ความสุขในจริยศาสตร์แบบสุขนิยม

 

 


ความสุขในจริยศาสตร์แบบสุขนิยม

ความสุขนั้น จัดอยู่ในปัญหาทางจริยศาสตร์ของปรัชญาตะวันตกแขนงหนึ่ง เรียกว่า จริยศาสตร์แบบสุขนิยม (Hedonism) ในภาษาอังกฤษ Hedonism มาจากภาษากรีก hedone หมายถึง ความยินดี (delight) ความสำราญ (enjoyment) และความเพลิดเพลิน (pleasure) ผู้ที่มีแนวคิดแบบสุขนิยมจะยึดเอาความสุขทางกายภาพเป็นเป้าหมายของชีวิตหรือการกระทำของมนุษย์ ควรมีเป้าหมายเพื่อความสุขหรืออาจกล่าวถึงความสุขทางด้านจิตใจ แต่ก็ในมิติที่ผิวเผินหากเปรียบเทียบกับคำสอนในพุทธศาสนา

วิวัฒนาการของปรัชญากรีกออกได้เป็น 3 ยุค ดังนี้ (พระราชวรมุนี, 2542: 326) ยุคเริ่มต้น มีนักปรัชญาคนสำคัญ คือ ธาเลส ปัญหาปรัชญาในสมัยนั้น เป็นปัญหาลักษณะธรรมชาตินิยม เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับโลก และธรรมชาติ ดังจะเห็นได้จากคำ ถามที่นักปรัชญาในยุคเริ่มต้นต่างพยายามหาคำ ตอบและคำ อธิบายถึงปฐมธาตุของโลก ส่วนในยุคที่สองเรียกว่า ยุครุ่งเรือง เปลี่ยนประเด็นปัญหาจากอภิปรัชญามาที่ญาณวิทยา และจริยศาสตร์ เนื่องจากนักปรัชญาต่างๆ ได้สร้างระบบปรัชญาที่สมบูรณ์ คือ มีความสนใจต่อปัญหาต่างๆ รอบตัวมากขึ้น และมีวิธีการอธิบายอย่างเป็นเหตุผล ดังจะเห็นได้จากการเกิดองค์ความรู้ที่เป็นระบบ เช่น ตรรกศาสตร์ ดาราศาสตร์ ญาณวิทยา ชีววิทยา สัตววิทยา จนกระทั่งมาถึงกรีกยุคเสื่อม ที่เรียกว่า ยุคเสื่อม นั้นเป็นเพราะความก้าวหน้าทางวิทยาการทำให้มนุษย์สามารถหาคำตอบต่อสิ่งที่ตนเคยสงสัยได้แล้ว อีกทั้งในสมัยที่อภิปรัชญา และญาณวิทยาได้มาถึงจุดตัน ดังนั้น แต่ละวิชาจึงแยกออกไปเป็นศาสตร์ของตนเอง คงเหลือเพียงจริยศาสตร์ และศาสนศาสตร์ที่รวมอยู่ในขอบข่ายการศึกษาของปรัชญาท่าทีของจริยศาสตร์แนวสุขนิยมนั้นมีให้เห็นตั้งแต่สมัยกรีกยุครุ่งเรือง เช่น ในสำนัก ไซเรเนอิก ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 สำนักปรัชญาของสานุศิษย์ของโสเครตีส ก็ได้ให้การสนับสนุนแนวคิดสุขนิยม โดยมีความเห็นว่า จุดมุ่งหมายอย่างเดียวของชีวิต คือ ความสุข และความสุขเป็นแรงจูงใจให้คนมีคุณธรรม เนื่องจากคนที่ประพฤติตนมีคุณธรรมก็เพราะมุ่งหมายความสุขเป็นเครื่องตอบแทน (วศิน, 2544:102) รวมทั้งนักปรัชญาชื่อ เดโมเครตุส ได้กล่าวถึง ความสุข อันเป็นอุดมคติของชีวิตว่า เป็นความสุขทางใจ ไม่ใช่ความสุขทางเนื้อหนัง เพราะความสุขประเภทหลังนั้นเกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยามมิหนำซํ้ายังมาพร้อมกับความทุกข์ ดังนั้นความสุขที่แท้จริง คือ การเดินสายกลาง มีความรู้จักประมาณในการแสวงหาความสุข โดยไม่พาตัวเองไปพัวพันกับหลายสิ่งหลายอย่าง และไม่ทำในสิ่งที่อยู่เหนือความสามารถของตนเอง (Magill, 1963: 42)

ยุครุ่งเรืองจริยศาสตร์แนวสุขนิยมปรากฎในแนวคิดของกลุ่มโซฟิสต์ พวกโซฟิสต์ มีความเห็นว่า สิ่งใดจะเป็นสิ่งที่ดี ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นก่อให้เกิดความพอใจแก่เรา สิ่งที่เรียกว่า ความดีในตัวเองนั้น ไม่มีจริง ความดีขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน ใครชอบอะไรสิ่งนั้นก็เป็นสิ่งดีสำหรับผู้นั้น ในขณะที่อริสโตเติล ได้เสนอทัศนะทางจริยศาสตร์ในลักษณะที่คัดค้านแนวคิดของโซฟิสต์ ดังที่ปรากฎในงานเขียนชื่อ จริยศาสตร์นิโคมาคุส (Nicomachean Ethics) โดยกล่าวว่า พฤติกรรมทุกอย่างของมนุษย์มีจุดหมายสูงสุดเดียว นั่น คือ ความดี มนุษย์แสวงหาความดี ก็เท่ากับมนุษย์แสวงหาความสุข (พระราชวรมุนี, 2542: 250)

ทรรศนะของ อริสโตเติล ความสำราญ ความมั่งคั่ง และเกียรติยศ ยังไม่ใช่ความสุข เนื่องจากสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจว่า เป็นความสุขดังข้างต้นนั้น ไม่มีความมั่นคงถาวร ยังต้องพึ่งพิงสิ่งอื่นเพื่อให้เกิดความสุข อริสโตเติลจึงกล่าวว่า คนที่มีความสุข คือ คนที่ดำเนินชีวิตด้วยคุณธรรมที่สมบูรณ์ (พระราชวรมุนี, 2542: 251)

อย่างไรก็ดีนักปรัชญาที่นับว่า เป็นต้นกำเนิดของแนวคิดสุขนิยมจริงๆ คือ สำนักอิปิคิวเรียน นำโดยอิปิคิวรัส ซึ่งได้นำเสนอมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้ความสุขมาเป็นตัวตัดสิน แนวคิดของอิปิคิวรัส ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์รวมถึงการตีความต่อเกณฑ์ทางจริยธรรมซึ่งมีลักษณะที่เรียกว่า สุขนิยมนั้นกันไปต่างๆ ทั้งนี้เนื่องมาจากแนวคิดที่โดดเด่นของนักคิดผู้นี้ คือ กล้าที่จะยอมรับสภาพความเป็นจริงของมนุษย์ ปุถุชนที่ยังมีความรักสุข เกลียดทุกข์ ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดทางจริยศาสตร์ของนักปรัชญาที่ผ่านมาอันมีลักษณะที่เป็นอุดมคติจริยศาสตร์แบบสุขนิยม ได้วิวัฒนาการเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยเฉพาะนักปรัชญาตะวันตกหลังยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ กล่าวได้ว่า เป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดแบบสุขนิยมปัจจุบัน เช่น ฮอบส์ เบ็นธัม และมิลล์ เป็นต้น โดยสรุปแล้ว นักปรัชญาสสารนิยม ธรรมชาตินิยม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ล้วนสนับสนุนจริยศาสตร์แบบสุขนิยมทั้งสิ้น

การกล่าวถึงจริยศาสตร์แนวสุขนิยมเราจะได้ยินชื่อเรียก สุขนิยม แบ่งออกเป็น 2 แบบ ซึ่งเป็นการเรียกชื่อตามวัตถุประสงค์ของความสุข ได้แก่ สุขนิยมทางจิตวิทยา และสุขนิยมทางจริยศาสตร์

แบบแรกสุขนิยมทางจิตวิทยา นักคิดกลุ่มนี้เห็นว่า การกระทำทุกอย่างของมนุษย์เกิดจากแรงจูงใจที่มนุษย์ต้องการได้รับความสุข การที่เราศึกษาเล่าเรียน ประกอบการงาน ได้ค่าตอบแทนมาก็เพื่อนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยให้ชีวิตเป็นสุข ไม่ต้องอดมื้อ กินมื้อ หรือเผชิญกับความขาดแคลน และโรคภัยไข้เจ็บ เหล่านี้เป็นการยืนยันว่า การแสวงหาสิ่งต่างๆ การตัดสินใจกระทำการต่างๆ ของมนุษย์ล้วนมาจากการที่มนุษย์ปรารถนาความสุขนั่น คือ เป็นการกล่าวจากข้อเท็จจริงของมนุษย์ที่เกี่ยวกับแรงจูงใจ รวมถึงธรรมชาติ ความต้องการของมนุษย์

แบบสองสุขนิยมทางจริยศาสตร์ ขณะที่นักคิดในกลุ่มสุขนิยมทางจริยศาสตร์นั้น มีวิธีการอธิบายถึงความสุข ในลักษณะที่เป็นอุดมคติของชีวิตว่า ความสุข เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่น่าพึงปรารถนา ตรงข้ามกับความทุกข์ อันเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง สุขนิยมทางจริยศาสตร์ จึงเป็นการให้ค่ากับความสุขว่า ความสุขมีคุณค่าควรแก่การแสวงหาของมนุษย์สุขนิยมแบบต่างๆ

กลุ่มนักจริยศาสตร์ที่ใช้ความสุขเป็นเกณฑ์การตัดสินความถูกต้องในการกระทำนั้นได้อธิบายแนวคิดทางสุขนิยมของตน โดยมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกัน บ้างมุ่งเอาแต่ความสุขของตนเองเป็นที่ตั้ง โดยให้เหตุผลว่าที่เราทำอะไรเพื่อผู้อื่น สุดท้ายก็เพราะเรารู้สึกมีความสุขที่จะทำเช่นนั้น เช่น กลุ่มอัตนิยม บ้างก็ใช้จำนวนของผู้ที่ได้รับความสุขมาเป็นเกณฑ์ ที่เรียกว่า กลุ่มประโยชน์นิยม ส่วนบางคนก็ให้ความสำคัญกับคุณภาพของความสุข เช่น เห็นว่าความสุขอันเกิดการใช้ปัญญานั้น สูงส่งกว่าความสุขแบบการสนองตัณหา และสุขนิยมในแบบที่เป็นผลจากวิวัฒนาการทางศีลธรรมของมนุษย์ ทั้งหมดนี้สามารถจัดอยู่ใน 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มสุขนิยมแบบอัตนิยม, กลุ่มสุขนิยมแบบประโยชน์นิยม และกลุ่มสุขนิยมแบบวิวัฒนาการ

กลุ่มสุขนิยมแบบอัตนิยม เป็นกลุ่มที่เห็นว่า การแสวงหาความสุขให้กับตัวเองนั้นสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดหรือการกระทำใดๆ ก็ตามที่เราคิดว่าเรากระทำ ไปเพื่อผู้อื่นเป็นสุข แท้ที่จริงแล้วต้องเป็นสิ่งที่เราก็กำลังได้รับความสุขด้วย สุขนิยมกลุ่มนี้นั้นมี ฮอบส์ และอิปิคิวรัส เป็นนักคิดคนสำคัญ

สุขนิยมของโธมัส  ฮอบส์ (1588-1679) ฮอบส์ ได้กล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่า มนุษย์นั้นมีความปรารถนาที่จะปกป้องตนเองให้อยู่รอด (self-preservation)หรือหลีกเลี่ยงจากสภาพที่เจ็บปวด มนุษย์จะทำ ทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองสามารถอยู่รอดได้หากแต่ความเชื่อของมนุษย์ที่ว่า แต่ละคนมีความเท่าเทียมกันที่จะแสวงหาความอยู่รอดเพื่อตนเอง ดังที่ ฮอบส์ ได้แสดงทัศนะไว้ในหนังสือ Leviathan จากความเสมอภาคในความสามารถของมนุษย์ทำให้มนุษย์เกิดความเสมอภาคของความหวังที่จะได้จุดหมายของตน ด้วยเหตุนี้ถ้ามนุษย์สองคนปรารถนาในสิ่งเดียวกัน โดยที่เขาทั้งสองไม่อาจจะแบ่งปันกันได้ ที่สุดแล้วเขาก็จะกลายเป็นศัตรูกัน เพื่อที่ตนเองจะได้รับความอยู่รอด และบางครั้งก็เพื่อความสุขเพียงอย่างเดียว (Hobbes, 1996: 87)

จากแนวคิดดังกล่าวทำ ให้เห็นว่า เมื่อมนุษย์ตกอยู่ในสภาวะคับขันหรือสภาวะที่ขัดสนมนุษย์จำ ต้องรักษาความต้องการของตนไว้เป็นอันดับแรก และจำเป็นต้องเป็นศัตรูกันกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อความสุขของตนเอง ด้านทัศนะต่อความสุขนั้น ฮอบส์ เห็นว่า ความปรารถนาที่จะมีชีวิตรอดก็คือ ความปรารถนาความสุข เนื่องจากสภาวะที่ชีวิตมีความสุขนั้น เป็นสภาวะที่เอื้อต่อการมีชีวิตรอดของตนแต่จากธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความเห็นแก่ตัว มนุษย์จึงอยากให้ผู้อื่นตํ่ากว่าตนเอง เพื่อที่ตนเองจะได้มีอำนาจเหนือกว่าผู้อื่น ซึ่งการมีอำนาจเหนือกว่าผู้อื่นนั้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงสิ่งที่ตนปรารถนา เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมมนุษย์ก็ไม่สามารถพบความสุขได้ ฮอบบ์ เห็นว่า อำนาจทางการเมืองซึ่งคนในสังคมยอมรับร่วมกันจะเป็นสิ่งที่ควบคุมมนุษย์ในสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขสิ่งที่ไม่ควรกระทำหรือเป็นข้อห้ามในสังคมนั้น เช่น การกล่าวเท็จ การทุจริต และอาชญากรรมต่างๆ ที่ถูกห้ามนั้นมิใช่เพราะสิ่งเหล่านี้มีความผิดในตัวเอง แต่ที่ผิดเป็นเพราะถ้าทุกคนในสังคมสามารถ กล่าวเท็จ ทำทุจริต และกระทำ อาชญากรรมต่างๆ ได้ ก็จะเป็นการขัดขวางความสุขของตนเอง และของผู้ที่อยู่ในสังคม หากแต่ในสัตว์อื่นๆ สัญชาตญาณนี้ปรากฏตัวออกมาอย่างโจ่งแจ้ง แต่ในมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ชั้นสูง มีความคิด สติปัญญาละเอียดอ่อน การปรากฏตัวของสัญชาตญาณเพื่อตนนี้จึงสลับซับซ้อนมองเห็นไม่ได้ง่ายๆ เหมือนในสัตว์ (วิทย์, 2526: 17) ประกอบกับการอธิบายพฤติกรรมมนุษย์โดยผ่านคำอธิบายจากทฤษฎีวิวัฒนาการ ก็จะยิ่งเป็นการสนับสนุนแนวของฮอบส์ ดูได้จากการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ตัวที่อ่อนแอก็จะสูญหายไปเหลือไว้แต่ผู้ที่ชนะ ทุกชีวิตทุกเผ่าพันธุ์ต่างก็ต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองจากภัยคุกคามทั้งจากสิ่งมีชีวิตด้วยกันหรือจากภัยธรรมชาติ ดังนั้น สำหรับ ฮอบส์ คุณธรรมทั้งหลาย ก็มาจากความเห็นแก่ตัว การทำประโยชน์เพื่อให้ผู้อื่นมีความสุข แท้จริงแล้วเป็นเพียงการลงทุน เพื่อความสุขของตนเองต่อไป

อาจกล่าวได้ว่า ฮอบส์ไม่ได้บอกว่าความสุขเกิดจากความเห็นแก่ตัว แต่เขายํ้าให้เห็นว่า กฎของรัฐจะสามารถครอบงำ ความเห็นแก่ตัวของคนไว้ได้ คือ ทำให้คนเห็นแก่ตัวได้ไม่ถนัดใจเพราะมีกฎของรัฐคอยกีดขวางอยู่ กฎของรัฐทำให้แต่ละคนดำเนินตามระเบียบของสังคมเท่าที่จะเป็นได้รวมความแล้ว ฮอบส์ ถือว่า ความสุขส่วนบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ มาตรฐานทางศีลธรรม (วศิน, 2544: 110)

สุขนิยมของอิปิคิวรัส (341-271 BC.) ทัศนะของอิปิคิวรัส จริยศาสตร์ไม่ใช่วิชาที่แสวงหากฎเกณฑ์ทางศีลธรรม แต่เป็นวิชาที่สร้างความสุขมากที่สุดให้กับชีวิต จึงทำให้แนวคิดจริยศาสตร์ของเขาจัดอยู่ในประเภทสุขนิยม จากคำกล่าวที่ว่า ความเพลิดเพลินใจเป็นจุดเริ่มต้น และจุดหมายของการดำรงชีวิตที่มีความสุข เนื่องจากความพึงพอใจเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกทุกทาง รวมถึงเพราะเราตระหนักว่า ความสำราญนี้เป็นความดีอันดับหนึ่งที่ติดตัวเรามา และเราจะเลือกทำหรือไม่ทำอะไรด้วยอาศัยความเพลิดเพลินใจมาเป็นเกณฑ์ (Hicks, 1970: 655) แต่ความสุขในทัศนะของอิปิคิวรัสนั้น มิได้มีลักษณะที่ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น เพราะถ้าเป็นความสุขที่แท้จริงนั้นจะมีสภาพที่ปราศจากความทุกข์ อิปิคิวรัส เน้นที่การมีความสุขทางกาย และใจควบคูกั่นไป อีกทั้งไม่ส่งเสริมให้มนุษย์แสวงหาความสุขอย่างสุดโต่ง แต่เน้นให้มนุษย์รู้จักการควบคุมความต้องการของตนเองโดยใช้หลักคุณธรรมมาควบคุมพฤติกรรมให้ไปสู่ความสุขที่ชอบธรรมอันเป็นความสุขในแบบอิปิคิวรัสสนับสนุนให้มนุษย์แสวงหา อิปิคิวรัส กล่าวว่า

ดังนั้น เมื่อเรากล่าวว่า ความสุขเป็นความดีสูงสุด เราไม่ได้หมายถึงความสุขของคนเสเพลหรือคนเจ้าสำราญ ผู้ทรามปัญญา และไม่ยอมรับทัศนะของเราหรือตีความทัศนะของเราผิดพลาดคลาดเคลื่อน แต่ ความสุขในทัศนะของเรา คือ การที่ร่างกายปราศจากความเจ็บปวด และจิตใจปราศจากความสับสน การดื่มสุรา และงานเลี้ยงที่ไม่เลิกรานั้น ไม่ทำให้ชีวิตมีความสุข การพินิจไตร่ตรองด้วยสติสัมปชัญญะโดยใช้เหตุผลตรวจสอบว่า อะไรควร อะไรไม่ควรต่างหากที่ทำให้ชีวิตมีความสุข (พระราชวรมุนี, 2542: 283)

เห็นได้ว่า สุขนิยมตามทัศนะของอิปิคิวรัส ไม่ใช่เป็นความสุขที่มุ่งแสวงหาความเพลิดเพลินทางกายอย่างขาดสติดังที่คนทั่วไปมีความเข้าใจต่อพวกสุขนิยมว่า เป็นพวกที่มุ่งแสวงหาแต่ความสนุกสนาน เพลิดเพลินทางวัตถุหรือทางร่างกาย เฉกเช่นพวกกามสุขนิยม (Sensual Hedonism) การที่อิปิคิวรัสถูกเรียกว่าเป็นพวกสุขนิยมนั้น มาจากที่เขาใช้ ความสุข มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินความดี กล่าวคือ การกระทำใดที่นำความสุขมาให้นั้น เรียกว่า เป็นการกระทำที่ดีหากแต่ อิปิคิวรัสยังบอกให้มนุษย์ควบคุมกิเลส ตัณหา และรู้จักแสวงหาความสุขอย่างรอบคอบอีกด้วย

สุขนิยมแบบประโยชน์นิยมของ เบ็นธัม เจเรอมี เบ็นธัม (1748-1832) เป็นนักประโยชน์นิยมเชิงปริมาณ เนื่องจากเขาไม่ยอมรับในความแตกต่างทางคุณภาพของความสุข เขาจัดให้สิ่งหนึ่งเรียกว่า ความสุข เนื่องจากสิ่งนั้นไม่เจือด้วยความทุกข์ หลักการทั่วไปของประโยชน์นิยม คือ ยอมรับการกระทำที่เพิ่มความสุข และปฏิเสธการกระทำทุกอย่างที่จะนำความทุกข์มาให้

เบ็นธัม เห็นว่า เรื่องของคุณภาพเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย ตราบใดที่การกระทำนั้นยังให้ความสุข และความพึงพอใจเท่าๆ กัน ดังที่ เบ็นธัม กล่าวไว้ว่า ความสุขอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเหมือนกันเมื่อมันเท่ากันในเชิงปริมาณ (Stumpf, 1983: 340)

ดังนั้น ความสุขแต่ชนิดจึงมีค่าเท่าเทียมกันตรงที่เป็นสิ่งที่ไม่เจือด้วยความทุกข์ หลักเกณฑ์ในการคำนวณความสุขหรือความทุกข์นั้น เบนธัม กล่าวว่า สำหรับบุคคลนั้นสามารถพิจารณาได้ด้วยตัวเอง ส่วนคุณค่าของความพึงพอใจ และความทุกข์นั้น พิจารณาได้ด้วยตัวการกระทำนั้น ซึ่งจะได้รับความสุขหรือความทุกข์มาก-น้อยขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ประการ ดังต่อไปนี้ (Bentham, 1973: 29-30) ความเข้มข้น (Intensity), ระยะเวลา (Duration), ความแน่นอนและไม่แน่นอน (Certainty or Uncertainty) และความใกล้ไกล (Propinquity or Remoteness)

ข้อ 1 ถึง 4 เป็นปัจจัยในการคำนวณ เพื่อจะประเมินความสุข ความทุกข์ในตัวมันเอง หากแต่ คุณค่าของความสุข ความทุกข์ เพื่อที่จะประเมินค่าว่า การกระทำหนึ่งจะก่อให้เกิดความสุข ความทุกข์อย่างไรต่อไป ยังต้องดูปัจจัยร่วมอีก 3 ประการ คือ ผลิตผลต่อเนื่อง (Fecundity) หรือ โอกาสที่ตามมาของสิ่งๆ เดียวกัน ทั้งความสุข และความทุกข์, ความบริสุทธิ์ (Purity) หรือโอกาสที่จะไม่เกิดขึ้นของสิ่งที่ตรงข้ามกัน เช่น ความสุขที่บริสุทธิ์ต้องไม่มีความทุกข์มาเจือปน และการแผ่ขยาย (Extent)หรือจำนวนคนที่จะได้รับผลเป็นความสุขหรือความทุกข์

หลักทั้ง 7 ประการนี้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณความสุขของ เบ็นธัม ซึ่งเบ็นธัม นำมาแก้ปัญหาการคำนวณปริมาณของความสุข คือ สามารถให้หลักการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ได้ ทำให้ลดความลังเลหรือความสับสนว่า ควรเลือกกระทำในสิ่งที่ให้ความสุขปริมาณมากกว่า เมื่อเทียบกับอีกการกระทำหนึ่งนอกจากนี้ เบ็นธัม ได้พยายามประนีประนอมระหว่างสุขนิยมทางจิตวิทยา และสุขนิยม ทางจริยศาสตร์ เห็นได้จากคำอธิบายถึงธรรมชาติของมนุษย์ไว้ว่า ธรรมชาติได้สร้างให้มนุษย์อยู่ภายใต้การควบคุมของ 2 สิ่งนั่น คือ ความสุข และความทุกข์นั่นเองเป็นตัวชี้ว่า อะไรที่เราต้องทำ และเราควรทำอะไร (Bentham, 1973: 1) ประโยคแรกพูดถึงข้อเท็จจริงของความสุข และความทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์เท่ากับเป็นการกล่าวสนับสนุนสุขนิยมทางจิตวิทยา และประโยคที่ 2 สนับสนุนสุขนิยมทางจริยศาสตร์เพราะเห็นว่า มนุษย์ควรแสวงหาความสุข

สุขนิยมของเบ็นธัมจัดอยู่ในกลุ่มประโยชน์นิยม เนื่องจาก เบ็นธัม ให้คำอธิบายว่า มนุษย์ควรทำ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ของตนเอง แม้ว่า มนุษย์จะมีธรรมชาติที่เห็นแก่ตัวก็ตาม หากแต่การที่มนุษย์สามารถเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวมได้ก็ เพราะมาตรการทางศีลธรรม (moral sanction) ซึ่งเป็น 1 ในมาตรการทั้ง 4 ประการ ได้แก่ (Bentham, 1973 : 24) มาตรการทางกายภาพหรือทางธรรมชาติ (Physical Sanction), มาตรการทางการเมือง (Political Sanction), มาตรการทางศีลธรรม (Moral Sanction) และมาตรการทางศาสนาหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ ( Religious Sanction)

มาตรการทางกายภาพรวมถึงกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ เช่น เมื่อเรารับประทานอาหารมากหรือน้อยเกินไปผลก็คือ การเจ็บป่วย การลงโทษดังกล่าวเป็นกฎของสุขภาพ มาตรการทางการเมือง เช่น คนที่ปฏิบัติตนตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมาย ย่อมอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ความกลัวต่อการลงโทษจากรัฐ ทำให้คนปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐ มาตรการทางศีลธรรมทำ ให้คนกำจัดความเห็นแก่ตัวของตนลงไปได้เนื่องจากกลัวการไม่ยอมรับจากคนในสังคมด้วยกัน มาตรการทางศาสนา เป็นการให้รางวัลจากสวรรค์แก่ผู้ที่ทำดี และการลงโทษจากนรกแก่ผู้ที่ทำชั่ว และจากมาตรการดังกล่าวจึงทำให้มนุษย์เปลี่ยนจากคนเห็นแก่ตัวมาเป็นผู้ที่ทำประโยชน์แก่สังคม ซึ่งแท้จริงแล้วทั้งการทำประโยชน์เพื่อตนเอง และการทำประโยชน์เพื่อสังคมก็ต่างเป็นการเติมเต็มให้แก่กัน

สุขนิยมแบบประโยชน์นิยมของมิลล์ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (1806-1873) ได้รับการขนานนามว่า เป็นนักคิดฝ่ายสุขนิยมแบบประโยชน์นิยม เนื่องจากเกณฑ์การตัดสิน ดี ชั่ว ถูก ผิด ของเขา กล่าวคือ มิลล์ เห็นว่า การกระทำที่ถูกต้องนั้นเป็นเพราะทำแล้วก่อให้เกิดความสุขแก่คนจำนวนมากที่สุด ส่วนการระทำที่ผิดก็เพราะทำแล้วไม่ก่อให้เกิดความสุข ดังที่ มิลล์ ได้กล่าวไว้ใน Utilitarianism ผลงานชิ้นสำคัญของเขาว่า ความสุขเป็นสิ่งเดียวที่มนุษย์ปรารถนา ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นเพียงวิธีการเพื่อไปให้ถึงความปรารถนา (Mill, 1970: 257)

การตัดสินการกระทำที่ดีในแนวคิดของ มิลล์ นั้นจึงไม่ได้ดูที่ตัวการกระทำ หากแต่ดูที่ผลอันเกิดจากการกระทำนั้น การจะตัดสินว่า การกระทำใด ดี ชั่ว ถูก ผิด ขึ้นอยู่กับว่า การกระทำนั้นได้ก่อให้เกิดประโยชน์แค่ไหน หลักการของประโยชน์นิยมอยู่ที่การได้รับความสุขมากที่สุดกับคนจำนวนมากที่สุด ซึ่งเป็นการให้ค่ากับผลของการกระทำมากกว่าเรื่องของเจตนาหรือแรงจูงใจ

ดังที่ มิลล์ ได้ชี้แจงว่า ความสุขที่เราควรแสวงหานั้นไม่ใช่เป็นความสุขแก่ตัวเองเท่านั้น แต่ต้องเป็นความสุขแก่คนหมู่มากด้วย มีความจำเป็นที่ต้องเข้าใจในแนวคิดของประโยชน์หรือความสุข ทั้ง 2 อย่างเป็นหลักในการพิจารณาพฤติกรรมของมนุษย์ มาตรฐานของประโยชน์นิยมมิได้อยู่ที่ความสุขจำนวนมากที่สุดของผู้กระทำ แต่เป็นความสุขมากที่สุดของคนทั้งหมด เราอาจจะสังสัยได้ว่า ผู้ที่มีบุคลิกแบบสูงส่งนั้นจะรู้สึกสูงส่งไปกับการกระทำของตัวเองหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ เราได้ทำให้ผู้อื่นมีความสุขขึ้น และโลกก็จะได้รับความสุขมากขึ้น ดังนั้น ลัทธิประโยชน์นิยมจะไปถึงเป้าหมายได้ก็โดยการปลูกฝังบุคลิกแบบผู้สูงส่ง ซึ่งแต่ละคนก็จะได้รับประโยชน์จากเขาเหล่านั้น (Mill, 1970: 262)

ผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ของคนหมู่มากนั่น คือ ผู้ที่สูงส่งในทรรศนะของมิลล์ ซึ่งเป็นบุคลิกภาพที่ มิลล์ ปรารถนาให้เกิดขึ้นกับคนในสังคม เพื่อส่งผลเป็นประโยชน์สุขร่วมกัน สุขนิยมแบบประโยชน์นิยมจึงไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง เหมือนกับอัตนิยมที่ยกให้ความสุขของตัวเอง เป็นความสำคัญอันดับแรก ประโยชน์นิยมให้นับตัวเองเป็นสมาชิกหนึ่งเท่ากับสมาชิกอื่นๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากการกระทำ ของเรา (วิทย์, 2526 : 92)

ส่วนที่เรียกสุขนิยมในทัศนะของมิลล์ว่า เป็นแบบละเอียดซึ่งแตกต่างจากเบนธัมนั้นเป็นเพราะมิลล์เห็นว่า ความสุขมีความแตกต่างกันทางคุณภาพด้วย การที่ มิลล์ เสนอประเด็นนี้ก็เพื่อเป็นการแก้ต่างให้กับผู้ที่โจมตีแนวคิดสุขนิยมว่า หากความสุขไม่มีคุณภาพที่แตกต่างกันแล้ว ความสุขของสุกรกับความสุขของคนก็น่าจะดีเหมือนกัน มิลล์ กล่าวว่า ความพอใจแบบสัตว์ไม่อาจสนองความสุขของมนุษย์ได้ มนุษย์มีสมรรถนะที่มีระดับสูงกว่าความอยากของสัตว์ และเมื่อได้รู้จักใช้สมรรถนะเหล่านี้ครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะไม่ถือว่า สิ่งใดเป็นความสุข นอกจากสิ่งนั้นจะสนองความพอใจของสมรรถนะเหล่านี้ (Mill ,1970: 252)

คำว่า สมรรถนะ (faculty) ที่มิลล์ ใช้ในที่นี้หมายความถึง ความสามารถบางอย่างในตัวมนุษย์ที่ทำ ให้มนุษย์ได้รู้จักความสุขอะไรได้บางอย่างที่สัตว์รู้จักไม่ได้ เพราะสัตว์ไม่มีสมรรถนะอย่างเดียวกันกับที่มนุษย์มี (วิทย์, 2526: 38)

การที่คนเรารู้จักความสุขบางอย่างที่สัตว์มีไม่ได้ บางทีอาจนำความทุกข์ ความกังวลมาสู่มนุษย์ แต่มนุษย์ก็ไม่คิดว่าตนต้องการไปมีความสุขแบบสัตว์ ดังที่ มิลล์ กล่าวว่า คงมีคนไม่กี่คนที่จะยอมลดตัวลงมีชีวิตแบบสัตว์เดรัจฉาน แม้จะได้รับคำมั่นสัญญาว่า จะได้มีชีวิตที่รื่นรมย์เต็มอิ่มแบบเดียวกับสัตว์ ไม่มีคนฉลาดคนใดที่จะยอมกลายเป็นคนโง่ ไม่มีบัณฑิตใดที่จะยอมกลายเป็นคนเขลา ไม่มีคนที่มีมโนธรรม และจิตสำนึกคนใดที่จะยอมกลายเป็นคนสถุล และเห็นแก่ตัว แม้เขาจะยอมรับว่า คนโง่ คนเขลา และคนพาลมีความพอใจในชีวิตมากกว่าตน (Mill, 1970: 259-260)

แม้ว่า มิลล์ จะได้ให้ความเห็นว่า ความสุขเป็นจุดมุ่งหมายประการเดียวแห่งการกระทำต่างๆ หากแต่ มิลล์ ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกับเบ็นธัมในเรื่องการวัดคุณภาพของความสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่ เบ็นธัมไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะเบ็นธัมได้นิยามความสุขไว้ในความหมายกว้างๆ นั่น คือ ความรู้สึกที่ไม่เจือด้วยความทุกข์ ดังนั้น สิ่งใดที่กระทำแล้วก่อให้เกิดความสุขก็ถือว่า เป็นสิ่งที่ควรกระทำ ในสายตาของเบ็นธัม ในขณะที่ มิลล์ เน้นถึงความแตกต่างในคุณภาพของความสุขโดยที่มิลล์ได้แสดงทรรศนะในเรื่อง ความรู้สึกในศักดิ์ศรี (Sense of dignity) ดังที่เขากล่าวว่า เป็นมนุษย์ที่กระวนกระวายดีกว่าเป็นสุกรที่อิ่มเอม เป็นโสกราตีส ที่ทุรนทุรายดีกว่า เป็นคนโง่ที่สุขสำราญ (Mill, 1970: 260)

มิลล์ เห็นว่า ความสุขบางอย่างน่าปรารถนา และมีคุณค่ากว่าความสุขบางอย่าง และไม่เป็นการถูกต้องนักที่จะตีค่าว่า ความสุขที่มาจาการกระทำต่างๆ กันจะมีค่าเสมอกันทรรศนะต่อความสุขของ มิลล์ จึงคล้ายคลึงกับอิปิคิวรัส ที่เน้นว่า ความสุขทางใจนั้นยิ่งใหญ่ และสูงส่งกว่าความสุขทางกายจึงอาจเรียก สุขนิยมในทรรศนะของมิลล์ว่า เป็นสุขนิยมแบบละเอียด คือ ประเมินค่าความแตกต่างของความสุขทั้งทางด้านคุณภาพและความรู้สึก ในขณะที่เบนธัมมองว่า ความสุขทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นชนิดใดโดยสาระแล้วก็เป็นอย่างเดียวกันทั้งหมดนี้จึงเป็นการยืนยันว่า มิลล์ยอมรับความแตกต่างทางคุณภาพของความสุข อย่างที่มิลล์ กล่าว ความสุขที่เกิดจากการใช้ปัญญา จากความรู้สึก จากจินตนาการ และสำนึกทางศีลธรรมมีค่าสูงกว่า ความสุขที่เกิดจากประสาทสัมผัส (Mill, 1970: 258)

สุขนิยมแบบวิวัฒนาการของ เฮอรเบิร์ต สเปนเซอร์ (1820-1903) ได้ปรับใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการจากฐานคิดทางชีววิทยามาอธิบายถึงพฤติกรรมของมนุษย์เชิงจริยศาสตร์ กล่าวคือ สเปนเซอร์เห็นว่า ศีลธรรมเป็นผลิตผลของวิวัฒนาการ ศีลธรรมได้วิวัฒนาการมาจากความประพฤติอันไร้ศีลธรรมของสัตว์ดิรัจฉาน (วศิน, 2544: 133)

สเปนเซอร์ เห็นว่า กฎทางศีลธรรมนั้นมาจากหลักการทางชีววิทยา ในขณะที่เบ็นธัม และมิลล์เห็นว่า กฎทางศีลธรรมมาจากประสบการณ์ต่อความสุข และความทุกข์ ทรรศนะของสเปนเซอร์ จุดมุ่งหมายของชีวิต คือ ความสุข ส่วนจุดมุ่งหมายรอง คือ ความสามารถที่จะมีชีวิตได้ยืนยาว ดังนั้น ความประพฤติที่เรียกว่า ดี คือ ความประพฤติที่สามารถรักษาตนให้ยั่งยืนต่อไป ส่วนความประพฤติชั่ว คือ ความประพฤติที่มีลักษณะทำลายตนเอง สเปนเซอร์ เห็นว่า ความสุขเป็นดรรชนีเพิ่มชีวิต ส่วนความทุกข์เป็นดรรชนีลดชีวิต การกระทำที่ให้ความสุขเป็นสิ่งช่วยจรรโลงชีวิต ส่วนการกระทำที่ให้ความทุกข์เป็นสิ่งทำลายชีวิต ความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายขึ้นอยู่กับหลักการนี้ ดังนั้น ความสุขจึงเป็นความดีแต่ประการเดียว ไม่มีความดีอันใดอีกนอกจากความสุข เราจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความดี คือ สิ่งที่ก่อให้เกิดความสุข

สเปนเซอร์ ได้กล่าวถึง ความรู้สึกทางศีลธรรมว่า เป็นการควบคุมความรู้สึกบางอย่าง ซึ่งมีผลต่อชีวิตในทางที่ดีขึ้น และยังได้เสนอเงื่อนไขที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อให้มนุษย์เกิดความสุขนั่น คือ การควบคุมภายนอก เช่น การควบคุมทางการเมือง ทางศาสนา และทางสังคม ซึ่งเหมือนกับมาตรการทั้ง 4 ของเบนธัม และการควบคุมความรู้สึกภายใน ซึ่งสเปนเซอร์เรียกว่า การควบคุมทางศีลธรรม (Sinha, 1984: 91)

โดยธรรมชาตินั้น มนุษย์มีความเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ผู้อื่น ทั้ง 2 แนวคิดนี้ เป็นความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ของสังคม ซึ่งสเปนเซอร์ ได้ให้ความเห็นว่า ทั้งสองลัทธินั้นมีความถูกต้องอยู่ในตัวเอง การพิทักษ์ประโยชน์ของตนเอง และการสละตนเองเป็นสิ่งที่ติดมาอย่างละเท่าๆ กันในธรรมชาติของมนุษย์ จากคำกล่าวข้างต้น สเปนเซอร์ เห็นว่า การเห็นแก่ผู้อื่นได้วิวัฒนาการมาพร้อม ๆ กับความเห็นแก่ตัว ดังนั้น การมีชีวิตเพื่อตนเองหรือเพื่อผู้อื่นอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่เกิดประโยชน์ หากแต่ การประนีประนอมกลมกลืนของทั้งสองอย่างนั้นต่างหากที่เรียกว่า เป็นความดี (วศิน, 2544: 138) นอกจากนี้ สเปนเซอร์ อธิบายความแตกต่างระหว่างจริยศาสตร์แบบสมบูรณ์ (Absolute Ethics) และจริยศาสตร์แบบสัมพัทธ์ (Relative Ethics) ซึ่งลักษณะจริยศาสตร์ของ สเปนเซอร์ จะเป็นประการหลัง

เนื่องจากจริยศาสตร์สัมพัทธ์ได้อธิบายหน้าที่ที่จำเป็นของแต่ละบุคคลเพื่อให้นำไปปรับใช้ในสังคมที่ไม่สมบูรณ์ ขณะที่จริยศาสตร์สมบูรณ์ได้อธิบายถึงหน้าที่ที่จะช่วยสร้างชีวิตในสังคมที่สมบูรณ์ ซึ่งในสังคมเช่นนี้จะมีการปรับตัวอย่างสมบูรณ์ของปัจเจกชนแต่ละคนต่อสิ่งแวดล้อมทางสังคมของเขา จริยศาสตร์สัมพัทธ์ จึงเกี่ยวกับศีลธรรมสัมพัทธ์ในสังคมที่ไม่สมบูรณ์ ส่วนจริยศาสตร์สมบูรณ์นั้นเกี่ยวกับศีลธรรมอันสมบูรณ์ในสังคมที่สมบูรณ์แบบเพียงเพื่อให้เป็นมาตรการทางจริยธรรม แก่เราว่าควรใช้ชีวิตอย่างไรในสังคมที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ (Hill,1956 :107) สเปนเซอร์ เชื่อว่า เมื่อปัจเจกชนสามารถปรับตัวได้อย่างสมบูรณ์ และเมื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และประโยชน์ของสังคมเป็นสิ่งเดียวกันแล้ว คุณธรรมทั้งหลายก็จะเป็นไปเองอย่างอัตโนมัติ ดังนั้น ความประพฤติที่จัดว่าดีโดยสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อมันให้ความสุขอย่างเดียว ไม่เจือด้วยความทุกข์ ในขณะที่ความประพฤติที่จัดว่าดีโดยสัมพัทธ์ มีลักษณะที่เป็นความสุขมากกว่าความทุกข์

สรุปได้ว่า สุขนิยมแบบอัตนิยม นั้นถือว่า ความสุขของปัจจเจกชน เป็นความดีอันสุงสุด เนื่องจากบุคคลต้องตระหนักถึงความสำคัญ และมีความรักต่อตนเองเป็นอันดับแรกแล้วจึงพัฒนาศักยภาพของตนเพื่อที่จะเผื่อแผ่ และแบ่งปันแก่ผู้อื่น สุขนิยมแบบประโยชน์นิยม ถือว่า ความสุขที่ดีที่สุดนั้น ต้องเกิดกับคนจำนวนมากที่สุด และเน้นยํ้าว่า ปัจเจกคนไม่ควรจะมุ่งทำ แต่ประโยชน์เพื่อตนฝ่ายเดียว การจะเรียกว่า เป็นความดีได้นั้นวัดที่การทำ ประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้อื่นด้วยสุขนิยมวิวัฒนาการนั้นสนับสนุนแนวคิดที่ให้ปัจเจกชนและสังคมร่วมกันสร้างสรรค์ความดี เพื่อประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่ายจากทัศนะต่อความสุข ของนักปรัชญาแบบสุขนิยมทั้ง 3 กลุ่มนั้น แม้จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดร่วมเดียวกัน คือ เห็นว่า ความสุขเป็นจุดหมายของการดำรงชีวิตอยู่ และการดำเนินชีวิตได้ดีมีคุณภาพนั้น สามารถดูได้จาก ความรู้สึกเป็นสุข ทั้งความสุขต่อตนเองเป็นเบื้องต้นหรือความสุขในระดับมวลชน

ข้อสังเกตในประเด็นต่างๆ ต่อจริยศาสตร์แนวสุขนิยม คือ นักจริยศาสตร์แนวสุขนิยมใช้ความสุข ความพึงพอใจหรือผลที่ได้จากการกระทำมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าสิ่งใดเรียกว่า ดี ชั่ว ถูก ผิด โดยยืนยันว่า ความสุขกับความดีเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่เรื่องของเจตนา แรงจูงใจ, ความสุขในทัศนะของปรัชญาแบบสุขนิยมนั้นพูดถึงในระดับต่างๆ ทั้งความสุขทางร่างกาย หมายถึง การได้เสพสนอง และบำบัดความต้องการทางกายที่เป็นรูปธรรม และความสุขทางจิตใจ เช่น การให้ความสำคัญกับการพัฒนาสติปัญญา การใช้คุณธรรม และมีความพยายามทำให้แนวคิดจริยศาสตร์ ซึ่งมีลักษณะเป็นนามธรรม เพราะเป็นการพูดถึงระบบคุณค่าของชีวิต ให้มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ คือ ชั่ง ตวง วัดได้ชัดเจน นับตั้งแต่ เบ็นธันถึงสเปนเซอร์

----------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). 2542. ปรัชญากรีก บ่อเกิดภูมิปัญญาตะวันตก.

กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ศยาม.

วศิน อินทสระ. 2544. จริยศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์บรรณกิจ.

วิทย์ วิศทเวทย์. 2526. จริยศาสตร์เบื้องตน มนุษย์กับปัญหาจริยธรรม. กรุงเทพมหานคร: สำนัก

พิมพ์อักษรเจริญทัศน์.

 

Bentham, Jeremy. 1973. The Principles of Morals and Legislation. New York: Hafner

Publishing Company.

Hicks, R.D. 1970. Lives and Opinion of Eminent Philosopher. Boston: Havard University Press.

Hill,T.E. 1956. Ethics in Theory and Practice. (n.p.)

Hobbes, Thomas. Richard Tuck(ed.). 1996. Leviathan. Cambridge: Cambridge University

Press.

Magill, F.n. (ed.). 1963. Masterpiece of the World Philosophy in Summary Form. London:

George Allen & Unwin Ltd.

Mill, John Stuart. 1970. Utilitarianism On Liberty Essay On Bentham. Ohio: The World

Company.

Sinha, Jadunath. 1984. Manual of ethics. Calcutta: New Central Book Agency.

Stumpf ,Samuel Enoch. 1983. Philosophy history & problems. (3 ed.). Mcgraw-Hill Book

Company.

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML