ปรัชญาบัคจื๊อ (Bug - Tzu) หรือม่อจื๊อ
(Mo - Tzu)
บรรดา ปรัชญาเมธีร้อยคน ของจีนสมัยโบราณนั้น ม่อจื๊อ
นับว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ เมื่อ เม่งจื๊อ (Mencius)
รู้สึกว่าจะต้องป้องกัน และทำให้ลัทธิขงจื๊อกลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ท่านได้ตัดปรัชญาของม่อจื๊อออกในฐานะที่อยู่ในกลุ่มศัตรูที่เป็นอันตรายที่สุดของลัทธิขงจื๊อ
แม้ว่าลัทธิของม่อจื๊อจะตั้งหลักมั่นอยู่ได้ไม่นานนัก แต่ม่อจื๊อและคำสอนของท่านก็ได้ทิ้งรอยประทับไว้ในจิตใจของชาวจีนจนไม่อาจสามารถที่จะลบให้หมดไปได้
ทุกวันนี้คำสอนของม่อจื๊อ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้เตือนให้ระลึกถึงว่าเราจะบรรลุถึงความสุขสูงสุดอันเป็นนิรันดรแห่งความคิดเห็นแบบขงจื๊อ
โดยอาศัยการละเลยต่อหน้าที่หรือความเฉื่อยชาในด้านพุทธิปัญญาได้ไม่ง่ายเลย
แต่เราจะชนะได้ก็โดยอาศัยการต่อสู้ดิ้นรนอย่างยากเย็นกับฝ่ายตรงข้ามที่มีคุณค่าสูงเท่านั้น(จำนง ทองประเสริฐ. 2537 : 49)
ปรัชญาม่อจื๊อมีความเกี่ยวพันอย่างมากกับเหตุการณ์ทางการเมือง สังคม
และจริยธรรมของสังคมในสมัยนั้น สังคมจีนในช่วงระยะที่มีการปกครองแบบระบบขุนนาง (Feudalism) ในสมัยราชวงศ์โจว กษัตริย์ เจ้าฟ้าและพวกขุนนาง ต่างมีทหารประจำตัวหรือประจำตระกูล
แต่ในช่วงปลายของราชวงศ์โจวระบบศักดินาเสื่อมอำนาจลง
พวกทหารประจำตัวหรือประจำตระกูลก็พลอยสูญเสียฐานะตำแหน่งไปด้วย
จึงออกท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ หาเลี้ยงชีพโดยการรับจ้างรบสุดแล้วแต่ผู้จ้าง กลุ่มชนพวกนี้เป็นที่รู้จักกันว่า
พวกเฉีย (Hsieh)หรือยู เฉีย (Yu Hsieh)
แปลว่า อัศวินพเนจร (Knight - Arrant)
พวกนี้มีพฤติกรรมที่ประวัติศาสตร์บันทึกเอาไว้ว่า “คำพูดของพวกเขาซื่อตรง
และเชื่อถือได้ การกระทำของพวกเขาเป็นไปอย่างรวดเร็วและชาญฉลาด พวกเขาซื่อตรงต่อคำสัญญาและปฏิบัติหน้าที่โดยไม่หวั่นต่ออันตราย”(Shih
Chi Ch. 124 อ้างจาก Fung Yu-Lan,1970.P. 50) และพวกอัศวินเหล่านี้ยังถือหลักในการทำงานร่วมกันอยู่อีกอย่างหนึ่งคือ
“ยามสุขสุขร่วมกัน คราวทุกข์ทุกข์ร่วมกัน”(Enjoy equally, Suffer equally) เหล่านี้คือจรรยาในอาชีพของพวกเขา ปรัชญาส่วนใหญ่ของม่อจื๊อจึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ประเพณีเก่าๆ
และอธิบายขยายความจรรยาของกลุ่มอัศวินดังกล่าว
แต่ม่อจื๊อและพวกศิษยานุศิษย์ก็มีลักษณะอันเป็นข้อแตกต่างจากพวกอัศวินอยู่ 2
ประการ คือ
1.
พวกเฉียหรืออัศวินนั้นพร้อมเสมอที่จะทำการรบต่อสู้
เมื่อมีผู้จ้างหรือถูกบังคับโดยพวกขุนนาง
ส่วนพวกม่อจื้อนั้นไม่นิยมการรบ
การสงครามที่มีลักษณะเป็นการรุกรานซึ่งกันและกัน จะต่อสู้ก็ต่อเมื่อเห็นความจำเป็น
เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของบ้านเมืองหรือป้องกันตัวเองเท่านั้น
2.
พวกอัศวินยึดหลักจรรยาในอาชีพอย่างเหนียวแน่น
ปราศจากเหตุผลและไม่คำนึงถึงเหตุผลอื่นใด
ส่วนพวกม่อจื๊อนั้นวางใจเป็นกลางในจรรยาเหล่านั้น
ศึกษาหาเหตุผลและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ตามสภาพความเป็นจริง
แม้ว่าปรัชญาม่อจื๊อจะมีพื้นฐานมาจากจรรยาของพวกอัศวิน
แต่ในขณะเดียวกันก็นับได้ว่า เป็นผู้สร้างระบบปรัชญาในแนวใหม่ขึ้น (น้อย พงษ์สนิท.ผศ.,ม.ป.ป. :
37-38)
ม่อจื๊อหรือบัคจื๊อ(เสถียร
โพธินันทะ,2544 : 115) เป็นชาวรัฐลู้
เกิดหลังมรณกรรมของขงจื๊อไม่นาน เป็นคนรุ่นเดียวกับหยางจื๊อ
แต่ไม่ปรากฎว่าเขาเกิดปีใดแน่ สันนิษฐานกันว่าคงจะเกิดระหว่าง พ.ศ. 63 – 76
และถึงแก่กรรมราว พ.ศ. 153 – 168 คำว่า ม่อ
เป็นแซ่ ส่วนชื่อของเขา คือ เต็กหรือตี่ (Ti)
แต่คนนิยมเรียกแซ่ของเขามากกว่า เพราะฉะนั้นคำว่า ม่อจื๊อ ก็คือท่านอาจารย์แซ่ม่อนั่นเอง
แต่ภายหลังได้มีนักปราชญ์บางท่านมีความเห็นว่า คำว่า ม่อ ไม่ใช่แซ่
หากแต่เป็นคำเรียกคนพวกหนึ่ง ซึ่งมีรอยสักเป็นเครื่องหมาย ได้แก่ พวกทาส
กรรมกรหรือเชลยสงคราม ม่อจื๊อก็เป็นกรรมกรช่างฝีมือคนหนึ่ง จึงมีรอยสักเช่นกัน
ส่วนคำว่า ตี่ ก็ไม่ใช่ชื่อจริง คำนี้หมายถึงขนนกก็ได้ เพราะเชื่อกันว่า ม่อจื๊อชอบปักขนนกตามความนิยมของคนทั่วไปในสมัยนั้น(ซิวไช,2523 : 258.อ้างใน ฟื้น ดอกบัว,2555 : 104) หากเป็นตามความเห็นดังกล่าวก็แสดงว่า ม่อจื๊อมีกำเนิดเป็นกรรมกร
แตกต่างจากหยางจื๊อและขงจื๊อ ซึ่งเป็นตระกูลขุนนาง และก็น่าจะเป็นจริงอย่างนั้น
เพราะม่อจื๊อได้รณรงค์อย่างมากให้เลิกล้มการแบ่งชนชั้นยกฐานะกรรมกรให้สูงขึ้นเสมอคนทั้งหลาย
ปรัชญาของม่อจื๊อมีชื่อเสียงและสำคัญพอๆ กับปรัชญาของขงจื๊อ ทั้งมีอิทธิพลอย่างมากในหมู่กรรมกร
ม่อจื๊อเคยศึกษาปรัชญาเต๋าและเคยอยู่ในสำนักปรัชญาขงจื๊อ แต่ม่อจื๊อไม่เห็นด้วยกับปรัชญาของเหลาจื๊อ
และปรัชญาขงจื๊อหลายอย่าง จึงปลีกตัวออกมาตั้งสำนักสอนปรัชญาตามทรรศนะของตนขึ้น
เขาได้ตั้งกฎระเบียบต่างๆ ของสำนักขึ้นมา ทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม
ใครละเมิดจะถูกลงโทษ และถือว่าสาวกทุกคนเป็นองคาพยพของสำนัก
ใครทำงานมีรายได้จะต้องแบ่งบำรุงสำนัก
นอกจากนี้ยังมีการสืบทอดตำแหน่งเจ้าสำนักอีกด้วย ตำแหน่งนี้เรียกว่า กื้อจื๊อ
แปลว่า มหาคุรุ(ฟื้น ดอกบัว, 2555 : 103-104)
ม่อจื๊อเป็นคนบูชาอุดมคติของตนมาก ไม่ยอมขายอุดมคติของตนแลกยศศักดิ์เงินทอง
อย่างเช่น คราวหนึ่ง ม่อจื๊อเขียนหนังสือแสดงความเห็นทางการเมืองไปถวายพระเจ้าฌ้อฮุ้ยอ๊วง
แห่งรัฐฌ้อ พระองค์ทรงพอพระทัยในความรู้ของม่อจื๊อมาก ถึงกับตรัสว่า
“หนังสือของท่านประเสริฐนัก ถึงข้าพเจ้าไม่อาจนำมาปฏิบัติได้ แต่ก็จักแต่งตั้งท่านให้เป็นขุนนางศักดินา”
ม่อจื๊อ ทูลตอบว่า “ถ้าอุดมคติของข้าพเจ้ามิอาจนำไปปฏิบัติให้บังเกิดผลได้
ข้าพเจ้าก็มิอาจรับรางวัลจากพระองค์”(เสถียร
โพธินันทะ, 2506 : 212. อ้างใน
ฟื้น ดอกบัว,2555 : 105.)
จากพฤติกรรมของม่อจื๊อดังกล่าว เราย่อมสามารถคาดถึงหัวใจของปรัชญาของม่อจื๊อได้ว่า
เป็นหัวใจอันเดียวกันกับหัวใจของปรัชญาขงจื๊อ คือ
ศูนย์กลางของความสำคัญอยู่ที่มนุษย์ ทั้งนี้ ม่อจื๊อยึดถือคำสอนที่ว่า
ก่อให้เกิดสวัสดิภาพแก่คนส่วนใหญ่ และทำลายสิ่งชั่วร้าย(Moore, Charles A.
ed. 1968. p 42. อ้างใน ปานทิพย์ ศุภนคร,ผศ.,2534 : 33)
ปรัชญาของม่อจื๊อมีหลายอย่างที่แตกต่างกับปรัชญาเต๋าและปรัชญาขงจื๊อ
จะเห็นได้จากปรัชญาชีวิต ปรัชญาเศรษฐกิจ และปรัชญาการเมืองของม่อจื๊อ
ซึ่งมีดังต่อไปนี้
ม่อจื๊อเชื่อว่า ทุกคนต้องการความสุขเกลียดความทุกข์ดัวยกันทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นทุกคนจึงเหมือนกันดุจดังคำที่ว่า “ในสายตาของพระเจ้าแล้ว
มนุษย์ทุกคนย่อมเท่าเทียมกัน” เมื่อธรรมชาติของทุกคนเหมือนกันอย่างนี้
ก็ควรที่จะปฏิบัติดีต่อกัน ช่วยเหลือกันโดยดำเนินการดังต่อไปนี้(ฟื้น ดอกบัว, 2555 : 105-106)
หัวใจของปรัชญาม่อจื๊ออยู่ที่ ความรัก ความรักดังกล่าว เป็นคุณธรรมสูงสุด
และกว้างกว่าความเห็นอกเห็นใจหรือคุณธรรมแห่งความเมตตากรุณาของลัทธิขงจื๊อ
ทั้งนี้เพราะถึงแม้ขงจื๊อจะสอนเรื่องความรักและความเมตตาระหว่างมนุษย์
แต่ความรักระหว่างมนุษย์ดังกล่าวไม่สามารถอยู่ในระดับที่เสมอภาคกันได้
การรักบิดามารดาของตนเองย่อมแตกต่างจากการรักบิดามารดาของเพื่อน
การรักบิดาก็ย่อมแตกต่างจากการรักพี่รักน้อง แต่สำหรับม่อจื๊อ
ความรักที่มนุษย์พึงมีต่อมนุษย์ต้องมีความเท่าเทียมกันหมด
ไม่มีการลดหลั่นกันแต่ประการใดทั้งสิ้น ซึ่งเม่งจื๊อเคยกล่าววิจารณ์ว่า
เป็นการทำลายธรรมชาติ และสัมพันธภาพในครอบครัว(ปานทิพย์ ศุภนคร,ผศ.,2534 : 37)
แผ่ความรักความเมตตาอย่างเท่าเทียมกันต่อมนุษยชาติทั้งมวล หรือที่เรียกว่า
ความรักสากล ม่อจื๊อมีความเห็นว่า คนเราควรมีความเห็นอกเห็นใจกัน
เห็นทุกคนเป็นเสมือนตนเอง เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นก็ฉันนั้น
หากใครทำใจได้ดังกล่าว การที่จะไปเบียดเบียนทำร้ายคนอื่นก็จะไม่เกิดขึ้น มีแต่จะเห็นใจกันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน(ฟื้น ดอกบัว, 2555 : 106) หรือหลักแผ่ความรักร่วมกัน มีประโยชน์สัมพันธ์กัน
เรียกว่า เกียมเซียงไอ่เกาเซียงหลี(เสถียร
โพธินันทะ,2544 : 123)
การแผ่ความรักความเมตตาไปยังมนุษยชาติทั้งมวล
จะสามารถกำจัดความเห็นแก่ตัวเสียได้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนทั่วไป
ดังที่ม่อจื๊อกล่าวว่า
“บุคคลจะรักแคว้นอื่นเหมือนแคว้นของตน รักครอบครัวอื่นเหมือนครอบครัวของตน
รักบุคคลอื่นเสมือนตัวเอง ถ้าพระเจ้าแผ่นดินของแคว้นทั้งหลายมีความรักต่อกันแล้ว
การสงครามก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าเสนาบดีมีความรักต่อกัน
การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจก็จะไม่มี ถ้าบุคคลมีความรักต่อกันแล้ว การลักขโมยก็จะไม่มี
โจรที่ปล้นคนอื่นก็เพราะโจรมีความรักตนอย่างเดียว เห็นแก่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว
หากโจรเห็นผู้อื่นเสมือนตัวเองแล้ว เขาก็จะไม่ปล้น
และหากเห็นประโยชน์ของคนอื่นเสมือนประโยชน์ของตนแล้ว โจรก็เลิกเป็นโจร”
ดังนั้น ม่อจื๊อจึงสอนให้ทุกคนก่อนทำอะไรก็ขอให้ตั้งคำถาม ถามตัวเองก่อนว่า
การกระทำนั้นเป็นความรักผู้อื่นด้วยหรือไม่
เป็นประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมด้วยหรือไม่ ถ้าใช่ก็จงทำ ถ้าไม่ใช่ก็ขอให้ละเว้น
อย่าไปคิดแต่ว่าตนเองจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
ขอให้คิดว่าการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นก็เสมือนกับทำให้ตนเอง
เพราะตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เกี่ยวเนื่องกับสังคม หากสังคมเป็นปกติสุข
ตัวเองก็พลอยเป็นสุขไปด้วย ตรงกันข้าม ถ้าสังคมเดือดร้อน
ตัวเองก็จะต้องมีความทุกข์เช่นกัน(ฟื้น
ดอกบัว, 2555 : 107-108)
เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ก็จะต้องมีคุณธรรม คือ แผ่ความรักความเมตตาอย่างเท่าเทียมกันต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นพื้นฐานมาก่อน
หากปราศจากความความเมตตาสากลเสียแล้ว การมุ่งบำเพ็ญประโยชน์ก็เกิดขึ้นไม่ได้
เพราะฉะนั้นคุณธรรมข้อนี้จึงเป็นผลของคุณธรรมข้อที่ 1
และก็เพราะการบำเพ็ญประโยชน์นี้เอง โลกจึงมีชีวิตชีวาน่าอยู่อาศัย
ไม่มีคนอดอยากผอมโซหรือภาพที่น่าเวทนาทั้งหลาย
ทั้งนี้ก็เพราะทุกคนจะคอยช่วยเหลือกัน ดังที่ม่อจื๊อกล่าวว่า
“หูจะคอยฟัง ดวงตาจะคอยจ้องมอง เพื่อช่วยเหลือกัน
แขนขาก็เสริมกำลังกันเพื่อทำงานช่วยเหลือ เมื่อเป็นเช่นนั้น คนสูงอายุ
และหญิงม่ายก็จะได้รับการดูแลเลี้ยงดูตลอดอายุขัย เด็กกำพร้าที่อ่อนแอ และยากจนก็จะได้รับการอุปถัมภ์เลี้ยงดู”(ฟื้น ดอกบัว, 2555 : 108)
ม่อจื๊อดูจะเป็นนักปรัชญาคนเดียวของจีนที่เชื่อว่ามีฟ้า หรือเทพเจ้า
ตลอดถึงเชื่อว่ามีผีสางเทวดาคอยดูแลความเป็นไปของมนุษย์ เทพเจ้าจะประทานรางวัลให้แก่คนที่ทำความดี
อย่างที่เรียกกันว่า สวรรค์บันดาล และลงโทษแก่คนที่ทำความชั่ว ดังที่เรียกว่า
สวรรค์ลงทัณฑ์ ทั้งนี้ก็เพราะเทพเจ้าทรงมีพระประสงค์จะให้ทุกคนรักกัน
ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วยกัน ม่อจื๊อเชื่อว่า
สุขทุกข์ของมนุษย์มาจากพระเจ้า พระองค์สามารถบันดาลให้ใครสุขใครทุกข์ก็ได้
ม่อจื๊อเชื่อว่า การที่โลกวุ่นวาย
คนทำความชั่วมากขึ้นทุกทีก็เนื่องมาจากการไม่เชื่อว่ามีเทพเจ้าผีสางเทวดาเป็นต้นเหตุ
เพราะการไม่เชื่อทำให้คนกล้าทำความชั่วมากขึ้นเรื่อยๆ
ผิดกับคนสมัยก่อนที่เชื่อในเรื่องผีสางเทวดาจึงมีคนดีมาก บ้านเมืองสงบสุขร่มเย็น
ผู้คนไม่กล้าทำความชั่ว เพราะกลัวผีสางเทวดา ดังคำที่ว่า ถึงคนไม่รู้ไม่เห็น
แต่ผีสางเทวดาท่านรู้ท่านเห็น ม่อจื๊อได้ตำหนิคนสมัยนั้นอย่างรุนแรงที่ไม่ยอมเชื่อในเรื่องผีสางเทวดา
ซึ่งกษัตราธิราชในอดีตเคยเคารพนับถือมาก่อน ม่อจื๊อได้ให้ข้อพิสูจน์ถึงความมีอยู่ของเทพเจ้าไว้อย่างง่ายๆ
ว่า คนที่ทำความดีจะมีความสุข ส่วนคนที่ทำความชั่วจะมีความทุกข์
ได้รับความทุกข์ทรมาน ทั้งนี้ก็เพราะเทพเจ้าท่านบันดาลให้เป็นไปเช่นนั้น
เพราะฉะนั้นคนจึงควรเคารพยำเกรงเทพเจ้า เห็นความสำคัญของเทพเจ้า.. ความเห็นของม่อจื๊อในเรื่องนี้จึงตรงกันข้ามกับขงจื๊อ
ที่ถือว่าเรื่องดังกล่าวตัวมนุษย์เองเป็นผู้กำหนด และไม่สนับสนุนให้เชื่อในเรื่องเทพเจ้ามากนัก
แต่ม่อจื๊อกับสอนให้คนเชื่อเทพเจ้า และปฏิบัติตามประสงค์ของเทพเจ้า
โดยเฉพาะผู้นำของประเทศจะต้องตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นพิเศษ ม่อจื๊อได้วางกฎไว้ 3
ข้อ สำหรับผู้นำของรัฐที่จะต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1.
เคารพและปฏิบัติตามความประสงค์ของเทพเจ้า
2.
เคารพและปฏิบัติตามความประสงค์ของผีสางเทวดา
3.
มีความเมตตาปราณีต่อเพื่อนมนุษย์(ฟื้น ดอกบัว, 2555 : 108-110)
ม่อจื๊อมีความเห็นว่า เรื่องปากท้องของมนุษย์นั้นสำคัญที่สุด
การช่วยเหลือประชาชนอย่างรีบด่วนก็คือ การช่วยให้เขามีกินมีใช้
เมื่อแก้ปัญหาเรื่องปากท้องได้แล้ว เรื่องอื่นก็ง่ายที่จะแก้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจเป็นรากเหง้าของปัญหาทั้งปวง
ปัญหามีว่าคนเราจะอิ่มปากอิ่มท้องได้อย่างไร เรื่องนี้ม่อจื๊อสอนให้ขยันหมั่นเพียร
ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก
วิธีสำคัญที่จะบรรลุถึงจุดหมายนั่นก็คือ เลิกประเพณีนิยมและดนตรี
ซึ่งอาจแบ่งเป็นข้อย่อยๆ ดังต่อไปนี้
สังคมในประเทศจีนสมัยก่อนและสมัยม่อจื๊อแบ่งเป็น 2
พวกใหญ่ๆ คือ ชนชั้นสูงกับสามัญชน พวกชนชั้นสูง ได้แก่
ผู้ปกครองและพวกผู้มีการศึกษาดี เป็นผู้มีฐานะอยู่เหนือสามัญชน
มีความเป็นอยู่แตกต่างกันมาก ส่วนพวกสามัญชน ได้แก่ ชาวนา ชาวไร่
และกรรมกรทั้งหลาย พวกนี้ไม่มีความเจริญก้าวหน้า มุ่งแต่ทำงานหารายได้มาเลี้ยงชนชั้นสูง
ม่อจื๊อมีความเห็นว่า การแบ่งชนชั้นทำให้เกิดการแตกแยกและเป็นการกดขี่
ฝ่ายถูกปกครองจึงรณรงค์ต่อต้านเรื่องการแบ่งชนชั้น ประกาศถึงความเป็นธรรมในสังคม
นอกนี้ม่อจื๊อก็เหมือนกับเหลาจื๊อ คือ ต่อต้านระบบศักดินาและชีวิตอันหรูหราของคนชั้นสูงในสมัยนั้น
แต่จุดมุ่งหมายของม่อจื๊อก็แตกต่างกับเหลาจื๊อกล่าวคือ เหลาจื๊อสอนให้คนกลับเข้าหาธรรมชาติ
ดำรงชีวิตอยู่แบบธรรมชาติ แต่ม่อจื๊อมีความเห็นว่า
สังคมอย่างนั้นมีแต่ความวุ่นวายไม่สงบ สู้มีสังคมแบบมีระเบียบที่ดีงามไม่ได้
ม่อจื๊อคัดค้านการจัดงานศพอย่างใหญ่โต และประเพณีการไว้ทุกข์ให้คนตาย
ผิดกับขงจื๊อที่ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญที่บุตรหลานจะพึงกระทำ
เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการี
หากแสดงความอาลัยให้เต็มที่ก็จะต้องไว้ทุกข์ถึง 3 ปี
ม่อจื๊อมีความเห็นว่า การกระทำเช่นนั้นไม่ใช่การแสดงความกตัญญูกตเวที
แต่เป็นการสิ้นเปลืองไร้สาระ แค่ฝังศพคนตายก็พอแล้ว
ไม่จำเป็นต้องสร้างฮวงซุ้ยให้ใหญ่โตสูญเงินไปเปล่าๆ ม่อจื๊อได้กล่าวถึงความสิ้นเปลืองของการจัดพิธีศพในยุคสมัยของเขาไว้ว่า
“แม้แต่สามัญชนธรรมดาตายลง ค่าใช้จ่ายในการทำพิธีศพนั้นก็มากมาย
จนทำให้ครอบครัวยากจนแทบเป็นขอทาน ยิ่งกษัตริย์สิ้นพระชนม์ด้วยแล้ว
จะต้องนำเอาทองและหยก ไข่มุกและเพชรนิลจินดามาวางไว้ข้างพระศพ
ห่อศพด้วยผ้าแพรพรรณอันวิจิตร พร้อมทั้งนำรถม้า โต๊ะ เก้าอี้ กลอง ตุ่มไห ถ้วยชาม
ขวานมีด ม่าน ฉาก ธง และวัตถุต่างๆ ที่ทำด้วยงาและหนัง
เข้าไปฝังบรรจุไว้ในที่ฝังพระศพด้วย ผลก็ คือ
บ้านเมืองแทบจะไม่มีทรัพย์สินเหลืออยู่เลย” (ซิวไช,2523 : 287-288.อ้างใน ฟื้น ดอกบัว,
2555 : 112) เพราะเหตุนี้ พิธีการทำศพ ม่อจื๊อจึงเห็นว่า
เป็นประเพณีที่หายนะที่สุด (ฟื้น ดอกบัว,
2555 : 110-112)
ม่อจื๊อกล่าวว่า การประกอบพิธีกรรมที่งดงาม รวมทั้งการไว้ทุกข์ที่ยาวนาน
ย่อมนำไปสู่ผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ความยากจนของประเทศชาติ
และความไร้ระเบียบของรัฐบาล(Moore, Charles A.
ed. 1968. p 42-3. อ้างใน ปานทิพย์ ศุภนคร,ผศ.,2534 : 34)
ม่อจื๊อถึงแม้จะเชื่อเรื่องเทพเจ้า แต่เขาก็ปฏิเสธเรื่องพรหมลิขิต
พรหมลิขิตนั้นไม่มี มีก็แต่ตนลิขิตให้ตนเองเท่านั้น
ใครทำกรรมอะไรไว้ก็จักได้รับผลกรรมนั้น
กรรมหรือการกระทำจัดเป็นเครื่องมือบันดาลให้เป็นไป
ทุกอย่างแก้ไขได้ให้ร้ายกลายเป็นดี ดังที่ม่อจื๊อยกตัวอย่างว่า
ในสมัยโบราณกาล พระเจ้าเจีย (Chieh)
กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์แห่ หรือเซีย ทำให้บ้านเมืองระส่ำระสาย
แต่กาลก่อนต่อมา พระเจ้าถัง (Tang)
ผู้สถาปนาราชวงศ์เซียงก็สามารถทำให้สงบลงได้หรือเมื่อพระเจ้าโจ่ว (Chow) กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซ้องทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน พระเจ้าหวู
(Wu) พระราชโอรสของพระเจ้าเหวิน (Wen)
ผู้สถาปนาราชวงศ์โจ่วก็สามารถจัดการให้สงบลงได้
ก็ในเมื่อบ้านเมืองเดือดร้อนวุ่นวายอย่างแสนสาหัสในสมัยของพระเจ้าเจียและพระเจ้าโจ่ว
กลับสงบลงได้เพราะพระเจ้าถังและพระเจ้าหวู เมื่อเป็นอย่างนี้จะเรียกว่า
มีพรหมลิขิตได้อย่างไร
ม่อจื๊อได้กล่าวถึงความเสียหายของการเชื่อพรหมลิขิตไว้ว่า
“ถ้าผู้ปกครองบ้านเมืองเชื่อในเรื่องพรหมลิขิต
เขาก็จะไม่สนใจปกครองบ้านเมือง พวกเสนาบดีก็จะละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
ประชาชนทั่วไปก็จะไม่เอาใจใส่ในการประกอบอาชีพ สตรีทั้งหลายก็จะไม่ใส่ใจเรื่องทอหูกปั่นฝ้าย
ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามพรหมลิขิต ผลก็คือ โลกจะระส่ำระสาย
ผู้คนจะเดือดร้อนเพราะขาดแคลนอาหารและเครื่องนุ่งห่ม”
ทรรศนะของม่อจื๊อในเรื่องพรหมลิขิตแตกต่างจากทรรศนะของขงจื๊อ กล่าวคือ
บางครั้งขงจื๊อจะพูดทำนองเชื่อว่ามีพรหมลิขิต พรหมลิขิตหรือชะตากรรม (หมิง-Ming) เป็นโองการสวรรค์ ดังที่ขงจื๊อกล่าวว่า
“คำสอนของข้าพเจ้าจะเผยแผ่ไปทั่วโลกได้หรือไม่ก็เป็นเรื่องชะตากรรม
ทำนองเดียวกันกับคำสอนของข้าพเจ้าจะเสื่อมสูญสลายไปหรือไม่
ก็เป็นเรื่องสุดแต่ชะตากรรมเช่นกัน”
ส่วนม่อจื๊อสอนว่า “ใครก็ตามหากมีความขยันหมั่นเพียรประกอบอาชีพ
ไม่งอมืองอเท้ารอคอยพรหมลิขิตแล้ว
ก็จะสามารถมีกินมีใช้อิ่มปากอิ่มท้องและตั้งเนื้อตั้งตัวได้” (ฟื้น ดอกบัว, 2555 : 112-113)
ม่อจื๊อมีความเห็นว่า ดนตรีเป็นเรื่องสำรวยสำราญ
เป็นความฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น จึงเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของคน เพราะฉะนั้น ม่อจื๊อจึงไม่สนับสนุนให้เรียนหรือหมกมุ่นกับดนตรี
เพราะเป็นสิ่งเกินความจำเป็น ม่อจื๊อได้แสดงโทษของดนตรีไว้ 4
ข้อ คือ
1.
ทำให้สิ้นเปลืองเงินทอง
2.
ช่วยประชาชนให้พ้นจากความอดอยากไม่ได้
3.
ไม่สามารถช่วยป้องกันไม่ให้สงครามเกิดขึ้นได้
4.
ทำให้ติดนิสัยเคยชินความเป็นบุคคลเจ้าสำราญฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม
ความเห็นของม่อจื๊อต่อเรื่องดนตรีผิดกับทรรศนะของขงจื๊อกล่าวคือ ขงจื๊อให้ความสำคัญแก่ดนตรีมาก
ถึงกับเข้าไปศึกษาดนตรีในรัฐชี้ ในขณะที่ศึกษาอยู่นั้น ขงจื๊อดื่มด่ำในดนตรีถึงกับลืมรสอาหารถึง
3 เดือน
ชั่วชีวิตของเขาโดยเฉพาะก็ในคราวทุกข์ยาก ขงจื๊อจะใช้ดนตรีเป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากตลอดมา
ขงจื๊อมีความรู้เรื่องดนตรีมากจนได้รับเกียรติว่า เป็นปรมาจารย์แห่งดนตรี ขงจื๊อเชื่อว่า
ดนตรีสามารถกล่อมเกลาจิตใจคนให้เป็นคนอ่อนโยน และเป็นคนดีได้ ส่วนม่อจื๊อเห็นว่า
ทั้งดนตรีและพิธีทำศพเป็นการทำลายเศรษฐกิจ ทั้งเป็นการแบ่งแยกชนชั้นอีกด้วย(ฟื้น ดอกบัว, 2555 : 113-114)
ดังนี้ จะเห็นว่า เหตุผลที่ม่อจื๊อไม่ชอบใจดนตรีก็มิใช่สาเหตุมาจากเสียงของเครื่องดนตรีแต่อย่างใดทั้งสิ้น
แต่เป็นเพราะดนตรีไม่สิ่งเสริมต่อสวัสดิภาพของประชาชน และขจัดสิ่งชั่วร้ายได้
หรืออีกนัยหนึ่ง ม่อจื๊อเน้นผลประโยชน์ (benefits)
ที่เป็นรูปธรรมมากนั่นเอง(ปานทิพย์
ศุภนคร,ผศ.,2534 : 34)
นอกจากนี้ ม่อจื๊อยังกล่าวถึงผลเสียของดนตรีว่า
ดนตรีที่ผู้ปกครองพอใจย่อมนำไปสู่การขูดรีดภาษีประชาชน
ทำให้เกิดความยุ่งยากต่องานผลิตโดยการดึงนักดนตรีออกไปจากงานผลิตอื่นๆ
และทำให้เสียเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เกิดความสับสนขึ้นในรัฐบาล(Moore, Charles A.
ed. 1968. p 43. อ้างใน ปานทิพย์ ศุภนคร,ผศ.,2534 : 35)
ม่อจื๊อมีความเห็นว่า รัฐที่มีพลเมืองมากจะกลายเป็นรัฐใหญ่มีความมั่งคั่งและจะเจริญรุ่งเรือง
เพราะพลเมืองจะช่วยกันให้พัฒนา เหตุนี้รัฐจึงจำต้องมีพลเมืองเพื่อเป็นกำลังของชาติ
วิธีที่รัฐจะมีพลเมืองมากขึ้นก็โดยการที่รัฐออกกฎหมาย ให้ชายอายุ 20
ปี กับหญิงอายุ 15 ปี ควรมีครอบครัว ทรรศนะเรื่องเพิ่มประชากรของม่อจื๊อก็ทำนองเดียวกับขงจื๊อ
คือ ขงจื๊อสนับสนุนชายอายุ 30 หญิงอายุ 20 แต่งงานกันเพื่อสืบสกุลเป็นกำลังของชาติ ข้อนี้ผิดกับทรรศนะของเหลาจื๊อที่ต้องการให้แต่ละรัฐมีพลเมืองน้อย
ทั้งมีอาณาเขตไม่กว้างนัก จะได้ปกครองดูแลทั่วถึง
ความเห็นเรื่องการเพิ่มจำนวนประชากรของม่อจื๊ออาจจะเหมาะสมกับสมัยนั้น
เพราะพลเมืองของประเทศจีนยังมีน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ของประเทศ
แต่ทฤษฎีนี้ผิดพลาดมากหากจะนำมาใช้ในปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพราะประเทศจีนในปัจจุบันมีพลเมืองมากที่สุดในโลกคือ
มีจำนวนมากกว่า 1,000 ล้านคน จนรัฐบาลจีนต้องรณรงค์ให้คุมกำเนิดในรูปแบบต่างๆ
เช่น ลงโทษแก่คนที่มีลูกมาก เป็นต้น(ฟื้น
ดอกบัว, 2555 : 114-115)
ปรัชญาการเมืองของขงจื๊อและม่อจื๊อถึงแม้จะแตกต่างกัน แต่นักปรัชญาทั้ง 2
ต่างก็ได้รับความบันดาลใจมาจากราชสำนักเช่นกัน กล่าวคือ ขงจื๊อนิยมยกย่องจิวก่ง
ผู้สำเร็จราชการจากแคว้นโจว แต่ม่อจื๊อไม่เห็นด้วยกับขงจื๊อที่ใช้ฟื้นฟูธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรมของราชวงศ์จิวหรือโจวมาปฏิบัติ
ม่อจื๊อเห็นว่า สู้วัฒนธรรมของราชวงศ์แห่หรือเซีย(Hsia)ไม่ได้
วัฒนธรรมประเพณีของราชวงศ์แห่ดีที่สุด บุคคลในอุดมคติของม่อจื๊อ ก็คือ
พระเจ้าอู๊หรือยู้ (Yu) ผู้สถาปนาราชวงศ์เซีย (ประมาณก่อน
พ.ศ. 1762-1223 ปี) พระองค์ทรงเป็นที่กล่าวขานถึงความเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม
และทรงมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของพระองค์สูงมาก กล่าวกันว่า ในขณะที่พระองค์กำลังครุ่นคิดหาทางแก้ไขอุทกภัยอยู่นั้น
พระองค์ถึงกับลืมเสวยอาหาร ไม่สนพระทัยแต่งพระกาย ดังคำที่ว่า
“พระเจ้ายู้ทรงถือเอาการกรำฝนเป็นการสนานพระกาย
ทรงถือเอาสายลมที่พัดผ่านมาเป็นหวีสยายพระเกศา
ทรงถือเอาการตรากตรำลำบากจากการเดินทางเป็นเครื่องนวดพระกายให้อ่อนนุ่ม”
น้ำพระทัยเสียสละของพระเจ้ายู้เป็นที่ประทับใจของม่อจื๊อมาก ม่อจื๊อจึงอุทิศตนเองดำเนินรอยตามพระเจ้ายู้
ด้วยเหตุนี้ ม่อจื๊อจึงดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย
มุ่งมั่นสละความสุขส่วนตัวออกบำเพ็ญประโยชน์ต่อมนุษยชาติโดยเฉพาะผู้ยากไร้
ปรัชญาการเมืองของม่อจื๊อมีหัวข้อใหญ่ๆ ดังนี้ (ฟื้น ดอกบัว,2555 : 115-116.)
ม่อจื๊อมีความเห็นว่า ความทุกข์ความเดือดร้อนของสังคมมาจากความเห็นแก่ตัว
เมื่อคนมีความเห็นแก่ตัว เมื่อคนมีความเห็นแก่ตัวจะทำอะไรก็ทำแบบเห็นแก่ตัว
ผลก็คือ ผู้อื่นจะเดือดร้อน และยิ่งขยายความเห็นแก่ตัวออกไป
ความเดือดร้อนก็จะขยายตามไปด้วย เช่น ขยายออกมาสู่ครอบครัว สังคม ประเทศ เป็นต้น
ก็กลายเป็นครอบครัวเห็นแก่ตัว สังคมเห็นแก่ตัว และประเทศเห็นแก่ตัว หากเป็นเช่นนี้
สันติภาพก็เป็นอันสิ้นหวัง แต่ตรงข้าม หากคนเราขจัดความเห็นแก่ตัวเสียได้
โลกก็จะประสบสันติสุขอย่างแน่นอน เหตุนี้ม่อจื๊อจึงสอนให้คนปลูกความรักให้เกิดขึ้นต่อมนุษยชาติ
โดยปลูกความรักให้เกิดขึ้นในตัวก่อน จากนั้นจึงขยายออกไปสู่ครอบครัว สังคม ประเทศ
ตลอดถึงโลก ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน แล้วจะได้ไม่นำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้กัน
ทั้งนี้ก็เพราะรักผู้อื่นเสมอกับตน รักครอบครัวอื่นอย่างกับครอบครัวของตน
รักประเทศอื่นท่ากับประเทศของตน ตัวเองได้รับประโยชน์อย่างไรก็จงทำให้คนอื่นได้รับประโยชน์อย่างนั้น
ครอบครัวของตนได้รับประโยชน์อย่างไรก็ต้องให้ครอบครัวอื่นได้ประโยชน์อย่างนั้น และประเทศของตนได้รับประโยชน์อย่างไรก็จะต้องให้ประเทศอื่นได้ผลประโยชน์อย่างนั้นด้วย
(ฟื้น ดอกบัว,2555
: 116-117.)
สมัยที่ม่อจื๊อยังมีชีวิตอยู่ ผู้ปกครองบ้านเมืองเล่นพรรค เล่นพวก
ใครที่ไม่ใช่ญาติหรือพวกพ้อง ถึงจะมีความรู้ความสามารถเพียงไรก็จะไม่มีโอกาสเข้ารับราชการ
หรือเข้ามาได้แล้วก็ไม่ได้เลื่อนให้มีตำแหน่งใหญ่โต ม่อจื๊อจึงสอนให้เลิกเล่นพรรคเล่นพวก
แต่ให้ถือตัวคนที่มีความรู้ความสามารถเป็นสำคัญ ม่อจื๊อเสนอให้รัฐบาลนำคนดีมีความรู้มาใช้
และปูนบำเหน็จยศถาบรรดาศักดิ์ให้ตามความเหมาะสม หลักการของม่อจื๊อในข้อนี้ดี
จะทำให้บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรือง แต่ทรรศนะของม่อจื๊อในเรื่องนี้ก็ขัดกับปรัชญาเหลาจื๊อที่สอนว่า
ความยุ่งยากของสังคมเกิดมาจากคนฉลาด เพราะฉะนั้นจึงไม่สนับสนุนให้คนศึกษาเล่าเรียน
(ฟื้น ดอกบัว,2555
: 117)
ม่อจื๊อถือว่า ผู้นำไม่ใช่เรื่องที่มนุษย์สมมติบัญญัติขึ้นเท่านั้น หากแต่เป็นความจริงตามธรรมชาติที่จะต้องมีขึ้น
ดุจเดียวกับสัตว์เดรัจฉานทุกจำพวกจะต้องมีจ่าฝูงหรือหัวหน้า
มันเป็นความจำเป็นโดยแท้ที่ต้องมีผู้นำในสังคมมนุษย์
เพราะสังคมมนุษย์จะขาดผู้นำหรือหัวหน้าไม่ได้
เพราะผู้นำย่อมเป็นที่รวมจิตใจของคนในสังคมนั้น
ผู้นำเป็นหลักประกันความมั่นคงและความสงบสุขของสังคม หากขาดผู้นำเสียแล้ว
ต่างคนต่างก็เอาแต่ใจตัวเองเป็นประมาณ ทำให้เกิดความวุ่นวายไร้ระเบียบในสังคม
ดังที่ม่อจื๊อกล่าวว่า
“ในสมัยปฐมบรรพ์นั้น มนุษย์ยังไม่มีกฎหมายและการปกครองไม่มีระเบียบประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติกัน
แต่ละคนจึงปฏิบัติตามใจของตน โดยนัยนี้ยิ่งมีคนมากก็มีความเห็นแตกต่างกันมาก
และแต่ละคนขัดแย้งกัน ซึ่งนำไปสู่การเกลียดชังและการเป็นศัตรูกัน ผลก็คือ
การเบียดเบียนกันจนถึงประหัตประหารกันก็ตามมา โลกจึงเต็มไปด้วยความโกลาหลวุ่นวาย
ต่อมาคนเกิดความเข้าใจว่า สาเหตุของความไม่สงบวุ่นวายนั้น
มาจากการขาดหัวหน้าหรือผู้นำ เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงช่วยกันคัดเลือกบุคคลที่ฉลาด
และสามารถที่สุดขึ้นเป็นโอรสแห่งสวรรค์หรือพระเจ้าจักรพรรดิ
หลังจากนั้นก็ช่วยกันสรรหาบุคคลที่ฉลาดและสามารถรองลงมาเป็นเสนาบดี และอื่นๆ
ตามลำดับ คอยช่วยเหลือผู้นำ ทั้งนี้ก็เพื่อให้พวกหัวหน้าจนถึงประมุข
ช่วยกันขจัดความวุ่นวาย นำความสงบสุขร่มเย็นมาให้ประชาชน(ซิวไช,
2523 : 300-301.อ้างใน ฟื้น
ดอกบัว, 2555 : 118.)
ด้วยเหตุนี้ม่อจื๊อจึงถือว่า ผู้นำสำคัญที่สุดของประเทศ
แต่โดยเหตุที่ผู้นำสามารถบันดาลได้ทั้งความเจริญหรือความเสื่อมให้แก่ประชาชน
ประชาชนจึงจำต้องให้ความสำคัญในการคัดเลือกบุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าเป็นพิเศษ
ประชาชนจะต้องร่วมมือกันเฟ้นหาบุคคลที่ดีเด่นด้วยคุณธรรมและความรู้มาเป็นผู้นำ
บุคคลที่จะมาร่วมทำงานกับผู้นำก็จะต้องคัดเลือกมาจากคนดีมีความรู้ดีเด่นเช่นกัน
ตำแหน่งผู้นำสูงสุดตามปรัชญาขงจื๊อ ก็ทำนองเดียวกับประธานาธิบดี แต่ม่อจื๊อเรียกว่า
จักรพรรดิหรือโอรสแห่งสวรรค์ แต่ม่อจื๊อไม่ได้บอกว่า เมื่อผู้นำสูงสุดสิ้นชีพแล้วจะดำเนินการอย่างไร
จะเลือกตั้งใหม่หรือใช้แบบสืบสันติวงศ์(ฟื้น
ดอกบัว,2555 : 119)
ม่อจื๊อ สอนให้ทำตามผู้นำ เรียกว่า เสียงท้ง สอนให้เชื่อผู้นำ
ทำตามคำสั่งของผู้นำ เขาเห็นว่า ถ้ารัฐได้ผู้นำที่ดี ปฏิบัติตามกฎรัฐร่วมกัน
มีประโยชน์สัมพันธ์กันก็เป็นใช้ได้ (เสถียร
โพธินันทะ,2544 : 126)
ม่อจื๊อเทิดทูลสันติภาพ และความยุติธรรมเป็นอย่างมาก จึงถือเป็นหน้าที่ที่ต้องดำรงรักษาสันติภาพและความยุติธรรมไว้ให้ได้
ม่อจื๊อมีความเห็นว่า สงครามเป็นการทำลายล้างทั้งสันติภาพและความยุติธรรม
สงครามจึงเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุดที่จำต้องกำจัดให้หมดไป และการที่จะให้สัมฤทธิ์ผลดังกล่าวก็เห็นมีอยู่วิธีเดียว
คือ การใช้กำลังทหารเข้าสนับสนุนการพูด และเนื่องจากม่อจื๊อมีความรู้ทางพิชัยสงคราม
และชำนาญในการช่าง เขาจึงตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพชั้นเยี่ยมขึ้นมาได้
กองกำลังก็ไม่ได้เอามาจากไหน ก็ใช้สาวกของตนนั่นเอง ม่อจื๊อมีสาวก 300
คน และในจำนวนนี้มีผู้ยอมเสียสละทุกอย่างแม้ชีวิตก็สละได้เพื่อม่อจื๊อถึง
180 คน
ม่อจื๊อคิดว่า การใช้กำลังเป็นอำนาจต่อรองนั้นแหละจึงจะได้ผล ทำนองเดียวกับเจรจากับโจรไม่ให้ปล้นบ้าน
เจ้าของบ้านก็จำต้องแสดงกำลังให้โจรเกรงกลัวจึงจะสามารถยับยั้งโจรได้ ม่อจื๊อจึงทำตัวเหมือนตำรวจโลก
คอยสอดส่องว่ารัฐไหนจะไปรุกรานรัฐอะไร เมื่อทราบแล้วม่อจื๊อก็จะรีบไปเกลี้ยกล่อมรัฐที่จะไปรุกรานให้เห็นโทษของสงครามแล้วล้มเลิกเสีย
หากรัฐนั้นไม่ยอมฟัง ม่อจื๊อก็จะใช้กองกำลังของตนเข้าช่วยเหลือรัฐที่รุกราน(ฟื้น ดอกบัว,2555 : 121)
ม่อจื๊อ ค้านการสงครามรุกราน แบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก โดยชี้ให้เห็นโทษของการรุกราน
ด้วยเหตุผลน่าฟัง ดังต่อไปนี้
“มีคนหนึ่งเข้าไปในสวนผลไม้ของคนอื่น แล้วลักผลไม้มาเป็นของตน
ชาวบ้านรู้เข้าย่อมไม่พอใจขโมยคนนั้น รัฐก็ต้องลงโทษตามระบิลเมือง
ข้อนี้ก็เพราะเป็นการกระทำที่เสียหายต่อผู้อื่น ต่อมามีคนที่ 2
เข้าไปลักปศุสัตว์ของชาวบ้าน ผู้นั้นชื่อว่าได้ทำผิดยิ่งกว่าคนที่ 1
ต่อมามีคนที่ 3 เข้ามาทำการปล้นทรัพย์ฆ่าฟันทำร้ายผู้อื่น
ก็ชื่อว่าทำความผิดร้ายแรงยิ่งกว่ารายก่อนๆ ข้อนี้เป็นเพราะอะไร
ก็เพราะเป็นการทำความเสียหายให้แก่ผู้อื่นเป็นอย่างมาก
คนยิ่งทำความเสียหายแก่คนอื่นมากเท่าไร
ก็ย่อมแสดงว่าใจขาดความดีงามมากขึ้นเท่านั้น
โทษที่พึงจะได้รับก็จะต้องหนักขึ้นตามไปด้วย คนที่ทำความไม่ดี
ย่อมเป็นที่ติเตียนของคนดีทั้งหลาย
แต่ยังมีความเลวร้ายที่หนักกว่าการกระทำดังกล่าวมาทั้งหมด นั่นก็คือ
รัฐที่ชอบเที่ยวทำสงครามรุกรานรัฐอื่น แต่เรากลับทำเป็นไม่เห็น
มิหนำยังกลับสรรเสริญว่า เป็นการกระทำที่ชอบธรรมเสียอีก ช่างน่าเศร้าใจจริงๆ”(ฟื้น ดอกบัว,2555 : 124)
ม่อจื๊อบำเพ็ญตนเป็นผู้พิทักษ์ความยุติธรรม
โดยถือเอาความเสียหายมากน้อยของสังคมเป็นเครื่องกำหนดโทษ ในทรรศนะของม่อจื๊อแล้ว
พวกนักรุกรานทั้งหลาย คือ จอมปล้นประเทศ(ฟื้น
ดอกบัว,2555 : 125.)
ม่อจื๊อไม่ย่อมสดุดีชัยชนะของคนเหล่านี้ว่าเป็นวีระกรรมเป็นอันขาด
เขาเรียกพวกนี้ว่าเป็นนักโทษของมนุษยชาติ(เสถียร
โพธินันทะ,2544 : 125)
จริยมาตรฐาน หมายถึง เกณฑ์การวินิจฉัยว่าอะไรดีอะไรชั่ว
ในปรัชญาของม่อจื๊อมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ ในการที่จะตัดสินใจลงไปว่า สิ่งใดดี
สิ่งใดชั่วนั้น จะยึดถืออะไรเป็นเกณฑ์วินิจฉัยต่อปัญหานี้ ม่อจื๊อแสดงทรรศนะว่า
จะต้องถือหลัก 3 ประการเป็นเกณฑ์วินิจฉัยหรือตรวจสอบ
1.
ไม่ขัดกับเจตจำนงของสวรรค์ของเทพวิญญาณ
และจรรยาวัตรของพระบูรพมหากษัตริยาธิราช (The ancient sage-kings)
2.
ไม่ขัดกับเจตจำนงสาธารณะ นั่นคือข้อเท็จจริงอันเป็นมติมหาชน
3.
เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน
บรรดาเกณฑ์ตรวจสอบทั้งสามประการนี้ เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน
ถือว่าเป็นข้อสำคัญที่สุดและเป็นเกณฑ์ที่ม่อจื๊อใช้พิสูจน์ตรวจสอบคุณค่าด้านต่างๆ
เสมอมา จึงอาจกล่าวได้ว่า
ทรรศนะของม่อจื๊อในเรื่องว่าด้วยเกณฑ์การวินิจฉัยคุณค่านี้มีลักษณะเป็น ประโยชน์นิยม
(Utilitarianism)คือ
ปรัชญาที่ถือเอาผลของการกระทำ หรือผลที่พึงจะได้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่า ดี-ชั่ว (น้อย พงษ์สนิท.ผศ.,ม.ป.ป. : 43)
ม่อจื๊อโจมตีขงจื๊อที่พูดถึงสวรรค์น้อย คุณธรรมเยิ้น ของขงจื๊อจึงไม่มีพื้นฐานรองรับที่แน่นหนา
เพราะคุณธรรมดังกล่าวอยู่ในตัวมนุษย์ มนุษย์เป็นศูนย์กลางของความดี
และเป็นต้นกำเนิดของคุณธรรม แต่ ความรักสากล ของม่อจื๊อ
เป็นคุณธรรมที่มีพื้นฐานมาจากพระเจ้า กล่าวคือ ความรักสากลเป็นเจตจำนงแห่งสวรรค์ (The
Will of Heaven) ม่อจื๊อจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้พิทักษ์ศาสนา หรือรื้อฟื้นเรื่องสวรรค์ให้มีชีวิตชีวา หลังจากที่ฝ่ายลัทธิขงจื๊อเอ่ยถึงน้อยเกินไป
เนื่องจากหลักประโยชน์นิยม และหลักการศาสนาของเขา ทำให้ม่อจื๊อมีวิถีชีวิตในทางทุกข์นิยม(asceticism)
มีแต่ระเบียบและปฏิเสธตนเองและค่อนข้างยากที่จะหาบุคคลผู้อุทิศตนเพื่อคนอื่น
เช่นม่อจื๊อ และการจะนำมนุษย์ไปสู่ความสงบและสันติสุขตามวิถีทางของม่อจื๊อคงเป็นไปได้ยาก
ลัทธิม่อจื๊อ (Moism หรือ Moist School)ได้พัฒนาขึ้นหลังจากม่อจื๊อเสียชีวิตและกลายเป็นสำนักทางศาสนาไป
เป็นสำนักที่มีระเบียบปฏิบัติที่เข้มงวด ภายใต้การนำของหัวหน้าสำนัก
แต่ความเข้มงวดของหลักปฏิบัติ ทำให้สำนักนี้สืบต่อได้ประมาณสองศตวรรษก็สลายตัว (ปานทิพย์ ศุภนคร,ผศ.,2534 : 37)
สรุปได้ว่า หัวใจของปรัชญาม่อจื๊ออยู่ที่ความรักความเมตตาต่อมนุษยชาติ
ปรารถนาจะให้ทุกคนมีความสุข โดย ให้คนเห็นคุณค่าของความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์
แล้วปลูกฝังหลักปรัชญานี้ให้เกิดมีขึ้นในสันดาน เลิกการแบ่งแยกชนชั้น
ให้ถือทุกคนเป็นพี่น้องกัน มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ขยันหมั่นเพียร
ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย และประหยัด การขยันทำให้มีทรัพย์สินเพิ่ม
การประหยัดก็ช่วยเพิ่มทรัพย์ได้เช่นกัน เลิกการใช้ฟุ่มเฟือย
และล้มเลิกประเพณีที่สิ้นเปลือง โดยเฉพาะก็พิธีทำศพ ซึ่งสิ้นเปลืองมากทั้งเงินและเวลา
เรื่องดนตรีก็เช่นกันควรละเว้นเสีย เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองทั้งเงินทั้งเวลาแล้ว
ยังเป็นการเพาะนิสัยความสำรวยสำราญอีกด้วย นอกจากนี้ ประเพณีหรูหราฟุ่มเฟือย และดนตรียังเป็นการแบ่งแยกชนชั้นทำให้คนชั้นสูงหาความสุขบนความทุกข์ของคนชั้นต่ำอีกด้วย เลิกเชื่อโชคชะตาหรือพรหมลิขิต แต่ให้เชื่อว่า ตนนั่นแหละเป็นผู้ลิขิตทุกอย่าง
ไม่ว่าเป็นความเจริญหรือความเสื่อมตนเองเป็นผู้บันดาลให้ทั้งนั้น และเชื่อในเรื่องของเทพเจ้า ผีสาง เทวดา
เพราะความเชื่อเรื่องการมีอยู่ของผีสางเทวดาเท่านั้น จะทำให้คนรักทำความดี หนีการทำความชั่วทั้งต่อหน้า
และลับหลัง อันจะเป็นผลให้การแผ่ความรักเมตตาเป็นไปได้อย่างจริงจัง ดังนั้น หลักปฏิบัติดังกล่าวของม่อจื๊อ คือ หลักประโยชน์นิยม (Utilitarianism)
ของ Stuart Mill นั่นเอง ม่อจื๊อจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้พัฒนาปรัชญาประโยชน์นิยมขึ้นในระบบปรัชญาจีนนั่นเอง
------------------------------------------------------------
เอกสารและสิ่งอ้างอิง
จำนง ทองประเสริฐ. 2537. บ่อเกิดลัทธิประเพณีจีน ภาค 1 – 3,
พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
ซิวไซ. 2523. ปรัชญาจีน, แปลโดย สกล นิลวรรณ จาก The
Story of Chinese Philosophy.พระนคร : โอเดียนสโตร์.
น้อย พงษ์สนิท,ผศ.,ม.ป.ป. ปรัชญาจีน.
กรุงเทพมหานคร :
โอ.เอส.พริ้นติ้ง, ศูนย์ส่งเสริมตำรา
และเอกสารวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ปานทิพย์ ศุภนคร,ผศ.,2534.
ปรัชญาจีน CHINESE PHILOSOPHY PY 225, พิมพ์ครั้งที่ 3,
กรุงเทพฯ :
มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ฟื้น ดอกบัว. 2555. ปางปรัชญาจีน, พิมพ์ครั้งที่
4, กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์.
เสถียร โพธินันทะ. 2506. เมธีตะวันออก. พิมพ์ครั้งที่ 1, พระนคร : สำนักพิมพ์บรรณาคาร,ก.ศ.ม.
----------------------. 2544. เมธีตะวันออก. พิมพ์ครั้งที่ 7,
กรุงเทพฯ : สรรค์บุ๊ค.
Fung, Yu-Lan. 1970. The Spirit of
Chinese Philosophy. Westport, Connecticut :
Greenwood Press.
Moore, Charles A. ed. 1968. The Chinese Mind. Honolulu, East –
West Center Press.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น