ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ตั้งแต่ปี 2475 และในปัจจุบันการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย มีความก้าวหน้าไปมาก
จะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งเกิดขึ้นจากสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน
อันถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน เนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติใหม่ ๆ
ที่จะสร้างความเข็มแข็งและประสิทธิภาพให้แก่ระบบการเมือง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
เช่น การตรวจสอบอำนาจรัฐโดยองค์กรอิสระต่างๆ และจากภาคประชาชน เป็นต้น
มาตรการเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบการเมือง
แต่หากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศยังไม่เปลี่ยนแปลงทัศนคติ
และแนวความคิดแบบดั้งเดิมไปสู่แนวความคิดแบบประชาธิปไตยแล้ว
ประเทศก็จะไม่สามารถพัฒนาไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงได้
ซึ่งแนวคิดของการมีส่วนร่วมทางการเมืองถือเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
การที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เข็มแข็งได้นั้น ทางหนึ่ง คือ การส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้และมีความเข้าใจถึงประโยชน์ของการมีส่วนร่วมทางการเมือง
เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นนั่นเอง
สถานการณ์ทางการเมือง
กระแสการทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงการแตกแยกกันทางความคิดของกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคม
เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอยู่ในขณะนี้ล้วนแล้วแต่สั่นคลอนความเจริญมั่นคงของประเทศ
เป็นเรื่องยากที่ประเทศชาติจะรอดพ้นวิกฤตนี้ไปได้และต้องยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวข้างต้น
มีผลมาจากพฤติกรรมของนักการเมืองเป็นส่วน ประกอบสำคัญ นั่นคือ การขาดจิตสำนึกด้านคุณธรรม
และจริยธรรม ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนอย่างแท้จริง
ในขณะที่ประชาชน ต่างถามหานักการเมืองที่มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต
ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ
ย่อมส่งผลและเป็นหนทางที่จะช่วยให้ประเทศชาติสามารถผ่านพ้นวิกฤตได้
การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ
ไม่เว้นแต่ละวัน ในประเด็นที่เกี่ยวกับการทุจริตของนักการเมือง
ซึ่งเป็นปัญหาการใช้อำนาจทางกฎหมายอยู่เหนือกรอบคุณธรรม จริยธรรม
และนับวันกระแสการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าสังคมของเรากำลังประสบปัญหาต่างๆ
เกี่ยวกับจิตสำนึกด้านคุณธรรม และจริยธรรมมากมาย โดยเฉพาะในวงการการเมือง
จนอาจกล่าวได้ว่า มาตรฐานทางการเมืองกับวัฒนธรรมทางการเมืองในสังคมประชาธิปไตยของประเทศไทย
ด้อยในมาตรฐาน นับตั้งแต่ด้อยในความรับผิดชอบ ด้อยในความซื่อสัตย์ สุจริต
ความมีจริยธรรม คุณธรรม และคงไม่มีใครปฏิเสธว่า การทุจริตของนักการเมืองทำให้ประชาชนทุกข์ยาก
ลำเค็ญขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้คนดีข้าราชการดีๆ ท้อแท้ ไม่ก้าวหน้า
ประเทศชาติเกิดความเสียหายทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม
ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตยแต่ก็เห็นด้วยว่า เป็น
ประชาธิปไตยที่ถูกชักจูง จัดฉาก ติดสินบน เพื่อแลกกับผลจากการเลือกตั้ง
และเข้าใจว่าประชาธิปไตย คือ การเลือกตั้งและต้องยอมรับว่าในบรรดาอาชีพที่มีอยู่นักการเมือง
เป็นอาชีพที่มักไม่ได้รับความเชื่อมั่นหากชนะการเลือกตั้งซึ่งถือว่าเกิดจากประชาชนส่วนใหญ่เลือกมาจะทำอะไรก็ได้โดยอ้างว่า
เป็นสิ่งที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนไม่ว่าจะขัดแย้งกับกฎหมายหรือจริยธรรมแค่ไหนก็ตามทีผู้คนมักกล่าวถึงในทางเสียดสีต่างๆ
นานา มาโดยตลอด นับแต่อดีต
จริยธรรมของนักการเมืองนับได้ว่า เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่นักวิชาการทางการเมืองให้ความสนใจศึกษา
และพยายามที่จะผลักดันให้เป็นเงื่อนไขสำคัญอันนักการเมืองจะยึดถือปฏิบัติทั้งนี้
เพราะนักการเมืองถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ
แต่ปัจจุบันปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมส่วนหนึ่งเกิดจากความเห็นแก่ตัวของนักการเมือง
ความเห็นแก่พักแก่พวก เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ทำให้เกิดปัญหาทางด้านการเมืองที่ยึดเยื่อ
ส่งผลกระทบต่อปัญหาบ้านเมืองในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ สังคม
การท่องเที่ยว ความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับรากหญ้า เป็นต้น
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
คือ เป้าหมายของการพัฒนาระบบประชาธิปไตย ดังนั้น ความมั่นคง และเสถียรภาพของระบอบการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
นอกจากจะขึ้นอยู่กับ ความรู้ความสามารถ จริยธรรม และคุณธรรมของนักการเมือง
แล้วประการสำคัญยังขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจ
และความศรัทธาของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ บทความเกี่ยวกับจริยธรรมการเมืองของนักการเมืองนั้น
เป็นการส่งเสริมแนวความคิดในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยพร้อมทั้งกำหนดแนวทางในการที่จะพัฒนาให้นักการเมืองมีทัศนคติและแนวคิดทางการเมืองในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตย
แล้วนำไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยของประชาชนทั่วไปในวิถีทางที่ถูกต้องชอบธรรม
เพื่อรักษาให้ระบอบการเมืองมีเสถียรภาพต่อไป
จริยธรรมนักการเมือง คือ
หลักเกณฑ์ที่ใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติของนักการเมืองโดยนักการเมืองหรือผู้นำทางการเมืองซึ่งมีฐานะเป็นผู้ปกครองและผู้ใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจทางการเมืองจึงต้องมีจริยธรรม
คุณธรรมที่สูงส่งกว่าปัจเจกชนทั่วไปที่พึงมี เพราะคุณลักษณะดังกล่าวคือ จุดเริ่มต้นของที่มาของความไว้วางใจจากประชาชนนั่นเอง
และการใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจทางการเมืองส่งผลต่ออธิปไตยของรัฐ และการอยู่รอดของประเทศ
โดยมีปรัชญาหลายๆ สำนักได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับจริยธรรมคุณธรรม สำหรับนักการเมืองหรือผู้ปกครองพึงต้องตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดที่เกี่ยวกับปรัชญาเหล่านี้
ปรัชญาเต๋าเหล่าจื๊อ
นักปราชญ์ชาวจีน ผู้ให้แนวคิดเกี่ยวกับปรัชญา เต๋า และเต๋อ โดยคำว่า เต๋อ (Te) แปลว่า พลังอำนาจ (Power)
หรือคุณธรรม (Virtue) กฎธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งครอบงำสรรพสิ่งทั้งหลายทั่วสากลจักรวาลนั้น
คือ เต๋า ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่มีชีวิต และที่ไม่มีชีวิตตั้งแต่สิ่งที่เล็กที่สุดจนถึงสิ่งที่ใหญ่ที่สุด
ต่างก็ดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ของเต๋าทั้งสิ้น สำหรับสิ่งที่มีชีวิตนั้นไม่ว่าจะเป็นมนุษย์
สัตว์พืช หรืออื่นๆ จะมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวเรียกว่า เต๋อ
จึงเป็นได้ทั้งพลังชีวิตและคุณธรรม สำหรับสัตว์พืช
และสิ่งที่มีชีวิตในลักษณ์อื่นๆนั้น เต๋อ คือ พลังชีวิตที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ สำหรับมนุษย์แล้ว
เต๋อ คือ พลังชีวิตที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่และคือคุณธรรมที่ทำให้ชีวิตนั้นมีค่าโดยสมบูรณ์จริยธรรมอันสูงสุดของมนุษย์ก็
คือ เต๋อนั่นเองทั้งเต๋าและเต๋อ ในส่วนที่ลึกที่สุดนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยหลักจริยธรรม
(Ethics) ของเหล่าจื้อแบ่งเป็น 4 ข้อ ได้แก่
การรู้จักตนเองการรู้จักตนเอง หมายถึง
การรู้จักธรรมชาติภายในที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตจิตใจของมนุษย์โดยตรงเหลาจื๊อไม่ส่งเสริมการแสวงหาความรู้ภายนอกเพราะมีแต่จะทำให้คนเราเหินห่างจากความรู้ความเข้าใจในชีวิตของตนและก่อให้เกิดความยุ่งยากขึ้นแก่ชาวโลกไม่มีที่สิ้นสุด
ดังนั้น การรู้จักตนเอง คือการรู้จักกฎธรรมชาติของชีวิต
การรู้จักกฎธรรมชาติของชีวิตก็คือ การรู้จักเป้าหมายอันแท้จริงของชีวิตนั่นเอง
การชนะตนเองเมื่อรู้จักกฎธรรมชาติของชีวิตได้อย่างถ่องแท้
และปฏิบัติตามกฎธรรมชาตินั้นอย่างถึงที่สุดแล้วจนกระทั่งตัวเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกฎธรรมชาตินั้นไม่มีการฝืนใจอีกต่อไป
เรียกว่า การชนะตัวเองได้อย่างเด็ดขาดเพราะเมื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติก็จะเกิดความรู้สึกที่เต็มเปี่ยมขึ้นมา
และเมื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่าง
ความสันโดษเมื่อรู้จักกฎธรรมชาติของชีวิต
และปฏิบัติตามกฎธรรมชาติของชีวิตนั้น
จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวธรรมชาติก็จะเกิดความรู้สึกเต็มเปี่ยมขึ้นมามีแต่ความหยุดความพอ
ไม่รู้สึกขาดตกบกพร่องอีกต่อไปนั้น คือ ชีวิตที่มักน้อยสันโดษที่สุดความสันโดษ
ก็คือ ความพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่
อุดมคติแห่ง เต๋า จริยธรรมข้อที่สี่ของเหลาจื๊อ
คือ จงมีเต๋าเป็นอุดมคติ การมีเต๋าเป็นอุดมคติ คือ การปฏิบัติตามเต๋า
เมื่อปฏิบัติตามเต๋าได้โดยสมบูรณ์ชีวิตก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเต๋า
ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเต๋า
ก็คือชีวิตที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทุกสิ่งทุกอย่าง นี่คือเป้าหมายอันแท้จริงของชีวิต
ปรัชญาขงจื้อ ขงจื้อถือได้ว่า เป็นตัวแทนแห่งความเชื่อของคนจีนทั้งมวล
และถือได้ว่าเขาเป็นคนธรรมดาคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับเป็น เทพ ถึงกับมีผู้กล่าวว่าถ้าไม่ได้ศึกษาขงจื้อย่อมจะไม่เข้าถึงประวัติศาสตร์จีน
ปรัชญาการเมืองของขงจื้อมีรากฐานมาจากคุณธรรม ความกตัญญู ความเมตตา
คุณงามความดีความถูกต้อง ความตรงไปตรงมา การสนับสนุน และความไว้วางใจจากประชาชน
โดยคำสอนของท่านถือเอา คุณธรรมกับการเมือง เป็นเรื่องเดียวกันโดยให้เริ่มจากการศึกษาตนเองจากบุคคลศึกษาสิ่งต่างๆ
อย่างถ่องแท้ ซึ่งจะเป็นรากฐานนำพาสู่สันติสุขของสังคม โดยแท้ดั่งคำสอนของขงจื้อว่าด้วย
คุณธรรม คุณงามความดี ความถูกต้อง ได้แก่ การปกครองยึดมั่นคุณธรรม
ดุจดั่งดาวเหนืออยู่ประจำที่มีดาวอื่นๆ หมุนรอบด้วยความเคารพนับถือ ความคิดเสาหลักอีกประการหนึ่งของขงจื๊อ
คือ การศึกษา
การจะได้เข้าใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างแท้จริงมาจาการทุ่มเทตนเองในการขวนขวายใส่ใจศึกษายาวนาน
โดยการศึกษาในความหมายของขงจื้อ คือ การได้ครูดีเป้าหมายของขงจื้อในการผลิตผู้สูงส่ง
คือ ให้ความสง่า พูดจาถูกต้อง และแสดงถึงคุณธรรมในทุกสิ่ง ขงจื้อถือว่า ศีลธรรมศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ
เพราะเป็นสิ่งที่ผู้คนจะยอมรับสถานการณ์รับรู้ความหมายของภาษา และคุณค่าของสังคม
ปรัชญาของโสเครตีสโสเครตีส
เป็นนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกตะวันตกเป็นนักปรัชญาที่มุ่งเน้นในการแสวงหา
และเผยแพร่คุณค่าแห่งปัญญา ปัญญาในความหมายของโสเครตีส คือ ความรู้แห่งความดีความรู้แห่งความดีจะนำพามนุษย์ไปสู่ชีวิตที่เป็นสุข
โดยเฉพาะการมีชีวิตร่วมกันในสังคมมนุษย์จะต้องยึดมั่นในการกระทำความดี เพื่อให้การใช้ชีวิตร่วมกันเป็นไปโดยสันติสุข
ปรัชญาของโสเครตีส จึงเป็นรากฐานสำคัญของความคิดทางการเมืองที่มุ่งมั่นให้มนุษย์แสวงหาความดีอันเป็นคุณธรรมสูงสุดของชีวิตสังคม
และด้วยความกล้าหาญในการรักษาอุดมการณ์หลักคุณธรรมที่สำคัญของโสเครตีส ได้แก่
ปัญญา (Wisdom) หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับความดี
คือ รู้ว่าอะไรดี และอะไรไม่ดีความดีสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล
และเหตุผลของความดีจะทำให้มนุษย์มีความสุข ดังนั้น ผู้ปกครองกับคุณธรรมแห่งปัญญา
คือ ผู้ปกครองที่ดีจะต้องมีคุณธรรมแห่งปัญญา กล่าวคือ
ต้องมีความรู้ว่าความดีคืออะไร เมื่อผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจอย่างชัดแจ้งในเรื่องความดีผู้ปกครองจะต้องประพฤติปฏิบัติตนตามวิถีแห่งความดี
เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาชน
ในขณะเดียวกันจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับความดีอย่างกว้างขวาง
และทั่วถึง ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากผู้นำปราศจากคุณธรรมแห่งปัญญา คือ ไม่สนใจคุณค่าของความรู้เกี่ยวกับความดีไม่ประพฤติ
และปฏิบัติตนตามวิถีแห่งความดีกลับมุ่งกระทำการ เพื่อประโยชน์ และความพอใจแห่งตน
ใช้อำนาจ เพื่อกดขี่ข่มเหงประชาชน ประชาชนจะตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว และจมปลักอยู่กับความไม่รู้การกระทำชั่วอาจจะแพร่หลายระบาดอย่างกว้างขวาง
เพราะความชั่วกระทำง่ายกว่าความดีสังคมจะยิ่งเลวร้าย และสังคมจะหายนะในที่สุด
ความกล้าหาญ (Courage) หมายถึง
ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เราควรกลัวหรือไม่ควรกลัวกล่าวคือ มีความกล้าหาญที่จะทำความดีในทุกสถานการณ์แม้ว่าการกระทำความดีนั้นจะเสี่ยงด้วยชีวิตก็กล้าหาญที่จะกระทำ
คุณธรรมเป็นความกล้าหาญมิใช่กล้าบ้าบิ่น แต่เป็นความกล้าหาญด้วยเหตุ และผลที่จะรักษาความดีและและความถูกต้องของสังคมให้ดำรงอยู่ตลอดไป
การควบคุมตัวเอง (Temperance) หมายถึง
การมีชีวิตตามทำนองคลองธรรมแห่งความดีการไม่ปล่อยให้ชีวิตต้องตกเป็นทาสของอารมณ์ และความปรารถนาต่างๆ
ที่ไม่เหมาะไม่ควร ชีวิตที่มีการควบคุมตนเองจะทำให้เกิดระเบียบในการดำเนินชีวิต
จะทำให้เกิดการใช้ปัญญาในการกระทำความดีกล่าวคือ การใช้ปัญญาในการแสวงหาเหตุผลเพื่อรักษาตนให้ดำรงความดีอยู่ตลอดเวลา
ความยุติธรรม (Justice) หมายถึง การแสดงออกในรูปของการกระทำที่เคารพสิทธิของผู้อื่น
และการไม่ยอมกระทำความชั่วต่อผู้อื่น คนที่ยุติธรรมจะต้องไม่ตอบแทนการกระทำที่อยุติธรรมของผู้อื่นด้วยความอยุติธรรม
การปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนา (Piety) หมายถึง การกระทำความดี และการเคารพยกย่องสิ่งที่ควรยกย่อง
หลักสำคัญของศาสนาทุกศาสนา คือ การสั่งสอนให้บุคคลกระทำความดี ดังนั้น การที่บุคคลกระทำความดีอย่างมั่นคงเป็นการแสดงออกถึงคุณธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาการกระทำความดีมีความหมายครอบคลุมการใช้ปัญญาในการพิจารณาสรรพสิ่งด้วยเหตุด้วยผล
และเลือกประพฤติปฏิบัติเฉพาะในสิ่งที่ดี มีความกล้าหาญที่จะกระทำในสิ่งที่ดี
มีสติสามารถควบคุมตนเองไม่ให้ตกเป็นทาสของสิ่งที่ไม่ดี
ปรัชญาของอริสโตเติลหลักคุณธรรมด้านจริยธรรมของนักการเมือง
4 ประการตามแนวคิดของอริสโตเติล มีดังนี้
ประการแรก ความรอบคอบ (Prudence) หมายถึง
การเล็งเห็นหรือหยั่งรู้ได้ง่าย และชัดเจนว่าอะไรควรประพฤติอะไรไม่ควรประพฤติ
ประการที่สอง ความกล้าหาญ (Courage) หมายถึง
การกล้าเสี่ยงต่อการเข้าใจผิดกล้าเผชิญต่อการใส่ร้าย และการเยาะเย้ยเมื่อมั่นใจว่าตนกระทำความดี
ประการที่สาม การรู้จักประมาณ (Temperance) หมายถึง
การรู้จักควบคุมความต้องการ และการกระทำต่างๆ ให้อยู่ในขอบเขตอันควรแก่สภาพตามฐานของบุคคลไม่ให้เกินความจำเป็นตามธรรมชาติไม่ให้ก้าวก่ายสิทธิอันชอบธรรมของผู้อื่น
ประการที่สี่ ความยุติธรรม (Justice) หมายถึง การให้แก่ทุกคน และแต่ละคนตามความสามารถ
(Giving every man his due) ซึ่งจะต้องระลึกว่า เรามีกำลังให้เท่าใด
ควรให้แก่ใครเท่าใด และอย่างไร
แมกซ์เวเบอร์ (Max Weber) กล่าวว่า คุณสมบัติเด่น 3 ประการที่จะประกอบกันเป็นจริยธรรมสำหรับนักการเมือง
ได้แก่
มีอารมณ์ผูกพัน แน่วแน่ จริงจังต่ออุดมการณ์
(Passion) หมายความว่านักการเมืองจะต้องรู้สึกห่วง
กังวล เอาใจใส่ต่อสิ่งที่เขาต้องการจะต่อสู้คำว่า Passion ไม่ใช่อารมณ์ที่เกิดจากความตื่นเต้นที่ไร้ความหมาย
(Sterile Excitement) หรือเป็นเพียงเจตคติภายใน (Inner
Attitude)เท่านั้น แม้แต่การปฏิวัติที่ปราศจากความรับผิดชอบก็ไม่นับว่าเป็น
Passion
มีความรับผิดชอบ (Responsibility) จริยธรรมของความรับผิดชอบเป็นตัวที่จะชี้ให้เห็นชัดว่า
นักการเมืองมีความมุ่งมั่นที่จะทำงาน เพื่ออุดมการณ์หรือไม่
คนที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาจริงจังต่ออุดมการณ์การจะได้รับการเคารพแต่จะไม่มีใครยอมให้เป็น
นักการเมือง ถ้าไม่มีความรับผิดชอบ เพราะอาจใช้ความรุนแรงจากการมีอำนาจที่ชอบธรรมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะติดตามมา
นักการเมืองที่มีลักษณะเช่นนี้ ย่อมเป็นบุคคลที่เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ และประชาชนอย่างยิ่ง
มีวิจารณญาณ (Judement) หมายถึง ความสามารถที่จะรักษาไว้
ซึ่งความไม่หวั่นไหว และความสงบ แต่สนองตอบต่อสภาพความเป็นจริง
หรืออีกนัยหนึ่งจะต้องพิจารณาสิ่งต่างๆและคนจากระยะห่าง
การขาดวิจารณญาณเป็นบาปหนักอย่างหนึ่งของนักการเมือง เป็นสิ่งที่ทำให้ไร้ประสิทธิภาพทางการเมือง
พุทธศาสนากับแนวคิดด้านจริยธรรมของนักการเมืองพุทธศาสนาเน้นความเสมอภาคเท่าเทียมกัน
พระราชาในคติพุทธศาสนาจึงเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่สูงส่งด้วยคุณธรรมความดี และชาติกำเนิด
ด้วยเหตุที่พระราชาหรือผู้ปกครองมาจากมนุษย์ด้วยกันหรือมนุษย์เหมือนกันกับประชาชนทั่วไป
จึงได้นำไปสู่ลักษณะเฉพาะของการปกครองแบบพุทธ ที่เรียกว่า ระบอบถือธรรมเป็นสำคัญ
(ธรรมาธิปไตย) เพราะเหตุที่ถือธรรมเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการปกครอง
ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระปฐมบรมราชานุสรณ์ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม
ดังนั้น สังคมเราจึงคุ้นเคยกับธรรมของผู้ปกครอง ที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรม
โดยนักการเมืองในฐานะที่จะต้องเป็นนักปกครองจึงต้องมีธรรมะในเรื่องทศพิธราชธรรม
ซึ่งประกอบด้วย
ทาน การให้ คือ การแบ่งปันช่วยเหลือสละทรัพย์สิ่งของเงินทอง
เพื่อการกุศลบำรุงเลี้ยง ช่วยเหลือประชาราษฎร์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
ศีล ความประพฤติดีงาม คือ สำรวมกาย และวจีทวาร
ประกอบแต่การสุจริตรักษากิตติคุณให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์มิให้มีข้อใดที่ใครจะดูแคลน
บริจจาคะ การบริจาคเสียสละความสุขสำราญตลอดจนชีวิตของตน
เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
อาชชวะ ความซื่อตรง คือ ซื่อตรง
ทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจไม่หลอกลวงประชาชน
มัททวะ ความอ่อนโยน คือ
มีอัธยาศัยไม่เหย่อหยิ่งหยาบคายกึ่งตัว
มีความสง่างามเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่นนวลละมุนละไมให้ได้ความรักภักดีแต่มิขาดยำเกรง
ตปะ ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลศตัณหา
มิให้เข้ามาครอบงำย่ำจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญ
หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ทำกิจให้บริบูรณ์
อักโกธะ ความไม่โกรธ คือ ไม่กริ้วกราดลุอำนาจความโกรธจนเป็นเหตุให้วินิจฉัยและกระทำการต่างๆผิดพลาดเสียธรรม
มีเมตตาประจำไว้ระงับความเคืองขุ่น วินิจฉัยความ และกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบเป็นตัวของตัวเอง
อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่
เช่น การเก็บภาษีขูดรีดหรือเกณฑ์แรงงานเกินขนาดไม่หลงระเริงอำนาจขาดความกรุณาหาเหตุเบียดเบียน
ลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง
ขันติ ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำถึงจะลำบากกายเหนื่อยหน่ายเพียงไรก็ไม่ท้อถอยถึงจะถูกหยั่งถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใดก็ไม่หมดกำลังใจไม่ยอมละทิ้งกรณีที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม
อวิโรชนะ ความไม่คลาดธรรม คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม
คงที่ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหวเพราะถ้อยคำที่ดีร้ายลาภ สักการะสถิตมั่นในธรรม
ทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรมก็ดีนิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครองตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม
คือ ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป
ธรรมะสำหรับนักการเมืองตามแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุกำหนดธรรมะสำหรับนักการเมืองต้องถือปฏิบัติ
ดังนี้
ธรรมะในส่วนที่เรียกว่า การเมือง
มีความหมายอย่างไรก็ต้องเอาความหมายนั้นมา เป็นคุณสมบัติของนักการเมือง เรียกว่า ธรรมะสำหรับนักการเมือง
เช่น ธรรมะ ที่ตรงตามตัวธรรมสัจจะ คือ ข้อเท็จจริงที่จะทำให้บ้านเมืองอยู่เป็นผาสุกนักการเมืองก็จะต้องมี
นักการเมืองต้องเป็นปูชนียบุคคลเสียสละอย่างพระโพธิสัตว์
คือ บุคคลที่มีปัญญาไม่เห็นแก่ตัวทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อผู้อื่น
เสียสละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อส่วนรวม
นักการเมืองต้องฝากชีวิตจิตใจกับพระเจ้า
ให้เป็นคนของพระเจ้า เหมือนกับพระโพธิสัตว์ทุกองค์รับใช้พระอาทิพระพุทธะ คือ
การหันมาให้ความสนใจกับพระธรรม ซื่อตรงต่อหน้าที่ หยุดการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว
ที่ล้วนแล้วแต่เป็นคนของประโยชน์แห่งตัวกู-ของกูเป็นการให้ความสำคัญ และแสวงหาประโยชน์ส่วนรวม
นักการเมืองต้องเป็นสัตบุรุษ คือ พระอรหันต์ที่ระงับ
คือ หมดกิเลสแล้วสัตบุรุษจะต้องตั้งต้นด้วยการเกลียดบาปหรือเกลียดการทุจริตเกลียดความชั่ว
ปลงสังขารจึงจะสงบระงับไปจากความชั่ว ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
นักการเมืองจะต้องจัดระบบการเมืองของตน
ให้ประกอบด้วยธรรม ระบบการเมือง หมายถึง วิธีการที่จะเลือกเอาให้เหมาะสมแก่สถานการณ์ของตน
แต่ต้องประกอบไปด้วยธรรม
-----------------------------------------------
เอกสารและสิ่งอ้างอิง
. นักการเมืองไทย : จริยธรรม ผลประโยชน์ทับซ้อน การคอร์รัปชัน สภาพปัญหา
สาเหตุ ผลกระทบ แนวทางแก้ไข.
พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร:
สำนักพิมพ์สายธาร, 2553.
พุทธทาสภิกขุ, พุทธทาสภิกขุกับการแนะแนวทางการดำเนินชีวิต, บทความวารสาร
มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดย สมเจตน์
ผิวทองงาม 2549.
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์,
การเมืองอังกฤษ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร: พิมพลักษณ์
คณะรัฐประศาสนศาสตร์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2548.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น