มนุษย์กับพุทธศาสนา
มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มีคุณสมบัติในการรู้คิดสิ่งที่เกี่ยวกับระบบคุณค่า
และสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งลักษณะพิเศษดังกล่าวนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำ
ให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อย่างสิ้นเชิง ระบบคุณค่าดังกล่าว ได้แก่ ความดี
ความถูกต้อง คุณธรรม รวมถึงความสุข ความสุขนั้นสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิต
มนุษย์ทุกคนย่อมปรารถนาชีวิตที่มีความสุขมากกว่าความทุกข์ แต่ก่อนที่เราจะได้ทราบถึงทัศนะเกี่ยวกับมนุษย์ของพุทธศาสนา
และจริยศาสตร์สุขนิยมนั้น เราควรทราบถึงทัศนะต่อมนุษย์จากทั้ง 2 แนวคิดเสียก่อน เพราะการเข้าใจเกี่ยวกับความสุขได้นั้นย่อมมีพื้นฐานมาจากความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์โดยรวม
มนุษย์ในทัศนะของพุทธศาสนา มีดังนี้
1. ธรรมชาติของมนุษย์ ทัศนะของพุทธศาสนามนุษย์ประกอบขึ้นด้วยขันธ์
5หรือกอง 5 กอง ที่เรียกว่า เบญจขันธ์
อันได้แก่ รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร และวิญญาณ ฉะนั้นขันธ์ 5
จึงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งอธิบายความหมายของขันธ์แต่ละอย่างดังที่ปรากฏในขัชชนิยสูตร
ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เพราะอะไรจึงเรียกว่า รูป เพราะสลายไป จึงเรียกว่า รูป สลายไปเพราะอะไร สลายไป เพราะหนาวบ้าง
เพราะร้อนบ้าง เพราะหิวบ้าง เพราะกระหายบ้าง เพราะสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด
และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง..เพราะอะไรจึงเรียกว่า เวทนา เพราะอะไรจึงเรียกว่า เวทนา
เพราะเสวย เรียกว่า เวทนา เสวยอะไร เสวยอารมณ์สุขบ้าง เสวยอารมณ์ทุกข์บ้าง
เสวยอารมณ์ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุขบ้าง เพราะอะไรจึงเรียกว่า สัญญา เพราะจำได้หมายรู้
จึงเรียกว่า สัญญา จำได้หมายรู้อะไร จำได้หมายรู้สีเขียวบ้าง สีเหลืองบ้าง
สีแดงบ้าง สีขาวบ้าง เพราะอะไรจึงเรียกว่า สังขาร เพราะปรุงแต่งสังขตธรรม
จึงเรียกว่า สังขาร ปรุงแต่งสังขตธรรมอะไร ปรุงแต่งสังขตธรรม คือ รูป
โดยความเป็นรูปปรุง แต่สังขตธรรม คือ เวทนา โดยความเป็นเวทนา ปรุงแต่งสังขตธรรม
คือ สัญญา โดยความเป็นสัญญา ปรุงแต่งสังขตธรรม คือ วิญญาณ โดยความเป็นวิญญาณ เพราะอะไรจึงเรียกว่า
วิญญาณ เพราะรู้แจ้ง จึงเรียกว่า วิญญาณ รู้แจ้งอะไร รู้แจ้งรสเปรี้ยวบ้าง
รสขมบ้าง รสเผ็ดบ้าง รสหวานบ้าง รสขื่นบ้าง รสเค็มบ้าง รสไม่เค็มบ้าง (สํ. ข.
17/79/108-109)
การที่พุทธศาสนาจัดมนุษย์อยู่ในรูปของขันธ์
5 แสดงว่า พุทธศาสนามองมนุษย์ในรูปของส่วนประกอบต่างๆ
ที่มาประชุมเข้าด้วยกัน คือ โดยแท้จริงแล้วเมื่อทำการแยกส่วนต่างๆ
ที่มาประกอบกันจะไม่พบอะไรเลย ซึ่งก็เท่ากับมนุษย์ไม่มีตัวตนที่แท้ เราสามารถทำความเข้าใจในเรื่องขันธ์
5 ได้ชัดเจนขึ้นจากหลักธรรมใหญ่ 2
หมวดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฏธรรมชาติ คือ ไตรลักษณ์ และ ปฏิจจสมุปบาท
(พระธรรมปิฎก, 2543: 67)
กฏไตรลักษณ์ ขันธ์ 5 อยู่ในลักษณะที่ไม่คงที่
(อนิจจตา) ไม่มีส่วนใดที่มีตัวตนแท้จริง (อนัตตา) และถูกบีบคั้นอยู่ทุกขณะ
(ทุกขตา) พุทธพจน์ที่แสดงถึงความเป็นไปของขันธ์ 5 ตามกฎไตรลักษณ์
กล่าวไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา หากรูป เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ จักเป็นอัตตา (ตัวตน) แล้วไซร้ มันก็จะไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ
ทั้งยังจะได้ตามปรารถนาในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณว่า ขอรูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย
แต่เพราะเหตุที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา ฉะนั้น รูป เวทนา สังขาร
วิญญาณ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และใครๆ ไม่อาจได้ตามความปรารถนา ในรูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ ว่า ขอรูป ขอเวทนา ขอสัญญา ขอสังขาร ขอวิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด
อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย (สํ.ข. 17/96/173)
ตามกฏปฏิจจสมุปบาท ขันธ์ 5 อยู่ในรูปของกระแสแห่งปัจจัยต่างๆ
ที่สัมพันธ์สืบต่อกัน
ไม่มีสิ่งใดที่อยู่ในกระแสจะสามารถคงที่อยู่ได้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
จึงมีแต่การเกิดขึ้นแล้วสลายตัวไปพร้อมกับที่เป็นปัจจัยให้มีการเกิดขึ้นแล้วสลายตัวต่อๆ
ไปอีก ส่วนต่างๆ สัมพันธ์กันเนื่องอาศัยกัน เป็นปัจจัยแก่กัน ในกรณีของชีวิตมนุษย์ปุถุชน
หากยึดถือเอารูปปรากฏของกระแส หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของกระแสว่าเป็นตัวตน
และปรารถนาให้ตัวตนนั้นมีอยู่ หรือเป็นไปในรูปใดรูปหนึ่งตามที่ตนต้องการ
ในขณะเดียวกับที่ความเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนที่เกิดขึ้นในกระแสก็ขัดแย้งต่อความปรารถนาของตนก็จะยิ่งเป็นการบีบคั้น
และเร่งเร้าให้เกิดความอยากรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อไม่เป็นไปตามที่อยาก
ความบีบคั้นย่อมแสดงผลเป็นความผิดหวัง ความทุกข์ รุนแรงขึ้นตามลำดับ ภาวะจิตเหล่านี้
คือ อวิชชา (ความไม่รู้ตามความเป็นจริง หลงผิดว่า มีตัวตน) ตัณหา
(ความอยากให้ตัวตนที่หลงว่า มีนั้นได้ เป็นหรือไม่เป็นต่างๆ) อุปาทาน
(ความยึดถือผูกติดตัวตนในความหลงผิดนั้นไว้กับสิ่งต่างๆ) กิเลสเหล่านี้แฝงลึกซับซ้อนอยู่ในจิตใจ
และเป็นตัวคอยบังคับบัญชาพฤติกรรมทั้งหลายของบุคคลให้เป็นไปต่างๆ ตามอำนาจของมัน
ทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว ตลอดจนเป็นตัวหล่อหลอมบุคลิกภาพ และมีบทบาทสำคัญในการชี้กรรมของบุคคลนั้นๆ
ซึ่งเป็นที่มาแห่งความทุกข์ของมนุษย์ปุถุชนทุกคน ดังพุทธพจน์ที่ว่า อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ ไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์
สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
ข้อนี้ อริยสาวก พึงเห็นด้วยสัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ เวทนาเป็นทุกข์
ฯลฯ สัญญาเป็นทุกข์ ฯลฯ สังขารเป็นทุกข์ ฯลฯ วิญญาณเป็นทุกข์
สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา
เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริงอย่างนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำ เสร็จแล้ว
กิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี (สํ.ข.17/95/58)
สรุปได้ว่า มนุษย์มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นร่างกาย
(รูป) และส่วนที่เป็นจิตใจ (นาม) ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
อนึ่งเนื่องจากกระบวนการของขันธ์ 5
นั้นก็ตกอยู่ภายใต้กฏแห่งเหตุปัจจัยหรือปฏิจจสมุปบาทซึ่งพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
หากแต่มนุษย์โดยทั่วไปมักจะมีความคิดยึดถือในตัวตนว่ามีตัวตนที่เที่ยงแท้ ซึ่งความยึดถือว่ามีตัวตนนี้ย่อมมีประจำอยู่ในสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย(พุทธทาส,
2541: 102) แต่ขณะเดียวกันนั้น
ความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเป็นตน (อัตตวาทุปาทาน) นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ในการดำเนินชีวิต
มนุษย์ คือ ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ปรัชญาทั้งตะวันออก และตะวันตกจะเกี่ยวข้องกับปัญหาอภิปรัชญาเสียเป็นส่วนใหญ่ที่ได้พยายามหาคำตอบเกี่ยวกับกำเนิดของโลก
และชีวิต โดยเข้าใจว่าเมื่อทราบปัญหาพื้นฐานดังกล่าวนี้ได้แล้วจะทำให้ทราบความลี้ลับทั้งปวงที่มนุษย์ยังไม่เข้าใจได้
เช่นปัญหาเกี่ยวกับโลกหน้า ปัญหาเกี่ยวกับความดี-ชั่ว ปัญหาว่า
มนุษย์ควรประพฤติอย่างไรจึงจะเหมาะสม เป็นต้น
ในสมัยพุทธกาลเมื่อมีผู้มาถามปัญหาอภิปรัชญาเหล่านี้กับพระพุทธเจ้า จะไม่ทรงตอบ
แต่กลับทรงชี้ไปที่ปฏิจสมุปบาทว่า เมื่อมนุษย์เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามกระบวนของเหตุปัจจัยแล้วจะไม่สงสัยในปัญหาอภิปรัชญาเหล่านี้
ดังปรากฏใน ปัจจสูตร ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล
อริยสาวกเห็นด้วยดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาท และธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นเหล่านี้
ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นจักแล่นเข้าถึงที่สุดเบื้องต้นว่า
ในอดีตกาลเราได้เป็นหรือหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไรหนอ
ในอดีตกาลเราได้เป็นอย่างไรหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไร แล้วได้มาเป็นอะไรหนอ
หรือว่าจักแล่นเข้าถึงที่สุดเบื้องปลายว่า ในอนาคตกาลเราจักเป็นหรือหนอ
ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไรหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอย่างไรหนอหรือว่าจักยังมีความสงสัยในปัจจุบันกาลเป็นภายใน
ณ บัดนี้ว่า เราเป็นอยู่หรือหนอ หรือไม่เป็นอยู่หนอ เราเป็นอะไรอยู่หนอ เราเป็นอย่างไรอยู่หนอ
สัตว์นี้มาแต่ไหนหนอ เขาจักไปในที่ไหนหนอ ดังนี้ ข้อนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้
เพราะเหตุไร เพราะว่า อริยสาวกเห็นด้วยดีแล้ว ซึ่งปฎิจจสมุปบาท และธรรมอาศัยกันเกิดขึ้นเหล่านี้
ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง (สํ.นิ. 16/20/33)
ตามหลักของปฏิจจสมุปบาทนั้นได้แสดงให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลาย
รวมทั้งขันธ์ 5 เกิดขี้นด้วยเหตุปัจจัย
ดำรงอยู่ด้วยเหตุปัจจัย และเสื่อมไปด้วยเหตุปัจจัย กระบวนการแห่งเหตุปัจจัย
คือกระบวนการธรรมชาติที่มีอยู่และเป็นอยู่ด้วยตนเอง
ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน กำ
เนิดขึ้นมาเป็นอยู่ และเสื่อมสลายไปด้วยเหตุปัจจัย
มนุษย์จึงไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่น ทั้งในเรื่องของกำเนิด
การเป็นอยู่ และการเสื่อมสลาย หากพิจารณากำเนิดของมนุษย์แต่ละคน จะเห็นว่า มีเหตุปัจจัยต่างๆ
มาเกี่ยวข้องมากมาย
ยังมิรวมถึงชีวิตของมนุษย์ในสังคมที่เกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยอย่างอื่นอย่างไรบ้าง
เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในแต่ละวันหรือจนตลอดชีวิต
ธรรมชาติในทัศนะของพุทธศาสนา คือ อะไร
ก็สามารถตอบได้ว่า คือ กระบวนการที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่ไม่ได้อยู่แยกต่างหากจากตัวมนุษย์
หากแต่ดำเนินควบคู่ไปกับชีวิตมนุษย์ ที่กล่าวว่าดำ
เนินควบคู่กันไปกับมนุษย์นั้นจะเห็นได้จากความหมายของธรรมชาติที่อาจจำแนกออกได้ 4 ความหมาย
ตามที่ท่านพุทธทาสได้อธิบายในหัวข้อธรรมชาติ คือ อะไร (พุทธทาส, มปป ก.: 10-12) คือ 1. ตัวธรรมชาติ, 2.
ตัวกฎธรรมชาติ, 3. ตัวการปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ และ4.
ตัวผลที่ได้รับจากการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ
จากความหมายของธรรมชาติทั้ง 4 ความหมายข้างต้นนี้
ทั้งตัวมนุษย์ และการดำเนินชีวิตของมนุษย์จึงต้องเป็นไปตามกฎของ อิทัปปจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท
กล่าวคือ สิ่งต่างๆ นั้นดำเนินไปในลักษณะเป็นปัจจัยที่เนื่องอาศัยต่อกัน ตามกระแสของเหตุผล
มิใช่เกิดขึ้นอย่างลอยๆหรือโดยบังเอิญ ดังเช่นพุทธพจน์ต่อไปนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ก็ปฏิจจสมุปบาทเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ
พระตถาคตทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุอันนั้น คือ
ธัมมฐิติ (ความตั้งอยู่ตามธรรมดา) ธัมมนิยาม (ความแน่นอนของธรรมดา) อิทัปปัจจัย
(มูลเหตุอันแน่นอน) ก็ยังดำรงอยู่ พระตถาคตย่อมตรัสรู้
ย่อมตรัสรู้ทั่วถึงซึ่งธาตุอันนั้น ครั้งแล้ว ย่อมตรัสบอก ทรงแสดงบัญญัติ แต่งตั้ง
เปิดเผย จำ แนก กระทำ ให้ตื้น และตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงดู ดังนี้
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา และมรณะ ฯลฯ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ฯลฯ
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ฯลฯ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ฯลฯ
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ฯลฯ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ฯลฯ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ฯบฯ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ ฯลฯ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ฯลฯ เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯลฯ
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร . ดังนี้ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
ภิกษุทั้งหลาย ความจริงแท้ ความไม่คลาดเคลื่อน ความไม่เป็นอย่างอื่น
มูลเหตุอันแน่นอนในธาตุอันนั้น ดังพรรณามาฉะนี้แล เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท (สํ.นิ./16/20/32) สรุปได้ว่า อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, อิมสฺสุป ปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด, อิมสฺมึ
อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี, อิมสฺส
นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ เพราะดับสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับ (ขุ.สุ. 25/3/105) (ขุ.สุ. 25/3/112)
ฉะนั้น
มนุษย์จึงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ หากปราศจากการเกี่ยวข้องกับสิ่งธรรมชาติอื่นๆ
ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนมนุษย์ สัตว์โลก และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แล้ว มนุษย์จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เลย
เมื่อความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อธรรมชาติเป็นไปในลักษณะข้างต้นแล้ว การกระทำเหตุปัจจัยเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจถึงตัวเหตุปัจจัยนั้นๆ พร้อมกับรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุปัจจัยต่างๆ
ภายในกระบวนการของธรรมชาตินั้นอย่างถูกต้อง เหล่านี้ยิ่งเป็นการตอกยํ้าถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติโดยหมายรวมถึงสิ่งมีชีวิต
และไม่มีชีวิต ที่อยู่แวดล้อมตัวมนุษย์
ว่ามีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กัน และกัน ดังนั้น การปฏิบัติตัวของมนุษย์ต่อธรรมชาติจึงควรเป็นไปในลักษณะเกื้อกูลต่อกัน
ดังที่ พระธรรมปิฎกได้แสดงทัศน์ ดังนี้ (พระธรรมปิฎก, 2541:188-191) 1. มนุษย์ควรมองเห็น และชื่นชมในความงามของธรรมชาติ
มีความสุขกับการได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ, 2.
มนุษย์ควรมองว่าสิ่งทั้งหลายในธรรมชาตินั้นอยู่ในกฎเดียวกัน
เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน จึงควรมีความรู้สึกเมตตาต่อกัน และ3. มนุษย์ควรมองเห็นความสำคัญของธรรมชาติที่มีต่อการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์
ธรรมชาติมีคุณค่าต่อมนุษย์เนื่องจากคอยเกื้อกูลมนุษย์ด้วยท่าทีต่อธรรมชาติที่ถูกต้องข้างต้นนี้
จะสามารถทำให้มนุษย์ดำรงตนได้อย่างสงบ สันติอย่างถาวร ต่างจากท่าทีในการนำธรรมชาติมาเป็นเครื่องรับใช้ตัณหาของมนุษย์ซึ่งรังแต่จะทำ
ให้เกิดความเสื่อมโทรมทั้งภายนอก คือ ตัวธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์
และภายใน คือ จิตวิญญาณของมนุษย์ อันเป็นต้นตอของปัญหาที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่
ทั้งกับวิกฤติทางสังคม และสิ่งแวดล้อมดังเช่นปัจจุบัน
ความต้องการของมนุษย์ในที่นี้ หมายถึง
การสนองความต้องการเพื่อความอยู่รอดของตนในเมื่อมนุษย์มีธรรมชาติ 2 อย่าง คือ ส่วนที่เป็นร่างกาย
(รูป) และส่วนที่เป็นจิตใจ (นาม) ตามคำอธิบายของขันธ์ 5
แสดงว่า ความต้องการของมนุษย์ในทัศนะของพุทธศาสนาย่อมมี 2
ส่วน ด้วยกัน คือ อาหารกาย และอาหารใจ
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงถึงอาหารอันเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตไว้ 4 ประเภท (ม.มู 12/90/84) ได้แก่ 1. กวฬิงการาหาร อาหาร คือ คำ ข้าว
หยาบหรือละเอียด, 2. ผัสสาหารอาหาร คือ ผัสสะ, 3. มโนสัญเจตนาหาร อาหาร คือ ความคิดอ่าน และ4.
วิญญาณาหาร อาหาร คือ วิญญาณ
อาหารทั้งสี่เหล่านี้เกิดจากตัณหา
(ความทะยานอยาก) ตัณหาเกิดจากเวทนา (เรื่อยไปตามหลักปฏิจจสมุปปบาท)
จนถึงสังขารเกิดจากอวิชชาปัจจัย และตรัสสรุปว่า อวิชชาเป็นต้นเหตุให้เกิดกองทุกข์
(เป็นลูกโซ่ไปโดยลำดับ) พระเทพเวที (พระเทพเวที, 2533: 417) อธิบายว่า อาหารชนิดแรกตรงกับพระบาลี
คือ หมายถึง คำข้าว อาหารชนิดที่ 2 หมายถึง ผัสสะ
เป็นปัจจัยอุดหนุนหล่อเลี้ยงให้เกิดเวทนา ได้แก่ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก
และวิญญาณกระทบกัน ทำ ให้เกิดเวทนา คือ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เป็นอุเบกขาบ้าง,
อาหารชนิดที่ 3 หมายถึง ความจงใจเป็นอาหาร เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดกรรม
คือ ทำให้พูดให้คิด ให้ทำการต่างๆ และอาหารชนิดที่ 4 หมายถึง
วิญญาณเป็นปัจจัยอุดหนุนให้เกิดนามรูป
อาหารชนิดแรกเป็นอาหาร เพื่อสนองความต้องการทางร่างกาย
ส่วนอาหารอีก 3 ชนิด
เป็นอาหารเพื่อสนองความต้องการทางจิตใจ สุขภาพร่างกายจะแข็งแรง
ย่อมอาศัยอาหารกายที่ถูกสุขลักษณะฉันใด
สุขภาพจิตจะเป็นไปด้วยดีก็ย่อมอาศัยอาหารที่ถูกสุขลักษณะทางจิตฉันนั้น ฉะนั้น ในเมื่อพูดถึงความต้องการของมนุษย์ในทัศนะของพุทธศาสนาจึงไม่ได้
หมายถึง มิติทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงมิติทางจริยธรรมซึ่งเป็นเรื่องทางจิตใจด้วย
นอกจากนี้พุทธศาสนาได้ยอมรับและยืนยันถึงความจำ
เป็นทางวัตถุที่เรียกว่า ปัจจัย 4 อัน ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ดังพุทธพจน์ที่ว่า
สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฐิติกา สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร หากแต่พุทธศาสนาให้ยอมรับปัจจัยเท่าที่จำ
เป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขคือ ไม่ให้ขาดแคลนจนทำ ให้เกิดโรคภัย และไม่ให้สะสมปัจจัยต่างๆ
มากเกินไป เนื่องจากพุทธศาสนาไม่ได้มองว่า ปริมาณของวัตถุที่มากจะทำให้ทุกคนเป็นสุขหรือมีชีวิตที่ดีงามได้
เห็นได้จากการที่พระพุทธเจ้าได้ให้แนวคิดในการปฏิบัติต่อปัจจัยสี่ ของภิกษุ ไว้ดังนี้
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว
ใช้สอยจีวร เพียงเพื่อกำจัดหนาว ร้อน สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด
และสัตว์เลื้อยคลาน เพียง เพื่อปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว
ฉันบิณฑบาตมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อมัวเมามิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตบแต่ง
เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้เป็นไปเพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์
ด้วยคิดว่า จะกำจัดเวทนาเก่าด้วย จะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไป
ความไม่เป็นโทษ และความอยู่สบายจักมีแก่เรานี้
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว
ใช้สอยเสนาสนะ เพียงเพื่อกำจัดหนาว ร้อน สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด
และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดู เพื่อรื่นรมย์ในการหลีกเร้น
ภิกษุพิจารณาโดยแยบคาย เสพบริขาร
คือ ยาอันเป็นปัจจัยบำบัดไข้ เพียงเพื่อกำจัดเวทนาที่เกิดแต่อาพาธต่างๆ
ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธเบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง (ม.มู.12/23/18-19)
กล่าวได้ว่า พุทธศาสนายอมให้มีวัตถุเสพเสวยตามความพร้อมและพัฒนาการทางจิตปัญญา
ภายในขอบเขตเท่าที่จะไม่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นข้อนี้หมายความว่า
บุคคลที่มีพัฒนาการทางจิตปัญญาตํ่าย่อมต้องการวัตถุเสพเสวยหรือมีชีวิตที่ขึ้นต่อความพรั่งพร้อมปรนเปรอทางวัตถุมากกว่าบุคคลที่มีพัฒนาการทางจิตปัญญาสูงกว่า
(พระธรรมปิฎก, 2543: 791)
เกี่ยวกับการสนองความต้องการทั้งด้านร่างกาย
และจิตใจนั้น พุทธศาสนาจะให้ความสำคัญแก่การสนองความต้องการทางจิตมากกว่าการสนองความต้องการทางกาย
เพราะจิตเป็นตัวนำในการทำกิจกรรมต่างๆ หากใครมีสุขภาพจิตที่ดีหรือมีธรรมะ
กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ก็จะเป็นไปในทางที่ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นเวลาก่อนกระทำ
ขณะกระทำหรือผลที่เกิดจากการกระทำหากสุขภาพจิตไม่ดีหรือไม่มีธรรมมะ กิจกรรมต่างๆ
ที่ทำย่อมบกพร่องและอาจสร้างความเดือดร้อนแก่ตนและสังคมได้
พระพุทธพจน์ที่ให้ความสำคัญแก่จิตใจดังกล่าว เช่น ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า
มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจชั่วแล้ว จะพูดหรือทำก็ตาม ทุกข์ย่อมติดตามเขาไป
เพราะทุจริต 3 อย่างนั้น (คือ
กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต) เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคตัวกำลังลากเกวียนไป ฉะนั้น
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วด้วยใจ
ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ก็ตาม ทำ อยู่ก็ตาม สุขย่อมติดตามเขาไปเพราะสุจริต 3 อย่าง (คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต) เหมือนเงาที่ไม่พรากจากตน
(ขุ.ธ.25/1-2/17)
และอีกแห่งหนึ่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ปรากฏแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่เหมือนจิต
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ปรากฏแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่อบรมแล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
จิตที่อบรมแล้ว ปรากฏแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ (องฺ.เอก. 20/25-26/6)
ฉะนั้น แนวปฏิบัติต่าง ๆ
ในพระพุทธศาสนาที่สรุปได้ตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา
จึงเป็นหลักเพื่อการบริหารจิต เพื่อเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามอุดมคติของพุทธศาสนาส่วนของการตอบสนองความต้องการทางกายนั้น
พุทธศาสนาสอนให้ตอบสนองเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้
เพื่อเกื้อกูลแก่การปฏิบัติธรรม โดยเรียกการตอบสนองทางกายว่า ปัจจัยหรือสิ่งจำเป็นพื้นฐานของชีวิต
4 อย่าง ได้แก่
เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งปัจจัยทั้ง 4 นี้ คือ สิ่งที่จำเป็น และขาดไม่ได้สำหรับชีวิตคนเรื่องปัจจัย 4 มีปรากฏในวินัยปิฎก พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงว่าสิ่งที่จำ เป็นสำ
หรับภิกษุมี 4 อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช
(วิ.มหา. 4/73/105) และได้ทรงแสดงปัจจัย 4 ของภิกษุในลักษณะสันโดษ คือ
1. บรรพชาอาศัยโภชนะ คือ คำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง
เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์
การนิมนต์ ภัตถวายตามสลาก ภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ ภัตถวายในวันปาฏิบท, 2. บรรพชาอาศัยบังสกุลจีวร เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิตอดิเรกลาภ
คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน
(เช่นผ้าด้ายแกมไหม), 3. บรรพชาอาศัยโคนไม้เป็นเสนาสนะ
เธอพึงทำ อุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว
เรือนชั้น เรือนโล้น ถํ้าและ4. บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นยา
เธอพึงทำ อุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ เเนยใส เนยข้น นํ้ามัน
นํ้าผึ้ง นํ้าอ้อย
ส่วนแนวทางที่ใช้ปฏิบัติตัวต่อปัจจัย
4
ตามที่พระภิกษุยึดถือนั้น ปรากฏในบทสวดที่พระภิกษุจะต้องพิจารณาเป็นประจำหรือที่เรียกว่า
ตขณิกปัจจเวกขณปาฐะ ดังนี้ ก. จุดมุ่งหมายที่จำเป็นสำหรับอาหาร 1. เพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ได้ และ2. เพื่อกำจัดความหิวอาหาร,
ข. จุดหมายที่จำเป็นของเครื่องนุ่งห่ม 1. เพื่อกำจัดความหนาว,
2. เพื่อกำจัดความร้อน, 3. เพื่อกำจัดสัมผัสแห่งเหลือบยุง
ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน และ4. เพื่อปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ,
ค. จุดมุ่งหมายที่จำเป็นสำหรับเสนาสนะหรือที่อยู่อาศัย 1.
เพื่อกำจัดความหนาว, 2. เพื่อกำจัดความร้อน, 3. เพื่อกำจัดสัมผัสแห่งเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน และ4. เพื่อบรรเทาอันตราย คือ ฤดูกาล และง. จุดมุ่งหมายที่จำเป็นสำหรับคิลานเภสัช
1. เพื่อกำจัดเวทนาอันเกิดจากอาหาร และ2. เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธ
กล่าวได้ว่า สำหรับปัจจัยพื้นฐานต่อร่างกายนั้นเราต้องอิงอาศัยวัตถุ
ส่วนปัจจัยพื้นฐานทางจิตนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องฝึกฝนให้เกิดขึ้นด้วยตัวเองเนื่องจากเป็นเรื่องทางนามธรรมจึงไม่สามารถอาศัยปัจจัยภายนอกซึ่งเป็นเรื่องทางรูปธรรมได้
จึงเป็นเรื่องที่มนุษย์ ในฐานะเป็นสัตว์ที่พิเศษกว่าสัตว์ชนิดอื่นตรงที่
มิได้ใช้เพียงสัญชาตญาณเพียงอย่างเดียวในการดำเนินชีวิตดังสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นหากแต่การแสดงถึงความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นทั่วไป
คือ การสามารถฝึกฝนตน และพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทางจิตวิญญาณ (Spiritual Development) เช่น การนำหลักไตรสิกขา
ในพุทธศาสนาซึ่งเป็นการพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ให้ควบคู่ไปกับความสามารถในการดำรงตนหาเลี้ยงชีพ
ซึ่งจะทำให้มนุษย์ก้าวไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในที่สุด
แนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ในปรัชญาตะวันตก
ความแตกต่างทั้งทางด้านสภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ระหว่างโลกตะวันตก
และตะวันออกมาจากพื้นฐานทางความคิดที่แตกต่างกัน
โลกฝั่งตะวันออกมีแนวคิดว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
มนุษย์จำต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติในการดำรงชีวิต
แนวคิดลักษณะดังกล่าวอาจสังเกตได้จากวัฒนธรรมตะวันออก 2 กระแสหลัก คือ จีน และอินเดีย
ในวัฒนธรรมชาวจีน มีประเพณีการทำความเคารพบูชาบรรพบุรุษรวมถึงธรรมชาติ
และในอินเดียมีประเพณีที่ให้ธรรมชาติเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า เช่น
พิธีชำระบาปในแม่นํ้าคงคา
ส่วนแนวคิดทางตะวันตกที่มีต่อธรรมชาติ
และมนุษย์นั้นเป็นไปในลักษณะที่มองมนุษย์เป็นศูนย์กลางของธรรมชาติ และจักรวาล
มนุษย์สามารถควบคุม และจัดการกับธรรมชาติได้ตามขีดความสามารถของตน
ยิ่งมนุษย์สามารถจัดการกับธรรมชาติให้สนองประโยชน์ของตนได้มากเท่าไรยิ่งเป็นการแสดงถึงศักยภาพอันสูงส่งของมนุษย์เพียงนั้น
แนวความคิดที่จะเอาชนะหรือพิชิตธรรมชาตินี้เนื่องจากการที่มนุษย์มองตัวเองแยกต่างหากจากธรรมชาติ
อาจกล่าวได้ว่า สภาพจิตใจในลักษณะที่มุ่งแสวงหาเอาจากธรรมชาติ (frontier mentality) นั้นเป็นลักษณะสำคัญของอารยธรรมตะวันตก
(พระธรรมปิฎก, 2514: 154)
โดยแนวคิดว่ามนุษย์มีความสามารถที่การได้พิชิตธรรมชาติ เช่น นี้ที่ทำให้สังคมตะวันตกมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยีลํ้าหน้ากว่าตะวันออก
ก่อนยุคปรัชญากรีก ซึ่งเริ่มนับว่า มีแนวคิดที่เป็นระบบนั้น
เป็นยุคของตำนาน และความเชื่อ(Mythology)
เนื่องจากมนุษย์ในยุคนั้นยังไม่มีความรู้พอที่จะเข้าใจว่า อะไร คือ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
จึงได้สร้างตำนาน และเรื่องราวในการอธิบายถึงความเชื่อถือที่มีต่อวีรบุรุษ
รวมถึงเทพเจ้าของตน ตำนานดังกล่าวจะบอกเล่าเกี่ยวกับเทพเจ้า การสร้างโลก กำเนิดของชนชาติ
รวมไปถึงการอธิบายสิ่งลี้ลับต่างๆ
ที่มนุษย์ยังไม่สามารถเข้าใจได้เมื่อถึงยุคที่ปรัชญามีความเป็นระบบมากขึ้น
นักปรัชญาแต่ละยุคแต่ละสมัยต่างพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์
นับตั้งแต่สมัยกรีกโบราณที่มีความเห็นว่าไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าการที่มนุษย์สามารถทำความเข้าใจตัวเองได้ดังคำกล่าวของ
โสกราตีส นักปราชญ์ชาวกรีกว่า จงรู้จักตนเอง (Know thyself) เพราะชีวิตที่ไม่รู้จักตนเองนั้นเป็นชีวิตที่ปราศจากคุณค่า
.An unexamined life is not worth living. คุณค่าของชีวิตจึงอยู่ที่การได้สำรวจตรวจสอบตัวเอง
ได้รู้ว่าชีวิต คือ อะไร กำลังทำอะไรอยู่ และดำรงอยู่เพื่ออะไรซึ่งจะทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตตนได้อย่างแท้จริง
ในยุคกรีกโบราณ คือ เมื่อประมาณ 546 ปีก่อนคริสตกาล
ขณะนั้นมนุษย์ได้มีความพยายามที่จะอธิบาย และทำความเข้าใจเรื่องของตนเอง และธรรมชาติรอบตัวในแบบที่ต่างไปจากเดิม
ซึ่งเป็นการอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว
ในลักษณะเทพกำหนด (pantheism) หรือวิญญาณนิยม (animism)
โดยที่การอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในลักษณะดังกล่าวนั้น เป็นการทำ
ให้เทพมีอำนาจเหนือมนุษย์ มนุษย์จึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้เทพพึงพอใจจนกระทั่งนักปรัชญาคนแรกชื่อ
ธาเลส ได้ตั้งข้อเสนอเกี่ยวกับธาตุแท้ของธรรมชาติ
หรือสิ่งที่เป็นปฐมธาตุว่าทุกสิ่งในโลกนั้น มี นํ้า เป็นปฐมธาตุ
และพยายามอธิบายจักรวาลโดยวิธีการทางธรรมชาติวิทยา ไม่อิงอาศัยนิยายปรัมปราหรือความเชื่อเรื่องเทพเจ้ามาใช้ดังเดิม
นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทัศนคติต่อมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ความสำ คัญของธาเลสนั้นจึงมิได้อยู่ที่คำตอบของธาเลสที่ได้เสนอไว้
หากแต่เป็นวิธีการที่ธาเลสได้เสนอปัญหา และแสวงหาคำตอบที่แสดงถึงลักษณะที่เชื่อมั่นต่อความสามารถของมนุษย์มากขึ้น
แนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ในปรัชญากรีกยุครุ่งเรืองทัศนะที่มีต่อมนุษย์
ของปรัชญากรีกนั้น มีปรากฏในแนวคิดของโสกราตีส ที่เห็นว่า มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ตรงที่มนุษย์มีปัญญา
ดังนั้น ชีวิตที่ดีสำหรับมนุษย์ก็ คือ ชีวิตที่ใช้ปัญญา ไม่ทำตามอารมณ์หรือความอยากไปอย่างโง่เขลา
ชีวิตที่มีปัญญาจึงเป็นชีวิตที่ได้รับการตรวจสอบการตรวจสอบชีวิตทำให้มนุษย์รู้จักตัวเองดียิ่งขึ้น
และเป็นความรู้ที่สำคัญ เพราะหากมนุษย์ไมรู่จั้กตัวเองแล้วก็ไม่สามารถจะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นได้
และความรู้ชนิดที่จะทำ ให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีก็คือ
ความรู้เกี่ยวกับคุณธรรมหรือความดี (ชเอิญศรี, มปป.: 67)
ดังที่โสกราตีสกล่าวว่า คุณธรรม คือ ความรู้ (Virtue is Knowledge) โสกราตีสเชื่อว่า คนเราไม่อาจจะทำอะไรได้ถูกต้องจนกว่าจะมีความรู้ที่ถูกต้องเสียก่อน
ดังนั้น ในการกระทำดี มนุษย์จึงต้องทำด้วยความรู้ว่า มันเป็นสิ่งที่ดี เพราะการที่มนุษย์ทำ
ชั่วนั้นเกิดจากความไม่รู้ว่า มันชั่ว นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนในงานประพันธ์ของเพลโต
เพลโต ได้อธิบายเกี่ยวกับหลักพื้นฐานแรกของสิ่งทั้งหลาย
ตั้งแต่กำเนิดโลก เทพเจ้าผู้สร้าง ผู้ลิขิตโลก วิญญาณโลก และวิญญาณมนุษย์
ในส่วนที่เกี่ยวกับมนุษย์นั้นเพลโต มีความเห็นว่า มนุษย์ตามธรรมชาตินั้นมีข้อจำกัด
เนื่องจากมนุษย์ได้เสื่อมถอย (a
fall from grace) จากสภาพสมบูรณ์
ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพระผู้เป็นเจ้า ที่มีความสมบูรณ์ และไม่มีข้อจำกัด ดังนั้น มนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้จึงต้องพยายามทำความดี
เพื่อจะได้มีโอกาสกลับไปสู่จุดที่จากมา ชีวิตในโลกปัจจุบันไม่มีความหมายอะไรสำหรับมนุษย์
และอธิบายถึงปัญญาของมนุษย์ อันเป็นลักษณะที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นว่าในวิญญาณมนุษย์แบ่งได้เป็น
2 ส่วน และส่วน 1
ในสองส่วนนี้ยังแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ส่วนที่สูงที่สุด คือ
ปัญญา (ปรีชา, 2514: 119) ดังนั้น วิญญาณของมนุษย์จึงมี
3 ภาคด้วยกัน ดังนี้ 1.
วิญญาณแห่งปัญญาหรือเหตุผล ทำให้มนุษย์สามารถค้นพบเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต และทำตนให้ไปสู่จุดหมายนั้น
วิญญาณในส่วนนี้นี่เองที่ทำให้มนุษย์สูงส่ง และแตกต่างจากสัตว์อื่น, 2. วิญญาณแห่งอารมณ์ คือ ความรู้สึกทางใจที่เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุทางวัตถุ
เช่น ความกล้าหาญ ความเสียสละ ความมีวินัย วิญญาณในส่วนนี้มีลักษณะเป็นกลางๆ คือ
สามารถจะพาเราไปสู่เป้าหมายตามปัญญาที่ตั้งไว้หรือจะเป็นไปตามความต้องการตามความต้องการทางร่างกายก็เป็นได้ทั้งสองกรณี
และ3. วิญญาณแห่งความอยากจะดำเนินสวนทางกับวิญญาณแห่งปัญญา
อันเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งในจิตใจมนุษย์ วิญญาณในระดับนี้ทำได้มนุษย์ได้รับความสุขที่เทียบแล้วไม่ต่างจากสัตว์
แม้จะละเอียดซับซ้อนกว่า แต่ก็ยังเป็นความสุขประเภทเดียวกัน
แนวคิดของเพลโตต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นแตกต่างกับของอริสโตเติล
อริสโตเติลอธิบายว่า ธรรมชาติมีวิวัฒนาการ ไม่มีสิ่งใดในธรรมชาติเป็นไปอย่างไร้จุดหมาย
กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ หรือสัตว์ ต่างก็มีจุดหมายในตัวของมันเองทั้งสิ้น ในทัศนะของเพลโตสิ่งมีชีวิตทั้งหมดนั้นแบ่งเป็น
3 ระดับ และมนุษย์จัดอยู่ในระดับสูงสุด
กล่าวคือ ในระดับตํ่าที่สุดนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตประเภท พืช
ที่มีวิญญาณในการรับอาหาร เจริญเติบโต และขยายพันธุ์ ระดับกลาง คือ
พวกสัตว์เดรัจฉาน มีลักษณะที่เหนือกว่าพืชตรงที่มีความรู้สึกทั้งความรู้สึกพอใจ (pleasure)
และความเจ็บปวด (pain) (ชเอิญศรี, มปป.: 104) และวิญญาณในระดับสูงได้แก่มนุษย์
ที่นอกจากจะมีวิญญาณส่วนพื้นฐานเหมือนพืช และสัตว์แล้วยังมีส่วนพิเศษที่เรียก
ว่า เหตุผลอีกด้วย
ทัศนะเรื่องระดับวิญญาณของมนุษย์จะคล้ายคลึงกัน
จนไปสู่คำถามว่าอะไร คือ สิ่งที่ดีที่สุดสำ หรับมนุษย์ หากแต่ข้อแตกต่างของอริสโตเติลกับเพลโตนั้นอยู่ที่คำตอบ
เนื่องจากอริสโตเติลไม่ได้มุ่งหมายที่ความดีในอุดมคติที่ไม่มีอยู่ในโลกปัจจุบันเช่นเพลโต
ความดีสูงสุดในทัศนะของอริสโตเติลจึงเป็นความดีที่มนุษย์สามารถเข้าถึงได้ในโลกนี้
เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่จะพัฒนาตนเองขึ้นไปเรื่อยๆ ดังเช่น
ในเรื่องความสุข ที่ไม่ได้เกิดจากความพึงพอใจทางผัสสะเท่านั้นแต่ การกระทำความดีอันเป็นสิ่งที่มาจากการใช้เหตุผลของมนุษย์นั้นจะทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้
แม้ว่ามนุษย์ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากขณะมีชีวิตอยู่
แต่มนุษย์ควรพยายามใช้เหตุผลของมนุษย์แก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ให้ดีขึ้นตามลำดับ
อริสโตเติลอธิบายถึงลักษณะของมนุษย์ว่ามีความแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น
โดยเห็นว่าสัตว์ที่มีสำนึกในจุดจบของตัวเองอย่างเดียวในโลกก็ คือ มนุษย์
ถึงแม้สัตว์ชนิดต่างๆ เช่น ผึ้ง และมด จะดูเสมือนว่า ทำงานอย่างเป็นไปตามเหตุผล
และมีเค้าโครงที่แน่นอนแต่ก็เป็นเพียงการทำงานที่เป็นไปตามสัญชาตญาณ ถึงแม้ว่า
ผึ้งและมด จะมีการเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนมีจุดมุ่งหมาย
แต่แท้จริงแล้วก็ทำไปอย่างไม่ได้มีความจงใจหรือความสำนึกต่อกิจกรรมที่ตนกำลังกระทำต่างจากมนุษย์
ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระดับสูงกว่า พืช และสัตว์ชนิดอื่นๆ
ตรงที่มนุษย์มีปัญญา และปัญญา ตัวนี้ที่ทำให้มนุษย์ต้องมีหน้าที่พิเศษที่แตกต่างจาก
พืช และสัตว์
ปรัชญากรีกเริ่มต้นด้วยแนวคิดแบบสสารนิยมในการอธิบายธรรมชาติของมนุษย์ด้วยการทอนมนุษย์ไปสู่หน่วยมูลฐานที่สุดที่ไม่สามารถลดทอนลงได้อีก
แต่ด้วยแนวคิดข้างต้นก็ยังไม่สามารถอธิบายถึงความสลับซับซ้อนในพฤติกรรมของมนุษย์ได้
ต่อมาจึงเกิดมีปรัชญาแนวจิตนิยม สำหรับอธิบายโลก และชีวิตในแนวที่แตกต่างจากปรัชญาสสารนิยม
ซึ่งยอมรับสิ่งที่อยู่นอกเหนือไปจากประสาทสัมผัสของเรา
แนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ในปรัชญายุคกลางถึงยุคใหม่
เซนต์ออกัสติน (ค.ศ.354-330) และเซนต์อควินัส (ค.ศ.1225-1274) ซึ่งเป็นนักปรัชญาในยุคกลางนั้นได้ตีความท่าทีของศาสนาคริสต์ต่อมนุษย์
และ ธรรมชาติในลักษณะที่มนุษย์นั้นเป็น ผู้ทำหน้าที่ดูแลแทนพระเจ้า (Stewardship)
(เนื่องน้อย, 2537: 32)
และมีการจัดลำดับความสัมพันธ์ระหว่าง พระเจ้า มนุษย์ และธรรมชาติ จากหลักฐานในคัมภีร์พันธสัญญา
โดยลำ ดับแรก คือ พระเจ้าที่เป็นจุดศูนย์รวมของความสักดิ์สิทธิ์
มีสภาพที่เหนือไปจากธรรมชาติทั้งปวง จากนั้น คือ มนุษย์
ซึ่งเป็นสิ่งเดียวในโลกที่ถูกสร้างขึ้นมาในฉายาของพระเจ้า
มนุษย์จึงได้รับสิทธิ์ในการครอบครองธรรมชาติ และขยายเผ่าพันธุ์ของตน ขณะที่ธรรมชาติ
ไม่มีคุณค่าในตัวเอง เนื่องจากถูกสร้างขึ้นเพื่อรับใช้ความต้องการของมนุษย์
จากคัมภีร์ปฐมกาลทำให้เราได้ทราบทัศนะของคริสต์ศาสนาต่อมนุษย์ว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากดำริของพระเจ้า
มนุษย์คู่แรก คือ อาดัม และอีวา จากเดิมที่เคยมีชีวิตอย่างสุขสบาย
แต่เมื่อทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำ สั่งของพระเจ้า เนื่องจากได้ลิ้มลองผลไม้จากต้นที่ทำให้รู้จักความดี
ความชั่ว มนุษย์คู่แรกจึงต้องถูกสาบให้รับบาปอย่างไรก็ตามบาปดังกล่าวที่มนุษย์คู่แรกได้ก่อไว้จะไม่มีวันหมดไปหากพระเจ้าไม่ทรงพระกรุณาที่จะให้โอกาสมนุษย์กลับตนเป็นคนดี
โดยการที่พระเจ้าได้เลือกชนเผ่าซึ่งเป็นประชากรของพระองค์ (the chosen people) ซึ่งจะนำความรอดมาสู่มนุษย์ด้วยการทำให้มนุษย์กลับไปมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าดังเดิม
จากนั้นพันธสัญญาระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าจึงเกิดขึ้น โดยผ่านประกาศก (messiah)
ที่พระเจ้าได้สั่งมาเพื่อนำ บัญญัติ 10
ประการมาประกาศให้มนุษย์ปฏิบัติ (ปรีชา และสมภาร, 2543: 204)
เซนต์ออกัสตินใช้เหตุผลเรื่อง
ความสามารถที่จะรอดพ้นบาป (salvation)
ของจิตวิญญาณมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ออกัสตินเชื่อว่า ทำให้มนุษย์สูงส่งต่างจากสิ่งอื่นใน
จึงทำให้ความถูกต้องทางศีลธรรมจำกัดอยู่แต่ในมนุษย์ไม่นับรวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่น เซนต์โทมัส
อควินัส ได้ยกข้อความหลายตอนจากคัมภีร์พันธสัญญาเดิมมาใช้อ้างถึงความชอบธรรมของมนุษย์ในการนำธรรมชาติอื่นมารับใช้ตนหรือแม้แต่แนวคิดที่เห็นว่า
ไม่เป็นเรื่องบาปที่มนุษย์จะฆ่าสัตว์ ดังเช่นที่ปรากฏในงานเขียนเรื่อง Summa
Contra Gentiles ความว่า ด้วยพระเมตตาของพระเจ้า
สัตว์เหล่านี้มีอยู่ก็เพื่อให้มนุษย์ใช้ มันเป็นไปตามลำดับโดยธรรมชาติ ดังนั้น จึงไม่ผิดที่มนุษย์จะใช้ประโยชน์จากสัตว์
ไม่ว่าจะด้วยการฆ่าหรือด้วยวิธีการใดๆ (เนื่องน้อย, 2537: 21)
การถือว่า ตนเองมีศักดิ์ศรีสูงส่งกว่าสิ่งทั้งหลายที่พระเจ้าได้สร้างมานั้นมีปรากฏให้เห็นในพระคัมภีร์ดังที่แสดงไว้ข้างต้นซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้คริสตศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่นๆ
ในตะวันออก ดังเช่น พุทธศาสนาที่ไม่ยอมรับในเรื่องความเป็นนายเหนือธรรมชาติของมนุษย์
แต่ถือว่า มนุษย์นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น
ไม่มีสิ่งใดอยู่เหนือธรรมชาติมีแต่ที่เกี่ยวข้องอย่างหนึ่งอย่างใดกับความเป็นไปในธรรมชาติ
ส่วนการที่มนุษย์คิดว่า ตนสามารถบังคับควบคุมธรรมชาติได้นั้น มาจากการที่มนุษย์รู้เหตุปัจจัยต่างๆ
แล้วนำตัวเองเข้าร่วมผลักดันปัจจัยต่างๆ ให้เกิดเป็นกระบวนการสืบเนื่องต่อกันจนทำให้เกิดผลตามที่ตนต้องการ
บุคคลที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ก่อตั้งปรัชญา
และวิธีการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ คือ ฟรานซิส เบคอน ที่พยายามใช้ตรรกวิทยาบนรากฐานของประสบการณ์
มีขั้นตอนของการทดลองสมมติฐาน การพิสูจน์สมมติฐานมาใช้อธิบายสิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจน
จากขั้นตอนนี้ทำให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะทดลอง และพัฒนาวิชาความรู้ในแขนงต่างๆ
ออกไปอย่างกว้างขวาง ผ่านรากฐานความคิดแบบประสบการณ์นิยมซึ่งมีผลกระทบต่อความคิดของคนในยุคปัจจุบันจนถึง
เดส์คาร์ตส์ ที่ได้ชื่อว่า เป็นบิดาของปรัชญาสมัยใหม่ เขาได้เสนอทัศนะว่า ธรรมชาติดำเนินไปตามกฎที่เป็นกลไล
และทุกสิ่งทุกอย่างในโลกสามารถอธิบายได้ด้วยหลักทางคณิตศาสตร์ (วราพร, 2539: 3)
เขาจึงพยายามสรุปปรากฏการณ์ทางกายภาพทุกชนิดเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นอนทางคณิตศาสตร์
ทัศนะเช่นนี้ย่อมทำให้มนุษย์เกิดความมั่นใจในศักยภาพทางสติปัญญาของตนที่มีเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น
จนทำให้มนุษย์เข้าใจว่า เมื่อตนสามารถเข้าใจ และอธิบายกฎเกณฑ์ของธรรมชาติได้บางส่วน
จะทำให้ตนเข้าใจ และอธิบายธรรมชาติทั้งหมดได้
เมื่อมนุษย์มาถึงจุดที่มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยีดังที่เราเห็นในยุคปัจจุบัน ซึ่งมาพร้อมๆ กับโลกทัศน์แบบจักรกล (mechanistic view) ที่มองสิ่งทั้งหลายไปในเชิงวัตถุแบบแยกส่วน
ทำให้มนุษย์ไม่เห็นความสัมพันธ์ของตนเองกับผู้อื่น ตนเองกับธรรมชาติ เป็นที่มาของการทำให้มนุษย์ต้องเผชิญกับวิกฤติทั้งด้านสังคม
และสิ่งแวดล้อม วิกฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องชี้ให้มนุษย์เห็นว่า
ตนเองไม่ได้รับความสุขตามที่เคยคาดหมายไว้จากการพึ่งพาวิทยาศาสตร์
มนุษย์จึงเริ่มแสวงหาความหมายของอำนาจตนเองที่อยู่เหนือธรรมชาติว่า
มีความหมายต่อการดำ รงชีวิตอยู่อย่างไร เนื่องจากหนทางที่นำธรรมชาติมารับใช้ตนนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดความสุขแก่มนุษย์อย่างถาวร
ซํ้าร้ายมนุษย์กลับต้องเผชิญกับสภาวะแปลกแยก (alienation) ต่อธรรมชาติ ความพยายามของมนุษย์ที่จะเป็นนายเหนือทุกสิ่งนั้นทำให้มนุษย์ใช้เสรีภาพออกนอกลู่นอกทาง
การถือว่า ตนเองเหนือกว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนั้น ทำให้มนุษย์แสดงตัวออกมาในลักษณะที่ขาดความประสานกลมกลืนต่อธรรมชาติ
ตลอดจนหลงลืมวิถีชีวิตที่มนุษย์ชนควรประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสันติสุขในสังคม
วิวัฒนาการทางความคิดที่นักปรัชญาสมัยต่างๆ
มีต่อ มนุษย์ นั้นเมื่อประมวลแล้วสามารถจำแนกมนุษย์ออกมาได้ 2 แนวคิดที่สำคัญ คือ สสารนิยม
และจิตนิยม 1. แนวคิดแบบสสารนิยม
เป็นแนวคิดที่อธิบายธรรมชาติของมนุษย์ทอนลงได้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่เป็นสสาร
เช่น เป็นธาตุ 4หรืออะตอม เป็นต้น เห็นว่าประสาทสัมผัสเท่านั้น
เป็นที่มาของความรู้ และมีจริยศาสตร์แบบสุขนิยม และ2.
แนวคิดแบบจิตนิยม เป็นแนวคิดที่อธิบายว่า มนุษย์ทอนลงได้เป็นจิต ซึ่งเป็นสิ่งนามธรรม
บางกลุ่มเรียกว่า พระเจ้า และบางกลุ่มเรียกว่า วิญญาณ ที่เป็นอมตะนิรันดร์ และไม่ขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงใดๆ
กลุ่มนี้จะสนับสนุนการใช้ความคิดว่าเป็นที่มาของความรู้
และมีจริยศาสตร์แบบอสุขนิยม
วิธีมองมนุษย์ในแบบที่ใช้เหตุผลตามปรัชญาตะวันตก
ซึ่งทั้ง 2
แนวคิดนั้นยังไม่สามารถให้คำตอบของความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกายได้ เนื่องจากใช้ฐานจากความคิดสุดขั้ว
(extreamism) คือ ถ้าหากมิใช่สิ่งนี้ก็จะต้องเป็นสิ่งนั้น
ซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงของธรรมชาติได้สรุปแนวคิดมนุษย์ในทัศนะของพุทธศาสนา
และปรัชญาตะวันตก
มนุษย์ในทัศนะของพุทธศาสนา พุทธศาสนาได้อธิบายถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่าเกิดจากการประกอบกันขึ้นของขันธ์
5 นั่นคือ
แท้จริงแล้วมนุษย์ไม่ได้เป็นอะไรอื่นนอกจากการประกอบกันเข้าของปัจจัยต่างๆ
และต้องแตกสลายไปตามเหตุปัจจัยเช่นกัน เนื่องจากธรรมชาติดังกล่าวของมนุษย์นั้นดำเนินไปตามหลักไตรลักษณ์
ซึ่งเป็นสัจจธรรมสำหรับทุกสิ่ง ได้แก่ ลักษณะที่ไม่คงที่ ต้องเปลี่ยนแปลง ลักษณะที่เป็นทุกข์
ต้องดิ้นรน และลักษณะที่ไม่มีตัวตนที่แท้จริง
ในประเด็นของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
พุทธศาสนาไม่ได้มองมนุษย์แยกจากธรรมชาติ
เนื่องจากสิ่งทั้งหลายทั้งปวงย่อมต้องอิงอาศัยและเป็นปัจจัยต่อกันตามกฎของปฏิจจสมุปปาท
ด้านความต้องการของมนุษย์ พุทธศาสนาสนับสนุนให้มนุษย์มีปัจจัย 4 ให้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข
ไม่ให้ขาดแคลนหรือมีมากเกินความจำเป็น
ทั้งนี้เพื่อให้เกื้อกูลแก่การพัฒนาคุณธรรมในระดับสูงต่อไป ดังนั้น เมื่อมนุษย์พัฒนาส่วนต่างๆ
อย่างได้ดุลยภาพตามคือทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และปัญญาตามแนวพุทธศาสนาแล้วนั้น ย่อมส่งผลให้เกิดสภาพชีวิตที่เป็นสุขในที่สุด
มนุษย์ในทัศนะของปรัชญาตะวันตก ปรัชญาตะวันตกได้แสดงให้เห็นว่า
มนุษย์มีศักยภาพเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
และได้รับการยกย่องให้เป็นสิ่งมีชีวิตในระดับสูง เพราะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่ใช้เหตุผลเป็นคุณลักษณะพิเศษดังกล่าวนี้
พบได้จากแนวคิดของนักปรัชญากรีกยุครุ่งเรืองทุกคนที่กล่าวถึงระดับสติปัญญาและเหตุผลของมนุษย์ที่ไม่มีในสิ่งมีชีวิตอื่น
ๆ และที่ทำ ให้มนุษย์มีอำนาจในการตัดสินใจกระทำการต่างๆ ได้
จากการเน้นยํ้าให้เห็นถึงศักยภาพทางเหตุผลของมนุษย์นี้เอง ทำให้มนุษย์เข้าใจไปว่าตนมีสิทธิจัดการสิ่งต่างๆ
ให้เป็นไปตามความต้องการของตนด้วย
แนวคิดที่ยกย่อง
เชิดชูมนุษย์ให้ยิ่งใหญ่ และเหนือกว่าธรรมชาติ (Anthropocentric) ตลอดจนสิ่งมีชีวิตอื่นนั้น
ยิ่งปรากฏเด่นชัดมากขึ้นในยุคกลางโดยที่นักปรัชญาในยุคนั้นพยายามตีความพระคัมภีร์ในศาสนาคริสต์ให้สอดคล้องกับความเชื่อของตนว่า
มนุษย์สมควรได้รับสิทธิ์ในการครอบครอง และจัดการกับธรรมชาติ เพื่อรับใช้ความต้องการของมนุษย์
จนกระทั่งถึงยุคของปรัชญาสมัยใหม่ที่พยายามทำความเข้าใจกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติโดยใช้ศักยภาพทางสติปัญญาของมนุษย์มาพัฒนาจนเกิดเป็นความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์
ประวัติศาสตร์ของปรัชญาตะวันตก
ซึ่งมีมนุษยนิยมแบบกรีกเป็นรากฐานได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติในลักษณะที่มนุษย์เป็นนายเหนือธรรมชาตินั้นได้ก่อให้เกิดเป็นความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
ก่อให้เกิดประดิษฐกรรมที่อำนวยความสะดวกแก่มนุษย์
ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งแสดงออกถึงความพยายามในการที่จะเอาชนะธรรมชาติของมนุษย์
ในขณะเดียวกันก็เป็นการตอกยํ้าถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ และธรรมชาติในลักษณะที่มนุษย์เป็นนายธรรมชาติเป็นทาสที่สามารถใช้ธรรมชาติ
เพื่อนำไปสู่จุดหมายของตนเอง
มนุษย์มีความมุ่งหวังที่จะได้รับความสะดวกสบายจากเทคโนโลยี
ซึ่งเป็นแนวคิดการสนองความต้องการเพื่อให้ตนเกิดความสุข กระทั่งมนุษย์ลืมไปว่า แท้จริงแล้วการมีชีวิตที่เกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติต่างหากจะนำมนุษย์ไปสู่ชีวิตที่ได้สมดุลย์
และเป็นชีวิตที่มนุษย์ได้พัฒนาศักยภาพภายในตนเองให้เกิดอิสรภาพที่แท้จริงจำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์ต้องกลับมาทบทวนตนเองว่า
ได้ทำให้ตนเข้าถึงความสุขที่แท้จริงตามที่มุ่งหวังไว้หรือไม่
----------------------------------------------------
เอกสารและสิ่งอ้างอิง
กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
พระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่
16. 2530.
กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
_____ . พระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย ฉบับสังคายนา.
เล่มที่ 25. 2530. กรุงเทพมหานคร:
โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 4. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.
_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 10. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.
_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 12-16. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การ
ศาสนา.
กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ.
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 17. 2530.
กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.
_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 19-21. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การ
ศาสนา.
_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 23. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.
_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 25. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.
_____. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 29. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.
_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 31. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.
ชเอิญศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา. มปป.
ปรัชญาตะวันตกสมัยโบราณ (ปรัชญากรีก).
กรุงเทพมหานคร: คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยรามคำ แหง.
เนื่องน้อย บุณยเนตร. 2537. จริยศาสตร์สภาวะแวดล้อม:
โลกทัศน์ในพุทธปรัชญาและปรัชญาตะวันตก.
กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปรีชา ช้างขวัญยืน และสมภาร พรมทา (บรรณาธิการ). 2543. มนุษย์กับศาสนา.
กรุงเทพมหานคร:
โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). 2533. พจนานุกรมพุทธศาสน์
ฉบับประมวลศัพท์.
กรุงเทพมหานคร:
โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระธรรมปิฎก. 2541. การพัฒนาที่ยั่งยืน. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มูลนิธิพุทธธรรม.
______. 2543. พุทธธรรม. กรุงเทพมหานคร:
โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พุทธทาสภิกขุ. 2541. ปรมัตถธรรมสำหรับดำเนินชีวิต. กรุงเทพมหานคร:
บริษัทเคล็ดไทยจำกัด.
ธรรมสภา.
พุทธทาสภิกขุ. ม.ป.ป.ก วิธีแก้ปัญหาชีวิต.
กรุงเทพมหานคร: รุ่งแสงการพิมพ์.
วราพร ศรีสุพรรณ. 2539. สิ่งแวดล้อมศึกษา. กรุงเทพมหานคร:
โรงพิมพ์โอเอสพริ้นติ้งเฮาส์.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น