พุทธศาสนากับความสุข

 

 


พุทธศาสนากับความสุข

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความสุข มีพระพุทธพจน์มากมายที่ยืนยันความจริงข้อนี้ เช่น ท่านทั้งหลายอย่าตามประกอบความประมาท อย่าตามประกอบการชมเชย ด้วยอำนาจความยินดี เพราะคนที่ไม่ประมาท แล้วเพ่งอยู่จะถึงสุขไพบูลย์ (25/27/23) จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้ (ขุ. . 25/35/25) เป็นต้น ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายการปฏิบัติตามคำสอนพุทธศาสนา และวิธีปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข ล้วนมีลักษณะที่เป็นสุขทั้งสิ้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ศาสนาทุกศาสนากำเนิดขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจของมนุษย์ นับตั้งแต่ที่มนุษย์ผ่านพ้นจากยุคดึกดำบรรพ์ มีวิวัฒนาการ และเริ่มสร้างอารยธรรมของตนเองขึ้น ชีวิตมนุษย์ไม่เคยแยกขาดจากศาสนา เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์รู้คิด มีเหตุผล มีปัญญา ศาสนาจึงเข้ามาทำหน้าที่ในการตอบคำ ถามที่นอกเหนือไปจากเรื่องการหากิน พักผ่อน และสืบพันธุ์ จึงเป็นสิ่งยืนยันว่า มนุษย์นั้นจำ เป็นจะต้องได้รับการตอบสนองทางด้านจิตใจ และทางปัญญาด้วย ศาสนาได้พยายามหาคำตอบ ให้กับมนุษย์ต่อคำ ถามที่ว่า มนุษย์เกิดมาทำไม อะไร คือ เป้าหมายของชีวิตอะไรเป็นสิ่งสมบูรณ์ที่สุดที่ชีวิตมนุษย์พึงปรารถนา และได้หาวิธีปฏิบัติเพื่อให้มนุษย์ดำเนินชีวิตได้อย่างสอดคล้องกับเป้าหมายนั้น

สำหรับศาสนาพุทธนั้นมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในการแสวงหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาให้กับมนุษย์ โดยเริ่มที่การแสดงให้เห็นถึงชีวิตตามสภาพความเป็นจริงว่าประกอบขึ้นจากขันธ์ 5 จนถึงลักษณะที่แท้ของชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ดังที่ปรากฏให้เห็นในคำสอนสำคัญของพุทธศาสนา คือ หลักอริยสัจ 4 อันเป็นหัวใจสำคัญของพุทธศาสนา โดยเริ่มดูตั้งแต่ตัวทุกข์ว่า มีสภาพเป็นอย่างไร มีหนทางใดบ้างในการดับทุกข์ สภาวะที่เป็นความดับทุกข์นั้นเป็นเช่นไร และต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะสามารถดับความทุกข์ได้ การให้แนวทางปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์แสดงว่า พุทธศาสนามิได้สอนให้เห็นถึงแต่มุมมองทางด้านความทุกข์ ดังเช่น ปรัชญาสายทุนิยม (pessimism) ที่เห็นว่าชีวิตนี้เต็มไปด้วยความทุกข์และไม่สามารถจะหลีกหนีจากความทุกข์เหล่านั้นได้ หากแต่การกล่าวถึงเรื่องของความทุกข์ของพุทธศาสนานั้น ก็เพื่อนำไปสู่ต้นเหตุของปัญหา และเพื่อที่จะแสวงหาวิธีการที่จะลุล่วงออกจากความทุกข์ จนกระทั่งพบกับความสุขได้ โดยการพยายามแสดงให้เห็นว่า มนุษย์แท้จริงนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร เราจะดำเนินชีวิตอย่างไรให้ไม่เกิดความทุกข์ หรือเมื่อเกิดความทุกข์แล้วมีวิธีการแก้ไขอย่างไร และจากการพยายามแสวงหาวิธีการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้าจึงสามารถกล่าวได้ว่า พุทธศาสนานั้น เป็นศาสนาแห่งความสุข เพราะการแสวงหาวิธีการพ้นทุกข์ก็เพื่อไปสู่สภาพที่เป็นสุขของชีวิต การสอนเรื่องความทุกข์จึงเป็นเพียงสอนให้เข้าใจข้อเท็จจริงของชีวิตเท่านั้น

ความสุข ซึ่งถึงแม้จะมีความหมายตรงข้ามกับ ความทุกข์ แต่ขณะเดียวกันก็มีลักษณะที่สัมพันธ์กัน นั่นคือ ถ้าเราให้ลักษณะความทุกข์นั้นเป็นสภาพพื้นฐานของชีวิต โดยอาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ทุกข์ตามสภาพข้อเท็จจริง ได้แก่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และความหิวโหย ซึ่งทำให้เราต้องออกไปแก่งแย่งแข่งขัน เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนมาจับจ่ายใช้สอยและหล่อเลี้ยงให้ดำเนินชีวิตได้ เป็นต้น และทุกข์ตามสภาพธรรม ได้แก่ การที่ชีวิตต้องตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา เพราะการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 ว่าเที่ยง เป็นสุข และเป็นอัตตา ทำให้ขัดแย้งกับกฎของไตรลักษณ์และทำให้เกิดความทุกข์ตามมา

เหล่านี้เป็นสภาพความทุกข์ที่มนุษย์แทบทุกคนต้องเผชิญมาแล้วทั้งสิ้น จนบางครั้งเราอาจตั้งคำ ถามว่า ความรู้สึกที่เรียกว่า ความสุข นั้นมีอยู่จริงหรือไม่หรืออาจเป็นเพียงปริมาณความทุกข์ที่ลดน้อยลง เนื่องจากสภาพปัญหาหรือความขัดข้องต่างๆ ได้บรรเทาเบาบางไป จนกระทั่งเรารู้สึกว่าหลุดออกมาจากสภาพบีบคั้นนั้นๆ ได้ และเข้าใจว่าเป็นความสุขลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างความสุข และความทุกข์ตามหลักคำสอนของพุทธศาสนานั้น พุทธศาสนาเห็นว่าทั้งความสุขและความทุกข์ต่างก็เป็นเวทนาอย่างหนึ่งในเวทนา 3 ได้แก่ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกมสุขเวทนา และเวทนา 5 ได้แก่ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา ดังนั้น เมื่อความสุขเป็นเวทนา ความสุขจึงเป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ 5 และเมื่อเป็นขันธ์ 5 ความสุขจึงอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติหรือกฎไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่ใช่ตัวตน จากลักษณะความสัมพันธ์ของความสุข ทุกข์ ดังกล่าว แม้ว่าจุดประสงค์ของการเรียบเรียงนี้จะเน้นเรื่องความสุข แต่ย่อมจำเป็นจะต้องกล่าวถึงเรื่องความทุกข์ ควบคู่ไปด้วย กล่าวได้ว่า พุทธศาสนาได้ให้ความหมายของความสุขไว้สองนัยด้วยกันนัยแรกความสุข หมายถึง สภาพที่ทนได้ง่าย ตรงข้ามกับความทุกข์ หมายถึง สภาพที่ทนได้ยาก เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้น และความดับสลาย เนื่องจากต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ไม่ขึ้นต่อตัวมันเอง (พระเทพเวที, 2533: 99) อีกนัยหนึ่ง ความสุข หมายถึง ภาวะที่สิ้นกิเลสทั้งปวง ภาวะที่ปราศจากตัณหา ซึ่งพุทธศาสนาเรียกความสุขชนิดนี้ว่า นิพพานสุข และถือว่าเป็นสิ่ง ดีสูงสุด (Summum bonum) ของมนุษย์ ซึ่งความสุขชนิดนี้เป็นลักษณะสำคัญในพุทธศาสนา อันเป็นความสุขในความหมายที่แตกต่างไปจากแนวคิดของศาสนาอื่นๆ

สมัยพุทธกาลมีสำนักคิดหลายสำนักที่ต่างแสวงหาวิธีที่จะทำให้มนุษย์เข้าถึงความสุขดัง เช่น ลัทธิของพวกนิครนถ์ ที่มีแนวคิดในการปฏิบัติทุกกรกิริยาต่างๆ เนื่องจากมีความเห็นว่า ความสุขจะไม่สามารถเข้าถึงด้วยวิธีที่เป็นสุข หากต้องอาศัยวิธีบำเพ็ญตบะ ทรมานตนเองเท่านั้นจึงจะสามารถพ้นทุกข์ และเข้าถึงสุขได้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้แพร่หลายทั่วไปในครั้งพุทธกาล ขณะที่ยังทรงเป็นนักบวชในประเพณีของอินเดียในสมัยนั้น พระพุทธเจ้าได้ทดลองใช้วิธีการดังกล่าว จนถึงขนาดที่ทำให้เกือบสิ้นพระชนม์ ในที่สุดพระองค์จึงทรงมีพระดำริว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีต ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิด เพราะความเพียรอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้ แม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคต จักเสวยทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนที่เกิด เพราะความเพียรอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้ ถึงเช่นนั้น เราก็ไม่ได้บรรลุญาณทัศนะอันวิเศษของพระอริยะอันสามารถยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ จะพึงมีทางอื่นเพื่อความตรัสรู้กระมังหนอ เรามีความคิดเห็นว่า ก็เราจำได้อยู่ในงานของท้าวศากยะผู้พระบิดา เรานั่งอยู่ที่ร่มไม้หว้ามีเงาอันเย็นสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ทางนี้กระมังหนอ จะพึงเป็นทางเพื่อความตรัสรู้ เราได้มีญาณอันแล่นไปตามสติว่า ทางนี้แหละเป็นทางเพื่อความตรัสรู้ เรามีความคิดเห็นว่า เรากลัวต่อสุขอันเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรมนั้นหรือ จึงมีความคิดเห็นว่า เราไม่กลัวต่อสุข อันเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม ดูก่อนภารทวาชะ เรานั้นมีความคิดเห็นว่า อันบุคคลผู้มีกายซูบผอมเหลือเกินอย่างนี้ จะบรรลุถึงความสุขนั้นไม่ใช่ทำ ได้ง่าย ถ้ากระไรเราพึงกินอาหารหยาบ คือ ข้าวสุก ขนมกุมมาสเถิด เรากินอาหารหยาบ คือ ข้าวสุก ขนมกุมมาส (..13/ 482-483/590-591)

ต่อจากนั้น พระโพธิสัตว์ก็ได้เสวยอาหารหยาบ จนมีกำลังขึ้นแล้ว ทรงบำเพ็ญฌานจนบรรลุจตุตถฌา และได้ตรัสรู้ ส่วนแนวปฏิบัติอีกสายหนึ่งที่มีอยู่คู่กัน คือ ลัทธิจารวาก ซึ่งเป็นลัทธิที่ไม่เชื่อในเรื่องโลกนี้โลกหน้า นรก-สวรรค์ ไม่เชื่อในเรื่องวิญญาณ ดังนั้นลัทธิจารวากจึงสนับสนุนให้มนุษย์แสวงหาความสุขสบายในชีวิตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำ ได้ เรียกว่าเป็นลัทธิที่หนักไปในทางวัตถุนิยม จึงได้รับความนิยมจากผู้คนอยู่ไม่น้อย เนื่องจากมีแนวคิดที่ตอบสนองส่วนที่เป็นกิเลส ซึ่งมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน (จำนงค์, 2539 : 78) ซึ่งถ้าหากคนในสังคมถือตามอย่างลัทธิจารวาก สังคมก็จะเกิดความวุ่นวาย เนื่องจากทุกคนต่างทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง ดังนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้จึงได้ทรงแสดงพระปฐมเทศนาหรือธัมมจักกัปปวัตนสูตรที่มีเนื้อหา และจุดหมายของการปฏิบัติไปในทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นหนทางที่ปฏิเสธส่วนสุดทั้ง 2 ด้าน (ขุ.อุ./58/227) ได้แก่ อัตตกิลมถานุโยค การประกอบความลำบาก เดือดร้อนแก่ตนเอง และกามสุขัลลิกานุโยค การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุข ทั้งในวัตถุกาม และกิเลสกาม

ทางสายกลางนั้น เป็นวิธีการที่เป็นสุข กล่าวคือ เป็นวิธีการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ ซึ่งพอเหมาะพอดีที่จะให้เกิดผลตามกระบวนการดับทุกข์ หนทางที่จะทำคนให้เป็นพระอริยะนั้นมีองค์ประกอบ 8 อย่าง ซึ่งผู้ปฏิบัติจะต้องใช้องค์ประกอบทั้ง 8 ของมรรค ไปพร้อมๆ กันการปฏิบัติตนตามทางสายกลางนั้น อาจเรียกได้ว่า เป็นกระบวนการศึกษา และอบรมตามหลักไตรสิกขา คือ การอบรม กาย วาจา จิตใจ และปัญญา ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นจนสามารถบรรลุจุดหมายสูงสุด คือ นิพพาน ไปด้วยในขณะเดียวกัน โดยเราสามารถเห็นความสัมพันธ์ของ ไตรสิกขา และมัฌชิมาปฏิปทา ได้ดังนี้ (พระธรรมปิฎก, 2543 : 603) 1. อธิศีลสิกขา 2. อธิสมาธิสิกขา 3. อธิปัญญาสิกขา - สัมมาวาจา - สัมมาวายามะ สัมมาทิฏฐิ - สัมมากัมมันตะ - สัมมาสติ สัมมาสังกัปปะ - สัมมาอาชีวะ - สัมมาสมาธิ

สรุปว่า มัชฌิมาปฏิปทานั้น เป็นหลักปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ให้เป็นหลักเกณฑ์ในการเข้าถึงความสุขโดยอาศัยองค์ประกอบทั้ง 8 ประการเพื่อให้ปุถุชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้อง ดีงาม อันจะนำไปสู่ความสุขในบั้นปลาย และเป็นพื้นฐานที่ใช้สำหรับการพัฒนาตนเองไปสู่ระดับอริยบุคคล เพื่อเข้าถึงความสุขในระดับที่สูงขึ้นต่อไป ดังที่ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า (สํ..19/221/56) ภิกษุทั้งหลาย แม่นํ้าคงคาไหลหลั่ง ลาดเอน เบนบ่าสู่มหาสมุทรฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอยู่ทำให้มากอยู่ ซึ่งมรรคมีองค์ 8 ประการ อันประเสริฐ ย่อมเป็นผู้โน้มน้อมลาดเอน เบนไปสู่นิพพาน ฉันนั้น

พุทธศาสนาได้แสดงเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เพื่อให้เกิดความสุขนั้น แบ่งได้ 2 ระดับ คือ ระดับที่ยังข้องเกี่ยวกับโลกหรือระดับโลกียะ ซึ่งเป็นของปุถุชนกับระดับที่พ้นไปจากชีวิตทางโลกหรือระดับโลกุตตระ ซึ่งเป็นของอริยบุคคลเป้าหมายในระดับแรกนั้นมนุษย์สามารถแสวงหาวิธีเพื่อจะสนองเป้าหมายของตนเองได้เช่น การศึกษาเล่าเรียนเพื่อให้เกิดความสามารถในการประกอบอาชีพ การมีที่อาศัยสะดวกสบายการแสวงหาปัจจัยต่างๆ มาบำรุงชีวิตของตน การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในสังคม จนถึงการมีชีวิตครองเรือนที่มีสุข อย่างที่ทรงแสดงในทีฆชาณุสูตร ซึ่งแสดงให้เห็นธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ทั้งในปัจจุบัน และภายหน้า (องฺ.อฏฺฐก.23/54/321-322)

ดูกรคหบดี ธรรม 4 ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขในปัจจุบัน 4 ประการเป็นไฉน คือ อุฏฐานสัมปทา 1, อารักขสัมปทา 1, กัลยาณมิตตตา 1 และสมชีวิตา 1

ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ก็อุฏฐานสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีพด้วยความหมั่นประกอบการงาน คือ กสิกรรม พาณิชยกรรม โครักขกรรม รับราชการฝ่ายทหาร รับราชการฝ่ายพลเรือน หรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญา เครื่องสอดส่องอันเป็นอุบายในการงานนั้น สามารถจัดทำได้ ดูก่อนพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่า อุฏฐานสัมปทา

ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ก็อารักขสัมปทาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ มีโภคทรัพย์ที่หามาด้วยความหมั่นเพียร สั่งสมด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ชอบธรรมได้มาโดยธรรม เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูลด้วยทำ ไว้ในใจว่า ไฉนหนอ พระราชาไม่พึงริบโภคทรัพย์เหล่านี้ของเรา โจรไม่พึงลัก ไฟไม่พึงไหม้ นํ้าไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป ดูก่อนพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่า อารักขสัมปทา

ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ก็กัลยาณมิตตตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำ รงตนเจรจาสนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้นซึ่งเป็นคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี เป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ศึกษาศรัทธา สัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศึกษาศีลสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ศึกษาจาคสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ ศึกษาปัญญาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ดูก่อนพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่า กัลยาณมิตตา

ดูก่อนพยัคฆปัชชะ ก็สมชีวิตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ รู้ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์ และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนักไม่ให้ฝืดเคืองนักด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้ ด้วยประการอย่างนี้ ดูก่อนพยัคฆปัชชะ เปรียบเหมือนคนชั่งตราชั่งหรือลูกมือคนชั่งตราชั่งยกตราชั่งขึ้นแล้ว ย่อมทราบว่า ต้องลดออกเท่านี้หรือต้องเพิ่มเข้าเท่านี้ ฉันใด กุลบุตรก็ฉันนั้นเหมือนกัน รู้ทางเจริญ และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ ดูก่อนพยัคฆปัชชะนี้เรียกว่า สมชีวิตา

พุทธพจน์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พุทธศาสนารับรองความสุขของปุถุชน โดยที่ความสุขดังกล่าวจะมีได้ต้องมีธรรมะเป็นหลักดำเนินชีวิต กล่าวคือ ต้องขยันหมั่นเพียร ประหยัดอดออม ไม่ใช้จ่ายเกินตัว และไม่หลงติดอบายมุขเป้าหมายระดับที่สอง คือ เป้าหมายที่นอกเหนือจากเรื่องดังกล่าวข้างต้น แต่เป็นการให้คำตอบสำหรับการเข้าถึงเป้าหมายขั้นสุดท้ายของชีวิตหรือระดับโลกุตตระมีลักษณะสำคัญ คือ (แสง, 2531: 121) 1. มีลักษณะเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ไม่มีเป้าหมายใดสูงไปกว่านั้น เป็นเป้าหมายสุดท้าย เป็นอุดมคติสูงสุดในชีวิต, 2. มีลักษณะเป็นความสุขอันประเสริฐ ไม่มีสุขใดในโลกแห่งโลกียะจะเทียมเท่า และ3. มีลักษณะเป็นนิรันดร์ อยู่เหนือกาลเวลาผู้ที่สามารถปฏิบัติให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ เรียกว่าอริยบุคคลซึ่งหมายถึง บุคคลที่สามารถละกิเลสได้อย่างหมดสิ้น ไม่ติดใจหรือปรารถนาในความสุขที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร ซึ่งเป็นความสุขในแบบที่บุคคลในระดับปุถุชนปรารถนา เช่น ความรํ่ารวย ความมีเกียรติ มีชื่อเสียง

พระธรรมปิฎก แสดงทัศนะถึงชีวิตสมบูรณ์ตามแนวทางของพุทธศาสนาว่า ต้องประกอบด้วยประโยชน์สุขในระดับต่างๆ ดังนี้ (พระธรรมปิฎก, 2537: 8-33) ระดับที่ 1 ทิฏธัมมิกัตถะ คือ ประโยชน์สุขที่ตามองเห็น เป็นเรื่องทางวัตถุหรือด้านรูปธรรม ถ้าจะสรุปประโยชน์สุขในระดับต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ตามองเห็นก็จะมี 1. มีสุขภาพดี มีร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นการอยู่สบาย ใช้การได้ดี, 2. มีทรัพย์สินเงินทอง มีการงานอาชีพเป็นหลักฐาน หรือพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ, 3. มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อมนุษย์ หรือมีสถานะในสังคม เช่น ยศศักดิ์ ตำแหน่ง เกียรติ ชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับในสังคม มีมิตรสหายบริวาร และ4. สุดท้ายที่สำคัญสำหรับชีวิตคฤหัสถ์ คือ มีครอบครัวที่ดี มีความสุข, ระดับที่ 2 สัมปรายิกัตถะ คือ ประโยชน์สุขที่เป็นด้านนามธรรม เป็นเรื่องของจิตใจลึกซึ้งลงไป เป็นประโยชน์ที่เลยจากตามองเห็น เช่น ความมีชีวิตที่มีคุณค่า การได้ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นด้วยคุณธรรม ได้ทำประโยชน์แก่เพื่อมนุษย์ ได้ทำชีวิตให้มีคุณค่า ได้เกื้อกูลสังคม, ระดับที่ 3 ปรมัตถะ คือ ประโยชน์ สุขที่เป็นนามธรรมขั้นที่เป็นโลกุตตระ เป็นเรื่องของจิตใจที่เป็นอิสระอยู่เหนือกระแสโลก เนื่องจากมีปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต อย่างที่ว่าอยู่ในโลกแต่ไม่ติดโลก หรือไม่เปื้อนโลก เหมือนใบบัวไม่ติดน้ำผู้ที่พัฒนาปัญญาไปถึงประโยชน์สูงสุดนี้ นอกจากจะอยู่ในโลกโดยได้รับประโยชน์ระดับที่หนึ่งและสองสมบูรณ์แล้ว ยังไม่ถูกกระทบกระทั่ง ไม่ถูกกฎธรรมชาติเข้ามาครอบงำบีบคั้นด้วย ฉะนั้น ความทุกข์ที่มีในธรรมชาติก็มีไป แต่ไม่เกิดเป็นความทุกข์ในใจเรา ใจเราจะไม่ปรวนแปรไปด้วย อย่างที่เรียกว่า ถูกโลกธรรมกระทบก็ไม่หวั่นไหว

ความสุขในทัศนะของพระธรรมปิฎก ซึ่งสรุปมาจากคำสอนของพุทธศาสนาแม้จะมี 3 ระดับแต่เมื่อสรุปแล้วจึงเป็นความสุข 2 ระดับ กล่าวคือ ประโยชน์สุขที่ตามองเห็น และประโยชน์สุขที่เป็นนามธรรม เป็นโลกียสุข ส่วนประโยชน์สุขที่เป็นนามธรรมขั้นโลกุตตระ จัดเป็นโลกุตตรสุข พุทธศาสนาได้กล่าวถึงอริยชนที่เข้าถึงความสุขระดับโลกุตตระ ดังนี้ 1. ระดับโสดาปัตติผล เรียกท่านผู้บรรลุว่า พระโสดาบัน, 2. ระดับสกทาคามิผล เรียกท่านผู้บรรลุว่า พระสกทาคามี, 3. ระดับอนาคามิผล เรียกท่านผู้บรรลุว่า พระอนาคามี และ4. ระดับอรหัตตผล เรียกท่านผู้บรรลุว่า พระอรหันต์ (ที.. 10/180-181/118-119)

พระอริยบุคคลทั้ง 4 จำพวกนี้ สามารถบำเพ็ญไตรสิกขา และละกิเลสได้ตามลำดับ ซึ่งเท่ากับได้เข้าถึงเป้าหมายที่เป็นสุข เพราะสามารถขจัดกิเลสที่เป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ ที่เรียกว่า สังโยชน์ ซึ่งมัด และหน่วงเหนี่ยวสัตว์ให้ทุกข์ในโลก มีดังนี้ (สํ..19/258-269/214) 1. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่า เป็นตัวของตน เป็นเราเขา ทั้งที่สิ่งต่างๆ เป็นเพียงองค์ประกอบต่างๆ มาประชุมกัน, 2. วิจิกิจฉา ความลังเล สงสัย ในเรื่องของชีวิตในพระธรรม ทำให้ไม่มั่นใจในการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม, 3. สีลัพพตปรามาส ความยึดถือผิดพลาดทั้งในศีล ระเบียบ แบบแผน จนถึงข้อปฏิบัติต่างๆ จึงเป็นการทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย ไม่เข้าสู่อริยมรรค, 4. กามราคะ ความกำหนัด ติดใจในกาม, 5. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่ง ความหงุดหงิดขัดเคืองใจ, 6. รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต เช่น ติดใจในรสของความสุข ความสงบที่เกิดจากการทำสมาธิ เป็นต้น, 7. อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม เช่น ติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน ปรารถนาในอรูปภพ เป็นต้น, 8. มานะ ความถือตัวหรือสำคัญตนเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น สูงกว่าเขา เท่าเทียมเขา ตํ่ากว่าเขา เป็นต้น, 9. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ ว้าวุ่น ซัดส่าย คิดพล่านไป และ10. อวิชชา ความไม่รู้จริง ไม่รู้เท่าทันสภาวะ ไม่เข้าใจกฎธรรมชาติ ไม่รู้ในอริยสัจจ์

ดังนั้นบุคคลที่สามารถขจัดสังโยชน์ 10 ดังที่กล่าวข้างต้นได้นั้นจึงเรียกได้ว่าเข้าถึงหนทางของความสุข และเป็นเป้าหมายที่แท้จริงตามความหมายของพุทธศาสนา เนื่องจากจะเป็นผู้ที่มีจิตใจเป็นอิสระ ปลอดพ้นจากกิเลส อันเป็นเครื่องพันธนาการให้ต้องมัวเมา หลงใหลอยู่ในวัฏสงสาร เพื่อให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น แผนผังด้านล่างจะแสดงความสัมพันธ์ของอริยบุคคล พร้อมด้วยไตรสิกขาที่บำเพ็ญ และสังโยชน์ที่ละได้ ดังนี้ (พระธรรมปิฎก, 2543: 288)

อริยบุคคล สิกขาที่บำเพ็ญ สังโยชน์ที่ละได้ระดับที่ 1 พระโสดาบัน 1. สักกายทิฏฐิ ศีลบริบูรณ์, 2. วิจิกิจฉา (สมาธิและปัญญาพอประมาณ) และ3. สีลัพพตปรามาส, ระดับที่ 2 พระสกทาคามี ราคะ โทสะ โมหะเหลือเบาบาง, ระดับที่ 3 พระอนาคามี ศีลและสมาธิสมบูรณ์ 4. กามราคะ (ปัญญาพอประมาณ), 5. ปฏิฆะ, 6. รูปราคะ และ7. อรูปราคะ และระดับที่ 4 พระอรหันต์ ศีล สมาธิ ปัญญาบริบูรณ์ 8. มานะ, 9. อุทธัจจะ, และ10. อวิชชา

สังโยชน์ที่อริยบุคคลในระดับต่างๆ สามารถละได้ขึ้นกับผลของการบำเพ็ญศีล สมาธิ และปัญญา นั่นคือ จากขั้นที่บำเพ็ญไตรสิกขาได้ในระดับพอประมาณ ผลที่ได้ คือ สังโยชน์จะถูกละไปได้บางตัว จนถึงขั้นที่ตั้งอยู่ในศีล สมาธิ และปัญญาได้อย่างสมบูรณ์ก็จะสามารถละสังโยชน์ได้ทั้งหมด และไปสู่ความเป็นบุคคลที่มีความสุขอย่างสมบูรณ์ จากทัศนะต่อเป้าหมายที่เป็นสุขของพุทธศาสนาที่ได้แสดงไว้ให้เห็นในบุคคลแต่ละระดับนั้น เห็นได้ว่า ถึงแม้มนุษย์จะสามารถแสวงหาความสุขในระดับโลกียะได้แล้ว หากแต่ความสุขในระดับดังกล่าวนั้นมีอยู่เพียงชั่วคราว ดังนั้น เป้าหมายที่แท้จริงของพุทธศาสนาจึงเป็นโลกุตตระสุข (แสง จันทร์งาม. 2531: 27) จำแนกความสุขในพุทธศาสนา ได้ดังนี้ 1. ความสุขที่เกิดจากการเว้นจากความชั่ว (ศีลสุข), 2. ความสุขที่เกิดจากการทำความดี (ปุญญสุข), 3. ความสุขที่เกิดจากการทำใจให้สงบ (สมาธิสุข) และ4. ความสุขที่เกิดจากความหลุดพ้นอย่างเด็ดขาด (วิมุตติสุข) ความสุขในข้อ 1 และ2 เป็นโลกียะสุขที่ปุถุชนสามารถปฏิบัติตนไปสู่ความสุขเหล่านี้ได้ ซึ่งจะเป็นฐานให้พัฒนาตน เพื่อไปสู่ความสุขข้อ 3 และ4 อันเป็นโลกุตตระสุข

ความสุขอย่างหยาบ และความสุขอย่างละเอียด ความสุขแบบที่เราเข้าใจกันอยู่ทั่วไปนั้น ท่านพุทธทาสภิกขุเรียกว่า เป็นความสุขอย่างเทียม มีลักษณะดังนี้ (พุทธทาส ภิกขุ, 2540: 120-123) 1. การได้ตามใจตัวไปเสียทุกอย่าง (Self-Indulgence) เป็นอารมณ์ปรารถนาทาง ตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส เป็นการอยากได้อะไรมากลบเกลื่อนความอยากพอที่จะไม่รู้สึกเร่าร้อน แต่ในที่สุดก็ไม่ได้เกิดความสงบ, 2. ความฟุ่มเฟือย (Luxury) คือ การมีสิ่งสวยงามสะดวกสบายเกินกว่าที่จะพึงมี ทำให้เกิดความพอใจในระยะแรกๆ ราวกับว่าเราจะไม่มีความต้องการอื่นอีก แต่ในที่สุดสิ่งนั้นก็กลายเป็นของเกะกะน่ารำคาญ ดังที่ เจ้าชายสิทธัตถะเคยผ่านมาแล้ว, 3. ความเพลิน หรือนันทิ (Pleasure) คือ ความพอใจในรสที่ถูกอารมณ์อย่างแรงกล้าอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้มีเพียงอย่างเดียวก็ได้ เรียกว่า เป็นสมาธิของกาม, 4. ความสบายหรือสัปปายะ (Ease) คือ การได้อะไรพอเหมาะๆ กับความต้องการที่ไม่มากเกินขอบเขต เช่น ได้กินอยู่ ได้สมาคมหรือสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับตน ซึ่งอาจใช้เป็นอุปกรณ์หาความสุขสูงขึ้นไป และ5. ความสุข (Happiness) เป็นความรู้สึกที่ได้รับความพอใจจากการทำความดีสำเร็จ รู้สึกภูมิใจกับความสำเร็จที่เกิดจากนํ้าพักนํ้าแรงของตน ความสุขในความหมายนี้อาจเป็นเครื่องมือสำหรับศึกษาในด้านจิตใจ เพื่อค้นหาความสงบอย่างสูงได้ง่ายขึ้น แต่ยังไม่ใช่ความสงบตามความหมายของธรรม จึงเป็นความสุขได้เพียงฝ่ายโลก และเป็นเรื่องเฉพาะตัว

แนวคิดต่อความสุขข้างต้น เป็นลักษณะของความสุขแบบเทียม โดยอธิบายถึงสิ่งที่เราเรียกว่าความสุขนั้นยังอยู่ในระดับที่หยาบ คือ การได้รับความสะดวกสบายหรือการได้สนองความอยากของตนฝ่ายเดียว แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังเป็นความสงบที่เกิดได้เพียงชั่วคราว คือ ในชั่วขณะที่เราสามารถแสวงหาสิ่งที่เราต้องการได้ เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่ได้รับและเข้าใจว่าเป็นความสุขก็แปรเปลี่ยนไป และเป็นปัจจัยไปสู่ความทุกข์ซึ่งเป็นวงจรสืบต่อกันไป นั่นเพราะการได้มาซึ่งความรู้สึกสุขดังกล่าวนั้นยังต้องอาศัยเหตุปัจจัยภายนอก ซึ่งต่างก็ตกอยู่ในสภาพความไม่แน่นอน อันเป็นธรรมชาติของทุกสิ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่อาจเรียกได้ว่า เป็นลักษณะของความสุขที่แท้จริงได้ในขณะที่ความสุขแท้นั้นมีลักษณะ ดังนี้ 1. ศีล เป็นความสงบทางกาย วาจา ซึ่งจะเป็นเหตุให้ใจสงบลงได้, 2. สมาธิ เป็นการสงบความรู้สึกที่รุมเร้าจิตใจได้ด้วยการทำ ตามสมาธิวิธีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดปัญญาที่จะสามารถทำลายเชื้อของกิเลสลงได้, 3. ปัญญา เป็นความรู้แจ้ง ที่สามารถขัดเกลากิเลสในส่วนลึกลงได้ เนื่องจากเกิดความรู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง, 4. ความหน่าย (นิพพิทา) เห็นว่าสิ่งทั้งปวงในโลกเป็นเพียงมายา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความระอา ไม่ทะเยอทะยานอยากอีก, 5. ความสำรอกสิ่งย้อมจิต (วิราคะ) ความเบื่อหน่ายในโลกิยารมณ์ จิตใจจางออกจากสิ่งที่เคยยึดติด, 6. ความหลุดพ้น (วิมุตติ) เมื่อไม่ยึดติดก็สามารถหลุดจากโลกทั้ง กามภพ รูปภพ และอรูปภพได้, 7. ความบริสุทธิ์ (สุทธิ) มีความเป็นอิสระเพราะหลุดได้จากทั้งคุณและโทษ ดีและชั่ว บุญ และบาป, 8. ความสงบ (สันติ) เป็นความสงบจากความทุกข์ และกิเลสจนถึงเชื้อของกิเลส จึงไม่มีการเกิดขึ้นของวัฏสังสาร และ9. บรมสันติ (นิพพานธาตุ) เป็นที่เข้าไปสงบของสังขาร ไม่มีการเกิด การดับหรือการตาย สามารถคงตัวเองอยู่ได้โดยไม่ต้องมีอะไรมาสร้างหรือปรุงแต่ง สงบจากความวุ่นวายต่างๆ อย่างเด็ดขาด

ความสุขในขั้นนี้เป็นความสุขที่ละเอียดขึ้น แตกต่างจากความเพลิดเพลินจากการได้เสพสิ่งที่ตนพอใจ เพราะเป็นความสุขที่เกิดจากการพัฒนาขึ้นของศีล สมาธิ และปัญญาของตน จึงเป็นความสุขที่เป็นอิสระ เกิดเป็นความสงบของจิตใจ ซึ่งมีลักษณะที่ยั่งยืนกว่าความสุขขั้นหยาบ ที่ต้องดิ้นรนพึ่งพิงสิ่งภายนอกอยู่ต่อไป สรุปว่า ความสุขอื่นนอกไปจากความสงบแล้วไม่มี ดังนั้นถ้าเกิดความสงบอย่างเทียม เราก็จะได้ความสุขแบบเทียม ถ้าเกิดความสงบอย่างแท้ ก็ได้ความสุขที่แท้ สงบมากก็สุขมาก สงบน้อยก็สุขน้อย ซึ่งเป็นกฎตายตัวของธรรมชาติ

ในพระสุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าทรงจำแนกความสุขไว้หลายประเภท หลายระดับ เช่น สุขของคฤหัสถ์กับสุขของบรรพชิต กามสุขกับเนกขัมมสุข โลกียสุขกับโลกุตตรสุข และสุขของปุถุชนกับสุขของพระอริยะ เป็นต้น

ในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต สุขวรรค (อฺง.ทุก 20/65/107) พระพุทธเจ้าทรงจำแนกความสุขแบบคู่ขนานไว้ 13 ข้อ ดังนี้ 1. สุขของคฤหัสถ์ สุขเกิดแต่บรรพชา, 2. กามสุข เนกขัมมสุข, 3. สุขเจือกิเลส สุขไม่เจือกิเลส, 4. สุขมีอาสวะ สุขไม่มีอาสวะ, 5. สุขอิงอามิส สุขไม่มีอามิส, 6. สุขของปุถุชน สุขของพระอริยเจ้า, 7. กายิกสุข (สุขทางกาย) - เจตสิกสุข (สุขทางจิต), 8. สุขเกิดแต่ฌานมีปีติ สุขเกิดแต่ฌานไม่มีปีติ, 9. สุขเกิดแต่ความยินดี สุขเกิดแต่ความวางใจเป็นกลาง, 10. สุขที่ถึงสมาธิ สุขที่ไม่ถึงสมาธิ, 11. สุขเกิดแต่ฌานมีปีติเป็นอารมณ์ สุขเกิดแต่ฌานไม่มีปีติเป็นอารมณ์, 12. สุขที่มีความยินดีเป็นอารมณ์ สุขที่ไม่มีความยินดีเป็นอารมณ์ และ13. สุขที่มีรูปเป็นอารมณ์ - สุขที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์

ลักษณะของความสุข 2 ดังกล่าว บางคู่เป็นการเปรียบเทียบระหว่างกามสุข กับความสุขที่ไม่อาศัยกาม และบางคู่เปรียบเทียบระหว่างความสุขที่ประณีตกับความสุขที่ประณีตมากกว่า

ในขุททกนิกาย มุจจลินทสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงสุข 4 ประการ แก่พญามุจจลินนาคราช ว่าเป็นความสุขที่ยอดเยี่ยมในโลกอัน ได้แก่ 1. ความยินดีในวิเวก ย่อมมีความสุข, 2. การไม่เบียดเบียน คือ การระมัดระวังไม่ทำร้ายสัตว์มีชีวิต เป็นความสุขในโลก, 3. การละกามทั้งหลายเสียได้เป็นความสุขในโลก, และ4. การกำจัดความถือตัว (อัสมิมานะ) เสียได้นั่นแหละเป็นความสุขอย่างยิ่ง

ลักษณะของสุข 4 นั้นเป็นความสุขพึงทำให้เกิดขึ้นโดยการสำรวมกาย ใจ อันจะนำมาซึ่งการปฏิบัติที่ดีงามในขณะปัจจุบัน และ ส่งผลถึงความมั่นใจในความสุขของตนต่อไปในโลกหน้า

ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อันนนาถสูตร (อฺง.จตุกก. 21/62/90) ทรงแสดงสุขของคฤหัสถ์ 4 ประการแก่ อนาถบิณฑิกเศรษฐี สุข 4 ประการนั้น คือ 1. สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์, 2. สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค, 3. สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้ และ4. สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ

แนวคิดต่อความสุขให้ปุถุชนที่ต้องอาศัยทรัพย์ในการยังชีพได้ถือเป็นหลักปฏิบัติ เพื่อสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่น เป็นความสุขขั้นพื้นฐานอันจะเป็นปัจจัยต่อการปฏิบัติตนให้เกิดความสุขในระดับที่สูงขึ้น

ในอังคุตตรนิกาย นวกนิบาต นิพพานสูตร (อฺง. นวก. 23/43/512) พระสารีบุตรได้แสดงสุข 10 โดยเริ่มจากกามสุข อันเป็นสุขระดับตํ่าสุด แล้วค่อยๆ ประณีตขึ้นตามลำดับถึง สุขในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ดังนี้ 1. กามสุข, 2. สุขในรูปฌานที่ 1 (ปฐมฌาน), 3. สุขในรูปฌานที่ 2 (ทุติยฌาน), 4. สุขในรูปฌานที่ 3 (ตติยฌาน), 5. สุขในรูปฌานที่ 4 (จตุตถฌาน), 6. สุขในอรูปฌานที่ 1 (อากาสานัญจายตนฌาน), 7. สุขในอรูปฌานที่ 2 (วิญญาณัญจายตนฌาน), 8. สุขในอรูปฌานที่ 3 (อากิญจัญญายตนฌาน), 9. สุขในอรูปฌานที่ 4 (เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน), และ10. สุขในสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ

ลักษณะของสุข 10 นั้นมีเพียงข้อแรกที่กล่าวถึงกามสุข จากนั้นจะเป็นลักษณะของความสุขที่ไม่ต้องอาศัยการเสพ การบริโภค คือ ความสุขที่ได้จากฌาน ซึ่งมีความอิสระจากสิ่งภายนอก จนกระทั่งถึงขั้นของนิโรธ ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของนิพพาน จากประเภทของความสุขทั้ง 10 ขั้นนั้น สรุปได้เป็น 3 และมีลักษณะสัมพันธ์กับบุคคลผู้เสวยความสุขเหล่านี้ ดังนี้ (ขุ.อุ.25/12/126) 1. กามสุข สุขเนื่องด้วยกาม ผู้เสพได้แก่ มนุษย์ปุถุชน และอริยบุคคลชั้นโสดาบัน และสกทาคามี, 2. ฌานสุข สุขเนื่องด้วยฌาน ผู้เสพได้แก่ มนุษย์ปุถุชนและอริยบุคคลทุกขั้นตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอรหันต์ และ3. นิพพานสุข สุขเนื่องด้วยนิพพาน ผู้เสพ ได้แก่ พระอริยบุคคล ตั้งแต่ พระโสดาบันถึงพระอรหันต์

ความสุขประเภทต่างๆ ที่กล่าวมานั้น เป็นการยืนยันให้เห็นว่า มนุษย์สามารถมีความสุขในแบบที่เป็นอิสระ คือ ไม่ต้องอาศัยอามิสได้ ซึ่งเป็นความสุขที่เป็นจุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา นิพพาน คือ ความสุขอย่างยิ่ง ในพุทธศาสนามีแนวทางต่อการปฏิบัติต่อความสุขในแต่ละระดับ คือ ในระดับกามสุขพุทธศาสนาสอนให้ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในกามสุขชนิดนี้ และโน้มนำให้ปุถุชนได้เกิดความหน่ายต่อความสุขในขั้นนี้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตนในทางที่ให้เกิดความสุขในขั้นที่ประณีตขึ้น เกิดปัญญาเห็นความจริงตามธรรมชาติในข้อที่ว่า ทั้ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อทุกขมสุขก็ดี ล้วนไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่ปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งขึ้น เป็นของอาศัยกันเกิดขึ้น จึงมีอันจะต้องสิ้นสลาย ดับไปเป็นธรรมดาความสุขจึงเป็นเพียงคำ พูดของสัตว์โลกที่ยังมีตัณหา อุปาทาน ส่วนหลักของพุทธศาสนามีอยู่อย่างชัดเจนว่า ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป, นอกจากทุกข์แล้วหามีอะไรเกิดขึ้น และดับไปไม่ (สํ. 15/119/554)

พุทธศาสนามองสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง และแสวงหาวิธีการที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นอย่างไม่เกิดทุกข์ โดยการยอมรับว่าทุกๆ อย่างนั้นมีอยู่ แต่ว่าไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราของเรา แนวคิดที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การทำให้มนุษย์เห็นว่าถ้าเราเข้าไปข้องเกี่ยวกับสิ่งๆ ใดด้วยความยึดมั่นว่ามีตัว มีตน เราจะเกิดความทุกข์ ดังนั้น เมื่อเราสามารถกำจัดความรู้สึกที่ว่า มีตัวตนของเรา มีสิ่งที่เป็นของเราอย่างแท้จริงไปเสียได้แล้ว เราก็จะประสบกับสิ่งที่เรียกว่า นิพพาน

สภาวะสุขที่ยังเป็นเวทนาหรือสุขที่ยังอาศัยการเสวยอารมณ์ ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เพราะสุขเวทนาก็เช่นเดียวกับเวทนาอื่นๆ (คือ ทุกข์ และอทุกขมสุข) ล้วนเป็นสังขารธรรม (หมายถึง สังขารในความหมายของสังขตธรรม ไม่ใช่สังขารในขันธ์ 5) จึงย่อมเป็นทุกข์ทั้งสิ้น (หมายถึง ทุกข์ในไตรลักษณะ) (พระธรรมปิฎก, 2543: 548) ดังนั้นลักษณะที่เรียกว่า เป็นความสุขอย่างแท้จริงในทางพุทธศาสนา คือ การทำ ให้กิเลส และความทุกข์ เช่น โลภะ โทสะ โมหะ อวิชชา ตัณหา นั้นสูญสิ้นไปโดยเด็ดขาด เพราะถูกถอนทิ้งด้วยปัญญา เมื่อสามารถดับสิ่งเหล่านี้แล้วก็จะเกิด คุณลักษณะที่ดีเด่นอันนอกเหนือไปจากความสุข คือ นิพพาน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายในการดำเนินชีวิตตามหลักพุทธศาสนาที่มนุษย์สามารถประจักษ์แจ้งได้ในชีวิตปัจจุบัน ท่านพุทธทาส ให้แนวคิดว่า ความสุขนั้นเป็นของสมมติ และแสดงความสัมพันธ์ของนิพพานกับความสุข กล่าวได้ว่า ที่สุดของความทุกข์ คือ ความสุข ซึ่งเป็นการพูดเปรียบเทียบสภาวะที่ความทุกข์สิ้นสุดลง เป็นการใช้ภาษาเปรียบเทียบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อปุถุชนว่า มีสิ่งที่เรียกว่า ความสุขกับความทุกข์ ดังปรากฏเป็นสำนวนต่างๆ

เมื่อครั้ง พระพุทธเจ้าตรัสแสดงธรรมกับชาวโลก เพื่อให้ง่ายแก่การฟัง เช่น นิพานํ ปรมํ สุขํ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง หากแต่ในโลกุตตรโวหาร เช่น ในการตรัสถึง อริยสัจ หรือ ปฏิจจสมุปบาท จะไม่มีปรากฏคำ ว่า ความสุข เลย.แต่เพราะความสุข นั้นเป็นคำ ที่มีอิทธิพลต่อจิตใจของสัตว์มากกว่าคำว่า ความทุกข์ จึงใช้ในการพูดกับชาวโลกเพื่อก่อให้เกิดการปฏิบัติธรรม เพราะสัตว์นั้นๆ ไม่เคยนึกว่า ตนมีทุกข์เป็นพื้นฐาน เปรียบเทียบกับความรู้สึกถึงความไพเราะของดนตรี และความงามของศิลปะต่างๆ นั้น ไม่มีความต้องการในจิตใจของคนธรรมดาที่ยังไม่มีแผลของความอยาก อันเกิดจากการไปลงทุนศึกษาว่า ดนตรีหรือศิลปะนั้น ๆ มีความไพเราะ และความงามอย่างไร ชาวไร่ชาวนาที่ไร้แผลอันนี้ ถูกหาว่าไม่เจริญ ซึ่งที่จริงนั้นเขาเป็นเพียงผู้ที่ไม่ต้องรักษาแผลที่เขาจะเฉือนมันขึ้นมาเอง.ความสุขจึงเป็นเพียงของสมมติขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังเป็นการสมมติผิดที่ที่ควรสมมติอีกด้วย เช่น ความสุขที่เกิดจากการได้อะไรสมปรารถนา แทนที่จะกล่าวว่า การได้สมปรารถนาเป็นความสุข กลับไปกล่าวว่า วัตถุที่ได้นั้นเป็นความสุข เช่นเดียวกับคำว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นั่นเพราะ สภาวะนิพพานนั้นอยู่เหนือการเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จึงเป็นการสมมติสภาพความรู้สึกขณะที่จิตประสบกับนิพพานโดยที่ตัวความสุขนั้นหาใช่ตัวนิพพานไม่. (พุทธทาส, 2537 : 151-161)

ทัศนะต่อความสุขของท่านพุทธทาสนั้นจึงเป็นการเน้นยํ้าว่า สภาพของความสุขที่แท้จริงนั้นไม่มี หากจะมีก็แต่ความดับไปของกิเลส ตัณหา ซึ่งเป็นต้นตอของความทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้นสภาพนิพพานจึงสามารถปรากฎในทุกขณะที่เราดับตัณหาของตนได้ เพราะนิพพาน คือ การละกิเลส ตัณหา ดังที่พระพุทธเจ้าตรัส ในอุทยมานพปัญหาว่า ตณฺหาย วิปฺปหาเนน นิพฺพานํ อิติ วุจฺจติ (ขุ.สุ. 25/116/590) .เพราะละตัณหาได้ เราเรียกว่า นิพพาน. (ขุ.สุ. 25/1116/712)

การปฏิบัติต่อความสุขของพุทธศาสนา จากทัศนะต่อความสุขตามหลักพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ ทำให้เราทราบว่า พุทธศาสนายอมรับความจริงต่อประเด็นที่ว่า ความสุขเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับปุถุชน ปุถุชนนั้นยังต้องการความสุข เพื่อเป็นหลักประกันในความประพฤติของตนเอง เพื่อเป็นหลักยึดในการปฏิบัติธรรม กล่าวคือ เมื่อปฏิบัติตามแนวทางของพุทธศาสนาแล้วจะได้รับความสุขอย่างแน่นอน แนวทางของศาสนิกชนนั้น คือ การปฏิบัติตามแนวทางของมรรค 8 ดังที่กล่าวมา เป็นระบบความคิด และการกระทำที่มุ่งตรงไปสู่การดับทุกข์อย่างแท้จริง

ในการปฏิบัติตนของพระสงฆ์ในพุทธศาสนาที่ดำเนินตามทางสายกลางอันเป็นข้อปฏิบัติที่นำมาซึ่งความสุข เมื่อเทียบกับพวกนิครนธ์แล้วอาจทำให้รู้สึกว่า การบำเพ็ญสมณธรรมในพุทธศาสนาผ่อนเบาอย่างมาก จนนักบวชในลัทธิอื่นนำมาเป็นข้อติเตียน หากแต่พระพุทธเจ้าเองได้ทรงให้หลักการทั่วไปในการปฏิบัติตนต่อความสุขไว้ 3 หัวข้อ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติไม่หลงใหลติดใจในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความรู้สึกนั้นครอบงำจิตใจ แต่สามารถมีจิตใจที่เป็นอิสระและสามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูงต่อๆ ไป จนบรรลุความหลุดพ้น พุทธศาสนาจึงมีหลักการสำหรับปฏิบัติต่อความสุขดังพุทธพจน์ว่า ภิกษุทั้งหลาย ความพยายามจะมีผล ความเพียรจะมีผล ได้อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ 1. อย่าเอาตัวที่ไม่มีทุกข์ไปรับทุกข์, 2. ไม่สละความสุขที่เกิดขึ้นโดยชอบธรรม และ3. ไม่เป็นผู้หมกมุ่นในความสุขนั้น (.อุ. 14/11/14)

หลักการดังกล่าว เป็นการเตือนผู้ปฏิบัติที่แม้ยังต้องข้องเกี่ยวกับความสุข ไม่ให้ลุ่มหลงในความสุข จนกระทั่งเป็นเหตุก่อให้เกิดความทุกข์ในภายหลัง หากอาศัยความสุขเพียงเพื่อเป็นปัจจัยต่อการพัฒนาตนไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงของพุทธศาสนา คือ พ้นไปจากทั้งความสุข และความทุกข์ จากการจำแนกประเภทของความสุขไว้ข้างต้นนั้นทำให้ทราบว่า มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองให้ประสบกับความสุขในระดับที่ประณีตขึ้นได้ อีกทั้งตัวกามสุขเองนั้นก็มีส่วนเสียอยู่มาก และปุถุชนคนธรรมดามักจะฝักใฝ่กามสุขกันตามปกติ พุทธศาสนาจึงไม่ได้เน้นหรือสนับสนุนให้มุ่งหากามสุข และไม่ให้เอากามสุข เป็นจุดหมายของชีวิต ตามหลักที่แท้จริงการทำบุญหรือทำความดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำทาน ถือศีล ปฏิบัติภาวนา พุทธศาสนามิได้มีจุดมุ่งหมายให้หาผลตอบแทนเป็นกามสุข เช่น ให้เกิดโชคลาภ ยศ เกียรติ อำนาจ บริวารหรือการไปเกิดในสวรรค์ หากแต่พุทธศาสนาสนับสนุนให้ทำเพื่อลดกิเลส ทำลายตัวตัณหา ซึ่งเป็นเชื้อของความทุกข์ เป็นการเกื้อกูลทั้งแก่ชีวิตส่วนตัว และสังคม อันจะทำ ให้ผู้ทำ ความดีนั้นประสบสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น จนกระทั่งถึงซึ่งนิพพานสุขอันเป็นจุดหมายสุดท้ายของพุทธศาสนา ดังพุทธพจน์แห่งหนึ่งว่า บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่ให้ทาน เพราะเหตุแห่งสุขอันก่อให้เกิดอุปธิ (อุปธิสุข คือ สุขที่เป็นเหตุก่อทุกข์ได้อีก มุ่งเอากามสุขเป็นสำคัญ เพื่อจะมีภพต่อไปอีก) แต่บัณฑิตเหล่านั้นย่อมให้ทานเพื่อหมดสิ้นอุปธิ เพื่อนิพพานอันไม่มีภพต่อไปโดยส่วนเดียว บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่เจริญฌาน เพราะเหตุแห่งสุขอันก่อให้เกิดอุปธิ เพื่อภพต่อไป แต่บัณฑิตเหล่านั้น ย่อมเจริญฌาน เพื่อความหมดสิ้นอุปธิ เพื่อนิพพานอันไม่มีภพต่อไปโดยส่วนเดียวบัณฑิตเหล่านั้น มุ่งนิพพาน มีจิตเอนไปในนิพพาน น้อมจิตไปในนิพพานย่อมให้ทาน บัณฑิตเหล่านั้นย่อมเป็นผู้มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า เหมือนแม่นํ้าทั้งหลายไหลไปสู่ทะเล ฉะนั้น (ขุ.. 29/178/537)

เหตุแห่งความทุกข์ของมนุษย์อยู่ที่การเกิดขึ้นของ ตัณหา โดยที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ทำให้เมื่อเกิดความอยากขึ้น และได้สนองความอยากเหล่านั้นจนสำเร็จแล้วเกิดความรู้สึกที่เรียกว่าความสุข วิธีการดังกล่าวนั้นไม่ได้แก้ไขที่ตัวต้นเหตุของปัญหามนุษย์จึงยังวนเวียนอยู่กับความทุกข์ และกับความสุขแบบชั่วครั้งชั่วคราว อีกทั้งการแสวงหาความสุขแบบสนองตัณหานี้สามารถก่อปัญหาได้ทุกขั้นตอน ไม่เฉพาะในขั้นถูกขัดไม่ได้รับการสนองเท่านั้น แม้ในขั้นแสวงหาสิ่งต่างๆ มาสนองตัณหาก็ดี ในขั้นที่หามาได้ และนำมาสนองตัณหาแล้วก็ดี ปัญหาก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น กล่าวคือ ในขั้นแสวงหาก็อาจใช้วิธีการเบียดเบียน เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เมื่อได้แล้วก็อาจหลงใหลมัวเมารุนแรงยิ่งๆ ขึ้น ทำให้เกิดปัญหาในแง่อื่นๆ ต่อไปอีก

ดังนั้น ปุถุชนชั้นดีจึงต้องใช้สติปัญญานำเอาคุณธรรมเข้ามาควบคุมพฤติกรรมของตน บรรเทาพิษภัยของตัณหาลงบ้าง แต่วิธีคุมที่ช่วยให้ปลอดภัยได้มาก คือ การให้ผู้เสพกามสุขเหล่านี้ มีความสุขฝ่ายนิรามิสเป็นทางออก (นิสสรณะ) อยู่บ้าง ทางออกหรือนิสสรณะนี้จะช่วยให้พฤติกรรมที่สืบเนื่องจากตัณหานั้นประณีตหรืออยู่ในขอบเขตที่ดีงามได้อย่างมาก เพราะสุขฝ่ายที่ไม่ขึ้นต่ออามิสนี้ อยู่ด้านตรงข้ามกับตัณหา ปรากฏตัวขึ้นในเวลาสร่างตัณหา มีอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยตัณหา ใครเข้าหาความสุขชนิดนี้ก็ย่อมพ้นจากพิษภัยที่จะเกิดจากตัณหาของตนไปได้ทันที (พระธรรมปิฎก, 2543: 554) การจะสร้างสภาพจิตให้เกิดความสุขในแบบที่ไม่ต้องอิงอามิสได้นั้นก็ด้วยการรู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น และมีชีวิตอยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งต้องอาศัยการรู้เท่าทันหลักความจริงตามธรรมชาติ เช่น หลักไตรลักษณ์ เป็นต้น

ความสุขในพุทธศาสนา แม้จำแนกออกเป็นลักษณะต่างๆ หลายลักษณะ แต่กล่าวโดยสรุปมี 2 ลักษณะ คือ สามิสสุข และนิรามิสสุข สามิสสุข คือ กามสุข หรือโลกียสุข และนิรามิสสุข คือ โลกุตตระสุข นิรามิสสุข เป็นความสุขที่ไม่ต้องอาศัยการเสพ และการบริโภค หรืออย่างที่ท่านพุทธทาสกล่าวว่า สุขอย่างอนัตตา ซึ่งมาจากการที่นำความสำคัญว่า ตนมีอยู่ เป็นอยู่ออกไปได้ เนื่องจากความสำคัญว่า มีตนอยู่นั้นเป็น อวิชชา คือ รู้ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงว่าแท้ที่จริงแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่เป็นเรา เป็นของเรา ซึ่งลักษณะของความสุขดังกล่าวนี้ ไม่มีในความหมายหรือความเข้าใจในสังคมตะวันตก

---------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. พระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่

16. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

_____ . พระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 25. 2530. กรุงเทพมหานคร:

โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 4. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 10. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 12-16. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 17. 2530.

กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 19-21. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 23. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 25. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

_____. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 29. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 31. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

จำนงค์ ทองประเสริฐ. 2539. ปรัชญาประยุกต์ชุดอินเดีย. กรุงเทพมหานคร: ต้นอ้อแกรมมี่ จำกัด.

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). 2533. พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.

กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระธรรมปิฎก. 2543. พุทธธรรม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

______. 2537.  ชีวิตที่สมบูรณ์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มูลนิธิพุทธธรรม.

พุทธทาสภิกขุ. 2540. ชุมนุมปาฐกถา ชุด พุทธธรรม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.

-----------------------------------------


ความสุขในจริยศาสตร์แบบสุขนิยม

 

 


ความสุขในจริยศาสตร์แบบสุขนิยม

ความสุขนั้น จัดอยู่ในปัญหาทางจริยศาสตร์ของปรัชญาตะวันตกแขนงหนึ่ง เรียกว่า จริยศาสตร์แบบสุขนิยม (Hedonism) ในภาษาอังกฤษ Hedonism มาจากภาษากรีก hedone หมายถึง ความยินดี (delight) ความสำราญ (enjoyment) และความเพลิดเพลิน (pleasure) ผู้ที่มีแนวคิดแบบสุขนิยมจะยึดเอาความสุขทางกายภาพเป็นเป้าหมายของชีวิตหรือการกระทำของมนุษย์ ควรมีเป้าหมายเพื่อความสุขหรืออาจกล่าวถึงความสุขทางด้านจิตใจ แต่ก็ในมิติที่ผิวเผินหากเปรียบเทียบกับคำสอนในพุทธศาสนา

วิวัฒนาการของปรัชญากรีกออกได้เป็น 3 ยุค ดังนี้ (พระราชวรมุนี, 2542: 326) ยุคเริ่มต้น มีนักปรัชญาคนสำคัญ คือ ธาเลส ปัญหาปรัชญาในสมัยนั้น เป็นปัญหาลักษณะธรรมชาตินิยม เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับโลก และธรรมชาติ ดังจะเห็นได้จากคำ ถามที่นักปรัชญาในยุคเริ่มต้นต่างพยายามหาคำ ตอบและคำ อธิบายถึงปฐมธาตุของโลก ส่วนในยุคที่สองเรียกว่า ยุครุ่งเรือง เปลี่ยนประเด็นปัญหาจากอภิปรัชญามาที่ญาณวิทยา และจริยศาสตร์ เนื่องจากนักปรัชญาต่างๆ ได้สร้างระบบปรัชญาที่สมบูรณ์ คือ มีความสนใจต่อปัญหาต่างๆ รอบตัวมากขึ้น และมีวิธีการอธิบายอย่างเป็นเหตุผล ดังจะเห็นได้จากการเกิดองค์ความรู้ที่เป็นระบบ เช่น ตรรกศาสตร์ ดาราศาสตร์ ญาณวิทยา ชีววิทยา สัตววิทยา จนกระทั่งมาถึงกรีกยุคเสื่อม ที่เรียกว่า ยุคเสื่อม นั้นเป็นเพราะความก้าวหน้าทางวิทยาการทำให้มนุษย์สามารถหาคำตอบต่อสิ่งที่ตนเคยสงสัยได้แล้ว อีกทั้งในสมัยที่อภิปรัชญา และญาณวิทยาได้มาถึงจุดตัน ดังนั้น แต่ละวิชาจึงแยกออกไปเป็นศาสตร์ของตนเอง คงเหลือเพียงจริยศาสตร์ และศาสนศาสตร์ที่รวมอยู่ในขอบข่ายการศึกษาของปรัชญาท่าทีของจริยศาสตร์แนวสุขนิยมนั้นมีให้เห็นตั้งแต่สมัยกรีกยุครุ่งเรือง เช่น ในสำนัก ไซเรเนอิก ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 สำนักปรัชญาของสานุศิษย์ของโสเครตีส ก็ได้ให้การสนับสนุนแนวคิดสุขนิยม โดยมีความเห็นว่า จุดมุ่งหมายอย่างเดียวของชีวิต คือ ความสุข และความสุขเป็นแรงจูงใจให้คนมีคุณธรรม เนื่องจากคนที่ประพฤติตนมีคุณธรรมก็เพราะมุ่งหมายความสุขเป็นเครื่องตอบแทน (วศิน, 2544:102) รวมทั้งนักปรัชญาชื่อ เดโมเครตุส ได้กล่าวถึง ความสุข อันเป็นอุดมคติของชีวิตว่า เป็นความสุขทางใจ ไม่ใช่ความสุขทางเนื้อหนัง เพราะความสุขประเภทหลังนั้นเกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยามมิหนำซํ้ายังมาพร้อมกับความทุกข์ ดังนั้นความสุขที่แท้จริง คือ การเดินสายกลาง มีความรู้จักประมาณในการแสวงหาความสุข โดยไม่พาตัวเองไปพัวพันกับหลายสิ่งหลายอย่าง และไม่ทำในสิ่งที่อยู่เหนือความสามารถของตนเอง (Magill, 1963: 42)

ยุครุ่งเรืองจริยศาสตร์แนวสุขนิยมปรากฎในแนวคิดของกลุ่มโซฟิสต์ พวกโซฟิสต์ มีความเห็นว่า สิ่งใดจะเป็นสิ่งที่ดี ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นก่อให้เกิดความพอใจแก่เรา สิ่งที่เรียกว่า ความดีในตัวเองนั้น ไม่มีจริง ความดีขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน ใครชอบอะไรสิ่งนั้นก็เป็นสิ่งดีสำหรับผู้นั้น ในขณะที่อริสโตเติล ได้เสนอทัศนะทางจริยศาสตร์ในลักษณะที่คัดค้านแนวคิดของโซฟิสต์ ดังที่ปรากฎในงานเขียนชื่อ จริยศาสตร์นิโคมาคุส (Nicomachean Ethics) โดยกล่าวว่า พฤติกรรมทุกอย่างของมนุษย์มีจุดหมายสูงสุดเดียว นั่น คือ ความดี มนุษย์แสวงหาความดี ก็เท่ากับมนุษย์แสวงหาความสุข (พระราชวรมุนี, 2542: 250)

ทรรศนะของ อริสโตเติล ความสำราญ ความมั่งคั่ง และเกียรติยศ ยังไม่ใช่ความสุข เนื่องจากสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจว่า เป็นความสุขดังข้างต้นนั้น ไม่มีความมั่นคงถาวร ยังต้องพึ่งพิงสิ่งอื่นเพื่อให้เกิดความสุข อริสโตเติลจึงกล่าวว่า คนที่มีความสุข คือ คนที่ดำเนินชีวิตด้วยคุณธรรมที่สมบูรณ์ (พระราชวรมุนี, 2542: 251)

อย่างไรก็ดีนักปรัชญาที่นับว่า เป็นต้นกำเนิดของแนวคิดสุขนิยมจริงๆ คือ สำนักอิปิคิวเรียน นำโดยอิปิคิวรัส ซึ่งได้นำเสนอมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้ความสุขมาเป็นตัวตัดสิน แนวคิดของอิปิคิวรัส ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์รวมถึงการตีความต่อเกณฑ์ทางจริยธรรมซึ่งมีลักษณะที่เรียกว่า สุขนิยมนั้นกันไปต่างๆ ทั้งนี้เนื่องมาจากแนวคิดที่โดดเด่นของนักคิดผู้นี้ คือ กล้าที่จะยอมรับสภาพความเป็นจริงของมนุษย์ ปุถุชนที่ยังมีความรักสุข เกลียดทุกข์ ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดทางจริยศาสตร์ของนักปรัชญาที่ผ่านมาอันมีลักษณะที่เป็นอุดมคติจริยศาสตร์แบบสุขนิยม ได้วิวัฒนาการเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยเฉพาะนักปรัชญาตะวันตกหลังยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ กล่าวได้ว่า เป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดแบบสุขนิยมปัจจุบัน เช่น ฮอบส์ เบ็นธัม และมิลล์ เป็นต้น โดยสรุปแล้ว นักปรัชญาสสารนิยม ธรรมชาตินิยม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ล้วนสนับสนุนจริยศาสตร์แบบสุขนิยมทั้งสิ้น

การกล่าวถึงจริยศาสตร์แนวสุขนิยมเราจะได้ยินชื่อเรียก สุขนิยม แบ่งออกเป็น 2 แบบ ซึ่งเป็นการเรียกชื่อตามวัตถุประสงค์ของความสุข ได้แก่ สุขนิยมทางจิตวิทยา และสุขนิยมทางจริยศาสตร์

แบบแรกสุขนิยมทางจิตวิทยา นักคิดกลุ่มนี้เห็นว่า การกระทำทุกอย่างของมนุษย์เกิดจากแรงจูงใจที่มนุษย์ต้องการได้รับความสุข การที่เราศึกษาเล่าเรียน ประกอบการงาน ได้ค่าตอบแทนมาก็เพื่อนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยให้ชีวิตเป็นสุข ไม่ต้องอดมื้อ กินมื้อ หรือเผชิญกับความขาดแคลน และโรคภัยไข้เจ็บ เหล่านี้เป็นการยืนยันว่า การแสวงหาสิ่งต่างๆ การตัดสินใจกระทำการต่างๆ ของมนุษย์ล้วนมาจากการที่มนุษย์ปรารถนาความสุขนั่น คือ เป็นการกล่าวจากข้อเท็จจริงของมนุษย์ที่เกี่ยวกับแรงจูงใจ รวมถึงธรรมชาติ ความต้องการของมนุษย์

แบบสองสุขนิยมทางจริยศาสตร์ ขณะที่นักคิดในกลุ่มสุขนิยมทางจริยศาสตร์นั้น มีวิธีการอธิบายถึงความสุข ในลักษณะที่เป็นอุดมคติของชีวิตว่า ความสุข เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่น่าพึงปรารถนา ตรงข้ามกับความทุกข์ อันเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง สุขนิยมทางจริยศาสตร์ จึงเป็นการให้ค่ากับความสุขว่า ความสุขมีคุณค่าควรแก่การแสวงหาของมนุษย์สุขนิยมแบบต่างๆ

กลุ่มนักจริยศาสตร์ที่ใช้ความสุขเป็นเกณฑ์การตัดสินความถูกต้องในการกระทำนั้นได้อธิบายแนวคิดทางสุขนิยมของตน โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกัน บ้างมุ่งเอาแต่ความสุขของตนเองเป็นที่ตั้ง โดยให้เหตุผลว่าที่เราทำอะไรเพื่อผู้อื่น สุดท้ายก็เพราะเรารู้สึกมีความสุขที่จะทำเช่นนั้น เช่น กลุ่มอัตนิยม บ้างก็ใช้จำนวนของผู้ที่ได้รับความสุขมาเป็นเกณฑ์ ที่เรียกว่า กลุ่มประโยชน์นิยม ส่วนบางคนก็ให้ความสำคัญกับคุณภาพของความสุข เช่น เห็นว่าความสุขอันเกิดการใช้ปัญญานั้น สูงส่งกว่าความสุขแบบการสนองตัณหา และสุขนิยมในแบบที่เป็นผลจากวิวัฒนาการทางศีลธรรมของมนุษย์ ทั้งหมดนี้สามารถจัดอยู่ใน 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มสุขนิยมแบบอัตนิยม, กลุ่มสุขนิยมแบบประโยชน์นิยม และกลุ่มสุขนิยมแบบวิวัฒนาการ

กลุ่มสุขนิยมแบบอัตนิยม เป็นกลุ่มที่เห็นว่า การแสวงหาความสุขให้กับตัวเองนั้นสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดหรือการกระทำใดๆ ก็ตามที่เราคิดว่าเรากระทำ ไปเพื่อผู้อื่นเป็นสุข แท้ที่จริงแล้วต้องเป็นสิ่งที่เราก็กำลังได้รับความสุขด้วย สุขนิยมกลุ่มนี้นั้นมี ฮอบส์ และอิปิคิวรัส เป็นนักคิดคนสำคัญ

สุขนิยมของโธมัส  ฮอบส์ (1588-1679) ฮอบส์ ได้กล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์นั้นมีความปรารถนาที่จะปกป้องตนเองให้อยู่รอด (self-preservation)หรือหลีกเลี่ยงจากสภาพที่เจ็บปวด มนุษย์จะทำ ทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองสามารถอยู่รอดได้หากแต่ความเชื่อของมนุษย์ที่ว่า แต่ละคนมีความเท่าเทียมกันที่จะแสวงหาความอยู่รอดเพื่อตนเอง ดังที่ ฮอบส์ ได้แสดงทัศนะไว้ในหนังสือ Leviathan จากความเสมอภาคในความสามารถของมนุษย์ทำให้มนุษย์เกิดความเสมอภาคของความหวังที่จะได้จุดหมายของตน ด้วยเหตุนี้ถ้ามนุษย์สองคนปรารถนาในสิ่งเดียวกัน โดยที่เขาทั้งสองไม่อาจจะแบ่งปันกันได้ ที่สุดแล้วเขาก็จะกลายเป็นศัตรูกัน เพื่อที่ตนเองจะได้รับความอยู่รอด และบางครั้งก็เพื่อความสุขเพียงอย่างเดียว (Hobbes, 1996: 87)

จากแนวคิดดังกล่าวทำ ให้เห็นว่า เมื่อมนุษย์ตกอยู่ในสภาวะคับขันหรือสภาวะที่ขัดสนมนุษย์จำ ต้องรักษาความต้องการของตนไว้เป็นอันดับแรก และจำเป็นต้องเป็นศัตรูกันกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อความสุขของตนเอง ด้านทัศนะต่อความสุขนั้น ฮอบส์ เห็นว่า ความปรารถนาที่จะมีชีวิตรอดก็คือ ความปรารถนาความสุข เนื่องจากสภาวะที่ชีวิตมีความสุขนั้น เป็นสภาวะที่เอื้อต่อการมีชีวิตรอดของตนแต่จากธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความเห็นแก่ตัว มนุษย์จึงอยากให้ผู้อื่นตํ่ากว่าตนเอง เพื่อที่ตนเองจะได้มีอำนาจเหนือกว่าผู้อื่น ซึ่งการมีอำนาจเหนือกว่าผู้อื่นนั้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงสิ่งที่ตนปรารถนา เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมมนุษย์ก็ไม่สามารถพบความสุขได้ ฮอบบ์ เห็นว่า อำนาจทางการเมืองซึ่งคนในสังคมยอมรับร่วมกันจะเป็นสิ่งที่ควบคุมมนุษย์ในสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขสิ่งที่ไม่ควรกระทำหรือเป็นข้อห้ามในสังคมนั้น เช่น การกล่าวเท็จ การทุจริต และอาชญากรรมต่างๆ ที่ถูกห้ามนั้นมิใช่เพราะสิ่งเหล่านี้มีความผิดในตัวเอง แต่ที่ผิดเป็นเพราะถ้าทุกคนในสังคมสามารถ กล่าวเท็จ ทำทุจริต และกระทำ อาชญากรรมต่างๆ ได้ ก็จะเป็นการขัดขวางความสุขของตนเอง และของผู้ที่อยู่ในสังคม หากแต่ในสัตว์อื่นๆ สัญชาตญาณนี้ปรากฏตัวออกมาอย่างโจ่งแจ้ง แต่ในมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ชั้นสูง มีความคิด สติปัญญาละเอียดอ่อน การปรากฏตัวของสัญชาตญาณเพื่อตนนี้จึงสลับซับซ้อนมองเห็นไม่ได้ง่ายๆ เหมือนในสัตว์ (วิทย์, 2526: 17) ประกอบกับการอธิบายพฤติกรรมมนุษย์โดยผ่านคำอธิบายจากทฤษฎีวิวัฒนาการ ก็จะยิ่งเป็นการสนับสนุนแนวของฮอบส์ ดูได้จากการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ตัวที่อ่อนแอก็จะสูญหายไปเหลือไว้แต่ผู้ที่ชนะ ทุกชีวิตทุกเผ่าพันธุ์ต่างก็ต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองจากภัยคุกคามทั้งจากสิ่งมีชีวิตด้วยกันหรือจากภัยธรรมชาติ ดังนั้น สำหรับ ฮอบส์ คุณธรรมทั้งหลาย ก็มาจากความเห็นแก่ตัว การทำประโยชน์เพื่อให้ผู้อื่นมีความสุข แท้จริงแล้วเป็นเพียงการลงทุน เพื่อความสุขของตนเองต่อไป

อาจกล่าวได้ว่า ฮอบส์ไม่ได้บอกว่าความสุขเกิดจากความเห็นแก่ตัว แต่เขายํ้าให้เห็นว่า กฎของรัฐจะสามารถครอบงำ ความเห็นแก่ตัวของคนไว้ได้ คือ ทำให้คนเห็นแก่ตัวได้ไม่ถนัดใจเพราะมีกฎของรัฐคอยกีดขวางอยู่ กฎของรัฐทำให้แต่ละคนดำเนินตามระเบียบของสังคมเท่าที่จะเป็นได้รวมความแล้ว ฮอบส์ ถือว่า ความสุขส่วนบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ มาตรฐานทางศีลธรรม (วศิน, 2544: 110)

สุขนิยมของอิปิคิวรัส (341-271 BC.) ทัศนะของอิปิคิวรัส จริยศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่แสวงหากฎเกณฑ์ทางศีลธรรม แต่เป็นวิชาที่สร้างความสุขมากที่สุดให้กับชีวิต จึงทำให้แนวคิดจริยศาสตร์ของเขาจัดอยู่ในประเภทสุขนิยม จากคำกล่าวที่ว่า ความเพลิดเพลินใจเป็นจุดเริ่มต้น และจุดหมายของการดำรงชีวิตที่มีความสุข เนื่องจากความพึงพอใจเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกทุกทาง รวมถึงเพราะเราตระหนักว่า ความสำราญนี้เป็นความดีอันดับหนึ่งที่ติดตัวเรามา และเราจะเลือกทำหรือไม่ทำอะไรด้วยอาศัยความเพลิดเพลินใจมาเป็นเกณฑ์ (Hicks, 1970: 655) แต่ความสุขในทัศนะของอิปิคิวรัสนั้น มิได้มีลักษณะที่ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น เพราะถ้าเป็นความสุขที่แท้จริงนั้นจะมีสภาพที่ปราศจากความทุกข์ อิปิคิวรัส เน้นที่การมีความสุขทางกาย และใจควบคูกั่นไป อีกทั้งไม่ส่งเสริมให้มนุษย์แสวงหาความสุขอย่างสุดโต่ง แต่เน้นให้มนุษย์รู้จักการควบคุมความต้องการของตนเองโดยใช้หลักคุณธรรมมาควบคุมพฤติกรรมให้ไปสู่ความสุขที่ชอบธรรมอันเป็นความสุขในแบบอิปิคิวรัสสนับสนุนให้มนุษย์แสวงหา อิปิคิวรัส กล่าวว่า

ดังนั้น เมื่อเรากล่าวว่า ความสุขเป็นความดีสูงสุด เราไม่ได้หมายถึงความสุขของคนเสเพลหรือคนเจ้าสำราญ ผู้ทรามปัญญา และไม่ยอมรับทัศนะของเราหรือตีความทัศนะของเราผิดพลาดคลาดเคลื่อน แต่ ความสุขในทัศนะของเรา คือ การที่ร่างกายปราศจากความเจ็บปวด และจิตใจปราศจากความสับสน การดื่มสุรา และงานเลี้ยงที่ไม่เลิกรานั้น ไม่ทำให้ชีวิตมีความสุข การพินิจไตร่ตรองด้วยสติสัมปชัญญะโดยใช้เหตุผลตรวจสอบว่า อะไรควร อะไรไม่ควรต่างหากที่ทำให้ชีวิตมีความสุข (พระราชวรมุนี, 2542: 283)

เห็นได้ว่า สุขนิยมตามทัศนะของอิปิคิวรัส ไม่ใช่เป็นความสุขที่มุ่งแสวงหาความเพลิดเพลินทางกายอย่างขาดสติดังที่คนทั่วไปมีความเข้าใจต่อพวกสุขนิยมว่า เป็นพวกที่มุ่งแสวงหาแต่ความสนุกสนาน เพลิดเพลินทางวัตถุหรือทางร่างกาย เฉกเช่นพวกกามสุขนิยม (Sensual Hedonism) การที่อิปิคิวรัสถูกเรียกว่าเป็นพวกสุขนิยมนั้น มาจากที่เขาใช้ ความสุข มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินความดี กล่าวคือ การกระทำใดที่นำความสุขมาให้นั้น เรียกว่า เป็นการกระทำที่ดีหากแต่ อิปิคิวรัสยังบอกให้มนุษย์ควบคุมกิเลส ตัณหา และรู้จักแสวงหาความสุขอย่างรอบคอบอีกด้วย

สุขนิยมแบบประโยชน์นิยมของ เบ็นธัม เจเรอมี เบ็นธัม (1748-1832) เป็นนักประโยชน์นิยมเชิงปริมาณ เนื่องจากเขาไม่ยอมรับในความแตกต่างทางคุณภาพของความสุข เขาจัดให้สิ่งหนึ่งเรียกว่า ความสุข เนื่องจากสิ่งนั้นไม่เจือด้วยความทุกข์ หลักการทั่วไปของประโยชน์นิยม คือ ยอมรับการกระทำที่เพิ่มความสุข และปฏิเสธการกระทำทุกอย่างที่จะนำความทุกข์มาให้

เบ็นธัม เห็นว่า เรื่องของคุณภาพเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย ตราบใดที่การกระทำนั้นยังให้ความสุข และความพึงพอใจเท่าๆ กัน ดังที่ เบ็นธัม กล่าวไว้ว่า ความสุขอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเหมือนกันเมื่อมันเท่ากันในเชิงปริมาณ (Stumpf, 1983: 340)

ดังนั้น ความสุขแต่ชนิดจึงมีค่าเท่าเทียมกันตรงที่เป็นสิ่งที่ไม่เจือด้วยความทุกข์ หลักเกณฑ์ในการคำนวณความสุขหรือความทุกข์นั้น เบนธัม กล่าวว่า สำหรับบุคคลนั้นสามารถพิจารณาได้ด้วยตัวเอง ส่วนคุณค่าของความพึงพอใจ และความทุกข์นั้น พิจารณาได้ด้วยตัวการกระทำนั้น ซึ่งจะได้รับความสุขหรือความทุกข์มาก-น้อยขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ประการ ดังต่อไปนี้ (Bentham, 1973: 29-30) ความเข้มข้น (Intensity), ระยะเวลา (Duration), ความแน่นอนและไม่แน่นอน (Certainty or Uncertainty) และความใกล้ไกล (Propinquity or Remoteness)

ข้อ 1 ถึง 4 เป็นปัจจัยในการคำนวณ เพื่อจะประเมินความสุข ความทุกข์ในตัวมันเอง หากแต่ คุณค่าของความสุข ความทุกข์ เพื่อที่จะประเมินค่าว่า การกระทำหนึ่งจะก่อให้เกิดความสุข ความทุกข์อย่างไรต่อไป ยังต้องดูปัจจัยร่วมอีก 3 ประการ คือ ผลิตผลต่อเนื่อง (Fecundity) หรือ โอกาสที่ตามมาของสิ่งๆ เดียวกัน ทั้งความสุข และความทุกข์, ความบริสุทธิ์ (Purity) หรือโอกาสที่จะไม่เกิดขึ้นของสิ่งที่ตรงข้ามกัน เช่น ความสุขที่บริสุทธิ์ต้องไม่มีความทุกข์มาเจือปน และการแผ่ขยาย (Extent)หรือจำนวนคนที่จะได้รับผลเป็นความสุขหรือความทุกข์

หลักทั้ง 7 ประการนี้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณความสุขของ เบ็นธัม ซึ่งเบ็นธัม นำมาแก้ปัญหาการคำนวณปริมาณของความสุข คือ สามารถให้หลักการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ได้ ทำให้ลดความลังเลหรือความสับสนว่า ควรเลือกกระทำในสิ่งที่ให้ความสุขปริมาณมากกว่า เมื่อเทียบกับอีกการกระทำหนึ่งนอกจากนี้ เบ็นธัม ได้พยายามประนีประนอมระหว่างสุขนิยมทางจิตวิทยา และสุขนิยม ทางจริยศาสตร์ เห็นได้จากคำอธิบายถึงธรรมชาติของมนุษย์ไว้ว่า ธรรมชาติได้สร้างให้มนุษย์อยู่ภายใต้การควบคุมของ 2 สิ่งนั่น คือ ความสุข และความทุกข์นั่นเองเป็นตัวชี้ว่า อะไรที่เราต้องทำ และเราควรทำอะไร (Bentham, 1973: 1) ประโยคแรกพูดถึงข้อเท็จจริงของความสุข และความทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์เท่ากับเป็นการกล่าวสนับสนุนสุขนิยมทางจิตวิทยา และประโยคที่ 2 สนับสนุนสุขนิยมทางจริยศาสตร์เพราะเห็นว่า มนุษย์ควรแสวงหาความสุข

สุขนิยมของเบ็นธัมจัดอยู่ในกลุ่มประโยชน์นิยม เนื่องจาก เบ็นธัม ให้คำอธิบายว่า มนุษย์ควรทำ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ของตนเอง แม้ว่า มนุษย์จะมีธรรมชาติที่เห็นแก่ตัวก็ตาม หากแต่การที่มนุษย์สามารถเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวมได้ก็ เพราะมาตรการทางศีลธรรม (moral sanction) ซึ่งเป็น 1 ในมาตรการทั้ง 4 ประการ ได้แก่ (Bentham, 1973 : 24) มาตรการทางกายภาพหรือทางธรรมชาติ (Physical Sanction), มาตรการทางการเมือง (Political Sanction), มาตรการทางศีลธรรม (Moral Sanction) และมาตรการทางศาสนาหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ ( Religious Sanction)

มาตรการทางกายภาพรวมถึงกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ เช่น เมื่อเรารับประทานอาหารมากหรือน้อยเกินไปผลก็คือ การเจ็บป่วย การลงโทษดังกล่าวเป็นกฎของสุขภาพ มาตรการทางการเมือง เช่น คนที่ปฏิบัติตนตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมาย ย่อมอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ความกลัวต่อการลงโทษจากรัฐ ทำให้คนปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐ มาตรการทางศีลธรรมทำ ให้คนกำจัดความเห็นแก่ตัวของตนลงไปได้เนื่องจากกลัวการไม่ยอมรับจากคนในสังคมด้วยกัน มาตรการทางศาสนา เป็นการให้รางวัลจากสวรรค์แก่ผู้ที่ทำดี และการลงโทษจากนรกแก่ผู้ที่ทำชั่ว และจากมาตรการดังกล่าวจึงทำให้มนุษย์เปลี่ยนจากคนเห็นแก่ตัวมาเป็นผู้ที่ทำประโยชน์แก่สังคม ซึ่งแท้จริงแล้วทั้งการทำประโยชน์เพื่อตนเอง และการทำประโยชน์เพื่อสังคมก็ต่างเป็นการเติมเต็มให้แก่กัน

สุขนิยมแบบประโยชน์นิยมของมิลล์ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (1806-1873) ได้รับการขนานนามว่า เป็นนักคิดฝ่ายสุขนิยมแบบประโยชน์นิยม เนื่องจากเกณฑ์การตัดสิน ดี ชั่ว ถูก ผิด ของเขา กล่าวคือ มิลล์ เห็นว่า การกระทำที่ถูกต้องนั้นเป็นเพราะทำแล้วก่อให้เกิดความสุขแก่คนจำนวนมากที่สุด ส่วนการระทำที่ผิดก็เพราะทำแล้วไม่ก่อให้เกิดความสุข ดังที่ มิลล์ ได้กล่าวไว้ใน Utilitarianism ผลงานชิ้นสำคัญของเขาว่า ความสุขเป็นสิ่งเดียวที่มนุษย์ปรารถนา ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นเพียงวิธีการเพื่อไปให้ถึงความปรารถนา (Mill, 1970: 257)

การตัดสินการกระทำที่ดีในแนวคิดของ มิลล์ นั้นจึงไม่ได้ดูที่ตัวการกระทำ หากแต่ดูที่ผลอันเกิดจากการกระทำนั้น การจะตัดสินว่า การกระทำใด ดี ชั่ว ถูก ผิด ขึ้นอยู่กับว่า การกระทำนั้นได้ก่อให้เกิดประโยชน์แค่ไหน หลักการของประโยชน์นิยมอยู่ที่การได้รับความสุขมากที่สุดกับคนจำนวนมากที่สุด ซึ่งเป็นการให้ค่ากับผลของการกระทำมากกว่าเรื่องของเจตนาหรือแรงจูงใจ

ดังที่ มิลล์ ได้ชี้แจงว่า ความสุขที่เราควรแสวงหานั้นไม่ใช่เป็นความสุขแก่ตัวเองเท่านั้น แต่ต้องเป็นความสุขแก่คนหมู่มากด้วย มีความจำเป็นที่ต้องเข้าใจในแนวคิดของประโยชน์หรือความสุข ทั้ง 2 อย่างเป็นหลักในการพิจารณาพฤติกรรมของมนุษย์ มาตรฐานของประโยชน์นิยมมิได้อยู่ที่ความสุขจำนวนมากที่สุดของผู้กระทำ แต่เป็นความสุขมากที่สุดของคนทั้งหมด เราอาจจะสังสัยได้ว่า ผู้ที่มีบุคลิกแบบสูงส่งนั้นจะรู้สึกสูงส่งไปกับการกระทำของตัวเองหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ เราได้ทำให้ผู้อื่นมีความสุขขึ้น และโลกก็จะได้รับความสุขมากขึ้น ดังนั้น ลัทธิประโยชน์นิยมจะไปถึงเป้าหมายได้ก็โดยการปลูกฝังบุคลิกแบบผู้สูงส่ง ซึ่งแต่ละคนก็จะได้รับประโยชน์จากเขาเหล่านั้น (Mill, 1970: 262)

ผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ของคนหมู่มากนั่น คือ ผู้ที่สูงส่งในทรรศนะของมิลล์ ซึ่งเป็นบุคลิกภาพที่ มิลล์ ปรารถนาให้เกิดขึ้นกับคนในสังคม เพื่อส่งผลเป็นประโยชน์สุขร่วมกัน สุขนิยมแบบประโยชน์นิยมจึงไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง เหมือนกับอัตนิยมที่ยกให้ความสุขของตัวเอง เป็นความสำคัญอันดับแรก ประโยชน์นิยมให้นับตัวเองเป็นสมาชิกหนึ่งเท่ากับสมาชิกอื่นๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากการกระทำ ของเรา (วิทย์, 2526 : 92)

ส่วนที่เรียกสุขนิยมในทัศนะของมิลล์ว่า เป็นแบบละเอียดซึ่งแตกต่างจากเบนธัมนั้นเป็นเพราะมิลล์เห็นว่า ความสุขมีความแตกต่างกันทางคุณภาพด้วย การที่ มิลล์ เสนอประเด็นนี้ก็เพื่อเป็นการแก้ต่างให้กับผู้ที่โจมตีแนวคิดสุขนิยมว่า หากความสุขไม่มีคุณภาพที่แตกต่างกันแล้ว ความสุขของสุกรกับความสุขของคนก็น่าจะดีเหมือนกัน มิลล์ กล่าวว่า ความพอใจแบบสัตว์ไม่อาจสนองความสุขของมนุษย์ได้ มนุษย์มีสมรรถนะที่มีระดับสูงกว่าความอยากของสัตว์ และเมื่อได้รู้จักใช้สมรรถนะเหล่านี้ครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะไม่ถือว่า สิ่งใดเป็นความสุข นอกจากสิ่งนั้นจะสนองความพอใจของสมรรถนะเหล่านี้ (Mill ,1970: 252)

คำว่า สมรรถนะ (faculty) ที่มิลล์ ใช้ในที่นี้หมายความถึง ความสามารถบางอย่างในตัวมนุษย์ที่ทำ ให้มนุษย์ได้รู้จักความสุขอะไรได้บางอย่างที่สัตว์รู้จักไม่ได้ เพราะสัตว์ไม่มีสมรรถนะอย่างเดียวกันกับที่มนุษย์มี (วิทย์, 2526: 38)

การที่คนเรารู้จักความสุขบางอย่างที่สัตว์มีไม่ได้ บางทีอาจนำความทุกข์ ความกังวลมาสู่มนุษย์ แต่มนุษย์ก็ไม่คิดว่าตนต้องการไปมีความสุขแบบสัตว์ ดังที่ มิลล์ กล่าวว่า คงมีคนไม่กี่คนที่จะยอมลดตัวลงมีชีวิตแบบสัตว์เดรัจฉาน แม้จะได้รับคำมั่นสัญญาว่า จะได้มีชีวิตที่รื่นรมย์เต็มอิ่มแบบเดียวกับสัตว์ ไม่มีคนฉลาดคนใดที่จะยอมกลายเป็นคนโง่ ไม่มีบัณฑิตใดที่จะยอมกลายเป็นคนเขลา ไม่มีคนที่มีมโนธรรม และจิตสำนึกคนใดที่จะยอมกลายเป็นคนสถุล และเห็นแก่ตัว แม้เขาจะยอมรับว่า คนโง่ คนเขลา และคนพาลมีความพอใจในชีวิตมากกว่าตน (Mill, 1970: 259-260)

แม้ว่า มิลล์ จะได้ให้ความเห็นว่า ความสุขเป็นจุดมุ่งหมายประการเดียวแห่งการกระทำต่างๆ หากแต่ มิลล์ ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกับเบ็นธัมในเรื่องการวัดคุณภาพของความสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่ เบ็นธัมไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะเบ็นธัมได้นิยามความสุขไว้ในความหมายกว้างๆ นั่น คือ ความรู้สึกที่ไม่เจือด้วยความทุกข์ ดังนั้น สิ่งใดที่กระทำแล้วก่อให้เกิดความสุขก็ถือว่า เป็นสิ่งที่ควรกระทำ ในสายตาของเบ็นธัม ในขณะที่ มิลล์ เน้นถึงความแตกต่างในคุณภาพของความสุขโดยที่มิลล์ได้แสดงทรรศนะในเรื่อง ความรู้สึกในศักดิ์ศรี (Sense of dignity) ดังที่เขากล่าวว่า เป็นมนุษย์ที่กระวนกระวายดีกว่าเป็นสุกรที่อิ่มเอม เป็นโสกราตีส ที่ทุรนทุรายดีกว่า เป็นคนโง่ที่สุขสำราญ (Mill, 1970: 260)

มิลล์ เห็นว่า ความสุขบางอย่างน่าปรารถนา และมีคุณค่ากว่าความสุขบางอย่าง และไม่เป็นการถูกต้องนักที่จะตีค่าว่า ความสุขที่มาจาการกระทำต่างๆ กันจะมีค่าเสมอกันทรรศนะต่อความสุขของ มิลล์ จึงคล้ายคลึงกับอิปิคิวรัส ที่เน้นว่า ความสุขทางใจนั้นยิ่งใหญ่ และสูงส่งกว่าความสุขทางกายจึงอาจเรียก สุขนิยมในทรรศนะของมิลล์ว่า เป็นสุขนิยมแบบละเอียด คือ ประเมินค่าความแตกต่างของความสุขทั้งทางด้านคุณภาพและความรู้สึก ในขณะที่เบนธัมมองว่า ความสุขทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นชนิดใดโดยสาระแล้วก็เป็นอย่างเดียวกันทั้งหมดนี้จึงเป็นการยืนยันว่า มิลล์ยอมรับความแตกต่างทางคุณภาพของความสุข อย่างที่มิลล์ กล่าว ความสุขที่เกิดจากการใช้ปัญญา จากความรู้สึก จากจินตนาการ และสำนึกทางศีลธรรมมีค่าสูงกว่า ความสุขที่เกิดจากประสาทสัมผัส (Mill, 1970: 258)

สุขนิยมแบบวิวัฒนาการของ เฮอรเบิร์ต สเปนเซอร์ (1820-1903) ได้ปรับใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการจากฐานคิดทางชีววิทยามาอธิบายถึงพฤติกรรมของมนุษย์เชิงจริยศาสตร์ กล่าวคือ สเปนเซอร์เห็นว่า ศีลธรรมเป็นผลิตผลของวิวัฒนาการ ศีลธรรมได้วิวัฒนาการมาจากความประพฤติอันไร้ศีลธรรมของสัตว์ดิรัจฉาน (วศิน, 2544: 133)

สเปนเซอร์ เห็นว่า กฎทางศีลธรรมนั้นมาจากหลักการทางชีววิทยา ในขณะที่เบ็นธัม และมิลล์เห็นว่า กฎทางศีลธรรมมาจากประสบการณ์ต่อความสุข และความทุกข์ ทรรศนะของสเปนเซอร์ จุดมุ่งหมายของชีวิต คือ ความสุข ส่วนจุดมุ่งหมายรอง คือ ความสามารถที่จะมีชีวิตได้ยืนยาว ดังนั้น ความประพฤติที่เรียกว่า ดี คือ ความประพฤติที่สามารถรักษาตนให้ยั่งยืนต่อไป ส่วนความประพฤติชั่ว คือ ความประพฤติที่มีลักษณะทำลายตนเอง สเปนเซอร์ เห็นว่า ความสุขเป็นดรรชนีเพิ่มชีวิต ส่วนความทุกข์เป็นดรรชนีลดชีวิต การกระทำที่ให้ความสุขเป็นสิ่งช่วยจรรโลงชีวิต ส่วนการกระทำที่ให้ความทุกข์เป็นสิ่งทำลายชีวิต ความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายขึ้นอยู่กับหลักการนี้ ดังนั้น ความสุขจึงเป็นความดีแต่ประการเดียว ไม่มีความดีอันใดอีกนอกจากความสุข เราจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความดี คือ สิ่งที่ก่อให้เกิดความสุข

สเปนเซอร์ ได้กล่าวถึง ความรู้สึกทางศีลธรรมว่า เป็นการควบคุมความรู้สึกบางอย่าง ซึ่งมีผลต่อชีวิตในทางที่ดีขึ้น และยังได้เสนอเงื่อนไขที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อให้มนุษย์เกิดความสุขนั่น คือ การควบคุมภายนอก เช่น การควบคุมทางการเมือง ทางศาสนา และทางสังคม ซึ่งเหมือนกับมาตรการทั้ง 4 ของเบนธัม และการควบคุมความรู้สึกภายใน ซึ่งสเปนเซอร์เรียกว่า การควบคุมทางศีลธรรม (Sinha, 1984: 91)

โดยธรรมชาตินั้น มนุษย์มีความเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ผู้อื่น ทั้ง 2 แนวคิดนี้ เป็นความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ของสังคม ซึ่งสเปนเซอร์ ได้ให้ความเห็นว่า ทั้งสองลัทธินั้นมีความถูกต้องอยู่ในตัวเอง การพิทักษ์ประโยชน์ของตนเอง และการสละตนเองเป็นสิ่งที่ติดมาอย่างละเท่าๆ กันในธรรมชาติของมนุษย์ จากคำกล่าวข้างต้น สเปนเซอร์ เห็นว่า การเห็นแก่ผู้อื่นได้วิวัฒนาการมาพร้อม ๆ กับความเห็นแก่ตัว ดังนั้น การมีชีวิตเพื่อตนเองหรือเพื่อผู้อื่นอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์ หากแต่ การประนีประนอมกลมกลืนของทั้งสองอย่างนั้นต่างหากที่เรียกว่า เป็นความดี (วศิน, 2544: 138) นอกจากนี้ สเปนเซอร์ อธิบายความแตกต่างระหว่างจริยศาสตร์แบบสมบูรณ์ (Absolute Ethics) และจริยศาสตร์แบบสัมพัทธ์ (Relative Ethics) ซึ่งลักษณะจริยศาสตร์ของ สเปนเซอร์ จะเป็นประการหลัง

เนื่องจากจริยศาสตร์สัมพัทธ์ได้อธิบายหน้าที่ที่จำเป็นของแต่ละบุคคลเพื่อให้นำไปปรับใช้ในสังคมที่ไม่สมบูรณ์ ขณะที่จริยศาสตร์สมบูรณ์ได้อธิบายถึงหน้าที่ที่จะช่วยสร้างชีวิตในสังคมที่สมบูรณ์ ซึ่งในสังคมเช่นนี้จะมีการปรับตัวอย่างสมบูรณ์ของปัจเจกชนแต่ละคนต่อสิ่งแวดล้อมทางสังคมของเขา จริยศาสตร์สัมพัทธ์ จึงเกี่ยวกับศีลธรรมสัมพัทธ์ในสังคมที่ไม่สมบูรณ์ ส่วนจริยศาสตร์สมบูรณ์นั้นเกี่ยวกับศีลธรรมอันสมบูรณ์ในสังคมที่สมบูรณ์แบบเพียงเพื่อให้เป็นมาตรการทางจริยธรรม แก่เราว่าควรใช้ชีวิตอย่างไรในสังคมที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ (Hill,1956 :107) สเปนเซอร์ เชื่อว่า เมื่อปัจเจกชนสามารถปรับตัวได้อย่างสมบูรณ์ และเมื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และประโยชน์ของสังคมเป็นสิ่งเดียวกันแล้ว คุณธรรมทั้งหลายก็จะเป็นไปเองอย่างอัตโนมัติ ดังนั้น ความประพฤติที่จัดว่าดีโดยสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อมันให้ความสุขอย่างเดียว ไม่เจือด้วยความทุกข์ ในขณะที่ความประพฤติที่จัดว่าดีโดยสัมพัทธ์ มีลักษณะที่เป็นความสุขมากกว่าความทุกข์

สรุปได้ว่า สุขนิยมแบบอัตนิยม นั้นถือว่า ความสุขของปัจจเจกชน เป็นความดีอันสุงสุด เนื่องจากบุคคลต้องตระหนักถึงความสำคัญ และมีความรักต่อตนเองเป็นอันดับแรกแล้วจึงพัฒนาศักยภาพของตนเพื่อที่จะเผื่อแผ่ และแบ่งปันแก่ผู้อื่น สุขนิยมแบบประโยชน์นิยม ถือว่า ความสุขที่ดีที่สุดนั้น ต้องเกิดกับคนจำนวนมากที่สุด และเน้นยํ้าว่า ปัจเจกคนไม่ควรจะมุ่งทำ แต่ประโยชน์เพื่อตนฝ่ายเดียว การจะเรียกว่า เป็นความดีได้นั้นวัดที่การทำ ประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้อื่นด้วยสุขนิยมวิวัฒนาการนั้นสนับสนุนแนวคิดที่ให้ปัจเจกชนและสังคมร่วมกันสร้างสรรค์ความดี เพื่อประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่ายจากทัศนะต่อความสุข ของนักปรัชญาแบบสุขนิยมทั้ง 3 กลุ่มนั้น แม้จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดร่วมเดียวกัน คือ เห็นว่า ความสุขเป็นจุดหมายของการดำรงชีวิตอยู่ และการดำเนินชีวิตได้ดีมีคุณภาพนั้น สามารถดูได้จาก ความรู้สึกเป็นสุข ทั้งความสุขต่อตนเองเป็นเบื้องต้นหรือความสุขในระดับมวลชน

ข้อสังเกตในประเด็นต่างๆ ต่อจริยศาสตร์แนวสุขนิยม คือ นักจริยศาสตร์แนวสุขนิยมใช้ความสุข ความพึงพอใจหรือผลที่ได้จากการกระทำมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าสิ่งใดเรียกว่า ดี ชั่ว ถูก ผิด โดยยืนยันว่า ความสุขกับความดีเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่เรื่องของเจตนา แรงจูงใจ, ความสุขในทัศนะของปรัชญาแบบสุขนิยมนั้นพูดถึงในระดับต่างๆ ทั้งความสุขทางร่างกาย หมายถึง การได้เสพสนอง และบำบัดความต้องการทางกายที่เป็นรูปธรรม และความสุขทางจิตใจ เช่น การให้ความสำคัญกับการพัฒนาสติปัญญา การใช้คุณธรรม และมีความพยายามทำให้แนวคิดจริยศาสตร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นนามธรรม เพราะเป็นการพูดถึงระบบคุณค่าของชีวิต ให้มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ คือ ชั่ง ตวง วัดได้ชัดเจน นับตั้งแต่ เบ็นธันถึงสเปนเซอร์

----------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). 2542. ปรัชญากรีก บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก.

กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศยาม.

วศิน อินทสระ. 2544. จริยศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์บรรณกิจ.

วิทย์ วิศทเวทย์. 2526. จริยศาสตร์เบื้องตน มนุษย์กับปัญหาจริยธรรม. กรุงเทพมหานคร: สำนัก

พิมพ์อักษรเจริญทัศน์.

 

Bentham, Jeremy. 1973. The Principles of Morals and Legislation. New York: Hafner

Publishing Company.

Hicks, R.D. 1970. Lives and Opinion of Eminent Philosopher. Boston: Havard University Press.

Hill,T.E. 1956. Ethics in Theory and Practice. (n.p.)

Hobbes, Thomas. Richard Tuck(ed.). 1996. Leviathan. Cambridge: Cambridge University

Press.

Magill, F.n. (ed.). 1963. Masterpiece of the World Philosophy in Summary Form. London:

George Allen & Unwin Ltd.

Mill, John Stuart. 1970. Utilitarianism On Liberty Essay On Bentham. Ohio: The World

Company.

Sinha, Jadunath. 1984. Manual of ethics. Calcutta: New Central Book Agency.

Stumpf ,Samuel Enoch. 1983. Philosophy history & problems. (3 ed.). Mcgraw-Hill Book

Company.

 

 

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML