นิโรธสมาบัติ

 



นิโรธสมาบัติ

นิโรธสมาบัติ เป็นประเด็นหนึ่งในพุทธศาสนาที่มีความสำคัญ และมีการถกเถียงกันมาโดยตลอดและควรที่จะได้มีการศึกษาเพื่อให้เข้าใจในเรื่องนี้อย่างถูกต้อง ตลอดระยะเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนามีหลายคราวที่ปรากฏข้อขัดแย้งทางความคิด ในการตีความหลักธรรมคำสอนในหลายๆ เรื่อง ซึ่งประเด็นปัญหาข้อขัดแย้งเหล่านี้ เป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความเห็นต่างทางความคิดจนเป็นมูลเหตุให้ขาดเอกภาพของหลักธรรม และการตีความ(1) เรื่องนิโรธสมาบัตินี้ ภิกษุบางกลุ่มได้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนแล้วตีความผิด และต่างไปจากเดิมจนเกิดเป็นความเห็นต่าง ซึ่งมีมูลเหตุจากรายละเอียดเพียงเล็กน้อยที่ค่อยๆ ก่อตัวแล้วลุกลาม และขยายจนมากระทบถึงลักษณะ และสภาวธรรมโดยองค์รวมในเนื้อหาของนิโรธสมาบัติ ความคลาดเคลื่อนเหล่านี้ ได้สั่งสมเรื่อยมาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง เป็นมรดกทางความคิดที่ถูกส่งต่อมาตามกาลเวลา ในรูปแบบของการส่งผ่านความรู้แบบอาจริยวาทจนกระทั่งได้ยุติลงที่ตติยสังคายนาหรือการสังคายนา ครั้งที่ 3 เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีบันทึกไว้ และปรากฏในคัมภีร์ กถาวัตถุ ปุคคลกถา พระอภิธรรมปิฏก(2) ซึ่งประเด็นปัญหาเหล่านั้นเป็นทัศนะ การตีความ และความเห็นต่างของภิกษุในแต่ละกลุ่มที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลาดังกล่าวเพราะมีความเข้าใจไม่ตรงกันในหลายประเด็น เรื่องนิโรธสมาบัติก็เป็นประเด็นปัญหาหนึ่ง ดังนี้

นิโรธสมาบัติที่ปรากฏอยู่ในพระสูตรเหล่านี้

ในโปฏฐปาทสูตร แสดงไว้ว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ที่ยังมีสกสัญญา เธอออกจากปฐมฌานเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌาน เข้าตติยฌาน จนถึงอากิญจัญญายตนฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญาโดยลำดับ เมื่อเธออยู่ในอากิญจัญญายตนฌานอันเป็นที่สุดแห่งสัญญา เกิดความคิดขึ้นมาอย่างนี้ว่า เมื่อเรายังคิดอยู่ไม่ดีเลย ไม่คิดเลยจะดีกว่า ถ้าเรายังคิดยังคำนึง สัญญาเหล่านี้ (ที่เราได้มาแล้ว) จะพึงดับสัญญาอื่นที่หยาบจะเกิดขึ้นแทน ทางที่ดีเราไม่ควรคิด และไม่ควรคำนึง เธอจึงไม่คิดไม่คำนึง เมื่อเธอไม่คิดไม่คำนึง สัญญานั้นจึงดับไป สัญญาอื่นที่หยาบก็ไม่เกิดขึ้น เธอจึงบรรลุนิโรธ การเข้าถึงความดับสัญญาของภิกษุผู้มีความรู้สึกตัวโดยลำดับ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้(3)

ในมหาเวทัลลสูตร แสดงไว้ว่า สัตว์ผู้ตาย คือ ทำกาละไปแล้วมีกายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขารดับระงับไปมีอายุหมดสิ้นไป ไม่มีไออุ่น มีอินทรีย์แตกทำลาย ส่วนภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มีกายสังขาร วจีสังขารและจิตตสังขารดับ ระงับไป แต่อายุยังไม่หมดสิ้น ยังมีไออุ่นมีอินทรีย์ผ่องใส สัตว์ผู้ตาย คือทำกาละไปแล้วกับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธต่างกันอย่างนี้(4)

ในจูฬเวทัลสูตร แสดงไว้ว่า เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ วจีสังขารดับไปก่อนจากนั้นกายสังขารจึงดับ ส่วนจิตตสังขารดับทีหลัง(5)

ในอนุปทสูตร แสดงไว้ว่า เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวงสารีบุตรบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลายของเธอจึงสิ้นไป(6)

ในทุติยกามภูสูตร แสดงไว้ว่า แม้ภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ กายสังขารก็ดับระงับไป วจีสังขารก็ดับระงับไป จิตตสังขารก็ดับระงับไป (แต่) อายุไม่สิ้นไป ไออุ่นยังไม่หมดอินทรีย์ก็ผ่องใส คหบดี คนที่ตายแล้วกับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ทั้งสองนั้นต่างกันอย่างนี้(7)

ในปฏิสัมภิทามรรค แสดงไว้ว่า ปัญญาที่มีความชำนาญในการระงับสังขาร 3 ด้วยญาณจริยา 16 และด้วยสมาธิจริยา 9 เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยพละ 2 อย่าง ชื่อว่า นิโรธสมาปัตติญาณ(8)

ในคัมภีร์ปกรณ์วิเสส ที่มีการกล่าวถึงโรธสมาบัติ ดังนี้ 1. คัมภีร์วิสุทธิมรรค แสดงไว้ว่า นิโรธสมาบัติ คือ ความไม่เป็นไปของธรรมทั้งหลาย คือ จิต และเจตสิกด้วยการดับไปโดยลำดับ(9), 2. คัมภีร์วิมุตติมรรค แสดงไว้ว่า การที่จิตและเจตสิกไม่เป็นไปนี้ เรียกว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ(10), 3. หนังสือวิปัสสนาทีปนีฎีกา ระบุถึงการวิเคราะห์ศัพท์ ความหมาย นิโรธสมาบัติ ดังนี้ นิรุชฺฌนํ = นิโรธ, สมาปชฺชนํ = สมาปตฺติ, นิโรธสฺส สมาปตฺติ = นิโรธ สมาปตฺติ, ความดับของจิตและเจตสิกนี้เรียกว่า นิโรธ ในขณะที่มีนิโรธนี้จิตชรูปย่อมไม่เกิดด้วยการเข้าหรือการลงมือทำความเพียรเพื่อวิถีดับเรียกว่า สมาบัติ(11), 4. หนังสือพุทธธรรม แสดงไว้ว่า สัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นผลของสมถะ และวิปัสสนาร่วมกัน เฉพาะอย่างยิ่งต้องอาศัยกำลังสมถะที่บริบูรณ์ คือ สมาธิ ที่บริสุทธิ์ มีกำลังเต็มที่ ไม่มีเชื้อกามฉันทะที่จะรบกวนได้กามฉันทะ ก็คือ กามราคะ เป็นสังโยชน์ที่พระอนาคามีขึ้นไปจึงจะละได้ ดังนั้น จึงมีแต่พระอนาคามี และพระอรหันต์ผู้ได้สมาบัติ 8 มาก่อนแล้วเท่านั้นที่จะเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธได้(12) และ นิโรธสมาบัติ เป็นภาวะที่สัญญา และเวทนาหยุดการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นความสุขขั้นสูงสุด (13) . . . สัญญาเวทยิตนิโรธจัดได้ว่า เป็นสมาบัติ จำพวกเสวยผล มิใช่ประเภทสำหรับใช้ทำกิจ(14)

นิโรธสมาบัติสามารถสรุปได้ ดังนี้

1. นิโรธสมาบัติ เป็นสภาวะของความดับจิต และเจตสิก คือ สัญญา และเวทนาของผู้เข้านิโรธสมาบัติได้ดับลงอย่างสนิทโดยไม่มีส่วนเหลือ เป็นการที่จิตหยุดการทำงานลงชั่วคราวตราบเท่าที่อยู่ในนิโรธสมาบัติ

2. นิโรธสมาบัติ เป็นลักษณะที่สังขาร 3 อันได้แก่ วจีสังขาร กายสังขาร จิตตสังขาร สงบ ระงับ ดับลงตามลำดับ สภาวะนี้เป็นเช่นเดียวกันกับสภาวะของคนที่ตายแล้วจะมีความต่างกันเพียง อายุ ไออุ่น และร่างกายของคนที่ตายแล้วจะเสื่อมสลายไป แต่สำหรับผู้เข้านิโรธสมาบัติองค์ประกอบของชีวิตทั้ง 3 ส่วนยังไม่เสื่อมสลายไป

3. นิโรธสมาบัติ เป็นอาการของสมาธิจริยา 9 และญาณจริยา 16 ซึ่งเป็นกำลังของสมาธิ และเป็นกำลังของวิปัสสนาที่ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการอย่างสมดุลย์ทั้งสองส่วน โดยการทำสมาธิให้เกิดขึ้นและตั้งอยู่ด้วยกำลังของปัญญาในสมาธิ คือ ความสามารถในการกำหนด และควบคุมอารมณ์ฌานให้ตั่งมั่นอยู่ได้ตามความปรารถนาโดยไม่สั่นไหว และกำลังของปัญญาในวิปัสสนา คือ ปัญญาที่เข้าใจสภาวธรรมของความไม่เที่ยงในสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง คือ ไตรลักษณ์ แล้วพิจารณาด้วยหลักอริยสัจ 4 ซึ่งเป็นปัญญาของพระอริยบุคคลชั้นพระอนาคามีบุคคลขึ้นไป กระบวนธรรมทั้งสองส่วนดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบด้วยปัญญาเห็นรูปและนามเป็นสิ่งไม่เที่ยงตั้งแต่ในฌานขั้นต้น คือ ปฐมฌานไปตามลำดับขั้นจนถึงอรูปฌาน 4 แล้วนามธรรมสุดท้าย คือ สัญญา และเวทนาก็ดับลงในนิโรธสมาบัติ ซึ่งเป็นสมาบัติสูงสุดที่จะเกิดได้แต่เฉพาะกับพระอริยบุคคลในพุทธศาสนาเท่านั้น

นิโรธสมาบัติ ในพระอภิธรรมปิฏก ครั้งที่ทำตติยสังคายนา เพื่อชำระพระธรรมวินัยพบว่า มีความพิสดารในการอธิบายสภาวธรรมด้วยวิธีการจำแนกจิตออกเป็นขณะๆ ไว้อย่างละเอียด และด้วยอิทธิพลดังกล่าวนั้น ได้กลายเป็นต้นแบบของเอกสารในยุคหลังต่อมา อย่างเช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค คัมภีร์อภิธรรมมัตถสังคหะ หนังสือวิปัสสนาทีปนีฎีกา ซึ่งลักษณะดังกล่าว มีอิทธิพลคลอบคลุมไปถึงศัพท์พยัญชนะอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องนิโรธสมาบัติในทำนองเดียวกัน การให้อรรถาธิบายจะอนุวัตตามเนื้อความในพระอภิธรรมปิฏก และคัมภีร์ชั้นอรรถกถาเพียงแต่จะมีการอธิบายในบางแง่มุมให้ชัดเจนขึ้นด้วยการอ้างอิงแบบเชื่อมโยงคำอธิบายเพิ่มเติมลักษณะ สภาวะ บางอย่างที่สัมพันธ์กันจากพระสูตรอื่นๆ ร่วมด้วย

สัญญาเวทยิตนิโรธ ในพระสูตร 2 ดังนี้

ในกลหวิวาทสูตร แสดงไว้ว่า บุคคลไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาปกติ ไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาผิดปกติ เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ปราศจากสัญญาก็มิใช่ เมื่อบุคคลดำเนินอย่างนี้ รูปจึงไม่มี เพราะส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้ามีต้นเหตุมาจากสัญญา(15) และในกลหวิวาทสุตตนิทเทส ระบุว่า คำว่า เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ปราศจากสัญญาก็มิใช่ อธิบายว่า คนเหล่าใดเข้านิโรธสมาบัติได้แล้ว และเป็นอสัญญีสัตว์ คนเหล่านั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่มีสัญญา บุคคลนั้นมิใช่ผู้เข้านิโรธสมาบัติได้แล้ว มิได้เป็นอสัญญีสัตว์ คนเหล่าใด ได้ อรูปสมาบัติ 4 คน เหล่านั้น ตรัสเรียกว่า ผู้ปราศจากสัญญา บุคคลนั้นมิใช่ผู้ได้อรูปสมาบัติ 4 รวมความว่า เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ปราศจากสัญญาก็มิใช่(16)

ในคัมภีร์ปัญจปกรณ์ อรรถกถา(17) แสดงไว้ว่า บัดนี้ ชื่อว่า เรื่องสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ คือ สมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนา ในเรื่องนั้น ธรรมอะไรๆ ชื่อว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติหามีไม่ มีแต่ความดับขันธ์ทั้ง 4 เพราะฉะนั้น สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัตินั้น จึงไม่ใช่โลกีย์ ไม่ใช่โลกุตตระ ก็ชนเหล่าใดมีความเห็นผิดดุจลัทธินิกายเหตุวาทนั่นแหละว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติไม่เป็นโลกีย์ เพราะเป็นโลกุตตระ(18)... บัดนี้ ชื่อว่า เรื่องสมาบัติที่ให้เข้าถึงภพอสัญญสัตว์ ในเรื่องนั้นภาวนาที่เป็นไปด้วยอำนาจแห่งสัญญาวิราคะ เป็นอสัญญาสมาบัติบ้าง เป็นนิโรธสมาบัติบ้าง ชื่อว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เพราะฉะนั้น สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติจึงมี 2 คือ เป็นโลกิยะและโลกุตตระ บรรดาสมาบัติเหล่านั้น สมาบัติที่เป็นเหตุให้เข้าถึงอสัญญสัตว์ของปุถุชนเป็นโลกิยะที่เป็นของพระอริยะทั้งหลาย เป็นโลกุตตระ แต่สมาบัติที่เป็นของพระอริยะนั้นย่อมไม่เป็นสมาบัติที่เป็นเหตุให้เข้าถึงความเป็นอสัญญสัตว์ ก็ชนเหล่าใดมีความเห็นผิดดุจลัทธิของนิกายเหตุวาททั้งหลายว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เป็นสมาบัติที่ให้เข้าถึงความเป็นอสัญญสัตว์โดยไม่แปลกกัน เพราะไม่ทำวิภาคอย่างนี้(19)

คำจำจัดความ นิยาม ความหมาย เพื่ออธิบาย ลักษณะสภาวะ และอาการของสัญญาเวทยิตนิโรธ ดังนี้ สัญญาเวทยิตนิโรธ หมายถึง การดับลงของสัญญา คือ สภาวะความกำหนดได้หมายรู้ และการดับลงของเวทนา คือ ความรู้สึกเสวยอารมณ์ของผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ซึ่งจิต และเจตสิกของผู้เข้าสมาบัตินี้จะดับลงตราบเท่าที่อยู่ในสมาบัติ เป็นผู้ไม่มีจิต โดยสมาบัติที่ดับสัญญา และเวทนาสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ชนิด ตามคุณสมบัติของบุคคล คือ 1. สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ หมายถึง การดับสัญญา และเวทนาของพระอริยบุคคลผู้ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไข โดยการใช้กำลัง 2 ส่วน คือ กำลังของสมาธิ และกำลังของวิปัสสนาทำงานร่วมกันแบบบูรณาการจนบรรลุความดับของจิตสังขาร เรียกว่า การเข้านิโรธสมาบัติ (ศัพท์นี้ใช้เฉพาะกรณีที่เป็นการกล่าวถึงบุคคลผู้ที่เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเท่านั้น และภายใต้เงื่อนไขในข้อนี้ ศัพท์สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติจึงเป็นคำไวพจน์กับศัพท์นิโรธสมาบัติ)(20) และ2. อสัญญาสมาบัติ หมายถึง การดับสัญญา และเวทนาของปุถุชน (กลุ่มคนนอกศาสนา) ที่ทำการดับสัญญา และเวทนาโดยการใช้กำลังของสมาธิเพียงอย่างเดียว ซึ่งสามารถพบได้กับคนนอกศาสนาบางพวกที่บำเพ็ญสมาธิจนบรรลุจตุตถฌาน เพราะเป็นผู้เห็นโทษของการมีสัญญาและเกิดความหลงผิดเนื่องจากปัญญาไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง จึงบริกรรมเพ่งการดับสัญญา การเข้าถึงสมาบัติชนิดนี้ของปุถุชนเรียกว่า การเข้าอสัญญาสมาบัติ ปุถุชนผู้บรรลุอสัญญาสมาบัติ ถ้าอำนาจของฌานยังไม่เสื่อมไป เมื่อสิ้นชีวิตจากโลกนี้ก็จะไปเกิดในอสัญญสัตตาภูมิเป็นพรหมภูมิชั้นจตุตถฌานแต่เป็นเอกขันธ์ภูมิ คือ ภูมิของสัตว์ที่มีเพียงรูปขันธ์เท่านั้น ปราศจากนามขันธ์ 4 คือ วิญญาณ สัญญา สังขาร และเวทนา

จากคำจำกัดความ นิยาม ความหมาย การอธิบายลักษณะ สภาวะ อาการของศัพท์สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ พบว่า มีความสัมพันธ์กับศัพท์นิโรธสมาบัติในลักษณะที่เป็นการอธิบายความหมายของกันและกัน ซึ่งเป็นการอธิบายที่มีการเชื่อมโยง และระบุถึงลักษณะ สภาวะ อาการเช่นเดียวกัน ลักษณะนี้จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่า ศัพท์ทั้งสองคำนี้มีความหมายเช่นเดียวกัน จากข้อมูลที่ปรากฏจึงมีน้ำหนักเพียงพอที่จะสนับสนุนได้ว่า ศัพท์สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ และศัพท์นิโรธสมาบัติเป็นคำไวพจน์ของกัน และกันภายใต้กรอบนิยามความหมายที่อยู่ในขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเถรวาทเท่านั้น

การจำแนกสัญญาเวทยิตนิโรธออกเป็น 2 ชนิดนั้น มีปรากฏตั้งแต่ในสมัยพุทธกาลแล้ว ในกลหวิวาทสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับสัญญาที่ปกติ และสัญญาที่ผิดปกติ ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแยกสมาบัติที่มีสัญญาผิดปรกติไว้ต่างหากจากนิโรธสมาบัติ แต่เป็นสมาบัติที่มีการดับลงของสัญญา และเวทนาเช่นเดียวกัน พระสารีบุตรได้ทำการอธิบายขยายเนื้อความนั้นให้พิสดารออกไป ในกลหวิวาทสุตตนิทเทส ความแตกต่างจึงอยู่ที่ว่าความดับสัญญา และเวทนานั้น เป็นของพระอริยะหรือเป็นของปุถุชน (กลุ่มคนนอกศาสนา) และเป็นข้อที่น่าสังเกตเกี่ยวกับเหตุผลที่คัมภีร์ปัญจปกรณ์อรรถกถา ได้แสดงอรรถถาธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหมายตามรูปพยัญชนะของสัญญาเวทยิตนิโรธว่า เป็นความดับลงของสัญญา และเวทนาซึ่งมี 2 อย่าง คือ นิโรธสมาบัติ และอสัญญาสมาบัติ จากข้อความนี้

บัดนี้ ชื่อว่า เรื่องสมาบัติที่ให้เข้าถึงภพอสัญญสัตว์ ในเรื่องนั้นภาวนาที่เป็นไปด้วยอำนาจแห่งสัญญาวิราคะ เป็นอสัญญาสมาบัติบ้างเป็นนิโรธสมาบัติบ้าง ชื่อว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เพราะฉะนั้น สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติจึงมี 2 คือ เป็นโลกิยะและโลกุตตระบรรดาสมาบัติเหล่านั้น สมาบัติที่เป็นเหตุให้เข้าถึงอสัญญสัตว์ของปุถุชนเป็นโลกิยะที่เป็นของพระอริยะทั้งหลายเป็นโลกุตตระ แต่สมาบัติที่เป็นของพระอริยะนั้นย่อมไม่เป็นสมาบัติที่เป็นเหตุให้เข้าถึงความเป็นอสัญญสัตว์ ก็ชนเหล่าใดมีความเห็นผิดดุจลัทธิของนิกายเหตุวาททั้งหลายว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติเป็นสมาบัติที่ให้เข้าถึงความเป็นอสัญญสัตว์โดยไม่แปลกกันเพราะไม่ทำวิภาคอย่างนี้(21)

ในช่วงหลังตติยสังคายนา เพราะเกิดความเข้าใจในพระธรรมวินัยผิดเพี้ยนขึ้น เนื่องจากมีนักบวชนอกศาสนาบางกลุ่มได้ปลอมบวชเข้ามา เพื่อประโยชน์ในลาภสักการะ และเพื่ออาศัยพระศาสนาในการยังชีพ นักบวชเหล่านี้ไม่ได้ละทิ้งลัทธิความเชื่อเดิมของตน ทั้งยังไม่ได้ศึกษาเรียนรู้หลักคำสอนที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ใช้ความประพฤติเดิมๆ ที่ตนคุ้นเคยแล้วเที่ยวประกาศว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้ เกิดความเสื่อมขึ้นแก่พุทธศาสนา รวมถึงประเด็นเรื่องนิโรธสมาบัติด้วย เพราะภิกษุบางพวกมีความเข้าใจเพียงแค่ความหมายตามรูปพยัญชนะ ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นปัญหาภายในคณะสงฆ์ที่สั่งสมความเห็นที่แตกต่างกันมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์(22) จึงน่าจะเป็นเหตุผลสนับสนุนให้พระอรรถกถาจารย์ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับคัมภีร์อรรถกถาในยุคตติยสังคายนา [ก่อนที่พระพุทธโฆสเถระจะแปลคัมภีร์อรรถกถาแล้วรวบรวมใว้เป็นคัมภีร์ปรมัตถทีปนีอรรถกถา (ปัญจปกรณ์อรรถกถา) หยิบยกประเด็นปัญหามาทำการอธิบายให้เกิดความชัดเจนเพื่อให้ปัญหายุติลง แต่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติของพระอรรถกถาจารย์ ในยุคตติยสังคายนาว่า เหตุใดจึงเกิดความซ้ำซ้อนกับการอธิบายลักษณะของสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติซึ่งเคยมีมาแล้ว ในครั้งพุทธกาลที่มีการจำแนกประเภทของสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติไว้แล้ว โดยไม่พบการเชื่อมโยงเหตุผลในข้ออธิบายเรื่องการจำแนกประเภทของสมาบัติที่ปราศจากสัญญา และสมาบัติที่ไม่มีสัญญาไปยังพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ และพระสูตรที่พระสารีบุตรอธิบาย

อภิสัญญานิโรธ ในพระสูตรเพียงแห่งเดียว คือ พระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่คนนอกศาสนาเกี่ยวกับเรื่องสัญญา ดังนี้ ในโปฏฐปาทสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่โปฏฐปริพาชกจากการทูลถามปัญหาของเหล่าปริพาชกที่หาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ ซึ่งได้ถกเถียงกันค้างไว้ในวันก่อนๆ จากเนื้อความในพระสูตรที่เหล่าปริพาชกต่างก็ได้แสดงทัศนะของตนในเรื่องอภิสัญญานิโรธตามพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจ ของแต่ละกลุ่ม ซึ่งมีอยู่ 4 ทัศนะ ตามที่ปรากฏในพระสูตรนี้ คือ สมณพรามหณ์บางพวกเสนอว่า สัญญาของคนไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยเกิดดับไปเองเวลาที่เกิดสัญญาคนก็มีความจำ เมื่อสัญญาดับคนก็จำอะไรไม่ได้, สมณพรามหณ์บางพวกเสนอว่า สัญญาเป็นอัตตา (ตัวตน) ของคนที่เวียนเข้าเวียนออก เวลาที่สัญญาเป็นอัตตาเวียนเข้าคนก็มีความจำ เมื่อสัญญาเป็นอัตตาเวียนออกคนก็จำอะไรไม่ได้, สมณพรามหณ์บางพวกเสนอว่า มีสมณพราหมณ์บางพวกมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากสามารถบันดาลสัญญาของคนให้เข้าไปหรือออกไปได้ และสมณพรามหณ์บางพวกเสนอว่า เทวดาผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากสามารถบันดาลสัญญาของคนให้เข้าไปหรือออกไปได้(23)

ในอรรถกถาโปฏฐปาทสูตร แสดงไว้ว่า ตา เจว สญฺญา ความว่า ฌานสัญญานั้นย่อมดับ บทว่า อญฺญา จ ความว่า ทั้งภวังคสัญญาอย่างหยาบอื่น ย่อมไม่เกิดขึ้น บทว่า โส นิโรธํ ผุสติ ความว่า ภิกษุนั้นปฏิบัติอย่างนี้ ย่อมถึง คือ ย่อมได้ ย่อมได้รับสัญญาเวทยิตนิโรธ คำว่า อภิ ในบทว่า อนุปุพฺพาภิสญฺญา นิโรธสมฺปชานสมาปตฺตินั้น เป็นเพียงอุปสรรค บทว่า สมฺปชาน ได้กล่าวไว้ในระหว่างนิโรธบท ในบทว่า สมฺปชานสญฺญานิโรธสมาปตฺติ นั้นมีเนื้อความตาม ลำดับดังนี้ แม้ในบทนั้น บทว่า สมปชานสญฺญานิโรธสมาปตฺติ มีอรรถ พิเศษอย่างนี้ว่า สัญญานิโรธสมาบัติในที่สุด ย่อมมีแก่ภิกษุผู้รู้ตัวอยู่ หรือ แก่ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตรู้ตัวอยู่(24)

อภิสัญญานิโรธ ในโปฏฐปริพาชก ทูลถามพระพุทธเจ้า หมายถึง อาการการดับลงของสัญญา เพราะจากทัศนะของเหล่าเดียร์ถีย์ที่มีการถกแถลงค้างๆ กันไว้ ทั้ง 4 ประเด็นนั้น เป็นลักษณะของอาการสิ้นสัญญาของบุคคลทั้งสิ้น แต่ทว่าสภาวะแห่งความสิ้นสัญญานั้นเป็นไปตามพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน ดังที่ พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงไว้ในพระสูตรนี้ว่า ทัศนะของปริพาชกแต่ละกลุ่มที่เข้าใจในเรื่องนี้แตกต่างกัน เพราะเหตุของการสนทนาที่หาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้นี้เองจึงได้มาทูลถามปัญหานั้นกับพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าก็ได้แสดงธรรมในประเด็นนั้นอย่างแจ่มแจ้งให้ปรากฏแก่ผู้ทูลถามปัญหา สาระสำคัญจากทัศนะของการถกแถลงร่วมกันระหว่างหมู่ปริพาชกทำให้เข้าใจว่า สัญญานั้น คือ สภาวะความกำหนดได้หมายรู้ ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของจิตที่ทำหน้าที่ในการจัดเก็บ และทรงจำรายละเอียดของข้อมูลที่ได้รับรู้มา ประเด็นการถกแถลงเรื่องอภิสัญญานิโรธนี้จึงเป็นประเด็นที่ถกเถียงถึงการดับลงของสภาพความไม่มีปรากฏของความกำหนดได้หมายรู้ด้วยประการทั้งปวงของจิต จากข้อมูลเอกสารในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาของเรื่องนี้พบว่า มีการอธิบายโดยการจำแนกศัพท์ เพื่ออธิบายเนื้อความในพระสูตรที่เชื่อมโยงมาถึงการเจริญฌานของเดียรถีย์ด้วยความเห็นโทษของความเป็นไปในจิต จึงเจริญความดับของจิตแล้วไปเกิดในอสัญญสัตตาภูมิ(25) ซึ่งเป็นข้อมูลสนับสนุนงานวิจัยได้ว่า คนนอกศาสนาบางกลุ่มมีความรู้ในรื่องรูป และนามที่เป็นองค์ประกอบของขันธ์ 5

อภิสัญญานิโรธ กล่าวถึงพระสูตรเรื่องนี้ แยกออกเป็น 2 ประเด็น คือ การดับลงของสัญญาตามความเข้าใจของบุคคลภายนอกพุทธศาสนาที่มีพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจตามสำนวนโวหารและรูปพยัญชนะว่า อภิสัญญานิโรธ เป็นสภาวะของการหมดสิ้นลงของสัญญา ซึ่งเป็นความหลงผิดเพราะไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงเนื่องจากมีคนนอกศาสนาบางกลุ่มสามารถเข้าถึงสภาวะนั้นด้วยการบรรลุอสัญญาสมาบัติ เพราะด้วยอำนาจของสมาบัติเมื่อเป็นผู้ไม่เสื่อมจากฌานในขณะสิ้นชีวิตจากโลกนี้ก็จะไปเกิดเป็นอสัญญีพรหม และการดับลงของสัญญาและเวทนาของพระอนาคามี และพระอรหันต์ผู้มีความชำนาญในสมาบัติ 8 ซึ่งเป็นความรู้อย่างอริยปัญญาในพุทธศาสนาเท่านั้น

พระสูตรนี้ เหล่านักบวชนอกศาสนาเหล่านั้นมีความเข้าใจตามมติอันเป็นความรู้ในหมู่คณะเดิมของตนมาอย่างไรก็ตาม เมื่อมาเฝ้าทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้า เพื่อให้ทรงพยากรณ์ปัญหานั้นแล้ว ย่อมจะต้องอนุวัตคล้อยตามสิ่งที่พระพุทธเจ้าแสดงทั้งสิ้น เหล่าปริพาชกที่ได้นำมาเป็นประเด็นปัญหาในการถกเถียงกันเรื่องอภิสัญญานิโรธหรือความสิ้นไปของสัญญาทั้ง 4 ทัศนะดังกล่าวนั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเรื่องทิฏฐิ 62 ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างละเอียดเกี่ยวสาเหตุที่เหล่าปริพาชกเหล่านี้เข้าใจเนื้อความตามทัศนะของตนนั้นว่ามีมูลเหตุมาจากสิ่งใด พุทธพจน์ดังกล่าวปรากฏใน พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร ทิฏฐิ 62 สัสสตวาทะ 4(26)

ในสัตตุธาตุสูตร แสดงไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาภาธาตุ สุภธาตุ อากาสานัญจายตนธาตุ วิญญาณัญจายตนธาตุ อากิญจัญญายตนธาตุ เนวสัญญานาสัญญายตนธาตุ และสัญญาเวทยิตนิโรธธาตุ ธาตุเหล่านี้อาศัยอะไรจึงปรากฏได้ ภิกษุ อาภาธาตุอาศัยความมืดจึงปรากฏได้ สุภธาตุอาศัยความไม่งามจึงปรากฏได้ อากาสานัญจายตนธาตุอาศัยรูปสมาบัติจึงปรากฏได้ วิญญาณัญจายตนธาตุอาศัยอากาสานัญจายตนสมาบัติจึงปรากฏได้ อากิญจัญญายตนธาตุอาศัยวิญญาณัญจายตน สมาบัติจึงปรากฏได้ เนวสัญญานาสัญญายตนธาตุอาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติจึงปรากฏได้สัญญาเวทยิตนิโรธธาตุอาศัยนิโรธสมาบัติจึงปรากฏได้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาภาธาตุ สุภธาตุ อากาสานัญจายตนธาตุ วิญญาณัญจายตนธาตุ อากิญจัญญายตนธาตุ เนวสัญญานาสัญญายตนธาตุ และสัญญาเวทยิตนิโรธธาตุ บุคคลจะเข้าถึงธาตุเหล่านี้ได้อย่างไร

ภิกษุ อาภาธาตุ สุภธาตุ อากาสานัญจายตนธาตุ วิญญาณัญจายตนธาตุ อากิญจัญญายตนธาตุ ธาตุเหล่านี้ เป็นสัญญาสมาบัติที่บุคคลจะเข้าถึงได้ เนวสัญญานา สัญญายตนธาตุ เป็น สังขาราวิเสสสมาบัติที่บุคคลจะเข้าถึงได้ สัญญาเวทยิตนิโรธธาตุ เป็นนิโรธสมาบัติที่บุคคลจะเข้าถึงได้(27)

สัญญาเวทยิตนิโรธธาตุ หมายถึง สภาวะที่เป็นความดับลงของนามขันธ์ 4 อันได้แก่วิญญาณขันธ์ สังขารขันธ์ สัญญาขันธ์ เวทนาขันธ์ ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่ถือว่าเป็นความสงบ สงัดสูงสุด เพราะสัญญาเวทยิตนิโรธธาตุต้องอาศัยกระบวนธรรมที่เกิดขึ้นและดำเนินไปในฌานสมาบัติตามลำดับขั้น ซึ่งในแต่ละขั้นของฌานสมาบัติจะมีการดับลงของสภาวธรรมบางอย่างตามอำนาจของฌานที่กำจัดสภาวธรรมให้ตกไปเพื่อบรรลุฌานที่สูงกว่า ด้วยสภาวะธรรมของการดับลงที่เป็นไปตามลำดับในอนุปุพพนิโรธอย่างนี้จนถึงสภาวะความดับลงของนามขันธ์สุดท้ายอย่างสัญญาและเวทนาก็จะเป็นสภาวะธรรมชาติที่เรียกว่าสัญญาเวทยิตนิโรธธาตุ เพราะเป็นสภาวะที่จะต้องอาศัยเหตุแห่งการเข้าถึงด้วยกระบวนการในการเข้านิโรธสมาบัติ สัญญาเวทยิตนิโรธธาตุจะต้องอาศัยนิโรธสมาบัติจึงจะสามารถปรากฏได้(28)

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร ทิฏฐิ 62 อธิจสมุปปันนวาทะ กล่าวไว้ดังนี้

ในพรหมชาลสูตรสูตร แสดงไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย มีทวยเทพชื่อ อสัญญีสัตว์จุติ (เคลื่อน) จากชั้นนั้น เพราะเกิดสัญญาขึ้น ข้อที่ สัตว์ผู้จุติจากชั้นนั้นแล้วมาเป็นอย่างนี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เมื่อเขามาเป็นอย่างนี้แล้วออกจากเรือนไปบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้วอาศัยความเพียรเครื่องเผากิเลส ความเพียรที่ตั้งมั่น ความหมั่นประกอบ ความไม่ประมาท และอาศัยการใช้ความคิดอย่างถูกวิธีแล้วบรรลุเจโตสมาธิที่เป็นเหตุทำจิตให้ตั้งมั่น ตามระลึกถึงความเกิดสัญญา ถัดจากนั้นไประลึกไม่ได้ เขาจึงพูดอย่างนี้ว่า อัตตา และโลกเกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัย เพราะเหตุไร เพราะเมื่อก่อนเราไม่ได้มีแล้วบัดนี้ก็ไม่มี จึงน้อมไปเพื่อเป็นผู้สงบ(29)

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ได้กล่าวไว้ในพรหมชาลสูตร อรรถกถา ระบุว่า คำว่า อสญฺญีส ตฺตา นี้เป็นหัวข้อเทศนา ความว่า มีอัตตภาพ สักแต่ว่ารูป เพราะไม่มีจิตเกิดขึ้น พึงทราบความอุบัติของพวกอสัญญีสัตว์เหล่านั้น อย่างนี้ ก็บุคคลบางคนบวชในลัทธิเดียรถีย์แล้ว ทำบริกรรมในวาโยกสิณ ยังจตุตถฌานให้บังเกิด ออกจากฌานแล้ว เห็นโทษในจิตว่า เมื่อมีจิต ย่อมมีทุกข์ เพราะถูกตัดมือเป็นต้น และมีภัยทั้งปวง พอกันทีด้วยจิตนี้ ความไม่มีจิตสงบแท้ ครั้นเห็นโทษในจิตอย่างนี้แล้ว เป็นผู้มีฌานไม่เสื่อมถอย ทำกาละแล้ว ไปบังเกิดในพวกอสัญญีสัตว์(30)

อสัญญาสมาบัติ หมายถึง สมาบัติที่ทำการดับสัญญา และเวทนาของปุถุชน (นักบวชนอกศาสนา) เมื่อเจริญวาโยกสิณ ฯลฯ เป็นต้น จนบรรลุจตุตถฌานแล้ว แต่เพราะเกิดความเบื่อหน่ายในนามขันธ์จึงมนสิการถึงความดับสิ้นไปของสัญญา คือ ความกำหนดได้หมายรู้ บรรลุความเป็นผู้ไม่มีสัญญา อสัญญาสมาบัติ เป็นสมาบัติชนิดเดียวที่จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้หลักคำสอนในพุทธศาสนา เพราะปัญญาที่รู้ชัดตามความเป็นจริงจะไม่นำไปสู่ความหลงผิดในการเจริญฌานเพื่อการดับสัญญา(31)

ในคุหัฏฐกสุตตนิทเทส แสดงไว้ว่า โมเนยยธรรมทางกาย คือ การละกายทุจริต 3 อย่าง ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางกาย กายสุจริต 3 อย่าง ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางกาย ญาณมีกายเป็นอารมณ์ ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางกาย กายปริญญา (การกำหนดรู้กาย) ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางกาย มรรคที่สหรคตด้วยปริญญา ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางกาย การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในกาย ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางกาย ความดับแห่งกายสังขาร การบรรลุจตุตถฌาน ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางกาย นี้ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางกาย, โมเนยยธรรมทางวาจา คือ การละวจีทุจริต 4 อย่าง ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางวาจา วจีสุจริต 4 อย่างชื่อว่าโมเนยยธรรมทางวาจา ญาณมีวาจาเป็นอารมณ์ ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางวาจา วาจาปริญญา (การกำหนดรู้วาจา) ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางวาจา มรรคที่สหรคต ด้วยปริญญา ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางวาจา การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในวาจา ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางวาจา ความดับแห่งวจีสังขาร การบรรลุทุติยฌาน ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางวาจา นี้ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางวาจา, โมเนยยธรรมทางใจ คือ การละมโนทุจริต 3 อย่างชื่อว่า โมเนยยธรรมทางใจ มโนสุจริต 3 อย่างชื่อว่า โมเนยยธรรมทางใจ ญาณมีใจเป็นอารมณ์ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางใจ จิตตปริญญา (การกำหนดรู้จิต) ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางใจ มรรคที่สหรคตด้วยปริญญาชื่อว่า โมเนยยธรรมทางใจ การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในจิตชื่อว่าโมเนยยธรรมทางใจ ความดับแห่งจิตตสังขาร การบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางใจนี้ชื่อว่า โมเนยยธรรมทางใจ(32)

โมเนยยธรรม หมายถึง คุณสมบัติ และวิธีการปฏิบัติตน เพื่อความเป็นมุนี ธรรมแห่งความเป็นมุนี หรือสภาวะความเป็นนักบวชที่ประกอบด้วยคุณสมบัติใน 3 ระดับ คือ 1. ความเป็นมุนีทางกาย, 2. ความเป็นมุนีทางวาจา และ3. ความเป็นมุนีทางใจ ซึ่งเป็นผู้บรรลุความสงบ ระงับ ดับลงแห่งสังขารตามกำลังปัญญา คือ 1) มุนีทางกาย เป็นผู้มีกายสังขารดับ สงบ ระงับ 2) มุนีทางวาจา เป็นผู้มีวจีสังขารดับ สงบ ระงับ 3) มุนีทางใจ เป็นผู้มีจิตตสังขารดับ สงบ ระงับ

โมเนยยธรรม ศัพท์นี้พบว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้ในการนิยามความหมายของบุคคลผู้เป็นนักบวช ซึ่งสภาวะนั้นประกอบด้วยคุณสมบัติทั้ง 3 ระดับ คือ ความเป็นมุนีทางกายความเป็นมุนีทางวาจา ความเป็นมุนีทางใจ ตามลำดับของการบรรลุคุณธรรมแห่งความเป็นนักบวชเมื่อรวมคุณสมบัติของมุนีครบทั้ง 3 ประการแล้วก็จะเป็นลักษณะของนักบวชในอุดมคติตามทัศนะของพุทธศาสนา กล่าวคือ เมื่อคุณสมบัติทั้ง 3 ประการบูรณาการเข้าด้วยกันจนบริบูรณ์ก็จะเป็นนักบวชผู้มีความสามารถในการเข้านิโรธสมาบัติได้ เนื่องจากคุณสมบัติข้อสุดท้าย คือ โมเนยยธรรมทางใจหรือความเป็นมุนีทางใจ พระสารีบุตรได้แสดงอรรถาธิบายไว้ใน พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส คุหัฏฐกสุตตนิทเทส ว่า โมเนยยธรรมนั้นมีการดับลงของสังขาร 3 ตามลำดับ คือ วจีสังขาร กายสังขาร จิตตสังขาร ดังนั้น โมเนยยธรรมทางใจ จึงหมายถึง มุนีผู้มีความชำนาญในการควบคุมจิต ซึ่งเป็นนามขันธ์ให้สงบลง ซึ่งการดับลงของจิตตสังขารเป็นสภาวะธรรมของนิโรธสมาบัตินั่นเอง จากลักษณะธรรมชาติของสภาวธรรมที่ดำเนินไปในโมเนยยธรรมทางใจโดยเป็นการกำจัดมโนทุจริต 3 การมีปัญญารู้ในมโนสุจริต 3 ปัญญาในการดับความเบียดเบียนที่เกิดขึ้นทางใจให้สงบลงได้ ซึ่งเป็นธรรมชาติแห่งความดับลงของจิตสังขาร จึงเป็นสภาวธรรมเช่นเดียวกับนิโรธสมาบัติ จากข้อมูลดังกล่าวจึงมีนำหนักเพียงพอที่จะสนับสนุนสมมติฐานของนัยความหมายที่ว่า โมเนยยธรรมทางใจเป็นสภาวะเช่นเดียวกับนิโรธสมาบัติและศัพท์โมเนยยธรรมทางใจเป็นคำไวพจน์ของศัพท์สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อธิบาย สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติวิโมกข์ ไว้ดังนี้

ในปฏิสัมฏิทามรรค แสดงไว้ว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติวิโมกข์เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติโดยประการทั้งปวง บรรลุสัญญา

เวทยิตนิโรธสมาบัติ นี้ชื่อว่า สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติวิโมกข์(33)

สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติวิโมกข์ มีการอธิบาย วิโมกข์ ไว้ดังนี้

ในหนังสือพุทธธรรม กล่าวไว้ว่า วิโมกข์ แปลว่า ความหลุดพ้น หมายถึง ภาวะที่จิตหลุดพ้นจากธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งหลาย เพราะจิตนั้นยินดียิ่งในอารมณ์ที่กำลังกำหนด จึงน้อมดิ่งเข้าอยู่ในอารมณ์นั้น ในเวลานั้นจิตปราศจากบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงเรียกว่า เป็นความหลุดพ้น 1. แต่ก็เป็นเพียงความหลุดพ้นด้วยกำลังสมาธิในฌานสมาบัติ และเป็นไปชั่วคราวตราบเท่าที่อยู่ในฌานสมาบัติเหล่านั้น ไม่ใช่วิมุตติที่เป็นความหลุดพ้นจากกิเลส และกองทุกข์สิ้นเชิง 2. ซึ่งเป็นไวพจน์ของนิพพาน 3. วิโมกข์มี 8 อย่าง(34)

สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติวิโมกข์ คือ สภาวะที่จิตน้อมดิ่งไปในอารมณ์แห่งความดับของจิต และเจตสิก เพราะการกำจัดลักษณะธรรมชาติความกำหนดได้หมายนี้ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานลงซึ่งเป็นสภาวะความสงบ ระงับ ดับลงของนามขันธ์ 4 อย่างสิ้นเชิง และการบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธจึงเป็นสภาพแห่งหลุดพ้นจากการเบียดเบียนของสังขารธรรมที่ละเอียด คือ สัญญา และเวทนา

สมถพละ ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ดังนี้

1) ปฏิสัมภิทามรรค แสดงไว้ว่า สมถพละ เป็นอย่างไร คือ ความที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งเนกขัมมะ ชื่อว่า สมถพละ ความที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งอพยาบาท ชื่อว่า สมถพละ ความที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งอาโลกสัญญาชื่อว่า สมถพละ ความที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งอวิกเขปะชื่อว่าสมถพละ ฯลฯ ความที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งการพิจารณาเห็นความสละคืนหายใจเข้า ชื่อว่ าสมถพละ ความที่จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจแห่งการพิจารณาเห็นความสละคืนหายใจออก ชื่อว่าสมถพละคำว่า สมถพละ อธิบายว่า ชื่อว่า สมถพละ เพราะมีความหมายว่าอย่างไร คือ ชื่อว่า สมถพละ เพราะไม่หวั่นไหว เพราะนิวรณ์ด้วยปฐมฌาน ชื่อว่า สมถพละ เพราะไม่หวั่นไหวเพราะวิตกวิจารด้วยทุติยฌาน ชื่อว่า สมถพละ เพราะไม่หวั่นไหวเพราะปีติด้วยตติยฌานชื่อว่า สมถพละ เพราะไม่หวั่นไหวเพราะสุขและทุกข์ด้วยจตุตถฌาน ชื่อว่า สมถพละ เพราะไม่หวั่นไหวเพราะรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา ด้วยอากาสานัญจายตน สมาบัติชื่อว่า สมถพละ เพราะไม่หวั่นไหวเพราะอากาสานัญจายตนสัญญาด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ชื่อว่า สมถพละ เพราะไม่หวั่นไหวเพราะวิญญาณัญจายตนสัญญาด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ ชื่อว่า สมถพละเพราะไม่หวั่นไหวเพราะอากิญจัญญายตนสัญญา ด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติชื่อว่า สมถพละ เพราะไม่หวั่นไหว ไม่กวัดแกว่ง ไม่เอนเอียงเพราะอุทธัจจะ เพราะกิเลสที่ประกอบด้วยอุทธัจจะและเพราะขันธ์ นี้ชื่อว่า สมถพละ(35)

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค กล่าวไว้ว่า สมถพละ ในคำว่า สมถพละ ดังนี้ โดยความหมายว่า กะไร ชื่อว่า สมถพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปในเพราะนีวรณ์ด้วยปฐมฌานชื่อว่า สมถพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปในวิตกวิจารด้วย ทุติยฌาน... ฯลฯ .... ชื่อว่า สมถพละ เพราะอรรถ คือ ไม่หวั่นไหวในเพราะอากิญจัญญายตนสัญญาด้วยเนวสัญญาสัญญายตนสมาบัติ ชื่อว่าสมถพละ เพราะไม่หวั่นไหวไป ไม่เคลื่อนไป ไม่สั่นสะเทือนไปในเพราะอุทธัจจะ และเพราะในเพราะกิเลสอันเป็นไปกับด้วย อุทธัจจะ และในเพราะขันธ์ (ที่สัมปยุตกับอุทธัจจะ)(36)

สรุปได้ว่า สมถพละ หมายถึง กำลังของสมาธิที่เกิดจากปัญญาในสมาธิซึ่งเป็นความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ ทางด้านสมาธิปฏิบัติในการควบคุมอารมณ์ให้ตั้งมั่น ไม่สั่นใหว มีความมั่นคง มีอำนาจครอบงำกิเลสไม่ให้สามารถรบกวนได้ เป็นศักยภาพของสมาธิในขั้นสูงที่มีกำลังบริบูรณ์ที่จะใช้ทำกิจ และสามารถกำหนดให้เป็นไปได้ตามความปรารถนาในฌานทั้งหลาย

สมาธิจริยา 9 ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ดังนี้

ในปฏิสัมภิทามรรค กล่าวว่า คำว่า ด้วยสมาธิจริยา 9 อธิบายว่า ด้วยสมาธิจริยา 9 เป็นอย่างไร คือ ปฐมฌานชื่อว่า สมาธิจริยา ทุติยฌาน ชื่อว่า สมาธิจริยา ตติยฌาน ชื่อว่า สมาธิจริยา จตุตถฌานชื่อว่าสมาธิจริยา อากาสานัญจายตนสมาบัติ ฯลฯ วิญญาณัญจายตนสมาบัติ ฯลฯ อากิญจัญญายตนสมาบัติ ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติชื่อว่าสมาธิจริยา วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตาจิตเพื่อได้ปฐมฌาน ฯลฯ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตาจิต เพื่อได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ชื่อว่า สมาธิจริยา ด้วยสมาธิจริยา 9 นี้(37)

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค กล่าวไว้ว่า คำว่า ด้วยสมาธิจริยา 9 ถามว่า ด้วยสมาธิจริยา 9 เหล่าไหน ตอบว่า ปฐมฌาน ชื่อว่าสมาธิจริยา ทุติยฌาน ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญาตยนสมาบัติ ชื่อว่า สมาธิจริยา (เป็น 8) วิตกก็ดี วิจารก็ดี ปีติก็ดี สุขก็ดี จิตเตกัคคตาก็ดี เพื่อมุ่งหมายได้ปฐมฌาน ฯลฯ วิตกก็ดี วิจารก็ดี ปีติก็ดี สุขก็ดี จิตเตกัคคตาก็ดี เพื่อมุ่งหมายได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ 1 (รวมกับอุปจารสมาธิ ของสมาบัติ 8 อีก 1) ด้วยสมาธิจริยา 9 เหล่านี้(38)

สรุปได้ว่า สมาธิจริยา หมายถึง กระบวนการที่ดำเนินไปในวิถีของสมาธิ เพื่อสร้างอารมณ์ของสมาธิให้มีความชัดเจน เข้มข้น รวมเป็นหนึ่งเดียว เพื่อการบรรลุฌานสมาบัติในแต่ละขั้น ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น ฌาน 8 ขั้นตามลำดับ และอุปจารขณะของแต่ละฌาน (นับเป็น 1 อย่าง) ประกอบด้วย 1. ปฐมฌาน, 2. ทุติยฌาน, 3. ตติยฌาน, 4. จตุตถฌาน, 5. อากาสานัญญายตนฌาน, 6. วิญญาณัญจายตนฌาน, 7. อากิญจัญญายตนฌาน, 8. เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และ9. อุปจาระขณะของแต่ละฌาน อีก 1 รวมเป็น 9 ประเภท จึงเรียกอาการที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ว่า สมาธิจริยา 9

วสี 5 ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ดังนี้

ในปฏิสัมภิทามรรค แสดงไว้ว่า คำว่า วสี อธิบายว่า วสี 5 ประการ ได้แก่ 1. อาวัชชนาวสี (ชำนาญในการคำนึงถึง), 2. สมาปัชชนวสี (ชำนาญในการเข้า), 3. อธิฏฐานวสี (ชำนาญในการอธิษฐาน), 4. วุฏฐานวสี (ชำนาญในการออก) และ5. ปัจจเวกขณาวสี (ชำนาญในการพิจารณา)

สมาปัตติลาภีบุคคล (บุคคลผู้ได้สมาบัติ) คำนึงถึงปฐมฌาน ที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้นานเท่าไรก็ได้ ตามปรารถนา ไม่มีความเนิ่นช้าในการคำนึงถึง เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า อาวัชชนาวสี สมาปัตติลาภีบุคคลเข้าปฐมฌานที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ นานเท่าไรก็ได้ตามปรารถนาไม่มีความเนิ่นช้าในการเข้า เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า สมาปัชชนวสีสมาปัตติลาภีบุคคลอธิษฐานปฐมฌานที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ นานเท่าไรก็ได้ ตามปรารถนา ไม่มีความเนิ่นช้าในการอธิษฐาน เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อธิฏฐานวสีสมาปัตติลาภีบุคคลออกจากปฐมฌานที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ นานเท่าไรก็ได้ตามปรารถนา ไม่มีความเนิ่นช้าในการออก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า วุฏฐานวสีสมาปัตติลาภีบุคคลพิจารณาปฐมฌานที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ นานเท่าไรก็ได้ ตามปรารถนา ไม่มีความเนิ่นช้าในการพิจารณา เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ปัจจเวกขณาวสีสมาปัตติลาภีบุคคลคำนึงถึงทุติยฌาน ฯลฯ คำนึงถึงเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติที่ไหน ก็ได้ เมื่อไรก็ได้ นานเท่าไรก็ได้ ตามปรารถนา ไม่มีความเนิ่นช้าในการคำนึงถึงเพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อาวัชชนาวสีสมาปัตติลาภีบุคคลเข้า ฯลฯ อธิฏฐาน ฯลฯ ออก ฯลฯ พิจารณาเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ นานเท่าไรก็ได้ ตามปรารถนา ไม่มีความเนิ่นช้าในการพิจารณา เพราะเหตุนั้น จึงชื่อ ว่าปัจจเวกขณาวสี วสี 5 ประการนี้(39)

วสี 5 ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค อธิบายความหมาย ลักษณะ และสภาวธรรมที่เกี่ยวกับวสี 5 โดยมีรูปแบบ วิธีการ เนื้อหา สารัตถธรรมที่ปรากฏไม่มีความแตกต่างจากวิธีการอธิบายใน พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค(40)

สรุปว่า วสี หมายถึง ความสามารถในการกำหนด ควบคุม บังคับบัญชา สั่งการ กำกับอารมณ์ของสมาธิให้เป็นไปได้ตามที่ปรารถนาอย่างคล่องแคล่ว และชำนาญในฌานทุกขั้นตามลำดับ

วสี จำแนกได้เป็น 5 ประการ ดังนี้ 1. อาวัชชนวสี คือ ความสามารถแห่งการคำนึงถึง, 2. สมาปัชชวสี คือ ความสามารถแห่งการเข้า, 3. อธิษฐานวสี คือ ความสามารถแห่งการตั้งอยู่, 4. วุฏฐานวสี คือ ความสามารถแห่งการออก, 5. ปัจจเวกขนวสี คือ ความสามารถแห่งการพิจารณา(41)

สมถพละ, สมาธิจริยา 9, วสี 5 เป็นศัพท์ที่เกิดจากการจำแนก ลักษณะ อาการพฤติการณ์ของกระบวนธรรมในฝ่ายสมาธิที่เกิดขึ้น และดำเนินไปในขั้นตอนการเข้านิโรธสมาบัติ โดยพระสารีบุตรที่ได้ทำการอธิบายสภาวะธรรมเหล่านี้ไว้อย่างละเอียดในพระสุตตันตปิฏกปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งสามารถจำแนกได้ตามลักษณะการอธิบายของพระสารีบุตรได้ดังนี้ คือ สมถพละ เป็นการอธิบายศักยภาพความสมารถทางสมาธิซึ่งเป็นผลรวมแห่งความสำเร็จของปัญญาในสมาธิที่มีอำนาจครอบงำกิเลสมิให้ฟุ้งขึ้นมารบกวนได้ เพราะจิตบรรลุความเป็นสมาธิที่ตั้งมั่น ไม่สั่นใหว เป็นสมาธิที่มีกำลัง สามารถใช้ทำกิจได้ตามที่ปรารถนาสมาธิจริยา 9 เป็นการอธิบายองค์ประกอบเชิงกระบวนการของสมาธิ คือ กริยาอาการ กระบวนการ ที่แสดงให้เห็นพฤติการณ์ขั้นตอนที่เป็นการปฏิบัติตนเพื่อให้จิตบรรลุความตั้งมั่นในอารมณ์แห่งสมาธิเพื่อการบรรลุฌานขั้นต่างๆ ตามลำดับ เพื่อใช้ทำกิจตามที่ปรารถนาวสี 5 เป็นการอธิบายศักยภาพความชำนาญของจิตที่บรรลุความตั้งมั่นในสมาธิที่มีอำนาจบังคับบัญชา มีความชำนาญในการกำหนดอารมณ์ให้จิตมีความตั้งมั่นเกิดขึ้น โดยใช้ทำกิจได้ตามที่ปรารถนาตามที่ต้องการให้เป็นไปในลักษณะต่างๆ สภาวธรรมฝ่ายสมาธิทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เป็นสภาวธรรมที่ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน เป็นคุณสมบัติ เป็นอาการ เป็นความสามารถ เป็นอำนาจของจิตที่บรรลุความตั้งมั่นแล้ว แต่อธิบายแบบจำแนกตามลักษณะเพื่อให้เห็นชัดในลักษณะเฉพาะของสมาธิที่มีพละกำลังและศักยภาพของอำนาจที่บริบูรณ์

วิปัสสนาพละ มีการอธิบายไว้ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ดังนี้

ในปฏิสัมภิทามรรค กล่าวว่า วิปัสสนาพละ เป็นอย่างไร คือ อนิจจานุปัสสนาชื่อว่า วิปัสสนาพละ ทุกขานุปัสสนาชื่อว่า วิปัสสนาพละ อนัตตานุปัสสนาชื่อว่า วิปัสสนาพละ นิพพิทานุปัสสนาชื่อว่า วิปัสสนาพละ วิราคานุปัสสนาชื่อว่า วิปัสสนาพละ นิโรธานุปัสสนาชื่อว่า วิปัสสนาพละปฏินิสสัคคานุปัสสนาชื่อว่าวิปัสสนาพละ อนิจจานุปัสสนาในรูปชื่อว่า วิปัสสนาพละ ฯลฯ ปฏินิสสัคคานุปัสสนาในรูป ฯลฯ ในเวทนา ฯลฯ ในสัญญา ฯลฯ ในสังขาร ฯลฯ ในวิญญาณ ฯลฯ ในจักขุ ฯลฯ ในชรา และมรณะ ฯลฯ ปฏินิสสัคคานุปัสสนาในชรา และมรณะชื่อว่า วิปัสสนาพละ คำว่า วิปัสสนาพละ อธิบายว่า ชื่อว่า วิปัสสนาพละ เพราะมีความหมายว่าอย่างไร คือ ชื่อว่า วิปัสสนาพละเพราะไม่หวั่นไหว เพราะนิจจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสสนา ชื่อว่า วิปัสสนาพละ เพราะไม่หวั่นไหวเพราะสุขสัญญาด้วยทุกขานุปัสสนา ชื่อว่า วิปัสสนาพละเพราะไม่หวั่นไหวเพราะอัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสสนา ชื่อว่า วิปัสสนาพละ เพราะไม่หวั่นไหวเพราะนันทิด้วยนิพพิทานุปัสสนา ชื่อว่า วิปัสสนาพละเพราะไม่หวั่นไหวเพราะราคะด้วยวิราคานุปัสสนา ชื่อว่า วิปัสสนาพละ เพราะไม่หวั่นไหวเพราะสมุทัยด้วยนิโรธานุปัสสนา ชื่อว่า วิปัสสนาพละ เพราะไม่หวั่นไหวเพราะอาทานะด้วยปฏินิสสัคคานุปัสสนาชื่อว่า วิปัสสนาพละ เพราะไม่หวั่นไหว ไม่กวัดแกว่ง ไม่เอนเอียงเพราะอวิชชา เพราะกิเลสที่ประกอบด้วยอวิชชา และเพราะขันธ์ นี้ชื่อว่า วิปัสสนาพละ(42)

คัมภีร์วิสุทธิมรรค อธิบายความหมายลักษณะ และสภาวธรรมที่เกี่ยวกับวิปัสสนาพละ โดยมีเนื้อความแห่งอรรถาธิบายตรงกันกับที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ทุกประการ(43)

สรุปได้ว่า วิปัสสนาพละ คือ กำลังของปัญญาที่เป็นสภาวะของความรู้ชัดตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ภายใต้กระบวนการพิจารณาเชิงเหตุผลให้เห็นแจ้งโดยการใช้หลักธรรมที่มีลักษณะตรงข้ามกัน จึงเป็นสภาวะของจิตที่มีความตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง เพราะเกิดเป็นปัญญาความเข้าใจถูกต้องที่ปราศจากการครอบงำของกิเลส อวิชชา และขันธ์

ญาณจริยา 16 ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ดังนี้

ในปฏิสัมภิทามรรค กล่าวว่า คำว่า ด้วยญาณจริยา 16 อธิบายว่า ด้วยญาณจริยา 16 เป็นอย่างไร คือ อนิจจานุปัสสนาชื่อว่า ญาณจริยา ทุกขานุปัสสนาชื่อว่า ญาณจริยา อนัตตานุปัสสนาชื่อว่า ญาณจริยานิพพิทานุปัสสนาชื่อว่า ญาณจริยา วิราคานุปัสสนาชื่อว่า ญาณจริยา นิโรธานุปัสสนาชื่อว่า ญาณจริยา ปฏินิสสัคคานุปัสสนาชื่อว่า ญาณจริยา วิวัฏฏนานุปัสสนาชื่อว่า ญาณจริยาโสดาปัตติมรรคชื่อว่า ญาณจริยา โสดาปัตติผลสมาบัติชื่อว่า ญาณจริยา สกทาคามิมรรคชื่อว่า ญาณจริยา สกทาคามิผลสมาบัติชื่อว่า ญาณจริยา อนาคามิมรรคชื่อว่า ญาณจริยาอนาคามิผลสมาบัติชื่อว่า ญาณจริยา อรหัตตมรรคชื่อว่า ญาณจริยา อรหัตตผลสมาบัติชื่อว่า ญาณจริยา ด้วยญาณจริยา 16 นี้(44)

คัมภีร์วิสุทธิมรรค อธิบายเกี่ยวกับญาณจริยา 16 โดยมีเนื้อความแห่งอรรถาธิบายตรงกันกับที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ทุกประการ(45)

ญาฌจริยา 16 หมายถึง กระบวนการที่ดำเนินไปในวิถีของปัญญาในฝ่ายวิปัสสนา ด้วยการพิจาณาอย่างแยบคายในลักษณะของธรรมที่มีสภาวะตรงข้ามกัน เป็นปัญญาที่เห็นแจ้งในไตรลักษณ์บนพื้นฐานการพิจารณาด้วยหลักอริยสัจ 4 โดยสามารถจำแนกออกได้เป็น 16 ลักษณะ ประกอบด้วย 1. อนิจจานุปัสสนา, 2. ทุกขานุปัสสนา, 3. อนัตตานุปัสสนา, 4. นิพพิทานุปัสสนา, 5. ราคานุปัสสนา, 6. นิโรธานุปัสสนา, 7. ปฏินิสสัคคานุปัสสนา, 8. วิวัฏฏนานุปัสสนา, 9. โสดาปัตติมรรค, 10. โสดาปัตติผลสมาบัติ, 11. สกทาคามิมรรค, 12. สกทาคามิผลสมาบัติ, 13. อนาคามิมรรค, 14. อนาคามิผลสมาบัติ, 15. อรหัตตมรรค และ16. อรหัตตผลสมาบัติ ด้วยกริยาอาการที่เป็นไปทั้ง 16 ลักษณะนี้จึงเรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า ญาณจริยา 16 ซึ่งเป็นกระบวนการทางปัญญาในพุทธศาสนาที่เป็นอริยปัญญา เป็นความรู้ชัดตามความเป็นจริง และเป็นไปเพื่อการดับทุกข์

การเข้านิโรธสมาบัติ พระสารีบุตรได้อธิบายสภาวะธรรมเหล่านี้ไว้อย่างละเอียดในพระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกายปฏิสัมภิทามรรค สามารถจำแนกได้ ดังนี้ วิปัสสนาพละ เป็นผลรวมแห่งความสำเร็จของปัญญาในวิปัสสนาที่เห็นแจ้งตามความเป็นจริง เพราะจิตบรรลุสภาพของปัญญาที่รู้ชัด จึงตั้งมั่น ไม่สั่นไหว เป็นปัญญาที่มีกำลัง และอำนาจประหารกิเลสได้ตามสมควรแก่บุคคลญาณจริยา 16 เป็นการอธิบายองค์ประกอบเชิงกระบวนการของวิปัสสนา คือ กริยา อาการ กระบวนการ ที่แสดงให้เห็นพฤติการณ์ที่ดำเนินไปในการพิจารณาสภาวธรรมโดยแยบคายซึ่งเป็นการเจริญปัญญา เพื่อให้เห็นแจ้งในสภาพธรรมนั้นๆ จนสามารถประหารกิเลส และบรรลุอริยผลโดยลำดับตามสมควรแก่บุคคล

รูปชีวิตินทรีย์ ในมหาเวทัลลสูตร แสดงไว้ว่า ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ 5 ประการ มีดังนี้ 1. จักขุนทรีย์ 2. โสตินทรีย์ 3. ฆานินทรีย์ 4. ชิวหินทรีย์ 5 กายินทรีย์ อินทรีย์ 5 ประการนี้ อาศัยอายุดำรงอยู่ อายุอาศัยอะไรดำรงอยู่ อายุอาศัยไออุ่นดำรงอยู่ ไออุ่นอาศัยอะไรดำรงอยู่ ไออุ่นอาศัยอายุดำรงอยู่ ผมรู้ทั่วถึงภาษิตของท่านพระสารีบุตรในบัดนี้เองอย่างนี้ว่า อายุอาศัยไออุ่น ดำรงอยู่ และไออุ่นอาศัยอายุดำรงอยู่ แต่ผมจะพึงเข้าใจความแห่งภาษิตนี้ได้อย่างไร ถ้าเช่นนั้น ผมจักอุปมาให้ท่านฟัง เพราะวิญญูชนบางพวกในโลกนี้ย่อมทราบความแห่งภาษิตได้ด้วยอุปมา เมื่อประทีปน้ำมันกำลังติดไฟอยู่ แสงสว่างอาศัยเปลวไฟจึงปรากฏเปลวไฟก็อาศัยแสงสว่างจึงปรากฏอยู่แม้ฉันใด อายุอาศัยไออุ่นดำรงอยู่ ไออุ่นก็อาศัยอายุดำรงอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน(46)

พระอภิธรรมปิฏก ธัมมสังคณี กล่าวว่า ชีวิตินทรีย์ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นไฉนอายุ ความดำรงอยู่ ความเป็นไป กิริยาที่ให้เป็นไป อาการที่สืบเนื่องกัน ความดำเนินไปความหล่อเลี้ยง ชีวิต ชีวิตินทรีย์ แห่งสภาวธรรมที่ไม่เป็นรูปเหล่านั้น ในสมัยนั้น นี้ชื่อว่าชีวิตินทรีย์ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น(47)

ในมหาเวทัลลสูตรอรรถกถา แสดงไว้ว่า อายุอาศัยไออุ่นดำรงอยู่ ... ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เตโชธาตุที่เกิดจากกรรมเหมือนเปลวไฟชีวิตินทรีย์เหมือนแสงสว่าง แท้จริง เปลวไฟเมื่อเกิดขึ้นก็พาเอาแสงสว่างเกิดขึ้นมาด้วยเปลวไฟนั้นย่อมปรากฏเป็นเล็ก ใหญ่ ยาว สั้นด้วยตัวเอง เพราะแสงสว่างที่ตนให้เกิดขึ้นนั่นเอง การตามหล่อเลี้ยงไออุ่นด้วยชีวิตินทรีย์ที่มีมหาภูตรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นแดนเกิดที่อาศัยไออุ่นเกิดขึ้นเหมือนภาวะที่แสงสว่างปรากฏ เพราะความเป็นไปแห่งเปลวไฟ เพราะแสงสว่างที่ความเป็นไปแห่งเปลวไฟให้เกิดขึ้นในที่นั้น แท้จริง ชีวิตินทรีย์ย่อมรักษาไออุ่นอันเป็นไปเพราะเตโชธาตุที่เกิดจากกรรม 10 ปีบ้าง 20 ปีบ้าง ฯลฯ 100 ปีบ้าง ดังนั้น มหาภูตรูปทั้งหลายย่อมเป็นปัจจัยของอุปาทายรูปทั้งหลายด้วยอำนาจเป็นนิสสยปัจจัย เป็นต้น เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า อายุอาศัยไออุ่นดำรงอยู่ ชีวิตินทรีย์ย่อมรักษามหาภูตรูปทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ไออุ่นอาศัยอายุดำรงอยู่(48)

ในหนังสือธรรมมานุกรม กล่าวไว้ว่า ชีวิตินทรียรูป รูปที่เป็นใหญ่ในความเป็นเรียกสั้นว่า ชีวิตินทรีย์, รูปที่เป็นใหญ่ในการเป็นอยู่ ชีวิตินทรีย์ หรือชีวิตที่ปรากฏเป็นอยู่ในบุคคลทุกๆ คนนี้ก็อาศัยมหาภูตรูป ถ้าไม่มีมหาภูตรูป คือ ร่างกาย ชีวิตก็ไม่ปรากฏ เหมือนดังไฟที่ไม่มีเชื้อก็ไม่ปรากฏ(49)

จากฐานข้อมูลที่ปรากฏสามารถนำมาสรุปเพื่ออธิบายศัพท์ได้ว่า รูปชีวิตินทรีย์ คือ ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการดำรงรักษาสภาวะความมีชีวิตของรูปวัตถุหรือสภาวธรรมที่รักษาการคงอยู่ของมหาภูตรูป 4 ให้ประชุมรวมกันและทำงานเกี่ยวเนื่องกัน ไม่แตกทำลาย จึงเป็นข้อแตกต่างจากสิ่งไม่มีชีวิต ที่มหาภูตรูป 4 จะมีการดำรงอยู่อย่างเอกเทศ แต่สิ่งมีชีวิตมหาภูตรูป 4 จะประชุมรวมกันครบทั้ง 4 ลักษณะด้วยอำนาจของกรรม ซึ่งรูปชีวิตินทรีย์และมหาภูตรูป 4 เป็นสภาวธรรมที่อิงอาศัยกันและกันในการดำรงอยู่

นิโรธสมาปัตติญาณ ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายปฏิสัมภิทามรรค ดังนี้

ในปฏิสัมภิทามรรค กล่าวว่า ปัญญาที่มีความชำนาญในการระงับสังขาร 3 ด้วยญาณจริยา 16 และด้วยสมาธิจริยา 9 เพราะป็นผู้ประกอบด้วยพละ 2 อย่าง ชื่อว่า นิโรธสมาปัตติญาณ(50)

ในปฏิสัมภิทามรรค อรรถกถา แสดงไว้ว่า คำว่า นิโรธสมาปตฺติยา ญาณํ -ญาณในนิโรธสมาบัติ ความว่า ญาณอันเป็นนิมิตแห่งนิโรธสมาบัติ อุปมาเหมือนเสือเหลือง จะลูกฆ่าก็เพราะลายเสือ(51)

สรุปว่า นิโรธสมาปัตติญาณ คือ ปัญญาที่รู้ชัด ปัญญาที่เป็นผลรวมแบบบูรณาการของปัญญาทั้ง 2 ส่วนอย่างลงตัวของปัญญาในสมาธิสมาธิ และปัญญาในวิปัสสนาที่มีความชำนาญในการระงับสังขาร 3 คือ กายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขาร ดังนั้นนิโรธสมาปัติญาณจึงเป็นลักษณะของปัญญาที่เป็นเครื่องหมายแสดงถึงนิโรธสมาบัติที่สามารถดับนามขันธ์อันละเอียด คือ สัญญาและเวทนาให้สงบ ระงับ ดับลง ตราบเท่าที่เข้านิโรธสมาบัติ

สุญญตผัสสะ อนิมิตตผัสสะ อัปปณิหิตผัสสะ พระสารีบุตร อธิบาย ในพระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกายมหานิทเทส อัฎฐกวรรค ปุราเภทสุตตนิทเทส ดังนี้

ผัสสะ คำว่า ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย อธิบายว่า คำว่า ผัสสะ ได้แก่ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส อธิวจนสัมผัส ปฏิฆสัมผัส สุขเวทนียสัมผัส ทุกขเวทนียสัมผัส อทุกขมสุขเวทนียสัมผัส ผัสสะที่เป็นกุศล ผัสสะที่เป็นอกุศล ผัสสะที่เป็นอัพยากฤต ผัสสะที่เป็นกามาวจร ผัสสะที่เป็นรูปาวจร ผัสสะที่เป็นอรูปาวจร สุญญตผัสสะ อนิมิตตผัสสะ อัปปณิหิตผัสสะ ผัสสะที่เป็นโลกิยะ ผัสสะที่เป็นโลกุตตระ ผัสสะที่เป็นอดีต ผัสสะที่เป็นอนาคต ผัสสะที่เป็นปัจจุบัน ผัสสะ ความถูกต้อง กิริยาที่ ถูกต้อง ภาวะที่ถูกต้องเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ผัสสะ คำว่า ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย อธิบายว่า บุคคลเห็นจักขุสัมผัสว่า ว่างจากตนจากธรรมที่เนื่องในตน จากความเที่ยง จากความยั่งยืน จากความสืบต่อ หรือจากธรรมที่ไม่แปรผัน เห็นโสตสัมผัส ... ฆานสัมผัส ... ชิวหาสัมผัส ... กายสัมผัส ... มโนสัมผัส ... อธิวจนสัมผัส ... ปฏิฆสัมผัส ... สุขเวทนียผัสสะ ... ทุกขเวทนียผัสสะ ...อทุกขมสุขเวทนียผัสสะ ... ผัสสะที่เป็นกุศล ... ผัสสะที่เป็นอกุศล ... ผัสสะที่เป็นอัพยากฤต ... ผัสสะที่เป็นกามาวจร ... ผัสสะที่เป็นรูปาวจร ... ผัสสะที่เป็นอรูปาวจร ...ผัสสะที่เป็นโลกิยะ ... เห็นผัสสะที่เป็นโลกุตตระว่า ว่างจากตน จากธรรมที่เนื่องในตนจากความเที่ยง จากความยั่งยืน จากความสืบต่อหรือจากธรรมที่ไม่แปรผันอีกนัยหนึ่ง บุคคลเห็นผัสสะที่เป็นอดีตว่า ว่างจากผัสสะที่เป็นอนาคตและผัสสะที่เป็นปัจจุบัน เห็นผัสสะที่เป็นอนาคตว่า ว่างจากผัสสะที่เป็นอดีต และผัสสะที่เป็นปัจจุบันเห็นผัสสะที่เป็นปัจจุบันว่า ว่างจากผัสสะที่เป็นอดีต และผัสสะที่เป็นอนาคต อีกนัยหนึ่งบุคคลเห็นผัสสะที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ ปฏิสังยุต ด้วยสุญญตธรรมว่า ว่างจากราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปฬาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ มทะ ปมาทะ กิเลสทุกชนิด ทุจริตทุกทาง ความกระวนกระวายทุกอย่าง ความเร่าร้อนทุกสถาน ความเดือดร้อนทุกประการ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ด้วยประการอย่างนี้ รวมความว่า ผู้เห็นวิเวกในผัสสะทั้งหลาย(52)

สรุปได้ว่า สุญญตผัสสะ อนิมิตตผัสสะ อัปปณิหิตผัสสะ ผัสสะ หมายถึง ลักษณะ อาการที่เป็นธรรมชาติของจิตที่เกิดขึ้น เป็นไป ดำเนินไปมีการกระทบ แตะต้อง ถูก สัมผัส ซึ่งอาการกระทบ ถูกต้อง สัมผัสของจิตในขอบเขตที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องนิโรธสมาบัติพบว่า มี 3 สักษณะ ดังนี้ 1. กระทบสัมผัสกับความว่าง (สุญญตผัสสะ), 2. กระทบสัมผัสกับความไม่มีเครื่องหมาย (อนิมิตตผัสสะ), 3. กระทบสัมผัสกับความไม่มีที่ตั้ง (อัปปณิหิตตผัสสะ)

สุญญตผัสสะ อนิมิตตผัสสะ อัปปณิหิตผัสสะ ผัสสะทั้ง 3 ประการ เป็นสภาวะของจิตที่มีสภาวธรรมเป็นความว่าง ความไม่มีเครื่องหมาย ความไม่มีที่ตั้ง เป็นอาการของความไม่เกี่ยวข้องกับสภาพธรรมทั้งหลาย ซึ่งลักษณะของการกระทบสัมผัสทั้ง 3 ประการนี้ เป็นอารมณ์ของ นิพพาน เป็นธรรมชาติที่โน้มไปในนิพพานที่เป็นการกระทบ ถูกต้อง สัมผัส ของจิตผู้ออกจากนิโรธสมาบัติ

สรุปได้ว่า ระหว่างนิโรธสมาบัติกับนิพพาน และผลสมาบัติว่า เป็นการเข้าถึงเพื่อเสวยความสงบสงัดที่มีความคล้ายนิพพาน ซึ่งนิพพานเป็นสภาวะแห่งความว่างจิตของผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธดับลงด้วยอารมณ์แห่งนิพพาน นิพพานเป็นธรรมที่มีลักษณะของความว่าง ลักษณะของความไม่มีเครื่องหมาย ลักษณะของความไม่มีที่ตั้ง ด้วยลักษณะที่เป็นธรรมชาติดังกล่าวของนิพพานนี้ ขณะออกจากนิโรธสมาบัติจิตของผู้ออกจากนิโรธสมาบัติที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะของความว่าง ความไม่มีเครื่องหมาย ความไม่มีที่ตั้งดังกล่าว

--------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

(1) ดูรายละเอียดใน เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2543. หน้า 120 - 140., (2) ดูรายละเอียดใน อภิ.ก. (ไทย) 37 /--/ 11-19, บทนำ., (3) ที.สี. (ไทย) 9/414/180., (4) ม.มู. (ไทย) 12/457/495., (5) ม.มู. (ไทย) 12/464/504., (6) ม.อุ. (ไทย) 14/96/114., (7) สํ.สฬา. (ไทย) 18/348/381., (8) ขุ.ป. (ไทย) 31/141/83., (9) พระพุทธโฆสเถระ, วิสุทธิมรรค, แปลและเรียบเรียงโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร),พิมพ์ครั้งที่ 6, (กรุงเทพมหานคร : บริษัท ธนาเพรส จำกัด , 2548), หน้า 1190., (10) พระอุปติสสเถระ, วิมุตติมรรค, แปลโดย คณาจารย์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546. หน้า 284., (11) พระอาจารย์ ดร. ภัททันตะ อาสภะมหเถระ, วิปัสสนาทีปนีฎีกา, กรุงเทพมหานคร : ม.ป.ท. : ม.ป.ป.. หน้า 250., (12) พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับขยายความ, พิมพ์ครั้งที่ 11, กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546. หน้า 333., (13) เรื่องเดียวกัน, หน้า 868., (14) อ้างแล้ว, หน้า 368., (15) ขุ.สุ. (ไทย) 25/881/712., (16) ขุ.ม. (ไทย) 29/109/331., (17) คัมภีร์ปัญจปกรณ์อรรถกถาเป็นคัมภีร์อรรถกถาพระอภิธรรมปิฏก พระพุทธโฆสเถระแปลจากคัมภีร์ปัจจรีย์อรรถกถา เรียบเรียงแล้วรวบรวมจัดใว้เป็นคัมภีร์อรรถกถาพระอภิธรรมปิฏก ชื่อว่า คัมภีร์ปรมัตถทีปนีอธิบายเนื้อความในพระอภิธรรมปิฏก 5 คัมภีร์ คือ 1. คัมภีร์ธาตุกถา 2. คัมภีร์ปุคคลบัญญัติ 3. คัมภีร์กถาวัตถุ 4. คัมภีร์ยมก 5. คัมภีร์ปัฏฐาน, ดูรายละเอียดใน พระพุทธโฆสเถระ, วิสุทธิมรรค, หน้า [11], สมเด็จพระวันรัตวัดพระเชตุพน ในรัชกาลที่ 1, สังคติยวงศ์, พระปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษมณ) แปล, พิมพ์ครั้งที่ 2,กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร, 2521. หน้า 109, ผศ. พัฒน์ เพ็งผลา, ประวัติวรรณคดีบาลี PL 313, พิมพ์ครั้งที่ 4, ( กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2542), หน้า 134., (18) อภิ.ปญฺจ.อ. (บาลี) --/728-729/280., (19) อภิ.ปญฺจ.อ. (บาลี) --/735/282., (20) ดูรายละเอียดใน พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์,พิมพ์ครั้งที่ 11, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546. หน้า 269., (21) ดูรายละเอียดใน อภิ.ปญฺจ.อ. (บาลี) --/735/282., (22) ดูรายละเอียดใน เสถียร โพธินันทะ, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, หน้า 127-131., (23) ดูรายละเอียดใน ที.สี. (ไทย) 9/406/175., (24) ดูรายละเอียดใน ที.สี.อ. (บาลี) 1/414/308., (25) ดูรายละเอียดใน ที.สี.อ. (บาลี) 1/411/304 - 306., (26) ดูรายละเอียดใน ที.สี. (ไทย) 9/28-37/11-16., (27) สํ.นิ. (ไทย) 16/95/161., (28) ดูรายละเอียดใน สํ.นิ.อ. (ไทย) 2/95/197 - 198., (29) ดูรายละเอียดใน ที.สี. (ไทย) 9/68/28., (30) ดูรายละเอียดใน ที.สี.อ. (บาลี) 1/68 73/ 108 109., (31) ดูรายละเอียดใน ที.ม. (ไทย) 10/128/74 - 75., (32) ขุ.ม. (ไทย) 29/14/69., (33) ขุ.ป. (ไทย) 31/213/353., (34) พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับขยายความ, หน้า 289., (35) ดูรายละเอียดใน ขุ.ป. (ไทย) 31/83/141 - 142., (36) พระพุทธโฆสเถระ, วิสุทธิมรรค, หน้า 1191., (37) ขุ.ป. (ไทย) 31/85/143, (38) พระพุทธโฆสเถระ, วิสุทธิมรรค, หน้า 1183., (39) ดูรายละเอียดใน ขุ.ป. (ไทย) 31/85/143 144., (40) ดูรายละเอียด พระพุทธโฆสเถระ, วิสุทธิมรรค, หน้า 1193 1194., (41) ดูรายละเอียดใน ขุ.ป. (ไทย) 31/85/143., (42) ขุ.ป. (ไทย) 31/83/142., (43) พระพุทธโฆสเถระ, วิสุทธิมรรค, หน้า 1193., (44) ขุ.ป. (ไทย) 31/84/143., (45) พระพุทธโฆสเถระ, วิสุทธิมรรค, หน้า 1193., (46) ม.มู. (ไทย) 12/456/494., (47) อภิ.สงฺ. (ไทย) 34/19/30., (48) ม.มู.อ. (ไทย) 2/457/343., (49) สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์, ธรรมานุกรม, [ ซีดี-รอม] สาระสังเขปจากพระไตรปิฎก ฉบับเรียนพระไตรปิฎก เวอร์ชั่น 2.1, (5 ธันวาคม 2550)., (50) ขุ.ป. (ไทย) 31/83/141., (51) ดูรายละเอียดใน ขุ.ป.อ. (บาลี) 1/34/45., (52) ขุ.ม. (ไทย) 29/86/260.

 

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎก ภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ 2500,กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535.

_______. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539

มหามกุฏราชวิทยาลัย พระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถา แปล ชุด 91 เล่ม กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2534.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. อรรถกถาภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาอฏฺฐกถา. กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, โรงพิมพ์วิญญาณ, 2533-2534.

_______. ฎีกาภาษาบาลี ฉบับมหาจุฬาฎีกา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.

พระธรรมปิฏก, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546.

_______. พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับขยายความ. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546.

พระพุทธโฆสเถระ. วิสุทธิมรรค. แปลและเรียบเรียงโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร). พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ธนาเพรส จำกัด, 2548.

พระอุปติสสเถระ. วิมุตติมรรค. แปลโดย คณาจารย์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546.

เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพมหานคร :มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2543.

ธรรมานุกรม. [ ซีดี-รอม] สาระสังเขปจาก พระไตรปิฎก ฉบับเรียนพระไตรปิฎก เวอร์ชั่น 2.1, 5 ธันวาคม 2550.

 

 

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML