ความหลุดพ้นในพุทธปรัชญาเถรวาท
พุทธศาสนาสอนให้มนุษย์รู้จักสิ่งที่เป็นธรรมดา
เป็นเรื่องจริง และเป็นธรรมชาติ เมื่อพระพุทธองค์สอนสภาพความจริงของโลก สอนให้รู้จักเข้าใจสภาพตามธรรมชาติ
สภาพความเป็นจริง และสภาพของการเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดาของโลกนี้ ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นแล้วเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
แปรเปลี่ยน เสื่อมสลายแตกดับในที่สุด มนุษย์ก็จะสามารถเข้าใจวงจรของชีวิตว่าเป็นอย่างไรได้
ถึงแม้ในบางครั้งคำสอนเหล่านี้อาจจะขัดกับความรู้สึกของสามัญชนทั่วไป เพราะสามัญชนทั่วไปมักจะมองสิ่งต่างๆ
อย่างผิวเผินเฉพาะสภาพภายนอกที่ปรากฏออกมา มนุษย์โดยทั่วไปมักจะปรารถนาเสพเสวยสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่างที่ตนเองชอบ
แต่ไม่ว่ามนุษย์จะปรารถนาหรือไม่ปรารถนาก็ตาม วัฎฏจักรของสรรพสิ่งก็เป็นไปตามสภาพธรรมชาติทั้งสิ้น
และจะดำเนินต่อไปตามอำนาจของความต้องการที่ปรุงแต่งตามเหตุ และปัจจัย เมื่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงขัดต่อความรู้สึกความปรารถนาของตนที่มีความยึดมั่นถือมั่น
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็จะครอบงำมนุษย์จนทำให้เกิดความทุกข์ในที่สุด
ชีวิตของมนุษย์แต่ละคนมีความปรารถนาที่แตกต่างกัน
อำนาจของความปรารถนาของมนุษย์จะมีมากบ้างน้อยบ้าง แต่เมื่อพูดถึงมนุษย์ตามความเป็นจริงแล้ว
จะมีความปรารถนามาก และสิ่งที่เป็นไปจะขัดแย้งความปรารถนามากที่สุด ฉะนั้น ชีวิตของมนุษย์แต่ละปัจเจกบุคคลจะมีความทุกข์มากกว่าความสุข
หลักคำสอนของพุทธศาสนาจะตระหนักให้เห็นถึงความจริงข้อนี้ว่า ชีวิตของมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยความทุกข์นานาประการดังพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสไว้ในธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร
ปฐมเทศนาว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์
ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์
ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์ โดยย่ออุปทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์”
(สํ.ส. 15/554/190)
พุทธศาสนามองว่า ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก
ความหมาย คือ ความไม่สบาย ความลำบาก ความเดือดร้อน แบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ กายิกทุกข์ คือ ทุกข์ทางกาย เช่น ร่างกายถูกเบียดเบียนด้วยโรค และการเกิดการความเหน็ดเหนื่อยจากการประกอบกิจการงานหรือเป็นทุกข์
เพราะไม่มีทรัพย์เครื่องอุปโภค บริโภค เป็นต้น และเจตสิกทุกข์ คือ ทุกข์ทางใจ ได้แก่
ความเหือดแห้งใจ ความพิโรธ ความเสียใจโทมนัส การประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รัก
เมื่อชีวิตของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความทุกข์นานาประการทั้งทุกข์ทางกาย
และทุกข์ทางใจ มนุษย์จะต้องประสบสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา ความเกิดก็เป็นทุกข์ เพราะเป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดทุกข์อื่นๆ
ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็เป็นทุกข์ ซึ่งแต่ละอย่างเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น
และสิ่งเหล่านี้ มนุษย์ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ เมื่อความเกิดเป็นสาเหตุแล้วการประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์
เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความรำคาญบ้าง ความโกรธบ้าง
ส่วนการพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ถึงแม้ว่า ทุกข์ เพราะการพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักจะไม่เกิดขึ้นทุกวัน
แต่เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตทุกขณะ การปรารถนาสิ่งใดแล้ว ไม่ได้สมความปรารถนาก็เป็นทุกข์
มนุษย์ผู้ซึ่งเกิดมามีชีวิตอยู่ในโลกไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ พุทธศาสนาจึงสอนให้มนุษย์มุ่งปฏิบัติ
เพื่อเข้าถึงความหลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง ภาวะสูงสุดที่เข้าถึงแล้วความทุกข์ย่อมดับสิ้นไปตลอดกาลนี้เรียกว่า
นิพพาน (สุนทร ณ รังษี, 2551: 480)
ตามทัศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท (Theravada Buddhist
Philosophy) ความหลุดพ้นนั้นเป็นจุดหมายปลายทางหรือเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ที่แสวงหา
เมื่อมนุษย์เข้าใจกระแสแห่งรูปธรรม และนามธรรมที่มีความรู้สึกนึกคิดเกิด และดับต่อเนื่องกันอันเป็นปัญหาพื้นฐานของมนุษย์แล้ว
มนุษย์ก็ย่อมจะเข้าใจสรรพสิ่งได้ พุทธปรัชญาเถรวาทได้จำแนกมนุษย์ออกเป็นองค์ประกอบต่างๆ
ได้ 5 ส่วน โดยเรียกกันว่า ขันธ์ 5 หรือเบญจขันธ์
คือ (1) รูป (Corprelity) ได้แก่ ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรม
(2) เวทนา (Freeling หรือ Sensation) ได้แก่ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง
5 และทางใจ (3) สัญญา (Perception) ได้แก่ ความกำหนดได้ หรือหมายรู้ (4) สังขาร
(Mental formation หรือ Volition Activities) อันเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต
เครื่องปรุงแต่งความคิด (5) วิญญาณ (Consciousness) คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์
ทางใจ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), 2546: 16)
พุทธปรัชญาเถรวาท ถือว่า มนุษย์เป็นกระแสของนาม
และรูป เป็นความจริงแท้ที่มีความรู้สึกนึกคิด เกิด และดับต่อเนื่องกันไปตลอด โดยปราศจากอัตตาที่เที่ยงแท้ถาวร
ดำรงอยู่โดยมีเหตุ และปัจจัยภายใต้ลักษณะของไตรลักษณ์ กล่าวคือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์
และความไม่มีตัวตน ซึ่งลักษณะทั้ง 3 ประการนี้ เป็นกระบวนการของชีวิตมนุษย์ที่ดำรงอยู่ตลอดกาล
ถึงแม้ว่าทุกข์จะเป็นลักษณะประจำของชีวิต พุทธปรัชญาเถรวาท ถือว่ามนุษย์สามารถที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์โดยอาศัยหลักอริยสัจ
4 ความหลุดพ้นเป็นสิ่งที่มนุษย์แสวงหา เพราะว่าเมื่อมนุษย์หลุดพ้นได้แล้วย่อมปราศจากทุกข์
เพราะปราศจากเครื่องยังจิตใจให้เศร้าหมอง พุทธดำรัสว่า “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้แล
สังขารทั้งหลายไม่ยั่งยืนอย่างนี้แล สังขารทั้งหลายไม่น่ายินดีอย่างนี้แล ข้อนี้ควรจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายทั้งปวงทีเดียว
ควรที่จะคลายกำหนัด ควรเพื่อจะหลุดพ้นไป” (ที.ม. 10/185/18)
ความหมายของความหลุดพ้น
พุทธปรัชญาเถรวาท
ถือว่า ความทุกข์นั้นเป็นมูลสำคัญของชีวิตมนุษย์ มนุษย์จำเป็นต้องแสวงหาความหลุดพ้นจากทุกข์
และการหลุดพ้นจากทุกข์ เรียกว่า “วิมุตติ (Deliverrenc)” วิมุตติ คือ ความหลุดพ้นจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ การที่จะพ้นจากทุกข์
มนุษย์ต้องทำลายกิเสสอันเป็นตัวการก่อที่ก่อให้เกิดความทุกข์หมดสิ้นไป และความหลุดพ้นนั้นใช้ได้
3 ความหมาย คือ (1) หมายถึง กิริยาที่หลุดพ้นหรืออาการที่เป็นไปในขณะหลุดพ้น
วิมุตติในความหมายนี้เรียกว่า เป็นมรรค (2) หมายถึง ความเป็นผู้หลุดพ้น
คือ เป็นอิสระในเมื่อหลุดพ้นออกมาได้แล้ว วิมุตติในความหมายนี้ เป็นผล (3) หมายถึง ภาวะแห่งความเป็นอิสระที่ผู้หลุดพ้นเข้าถึงแล้ว วิมุตติในความหมายนี้
เป็นไวพจน์ของนิพพาน (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), 2546:
12)
พุทธปรัชญาเถรวาทมีทัศนะว่า ความหลุดพ้น 3 อย่างนั้น ข้อที่ถือว่าเป็นความหมายจำเพาะกว่าอย่างอื่นหรือเป็นเรื่องวิมุตติแท้ๆ
คือ วิมุตติในความหมายที่เป็นผล และคำว่า ผลในที่นี้ คือ อรหัตตผลอันเป็นความสำเร็จของพระอรหันต์
เมื่อละสังโยชน์ได้หมดสิ้น จิตพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ส่วนความหมายที่เป็นมรรคนั้น มีหัวข้อธรรมอย่างอื่นที่เป็นฐานะโดยสภาพภายในตัวเอง
โดยเฉพาะวิชชา และวิราคะ ซึ่งมักมาคู่กับวิมุตตินี้ โดยที่วิชชาเป็นมรรคหรือวิราคะเป็นมรรค
ส่วนวิมุตติเป็นผล มีอยู่โดยความเป็นอิสระจากสภาวะทั้งปวง ส่วนที่เป็นความหมายที่เป็นนิพพาน
วิมุตติก็เป็นเพียงไวพจน์ ซึ่งมีนิพพานเป็นหลักที่ตายตัวอยู่แล้วตามความหมายของพยัญชนะหรือตัวอักษร
คำว่า วิมุตติ มาจาก วิ อุปสรรค (แปลว่า วิเศษแจ้งหรือต่าง)
+ มุจ ธาตุ (แปลว่า พ้นหรือหลุดพ้น) เป็นกิริยาของความพ้นไปหรือหลุดออก + ติปัจจัย ซ้อน ต
เป็นวิมุตติ แปลว่า พ้นวิเศษหรือหลุดพ้น (แปลก สนธิรักษ์,
2529: 91)
พระพรมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ปราชญ์ทางพุทธศาสนาได้ให้ความหมายของความหลุดพ้นไว้ตรงกับคำว่า โลกุตตรวิมุตติ
ได้แก่ วิมุตติที่เป็นโลกุตตระ คือ ความหลุดพ้นที่เหนือวิสัยโลก ซึ่งกิเลสและความทุกข์ที่ละได้แล้วไม่กลับคืนมาอีกไม่กลับกลาย
ได้แก่ วิมุตติ 3 อย่างหลัง คือ สมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ
และนิสสรณวิมุตติ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), 2543: 262)
พุทธทาส อินฺทปญฺโญ ปราชญ์ทางพุทธศาสนาได้ให้ความหมายของความหลุดพ้นไว้ตรงกับคำว่า
นิพพาน ซึ่งท่านได้อธิบายว่า นิพพาน แปลว่า เย็น ได้แก่ ภาวะที่อายตนะเป็นของเย็นประโยคสั้นๆ “นิพพาน คือ ภาวะที่อายตนะเป็นของเย็น อายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
นี้เป็นสื่อหรือทางสำหรับติดต่อกับของภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์
อยู่ข้างนอก เรามีอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สำหรับติดต่อกับสิ่งข้างนอกเหล่านั้นนิพพาน
คือ ภาวะที่อายตนะนั้นเป็นของเย็น ถ้าเราปล่อยไปตามความโลภ ความโกรธ และความหลง อายตนะจะเป็นของร้อนตลอดเวลา
เดี๋ยวร้อยทางตา เดี๋ยวร้อนทางหู เดี๋ยวร้อนทางจมูก เดี๋ยวร้อนทางกาย เดี๋ยวร้อนทางใจ
ถ้ามีการปล่อยไปตามอำนาจของโลภะ โทสะ และโมหะ คือ ไม่มีธรรมะนั้นอายตนะเป็นของร้อน
ขณะนั้นเรากำลังตกอยู่ในวัฏสงสาร คือ ของร้อน (พุทธทาส อินฺทปญฺโญ,
2549: 117)
วิมุตติ หมายความว่า ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงหรือหลุดพ้นอย่างวิเศษ
และคำว่า วิมุตติใช้ได้กับคำว่า วิโมกข์ ซึ่งมีความหมายเป็นสิ่งเดียวกันอีกด้วย และเป็นจุดหมายปลายทางของการหลุดพ้น
และคำว่า วิมุตติเป็นคำกลางๆ ยังไม่ถึงหลุดพ้นอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะในวิมุตติบางขั้นก็ยังเป็นขั้นโลกิยวิมุตติ
แต่เมื่อได้โลกุตตรวิมุตติย่อมได้ทั้งสองอย่าง คือ ทั้งโลกุตตรและโลกิยวิมุตติด้วย (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), 2546: 311)
คุณลักษณะของความหลุดพ้น
ตามทัศนะพุทธปรัชญาเถรวาท
เมื่อวิมุตติเป็นผลอันเกิดจากการที่มีวิชชา และวิราคะเป็นมรรคแล้ว วิมุตติก็ย่อมเป็นผลจากทั้ง 2 อย่าง ในอังคุตตรนิกาย ทุกนิกบาต ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของวิมุตติไว้ว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตเศร้าหมองด้วยราคะ ย่อมไม่หลุดพ้นหรือปัญญาที่เศร้าหมองด้วยอวิชชาย่อมไม่เจริญด้วยประการฉะนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะสำรอกราคะได้ จึงชื่อว่า เจโตวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชาจึงได้ชื่อว่า
ปัญญาวิมุตติ” (องฺ.ทุก.
20/276/70)
กล่าวได้ว่า คุณลักษณะของความหลุดพ้นมี 2 อย่าง คือ เจโตวิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้นแห่งจิต เป็นการหลุดพ้นด้วยอำนาจของการฝึกจิต
ด้วยอำนาจแห่งสมาธิ และปัญญาวิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้นด้วยปัญญา ความหลุดพ้นด้วยอำนาจการเจริญปัญญา
ความหลุดพ้นแห่งปัญญาจากอวิชชาด้วยปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริง (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), 2548: 43)
เจโตวิมุตติ คือ ความที่จิตหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสด้วยการฝึกจิต
เรียกว่า สมถกรรมฐาน คือ การงานที่จะต้องทำทางใจ โดยการทำสมาธิภาวนาให้จิตสงบ ด้วยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เรียกว่า อานาปานสติกรรมฐาน การบำเพ็ญสมถกรรมฐานนี้ ทำให้สงบจากราคะ เป็นต้น
ปัญญาวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นจากอำนาจกิเลส
ด้วยการใช้ปัญญาพิจารณา คือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ทำจิตของผู้ปฏิบัติให้หลุดพ้นจากอวิชชาเป็นที่สุดทำให้เข้าใจสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง
ไม่ยึดติดในสิ่งเหล่านั้นด้วยอำนาจแห่งตัณหา ทำวิชชา คือ ความรู้แจ้งให้เกิดขึ้น ขจัดอวิชชา
คือ ความไม่รู้ให้หมดไป
พุทธปรัชญาเถรวาทมีทัศนะว่า วิมุตติทั้ง 2 อย่าง มีความแตกต่างกัน คือ เจโตวิมุตติ ได้แก่ วิมุตติมีสมาธิเป็นปทัฎฐาน
ผู้ได้บรรลุฌานมาก่อนแล้วจึงบำเพ็ญวิปัสสนา ปัญญาวิมุตติ ได้แก่ วิมุตติที่ได้บรรลุด้วยลำพัง
เป็นการบำเพ็ญวิปัสสนาล้วนเสมอกันโดยสิ้นอาสวะต่างกัน โดยคุณสมบัติของผู้บรรลุเจโตวิมุตติเป็นพระอรหันต์ผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชา
และอภิญญา แต่ผู้บรรลุปัญญาวิมุตติล้วนๆ เป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะไม่ได้คุณสมบัติพิเศษเหมือนผู้ที่หลุดพ้นด้วยเจโตวิมุตติ
เจโตวิมุตติหรือพระอรหันต์ที่ได้ วิชชา 3 อภิญญา 6 ปฏิสัมภิทา 4 เป็นคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติทางจิต
พระอรหันต์อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติทางปัญญาวิมุตติ ได้เฉพาะทางปัญญาไม่มีคุณสมบัติพิเศษแต่อย่างใด
แต่วิมุตติทั้งสองอย่างก็ได้ชื่อว่า เป็นพระขีณาสพ ผู้สิ้นกิเลสอาสวะทั้งปวงเหมือนกัน
ประเภทของความหลุดพ้น ( Types of
Deliverrenc) ตามทัศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ วิกขัมภนวิมุตติ (Deliverance
by suppression) แปลว่า ความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจของฌาน ย่อมข่มนิวรณ์ได้ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในฌานนั้น, ตทังควิมุตติ (Deliverance
by substitution of opposites) แปลว่า ความหลุดพ้นที่เกิดขึ้นชั่วคราวจากการตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกุศลจนกิเลสไม่สามารถเข้ามาครอบงำจิตได้, สมุจเฉทวิมุตติ (Deliverance
by extirpation) แปลว่า ความหลุดพ้นจากการตัดกิเลสตัณหาได้อย่างเด็ดขาดด้วยอำนาจของโลกุตตรมรรค
คือ ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคเป็นต้นไปจนถึงอรหัตตผล เมื่อความหลุดพ้นชนิดนี้เกิดขึ้นแล้วกิเลสจะไม่กลับเกิดมาได้อีก,
ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ (Deliverance by tranquillization) แปลว่า
ความหลุดพ้นอันเป็นผลจากการที่กิเลสไม่เหลืออยู่ เนื่องจากมรรคได้ทำหน้าที่ตัดกิเลสไปแล้ว
ภาวะของกิเลสหมดสิ้นไปแล้วภาวะที่กิเลสหมด เรียกว่า ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และนิสสรณวิมุตติ
(Deliverance by escaping from defilements) แปลว่า ความหลุดพ้น อันเป็นผลเนื่องจากการสลัดกิเลสออกได้หมด
ภาวะเช่นนี้ยั่งยืนตลอดไป ภาวะนี้เรียกว่า นิพพาน (พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ. ปยุตฺโต),
2548: 224)
อรรถกถา มัชฌิมนิกาย สุญญตวรรค อัจฉริยัพภูตธัมมสูตร
อธิบายว่า ในวิมุตติ 5 เหล่านั้น สมาบัติ 8 จัดเป็น วิกขัมภนวิมุตติ เพราะพ้นแล้วจากกิเลสมีนิวรณ์เป็นต้นที่ตนข่มไว้แล้วเอง
อนุปัสสนา 7 หรือวิปัสสนาญาณ 9 จัดเป็นจัดเป็นตทังควิมุตติ
เพราะสลัดพ้นแล้วจากนิจจา สัญญา เป็นต้น อริยสัจ 4 จัดเป็นสมุจเฉทวิมุตติ
เพราะพ้นจากกิเลสที่ตัดขาดเองแล้ว สามัญญผลหรือผล 4 จัดเป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติ
เพราะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งการสงบของกิเลสด้วยอานุภาพของมรรค นิพพานจัดเป็นนิสสรณวิมุตติ
เพราะพ้น คือ เพราะปราศจาก ตั้งอยู่ไกลจากกิเลสทั้งปวง (ม.อุ. 2525: 46)
วิขักมภนวิมุตติ (Deliverance
by suppression) คือ
ความหลุดพ้นด้วยการข่มกิเลสด้วยอำนาจแห่งฌาน ผู้ที่ได้ปฐมฌานย่อมสามารถข่มนิวรณ์ได้ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น
นิวรณ์ทั้ง 5 คือ สิ่งที่ขัดขวางไม่ให้มนุษย์บรรลุความดี เมื่อใดที่มนุษย์สามารถบำเพ็ญสมถกรรมฐานได้แล้วย่อมที่จะหลุดพ้นจากนิวรณ์ทั้ง
5 ด้วยตัวฌานนั้นๆ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), 2548:224)
อรรถกถาอธิบายว่า สมาบัติ 8 จัดเป็นวิกขัมภนวิมุตติ เพราะพ้นแล้วจากกิเลสมีนิวรณ์ที่ตนข่มไว้แล้ว สมาบัติ
8 อันประกอบไปด้วยปฐมฌาน เป็นต้น ข่มทับนิวรณ์ทั้ง 5 ประการเอาไว้อยู่ตราบนานเท่านานที่ฌานนั้นยังไม่เสื่อม คือ วิตก สามารถข่มถีนมิทธนิวรณ์
คือ ความที่จิตหดหู่ได้ และวิจารสามารถข่มวิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยให้ออกไปจากจิตใจได้
ปีติ คือ ความอิ่มเอิบใจในการเพ่งอารมณ์แล้วข่มทับความพยาบาทความคิดมุ่งมาดปรารถนาร้ายต่อผู้อื่นนี้สามารถที่จะข่มทับ
อุทธัจจกุจจนิวรณ์อันเป็นความฟุ้งซ่านรำคาญออกไปจากจิตได้ เมื่อขจัดความฟุ้งซ่าน และรำคาญแล้วจิตของผู้ปราศจากเหตุเหล่านี้ก็จะมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว
คือ เอกัคคตา และเอกัคคตานี้จะทำหน้าที่ข่มกามฉันทนิวรณ์ คือ ความพอใจในกาม ผู้ที่ได้ปฐมฌานอันมีองค์
5 สามารถข่มนิวรณ์ได้แล้ว สามารถที่จะบรรลุทุติยฌานจนไปถึงอรูปฌาน
4 อันเป็นขั้นสุดท้ายในที่สุด เนื่องจากความหลุดพ้นแห่งการข่มกิเลสไว้ด้วยอำนาจแห่งสมาบัติ
8 ผู้ที่บำเพ็ญสมถกรรมฐานจนบรรลุฌานหรือชำนาญแล้วย่อมได้คุณวิเศษต่างๆ
มีวิชชา 3 และอภิญญา 6 เหนือกว่าปุถุชนธรรมดา
แต่วิมุตติขั้นนี้ยังถือว่า เป็นขั้นโลกิยวิมุตติ
ตทังควิมุตติ (Deliverance
by substitution of opposites) คือ ความหลุดพ้นด้วยองค์นั้นๆ เป็นการหลุดพ้นจากกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับหรือธรรมที่ตรงกันข้าม
เช่น ดับสักกายทิฎฐิ ด้วยความรู้ที่กำหนดแยกนาม-รูปออกได้ เป็นการดับชั่วคราวในกรณีนั้น (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), 2548: 224) อรรถกถาอธิบายว่า อนุปัสสนา
7 จัดเป็นตทังวิมุตติ เพราะสลัดพ้นแล้วจากอนิจจาสัญญา เป็นต้น
(พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.
ปยุตฺโต), 2546: 64) นาม และรูป เป็นสาเหตุที่ทำให้มนุษย์มีอุปทานความยึดมั่นถือมั่นว่า
สิ่งนี้สิ่งนั้นเป็นของเรา และความยึดมั่นถือมั่นนี้ทำให้มนุษย์เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
แต่เมื่อใดสามารถคลายความยึดมั่นด้วยการใช้วิปัสสนาญาณพิจารณาเห็นสรรพสิ่งทั้งหมดตามความเป็นจริงได้แล้ว
ย่อมหลุดพ้นจากกิเลสด้วยกำลังของปัญญาได้อีกอย่างหนึ่ง อนุปัสสนา 7 อันประกอบด้วย อนิจจานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนา และอนัตตานุปัสสนา อนิจจานุปัสสนา
คือ การพิจารณาเห็นโดยอาการไม่เที่ยง พิจาณาความเที่ยงทำให้พ้นความสำคัญหมายว่า เป็นของไม่เที่ยงหรือทุกขานุปัสสนา
คือ พิจารณาโดยอาการเป็นทุกข์ว่ามีลักษณะเป็นเช่นใด และอนัตตานุปัสสนา คือ พิจารณาเห็นโดยอาการเป็นสรรพสิ่งนี้ไม่มีตัวตน
ตทังควิมุตติจัดเป็นปัญญาวิมุตติ เพราะไม่เกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นเป็นความหลุดพ้นด้วยตทังควิมุตติอันเกิดจากการพิจารณาองค์ธรรมนั้นๆ
สมุจเฉทวิมุตติ (Deliverance
by extirpation) คือ
ความหลุดพ้นด้วยการตัดกิเลสได้เด็ดขาด ความหลุดพ้นด้วยการตัดกิเลสได้ขาดไม่กำเริบอีกต่อไปจัดเป็น
โลกุตตรวิมุตติ ในพุทธปรัชญาเถรวาทเถรวาทนั้น กิเลสที่ท่านละได้แล้วไม่สามารถกลับฟุ้งขึ้นมามีอิทธิพลเหนือจิตใจของท่านเหล่านั้นอีก
ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมใดก็ตาม (พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ. ปยุตฺโต),
2548: 224) อรรถกถาอธิบายว่า อริยสัจ 4 จัดเป็น
สมุจเฉทวิมุตติเพราะพ้นจากกิเลสที่ตัดขาดแล้วกล่าวคือ อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐหรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นพระอริยบุคคล
มี 4 อย่างอันประกอบไปด้วย ทุกข์ คือ ความทุกข์ สภาพที่ทนได้ยาก
เป็นสภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้ ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง
ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ การประจบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปราณนาไม่สมหวัง
คือ อุปทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์นั่นเอง
ทุกขสมุทัย คือ เหตุเกิดแห่งทุกข์ สาเหตุให้เกิดทุกข์
ได้แก่ ตัณหาที่ทำให้เกิดภพใหม่ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และความติดใจในอารมณ์ทั้ง 6 คือ ความอยากเห็นรูป ความอยากฟังเสียง ความอยากดมกลิ่น ความอยากลิ้มรส ความอยากสัมผัสกับสิ่งที่สัมผัส
ความอยากในธรรมารมณ์ พยายามหาความเพลิดเพลินใหม่ๆ มี 3 อย่าง
คือ กามตัณหา คือ ความอยากในกาม, ภวตัณหา คือ ความอยากในอารมณ์น่าใคร่
และวิภวตัณหา คือ ความอยากในอารมณ์ที่น่าใคร่ พุทธปรัชญาเถรวาท อธิบายว่า ทุกขนิโรธ
คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ภาวะที่เข้าถึงเมื่อกำจัดอวิชชา สำรอกตัณหาสิ้นแล้ว
พูดอีกนัยหนึ่ง ภาวะที่ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่ เพราะหมดตัณหา ไม่ถูกความบีบคั้นด้วยความรู้สึกระวนกระวาย
ความกลัว และความติดข้อง เป็นภาวะที่หลุดพ้น คือ นิพพาน
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นปฏิปทาที่นำไปสู่ความหลุดพ้น
ได้แก่ ทางอันประเสริฐ อริยอัฎฐังคิกมรรค หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา
แปลว่า ทางสายกลาง มรรคมีองค์ 8 เป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อความหลุดพ้นอันเป็นกฎสากลที่มนุษย์ทั่วไปสามารถปฏิบัติได้ทุกคน
สรุปได้ว่า อริยสัจ 4 นี้เรียกอย่างสั้นๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ
มรรค เป็นการหลุดพ้นด้วยการตัดกิเลสได้เด็ดขาด ไม่กำเริบอีกต่อไปเป็นการหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิง
ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ (Deliverance
by tranquillization) คือ ความหลุดพ้นด้วยความสงบระงับอันเป็นโลกุตตรมรรค
เนื่องจากว่า กิเลสสงบระงับหมดไปแล้วนั้นเอง โดยไม่ต้องขวนขวาย เพื่อความหลุดพ้นอีกในขณะแห่งผลนั้น
ชื่อว่า ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), 2548:
224) อรรถกถาอธิบายว่า สามัญญผลหรือผล 4 จัดเป็นปฏิปัสสัทธิวิมุตติ
เพราะเกิดขึ้นในที่สุดแห่งการสงบของกิเลสด้วยอานุภาพของมรรค ฉะนั้น ผู้ที่ได้หลุดพ้นด้วยมรรคาปฏิปทาแล้วผลทั้ง
4 อย่างย่อมอำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ได้ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ สามัญญผล คือ
ความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 จนละสังโยชน์ได้
เพราะมรรคนั้นๆ อุปมาสังโยชน์เหมือนโรคในกาย มรรคเหมือนยารักษาโรคให้หายไป ผลเหมือนความสบายที่เกิดจากการหายจากโรค
สามัญญผล อันมีโสดาปัตติผล เป็นผลแห่งการเข้าถึงกระแสพระนิพพาน โดยพระโสดาบันชั้นนี้สามารถละสังโยชน์ได้
3 อย่าง คือ สักกายทิฎฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ได้ส่วนสกทาคามิผล
เป็นผลอันพระสกทาคามีพึงเสวย เพราะพระสกทาคามีนี้จะเกิดอีกครั้งเดียวหรือจะมาสู่โลกนี้เพียงครั้งเดียวแล้วจึงบรรลุอรหัตผล
อนาคามิผล เป็นผลอันพระอนาคามีพึงเสวย เพราะพระอนาคามีนี้จะไม่กลับมาเกิดบนโลกมนุษย์อีก
หลังจากตายไปแล้วจะบังเกิดเป็นพรหมในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส อันเป็นภูมิที่อยู่ของผู้บริสุทธิ์
ละสังโยชน์เพิ่มได้อีก 2 คือ กามราคะ และปฏิฆะ อรหัตตผล คือ ผลที่เกิดจากมรรคอันเป็นสมุจเฉทวิมุตติ
คือ เป็นผลของพระอรหันต์หรือผลอันพระอรหันต์พึงเสวย อรหัตตผลนี้สามารถละสังโยชน์เพิ่มจากพระอนาคามีอีก
5 ข้อ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชาได้
สรุปว่า ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ เป็นการหลุดพ้นด้วยความสงบระงับอันเป็นโลกุตตรผลที่สืบเนื่องจากโลกุตตรมรรค
เป็นสภาวะที่กิเลสสงบระงับไปแล้ว ไม่ต้องขวนขวายต่อไปอีก เพราะไม่มีกิเลสที่จะต้องละ
แสดงลักษณะวิมุตตินี้ไว้ว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
เพราะพระอรหันต์ไม่จำเป็นจะต้องแสวงหาสิ่งอื่นอีกต่อไป เพราะชาตินี้ถือว่า หมดสิ้นแล้ว
จะเหลือแต่ก็เพียงเสวยวิมุตติสุขที่เกิดขึ้น และเผยแผ่พระสัจธรรมอันเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ต่อไป
นิสสรณวิมุตติ (Deliverance
by escaping from defilements) คือ ความหลุดพ้นด้วยการสลัดออกหรือหลุดพ้นด้วยการปลอดโปร่งไปเป็นการดับกิเลสที่สิ้นแล้วดำรงอยู่ในภาวะกิเลสดับแล้วนั้นยั่งยืนตลอดไปภาวะนี้ชื่อว่า
นิสสรณวิมุตติ คือ พระนิพพาน นั้นเอง (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), 2548:
224)
อรรถกถาอธิบายว่า นิพพานจัดเป็นนิสสรณวิมุตติ
เพราะตั้งอยู่ไกลจากกิเลสทั้งปวง เป็นความหลุดพ้นที่ปลอดโปร่ง คือ ภาวะแห่งความเป็นอิสระที่ผู้หลุดพ้นเป็นอิสระประสบอยู่
ชื่มชมหรือเสวยรสอยู่ และทำให้ผู้ปฏิบัตินั้นปฏิบัติกิจอื่นๆ ได้ วิมุตติในที่นี้ หมายถึง
นิพพาน
สรุปได้ว่า ความหลุดพ้นทั้ง 5 อย่างนั้น ตามทัศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทเถรวาทได้แบ่งความหลุดพ้นไว้
2 ระดับ คือ ความหลุดพ้นระดับโลกิยะวิมุตติ และโลกุตตรวิมุตติ ความหลุดพ้นระดับโลกิยะนั้น
เป็นการหลุดพ้นยังกำจัดกิเลสไม่ได้โดยสิ้นเชิง เช่น ปุถุชนผู้ปฏิบัติจนได้ฌาน สามารถที่ข่มกิเลสไว้ได้ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น
แต่เมื่อออกจากฌานแล้วกิเลสก็กลับเกิดขึ้นอีกได้เหมือนเอาก้อนหินทับหญ้าไว้ เมื่อยกก้อนหินออกหญ้าก็งอกขึ้นอีก
ฉะนั้น ความหลุดพ้นระดับโลกิยวิมุตตินี้เกิดขึ้นแก่สามัญชนทั่วไป เพราะปกติปุถุชนมักถูกกิเลสครอบงำทั้งที่รู้ตัวบ้างและไม่รู้ตัวบ้าง
และอาจทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาอีก แต่ในบางครั้งบางโอกาสชั่วขณะหนึ่งก็เกิดปัญญาขึ้นข่มกิเลสได้
และใช้ปัญญาพิจาณาถึงสภาพความเป็นจริงในแง่ใดแง่หนึ่งของชีวิต เช่น อสุภนิมิต ความกำหนัดคลายลง
เห็นความตาย พิจารณาตามสภาพของธรรมชาติน้อมเข้ามาสู่ตนเอง ภาวะเช่นนี้เป็นความหลุดพ้นแค่ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ความหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิง
2 อย่างแรก คือ วิกขัมภนวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยการข่มไว้ และตทังควิมุตติ
ความหลุดพ้นชั่วขณะ ทั้ง 2 อย่างนี้จัดเป็นความหลุดพ้นระดับโลกิยวิมุตติ
เพราะหลุดพ้นบางขณะเท่านั้น
โลกุตตรวิมุตติ (Deliverance
by Superabundance) เป็นความหลุดพ้นอันเป็นผลจากการทำลายกิเลสให้ออกจากจิตใจได้อย่างเด็ดขาด
แน่นอน และโดยสิ้นเชิง ภาวะของความหลุดพ้นระดับนี้กิเลสจะไม่มีวันหวนกลับมาเกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นความหลุดพ้นของพระอริยเจ้าทั้งหลายความหลุดพ้นระดับโลกุตตรวิมุตตินี้
คือ ความหลุดพ้น 3 อย่าง อันประกอบไปด้วย สมุจเฉทวิมุตติ (Deliverance
by Extirpation) หลุดพ้นด้วยการตัดขาด ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ
(Deliverance by Tranquillization) หลุดพ้นอันเป็นผลจากการที่กิเลสไม่เหลืออยู่
นิสสรณวิมุตติ (Deliverance by escaping from defilements) ความหลุดพ้นอันเป็นผลเนื่องจากการสลัดกิเลสออกได้หมด
เพราะเป็นการทำลายกิเลสทั้งปวงได้หมดสิ้นออกจากจิตใจ คือ นิพพาน และนิพพานนี่เองที่เรากล่าวได้ว่า
เป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธปรัชญาเถรวาทเถรวาท และเมื่อว่าโดยสาระแท้ๆ วิมุตติ
5 นี้ คือ สมถะ วิปัสสนา มรรค ผล และนิพพาน
วิมุตติทั้ง 5 มีดังนี้
1. วิกขัมภนวิมุตติ จัดเป็น
สมาบัติ 8 มีดังนี้ 1. ปฐมฌาน, 2.
ทุติยฌาน, 3. ตติยฌาน, 4. จตุตถฌาน, 5. อากาสานัญจายตนะ, 6. วิญญาณัญจายตนะ, 7. อากิญจัญญายตนะ และ8. เนวสัญญานาสัญญายตนะ
2. ตทังควิมุตติ จัดเป็น
อนุปัสสนา 7 มีดังนี้ 1. อนิจจานุปัสนา,
2. ทุกขานุปัสนา, 3. อนัตตานุปัสนา, 4.
นิพพิทานุปัสนา, 5. วิราคานุปัสนา, 6. นิโรธารุปัสนา และ7. ปฏินิสสัคคานุปัสสนา
3. สมุจเฉทวิมุตติ จัดเป็น
อริยสัจจ์ 4 มีดังนี้ 1. ทุกข์,
2. สมุทัย, 3. นิโรธ และ4. มรรค
4. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ
จัดเป็น สามัญญผล 4 มีดังนี้ 1.โสดาปัตติผล,
2. สกถาคามิผล, 3. อนาคามิผล จัดเป็นโลกิยวิมุตติ
จัดเป็นโลกุตตรวิมุตติ และ4. อรหัตตผล
5. นิสสรณวิมุตติ จัดเป็น
นิพพาน 2 ดังนี้ 1. สอุปาทิเสสนิพพาน และ2.
อนุปาทิเสสนิพพาน
ความหมาย และวิธีการอธิบายของนิพพาน
โดยความหมายของพยัญชนะหรือตามตัวอักษร
นิพพาน มาจาก นิ อุปสรรค (แปลว่า ออกไป หมดไป ไม่มี เลิก) + วาน (แปลว่า พัดไปหรือเป็นไปบ้าง เครื่องร้อยรัดบ้าง) ใช้เป็นกิริยาของไฟหรือการดับไฟหรือของที่ร้อนเพราะไฟ
แปลว่า ดับไฟหรือดับร้อน หมายถึง หายร้อน เย็นลงหรือเย็นสนิท แต่ไม่ใช่ดับสูญ แสดงถึงภาวะของของจิตใจ
หมายถึง เย็นใจ สดชื่น ชุ่มชื่นใจ ดับความร้อนใจ หายร้อนรน ไม่มีความกระวนกระวายใจหรือแปลว่า
เป็นเครื่องดับกิเลส คือ ทำให้ราคะ โทสะ โมหะ หมดสิ้นไปหรือไม่มีตัณหาเครื่องร้อยรัดหรือออกไปแล้วจากตัณหาที่เป็นเครื่องร้อยรัดติดไว้กับภพ
(พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), 2546: 261)
ท่านพุทธทาส ได้กล่าวถึงนิพพาน (Nibba) ไว้ว่า “ในบาลีมัชฌิมนิกาย เล่มที่ 13 ได้ใช้คำว่า ปรินิพฺพายติ และคำว่า ปรินิพฺพุโต นี้แก่สัตว์เดรัชฉานที่ฝึกหัดหมดพยศแล้ว
เป็นสุนัขบ้าง เป็นช้าง เป็นม้าบ้าง เป็นอะไรก็ตามที่ฝึกจนหมดพยศของสัตว์เดรัจฉานแล้ว
ใช้คำว่า ปรินิพฺพุโต คำเดียวที่ใช้กับพระอรหันต์หรือผู้หมดกิเลสแล้ว ปรินิพฺพายติ
เป็นกิริยา ปรินิพฺพุโต เป็นคุณ ผู้ดับสนิทแล้วผู้เย็นสนิทแล้ว นี่แหล่ะภาษาพูดในสมัยนั้น
คือ ภาษาบาลี นี้คำว่า ปรินิพพานนี้ ใช้อย่างนี้ก็ได้ถ้าใช้กับคน ก็หมายถึงผู้หมดกิเลส
นี้เป็นพระอรหันต์ ถ้าใช้กับกับถ่านไฟก็ใช้กับถ่านที่เย็นสนิทแล้ว ถ้าใช้กับข้าวต้ม
และข้าวสวยก็คดออกจากหม้อใส่จานวางจนเย็นแล้ว นี่คำว่า ปรินิพพาน” (พุทธทาส อินฺทปญฺโญ, 2509: 78-79)
แสดงว่า นิพพาน (Nibba) ตามความหมายของท่านพุทธทาส ภิกขุ สามารถใช้เป็นคุณลักษณะของคนสัตว์ และสิ่งของได้
คือ นิพพานของคนหมายถึง หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ นิพพานของสัตว์เดรัจฉาน หมายถึง หมดพยศเป็นสัตว์ที่เชื่อง
ถ้าเป็นวัตถุ หมายถึง ของที่ร้อนกลายเป็นของเย็น
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวว่า การดับ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน นั่นแหล่ะ คือ นิพพาน
(Nibba) เมื่อ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ดับไป นิพพานก็ปรากฏแทนที่พร้อมกันตามปกติของปุถุชนย่อมถูกอวิชชา
ตัณหา อุปาทาน ครอบงำจิตใจปิดบังปัญญา และเป็นตัวชักนำกิเลสต่างๆ ให้ไหลเข้าสู่จิตใจทำให้ว้าวุ่น
ขุ่นมัว เศร้าหมอง ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ไม่ชัดเจนบิดเบือนความเป็นจริงตลอดจนยึดเหนี่ยวให้วนเวียนติดข้องอยู่กับเครื่องมัดชนิดต่างๆ
เมื่ออวิชชาตัณหา อุปาทาน ดับหายไป แสงสว่าง คือปัญญาก็เกิดตามมา ทำให้มองเห็นสิ่งต่าง
ๆ กล่าวคือ โลก และชีวิตได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้จิตใจปลอดโปร่งเป็นอิสระเป็นภาวะที่แจ่มใส
สะอาด สว่าง สงบ ปุถุชนที่ถูกอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงำจะไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่เมื่อเข้าถึงเมื่อใดก็รู้เห็นประจักษ์แจ้งด้วยตนเองเมื่อนั้น(พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), 2546: 229)
สุนทร ณ รังษี กล่าวว่า นิพพาน (Nibba) คือ ภาวะที่ออกตัณหาหรือภาวะอันก้าวออกจากกิเลสเครื่องร้อยรัด เป็นภาวะที่เข้าถึงแล้วทำให้กิเลส
และทุกข์ทั้งปวงดับไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นสมุจเฉทปหาน คือ เมื่อกิเลส และทุกข์ทั้งปวงหมดสิ้นไปแล้วก็จะไม่กลับมาเกิดอีก
ผู้ที่เข้าถึงนิพพานดังกล่าวนี้ พุทธศาสนาเรียกว่า พระอรหันต์ (สุนทร ณ รังสี, 2551: 481)
ภาวะของความหลุดพ้น
นิพพาน
ถือได้ว่า เป็นจุดหมายสูงสุดของพุทธปรัชญาเถรวาท เพราะเป็นภาวะที่สามารดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง
เป็นภาวะที่สามารถแก้ไขปัญหาชีวิตของมนุษย์ได้ดีที่สุด เป็นคุณภาพของการเข้าถึงชีวิตที่ดีที่สุด
เราจะพบว่า พระพุทธพจน์ที่ตรัสยกย่องนิพพานว่า เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาที่สุด เช่น “ในบรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะประเสริฐที่สุด” (ขุ.ธ. 25/30/43) และพระพุทธองค์ตรัสอีกว่า “พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” เพราะพระนิพพานเป็นบรมสุขอันหาความทุกข์เจือปนไม่ได้หลักพุทธปรัชญาเถรวาทถือว่า
ภาวะสูงสุดที่เรียกว่า นิพพานผู้ปรารถนาความหลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิงที่จะมุ่งเข้าถึงนั้น
จึงเป็นภาวะที่มีอยู่จริง และผู้ดับกิเลสได้หมดแล้วย่อมเข้าถึงได้จริง
พุทธพจน์ใน ขุททกนิกาย อุทาน และอิติวุตตกะว่า “ภิกษุทั้งหลายภาวะอันไม่เกิดแล้ว ไม่เห็นแล้ว อันปัจจัยไม่ทำแล้ว ไม่ปรุงแต่งแล้ว
มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าภาวะอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยไม่ทำแล้ว ไม่ปรุงแต่งแล้ว
จักไม่มีแล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งภาวะที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยทำแล้ว ปรุงแต่งแล้วจะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย
ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุที่ภาวะอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยไม่ทำแล้ว มีอยู่
ฉะนั้น การสลัดออกซึ่งภาวะที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว ปรุงแต่งจึงปรากฏ” (ขุ.ติ. 25/221/126) และพระพุทธพจน์ที่ว่า
“ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง
ดวงอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ ดวงจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี ก็เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่ามุนี
เพราะรู้แจ้ง (สัจจะ 4) แล้วด้วยตนเอง เมื่อนั้น
เขาย่อมหลุดพ้นจากรูป และอรูป จากสุข และทุกข์” (ขุ.อุ. 25/50/73)
พุทธพจน์ว่า ภาวะของพระนิพพานนั้นมีอยู่จริง
เป็นภาวะที่ไม่มีอะไรเหมือนที่โลกมี กล่าวคือ ในโลกที่สรรพสิ่งนั้นมีอยู่ สรรพสิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่ในโลกแห่งพระนิพพาน
คือ ไม่มีสรรพสิ่งเช่นดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ไม่มีทั้งโลกนี้และโลกหน้า โดยปกติแล้วเมื่อเราคิดถึงสิ่งที่มีอยู่
สิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว เราจะคิดถึงสิ่งนั้นในลักษณะที่สรรพสิ่งเคลื่อนไหวไปในทางทิศใดทิศหนึ่งหรือเคลื่อนไหวมาจาทิศทางใดทิศทางหนึ่ง
ถ้าไม่เคลื่อนไหวก็ต้องหยุดอยู่กับที่ แต่ภาวะของพระนิพพานนั้นไม่ใช่การมาและการไป
ไม่ใช่ทั้งหยุดอยู่กับที่ ไม่ใช่ทั้งการแตกดับ (จุติ) ไม่ใช่ทั้งการเกิด(อุบัติ)เป็นภาวะที่หาที่ตั้งไม่ได้
ดังนั้นจึงไม่อาจกล่าวได้ว่า นิพพานนั้นอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง เนื่องจากนิพพานนั้นปราศจากอารมณ์ด้วยประการทั้งปวง
ภาวะ ดังกล่าวนี้เองพระพุทธองค์ตรัสว่า เป็นที่สุดแห่งทุกข์ (สุนทร ณ รังษี, 2541: 448)
พุทธปรัชญาเถรวาท เสาตรานติกะ (Sautratika
Buddhist Philosophy) มองภาวะของนิพพานนั้นว่า นิพพาน เป็นอภาวะ เป็นภาวะที่ปราศจากความมีอยู่
นิพพานเป็นความดับแห่งทุกข์ เมื่อทุกข์ และขันธ์ดับไป จึงไม่มีอะไรเหลืออยู่เหมือนกับไฟที่ดับไปโดยไม่เหลือเชื้อ
(พระเมธีธรรมาภรณ์,2533: 122) แต่พุทธปรัชญาเถรวาทกลับมองว่า
นิพพานมีอยู่จริงไม่มีใครสร้าง (อกตะ) คือ
เป็นภาวะบรมสัจจ์ที่ไม่เกิด (อชาตะ) ไม่แก่
(อชระ) ไม่ตาย (อมตะ)
เป็นสภาวะที่เที่ยงแท้ถาวร (นิจจะ) นิพพานในพุทธปรัชญาเถรวาทไม่ใช่อภาวะ แต่เป็นภาวะที่มีอยู่จริงเป็นโลกุตตระ
การกล่าวว่า นิพพานไม่ใช่สิ่งนั้น ไม่ใช่สิ่งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า นิพพานไม่มีอยู่เลย
แต่นิพพานเป็นสิ่งที่บรรยายไม่ได้ด้วยหลักของภาษา เพราะนิพพานไม่เหมือนอะไรที่ปุถุชนพบเห็นได้ในโลกนี้
พุทธปรัชญาเถรวาทมีมุมมองว่า การที่ปุถุชนไม่สามารถเข้าใจสภาวะของพระนิพพานนั้น
เพราะตามปกติมนุษย์เมื่อยังไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นสิ่งใดมาก่อน ก็จะเรียนรู้จากสัญญาหรือความจำของตนเองที่เป็นตัวกำหนด
และจินตนาการว่า น่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นิพพานเป็นภาวะที่พ้นจากสภาพทั้งหลายที่ปุถุชนรู้จัก
ปุถุชนจึงไม่อาจนึกเห็นหรือเข้าใจได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ คราวที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ
ก่อนที่จะทรงประกาศธรรมได้ทรงมีปริวิตกว่า “ธรรมที่เราเข้าถึงแล้วนี้ลึกซึ้ง
เห็นได้ยาก หยั่งรู้ตามยาก เป็นธรรมสงบ เป็นธรรมประณีต อันความตรึกหยั่งไม่ถึงละเอียดอ่อน
เป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงทราบ” (ม.มู.
12/321/326) เป็นพุทธดำริที่เกิดขึ้นเหตุไฉนจึงจะสามารถที่จะเทศนาสั่งสอนมนุษย์ได้
พุทธพจน์นี้เป็นการเตือนว่า ไม่ควรที่ตนเองจะสร้างภาพ และถกเถียงซักถามเหตุผลมาแสดงกัน
เพราะจะเป็นเหตุให้สร้างสัญญาที่ผิดๆ กัน ในทางที่ถูกต้อง ควรจะลงมือปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึง
เพื่อรู้เห็นประจักษ์ชัดเจนด้วยตนเอง เพราะนิพพานนั้นเมื่อยังไม่เห็น ก็นึกไม่เห็น
ไม่เข้าใจ แต่ถ้าลงมือปฏิบัติจนบรรลุก็สามารถที่จะรู้ได้เฉพาะตน
การรู้จักนิพพานหรือการเห็นนิพพานก็เป็นเรื่องเฉพาะตน
เป็นประสบการณ์ เฉพาะตน การที่จะอธิบายหรือสื่อความหมายของนิพพานให้ผู้อื่นไม่ได้ จึงเป็นการยากที่จะบอกให้แน่ชัดลงไปว่า
ความหมายของนิพพาน คือ อะไร การใช้ถ้อยคำอย่างไร พระธรรมปิฎกได้สรุปถึงวิธีพูดถึงหรืออธิบายภาวะของนิพพานจากพระไตรปิฎกไว้ 4 อย่าง ดังต่อไปนี้ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), 2546:
232)
แบบปฏิเสธ คือ
ให้ความหมายอันแสดงถึงการละ การกำจัด เพิกถอนภาวะไม่ดี ไม่งาม ไม่มีประโยชน์ ที่มีอยู่ทางด้านวัฎฎะ
เช่น นิพพาน คือ ความดับสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ (สํ.สฬ.18/497/287) นิพพาน คือ ความดับแห่งภพ (สํ.นิ. 16/274/130) และนิพพาน คือ
จุดจบแห่งทุกข์ (สํ.สฬ.
18/134/81)
แบบไวพจน์ หรือใช้แทนโดยนำเอาบางคำที่ใช้พูดเจ้าใจกันอยู่แล้ว
มาใช้เป็นคำเรียก นิพพาน เพื่อแสดงคุณลักษณะของนิพพานในแง่ต่างๆ เช่น สันตะ (สงบ) ปณีตะ(ประณีต) สุทธิ (ความบริสุทธิ์) เขมะ
(ความเกษม) ตาณะ (เครื่องต้านทาน)
นิโรธ (ความดับทุกข์ ) ปรมัตถะ
(ประโยชน์สูงสุด) โมกษะ (ความหลุดพ้น) วิมุตติ (ความหลุดพ้น)
เป็นต้น
แบบอุปมา ใช้บรรยายถึงภาวะนิพพาน
และผู้บรรลุนิพพาน เช่น เปรียบพระอรหันต์ เหมือนโคนำฝูงที่ว่ายน้ำตัดกระแสน้ำข้ามถึงฝั่งแล้ว
เหมือนไฟดับไปเมื่อสิ้นเชื้อแล้ว เหมือนภูมิภาคอันราบเรียบน่ารื่นรมย์ เหมือนฝั่งโน้นที่เกษมไม่มีภัย
เหมือนข่าวสาสน์ที่เป็นจริง(พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), 2546:
233)
แบบบรรยายธรรมชาติโดยตรง
คือ
อธิบายว่าเป็นเช่นไร เช่น นิพพาน คือ ธรรมชาติไม่เกิดแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้แล้ว
และมีอยู่จริง (ขุ.อุ. 25/250/255) นิพพาน เป็นความสงบแห่งสังขาร
(องฺ.นวก.23/196/315) นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
(ขุ.ธ. 25/25/35) นิพพาน
เป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด (ขุ.อิติ.
20/30/43)
ดังที่กล่าวมาเห็นได้ว่า นิพพาน คือ
ภาวะที่ดับกิเลสจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ส่วนภาวะจริงๆ ของนิพพานเป็นอย่างไรนั้นไม่สามารถจะนำมาบอกได้
แต่ในบางครั้งก็อธิบายได้ตามหลักฐานของพระไตรปิฎก ฉะนั้น นิพพานจึงเป็นภาวะที่ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง
คือ รู้เฉพาะตนเท่านั้นโดยการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8
ประเภทของนิพพาน
นิพพานนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท เรียกว่า นิพพานธาตุตามคัมภีร์อิติวุตตกะ คือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
นิพพานธาตุมีอุปาทิเหลือหรือนิพพานยังมีเชื้อเหลือ และอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุไม่มีอุปาทิเหลือหรือนิพพานไม่มีเชื้อเหลือ
(ขุ.จู. 30/318/184)
สอุปาทิเสสนิพพานประเภทที่ 1 นั้น หมายถึง ดับกิเลสแต่ยังมีเชื้อ ได้แก่ นิพพานของพระอรหันต์ยังมีชีวิตอยู่
(พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), มปป.: 87) ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในกิเลสปรินิพพานสูตรว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สอุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน ภิกษุทั้งลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
เป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
บรรลุประโยชน์ตนแล้ว มีสังโยชน์เครื่องผูกมัดไว้กับภพหมดสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ
อินทรีย์ 5 ของเธอยังดำรงอยู่เทียว เพราะอินทรีย์ทั้งหลายยังไม่เสียหาย
เธอย่อมได้เสวยอารมณ์ทั้งที่พึ่งใจ และไม่พึ่งใจ ย่อมเสวยทั้งสุขและทุกข์ อันใดเป็นความสิ้นราคะ
ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะของเธอ อันนี้เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน” (ขุ.อิติ. 25/222/258)
อนุปาทิเสสนิพพานประเภทที่ 2 ก็คือดับกิเลสไม่มีเชื้อ อันได้แก่นิพพานของพระอรหันต์เมื่อสิ้นชีวิต ดับแม้กระทั่งกิเลสและสังขาร
ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวะแล้วหลุดพ้นแล้ว
เพราะรู้ชอบ อารมณ์ที่ได้เสวย (เวทยิตา) ทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของเธอ ซึ่งเธอไม่ติดใจเพลินแล้ว (อนภินันทิต) จักเป็นของเย็น ข้อนี้เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ”
และพระพุทธองค์ตรัสอีกว่า “นิพพานธาตุทั้ง 2
อย่างนี้มีพระผู้ทรงจักษุคงที่ ไม่ขึ้นต่อสิ่งใด ได้ทรงประกาศแล้วนิพพานธาตุอย่างหนึ่งเป็นทิฎฐธัมมิกะมีในปัจจุบันหรือทันตาเห็น
ชื่อว่า สอุปาทิเสส เพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำสู่ภพ ส่วนนิพพานธาตุอีกอย่างหนึ่งเป็นปรายิกะ
(มีในเบื้องหน้าหรือเป็นล้ำ) เป็นที่ภพทั้งหลายดับไปหมดสิ้น
ชื่อว่าอนุปาทิเสสนิพพาน” (ขุ.อิติ.
25/222/258)
กล่าวได้ว่า นิพพานทั้ง 2 อย่าง เป็นการกล่าวถึงนิพพานใน 2 แง่ คือ การที่นิพพานอย่างแรกเป็นการสิ้นกิเลส
สิ้นกรรม แต่สภาวะของเบญจขันธ์ทั้งหลายยังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายถึงแม้จะสิ้นกิเลสแล้ว
แต่สังขารยังต้องเผชิญต่อทุกขเวทนา เช่น พระมหาโมคัลลานะถึงแม้จะเป็นพระขีณาสพ แต่ในคราวที่จะนิพพานนั้น
ยังถูกกลุ่มโจรรุมฆ่า เพราะถือว่าเป็นเศษของกรรมที่ทำมาในอดีตชาติอีกด้วย ส่วนนิพพานอย่างที่
2 นั้น กล่าวได้ว่า การนิพพานทั้งที่สิ้นกิเลส และสิ้นเบญจขันธ์ กล่าวคือ
สังขารไม่เหลืออยู่เสวยอารมณ์อันเป็นแดนแห่งนิพพาน ดังนั้น นิพพานทั้ง 2 ประเภท เป็นการกล่าวถึงนิพพานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้บรรลุโดยตรง ดังพุทธดำรัสว่า
“นิพพาน อันบุคคลเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาล เรียกให้มาดูได้ ควรน้อมเอามาไว้
อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน” (องฺ.ติก.
20/479/165)
ภาวะของผู้หลุดพ้นตามทัศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท
และคุณลักษณะของบรรลุนิพพานได้เช่น พระอรหันต์ พระขีณาสพ พระอเสขบุคคล พระอริยบุคคล
พระธรรมปิฎก กล่าวไว้ในหนังสือประโยชน์สูงสุดของชีวิตนี้ว่า ภาวะของผู้บรรลุนิพพานนั้น
มี 3
ประการ คือ ภาวะเชิงทฤษฎีความรู้, ภาวะเชิงอภิปรัชญา
และภาวะเชิงจริยธรรม ดังนี้ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), มปป.: 43)
ภาวะเชิงทฤษฎีความรู้
(Epistemological theory) คือ ภาวะทางปัญญาของผู้หลุดพ้น คือ การมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นหรือเห็นตามความเป็นจริง
รับรู้อารมณ์ทั้งหลายทางอายตนะด้วยจิตใจที่เป็นกลาง มีสติไม่หวั่นไหว ไม่ชักจูงอารมณ์ไปตามความชอบใจไม่ชอบใจ
รับรู้อารมณ์นั้นๆ ไปตามสภาวะของมันมองให้ลึกซึ้งไปอีกคือ มีปัญญารู้เท่าทันสังขาร
รู้สามัญญลักษณะที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้เท่าทันสมมุติบัญญัติ ไม่ถูกหลอกให้หลงไปตามรูปลักษณ์ภายนอกของสิ่งทั้งหลาย
และรู้จักใช้ภาษาเป็นเครื่องสื่อความหมายโดยไม่ยึดติดในสมมุติบัญญัติของภาษา ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า
“ภิกษุ ผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมไม่วิวาทแก่งแย่งกับใครๆ โวหารใดที่ชาวโลกพูดกัน
ก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นด้วยทิฏฐิ” (ม.ม. 13/273/12) และว่า “ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์พึงกล่าวว่า
เราพูดดังนี้บ้างบุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเรา ดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นฉลาด ทราบคำพูดในโลก
พึงกล่าวตาม สมมติที่พูดกัน” (สํ.ส.
15/66-67/20) เมื่อเกิดปัญญารู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น เห็นอาการที่มันเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยที่อิงอาศัยกัน
และกันจึงเกิดมีขึ้น เพราะรู้แจ้งประจักษ์ด้วยตนเอง
ภาวะเชิงอภิปรัชญา
(Metaphysical theory) คือ ภาวะทางจิตที่สำคัญของผู้หลุดพ้น
ความเป็นจริงสืบเนื่องมาจากปัญญา และเห็นตามความเป็นจริง จึงพ้นจากอำนาจครอบงำกิเลส
ลักษณะของจิตที่เป็นอิสระก็คือการไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ที่เย้ายวนทั้งหลาย กล่าวคือ
ราคะ โทสะ โมหะ ทำให้ไม่หวาดเสียวสะดุ้ง หวั่นไหว ไม่ติดในสิ่งต่างๆ ในกามในบุญ และบาป
ไม่ติดในอารมณ์ต่างๆ อันจะเป็นเหตุให้ต้องรำพึงถึงอดีต และหวังในอนาคต ไม่หวังสิ่งใด
จึงจะพ้นจากความผิดหวัง และสมหวัง อยู่เหนือความผิดหวังและสมหวัง เป็นอิสระหรือหลุดพ้นจากความหวังเพราะมีความสุขบริบูรณ์เต็มที่ทุกขณะ
พุทธพจน์ที่ว่า “ภิกษุทั้งหลายไม่เศร้าโศกถึงปัจจัยที่ล่วงแล้ว ไม่ปรารถนา ปัจจัยที่ยังมาไม่ถึง
เลี้ยงตนด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า วรรณะ (ของภิกษุทั้งหลายนั้น)
ย่อมผ่องใสด้วยเหตุนั้น เพราะความปรารถนาถึงปัจจัยที่ยังไม่มาถึง และความโศก
ถึงปัจจัยที่ล่วงแล้ว พวกพาลภิกษุจึงซูบซีด เหมือนต้นอ้อสดที่ถูกถอนเสียแล้ว ฉะนั้น”
(สํ.ส. 15/22/6) เมื่อมนุษย์ไม่รำพึงถึงความหลังในอดีต
และคาดหวังในอนาคตกาล ความสงบสุขของจิตก็จะเกิดขึ้น ภาวะทางจิตนี้ กล่าวโดยสรุปแล้วเป็นลักษณะของพัฒนาการของชีวิตจิตใจที่มนุษย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพของตนเอง
และต่อโลกโดยรวม
ภาวะเชิงจริยธรรม (Ethical
theory) คือ การปฏิบัติตนของผู้ที่หลุดพ้นแล้ว
ศีลของท่านจะสมบูรณ์ภายในขอบเขตของมันเอง การกระทำของพระอริยบุคคลจะอยู่ในกรอบของศีล
ไม่มีโอกาสที่จะประพฤติเสียหายหรือทุศีลได้ พระอรหันต์ท่านดับกรรมได้แล้วหรือสิ้นแล้ว
แต่ในบางครั้งบางคราวก็ได้รับเศษวิบากของกรรมอยู่ชั่วขณะเท่านั้น เช่น พระมหาโมคคัลลานะเป็นต้น
ส่วนการการะทำของพระอรหันต์นั้น อาจจะเรียกว่า กิริยาก็ว่าได้ เพราะว่าการกระทำของท่านเป็นการกระทำที่ปราศจากอกุศลมูลจิต
ไม่มีอวิชชา ตัณหา อุปาทานครอบงำ ทำด้วยจิตที่เป็นอิสระมีปัญญารู้แจ้งชัดตามเหตุผล
มีความเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระตามมรรคาของปัญญาหรือภาวะที่มีปัญญาเป็นแรงจูงใจในการกระทำ
เมื่อมองเห็นคนอื่นที่กำลังมีปัญหาถูกความทุกข์ครอบงำ บีบคั้นอยู่ จิตมีความกรุณาเกิดขึ้น
มีความเห็นอกเห็นใจ และคอยช่วยเหลือทำกิจของพระพุทธศาสนาโดยการเผยแผ่หลักธรรมส่งเสริมสติปัญญาและคุณธรรมต่างๆ
ตลอดจนการดำเนินชีวิตของพระอรหันต์ก็ประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมอีกด้วย ดังนั้น
การดำเนินชีวิตของพระอรหันต์ทั้งด้านกิจการงานและความประพฤติส่วนตัวมุ่งประโยชน์แก่ชนหมู่มาก
คำนึงถึงความเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พุทธบริษัททั่วไป(พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตฺโต), มมป.: 73)
ลักษณะทั่วไปของปุถุชนนั้น ถ้าหากจะทำอะไรจะต้องมีแรงจูงใจในการกระทำแรงจูงใจในที่นี้คือ
ความปรารถนา ความต้องการ คือ ตัณหา เมื่อบุคคลบรรลุนิพพาน ละตัณหาได้แล้ว ก็หมดแรงจูงใจในการกระทำต่างๆ
แต่พระอรหันต์หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะว่าปัญญาเป็นเหตุที่ทำให้พระอรหันต์ได้กระทำในสิ่งต่างๆ
ซึ่งไม่เหมือนกับตัณหาของปุถุชนเรา ภาวะที่ปัญญาเป็นแรงจูงใจนั้นก็คือ คุณธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดแทรกอยู่ด้วย
ได้แก่ความกรุณาธรรม ความกรุณาจะเกิดขึ้นมาเองในเมื่อเห็นคนอื่นตกอยู่ในความทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงเห็นนางปฏาจารา
ทนทุกข์ทรมานจนเป็นบ้า เพราะพลัดพรากจากคนที่เป็นที่รัก คือ มารดา บิดา สามี และบุตร
ถูกความทุกข์เข้ามาบีบคั้น ความกรุณาธรรมจึงบังเกิดขึ้นพร้อมที่จะช่วยเหลือโดยเทศนาโปรดนางปฎาจารา
จนได้ดวงตาเห็นธรรม ช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์นั้นได้อีกอย่างหนึ่ง พระอรหันต์ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของตนเอง
ไม่ห่วงใยตนเอง สามารถทำประโยชน์เพื่อคนอื่น และเพื่อส่วนรวม เพราะทำประโยชน์ของตนเสร็จสิ้นแล้ว
จะดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยการปฏิบัติ ตามคำสอนของพุทธศาสนาเริ่มตั้งแต่สาวกออกประกาศศาสนา
สั่งสอนอบรม อนุเคราะห์แก่ชาวโลก และเกื้อกูลต่อเหล่าเทวดา
ภาวะของผู้หลุดพ้นของพุทธปรัชญาเถรวาท
คือ ภาวะเชิงทฤษฎีความรู้ ภาวะเชิงอภิปรัชญา และภาวะเชิงจริยธรรม ที่กล่าวมาทั้งหมดรวมอยู่ในหลักสามข้อ
คือ ปัญญาที่เรียกว่า วิชชา ส่วนความหลุดพ้นเรียกว่า วิมุตติ และกรุณา เป็นพลังแผ่ปรีชาญาณออกไป
ทำให้ผู้อื่นได้รับวิชชา และวิมุตติไปด้วย การบรรลุนิพพานหรือความหลุดพ้นย่อมเสร็จสิ้นเพียงแค่วิชชา
และวิมุตติ คือ วิชชาเป็นมรรคและวิมุตติเป็นผล ส่วนความกรุณาเป็นเรื่องของการกระทำของผู้อื่น(พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต), มปป.: 81) กล่าวคือ เรื่องส่วนตัวผู้ที่สำเร็จทั้งวิชชา
และวิมุตติ ส่วนเรื่องทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นเป็นกิจของความกรุณาที่รับช่วงต่อไป ปัญญาช่วยทำกิจของตนให้สำเร็จ
ส่วนความกรุณาช่วยทำกิจของผู้อื่นให้สำเร็จ ทั้งหมดนี้เป็นกิจของพระอรหันต์ที่หลุดพ้นจากกิเลสาสวะทั้งปวง
แนวทางปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงความหลุดพ้นตามทัศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท
มนุษย์ควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ แนวคิดเรื่องความหลุดพ้นในปรัชญาอินเดียทั้งก่อนสมัยพระพุทธเจ้า
และร่วมสมัย ผู้คนสมัยนั้นมีความเชื่อว่า ภาวะที่จะทำให้ทุกข์ของมนุษย์หมดสิ้นไปนั้นมีอยู่จริง
ลัทธิ และปรัชญาสำนักต่างๆ มีทัศนะเรื่องความหลุดพ้นที่แตกต่างกันส่วนวิธีการปฏิบัติตนเพื่อให้เข้าถึงความหลุดพ้นแตกกันไป
วิธีการทั้งสองอย่างนี้ผู้คนจึงจะสามารถเข้าถึงความหลุดพ้นหรือบรรลุโมกษะได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
คือ อัตตกิลมถานุโยค
(Extreme asceticism)ได้แก่ การทรมานตนให้ลำบากด้วยวิธีการต่างๆ และกามสุขัลลิกานุโยค
(Extreme hedonism) ได้แก่ เอาตนเข้าไปพัวพัน หมกมุ่น มัวเมาในกามารมณ์ทั้งหลาย
ส่วนวิธีการทั้งสองอย่างนั้น พระพุทธองค์ทรงศึกษาแล้วทรงทราบว่าไม่มีทางหลุดพ้นแน่
ในที่สุดพระองค์ก็ทราบแนวทางแห่งความหลุดพ้นได้ คือ ปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา การปฏิบัติตนตามทางสายกลาง
พุทธดำรัสที่พระองค์ตรัสแก่พระปัญจวัคคีย์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย
บรรพชิตไม่ควรเสพที่สุดโต่งสองอย่าง คือ กามสุขัลลิกานุโยค...เป็นของเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ประเสริฐ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และอัตตกิลมถานุโยค เป็นเหตุนำ มาซึ่งความทุกข์ ไม่ประเสริฐ และไม่ประกอบด้วยประโยชน์...มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) อันตถาคตตรัสรู้แล้ว...ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อการตรัสรู้เพื่ออนาคต” (ขุ.ปฏิ. 31/598/366)
พุทธดำรัสที่ได้แสดงไว้ข้างต้น เป็นการปฏิเสธแนวคิดหลักปฏิบัติเข้าถึงในสมัยนั้นโดยสิ้นเชิง
เพราะการปฏิบัติที่ย่อหย่อนเกินไปโดยเกือกกลั้วมัวเมาอยู่กับกามคุณต่างๆ เช่น ลัทธิจารวากของท่านมักขลิโคศาล
แม้กระทั่งการปฏิบัติที่เคร่งครัดจนเกินไป โดยการปฏิบัติทุกรกิริยาแบบต่างๆ อย่างแสนสาหัน
เช่น ลัทธิเชนของท่านมหาวีระ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิเสธทั้งสองอย่าง เพราะไม่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้
หรือพ้นทุกข์ได้ แล้วพระองค์ก็เสนอให้ปฏิบัติตามทางสายกลาง คือ ไม่ตึงจนเกินไป และไม่หย่อนจนเกินไป
นี้คือ มัชฌิมาปฏิปทาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อัฎฐังคิกมรรค (The
Eightfold Path) ดังนี้
1. สัมมาทิฐิ
(Right View) ความเห็นชอบ ได้แก่ ความรู้ในอริยสัจจ์ 4 เห็นไตรลักษณ์หรือปฏิจจสมุปบาท ดังพุทธดำรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
สัมมาทิฐิ เป็นไฉน ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
อันนี้เรียกว่า สัมมาทิฐิ” (สํ.มหา.
19/34/8-9) บรรดาอริยมรรคมี องค์ 8 นั้น สัมมาทิฐิเป็นตัวนำ
ดังพุทธดำรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง 7 นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน คือ เมื่อมีสัมมาทิฐิ
สัมมาสังกัปปะ จึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวาจาสัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาสติสัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะจึงพอเหมาะได้
เมื่อมีสัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการนี้แล พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์
8” (ม.อุ.14/279/163-164)
สัมมาทิฎฐิ มี 2 ระดับ คือ ระดับที่เป็นโลกิยะและระดับที่เป็นโลกุตตระ มีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน เรากล่าวสัมมาทิฐิ มี 2 อย่าง คือ สัมมาทิฐิที่ยังมีอาสวะ ซึ่งจัดเป็นฝ่ายบุญ อำนวยวิบากแก่ขันธ์อย่างหนึ่ง
และสัมมาทิฐิที่เป็นอริยะไม่มีอาสวะเป็นโลกุตตระ และเป็นองค์มรรคอย่างหนึ่ง สัมมาทิฐิที่ยังมีอาสวะจัดอยู่ในฝ่ายบุญ
อำนวยวิบากแก่ขันธ์เป็นไฉน คือ ความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การบำเพ็ญทานมีผล การบูชามีผล
กรรมที่ทำไว้ดีและชั่ว มีผลมีวิบากโลกนี้มีปรโลกมี นี้แลสัมมาทิฐิที่ยังมีอาสวะจัดเป็นฝ่ายบุญ
อำนวยวิบากแก่ขันธ์ทั้งหลาย สัมมาทิฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะเป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรคเป็นไฉน
คือ องค์มรรค ข้อ สัมมาทิฐิ เป็นตัวปัญญา เป็นปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ...นี้แล สัมมาทิฎฐิที่เป็นอริยะไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรค”
(ม.อุ. 14/256-258/158-159)
ดังนั้น สัมมาทิฎฐิมี 2 ระดับ คือ โลกิยะสัมมาทิฐิ และโลกุตตระสัมมาทิฐิ ปัจจัยที่ทำให้เกิดโลกิยะสัมมาทิฐินั้น
คือ ปรโตโฆสะหรือกัลญาณมิตร อันหมายถึงผู้มีคุณสมบัติที่ดีงาม และแนะนำไปในทางที่ถูกต้อง
โดยการอบรมสั่งสอนทางศีลธรรม และปัจจัยที่ทำให้เกิดโลกุตตระสัมมาทิฐิ คือ โยนิโสมนสิการ
คือ การกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายหรือการรู้จัดคิดตรึกตรอง พิจารณาตามสภาวะของเหตุผลต่างๆ
ได้แก่ พิจารณาเพื่อเข้าถึงความเป็นจริงโดยความเป็นเหตุเป็นผลตามลำดับ แยกแยะองค์ประกอบจนมองเห็นสภาวะ
และความสัมพันธ์แห่งเหตุแห่งปัจจัย ถ้าปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งไม่สมบูรณ์เกิดข้อผิดพลาดขึ้น
ก็จะได้รับผลในทางตรงกันข้าม คือ มิจฉาทิฐิได้
2. สัมมาสังกัปปะ
(Right Thought) คือ ความดำริชอบในทางที่ถูกต้อง ความคิดเห็นหรือความดำริย่อมเกิดจากความคิดเห็นที่ดีคือสัมมาทิฐิ
เพราะทั้งสองอย่างนั้นสนับสนุนกัน สัมมาสังกัปปะนั้นมี 3 อย่างคือ
(ที.ม. 10/299/274) อันประกอบไปด้วย
(1) เนกขัมมสังกัปปะ คือ ความดำริที่ออกจากกาม ไม่ติดข้องในความใคร่
ความอยากต่าง ๆ เป็นความคิดที่ไม่เห็นแก่ตัว ความคิดที่เสียสละ เป็นความคิดที่ปราศจาก
ราคะ โทสะ โมหะ (2) อพยาบาทสังกัปปะ คือ ความดำริที่ไม่มีความอาฆาตพยาบาท
ไม่ปองร้าย ไม่เคียดแค้น ไม่ชิงชัง มีแต่ความเมตตา มีความปรารถนาดี มีไมตรีจัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโทสะ
(3) อวิหิงสาสังกัปปะ คือ ความดำริที่จะไม่เบียดเบียนไม่คิดทำร้ายหรือทำลาย
โดยมุ่งหมายเอาธรรมที่ตรงกันข้ามคือ กรุณา ซึ่งหมายถึงความคิดช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ด้วย
3. สัมมาวาจา
(Right Speech) คือ การพูดชอบ เจรจาชอบ การพูดที่ถูกเรียกว่า พูดชอบ
พูดถูกต้องประกอบไปด้วย งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด ยุยง งดเว้นจากการพูดหยาบคาย
ลามก และงดเว้นจากการพูดเหลวไหลไร้สาระ เมื่องดเว้นจากการพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ทั้ง
ประการแล้ว จึงถือว่าเป็นสัมมาวาจา เพราะคนเมื่อไม่พูดปดก็ต้องพูดความจริง เมื่อใดไม่พูดส่อเสียดก็ต้องพูดส่งเสริมสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง
เมื่อไม่พูดคำหยาบก็ต้องพูดคำอ่อนหวานไพเราะน่าฟัง และเมื่อไม่พูดเหลวไหลก็ย่อมมีคำพูดตรง
มีคำพูดน่าเชื่อถือนี้ คือ สัมมาวาจา (ประยงค์ แสนบุราณ,
2547: 70)
4. สัมมากัมมันตะ
(Right Action) คือ การงานชอบ อันหมายถึง การประกอบอาชีพที่สุจริตในการเลี้ยงชีพ
งดเว้นจากการตัดรอนชีวิตหรือการฆ่า งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ และงดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
การงาน 3 ประการนี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ
5. สัมมาอาชีวะ
(Right Livelihood) ได้แก่ การเลี้ยงชีพชอบหรือเป็นอยู่ชอบ ได้แก่ การเว้นจากการเลี้ยงชีพในทางที่ผิด
เช่น การโกง การประจบสอพลอ การกระทำบีบบังคับขู่เข็ญ การต่อลาภด้วยลาภ การเล่นการพนัน
เล่นหวย เป็นต้น
6. สัมมาวายามะ
(Right Effort) ความพยายามชอบ ความเพียรชอบ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
สัมมัปปธานหรือปธาน (Effort) 4 อย่าง คือ (1) สังวรปธาน (Effort to avoid) เพียรเพื่อป้องกันหรือเพียรระวังไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น
(2) ปหานปธาน (Effort to overcome) เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป
(3) ภาวนาปธาน (Effort to develop) เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิด
ให้บังเกิดขึ้น (4) อนุรักขนาปธาน (The Effort to
maintain) เพียงรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ทรงอยู่ ไม่ให้เลือนหายไป
(พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), 2548: 157)
7. สัมมาสติ
(Right Mindfulness) คือ ความระลึกชอบ สติ หมายถึง ความระลึกได้ ความไม่พลั้งเผลอ
ไม่เลินเล่อ ความระมัดระวัง บังคับหรือฝึกหัดตนให้ดำเนินชีวิตไปในแนวทางที่ถูกต้องเป็นการปฏิบัติ
เพื่อผูกจิตใจให้อยู่กับอารมณ์ที่กำลังกำหนด มีพุทธดำรัสตรัสรับรองว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสติเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ
อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ
อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ
อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ
อยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย นี้ เรียกว่า
สัมมาสติ” (สํ.มหา. 19/40/9)
8. สัมมาสมาธิ
(Right Concentration) ความตั้งใจมั่นชอบ คือ การฝึกฝนสำรวมใจ หรือข่มใจให้มีความสงบสุข
เป็นภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนดรู้ ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นเอกัคคตา คือ การกำหนดแน่วแน่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ไม่ฟุ้งซ่านไปมา จิตที่เป็นสมาธิย่อมมีกำลัง มีภาวะอันเหมาะสมที่จะเกิดปัญญาญาณและความหลุดพ้นได้
ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “ญาณและปัญญามีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นแหละอยู่ใกล้พระนิพพาน”
(ขุ.ธ. 25/35/54)
การเจริญสมาธิ จิตจะประณีตขึ้นตามลำดับเป็นขั้นๆ
ภาวะจิตจะสงบเป็นสมาธิ ถึงขั้นอัปปณาสมาธิ เป็นสมาธิที่เกิดจากองค์ฌาน หรืออาจกล่าวได้ว่า
ผลจากการเจริญสมาธิจะทำให้ได้ฌานสมาบัติ (ขุ.ปฏิ. 31/22/25) ได้แก่ รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 ลักษณะของฌาน แม้จะเป็นภาวะจิตที่ลึกซึ้งก็ยังเป็นเพียงโลกีย์เท่านั้น
ยังไม่ใช่จุดหมายที่แท้จริงของพุทธปรัชญาเถรวาทเถรวาท ในภาวะแห่งฌานที่เป็นผลของสมาธินั้น
กิเลสต่างๆ จะสงบระงับไปชั่วคราว และถอยกลับสู่สภาพเดิมได้ ไม่ยั่งยืนแน่นอน คือ กิเลสระงับไปเพราะถูกกำลังสมาธิข่มไว้
เหมือนเอาหินทับหญ้า ยกหินออกเมื่อใดหญ้าย่อมกลับงอกขึ้นได้ใหม่ (ขุ.ปฏิ. 31/24/431) แต่สามารถนำเอาฌานที่ได้ไปเป็นบาทในการเจริญวิปัสสนาได้
เพราะจิตที่เป็นสมาธิเหมาะแก่การงาน (กรรมฐาน) ควรแก่การงาน เมื่อจิตพร้อมต่อการงาน ก็ง่ายต่อการที่จะถูกพัฒนาจิตให้เป็นสมาธิสูงยิ่งๆ
ขึ้นไป นับว่าผลของสมาธิหรือฌานมีประโยชน์ต่อการเจริญวิปัสสนาเป็นอย่างมาก อันจะทำให้บรรลุถึงความหลุดพ้น
อริยมรรค 8 สามารถสรุปย่อๆ เหลือองค์ 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา คือ
สัมมาทิฎฐิ และสัมมาสังกัปปะเป็นองค์ปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะเป็นองค์ศีลสัมมาสติ
และสัมมาสมาธิเป็นองค์สมาธิ ในทางปฏิบัติ ถือว่ามรรคมีองค์ 8 เป็นหลักการที่วางไว้ตามลำดับชั้น หลักปฏิบัติปฏิบัติตามลำดับนี้เรียกว่า ไตรสิกขา
ประกอบไปด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ดังปรากฏในโอวาทปาติโมกข์ว่า “สพฺพปาปสฺส
อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง (ศีล) กุสลสฺสูปสมฺปทา
การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม (สมาธิ) สจิตฺโตปริโยทปนํ
การทำจิตให้ผ่องแผ้ว (ปัญญา)” (ที.ม.10/54/48) หลักไตรสิกขานี้ผู้ปฏิบัติ เมื่อมีความรู้ความเข้าใจแล้ว
เบื้องต้นต้องเริ่มที่ศีล คือ ฝึกกาย วาจา ให้เรียบร้อยเสียก่อน ขั้นที่สองเป็นระดับสมาธิ
มุ่งอบรมจิตให้นุ่มนวลเหมาะแก่การงาน ขั้นที่สามมุ่งอบรมปัญญาให้เกิดญาณรู้แจ้งเห็นจริงอันเป็นขั้นสุดท้ายจนสามารถทำลาย
อวิชชา ตัณหา อุปาทาน แล้วบรรลุถึงความหลุดพ้น คือ นิพพานได้
เกณฑ์ตัดสินเกี่ยวกับภาวะของผู้หลุดพ้น
ความหลุดพ้น
คือ สภาวะอันปราศจากกิเลสทั้งที่เป็นส่วนโลกิยะ และโลกุตตรวิมุตติ และผู้ที่หลุดพ้นนั้นดำรงอยู่ในสภาวะของพระนิพพานอันถือไดว่าเป็นบรมสุขอย่างแท้จริง
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทัศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทเถรวาทมองว่า สังโยชน์ 10 เป็นสิ่งที่ทำให้สรรพสัตว์ติดข้องอยู่ในสังสารวัฎฏ์นี้ เป็นสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้มนุษย์หลุดพ้นได้
แต่เมื่อใดที่มนุษย์ทำลายหรือละสังโยชน์ทั้งหมดได้แล้ว ย่อมเป็นพระอริยบุคคล คือ บุคคลผู้ประเสริฐสูงสุดในพุทธศาสนาเกณฑ์ตัดสินของผู้หลุดพ้นในพุทธปรัชญาเถรวาทเถรวาทมี
4 อย่างคือ
1. มนุษย์ผู้ที่ละสังโยชน์ขั้นต่ำได้
3 อย่าง คือ สักกายทิฎฐิ (Personality view) คือ
ความเห็นว่ากายซึ่งเป็นขันธ์ 5 เป็นตัวตน เช่น รูป เวทนา เห็นวิญญาณเป็นตัวตน
หรือวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย (Doubt) และสีลัพพตปราสความคือมั่นในศีลพรตอย่างง่ายเป็นต้น
ท่านผู้ละสังโยชน์ 3 ข้อข้างต้นได้ ย่อมเป็นพระโสดาบัน
2. มนุษย์ผู้ละสังโยชน์ทั้ง
3 อย่าง คือ หมดสิ้นจากสักกายทิฎฐิความเห็นว่าเที่ยง วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
และสีลัพพตปรามาสได้แล้ว ท่านยังทำราคะ คือ ความยินดี โทสะ คือ ความโกรธ และโมหะ คือ
ความหลงใหลให้เบาบางลงถือได้ว่า ท่านเป็นพระสกทาคามี
3. มนุษย์ผู้ที่ละสังโยชน์
3 อย่าง และทำราคะ โทสะ และโมหะ ให้เบาบางลงแล้วเมื่อท่านสามารถละสังโยชน์อีก
2 อย่างได้ คือละกามราคะ (Saensual) ความกำหนัดในกามหรือความติดใจในกามคุณทั้งหลาย
และละปฏิราคะ (Repulsion) ความกระทบกระทั่งหรือความหงุดหงิดขัดเคืองใจได้เพิ่มอีก
ท่านย่อมเป็นพระอนาคามี
4. เมื่อมนุษย์ละสังโยชน์ขั้นต่ำ
5 อย่าง และขั้นสูง 5 อย่าง คือ รูปราคะ
(Geed for fineexistence) คือ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน อรูปราคะ
(Geed for immaterial existence) ความติดใจในอรูปฌานหรือในอรูปธรรม มานะ
(Conceit) คือ ความสำคัญตนถือตนว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้ อุทธัจจะ
(Ignorance) คือ ความไม่รู้จริงหรือความหลงได้ ท่านเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์
เพราะพระอรหันต์ถือได้ว่าเป็นจุดหมายสูงสุดในพุทธปรัชญาเถรวาทเถรวาท
ดังนั้น เกณฑ์ตัดสินสำหรับผู้หลุดพ้นเราสามารถที่จะใช้เกณฑ์มาตรฐานในการตัดสินได้โดยใช้
กระบวนการทั้ง 4
อย่างอันมีสังโยชน์ 10 ประการเป็นตัวชี้วัด เช่น
เมื่อเห็นว่าท่านผู้นี้ละความเห็นว่า สังขารนี้เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่เกิดความลังเลสงสัยหรือความยึดมั่นถือมั่นในศีลพรต
ท่านสามารถที่จะคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนไม่มีความสงสัยได้แล้ว เราสามารถที่จะตัดสินได้ว่า
ผู้นี้เป็นผู้หลุดพ้นเข้าสู่กระแสแห่งพระนิพพาน
สรุปได้ว่า ความหลุดพ้นของพุทธปรัชญาเถรวาทเชื่อว่า
ชีวิตของมนุษย์ปุถุชนทุกรูปทุกนามเป็นขบวนการชีวิตที่มีปัญหา และถูกทุกข์ครอบงำตลอดเวลา
เมื่อใดที่มนุษย์สามารถเอาชนะทุกข์ได้อย่างแท้จริง เมื่อนั้นมนุษย์ก็เข้าถึงนิพพานอันเป็นสภาวะแห่งความหลุดพ้นสูงสุดได้
พบกับความสุขที่จีรังยั่งยืน เมื่อมนุษย์เข้าถึงความหลุดพ้นแล้ว ผู้ที่หลุดพ้นนั้นมีคุณลักษณะ 2 อย่าง คือ (1) เจโตวิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้นด้านจิต
หรือแปลว่า ความหลุดพ้นแห่งจิต หรือความหลุดพ้นด้วยกำลังจิตหรือด้วยสมาธิเป็นโลกิยวิมุตติ
(2) ปัญญาวิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้นด้วยปัญญา ความหลุดพ้นด้วยอำนาจการเจริญปัญญา
ความหลุดพ้นแห่งปัญญาจากอวิชชาด้วยปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริงเป็นโลกุตตรวิมุตติความหลุดพ้นนั้นตามทัศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทเถรวาทนั้น
มี 5 อย่าง คือ (1) ตทังควิมุตติ คือ ความหลุดพ้นที่เกิดขึ้นชั่วคราว
(2) วิกขัมภนวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจของฌาน (3)
สมุจเฉทวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นจากการตัดกิเลสตัณหาได้อย่างเด็ดขาดด้วยอำนาจของโลกุตตรมรรค
(4) ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นอันเป็นผลจากการที่กิเลสไม่เหลืออยู่
(5) นิสสรณวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นอันเป็นผลเนื่องจากการสลัดกิเลสออกได้หมด
ภาวะเช่นนี้ยั่งยืนตลอดไปภาวะนี้เรียกว่า นิพพาน ซึ่งนิพพานถือได้ว่า เป็นจุดหมายสูงสุดของพุทธปรัชญาเถรวาทเถรวาท
เพราะเป็นภาวะที่สามารถดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง เป็นภาวะที่สามารถแก้ไขปัญหาชีวิตของมนุษย์ได้ดีที่สุด
เป็นคุณภาพของการเข้าถึงชีวิตที่ดีที่สุด การที่จะเข้าถึงนิพพานได้นั้น จะต้องอาศัยการปฏิบัติตามหลักมรรคมีองค์แปด
หรือเรียกอีกอย่างว่า มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางอันเป็นแนวทางนำพามนุษย์ให้เข้าถึงความหลุดพ้นอย่างแท้จริง
--------------------------------------------------
เอกสารและสิ่งอ้างอิง
ประยงค์ แสนบุราณ. 2547. ปรัชญาอินเดีย. กรุงเทพฯ: โอ เอส พริ้นติ้ง เฮ้าส์.
แปลก สนธิรัก. 2529. รากศัพท์. กรุงเทพฯ: กรมการศาสนา.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). 2551. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์
ครั้งที่ 17. กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
_________. 2541. ประโยชน์สูงสุดของชีวิต. กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์ธรรมสภา.
พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). 2533. พุทธศาสนากับปรัชญา. กรุงเทพฯ:
อมรินทร์
พริ้นติ้ง.
สภามหามกุฎราชวิทยาลัย. 2525. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ 8-14. กรุงเทพฯ: มหา
มกุฎราชวิทยาลัย.
_________. 2525. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสยามรัฐ
เล่มที่ 16-21. กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย.
_________. 2525. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสยามรัฐ
เล่มที่ 25-31. กรุงเทพฯ:
มหามกุฎราชวิทยาลัย.
สภามหามกุฎราชวิทยาลัย. 2525. อรรถกถาพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ :
มหามกุฎราชวิทยาลัย.
สุนทร ณ รังษี. 2545. ปรัชญาอินเดีย ประวัติและลัทธิ. พิมพ์ครั้งที่ 3.
กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.