องค์ประกอบของศาสนา

 



องค์ประกอบของศาสนา

ศาสนาที่จะเป็นศาสนาอย่างสมบูรณ์ได้ต้องมีองค์ประกอบครบตามหลักเกณฑ์ทางวิชาการที่นักการศาสนาจัดไว้ โดยจะต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

หลวงวิจิตรวาทการ (2546 : 17-19.) และเสฐียร พันธรังสี (2546 : 12.) กล่าวไว้ในลักษณะเดียวกันว่า คำว่า ศาสนา มีลักษณะหลายประการประกอบกัน คือ

1) ศาสนาต้องเป็นเรื่องที่เชื่อถือโดยความศักดิ์สิทธิ์ และไม่ใช่เชื่อถือเปล่าๆ ต้องเคารพบูชาด้วย

2) ศาสนาต้องมีคำสอนทางธรรมจรรยา และกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรลุผลอันดีงาม

3) ศาสนาต้องปรากฏตัวผู้สอน ผู้ตั้ง ผู้ประกาศ ที่รู้กันแน่นอน และยอมรับว่าเป็นความจริงทางประวัติศาสตร์

4) ศาสนาต้องมีคณะบุคคลทำหน้าที่โดยเฉพาะสำหรับรักษาความศักดิ์สิทธิ์และคำสอนนั้นสืบต่อมา บุคคลคณะนี้ เรียกกันว่า พระ ถือเป็นวรรณะและเป็นเพศพิเศษ ต่างกับสามัญชน เรียกว่า สมณเพศ

5) ศาสนาต้องมีการกวดขันเรื่องความภักดี ซึ่งเรียกว่า Fidelity หมายความว่าถ้าถือศาสนาหนึ่งแล้วจะไปถือศาสนาอื่นอีกไม่ได้ แม้แต่จะเคารพปูชนียสถานของศาสนาหรือลัทธิอื่นก็ถือเป็นบาป

แสง  จันทร์งาม (2545 : 103.)กล่าวว่า ศาสนาในฐานะเป็นสถาบันต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 8 ประการ คือ

1) ศาสดาผู้ให้กำเนิด

2) ประมวลคำสอน

3) คัมภีร์

4) นักบวช

5) ศาสนิกชน

6) ศาสนสถาน

7) ศาสนวัตถุ

8) สัญลักษณ์ทางศาสนา

เดือน คำดีกล่าวไว้ในลักษณะเดียวกันว่า ศาสนามีองค์ประกอบมากมายหลายอย่าง แต่ที่ถือว่าสำคัญที่สุดมี 5 ประการ คือ

1) ศาสดา คือ ผู้ตั้งศาสนาหรือผู้สอนดั้งเดิม

2) คัมภีร์ศาสนา คือ ที่รองรับหลักธรรมคำสอนในศาสนานั้นๆ

3) นักบวชหรือผู้สืบต่อศาสนา

4) ศาสนสถาน คือ สถานที่สำคัญของศาสนา หรือปูชนียสถาน

5) สัญลักษณ์ คือ เครื่องแสดงออกของศาสนาด้านพิธีกรรมและปูชนียวัตถุ(เดือน คำดี.2541 : 29.)

ตามทัศนะของนักวิชาการที่กล่าวมาข้างต้น สรุปได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าศาสนาอย่างสมบูรณ์ต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

1) ศาสดา คือ ผู้ก่อตั้งศาสนา ซึ่งต้องมีชีวิตอยู่จริงในประวัติศาสตร์

2) ศาสนธรรม คือ คำสอนซึ่งเป็นหลักของศาสนา มีคัมภีร์เป็นที่รวบรวม คำสอน

3) ศาสนทายาท คือ บุคคลผู้สืบทอดคำสอนของศาสนา ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาโดยตรง

4) ศาสนพิธี คือ พิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องมาจากคำสอนของศาสนา

5) ศาสนสถาน คือ สถานที่ประกอบศาสนกิจและศาสนพิธีต่างๆ

6) ศาสนิกชน คือ บุคคลผู้นับถือเลื่อมใสศรัทธาในศาสนานั้นๆ

องค์ประกอบทั้งหมดนี้ บางศาสนาอาจขาดข้อใดข้อหนึ่งไป แต่ก็ยังถือว่าเป็นศาสนา เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ขาดองค์ประกอบข้อที่หนึ่ง คือ ศาสดาไม่ได้มีชีวิตอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ศาสนาอิสลามขาดองค์ประกอบข้อ 5 คือ ศาสนบุคคล เพราะผู้นับถือศาสนาอิสลามไม่มีการถือเพศเป็นบรรพชิต คงมีแต่เพศฆราวาสเท่านั้น

การศึกษาองค์ประกอบของศาสนาๆเดียว อาจไม่ชัดเจนพอ เพราะฉะนั้นควรจะได้พิจารณาถึงองค์ประกอบของศาสนาหลายศาสนา เพื่อความรู้ความเข้าใจในแต่ละศาสนาว่ามีองค์ประกอบแตกต่างอย่างไร ดังจะได้นำเสนอรายละเอียดองค์ประกอบของศาสนาทั้ง 6 ศาสนา ตามลำดับ ต่อไปนี้

1. องค์ประกอบของศาสนาเชน

2. องค์ประกอบของศาสนาเต๋า

3. องค์ประกอบของศาสนาขงจื้อ

4. องค์ประกอบของศาสนาโซโรอัสเตอร์

5. องค์ประกอบของศาสนายิว

6. องค์ประกอบของศาสนาชินโต 

1. องค์ประกอบของศาสนาเชน

1.1 ศาสดา

ศาสดาของศาสนาเชน คือ มหาวีระ มีพระนามเดิมว่า วรรธมานะ แปลว่า ผู้เจริญ ประสูติ ณ นครเวสาลี แคว้นวัชชี ทางภาคเหนือของประเทศอินเดีย ประมาณ 10 ปี หรือ 12 ปีก่อนการประสูติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศาสดาของพุทธศาสนา หรือในราว 635 ปีก่อนคริสตศักราช ทรงเป็นพระโอรสของกษัตริย์สิทธารถ บางแห่งเรียกว่า เศรยาม ซึ่งเป็นกษัตริย์ตระกูลชญษตฤ และพระนางตริศลาซึ่งเป็นกนิษฐภคินีของพระเจ้าเวฏกะแห่งแคว้น วิเทหะ ส่วนคำว่า มหาวรีระ นั้นเป็น สมญานามซึ่งได้ในภายหลังเพราะความกล้าหาญพระองค์ทรงเป็นพระโอรสองค์สุดท้าย โดยมีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ และพระเชษฐภาดาอีก 1 พระองค์(เสฐียร พันธรังษี.2546 : 100.)

1.2 ศาสนธรรม

คัมภีร์ของศาสนาเชน เรียกว่า อังคะ (หรืออาคมะ) เป็นจารึกคำบัญญัติหรือวินัย และ สิทธานตะ เป็นคัมภีร์กล่าวถึงเรื่องราวประเภทชาดกในศาสนา แต่นักปราชญ์ในยุคต่อมามีความเห็นว่า คัมภีร์อังคะและสิทธานตะเป็นคัมภีร์เดียวกัน(เสฐียร พันธรังษี, 2546 :117-118.) 

1.3 ศาสนทายาท และนิกาย

นิกายที่สำคัญในศาสนาเชน มี 2 นิกายใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้

1) นิกายทิคัมพร นิกายนี้เป็นนิกายเปลือยกายหรือนักบวชแบบชีเปลือย ปฏิบัติโดยเคร่งครัด ทรมานตนให้ลำบากนานัปการ ไม่ใส่เครื่องปกปิดร่างกาย นักบวชในศาสนาเชนจะมีเพียงไม้กวาดและผ้ากรองน้ำเพื่อมิให้สิ่งมีชีวิตถูกเบียดเบียนหรือต้องตายเพราะตน นิกายนี้ไม่ยอมให้ผู้หญิงปฏิบัติตาม และผู้หญิงไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เว้นไว้แต่จะเกิดเป็นชายเสียก่อน

2) นิกายเศวตัมพร นิกายนี้เป็นนิกายที่นุ่งขาวห่มขาวเพียงเพื่อปกปิดร่างกายเท่านั้น เพราะยังมีความละอายใจที่ต้องเปลือยกาย ส่วนมากนิกายเศวตัมพรอาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศอินเดีย ซึ่งมีอากาศหนาวมากกว่าทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งพวกนิกายทิคัมพรอาศัยอยู่ ในนิกายนี้ปรากฏมีนักบวชหญิงด้วย (สุชีพ ปุญญานุภาพ. 2541 : 171-172.) 

1.4 ศาสนพิธี

พิธีกรรมสำคัญของศาสนาเชน มีเพียงพิธีกรรมเดียว คือ พิธีภารยุสะนะ หรือพิธีปัชชุสนะ เป็นพิธีรำลึกถึงศาสดามหาวีระ เป็นพิธีกรรมที่ถือว่าเป็นจารีตสำคัญที่จะเลิกถอนไม่ได้ และเชื่อว่าเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด (พิมพ์ ธมฺมธรเถร).2548 : 446-448.)

1.5 ศาสนสถาน

วิหารเชน ที่เมืองรานัคปูร์ เป็นวิหารที่สร้างจากหินอ่อนทั้งหลัง ซึ่งตั้งอยู่กลางหุบเขาอราวลี ส่วนรูปเคารพเป็นรูปของมหาวีระองค์ศาสดา เป็นสัญลักษณ์คล้ายกับศาสนาพุทธ คือพระพุทธรูป เป็นสัญลักษณ์ต่างกันแต่รูปมหาวีระเป็นรูปเปลือย(สุชีพ ปุญญานุภาพ. 2541 :170.)

1.6 ศาสนิกชน

ศาสนิกผู้นับถือประมาณสองล้านกว่าคนทั่วอินเดีย โดยมากเป็นพ่อค้าวาณิชย์ฐานะค่อนข้างดีมีอันจะกิน ศาสนานี้เก็บตัวเงียบ ๆ อยู่แต่ในอินเดียเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าเผยแผ่ไปสู่ต่างประเทศเลย ศาสนาเชนถึงแม้จะเกิดมานานแล้ว แต่ก็มีผู้นับถือจำนวนน้อย นับถือกันอยู่ในอินเดียเท่านั้น (จินดา จันทร์แก้ว.2532 : 54.)

2. องค์ประกอบของศาสนาเต๋า

2.1 ศาสดา

ศาสดาของศาสนาเต๋า คือ เล่าจื๊อ (Lao-Tze) เกิดก่อน ค.ศ. 604 ปี หรือประมาณก่อนพุทธศักราช 61 ปี มีชีวิตระหว่าง 604-520 ก่อนคริสตศักราช เกิดในตระกูลลี บิดามารดาเป็นชาวนายากจนในสมัยราชวงศ์จิว (ประมาณ 1122-255 ก่อน ค.ศ.) ณ หมู่บ้านจูเหยน ในเมืองโฮนาน ภาคกลางของประเทศจีน กล่าวกันว่า ท่านเกิด ณ บริเวณใต้ต้นหม่อน พอคลอดออกจากท้องแม่ มีผมขาวโพลนตั้งแต่เกิด จึงได้นามว่า เล่าจื๊อ หรือ เล่าสือ แปลว่า เด็กแก่ หรือ เฒ่าทารก

2.2 ศาสนธรรม

คัมภีร์เต้า เตก เกง บางแห่งเรียกว่า เต๋า เต๋อ จิง ก็มี มาจากคำว่า "เต้า" หรือ "เต๋า" แปลว่า ทาง "เตก" แปลว่า บุญ ความดี หรือคุณธรรม " เกง" แปลว่า สูตร หรือวรรณคดีชั้นสูง รวมกันแล้วอาจแปลได้ความว่า คัมภีร์แห่งเต๋าและคุณความดี อักษรจารึกเป็นภาษาจีน จัดเป็นหัวข้อได้ 81 ข้อ เป็นถ้อยคำ 5,500 คำ แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคต้นมีจำนวน 37 บท และภาคปลายมีจำนวน 44 บท (ภัทรพร สิริกาญจนและคณะ. 2546 : 117.) 

2.3 ศาสนทายาท

นักพรตจาง เต๋า หลิง เป็นอาจารย์สวรรค์ (ภาษาจีนคือ เทียนจื๊อ) คนแรก และมีนักบวชที่เรียกว่า “เต้าสื่อ” หรือ “เต้ายิ้น” มีศาสนสถาน และพิธีกรรมเป็นของตนเอง(มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย. 2556.(ออนไลน์)) ศาสนาเต๋าปัจจุบัน ไม่มีประมุข หรือองค์การบริหารส่วนรวมเหมือนบางศาสนา แต่ยังมีวัด มีนักบวชชายหญิง มีศาลเจ้า มีสมาคม แพร่หลายอยู่ในกลุ่มชาวจีน แต่รูปลักษณะของศาสนาได้ผิดเพี้ยนไปจากหลักการในคัมภีร์เต้าเต็กเก็งมาก คือเน้นไปทางทรงเจ้า บูชาเจ้า เป็นลักษณะพหุเทวนิยม มีการจำหน่ายเครื่องลางของขลัง ทำพิธีขับไล่ผี เป็นต้น แต่มีบางกลุ่มมีการปฏิบัติเคร่งครัดตามหลักคัมภีร์เต้าเต็กเก็ง (ศาสนาเต๋า : เศรษฐกิจพอเพียง.2556.(ออนไลน์))

2.4 ศาสนพิธี

เดิมทีเดียวคำสอนเล่าจื๊อในฐานะปรัชญาไม่มีพิธีกรรม แต่เมื่อได้รับการพัฒนาจนกระทั่งเป็นศาสนาเต๋านั้น มีพิธีกรรมที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

1. พิธีบริโภคอาหารเจ ศาสนิกชนเต๋าในสมัยต่อมาได้ปรับให้มีความประพฤติ ปฏิบัติชอบโดยนำเอาศีล 5 ทางพุทธศาสนาไปเป็นแนวปฏิบัติ และมีการบริโภคอาหารแบบมังสวิรัติ คือ ไม่บริโภคเนื้อสัตว์

2. พิธีปราบผีปีศาจ ศาสนิกชนเต๋าเชื่อว่า ภูตผีปีศาจร้ายต่างๆ นั้น สามารถที่จะขับไล่และป้องกันได้ ถ้ารู้จักวิธี เช่น ถ้าเดินป่าก็ต้องร้องเพลงหรือผิวปากให้เป็นเสียงเพลง ผีเจ้าป่าไม่ชอบเสียงเพลง เมื่อได้ยินเสียงเพลงก็จะหนีให้ห่างไกลเหมือนยุงกลัวควันไฟ เป็นต้น

3. พิธีกรรมไล่ผีร้าย ศาสนิกเต๋าเชื่อว่า มีภูตผีปีศาจร้ายมากมายคอยหลอกหลอนทำร้ายผู้คน เช่น ปรากฏร่างน่าเกลียดน่ากลัว หรือทำเสียงแปลกๆ เป็นต้น จึงเกิดกรรมวิธีไล่ผีร้ายขึ้นมา โดยมีพระเต๋าเป็นผู้ประกอบพิธี

4. พิธีส่งวิญญาณผู้ตาย คนจีนให้ความสำคัญต่อบรรพบุรุษมาก ถือเรื่องสายโลหิตเป็นสำคัญ ดังนั้น เมื่อมีญาติตายจะต้องประกอบพิธีกรรมเพื่อช่วยให้วิญญาณคนตายไปสู่สุคติ อยู่อย่างเป็นสุข ไม่ถูกผีปีศาจร้ายรบกวน

5. พิธีกราบไหว้บูชาวิญญาณของบรรพบุรุษ ชาวจีนไม่เฉพาะศาสนิกชนเต๋าเท่านั้น นิยมกราบไหว้บูชาวิญญาณของบรรพบุรุษอย่างลึกซึ้ง พวกเขามีความเชื่ออย่างมั่นคงว่า สิ่งทั้งหลายมีวิญญาณสิงสถิตอยู่ทั้งหมด และเชื่อว่าถ้าลูกหลานมีความกตัญญูกราบไหว้วิญญาณบรรพบุรุษแล้ว วิญญาณเหล่านั้นจะต้องดูแลคุ้มครองลูกหลาน ผู้ยังมีชีวิตอยู่ให้มีความเป็นอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

2.5 ศาสนสถาน

วัดหรือสถานที่ทำพิธีกรรมของลัทธิเต๋ามีลักษณะเหมือนศาลเจ้าของจีนโดยทั่วๆ ไปเพียงแต่การตบแต่งภายในที่จะตั้งแท่นที่บูชานั้น ออกจะพิถีพิถันและมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ ภายในศาลเจ้านิยมติดภาพเขียนของเหล่าเทพเจ้า และปรมาจารย์คนสำคัญของลัทธิเต๋า

2.6 ศาสนิกชน

ปัจจุบันศาสนาเต๋ายังมีผู้นับถืออยู่ มีนักบวชชายหญิง มีศาลเจ้า มีสมาคมในหมู่ชาวจีน มีโรงเจสำหรับคนบริโภคอาหารมังสวิรัติอยู่ทั่วไป ศาสนิกของศาสนาเต๋า ในปัจจุบันมีประมาณ 183 ล้านคน กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ที่ชาวจีนอาศัยอยู่มาก เช่น ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน(ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์.2545 : 109-111.)

3. องค์ประกอบของศาสนาขงจื้อ

3.1 ศาสดา

ศาสนาขงจื๊อมีผู้ก่อกำเนิดในฐานะเป็นศาสดา นั่นก็คือ ขงจื๊อ คำว่า ขง เป็นชื่อสกุล คือ ตระกูลขง ส่วนคำว่า จื๊อ แปลว่า ครู อาจารย์ หรือนักปราชญ์ เมื่อรวมกันเข้าก็คงแปลได้ความว่า นักปราชญ์ของตระกูลขง

3.2 ศาสนธรรม

คัมภีร์หลักคำสอนของขงจื๊อแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้

1. เก็งหรือ กิง 5 เป็นงานเขียนของขงจื๊อโดยตรง เรียกว่า เก็ง หรือ กิง หมายถึง วรรณคดีชั้นสูง 5 ประการ คือ

1) ยิ-กิง ได้แก่ คัมภีร์แห่งความเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วยความรู้ทางจักรวาลวิทยา แสดงความเป็นมาของโลก

2) ซู-กิง ได้แก่ คัมภีร์ประวัติศาสตร์ คัมภีร์เล่มนี้ไม่ใช่เป็นเพียงบันทึกเอกสารทางประวัติศาสตร์และข้อเขียนในสมัยโบราณเท่านั้น แต่ยังกล่าวถึงปรัชญาทางศีลธรรมที่ลึกซึ้งอันเป็นรากฐานแห่งทัศนะทางศีลธรรมของศาสนาขงจื๊อ

3) ซี-กิง ได้แก่ คัมภีร์แห่งบทกวี เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมกวีเก่าแก่ของจีน กล่าวกันว่ามีจำนวนถึง 305 บท

4) ลิ-กิง ได้แก่ คัมภีร์แห่งพิธีกรรม กล่าวถึงมารยาททางสังคมและพิธีกรรมต่างๆ

5) ชุน-ชิว ได้แก่ คัมภีร์แห่งฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง เป็นบันทึกประจำปีเกี่ยวกับเหตุการณ์ในแคว้นลู่ นับได้ว่าเป็นประมวลจริยธรรมทางรัฐศาสตร์การปกครองที่ดียิ่งคัมภีร์หนึ่ง

2. ซู ทั้ง 4

คำว่า "ซู" แปลว่า หนังสือหรือตำรา เป็นงานที่หลานและศิษย์ของขงจื๊อเรียบเรียงรวบรวมขึ้น มีลักษณะเป็นประมวลคำสอนของขงจื๊อและแสดงหลักคำสอนของขงจื๊อ มี 4 ประการ ดังต่อไปนี้

1) ต้า-เสี่ยว แปลว่า อุดมศึกษา เป็นข้อความเกี่ยวกับศีลธรรม มีผู้กล่าวว่าเป็นข้อเขียนของขงจื๊อเอง แต่ลักษณะที่มิได้จัดเข้าในเก็งหรือกิงทั้ง 5 ทำให้เห็นว่าน่าจะมี ผู้รวบรวมขึ้นในภายหลัง

2) จุน-ยุง แปลว่า คำสอนเรื่องทางสายกลาง เป็นหนังสือที่ให้ข้อคิดเห็นทางศีลธรรมอันเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับความรู้จักประมาณตน ความสมดุล ความเหมาะสม และความจริงใจ กล่าวกันว่าเป็นข้อเขียนของหลานชายของขงจื๊อในรูปแบบการบันทึกคำพูดของขงจื๊อไว้

3) ลุน-ยู แปลว่า รวมภาษิตของขงจื๊อ เป็นประมวลคำสอนของขงจื๊อซึ่งศิษย์ทั้งหลายของขงจื๊อได้รวบรวมไว้ นอกจากนี้ในหนังสือเล่มนี้ยังมีประวัติบางตอนของขงจื๊อปรากฏอยู่ด้วย

4) เม่ง- จื๊อ เป็นคัมภีร์ที่เม่งจื๊อผู้เป็นศิษย์ของขงจื๊อได้รวบรวมไว้

สรุปได้ว่า คัมภีร์ของศาสนาขงจื๊อ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เป็นข้อเขียนของขงจื๊อเรียกว่า เก็ง หรือ กิงทั้ง 5 กับข้อเขียนที่ศิษย์ของขงจื๊อเรียบเรียงขึ้นในลักษณะเป็นประมวลคำกล่าวของขงจื๊อและแสดงหลักคำสอน เรียกว่า ซู หรือตำราทั้ง 4(สุชีพ ปุญญานุภาพ.2541 : 145-147.)

3.3 ศาสนทายาท

ศาสนาขงจื๊อไม่มีนักบวช เป็นศาสนาที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิตของ ชาวจีน ศาสนาขงจื๊อไม่เห็นด้วยกับแนวทางการออบวชอย่างในพุทธศาสนาและศาสนาเต๋า โดยเน้นการแสวงหาความสุขทางจิตใจพร้อมทั้งการทำงานรับใช้สังคมด้วยเช่นเดียวกัน(ภัทรพร สิริกาญจนและคณะ.2546 : 127.)

3.4 ศาสนพิธี

ขงจื๊อได้เขียนข้อสนับสนุนประเพณีโบราณไว้เป็นอันมาก รวมทั้งประเพณี ในการบูชาฟ้าดิน และบูชาบรรพบุรุษด้วย เมื่อขงจื๊อซึ่งเป็นศาสดาได้สิ้นไปแล้ว ศาสนาขงจื๊อก็อยู่ในฐานะศาสนาของรัฐ พิธีกรรมในการบูชาจึงแบ่งออกเป็น 6 อย่าง ดังนี้

1) พิธีบูชาขงจื๊อ พิธีกรรมนี้เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 195 ก่อน ค.ศ. (พ.ศ. 348) กำหนดให้วันเกิดของขงจื๊อ คือวันที่ 27 สิงหาคม เป็นวันหยุดราชการประจำปีของจีนและต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวันที่ 28 กันยายน

2) พิธีบูชาฟ้า พิธีกรรมนี้กระทำประมาณวันที่ 22 ธันวาคม พระเจ้าจักรพรรดิจีนเป็นประธานในพิธี ถือว่าเป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่กระทำติดต่อกันนานที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศจีนก็ไม่มีการทำพิธีนี้อีก

3) พิธีบูชาดิน พิธีกรรมนี้เป็นการบูชาธรรมชาติหรือเทพประจำธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับการบูชาฟ้า แต่มีความสำคัญน้อยกว่า ผู้ประกอบพิธีจึงเป็นเพียงขุนนางหรือข้าราชการ การบูชาดินนี้ ก็ล้มเลิกในเวลาใกล้เคียงกับการบูชาฟ้า

4) พิธีบูชาพระอาทิตย์ พิธีกรรมนี้กระทำเป็นประจำปี ณ ที่บูชาทางประตูด้านตะวันออกของกรุงปักกิ่ง ประมาณวันที่ 21 มีนาคม

5) พิธีบูชาพระจันทร์ พิธีกรรมนี้กระทำเป็นประจำปี ณ ที่บูชาทางประตูด้านตะวันตกของกรุงปักกิ่ง ประมาณวันที่ 22 หรือ 23 กันยายน(สุชีพ ปุญญานุภาพ. 2541 : 126-129.)

6) พิธีบูชาวิญญาณของบรรพบุรุษ พิธีกรรมนี้เป็นการระลึกถึงบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว แสดงถึงความกตัญญูที่มีต่อ ผู้มีพระคุณ

พิธีกรรมที่สำคัญของศาสนาขงจื๊อมี 6 พิธี แต่พิธีกรรมทั้งหมดนั้นมีเพียง 5 พิธีกรรมแรกเท่านั้นที่เป็นรัฐพิธี แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน พิธีบูชาต่างๆที่เคยเป็นรัฐพิธีก็ถูกยกเลิกไป คงเหลืออยู่เพียงการบูชาวิญญาณบรรพบุรุษที่ชาวจีนยังคงกระทำกันอยู่ แต่ก็มิได้เป็นรัฐพิธีเหมือนเดิม

3.5 ศาสนสถาน

ศาสนาขงจื๊อไม่มีวัด มีแต่ศาลเจ้าของขงจื๊อ

3.6 ศาสนิกชน

ชาวจีนส่วนมากยังคงปฏิบัติอยู่ตลอดจนมีสมาคมขงจื๊ออยู่มากแห่ง ในประเทศไต้หวันวันเกิดของขงจื๊อได้รับการยกย่องให้เป็นวันครูแห่งชาติ (จินดา จันทร์แก้ว.2532 : 108.)

4. องค์ประกอบของศาสนาโซโรอัสเตอร์

4.1 ศาสดา

ศาสดาของศาสนานี้คือ โซโรอัสเตอร์ หรือเรียกอีกชื่อว่า ซาราธุสตระหรือ ซาราธุสตรา เกิดในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ก่อน ค.ศ. ตามประวัติกล่าวว่ามีชีวิตอยู่ในระหว่าง 660-553 ก่อนคริสตกาล

4.2 ศาสนธรรม

คัมภีร์ของศาสนาโซโรอัสเตอร์ คือ คัมภีร์อเวสตะ คำว่า อเวสตะ แปลว่า ความรู้ ตรงกับคำว่า เวทะ ในศาสนาฮินดู แบ่งออกเป็น 5 หมวดใหญ่ ดังนี้ 1) ยัสนะ (Yasna) เป็นส่วนที่ว่าด้วยพิธีกรรมบวงสรวงต่อพระเจ้า 2) วิสเปอรัท (Visperad) เป็นส่วนว่าด้วยบทสวดอ้อนวอนและบูชาพระเจ้า 3) เวทิทัท (Vedidad) เป็นบทสวดในการขับไล่ภูตผีปีศาจและมีเรื่องเกี่ยวกับจักรวาล ประวัติศาสตร์ และคำสอนเรื่องนรกสวรรค์ 4) ยัสถส์ (Yasths) แต่งเป็นคาถาว่าด้วยเรื่องราวศาสนาโซโรอัสเตอร์ ใช้เป็นคัมภีร์หลักในการประกอบพิธีกรรม และ5) โขรทา-อเวสตะ (Khorada Avesta) เป็นคู่มือบทสวดอย่างย่อสำหรับศาสนิก(เสฐียร พันธรังษี. 2546 : 254-255.)

4.3 ศาสนทายาท

พวกพระมากีในตอนแรกๆ ไม่ได้นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ แต่รู้จักคำสอนของโซโรอัสเตอร์เป็นอย่างดี ในสมัยสาสาเนีย จึงมีการแต่งตั้งพระตำแหน่งมากุนัท หรือหัวหน้ามากี ตำแหน่งอีท์รพัท แต่เดิม คือ ครูสอนศาสนา ต่อมาได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดูแลไฟ ส่วนพระในตำแหน่งเฮอร์บัด หรือ เออร์วัด เป็นตำแหน่งพระในระดับต่ำ มีความสำคัญในการประกอบพิธีกรรมในฐานะผู้ช่วยพระ พระชั้นเหนือระดับนี้ขึ้นไป เรียกว่า โมเบด และพระชั้นสูงที่สุด เรียกว่า ทัสทุระ พระตำแหน่งนี้ เป็นผู้บริหารโบสถ์ หรือมากกว่า ตำแหน่งพระเป็นตำแหน่งสืบต่อกันเป็นมรดก แต่ผู้สืบต่อจะต้องมีคุณสมบัติพอ (www.indiaindream.com/.2556.(ออนไลน์)

4.4 ศาสนพิธี

ก่อนที่จะมีการนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ แต่เดิมมาชาวอารยันในอาณาจักรเปอร์เซียโบราณ นิยมการบูชายัญ เพื่อเซ่นสรวงอ้อนวอนเทพเจ้า ต่อมาเมื่อได้ยอมรับนับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์แล้ว ได้เปลี่ยนหลักปฏิบัติจากการบูชายัญมาเป็นการสวดมนต์อ้อนวอนเพื่อขอให้พระอหุระ มาซดะ ประทานชีวิตที่ดี ที่ถูกต้องแก่พวกเขา ในขณะสวดมนต์บางทีก็เผาไม้หอม จำพวกแก่นจันทร์ ทำให้ภายในโบสถ์มีกลิ่นหอมอบอวลอยู่เสมอ ในทุกๆปี ชาวโซโรอัสเตอร์จะต้องทำศาสนกิจนี้เป็นประจำ โดยนำไม้แก่นจันทร์ติดตัวไปด้วย หลังจากเผาไฟแล้ว เขาจะนำขี้เถ้ากลับไปบ้านทุกครั้ง เพราะถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมที่สำคัญอื่นๆ เช่น

1. พิธีปฏิญาณตนเข้านับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์  เมื่ออายุครบ 7 ปี ในอินเดีย และ10 ปีในอิหร่าน และจะได้รับเสื้อ และกฤช ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับกายตลอดชีวิต

2. พิธีนวโชติ ศาสนิกชนศาสนาโซโรอัสเตอร์ไม่ว่าชาย หรือหญิง เมื่ออายุได้ 15-17 ปี จะต้องเข้าพิธีนวโชติด้วยการสวมด้ายมงคล ชายและหญิงที่ผ่านพิธีกรรมนี้แล้ว เรียกว่า ผู้เกิดใหม่

3. พิธียัสนะ เป็นพิธีบวงสรวงเทพเจ้าด้วยโสม หรือเหล้าศักดิ์สิทธิ์ เป็นพิธีจัดขึ้นหน้ากองไฟ และมีการสวดมนต์ในคัมภีร์อเวสตะอีกด้วย

4. พิธีบูชาไฟ  ชาวโซโรอัสเตอร์ถือว่า ไฟ เป็นสัญลักษณ์แห่งเทพเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ ผู้ทรง แสงสว่างยิ่งกว่าแสงสว่างใดๆ ผู้ประทานความอบอุ่นให้แก่มวลมนุษยชาติ ศาสนิกชนแห่งโซโรอัสเตอร์จึงนิยมบูชาไฟ โดยจะจุดไฟเพื่อบูชาไว้ไม่ขาดสาย จะคอยระวังไม่ให้ไฟดับ

5. พิธีศพ  เมื่อมีคนตายตามประเพณีของโซโรอัสเตอร์ จะนำสุนัขตัวหนึ่งซึ่งมี 4 ตา คือมีจุดที่เหนือตาข้างละจุดมาไว้ใกล้ๆศพ นำสุนัขมามองศพวันละ 5 ครั้ง ภายหลังการกระทำครั้งแรกแล้ว จะนำไฟมาไว้ในห้องที่ศพอยู่ จะต้องรักษาไฟไม่ให้ดับจนครบ 3 วัน จึงย้ายศพไปไว้ในหอคอยแห่งความสงบ จะกระทำการย้ายศพในเวลากลางวัน และทิ้งศพไว้ให้เป็นเหยื่อนกแร้ง

4.5 ศาสนสถาน

ฮีโรโดตุส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีซ ได้เขียนไว้ว่า ชาวอิหร่านไม่มีโบสถ์ทางศาสนา แต่มีการค้นพบโบสถ์ของชาวอิหร่านในเวลาต่อมา มีลักษณะเป็นเฉลียง หรือเป็นหอคอย หรือเป็นห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัส และยังพบชาฮาร์ทัก ซึ่งเป็นอาคารศักดิ์สิทธิ์ มีประตู 4 แห่ง โบสถ์เช่นนี้มีกระจัดกระจายทั่วไปในอิหร่าน ปัจจุบันเป็นวิหารจะมีพระคอยจุดไฟศักดิ์สิทธิ์ให้ลุกช่วงอยู่ตลอดเวลา เช่น วิหารไฟในเมืองยัซดฺ ประเทศอิหร่าน(www.indiaindream.com/. 2556.(ออนไลน์))

4.6 ศาสนิกชน

ศาสนิกของศาสนาโซโรอัสเตอร์ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย เรียกว่า ชาวปาร์ซี มีประมาณ 100,000 คน ดังนั้น เมืองบอมเบย์จึงกลาย เป็นศูนย์กลางของศาสนาโซโรอัสเตอร์ในปัจจุบัน ชาวปาร์ซีที่อยู่ในประเทศอิหร่านอีกประมาณ 11,000 คน เรียกว่า พวกกาบารส์ (Gabars) แปลว่า พวกนอกศาสนา ซึ่งเป็นคำที่ชาวมุสลิมเรียกชาวปาร์ซี นอกจากนี้ ชาวปาร์ซียังอาศัยอยู่ในส่วนอื่นๆของโลกอีกด้วย เช่น ดินแดนแถบอเมริกาเหนือ ประชากรที่นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ทั้งหมดมีประมาณ 250,000 คน

ปัจจุบันยังคงมีความศรัทธาเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นอยู่กับคำสอนมาแต่โบราณว่าด้วยการทำสงครามต่อสู้กันระหว่างความดีกับความชั่ว แต่ถึงกระนั้นชาวโซโรอัสเตอร์ก็ดูจะไม่สนใจเผยแผ่ศาสนาให้แพร่หลายออกไปสู่โลกภายนอก แต่ยังพอใจที่จะอนุรักษ์ไว้สำหรับชาวโซโรอัสเตอร์ด้วยกันเท่านั้น ทั้งมีทีท่าจะถูกศาสนาอื่นกลืนอีกด้วย ส่วนชาวโซโรอัสเตอร์ในประเทศอิหร่าน ก็อยู่ในฐานะลำบาก เพราะถูกมุสลิมรังแก(www.indiaindream.com/.2556.(ออนไลน์))

5. องค์ประกอบของศาสนายิว

5.1 ศาสดา

ศาสนายิวมีโมเสสเป็นศาสดา และมีศาสดาพยากรณ์ที่สำคัญอยู่ 16 ท่าน ศาสนายิวมีความเชื่อเรื่อง เมสสิอาห์ กล่าวคือ ตัวแทนของพระเจ้าที่จะมาช่วยชาวยิว ชาวยิวมีความเชื่อมั่นว่า สักวันหนึ่งพระเจ้าจะประทานแผ่นดินให้ยิวอีก เพราะชาวยิวเป็นประชากรของพระเจ้า และเป็นชาติที่พระเจ้าทรงเลือก ศาสนายิวเป็นศาสนาที่นับถือนับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียว คือ พระยะโฮวาห์ หรือเยโฮวาห์ ชาวยิวก็ยังยึดถือคัมภีร์โตราห์เป็นธรรมนูญชีวิตอีกด้วย(นงเยาว์ ชาญณรงค์.2539 : 360.)

5.2 ศาสนธรรม

คัมภีร์สำคัญของศาสนายิว คือ พระคัมภีร์ไบเบิล แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ภาคพันธสัญญาเดิม (The Old Testament) และ 2) ภาคพันธสัญญาใหม่ (The New Testament) (เสฐียร พันธรังษี.2546 : 307.) ส่วนที่เป็นภาคพันธสัญญาเดิมเท่านั้นที่เป็นส่วนของศาสนายิว จารึกด้วยภาษาเฮบรู ต่อมาภายหลังจึงได้แปลเป็นภาษากรีก ละติน และภาษาอังกฤษ โดยชาวยิวเรียกคัมภีร์ของศาสนาตนว่า "ตานัค" (Tanakh)

5.3 ศาสนทายาท

นักบวชยิวจะต้องมาจากตระกูลเลวี (Levites) ส่วนมาก แรบไบนั้นอาจเป็นใครก็ได้ แต่ต้องเป็นฆราวาสที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ความสามารถ ในการตีความพระคัมภีร์ ดังนั้น แรบไบ (rabbi) ซึ่งฮอพฟ์(องค์การเผยพระคริสต์ธรรม.2517 : 100.) ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ครูของฉัน” (my master ) ทำหน้าที่ตีความบทบัญญัติ ก็คือผู้เชี่ยวชาญทางศาสนานั่นเอง แต่ไม่ใช่ผู้ที่ทำพิธีทางศาสนา เพราะหน้าที่นี้เป็นของตระกูลเลวี ซึ่งแต่เดิมมาในอดีตพวกเลวีทำหน้าที่ทางศาสนาในตำแหน่งปุโรหิตมีหน้าที่ปฏิบัติงานต่างๆ ภายในเต็นท์นัดพบ เช่น ดูแลหีบพระบัญญัติ ดูแลโต๊ะ คันประทีป แท่นบูชา เครื่องใช้นมัสการ การถวายอาหาร การดูแลน้ำมันตามตะเกียง นอกจากนี้ยังต้องทำหน้าที่หามหีบพระบัญญัติเร่ร่อนไปตามถิ่นต่างๆ ตระกูลเลวีทำหน้าที่นี้ ต่อเนื่องกันมาช้านานจนกระทั่งปัจจุบัน(มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย. 2556.(ออนไลน์))

5.4 ศาสนพิธี

พิธีกรรมที่สำคัญของศาสนายิวมีหลายพิธี มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

1. วันสับบาธ หรือสะบาโต (Sabbath) ศาสนายิวเชื่อว่า พระเจ้าทรงสร้างโลกเพียง 6 วัน ส่วนวันที่ 7 พระเจ้าได้สร้าง ทุกอย่างเสร็จหมดแล้ว จึงหยุดในวันนี้ โดยกำหนดให้วันที่เจ็ดเป็นวันที่ต้องทำจิตให้สงบเพื่อระลึกถึงพระเจ้าในวันที่ 7 เริ่มตั้งแต่ตอนเย็นพระอาทิตย์ตกของวันศุกร์ไปจนกระทั่งถึงตอนเย็นพระอาทิตย์ตกของวันเสาร์

2. เทศกาลอพยพ (Passover)  เทศกาลนี้เริ่มในวันที่ 15 ตามปฏิทินของพวกเฮบรู ประมาณเดือนนิซัน ซึ่งอยู่ในราวประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายน เทศกาลนี้มีทั้งหมด 8 วัน จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงการที่ ชาวเฮบรูได้อพยพออกจากอียิปต์ พ้นจากความเป็นทาสไปสู่ความเป็นอิสระ เร่ร่อนหาดินแดนที่พระเจ้าทรงประทานให้

3. พิธีชาวูออท (Shavuot) หรือ งานฉลองพืชผลครั้งแรก พิธีนี้กระทำหลังจากเทศกาลอพยพผ่านไปแล้ว 50 วัน ตามปฏิทินของเฮบรู จะอยู่ในช่วงเดือนสิวัน ซึ่งอยู่ในราวประมาณเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน เป็นการฉลองให้กับการเก็บเกี่ยวพืชผลในไร่ครั้งแรก ในขณะเดียวกันวันนี้จะตรงกับวันที่โมเสสได้รับบัญญัติ 10 ประการที่ภูเขาซีไน

4. วันปีใหม่ หรือ รอช ฮาชานาห์ (Rosh Hashanah) วันปีใหม่ของชาวยิวจะนิยมฉลองกันในวันแรก และวันที่สองของเดือนติชเร ซึ่งอยู่ในราวประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม

5. วันชดใช้บาป หรือวันแห่งการแก้ไขความประพฤติ (The Day of Atonement) ศาสนายิว เรียกวันนี้ว่า "ยม คิปปูร์" (Yom Kippur) เชื่อกันว่า วันนี้เป็น วันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดเพราะมีการยกเลิกบาปและคืนดีต่อกัน โดยนิยมฉลองกันในวันที่ 10 ของเดือนติชเร ซึ่งอยู่ในราวประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม ในวันนี้ชาวยิวจะหยุดงาน หยุดกินอาหาร และไม่ดื่มอะไรทั้งสิ้น แต่จะไปชุมนุมกัน ณ สถานที่นมัสการ เพื่อสวดมนต์และอภัยบาปต่อกัน(Lewis M. Hopfe, Mark R.Woodward, 2007 : 260.)

6. งานพิธีกรรมซุกคอท (Sukkot) งานนี้เริ่มต้นในวันที่ 15 ของเดือนติชเร ซึ่งอยู่ในราวประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม แต่เดิมนั้นงานนี้เป็นงานฉลองพืชผลในฤดูใบไม้ร่วง ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นการฉลองเพื่อระลึกถึงวิถีชีวิตของยิวที่ต้องอพยพเร่ร่อน และต้องผูกพันชะตาชีวิตอยู่กับพระมหากรุณาของพระผู้เป็นเจ้า พิธีนี้ไม่นิยมเฉลิมฉลองในบ้าน แต่ละครอบครัวจะจำลองสภาพชีวิตที่เคยเดินทางอยู่ในทะเลทราย

7. งานเลี้ยงปูริม (Purim) หรือวันแห่งโชคชะตา (The Feast of Lots) งานตรงกับวันที่ 14 ของเดือนอาดาร์ (Adar) ซึ่งอยู่ในราวประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม เป็นวันที่ระลึกถึงชัยชนะที่มีต่อศัตรูนอกศาสนาของชาวยิว (Lewis M. Hopfe, Mark R.Woodward, 2007 : 261.)

8. พิธีกรรมเข้าสุหนัต พิธีนี้กระทำเมื่อเด็กชายมีอายุ 8 วัน พวกเขาจะถูกนำเข้าในที่ประชุม จากนั้นผู้ทำสุหนัตซึ่งเรียกว่า โมเฮล (Mohel) จะทำการขลิบหนังหุ้มปลายองคชาติ (ธรรมกาย. 2550 : 310.)

9. พิธีบาร์ มิตซวาห์ (Bar Mitzvah) เมื่อเด็กชายยิว มีอายุ 13 ปี จะต้องเข้าพิธีนี้เพื่อแสดงว่า พวกเขาได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่หลังจากที่ผ่านพ้นอายุ 13 ปีไปแล้ว ในวันสับบาธหรือสะบาโตต่อมา เขาจะต้องอ่านพระคัมภีร์ ณ สถานที่นมัสการ และมีโอกาสที่จะได้แสดงสุนทรพจน์ทางศาสนา ในวันนี้(Lewis M. Hopfe, Mark R.Woodward, 2007 : 261.)

10. พิธีแต่งงาน (Kiddushin) พิธีแต่งงานของยิวเรียกว่า คิดดูชิน เป็นพิธีที่มีความสำคัญมากเพราะเป็นการเพิ่มผลผลิตตามเจตจำนงของพระเจ้า และเป็นการให้สัญญากันระหว่างคน 2 คน ที่จะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างซื่อสัตย์ ดังนั้น จึงต้องมีสักขีพยาน และมอบของมีค่าคือแหวน เพื่อเป็นพยานรักโดยเจ้าบ่าวเป็นผู้ให้แก่เจ้าสาว จากนั้นจึงดื่มไวน์ร่วมแก้วเดียวกัน เสร็จแล้วเจ้าสาวจะทุบแก้ว และมอบเอกสารการแต่งงานให้เจ้าบ่าว(ธรรมกาย, 2550 : 311.)

11. พิธีไว้ทุกข์ พิธีนี้เริ่มทำตั้งแต่การทำศพผู้ตายให้สะอาดแล้วแต่งตัวด้วยชุดขาว จากนั้นนำไปทำพิธีศพให้เร็วที่สุด จึงจะไว้ทุกข์ 7 วัน หลังจากทำพิธีฝังศพแล้ว ผู้ไว้ทุกข์ จะต้องนั่งสงบเสงี่ยมภายในบ้านยกเว้นวันสับบาธหรือสะบาโต บางแห่งอาจจะไว้ทุกข์อีก 11 เดือน (ธรรมกาย, 2550 : 311.)

12. พิธีสวดมนต์ ชาวยิวจะพากันสวดมนต์ 3 เวลา คือ เวลาเช้า เวลาบ่าย และเวลาเย็น ซึ่งอาจจะสวดที่ใดก็ได้ เพื่อผูกจิตของตนให้แนบแน่นกับพระเจ้า(ธรรมกาย, 2550 : 311.)

5.5 ศาสนสถาน

แต่เดิมมาพวกบรรพบุรุษของชาวยิว คือ ฮิบรู ไม่เคยสร้าง เมื่อทำพิธีกรรมทางศาสนา พวกเขาจะทำในเต็นท์ใดเต็นท์หนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “เต็นนัดพบ” (Tent of Meeting) ภายในประดิษฐานหีบพันธสัญญา (The Ark of the Covenant) ภายในหีบมีแผ่นหินสองแผ่นจารึกบัญญัติ 10 ประการ เมื่อพวกยิวเร่ร่อนไปที่ใด พวกเขาจะแบกหีบนี้ไปด้วยเหมือนมีพระเจ้าอยู่ใกล้ตัวทำให้เกิดความอบอุ่น และไม่กล้าทำผิดศีลธรรม ยิวเริ่มมาสร้างวิหารในสมัยของพระเจ้าโซโลมอน โดยมีรูปแบบเหมือนกับวิหารของพวกคานาอัน ต่อมาวิหารที่สร้างในสมัยของกษัตริย์โซโลมอนได้ถูกทำลายไป จนกระทั้งภายหลังพวกยิวได้สร้างสถานที่ทำพิธีกรรมตามแบบฉบับของตนเรียกว่า “สถานที่นัมสการ” (Synagogue) อันเป็นที่ชุมนุมทางศาสนา(มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย. 2556.(ออนไลน์))

5.6 ศาสนิกชน

ศาสนิกของศาสนายิวมีทั้งในประเทศอิสราเอลและต่างประเทศ กล่าวคือในสหรัฐอเมริกามีประมาณ 5 ล้านคน ในแคนาดา ประมาณ 1 ล้านคน ในทวีปยุโรปประมาณ 3 ล้าน 5 แสนคน และในทวีปเอเชียประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศอิสราเอล เพราะฉะนั้น ศาสนิกของศาสนายิวจึงมีทั้งหมดประมาณ 12-13 ล้านคน (ธรรมกาย, 2550 : 311.)

6. องค์ประกอบของศาสนาชินโต

6.1 ศาสดา

โดยมากเมื่อกล่าวถึงศาสนาชินโต ก็เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าไม่มีศาสดาหรือผู้ตั้งศาสนาเพราะศาสนาชินโตเป็นศาสนาที่เกิดสืบเนื่องมาจากขนบประเพณีในการบูชาบรรพบุรุษ และบูชาเทพเจ้า แต่เมื่อแบ่งศาสนาชินโตออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ชินโตที่เป็นของรัฐ (State Shinto) หรือ ชินโตศาลเทพเจ้า (Shrine Shinto) และชินโตที่เป็นนิกาย (Sectarian Shinto) ชินโตแบบแรกอาจไม่มีศาสดาก็จริง แต่ชินโตแบบหลังที่เป็นนิกายต่างๆ มีศาสดาแน่นอน เช่น นิกายกอนโก มีกอนโกเป็นศาสดาพยากรณ์ เป็นต้น

6.2 ศาสนธรรม

 คัมภีร์ศาสนาชินโตที่สำคัญมีอยู่ 2 คัมภีร์ ดังนี้

1. คัมภีร์โคยิกิ คัมภีร์นี้มีรากฐานอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณี กล่าวถึง นิยาย ตำนาน ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับราชสำนักของพระจักรพรรดิ มีผู้กล่าวกันว่า คัมภีร์ศาสนาชินโต มีลักษณะเป็นเทพนิยายผสมประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ข้อห้าม การปฏิบัติทางไสยศาสตร์ และการปฏิบัติต่อเทพเจ้า

2. คัมภีร์นิฮองงิ หรือนิฮอนโชกิ คัมภีร์นิฮอนโชกินี้ ถือว่าเป็นคลาสสิก คือเป็นวรรณคดีชั้นสูง เป็นคัมภีร์รวม 30 เล่ม 15 เล่มแรกว่าด้วยเทพนิยายและนิยายต่างๆ 15 เล่มหลังว่าด้วยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือกันได้มากที่สุดนอกจากคัมภีร์ทั้งสองเล่มข้างต้นแล้วยังมีคัมภีร์อื่นๆอีก 5 เล่ม ซึ่งมีความสำคัญรองจากสองคัมภีร์ข้างต้น ดังต่อไปนี้ คือ

1) คัมภีร์โกโค ชูอิ คัมภีร์เล่มนี้อิมเบ ฮิโรนาริเป็นคนแต่ง เป็นคัมภีร์ที่อธิบายความหมายแห่งถ้อยคำและการปฏิบัติพิธีกรรมโบราณ นอกจากนี้ยังแสดงถึงความคิดเห็นของผู้แต่งเกี่ยวกับศาลเทพเจ้าที่อิเสและที่อัทสุตะและเกี่ยวกับฐานะแห่งสกุลของผู้แต่งซึ่งสัมพันธ์กับตระกูลนากาโตมิ และฐานะของตระกูลนากาโตมิ

2) คัมภีร์มันโยชู คัมภีร์เล่มนี้ประมวลบทกวีเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น มีการรวบรวมในศตวรรษที่ 8 ประกอบด้วยบทกวี 4,500 บท ซึ่งเขียนขึ้นในศตวรรษที่ 5 จนถึงศตวรรษที่ 8 เป็นบทนิพนธ์ของบุคคลตำแหน่งต่างๆตั้งแต่พระเจ้าจักรพรรดิจนถึงชาวนา นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือได้ทำให้รู้ถึงความเชื่อถือ ขนบประเพณีและความคิดทางศาสนาของคนในสมัยโบราณ

3) คัมภีร์ฟูโดกิ คัมภีร์เล่มนี้เป็นข้อเขียนแสดงภูมิศาสตร์ส่วนภูมิภาคซึ่งเรียบเรียงขึ้นถวาย ราชสำนักตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าจักรพรรดิ ในคริสตศักราช 713 ในปัจจุบันส่วนใหญ่ของคัมภีร์เล่มนี้ได้สูญหายไปยังมีเหลือเป็นเล่มสมบูรณ์เพียงบางเรื่องและเหลือบางส่วน

4) คัมภีร์ไตโฮ-รโย คัมภีร์เล่มนี้จัดเป็นคัมภีร์กฎหมายโบราณที่สำคัญของญี่ปุ่น คัมภีร์เล่มนี้แสดงให้ทราบว่า สำนักราชการแห่งไหนมีความสำคัญสูงสุดในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบูชาในศาสนาชินโต

5) คัมภีร์เองคิ-ชิกิ คัมภีร์เล่มนี้เป็นประมวลกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลระหว่างสมัยแห่งกฎหมายริตซู-รโย (ศตวรรษที่ 7 - 8) เป็นหนังสือ จำนวน 50 เล่ม ซึ่งยังมีปรากฏอยู่จนบัดนี้ คัมภีร์เล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ กฎมณเฑียรบาลแห่งราชสำนักพระเจ้าจักรพรรดิอย่างละเอียด (สุชีพ ปุญญานุภาพ. 2545 : 113-115.)

6.3 ศาสนทายาท

นักบวชของชินโตมีทั้งชายและหญิง นักบวชหญิงจะต้องประพฤติพรหมจรรย์ นักบวชชายบางนิกายมีครอบครัวได้ ส่วนผู้ทำหน้าที่รับใช้ในวัดจะเป็นผู้ชาย และมีหัวหน้านักบวชทำหน้าที่ดูแลศาลเจ้ารวมทั้งเป็นประธานในพิธีกรรมต่าง ๆ นักบวชในศาสนาชินโต จะไม่ประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตาย ให้เป็นหน้าที่ของพระในพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้ชาวญี่ปุ่นจึงนับถือศาสนาชินโตและศาสนาพุทธไปพร้อมกัน(มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยศาสนศึกษา.2556. (ออนไลน์)

6.4 ศาสนพิธี

 พิธีกรรมที่สำคัญในศาสนาชินโตส่วนใหญ่เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบูชา โดยแบ่งออกเป็นพิธีการบูชาและพิธีเฉลิมฉลองในโอกาสต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. พิธีการบูชา พิธีการบูชาในศาสนาชินโตแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังต่อไปนี้

1) พิธีบูชาในศาสนา พิธีบูชาในศาสนาชินโต คือ การไหว้เทพเจ้า พิธีการนี้ไม่มีเครื่องสังเวย เมื่อชาวญี่ปุ่นจะออกไปไหว้เทพเจ้าจะเตรียมการแต่งตัวให้สะอาด แล้วเข้าไปโค้งคำนับตรงหน้าศาลเจ้าซึ่งมีมากมายหลายแห่ง โดยศาลเจ้าแต่ละแห่งจะมีประตูวิญญาณที่เรียกว่า โทริ เป็นเครื่องหมาย

2) พิธีบูชาธรรมชาติ ชาวญี่ปุ่นถือว่าธรรมชาติต่างๆ บนเกาะญี่ปุ่น เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของเทพเจ้า จึงมีฐานะควรแก่การเคารพบูชา

3) พิธีบูชาบุคคลสำคัญ การบูชาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของศาสนาชินโต ก็คือ การบูชาบุคคลที่เป็นที่เคารพสักการะ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ (1) การบูชาวีรชน ลักษณะที่โดดเด่นประการหนึ่งของชาวญี่ปุ่น คือ ความรักชาติและความเป็นชาตินิยม (2) การบูชาพระจักรพรรดิ ชาวญี่ปุ่นถือว่าองค์จักรพรรดิหรือองค์มิกาโด (Mikado) หรือเทนโน (Tenno) เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากพระอาทิตย์มาโดยไม่ขาดสาย พระจักรพรรดิของญี่ปุ่นมีฐานะเป็นหัวหน้าครอบครัวของคนทั้งชาติ ชาวญี่ปุ่นเป็นครอบครัวเดียวกันหมด (3) การบูชาบรรพบุรุษ ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า บรรพบุรุษของชาวญี่ปุ่น คือ พระอาทิตย์เพราะ พระจักรพรรดิสืบเชื้อสายมาจากสุริยเทพเจ้า

2. พิธีเนื่องในวันนักขัตฤกษ์ ชาวญี่ปุ่นจะจัดให้มีขบวนแห่ มีการบรรเลงดนตรีและเต้นรำ นักบวชมีหน้าที่ทำพิธีอ่านบทสวดเบื้องหน้าแท่นบูชาที่ศาลเจ้าเพื่อเกิดความเป็นมงคลในชีวิต บ้านเรือนมีความสุข ให้มีผลสำเร็จในการออกรบกับข้าศึก ให้การปกครองเป็นไปด้วยดี และให้พระจักรพรรดิทรงดำรงอยู่ใน ราชสมบัติยั่งยืนนาน

3. พิธีโอโฮฮาราฮิ เป็นพิธีชำระครั้งยิ่งใหญ่ เรียกว่า ความบริสุทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ มีการโยนสิ่งของเครื่องสักการะลงไปในแม่น้ำหรือทะเล เพื่อเป็นการลอยบาปหรือเคราะห์กรรมให้พ้นไปจากตัว 

6.5 ศาสนสถาน

 ศาลเจ้าของญี่ปุ่นมีรูปแบบเรียบง่าย ทำด้วยไม้และกระดาษ ทางเข้ามีประตูโทริอิ (tori - i) ที่สร้างด้วยไม้หรือหิน ภายในศาลเจ้ามีสัญลักษณ์ของกามิ คือกระจก แต่บางแห่งอาจจะสร้างรูปเสื้อผ้า หรือดาบ มีที่สำหรับตั้งอาหารเซ่นไหว้ เช่น ข้าว ผัก ปลา เป็ด ไก่ รวมทั้งเหล้าสาเก แต่ต้องไม่เซ่นไหว้ด้วยเลือดเพราะถือเป็นของไม่บริสุทธิ์(มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยศาสนศึกษา. 2556. (ออนไลน์))

6.6 ศาสนิกชน

ศาสนาชินโต แต่ละนิกาย ก็พยายามตอบสนองความศรัทธาของประชาชนในรูปแบบต่างๆ กัน จนแตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ ถึง 377 นิกาย มีลักษณะผสมผสานกับพุทธศาสนาจำนวน 140 นิกาย ที่มีลักษณะเป็นชินโตแท้ๆจำนวน 142 นิกาย นอกนั้นก็มีแนวโน้มผสมผสานแบบคริสต์และอื่นๆบ้างซึ่งก็แตกแขนงออกมาจากพุทธศาสนา ชินโตและศาสนาคริสต์ในประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง และประมาณ 29 นิกายที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็น ศาสนาใหม่ นอกเหนือจากนิกายที่ได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนาในกลุ่มศาสนาใหม่แล้ว นิกาย เทนริเกียวซึ่งเป็นนิกายของศาสนาชินโตตั้งแต่สมัยเมจิ ก็มีการพัฒนาเจริญรุ่งเรือง ยังมีนิกายโอโมโตเกียว นิกายย่อยของกลุ่มนิกายนี้ เช่น นิกาย เซไก กยูเซอิเกียว เป็นต้น ปรากฏการณ์ทางศาสนาดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจเพราะเกิดขึ้นและเจริญเติบโตท่ามกลาง การเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเฉพาะลัทธิการเมืองแบบคอมมิวนิสต์และสังคมนิยม ซึ่งยังคงไม่ประสบความสำเร็จในประเทศญี่ปุ่นจริงๆเลย(จินดา จันทร์แก้ว, 2532 : 113-114.)ปัจจุบัน ศาสนิกศาสนาชินโตมีประมาณ 3,162,800 คน (Encyclopaedia Britanica 1994 : 269, อ้างใน ศาสนาชินโต,)(ออนไลน์)

สรุปได้ว่า สิ่งที่เรียกว่า ศาสนา อย่างสมบูรณ์ต้องมี ศาสดา คือ ผู้ก่อตั้งศาสนา ซึ่งต้องมีชีวิตอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ศาสนธรรม คือ คำสอนซึ่งเป็นหลักของศาสนา มีคัมภีร์เป็นที่รวบรวม คำสอน ศาสนทายาท คือ บุคคลผู้สืบทอดคำสอนของศาสนา ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาโดยตรง ศาสนพิธี คือ พิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องมาจากคำสอนของศาสนา ศาสนสถาน คือ สถานที่ประกอบศาสนกิจและศาสนพิธีต่างๆ และศาสนิกชน คือ บุคคลผู้นับถือเลื่อมใสศรัทธาในศาสนานั้นๆ องค์ประกอบทั้งหมดนี้ บางศาสนาอาจขาดข้อใดข้อหนึ่งไป แต่ก็ยังถือว่าเป็นศาสนา

--------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

จินดา จันทร์แก้ว. 2532. ศาสนาปัจจุบัน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

เดือน คำดี. 2541.ศาสนศาสตร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. 2545. ศาสนาและปรัชญาในจีน ทิเบตและญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ :

สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.

ธรรมกาย. 2550. ศาสนศึกษา .ปทุมธานี : มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย.

นงเยาว์ ชาญณรงค์. 2539. วัฒนธรรมและศาสนา. กรุงเทพมหานคร : สานักพิมพ์มหาวิทยาลัย

รามคำแหง.

ภัทรพร สิริกาญจนและคณะ. 2546. ความรู้พื้นฐานทางศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ :

สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยศาสนศึกษา. ศาสนาชินโต.

http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/shinto00.htm/6/7/2556.(ออนไลน์)

มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย. หนังสือเรียน+สื่อประกอบการเรียนการสอน.

http://book.dou.us/doku.php?id=df404:7/6/7/2556.(ออนไลน์)

ศาสนาเต๋า : เศรษฐกิจพอเพียง. https://sites.google.com/site/wwwlovesuffcom/-20.

5/กรกฎาคม/2556.(ออนไลน์)

เสฐียร พันธรังษี. 2546.ศาสนาเปรียบเทียบ.พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.

สุชีพ ปุญญานุภาพ. 2541. ประวัติศาสตร์ศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์รวมสาส์น.

---------------------. 2545. ประวัติศาสตร์ศาสนา. กรุงเทพมหานคร : สานักพิมพ์ รวมสาส์น.

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธรเถร). 2548. สากลศาสนา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรมการศาสนา.

แสง จันทร์งาม. 2545. ศาสนศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 4.กรุงเทพฯ : สานักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช.

หลวงวิจิตรวาทการ. 2546. ศาสนาสากล เล่ม 1. กรุงเทพฯ : อุษาการพิมพ์.

องค์การเผยพระคริสต์ธรรม. 2517. พระคริสต์ธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิม ฉบับ 1971.

Encyclopaedia Britanica. 1994 , อ้างใน ศาสนาชินโต,

http://sereykh.blogspot.com/2009/09/blog-post_3212.html,31/08/2556.(ออนไลน์)

Lewis M. Hopfe, Mark R.Woodward. 2007. Religions of the World (New Jersey :

Upper Saddle river.

www.indiaindream.com/ศาสนาโซโรอัสเตอร์/ศาสนาโซโรอัสเตอร์-Zoro.../5/7/2556.(ออนไลน์)

 

 


คำถวายสังฆทาน (อุทิศผู้ตาย)

 


คำถวายสังฆทาน (อุทิศผู้ตาย)

ตั้งนะโม ๓ จบ

อิมานิ,  มะยัง  ภันเต  มะตะกะภัตตานิ,  สะปะริวารานิ,  ภิกขุสังฆัสสะ  โอโณชะยามะ,  สาธุ  โน  ภันเต,  ภิกขุสังโฆ,  อิมานิ,  มะตะกะภัตตานิ,  สะปะริวารานิ,  ปะฏิคคัณหาตุ,  อัมหากัญเจวะ,  มาตาปิตุอทีนัญจะ  ญาตะกานัง,  กาละกะตานัง  ทีฆะรัตตัง,  หิตายะ,  สุขายะ.

แปล

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายมะตะกะภัตตาหารกับทั้งของบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับมะตะกะภัตตาหาร กับทั้งของบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลาย มีมารดาบิดา เป็นต้น และ..............(ชื่อผู้ตาย)...................... ผู้ทำกาลล่วงลับไปแล้วด้วย สิ้นกาลนาน เทอญฯ.

 

---------------------------------------------------

 

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

คณาจารย์แห่งโรงพิมพ์เลี่ยงเชียง. ศาสนพิธี เล่ม ๑ ฉบับมาตรฐาน. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง, ๒๕๕๐.

 

 

 

 

 

 

 

คำถวายสังฆทาน (สามัญ)

 



คำถวายสังฆทาน (ประเภทสามัญ)

ตั้งนะโม ๓ จบ

อิมานิ  มะยัง  ภันเต  ภัตตานิ,   สะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ  โอโณชะยามะ,  สาธุ โน ภันเต,  ภิกขุสังโฆ,  อิมานิ  ภัตตานิ,  สะปะริวารานิ,  ปะฏิคคัณหาตุ,  อัมหากัง,  ทีฆรัตตัง,  หิตายะ,  สุขายะ.

แปล  

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายภัตตาหารพร้อมด้วยของบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับภัตตาหารพร้อมด้วยของบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญฯ

---------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

คณาจารย์แห่งโรงพิมพ์เลี่ยงเชียง. ศาสนพิธี เล่ม ๑ ฉบับมาตรฐาน, พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง, ๒๕๕๐.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML