ความจริงของชีวิต

 

ความจริงของชีวิต

กระแสทางวัฒนธรรมปัจจุบันนี้ หลายๆ ด้านของโลก มีการปฏิสัมพันธ์กันภายใต้กระแสลัทธิอุตสากรรมนิยม วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ส่วนเกษตรกรรมก็เกิดลัทธิเครื่องจักรนิยม หรือเทคโนโลยีนิยม ละทิ้งวิถีชีวิตนิยมแบบเก่าๆ หันมาพึ่งพาเครื่องจักรกลหรือเทคโนโลยีกันหมด ส่วนในเรื่องวิถีชีวิต เศรษฐกิจ การเมือง และการเรียนรู้ กลายเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในกระแสแห่งอารยธรรมตะวันตก ซึ่งได้แผ่ขยายไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ผลจากกระแสในการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ เพื่อปลดปล่อยจิตใจมนุษย์ให้เป็นอิสระจากอำนาจอิทธิพลของคริสต์ศาสนจักรในยุคกลาง เพื่อแสดงความความรู้ ความเข้าใจสภาวะความเป็นจริงของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดตามวันเวลา

การรู้จักใช้เหตุผล รู้จักคิด รู้จักต้องข้อสงสัยสังเกต แล้วแสวงหาความรู้ เพื่อให้ได้คำตอบในเรื่องที่สนใจที่เป็นคุณสมบัติที่มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์อื่น ส่งผลให้มนุษย์สนใจขบคิดใคร่ครวญในเรื่องต่างๆ อย่างรอบด้าน แต่ปัญหาพื้นฐานทางภววิทยา (Ontological problems) ที่สนใจ ได้แก่ เรื่องความเป็นจริง และจุดหมายปลายทางของโลก จักวาล และชีวิตมนุษย์ ที่มนุษย์สนใจในเรื่องเหล่านี้มีสาเหตุ คือ เพื่อให้เกิดความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นจริงของโลกและจักรวาล ที่ตนเองอาศัยอยู่อย่างถูกต้อง เพื่อเข้าใจถึงสถานภาพของผู้เข้าอาศัยโลกและจักรวาล คือ มนุษย์ เพื่อนำความรู้นั้นมาพัฒนาวิถีชีวิตของตนให้บรรลุจุดหมายสูงสุด เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับมนุษย์ และสังคม เพื่อสร้างสติปัญญา และความรู้ใหม่ๆ

แต่ความจริงแล้ว ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นต่อมนุษย์ สังคม และธรรมชาติที่กำลังเผชิญอยู่ โดยรากฐานแล้วล้วนแล้วแต่เป็นองค์ความรู้ของมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้น ความรู้จึงเปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะในที่สุดแล้วปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นปัญหาของปุถุชนคนธรรมดานั้นเอง

ในปัจจุบัน ความไม่รู้อริยสัจหรืออวิชชานั้น ซึ่งหมายถึงความไม่รู้นี้ถูกกล่าวถึงในชิ้นงานของนักคิด นักเขียน นักวิชาการ และนักวิจารณ์มากมายหลายท่าน แต่จะใช้ในความหมายที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้เงื่อนไข และบริบทที่แตกต่างกันไป จึงเป็นเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งไม่ตรงกับหลักการเดิม ดังที่อาจารย์พุทธทาสภิกขุ กล่าวไว้ว่า เรื่องอวิชานี้ชาวพุทธมักมองข้ามหรือไม่ให้ความสำคัญทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน คนส่วนใหญ่จะเข้าใจความหมายเพียงกว้างๆ ว่า อวิชชา คือ ความไม่รู้อย่างธรรมดาแค่นั้น

มนุษย์เราทุกรูปนามล้วนแล้วแต่แสวงหาความรู้ด้วยความเชื่อว่า ความรู้สามารถสร้างชีวิตให้ดีได้ ที่สำคัญและท้าทายที่สุดก็คือ เบื้องหลังความรู้ทั้งหลายก็คือ การเถลิงอำนาจความมั่นหมายในความรู้ (Will to Knowledge) ก็คือ ความมั่นหมายในอำนาจ (Will to Power) แนวความคิดนี้เป็นข้อเสนอนิทเช่ต์เมื่อศตวรรษที่แล้ว แนวคิดดังกล่าวนั้น ส่งผลให้มนุษย์จำนวนไม่น้อย แสวงหา บูชาความรู้โดยมีค่านิยม และกระแสความเชื่อทางสังคมเป็นพลังผลักดันอยู่เบื้องหลัง ลักษณะของความรู้ที่เสริมสร้างอัตตานี้ ส่งผลกระทบในด้านลบมากกว่าด้านบวกต่อการพัฒนาชีวิตในระยะเวลาอันยาวนาน เพราะไม่เอื้ออำนวย และเกื้อกูลต่อการดำเนินชีวิต และไม่ถือว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้องไม่สอดคล้องธรรมชาติ

ปรัชญาอินเดียเป็นปรัชญาชีวิต ถูกนำไปใช้ปฏิบัติในการดำเนินชีวิต แต่ดินแดนแห่งนี้เป็นศูนย์รวมของการศึกษาหรือแนวคิดมากมาย ทั้งยังเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่มีเจ้าลัทธิเกิดขึ้นมากมายหลายสำนัก และเมื่อลัทธิที่เกิดขึ้นทุกลัทธิก็พยายามคิดค้นปรัชญาวางหลักการและแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับมากที่สุด มีคุณค่าสูงสุดแก่ชีวิตที่สามารถนำไปใช้เพื่อการพ้นทุกข์ แนวคิดนี้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ชาวอินเดียเชื่อว่า ในชีวิตคนๆ หนึ่ง มีสิ่งที่เรียกว่า อาตมันเป็นสิ่งเที่ยงแท้ เป็นวิญญาณของเรา สักวันหนึ่งมันจะรวมกันกับอัตตาใหญ่ที่เรียกว่า ปรมาตมันหรือพรหมัน หรือเทพเจ้าผู้ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งขึ้นบนโลก พระเวทเท่านั้นที่จะให้ความรู้เรื่องพรหมัน และความรู้ที่แท้จริงได้ พระเวทแบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ ๑) ความรู้ระดับอปรวิทยา เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และเรื่องราวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหล่านี้ คือ ความรู้จอมปลอม เป็นอวิทยาตามแนวคดิของอุปนิษัท, ๒) ความรู้ระดับปรวิทยา คือ ความรู้ระดับสูง เป็นความรู้เกี่ยวกับสภาพนิรันดร เรียกว่า วิทยาหรือวิชชา

จะเห็นได้ว่า ความรู้ทั้งสองระดับ คือ อวิทยากับวิทยา มีความแตกต่างกันมาก ความรู้และความไม่รู้ทั้งสองระดับถูกซ่อนอยู่ในพรหมัน

คัมภีร์อุปนิษัทกล่าวว่า ทฤษฎีมายา ในบางลักษณะก็ใช้ในความหมายเดียวกับคำว่า อวิทยา เช่น มายา หมายถึง ความลวงตาทั้งหลายในจักรวาล เป็นอำนาจของพระเจ้า มายา หมายถึง พระผู้เป็นเจ้าเป็นมายิน คือ พระผู้เป็นเจ้าผู้มีมายา มีทิพย์อำนาจในการสร้างสวรรค์ ตามพระประสงค์ของพระองค์

สรุปว่า มายา หมายถึง สิ่งลวงตาอาจเป็นก็ได้หรือไม่จริงก็ได้ตามความเชื่อของแต่ละกลุ่มความเชื่อ ซึ่งมี ๒ กลุ่ม คือ มายากับอวิทยา เป็นสิ่งเดียวกัน และมายากับอวิทยาหรืออวิชชาไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

ความไม่รู้จริงในความแท้จริงของสิ่งนั้นๆ เป็นเหตุให้เกิดพันธะ พันธะ คือ การที่วิญญาณติดโลกขึ้นอยู่กับโมหะ คือ ความหลง หรือความงมงาย เพราะฉะนั้นวิญญาณจึงต้องสร้างกรรมต่างๆ ความดี และชั่วของวิญญาณของแต่ละบุคคลจะสร้างพลังทางศีลธรรมขึ้นมา แต่มนุษย์ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเนื้อ เมื่อมีพันธะกับโลกนั้นย่อม หมายถึง ต้องเกี่ยวข้องอยู่ในโลก ซึ่งเรียกว่า ต้องอยู่ในการเวียนว่ายตายเกิดจนกว่าจะชดใช้กรรมเหล่านั้นหมด และสร้างกรรมดีให้สม่ำเสมอ เพื่อสร้างแรงกรรมให้ไปเกิดในภพที่ปรารถนา

หลักการในการปฏิบัติที่มุ่งไปสู่ความหลุดพ้นที่เรียกว่า โมกษะ ขั้นตอนเรียกว่า อาศรม ๔ คือ ๑) พรหมจารี คือ ผู้อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน, ๒) คฤหัสถ์ คือ ผู้อยู่ในวัยครองเรือน, ๓) วานปรัสถ์ คือ ผู้อยู่ในวัยต้องออกไปอยู่ป่าเมื่อมีหลาน และ๔) สันยาสี คือ ผู้แสวงหาธรรมละโลกออกไปอยู่ป่า  เป้าหมายของระบบดำเนินชีวิตระบุไว้ในมานธรรมศาสตร์ คือ ธรรมะมุ่งทำหน้าที่หรือหลักธรรมประจำวัน วรรณะ อรรถะ กามะ และโมกษะ

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้หรืออวิชชาหรืออวิทยาในปรัชญาอินเดียนั้น คือ สภาวะที่ทำให้มนุษย์หลง ทำให้มนุษย์ไม่รู้แจ้งในอาตมันว่า เป็นสิ่งเดียวกับพรหมัน จนเป็นเหตุให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด

อวิชชาเป็นความไม่รู้ที่ทำให้เกิดความทุกข์ ความทุกข์ที่ว่า ต้องเป็นความทุกข์ในชีวิต เมื่อกล่าวถึงชีวิตต้องพิจารณาองค์ประกอบของชีวิตให้เข้าใจ หลักคำสอนทางพุทธศาสนาให้ทัศนะชีวิตว่า มีองค์ประกอบสำคัญ คือ รูปกับนาม เมื่อกล่าวถึงทุกข์ก็หมายถึง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากร่างการและใจ กระบวนธรรมที่เป็นความจริงย่อมเกี่ยวกับชีวิต จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอวิชชาด้วย

การไม่รู้ว่าชีวิตมีความจริงอยู่ ๔ ประการ ซึ่ง ได้แก่ ความจริง คือ ทุกข์, ความจริง คือ เหตุให้เกิดทุกข์, ความจริง คือ การดับทุกข์ได้ และความจริง คือ วิธีปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงความดับทุกข์ โดยสิ้นเชิงนั้นว่า มีอยู่จริง ดังนั้น การไม่รู้จักความดี ๓ อย่าง คือ มีความประพฤติชอบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ การรู้ความชั่ว ๓ ประการ คือ กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต และการรู้ไม่แจ้ง หมายถึงว่า แม้จะรู้สิ่งที่ควรรู้ว่า เป็นสิ่งที่ควรทำ และรู้สิ่งที่ไม่ควรรู้ว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำก็จริง แต่เป็นความรู้ที่รู้กันแบบจำได้หมายรู้ตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียนจากตำราวิชาการ และจากการถ่ายทอดของครูอาจารย์มา

จะเห็นว่า ความหมายทั้ง ๔ คือ ไม่รู้ความจริง ไม่รู้สิ่งที่ควรรู้ รู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ และการไม่รู้แจ้ง ทั้งนี้เพราะความหมายหลักของกระบวนธรรมเหล่านี้ เช่น ไม่รู้ความจริงว่า ชีวิต คือ ขันธ์ ๕ อายาตนะ ๑๒ อินทรีย์ ๒๒ สัจจะ ๔ เป็นต้น ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องความจริงของชีวิต

อวิชชาเป็นกิเลสที่สำคัญ และมักจะถูกกล่าวถึงในเชิงลบ แต่ในฐานะที่เป็นเหมือนเครื่องหุ้มห่อโลกทั้งโลกไว้ เป็นเครือข่ายเหมือนอินเตอร์เน็ตที่ค่อยชักใยอยู่เบื้องหลังให้มนุษย์ลุ่มหลงเหมือนเฟรสบุ๊คให้ไปตามกระแสสังคมตามความต้องการ ซึ่ง พระราชวรมุนี (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้แนวคิดไว้ว่า “... ลักษณะของอวิชชา คือ ความไม่รู้ และที่ว่าไม่รู้นั้นไม่รู้อย่างไร ที่ว่า ไม่รู้ก็ตรงกันข้ามกับปัญญาที่ว่ารู้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีหรือไม่ใช้ปัญญาแล้วก็เป็นลักษณะอวิชชา คือ ไม่รู้ ...”

ธรรมชาติของอวิชชา คือ ความไม่รู้ที่คอยทำลายคุณภาพของความที่จะรู้หมดทุกอย่าง เหมือนตาที่ฝาฟางด้วยหมอกมายาอันปิดบังความเป็นจริงทั้งหมดในโลกนี้ ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย อวิชชาเป็นประธานแห่งการเข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย ความไม่ละอายบาป ความไม่กลัวบาป เป็นของมีมาตามอวิชชานั้น บุคคลผู้มีอวิชชาไม่เห็นแจ้ง ย่อมมีความเห็นผิด ย่อมมีความดำริผิด ผู้มีความดำริผิดย่อมมีวาจาผิด ผู้มีวาจาผิดย่อมมีการงานผิด ผู้มีการงานผิดย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด ผู้มีการเลี้ยงชีพผิดย่อมมีความพยายามผิด ผู้มีความพยายามผิดย่อมมีความระลึกผิด ผู้มีความระลึกผิดย่อมมีความตั้งใจผิด ผู้มีความตั้งใจผิดย่อมมีความรู้ผิด ผู้มีความรู้ผิดย่อมมีความหลุดพ้นผิด”

อวิชชามีลักษณะเป็นหัวหน้ากระบวนการที่ก่อให้เกิดทุกข์ของจิตให้ผลเป็นกฎแห่งกรรม ซึ่งหมุนเวียนอยู่ในวัฏฏะ ๓ ประการ คือ ๑) เพราะมีกิเลสที่จิต คือ อวิชชา ตัณหา และอุปาทาน, ๒) กรรมการทำทางจิต คือ สังขาร และกรรมภพ และ ๓) วิบากผลที่จิตได้รับ คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา อุปัตติภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ฯลฯ ได้แก่ ผลิตผลที่เกิดจากกรรมนั้นเอง

สรุปได้ว่า ความไม่รู้ ความอยาก ความยึดมั่น เป็นเหตุให้เกิดการกระทำกรรม กระทำทางจิต รวมทั้งพฤติกรรมทางกายด้วย เมื่อรับผลกรรมแล้วก็ย่อมจะหล่อเลี้ยงกิเลสตามวงเวียนการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบสิ้นตลอดกาล ซึ่งสามารถสรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้

๑) อวิชชามีลักษณะเป็นความไม่รู้ ไม่ได้ใช้ปัญญา

๒) อวิชชามีลักษณะห่อหุ้มโลก ปิดบังความจริงของสิ่งทั้งปวง

๓) อวิชชามีลักษณะเป็นความมืดหลอกลวงสัตว์โลกให้หลง

๔) อวิชชามีลักษณะเป็นเครื่องห่อหุ้มดวงจิตที่หนาและแข็ง

๕) อวิชชามีลักษณะเกิดได้เฉพาะแก่จิตที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมให้มีสติ

๖) อวิชชามีลักษณะเกิดดับไปตามอำนาจของเหตุปัจจัย

๗) อวิชชามีลักษณะเป็นสังขารธรรมที่มีการเกิดดับเหมือนสังขารธรรมทั้งหลาย

นักปราชญ์ได้ จัดประเภทของอวิชชาไว้ ๖ ประเภท คือ ๑) ความไม่รู้โดยทั่วๆ ไป, ๒) ความไม่รู้เพราะไม่ปฏิบัติ, ความไม่รู้เพราะปฏิบัติผิด, ๓) ความไม่รู้ในอาการที่ประกอบด้วยเวทนาทั้ง ๓ คือ รู้สึกสบายใจ, รู้สึกไม่สบายใจ และรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เฉย ๆ, ๔) ความไม่รู้ในอริยสัจทั้ง ๔ คือ ความไม่รู้ทุกข์, ความไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์, ความไม่รู้ความดับทุกข์, ความไม่รู้หนทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์, ๕) ความไม่รู้ในคติทั้ง ๕ คือ มนุสคติ ทางไปสู่มนุษย์, เทวคติ ทางไปสู่เทวดา, นิรยคติ ทางไปสู่นรก, เปตติคติ ทางไปสู่แดนเปรต และติรัจฉานคติ ทางไปสู่ดิรัจฉาน และ๖) ความไม่รู้ทวารทั้ง ๖ และอารมณ์ทั้ง ๖ จักขุทวาร เป็นแดนรับรู้ รูป, โสตทวาร เป็นแดนรับรู้ เสียง, ฆานทวาร เป็นแดนรับรู้ กลิ่น, ชิวหาทวาร เป็นแดนรับรู้ รส, กายทวาร เป็นแดนรับรู้ สัมผัส และมโนทวาร เป็นแดนรับรู้ ธรรมารมณ์

จะเห็นได้ว่า ประเภทของอวิชชานั้นได้แบ่งออกไปตามคติต่างๆ ตามกรรมที่ต้องไปสู่ภพตามคติที่กล่าวมาแล้ว ทั้ง ๖ คือ ความไม่รู้โดยทั่วๆ ไป, ความไม่รู้เพราะไม่ปฏิบัติ ความไม่รู้เพราะปฏิบัติผิด, ความไม่รู้ในอาการที่ประกอบด้วยเวทนา ๓, ความไม่รู้ในอริยสัจ ๔, ความไม่รู้ในคติทั้ง ๕ และความไม่รู้ทวารทั้ง ๖ อารมณ์ทั้ง ๖

เหตุเกิดของอวิชชา คือ อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดสังขาร สังขารเป็นเหตุให้เกิดอวิชชา,... อาหารของอวิชชา คือ นิวรณ์ ๕ ... นิวรณ์ ๕ คือ ธรรมเครื่องกั้นไม่ให้บรรลุความดี...และอวิชชาเกิด เพราะอาสวะเกิด อวิชชาดับ เพราะอาสวะดับ

จากแนวคิดที่กล่าวมานั้น สรุปได้ว่า อวิชชาหรือความไม่รู้นั้น หมายถึง โมหเจตสิก ซึ่งเป็นธรรมชาติ เป็นความจริง และเป็นธรรมดา ที่เนื่องอยู่กับจิต เกิดดับพร้อมกับจิต ปรุงแต่งจิตให้เป็นไปทางอกุศล ก่อให้เกิดความหลงผิด ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ดังนั้น ธรรมเหล่านี้ ก็คือ ความจริงของชีวิตนั้นเอง


เอกสารอ้างอิง

ม.มู. ๑๒/๑๒๘/๗๑.

องฺ.ทสก. ๒๔/๑๐๕/๑๘๓.

 -----------. ๒๔/๖๑/๑๐๓.

อภิ.วิ. ๓๕/๒๘๖/๑๔๑.

ธนู  แก้วโอภาส, ปรัชญาศาสนาตะวันออกตะวันตก. กรุงเทพมหานคร: ธรรมสารการพิมพ์, ๒๕๒๙.

พุทธทาสภิกขุ, อิทัปปัจจยตาฉบับย่นความ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๓๐.

พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาศ  ญาณวโร ป.ธ. ๙), โลกนาถทีปนี. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ดอก

หญ้า, ๒๕๓๗.

พระราชวรมุนี (ป.อ. ปยุตฺโต), ปรัชญาการศึกษาไทย. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลง

กรณราชวิทยาลัย, ๒๕๒๐.

วีระ  สมบูรณ์, พรมแดนแห่งความไม่รู้. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๒.

ศรัณย์  วงศ์คำจันทร์, ปรัชญาเบื้องต้น. โรงพิมพ์อมรการพิมพ์, ๒๕๓๐.

ศรีสุรางค์  พูลทรัพย์, ประวัติศาสตร์ภูมิปรัชญาอินเดีย. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,

๒๕๔๕.

สถิต  วงศ์สวรรค์, ปรัชญาตะวันออก. กรุงเทพมหานคร: บริษัทรวมสาส์น จำกัด, ๒๕๔๑.

 

 

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML