จริยธรรมการเมือง

 


จริยธรรมการเมือง
 

ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2475 และในปัจจุบันการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย มีความก้าวหน้าไปมาก จะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งเกิดขึ้นจากสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน อันถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน เนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติใหม่ ๆ ที่จะสร้างความเข็มแข็งและประสิทธิภาพให้แก่ระบบการเมือง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การตรวจสอบอำนาจรัฐโดยองค์กรอิสระต่างๆ และจากภาคประชาชน เป็นต้น มาตรการเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบการเมือง แต่หากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่เปลี่ยนแปลงทัศนคติ และแนวความคิดแบบดั้งเดิมไปสู่แนวความคิดแบบประชาธิปไตยแล้ว ประเทศก็จะไม่สามารถพัฒนาไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ ซึ่งแนวคิดของการมีส่วนร่วมทางการเมืองถือเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย การที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เข็มแข็งได้นั้น ทางหนึ่ง คือ การส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้และมีความเข้าใจถึงประโยชน์ของการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นนั่นเอง

สถานการณ์ทางการเมือง กระแสการทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงการแตกแยกกันทางความคิดของกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคม เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอยู่ในขณะนี้ล้วนแล้วแต่สั่นคลอนความเจริญมั่นคงของประเทศ เป็นเรื่องยากที่ประเทศชาติจะรอดพ้นวิกฤตนี้ไปได้และต้องยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวข้างต้น มีผลมาจากพฤติกรรมของนักการเมืองเป็นส่วน ประกอบสำคัญ นั่นคือ การขาดจิตสำนึกด้านคุณธรรม และจริยธรรม ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนอย่างแท้จริง ในขณะที่ประชาชน ต่างถามหานักการเมืองที่มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ ย่อมส่งผลและเป็นหนทางที่จะช่วยให้ประเทศชาติสามารถผ่านพ้นวิกฤตได้

การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ไม่เว้นแต่ละวัน ในประเด็นที่เกี่ยวกับการทุจริตของนักการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาการใช้อำนาจทางกฎหมายอยู่เหนือกรอบคุณธรรม จริยธรรม และนับวันกระแสการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าสังคมของเรากำลังประสบปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับจิตสำนึกด้านคุณธรรม และจริยธรรมมากมาย โดยเฉพาะในวงการการเมือง จนอาจกล่าวได้ว่า มาตรฐานทางการเมืองกับวัฒนธรรมทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตยของประเทศไทย ด้อยในมาตรฐาน นับตั้งแต่ด้อยในความรับผิดชอบ ด้อยในความซื่อสัตย์ สุจริต ความมีจริยธรรม คุณธรรม และคงไม่มีใครปฏิเสธว่า การทุจริตของนักการเมืองทำให้ประชาชนทุกข์ยาก ลำเค็ญขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้คนดีข้าราชการดีๆ ท้อแท้ ไม่ก้าวหน้า ประเทศชาติเกิดความเสียหายทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยแต่ก็เห็นด้วยว่า เป็น ประชาธิปไตยที่ถูกชักจูง จัดฉาก ติดสินบน เพื่อแลกกับผลจากการเลือกตั้ง และเข้าใจว่าประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้งและต้องยอมรับว่าในบรรดาอาชีพที่มีอยู่นักการเมือง เป็นอาชีพที่มักไม่ได้รับความเชื่อมั่นหากชนะการเลือกตั้งซึ่งถือว่าเกิดจากประชาชนส่วนใหญ่เลือกมาจะทำอะไรก็ได้โดยอ้างว่า เป็นสิ่งที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนไม่ว่าจะขัดแย้งกับกฎหมายหรือจริยธรรมแค่ไหนก็ตามทีผู้คนมักกล่าวถึงในทางเสียดสีต่างๆ นานา มาโดยตลอด นับแต่อดีต

จริยธรรมของนักการเมืองนับได้ว่า เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่นักวิชาการทางการเมืองให้ความสนใจศึกษา และพยายามที่จะผลักดันให้เป็นเงื่อนไขสำคัญอันนักการเมืองจะยึดถือปฏิบัติทั้งนี้ เพราะนักการเมืองถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่ปัจจุบันปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมส่วนหนึ่งเกิดจากความเห็นแก่ตัวของนักการเมือง ความเห็นแก่พักแก่พวก เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ทำให้เกิดปัญหาทางด้านการเมืองที่ยึดเยื่อ ส่งผลกระทบต่อปัญหาบ้านเมืองในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ สังคม การท่องเที่ยว ความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับรากหญ้า เป็นต้น

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน คือ เป้าหมายของการพัฒนาระบบประชาธิปไตย ดังนั้น ความมั่นคง และเสถียรภาพของระบอบการเมืองในระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะขึ้นอยู่กับ ความรู้ความสามารถ จริยธรรม และคุณธรรมของนักการเมือง แล้วประการสำคัญยังขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจ และความศรัทธาของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ บทความเกี่ยวกับจริยธรรมการเมืองของนักการเมืองนั้น เป็นการส่งเสริมแนวความคิดในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยพร้อมทั้งกำหนดแนวทางในการที่จะพัฒนาให้นักการเมืองมีทัศนคติและแนวคิดทางการเมืองในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตย แล้วนำไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยของประชาชนทั่วไปในวิถีทางที่ถูกต้องชอบธรรม เพื่อรักษาให้ระบอบการเมืองมีเสถียรภาพต่อไป

จริยธรรมนักการเมือง คือ หลักเกณฑ์ที่ใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติของนักการเมืองโดยนักการเมืองหรือผู้นำทางการเมืองซึ่งมีฐานะเป็นผู้ปกครองและผู้ใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจทางการเมืองจึงต้องมีจริยธรรม คุณธรรมที่สูงส่งกว่าปัจเจกชนทั่วไปที่พึงมี เพราะคุณลักษณะดังกล่าวคือ จุดเริ่มต้นของที่มาของความไว้วางใจจากประชาชนนั่นเอง และการใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจทางการเมืองส่งผลต่ออธิปไตยของรัฐ และการอยู่รอดของประเทศ โดยมีปรัชญาหลายๆ สำนักได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับจริยธรรมคุณธรรม สำหรับนักการเมืองหรือผู้ปกครองพึงต้องตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดที่เกี่ยวกับปรัชญาเหล่านี้

ปรัชญาเต๋าเหล่าจื๊อ นักปราชญ์ชาวจีน ผู้ให้แนวคิดเกี่ยวกับปรัชญา เต๋า และเต๋อ โดยคำว่า เต๋อ (Te) แปลว่า พลังอำนาจ (Power) หรือคุณธรรม (Virtue) กฎธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งครอบงำสรรพสิ่งทั้งหลายทั่วสากลจักรวาลนั้น คือ เต๋า ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่มีชีวิต และที่ไม่มีชีวิตตั้งแต่สิ่งที่เล็กที่สุดจนถึงสิ่งที่ใหญ่ที่สุด ต่างก็ดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ของเต๋าทั้งสิ้น สำหรับสิ่งที่มีชีวิตนั้นไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์พืช หรืออื่นๆ จะมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวเรียกว่า เต๋อ จึงเป็นได้ทั้งพลังชีวิตและคุณธรรม สำหรับสัตว์พืช และสิ่งที่มีชีวิตในลักษณ์อื่นๆนั้น เต๋อ คือ พลังชีวิตที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ สำหรับมนุษย์แล้ว เต๋อ คือ พลังชีวิตที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่และคือคุณธรรมที่ทำให้ชีวิตนั้นมีค่าโดยสมบูรณ์จริยธรรมอันสูงสุดของมนุษย์ก็ คือ เต๋อนั่นเองทั้งเต๋าและเต๋อ ในส่วนที่ลึกที่สุดนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยหลักจริยธรรม (Ethics) ของเหล่าจื้อแบ่งเป็น 4 ข้อ ได้แก่

การรู้จักตนเองการรู้จักตนเอง หมายถึง การรู้จักธรรมชาติภายในที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตจิตใจของมนุษย์โดยตรงเหลาจื๊อไม่ส่งเสริมการแสวงหาความรู้ภายนอกเพราะมีแต่จะทำให้คนเราเหินห่างจากความรู้ความเข้าใจในชีวิตของตนและก่อให้เกิดความยุ่งยากขึ้นแก่ชาวโลกไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น การรู้จักตนเอง คือการรู้จักกฎธรรมชาติของชีวิต การรู้จักกฎธรรมชาติของชีวิตก็คือ การรู้จักเป้าหมายอันแท้จริงของชีวิตนั่นเอง

การชนะตนเองเมื่อรู้จักกฎธรรมชาติของชีวิตได้อย่างถ่องแท้ และปฏิบัติตามกฎธรรมชาตินั้นอย่างถึงที่สุดแล้วจนกระทั่งตัวเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกฎธรรมชาตินั้นไม่มีการฝืนใจอีกต่อไป เรียกว่า การชนะตัวเองได้อย่างเด็ดขาดเพราะเมื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติก็จะเกิดความรู้สึกที่เต็มเปี่ยมขึ้นมา และเมื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่าง

ความสันโดษเมื่อรู้จักกฎธรรมชาติของชีวิต และปฏิบัติตามกฎธรรมชาติของชีวิตนั้น จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวธรรมชาติก็จะเกิดความรู้สึกเต็มเปี่ยมขึ้นมามีแต่ความหยุดความพอ ไม่รู้สึกขาดตกบกพร่องอีกต่อไปนั้น คือ ชีวิตที่มักน้อยสันโดษที่สุดความสันโดษ ก็คือ ความพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่

อุดมคติแห่ง เต๋า จริยธรรมข้อที่สี่ของเหลาจื๊อ คือ จงมีเต๋าเป็นอุดมคติ การมีเต๋าเป็นอุดมคติ คือ การปฏิบัติตามเต๋า เมื่อปฏิบัติตามเต๋าได้โดยสมบูรณ์ชีวิตก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเต๋า ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเต๋า ก็คือชีวิตที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่าง นี่คือเป้าหมายอันแท้จริงของชีวิต

ปรัชญาขงจื้อ ขงจื้อถือได้ว่า เป็นตัวแทนแห่งความเชื่อของคนจีนทั้งมวล และถือได้ว่าเขาเป็นคนธรรมดาคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับเป็น เทพ ถึงกับมีผู้กล่าวว่าถ้าไม่ได้ศึกษาขงจื้อย่อมจะไม่เข้าถึงประวัติศาสตร์จีน ปรัชญาการเมืองของขงจื้อมีรากฐานมาจากคุณธรรม ความกตัญญู ความเมตตา คุณงามความดีความถูกต้อง ความตรงไปตรงมา การสนับสนุน และความไว้วางใจจากประชาชน โดยคำสอนของท่านถือเอา คุณธรรมกับการเมือง เป็นเรื่องเดียวกันโดยให้เริ่มจากการศึกษาตนเองจากบุคคลศึกษาสิ่งต่างๆ อย่างถ่องแท้ ซึ่งจะเป็นรากฐานนำพาสู่สันติสุขของสังคม โดยแท้ดั่งคำสอนของขงจื้อว่าด้วย คุณธรรม คุณงามความดี ความถูกต้อง ได้แก่ การปกครองยึดมั่นคุณธรรม ดุจดั่งดาวเหนืออยู่ประจำที่มีดาวอื่นๆ หมุนรอบด้วยความเคารพนับถือ ความคิดเสาหลักอีกประการหนึ่งของขงจื๊อ คือ การศึกษา การจะได้เข้าใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างแท้จริงมาจาการทุ่มเทตนเองในการขวนขวายใส่ใจศึกษายาวนาน โดยการศึกษาในความหมายของขงจื้อ คือ การได้ครูดีเป้าหมายของขงจื้อในการผลิตผู้สูงส่ง คือ ให้ความสง่า พูดจาถูกต้อง และแสดงถึงคุณธรรมในทุกสิ่ง ขงจื้อถือว่า ศีลธรรมศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ผู้คนจะยอมรับสถานการณ์รับรู้ความหมายของภาษา และคุณค่าของสังคม

ปรัชญาของโสเครตีสโสเครตีส เป็นนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกตะวันตกเป็นนักปรัชญาที่มุ่งเน้นในการแสวงหา และเผยแพร่คุณค่าแห่งปัญญา ปัญญาในความหมายของโสเครตีส คือ ความรู้แห่งความดีความรู้แห่งความดีจะนำพามนุษย์ไปสู่ชีวิตที่เป็นสุข โดยเฉพาะการมีชีวิตร่วมกันในสังคมมนุษย์จะต้องยึดมั่นในการกระทำความดี เพื่อให้การใช้ชีวิตร่วมกันเป็นไปโดยสันติสุข ปรัชญาของโสเครตีส จึงเป็นรากฐานสำคัญของความคิดทางการเมืองที่มุ่งมั่นให้มนุษย์แสวงหาความดีอันเป็นคุณธรรมสูงสุดของชีวิตสังคม และด้วยความกล้าหาญในการรักษาอุดมการณ์หลักคุณธรรมที่สำคัญของโสเครตีส ได้แก่

ปัญญา (Wisdom) หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับความดี คือ รู้ว่าอะไรดี และอะไรไม่ดีความดีสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล และเหตุผลของความดีจะทำให้มนุษย์มีความสุข ดังนั้น ผู้ปกครองกับคุณธรรมแห่งปัญญา คือ ผู้ปกครองที่ดีจะต้องมีคุณธรรมแห่งปัญญา กล่าวคือ ต้องมีความรู้ว่าความดีคืออะไร เมื่อผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจอย่างชัดแจ้งในเรื่องความดีผู้ปกครองจะต้องประพฤติปฏิบัติตนตามวิถีแห่งความดี เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชน ในขณะเดียวกันจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับความดีอย่างกว้างขวาง และทั่วถึง ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากผู้นำปราศจากคุณธรรมแห่งปัญญา คือ ไม่สนใจคุณค่าของความรู้เกี่ยวกับความดีไม่ประพฤติ และปฏิบัติตนตามวิถีแห่งความดีกลับมุ่งกระทำการ เพื่อประโยชน์ และความพอใจแห่งตน ใช้อำนาจ เพื่อกดขี่ข่มเหงประชาชน ประชาชนจะตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว และจมปลักอยู่กับความไม่รู้การกระทำชั่วอาจจะแพร่หลายระบาดอย่างกว้างขวาง เพราะความชั่วกระทำง่ายกว่าความดีสังคมจะยิ่งเลวร้าย และสังคมจะหายนะในที่สุด

ความกล้าหาญ (Courage) หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เราควรกลัวหรือไม่ควรกลัวกล่าวคือ มีความกล้าหาญที่จะทำความดีในทุกสถานการณ์แม้ว่าการกระทำความดีนั้นจะเสี่ยงด้วยชีวิตก็กล้าหาญที่จะกระทำ คุณธรรมเป็นความกล้าหาญมิใช่กล้าบ้าบิ่น แต่เป็นความกล้าหาญด้วยเหตุ และผลที่จะรักษาความดีและและความถูกต้องของสังคมให้ดำรงอยู่ตลอดไป

การควบคุมตัวเอง (Temperance) หมายถึง การมีชีวิตตามทำนองคลองธรรมแห่งความดีการไม่ปล่อยให้ชีวิตต้องตกเป็นทาสของอารมณ์ และความปรารถนาต่างๆ ที่ไม่เหมาะไม่ควร ชีวิตที่มีการควบคุมตนเองจะทำให้เกิดระเบียบในการดำเนินชีวิต จะทำให้เกิดการใช้ปัญญาในการกระทำความดีกล่าวคือ การใช้ปัญญาในการแสวงหาเหตุผลเพื่อรักษาตนให้ดำรงความดีอยู่ตลอดเวลา

ความยุติธรรม (Justice) หมายถึง การแสดงออกในรูปของการกระทำที่เคารพสิทธิของผู้อื่น และการไม่ยอมกระทำความชั่วต่อผู้อื่น คนที่ยุติธรรมจะต้องไม่ตอบแทนการกระทำที่อยุติธรรมของผู้อื่นด้วยความอยุติธรรม

การปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนา (Piety) หมายถึง การกระทำความดี และการเคารพยกย่องสิ่งที่ควรยกย่อง หลักสำคัญของศาสนาทุกศาสนา คือ การสั่งสอนให้บุคคลกระทำความดี ดังนั้น การที่บุคคลกระทำความดีอย่างมั่นคงเป็นการแสดงออกถึงคุณธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาการกระทำความดีมีความหมายครอบคลุมการใช้ปัญญาในการพิจารณาสรรพสิ่งด้วยเหตุด้วยผล และเลือกประพฤติปฏิบัติเฉพาะในสิ่งที่ดี มีความกล้าหาญที่จะกระทำในสิ่งที่ดี มีสติสามารถควบคุมตนเองไม่ให้ตกเป็นทาสของสิ่งที่ไม่ดี

ปรัชญาของอริสโตเติลหลักคุณธรรมด้านจริยธรรมของนักการเมือง 4 ประการตามแนวคิดของอริสโตเติล มีดังนี้

ประการแรก ความรอบคอบ (Prudence) หมายถึง การเล็งเห็นหรือหยั่งรู้ได้ง่าย และชัดเจนว่าอะไรควรประพฤติอะไรไม่ควรประพฤติ

ประการที่สอง ความกล้าหาญ (Courage) หมายถึง การกล้าเสี่ยงต่อการเข้าใจผิดกล้าเผชิญต่อการใส่ร้าย และการเยาะเย้ยเมื่อมั่นใจว่าตนกระทำความดี

ประการที่สาม การรู้จักประมาณ (Temperance) หมายถึง การรู้จักควบคุมความต้องการ และการกระทำต่างๆ ให้อยู่ในขอบเขตอันควรแก่สภาพตามฐานของบุคคลไม่ให้เกินความจำเป็นตามธรรมชาติไม่ให้ก้าวก่ายสิทธิอันชอบธรรมของผู้อื่น

ประการที่สี่ ความยุติธรรม (Justice) หมายถึง การให้แก่ทุกคน และแต่ละคนตามความสามารถ (Giving every man his due) ซึ่งจะต้องระลึกว่า เรามีกำลังให้เท่าใด ควรให้แก่ใครเท่าใด และอย่างไร

แมกซ์เวเบอร์ (Max Weber) กล่าวว่า คุณสมบัติเด่น 3 ประการที่จะประกอบกันเป็นจริยธรรมสำหรับนักการเมือง ได้แก่

มีอารมณ์ผูกพัน แน่วแน่ จริงจังต่ออุดมการณ์ (Passion) หมายความว่านักการเมืองจะต้องรู้สึกห่วง กังวล เอาใจใส่ต่อสิ่งที่เขาต้องการจะต่อสู้คำว่า Passion ไม่ใช่อารมณ์ที่เกิดจากความตื่นเต้นที่ไร้ความหมาย (Sterile Excitement) หรือเป็นเพียงเจตคติภายใน (Inner Attitude)เท่านั้น แม้แต่การปฏิวัติที่ปราศจากความรับผิดชอบก็ไม่นับว่าเป็น Passion

มีความรับผิดชอบ (Responsibility) จริยธรรมของความรับผิดชอบเป็นตัวที่จะชี้ให้เห็นชัดว่า นักการเมืองมีความมุ่งมั่นที่จะทำงาน เพื่ออุดมการณ์หรือไม่ คนที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาจริงจังต่ออุดมการณ์การจะได้รับการเคารพแต่จะไม่มีใครยอมให้เป็น นักการเมือง ถ้าไม่มีความรับผิดชอบ เพราะอาจใช้ความรุนแรงจากการมีอำนาจที่ชอบธรรมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะติดตามมา นักการเมืองที่มีลักษณะเช่นนี้ ย่อมเป็นบุคคลที่เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ และประชาชนอย่างยิ่ง

มีวิจารณญาณ (Judement) หมายถึง ความสามารถที่จะรักษาไว้ ซึ่งความไม่หวั่นไหว และความสงบ แต่สนองตอบต่อสภาพความเป็นจริง หรืออีกนัยหนึ่งจะต้องพิจารณาสิ่งต่างๆและคนจากระยะห่าง การขาดวิจารณญาณเป็นบาปหนักอย่างหนึ่งของนักการเมือง เป็นสิ่งที่ทำให้ไร้ประสิทธิภาพทางการเมือง

พุทธศาสนากับแนวคิดด้านจริยธรรมของนักการเมืองพุทธศาสนาเน้นความเสมอภาคเท่าเทียมกัน พระราชาในคติพุทธศาสนาจึงเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่สูงส่งด้วยคุณธรรมความดี และชาติกำเนิด ด้วยเหตุที่พระราชาหรือผู้ปกครองมาจากมนุษย์ด้วยกันหรือมนุษย์เหมือนกันกับประชาชนทั่วไป จึงได้นำไปสู่ลักษณะเฉพาะของการปกครองแบบพุทธ ที่เรียกว่า ระบอบถือธรรมเป็นสำคัญ (ธรรมาธิปไตย) เพราะเหตุที่ถือธรรมเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการปกครอง ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระปฐมบรมราชานุสรณ์ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม ดังนั้น สังคมเราจึงคุ้นเคยกับธรรมของผู้ปกครอง ที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรม โดยนักการเมืองในฐานะที่จะต้องเป็นนักปกครองจึงต้องมีธรรมะในเรื่องทศพิธราชธรรม ซึ่งประกอบด้วย

ทาน การให้ คือ การแบ่งปันช่วยเหลือสละทรัพย์สิ่งของเงินทอง เพื่อการกุศลบำรุงเลี้ยง ช่วยเหลือประชาราษฎร์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

ศีล ความประพฤติดีงาม คือ สำรวมกาย และวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริตรักษากิตติคุณให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์มิให้มีข้อใดที่ใครจะดูแคลน

บริจจาคะ การบริจาคเสียสละความสุขสำราญตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

อาชชวะ ความซื่อตรง คือ ซื่อตรง ทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจไม่หลอกลวงประชาชน

มัททวะ ความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัยไม่เหย่อหยิ่งหยาบคายกึ่งตัว มีความสง่างามเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่นนวลละมุนละไมให้ได้ความรักภักดีแต่มิขาดยำเกรง

ตปะ ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลศตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญ หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ทำกิจให้บริบูรณ์

อักโกธะ ความไม่โกรธ คือ ไม่กริ้วกราดลุอำนาจความโกรธจนเป็นเหตุให้วินิจฉัยและกระทำการต่างๆผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาประจำไว้ระงับความเคืองขุ่น วินิจฉัยความ และกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบเป็นตัวของตัวเอง

อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น การเก็บภาษีขูดรีดหรือเกณฑ์แรงงานเกินขนาดไม่หลงระเริงอำนาจขาดความกรุณาหาเหตุเบียดเบียน ลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง

ขันติ ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำถึงจะลำบากกายเหนื่อยหน่ายเพียงไรก็ไม่ท้อถอยถึงจะถูกหยั่งถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใดก็ไม่หมดกำลังใจไม่ยอมละทิ้งกรณีที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม

อวิโรชนะ ความไม่คลาดธรรม คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหวเพราะถ้อยคำที่ดีร้ายลาภ สักการะสถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรมก็ดีนิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครองตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม คือ ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป

ธรรมะสำหรับนักการเมืองตามแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุกำหนดธรรมะสำหรับนักการเมืองต้องถือปฏิบัติ ดังนี้

ธรรมะในส่วนที่เรียกว่า การเมือง มีความหมายอย่างไรก็ต้องเอาความหมายนั้นมา เป็นคุณสมบัติของนักการเมือง เรียกว่า ธรรมะสำหรับนักการเมือง เช่น ธรรมะ ที่ตรงตามตัวธรรมสัจจะ คือ ข้อเท็จจริงที่จะทำให้บ้านเมืองอยู่เป็นผาสุกนักการเมืองก็จะต้องมี

นักการเมืองต้องเป็นปูชนียบุคคลเสียสละอย่างพระโพธิสัตว์ คือ บุคคลที่มีปัญญาไม่เห็นแก่ตัวทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อผู้อื่น เสียสละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อส่วนรวม

นักการเมืองต้องฝากชีวิตจิตใจกับพระเจ้า ให้เป็นคนของพระเจ้า เหมือนกับพระโพธิสัตว์ทุกองค์รับใช้พระอาทิพระพุทธะ คือ การหันมาให้ความสนใจกับพระธรรม ซื่อตรงต่อหน้าที่ หยุดการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ที่ล้วนแล้วแต่เป็นคนของประโยชน์แห่งตัวกู-ของกูเป็นการให้ความสำคัญ และแสวงหาประโยชน์ส่วนรวม

นักการเมืองต้องเป็นสัตบุรุษ คือ พระอรหันต์ที่ระงับ คือ หมดกิเลสแล้วสัตบุรุษจะต้องตั้งต้นด้วยการเกลียดบาปหรือเกลียดการทุจริตเกลียดความชั่ว ปลงสังขารจึงจะสงบระงับไปจากความชั่ว ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

นักการเมืองจะต้องจัดระบบการเมืองของตน ให้ประกอบด้วยธรรม ระบบการเมือง หมายถึง วิธีการที่จะเลือกเอาให้เหมาะสมแก่สถานการณ์ของตน แต่ต้องประกอบไปด้วยธรรม

-----------------------------------------------

 

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

          

              . นักการเมืองไทย : จริยธรรม ผลประโยชน์ทับซ้อน การคอร์รัปชัน สภาพปัญหา

สาเหตุ ผลกระทบ แนวทางแก้ไข.  พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร:

สำนักพิมพ์สายธาร, 2553.

พุทธทาสภิกขุ, พุทธทาสภิกขุกับการแนะแนวทางการดำเนินชีวิต, บทความวารสาร

มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดย สมเจตน์  ผิวทองงาม 2549.

สมบัติ  ธำรงธัญวงศ์, การเมืองอังกฤษ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร: พิมพลักษณ์

คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2548.

ปรัชญานาคารชุน (Nagarajuna)

 


ปรัชญานาคารชุน (Nagarajuna)

 นาคารชุน ที่มาของชื่อของท่านนั้น มีข้อสันนิษฐานหลายประการ กล่าวคือ บางทัศนะมีความเห็นว่า การที่ท่านได้ชื่อว่า นาคารชุน เพราะท่านสามารถปราบเหล่าพญานาคทั้งหลายได้ บางทัศนะเห็นว่า ท่านเกิดมาพร้อมกับสัจธรรมที่ลึกซึ้งเช่นเดียวกับพญานาคที่ออกมาจากมหาสมุทร บางทัศนะเห็นว่า ท่านมีหลักปรัชญาที่ลึกซึ้งเหมือนกับมหาสมุทร บางทัศนะเห็นว่า ท่านเกิดใต้ต้นไม้ที่มีชื่อคล้ายพญานาค จึงได้ชื่อว่า นาคารชุน เป็นต้น

ประวัติของท่านนาคราชุนนั้น ไม่มีความชัดเจน มีความคิดที่เห็นขัดแย้งกันจากหลายแหล่งข้อมูล บางแห่งก็แสดงไว้ในเชิงประวัติศาสตร์ซึ่งก็มีข้อมูลที่ต่างกัน ส่วนบางแห่งก็แสดงไว้ในฐานะเป็นตำนานที่ประกอบด้วยอภินิหารและเรื่องอัศจรรย์ต่างๆมากกว่าข้อเท็จจริง ดังนั้น จึงจะขอนำเสนอเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์และประเด็นที่เป็นตำนานตามลำดับดังต่อไปนี้

1) ประเด็นทางประวัติศาสตร์ แสดงไว้ว่า ท่านนาคารชุน เกิดที่เมืองวิทารภะ แคว้นโกศล ในรัชสมัยของพระเจ้าโคตรมีบุตรแห่งราชวงศ์อันธระ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 -7 หรือราวคริสตศตวรรษที่ 2 (A.D. 150-250) (Kalupahana, David J., 1992 : 160) แต่ชีวประวัติในตอนที่เกี่ยวกับการสิ้นชีวิตของท่านนั้นไม่มีความชัดเจน บางข้อมูลแสดงไว้ว่า ท่านมีอายุยืนยาวมากนับได้ร้อยๆ ปี บางแห่งแสดงว่า ท่านสิ้นชีวิต ณ มหาวิหารแห่งหนึ่งที่เมืองอมราวดี ในแคว้นอันธระ ปัจจุบันในอินเดียตอนใต้ยังมีโบราณสถานแห่งหนึ่งซึ่งมีซากสถูปเจดีย์ชื่อว่า นาคารชุนโกณฑะ (อภิชัย โพธิประสิทธิ์ศาสตร์, 2527 : 160) บางทัศนะแสดงไว้ว่า ในบั้นปลายชีวิตท่านอาศัยอยู่ที่ วัดศรีปรวตะ แคว้นอันธระ (Santina, P.D., 1986 : 17)

2) ประเด็นที่เป็นตำนานที่บันทึกเป็นภาษาทิเบตแสดงไว้ว่า นาคารชุนออกบวชตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงคำทำนายว่า ท่านจะอายุสั้น เมื่อบวชแล้วได้ศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ จนแตกฉานเป็นที่ยอมรับนับถือ จนกระทั่งครั้งหนึ่งพญานาคได้นิมนต์ท่านให้ไปแสดงธรรม ณ เมืองบาดาล ท่านนาคารชุนจึงได้ไปพบคัมภีร์ปรัชญา ปารมิตาสูตร ซึ่งเป็นคัมภีร์มหายานที่เก่าแก่ และมีชื่อเสียงมากที่สุด ท่านจึงนำคัมภีร์ดังกล่าวมาเผยแผ่ในโลกมนุษย์ เพราะท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถจึงเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์ และชนชั้นสูง ท่านช่วยให้คนเหล่านั้นมีอายุยืนนาน จนเป็นที่ไม่พอใจของพระราชวงศ์บางองค์ ท่านเหล่านั้นจึงขอให้พระนาคารชุนสละชีวิตเพื่อถวายเป็น พระราชกุศล ท่านนาคารชุนก็ยินยอม หลังจากท่านเสียชีวิตแล้วได้ไปอุบัติในแดนสุขาวดีพุทธเกษตรของพระอมิตาภพุทธเจ้า เพื่อรอคอยเวลาที่จะกลับมาช่วยเหลือสรรพสัตว์ในอนาคตกาล ซึ่งตรงกับยุคของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ศรีอาริยเมตไตรย (Williams Paul, 1989 : 56)

ส่วนอีกตำนานหนึ่งแสดงไว้ว่า นาคารชุน เกิดในตระกูลพราหมณ์ ก่อนที่ท่านจะมีอายุได้ 7 ขวบบิดามารดาได้ตัดสินใจส่งท่านออกบวชเพื่อหลีกเลี่ยงคำทำนายว่านาคารชุนจะอายุสั้น ท่านได้เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา และได้เข้าศึกษาเล่าเรียนในสำนักของท่านราหุลภัทระ ซึ่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยนาลันทา ท่านมีความเก่งกาจ ความเชี่ยวชาญในทุกศาสตร์ที่ศึกษาจนเป็นที่ไม่พอใจเพราะความอิจฉาริษยาของภิกษุกลุ่มอื่น วันหนึ่งในขณะที่ท่านกำลังอภิปรายปัญหาธรรมอยู่ มีพญานาคสองตนแปลงกายเป็นเด็กมาเที่ยวเล่นบนโลกมนุษย์ เมื่อได้ยินเสียงท่านอภิปรายธรรมจึงหนีลงไปยังเมืองบาดาล ท่านนาคารชุนได้ตามพญานาคลงไป และได้ไปพบคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาจึงได้นำมาเผยแผ่ยังโลกมนุษย์

หลักการของท่านนาคารชุนเป็นเรื่องยากต่อการเข้าใจของคนทั่วไป เพราะเต็มไปด้วยการโต้แย้งเชิงเหตุผลที่ซับซ้อนและลึกซึ้ง บรรดานักปราชญ์ชาวตะวันตกยุคหลังที่ได้อ่านคัมภีร์ของนาคารชุนแล้ว ต่างก็ต้องยอมรับว่า นาคารชุนเป็นนักตรรกวิทยา ที่ยิ่งใหญ่ของโลกไม่มีปราชญ์ชาวตะวันตกผู้ใดจะเทียบได้ แม้แต่พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานเองต่างก็ยอมรับในอัจฉริยภาพด้านพุทธปรัชญาของท่าน และยกย่องท่านไว้อย่างสูงสุดในฐานะ พระพุทธเจ้าองค์ที่สอง

นาคารชุน มีลูกศิษย์ที่สำคัญ คือ อารยเทวะ ซึ่งมีงานเขียนที่สำคัญคือคัมภีร์จตุศตกะ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่วิพากษ์แนวความคิดระบบอื่นๆ ของพระพุทธศาสนา และระบบปรัชญาฮินดู 6 สำนัก โดยปกติถือว่า นาคารชุนและอารยเทวะเป็นผู้ก่อตั้งนิกายมาธยมิกะที่แท้จริง

ท่านนาคารชุนมีผลงานการแต่งคัมภีร์มหายานที่สำคัญมากมาย ดังต่อไปนี้

1) คัมภีร์มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ มีเหลืออยู่เพียงฉบับภาษาจีนที่ กุมารชีวะได้แปลไว้ คัมภีร์เล่มนี้หากถือเอาตามตำนานแสดงไว้ว่า ท่านนาคารชุนไปค้นพบ ณ เมืองบาดาล

2) คัมภีร์มูลมัธยมิกะการิกา ส่วนใหญ่เรียกว่า มัธยมิกะการิกา ทั้งสองคัมภีร์นี้ถือว่านับเป็นผลงานที่สำคัญที่สุดของนิกายมาธยมิกะ

3) คัมภีร์ทวาทศทวารศาสตร์

4) คัมภีร์ศูนยตาสัปตติ

5) คัมภีร์วิครหวยาวรตนี

6) คัมภีร์ยุกติศศติกา

7) คัมภีร์รัตนาวลี

8) คัมภีร์ประตีตยสมุตปาทหฤทยการิกา (Hajime Nakamura, 1999 : 236-243)

นิกายมาธยมิกะมีความเห็นขัดแย้งกับแนวคิดในพระอภิธรรมที่ยอมรับว่า จิต เจตสิก รูป และนิพพาน เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงหรือมีแก่นแท้ (สวภาวะ) โดยปฏิเสธความมีอยู่ของสภาวธรรมเหล่านั้น เพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นความจริงสมมติ ไม่มีอยู่จริง ไม่มีสิ่งใดเลยที่มีอยู่เอง เป็นอยู่เองอย่างอิสระโดยไม่ต้องอิงอาศัยสิ่งอื่นๆ สรรพสิ่งล้วนต้องอาศัยสิ่งอื่นเกิดขึ้นและเป็นไป (สัมพัทธ์)เมื่อสภาวธรรมเหล่านั้นไม่มีแก่นแท้ เกิดขึ้นด้วยตัวเองไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า ซึ่งเป็นที่มาของคำสอนสำคัญ คือ สุญญตา (ศูนยตา) ปฏิจจสมุปบาท และเรื่องความจริง ดังจะนำเสนอตามลำดับ ดังต่อไปนี้

นาคารชุนใช้คำว่า สุญญตา (ภาษาสันสกฤต คือ ศูนยตา) เรียกการที่สรรพสิ่งไม่มีลักษณะที่เป็นแก่นสารในตัวเอง ไม่มีสิ่งใดที่มีอยู่จริงๆ หรือเป็นอยู่อย่างอิสระจากสิ่งอื่นๆ (สวภาวะ) ความมีอยู่ของสิ่งหนึ่งๆ ต้องขึ้นอยู่กับความมีอยู่ของสิ่งหนึ่งๆ การมีอยู่ของสรรพสิ่งล้วนต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกันที่เรียกว่า สัมพัทธภาวะ ดังนั้น สรรพสิ่งจะว่าไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่ แต่จะว่ามีอยู่แบบที่คนทั่วๆไปเข้าใจก็ไม่ใช่ เพราะคนทั่วไปมักเข้าใจว่า สรรพสิ่งมีอยู่จริงด้วยตัวมันเองหรือมีอยู่อย่างอิสระ ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นเพื่อความมีอยู่ สิ่งนั้นเรียกว่า ว่าง หรือ สุญญตา เป็นสิ่งสมมติ และเป็นทางสายกลาง (สุมาลี มหณรงค์ชัย, 2546 : 65) ดังนั้น สิ่งใดก็ตามอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น สิ่งนั้นเป็นสุญญตา สิ่งใดเป็นสุญญตา แสดงว่าสิ่งนั้นอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น

นอกจากคำว่า สุญญตา จะหมายถึง การที่สภาวธรรมทุกอย่างไม่มีความเป็นจริงในตัวเองหรือมีแก่นแท้ในตัวเองแล้ว นิกายมาธยมิกะยังใช้คำว่า สุญญตา ในความหมายสิ่งที่เป็นความจริงสูงสุดอีกด้วย กล่าวคือ สุญญตา เป็นความจริงเสมอในการใช้วิเคราะห์ความมีอยู่ของสรรพสิ่ง ในความหมายนี้สุญญตาไม่ใช่แนวความคิดหรือทฤษฎีอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นแต่เพียงคำอธิบายความมีอยู่ของสรรพสิ่งเท่านั้น เพราะถ้ามองว่าสุญญตาเป็นแนวความคิดอย่างหนึ่งจะทำให้เกิดการตีความในฐานะสิ่งที่มีอยู่อีกภาวะหนึ่ง ยิ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นอีกมากมาย

สุญญตาจึงไม่ใช่แนวความคิดทฤษฎีแบบใดแบบหนึ่ง เป็นเพียงคำที่นิกายมาธยมิกะใช้เรียกความไม่มีแก่นแท้ของสรรพสิ่งเท่านั้น สุญญตาไม่ใช่ตัวภาวะหรือสิ่งที่มีอยู่อีกภาวะหนึ่ง เป็นทางสายกลางระหว่างแนวความคิดที่ยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่า มี และแนวความคิดที่ยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่าไม่มี คือสูญ สุญญตาจึงไม่เอนเอียงไปทางยืนยันหรือปฏิเสธใดๆ เพราะการกล่าวว่า มีอยู่ แสดงถึงความเที่ยงแท้ (สัสสตทิฏฐิ) ส่วนการกล่าวว่า ไม่มีอยู่ ก็แสดงถึงความขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ) ดังนั้น จึงไม่ควรยึดมั่นทั้งการมีอยู่ และการไม่มีอยู่ทั้งสองอย่าง (Kalupahana, David J., 1992 : 354) ดังนั้น หลักสุญญตา จึงใช้เพื่อหลักเลี่ยงการโน้มเอียงไปในสองแนวความคิดหลัก คือ พวกที่ยืนยันความมีอยู่แบบเที่ยงแท้แน่นอนที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ และพวกที่ปฏิเสธความมีอยู่ของสรรพสิ่ง ที่เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ

มีบางกลุ่มเข้าใจว่าสุญญตาเป็นอุจเฉททิฏฐิเช่นเดียวกัน แต่เมื่อว่าโดยความจริงแล้ว สุญญตาไม่ได้มีความหมายในเชิงปฏิเสธแบบขาดสูญเพราะไม่ได้บอกว่าไม่มีอะไร เพียงแต่แสดงว่า สรรพสิ่งๆไม่มีแก่นแท้ เพราะต้องอิงอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น

คำว่า ปฏิจจสมุปบาท มาจากภาษาบาลีว่า ปฏิจจ (ปฏิจฺจ) แปลว่า อิงอาศัยกันและกัน และคำว่า สมุปบาท (สมุปฺปาท) แปลว่า เกิดขึ้นพร้อม แปลรวมทั้งสองศัพท์ว่า การที่ธรรมทั้งหลายอาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น (พระพรหมคุณาภรณ์, 2550 : 189) หมายถึง การที่สรรพสิ่งเป็นปัจจัยเอื้อแก่กันในการเกิดขึ้น หรือ การอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้นของสรรพสิ่ง

นิกายมาธยมิกะก็ให้ความสำคัญกับหลักปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกัน โดยการนำหลักการนี้มาใช้ในการทำความเข้าใจสภาวะทุกสิ่งที่ปรากฏแก่เราว่า ไม่มีแก่นสารในตัวเอง บางครั้งใช้คำว่า ปรากฏการณ์หรือบางครั้งก็ใช้คำว่า มายา แทนสรรพสิ่งล้วนเกิดจากเงื่อนไขต่างๆ ประกอบกันขึ้นมาเช่นเดียวกับหลักการของปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ สิ่งนั้นๆ จะมีอยู่ก็มีอยู่แบบอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น (สัมพัทธ์) ดังนั้น จึงไม่สามารถยึดถืออะไรได้เลย เพราะว่างเปล่าจากตัวตน และว่างเปล่าจากการยึดถือใดๆ

ตามทัศนะของนิกายมาธยมิกะ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น และเป็นไปตามกระบวนการของเหตุและปัจจัย เหตุและผลลัพธ์จะต้องเกิดขึ้นร่วม และเป็นไปควบคู่กันไปอย่างไม่ขาดสาย ไม่มีสิ่งใดพิเศษแยกต่างหากจากสิ่งอื่น เมื่อบุคคลเข้าใจกระบวนการปฏิจจสมุปบาท ก็เท่ากับเข้าใจกระบวนการเกิดและการดับของความทุกข์ เพราะการเข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาท ก็คือ การหยั่งรู้อริยสัจ 4 โดยตรง ดังคำกล่าวที่ว่า บุคคลใดหยั่งเห็นการอิงอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เท่ากับว่าบุคคลนั้นหยั่งเห็นความทุกข์ การเกิดขึ้นของความทุกข์ การดับไปของความทุกข์ และหนทางที่จะนำไปสู่ความทุกข์ (Kalupahana, David J., 1992 : 354) ดังนั้น ทางสายกลาง (มาธยมิกะ) ก็คือ การหยั่งรู้ปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือ การอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น และเป็นไปของสรรพสิ่ง เพราะสรรพสิ่งปราศจากการมีอยู่ด้วยตัวเอง (สวภาวะ) ซึ่งเรียกว่า ว่างจากสิ่งที่เป็นแก่นแท้ นั่นคือ ทางสายกลาง คือ ความว่างจากแก่นแท้หรือการยึดถือเอาแก่นสารไม่ได้ ซึ่งก็คือ กระบวนการของปฏิจจสมุปบาท ดังนั้น ทางสายกลาง ความว่าง (สุญญตา) และกระบวนการอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปบาท) จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงอริยสัจ 4 เช่นเดียวกัน จึงมีฐานะเป็นความจริงอันเดียวกัน

สรุปแล้วว่า นิกายมาธยมิกะยอมรับหลักการเรื่องปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกันกับพุทธศาสนานิกายเถรวาท เพื่อใช้ในการอธิบายลักษณะที่ไม่มีแก่นแท้ที่แท้จริง (สวภาวะ) ของสรรพสิ่ง เพราะทุกสิ่งล้วนต้องอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้นเป็นไปทั้งสิ้น จึงว่างเปล่าจากความมีอยู่ในตนเองอย่างแท้จริงที่เรียกว่า สุญญตา ดังนั้น หลักการเรื่องปฏิจจสมุปบาทและสุญญตาจึงเป็นหลักการที่อธิบายถึงความปราศจากลักษณะที่ไร้แก่นสารที่แท้จริงของสรรพสิ่งเช่นเดียวกัน ปฏิจจสมุปบาทและสุญญตาจึงอาจเรียกได้ว่า ทางสายกลางของมาธยมิกะ ซึ่งแตกต่างจากจากทางสายกลางตามหลักคำสอนของนิกายเถรวาทที่มีความหมายไปในเชิงจริยธรรมหรือเป็นแนวทางเพื่อการปฏิบัติ แต่ทางสายกลางของนิกายมาธยมิกะนั้นมีความหมายในเชิงอภิปรัชญา เป็นแนวคิดที่ไม่เกี่ยวกับ การปฏิบัติเท่าใดนัก

ตามทัศนะของนิกายมาธยมิกะ สิ่งที่เรียกว่า ความจริง มีอยู่ 2 ระดับ คือ

1) ความจริงสมมติหรือสมมติสัจ หมายถึง ความจริงที่เราเข้าใจหรือสมมติกันว่าจริง แต่ไม่ใช่ความจริงแท้ ได้แก่ การที่เรารับรู้สิ่งต่างๆว่ามีแก่นสารหรือมีอยู่จริงจากกระบวนการทำงานของความคิด จนทำให้เราเข้าใจไปเองว่าสิ่งที่เรารับรู้นั้นมีแก่นสาร เกิดขึ้นตั้งอยู่แยกต่างหากจากกัน นิกายมาธยมิกะมีทัศนะว่า สรรพสิ่งไม่มีแก่นแท้หรือมีความเป็นจริงในตัวมันเอง สิ่งที่ปรากฏอยู่จะตั้งอยู่ชั่วขณะเท่านั้น ทุกสิ่งจึงมีเพียงลักษณะจำกัด คือ มีแต่รับรู้ไม่ได้ว่าคืออะไร แต่การที่เรารับรู้การมีอยู่ของตัวเราเองและสิ่งต่างๆภายนอกตัวเราล้วนแต่เป็นความคิดที่เราสร้างขึ้นทั้งนั้น กระบวนการทำงานของจิตทำให้เกิดการรับรู้ การยึดมั่นถือมั่น ตลอดจนความรู้สึกต่างๆขึ้น ดังนั้น สรรพสิ่งที่ปรากฏในโลกล้วนเป็นกระบวนการทำงานของจิตทั้งสิ้น จึงไม่มีความเป็นจริงหรือมีแก่นแท้อะไร เป็นสิ่งที่เราให้ค่าความจริงแก่มัน ความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏจึงเป็นเพียงความคิด ไม่ใช่ความจริง เพราะโลกที่ปรากฏเป็นสุญญตาหรือว่างเปล่าจากสิ่งที่เป็นแก่นแท้

2) ความจริงแท้หรือปรมัตถสัจ หมายถึง การหยั่งรู้ปรากฏการณ์ทั้งหลายว่าเป็นสิ่งสมมติ รวมทั้งกฎธรรมชาติ หลักคำสอนและนิพพานก็ล้วนแต่เป็นสิ่งสมมติ แต่คำว่า สมมติ ในที่นี้ หมายถึงการอิงอาศัยปัจจัยอื่นในการมีอยู่ และรับรู้ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น โลกนี้ไม่ได้ว่างเปล่าหรือไม่มีอยู่ในฐานะสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่างจากสิ่งที่เป็นแก่นแท้ โลกเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นไปตามกระบวนการของเหตุและผล กรรมจึงเป็นสิ่งที่ให้ผลได้จริง หลักคำสอนของพุทธศาสนาก็สามารถนำบุคคลให้หลุดพ้นได้จริง เพราะความจริงปรมัตถ์ ก็คือ การหยั่งรู้ความเป็นไปตามธรรมดาของโลก ไม่ใช่ความจริงที่เป็นภาวะสูงสุด และไม่ใช่ความจริงสูงสุดใดๆ ความจริงปรมัตถ์จึงเกิดขึ้นได้ เพราะการรู้ความจริงสมมตินั่นเอง ดังนั้น ความจริงทั้งสองระดับจึงเป็นความจริงในเรื่องเดียวกัน

สรุปได้ว่า ความจริงหรือสัจจะตามทัศนะของนิกายมาธยมิกะมี 2 ชนิด คือ ความจริงสมมติหรือสมมติสัจจะ และความจริงแท้หรือปรมัตถสัจ โดยสมมติสัจจะ หมายถึง ความไม่รู้จริงซึ่งปิดบังความเป็นจริงจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปว่าทุกสิ่ง ทุกอย่างนั้นมีแก่นสาร ส่วนปรมัตถสัจ หมายถึง การหยั่งเห็นปรากฏการณ์ทั้งหลายว่าเป็นสิ่งสมมติ สรรพสิ่งไม่มีอยู่จริง เปรียบเหมือนภาพลวงตาหรือมายา แม้แต่ความหลุดพ้น ก็เป็นสิ่งสมมติ เมื่อยังละสมมติสัจจะไม่ได้ก็ยังบรรลุปรมัตถสัจไม่ได้ ดังนั้น ความจริงแท้ตามทัศนะของนิกายมาธยมิกะจึงไม่มีแก่นสารสาระใดๆ แต่เป็นอิสรภาพหรือความหลุดพ้นจากแก่นสารทั้งปวง

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้ สรุปหลักการสำคัญของนิกายมาธยมิกะได้ว่า นาคารชุนและสานุศิษย์พยายามที่จะเข้าถึงจุดกึ่งกลางที่ปราศจากนามและรูป อยู่เหนือความคิดและคำพูดทั้งปวง โดยการใช้ตรรกวิทยาอย่างเข้มงวด เพื่อแสดงความเป็นไปไม่ได้หรือความไม่สมเหตุผลของสถานะทางปรัชญาต่างๆ รวมทั้งปรัชญาฮินดูและ พุทธศาสนาสำนักอื่นๆ โดยถือว่า อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกัน (สัมพัทธภาวะ) และขัดกันย่อมเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ในเชิงตรรกวิทยา ด้วยวิธีการที่กล่าวอ้างความไม่สมเหตุสมผลหรือสิ่งที่ขัดแย้งกันนี้ นาคารชุนพยายามพิสูจน์ว่า ความคิดที่มีในโลกนี้ทั้งหมดเป็นความว่างเปล่า (สุญญตา) หรือเป็นสิ่งสัมพัทธ์ (Relative) และชี้ให้เห็นความเชื่อของท่านว่า หนทางที่แท้จริง ก็คือ ทางสายกลาง ได้แก่ หนทางที่อยู่ระหว่างกลาง กล่าวคือ อยู่เหนือจุดปลายสุดทั้งสอง ความเชื่อนี้เรียกว่า ทฤษฏีความว่างเปล่าของสรรพสิ่ง ซึ่งต้องอยู่เหนือประสบการณ์ธรรมดา อย่างไรก็ตาม ความคิดนี้ก็ยังไม่ตายตัว และจัดว่าเป็นเพียงวิธีของการโต้แย้งเท่านั้น

นาคารชุนเสนอทางสายกลางที่อยู่เหนือจุดปลายทั้งสองได้อย่างชัดเจน ในคำกล่าวที่ท่านถือว่าเป็นความจริง 8 ประการของพระพุทธศาสนา คือ ไม่มีอะไรที่จะเกิด ไม่มีอะไรสูญ ไม่มีอะไรเป็นนิรันดร ไม่มีอะไรพบจุดสิ้นสุด ไม่มีอะไรเป็นอย่างเดียวกัน ไม่มีอะไรแตกต่างกัน ไม่มีสิ่งใดเคลื่อนที่มาที่นี้ ไม่มีสิ่งใดเคลื่อนที่ไปสู่ที่นั้น ในการนำเสนอจุดตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ นี้ นาคารชุนสอนว่า อะไรก็ตามที่เรา อาจคิดถึงได้หรืออธิบายเป็นคำพูดได้นั้นเป็นสิ่งไม่สมบูรณ์หรือมีข้อผูกพันกับสิ่งอื่น สิ่งนี้ทำให้นาคารชุนถือว่า การที่คนทั่วไปเห็นว่านิรวาณ (นิพพาน) และสังสาระเป็นสิ่งตรงข้ามกันนั้นเป็นสิ่งผิดพลาด เพราะนิรวาณและสังสาระเป็นศูนยตาเหมือนกัน

เมื่อพิสูจน์ว่า โลกเป็นสิ่งว่างเปล่าหรือมีความสัมพัทธ์ทำให้เกิดปัญหาว่า คนเราจะไปสู่เหนือจุดที่ว่านี้ได้อย่างไร นาคารชุนตอบคำถามข้อนี้ว่า มนุษย์ไม่ได้ถูกตรึงไว้ในโลกนี้ เพราะโลกนี้สามารถเป็นบันไดนำไปสู่สิ่งสัมบูรณ์ กล่าวคือ อยู่เหนือทวิภาวะได้ การเปลี่ยนตำแหน่งซึ่งสามารถมีได้จากโลกนี้ไปสู่ความหลุดพ้น เรียกว่า ทฤษฏีความจริงแท้ 2 อย่าง เป็นความจริงที่มีข้อผูกพัน คือ ความเป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยวิธีการ ทางตรรกวิทยา ข้อเสนอทุกอย่างสามารถหักล้างได้ ลักษณะนี้นำไปสู่การรู้แจ้งว่า ทุกอย่างคือ ความว่างเปล่า และจากความคิดนี้นำไปสู่ความคิดเกี่ยวกับสิ่งสัมบูรณ์ที่อยู่เหนือความคิดทุกอย่าง จุดเชื่อมระหว่างความจริงสองอย่าง (ความจริงสัมพัทธ์และความจริงสูงสุด) ก็คือ พระพุทธเจ้า พระองค์มีประสบการณ์บรรลุความจริงสัมบูรณ์ ซึ่งเป็น สิ่งแสดงด้วยคำพูดไม่ได้ และไม่สามารถรู้แจ้งได้ด้วยความคิดธรรมดา แต่กระนั้นพระองค์ก็กลับมาชี้แจงความจริงนี้ในโลก โดยการกระทำตามทางเส้นนี้ บุคคลสามารถหลุดพ้นได้

ดังนั้น นาคารชุนจึงสอนว่า โดยทางสายกลางของนิกายมาธยมิกะซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกันกับคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า บุคคลจะถูกนำไปสู่ประสบการณ์ที่อยู่เหนือการยืนยันและการปฏิเสธ เหนือความมีอยู่จริงและความไม่มีอยู่จริง นิกายมาธยมิกะจัดเป็นปรัชญาที่เรียกตนเองว่า เป็นหลักแห่งการหลุดพ้น เพราะอ้างว่า สามารถชี้ให้มนุษย์รู้วิธีการที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นได้(อภิชัย  โพธิ์ประสิทธิ์ศาสตร์, 2527 : 107-114)

นาคารชุนได้ใคร่ครวญตรวจสอบท่าทีที่นิ่งเงียบของพระพุทธองค์ต่ออัพยากตปัญหา แล้วสรุปว่า ความเงียบนั้นแหละ คือ สัจภาวะที่อยู่เหนือความคิด จึงใช้วิภาษวิธีนี้ในการอภิปรายปัญหาทุกอย่าง เรียกวิธีนี้ว่า จตุกโกฏิ หรือ จตุกโกณะ แปลว่า สี่มุม (Tetra-Lemma, or Four Coners, or Four Alternatives) มีโครงสร้างสากลดังนี้

1. It is A (Positive Thesis)

2. It is not A (Negative Counter- Thesis)

3. It is both A and not A (Conjunctive Affirmation of the first two)

4. It is neither A nor nor A (Disjunctive Denial of the first two)

 

- ยืนยัน

- ปฏิเสธ

- ทั้งยืนยันและปฏิเสธ

- ทั้งไม่ยืนยันและไม่ปฏิเสธ

เช่น ปัญหาที่ว่าโลกเที่ยงหรือไม่ ก็จะจัดลำดับคำตอบออกมาเป็น ๔ หัวข้อดังนี้

- โลกเที่ยง

- โลกไม่เที่ยง

- โลกทั้งเที่ยงและไม่เที่ยง

- จะว่าโลกเที่ยงก็ไม่ใช่ ไม่เที่ยงก็ไม่ใช่(พระครูสังฆรักษ์จิตรกร สนฺตจิตฺโต (พลเยี่ยม), 2554.)

ทฤษฎีจตุกโกฏิถูกสร้างขึ้นมาก็เพื่อที่จะบอกว่า การตอบปัญหาเกี่ยวกับโลกและชีวิตโดยใช้คำว่า ใช่ (Yes) หรือ ไม่ใช่ (No) นั้น ไม่สามารถให้เข้าถึงคำตอบที่ถูกต้องได้ เป็นการให้คำตอบที่ไม่ยุติธรรมต่อสัจภาวะ จตุกโกฏิของนาคารชุนก็เพื่อจะพิสูจน์ว่าทรรศนะใดๆ ก็ตามที่ใครก็ตามแสดงออกมาไม่ถูกต้อง นาคารชุนสร้างจตุกโกฏิขึ้นมาไม่ได้

จุดประสงค์ที่จะพิสูจน์ทรรศนะของตนเอง เขากล่าวว่า

ถ้าข้าพเจ้าสร้างสมมติฐาน (เหมือนบทตั้ง) ขึ้นมา พวกท่านก็อาจจะพบความบกพร่องเกี่ยวกับสมมติฐานนั้นได้ เนื่องจากข้าพเจ้าไม่มีสมมติฐานที่จะสร้างปัญหาที่จะพิสูจน์ว่ามันจริงหรือไม่จริง จึงไม่เกิดขึ้น

นาคารชุนนำวิภาษวิธีแบบจตุกโกฏิไปใช้ตอบโต้คน 2 พวก คือ

1. พวกยึดถือคัมภีร์หรือศรัทธาโดยไม่ต้องพิสูจน์ (Dogmatist=พวกสิทธันตนิยม)

2. พวกเหตุผลนิยมที่ยืนยันทรรศนะที่แน่นอนเกี่ยวกับสัจภาวะ (Rationalist)

คำว่า ศูนยตา แปลว่า ความว่าง มีความพยายามที่จะอธิบายโยงไปถึงว่าความว่างเป็นสภาวะที่โยคีผู้บำเพ็ญฌานทุกท่านต่างประสบมาทั้งนั้น แนวความคิดของเถรวาทที่ดูเหมือนจะอธิบายศูนยตาก็คือ ทฤษฎีเรื่องรูปฌานและอรูปฌาน โดยความว่างนี้มีอยู่แล้วตั้งแต่เริ่มลงมือปฏิบัติ ในปฐมฌาน โยคีย่อมว่างจากกิเลสอย่างหยาบ ทุติฌาน ว่างจากความคิด ตติยฌาน ว่างจากปีติ สุข และจตุตถฌานว่างจากอารมณ์ ต่อจากนั้น ความว่าง (ศูนยตา) ก็ใช้เป็นชื่อเรียกขอบเขตแห่งอากาศอันไม่มีที่สุดเรียกว่า ขั้นอากาสนัญจายตนะ วิญญาณอันไม่มีที่สุดเรียกว่า ขั้นวิญญาณัญจายตนะ ภาวะที่ไม่มีอะไรเรียกว่า ขั้นอากิญจัญญายตนะ ขอบเขตที่เรียกว่าจะเป็นความหยั่งรู้ทางประสาทสัมผัสก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ความหยั่งรู้ทางประสาทสัมผัสก็ไม่ใช่เรียกว่า ขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ (อรูปภูมิ 4,2556.(ออนไลน์)) ศูนยตาตามนัยแห่งคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทจึงไม่ใช้สภาพแห่งการไม่คิดคำนึงอะไร แต่อยู่ในประเด็นดังกล่าวนี้

 อย่างไรก็ตาม ศูนยตาได้กลายเป็นประเด็นหลักที่ปรากฏในวรรณคดีมหายานในยุคต่อมา คัมภีร์ปรัชญาปารมิตากล่าวว่า ศูนยตา ได้แก่ ความว่าง สรรพสิ่งว่าง ศูนยตามีลักษณะเดียวกันกับ อภาวะ ประเด็นนี้ทำให้มีข้ออภิปรายตามมาอีกหลายนัย เช่น ถ้ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็น อภาวะ เราก็ไม่สามารถยืนยันหรือปฏิเสธความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นอภาวะได้

 นาคารชุนกล่าวว่า ปัญหาที่ว่า ศูนยตา คืออะไร เป็นอย่างไร สรรพสิ่งเป็นศูนยะอย่างไร การที่จะตอบปัญหานี้ได้ชัดเจนต้องใช้วิธีแห่งการปฏิเสธ 4 บท คือ

 1). นั่นคือศูนยตา

 2) นั่นไม่ใช่ศูนยตา

 3.)นั่นคือศูนยตาและไม่ใช่ศูนยตา

 4.) นั่นคือศูนยตาก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ศูนยตาก็ไม่ใช่

หรือ

It is A

It is not A

It is both A and not A

It is neither A nor nor A

รูปแบบการนำเสนอทั้ง 4 บทนี้ มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่นาคารชุนบอกปฏิเสธทั้งหมด เพราะฉะนั้น สรรพสิ่งในทรรศนะของนาคารชุนจึงไม่ได้อยู่ในรูปแบบภาวะ (มีอยู่) อภาวะ (ไม่มีอยู่) ภาวะและอภาวะ (มีอยู่และไม่มีอยู่) และเนวภาวนาภาวะ (มีอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่) แต่สรรพสิ่งอยู่ตรงที่เส้นตรง 2 เส้นตัดกัน

ความจริง นาคารชุนนำเสนอทฤษฎีว่าด้วย ศูนยตา ก็เพื่ออธิบายทฤษฎี สรฺวมฺ ศูนฺยมฺ ของสำนักไวภาษิกะ และทฤษฎีอาลยวิชญาณ ของสำนักโยคาจารตามนัยแห่ง มัชฌิมาปฏิปทา ตามรูปแบบปรัชญามาธยมิกะนั่นเอง แนวความคิดนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ มูลมาธยมิกการิกา ซึ่งเขียนโดยนาคารชุนเอง หนังสือเล่มนี้แต่งขึ้นในคริสต์ศักราชที่ 300 โดยประมาณ เป็นงานเขียนเล่มแรกที่ว่าด้วยเรื่องปรัชญามาธยมิกะ มี 27 บท จำนวน 400 การิกา (หรือคาถา) บางทีก็เรียกว่า ชุด มาธยมิกศาสตร์ หลักการสำคัญที่บรรจุอยู่ในงานเขียนนี้ก็คือ หลักการที่เป็นการอภิปรายโลก และชีวิตในรูปแบบทางสายกลาง ที่เรียกว่า ทางสายกลาง เพราะมีนัย 4 ประการ คือ

1. เพราะตรงกันข้ามกับที่สุดโต่งด้านเดียว

2. เพราะเว้นเสียซึ่งที่สุดโต่งด้านเดียว

3. เพราะเป็นเอกภาพในพหุภาพ

4. เพราะเป็นปรมัตถสัจจะ

เนื่องจากเราไม่สามารถรับรู้ภาวะโดยอิสระจากอภาวะ ถ้าเราพูดว่า โลกมีอยู่หรือพูดว่า โลกไม่มีอยู่ ซึ่งว่าเรากำลังยึดถือทรรศนะด้านเดียว ทางสายกลางแตกต่างตรงกันข้ามกับทางสุดโต่งนี้โดยเว้นที่สุดโต่งทั้ง 2 ด้าน คือ ภาวะและอภาวะ นี้คือ นัยที่ 1 แห่งทางกายกลาง (มัชฌิมมรรค) เมื่อปฏิเสธที่สุดโต่งทั้ง 2 แล้ว ทางสายกลางก็เปิดเผยตัวเองออกมาโดยความกลมกลืนอย่างสนิทระหว่างภาวะและอภาวะ นั่นคือ มันอยู่เหนือที่สุดโต่งทั้ง 2 คือ ภาวะและอภาวะที่ถูกรวมเข้าด้วยกัน นี้คือ นัยที่ 2 แห่งทางสายกลาง ทางสายกลางที่รวมเอาสรรพสิ่งเข้าไว้ ไม่ได้อยู่เหนือสรรพสิ่ง สิ่งทั้งหลายมีลักษณะเฉพาะของตัวเองขึ้นมาได้ก็โดยอาศัยการที่เรารับรู้เอกภาพในสิ่งเหล่านั้น ถ้าไม่มีหลักแห่งเอกภาพ สิ่งทั้งหลายก็จะไม่เป็นอย่างนั้น นี้เป็นนัยที่ 3 แห่งทางสายกลาง คำว่า ทางสายกลาง นี้ ต้องไม่เข้าใจว่า มีบางสิ่งบางอย่างอยู่ในระหว่างที่สุดโต่งทั้ง 2 คือภาวะและอภาวะ ความจริงต้องละทิ้งไม่เฉพาะที่สุดโต่งทั้ง 2 เท่านั้น แต่ต้องละทิ้งสายกลางด้วย ทางสายกลาง ซึ่งปราศจากข้อจำกัดทุกอย่างนั้น แสดงให้เห็นถึงแนวคิดของมนุษย์เกี่ยวกับอันติมสัจจะ นี้เป็นนัยที่ 4 แห่งทางสายกลาง อันติมสัจจะ (ศูนยตา) ปรากฏออกมาโดยการกำหนดสัจจะ 2 ระดับ คือ สมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ เมื่อว่าโดยปรมัตถสัจจะ ไม่มีอะไรเกิดเป็นภาวะหรือกลายเป็นอภาวะ ว่าโดยสมมติสัจจะเท่านั้น เราจึงสามารถกล่าวถึงความมีหรือความไม่มีแห่งวัตถุ ความจริง ไม่มีสิ่งใดมีภาวะของตัวเอง

ที่ใดมีสังขตสภาวะ ที่นั้นไม่มีสัจจะ สังขตสภาวะกับสัจจะย่อมไปด้วยกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น เพื่อบรรลุสัจจะ บุคคลต้องละทิ้งสังขตสภาวะโดยสิ้นเชิง เมื่อจิตใจของเราบริสุทธิ์จากมลทินคือสังขตสภาวะแล้ว ย่อมปรากฏแสงจันทร์อันเย็นสนิท คือ ตถตาหรือปรมัตถสัจจะ หรือศูนยตา

อาจจะมีคำถามว่า สิ่งที่เรียกว่า ตถตาปรมัตถสัจจะ หรือ ศูนยตา นั้นมีจริงหรือไม่ คำตอบก็คือ สิ่งที่อยู่เหนือสังขตสภาวะ ย่อมไม่สามารถแสดงออกมาโดยคำว่า มี และ ไม่มี ภาวะ หรือ อภาวะ สิ่งที่ว่ามานี้ (หรือสิ่งที่เรียกว่าศูนยตานี้) ก็คือ นิพพาน เป็นสภาวะที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง เป็นแหล่งที่รวมเอาความขัดแย้งทั้งมวลเข้าด้วยกัน ได้มีความพยายามที่จะแสดงสภาวะนี้ออกมาโดยคำว่า สัสสตะ คัมภีระ อสังขตะ อันติมะ หรือ ปรมสุข แต่ความเป็นจริงก็คือ ไม่มีภาษาใดที่จะแสดงความหมายได้เพียงพอกับสิ่งที่ว่านี้ ยิ่งอธิบายความก็ยิ่งห่างไกลความจริง(Satish Chandra Vidybhusana,1988 : 251 - 256)

นาคารชุน กล่าวไว้ในมูลมาธยมกการิกาว่า ศูนยตา ไม่ใช่อุจเฉทะ สังสาระก็ไม่ใช่สัสสตะ นี้เป็นธรรมเก่าที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้(David J. Kalupahana, Tran. MKV 20, Chapter 17,1991 : 254) สรรพสิ่งย่อมควรแก่บุคคลใด บุคคลนั้นย่อมมีศูนยตา สรรพสิ่งย่อมไม่ควรแก่บุคคลใด ศูนยะก็ไม่ควรแก่บุคคลนั้น(Tran. MKV 14, Chapter 24, 1991 : 337) ถ้าสรรพสิ่งว่าง ย่อมไม่มีทั้งความเกิดขึ้นและความดับ เพราะละและสลัดทิ้งไป ซึ่งความเกิดขึ้นและความดับนั่นแหละ บุคคลจึงหวังความหลุดพ้นได้(Tran. MKV 14, Chapter 25, 1991 : 335) เมื่อสรรพสิ่งว่าง เพราะเหตุไรจึงต้องพูดว่า อันตะ อนันตะ อันตานันตะ เนวอันตนานันตะ เพราะเหตุไรจึงต้องพูดว่า สิ่งเดียวกัน ต่างกัน สัสสตะ อสัสสตะ เนวสัสสตนาสัสสตะ(Tran. MKV 22-23, Chapter 25, 1991: 368) ข้อความนี้หมายความว่า ถ้าพูดถึงคำว่า ศูนยตา หรือ ศูนยะ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงอะไรอีก ถือเป็นการสิ้นสุดแห่งทฤษฎี ทรรศนะ หรือคำบรรยายทั้งหมด เพราะยิ่งบรรยายก็ยิ่งห่างไกลจากความเป็นจริง เราพอจะกำหนดได้ว่า นาคารชุน ประสงค์จะตั้ง ศูนยตา ไว้ในฐานะเป็นสัจจะสากล เป็นความจริงที่เหนือความจริงเป็นสิ่งสูงสุดที่เหนือกว่าสิ่งสุดทั้งปวงนี่ คือ กระบวนการที่จะทำให้ศูนยตาเป็นสภาวะอย่างหนึ่งที่เหมือนจะมีชีวิตจิตใจ มีอำนาจสร้างสรรค์ และอยู่เหนือคำบรรยาย ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วในโลกนี้ ไม่มีอะไรคงอยู่ นอกจากสาระหนึ่งเดียวที่เป็นการสำแดงตัวออกมาของสัสสตภาวะ

 ปรัชญามาธยมิกะมีนัยที่ท้าทายภูมิปัญญาของนักวิจารณ์อย่างยิ่ง ในแต่ละยุคสมัย ทฤษฎีมาธยมิกะ ทฤษฎีศูนยตา จึงไม่ว่างเว้นจากการถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในทุกกาลเทศะ และไม่น่าแปลกใจเลยที่หลังจากยุคของนาคารชุนประมาณ 400 ปี ปรัชญามาธยมิกะได้แตกออกเป็น 2 สาขา คือ (1) ประสังคิกะ (2) สวตันตริกะ ความจริง พัฒนาการแห่งแนวความคิดของนาคารชุนแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ

 ขั้นที่ 1 เป็นขั้นการจัดระบบปรัชญามาธยมิกะ โดยนาคารชุนได้แต่งหนังสือสำคัญหลายเล่ม โดยเฉพาะอรรถกาชื่อ ปรัชญาปารมิตาศาสตร์ อธิบายความปรัชญาปารมิตา ซึ่งท่านกุมารชีพผู้เป็นปราชญ์ในยุค พ.ศ. 900 (ประมาณ ค.ศ. 400) ได้แปลเป็นภาษาจีน และหนังสือ มูลมาธยมิกการิกาหรือมาธยมิกศาสตร์ นอกจากนี้ อารยเทพผู้เป็นศิษย์ของท่านเองได้อธิบายปรัชญามาธยมิกะในรูปแบบ จตุสตกะ (Catuh – Sataka)

ขั้นที่ 2 เป็นขั้นที่มีการแบ่งระบบปรัชญามาธยมิกะออกเป็น 2 สาขา คือ ประสังคิกะ และสวตันตริกะ

นาคารชุนใช้วิธีการแบบประสังคิกะในการสร้างปรัชญามาธยมิกะของท่านเอง ประสังคิกะ หรือ ประสังคะ ก็คือ วิธีการใช้คำพูด ซึ่งหมายถึงวิธีการใช้เหตุผลโต้แย้งแบบ reductic ad dbsurdum (พิสูจน์ให้เห็นว่าข้อโต้แย้งใด ๆ ไร้สาระ) เพื่อพิสูจน์ว่า ทฤษฏีทั้งหลายที่คู่โต้แย้งของท่านหยิบยกขึ้นมานั้น ล้วนแล้วแต่ไร้สาระ นาคารชุนเองจะไม่หยิบยกทฤษฏีใด ๆ ขึ้นมา เพราะฉะนั้น จึงไม่มีข้อโต้แย้งเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีของท่าน ในช่วงนี้ ศิษย์สำนักมาธยมิกะชื่อ พุทธปาลิต ซึ่งเป็นปราชญ์ในยุค พ.ศ. 1100 (ประมาณ ค.ศ.600) เห็นด้วยกับวิธีการประสังคิกะ และตัวเขาเองก็ใช้วิธีการนี้ในการพูดและงานเขียน เขาได้แต่งหนังสือชื่อ มาธยมกพฤติ อธิบายหนังสือ มาธยมิกศาสตร์ ของนาคารชุน ศิษย์คนสำคัญอีกท่านหนึ่งคือ ภาวะวิเวกะ ภาวะวิเวกะค่อนข้างจะไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบประสังคิกะ เพราะในบางกรณีอาจจะไม่สามารถทำให้คู่โต้แย้งจนมุมได้ แต่วิธีการแบบ สวตันจตริกะ น่าจะดีกว่า ก็คือ วิธีการให้เหตุผลหรือโต้แย้งเชิงตรรกะแบบอิสระ ภาวะวิเวกะแต่งหนังสือสำคัญ คือ มหายาน กรตละ รัตนศาสตร์, หนังสือชุดมาธยมิกหฤทยะพร้อมอรรถกถา ชื่อ ตรรกชวาลา, มาธยมารถสังคหะ, และปรัชญาประทีป โดยมีเนื้อหาอธิบายความหนังสือ มูลมาธยมิกการิกา จึงสรุปได้ว่า ในยุคนี้ท่านพุทธปาลิตเป็นผู้นำคนสำคัญแห่งสาขาประสังคิกะ ส่วนท่านภาวะวิกะเป็นผู้นำคนสำคัญแห่งสาขาสวตันตริกะ

 ขั้นที่ 3 เป็นขั้นการประกาศเผยแผ่ประสังคิกะ นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียง 2 ท่าน คือ ท่านจันทรกีรติ และท่านศานติเทพ (ประมาณ พ.ศ. 1200=ค.ศ.700) ได้แต่งอรรถกถาจำนวนมากอิบายมาธยมิกศาสตร์ งานเขียนเหล่านี้ปรากฏอยู่ในภาคภาษาทิเบตเท่านั้น มีเพียงงานเขียนชื่อ ประสันนปทา ของท่านจันทรกีรติพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่เป็นภาคภาษาสันสกฤต

 จันทรกีรติ ปกป้องสาขาประสังคิกะอย่างเต็มที่ โดยเน้นไปที่หลักปฏิจจสมุปบาท ท่านกล่าวว่า ความเกิดขึ้นแห่งสิ่งทั้งหลายขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย สิ่งซึ่งปราศจากความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตัวมันเอง จันทรกีรติมักจะวิจารณ์สวตันตริกะของท่านภาวะวิเวกะอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังวิจารณ์หลักที่ว่าด้วย สวลักษณะ วิจารณ์หลักที่ว่า ด้วยสัญชานที่ว่างจากกำหนดพิจารณา (กัลปนาโปฒ) และวิจารณ์วิชญาณวาทิน (โยคาจาร) ว่า วิชญาณที่ปราศจากอารมณ์ย่อมเป็นไปไม่ได้

ศานติเทพ เป็นปราชญ์คนสำคัญอีกท่านหนึ่งแห่งสาขาประสังคิกะ เป็นศิษย์แห่งมหาวิทยาลัยนาลันทาอีกท่านหนึ่งที่ใช้วิธีการประสังคิกะวิจารณ์สำนักวิชญาณวาทินอย่างรุนแรงอยู่เสมอ เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงหนังสือ ศึกษสมุจจยะ และแต่งหนังสือ โพธิจริยาวตาร มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องการปลุกโพธิจิต ท่านศานติเทพนอกจากจะเป็นนักปรัชญาแล้ว ยังเป็นกวีชั้นยอดอีกด้วย เป็นเชี่ยวชาญในการใช้บทกวีเพื่อสื่อความหมายกับคนทั่วไปได้อย่างแยบยล แม้หนังสือโพธิจริยาวตารก็เขียนเป็นบทกวี(Jangh,1978 : 11-13)

ศูนยตาของคุรุนาคารชุน คือ สภาพรับรู้ ความมีก็ไม่ใช่ ความไม่มีก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ความมีก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ความไม่มีก็ไม่ใช่  ทั้ง 4 สภาวะสุดขั้วนี้มิใช่ ศูนยตา สภาพการรับรู้ตรงกลางนั้นคือ ศูนยตา หรือจะกล่าวว่า ในโลกแห่งสมมุตินี้ การรับรู้สภาพที่สรรพสิ่งเป็นมายา เป็นความว่าง นี่คือ ศูนยตา ในโลกปรมัตถ์ของพุทธะ สรรพสิ่งอิงอาศัยกันมี นาคารชุนยอมรับหลักการเรื่องปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกันกับพุทธศาสนานิกายเถรวาท เพื่อใช้ในการอธิบายลักษณะที่ไม่มีแก่นแท้ที่แท้จริง (สวภาวะ) ของสรรพสิ่ง เพราะทุกสิ่งล้วนต้องอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้นเป็นไปทั้งสิ้น จึงว่างเปล่าจากความมีอยู่ในตนเองอย่างแท้จริงที่เรียกว่า สุญญตา และยอมรับความจริง 2 ระดับ คือ ระดับสมมติสัจจะ และระดับปรมัตถสัจจะ ซึ่งเหมือนกับหลักแห่งพระพุทธศาสนาตั้งเดิม ที่แปลกออกไปก็คือ แนวการอธิบายโลกและชีวิต มาธยมิกะยอมรับความจริง 2 ระดับนั้นแล้ว สรุปลงว่า พื้นฐานแห่งความจริง 2 ระดับนั้นคือ ศูนยตา เป็นความว่างสูงสุดแห่งสรรพสิ่ง ไม่มีสิ่งใดที่พวกเราสามารถจะกล่าวได้

 

------------------------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

 

ปรัชญา : Philosophy,

http://wirotephilosophy.blogspot.com/2010/01/blog-post_5134.html/9/7/2556.(ออนไลน์)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). 2550. คติ- จตุคามรามเทพ. พิมพลักษณ์ กรุงเทพฯ :

มูลนิธิบรรจงสนิท และสหปฏิบัติฯ.

พระครูสังฆรักษ์จิตรกร สนฺตจิตฺโต (พลเยี่ยม), 2554. การศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องสุญญ

          ตาของนาคารชุนกับพุทธทาสภิกขุ. สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ระวี  ภาวิไล. อภิธรรมสำหรับคนรุ่นใหม่,2536., หน้า 152-115 อ้างใน ปรัชญา :

 Philosophy,http://wirotephilosophy.blogspot.com/2010/01/blog-            post_5134.   html/9/7/2556.(ออนไลน์)

สุมาลี  มหณรงค์ชัย.2546. ฮินดู-พุทธ จุดยืนที่แตกต่าง. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ.

อรูปภูมิ 4,http://buddhism-online.org/Section06B_15.htm/2556.(ออนไลน์)

อภิชัย  โพธิ์ประสิทธิ์ศาสตร์, 2527.พระพุทธศาสนามหายาน สภาการศึกษามหามกุฏราชวิลยาลัย.

 

David J. Kalupahana, Mulamadhyamokakarika of Nagarjuna : The Philosophy of

the Middle Way, Tran. MKV 20, Chapter 17,1991,pp.254

Jangh, An Introduction to Madhyamaka Philosophy, 1978, pp. 11-13

Kalupahana, D. J. (1992) A History of Buddhist Philosophy,pp. 160.

Natamura and Hajime Nakamura, A History of the Development of Japanese Thought,

 (Nov 15, 1999)

Paul Williams,1989.Mahyna Buddhism: The Doctrinal Foundations.

London and New York: Routledge.

Santina, P. D. (1986) Madhyamaka Schools in India. Delhi: Motilal Banarsidass, pp.17.

Satish Chandra Vidyabhusana , A History of Indian Logic, 1988, pp.251-252.

 

 

 

 

 

 

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML