยู่ด้วย วิญญาณนี้ก็รับรู้วัตถุ คือ อารมณ์และพร้อมกันนั้นก็เป็นปัจจัยแก่นามรูปสืบต่อกันไป

นามรูป หมายถึง นามขันธ์ 3 คือ เวทนา สัญญา สังขาร และมหาภูตรูป(44)รวมทั้งอุปาทายรูป(45) ทั้งนาม และรูปนี้เกิดมีเพราะปัจจัย คือ วิญญาณหนุนเนื่องอยู่ คัมภีร์วิสุทธิมรรคอธิบายว่า หมายเอานามและรูปที่เป็นไปในปฏิสนธิกาล ได้แก่ กาลอันเป็นขณะแรกของปฏิสนธิจิต และในปวัตติกาล ได้แก่ กาลที่ดำรงอยู่ซึ่งนับเอาตั้งแต่กาลแห่งปฏิสนธิจิต เป็นต้น ไปจนถึงกาลที่เกิดจุติจิต คือ เวลาตายนั่นเอง นามรูปนี้ก็ค้ำจุนกันและกัน พร้อมกันนั้นก็เป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ สฬายตนะหรืออายตนะ 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ประสาทสัมผัสทั้ง 6 มี ตา เป็นต้น ที่เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเกี่ยวข้องกับการรับอารมณ์ของร่างกายที่เกิดในปฏิสนธิกาล สฬายตนะนี้ก็เป็นไปในวิสัย (อารมณ์) ของตนๆ มีรูป เป็นต้น และเป็นปัจจัยแก่ผัสสะ

ผัสสะ หมายถึง การกระทบกันระหว่างอายตนะภายในมีตาเป็นต้น กับอายตนะภายนอกมีรูปเป็นต้นที่ทำงานร่วมกับวิญญาณ คือ การรับรู้ทางอายตนะทั้ง 6 ทุกครั้งที่วิญญาณเกิดนามรูป สฬายตนะ และผัสสะต้องเกิดร่วมด้วยเสมอ ผัสสะนี้ก็สัมผัสอารมณ์พร้อมกันนั้นก็เป็นปัจจัยแก่เวทนา

เวทนา หมายถึง ความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือ เฉยๆ ที่เกิดจากการมีผัสสะ เวทนานี้ก็เสวยรสอารมณ์และพร้อมกันนั้นก็เป็นปัจจัยแก่ตัณหา

ตัณหา คัมภีร์วิสุทธิมรรคขยายความว่า นอกจากหมายถึง ตัณหา ในอารมณ์ 6 มี ตัณหาในรูป เป็นต้น เมื่อนำตัณหา 6 อย่างมาจับคู่กับตัณหา 3 คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา จะได้ตัณหา 18 ตัณหา 18 เมื่อจำแนกเป็นภายใน และภายนอก จะได้ตัณหา 36 และตัณหา 36 เมื่อจำแนกเป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน จะได้ตัณหา 108 (46) ตัณหาในบริบทนี้จึง หมายถึง ความอยากที่ทำให้เกิดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นแล้วทำกรรม อันเป็นเหตุให้เกิดในชาติใหม่ ตัณหานี้ก็กำหนัดยินดีในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี และพร้อมกันนั้นเป็นปัจจัยแก่อุปาทาน

อุปาทาน ได้แก่ ความยึดมั่น 4 อย่าง คือ ความยึดมั่นในกาม ความยึดมั่นในทิฏฐิความยึดมั่นในศีลพรต ความยึดมั่นในวาทะว่า มีตัวตน(47) อุปาทานนี้ก็ยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น และพร้อมกันนั้นเป็นปัจจัยแก่ภพ

ภพ หมายถึง กรรมภพ และอุปปัตติภพ คัมภีร์วิสุทธิมรรค อธิบายว่า หมายถึง กรรม คือ เจตนานั่นเอง กรรมภพ จึงหมายถึง ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร(48)

อุปปัตติภพ หมายถึง ความเข้าถึงหรืออุบัติขึ้น คือ ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดเพราะกรรม อีกนัยหนึ่ง อุปปัตติภพ หมายถึง ขันธ์ที่เกิดในภพ (49) ต่างๆ เพราะกรรม แสดงว่า กรรมภพเป็นปัจจัยแก่อุปปัตติภพ ภพนี้ก็พล่านไปในคติต่างๆ และเป็นปัจจัยแก่ชาติ

ชาติ หมายถึง ภพ และการปฏิสนธิ (ความปรากฏของจิตหรือวิญญาณดวงแรกในครรภ์มารดา) รวมถึงการคลอดออกมา คัมภีร์วิสุทธิมรรคอธิบายว่า หมายถึง การเกิดหรือการชรา มรณะ ชาติ ภพ อุปาทาน ตัณหา เวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป วิญญาณ สังขาร อวิชชา ปฏิจจสมุปบาท ปรากฏของขันธ์ 5 ในภพใหม่ โดยมีกรรมภพเป็นปัจจัย อุปปัตติภพไม่ได้เป็นปัจจัยแก่ชาติ (50)

กล่าวอีกอย่างก็คือ กรรมภพเป็นปัจจัยแก่อุปปัตติภพ และชาติ เพราะอุปปัตติภพ คือ ขันธ์ที่เกิดในภพใหม่ตามอำนาจของกรรม คือ กรรมภพ ส่วนชาติก็คือ การปรากฏของอุปปัตติภพ คือ ขันธ์ในภพใหม่ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของกรรมภพ ชาตินี้ก็ยังขันธ์ทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณให้เกิด และเพราะว่า ขันธ์ทั้งหลายอันเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี้เกิดขึ้น จึงเป็นปัจจัยแก่ชรามรณะด้วย ชรามรณะก็ครอบเอาความงอม และความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลายไว้ด้วย และในขณะเดียวกันนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดในภพอื่น

ชรามรณะ ได้แก่ ความแก่หง่อมของร่างกาย และความตายหรือความแตกดับของร่างกาย เมื่อไม่มีชาติก็ไม่มีชรามรณะ และความโศก เป็นต้น เมื่อมีชาติก็มีชรามรณะ และความโศก เป็นต้น(51) ดังนั้น ชาติ จึงเป็นปัจจัยของชรามรณะ และความโศก เป็นต้น ดังนั้น ผลที่ตามมาจากชาติ นอกจากมีชรามรณะ ก็มีความทุกข์ต่างๆ มีความโศก เป็นต้น ตามมา

------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

(1) ดูรายละเอียดใน ม.อุ. (บาลี) 14/252/220, ม.อุ. (ไทย) 14/252/297-298, สํ.ม.(บาลี) 19/1118/396-397 , สํ.ม. (ไทย) 19/1118/631., (2) ที.ม.(บาลี) 10/57/27, ที.ม. (ไทย) 10/57/33, พระมหาสมปอง มุทิโต, อภิธานวรรณนา ,พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประยูรวงศ์พริ้นติ้ง จำกัด,2547. หน้า 145., (3) ภพ มี 2 คือ (1) กรรมภพ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร (2) ภพใหม่ อันมีในปฏิสนธิ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ขุ.จู. (ไทย) 30/24/138)., (4) พระพุทธโฆษาจารย์, คัมภีร์วิสุทธิมรรคภาษาบาลี ตติโย ภาโค,พิมพ์ครั้งที่ 9, กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2540. หน้า 82-83., (5) อุปปัตติภพ ภพ คือ การเกิด (องฺ.จตุกฺก.อ. (บาลี) 2/131/379)., (6) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สารานุกรมพระพุทธศาสนา,กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,2529. หน้า 168., (7) ฐิตวณฺโณ ภิกขุ, ตายแล้วไปไหน,พิมพ์ครั้งที่ 6, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,2534. หน้า 10., (8) กัมมชรูป (รูปที่เกิดจากกรรม) ก็เรียกว่า วิบากได้ เหมือนกับที่เรียกจิตที่เป็นผลของกรรมว่า วิบากจิต (อภิ.ปญฺจ.. (บาลี) 765-768/287-288)., (9) อัตภาพที่มีขันธ์ 1 หมายถึง อสัญญสัตว์ (ขุ... (บาลี) 1/5/97), รูปภพ หมายถึง ปัญจโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ 5) และเอกโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ 1) (ขุ.อุ.. (บาลี) 10/103), เอกโวการภพ หมายถึง ภพของสัตว์ที่มีขันธ์ 1 คือ รูปขันธ์ ได้แก่ อสัญญีภพ (อภิ.วิ.. (บาลี) 234/198-220)., (10) อรูปภพ หมายถึง จตุโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ 4) (ขุ.อุ.. (บาลี) 10/103), ภพที่ประกอบด้วย อรูปขันธ์ 4 หรือภพที่มีขันธ์ 4 ได้แก่ อรูปภพ (ขุ... (บาลี) 3/42), จตุโวการภพ หมายถึงภพของสัตว์ที่มีขันธ์ 4 คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ได้แก่ สัญญีภพ (อภิ.วิ.. (บาลี) 234/198-220, ขุ... (บาลี) 1/5/97)., (11) อัตภาพที่มีขันธ์ 5 หมายถึง กามภพ รูปภพ (เว้นอสัญญสัตว์) (ขุ... (บาลี) 1/5/97), ปัญจโวการภพ หมายถึง ภพของสัตว์ที่มีขันธ์ 5 ได้แก่ กามภพ และรูปภพ (อภิ.วิ.. (บาลี) 234/198-220)., (12) พระสัทธัมมโชติกะ, ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา, ปฏิจจสมุปบาททีปนีและปัจจัย 24 โดยย่อ, กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิสัทธัมมโชติกะ,2521. หน้า 122-123., (13) รศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ, พุทธศาสนาเถรวาท, กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2550. หน้า 225., (14) พระพรหมคุณาภรณ์ (..ปยุตฺโต), พุทธธรรม ,พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์บริษัทสหธรรมิก จำกัด ,2549. หน้า 100., (15) ที.ปา. (บาลี) 11/312/ 205, ที.ปา. (ไทย) 11/312/293., (16) ดูรายละเอียดใน ม.. (บาลี) 13/126/100-101, .. (ไทย) 13/126/137-138., (17) ดูรายละเอียดใน ที.ปา.(บาลี) 11 /111/68-84, ที.ปา. (ไทย) 11/111-132/83-101., (18) ดูรายละเอียดใน องฺ.ทุก. (บาลี) 20/77-78/217-219, องฺ.ทุก. (ไทย) 20/77/300-301., (19) วัฏฏะ 3 คือ กิเลส กรรม วิบาก ที่เกี่ยวข้องในกามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ หรือหมายถึง อุปาทานขันธ์ (องฺ.ฉกฺก.. (บาลี) 3/14/105,61/147, องฺ.ทสก.. (บาลี) 3/117-118/375 สารตฺถ.ฏีกา (บาลี) 3/54/254)., (20) ดูรายละเอียดใน วิ.. (บาลี) 4/1-3/1-3,วิ. (ไทย) 4/1/1 , .มู. (บาลี) 12/145/103,.มู. (ไทย) 12/145/139, สํ.นิ. (บาลี) 16/1/1-2, สํ.นิ.(ไทย) 16/1/2-3 , สํ.. (บาลี) 19/1024/336-337, สํ.(ไทย) 19/1024/545, ขุ.อุ. (บาลี) 25/1/93,ขุ.อุ (ไทย) 25/1/171, ขุ.จู.(ไทย) 30/88/312., (21) นามขันธ์ 4 คือ (1) เวทนาขันธ์ (2) สัญญาขันธ์ (3) สังขารขันธ์ (4) วิญญาณขันธ์ (ที... (บาลี) 114/99)., (22) วัฏฏะ ในที่นี้หมายถึง วัฏฏะ 3 คือ (1) กิเลสวัฏฏ์ (2) กัมมวัฏฏ์ (3) วิปากวัฏฏ์ (องฺ.ทสก.. (บาลี) 3/117-118/375), วิวัฏฏะ หมายถึง นิพพาน (สํ... (บาลี) 3/31-34/196,องฺ.ทสก.. (บาลี) 3/117-118/375)., (23) ดูรายละเอียดใน ที.. (บาลี) 10/95-115/49-59, ที.. (ไทย) 10/95-115/57-65,พระไตรปิฎกแก่นธรรม พระสุตตันตปิฎก เล่ม 1 ,หน้า 87-92., (24) ดูรายละเอียดใน ม.มู. (ไทย) 12/404/438, .อุ. (ไทย) 14/126/164,สํ.นิ. (ไทย) 16/21,37,41,49,50,61,62/38-39,79,86,96,97,116,118, ขุ.อุ. (ไทย) 25/1,3/171,174., ขุ.. (ไทย) 29/186/526, ขุ.จู. (ไทย) 30/88/312., (25) ดูรายละเอียดใน วิ.. (ไทย) 4/1,2,3/2,4,6, .มู. (ไทย) 12/102,404,405/97-99,439,441, .อุ. (ไทย) 14/216/165, สํ.นิ. (ไทย) 16/1,2,3,4,10,15,18,21-22,27,33,35-37,41,47-48,61/2-3,8,9,13,16,25,31,38-39,54-55,72,75-79,86,94-95,116, สํ. .(ไทย) 19/1024/545, องฺ. ทสก. (ไทย) 24/92/215, ขุ.อุ. (ไทย) 25/2-/172-175, ขุ.. (ไทย) 29/27/113, ขุ.จู. (ไทย) 30/4,88,121/56,313,398., (26) พระพุทธโฆษาจารย์, คัมภีร์วิสุทธิมรรคภาษาบาลี ตติโย ภาโค ,หน้า 119., (27) พระสัทธัมมโชติกะ,ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฏีกา, ปฏิจจสมุปบาททีปนีและปัจจัย 24 โดยย่อ, กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิสัทธัมมโชติกะ, 2521. หน้า 31-33., (28) สังขาร ในที่นี้หมายถึง สภาพที่ปรุงแต่งกิจ(หน้าที่)อันเป็นของตน การให้ผลแก่ตน (ที.ปา..(บาลี) 305/192,ที.ปา.ฏีกา (บาลี) 305/252)., (29) ปุญญาภิสังขาร คือ อภิสังขารที่เป็นบุญ สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นกามาวจร และรูปาวจร (สํ.นิ.. (บาลี) 2/51/89, ขุ... (บาลี) 25/216)., (30) อปุญญาภิสังขาร คือ อภิสังขารที่เป็นปฏิปักษ์ต่อบุญ คือ เป็นบาป สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว ได้แก่ อกุศลเจตนาทั้งหลาย (สํ.นิ.. (บาลี) 2/51/89, ขุ... (บาลี) 25/216)., (31) อาเนญชาภิสังขาร คือ อภิสังขารที่เป็นอาเนญชา สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร 4 หมายเอาภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน (สํ.นิ.. (บาลี) 2/51/89, ขุ... (บาลี) 25/216)., (32) พระพุทธโฆษาจารย์, คัมภีร์วิสุทธิมรรคภาษาบาลี ตติโย ภาโค,หน้า 120, ภูมิ 3 คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ และอรูปาวจรภูมิ (สํ... (บาลี) 1/11/30)., (33) กายสังขาร แปลว่าสภาพปรุงแต่งกาย คือ ลมหายใจเข้า-ออก (ที... (บาลี) 288/255,ที..ฏีกา (บาลี) 2/288/264), กายสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางกายหรือกายสัญเจตนา คือ ความจงใจทางกาย (องฺ.ติก.. (บาลี) 2/23/101)., (34) กาย ในที่นี้หมายถึง กายทวาร ได้แก่ กายวิญญัติ (ความเคลื่อนไหวร่างกายให้รู้ความหมาย เช่น สั่นศีรษะโบกมือ ขยิบตา ดีดนิ้ว) (องฺ.จตุกฺก.. (บาลี) 2/171/392)., (35) วจีสังขาร แปลว่า สภาพปรุงแต่งวาจา คือ วิตก วิจาร (ที... (บาลี) 288/255, ที..ฏีกา(บาลี) 2/288/264), วจีสังขาร หมายถึง สภาพปรุงแต่งการกระทำทางวาจา ได้แก่ วิตก และวิจาร หรือวจีสัญเจตนา คือ ความจงใจทางวาจา (องฺ.ติก.. (บาลี) 2/23/101)., (36) จิตตสังขาร แปลว่า สภาพปรุงแต่งจิต คือ เวทนา สัญญา (ที... (บาลี) 288/255,ที.. ฏีกา (บาลี) 2/288/264), มโนสังขาร หมายถึง สภาพปรุงแต่งการกระทำทางใจ ได้แก่ สัญญาและเวทนา หรือมโนสัญเจตนา คือ ความจงใจทางใจ (องฺ.ติก.. (บาลี) 2/23/101)., (37) พระพุทธโฆษาจารย์, คัมภีร์วิสุทธิมรรคภาษาบาลี ตติโย ภาโค,หน้า 125-126., (38) วิญญาณ ในที่นี้หมายถึง ปฏิสนธิวิญญาณ ที่ชื่อว่า อยู่ท่ามกลางระหว่างนามกับรูปนั้น เพราะวิญญาณเป็นตัวก่อปัจจัยให้เกิดรูปกับนาม (องฺ.ฉกฺก.. (บาลี) 3/61/147)., (39) ปฏิสนธิกาล หมายถึง เวลาเกิด., (40) ปฏิสนธิจิต หมายถึง ปฏิสนธิจิตหรือจิตที่กำลังเกิดในภพใหม่., (41) ปวัตติกาล (ฐิติกาล) หมายถึง เวลาที่จิตดำรงอยู่ระหว่างปฏิสนธิกาลกับจุติกาล จุติกาล หมายถึง เวลาหลังจากตายแล้วจิตเคลื่อนไปสู่อีกภพหนึ่ง., (42) พระพุทธโฆษาจารย์, คัมภีร์วิสุทธิมรรคภาษาบาลี ตติโย ภาโค, หน้า 146-166., (43) ปฏิสนธิวิญญาณ ที่ชื่อว่า อยู่ท่ามกลางระหว่างนามกับรูปนั้น เพราะวิญญาณเป็นตัวก่อปัจจัยให้เกิดรูปกับนาม (องฺ.ฉกฺก.. (บาลี) 3/61/147)., (44) มหาภูตรูป คือ รูปใหญ่ รูปต้นเดิม คือ ธาตุ 4 ได้แก่ (1) ปฐวีธาตุ สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่สภาพอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูป เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็ง หรือธาตุดิน (2) อาโปธาตุสภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม ซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว หรือธาตุน้ำ (3) เตโชธาตุ สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ (4) วาโยธาตุ สภาวะที่ทำให้สั่นไหว เคลื่อนที่ ค้ำจุนเรียกสามัญว่า ธาตุลม (ที.สี.(ไทย) 9/487-499/216-220, ขุ.จู. (ไทย) 30/5/58)., (45) อุปาทายรูป มี 24 คือ ปสาทรูป 5 (รูปที่เป็นประธานสำหรับรับอารมณ์) (1) ตา (2) หู (3) จมูก (4) ลิ้น (5) กาย โคจรรูป หรือวิสัยรูป 5 (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์) (6) รูป (7) เสียง (8) กลิ่น (9) รส (10) โผฏฐัพพะ (ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกันกับมหาภูตรูป 3 คือ ปฐวี เตโช วาโย) ภาวรูป 2 (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ) (10) อิตถัตตะ อิตถินทรีย์ ความเป็นหญิง (11) ปุริสัตตะปุริสินทรีย์ ความเป็นชาย หทัยรูป 1 (รูปคือหทัย) (12) หทัยวัตถุ ที่ตั้งแห่งใจ หัวใจ ชีวิตรูป 1 (รูปที่เป็นชีวิต) (13) ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์ คือ ชีวิต อาหารรูป 1 (รูป คือ อาหาร) (14) กวฬิงการาหาร อาหาร คือ คำข้าวปริจเฉทรูป 1 (รูปที่กำหนดเทศะ) (15) อากาสธาตุ สภาวะคือช่องว่าง วิญญัติรูป 2 (รูป คือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย) (16) กายวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยกาย (17) วจีวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา วิการรูป 4 (รูป คือ การที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้) (18) (รูปัสส) ลหุตา ความเบา (19) (รูปัสส) มุทุตา ความอ่อนสลวย (20) (รูปัสส) กัมมัญญตา ความควรแก่การงาน ใช้การได้ ลักขณรูป 4 (รูป คือ ลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด) (21) อุปจยะ ความก่อตัว (22) สันตติ ความสืบต่อ (23) ชรตา ความทรุดโทรม (24) อนิจจตา ความแปรแตกสลาย (ขุ.จู. (ไทย) 30/5/58, อภิ.สงฺ. (ไทย) 34/584-984/169-255), พระพุทธโฆษาจารย์, คัมภีร์วิสุทธิมรรคภาษาบาลี ตติโย ภาโค,หน้า 166-167., (46) พระพุทธโฆษาจารย์, คัมภีร์วิสุทธิมรรคภาษาบาลี ตติโย ภาโค, หน้า 180., (47) เรื่องเดียวกัน หน้า 182., (48) เรื่องเดียวกัน หน้า 120-121., (49) ภพทั้งปวง ได้แก่ กรรมภพ อุปัตติภพ, กามภพ รูปภพ อรูปภพ, สัญญีภพ อสัญญีภพเนวสัญญีนาสัญญีภพ, เอกโวการภพ จตุโวการภพ ปัญจโวการภพ (ขุ.เถร.. (บาลี) 1/121/376)., (50) พระพุทธโฆษาจารย์, คัมภีร์วิสุทธิมรรคภาษาบาลี ตติโย ภาโค, หน้า 82-83., (51) เรื่องเดียวกัน หน้า 191-192.

 

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎก ภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ 2500.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535.

------------. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.

------------.พระไตรปิฎกแก่นธรรม ฉบับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2550

------------. อรรถกถาภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาอฏฺฐกถา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2532.

------------. ฎีกาภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาฏีกา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.

มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถาแปล ชุด 91 เล่ม. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,2536.

พระพุทธโฆษาจารย์. คัมภีร์วิสุทธิมรรค. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ)และคณะแปลและเรียบเรียง. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร : ประยูรวงศ์พริ้นท์ติ้ง, 2546.

-----------. วิสุทธิมรรค . พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย,2540.

พระมหาสมปอง มุทิโต. อภิธานวรรณนา.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประยูรวงศ์พริ้น

ติ้งจำกัด,2547.

พระสัทธัมมโชติกะ, ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา, ปฏิจจสมุปบาททีปนีและปัจจัย 24 โดยย่อ, กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิสัทธัมมโชติกะ,2521.

มหามกุฏราชวิทยาลัย. มิลินทปัญหา ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 3.

กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2547.

รศ.ดร. วัชระ งามจิตรเจริญ. พุทธศาสนาเถรวาท. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2550.

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. สารานุกรมพระพุทธศาสนา.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,2529.

ฐิตวณฺโณ ภิกขุ, ตายแล้วไปไหน,พิมพ์ครั้งที่ 6, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย,2534.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พุทธธรรม.พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัทสหธรรมิกจำกัด, 2549.

 

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML