พิธีลอยอังคาร (สำหรับผู้ที่อยู่ใกล้ทะเล)

 

พิธีลอยอังคาร (สำหรับผู้ที่อยู่ใกล้ทะเล)


จิตติเทพ นาอุดม.

พธ.บ.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย,

ศศ.ม.สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา(ปรัชญาและศาสนา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.


เมื่อเสร็จพิธีฌาปนกิจเรียบร้อยแล้ว หมายถึง การบังสุกุล การเก็บอัฐิ และห่อขี้เถ้าอัฐิส่วนที่จะนำไปลอยอังคาร (หรือจะลอยทั้งหมด) เมื่อหมดพิธีกรรมของสงฆ์แล้ว ผู้ประกอบพิธี(ไม่ต้องนิมนต์พระสงฆ์ลงเรือไปด้วย)ใช้ผ้าขาวห่อเถ้าอัฐิหรือใส่อุ้ง เพื่อลอยอังคารในทะเล อันดับแรกเตรียมเรือที่จะทำพิธี ขนาดของเรือก็ดูตามความเหมาะสม ผู้ประกอบพิธี และสิ่งของที่ใช้ในพิธีการลอยอังคาร

เครื่องใช้ประกอบพิธี

เครื่องบูชาแม่ย่านางเรือ สิ่งที่ต้องเตรียม (ควรปรึกษาเจ้าของเรือ)

              ดอกไม้สด ๑ กำ  หรือพวงมาลัย ๑ พวง

              ธูป ๗ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม

              พานเล็ก ๑ ใบ (ใส่ดอกไม้ ธูปเทียน ขณะบูชาแม่ย่านางเรือ)

              เชือก ๑ เส้น (สำหรับมัดธูปดอกไม้ที่เสาหัวเรือ)

เครื่องไหว้อังคาร

              ห่อผ้าอังคารหรือลุ้งใส่อังคาร (ควรเป็นลุ้งดินห่อผ้าขาวหรือห่ออังคารด้วยผ้าขาว) ๑ ลุ้ง

              ดอกมะลิ กลีบกุหลาบ หรือดอกไม้อื่นๆ (สำหรับผู้ร่วมพิธีโรยบนอังคาร)

              น้ำอบไทย ๑ ขวด

              ดอกกุหลาบหรือดอกไม้ที่มีอยู่เท่าจำนวนผู้ร่วมพิธี

              ธูป ๑ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๒ เล่ม

             สายสิญจน์ ๑ ม้วน

             เงินเหรียญ

             เครื่องบูชาเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร

            กระทงดอกไม้ ๗ สี ๑ กระทง (หรือดอกไม้ที่เตรียมมา)

            ธูป ๗ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม

การบูชาแม่ย่านางเรือ (ควรปรึกษาเจ้าของเรือ)

             คณะญาติมิตรนำอังคารไปสู่ท่าเทียบเรือ

             ผู้ประกอบพิธีควรเป็นญาติอาวุโส ลงเรือก่อนนอกนั้นรอที่ท่าเทียบเรือ

             ผู้ประกอบพิธี นำดอกไม้ ธูปเทียน (ใส่รวมในพาน) จุดบูชาแม่ย่านางเรือที่หัวเรือ

             กล่าวบูชา และขออนุญาตแม่ย่านางเรือ โดยผู้ประกอบพิธีกล่าวนำ

คำกล่าวบูชา / ขออนุญาตแม่ย่านางเรือ

(ตั้งนะโม ๓ จบ)

นะมัตถุ  นาวานิวาสินิยา  เทวะตายะ  อิมินา สักกาเรนะ  นาวานิวาสินิง  เทวะตัง  ปูเชมิ.

ข้าพเจ้าขอน้อมไหว้บูชา  แม่ย่านางเรือ  ผู้คุ้มครองรักษาเรือลำนี้  ด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้

ด้วยข้าพเจ้า พร้อมด้วยญาติมิตร ขออนุญาตนำอัฐิ และอังคารของ ………………………………… ………..ลงเรือลำนี้ ไปลอยในทะเล ขอแม่ย่านางเรือ ได้โปรดอนุญาต ให้นำอัฐิและอังคารลงเรือได้ และได้โปรดคุ้มครองรักษา ให้ข้าพเจ้าและญาติมิตร กระทำพิธีลอยอัฐิและอังคาร ด้วยความสะดวกและปลอดภัย โดยประการทั้งปวงเทอญ.

             คณะญาติมิตรลงเรือพร้อมห่ออังคารลงเรือ

             ออกเรือไปยังจุดที่จะลอยอังคาร

       การไหว้อังคาร สามารถทำการไหว้อังคารได้ในคราวเดียวกับการบำเพ็ญกุศลก่อนนำอังคารลงเรือ หรือจะทำการไหว้อังคารบนเรือก่อนทำพิธีลอยลงน้ำก็ได้ ดังนี้

           ไหว้อังคารบนเรือก่อนทำพิธีลอยลงน้ำ

            เมื่อเรือแล่นถึงจุดหมายแล้วให้หยุดเรือลอยลำ

            ผู้ประกอบพิธีเปิดห่ออังคารจุด ธูป เทียนไหว้อังคาร สรงด้วยน้ำอบไทย โรยดอกมะลิ, กลีบกุหลาบ, ดอกไม้อื่นๆ ผู้ประกอบพิธีกล่าวนำ(กล่าวเกี่ยวกับ....เช่น ขอให้ดวงวิญญาณไปสู่สุคติ.....................)

            เมื่อทุกคนไหว้อังคารเสร็จแล้ว ผู้ประกอบพิธีห่อลุ้ง(ห่อผ้า)อังคารรวบมัดด้วยสายสิญจน์

            ผู้ประกอบพิธีแจกดอกกุหลาบหรือดอกไม้ที่มีให้คณะญาติมิตร

             การบูชาเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร

             ผู้ประกอบพิธีจัดเครื่องบูชาเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร

             ประธานในพิธีจุดเทียน ๑ เล่ม และธูป ๗ ดอก ที่กระทงดอกไม้ ๗ สี

             กล่าวบูชา กล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นทีท้าวสีทันดร โดยผู้ประกอบพิธีกล่าว

คำกล่าวบูชา  กล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นทีท้าวสีทันดร

(ตั้งนะโม ๓ จบ)

นะมัตถุ  อิมิสสัง  มะหานะทิยา  อะธิวัตถานัง  สุรักขันตานัง  สัพพะเทวานัง  อิมินา สักกาเรนะ  สัพพะเทเว  ปูเชมะ.

ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมไหว้บูชา เจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร และเทพยดาทั้งหลาย ผู้สถิตคุ้มครองรักษาอยู่ ในทะเลแห่งนี้ ด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้

ด้วยข้าพเจ้าทั้งหลาย ได้ประกอบกุศลกิจ อุทิศส่วนบุญแก่………………………………….…….  ผู้วายชนม์ ณ บัดนี้ จักได้ประกอบพิธี ลอยอัฐิและอังคาร ของ……………………………………  พร้อมกับขอฝากไว้ ในความอภิบาลของเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร เจ้าแห่งทะเล และเหล่าทวยเทพทั้งปวง ขอเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร แม่ย่านางเรือ และเทพยดาทั้งหลาย ได้โปรดอนุโมทนา ดลบันดาล ให้ดวงวิญญาณของ……………………………………….  จงเข้าถึงสุคติ ในสัมปรายภพ ประสบสุข ในทิพยวิมาน ชั่วนิจนิรันดร์กาลเทอญ.

             วิธีการลอย

             เมื่อกล่าวบูชา กล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นทีท้าวสีทันดรเสร็จแล้ว ผู้ประกอบพิธีเชิญทุกคนยืนขึ้นไว้อาลัย

             ผู้ประกอบพิธีโยนเงินเหรียญ (ตามสมควร) ลงทะเล เพื่อซื้อที่ตามธรรมเนียม แล้วลงบันไดเรือทางกราบซ้าย ลอยกระทงดอกไม้ ๗ สี โดยใช้มือประคอง ค่อย ๆ วางบนผิวน้ำ ต่อจากนั้น อุ้มประคองห่อลุ้งหรือห่อผ้าอังคารค่อย ๆ วางบนผิวน้ำ โดยให้ผู้ร่วมพิธีทุกคนถือสายสิญจน์ด้วย

             หากกราบเรือสูงจากผิวน้ำมากเกินไป และไม่มีบันไดลงเรือ ให้ใช้สายสิญจน์ทำเป็นสาแหรก ๔ สาย จำนวน ๒ สาแหรก คือ ใส่กระทงดอกไม้ ๗ สี ๑ สาแหรก และใส่ห่อลุ้ง(ห่อผ้า)อังคาร ๑ สาแหรกหย่อนลอยลงไป (ห้ามโยนลง)

             เมื่อห่อลุ้งหรือห่ออังคารลงสู่ผิวน้ำแล้ว ให้โรยดอกกุหลาบ ธูป เทียน ตามลงไป และสิ่งของสำหรับไหว้บูชาที่เหลือทั้งหมดก็ให้โรยตามลงไปด้วย

             เรือวนซ้าย ๓ รอบ

เสร็จพิธีลอยอังคาร

-------------------------------------------

จิตสำนึกทางสังคมในพุทธศาสนา

 


จิตสำนึกทางสังคมในพุทธศาสนา

พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับจิต เพราะความเป็นอารยะของมนุษย์ทั้งในส่วนของปัจเจกชนและสังคมวัดกันที่ความก้าวหน้าของจิต พุทธศาสนาได้วิเคราะห์ธรรมชาติของจิต และวางหลักการพัฒนาจิตไว้อย่างเป็นระบบ ควรที่จะทำความเข้าใจจิต ทำความเข้าใจในจิตสำนึกทางสังคมของพุทธศาสนา ในเมื่อมนุษย์ คือ ผู้ทำมาหากรรม ซึ่งก็หมายความว่า มนุษย์จะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากกิจกรรมไม่ได้ คำว่า กรรมในพุทธศาสนา คือ กิจกรรมการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั้งในเรื่องส่วนตน และชีวิตทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตระดับใดล้วนอาศัยเจตนา ซึ่งจะสะท้อนจิตสำนึกของมนุษย์ที่มีต่อโลก

อย่างไรก็ดี การอธิบายเรื่องกรรมที่คุ้นเคยกันมักจะเริ่มต้นที่ปัจเจกชน มากกว่าระดับสังคมเพราะสังคมเป็นผลรวมของปัจเจกชน หากเข้าใจหลักกรรมผ่านชีวิตปัจเจกชน ก็ย่อมจะเข้าใจหลักกรรมระดับสังคม ด้วยไปในตัว อย่างที่พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) กล่าวว่า กรรมนี้ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องภายนอก ไม่ใช่การกระทำที่แสดงออกมาทางกาย ทางวาจาเท่านั้น ต้องมองเข้าไปถึงกระบวนการทำงานในจิตใจ ผลที่เกิดขึ้นในจิตแต่ละขณะๆ ทีเดียว ความหมายที่แท้จริงของกรรมมุ่งเอาที่นั่น คือ ความเป็นไปในจิตของแต่ละคนแต่ละขณะกรรมที่จะแสดงออกมาทางกาย ทางวาจาอะไรๆ ก็ต้องเริ่มขึ้นในใจก่อนทั้งนั้น ฉะนั้นหลักกรรม จะเป็นหลักในการศึกษาจิตหรือจิตสำนึกของมนุษย์ในการกระทำต่อโลกได้เป็นอย่างดี

หลักพุทธศาสนา มนุษย์นั้นประกอบด้วย ๒ ส่วน อันได้แก่ กายกับจิตหรือรูปกับนาม ซึ่งต่างก็มีความสำคัญอิงอาศัยซึ่งกันและกัน โดยจิตหรือวิญญาณ (Consciousness) นั้น คือ การรับรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายใน และ อายตนะภายนอก มากระทบกัน พุทธศาสนาถือว่า พฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกมาทางกาย และวาจานั้นมี จิตหรือวิญญาณเป็นตัวสั่งการ ตามหลัก ปฏิจจสมุปบาทวิญญาณในที่นี้มาจาก สังขาร และสังขารมาจากอวิชชา ซึ่งจิตหรือวิญญาณ เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นและเป็นไปตามอำนาจของเหตุปัจจัย ดังนั้น โลกของแต่ละคนจึงเป็นไปตามอำนาจของจิตของแต่ละคนที่มีการรับรู้อารมณ์ในขณะนั้นๆ

ธรรมบท ขุททกนิกาย ได้อธิบายว่า เหล่าชนรู้จักสำรวมจิตที่ไม่มีรูปร่าง มีซอกหทัยเป็นที่อยู่อาศัย ดวงเดียวเที่ยวไปไกลก็จะพ้นจากบ่วงมารได้ หมายความว่า จิต คือ ธรรมชาติไปที่ไกล ไปด้วยการคิด เที่ยวไปดวงเดียว คือ การที่จิตคิดได้ทีละอย่างแต่มีการเกิดขึ้นต่อเนื่องกันเร็วมากจนเราเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ แสดงว่าจิตไม่ได้เป็นตัวการอิสระที่อยู่ภายนอกร่างกาย และคอยบังคับบัญชาร่างกาย แต่เป็นธรรมชาติ ที่เนื่องด้วยร่างกาย คือ อาศัยร่างกายจึงมีจิต ซึ่งตรงกับวิญญาณในขันธ์ ๕

พุทธศาสนาสอนว่า ชีวิตประกอบขึ้นจากส่วนสำคัญ ๕ ส่วน อันเรียกว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ หรือว่าโดยย่อ มีสองส่วนคือ รูปธรรม และนามธรรมหรือรูปขันธ์ และนามขันธ์ ขันธ์ ๕ นี้ เป็นกฎแห่งปฎิจจสมุปบาท คือ มีอยู่ในรูปกระแสแห่งปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยสืบต่อกัน ไม่มีส่วนใดในกระแสที่อยู่ได้มีแต่การเกิดขึ้นแล้วสลายไป พร้อมกับที่เป็นปัจจัยให้มีการเกิดขึ้นแล้วสลายตัวต่อๆ ไปดังพุทธพจน์ที่ว่า เมื่อปัจจัยนี้มีอยู่ ผลนี้ย่อมมี เพราะการบังเกิดขึ้นแห่งปัจจัยนี้ ผลนี้จึงบังเกิดขึ้น เมื่อปัจจัยนี้ไม่มีอยู่ ผลนี้ย่อมไม่มี เพราะการดับแห่งปัจจัยนี้ ผลนี้จึงดับ คำสอนของพุทธศาสนา ที่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงระหว่าง กายกับจิตนั้นมีมาก เช่น เมื่อเราตรึกตรองอยู่นานเกินไป ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อยจิตก็ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ และถ้าบุคคลมีใจชั่วแล้ว จะพูดหรือทำก็ตาม ทุกข์ย่อมตามเขาไป...ถ้าบุคคลมีใจดีแล้ว จะพูดหรือทำก็ตาม สุขย่อมตามเขาไป

จะเห็นได้ว่า ทั้งจิตและกายต่างก็มีความสำคัญด้วยกัน และอิงอาศัยกัน รวมกันเป็นชีวิต ถ้ามีร่างกายหรือจิตเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ เพราะจิตใจก็ต้องอาศัยร่างกาย และร่างกายก็เป็นไปตามความรู้สึกนึกคิดของจิตใจเช่นกัน แม้จะถือว่าทั้งร่างกาย และจิตต่างก็มีความสำคัญด้วยกัน

พุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่จิตมากกว่าร่างกาย พุทธภาษิตในขุททกนิกาย ธรรมบทว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจชั่วแล้วจะพูดหรือทำก็ตามทุกข์ย่อมตามเขาไปเพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น (คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต) เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคตัวกำลังลากเกวียนไป และธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจดีแล้ว จะพูดหรือทำก็ตามสุขย่อมตามเขาไปเพราะสุจริต ๓ อย่างนั้น (คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต) เหมือนเงาที่ไม่พรากจากตน

ความสำคัญของจิตมีมากในชีวิตประจำวันของเรา เช่น ร่างกายใดไม่ว่าจะเป็นร่างกายของคนหรือสัตว์ ถ้าปราศจากจิตหรือมีจิตแยกออกไปแล้ว ร่างกายนั้นก็ไม่ผิดอะไรกับก้อนหินหรือท่อนไม้ เป็นร่างกายที่ไร้ชีวิต และไม่อาจดำรงอยู่ในสภาพของสิ่งมีชีวิตได้ต่อไป ต้องเปื่อยเน่าผุพังไปในเวลาอันรวดเร็ว แต่ถ้ายังเป็นร่างกายที่ยังมีจิตประกอบอยู่ ร่างกายนั้นก็ปรากฏเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างตัวเราเวลานี้ ไม่เปื่อยเน่าผุพังไปในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อได้อาศัยเหตุปัจจัยเหมาะสมค้ำจุนสนับสนุนร่างกาย ซึ่งปรากฏเป็นสิ่งมีชีวิตนั้นก็อาจดำรงอยู่ได้โดยไม่เปื่อยเน่านับเวลาเป็นเดือนเป็นปีหรือเป็นสิบๆ ปี สภาพดังกล่าวมานี้เป็นสิ่งที่เราอาจพิจารณาเห็นได้จากปรากฏการณ์ และประสบการณ์ในชีวิตประจำวันตามปกติทั่วไป

อันการกระทำต่างๆ ของมนุษย์มโนกรรมเป็นจุดเริ่มต้น บุคคลก็ดี สังคมก็ดี จะเป็นอย่างไรก็เป็นไปตามมโนกรรมส่วนใหญ่ มโนกรรมเป็นตัวกำหนดวิถีชี้แนวทางให้ความคิด ความนิยม ความเชื่อถือ เป็นตัวกำกับการที่สำคัญ เช่น ชีวิตคนๆ หนึ่งมีความชอบอะไร ใฝ่ในอะไร ก็จะดำเนินไปตามวิถีทางที่ชอบที่ใฝ่นั้น สมมติว่า เด็กคนหนึ่งเกิดชอบบวชพระ ชอบผ้าเหลือง เห็นเณรแล้วก็อยากเป็นเณรบ้าง ความฝักใฝ่พอใจ อันนี้ก็มาหล่อหลอมทำให้เขาคิดที่จะบวช ต่อมาเขาก็อาจจะบวช แล้วก็อยู่ในศาสนาไป แต่อีกคนหนึ่งจิตชอบใฝ่ไปในทางที่อยากได้ของๆ คนอื่นโดยไม่ต้องทำอะไร ก็อาจจะไปลักขโมย วิถีชีวิตก็จะหันเหไปอีกแบบหนึ่ง นี้ก็คือเรื่องของมโนกรรม ที่มีผลบันดาลชีวิตทั้งชีวิตให้เป็นไป ความนิยม ความชอบ ความเชื่อถือต่างๆ นี้เป็นเครื่องกำหนดชีวิตของคน พุทธศาสนามองในขั้นลึกซึ้งอย่างนี้จึงถือว่ามโนกรรมสำคัญ

ความใฝ่ความชอบอะไรต่างๆ ที่อยู่ในจิตใจเป็นตัวนำ เป็นเครื่องกำหนดวิถีชีวิตของบุคคลและเป็นเครื่องชี้นำ ชะตากรรมของสังคม สังคมใดมีค่านิยมที่ดีงาม เอื้อต่อการพัฒนาสังคมนั้นก็มีทางที่จะพัฒนาไปได้ดี สังคมใดมีค่านิยมต่ำทราม ขัดถ่วงการพัฒนาสังคมนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเสื่อมโทรมพัฒนาได้ยาก เรื่องค่านิยมนี้ตัวอย่างเด่นชัดอย่างหนึ่งของมโนกรรม มโนกรรมเป็นสิ่งสำคัญมาก มีผลระยะยาว ลึกซึ้ง และกว้างไกล ครอบคลุมไปหมด พุทธศาสนาถือว่าค่านิยมนี้ เป็นสิ่งสำคัญมาก และมองที่จิตใจเป็นจุดเริ่มต้น เรื่องกรรมจะต้องเข้าใจถึงหลักการของพุทธศาสนาที่ถือว่า มโนกรรมสำคัญที่สุด

การรับรู้ที่เรียกว่า วิญญาณ การยึดถือในอารมณ์ ที่เรียกว่า เวทนา จากนั้นความคิดปรุงแต่งหรือการกระทำ ก็เกิดขึ้นตามความเข้าใจในอารมณ์หรือเวทนาที่ตนมี ผัสสะเป็นจุดที่จะรับรู้ของจิตอันเป็นข้อมูลจากโลกภายนอก เมื่อจิตรับรู้อารมณ์ภายนอกแล้ว เวทนา สัญญา จะเกิดขึ้นตามมา จิตไม่ได้เป็นผู้รับรู้แต่ฝ่ายเดียวหากยังคิดปรุงแต่ง สิ่งที่ตนรับรู้นั้นด้วยอำนาจกิเลสตัณหาอีกด้วย จากธรรมเหล่านี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า สิ่งแวดล้อมภายนอกมีผลต่อกระบวนการทำกรรมของมนุษย์เรา และสะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ที่มีต่อโลกภายนอก ดังคำเทศนาของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่ว่า จิตปรุงกิเลส คือ การที่จิตบังคับให้กาย วาจา ใจ กระทำสิ่งภายนอก ให้มี ให้เป็น ให้เลว ให้เกิดวิบาก แล้วยึดติดอยู่ว่า นั่นเป็นตัว นั่นเป็นตน ของเราของเขา และกิเลสปรุงจิต คือ การที่สิ่งภายนอกเข้ามาทำให้จิตเป็นไปตามอำนาจของมันแล้วยึดว่า มีตัวมีตนอยู่ สำคัญผิดจากความเป็นจริงอยู่ร่ำไป

การเรียนรู้การทำงานของสมอง และจิต สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองได้ เช่น ขณะที่ตั้งใจคิดเรื่องที่เป็นสุข สมองก็จะนึก และคิดปรุงแต่งเรื่องที่เป็นสุข จึงเกิดความรู้สึกเป็นสุขไปตามเนื้อหาที่กำลังคิด ขณะเดียวกันก็จะจำเรื่องที่คิด และรู้เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ หรือในขณะที่ใจคิดเรื่องน่ากลัว สมองก็จะนึกคิดปรุงแต่งเรื่องที่น่ากลัวขึ้น จึงเกิดความรู้สึกกลัวไปตามเนื้อหาที่กำลังคิด ขณะเดียวกันก็จดจำเรื่องที่คิด และรู้เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ ซึ่งการจดจำเรื่องต่างๆ เหล่านี้ไว้ในจิต ทำให้จิตเราสามารถคิดนึกถึงเรื่องเหล่านี้ได้เสมอเมื่อมีปัจจัยต่างๆ กระตุ้นให้เกิดขึ้น

ชีวิตประจำวันของคนทั่วไป เมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสอะไรก็ตามที่ตนไม่ชอบใจหรือไม่ถูกใจ หรือไม่พอใจเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้มันเกิดขึ้นรวดเร็วคล้ายอัตโนมัติ การคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยความไม่ชอบใจ หรือไม่ถูกใจ หรือไม่พอใจ ซ้ำแล้วซ้ำอีกจะทำให้จดจำความคิดดังกล่าวมากขึ้น ยิ่งสะสมมากก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นความขัดเคืองใจ หรือความโกรธขณะคิดที่ไม่ถูกใจมาก หรือไม่พอใจมาก จะเกิดการบีบคั้นทางจิตมากๆ จนถึงขั้นการระบายออกมาเป็นการเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่นเพื่อให้ได้มาหรือเป็นไปตามความคิดนั้นๆ คนที่มีการสะสมอกุศลมูล ความคิดที่ไม่ดีไว้ในจิตเป็นจำนวนมาก เช่น ความเห็นแก่ตัว ก้าวร้าว อบายมุข เสียดสี ป้ายสี ติดสินบน รับสินบน ปล้นจี้ รีดไถ กลั่นแกล้งโกงกิน ลักขโมย เหล่านี้ เป็นการสะสมไว้ในความจำของแต่ละคน เมื่อคุ้นชินกับอารมณ์ไม่ดีเหล่านี้จนกลายเป็นนิสัย ย่อมทำให้เกิดพฤติกรรมการคิดไม่ดี ทำไม่ดีได้โดยง่าย เช่น นักเล่นการพนัน โจรผู้ร้าย พ่อค้ายาเสพติด นักทุจริต ผู้มีอิทธิพล เป็นต้น จากที่กล่าวมานี้เมื่อมีการสะสมด้านใดมาก โอกาสที่จะเกิดการกระทำในด้านนั้นๆ ก็เป็นไปได้มากเช่นกัน จะเห็นได้ว่า ความจำมีอิทธิพลต่อการคิด และพฤติกรรมของคนเราด้วย

กรรมในพุทธศาสนา หมายเอาการกระทำทางกาย การกระทำทางวาจา และการกระทำทางใจ และในบรรดากรรมทั้ง ๓ ชนิด พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนตปัสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม

การให้ความสำคัญกับมโนกรรมในพุทธพจน์ ก็คือ การให้ความสำคัญกับจิตสำนึกในกระบวนทำกรรมของมนุษย์นั่นเอง เพราะคำว่า มโน และจิต อรรถกถาจารย์กล่าวว่า เป็นสิ่งเดียวกันดังที่ สุนทร ณ รังษี กล่าวว่า จิต ที่ได้ชื่อว่า มโน เพราะกำหนดรู้อารมณ์นั้น เพราะธรรมชาติของจิตเมื่อขึ้นสู่วิถีทางอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมน้อมไปรับรู้อารมณ์ที่เป็นวิสัยของอายตนะภายในแต่ละอย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่เรียกว่า อายตนะภายนอก

เหตุที่มโนกรรมสำคัญที่สุด ก็เพราะเป็นจุดเริ่มต้น คนคิดก่อนแล้วจึงพูดจึงกระทำ คือ การแสดงออกทางกายและวาจา ดังนั้น วจีกรรมและกายกรรม จึงขยายออกมาจากมโนกรรมนั่นเองและที่ว่ามีผลกว้างขวางรุนแรงที่สุด ก็เพราะว่ามโนกรรมรวมถึง ความเชื่อถือ ความเห็น ทฤษฎีแนวความคิดและค่านิยมต่างๆ ที่เรียกว่า ทิฏฐิ นี้เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทั่วไปของบุคคล ความเป็นไปในชีวิตของบุคคล และคติของสังคมทั้งหมด เมื่อเชื่อ เมื่อเห็น หรือนิยมอย่างไร ก็คิดการ พูดจาสั่งสอนชักชวนกัน และทำการต่างๆ ไปตามที่เชื่อที่เห็นที่นิยมอย่างนั้น ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ การดำริ พูดจา และทำการก็ดำเนินไปในทางผิดเป็นมิจฉาไปด้วย ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ การดำริ พูดจา และทำการต่างๆ ก็ดำเนินไปในทางถูกต้องเป็นสัมมาไปด้วย เช่น คน และสังคมที่เห็นว่า ความพรั่งพร้อมทางวัตถุมีค่าสูงสุดเป็นจุดหมายที่พึงใฝ่ประสงค์ ก็จะเพียรพยายามแสวงหาวัตถุให้พรั่งพร้อม และถือเอาความพรั่งพร้อมด้วยวัตถุนั้น เป็นมาตรฐานวัดความเจริญรุ่งเรืองเกียรติยศ และศักดิ์ศรี วิถีชีวิตของคน และแนวทางของสังคมนั้นก็จะเป็นไปในรูปแบบหนึ่ง ส่วนคน และสังคมที่ถือความสงบสุขทางจิตใจเป็นที่หมาย ก็จะมีวิถีชีวิต และความเป็นไปอีกแบบหนึ่ง

แนวคิด ทฤษฎีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น ก็คือ มโนกรรมนั่นเอง เมื่อเกิดมีการเห็นดีเห็นงามกับแนวคิดทฤษฎีใดๆ ก็ย่อมนำไปสู่การปฏิบัติโดยอาศัยเจตนาของปัจเจกชนหลายๆ คนที่มีความคิดเห็นตรงกัน การกระทำของสังคมจึงเกิดขึ้น รวมถึงวิบากกรรมของสังคมก็เกิดตามมา

จิตสำนึกทางสังคมของพุทธศาสนา เป็นผลรวมของปัจเจกชนทั้งหลาย ในวาเสฏฐสูตรว่า ดูก่อนวาเสฏฐะ ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยการรักษาโคเลี้ยงชีวิต ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นชาวนา ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดเลี้ยงชีวิตด้วยศิลปะอย่างมาก ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นศิลปิน ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นพ่อค้าไม่ใช่พราหมณ์ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดเลียงชีวิตด้วยการรับใช้ผู้อื่น ท่านจงรู้อย่างนี้ว่าผู้นั้นเป็นคนรับใช้ ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยการที่เขาไม่ให้เลี้ยงชีวิต ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นโจร ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่งในหมู่มนุษย์ผู้ใดอาศัยศาสตราวุธเลี้ยงชีวิต ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นทหาร ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยการงานของปุโรหิต ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นเจ้าหน้าที่การบูชา ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ผู้ใดปกครองบ้านและเมือง ท่านจงรู้อย่างนี้ว่าผู้นั้นเป็นพระราชา ไม่ใช่พราหมณ์

กรรมระดับสังคม คือ จิตสำนึกทางสังคมนั้นเอง อันเป็นผลมาจากการที่มนุษย์มีเจตจำนงร่วมกัน และรับผลของการกระทำร่วมกัน และเจตจำนงอันนี้ย่อมมาจากผลสะท้อนขึ้นในสิ่งภายนอก ที่เกิดขึ้น กระทบกับประสาทสัมผัสของมนุษย์ ได้แก่ สภาพการณ์ทางสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัย ส่วนเจตจำนงร่วมนั้น อาจอยู่ในรูปของกฎหมายวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ค่านิยมทางสังคม ทฤษฎีทางเศรษฐกิจ และนโยบายของรัฐ เป็นต้น

สรุปได้ว่า จิตสำนึกทางสังคมของพุทธศาสนา คือ เจตจำนงร่วมหรือหลักกรรมระดับสังคมทั้งในส่วนของการปฏิบัติการ และ ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติการนั้น อันจะส่งผลต่อชีวิตของคนในสังคม ตามเหตุปัจจัยนั้นๆ

------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

ขุ.ธ. ๒๕/๑-๒/๑๗

ม.มู. ๑๒/๒๐๙/๒๒๑

ม.ม. ๑๓/๔๕๗/๕๕๙

สัง.น. ๑๖/๒๑-๒๒/๓๕-๓๖

กรมศาสนา.  พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับสังคายนาในพระบรมราชูปถัมภ์. กรุงเทพมหานคร

: โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๓๐.

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). พุทธธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๑๑. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหาจุฬา

ลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖.

       . กรรม นรก สวรรค์ สำหรับคนรุ่นใหม่. กรุงเทพมหานคร: ธรรมสภา. ม.ป.ป.

สุนทร ณ รังษี. พุทธปรัชญาจากพระไตรปิฎก. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งมหาจุฬาลงกรณ์

มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓.

 

 

พระพุทธประวัติ

 

พระพุทธประวัติ

          ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี พระนางสิริมายา ราชธิดาของกษัตริย์โกลิยวงศ์ ผู้ครองกรุงเทวทหะ พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงประสูติพระโอรส เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ณ สวนลุมพินีวัน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ (ปัจจุบัน คือ ตำบลรุมมินเด ประเทศเนปาล)

         อสิตดาบส เป็นมหาฤษีอยู่ ณ เชิงเขาหิมพานต์เป็นที่เคารพของราชสกุลได้รับ ทราบข่าวการประสูติของพระกุมารจึงเดินทางมาเยี่ยม และได้ทำนายว่า ถ้าพระกุมารอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก ๕ วันหลังประสูติพระเจ้าสุทโธทนะพร้อมทั้งพระนางสิริมหามายา พระประยูรญาติได้จัดพิธีขนานพระนามพระราชกุมารว่า สิทธัตถะ โดยเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนมาเลี้ยง แล้วได้คัดเลือกเอาพราหมณ์ชั้นยอด ๘ คนให้เป็นผู้ทำนายลักษณะพระกุมาร เมื่อประสูติได้ ๗ วัน พระมารดาก็เสด็จทิวงคต พระเจ้าสุทโธทนะ จึงมอบให้พระนางประชาบดีซึ่งเป็นพระขนิษฐาของพระนางสิริมหามายาเป็นผู้เลี้ยงดู เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะพระชนมายุ ๘ พรรษาได้ทรงศึกษาในสำนักครูวิศวะมิตร พระองค์ทรงศึกษาได้อย่างรวดเร็ว มีความจำดีเลิศ และทรงพระปรีชาสามารถในการกีฬา ขี่ม้า ฟันดาบ และยิงธนู

         วัยหนุ่ม พระราชบิดาไม่ต้องการให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงออกบวช พระองค์ทรงพอพระทัยที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นองค์จักรพรรดิ จึงใช้ควาพยายามทุกวิถีทางเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา พระราชบิดาได้โปรดให้สร้างปราสาท ๓ หลัง ให้ประทับใน ๓ ฤดู และทรงสู่ขอพระนางโสธราพิมพา พระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ แห่งกรุงเทวทหะ อยู่ในตระกูลโกลิยวงค์ให้อภิเษกด้วย เจ้าชายสิทธัตถะได้เสวยสุขสมบัติจนพระชนมายุ ๒๙ พรรษา พระนางยโสาธาราก็ประสูติพระโอรส ทรงพระนามว่า ราหุล

         เสด็จออกบรรพชา เจ้าชายสิทธัตถะทรงเบื่อหน่ายในโลกียวิสัย ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติอย่างเหลือล้น พระองค์ก็ยังคงตริตรองถึงชีวิตคน ฝักใฝ่พระทัยคิดค้นหาวิธีทางดับทุกข์ที่มนุษย์เรามีมากมาย พระองค์คิดว่า ถ้ายังอยู่ในเพศฆราวาส พระองค์คงหาทางแก้ทุกข์ อันเกิดจากความแก่ ความเจ็บ ความตายไม่ได้แน่ พระองค์จึงตัดสินใจเสด็จออกบวช โดยพระองค์ทรงม้ากัณฐกะ สู่แม่น้ำอโนมา ณ ที่นี้พระองค์ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิตและมอบหมายเครื่องประดับและม้ากัณฐกะให้นายฉันนะนำกลับไปยังกรุงกบิลพัสดุ์

         การแสวงหาธรรม ระยะแรกหลังจากทรงออกบวชแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงศึกษาในสำนักอาฬารดาบส ที่กรุงราชคฤห์ อาณาจักรมคธ เมื่อสำเร็จการศึกษาจากสำนักนี้แล้วพระองค์ทรงเห็นว่าไม่ใช่หนทางในการหลุดพ้นจากทุกข์ตามที่พระองค์ได้ทรงมุ่งหวังไว้พระองค์จึงลาอาฬารดาบส และอุททกดาบสเดินทางไปแถบแม่น้ำคยา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แห่งกรุงราชคฤห์ อาณาจักรมคธ

         การบำเพ็ญทุกรกิริยา เมื่อพระองค์ทรงเปลี่ยนพระทัยที่จะคิดค้นคว้าแสวงหาความรู้ด้วยพระองค์เองแทนที่จะทรงเล่าเรียนในสำนักอาจารย์แล้วพระองค์เริ่มด้วยการทรมานพระวรกายตามวิธีการของโยคี เรียกว่า การบำเพ็ญทุกรกิริยา บริเวณแม่น้ำ เนรัญชรานั้น พระมหาบุรุษได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นเวลา ๖ ปี พระองค์ก็ยังคงมิได้ค้นหาทางหลุดพ้นจากทุกข์ได้ พระองค์ทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา แล้วกลับมาเสวยพระกระยาหารเพื่อบำรุงพระวรกายให้แข็งแรง จะได้มีกำลังในการคิดค้นพบวิธีใหม่ ในขณะที่พระมหาบุรุษได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยานั้น ได้มีปัญจวัคคีย์มาคอยปรนนิบัติรับใช้ด้วยความหวังว่า พระมหาบุรุษได้ตรัสรู้แล้วพวกตนจะได้รับการถ่ายทอดบ้าง และเมื่อพระมหาบุรุษล้มเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์ก็ได้ชวนกันละทิ้งมหาบุรุษไปทั้งหมดเป็นผลทำให้พระมหาบุรุษได้อยู่ตามลำพังในที่สงบเงียบ ปราศจากสิ่งรบกวนทั้งปวง ปัญจวัคคีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี พระองค์ได้ทรงตั้งพระสติ และเดินทางสายกลาง คือ การปฏิบัติในความพอเหมาะพอควร

         ตรัสรู้ ตอนเช้าวันเพ็ญเดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ นางสุชาดาได้นำข้าวมธุปายาส เพื่อไปบวงสรวงเทวดา ครั้นเห็นพระมหาบุรุษประทับที่โคนต้นไทรด้วยอาการสงบ นางคิดว่าเป็นเทวดา จึงถวายทอดข้าวมธุปายาสแล้วเสด็จไปริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตอนเย็นวันนั้นเองพระองค์ได้กลับมายังต้นโพธิ์ที่ประทับ พบคนหาบหญ้าชื่อ โสตถิยะ คนหาบหญ้าได้ถวายหญ้าให้พระองค์ปูลาด ณ ใต้ต้นโพธิ์ แล้วขึ้นประทับหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก และได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า แม้เลือดในกายของเราจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตาม ถ้ายังไม่พบธรรมวิเศษแล้วจะไม่ยอมหยุดความเพียรเป็นอันขาด เมื่อทรงตั้งจิตอธิษฐานแล้ว พระองค์ก็ทรงสำรวมจิตให้สงบแน่วแน่ พระองค์เริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิต และในที่สุดทรงชนะความลังเลพระทัย ทรงบรรลุความสำเร็จ เมื่อพระองค์ทรงรู้เห็นอย่างนี้ จิตก็พ้นจากกิเลสทั้งปวง พระองค์ก็ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ในวันเพ็ญ เดือน ๖ ปีระกาธรรมสูงส่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น คือ อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค

         การแสดงปฐมเทศนา วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอาสาฬหะ (เดือน ๘) ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระพุทธเจ้าเสด็จไปหาปัญจวัคคีย์  พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เรียกว่า ธรรมจักกัปวัตนสูตร ในขณะที่ทรงแสดงธรรมนั้น ท่านโกณฑัญญะ ได้ธรรมจักษุ คือ พระโสดาบัน ได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของสัมมสัมพุทธเจ้า เรียกการบวชครั้งนี้ว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะ จึงเป็นพระภิกษุรูปแรกในพุทธศาสนา

         เมื่อพระองค์ มีสาวกเป็นพระอรหันต์ ๖๐ องค์ และก็ได้ออกพรรษาแล้ว ทรงพิจารณาเห็นสมควรว่าจะออกไปประกาศศาสนา ให้เป็นที่แพร่หลายได้แล้ว พระองค์จึงเรียกประชุมสาวกทั้งหมดแล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราได้พ้นจากบ่วงทั้งปวงทั้งชนิดที่เป็นทิพย์ และชนิดที่เป็นของมนุษย์แล้ว แม้ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เราทั้งหลายจงพากันจาริกไปยังชนบททั้งหลาย เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่มหาชนเถิด อย่าไปรวมกันทางเดียวถึงสองรูปเลย จงแสดงธรรมให้งามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ เถิด จงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสเบาบางนั้นมีอยู่ เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรม ย่อมจะเสื่อมจากคุณที่จะพึงได้ถึง ผู้รู้ทั่วถึงธรรมคงจักมีอยู่ แม้ตัวเราก็จะไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรมเช่นกัน พระองค์ทรงส่งสาวกออกประกาศศาสนาพร้อมกันทีเดียว ๖๐ องค์ ไป ๖๐ สาย คือ ไปกันทุกสารทิศทีเดียว แม้พระองค์เองก็ไปเหมือนกัน ไม่ใช่แต่สาวกอย่างเดียวเท่านั้น นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของบุคคลที่จะเป็นผู้นำทีเดียว

         สาวกทั้ง ๖๐ องค์เมื่อได้รับพุทธบัญชาเช่นนั้นก็แยกย้ายกันไปประกาศศาสนาตำบลต่างๆ ทำให้กุลบุตรในดินแดนถิ่นฐานต่าง ๆ เหล่านั้น หันมาสนใจมากเลื่อมใสมากขึ้น บางคนขอบวช แต่สาวกเหล่านั้นยังให้บวชเองไม่ได้  จึงต้องพากุลบุตรเหล่านั้นมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อให้พระองค์บวชให้ทำให้ได้รับความลำบากในการเดินทางมาก ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้สาวกเหล่านั้นอุปสมบทกุลบุตรได้โดยโกนผม และหนวดเคราเสียก่อน แล้วจึงให้นุ่งห่มผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด นั่งคุกเข่าพนมมือกราบภิกษุแล้วเปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ รวม ๓ ครั้ง การอุปสมบทนี้เรียกว่า ติสรณคมนูปสัมปทา คือ อุปสมบทโดยวิธีให้ปฏิญญาณตนเป็นผู้ถึงสรณคมน์

         ตั้งแต่พรรษาที่ ๑ ที่พระองค์ได้สาวกเป็นพระอรหันต์จำนวน ๖๐ องค์แล้วพระองค์ก็ได้อาศัยพระมหากรุณาคุณทำการประกาศเผยแผ่คำสอน จนได้สาวกเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นพุทธบริษัท ๔ ขึ้น อย่างแพร่หลายและมั่นคง การประกาศศาสนาของพระองค์ได้ดำเนินการไปอย่างเข้มแข็ง โดยการจาริกไปยังหมู่บ้านชนบทน้อยใหญ่ในแคว้นต่างๆ ทั่วชมพูทวีปตลอดเวลาอีก ๔๔ พรรษา คือ พรรษาที่ ๒ - ๔๕ ดังนี้

         พรรษาที่ ๒ เสด็จไปยังเสนานิคมในตำบลอุรุเวลา ในระหว่างทางได้สาวกกลุ่ม ภัททวคคีย์ ๓๐ คน และที่ตำบลอุรุเวลาได้ ชฎิล ๓ พี่น้อง คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ และ คยากัสสปะ กับศิษย์ ๑,๐๐๐ คน เทศนาอาทิตตปริยายสูตร ที่คยาสีสะเสด็จไปยังราชคฤห์แห่งแควว้นมคธ กษัตริย์เสนิยะพิมพิสาร ทรงถวายสวนเวฬุวัน แด่คณะสงฆ์ ได้สารีบุตร และโมคคัลลานะเป็นสาวก อีก ๒ เดือนต่อมาเสด็จไปยังกบิลพัสดุ์ ทรงพำนักที่ นิโครธาราม ได้สาวกมากมาย เช่น นันทะ ราหุล อานนท์ เทวทัต และพระญาติอื่นๆ อนาถปิณฑิกะเศรษฐี อาราธนาไปยังกรุงสาวัตถีแห่งแคว้นโกศล ถวายสวนเชตะวัน แต่คณะสงฆ์ ทรงจำพรรษาที่นี่

         พรรษาที่ ๓ นางวิสาขาถวายบุพพาราม ณ กรุงสาวัตถี ทรงจำพรรษาที่นี่

         พรรษาที่ ๔ ทรงจำพรรษาที่เวฬุวัน ณ กรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ

         พรรษาที่ ๕ โปรดพระราชบิดาจนได้บรรลุอรหัตตผล ทรงไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างพระญาติฝ่ายสักกะกับพระญาติฝ่ายโกลิยะเกี่ยวกับการใช้น้ำในแม่น้ำโรหิณี ทรงบรรพชาอุปสมบทพระนางปชาบดีโคตมี และคณะเป็นภิกษุณี

         พรรษาที่ ๖ ทรงแสดงยมกปาฏิหารย์ในกรุงสาวัตถี ทรงจำพรรษาบนภูเขามังกลุบรรพต

         พรรษาที่ ๗ ทรงเทศนา และจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี ระหว่างจำพรรษาเสด็จขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์โปรดพุทธมารดาด้วยพระอภิธรรม

         พรรษาที่ ๘ ทรงเทศนาในแคว้นภัคคะ ทรงจำพรรษาในสวนเภสกลาวัน

         พรรษาที่ ๙ ทรงเทศนาในแคว้นโกสัมพี

         พรรษาที่ ๑๐ คณะสงฆ์แห่งโกสัมพีแตกแยกกันอย่างรุนแรง ทรงตกเตือนไม่เชื่อฟัง จึงเสด็จไปประทับและจำพรรษาในป่า ปาลิเลยกะ มีช้างเชือกหนึ่งมาเฝ้าพิทักษ์ และรับใช้ตลอดเวลา

         พรรษาที่ ๑๑ เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี คณะสงฆ์แห่งโกสัมพีปรองดองกันได้ ทรงจำพรรษาในหมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ เอกนาลา

         พรรษาที่ ๑๒ ทรงเทศนา และจำพรรษาที่เวรัญชา เกิดความอดอยากรุนแรง

         พรรษาที่ ๑๓ ทรงเทศนา และจำพรรษาบน ภูเขาจาลิกบรรพต

         พรรษาที่ ๑๔ ทรงเทศนา และจำพรรษาที่กรุงสาวัตถี ราหุลขอบรรพชาอุปสมบท

         พรรษาที่ ๑๕ เสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ สุปปพุทธะถูกแผ่นดินสูบ เพราะขัดขวางทางโคจร

         พรรษาที่ ๑๖ ทรงเทศนาและจำพรรษาที่ อาลวี

         พรรษาที่ ๑๗ เสด็จไปยังกรุงสวัตถี กลับมายังอาลวีและทรงจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์

         พรรษาที่ ๑๘ เสด็จไปยัง อาลวี ทรงจำพรรษาบน ภูเขาจาลิกบรรพต

         พรรษาที่ ๑๙ ทรงเทศนา และจำพรรษาที่บน ภูเขาจาลิกบรรพต

         พรรษาที่ ๒๐ โจร องคุลีมาลย์ กลับใจเป็นสาวก ทรงแต่งตั้งให้พระอานนท์รับใช้ใกล้ชิด ทรงจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์ ทรงเริ่มบัญญัติวินัย

         พรรษาที่ ๒๑ - ๔๔ ทรงยึดเอาเชตะวัน และบุพพารามในกรุงราชคฤห์เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่และเป็นที่ประทับจำพรรษา เสด็จพร้อมสาวกออกเทศนาโปรเวไนยสัตว์ตามแว่นแคว้นต่าง ๆ โดยรอบ

         พรรษาที่ ๔๕ และสุดท้าย พระเทวทัต คิดปลงพระชนม์ กลิ้งก้อนหินจนเป็นเหตุให้พระบาทห้อโลหิต ทรงได้รับการบำบัดจากหมอชีวก

          การเสด็จปรินิพพาน หลังจากพระพุทธเจ้าแสดงปัจฉิมโอวาท ตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน ๖) ยามสุดท้ายของวันนั้น ณ ป่าไม้สาละ(สาลวันอุทยาน) ของกษัตริย์มัลละ กรุงกุสินารา พระองค์ได้ประทับใต้ต้นสาละคู่ หลังจากตรัสโอวาทให้แก่พระอริยสงฆ์แล้ว พระองค์มิได้ตรัสอะไรอีกแล้วเสด็จปรินิพพาน  ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์นักที่วันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้าตรงกัน คือ วันเพ็ญเดือนหก

------------------------------------------------

ความจริงของชีวิต

 

ความจริงของชีวิต

กระแสทางวัฒนธรรมปัจจุบันนี้ หลายๆ ด้านของโลก มีการปฏิสัมพันธ์กันภายใต้กระแสลัทธิอุตสากรรมนิยม วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ส่วนเกษตรกรรมก็เกิดลัทธิเครื่องจักรนิยม หรือเทคโนโลยีนิยม ละทิ้งวิถีชีวิตนิยมแบบเก่าๆ หันมาพึ่งพาเครื่องจักรกลหรือเทคโนโลยีกันหมด ส่วนในเรื่องวิถีชีวิต เศรษฐกิจ การเมือง และการเรียนรู้ กลายเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในกระแสแห่งอารยธรรมตะวันตก ซึ่งได้แผ่ขยายไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ผลจากกระแสในการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ เพื่อปลดปล่อยจิตใจมนุษย์ให้เป็นอิสระจากอำนาจอิทธิพลของคริสต์ศาสนจักรในยุคกลาง เพื่อแสดงความความรู้ ความเข้าใจสภาวะความเป็นจริงของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดตามวันเวลา

การรู้จักใช้เหตุผล รู้จักคิด รู้จักต้องข้อสงสัยสังเกต แล้วแสวงหาความรู้ เพื่อให้ได้คำตอบในเรื่องที่สนใจที่เป็นคุณสมบัติที่มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์อื่น ส่งผลให้มนุษย์สนใจขบคิดใคร่ครวญในเรื่องต่างๆ อย่างรอบด้าน แต่ปัญหาพื้นฐานทางภววิทยา (Ontological problems) ที่สนใจ ได้แก่ เรื่องความเป็นจริง และจุดหมายปลายทางของโลก จักวาล และชีวิตมนุษย์ ที่มนุษย์สนใจในเรื่องเหล่านี้มีสาเหตุ คือ เพื่อให้เกิดความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นจริงของโลกและจักรวาล ที่ตนเองอาศัยอยู่อย่างถูกต้อง เพื่อเข้าใจถึงสถานภาพของผู้เข้าอาศัยโลกและจักรวาล คือ มนุษย์ เพื่อนำความรู้นั้นมาพัฒนาวิถีชีวิตของตนให้บรรลุจุดหมายสูงสุด เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับมนุษย์ และสังคม เพื่อสร้างสติปัญญา และความรู้ใหม่ๆ

แต่ความจริงแล้ว ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นต่อมนุษย์ สังคม และธรรมชาติที่กำลังเผชิญอยู่ โดยรากฐานแล้วล้วนแล้วแต่เป็นองค์ความรู้ของมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้น ความรู้จึงเปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะในที่สุดแล้วปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นปัญหาของปุถุชนคนธรรมดานั้นเอง

ในปัจจุบัน ความไม่รู้อริยสัจหรืออวิชชานั้น ซึ่งหมายถึงความไม่รู้นี้ถูกกล่าวถึงในชิ้นงานของนักคิด นักเขียน นักวิชาการ และนักวิจารณ์มากมายหลายท่าน แต่จะใช้ในความหมายที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้เงื่อนไข และบริบทที่แตกต่างกันไป จึงเป็นเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งไม่ตรงกับหลักการเดิม ดังที่อาจารย์พุทธทาสภิกขุ กล่าวไว้ว่า เรื่องอวิชานี้ชาวพุทธมักมองข้ามหรือไม่ให้ความสำคัญทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน คนส่วนใหญ่จะเข้าใจความหมายเพียงกว้างๆ ว่า อวิชชา คือ ความไม่รู้อย่างธรรมดาแค่นั้น

มนุษย์เราทุกรูปนามล้วนแล้วแต่แสวงหาความรู้ด้วยความเชื่อว่า ความรู้สามารถสร้างชีวิตให้ดีได้ ที่สำคัญและท้าทายที่สุดก็คือ เบื้องหลังความรู้ทั้งหลายก็คือ การเถลิงอำนาจความมั่นหมายในความรู้ (Will to Knowledge) ก็คือ ความมั่นหมายในอำนาจ (Will to Power) แนวความคิดนี้เป็นข้อเสนอนิทเช่ต์เมื่อศตวรรษที่แล้ว แนวคิดดังกล่าวนั้น ส่งผลให้มนุษย์จำนวนไม่น้อย แสวงหา บูชาความรู้โดยมีค่านิยม และกระแสความเชื่อทางสังคมเป็นพลังผลักดันอยู่เบื้องหลัง ลักษณะของความรู้ที่เสริมสร้างอัตตานี้ ส่งผลกระทบในด้านลบมากกว่าด้านบวกต่อการพัฒนาชีวิตในระยะเวลาอันยาวนาน เพราะไม่เอื้ออำนวย และเกื้อกูลต่อการดำเนินชีวิต และไม่ถือว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้องไม่สอดคล้องธรรมชาติ

ปรัชญาอินเดียเป็นปรัชญาชีวิต ถูกนำไปใช้ปฏิบัติในการดำเนินชีวิต แต่ดินแดนแห่งนี้เป็นศูนย์รวมของการศึกษาหรือแนวคิดมากมาย ทั้งยังเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่มีเจ้าลัทธิเกิดขึ้นมากมายหลายสำนัก และเมื่อลัทธิที่เกิดขึ้นทุกลัทธิก็พยายามคิดค้นปรัชญาวางหลักการและแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับมากที่สุด มีคุณค่าสูงสุดแก่ชีวิตที่สามารถนำไปใช้เพื่อการพ้นทุกข์ แนวคิดนี้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ชาวอินเดียเชื่อว่า ในชีวิตคนๆ หนึ่ง มีสิ่งที่เรียกว่า อาตมันเป็นสิ่งเที่ยงแท้ เป็นวิญญาณของเรา สักวันหนึ่งมันจะรวมกันกับอัตตาใหญ่ที่เรียกว่า ปรมาตมันหรือพรหมัน หรือเทพเจ้าผู้ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งขึ้นบนโลก พระเวทเท่านั้นที่จะให้ความรู้เรื่องพรหมัน และความรู้ที่แท้จริงได้ พระเวทแบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ ๑) ความรู้ระดับอปรวิทยา เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และเรื่องราวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหล่านี้ คือ ความรู้จอมปลอม เป็นอวิทยาตามแนวคดิของอุปนิษัท, ๒) ความรู้ระดับปรวิทยา คือ ความรู้ระดับสูง เป็นความรู้เกี่ยวกับสภาพนิรันดร เรียกว่า วิทยาหรือวิชชา

จะเห็นได้ว่า ความรู้ทั้งสองระดับ คือ อวิทยากับวิทยา มีความแตกต่างกันมาก ความรู้และความไม่รู้ทั้งสองระดับถูกซ่อนอยู่ในพรหมัน

คัมภีร์อุปนิษัทกล่าวว่า ทฤษฎีมายา ในบางลักษณะก็ใช้ในความหมายเดียวกับคำว่า อวิทยา เช่น มายา หมายถึง ความลวงตาทั้งหลายในจักรวาล เป็นอำนาจของพระเจ้า มายา หมายถึง พระผู้เป็นเจ้าเป็นมายิน คือ พระผู้เป็นเจ้าผู้มีมายา มีทิพย์อำนาจในการสร้างสวรรค์ ตามพระประสงค์ของพระองค์

สรุปว่า มายา หมายถึง สิ่งลวงตาอาจเป็นก็ได้หรือไม่จริงก็ได้ตามความเชื่อของแต่ละกลุ่มความเชื่อ ซึ่งมี ๒ กลุ่ม คือ มายากับอวิทยา เป็นสิ่งเดียวกัน และมายากับอวิทยาหรืออวิชชาไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

ความไม่รู้จริงในความแท้จริงของสิ่งนั้นๆ เป็นเหตุให้เกิดพันธะ พันธะ คือ การที่วิญญาณติดโลกขึ้นอยู่กับโมหะ คือ ความหลง หรือความงมงาย เพราะฉะนั้นวิญญาณจึงต้องสร้างกรรมต่างๆ ความดี และชั่วของวิญญาณของแต่ละบุคคลจะสร้างพลังทางศีลธรรมขึ้นมา แต่มนุษย์ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเนื้อ เมื่อมีพันธะกับโลกนั้นย่อม หมายถึง ต้องเกี่ยวข้องอยู่ในโลก ซึ่งเรียกว่า ต้องอยู่ในการเวียนว่ายตายเกิดจนกว่าจะชดใช้กรรมเหล่านั้นหมด และสร้างกรรมดีให้สม่ำเสมอ เพื่อสร้างแรงกรรมให้ไปเกิดในภพที่ปรารถนา

หลักการในการปฏิบัติที่มุ่งไปสู่ความหลุดพ้นที่เรียกว่า โมกษะ ขั้นตอนเรียกว่า อาศรม ๔ คือ ๑) พรหมจารี คือ ผู้อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน, ๒) คฤหัสถ์ คือ ผู้อยู่ในวัยครองเรือน, ๓) วานปรัสถ์ คือ ผู้อยู่ในวัยต้องออกไปอยู่ป่าเมื่อมีหลาน และ๔) สันยาสี คือ ผู้แสวงหาธรรมละโลกออกไปอยู่ป่า  เป้าหมายของระบบดำเนินชีวิตระบุไว้ในมานธรรมศาสตร์ คือ ธรรมะมุ่งทำหน้าที่หรือหลักธรรมประจำวัน วรรณะ อรรถะ กามะ และโมกษะ

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้หรืออวิชชาหรืออวิทยาในปรัชญาอินเดียนั้น คือ สภาวะที่ทำให้มนุษย์หลง ทำให้มนุษย์ไม่รู้แจ้งในอาตมันว่า เป็นสิ่งเดียวกับพรหมัน จนเป็นเหตุให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด

อวิชชาเป็นความไม่รู้ที่ทำให้เกิดความทุกข์ ความทุกข์ที่ว่า ต้องเป็นความทุกข์ในชีวิต เมื่อกล่าวถึงชีวิตต้องพิจารณาองค์ประกอบของชีวิตให้เข้าใจ หลักคำสอนทางพุทธศาสนาให้ทัศนะชีวิตว่า มีองค์ประกอบสำคัญ คือ รูปกับนาม เมื่อกล่าวถึงทุกข์ก็หมายถึง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากร่างการและใจ กระบวนธรรมที่เป็นความจริงย่อมเกี่ยวกับชีวิต จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอวิชชาด้วย

การไม่รู้ว่าชีวิตมีความจริงอยู่ ๔ ประการ ซึ่ง ได้แก่ ความจริง คือ ทุกข์, ความจริง คือ เหตุให้เกิดทุกข์, ความจริง คือ การดับทุกข์ได้ และความจริง คือ วิธีปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงความดับทุกข์ โดยสิ้นเชิงนั้นว่า มีอยู่จริง ดังนั้น การไม่รู้จักความดี ๓ อย่าง คือ มีความประพฤติชอบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ การรู้ความชั่ว ๓ ประการ คือ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต และการรู้ไม่แจ้ง หมายถึงว่า แม้จะรู้สิ่งที่ควรรู้ว่า เป็นสิ่งที่ควรทำ และรู้สิ่งที่ไม่ควรรู้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำก็จริง แต่เป็นความรู้ที่รู้กันแบบจำได้หมายรู้ตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียนจากตำราวิชาการ และจากการถ่ายทอดของครูอาจารย์มา

จะเห็นว่า ความหมายทั้ง ๔ คือ ไม่รู้ความจริง ไม่รู้สิ่งที่ควรรู้ รู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ และการไม่รู้แจ้ง ทั้งนี้เพราะความหมายหลักของกระบวนธรรมเหล่านี้ เช่น ไม่รู้ความจริงว่า ชีวิต คือ ขันธ์ ๕ อายาตนะ ๑๒ อินทรีย์ ๒๒ สัจจะ ๔ เป็นต้น ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องความจริงของชีวิต

อวิชชาเป็นกิเลสที่สำคัญ และมักจะถูกกล่าวถึงในเชิงลบ แต่ในฐานะที่เป็นเหมือนเครื่องหุ้มห่อโลกทั้งโลกไว้ เป็นเครือข่ายเหมือนอินเตอร์เน็ตที่ค่อยชักใยอยู่เบื้องหลังให้มนุษย์ลุ่มหลงเหมือนเฟรสบุ๊คให้ไปตามกระแสสังคมตามความต้องการ ซึ่ง พระราชวรมุนี (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้แนวคิดไว้ว่า “... ลักษณะของอวิชชา คือ ความไม่รู้ และที่ว่าไม่รู้นั้นไม่รู้อย่างไร ที่ว่า ไม่รู้ก็ตรงกันข้ามกับปัญญาที่ว่ารู้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีหรือไม่ใช้ปัญญาแล้วก็เป็นลักษณะอวิชชา คือ ไม่รู้ ...”

ธรรมชาติของอวิชชา คือ ความไม่รู้ที่คอยทำลายคุณภาพของความที่จะรู้หมดทุกอย่าง เหมือนตาที่ฝาฟางด้วยหมอกมายาอันปิดบังความเป็นจริงทั้งหมดในโลกนี้ ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย ความไม่ละอายบาป ความไม่กลัวบาป เป็นของมีมาตามอวิชชานั้น บุคคลผู้มีอวิชชาไม่เห็นแจ้ง ย่อมมีความเห็นผิด ย่อมมีความดำริผิด ผู้มีความดำริผิดย่อมมีวาจาผิด ผู้มีวาจาผิดย่อมมีการงานผิด ผู้มีการงานผิดย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด ผู้มีการเลี้ยงชีพผิดย่อมมีความพยายามผิด ผู้มีความพยายามผิดย่อมมีความระลึกผิด ผู้มีความระลึกผิดย่อมมีความตั้งใจผิด ผู้มีความตั้งใจผิดย่อมมีความรู้ผิด ผู้มีความรู้ผิดย่อมมีความหลุดพ้นผิด”

อวิชชามีลักษณะเป็นหัวหน้ากระบวนการที่ก่อให้เกิดทุกข์ของจิตให้ผลเป็นกฎแห่งกรรม ซึ่งหมุนเวียนอยู่ในวัฏฏะ ๓ ประการ คือ ๑) เพราะมีกิเลสที่จิต คือ อวิชชา ตัณหา และอุปาทาน, ๒) กรรมการทำทางจิต คือ สังขาร และกรรมภพ และ ๓) วิบากผลที่จิตได้รับ คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา อุปัตติภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ฯลฯ ได้แก่ ผลิตผลที่เกิดจากกรรมนั้นเอง

สรุปได้ว่า ความไม่รู้ ความอยาก ความยึดมั่น เป็นเหตุให้เกิดการกระทำกรรม กระทำทางจิต รวมทั้งพฤติกรรมทางกายด้วย เมื่อรับผลกรรมแล้วก็ย่อมจะหล่อเลี้ยงกิเลสตามวงเวียนการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบสิ้นตลอดกาล ซึ่งสามารถสรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้

๑) อวิชชามีลักษณะเป็นความไม่รู้ ไม่ได้ใช้ปัญญา

๒) อวิชชามีลักษณะห่อหุ้มโลก ปิดบังความจริงของสิ่งทั้งปวง

๓) อวิชชามีลักษณะเป็นความมืดหลอกลวงสัตว์โลกให้หลง

๔) อวิชชามีลักษณะเป็นเครื่องห่อหุ้มดวงจิตที่หนาและแข็ง

๕) อวิชชามีลักษณะเกิดได้เฉพาะแก่จิตที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมให้มีสติ

๖) อวิชชามีลักษณะเกิดดับไปตามอำนาจของเหตุปัจจัย

๗) อวิชชามีลักษณะเป็นสังขารธรรมที่มีการเกิดดับเหมือนสังขารธรรมทั้งหลาย

นักปราชญ์ได้ จัดประเภทของอวิชชาไว้ ๖ ประเภท คือ ๑) ความไม่รู้โดยทั่วๆ ไป, ๒) ความไม่รู้เพราะไม่ปฏิบัติ, ความไม่รู้เพราะปฏิบัติผิด, ๓) ความไม่รู้ในอาการที่ประกอบด้วยเวทนาทั้ง ๓ คือ รู้สึกสบายใจ, รู้สึกไม่สบายใจ และรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เฉย ๆ, ๔) ความไม่รู้ในอริยสัจทั้ง ๔ คือ ความไม่รู้ทุกข์, ความไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์, ความไม่รู้ความดับทุกข์, ความไม่รู้หนทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์, ๕) ความไม่รู้ในคติทั้ง ๕ คือ มนุสคติ ทางไปสู่มนุษย์, เทวคติ ทางไปสู่เทวดา, นิรยคติ ทางไปสู่นรก, เปตติคติ ทางไปสู่แดนเปรต และติรัจฉานคติ ทางไปสู่ดิรัจฉาน และ๖) ความไม่รู้ทวารทั้ง ๖ และอารมณ์ทั้ง ๖ จักขุทวาร เป็นแดนรับรู้ รูป, โสตทวาร เป็นแดนรับรู้ เสียง, ฆานทวาร เป็นแดนรับรู้ กลิ่น, ชิวหาทวาร เป็นแดนรับรู้ รส, กายทวาร เป็นแดนรับรู้ สัมผัส และมโนทวาร เป็นแดนรับรู้ ธรรมารมณ์

จะเห็นได้ว่า ประเภทของอวิชชานั้นได้แบ่งออกไปตามคติต่างๆ ตามกรรมที่ต้องไปสู่ภพตามคติที่กล่าวมาแล้ว ทั้ง ๖ คือ ความไม่รู้โดยทั่วๆ ไป, ความไม่รู้เพราะไม่ปฏิบัติ ความไม่รู้เพราะปฏิบัติผิด, ความไม่รู้ในอาการที่ประกอบด้วยเวทนา ๓, ความไม่รู้ในอริยสัจ ๔, ความไม่รู้ในคติทั้ง ๕ และความไม่รู้ทวารทั้ง ๖ อารมณ์ทั้ง ๖

เหตุเกิดของอวิชชา คือ อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดสังขาร สังขารเป็นเหตุให้เกิดอวิชชา,... อาหารของอวิชชา คือ นิวรณ์ ๕ ... นิวรณ์ ๕ คือ ธรรมเครื่องกั้นไม่ให้บรรลุความดี...และอวิชชาเกิด เพราะอาสวะเกิด อวิชชาดับ เพราะอาสวะดับ

จากแนวคิดที่กล่าวมานั้น สรุปได้ว่า อวิชชาหรือความไม่รู้นั้น หมายถึง โมหเจตสิก ซึ่งเป็นธรรมชาติ เป็นความจริง และเป็นธรรมดา ที่เนื่องอยู่กับจิต เกิดดับพร้อมกับจิต ปรุงแต่งจิตให้เป็นไปทางอกุศล ก่อให้เกิดความหลงผิด ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ดังนั้น ธรรมเหล่านี้ ก็คือ ความจริงของชีวิตนั้นเอง


เอกสารอ้างอิง

ม.มู. ๑๒/๑๒๘/๗๑.

องฺ.ทสก. ๒๔/๑๐๕/๑๘๓.

 -----------. ๒๔/๖๑/๑๐๓.

อภิ.วิ. ๓๕/๒๘๖/๑๔๑.

ธนู  แก้วโอภาส, ปรัชญาศาสนาตะวันออกตะวันตก. กรุงเทพมหานคร: ธรรมสารการพิมพ์, ๒๕๒๙.

พุทธทาสภิกขุ, อิทัปปัจจยตาฉบับย่นความ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๓๐.

พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาศ  ญาณวโร ป.ธ. ๙), โลกนาถทีปนี. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ดอก

หญ้า, ๒๕๓๗.

พระราชวรมุนี (ป.อ. ปยุตฺโต), ปรัชญาการศึกษาไทย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลง

กรณราชวิทยาลัย, ๒๕๒๐.

วีระ  สมบูรณ์, พรมแดนแห่งความไม่รู้. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๒.

ศรัณย์  วงศ์คำจันทร์, ปรัชญาเบื้องต้น. โรงพิมพ์อมรการพิมพ์, ๒๕๓๐.

ศรีสุรางค์  พูลทรัพย์, ประวัติศาสตร์ภูมิปรัชญาอินเดีย. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,

๒๕๔๕.

สถิต  วงศ์สวรรค์, ปรัชญาตะวันออก. กรุงเทพมหานคร: บริษัทรวมสาส์น จำกัด, ๒๕๔๑.

 

 

 

 

 

 

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML