จิตสำนึกทางสังคมในพุทธศาสนา

 


จิตสำนึกทางสังคมในพุทธศาสนา

พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับจิต เพราะความเป็นอารยะของมนุษย์ทั้งในส่วนของปัจเจกชนและสังคมวัดกันที่ความก้าวหน้าของจิต พุทธศาสนาได้วิเคราะห์ธรรมชาติของจิต และวางหลักการพัฒนาจิตไว้อย่างเป็นระบบ ควรที่จะทำความเข้าใจจิต ทำความเข้าใจในจิตสำนึกทางสังคมของพุทธศาสนา ในเมื่อมนุษย์ คือ ผู้ทำมาหากรรม ซึ่งก็หมายความว่า มนุษย์จะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากกิจกรรมไม่ได้ คำว่า กรรมในพุทธศาสนา คือ กิจกรรมการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั้งในเรื่องส่วนตน และชีวิตทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตระดับใดล้วนอาศัยเจตนา ซึ่งจะสะท้อนจิตสำนึกของมนุษย์ที่มีต่อโลก

อย่างไรก็ดี การอธิบายเรื่องกรรมที่คุ้นเคยกันมักจะเริ่มต้นที่ปัจเจกชน มากกว่าระดับสังคมเพราะสังคมเป็นผลรวมของปัจเจกชน หากเข้าใจหลักกรรมผ่านชีวิตปัจเจกชน ก็ย่อมจะเข้าใจหลักกรรมระดับสังคม ด้วยไปในตัว อย่างที่พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) กล่าวว่า กรรมนี้ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องภายนอก ไม่ใช่การกระทำที่แสดงออกมาทางกาย ทางวาจาเท่านั้น ต้องมองเข้าไปถึงกระบวนการทำงานในจิตใจ ผลที่เกิดขึ้นในจิตแต่ละขณะๆ ทีเดียว ความหมายที่แท้จริงของกรรมมุ่งเอาที่นั่น คือ ความเป็นไปในจิตของแต่ละคนแต่ละขณะกรรมที่จะแสดงออกมาทางกาย ทางวาจาอะไรๆ ก็ต้องเริ่มขึ้นในใจก่อนทั้งนั้น ฉะนั้นหลักกรรม จะเป็นหลักในการศึกษาจิตหรือจิตสำนึกของมนุษย์ในการกระทำต่อโลกได้เป็นอย่างดี

หลักพุทธศาสนา มนุษย์นั้นประกอบด้วย ๒ ส่วน อันได้แก่ กายกับจิตหรือรูปกับนาม ซึ่งต่างก็มีความสำคัญอิงอาศัยซึ่งกันและกัน โดยจิตหรือวิญญาณ (Consciousness) นั้น คือ การรับรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายใน และ อายตนะภายนอก มากระทบกัน พุทธศาสนาถือว่า พฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกมาทางกาย และวาจานั้นมี จิตหรือวิญญาณเป็นตัวสั่งการ ตามหลัก ปฏิจจสมุปบาทวิญญาณในที่นี้มาจาก สังขาร และสังขารมาจากอวิชชา ซึ่งจิตหรือวิญญาณ เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นและเป็นไปตามอำนาจของเหตุปัจจัย ดังนั้น โลกของแต่ละคนจึงเป็นไปตามอำนาจของจิตของแต่ละคนที่มีการรับรู้อารมณ์ในขณะนั้นๆ

ธรรมบท ขุททกนิกาย ได้อธิบายว่า เหล่าชนรู้จักสำรวมจิตที่ไม่มีรูปร่าง มีซอกหทัยเป็นที่อยู่อาศัย ดวงเดียวเที่ยวไปไกลก็จะพ้นจากบ่วงมารได้ หมายความว่า จิต คือ ธรรมชาติไปที่ไกล ไปด้วยการคิด เที่ยวไปดวงเดียว คือ การที่จิตคิดได้ทีละอย่างแต่มีการเกิดขึ้นต่อเนื่องกันเร็วมากจนเราเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ แสดงว่าจิตไม่ได้เป็นตัวการอิสระที่อยู่ภายนอกร่างกาย และคอยบังคับบัญชาร่างกาย แต่เป็นธรรมชาติ ที่เนื่องด้วยร่างกาย คือ อาศัยร่างกายจึงมีจิต ซึ่งตรงกับวิญญาณในขันธ์ ๕

พุทธศาสนาสอนว่า ชีวิตประกอบขึ้นจากส่วนสำคัญ ๕ ส่วน อันเรียกว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ หรือว่าโดยย่อ มีสองส่วนคือ รูปธรรม และนามธรรมหรือรูปขันธ์ และนามขันธ์ ขันธ์ ๕ นี้ เป็นกฎแห่งปฎิจจสมุปบาท คือ มีอยู่ในรูปกระแสแห่งปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยสืบต่อกัน ไม่มีส่วนใดในกระแสที่อยู่ได้มีแต่การเกิดขึ้นแล้วสลายไป พร้อมกับที่เป็นปัจจัยให้มีการเกิดขึ้นแล้วสลายตัวต่อๆ ไปดังพุทธพจน์ที่ว่า เมื่อปัจจัยนี้มีอยู่ ผลนี้ย่อมมี เพราะการบังเกิดขึ้นแห่งปัจจัยนี้ ผลนี้จึงบังเกิดขึ้น เมื่อปัจจัยนี้ไม่มีอยู่ ผลนี้ย่อมไม่มี เพราะการดับแห่งปัจจัยนี้ ผลนี้จึงดับ คำสอนของพุทธศาสนา ที่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงระหว่าง กายกับจิตนั้นมีมาก เช่น เมื่อเราตรึกตรองอยู่นานเกินไป ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อยจิตก็ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ และถ้าบุคคลมีใจชั่วแล้ว จะพูดหรือทำก็ตาม ทุกข์ย่อมตามเขาไป...ถ้าบุคคลมีใจดีแล้ว จะพูดหรือทำก็ตาม สุขย่อมตามเขาไป

จะเห็นได้ว่า ทั้งจิตและกายต่างก็มีความสำคัญด้วยกัน และอิงอาศัยกัน รวมกันเป็นชีวิต ถ้ามีร่างกายหรือจิตเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ เพราะจิตใจก็ต้องอาศัยร่างกาย และร่างกายก็เป็นไปตามความรู้สึกนึกคิดของจิตใจเช่นกัน แม้จะถือว่าทั้งร่างกาย และจิตต่างก็มีความสำคัญด้วยกัน

พุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่จิตมากกว่าร่างกาย พุทธภาษิตในขุททกนิกาย ธรรมบทว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจชั่วแล้วจะพูดหรือทำก็ตามทุกข์ย่อมตามเขาไปเพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น (คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต) เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคตัวกำลังลากเกวียนไป และธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจดีแล้ว จะพูดหรือทำก็ตามสุขย่อมตามเขาไปเพราะสุจริต ๓ อย่างนั้น (คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต) เหมือนเงาที่ไม่พรากจากตน

ความสำคัญของจิตมีมากในชีวิตประจำวันของเรา เช่น ร่างกายใดไม่ว่าจะเป็นร่างกายของคนหรือสัตว์ ถ้าปราศจากจิตหรือมีจิตแยกออกไปแล้ว ร่างกายนั้นก็ไม่ผิดอะไรกับก้อนหินหรือท่อนไม้ เป็นร่างกายที่ไร้ชีวิต และไม่อาจดำรงอยู่ในสภาพของสิ่งมีชีวิตได้ต่อไป ต้องเปื่อยเน่าผุพังไปในเวลาอันรวดเร็ว แต่ถ้ายังเป็นร่างกายที่ยังมีจิตประกอบอยู่ ร่างกายนั้นก็ปรากฏเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างตัวเราเวลานี้ ไม่เปื่อยเน่าผุพังไปในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อได้อาศัยเหตุปัจจัยเหมาะสมค้ำจุนสนับสนุนร่างกาย ซึ่งปรากฏเป็นสิ่งมีชีวิตนั้นก็อาจดำรงอยู่ได้โดยไม่เปื่อยเน่านับเวลาเป็นเดือนเป็นปีหรือเป็นสิบๆ ปี สภาพดังกล่าวมานี้เป็นสิ่งที่เราอาจพิจารณาเห็นได้จากปรากฏการณ์ และประสบการณ์ในชีวิตประจำวันตามปกติทั่วไป

อันการกระทำต่างๆ ของมนุษย์มโนกรรมเป็นจุดเริ่มต้น บุคคลก็ดี สังคมก็ดี จะเป็นอย่างไรก็เป็นไปตามมโนกรรมส่วนใหญ่ มโนกรรมเป็นตัวกำหนดวิถีชี้แนวทางให้ความคิด ความนิยม ความเชื่อถือ เป็นตัวกำกับการที่สำคัญ เช่น ชีวิตคนๆ หนึ่งมีความชอบอะไร ใฝ่ในอะไร ก็จะดำเนินไปตามวิถีทางที่ชอบที่ใฝ่นั้น สมมติว่า เด็กคนหนึ่งเกิดชอบบวชพระ ชอบผ้าเหลือง เห็นเณรแล้วก็อยากเป็นเณรบ้าง ความฝักใฝ่พอใจ อันนี้ก็มาหล่อหลอมทำให้เขาคิดที่จะบวช ต่อมาเขาก็อาจจะบวช แล้วก็อยู่ในศาสนาไป แต่อีกคนหนึ่งจิตชอบใฝ่ไปในทางที่อยากได้ของๆ คนอื่นโดยไม่ต้องทำอะไร ก็อาจจะไปลักขโมย วิถีชีวิตก็จะหันเหไปอีกแบบหนึ่ง นี้ก็คือเรื่องของมโนกรรม ที่มีผลบันดาลชีวิตทั้งชีวิตให้เป็นไป ความนิยม ความชอบ ความเชื่อถือต่างๆ นี้เป็นเครื่องกำหนดชีวิตของคน พุทธศาสนามองในขั้นลึกซึ้งอย่างนี้จึงถือว่ามโนกรรมสำคัญ

ความใฝ่ความชอบอะไรต่างๆ ที่อยู่ในจิตใจเป็นตัวนำ เป็นเครื่องกำหนดวิถีชีวิตของบุคคลและเป็นเครื่องชี้นำ ชะตากรรมของสังคม สังคมใดมีค่านิยมที่ดีงาม เอื้อต่อการพัฒนาสังคมนั้นก็มีทางที่จะพัฒนาไปได้ดี สังคมใดมีค่านิยมต่ำทราม ขัดถ่วงการพัฒนาสังคมนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเสื่อมโทรมพัฒนาได้ยาก เรื่องค่านิยมนี้ตัวอย่างเด่นชัดอย่างหนึ่งของมโนกรรม มโนกรรมเป็นสิ่งสำคัญมาก มีผลระยะยาว ลึกซึ้ง และกว้างไกล ครอบคลุมไปหมด พุทธศาสนาถือว่าค่านิยมนี้ เป็นสิ่งสำคัญมาก และมองที่จิตใจเป็นจุดเริ่มต้น เรื่องกรรมจะต้องเข้าใจถึงหลักการของพุทธศาสนาที่ถือว่า มโนกรรมสำคัญที่สุด

การรับรู้ที่เรียกว่า วิญญาณ การยึดถือในอารมณ์ ที่เรียกว่า เวทนา จากนั้นความคิดปรุงแต่งหรือการกระทำ ก็เกิดขึ้นตามความเข้าใจในอารมณ์หรือเวทนาที่ตนมี ผัสสะเป็นจุดที่จะรับรู้ของจิตอันเป็นข้อมูลจากโลกภายนอก เมื่อจิตรับรู้อารมณ์ภายนอกแล้ว เวทนา สัญญา จะเกิดขึ้นตามมา จิตไม่ได้เป็นผู้รับรู้แต่ฝ่ายเดียวหากยังคิดปรุงแต่ง สิ่งที่ตนรับรู้นั้นด้วยอำนาจกิเลสตัณหาอีกด้วย จากธรรมเหล่านี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า สิ่งแวดล้อมภายนอกมีผลต่อกระบวนการทำกรรมของมนุษย์เรา และสะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ที่มีต่อโลกภายนอก ดังคำเทศนาของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่ว่า จิตปรุงกิเลส คือ การที่จิตบังคับให้กาย วาจา ใจ กระทำสิ่งภายนอก ให้มี ให้เป็น ให้เลว ให้เกิดวิบาก แล้วยึดติดอยู่ว่า นั่นเป็นตัว นั่นเป็นตน ของเราของเขา และกิเลสปรุงจิต คือ การที่สิ่งภายนอกเข้ามาทำให้จิตเป็นไปตามอำนาจของมันแล้วยึดว่า มีตัวมีตนอยู่ สำคัญผิดจากความเป็นจริงอยู่ร่ำไป

การเรียนรู้การทำงานของสมอง และจิต สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองได้ เช่น ขณะที่ตั้งใจคิดเรื่องที่เป็นสุข สมองก็จะนึก และคิดปรุงแต่งเรื่องที่เป็นสุข จึงเกิดความรู้สึกเป็นสุขไปตามเนื้อหาที่กำลังคิด ขณะเดียวกันก็จะจำเรื่องที่คิด และรู้เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ หรือในขณะที่ใจคิดเรื่องน่ากลัว สมองก็จะนึกคิดปรุงแต่งเรื่องที่น่ากลัวขึ้น จึงเกิดความรู้สึกกลัวไปตามเนื้อหาที่กำลังคิด ขณะเดียวกันก็จดจำเรื่องที่คิด และรู้เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ ซึ่งการจดจำเรื่องต่างๆ เหล่านี้ไว้ในจิต ทำให้จิตเราสามารถคิดนึกถึงเรื่องเหล่านี้ได้เสมอเมื่อมีปัจจัยต่างๆ กระตุ้นให้เกิดขึ้น

ชีวิตประจำวันของคนทั่วไป เมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสอะไรก็ตามที่ตนไม่ชอบใจหรือไม่ถูกใจ หรือไม่พอใจเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้มันเกิดขึ้นรวดเร็วคล้ายอัตโนมัติ การคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยความไม่ชอบใจ หรือไม่ถูกใจ หรือไม่พอใจ ซ้ำแล้วซ้ำอีกจะทำให้จดจำความคิดดังกล่าวมากขึ้น ยิ่งสะสมมากก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นความขัดเคืองใจ หรือความโกรธขณะคิดที่ไม่ถูกใจมาก หรือไม่พอใจมาก จะเกิดการบีบคั้นทางจิตมากๆ จนถึงขั้นการระบายออกมาเป็นการเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่นเพื่อให้ได้มาหรือเป็นไปตามความคิดนั้นๆ คนที่มีการสะสมอกุศลมูล ความคิดที่ไม่ดีไว้ในจิตเป็นจำนวนมาก เช่น ความเห็นแก่ตัว ก้าวร้าว อบายมุข เสียดสี ป้ายสี ติดสินบน รับสินบน ปล้นจี้ รีดไถ กลั่นแกล้งโกงกิน ลักขโมย เหล่านี้ เป็นการสะสมไว้ในความจำของแต่ละคน เมื่อคุ้นชินกับอารมณ์ไม่ดีเหล่านี้จนกลายเป็นนิสัย ย่อมทำให้เกิดพฤติกรรมการคิดไม่ดี ทำไม่ดีได้โดยง่าย เช่น นักเล่นการพนัน โจรผู้ร้าย พ่อค้ายาเสพติด นักทุจริต ผู้มีอิทธิพล เป็นต้น จากที่กล่าวมานี้เมื่อมีการสะสมด้านใดมาก โอกาสที่จะเกิดการกระทำในด้านนั้นๆ ก็เป็นไปได้มากเช่นกัน จะเห็นได้ว่า ความจำมีอิทธิพลต่อการคิด และพฤติกรรมของคนเราด้วย

กรรมในพุทธศาสนา หมายเอาการกระทำทางกาย การกระทำทางวาจา และการกระทำทางใจ และในบรรดากรรมทั้ง ๓ ชนิด พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนตปัสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม

การให้ความสำคัญกับมโนกรรมในพุทธพจน์ ก็คือ การให้ความสำคัญกับจิตสำนึกในกระบวนทำกรรมของมนุษย์นั่นเอง เพราะคำว่า มโน และจิต อรรถกถาจารย์กล่าวว่า เป็นสิ่งเดียวกันดังที่ สุนทร ณ รังษี กล่าวว่า จิต ที่ได้ชื่อว่า มโน เพราะกำหนดรู้อารมณ์นั้น เพราะธรรมชาติของจิตเมื่อขึ้นสู่วิถีทางอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมน้อมไปรับรู้อารมณ์ที่เป็นวิสัยของอายตนะภายในแต่ละอย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่เรียกว่า อายตนะภายนอก

เหตุที่มโนกรรมสำคัญที่สุด ก็เพราะเป็นจุดเริ่มต้น คนคิดก่อนแล้วจึงพูดจึงกระทำ คือ การแสดงออกทางกายและวาจา ดังนั้น วจีกรรมและกายกรรม จึงขยายออกมาจากมโนกรรมนั่นเองและที่ว่ามีผลกว้างขวางรุนแรงที่สุด ก็เพราะว่ามโนกรรมรวมถึง ความเชื่อถือ ความเห็น ทฤษฎีแนวความคิดและค่านิยมต่างๆ ที่เรียกว่า ทิฏฐิ นี้เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทั่วไปของบุคคล ความเป็นไปในชีวิตของบุคคล และคติของสังคมทั้งหมด เมื่อเชื่อ เมื่อเห็น หรือนิยมอย่างไร ก็คิดการ พูดจาสั่งสอนชักชวนกัน และทำการต่างๆ ไปตามที่เชื่อที่เห็นที่นิยมอย่างนั้น ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ การดำริ พูดจา และทำการก็ดำเนินไปในทางผิดเป็นมิจฉาไปด้วย ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ การดำริ พูดจา และทำการต่างๆ ก็ดำเนินไปในทางถูกต้องเป็นสัมมาไปด้วย เช่น คน และสังคมที่เห็นว่า ความพรั่งพร้อมทางวัตถุมีค่าสูงสุดเป็นจุดหมายที่พึงใฝ่ประสงค์ ก็จะเพียรพยายามแสวงหาวัตถุให้พรั่งพร้อม และถือเอาความพรั่งพร้อมด้วยวัตถุนั้น เป็นมาตรฐานวัดความเจริญรุ่งเรืองเกียรติยศ และศักดิ์ศรี วิถีชีวิตของคน และแนวทางของสังคมนั้นก็จะเป็นไปในรูปแบบหนึ่ง ส่วนคน และสังคมที่ถือความสงบสุขทางจิตใจเป็นที่หมาย ก็จะมีวิถีชีวิต และความเป็นไปอีกแบบหนึ่ง

แนวคิด ทฤษฎีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น ก็คือ มโนกรรมนั่นเอง เมื่อเกิดมีการเห็นดีเห็นงามกับแนวคิดทฤษฎีใดๆ ก็ย่อมนำไปสู่การปฏิบัติโดยอาศัยเจตนาของปัจเจกชนหลายๆ คนที่มีความคิดเห็นตรงกัน การกระทำของสังคมจึงเกิดขึ้น รวมถึงวิบากกรรมของสังคมก็เกิดตามมา

จิตสำนึกทางสังคมของพุทธศาสนา เป็นผลรวมของปัจเจกชนทั้งหลาย ในวาเสฏฐสูตรว่า ดูก่อนวาเสฏฐะ ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยการรักษาโคเลี้ยงชีวิต ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นชาวนา ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดเลี้ยงชีวิตด้วยศิลปะอย่างมาก ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นศิลปิน ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นพ่อค้าไม่ใช่พราหมณ์ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดเลียงชีวิตด้วยการรับใช้ผู้อื่น ท่านจงรู้อย่างนี้ว่าผู้นั้นเป็นคนรับใช้ ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยการที่เขาไม่ให้เลี้ยงชีวิต ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นโจร ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่งในหมู่มนุษย์ผู้ใดอาศัยศาสตราวุธเลี้ยงชีวิต ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นทหาร ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยการงานของปุโรหิต ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นเจ้าหน้าที่การบูชา ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ผู้ใดปกครองบ้านและเมือง ท่านจงรู้อย่างนี้ว่าผู้นั้นเป็นพระราชา ไม่ใช่พราหมณ์

กรรมระดับสังคม คือ จิตสำนึกทางสังคมนั้นเอง อันเป็นผลมาจากการที่มนุษย์มีเจตจำนงร่วมกัน และรับผลของการกระทำร่วมกัน และเจตจำนงอันนี้ย่อมมาจากผลสะท้อนขึ้นในสิ่งภายนอก ที่เกิดขึ้น กระทบกับประสาทสัมผัสของมนุษย์ ได้แก่ สภาพการณ์ทางสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัย ส่วนเจตจำนงร่วมนั้น อาจอยู่ในรูปของกฎหมายวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ค่านิยมทางสังคม ทฤษฎีทางเศรษฐกิจ และนโยบายของรัฐ เป็นต้น

สรุปได้ว่า จิตสำนึกทางสังคมของพุทธศาสนา คือ เจตจำนงร่วมหรือหลักกรรมระดับสังคมทั้งในส่วนของการปฏิบัติการ และ ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติการนั้น อันจะส่งผลต่อชีวิตของคนในสังคม ตามเหตุปัจจัยนั้นๆ

------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

ขุ.ธ. ๒๕/๑-๒/๑๗

ม.มู. ๑๒/๒๐๙/๒๒๑

ม.ม. ๑๓/๔๕๗/๕๕๙

สัง.น. ๑๖/๒๑-๒๒/๓๕-๓๖

กรมศาสนา.  พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับสังคายนาในพระบรมราชูปถัมภ์. กรุงเทพมหานคร

: โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๓๐.

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). พุทธธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๑๑. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหาจุฬา

ลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖.

       . กรรม นรก สวรรค์ สำหรับคนรุ่นใหม่. กรุงเทพมหานคร: ธรรมสภา. ม.ป.ป.

สุนทร ณ รังษี. พุทธปรัชญาจากพระไตรปิฎก. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งมหาจุฬาลงกรณ์

มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓.

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML