ปรมัตถสัจจะสิ่งที่มีจริง

 



ปรมัตถสัจจะสิ่งที่มีจริง

สิ่งที่มีอยู่จริงในระดับที่ 2 คือ ความจริงที่ลึกซึ้ง เป็นความจริงแท้ คงเป็นสัจจะอยู่ตลอดไปไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา สิ่งแวดล้อม และการยอมรับหรือการปฏิเสธของบุคคลพุทธศาสนาเรียกความจริงชนิดนี้ว่า ปรมัตถสัจจะ [Ultimate Reality] ความจริงอย่างปรมัตถ์ คือ จริงอย่างยิ่ง จริงในตัวเอง คือ มันเป็นจริงของมันอยู่อย่างนั้นเองคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แสดงถึงปรมัตถสัจจะ คือ คำสอนในระดับโลกุตตรธรรมนั้นมีปรากฏอยู่หลายแห่งในพระไตรปิฎกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระอภิธรรมปิฎก แต่คำบัญญัติว่า ปรมัตถสัจจะ มีปรากฏอยู่ในจังกีสสูตรเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ในจังกีสสูตรพระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบกับกาปทิกมาณพที่ทูลถามเรื่องการตรัสรู้สัจจะ พระพุทธเจ้าได้ตรัสพยากรณ์ว่า

ดูกรภารทวาชะ ได้ยินว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปอาศัยบ้านหรือนิคมแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดีเข้าไปหาภิกษุนั้นแล้ว ย่อมใคร่ครวญดูในธรรม 3 ประการ คือ ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ 1 ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย 1 ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง 1เมื่อใด เขาใคร่ครวญเธออยู่ ย่อมเห็นแจ้งชัดว่า เธอบริสุทธิ์จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภเธอบริสุทธิ์จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้ายเธอบริสุทธิ์จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง เมื่อนั้น เขาย่อมตั้งศรัทธาลงในเธอนั้นมั่นคง เขาเกิดศรัทธาแล้วย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้แล้วย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้แล้วย่อมเงี่ยโสตลง เขาเงี่ยโสตลงแล้วย่อมฟังธรรมครั้นฟังแล้วย่อมทรงจำธรรม พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้ เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมควรแก่การเพ่ง เมื่อธรรมควรแก่การเพ่งมีอยู่ ย่อมเกิดฉันทะ เกิดฉันทะแล้ว ย่อมขะมักเขม้น ครั้นขะมักเขม้นแล้ว ย่อมเทียบเคียง ครั้นเทียบเคียงแล้วย่อมตั้งความเพียร เป็นผู้มีใจแน่วแน่ ย่อมทำปรมัตถสัจจะให้แจ้งชัดด้วยกายและเห็นแจ้งแทงตลอดปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา ดูกรภารทวาชะ การตรัสรู้สัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แลเราย่อมบัญญัติการตรัสรู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่เชื่อว่า เป็นการบรรลุสัจจะ ทีเดียว (1)

คำว่า ปรมัตถสัจจะ แยกเป็น 2 บท คือ ปรมัตถะ + สัจจะ สัจจะ แปลว่า ความจริง ปรมัตถะ แปลว่า ประโยชน์อย่างยิ่ง, ความหมายสูงสุด, ความหมายที่แท้จริง ดังนั้น คำว่า ปรมัตถสัจจะ จึงแปลว่า ความจริงที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง, ความจริงโดยความหมายสูงสุด, ความจริงโดยความหมายที่แท้จริง เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งตรงข้ามกับสมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ เช่น สัตว์ บุคคล ฉัน เธอ ม้า รถ นาย ก นาง ข เป็นต้น

ปรมัตถสัจจะ บางทีท่านก็เรียกว่า ปรมัตถธรรม คือ สภาวะที่มีอยู่โดยปรมัตถ์ เป็นสิ่งที่เป็นจริงตามความหมายสูงสุด ตามพระอภิธรรมท่านกล่าวว่า มีอยู่ 4 อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้ให้ความหมายของปรมัตถ์สัจจะไว้ว่า ปรมัตถสัจจะ ความจริงโดยปรมัตถ์ คือ ความจริงตามความหมายสูงสุดตามความหมายแท้อย่างยิ่งหรือตามความหมายแท้ขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะ และเท่าที่พอจะกล่าวถึงได้หรือพอจะยังพูดให้เข้าใจกันได้ เพื่อสำหรับให้เกิดความรู้ความเข้าใจเท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลาย คือ รู้จักสิ่งเหล่านั้นตามที่มันเป็น และเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด คือ การหยั่งรู้สัจธรรม ที่จะทำให้ความยึดติดถือมั่นหลงผิดทั้งหลายสลายหมดไปทำให้วางใจวางท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง หลุดพ้นจากกิเลส และความทุกข์ มีจิตใจเป็นอิสระ ปลอดโปร่ง ผ่องใส เบิกบาน มีความสุขที่แท้จริงสิ่งที่เป็นจริงโดยปรมัตถ์ เช่น นามธรรม รูปธรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณหรือจิต เจตสิก รูป นิพพาน(2)

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระองค์ได้ทรงให้ความหมายของคำว่า ปรมัตถสัจจะ ดังนี้

ปรมัตถสัจจะ จริงโดยปรมัตถ์ คือ จะเป็นอะไรก็ตาม จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพระมเหสี เป็นผู้สำเร็จราชการ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นอะไรต่ออะไรทั้งหมด จนถึงเป็นคนขอทาน ก็มีอายตนะภายใน 6 แล้วก็ประสบอายตนะภายนอก 6 แล้วก็มีวิญญาณ มีผัสสะ มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร เหมือนกันหมดไม่ต่างกันเลย พระเจ้าแผ่นดินมีอย่างไร คนขอทานก็มีอย่างนั้น ไม่แปลกเท่ากันหมด, นี่เป็นปรมัตถสัจจะ สภาพที่จริงโดยปรมัตถ์ อนึ่ง โดยปรมัตถ์ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ มนะ ท่านแสดงว่า ไม่ใช่คน เพราะเป็นอาการของธาตุรู้หรือจิตกับกายที่รวมกันอยู่ จึงทำหน้าที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ น้อมนึกธรรมคือเรื่อง เช่น มือของเราเป็นมือ เมื่อหยุดพักไม่ได้จับก็เป็นมืออยู่นั่นแหละ แต่เมื่อจับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็แสดงอาการออกมาอีก คือ การจับ แต่การจับกับวัตถุที่จับไม่ใช่คน คนเป็นแต่ผู้ให้จับเพราะฉะนั้น อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ สัมผัส เวทนา สัญญา สังขาร ท่านจึงว่าไม่ใช่คน แต่ว่าถ้าไม่มีคน ก็ไม่มีวิญญาณ เวทนา สัญญา สังขาร เพราะต้องอาศัยกัน และกันอยู่เช่นนี้ ถ้าพูดถึงเรื่องอายตนะภายในภายนอก เป็นต้น ไปจนถึงสังขารไม่พูดถึงคน พูดถึงเครื่องจักรหรือสรีรยนต์ เช่นนี้เรียกว่า ปรมัตถ์ เพราะไม่กล่าวถึงบุคคลกล่าวถึงแต่เครื่องจักรหรือสรีรยนต์ แต่ถ้าไม่มีคน เครื่องยนต์ก็ไม่เดินพระพุทธเจ้าสอนให้พิจารณาดูเครื่องจักรของตนหรือสรีรยนต์ เครื่องยนต์ คือ สรีระ ให้รู้ตามที่เป็นจริงว่าเป็นอย่างไร แต่ให้เป็นเพียงผู้ดูสรีรยนต์ไม่ให้ยึดถือ เป็นความรู้สัจจะ คือ สภาพที่เป็นจริงหรือตัวจริง แต่เพราะสรีรยนต์หรือเครื่องจักรรวมกันเข้าปรากฎเป็นคนเช่นนี้ ท่านจึงจัดสัจจะสภาพที่เป็นจริงเป็น 2 คือ สมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ(3)

ดังนั้น สิ่งที่มีอยู่จริงๆ อย่างแท้จริง ที่เรียกว่า ปรมัตถสัจจะนี้ ก็คือ สิ่งที่เป็นความจริงในตนเองโดยสภาวธรรมของสิ่งนั้นเอง ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา เพราะแม้กาลเวลาก็เป็นสิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้น ปรมัตถสัจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับการรับรู้หรือปฏิเสธของมนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์จะรับรู้ว่า ปรมัตถสัจจะมีอยู่จริงหรือจะปฏิเสธว่า ปรมัตถสัจจะ นี้ไม่มีอยู่จริงก็ตามปรมัตถสัจจะนี้ก็คงมีอยู่เช่นนั้น คงเป็นสัจจะอยู่ตลอดไป เพราะว่า ปรมัตถสัจจะ ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์กำหนดแต่งตั้งขึ้น เป็นแต่เพียงว่า มนุษย์เป็นผู้ค้นพบ เป็นเพียงผู้เข้าไปรู้ เข้าไปศึกษาทำความเข้าใจแล้วก็สมมติชื่อเรียกสภาวธรรมที่ตนเองได้ค้นพบได้รู้ได้ศึกษาแล้วนั้น ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แท้ที่จริงปรมัตถสัจจะนี้ก็คงมีอยู่เป็นอยู่ตามสภาวะที่แท้จริงของตนเองอยู่เช่นนั้นตลอดไป ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ในอุปปาทสูตรว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้นคือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดาก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเองตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงครั้นแล้วจึงบอกแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขาร ทั้งปวงเป็นทุกข์ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ เข้าใจง่ายว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตามธาตุนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนกทำให้เข้าใจง่ายว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯ(4)

แสดงให้เห็นว่า ปรมัตถสัจจะ เป็นสภาวธรรมที่แท้จริงของธรรมชาติ แม้พระพุทธเจ้าเองพระองค์ก็ตรัสว่า ตถาคตจะอุบัติ (เกิดขึ้น)หรือไม่ก็ตามธาตุหรือธรรมชาติที่แท้จริงนั้นก็คงตั้งอยู่เป็นไปอยู่อย่างนั้นตามธรรมดา พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ค้นพบ และหลังจากที่ทรงค้นพบ คือ ตรัสรู้ถึงความจริงชนิดนี้แล้ว ก็ทรงนำมาเปิดเผยนำมาบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง จำแนก ให้เข้าใจง่าย ด้วยภาษาที่มนุษย์บัญญัติขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทรงใช้ภาษาที่เป็นสมมติสัจจะเปรียบเทียบแสดงความจริงในระดับปรมัตถสัจจะที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วนั้นให้ใกล้เคียงกับความจริงในระดับปรมัตถสัจจะนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทรงอธิบายให้ฟังได้ แต่ด้วยความจำกัดของภาษาความจริงที่ลึกซึ้งในระดับโลกุตตระมนุษย์ไม่อาจที่จะรู้ และเข้าใจความจริงชนิดนี้ได้ด้วยเพียงปัญญาที่เกิดจากจากการฟัง และปัญญาที่เกิดจากการคิดเท่านั้น แต่มนุษย์จะเข้าถึงความจริงชนิดนี้ได้จะต้องอาศัยปัญญาทั้ง 3 ระดับประกอบกัน คือ 1. ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการฟัง (สุตมยปัญญา) 2. ปัญญาที่เกิดจากการคิด (จินตามยปัญญา) 3. ปัญญาที่เกิดจากการอบรม (ภาวนามยปัญญา) มนุษย์จึงจะรู้และเข้าใจถึงความจริงในระดับปรมัตถสัจจะนี้ได้อย่างสมบูรณ์ ความจริงในระดับปรมัตถสัจจะนี้เมื่อบุคคลเข้าถึงแล้วก็จะรู้ และเข้าใจเอง ดังพระพุทธดำรัสว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพโพ วิญฺญูหีติ(5) ความจริงชนิดนี้เป็นความจริงชนิดที่วิญญูชนทั้งหลายจะพึงรู้เอง เพราะเป็นของเฉพาะตน ตัวอย่างเช่น เราอธิบายรสชาติของทุเรียนให้คนที่ไม่เคยกินทุเรียนฟัง โดยเปรียบเทียบให้ฟังว่า ทุเรียนมีรสหวานเหมือนมะซาง หอมเหมือนลูกจันทน์ อธิบายเท่าไหร่ คนฟังก็คงไม่รู้อยู่นั่นเองว่า ทุเรียนมีรสชาติเป็นอย่างไร ต่อเมื่อเราเอาผลทุเรียนมาให้เขาทาน พอเขาทานเสร็จเขาก็จะรู้เองว่า ทุเรียนมีรสชาติเป็นอย่างไร ไม่ต้องการคำอธิบายอีกหรือเหมือนกับการอธิบายเรื่องสีต่างๆ ให้คนที่มีจักษุบอดฟังว่า สีเขียวมีลักษณะเหมือนใบไม้ สีแดงมีลักษณะเหมือนเนื้อแตงโม สีน้ำเงินมีลักษณะเหมือนน้ำทะเล เป็นต้น อธิบายเท่าไหร่เขาก็คงไม่เข้าใจ เพราะคนมีจักษุบอดก็คงไม่เคยเห็นแม้กระทั่งใบไม้ แตงโม และน้ำทะเล ต่อเมื่อเราให้หมอรักษาจักษุเขาให้หายกลับมองเห็นได้อย่างปกติเมื่อ ไหร่แล้ว เขาก็จะรู้และเข้าใจเองว่าสีเขียว สีแดง สีน้ำเงินมีลักษณะเป็นอย่างไร โดยที่ไม่ต้องการคำอธิบายอีก ความจริงในระดับปรมัตถสัจจะนี้ก็เช่นเดียวกัน จะอธิบายโดยใช้ภาษาระดับสมมติสัจจะให้รู้และเข้าใจอย่างไร ก็คงเพียงแต่อธิบายเทียบเคียงเท่านั้น ต่อเมื่อบุคคลบรรลุถึงปรมัตถสัจจะแล้ว ก็จะรู้และเข้าใจเองว่า ปรมัตถสัจะนั้นเป็นอย่างไร โดยไม่ต้องการคำอธิบายอีก

ดังนั้น การอธิบายถึงปรมัตถสัจจะในที่นี้ ก็เป็นเพียงการอธิบายโดยใช้ภาษาที่ใช้ในระดับสมมติสัจจะเพื่อให้เกิดความเข้าใจในระดับหนึ่งเท่านั้น ส่วนจะเข้าใจปรมัตถสัจจะนี้ได้อย่างแจ่มแจ้งก็ต้องอาศัยปัญญาทั้ง 3 ระดับโดยเฉพาะภาวนามยปัญญา ที่ผู้ศึกษาจะพึงปฏิบัติให้เกิดขึ้นด้วยตนเองตามวิถีทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำสั่งสอนไว้แล้ว

ประเภทของปรมัตถสัจจะ โดยนัยแห่งปรมัตถธรรมแล้ว พุทธศาสนาแบ่งความจริงสูงสุดหรือปรมัตถสัจจะออกเป็น 4 ประเภท ดังที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหบาลีว่า ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา จตุธา ปรมตฺถโต จิตฺตํ เจตสิกํ รูปํ นิพฺพานมีติ สพฺพถา(6) แปลว่า อรรถแห่งพระอภิธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในพระอภิธรรมนั้นโดยปรมัตถ์ทุกประการ มี 4 อย่าง คือ จิต 1 เจตสิก 1 รูป 1 นิพพาน 1 ฯ

ดังนั้น สิ่งที่มีอยู่จริงอย่างปรมัตถ์หรือปรมัตถสัจจะตามทรรศนะพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีอยู่ 4 ประเภท คือ 1. จิต คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์, สภาพที่นึกคิด, ความคิด, ใจ ตามหลักฝ่ายอภิธรรม จำแนกจิตเป็น 89 หรือพิสดารเป็น 121 ; แบ่งโดยชาติ เป็นอกุศลจิต 12 กุศลจิต 21 (พิสดารเป็น 37) วิปากจิต 36 (พิสดารเป็น 52) และกิริยาจิต 20; แบ่งโดยภูมิ เป็นกามาวจรจิต 54 รูปาวจรจิต 15 อรูปาวจรจิต 12 และโลกุตตรจิต 8 (พิสดารเป็น 40)(7), 2. เจตสิก คือ ธรรมที่ประกอบกับจิต, อาการหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิต เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ศรัทธา เมตตา สติ ปัญญา เป็นต้น มี 52 อย่าง จัดเป็นอัญญสมานาเจตสิก 13 อกุศลเจตสิก 14 โสภณเจตสิก 258, 3. รูป คือ สิ่งที่จะต้องสลายไปเพราะปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง, สิ่งที่เป็นรูปร่างพร้อมทั้งลักษณะอาการของมัน , ส่วนร่างกาย จำแนกเป็น 28 คือ มหาภูตรูปหรือธาตุ 4 และ อุปาทายรูป 249 และ4. นิพพาน คือ การดับกิเลส และกองทุกข์ เป็นโลกุตตรธรรม และเป็นจุดหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา นิพพานมี 2 คือ สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสมีเบญจขันธ์เหลือ 1 อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ 110

สิ่งที่มีอยู่จริงอย่างปรมัตถ์นี้ บางทีท่านก็เรียกว่า รูปธรรม และนามธรรม คือ สามารถสงเคราะห์ปรมัตถธรรม 4 ลงเป็น 2 ประเภทได้ คือ จิต, เจตสิก, นิพพาน จัดเป็นนามธรรม ส่วนรูป จัดเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่า ทุกสิ่งในโลกนี้ทั้งที่เป็นรูปธรรม คือ รูปขันธ์ และสิ่งที่เป็นนามธรรม คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ เมื่อว่าโดยปรมัตถ์แล้วก็คงไม่มีสิ่งใดที่จะอยู่นอกเหนือไปจากปรมัตถธรรม ทั้ง 4 ประการนี้ เราสามารถสงเคราะห์ขันธ์ทั้ง 5 ซึ่งเป็นที่รวมตัวเกิดขึ้นของสิ่งทั้งปวงนั้นลงในปรมัตถธรรม 3 ได้ คือ วิญญาณขันธ์จัดเป็นสภาวธรรมที่เรียกว่า จิต เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์จัดเป็นสภาวธรรมที่เรียกว่า เจตสิก รูปขันธ์จัดอยู่ในสภาวธรรมที่เรียกว่า รูป ส่วนพระนิพพานเป็นนามธรรม และเป็นอสังขตธรรมด้วย

คำสอนของพระพุทธเจ้าที่แสดงถึงสิ่งที่มีอยู่จริงอย่างปรมัตถ์ (ปรมัตถสัจจะ) นี้มีปรากฏมากมายในพระไตรปิฎก ทั้งในพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก โดยเฉพาะในพระอภิธรรมปิฎกนั้นท่านได้แสดงลักษณะของปรมัตถสัจจะหรือปรมัตถธรรมไว้อย่างละเอียดมาก ในที่นี้จะนำเอาเนื้อความแห่งปรมัตถธรรมทั้ง 4 ประการ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน มาแสดงไว้ในที่นี้พอสังเขป

จิต เป็นสภาวธรรมประเภทแรกของปรมัตถสัจจะ 4 ประเภท จิตเป็นนามธรรมเหมือนเจตสิก และนิพพาน จิตเป็นสังขตธรรม คือ เป็นสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งได้ หมายถึง เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้น และเป็นไปตามอำนาจการปรุงแต่งของเหตุปัจจัยพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้ให้ทรรศนะในเรื่องจิตเอาไว้ว่า จิตมีลักษณะอยู่อย่างเดียว คือ มีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ (อารมฺมณวิชานนลกฺขณํ) ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอภิธัมมัตถสังคหบาลีว่า ธรรมชาติที่ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่า รู้อารมณ์ ฯ เหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ว่า จิตมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ ดังนี้ ฯ จริงอยู่แม้เมื่อมีนิสสยปัจจัย และสมนันตรปัจจัย เป็นต้น จิตก็เกิดขึ้นไม่เว้นจากอารมณ์ เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์จึงกล่าวความที่จิตนั้นมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ ฯ(11)

คำว่า อารมณ์ ที่จิตรู้นั้น อารมณ์ในที่นี้ หมายถึง เครื่องยึดหน่วงของจิต, สิ่งที่จิตยึดหน่วง, สิ่งที่ถูกรับรู้ ได้แก่ อายตนะภายนอก 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์(12) ไม่ได้หมายถึงความรู้สึกหรือความเป็นไปแห่งจิตใจในขณะหรือช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่ใช้กันในความหมายของภาษาไทยเช่นว่า อย่าทำตามอารมณ์ วันนี้อารมณ์ดี อารมณ์เสีย เป็นต้น

ดังนั้น อารมณ์จึงหมายถึง สิ่งที่จิตรู้ ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาคือ รูป ก็เป็นอารมณ์ของจิตในขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงก็เป็นอารมณ์ของจิตในขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้กลิ่น กลิ่นก็เป็นอารมณ์ของจิตในขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้รส รสก็เป็นอารมณ์ของจิตในขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้เย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหว เย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหวก็เป็นอารมณ์ของจิตในขณะนั้น ขณะใดจิตเกิดขึ้นนึกคิดเรื่องราวต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ก็เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังคิดนึกอยู่ในขณะนั้น เราจะสังเกตเห็นว่า เมื่อมีจิตก็ต้องมีอารมณ์คู่กันไปทุกครั้งเสมอ จิตเกิดขึ้นขณะใดจะต้องรู้อารมณ์ในขณะนั้น จิตจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ คือ จะมีแต่จิตซึ่งเป็นสภาพรู้โดยไม่มีอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้ จิตรับรู้อารมณ์ในลักษณะของการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้ลิ้มรส การได้สัมผัส และการรับรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ คือ รู้อารมณ์ตามอายตนะภายนอก 6 นั้นอยู่ตลอดเวลา จิตเป็นสภาวธรรมที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ มีหน้าที่รับรู้อารมณ์ เสวยอารมณ์ กำหนดหมายอารมณ์ และคิดปรุงแต่งอารมณ์ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่เพียงแต่รู้สิ่งที่ได้เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่ได้กลิ่น สิ่งที่ได้ลิ้มรส และสิ่งที่มากระทบสัมผัสเท่านั้น แต่จิตยังคิดนึกได้วิจิตรต่างๆ มากมาย ดังนั้น โลกของแต่ละคนจึงเป็นไปตามอำนาจจิตของแต่ละคนที่สะสมกุศลกรรม และอกุศลกรรมไว้มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไปสิ่งต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมปรากฏได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจนั้น ถ้าไม่มีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้สิ่งต่างๆ เหล่านั้น ก็คงไม่ปรากฏเป็นความสำคัญแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะว่า จิตรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้างทางกายบ้าง ทางใจบ้าง โลกของแต่ละคนจึงเป็นไปตามอำนาจของจิตของแต่ละคนนั่นเองโลกขณะ หนึ่งๆ ก็คือ การเกิดขึ้นของจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์เพียงชั่วขณะเดียว และก็ดับไป มีคำศัพท์ในทางพุทธศาสนาหลายคำที่ท่านใช้เรียกแทน (ใช้เป็นไวพจน์ คำสำหรับเรียกแทนกัน) คำว่า จิต คือ ใช้ในความหมายของคำว่าจิตอยู่หลายคำ เช่นจิต ได้แก่ จิต ใจ มานัส หทัย ปัณฑระ มโน มนายตนะ มนินทรีย์วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณ ธาตุอันเกิดแต่วิญญาณขันธ์นั้น(13)

ชื่อว่า ใจ ในคำว่า คิดถึงทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ ความว่า ใจ คือ จิต ใจ มานัส หทัย ปัณฑระ มนะ มนายตนะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุที่เกิดแต่ผัสสะเป็นต้นนั้น ท่านคิดนึกถึงทิฏฐิทั้งหลายด้วยจิตว่า โลกเที่ยงบ้าง โลกไม่เที่ยงบ้าง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า คิดถึงทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ(14)

จิต เป็นความรู้สึกนึกคิดที่มีอยู่กับตัวบุคคลทั้งหลายอยู่ทุกขณะ คือ ติดต่อกันไม่ขาดสาย มีชีวิตเชื่อมโยงไว้ให้เป็นอยู่ได้ เป็นสิ่งที่ควรรู้ควรศึกษาให้เข้าใจเป็นอย่างมากจิตว่าโดยสภาพแล้ว มีลักษณะรู้อารมณ์อย่างเดียวเท่านั้น มีชื่อเรียกได้หลายอย่างหลายนัยสุดแล้วแต่ผู้เรียกจะหมายเอา ถ้าหมายเอาความคิด ก็เรียกว่า จิต ถ้าหมายเอาอาการนึกที่ใจ ก็เรียกว่า มโน ถ้าหมายเอาความพอใจ ก็เรียกว่า มานสะ ถ้าหมายเอาหัวใจ ก็เรียกว่า หทย ถ้าหมายเอาความรู้สึกในใจที่สืบต่อกันไป ก็เรียกว่า มนายตนะ ถ้าหมายเอาความรู้สึกเป็นใหญ่ในอารมณ์ต่างๆ ก็เรียกว่า วิญญาณ ถ้าหมายเอากองแห่งความรู้แจ้ง ก็เรียกว่า วิญญาณขันธ์ ถ้าหมายเอาใจที่ทรงความรู้สึกแจ้งชัดไว้ได้ ก็เรียกว่า มโนวิญญาณธาตุ ถ้าหมายเอาความรู้สึกที่สดใสสะอาดของใจ ก็เรียกว่า ปัณฑระ สภาวะของจิต คือ มีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ มีการเกิดขึ้นก่อนและเป็นประธานในธรรมทั้งปวง คือ เมื่อจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วก็เป็นปัจจัยทำให้จิตอีกดวงหนึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จิตเป็นเหตุให้เจตสิกธรรมทั้งหลายรู้อารมณ์ได้เหมือนตนเอง และทำให้สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตวิจิตรพิสดารไปต่างๆ มากมาย ดังข้อความในอภิธัมมัตถสังคหฎีกาที่ท่านแสดงถึงธรรมชาติของจิตไว้ว่า ธรรมชาติที่ชื่อว่า จิต เพราะทำให้วิจิตรหรือเพราะภาวะแห่งตนเป็นธรรมชาติวิจิตร หรือเพราะอันกรรม และกิเลสสั่งสมไว้ อนึ่ง หรือเพราะรักษาไว้ซึ่งอัตตภาพอันวิจิตรหรือเพราะสั่งสมซึ่งสันดานของตนหรือเพราะมีอารมณ์อันวิจิตร ฯ(15)

ดังนั้น จิตเป็นสภาวธรรมประเภทหนึ่ง มีสภาวะรู้อารมณ์อย่างเดียว จิตเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างตัวตน เพียงแต่แสดงความรู้สึกอยู่ภายใน แต่มีอำนาจพิเศษวิจิตรพิศดารและน่ามหัศจรรย์หลายประการด้วยกัน เช่น

1. กระทำให้วิจิตรต่างๆ หมายความว่า สรรพวัตถุต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นประดิษฐกรรมอันวิจิตรตระการตา มีภาพลวดลายต่างๆ เครื่องยนต์กลไกต่างๆ ล้วนแต่เป็นศิลปวิทยา ที่เกิดด้วยจิตของนายช่างทั้งสิ้น

2. วิจิตรด้วยตนเอง หมายความว่า จิตทำจิตเอง ให้เป็นต่าง ๆ เป็นกุศลบ้างเพราะปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นอกุศลบ้าง เพราะประกอบไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นผลของกุศล ผลของอกุศล ที่เรียกว่าวิบากบ้างเป็นจิตของ พระอรหันต์ เรียกว่ากิริยาจิตบ้าง ยิ่งไปกว่านั้นยังแบ่งบุคคลให้ต่างด้วยเพศต่างด้วยสัญญา และต่างด้วยคติ เป็นต้นอีกด้วย

3. สั่งสมกรรม และกิเลส หมายความว่า กรรม คือ การงานทั้งปวงอันเกิดขึ้นด้วยเจตนา และกิเลสทั้งปวงที่เป็นเครื่องเศร้าหมองเกิดสั่งสมไว้ที่จิตนี่เอง หาได้สั่งสมไว้ที่อื่นไม่เรียกว่า สันดานหรือสัญชาติญาณ

4. รักษาไว้ซึ่งวิบากที่กรรม และกิเลสสั่งสมไว้ หมายความว่า จิตนี้ย่อมรักษาผลของการกระทำ และกิเลสซึ่งได้สั่งสมอำนาจนั้นไว้มิให้สูญหายไป เกิดขึ้นกับจิตที่เป็นวิบากรับผลกรรมนั้นๆ เมื่อมีโอกาส

5. สั่งสมสันดานตนเอง หมายความว่า จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับลง เป็นปัจจัยให้จิตอีกดวงหนึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันไปไม่ขาดสายเป็นสันตติสืบเนื่องกันไป ลงสู่ภวังค์แล้วเกิดขึ้นใหม่อีกเสมอเป็นนิตย์

6. มีการวิจิตรด้วยอารมณ์ต่างๆ หมายความว่า จิตนี้ย่อมรู้อารมณ์ต่างๆ จิตทางตา รู้รูปารมณ์ คือ สี จิตทางหู รู้สัททารมณ์ คือ เสียง จิตทางจมูก รู้คันธารมณ์ คือ กลิ่น จิตทางลิ้น รู้รสารมณ์ คือ รส จิตทางกาย รู้โผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง จิตทางมโน รู้ธรรมารมณ์ คือ เรื่องราวต่างๆ มีปสาทรูป 5 สุขุมรูป 16 จิต เจตสิก นิพพาน บัญญัติ เป็นต้น(16)

เรื่องจิตเป็นเรื่องที่สำคัญมากในคำสอนทางพุทธศาสนา เพราะมนุษย์จะทำความดีหรือความชั่วทางกายวาจาได้ก็ด้วยอาศัยจิตนี้เองเป็นตัวสั่งการ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงความมหัศจรรย์ และความสำคัญของจิตไว้มากมาย เช่น พระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ในคัททูลสูตรที่แสดงถึงความเศร้าหมอง และความผ่องแผ้วแห่งจิตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภาพนิทรรศการนั้น เธอทั้งหลาย เห็นแล้วหรือ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็นแล้วพระเจ้าข้า พ. ภาพนิทรรศการแม้นั้นแล ช่างเขียนคิดแล้วด้วยจิตนั่นแหละ จิตนั้นแหละ วิจิตรกว่าภาพนิทรรศการแม้นั้น เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า จิตนี้ เศร้าหมองด้วยราคะ โทสะ โมหะสิ้นกาลนาน สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นหมู่สัตว์อื่นแม้เพียงหมู่หนึ่ง ซึ่งวิจิตรเหมือนอย่างสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายนี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านี้แล คนคิดด้วยจิตนั่นแหละ จิต นั่นแหละวิจิตรกว่าสัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านั้น(17) และครั้งหนึ่ง เทวดาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เกนสฺสุ นียติ โลโก เกนสฺสุ ปริกิสฺสติ กิสฺสสฺส เอกธมฺมสฺส สพฺเพว วสมนฺวคูติ ฯ จิตฺเตน นียติ โลโก จิตฺเตน ปริกิสฺสติ จิตฺตสฺส เอกธมฺมสฺส สพฺเพว วสมนฺวคูติฯ(18) แปลว่า โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกไสโลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ อะไร ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือ จิต ฯ

ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฺฐนฺติ ฯ ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ วิปฺปมุตฺตนฺติ ฯ(19) แปลว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง และจิตนั้นแล พ้นวิเศษแล้วจากอุปกิเลสที่จรมา ฯ

ความเกิดดับของจิตเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก ยากที่จะหาอะไรมาเปรียบเทียบได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า นาหํ ภิกฺขเว อญฺญํ เอกธมฺมํปิ สมนุปสฺสามิ ยํ เอวํ ลหุปริวตฺตํ ยถยิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ยาวญฺจิทํ ภิกฺขเว อุปมาปิ น สุกรา ยาว ลหุปริวตฺตํ จิตฺตนฺติ ฯ(20) แปลว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เปลี่ยนแปลงได้เร็วเหมือนจิต ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตเปลี่ยนแปลงได้เร็วเท่าใดนั้น แม้จะอุปมาก็กระทำได้ มิใช่ง่าย ฯ

แสดงว่า จิตเป็นสภาวธรรมชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก มนุษย์จะบริสุทธิ์ก็ต้องชำระจิตนี้เองให้บริสุทธิ์หรือมนุษย์จะเศร้าหมองก็เพราะปล่อยให้อุปกิเลสเกิดขึ้นภายในจิตนี้เอง จิตเป็นธรรมชาติวิจิตร เกิดดับสืบต่อกันไปอย่างรวดเร็ว ยากที่ผู้ไม่ได้ฝึกจิตตามหลักทางพุทธศาสนาจะกำหนดรู้สภาวธรรมที่เรียกว่าจิตนี้ได้โดยง่ายกระบวนการทำงานของจิต จิตเกิดดับ 3 ขณะจิตเป็นสภาวธรรมที่ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปในที่สุดเป็นไปตามอำนาจแห่งเหตุปัจจัย จิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลาเป็นไปอย่างต่อเนื่องกัน จิตดวงเก่าดับไปจิตดวงใหม่ก็เกิดขึ้นรับช่วงต่อจากจิตดวงเก่าเช่นนี้เรื่อยไป ท่านเรียกจิตที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในแต่ละครั้งว่า ขณะจิตหนึ่ง คือ อายุของจิตที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ขณะจิตหนึ่งนั่นเอง ท่านแบ่งช่วงของขณะจิตออกเป็น 3 ขณะ(21) คือ 1. ในขณะที่จิตเริ่มเกิดขึ้น เรียกว่า อุปปาทขณะ 2. ในขณะจิตตั้งอยู่ยังไม่ดับไป เรียกว่า ฐีติขณะ 3. ในขณะที่จิตกำลังดับไป เรียกว่า ภังคขณะ จิตทุกดวงที่เกิดขึ้นจะต้องประกอบไปด้วย 3 ขณะใหญ่นี้เสมอ จิตดวงเก่าก่อนจะดับก็ทำหน้าที่เป็นเหตุปัจจัยให้จิตดวงใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายจิตที่ประกอบไปด้วย 3 ขณะนี้ เมื่อเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ทางอายตนะภายนอก 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ โดยผ่านอายตนะภายใน 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ในขณะที่รับรู้อารมณ์โดยปกตินั้นท่านเรียกจิตในขณะนั้นว่า วิถีจิต ถ้าจิตอยู่ในสภาพที่ไม่รับรู้อารมณ์ ท่านเรียกว่า ภวังคจิต เช่น จิตในขณะที่หลับสนิท จิตไม่รับรู้อารมณ์ แต่จิตจะเกิดดับอยู่ในภวังคจิตนั้นตลอดเวลา จิตที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์อย่างชัดเจน จิตจะเกิดดับอยู่ในวิถีจิต 14 ขณะ แล้วจะตกลงสู่ภวังคจิตอีก 3 ขณะ หลังจากนั้นจิตก็จะเกิดขึ้นรับอารมณ์ทางวิถีจิตอีก 14 ขณะสลับกันอยู่เช่นนี้ตลอดเวลา ดังนั้น ในขณะจิตหนึ่งที่ประกอบไปด้วย อุปปาทขณะ ฐีติขณะ และภังค ขณะนั้นจิตจะเกิดดับในขณะจิตหนึ่งอยู่ 17 ขณะ แต่ถ้าจิตเกิดขึ้นรับรู้บางขณะเป็นไปอย่างไม่ชัดเจน จิตที่เกิดดับในขณะนั้นอาจเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์น้อยกว่า 17 ขณะ อาจจะเหลือเพียง 16 ขณะ 15 ขณะ 14 ขณะ หรือ 13 ขณะหรืออาจน้อยไปกว่านั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่า จิตเกิดรับรู้อารมณ์ชัดเจนมากน้อยเพียงใด ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่เฉพาะจิตที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์อย่างชัดเจน 17 ขณะ ที่เรียกว่า อติมหันตารมณ์ เท่านั้น

จิตย่อยเกิดดับอยู่ 17 ขณะจิตที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์อย่างชัดเจนเรียกว่า อติมหันตารมณ์ จิตจะเกิดดับสืบเนื่องกันไป 17 ขณะ จิตแต่ละขณะมีหน้าที่เฉพาะของตน จิตดวงหนึ่งจะเกิดดับอยู่ 17 ขณะ เช่น เมื่อจิตรับอารมณ์ทางตา คือ รู้รูปารมณ์แล้วก็ดับไปแล้ว จิตดวงเก่านี้จะเป็นเป็นปัจจัยให้จิตดวงใหม่เกิดขึ้นและรับรู้อารมณ์ทางหู เป็นต้นต่อไปเรื่อยๆ ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะจิตที่เกิดขึ้นรับ อติมหันตารมณ์ทางตาเสร็จแล้วก็เกิดรับอารมณ์ทางหูต่อไปพอเป็นตัวอย่าง กระบวนการทำงานของจิต 17 ขณะนั้น(22) ดังนี้

จิตขณะที่ 1 เรียกว่า อตีตภวังคจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รูปเกิดขึ้นกระทบกับปสาทรูป และกระทบกับภวังค์ขณะนั้น ท่านจึงเรียกภวังคจิตที่รูปเกิดขึ้นกระทบนั้นว่า อตีตภวังค์

จิตขณะที่ 2 เรียกว่า ภวังคจลนจิต เมื่ออตีตภวังคจิตดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตดวงต่อไปไหว ท่านเรียกภวังคจิตที่ไหวนี้ว่า ภวังคจลนจิต

จิตขณะที่ 3 เรียกว่า ภวังคุปัจเฉทจิต เมื่อภวังคจลนจิตดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตดวงต่อไปเกิดขึ้น คือ ภวังคจิตที่ทำหน้าที่ตัดอารมณ์เก่า ในที่นี้ก็ทำหน้าที่ตัดรูปารมณ์ออกไปอย่างเด็ดขาด ภวังคุปัจเฉทจิตเป็นจิตลำดับสุดท้ายของภวังคจิต

จิตขณะที่ 4 เรียกว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต เมื่อภวังคุปัจเฉทจิตดับไปแล้ว วิถีจิตจึงเกิดขึ้นรับอารมณ์ที่ปรากฏทางหู เรียกว่า โสตทวาราวัชชนจิต เป็นจิตดวงแรกของวิถีจิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์ใหม่

จิตขณะที่ 5 เรียกว่า ปัญจวิญญาณจิต เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจแล้วดับไป ก็เป็นปัจจัยให้ขณะจิตลำดับที่ 5 เกิดขึ้น ในที่นี้ก็เป็นปัจจัยให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นทำสวนกิจคือได้ยิน คือ เป็นวิถีจิตที่ทำหน้าที่รู้แจ้งอารมณ์ทางหู เมื่อรู้สึกว่าได้ยินแล้วก็ดับไป 1 ขณะ

จิตขณะที่ 6 เรียกว่า สัมปฏิจฉันนจิต เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิต คือ โสตทวาราวัชชนจิต ดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้สัมปฏิจฉนจิตเกิดขึ้นทำหน้าที่รับอารมณ์นั้นต่อจากโสตทวาราวัชชนจิต เพื่อจะสืบทอดต่อไป

จิตขณะที่ 7 เรียกว่า สันตีรณจิต เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้สันตีรณจิตเกิดขึ้นทำหน้าที่ พิจารณาอารมณ์ที่ได้รับว่า ดีหรือไม่ดีอย่างไร 1 ขณะแล้วก็ดับไป

จิตขณะที่ 8 เรียกว่า โวฏฐัพพนจิต เมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นทำหน้าที่กำหนดหรือตัดสินอารมณ์ที่สันตีรณจิตพิจารณาแล้วประมวลให้ คือ กำหนดทางให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตหรือมหากิริยาจิตฝ่ายโลกิยะเกิดต่อ

จิตขณะที่ 9 - 15 เรียกว่า ชวนจิต เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ชวนจิต 7 ดวงเกิดขึ้นแล่นไปทำหน้าที่เสพหรือเสวยอารมณ์อย่างเดียวกัน เป็นเหตุให้เกิดกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง มหากิริยาจิตบ้าง คือ จิตที่เป็นเหตุให้ทำกุศลบ้าง อกุศลบ้างกิริยาบ้างให้ปรากฏขึ้น สั่งสมอยู่ในสันดาน อันจะส่งผลให้เป็นวิบากจิตต่อไป

จิตขณะที่ 16 - 17 เรียกว่า ตทาลัมพนจิต เมื่อชวนจิตทั้ง 7 ดวงดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้ตทาลัมพนจิตเกิดขึ้นทำหน้าที่รับเศษของอารมณ์ที่เหลือจากชวนจิต เพื่อหน่วงอารมณ์เข้าสู่ภวังคจิต อีก 2 ขณะเมื่อจิตลำดับที่ 17 ดับลง วิถีจิตก็สิ้นสุดลง และอารมณ์ที่จิตเกิดขึ้นรับรู้ก็สิ้นสุดลงเช่นเดียวกัน เป็นการสิ้นสุดกระบวนการทำงานของจิต 3 ขณะใหญ่ หรือ 17 ขณะย่อยดังกล่าวมาแล้ว และเมื่อตทาลัมพนจิตดวงที่ 17 ดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตดวงใหม่ที่เกิดรับอารมณ์ใหม่ดวงต่อไปเกิดขึ้น อันเป็นการเริ่มต้นใหม่ของกระบวนการทำงานของจิตตั้งแต่ขณะที่ 1 ถึง ขณะที่ 17 อีกเป็นลำดับไป จิตก็จะเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปในขณะจิต 17 ขณะดังกล่าวมาแล้วนี้

สรุปว่า จิตมีลักษณะอยู่อย่างเดียวคือ รู้อารมณ์ แต่ถ้าพิจารณาจิตในแง่ปรมัตถสัจจะจิตก็มีลักษณะ 2 ประการ(23) คือ 1. จิตที่เป็นสามัญญลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา, 2. จิตที่เป็นสภาวลักษณะ คือ ลักษณะเฉพาะของจิต คือ 1) มีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ 2) มีการถึงก่อน คือ มีความเป็นหัวหน้าคือเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ เป็นรส คือ กิจ, 3. มีการสืบเนื่องกัน คือ เกิดดับสืบต่อกันไปเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ และ4. มีนามธรรมและรูปธรรมเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ดังนั้น ธรรมชาติของจิตจึงมีอยู่ 3 ประการ คือ 1. จิต คือ ธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ (อารมฺมณํ วิชานาตีติ จิตฺตํ) 2. จิต คือ ธรรมชาติที่รู้จักคิด (จินฺเตตีติ จิตตํ) 3. จิต คือ ธรรมชาติอันรู้จักใฝ่ฝันอันวิจิตร (วิจิตฺตํ กโรตีติ จิตฺตํ)(24)

เรื่องของจิต และกระบวนการทำงานของจิตเป็นเรื่องละเอียดอ่อนลึกซึ้ง เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และมีนัยวิจิตรพิสดารมาก ผู้สนใจสามารถศึกษาจากพระอภิธรรมปิฎก คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหบาลี และอภิธัมมัตถสังคหฎีกา คัมภีร์วิสุทธิมรรค เพิ่มเติมรายละเอียดต่างๆ ได้

ประเภทของจิต จิตตามทรรศนะของพุทธศาสนานิกายเถรวาทดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ถ้าพิจารณาถึงสิ่งที่เป็นสภาวลักษณะที่แท้จริงในตนเอง จิตก็มีประเภทเดียว คือ เป็นสภาวธรรมที่มีการเกิดดับสืบต่อกันไปตามอำนาจแห่งเหตุปัจจัยอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย และมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะเท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาตามกิจ และหน้าที่ของจิตแล้ว พุทธศาสนาได้จัดแบ่งประเภทของจิตไว้หลายนัยด้วยกัน ในอภิธรรมมัตถสังคหะท่านจำแนกจิตไว้เป็นนัยต่างๆ ไว้ 9 นัย ดังนี้

1. ภูมิเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิตโดยภูมิ มี 4 ภูมิ คือ กามภูมิ 1 รูปภูมิ 1 อรูปภูมิ 1 โลกุตรภูมิ 1

2. ชาติกเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิตโดยชาติ มี 4 ชาติ คืออกุศลชาติ 1 กุศลชาติ 1 วิบากชาติ 1 กิริยาชาติ 1

3.โสภณเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิตโดยจิตที่ดีงามที่เรียกว่าโสภณจิตประเภทหนึ่ง และจิตที่ไม่ดีงามที่เรียกว่าอโสภณจิตประเภทหนึ่ง

4. โลกเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิตตามจิตที่เป็นอยู่ในโลกทั้ง 3 คือ กามโลก 1 รูปโลก 1 อรูปโลก 1 เรียกว่า โลกิยจิต ประเภทหนึ่ง และจิตที่พ้นแล้วจากความเป็นไปในโลกทั้ง 3 เรียกว่า โลกุตรจิต ประเภทหนึ่ง

5. เหตุเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิตตามจิตที่ประกอบด้วยเหตุที่เรียกว่า สเหตุกจิต ประเภทหนึ่ง และจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เรียกว่า อเหตุกจิต ประเภทหนึ่ง

6. ฌานเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิตตามจิตที่สามารถกระทำฌานที่เรียกว่า ฌานจิต ประเภทหนึ่ง และจิตที่ไม่สามารถกระทำฌานที่เรียกว่า อฌานจิต ประเภทหนึ่ง

7. เวทนาเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิตโดยการเสวยอารมณ์ ได้แก่จิตที่เกิดพร้อมด้วยสุขเวทนา ทุกขเวทนา โสมนัสสเวทนา โทมนัสสเวทนา และอุเบกขาเวทนา

8. สัมปโยคเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิตโดยจิตที่สัมปยุต และวิปปยุต

9. สังขารเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิตโดยสภาพของจิตที่มีกำลังแก่กล้า เรียกว่า อสังขาริก และสภาพของจิตที่มีกำลังอ่อนกว่า เรียกว่า สสังขาริก(25)

แต่จะนำมาแสดงไว้ในที่นี้เฉพาะจิตที่ท่านจำแนกโดยภูมิที่เรียกว่า ภูมิเภทนัย ซึ่งเป็นที่คุ้นเคย และใช้กันมาก นำมาแสดงไว้แต่พอสังเขป

จำแนกจิตตามประเภทภูมิเภทนัย ภูมิเภทนัย คือ การจำแนกประเภทของจิตโดยภูมิ มี 4 ภูมิ คือ กามภูมิ 1 รูปภูมิ 1 อรูปภูมิ 1 โลกุตตรภูมิ 1 ดังนี้

ประเภทของจิต 89 ประเภท หรือ 121 ประเภทจิต จำแนกออกได้เป็น 89 ประเภท ถ้าขยายจิตของพระอริยบุคคลออกให้ละเอียด จิตก็มี 121 ประเภท จิต 89 หรือ 121 ประเภทนี้ จัดเป็นหมวดใหญ่ ๆ ได้ 4 หมวด ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอภิธัมมัตถสังคหบาลีว่า ตตฺถ จิตฺตํ ตาว จตุพฺพิธํ โหติ กามาวจรํ รูปาวจรํ อรูปาวจรํ โลกุตฺตรญฺเจ ติ(26) แปลว่า บรรดาอรรถแห่งพระอภิธรรม 4 อย่างนั้น จิตอันดับแรกมี 4 อย่าง คือ กามาวจรจิต 1 รูปาวจรจิต 1 อรูปาวจรจิต 1 โลกุตตรจิต 1 ฯ

จิต 89 ประเภท คือ 1. กามวจรจิต คือ จิตที่วนเวียนอยู่ในกาม 54 ดวง, 2. รูปาวจรจิต คือ จิตที่เข้าถึงรูปฌาน 15 ดวง, 3. อรูปาวจรจิต คือ จิตที่เข้าถึงอรูปฌาน 12 ดวง, 4. โลกุตตรจิต คือ จิตที่หลุดพ้นแล้ว 8 ดวง

หรือจิตมี 121 ประเภท คือ 1. กามาวจรจิต คือ จิตที่วนเวียนอยู่ในกาม 54 ดวง, 2. รูปาวจรจิต คือ จิตที่เข้าถึงรูปฌาน 15 ดวง, 3. อรูปาวจรจิต คือ จิตที่เข้าถึงอรูปฌาน 12 ดวง, 4. โลกุตตรจิต คือ จิตที่หลุดพ้นแล้ว 40 ดวง

กามาวจรจิต 54 ประเภท กามาวจรจิต คือ จิตที่เที่ยวเกิดดับเป็นไปในกามภูมิ ยึดเอากามเป็นอารมณ์ และข้องอยู่ในกามนั้น คำว่า กาม ในที่นี้หมายถึง ความใคร่, ความอยาก, ความปรารถนา, สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้จิตเกิดความโลภ ความโกรธ และความหลง กามนั้น มีอยู่ 2 ชนิด คือ วัตถุอันน่าใคร่ น่าพอใจ ได้แก่ กามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นสิ่งที่ยั่วใจให้เกิดความโลภ ความโกรธ และความหลง เรียกว่า วัตถุกาม 1 และตัวกิเลสที่ทำให้น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ เรียกว่า กิเลสกาม 1

ดังนั้น คำว่า กามในที่นี้ก็หมายเอาทั้งวัตถุกาม และกิเลสกามดังกล่าวแล้ว จิตที่ท่องเที่ยวไปในกาม ยึดเอากามเป็นอารมณ์ และข้องติดอยู่ในกามนั้น เรียกว่า กามาวจรจิต จิตที่เที่ยวเกิดดับในกามนั้น คือ จิตที่เที่ยวเกิดดับในกามภูมิ 11 คือ อบายภูมิ 4 มนุษยภูมิ1 และเทวภูมิ6 อบายภูมิ คือ ภูมิอันเป็นที่เกิดที่อยู่ของสัตว์ 4 จำพวก คือ ภูมิของสัตว์นรก1 ภูมิของเปรต 1 ภูมิของอสุรกาย 1 ภูมิของสัตว์ดิรัจฉาน 1 มนุษยภูมิ คือ ภูมิอันเป็นที่เกิดที่อยู่ของมนุษย์ และเทวภูมิ คือ ภูมิอันเป็นที่เกิดที่อยู่ของเทวดา 6 ชั้น คือ จาตุมมหาราชิกาภูมิ1 ตาวตึสภูมิ1 ยามาภูมิ1 ตุสิตาภูมิ1 นิมมานรดีภูมิ1 และปรนิมมิตวัสสวัสตีภูมิ 1 กามภูมิ 11 นี้เป็นที่เที่ยวเกิดดับของจิต 54 ประเภท ดังนั้น ท่านจึงเรียกว่า กามาวจรจิต คือ จิตที่ท่องเที่ยวไปในกามของสัตว์ทั้งหลายทั้งเทวดา และมนุษย์ที่ยังมีจิตข้องติดอยู่ในกาม ถูกกิเลสกามครอบงำจิตจนเป็นเหตุให้ข้องติดในวัตถุกาม จิตในกามภูมิเหล่านี้ เป็นจิตที่ดีงามบ้าง เป็นจิตที่ เลวทรามบ้าง เป็นจิตที่เป็นผลของบุญบ้าง จิตที่เป็นผลของบาปบ้าง

กามาวจรจิต คือ จิตที่ท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในกามมี 54 ประเภท ได้แก่ 1. อกุศลจิต 12 ดวง, 2. อเหตุกจิต 18 ดวง และ3. กามาวจรโสภณ 24 ดวง

อกุศลจิต คือ จิตที่ไม่ดีงาม เป็นอกุศล ซึ่งมีสภาวะให้ผลเป็นโทษ และทุกข์ เป็นลักษณะ อกุศลจิตเกิดขึ้นแล้วทำจิตให้เศร้าหมองขุ่นมัว เป็นจิตที่ไม่ดีไม่งาม เป็นเหมือนเครื่องหมักดองทำให้มัวเมาอยู่เป็นนิตย์ ดุจพันธนาการที่ผูกสัตว์ไว้ให้ติดอยู่ในวัฏสงสารไม่มีที่สิ้นสุด อกุศลจิต มี 12 ดวง ดังพระบาลีว่า อฏฺฐธา โลภมูลานิ โทสมูลานิ จ ทฺวิธา โมหมูลานิ จ เทฺวติ ทฺวาทสากุสลา สิยุ เทฺว(27) แปลว่า อกุศลจิต มี 12 คือ โลภมูลจิต 8 โทสมูลจิต 2 และโมหมูลจิต 2 อกุศลจิต 12 ดวง คือ

โลภมูลจิต คือ จิตที่มีความโลภอยากได้เป็นรากเง้ามี 8 ดวง คือ 1. จิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ประกอบด้วยทิฏฐิ เป็นอสังขาริก (โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ จิตฺตํ), 2. จิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ประกอบด้วยทิฏฐิ เป็นสสังขาริก (โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ จิตฺตํ), 3. จิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ เป็นอสังขาริก (โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ จิตฺตํ), 4. จิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ เป็นสสังขาริก (โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ จิตฺตํ), 5. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ประกอบด้วยทิฏฐิ เป็นอสังขาริก (อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ จิตฺตํ), 6. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ประกอบด้วยทิฏฐิ เป็นสสังขาริก (อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ จิตฺตํ), 7. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ เป็นอสังขาริก (อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ จิตฺตํ), 8. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ เป็นสสังขาริก (อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ จิตฺตํ)

โทสมูลจิต คือ จิตที่มีความโกรธเป็นรากเง้ามี 2 ดวง คือ 9. จิตที่สหรคตด้วยโทมนัส ประกอบด้วยปฏิฆะ เป็นอสังขาริก (โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ จิตฺตํ), 10. จิตที่สหรคตด้วยโทมนัส ประกอบด้วยปฏิฆะ เป็นสสังขาริก (โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ จิตฺตํ)

โมหมูลจิต คือ จิตที่มีความหลงเป็นรากเง้ามี 2 ดวง คือ 11. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ประกอบด้วยวิจิกิจฉา (อุเปกฺขาสหคตํ วิจิกิจฺฉาสมฺปยุตฺตํ จิตฺตํ), 12. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ประกอบด้วยอุทธัจจะ (อุเปกฺขาสหคตํ อุทฺธจฺจสมฺปยุตฺตํ จิตฺตํ)

อเหตุกจิต คือ จิตที่หาเหตุประกอบมิได้ เป็นจิตที่ไม่ประกอบไปด้วยเหตุ 6 ประการ คือ โลภเหตุ เหตุโลภ 1 โทสเหตุ เหตุโกรธ 1 โมหเหตุ เหตุหลง 1 อโลภเหตุเหตุไม่โลภ 1 อโทสเหตุเหตุไม่โกรธ 1 อโมหเหตุเหตุไม่หลง 1 เหตุ 6 ประการนี้เรียกว่า สัมปยุตตเหตุ คือ เหตุประกอบ อเหตุกจิตนี้ไม่ประกอบด้วยเหตุทั้ง 6 ก็จริง แต่เหตุปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นนั้นก็มีอยู่ เรียกว่า อุปปัตติเหตุ คือ เหตุให้เกิดขึ้นอันประกอบด้วยทวาร (ประตูของจิต) อารมณ์ (ที่ยึดเหนี่ยวของจิต) วัตถุ (ที่อาศัยของจิต) และมนสิการ (การเอาใจใส่)(28)

อเหตุกจิต เป็นวิปปยุตตจิต คือ จิตที่ปราศจากเหตุประกอบ และเป็นอสังขาริกทั้งหมดเกิดขึ้นเองโดยไม่มีผู้ชักชวน เป็นอกุศลวิปากจิต คือ จิตที่เป็นผลของบาปบ้าง เป็นกุศลวิปากจิต คือ จิตที่เป็นผลของบุญบ้าง เป็นกิริยาจิต คือ จิตที่สักแต่ว่าเกิดขึ้นตามธรรมชาติบ้าง อเหตุกจิตนั้น มิใช่จิตที่เป็นบุญ มิใช่จิตที่เป็นบาป แต่เป็นจิตที่เป็นผลของบุญ ผลของบาป และเป็นกิริยาจิตที่เกิดขึ้นได้ในบุคคลทั่วไปตามอำนาจของกรรมที่เคยกระทำไว้ อเหตุกจิต มี 18 ดวง ดังพระบาลีว่า สตฺตากุสลปากานิ ปุญฺญปากานิ อฏฺฐธา กฺริยาจิตฺตานิ ตีณีติ อฏฺฐารส เหตุกา(29) แปลว่า อเหตุกจิต 18 คือ อกุศลวิบากจิต 7 กุศลวิบากจิต 8 อเหตุกกิริยาจิต 3 ฯ

อเหตุกจิต 18 ดวง คือ อกุศลวิปากจิต คือ จิตที่เป็นผลของอกุศล มี 7 ดวง คือ 1. จักษุวิญญาณ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ จกฺขุวิญฺญาณํ), 2. โสตวิญญาณ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ โสตวิญฺญาณํ), 3. ฆานวิญญาณ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ ฆานวิญฺญาณํ), 4. ชิวหาวิญญาณ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ ชิวฺหาวิญฺญาณํ), 5. กายวิญญาณ สหรคตด้วยทุกข์ (ทุกฺขสหคตํ กายวิญฺญาณํ), 6. สัมปฏิจฉนจิต สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ สมฺปฏิจฺฉนจิตฺตํ), 7. สันตีรณจิต สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ สนฺตีรณจิตฺตํ)

กุศลวิปากจิต คือ จิตที่เป็นผลของกุศล มี 8 ดวง คือ 8. จักษุวิญญาณ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ จกฺขุวิญฺญาณํ), 9. โสตวิญญาณ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ โสตวิญฺญาณํ), 10. ฆานวิญญาณ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ ฆานวิญฺญาณํ), 11. ชิวหาวิญญาณ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ ชิวฺหาวิญญาณํ), 12. กายวิญญาณ สหรคตด้วยสุข (สุขสหคตํ กายวิญฺญาณํ), 13. สัมปฏิจฉนจิต สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ สมฺปฏิจฺฉนจิตฺตํ), 14. สันตีรณจิต สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ สนฺตีรณจิตฺตํ), 15. สันตีรณจิต สหรคตด้วยโสมนัส (โสมนสฺสสหคตํ สนฺตีรณจิตฺตํ)

อเหตุกกิริยาจิต คือ จิตที่เป็นจิตกิริยาไม่ประกอบด้วยเหตุ 3 ดวง คือ 16. ปัญจทวาราวัชชนจิต สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ ปญฺจทฺวาราวชฺชนจิตฺตํ), 17. มโนทวาราวัชชนจิต สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ มโนทฺวาราวชฺชนจิตฺตํ), 18. หสิตุปบาทจิต สหรคตด้วยโสมนัส (โสมนสฺสสหคตํ หสิตุปฺปาทจิตฺตํ)

กามาวจรโสภณจิต คือ จิตที่ดีงามขั้นกามาวจร เป็นจิตที่เป็นบุญเป็นกุศลของเทวดา และมนุษย์เป็นต้น เกิดขึ้นแล้วเป็นเหตุให้ทำกุศลกรรม เป็นต้นว่า ประกอบบุญกิริยาวัตถุ 10 มี ทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งปวงเข้าถึงมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติได้ กามาวจรโสภณจิตนี้เกิดขึ้นแก่มนุษย์ย่อมทำให้โลกนี้มีแต่ความงดงาม และความสงบ เจริญไปด้วยคุณธรรม กามาวจรโสภณจิต มี 24 ดวง คือ เป็นกามาวจรกุศลจิต (มหากุศล) 8 ดวง เป็นกามาวจรวิปากจิต (มหาวิบาก) 8 ดวง เป็นกามาวจรกิริยาจิต (มหากิริยา) 8 ดวง ดังนี้

กามาวจรกุศลจิต คือ กุศลจิตที่ดีงามในกามภูมิ มี 8 ดวง คือ 1. จิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก (โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ), 2. จิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ประกอบด้วยญาณ เป็นสสังขาริก (โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ), 3. จิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ไม่ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก (โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ), 4. จิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ไม่ประกอบด้วยญาณ เป็นสสังขาริก (โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ), 5. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก (อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ), 6. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ประกอบด้วยญาณ เป็นสสังขาริก (อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ), 7. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ไม่ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก (อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ), 8. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ไม่ประกอบด้วยญาณ เป็นสสังขาริก (อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

กามาวจรวิปากจิต คือ วิบากจิตที่ดีงามในกามภูมิ มี 8 ดวง คือ 9. จิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก (โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ), 10. จิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ประกอบด้วยญาณ เป็นสสังขาริก (โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ), 11. จิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ไม่ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก (โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ), 12. จิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ไม่ประกอบด้วยญาณ เป็นสสังขาริก (โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ), 13. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก (อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ), 14. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ประกอบด้วยญาณ เป็นสสังขาริก (อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ), 15. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ไม่ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก (อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ), 16. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ไม่ประกอบด้วยญาณ เป็นสสังขาริก (อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ)

กามาวจรกิริยาจิต คือ กิริยาจิตที่ดีงามในกามภูมิ เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์อย่างเดียว เป็นจิตมิใช่บุญ มิใช่บาป สักแต่ว่าเป็นกิริยาเท่านั้น มี 8 ดวง คือ 17. จิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก (โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ), 18. จิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ประกอบด้วยญาณ เป็นสสังขาริก (โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ), 19. จิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ไม่ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก (โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ), 20. จิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ไม่ประกอบด้วยญาณ เป็นสสังขาริก (โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ), 21. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก (อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ), 22. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ประกอบด้วยญาณ เป็นสสังขาริก (อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ), 23. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ไม่ประกอบด้วยญาณ เป็นอสังขาริก (อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ), 24. จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ไม่ประกอบด้วยญาณ เป็นสสังขาริก (อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ)

รูปาวจรจิต 15 รูปาวจรจิต เป็นจิตที่อยู่ในระดับสูงกว่ากามาวจรจิต เป็นจิตที่ประพฤติเป็นไปในรูปภูมิ เกิดดับในรูปพรหมเป็นส่วนมาก หมายถึง จิตที่เข้าถึงอารมณ์ของรูปฌาน รักใคร่พอใจในรูปฌาน เมื่อจะไปเกิดในรูปพรหม จิตของมนุษย์ และเทวดาจะต้องได้รูปฌานก่อน รูปฌานนั้น หมายถึง ฌานที่มีรูปธรรมเป็นอารมณ์มี 4 คือ 1. ปฐมฌาน ฌานที่1 มีองค์ 5 คือ วิตก (ตรึก) วิจาร (ตรอง) ปีติ (อิ่มใจ) สุข (สบายใจ) เอกัคคตา (จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง) 2. ทุติยฌาน ฌานที่ 2 มีองค์ 3 คือ ปีติ สุข เอกัคคตา 3. ตติยฌาน ฌานที่ 3 มีองค์ 2 คือ สุข เอกัคคตา 4. จตุตถฌาน ฌานที่4 มีองค์ 2 คือ อุเบกขา เอกัคคตา(30)

รูปฌานตามนัยแห่งพระอภิธรรม มี 5 คือ 1. ปฐมฌาน ประกอบไปด้วยองค์ 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา ผู้ที่ดับจิตในขณะที่จิตอยู่ในปฐมฌานนี้จะไปเกิดในรูปพรหมชั้นที่1 เรียกว่า ปฐมฌานภูมิ, 2. ทุติยฌาน ประกอบไปด้วยองค์ 4 คือ วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา สามารถละวิตกได้ ผู้ที่ดับจิตในขณะที่อยู่ในทุติยฌานนี้จะไปเกิดในรูปพรหมชั้นที่ 2 เรียกว่า ทุติยฌานภูมิ, 3. ตติยฌาน ประกอบไปด้วยองค์ 3 คือ ปีติ สุข และเอกัคคตา สามารถละวิตก วิจารได้ ผู้ที่ดับจิตในขณะที่อยู่ในตติยฌานนี้จะไปเกิดในรูปพรหมชั้นที่ 3 เรียกว่า ตติยฌานภูมิ, 4. จตุตถฌาน ประกอบไปด้วยองค์ 2 คือ สุข และเอกัคคตา สามารถละวิตก วิจาร ปีติได้ ผู้ที่ดับจิตในขณะที่อยู่ในจตุตถฌานนี้จะไปเกิดในรูปพรหมชั้นที่ 4 เรียกว่า จตุตถฌานภูมิ และ5. ปัญจมฌาน ประกอบไปด้วยองค์ 2 คือ อุเบกขา และเอกัคคตา สามารถละวิตก วิจาร ปีติ และสุขได้ ผู้ที่ดับจิตในขณะที่อยู่ในปัญจมฌานนี้จะไปเกิดในรูปพรหมชั้นที่ 4 คือ จตุตถฌานภูมิ(31)

จิตที่ท่องเที่ยว และเกิดดับในรูปฌานหรือรูปภูมิดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้น จึงชื่อว่า รูปาวจรจิต รูปาวจรจิตเป็นจิตอยู่ในระดับสูงกว่ากามาวจรจิต เป็นจิตที่ได้อบรมเจริญขึ้นจนพ้นจากกามารมณ์โดยอาศัยการอบรมเจริญกามาวจรจิตจนสงบมั่นคงขึ้นเป็นสมถภาวนา เมื่อกามาวจรกุศลจิตมั่นคงขึ้นจนจิตแนบแน่นในอารมณ์เป็นอัปปนาสมาธิขณะใด ขณะนั้น ก็เป็นรูปาวจรกุศลจิต (รูปฌานกุศลจิต) พ้นจากสภาพของกามาวจรจิต

รูปาวจรจิต มี 15 ประเภท คือ 1. รูปาวจรกุศลจิต 5 ดวง, 2. รูปาวจรวิปากจิต 5 ดวง และ3. รูปาวจรกิริยาจิต 5 ดวง ดังพระบาลีว่า ปญฺจธา ฌานเภเทน รูปาวจรมานสํ ปุญฺญปากกฺริยาเภทา ตํ ปญฺจทสธา ภเว (32) แปลว่า รูปาวจรจิต โดยความต่างแห่งฌาน มี 5 โดยความต่างแห่งกุศล วิบาก และกิริยา รูปาวจรจิตนั้น มี 15 ฯ

รูปาวจรจิต 15 ดวง คือ รูปาวจรกุศลจิต คือ จิตที่เป็นกุศลเป็นไปในรูปภูมิ เกิดได้กับมนุษย์ และเทวดาผู้ได้รูปฌาน เมื่อรูปาวจรกุศลจิตเกิด เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในรูปพรหม มี 5 ดวง คือ 1. กุศลจิตที่ประกอบด้วยปฐมฌาน สหรคตด้วยโสมนัส (โสมนสฺสสหคตํ ปฐมฌานกุสลจิตฺตํ), 2. กุศลจิตที่ประกอบด้วยทุติยฌาน สหรคตด้วยโสมนัส (โสมนสฺสสหคตํ ทุติยฌานกุสลจิตฺตํ), 3. กุศลจิตที่ประกอบด้วยตติยฌาน สหรคตด้วยโสมนัส (โสมนสฺสสหคตํ ตติยฌานกุสลจิตฺตํ), 4. กุศลจิตที่ประกอบด้วยจตุตถฌาน สหรคตด้วยโสมนัส (โสมนสฺสสหคตํ จตุตฺถฌานกุสลจิตฺตํ), 5. กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญจมฌาน สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ ปญฺจมฌานกุสลจิตฺตํ)

รูปาวจรวิปากจิต คือ จิตที่เป็นผลของรูปาวจรกุศล มี 5 ดวง คือ 6. วิปากจิตที่ประกอบด้วยปฐมฌาน สหรคตด้วยโสมนัส (โสมนสฺสสหคตํ ปฐมฌานวิปากจิตฺตํ), 7. วิปากจิตที่ประกอบด้วยทุติยฌาน สหรคตด้วยโสมนัส (โสมนสฺสสหคตํ ทุติยฌานวิปากจิตฺตํ), 8. วิปากจิตที่ประกอบด้วยตติยฌาน สหรคตด้วยโสมนัส (โสมนสฺสสหคตํ ตติยฌานวิปากจิตฺตํ), 9. วิปากจิตที่ประกอบด้วยจตุตฺถฌาน สหรคตด้วยโสมนัส (โสมนสฺสสหคตํ จตุตฺถฌานวิปากจิตฺตํ), 10. วิปากจิตที่ประกอบด้วยปัญจมฌาน สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ ปญฺจมฌานวิปากจิตฺตํ)

รูปาวจรกิริยาจิต เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ผู้ได้รูปฌาน มี 5 ดวง คือ 11. กิริยาจิตที่ประกอบด้วยปฐมฌาน สหรคตด้วยโสมนัส (โสมนสฺสสหคตํ ปฐมฌานกฺริยาจิตฺตํ), 12. กิริยาจิตที่ประกอบด้วยทุติยฌาน สหรคตด้วยโสมนัส (โสมนสฺสสหคตํ ทุติยฌานกฺริยาจิตฺตํ), 13. กิริยาจิตที่ประกอบด้วยตติยฌาน สหรคตด้วยโสมนัส (โสมนสฺสสหคตํ ตติยฌานกฺริยาจิตฺตํ), 14. กิริยาจิตที่ประกอบด้วยจตุตถฌาน สหรคตด้วยโสมนัส (โสมนสฺสสหคตํ จตุตฺถฌานกฺริยาจิตฺตํ), 15. กิริยาจิตที่ประกอบด้วยปัญจมฌาน สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ ปญฺจมฌานกฺริยาจิตฺตํ)

อรูปาวจรจิต 12 อรูปาวจรจิต คือ จิตที่อยู่สูงกว่ากามาวจรจิตและรูปาวจรจิต เป็นจิตที่ประพฤติ เป็นไปในอรูปภูมิ ได้แก่ จิตที่เที่ยวเกิดดับอยู่ในอรูปภูมิ อรูปภูมิอันเป็นที่ท่องเที่ยวเกิดดับของ อรูปาวจรจิตนี้ มี 4 ภูมิ ดังนี้

1. อรูปภูมิชั้นที่ 1 เรียกว่า อากาสานัญจายจนภูมิ เป็นภูมิที่ผู้พิจารณาเอาอากาศไม่มีที่สิ้นสุดหรือความว่างไม่มีที่สิ้นสุดมาเป็นอารมณ์ จนจิตสงบประณีตเข้าถึง อากาสานัญจายนฌาน อรูปภูมิชั้นที่ 1 นี้ ท่านกล่าวว่า มีอายุยืน 20,000 มหากัปป์

2. อรูปภูมิชั้นที่ 2 เรียกว่า วิญญาณัญจายตนภูมิ เป็นภูมิที่ผู้พิจารณาเอาวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุดหรือความรู้สึกไม่มีที่สิ้นสุดมาเป็นอารมณ์ จนจิตประณีตเข้าถึงวิญญาณัญจายนฌาน อรูปภูมิชั้นที่ 2 นี้ ท่านกล่าวว่า มีอายุยืน 40,000 มหากัปป์

3. อรูปภูมิชั้นที่ 3 เรียกว่า อากิญจัญญายตนภูมิ เป็นภูมิที่ผู้พิจารณาเอาความไม่มีอะไรๆ (แม้แต่วิญญาณ) มาเป็นอารมณ์ จนจิตประณีตเข้าถึงอากิญจัญญายตนฌานอรูปภูมิชั้นที่ 3 นี้ ท่านกล่าวว่า มีอายุยืน 60,000 มหากัปป์

4. อรูปฌานชั้นที่ 4 เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ เป็นภูมิที่ผู้พิจารณาเอาความสงบความประณีตแห่งสัญญามาเป็นอารมณ์ จนกระทั่งพิจารณาว่า ภาวะเช่นนั้นจะเป็นสัญญาก็ไม่ใช่ จะไม่เป็นสัญญาก็ไม่ใช่ จนจิตเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อรูปภูมิชั้นที่ 4 นี้ ท่านกล่าวว่า มีอายุยืน 84,000 มหากัป(33)

จิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปาวจรภูมินี้ เรียกว่า อรูปาวจรจิต สรุปว่า อรูปาวจรจิต คือ ปัญจฌานจิตที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ เพราะเห็นว่า เมื่อยังมีรูปเป็นอารมณ์อยู่ก็ยังใกล้ชิดต่อการที่จะมีกามเป็นอารมณ์ เมื่อบรรลุรูปปัญจมฌานแล้ว ก็เพิกถอนรูปที่เป็นอารมณ์ โดยน้อมระลึกถึงสภาพที่ไม่มีรูปนิมิต และมีอารมณ์ไม่มีที่สุด จนจิตเข้าถึงอารมณ์ของอรูปฌาน 4

อรูปาวจรจิต คือ จิตที่เข้าถึงอรูปฌานมี 12 ดวง คือ 1. อรูปาวจรกุศลจิต 4 ดวง, 2. อรูปาวจรวิปากจิต 4 ดวง, 3. อรูปาวจรกิริยาจิต 4 ดวง ดังพระบาลีว่า อาลมฺพนปฺปเภเทน จตุธารุปฺปมานสํ ปุญฺญปากกฺริยาเภทา ปุน ทฺวาทสธา ฐิตํ(34) แปลว่า อรูปจิต (อรูปาวจรจิต) มี 4 โดยประเภทแห่งอารมณ์มีอีก 12 โดยความต่างแห่งกุศลวิบาก และกิริยา ฯ

อรูปาวจรจิต 12 ดวง คือ อรูปาวจรกุศลจิต คือ กุศลจิตที่ประพฤติเป็นไปในอรูปภูมิมี 4 ดวง คือ 1. กุศลจิตที่ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนะ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ อากาสานญฺจายตนกุสลจิตฺตํ), 2. กุศลจิตที่ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนะ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ วิญฺญาณญฺจายตนกุสลจิตฺตํ), 3. กุศลจิตที่ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนะ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ อากิญฺจญฺญายตนกุสลจิตฺตํ), 4. กุศลจิตที่ประกอบด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนะ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ เนวสญฺญานาสญฺญายตนกุสลจิตฺตํ)

อรูปาวจรวิปากจิต คือ จิตที่เป็นผลของอรูปาวจรกุศลมี 4 ดวง คือ 5. วิปากจิตที่ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนะ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ อากาสานญฺจายตนวิปากจิตฺตํ), 6. วิปากจิตที่ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนะ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ วิญฺญาณญฺจายตนวิปากจิตฺตํ), 7. วิปากจิตที่ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนะ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ อากิญฺจญฺญายตนวิปากจิตฺตํ), 8. วิปากจิตที่ประกอบด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนะ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ เนวสญฺญานาสญฺญายตนวิปากจิตฺตํ)

อรูปาวจรกิริยาจิต คือ กิริยาจิตของพระอรหันต์ที่เป็นไปในอรูปฌานมี 4 ดวง คือ 9. กิริยาจิตที่ประกอบด้วยอากาสานัญจายตนะ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ อากาสานญฺจายตนกฺริยาจิตฺตํ), 10. กิริยาจิตที่ประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนะ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ วิญฺญาณญฺจายตนกฺริยาจิตฺตํ), 11. กิริยาจิตที่ประกอบด้วยอากิญจัญญายตนะ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ อากิญฺจญฺญายตนกฺริยาจิตฺตํ), 12. กิริยาจิตที่ประกอบด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนะ สหรคตด้วยอุเบกขา (อุเปกฺขาสหคตํ เนวสญฺญานาสญฺญายตนกฺริยาจิตฺตํ)

โลกุตตรจิต 8 โลกุตตรจิต เป็นจิตที่อยู่สูงกว่า อรูปาวจรจิต เป็นจิตที่อยู่เหนือโลกหรือพ้นจากโลกพ้นวิสัยของโลก เป็นจิตที่ไม่เกาะเกี่ยวหรือยึดติดอยู่ในภพทั้ง 3 คือ กามภพ ภพของผู้ที่ยังเสวยกามคุณ 1 รูปภพ ภพของผู้เข้าถึงรูปฌาน 1 และอรูปภพ ภพของผู้ที่เข้าถึงอรูปฌาน 1 โลกุตตรจิตเป็นจิตที่ไม่ยึดติดสิ่งใดในภพทั้ง 3 ดังกล่าวมาเป็นอารมณ์ โลกุตตรจิตนั้น เป็นจิตที่สำหรับรับอารมณ์พิเศษ คือ พระนิพพาน เป็นจิตที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานโดยเป็นจิตที่ดับกิเลส เป็นโลกุตตรกุศลจิต 4 ดวง และเป็นโลกุตตรวิปากจิต 4 ดวง

โลกุตตรจิต คือ จิตที่หลุดพ้นแล้วนั้น มี 8 ดวง คือ 1. โลกุตตรกุศลจิต 4 ดวง, 2. โลกุตตรวิปากจิต 4 ดวง ดังพระบาลีว่า จตุมคฺคปฺปเภเทน จตุธา กุสลํ ตถา ปากํ ตสฺส ผลตฺตาติ อฏฺฐธานุตฺตรํ มตํ(35) แปลว่า อนุตตรจิต (โลกุตตรจิต) บัณฑิตกล่าวไว้ 8 คือ กุศลจิตมี 4 โดยประเภทแห่งมรรค 4 วิบากจิตก็มี 4 เหมือนกัน เพราะเป็นผลแห่งมรรคนั้น ฯ.

โลกุตตรจิต 18 ดวง คือ โลกุตตรกุศลจิต คือ จิตที่เป็นโลกุตตรกุศลหรือกุศลจิตที่พ้นโลก มีนิพพานเป็นอารมณ์ เรียกว่า มรรคจิต มี 4 ดวง คือ 1. โสดาปัตติมรรคจิต (โสตาปตฺติมคฺคจิตฺตํ), 2. สกทาคามิมรรคจิต (สกทาคามิมคฺคจิตฺตํ), 3. อนาคามิมรรคจิต (อนาคามิมคฺคจิตฺตํ), 4. อรหัตตมรรคจิต (อรหตฺตมคฺคจิตฺตํ)

โลกุตตรวิปากจิต คือ จิตที่เป็นโลกุตตรวิบากหรือวิบากจิตที่พ้นจากโลก ได้นิพพานเป็นอารมณ์ เรียกว่า ผลจิตเสวยนิพพาน เป็นอารมณ์อย่างเดียว มี 4 ดวง คือ 5. โสดาปัตติผลจิต (โสตาปตฺติผลจิตฺตํ), 6. สกทาคามิผลจิต (สกทาคามิผลจิตฺตํ), 7. อนาคามิผลจิต (อนาคามิผลจิตฺตํ), 8. อรหัตตผลจิต (อรหตฺตผลจิตฺตํ)

อีกนัยหนึ่ง โลกุตตรจิต มี 40 ดวง โลกุตตรจิต เมื่อแสดงโดยพิสดาร จิตที่เป็นโลกุตตรจิตมี 40 ดวง คือ โลกุตตรจิตฝ่ายที่เป็นมรรค 20 ดวง โลกุตตรจิตฝ่ายที่เป็นผลอีก 20 ดวง ดังพระบาลีว่า ฌานงฺคโยคเภเทน กเตฺวเกกํ ตุ ปญฺจธา วุจฺจตานุตฺตรํ จิตฺตํ จตฺตาฬีสวิธนฺติ จ(36) แปลว่า ก็บัณฑิตแบ่งอนุตตรจิต (โลกุตตรจิต) ออกไปเป็นอย่างละ 5 โดยความต่างแห่งการประกอบด้วยองค์ฌาน และกล่าวว่า มี 40 ฯ

โลกุตตรจิต 40 ดวง ได้แก่ โลกุตตรมรรคจิต 20 ดวง คือ 1. โสดาปัตติมรรคจิต 1 + ปฐมฌาน 1, ทุติยฌาน 1, ตติยฌาน 1, จตุตถ-ฌาน 1, ปัญจมฌาน 1 = 5 ดวง, 2. สกทาคามิมรรคจิต 1 + ปฐมฌาน 1, ทุติยฌาน 1, ตติยฌาน 1, จตุตถ-ฌาน 1, ปัญจมฌาน 1 = 5 ดวง, 3. อนาคามีมรรคจิต 1 + ปฐมฌาน 1, ทุติยฌาน 1, ตติยฌาน 1, จตุตถ-ฌาน 1, ปัญจมฌาน 1 = 5 ดวง, 4. อรหัตตมรรคจิต 1 + ปฐมฌาน 1, ทุติยฌาน 1, ตติยฌาน 1, จตุตถ-ฌาน 1, ปัญจมฌาน 1 = 5 ดวง

จึงรวมเป็นโลกุตตรมรรคจิต 20 ดวง โลกุตตรผลจิต 20 ดวง คือ 1. โสดาปัตติผลจิต 1 + ปฐมฌาน 1, ทุติยฌาน 1, ตติยฌาน 1, จตุตถฌาน 1, ปัญจมฌาน 1 = 5 ดวง, 2. สกทาคามิผลจิต 1 + ปฐมฌาน 1, ทุติยฌาน 1, ตติยฌาน 1, จตุตถฌาน 1, ปัญจมฌาน 1 = 5 ดวง, 3. อนาคามิผลจิต 1 + ปฐมฌาน 1, ทุติยฌาน 1, ตติยฌาน 1, จตุตถฌาน 1, ปัญจมฌาน 1 = 5 ดวง, 4. อรหัตตผลจิต 1 + ปฐมฌาน 1, ทุติยฌาน 1, ตติยฌาน 1, จตุตถฌาน 1, ปัญจมฌาน 1 = 5 ดวง

รวมเป็นโลกุตตรผลจิต 20 ดวง พระอริยบุคคลทั้งหลายได้บรรลุอริยมรรค อริยผล มีโลกุตตรจิต 8 ดวงหรือ40 ดวง เกิดขึ้นแล้ว ย่อมได้รู้อารมณ์นิพพาน เสวยนิพพานเป็นนิจ ตามกำลังของผลจิตที่ประกอบด้วยฌานนั้นๆ พระอริยบุคคลเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ได้นิพพานเป็นอารมณ์ตามผลจิต พระอริยบุคคล คือ บุคคลผู้ประเสริฐสูงสุดในพุทธศาสนาหรือในโลกนี้ความประเสริฐสูงสุดของท่านเหล่านั้นขึ้นอยู่กับการกระทำให้สมบูรณ์ใน ศีล สมาธิ ปัญญา พระอริยบุคคลนั้น มี 4 จำพวก ดังนี้

1. พระโสดาบัน คือ ผู้ถึงกระแสที่จะนำไปสู่นิพพาน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้แน่ว่าจะได้ตรัสรู้ในวันข้างหน้า พระอริยบุคคลผู้ได้บรรลุโสดาปัตติผลมี 3 ประเภท คือ 1. เอกพีชี เกิดอีกครั้งเดียว 2. โกลังโกละ เกิดอีก 2 - 3 ครั้ง 3. สัตตักขัตตุปรมะ เกิดอีก 7 ครั้ง เป็นอย่างมาก พระโสดาบันสามารถทำลายสังโยชน์ 3 ได้อย่างเด็ดขาด คือ 1. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่า เป็นตัวของตน, 2. วิจิกิจฉา ความลังเลเป็นเหตุไม่แน่ใจ, 3. สีลัพพตปรามาส ความยึดมั่นในศีล และพรตของตน

2. พระสกทาคามี คือ พระอริยบุคคลผู้ได้บรรลุสกทาคามิผล สามารถละสังโยชน์ 3 ได้เหมือนพระโสดาบัน แต่สามารถทำราคะ โทสะ และโมหะให้เบาบางลงได้ พระสกทาคามีจะต้องไปเกิดในเทวโลกภพหนึ่งก่อน จุติจากนั้นแล้วมาเกิดในมนุษย์โลกจึงได้บรรลุพระอรหัต

3. พระอนาคามี คือ ผู้ได้บรรลุอนาคามิผล สามารถละโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ได้อย่างเด็ดขาด คือ 1. สักกายทิฏฐิ 2. วิจิกิจฉา 3. สีลัพพตปรามาส 4. กามราคะ คือ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม 5. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งแห่งจิตหรือความหงุดหงิดด้วยอำนาจโทสะ

พระอนาคามี มี 5 ประเภท คือ 1. อันตราปรินิพพายี ท่านผู้จะปรินิพพานในระหว่างอายุยังไม่ทันถึงกึ่ง 2. อุปหัจจปรินิพพายี ท่านผู้จะปรินิพพานต่อเมื่ออายุพ้นกึ่งแล้วจวนจะถึงที่สุด 3. สสังขารปรินิพพายี ท่านผู้จะปรินิพพานด้วยต้องใช้ความเพียรอย่างเรี่ยวแรง 4. อสังขารปรินิพพายี ท่านผู้จะปรินิพพานด้วยไม่ต้องใช้ความเพียรนัก 5. อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ท่านผู้มีกระแสใน เบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ

4. พระอรหันต์ คือ ผู้ได้บรรลุอรหัตตผล สามารถละโอรัมภาคิยสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ได้แล้ว และสามารถละอุทธัมภาคิยสังโยชน์เบื้องสูง 5 อีกได้อย่างเด็ดขาด คือ 1.รูปราคะ ความติดใจอยู่ในรูปธรรม, 2. อรูปราคะ ความติดใจอยู่ในอรูปธรรม, 3. มานะ ความสำคัญตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่, 4. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน 5. อวิชชา ความหลงอันเป็นเหตุไม่รู้จริง พระอรหันต์เป็นผู้เสร็จกิจที่จะต้องทำในพุทธศาสนาแล้ว ไม่มีการเกิดอีก ดำรงอยู่สิ้นอายุขัยแล้วก็นิพพาน พระอรหันต์มี 4 จำพวก คือ 1. สุกขวิปัสสโก ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน , 2. เตวิชโช ผู้ได้วิชชา 3, 3.ฉฬภิญโญ ผู้ได้อภิญญา 6, 4.ปฏิสัมภิทัปปัตโต ผู้ถึงปฏิสัมภิทา 437

พระอริยบุคคล 4 จำพวกดังมาแล้วนี้ เป็นผู้มีสภาวะจิตเป็นโลกุตตรจิต โดยมีนิพพานเป็นอารมณ์ ส่วนบุคคลนอกเหนือจากพระอริยบุคคล 4 จำพวกนี้ ยังเป็นผู้ห่างไกลจากนิพพาน เพราะยังหนาไปด้วยกิเลสหรือถูกครอบงำไปด้วยอวิชชา

สรุปได้ว่า พุทธศาสนานิกายเถรวาทได้กล่าวถึงสภาวธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็วสืบเนื่องกันไปตลอดเวลานั้นว่า จิต จิตนั้นมีเพียง 1 ดวง คือ เกิดขึ้นทีละดวง และก็ดับไปทีละดวง ดวงที่ดับไปก่อนจะเป็นปัจจัยให้ดวงต่อๆ ไปเกิดต่อกันไปเรื่อยๆ อย่างนี้ไม่ขาดสาย จิตนั้นมีเพียง 1 แต่ถ้าพิจารณาดูตามกิจและหน้าที่ของจิตแล้ว จิตสามารถจำแนกได้ออกไปอีกเป็น 59 หรือ121 ตามอารมณ์ที่จิตเข้าไปยึดถือ คือ เป็นกามาวจรจิตบ้าง รูปาวจรจิตบ้าง อรูปาวจรจิตบ้าง และโลกุตตรจิตบ้าง จิตเป็นนามธรรม และเป็นสังขตธรรม เพราะถูกปัจจัยปรุงแต่งได้ จิตเป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้น และเป็นไปตามอำนาจการปรุงแต่งของเหตุปัจจัย มีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ มีอาการวิจิตรพิศดารไปต่างๆ มากมาย จิตเป็นสภาวธรรมที่มีความสำคัญ และจำเป็นมาก

พุทธศาสนานิกายเถรวาทกล่าวถึงเรื่องจิตเอาไว้ ก็เพื่อให้พิจารณาว่า จิตนี้โดยปรมัตถ์แล้ว ก็ตกอยู่ในสามัญลักษณะ 3 ประการ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และหาตัวตนมิได้เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปในที่สุด เพื่อจะได้รู้เท่าทันตามสภาวะที่แท้จริงของจิต เรื่องของจิตเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ควรค่าแก่การทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวเรามากที่สุด พุทธศาสนานิกายเถรวาทได้ให้ความสำคัญกับเรื่องจิตนี้ไว้มาก มนุษย์จะเข้าถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนาได้ก็ด้วยการพัฒนาจิตนี้เอง แต่จิตนี้เป็นเรื่องลึกซึ้งละเอียดอ่อนมาก ยากที่ผู้ไม่ได้ฝึกจิตมาจะกำหนดรู้ได้ง่าย ผู้ที่จะกำหนดจิตได้ดีจะต้องหมั่นฝึกจิตด้วยการทำสมาธิตามหลักคำสอนในทางพุทธศาสนาเท่านั้น

ลักษณะ และประเภทของเจตสิก เจตสิกเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในระดับปรมัตถสัจจะประการที่ 2 เจตสิกเป็นสภาวธรรมที่เป็นนามธรรม และเป็นสังขตธรรม คือ เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้น และเป็นไปตามเหตุ และปัจจัย ทำหน้าที่ประกอบกับจิต ปรุงแต่งจิต ให้มีลักษณะเป็นไปต่างๆ ตามเจตสิกที่เข้าประกอบกับจิต

ลักษณะของเจตสิก ธรรมชาติที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับจิต ดับพร้อมกันกับจิต รับอารมณ์อันเดียวกันกับจิต และอาศัยวัตถุที่เกิดอันเดียวกันกับจิต เราเรียกธรรมชาตินี้ว่า เจตสิก เจตสิกธรรม จะแยกออกจากจิตไม่ได้ อุปมาเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้ากับกระแสไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าถ้าขาดกระแสไฟฟ้าแล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นคงใช้การไม่ได้หรือเปรียบเหมือนคนกับเงา คงจะแยกคนกับเงาออกจากกันคงไม่ได้ ถ้าไม่มีคนก็ไม่มีเงาเช่นเดียวกัน

ลักษณะของเจตสิกมีอยู่ 4 ประการ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอภิธัมมัตถสังคหบาลีว่า เอกุปฺปาทนิโรธา จ เอกาลมฺพนวตฺถุกา เจโตยุตฺตา ทฺวิปญฺญาส ธมฺมา เจตสิกา มตา(38) แปลว่า ธรรม 52 อย่าง ประกอบกับจิต มีการเกิดดับในที่เดียวกัน ทั้งมีอารมณ์ และวัตถุอย่างเดียวกัน บัณฑิตลงมติว่า เจตสิก.

ลักษณะประการที่ 1 คือ เอกุปฺปาท เกิดพร้อมกับจิต เจตสิกนี้เกิดพร้อมกับจิตเสมอ คือ เมื่อจิตเกิด เจตสิกก็เกิดขึ้นด้วยกัน บางทีจะบอกว่า จิตเกิดก่อน เจตสิกเกิดทีหลังหรือเจตสิกเกิดก่อน จิตเกิดทีหลังคงไม่ได้

ลักษณะประการที่ 2 คือ เอกนิโรธ ดับพร้อมกับจิต เจตสิกนี้ดับพร้อมกับจิต คือ เมื่อจิตดับ เจตสิกก็ดับด้วยกัน ไม่มีใครดับก่อนหรือดับทีหลัง

ลักษณะประการที่ 3 คือ เอกาลมฺพน มีอารมณ์อันเดียวกันกับจิต เจตสิกนี้ เข้าไปรับอารมณ์เดียวกันกับจิต คือ อารมณ์ที่เจตสิกเข้าไปรับอยู่นั้น ก็เป็นอารมณ์เดียวกันกับอารมณ์ที่จิตเข้าไปรับ ตัวอย่างเช่น จิตเข้าไปรับอารมณ์โกรธ เจตสิกก็เข้าไปรับอารมณ์โกรธด้วย ดังนี้ เป็นต้น

ลักษณะประการที่ 4 คือ เอกวตฺถุกา มีที่อาศัยอย่างเดียวกันกับจิต เจตสิกนี้มีที่อาศัยอย่างเดียวกับจิต คือ ที่อาศัยเกิดของเจตสิก ก็เป็นชนิดเดียวกันกับที่อาศัยเกิดของจิต เช่น จิตอาศัยจักษุ (ตา) เกิด เจตสิกก็อาศัยจักษุ (ตา) เกิดด้วย ดังนี้ เป็นต้น

จากลักษณะของเจตสิกทั้ง 4 ประการดังกล่าวแล้ว จะสังเกตเห็นว่า เจตสิก เป็นธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิต เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รับอารมณ์เดียวกันกับจิต มีที่อาศัยอย่างเดียวกันกับจิต ก็แสดงว่าเจตสิกก็คืออาการของจิตนั่นเอง เจตสิกถ้าไม่มีจิตก็เกิดขึ้นไม่ได้ ต้องมีจิตเป็นตัวประธานใหญ่เพื่อให้เจตสิกอาศัยเกิดขึ้นปรุงแต่งจิตชักนำจิตให้คิดดีเรียกว่า กุศลบ้าง ให้คิดชั่วเรียกว่า อกุศลบ้าง ให้คิดเป็นกลางๆ เรียกว่า อัพยากฤตบ้าง จิตจะเกิดขึ้นรับอารมณ์โดยไม่มีเจตสิกเข้าประกอบก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน ทั้งจิต และเจตสิกต่างเป็นธรรมชาติที่อิงอาศัยซึ่งกัน และกันเป็นอยู่ อุปมาเหมือนจิตเหมือนน้ำที่บริสุทธิ์ เจตสิกเหมือนสีที่ผสมลงไปในน้ำบริสุทธิ์นั้น เมื่อสีผสมลงไปในน้ำก็ทำให้น้ำเปลี่ยนสภาพจากน้ำที่บริสุทธิ์กลายเป็นน้ำสีต่างๆ ตามสีที่ผสมลงไป ยากที่จะแยกน้ำกับสีให้ออกจากกันได้ จิตเจตสิกก็เหมือนกันแยกออกจากกันไม่ได้ เราจะไม่สามารถแยกประเภทของจิตออกเป็นประเภทต่างๆ ได้เลย ที่เราสามารถแยกประเภทของจิตได้ก็เพราะอาศัยเจตสิกเข้าประกอบปรุงแต่งจิต ทำให้จิตแต่ละดวงมีคุณสมบัติต่างกันออกไป

สรุปได้ว่า เจตสิก คือ อาการต่างๆ ที่แสดงออกของจิต เจตสิกเป็นธรรมารมณ์ที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นไปตามอำนาจของตน มีการเสวยอารมณ์ร่วมกัน ทำให้เกิดผลร่วมกันทำ หน้าที่ร่วมกัน มีประตูที่เข้าออกร่วมกัน มีที่ยึดเหนี่ยวรับรู้ร่วมกัน มีที่อาศัยร่วมกันจิตกับเจตสิกจะแยกออกจากกันไม่ได้ เจตสิกปรมัตถธรรมนี้สามารถจัดเป็นขันธ์ 3 ได้ คือ 1. เวทนาขันธ์ เจตสิกส่วนที่มีหน้าที่เสวยอารมณ์ ได้แก่ เวทนาเจตสิก 1, 2.สัญญาขันธ์ เจตสิกส่วนที่มีหน้าที่จำหมายอารมณ์ ได้แก่ สัญญาเจตสิก 1, 3. สังขารขันธ์ เจตสิกส่วนที่มีหน้าที่ปรุงแต่งอารมณ์ ได้แก่ เจตสิก 50

ประเภทของเจตสิก พุทธศาสนานิกายเถรวาทได้จำแนกประเภทของเจตสิกตามลักษณะของเจตสิกที่เข้าประกอบกับจิต มีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของเจตสิกนั้นๆ เจตสิกมี 52 ประเภท ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอภิธัมมัตถสังคหบาลีว่า เตรสญฺญสมานา จ จุทฺทสากุสลา ตถา โสภณา ปญฺจวีสาติ ทฺวิปญฺญาส ปวุจฺจเร ฯ(39) แปลว่า ธรรม 52 คือ อัญญสมานา 13 อกุศล 14 และโสภณ 25 ท่านเรียกว่า เจตสิก ฯ

เจตสิก 52 ประเภท คือ 1. อัญญสมานาเจตสิก 13 ดวง, 2. อกุศลเจตสิก 14 ดวง และ3. โสภณเจตสิก 25 ดวง

อัญญสมานาเจตสิก 13 ดวง อัญญสมานาเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตเหล่าอื่นได้ หมายความว่า มีอยู่ทั่วไป ประกอบกับจิตที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบากบ้าง กิริยาบ้าง อุปมาเหมือนคนรับจ้าง นายจ้างดีก็ทำ นายจ้างไม่ดีก็ทำ อัญญสมานาเจตสิก 13 ดวง มีจัดเป็น 2 ประเภท คือ 1. เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก 7 ดวง 2. เป็นปกิณณกเจตสิก 6 ดวง ดังนี้

1. สัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เจตสิกที่เกิดขึ้นแล้วสามารถประกอบกับจิตได้ทุกดวงไม่มียกเว้น มีอยู่ 7 ดวง คือ 1. ผัสสเจตสิก เจตสิกที่กระทบอารมณ์ ได้แก่ อาการที่ถูกต้องอารมณ์ เช่น เห็นคนกำลังรับประทานของเปรี้ยวแล้วเกิดน้ำลายสอขึ้น เป็นต้น, 2. เวทนาเจตสิก เจตสิกที่เสวยอารมณ์ ได้แก่ การเสวยรสของอารมณ์ เช่น พระราชาผู้เสวยรสโภชนะดี, 3. สัญญาเจตสิก เจตสิกที่จำอารมณ์ ได้แก่ ความรู้จำอารมณ์ (จำได้หมายรู้) คือ ทำเครื่องหมายรู้หรือรู้ทำเครื่องหมาย, 4. เจตนาเจตสิก เจตสิกที่ตั้งใจคิดอ่านอารมณ์ ได้แก่ ความมุ่งหวังหรือความตั้งใจคือเจตสิกที่จัดสรรธรรมที่สัมปยุตด้วยตนให้เป็นไปในอารมณ์, 5. เอกัคคตาเจตสิก เจตสิกที่รู้เฉพาะอารมณ์เดียว คือ มีอารมณ์เดียว, 6. ชีวิตินทริยเจตสิก เจตสิกที่เป็นใหญ่ในการักษาชีวิตให้รู้อารมณ์ ได้แก่ ความเป็นใหญ่ในการดำรงอยู่ คือ เป็นเครื่องดำรงอยู่แห่งสัมปยุตธรรมทั้งหลาย หมายถึง เป็นใหญ่ในการอนุบาลธรรมที่เกิดร่วมกัน เหมือนน้ำหล่อเลี้ยงดอกบัว, 7. มนสิการเจตสิก เจตสิกที่เอาใจใส่ในอารมณ์ ได้แก่ ความกระทำไว้ในใจ (เอาใจใส่) คือ มีลักษณะการเหนี่ยวใจมาไว้ในอารมณ์

2. ปกิณณกเจตสิก คือ เจตสิกที่เข้าประกอบกับจิตบางดวงเท่านั้น แต่สามารถประกอบกับจิตได้ทั้งฝ่ายที่เป็นกุศลและอกุศล มี 6 ดวง ดังนี้ 8. วิตกเจตสิก เจตสิกที่ตรึก คือ ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์, 9. วิจารเจตสิก เจตสิกที่ตรอง คือ ประคองพิจารณาอารมณ์, 10. อธิโมกขเจตสิก เจตสิกที่ตัดสินหรือตกลงใจ ได้แก่ ความตัดสินอารมณ์ (น้อมใจเชื่อแน่ในอารมณ์) เหมือนเสาเขื่อนที่ไม่มีความหวั่นไหว, 11. วิริยเจตสิก เจตสิกที่เพียร ได้แก่ ความอุตสาหะพยายาม มีการอุปถัมภ์สหชาตธรรมเป็นลักษณะ, 12. ปีติเจตสิก เจตสิกที่อิ่มใจ ยินดี, 13. ฉันทเจตสิก เจตสิกที่พอใจ คือ ความต้องการด้วยอารมณ์ เหมือนนายขมังธนูมีความต้องการจับลูกศรที่จะต้องยิงไปฉะนั้น

อกุศลเจตสิก 14 ดวง อกุศลเจตสิก คือ เจตสิกที่ไม่ดีงาม เป็นอกุศล เมื่อเกิดกับจิตใด จิตนั้นก็เป็นอกุศล อกุศลเจตสิกนี้ย่อมปรุงแต่งให้อกุศลจิตให้นึกคิดไปตามอำนาจอันเป็นบาปธรรม ยังจิตให้เร่าร้อน สั่งให้กายกระทำการอันไม่สมควร สั่งให้วาจาเปล่งคำถ้อยคำอันหยาบคายทำให้โลกนี้เร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์ อกุศลเจตสิกมี 14 ดวง แบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้ คือ 1. โมจตุกเจตสิก 4 ดวง 2. โลติกเจตสิก 3 ดวง 3. โทจตุกเจตสิก 4 ดวง 4. ถีทุกเจตสิก 2 ดวง 5. วิจิกิจฉาเจตสิก 1 ดวง ดังนี้ 1. โมจตุกเจตสิก คือ เจตสิกที่มีโมหเจตสิกเป็นหัวหน้า เป็นอกุศลสา

ธารณเจตสิก ประกอบกับอกุศลจิตทั่วไปทุกดวง มี 4 ดวง ดังนี้ 1. โมหเจตสิก ความหลง คือ งมงายในอารมณ์ ไม่รู้สภาวธรรม เรียกอวิชชาก็ได้, 2. อหิริกเจตสิก ความไม่ละอายต่อบาป คือ ไม่เกลียดบาป เหมือนสุกรไม่เกลียดคูถ, 3. อโนตตัปปเจตสิก ความไม่เกรงกลัวต่อบาป คือ ไม่สดุ้งกลัวต่อบาป เหมือนตั๊กแตนไม่กลัวไฟ, 4. อุทธัจจเจตสิก ความฟุ้งซ่าน คือ ความไม่สงบแห่งจิต เหมือนเถ้าฟุ้งเพราะถูกหินกระทบ

โลติกเจตสิก คือ เจตสิกที่มีโลภเจตสิกเป็นหัวหน้าประกอบกับโลภมูลจิต มี 3 ดวง ดังนี้ 5. โลภเจตสิก ความอยากได้ มีการเกาะเกี่ยวอารมณ์เป็นลักษณะ เป็นเจตสิกที่อยากได้ในอิฏฐารมณ์ไม่รู้จักพอ จนกลายเป็นความปรารถนาลามก ข้องติดอยู่ในอารมณ์เหมือนลิงติดตังหรือเหมือนเนื้อชิ้นบางๆ ที่ติดแน่นอยู่กับกระเบื้องที่กำลังร้อนบ้าง, 6. ทิฏฐิเจตสิก ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) คือ มีความเชื่อมั่นอย่างผิดๆ ว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ได้แก่ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม มีการยึดมั่นศีลพรตโดยปราศจากปัญญา, 7. มานเจตสิก ความถือตัว คือ สำคัญตัวว่า เป็นผู้ประเสริฐกว่าคนอื่น ทั้งโดยชาติตระกูล ยศศักดิ์ สมบัติ เป็นต้น เป็นเหตุให้เย่อหยิ่ง ยกย่องตน มักใหญ่ใฝ่สูงเหมือนธงที่ปักอยู่ที่สูง

โทจตุกเจตสิก คือ เจตสิกที่มีโทสเจตสิกเป็นหัวหน้าประกอบกับโทสมูลจิต เป็นเจตสิกประเภทที่ทำให้ใจมีความเร่าร้อนกระวนกระวายมี 4 ดวง ดังนี้ 8. โทสเจตสิก ความโกรธ (ไม่ชอบ) ได้แก่ ความประทุษร้าย มีความดุร้ายเป็นลักษณะ เหมือนอสรพิษที่ถูกตี ย่อมแสดงอาการให้ทราบว่า ตนเป็นอสรพิษร้ายด้วยการชูเศียรแผ่พังพานขู่ตะคอก, 9. อิสสาเจตสิก ความอิจฉา (เห็นเขาได้ดีทนอยู่ไม่ได้) ได้แก่ ความริษยา มีความริษยาต่อสมบัติของคนอื่น ไม่ปรารถนาที่จะให้ใครได้ดีกว่าตน, 10. มัจฉริยเจตสิก ความตระหนี่ (หวงแหน) มีการปกปิดสมบัติของตนเองเป็นลักษณะ หวงแหนสมบัติของตน ไม่ปรารถนาที่จะให้สมบัติของตนเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น แม้แต่ตนเองจะใช้สอยก็หวงแหนไม่ยอมใช้ให้เป็นประโยชน์, 11. กุกกุจจเจตสิก ความรำคาญใจ มีความเศร้าโศกถึงทุจริตที่ตนกระทำแล้ว และสุจริตที่ไม่ได้กระทำเป็นลักษณะ เมื่อเจตสิกดวงนี้เกิดขึ้นทำให้จิตไม่อาจหาญสมาทานในกุศลธรรม

ถีนทุกเจตสิก คือ เจตสิกที่มีถีนเจตสิกเป็นหัวหน้า ประกอบอกุศลจิตที่เป็นสสังขาริก มี 2 ดวง ดังนี้  12. ถีนเจตสิก ความหดหู่ คือ ความท้อแท้ ได้แก่ ภาวะแห่งจิตที่ดิ่งลงด้วยอำนาจความไม่ขมักเขม้นและความจมลง จิตไม่คล่องแคล่วขี้เกียจ ไม่ควรแก่การงาน, 13. มิทธเจตสิก ความง่วงเหงา คือ ความเศร้าซึม ได้แก่ ความที่จิตปราศจากความสามารถ กายไม่คล่องแคล่วไม่ควรแก่การงาน เหมือนนักโทษที่ถูกพันธนาการแล้วถูกจองจำไว้ในเรือนจำ

วิจิกิจฉาเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับโมหมูลจิตที่สัมปยุตด้วยวิจิกิจฉา มี 1 ดวง ดังนี้ 14. วิจิกิจฉาเจตสิก ความสงสัย เป็นเจตสิกที่สงสัยลังเลไม่ตกลงได้ ยากที่จะตัดสินตกลงใจได้ เพราะขาดปัญญาความรอบรู้เท่าทันเหตุการณ์

โสภณเจตสิก 25 ดวง โสภณเจตสิก เป็นเจตสิกที่ดีงาม ประกอบกับโสภณจิต เมื่อเกิดกับจิตใด จิตนั้นก็เป็นจิตที่ดีงาม เป็นเจตสิกฝ่ายกุศลที่งดงาม มี 25 ดวง แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ 1. โสภณสาธารณเจตสิก 19 ดวง, 2. วิรตีเจตสิก 3 ดวง, 3. อัปปมัญญาเจตสิก 2 ดวง, 4. ปัญญาเจตสิก 1 ดวง

1. โสภณสาธารณเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบทั่วไปในกุศลจิต และโสภณจิตทั้งหมดมี 19 ดวง คือ 1. สัทธาเจตสิก เจตสิกที่เชื่อ ได้แก่ เจตสิกที่ศรัทธาเชื่อถือในอารมณ์ที่ดี มีความเชื่อเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เป็นต้น, 2. สติเจตสิก เจตสิกที่ระลึกได้ เป็นเจตสิกที่ระลึกอยู่ทุกๆ ขณะของโสภณจิตที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ไม่หลงลืม ไม่ฟั่นเฟือน, 3. หิริเจตสิก เจตสิกที่ละอายต่อบาป คือ ละอายต่อทุจริต เป็นเจตสิกที่เกลียดความชั่วทุจริต อุปมาเหมือนคนที่รักความสะอาดอาบน้ำชำระกายหมดจดดีแล้ว ย่อมเกลียดความสกปรกฉะนั้น, 4. โอตตัปปเจตสิก เจตสิกที่เกรงกลัวต่อบาป ตรงกันข้ามกับอโนตตัปปเจตสิก, 5. อโลภเจตสิก เจตสิกที่ไม่โลภ ไม่อยากได้ เป็นเจตสิกที่ดีงาม เป็นรากเง้าของกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อเกิดขึ้นเป็นเหตุให้บุคคลบำเพ็ญกุศลธรรมทุกประเภทเพราะอาศัยอโลภะ, 6. อโทสเจตสิก เจตสิกที่ไม่โกรธ ไม่ประทุษร้าย มีความรักใคร่เมตตาเอื้ออารีต่อบุคคลอื่น เป็นรากเง้าของกุศลธรรมทั้งหลาย, 7. ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก เจตสิกที่เป็นกลาง เป็นเจตสิกที่ตั้งอยู่ในความเป็นกลาง เป็นอุเบกขาความวางเฉยไปในทางดีงาม คือ ทำจิตให้เป็นกลางไม่ลำเอียงไปด้วยความรัก และความโกรธ ทำในใจให้เฉยอยู่ อุปมาเหมือนนายสารถี เมื่อเห็นว่ารถวิ่งไปโดยสะดวกเรียบร้อยแล้ว ก็คุมเชิงเฉยอยู่ฉะนั้น, 8. กายปัสสัทธิเจตสิก เจตสิกที่ทำให้เจตสิกสงบ เป็นเจตสิกสงบระงับ ไม่ฟุ้งซ่าน ทำให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยสงบไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อเจตสิกดวงนี้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้นามกาย คือ ที่ประชุมของเจตสิกธรรมทั้งปวงที่เป็นฝ่ายอกุศลให้สงบระงับ ให้มีความเยือกเย็น, 9. จิตตปัสสัทธิเจตสิก เจตสิกที่ทำให้จิตสงบ เป็นเจตสิกที่ทำให้จิตสงบจากอกุศลจิต เมื่อเกิดขึ้นแล้วจิตย่อมสงบระงับ จิตไม่ดิ้นรน ไม่กวัดแกว่ง ไม่กระสับกระส่าย คงสงบอยู่กับอารมณ์นั้นๆ เป็นอันดี, 10. กายลหุตาเจตสิก เจตสิกที่ทำให้เจตสิกเบา ทำให้เจตสิกสงบจากความหนัก มีหน้าที่ทำลายความหนักของเจตสิก, 11. จิตตลหุตาเจตสิก เจตสิกที่ทำให้จิตเบา ปราศจากความหนักใจ มีหน้าที่ทำลายความหนักของจิต, 12. กายมุทุตาเจตสิก เจตสิกที่ทำให้เจตสิกอ่อน ทำให้เจตสิกอ่อนสบาย อ่อนโยน ไม่หยาบกระด้าง, 13. จิตตมุทุตาเจตสิก เจตสิกที่ทำให้จิตอ่อน ทำให้จิตอ่อนสบาย อ่อนโยน และอ่อนน้อม ไม่หยาบกระด้าง, 14. กายกัมมัญญตาเจตสิก เจตสิกที่ทำให้เจตสิกควรแก่การงาน ทำให้เจตสิกเหมาะสมสะดวก ช่วยสนับสนุนส่งเสริมช่วยเหลือโสภณจิตให้เป็นไปด้วยดี, 15. จิตตกัมมัญญตาเจตสิก เจตสิกที่ทำให้จิตควรแก่การงาน ทำให้จิตเหมาะสมสะดวก ช่วยสนับสนุนให้โสภณจิตเป็นไปด้วยดี, 16. กายปาคุญญตาเจตสิก เจตสิกที่ทำให้เจตสิกคล่องแคล่วสะดวกในกิจที่ดีงามเหมาะแก่กำลัง ไม่มีความเจ็บไข้ ทำลายความอาพาธ ปราศจากโทษ, 17. จิตตปาคุญญตาเจตสิก เจตสิกที่ทำให้จิตคล่องแคล่ว นึกคิดสะดวกรวดเร็วเหมาะสม ปราศจากความอาพาธทางใจ, 18. กายุชุกตาเจตสิก เจตสิกที่ทำให้เจตสิกซื่อตรง มีการซื่อตรงต่อกุศลทั้งปวงเป็นต้น เจตสิกดวงนี้เกิดขึ้นแล้ว เป็นเหตุให้ซื่อสัตย์สุจริตอยู่เสมอ, 19. จิตตุชุกตาเจตสิก เจตสิกที่ทำให้จิตซื่อตรง มีหน้าที่ทำลายความไม่ซื่อตรงของจิต ทำให้ใจซื่อสัตย์สุจริต มุ่งตรงต่อกิจที่ดีงามอยู่เสมอ

วิรติเจตสิก คือ เจตสิกที่งดเว้นจากทุจริตและบาปธรรมทางกาย และวาจา วิรติเจตสิกนี้เป็นสมุฏฐานแห่งศีล ศีลจะตั้งมั่นได้ก็ด้วยอาศัยวิรติเจตสิกนี้ มี 3 ดวง ดังนี้  20. สัมมาวาจาเจตสิก เจตสิกที่ทำให้พูดชอบ มีหน้าที่งดเว้นจากวจีทุจริต, 21. สัมมากัมมันตเจตสิก เจตสิกที่เป็นเหตุให้ทำการงานชอบ มีหน้าที่งดเว้นจากกายทุจริต, 22. สัมมาอาชีวเจตสิก เจตสิกที่เป็นเหตุให้เลี้ยงชีพชอบ มีหน้าที่งดเว้นจากการเลี้ยงชีพชั่ว วิรติเจตสิก 3 ดวงนี้ เกิดขึ้นแล้ว ประกอบกับจิตที่เป็นโสภณจิต 16 ดวง คือ มหากุศลจิต 8 ดวงกับโลกุตตรจิต 8 ดวง

อัปปมัญญาเจตสิก คือ เจตสิกที่แผ่ไปไม่มีประมาณ ได้แก่ แผ่ไปในสรรพสัตว์ทั่วไป หาประมาณมิได้ มี 2 ดวง ดังนี้ 23. กรุณาเจตสิก เจตสิกที่สงสารสัตว์ผู้ได้รับทุกข์ ปรารถนาจะให้พ้นไปจากกองทุกข์ และคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์, 24. มุทิตาเจตสิก เจตสิกที่พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี มีใจพลอยยินดีในสมบัติของเขาที่เขาได้มา ปราศจากความอิสสาริษยาในความถึงพร้อมด้วยสมบัติของผู้อื่น และมีความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความเจริญ

ปัญญาเจตสิก มี 1 ดวง ดังนี้ 25. ปัญญาเจตสิก เจตสิกที่ประกอบไปด้วยปัญญา เป็นใหญ่ในความรอบรู้ตามสภาพที่เป็นจริง รู้แจ้งรู้ชัดในเหตุผลทั้งที่เป็นส่วนโลกิยธรรม และโลกุตตรธรรม มีหน้าที่กำจัดความมืด มีความไม่หลงเป็นผล คือ ทำจิตให้สว่าง

สรุปได้ว่า เจตสิกเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในระดับปรมัตถสัจจะประการที่ 2 เป็นนามธรรม และเป็นสังขตธรรมที่เกิดขึ้น และเป็นไปตามสภาวธรรม เจตสิกเป็นสภาวธรรมที่แนบเนื่องอยู่กับจิต เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีวัตถุที่อาศัยเช่นเดียวกันกับจิต เกิดขึ้นรับอารมณ์พร้อมกับจิต เป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้มีสภาพเป็นไปต่างๆ ตามสภาวะของเจตสิกที่เข้าประกอบ เจตสิกมีทั้งหมด 52 ดวง แต่ละดวงจะทำหน้าที่เฉพาะของตนเจตสิก 52 ดวงนี้ ปัญญาเจตสิกถือว่าสำคัญที่สุด เพราะถ้าเข้าประกอบกับจิตแล้วทำให้จิตประกอบไปด้วยปัญญา ซึ่งจะเป็นเหตุให้รู้สภาวธรรมทั้งหลายตามเป็นจริง อันจะนำไปสู่ความหลุดพ้นเข้าถึงนิพพานในที่สุดได้

ลักษณะและประเภทของรูป สิ่งที่มีอยู่จริงในระดับปรมัตถสัจจะประการที่ 3 คือ รูป รูปจัดเป็นปรมัตถสภาวธรรมประเภทหนึ่งที่จัดเป็น รูปธรรม หมายถึง สิ่งที่เป็นรูปหรือสภาวะที่เป็นรูป ได้แก่ สิ่งที่เป็นสสารวัตถุทั้งปวงที่กินที่ในอวกาศ ซึ่งแตกต่างจากจิต และเจตสิกที่เป็นนามธรรม ดังกล่าว องค์ประกอบสำคัญของมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคกาย คือ ส่วนที่เป็นรูปธรรม และภาคจิต คือ ส่วนที่เป็นนามธรรม รูปธรรม และนามธรรมทั้งสองอย่างนี้ ต่างก็อาศัยซึ่งกัน และกันเป็นไป รูปธรรม คือ สิ่งที่เป็นรูป, สภาวะที่เป็นรูป นามธรรม คือ สภาวะที่น้อมไปหาอารมณ์, ใจ และอารมณ์ที่

เกิดกับใจ คือ จิต และเจตสิก, สิ่งของที่ไม่มีรูป คือ รู้ไม่ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ทางใจ คือ ธรรมที่รู้กันด้วยชื่อ กำหนดรู้ด้วยใจ และเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่รูปแต่น้อมมาเป็นอารมณ์ของจิตได้ ในที่ทั่วไปหมายถึง อรูปขันธ์ 4 คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ตลอดถึงโลกุตตรธรรมอื่นๆ ด้วย รูปเป็นสังขตธรรมเหมือนจิต และเจตสิก คือ เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไปตามเหตุปัจจัย

ลักษณะของรูป รูป คือ ธรรมชาติที่จะพึงฉิบหายไปด้วยปัจจัยที่เป็นข้าศึก มี เย็น และร้อน เป็นต้น รูปจะต้องผันแปร เปลี่ยนแปลง เสื่อมสลายไป ไม่คงทนถาวร เพราะถูกปัจจัยมีเย็นร้อน เป็นต้น เบียดเบียนอยู่เสมอ ลักษณะที่ประจำของรูป คือ ความผันแปรเปลี่ยนแปลง ไม่ คงทน รูปนี้เป็นที่อาศัยเป็นไปของนามธรรม คือ จิตและเจตสิก รูป นี้เป็นอัพยากฤต คือ โดยตัวมันเองไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป และเป็นสภาพที่ไม่รับรู้อารมณ์

พุทธศาสนานิกายเถรวาทได้กล่าวถึงลักษณะของรูปไว้ว่า รูป คือ ธรรมชาติที่ต้องแตกดับ และเสื่อมสลายไปในที่สุดด้วยอำนาจแห่งปัจจัยที่เป็นข้าศึกมีเย็นร้อนเป็นต้น ดังข้อความที่ท่านกล่าวไว้ในอภิธัมมัตถสังคหบาลีว่า ธรรมชาติที่ชื่อว่า รูป เพราะอรรถว่า แปรผัน (สลาย) อธิบายว่า ย่อมถึงความวิการด้วย วิโรธปัจจัย มีเย็น และร้อน เป็นต้น หรืออันวิโรธปัจจัยมีเย็น และร้อน เป็นต้น ให้ถึงความวิการ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ย่อมแปรฝันเพราะเย็นบ้าง ย่อมแปรผันเพราะร้อนบ้าง ดังนี้เป็นอาทิ ฯ(40)

แสดงให้เห็นว่า รูปสามารถแปรผัน แปรเปลี่ยน แตกดับ และเสื่อม สลายไปได้ด้วยสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่รูปมีความร้อน และความเย็น เป็นต้น เป็นลักษณะของสังขตธรรม คือ สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งแล้ว เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แปรเปลี่ยนเสื่อมสลายไปในที่สุด เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป

รูป คือ สิ่งที่เป็นรูปธรรมทั้งหมด ดังนั้น รูปสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้ 1. รูป คือ สิ่งที่จะต้องสลายไปเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง, สิ่งที่เป็นรูปร่างพร้อมทั้งลักษณะอาการของมัน, ส่วนร่างกาย จำแนกเป็น 28 คือ มหาภูต หรือ ธาตุ 4 และอุปาทายรูป 24, 2. รูป คือ อารมณ์ที่รู้ได้ด้วยจักษุ, สิ่งที่ปรากฏแก่ตา คือ รูป ซึ่งเป็นข้อที่ 1 ในอารมณ์ 6หรือในอายตนะภายนอก 641

รูปหรือรูปธรรมนี้ เป็นที่ตั้งหรือเป็นที่อาศัยเป็นไปแห่งนามธรรมทั้งหลายมีจิต และเจตสิก เป็นต้น ดังข้อความที่พระพุทธเจ้าได้ไว้ในอุปายสูตรว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณเข้าถึงรูปก็ดี เมื่อตั้งอยู่ พึงตั้งอยู่ วิญญาณที่มีรูป เป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง มีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ฯลฯ วิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้งมีความยินดีเป็นที่เข้าไปซ่องเสพ พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติการมา การไป จุติ อุปบัติหรือความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งวิญญาณ เว้นจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้(42)

รูป เป็นสภาวธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ ตรงข้ามกับจิตและเจตสิกที่มีหน้าที่รู้อารมณ์ ดังข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงถึงลักษณะของรูปไว้ว่า รูปทั้งหมด ไม่ใช่เหตุ ไม่มีเหตุ วิปปยุตจากเหตุ เป็นไปกับด้วยปัจจัย เป็นสังขตธรรม เป็นรูปธรรม เป็นโลกิยะธรรม เป็นอารมณ์ของอาสวะ เป็นอารมณ์ของสัญโญชน์ เป็นอารมณ์ของคันถะ เป็นอารมณ์ของโอฆะ เป็นอารมณ์ของโยคะ เป็นอารมณ์ของนิวรณ์ เป็นอารมณ์ของปรามาส เป็นอารมณ์ของอุปาทาน เป็นอารมณ์ของสังกิเลส เป็นอัพยากตธรรม ไม่มีอารมณ์ ไม่ใช่เจตสิก วิปปยุตจากจิต ไม่ใช่วิบาก และไม่ใช่ธรรม เป็นเหตุแห่งวิบาก ไม่เศร้าหมองแต่เป็นอารมณ์ของสังกิเลส ไม่ใช่ธรรมมีทั้งวิตกทั้งวิจาร ไม่ใช่ธรรมไม่มีวิตก แต่มีวิจารไม่มีทั้งวิตกวิจาร ไม่ใช่ธรรมที่สหรคตด้วยปีติ ไม่ใช่ธรรมที่สหรคตด้วยสุข ไม่ใช่ธรรมที่สหรคตด้วยอุเบกขา อันโสดาปัตติมรรค และมรรคเบื้องบน 3 ไม่ประหาณ ไม่มีสัมปยุตตเหตุอันโสดาปัตติมรรคและมรรคเบื้องบน 3 ประหาณ ไม่เป็นเหตุให้จุติปฏิสนธิและไม่เป็นเหตุให้ถึงนิพพาน ไม่เป็นของเสกขบุคคล และไม่เป็นของ อเสกขบุคคลเป็น ปริตตธรรม เป็นกามาวจรธรรม ไม่ใช่รูปาวจรธรรม ไม่ใช่อรูปาวจรธรรม เป็นปริยาปันนธรรม ไม่ใช่อปริยาปันนธรรม เป็นอนิยต-ธรรม เป็นอนิยยานิกธรรม เป็นปัจจุปันนธรรมอันวิญญาณ 6 พึงรู้ ไม่เที่ยง อันชราครอบงำแล้ว(43)

รูป เป็นอัพยากตธรรม คือ เป็นธรรมกลางๆ โดยตัวมันเองไม่ดี ไม่ชั่ว ไม่เป็นบุญ เป็นบาป ดังข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในรูปกัณฑ์ว่า ธรรมเป็นอัพยากฤต เป็นไฉน วิบากแห่งกุศลธรรม และอกุศลธรรม เป็นกามาวจร เป็นรูปาวจร เป็นอรูปาวจร เป็นโลกุตตระ ได้แก่ เวทนา ขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ธรรมเหล่าใดเป็นกิริยาไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่กรรมวิบาก รูปทั้งหมด และอสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นอัพยากฤต(44)

สรุปว่า รูป คือ ธรรมชาติที่จะต้องแตกสลายหรือจะพึงฉิบหายไปด้วยปัจจัยที่เป็นข้าศึก มีเย็นร้อน เป็นต้น รูปจะต้องแปรผัน เปลี่ยนแปลง เสื่อมสลายไป ไม่คงทนถาวร เพราะถูกปัจจัยมีเย็นร้อน เป็นต้น เบียดเบียนอยู่เสมอ รูปนี้เป็นที่อาศัยเป็นไปแห่งนามธรรมทั้งหลายมีจิต และเจตสิก เป็นต้น รูปเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ โดยตัวรูปเองเป็นสภาวะกลางๆ ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป ส่วนประเภท และสิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดรูป

ประเภทของรูป รูปปรมัตถธรรมที่เป็นสภาวธรรมที่จะต้องสลายไปเพราะปัจจัยมีเย็นร้อน เป็นต้นนั้น ท่านจำแนกประเภทไว้หลายนัย ในอภิธัมมัตถสังคหบาลีท่านจำแนกประเภทของรูปไว้ 5 นัย ดังข้อความที่ท่านกล่าวไว้ว่า ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงรูป (ที่ถึงเข้าตามลำดับ) ในรูปนั้น มีสังคหะ (การรวบรวม) โดยอาการ 5 นัย คือ โดยสมุทเทส (แสดงโดยย่อ) 1 โดยวิภาค (การจำแนก) 1 โดยสมุฏฐาน (เหตุเกิด) 1 โดยกลาป (หมวดหมู่) 1 โดยลำดับ ปวัติ (การเกิด) 1 ฯ(45)

นัยที่ท่านแสดงประเภทของรูปไว้ 5 นัย ดังนี้ 1. รูปสมุทเทสนัย นัยที่แสดงสภาวลักษณะของรูปโดยย่อ, 2. รูปวิภาคนัย นัยที่จำแนกประเภทของรูปโดยพิสดาร, 3. รูปสมุฏฐานนัย นัยที่แสดงรูปโดยสมุฏฐาน คือเหตุที่ทำให้รูปเกิดขึ้น, 4. รูปกลาปนัย นัยที่แสดงรูปเป็นมัดๆ คือ แสดงรูปที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกลุ่มๆ และ5. รูปปวัตติกกมนัย นัยที่แสดงความเป็นไปของรูปที่เกิดขึ้นตลอดถึงความดับของรูปตามลำดับ โดยประเภทแห่ง ภพ กาล และสัตว์(46)

รูปที่ท่านจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ ตามนัยทั้ง 5 นัยนั้น แต่ละนัยก็จำแนกรายละเอียดหรือสภาวธรรมที่เรียกว่า รูปนั้น ตามนัยของตนซึ่งก็แตกต่างกันออกไปตามนัยนั้นๆ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงประเภทของรูปที่ท่านจำแนกโดยสมุทเทสนัยซึ่งเป็นนัยที่แสดงสภาวลักษณะของรูปโดยสังเขปเท่านั้น

ประเภทของรูปตามสมุทเทสนัย รูป ตามสมุทเทสนัยนั้นมี 28 จำแนกออกอีกเป็น 2 ประเภท คือ 1. มหาภูตรูป 4 และ2. อุปาทายรูป 24 รวมเป็น รูป 28 มหาภูตรูป และอุปาทายรูป 2 ประเภทนี้สงเคราะห์เป็น 11 กลุ่มบ้าง เป็น 2 กลุ่มบ้าง รูป 28 คือ มหาภูตรูปและอุปาทายรูปนั้นสามารถจำแนกออกเป็น 11 กลุ่มได้

ดังข้อความที่แสดงไว้ในอภิธัมมัตถสังคหบาลีว่า ก็รูป 2 อย่างนี้ คือ มหาภูตรูปสี่ 1 รูปอาศัยมหาภูตรูปสี่ 1 ย่อมถึงการรวมเข้าได้ 11 อย่าง ฯ คือ อย่างไร ก็รูป 18 อย่างนี้ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ชื่อว่า มหาภูตรูป 1 จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ชื่อว่า ปสาทรูป 1 รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กล่าวคือ ภูตรูปทั้ง 3 เว้นอาโปธาตุ ชื่อว่า โคจรรูป 1 ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ชื่อว่า ภาวรูป 1 หทัยวัตถุ ชื่อว่า หทัยรูป 1 ชีวิตินทรีย์ ชื่อว่า ชีวิตรูป 1 อาหารที่ทำให้เป็นคำๆ ชื่อว่า อาหารรูป 1อากาสธาตุ ชื่อว่า ปริจเฉทรูป 1 ฯ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ ชื่อว่า วิญญัติรูป 1 ฯ ความเบาแห่งรูป ความอ่อนแห่งรูป ความควรแก่การงานแห่งรูป และวิญญัติทั้งสอง ชื่อว่า วิการรูป 1 ฯ ความเติบโตแห่งรูป ความสืบต่อแห่งรูป ความทรุดโทรมแห่งรูป ความไม่เที่ยงแห่งรูป ชื่อว่า ลักขณรูป 1 ฯ รวมเป็นรูป 11 อย่าง(47)

รูป 11 กลุ่มนั้น พึงสังเกต ดังนี้ 1. ปฐวีธาตุ คือ ธาตุดิน, 2. อาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ, 3. เตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ, 4. วาโยธาตุ คือ ธาตุลม, 5. จักขุปสาท สิ่งที่ให้สำเร็จการเห็น, 6. โสตปสาท สิ่งที่ให้สำเร็จการฟัง, 7. ฆานปสาท สิ่งที่ให้สำเร็จการดม, 8. ชิวหาปสาท สิ่งที่ให้สำเร็จการลิ้มรส, 9. กายปสาท สิ่งที่ให้สำเร็จการรู้สึกสัมผัส (ที่กล่าวมาพึงสังเกตว่ามี 1. มหาภูตรูป 4, 2. ปสาทรูป 5 ), 10. รูป อันเป็นวิสัยแห่งจักษุ, 11. เสียง, 12. กลิ่น, 13. รส, 14. อิตถีภาวะ ความเป็นหญิง, 15. ปุริสภาวะ ความเป็นชาย, 16. หทัย ที่อาศัยแห่งมโนธาตุและมโนวิญญาณ = 5. หทัยรูป 1, 17. ชีวิตินทรีย์ สิ่งที่รักษารูปให้เป็นอยู่ = 6. ชีวิตรูป 1, 18. อาหาร โอชารส = 7. อาหารรูป 1, 19. อากาสธาตุ ช่องว่างในร่างกาย = 8. ปริจเฉทรูป 1, 20. กายวิญญัติ กิริยาที่ไหวกายได้, 21. วจีวิญญัติ กิริยาที่ไหววาจา คือ พูดได้, 22. ลหุตา ความเบา, 23. มุทุตา ความอ่อนสลวย, 24. กัมมัญญตา ความควรแก่การงาน, 25. อุปจยะ ความเติบโตขึ้น, 26. สันตติ ความสืบเนื่อง, 27. ชรตา ความทรุดโทรม และ28. อนิจจตา ความไม่ยั่งยืน

รูป 28 นั้นสามารถสงเคราะห์เป็น 2 กลุ่มได้ คือ 1. นิปผันนรูป 2. อนิปผันนรูป ดังข้อความในอภิธัมมัตถสังคหบาลีว่า รูปมี 28 คือ ภูตรูป 4 ปสาทรูป 5 วิสัยรูป 4 ภาวรูป 2 หทัยรูป 1 ชีวิตรูป 1 และอาหารรูป 1 รวมเป็นนิปผันนรูป 18 แม้อย่างนี้ และ อนิปผันนรูป 10 คือ ปริจเฉทรูป 1 วิญญัติ 2 วิการรูป 3 และลักษณรูป 4 ฯ(48)

3. โคจรรูป, 4. ภาวรูป 2 (พึงสังเกต)

9. วิญญัติรูป 2, 10. วิการรูป 3, 11. ลักขณรูป 4

นิปผันนรูป หมายถึง รูปที่มีสภาวลักษณะของตน และจะทรงสภาวลักษณะของตนไว้เป็นประจำ ไม่เปลี่ยนแปลงแปรผันไปเป็นอย่างอื่น มีทั้งหมด 18 รูป ดังนี้ มหาภูตรูป 4 ปสาทรูป 5 โคจรรูป 4 ภาวรูป 2 หทยรูป 1 ชีวิตรูป 1 อาหาร

รูป 1 รวมเป็น นิปผันนรูป 18 ประเภท ดังนี้ 1. ปฐวีธาตุ คือ ธาตุดิน, 2. อาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ, 3. เตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ, 4. วาโยธาตุ คือ ธาตุลม, 5. จักขุปสาท สิ่งที่ให้สำเร็จการเห็น, 6. โสตปสาท สิ่งที่ให้สำเร็จการฟัง, 7. ฆานปสาท สิ่งที่ให้สำเร็จการดม, 8. ชิวหาปสาท สิ่งที่ให้สำเร็จการลิ้มรส, 9. กายปสาท สิ่งที่ให้สำเร็จการรู้สึกสัมผัส, 10. รูป อันเป็นวิสัยแห่งจักษุ, 11. เสียง, 12. กลิ่น, 13. รส, 14. อิตถีภาวะ ความเป็นหญิง, 15. ปุริสภาวะ ความเป็นชาย, 16. หทัย ที่อาศัยแห่งมโนธาตุและมโนวิญญาณ, 17. ชีวิตินทรีย์ สิ่งที่รักษารูปให้เป็นอยู่ และ18. อาหาร โอชารส

อนิปผันนรูป หมายถึง รูปที่ไม่มีสภาวลักษณะของตน เป็นรูปที่อาศัยนิปผันนรูปเกิด เป็นเครื่องหมาย และอาการของนิปผันนรูป มีทั้งหมด 10 รูป คือ ปริจเฉทรูป 1 วิญญัติรูป 2 วิการรูป 3 ลักขณรูป 4 รวมเป็นอนิปผันนรูป 10 ประเภท ดังนี้ 1. อากาสธาตุ ช่องว่างในร่างกาย, 2. กายวิญญัติ กิริยาที่ไหวกายได้, 3. วจีวิญญัติ กิริยาที่ไหววาจา คือ พูดได้, 4. ลหุตา ความเบา, 5. มุทุตา ความอ่อนสลวย, 6. กัมมัญญตา ความควรแก่การงาน, 7. อุปจยะ ความเติบโตขึ้น, 8. สันตติ ความสืบเนื่อง, 9. ชรตา ความทรุดโทรม, 10. อนิจจตา ความไม่ยั่งยืน

รูป 28 แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.มหาภูตรูป 4, 2.อุปาทายรูป 24 นั้น มีรายละเอียด ดังนี้

มหาภูตรูป 4 มหาภูตรูป คือ รูปใหญ่ เป็นรูปที่มีสภาพสัณฐานที่ปรากฏเด่นชัด เป็นที่อาศัยแห่งรูปอาศัยทั้งหลาย มี 4 ประเภท คือ 1. ปฐวีธาตุ ธาตุดิน, 2. อาโปธาตุ ธาตุน้ำ, 3. เตโชธาตุ ธาตุไฟ 4. วาโยธาตุ ธาตุลม

รูปชนิดที่ 1 ปฐวีธาตุ ธาตุดิน เป็นธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งความแข็งกระด้าง มีลักษณะแข้นแข็งหรืออ่อน (แข็งน้อย) ประชุมอยู่ภายในร่างกายบ้าง ภายนอกบ้าง เป็นนิมิตบ้าง สามารถรองรับสรรพวัตถุไว้ได้ มีน้ำ ไฟ ลม ร่วมกันเป็นเหตุให้เกิดขึ้น ดังข้อความในพระอภิธรรมว่า ปฐวีธาตุมี 2 อย่าง คือ ปฐวีธาตุภายใน ปฐวีธาตุภายนอกธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนรูปข้างใน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่าหรือธรรมชาติที่แข็งธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนรูปข้างในแม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุภายในธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนรูปข้างนอก ได้แก่ เหล็ก โลหะ ดีบุกขาว ดีบุกดำเงิน แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงินตราทอง แก้วมณีแดง แก้วมณีลาย หญ้า ท่อนไม้ กรวด กระเบื้อง แผ่นดิน แผ่นหิน ภูเขาหรือ ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนรูปข้างนอก แม้อื่นใดมีอยู่นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุภายนอก ปฐวีธาตุภายใน ปฐวีธาตุภายนอก ประมวลทั้ง 2 อย่างนั้นเข้าเป็นหมวดเดียวกัน นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุ(49)

สรุปได้ว่า รูป คือ ปฐวีธาตุนี้ ได้แก่ รูปดินที่ทรงอยู่ซึ่งลักษณะแข็ง และอ่อน ตั้งอยู่เฉพาะกับลักษณะแข็ง เป็นที่อาศัยหรือเป็นที่รองรับของรูปอื่นๆ ทั้งสิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต เปรียบเหมือนแผ่นดินเป็นที่อาศัยอยู่ของมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลายตลอดทั้งสิ่งที่ไม่มีชีวิต ทั้งหลายด้วย ปฐวีธาตุมีน้ำ ไฟ ลม ร่วมกันเป็นเหตุให้เกิดขึ้น จะแบ่งแยกมิได้ รูปชนิดที่ 2 อาโปธาตุ ธาตุน้ำ มีลักษณะไหล และเกาะกุม มีลักษณะซึมซาบเอิบอาบในร่างกายคน และสัตว์ อาโปธาตุปรากฏอยู่ทั้งที่เป็นภายในกาย และภายนอกกาย

ดังข้อความที่ท่านแสดงไว้ในพระอภิธรรมว่า อาโปธาตุมี 2 อย่าง คือ อาโปธาตุภายใน อาโปธาตุภายนอก ความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบ ความเหนียว ธรรมชาติที่เหนียว ธรรมชาติที่เกาะกุมรูปเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นอุปาทินนรูปข้างใน ได้แก่ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือ ความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบ ความเหนียว ธรรมชาติที่เหนียว ธรรมชาติที่เกาะกุมรูป เป็นภายใน เฉพาะตนเป็นอุปาทินนรูปข้างในแม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า อาโปธาตุภายใน ความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบ ความเหนียว ธรรมชาติที่เหนียว ธรรมชาติที่เกาะกุมรูป เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนรูปข้างนอก ได้แก่ รสรากไม้ รสลำต้น รสเปลือกไม้ รสใบไม้ รสดอกไม้ รสผลไม้ นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำที่อยู่ในพื้นดินหรือน้ำที่อยู่ในอากาศ หรือความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบความเหนียว ธรรมชาติที่เหนียว ธรรมชาติที่เกาะกุมรูป เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนรูปข้างนอก แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า อาโปธาตุภายนอก อาโปธาตุภายใน อาโปธาตุภายนอก ประมวลทั้ง 2 อย่างนั้น เข้าเป็นหมวดเดียวกัน นี้เรียกว่า อาโปธาตุ(50)

สรุปว่า รูป คือ อาโปธาตุนั้น เป็นตัวเชื่อมประสาน เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวรูปทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วย ให้รวมกันอยู่ได้ ไม่ให้กระจัดกระจายไป คือ เมื่อธาตุทั้ง 3 คือ ดิน ไฟ ลม ประชุมกันขึ้นแล้วอาโปธาตุ ธาตุน้ำ ย่อมเกิดขึ้นด้วย เมื่อธาตุน้ำเกิดขึ้นก็มีสภาวะไหลหรือเกาะกุม มีหน้าที่ให้ไหลหรือเกาะกุมเจริญมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้รวบรวมกันเป็นไปอย่างไม่ขาดสาย

รูปชนิดที่ 3 เตโชธาตุ ธาตุไฟ มีลักษณะร้อน และเย็น มีหน้าที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนภาวะ เป็นไปในภายในกายบ้าง ภายนอกกายบ้าง ดังข้อความในพระอภิธรรมว่า เตโชธาตุ มี 2 อย่าง คือ เตโชธาตุภายใน เตโชธาตุภายนอก ความร้อน ธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่น ธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่นธรรมชาติที่อบอุ่น เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนรูปข้างใน ได้แก่ เตโชธาตุที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม เตโชธาตุที่ทำให้ร่างกายเร่าร้อนเตโชธาตุที่ทำให้ของกินของดื่มของเคี้ยวของลิ้มถึงความย่อยไปด้วยดีหรือความร้อน ธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่น ธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่น ธรรมชาติที่อบอุ่น เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนรูปข้างใน แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า เตโชธาตุภายใน ความร้อน ธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่น ธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่น ธรรมชาติที่อบอุ่น เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนรูปข้างนอก ได้แก่ ไฟฟืน ไฟสะเก็ดไม้ ไฟหญ้า ไฟมูลโค ไฟแกลบ ไฟหยากเยื่อ ไฟอสนีบาต ความร้อนแห่งไฟ ความร้อนแห่งดวงอาทิตย์ ความร้อนแห่งกองฟืน ความร้อนแห่งกองหญ้า ความร้อนแห่งกองข้าวเปลือก ความร้อนแห่งกองขี้เถ้าหรือความร้อนธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่น ธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่นธรรมชาติที่อบอุ่น เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนรูปข้างนอก แม้อื่นใดมีอยู่นี้เรียกว่า เตโชธาตุภายนอก เตโชธาตุภายใน เตโชธาตุภายนอก ประมวลทั้ง 2 อย่างนั้น เข้าเป็นหมวดเดียวกัน นี้เรียกว่า เตโชธาตุ(51)

สรุปว่า รูป คือ เตโชธาตุ ธาตุไฟเมื่อเกิดขึ้น มี ดิน น้ำ ลม ธาตุทั้ง 3 ที่เหลือเป็นปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วมีความร้อนหรือเย็นเป็นลักษณะ มีหน้าที่ทำให้สุกงอม มีผลให้เกิดความอ่อนนิ่ม เป็นไปอยู่ในกายก็ทำให้กายอบอุ่น รูปอื่นๆ ทั้งหลายก็ต้องแตกสลายลงไป เพราะเตโชธาตุ คือ ความร้อนเย็นนี้เป็นเหตุร่างกายจึงทรุดโทรม และเตโชธาตุนี้จะทำให้อายุสั้นหรือยืนยาวก็ได้ด้วยสสัมภารเตโช คือ เตโชธาตุที่มีในร่างกาย มี 4 อย่าง(52) คือ 1. สันตาปเตโช ไฟที่ทำให้เจ็บไข้ ทำให้ร่างกายร้อนกว่าธรรมดา เป็นไฟที่ยังร่างกายให้อบอุ่นขึ้น, 2. ฑาหเตโช ไฟที่ทำให้เจ็บไข้มาก ทำให้กระวนกระวายถึงกับตั้งตัวไม่ได้ เช่น เพ้อไข้ เป็นต้น, 3. ปาจกเตโช ไฟที่เผาอาหารให้ย่อย และ4. ชีรณเตโช ไฟที่ทำ ร่างกายให้อบอุ่น ทำความร้อนเย็นตามธรรมดาจนยังกายให้วิปริต เช่น ผมขาว ฟันหัก เป็นต้น

รูปชนิดที่ 4 วาโยธาตุ ธาตุลม มีลักษณะไหวพัดไปมา และเคร่งตึงซึ่งเป็นไปภายในร่างกายคน และสัตว์ ตลอดถึงภายนอกกายของคนและสัตว์ เป็นอุปการะแก่การเคลื่อนไหวไปมา ดังข้อความในพระอภิธรรมว่า วาโยธาตุมี 2 อย่าง คือ วาโยธาตุภายใน วาโยธาตุภายนอกความพัดไปมา ธรรมชาติที่พัดไปมา ความเคร่งตึงแห่งรูป เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนรูปข้างใน ได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว ลมศัสตรา ลมมีดโกน ลมเพิกหัวใจ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกหรือความพัดไปมา ธรรมชาติที่พัดไปมา ความเคร่งตึงแห่งรูป เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนรูปข้างใน แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า วาโยธาตุภายใน ความพัดไปมา ธรรมชาติที่พัดไปมา ความเคร่งตึงแห่งรูปเป็นภายนอกเป็นอนุปาทินนรูปข้างนอก ได้แก่ ลมตะวันออก ลมตะวันตก ลมเหนือ ลมใต้ ลมมีฝุ่นละออง ลมไม่มีฝุ่นละออง ลมหนาว ลมร้อน ลมอ่อน ลมแรง ลมดำ ลมบน ลมกระพือปีก ลมครุธ ลมใบตาล ลมเป่าปากหรือความพัดไปมา ธรรมชาติที่พัดไปมา ความเคร่งตึงแห่งรูป เป็นภายนอก เป็นอนุปาทินนรูปข้างนอก แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า วาโยธาตุภายนอก วาโยธาตุภายใน วาโยธาตุภายนอก ประมวลทั้ง 2 อย่างนั้น เข้าเป็นหมวดเดียวกัน นี้เรียกว่า วาโยธาตุ(53)

สรุปแล้วว่า รูป คือ วาโยธาตุ เมื่อธาตุทั้ง 3 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ มีขึ้นแล้ว ธาตุลมย่อมมีด้วย เพราะแยกกันไม่ได้ เมื่อธาตุลมเกิดขึ้นแล้วปรากฏเป็นลักษณะเคร่งตึง มีหน้าที่ไหวพัดไปมา เป็นผลยังให้น้อมไปหา พัดไปหาส่วนที่เบาบาง ธาตุลมที่ประกอบเป็นไปอยู่ในร่างกายที่มีวิญญาณครองนั้น มีอยู่ 6 ชนิด ดังนี้ 1. อัสสาสปัสสาสวาตา ได้แก่ ลมหายใจเข้าออก, 2. อุทธังคมาวาตา ได้แก่ ลมที่ขึ้นเบื้องบน คือ ลมพัดขึ้นถึงศีรษะ ให้มีการเรอหรือหาว เป็นต้น, 3. อโธคมาวาตา ได้แก่ ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ ถึงปลายเท้า, 4. โกฏฐาสยาวาตา ได้แก่ ลมที่อาศัยอยู่ในลำไส้, 5. กุจฉิสยาวาตา ได้แก่ ลมที่อาศัยอยู่ในท้อง และ6. อังคมังคานุสาริวาตา ได้แก่ ลมตามที่พัดทั่วร่างกายซึ่งเดินไปตามเส้นเอ็นทั่วร่างกาย

รูป ที่เป็นมหาภูตรูปทั้ง 4 ชนิดนี้ที่เรียกว่าธาตุ ก็เพราะมีธรรมชาติที่ทรงสภาวะของตนไว้ เมื่อธาตุทั้ง 4 นี้รวมตัวกันเข้าเกิดเป็นรูปร่างขึ้น เรียกว่า มหาภูตรูป เพราะเป็นรูปใหญ่ มีรูปร่างสัณฐานปรากฏเห็นได้ชัด และมหาภูตรูปทั้ง 4 นี้เป็นที่อาศัยของรูปอาศัยชนิดอื่นๆ มหาภูตรูปทั้ง 4 ชนิดนี้เกิดร่วมกัน ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ที่ไหนเป็นรูปร่างอะไรก็ต้องปรากฏ ณ ที่นั้นครบทั้ง 4 ชนิดเสมอ จะต่างกันก็ตรงที่ว่ารูปร่างนั้นจะปรากฏมีธาตุไหนมากกว่ากันเท่านั้น แต่จะขาดไปธาตุใดธาตุหนึ่งไม่ได้

อุปาทายรูป 24 อุปาทายรูป คือ รูปย่อยๆ ที่อิงอาศัยมหาภูตรูป (รูปใหญ่) อยู่จะปรากฏลำพังตนเองโดยไม่มีมหาภูตรูป 4 ดังกล่าวมาแล้วไม่ได้ ท่านเปรียบเทียบเอาไว้ว่า เหมือนพระพี่เลี้ยง 4 นางกำลังบำรุงพระราชกุมารอยู่ นางหนึ่งอุ้มไว้ นางหนึ่งให้สรงสนาน นางหนึ่งลูบไล้ สุคนธรส นางหนึ่งถวายงานพัดอยู่ เป็นต้น อุปาทายรูป 24 ชนิด ดังนี้

รูปชนิดที่ 5 จักขุปสาทรูป รูปที่ให้สำเร็จการเห็น คือ จักขุปสาท ประสาทตา หมายถึง สิ่งที่ทำให้สำเร็จทัสสนกิจ คือ การเห็นได้ จักขุปสาทเป็นรูปชนิดหนึ่งที่มีความใสสะอาดดุจความใสแห่งกระจก คอยดึงดูดเอารูปารมณ์ที่มากระทบ จักขุปสาทนี้โตประมาณเท่าศีรษะเหา เยื่อนัยน์ตา 7 ชั้นซับไว้อยู่ เหมือนปุยนุ่นที่อาบด้วยน้ำมันซับไว้ด้วยปุยนุ่น 7 ชั้น ในประเทศเป็นที่ตั้งแห่งสรีรสัณฐานของบุคคลที่ตั้งอยู่เฉพาะหน้า ในท่ามกลางของวงตาดำ ซึ่งล้อมรอบอยู่ด้วยวงตาขาว เป็นวัตถุทวารให้สำเร็จทัสสนกิจ คือ เกิดจักขุวิญญาณ ขึ้น(54) เมื่อจักขุปสาท (ปสาทตา) หรือแก้วตานี้พิการ ก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นอะไรได้ เช่น คนตาบอดตาใส เป็นต้น ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมายของคำว่า จักขุปสาทไว้ว่า จักขุใด เป็นปสาทรูป อาศัยมหาภูตรูป 4 นับเนื่องในอัตภาพ เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้, สัตว์นี้เห็นแล้วหรือเห็นอยู่ หรือจักเห็นหรือพึงเห็น ซึ่งรูปอันเป็นสิ่งที่เห็นได้ และกระทบได้ ด้วยจักขุใด อันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ , นี้เรียกว่า จักขุบ้าง จักขายตนะบ้าง จักขุธาตุบ้าง จักขุนทรีย์บ้างเนตรบ้าง นัยนะบ้าง(55)

สรุปได้ว่า จักขุปสาทรูปนี้ เป็นรูปชนิดหนึ่ง เมื่อมหาภูตรูป 4 ประชุมกันขึ้นเป็นร่างกายด้วยอำนาจแห่งกรรมแล้ว เป็นเหตุให้จักขุปสาท ประสาทตาเกิดขึ้นมีลักษณะใสคู่ควรกับรูปารมณ์ (คือ สี) ที่จะมากระทบ จักขุปสาทรูปนี้แสวงหารูปารมณ์อยู่เสมอ เป็นเหตุให้จักขุวิญญาณ (รู้ทางตา) เกิดขึ้น เป็นประสาทตาที่ทำให้การเห็นอาศัยเกิดขึ้น บางที่ท่านก็เรียกว่า มังสจักขุ (ตาเนื้อ) ธรรมชาติของจักขุปสาทนี้ เมื่อมีการเกิดขึ้นรับรูปารมณ์แล้วก็แตกดับไปเสมอ มีกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นใหม่อีกแล้วก็แตกทำลายไปพร้อมกับการที่ รูปารมณ์ (สี) มากระทบทุกขณะไป มีหน้าที่ 2 ประการ คือ 1. เป็นจักขุวัตถุอันเป็นที่ตั้งอาศัยของจักขุวิญญาณจิต 2. เป็นจักขุทวาร อันเป็นประตูเกิดของจักขุทวารวิถีจิต

รูปชนิดที่ 6 โสตปสาทรูป รูปที่ให้สำเร็จการฟัง เป็นประสาทหูที่ใส คู่ควรแก่เสียงที่จะมากระทบ เป็นสิ่งที่ทำให้สำเร็จสวนกิจ (การฟัง) เป็นรูปชนิดหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในช่องหู มีสัณฐานดังวงแหวน มีขนแดงอ่อนงอกขึ้นอยู่โดยรอบ เป็นโสตวัตถุ คือ เป็นที่อาศัยของโสตวิญญาณ และเป็นโสตทวาร (ประตูหู) อันเป็นที่เกิดแห่งโสตวิญญาณวิถีจิต ถ้าโสตปสาทนี้พิการแล้ว ย่อมไม่สำเร็จสวนกิจ (การฟัง)ได้ เช่น คนหูหนวก เป็นต้น ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมายโสตปสาทรูปไว้ว่า โสตใด เป็นปสาทรูป อาศัยมหาภูตรูป 4 นับเนื่องในอัตภาพ เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้, เสียงอันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ กระทบแล้ว หรือกระทบอยู่ หรือจักกระทบ หรือพึงกระทบ ที่โสตใดอันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้, นี้เรียกว่า โสตบ้าง โสตายตนะบ้าง โสตธาตุบ้าง โสตินทรีย์บ้าง(56)

สรุปว่า โสตปสาทรูปนั้น เมื่อมหาภูตรูปเกิดขึ้นแล้วจากกรรม เป็นเหตุนำมาซึ่งความอยากฟัง มีความใสปรากฏขึ้น มีหน้าที่รับสัททารมณ์ (เสียง) เป็นผลให้โสตวิญญาณอาศัยเกิดขึ้นตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ประสาทหูที่มีลักษณะใสนั้นท่านเรียกว่า โสตปสาท โสตปสาทจะทำหน้าที่ได้สมบูรณ์จะต้องอาศัยส่วนประกอบของหู มี ใบหู รูหู เป็นต้น เพื่อจะใช้เป็นสื่อสัมพันธ์ในขณะที่เกิดการกระทบของคลื่นเสียง โสตปสาทรูปนี้มีหน้าที่อยู่ 2 ประการ คือ 1. เป็นโสตวัตถุอันที่ตั้งอาศัยของโสตวิญญาณจิต 2. เป็นโสตทวารอันเป็นประตูที่เกิดของโสตทวารวิถีจิต

รูปชนิดที่ 7 ฆานปสาทรูป รูปที่ให้สำเร็จการดมหรือรู้กลิ่นได้ ฆานปสาทรูป คือ รูปที่ใสของจมูก ได้แก่ ประสาทจมูก เป็นวัตถุที่อาศัยของฆานวิญญาณให้สำเร็จฆายนกิจ กิจ คือ การดมกลิ่น เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในโครงนาสิก มีสัณฐานดังกีบแพะ เป็นฆานวัตถุ คือ วัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งฆานวิญญาณจิต และเป็นฆานทวาร คือ ประตูอันเป็นที่เกิดแห่งฆานทวารวิถีจิต ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมาย ฆานปสาทรูปไว้ว่า ฆานะใด เป็นปสาทรูป อาศัยมหาภูตรูป 4 นับเนื่องในอัตภาพ เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้, สัตว์นี้ ดมแล้ว หรือดมอยู่ หรือจักดม หรือพึงดม ซึ่งกลิ่นอันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ ด้วยฆานะใด อันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้, นี้เรียกว่า ฆานะบ้าง ฆานายตนะบ้าง ฆานธาตุบ้าง ฆานินทรีย์บ้างทวารบ้าง(57)

สรุปว่า ฆานปสาทรูปนั้น เมื่อมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรม (คันธตัณหา) เพราะอำนาจแห่งการอยากรู้กลิ่น ปรารถนาที่จะดมกลิ่นเป็นเหตุแล้ว ฆานปสาทรูปก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีลักษณะใส (ของมหาภูตรูป) ควรที่จะรับกระทบกับสี ทำหน้าที่แสวงหา (รับ) เฉพาะคันธารมณ์ (กลิ่น) อย่างเดียวเท่านั้น เป็นเหตุให้ฆานวิญญาณจิตอาศัยเกิดขึ้น และตั้งอยู่ชั่วขณะ ฆานปสาทรูปต้องอาศัยส่วนประกอบของจมูกมีดั้งจมูก และรูจมูก เป็นต้น อันอาศัยธาตุลมพัดเอากลิ่นต่างๆ เข้ารูจมูกได้ ทำให้จิตรับรู้กลิ่นทางจมูกอยู่เสมอ

รูปชนิดที่ 8 ชิวหาปสาทรูป รูปที่ให้สำเร็จการลิ้มรส เป็นรูปลิ้นที่ใส ควรกับรสที่มากระทบเป็นปัจจัยให้ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นให้สำเร็จสายนกิจ กิจ คือ การลิ้มรส เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งที่ปรากฏอยู่ท่ามกลางลิ้น มีสัณฐานเหมือนดังกลีบดอกบัว เป็นชิวหาวัตถุ คือ วัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งชิวหาวิญญาณจิต และเป็นชิวหาทวาร คือ ประตูอันเป็นที่เกิดแห่งชิวหาทวารวิถี ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมายชิวหาปสาทรูปไว้ว่า ชิวหาใด เป็นปสาทรูป อาศัยมหาภูตรูป 4 นับเนื่องในอัตภาพ เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้, สัตว์นี้ ลิ้มแล้ว หรือลิ้มอยู่ หรือจักลิ้ม หรือพึงลิ้ม ซึ่งรสอันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ด้วยชิวหาใด อันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ , นี้เรียกว่า ชิวหาบ้าง ชิวหายตนะบ้าง ชิวหาธาตุบ้าง ชิวหินทรีย์บ้างทวารบ้าง(58)

สรุปว่า ชิวหาปสาทรูป เมื่อเหตุปัจจัย คือ มหาภูตรูปอันเกิดขึ้นจากกรรมด้วยอำนาจที่ใคร่อยากจะลิ้มรสเกิดขึ้นแล้ว ทำหน้าที่แสวงหา (รับ) รสอยู่เสมอ มีลักษณะใสคู่ควรกับรสที่จะมากระทบ ยังผลให้เกิดชิวหาวิญญาณรู้รสขึ้นด้วยอาศัยอาโป (น้ำ) เป็นสื่อ ชิวหาปสาทรูปนี้ต้องอาศัยเครื่องประกอบของลิ้นมีเนื้อลิ้น เป็นต้น เพื่อให้ปสาทลิ้นที่ใสตั้งอยู่ได้ทำให้จิตรู้รสทางลิ้นอยู่เสมอ

รูปชนิดที่ 9 กายปสาทรูป รูปที่ให้สำเร็จการรู้สึกสัมผัส เป็นรูปปสาทกายที่ใสคู่ควรกับโผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน แข็ง ไหว หรือเคร่งตึง ที่จะมากระทบ เป็นรูปชนิดหนึ่งที่ซึมซาบอยู่ทั่วสรีระร่างกาย เหมือนยางหรือน้ำมันที่ชุ่มอยู่ในแผ่นป้าย ยกเว้นที่ ผม ปลายขน เล็บ ฟัน หนังที่หนา อันเป็นส่วนปลายที่ปสาทเข้าไปไม่ถึง และที่รวมแห่งอาหารเก่าที่ใต้ลำไส้ใหญ่ เป็นกายวัตถุ คือ วัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งกายวิญญาณชั่วขณะหนึ่ง เป็นกายทวาร คือ ประตูอันเป็นที่เกิดแห่งกายทวารวิถีจิต ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมายกายปสาทรูปไว้ว่า กายใด เป็นปสาทรูป อาศัยมหาภูตรูป 4 นับเนื่องในอัตภาพ เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ , สัตว์นี้ ถูกต้องแล้ว หรือถูกต้องอยู่ หรือจักถูกต้อง หรือพึงถูกต้อง ซึ่งโผฏฐัพพะอันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ด้วยกายใด อันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ , นี้เรียกว่า กายบ้าง กายายตนะบ้าง กายธาตุบ้าง กายินทรีย์บ้างทวารบ้าง(59)

สรุปแล้วว่า กายปสาทรูปนี้ เมื่อมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรมเพราะปรารถนาอยากจะกระทบโผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นต้น เป็นผลให้เกิดกายปสาทขึ้นเมื่อกายปสาทเกิดขึ้นแล้ว มีลักษณะรับโผฏฐัพพารมณ์ที่มากระทบอันเป็นสิ่งที่คู่ควรกัน มีหน้าที่แสวงหากระทบเฉพาะแต่โผฏฐัพพารมณ์เท่านั้น เป็นผลให้กายวิญญาณจิตเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่ง กายปสาทรูปนี้ต้องอาศัย ส่วนประกอบของกาย เช่น โครงกระดูกเอ็น เนื้อ เลือด หนังห่อหุ้มเอาไว้ เป็นต้น เพื่อให้ปสาทกายตั้งอยู่ได้ เป็นผลให้จิตรับรู้การกระทบสัมผัสจากโผฏฐัพพารมณ์อยู่เสมอรูป 5 ชนิด ที่กล่าวมาแล้ว คือ จักขุปสาทรูป 1 โสตปสาทรูป 1 ฆานปสาทรูป 1 ชิวหาปสาทรูป 1 กายปสาทรูป 1 เรียกว่า ปสาทรูป หมายถึง รูปที่มีความใส เป็นธรรมชาติที่คู่ควรกับอารมณ์ที่จะมากระทบ คือ ทำให้จิตควรที่จะรับอารมณ์ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ และโผฏฐัพพารมณ์ได้

รูปชนิดที่ 10 รูปารมณ์ อันเป็นวิสัยแห่งจักษุ ได้แก่ สี คือ วรรณะสีสรรต่างๆ ที่ปรากฏอยู่กับรูป อันเป็นวิสัยของจักขุวิญญาณที่จะยึดหน่วงเอาเป็นอารมณ์ได้ อาศัยแสงสว่างมากระทบเป็นสื่อสะท้อนกระทบประสาทตาเนืองๆ เป็นของคู่กันกับประสาทตาเลยจากสีไปเรียกว่ารูปที่ยึดเหนี่ยวของจิตทางตา ซึ่งเป็นสีต่างๆ ของรูปวัตถุ สามารถรับแสงสะท้อนจนกระทบประสาทตาได้ ลักษณะของรูปารมณ์ คือ การกระทบจักขุปสาท มีหน้าที่ทำอารมณ์ให้จักขุวิญญาณ และเป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณนั้นด้วย ดังข้อความในพระอภิธรรมที่ท่านได้ให้ความหมายของรูปารมณ์ไว้ว่า รูปใด เป็นสี อาศัยมหาภูตรูป 4 เป็นสิ่งที่เห็นได้ และกระทบได้ ได้แก่ สีเขียวคราม สีเหลือง สีแดง สีขาว สีดำ สีหงสบาท สีคล้ำ สีเขียวใบไม้ สีม่วง ยาว สั้น ละเอียด หยาบ กลม รี สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม สิบหกเหลี่ยม ลุ่ม ดอน เงา แดด แสงสว่าง มืด เมฆ หมอก ควัน ละออง แสงจันทร์ แสงอาทิตย์ แสงดาว แสงกระจก แสงแก้วมณี แสงสังข์ แสงมุกดา แสงแก้วไพฑูรย์ แสงทอง แสงเงิน หรือรูปแม้อื่นใดเป็นสี อาศัยมหาภูตรูป 4 เป็นสิ่งที่เห็นได้และกระทบได้ มีอยู่, สัตว์นี้ เห็นแล้ว หรือเห็นอยู่ หรือจักเห็น หรือพึงเห็น ซึ่งรูปใด อันเป็นสิ่งที่เห็นได้ และกระทบได้ด้วยจักขุ อันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้, นี้เรียกว่า รูปบ้าง รูปายตนะบ้าง รูปธาตุบ้าง(60)

สรุปว่า เมื่อมหาภูตรูปมีขึ้นแล้ว รูปารมณ์ คือ สีก็ย่อมปรากฏมีอยู่ด้วย เมื่อสีมีขึ้น เกิดการกระทบจักขุปสาท ทำหน้าที่ให้ความปรากฏแก่จักขุวิญญาณ มีผลทำให้เห็นทางตา เป็นไปอย่างไม่ขาดสาย

รูปชนิดที่ 11 สัททารมณ์ ได้แก่ เสียง ที่ปรากฏเป็นอารมณ์ให้แก่โสตวิญญาณ เป็นคลื่นปรมาณูสะท้อน ทำการโคจรไปดุจโคหาหญ้าอ่อน เป็นของคู่กับโสตปสาท ประสาทหู เมื่อมีช่องว่าง คือ รูหูแล้ว เสียงนั้นก็ผ่านเข้าไปกระทบประสาทหู เป็นเหตุให้โสตวิญญาณได้ยิน แล้วยึดหน่วงเอาไว้เป็นอารมณ์ของจิตทางหู ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมายของสัททารมณ์ไว้ว่า เสียงใด อาศัยมหาภูตรูป 4 เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ ได้แก่ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงสังข์ เสียงบัณเฑาะว์ เสียงขับร้อง เสียงประโคม เสียงกรับ เสียงปรบมือ เสียงร้องของสัตว์ เสียงกระทบกันของธาตุ เสียงลม เสียงน้ำ เสียงมนุษย์ เสียงอมนุษย์หรือเสียงแม้อื่นใด ซึ่งอาศัยมหาภูตรูป 4 เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ มีอยู่, สัตว์นี้ ฟังแล้ว หรือฟังอยู่ หรือจักฟัง หรือพึงฟัง ซึ่งเสียงใด อันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ ด้วยโสตอันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้, นี้เรียกว่า สัททะบ้าง สัททายตนะบ้าง สัททธาตุบ้าง(61)

สรุปได้ว่า เมื่อมหาภูตรูปที่สละเอียดเป็นปรมาณู เล็กที่สุดทั่วไปในอากาศมีขึ้น ความสะเทือน คือ เสียงที่เกิดจากมหาภูตรูปกับมหาภูตรูปกระทบกัน ปรมาณูก็สั่นสะเทือนเป็นคลื่น ทยอยเข้าไปสู่ช่องว่างมีทวารหู เป็นต้น แล้วกระทบกับโสตปสาท ทำหน้าที่ให้อารมณ์แก่โสตวิญญาณได้ยินบ่อยๆ ไม่ขาดสาย ไม่เสียงนั้นจะเป็นเสียงของสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม ก็สามารถเป็นอารมณ์ของโสตวิญญาณ คือ สัททารมณ์ได้ไม่มีที่สิ้นสุด

รูปชนิดที่ 12 คันธารมณ์ ได้แก่ กลิ่น ที่เป็นอารมณ์ให้แก่ฆานวิญญาณจิตคันธารมณ์ เป็นที่ยึดเหนี่ยวของฆานวิญญาณรู้ทางจมูก มีหน้าที่กระทบประสาทจมูก กลิ่นนี้เป็นน้ำมันระเหยที่ล่องลอยไปตามสายลม ไม่ว่ากลิ่นนั้นจะเป็นกลิ่นหอมหรือกลิ่นเหม็นก็ตาม กลิ่นทุกชนิดเป็นอารมณ์ของฆานวิญญาณได้ทั้งสิ้น ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมายของคันธารมณ์ไว้ว่า กลิ่นใด อาศัยมหาภูตรูป 4 เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ ได้แก่ กลิ่นรากไม้ กลิ่นแก่นไม้ กลิ่นเปลือกไม้ กลิ่นใบไม้ กลิ่นดอกไม้ กลิ่นผลไม้ กลิ่นบูด กลิ่นเน่า กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น หรือกลิ่นแม้อื่นใด ซึ่งอาศัยมหาภูตรูป 4 อันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ มีอยู่, สัตว์นี้ดมแล้ว หรือดมอยู่ หรือจักดม หรือพึงดม ซึ่งกลิ่นใด อันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ แต่กระทบได้ด้วยฆานะ อันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้, นี้เรียกว่า คันธะบ้าง คันธายตนะบ้าง คันธธาตุบ้าง(62)

สรุปว่า เมื่อมหาภูตรูปเกิดขึ้นแล้ว คันธารมณ์คือกลิ่นก็เกิดขึ้นด้วย กลิ่นที่เป็นอารมณ์เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็กระทบกับฆานปสาท มีหน้าที่ทำอารมณ์ให้ฆานวิญญาณให้รู้กลิ่นทางจมูกได้

รูปชนิดที่ 13 รสารมณ์ ได้แก่ รส ที่เป็นอารมณ์ให้ชิวหาวิญญาณ คือ รสอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวเอาเป็นอารมณ์ของจิตทางลิ้น เป็นยางที่อาศัยน้ำเป็นสื่อคลุกเคล้า ปรากฏติดอยู่ที่อาหาร กระทบประสาทลิ้น เป็นของคู่กับประสาทลิ้น รสทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นรสเปรี้ยว รสหวาน รสเค็ม รสฝาด รสขม เป็นต้น ทั้งที่ดี และไม่ดีก็เป็นอารมณ์ของชิวหาวิญญาณได้ทั้งสิ้น ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมายของรสารมณ์ไว้ว่า รสใด อาศัยมหาภูตรูป 4 เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ ได้แก่ รสรากไม้ รสลำต้น รสเปลือกไม้ รสใบไม้ รสดอกไม้ รสผลไม้ เปรี้ยว หวาน ขม เผ็ด เค็ม ขื่น เฝื่อน ฝาด อร่อย ไม่อร่อย หรือรสแม้อื่นใด ซึ่งอาศัยมหาภูตรูป 4 อันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ มีอยู่, สัตว์นี้ลิ้มแล้ว หรือลิ้มอยู่ หรือจักลิ้ม หรือพึงลิ้ม ซึ่งรสใด อันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ด้วยชิวหาอันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้, นี้เรียกว่า รสบ้าง รสายตนะบ้าง รสธาตุบ้าง(63)

สรุปแล้วว่า เมื่อมหาภูตรูปทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม มีขึ้นแล้วย่อมเป็นเหตุให้รสารมณ์ คือ รสเกิดขึ้น มีหน้าที่ทำให้ชิวหาวิญญาณยึดเหนี่ยวเอาไว้เป็นอารมณ์ ยังผลให้ชิวหาวิญญาณรู้รสทางลิ้นอยู่เสมอรูป 4 ชนิดดังกล่าวมาแล้วนี้ คือ รูปารมณ์ 1 สัททารมณ์ 1 คันธารมณ์ 1 รสารมณ์ 1 เรียกว่า โคจรรูป คือ รูปที่เป็นโคจรของจิตและเจตสิก หมายถึง เป็นรูปที่เป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น

รูปชนิดที่ 14 อิตถีภาวรูป รูปที่แสดงความเป็นเพศหญิง คือ รูปหญิงที่ซึมซาบอยู่ทั่วไปในร่างกายของหญิง แสดงลักษณะอาการของหญิงให้ปรากฏ เราจะสังเกตอิตถีภาวะความเป็นหญิงได้ด้วยลักษณะ 4 ประการ คือ 1. สังเกตลิงคะ เพศหญิงที่มีมาแต่กำเนิดทุกส่วนสัด, 2. สังเกตนิมิตตะ เครื่องหมายสภาพความเป็นอยู่ทางร่างกายของหญิงที่แตกต่างจากชาย, 3. สังเกตกุตตะ มีความนุ่มนวลและอ่อนโยน ชอบเล่นเรียบๆ และ4. สังเกตอากัปปะ อาการกิริยานิสัยเต็มไปด้วยความอ่อนช้อย(64) ถ้ามีลักษณะอาการของภาวรูปเช่นนี้พึงทราบว่านั่น คือ อิตถีภาวรูป ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมายอิตถีภาวรูปไว้ว่า ทรวดทรงหญิง เครื่องหมายรู้ว่า หญิง กิริยาหญิง อาการหญิง สภาพหญิง ภาวะหญิงของหญิง ปรารภได้ด้วยเหตุใด รูปทั้งนี้เรียกว่า อิตถินทรีย์(65)

สรุปว่า เมื่อมหาภูตรูป คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันแล้ว อิตถีภาวรูป รูปที่เป็นหญิงย่อมเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วรูปที่เป็นหญิงนั้นก็แสดงความเป็นหญิงอยู่ในร่างกายทุกสัดส่วน มีหน้าที่ประกาศความเป็นหญิงเสมอ เป็นผลให้แสดงเหตุแห่งความเป็นหญิง มีเพศหญิง เป็นต้น อยู่มิได้ขาดสาย

รูปชนิดที่ 15 ปุริสภาวรูป รูปที่แสดงความเป็นเพศชายให้ปรากฏ คือ รูปที่เป็นชาย ความเป็นชายที่ซึมซาบอยู่ทั่วไปในร่างกายของชาย แสดงลักษณะอาการของชายให้ปรากฏ เราจะสังเกตความเป็นชายได้ 4 ลักษณะ คือ 1. สังเกตลิงคะ เพศชายที่มีมาแต่กำเนิดทุกส่วนสัด, 2. สังเกตนิมิตตะ เครื่องหมายสภาพความเป็นอยู่ของร่างกายที่แตกต่างจากหญิง, 3. สังเกตนิมิตตะ สังเกตกุตตะ มีนิสัยห้าวหาญเข้มแข็ง ชอบเล่นกีฬากลางแจ้ง และ4. สังเกตกัปปะ อาการกิริยาที่เต็มไปด้วยความเด็ดเดี่ยว(66)

ลักษณะอาการของภาวรูปเช่นนี้ พึงทราบว่า คือ ปุริสภาวรูป ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมายของของปุริสภาวรูปไว้ว่า ทรวดทรงชาย เครื่องหมายรู้ว่าชาย กิริยาชาย อาการชาย สภาพชาย ภาวะชายของชาย ปรากฏได้ด้วยเหตุใด รูปทั้งนี้เรียกว่า ปุริสินทรีย์(67)

สรุปว่า เมื่อมหาภูตรูป คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันขึ้นด้วยอำนาจแห่งกรรมแล้ว ปุริสภาวะ ความเป็นชายก็มีขึ้น เมื่อปุริสภาวะเกิดขึ้นอาศัยมหาภูตรูปนั้น ก็มีลักษณะอาการของชายปรากฏ มีหน้าที่ประกาศความเป็นชาย ทำให้มีเพศชายปรากฏอยู่เสมอรูป 2 ชนิดดังกล่าวมาแล้วนี้ คือ อิตถีภาวรูป 1 ปุริสภาวรูป 1 เรียกว่า ภาวรูป คือ เป็นรูปที่แสดงภาวะความเป็นหญิงหรือชายให้ปรากฏ โดยสังเกตได้จากรูปร่าง สัณฐาน นิสัย และกิริยาอาการต่างๆ จากรูปเหล่านั้นเป็นเครื่องแสดงให้รู้ได้ว่า เป็นหญิงหรือเป็นชาย

รูปชนิดที่ 16 หทัยรูป รูปเป็นที่อาศัยอยู่ของมโนธาตุ และมโนวิญญาณ คือ หทัยวัตถุ หัวใจอันเป็นที่อาศัยเกิดขึ้นของจิต และเจตสิก สามารถให้เกิดได้ทั้งความดี และความชั่วแก่สัตว์ทั้งหลาย หทัยรูปนี้ตั้งอยู่ภายในก้อนเนื้อ ตั้งอยู่ระหว่างราวนมหรือต่ำกว่าเล็กน้อยในทรวงอกซีกซ้าย ก้อนเนื้อนี้เรียกว่า หัวใจ มีลักษณะสัณฐานคล้ายดอกบัวตูมที่แกะกลีบออกแล้ว วางเอาปลายห้อยลง ผิวเนื้อข้างนอกเกลี้ยงเกลา แต่ภายในพรุน เหมือนรังบวบขม ในเนื้อนั้นมีแอ่งขนาดเท่าเมล็ดบุนนากวางลงได้ ชุ่มด้วยโลหิตซึ่งมีอยู่ประมาณกึ่งฟายมือ ณ ที่นี้เองเรียกว่า หทัยวัตถุ เป็นที่อาศัยของมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุสัตว์ทั้งหลายจะสร้างความดี (กุศล) และความชั่ว (อกุศล) ได้ก็ต้องอาศัยทหัยรูปนี้ทั้งสิ้นโลหิต น้ำเลี้ยงหัวใจที่มีอยู่ในหทัยรูป มีสีแตกต่างกันตามจริตของคน คือ คนที่หนาได้ด้วยราคจริต น้ำเลี้ยงหัวใจจะเป็นสีแดง คนที่หนาไปด้วยโทสจริต น้ำเลี้ยงหัวใจจะเป็นสีดำ คนที่หนาไปด้วยโมหจริต น้ำเลี้ยงหัวใจจะมีสีหม่นเหมือนน้ำล้างเนื้อ คนหนาไปด้วยวิตกจริต น้ำเลี้ยงหัวใจจะมีสีเหมือนน้ำเยื่อถั่วพู คนที่หนาไปด้วยสัทธาจริต น้ำเลี้ยงหัวใจจะมีสีเหลืองอ่อนคล้ายดอกกรรณิกา คนที่หนาไปด้วยปัญญาจริต (พุทธิจริต) น้ำเลี้ยงหัวใจจะมีสีขาว(68)

สรุปได้ว่า เมื่อมหาภูตรูปเกิดขึ้นแล้ว ด้วยอำนาจแห่งกรรม เป็นต้น ทหัยรูปก็อาศัยเกิดขึ้น เมื่อหทัยรูปเกิดขึ้นแล้ว ก็ทำให้จิต และเจตสิกเกิดขึ้น ทรงไว้ซึ่งจิต และเจตสิกเหล่านั้น รักษาจิต และเจตสิกเหล่านั้นให้ตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่ง คือ เป็นที่อาศัยเกิดของมโนธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ

รูปชนิดที่ 17 ชีวิตินทรียรูป รูปที่รักษาหล่อเลี้ยงรูปที่เกิดพร้อมกับตน (สหชาตรูป) ให้ดำรงอยู่ได้ เหมือนน้ำหล่อเลี้ยงดอกอุบล ให้สดชื่นดำรงอยู่ และรักษาธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยตามสภาพของตนให้ดำรงอยู่ เหมือนแม่นม คอยระวังรักษาทารก และตนเอง เมื่อสหชาตรูป และธรรมที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยแตกสลายไป ชีวิตรูปก็แตกสลายตามไปด้วย เพราะไม่มีธรรมที่ตนจะพึงรักษาให้เป็นไป เปรียบเหมือนเปลวประทีปที่ไส้ไม่มีน้ำมันหล่อเลี้ยง ย่อมดับไปฉะนั้น ชีวิตรูปนี้ ได้แก่ ชีวิตินทรีย์ที่เป็นรูปธรรม เป็นรูปที่อนุบาลรักษาสหชาตรูปธรรม และสัมปยุตตธรรมให้ดำรงอยู่ ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมาย ชีวิตินทรียรูปไว้ว่า อายุ ความดำรงอยู่ ความเป็นไปอยู่ กิริยาที่เป็นไปอยู่ อาการที่สืบเนื่องกันอยู่ ความประพฤติเป็นไปอยู่ ความหล่อเลี้ยงอยู่ ชีวิต อินทรีย์ คือ ชีวิต ของรูปธรรมนั้นๆ อันใด รูปทั้งนี้เรียกว่า ชีวิตินทรีย์(69)

สรุปแล้วว่า เมื่อมหาภูตรูปเกิดขึ้นอย่างสมส่วน ชีวิตรูปก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ตามรักษาไว้ซึ่งรูปที่เกิดพร้อมด้วยให้ดำรงอยู่ได้ตลอดเวลา และรักษาไว้ได้ชั่วขณะที่ชีวิตรูปนั้นคงอยู่

รูปชนิดที่ 18 อาหารรูป รูปชนิดหนึ่ง หมายเอาโอชารสของอาหารที่ซึมซาบเอิบอาบเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้เป็นไปด้วยดี อันได้มาจากกวฬิงการาหาร อาหาร คือ คำข้าว ซึ่งเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะ เมื่อบริโภคเข้าไปก็เกิดโอชา สามารถทำให้สหชาตรูปที่เกิดร่วมด้วยเจริญเติบโตเป็นอยู่ได้ คำว่า อาหาร มีทั้งอาหารที่เป็นรูป และเป็นนาม ท่านจำแนกประเภทของอาหารไว้ 4 ประเภท ดังนี้ 1. กวฬิงการาหาร อาหาร คือ คำข้าว, 2. ผัสสาหาร อาหาร คือ ผัสสะ, 3. มโนสัญเจตนาหาร อาหาร คือ มโนสัญเจตนา และ4. วิญญาณาหาร อาหาร คือ วิญญาณ(70)

อาหารที่เรียกว่า อาหารรูป คือ อาหารชนิดที่จะต้องกลืนกิน เพื่อเลี้ยงร่างกายให้เติบโตเจริญขึ้น ที่เรียกว่า กวฬิงการาหาร นั่นเอง ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมายอาหารรูปไว้ว่า ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย หรือรูปแม้อื่นใด มีอยู่ อันเป็นของใส่ปาก ขบเคี้ยว กลืนกิน อิ่มท้องของสัตว์นั้นๆ ในชนบทใดๆ สัตว์ทั้งหลายเลี้ยงชีวิตด้วยโอชาอันใด รูปทั้งนี้เรียกว่า กวฬิงการาหาร(71)

สรุปแล้วจะเห็นได้ว่า เมื่อได้บริโภคอาหาร คือ คำข้าวแล้ว ก็เกิดโอชาซึมซาบเอิบอาบเข้าไปหล่อเลี้ยงทำให้รูปเจริญ มีหน้าที่บำรุงหล่อเลี้ยงอุดหนุนรูปกายให้เป็นไปอยู่ และทรงอยู่ได้

รูปชนิดที่ 19 อากาสธาตุ คือ ช่องว่างในร่างกาย ที่ขีดขั้นอยู่ระหว่างรูปต่อรูป เป็นธรรมชาติที่ไม่สามารถที่จะขีดเขียนได้ มีลักษณะแสดงให้ประจักษ์ว่า รูปต่างๆ ก็ดีกลาปต่างๆ ก็ดี เท่าที่สามารถเรียกขานได้ กล่าวนามกันได้ เพราะมีอากาศธาตุขั้นอยู่ ถ้าไม่มี อากาสธาตุขั้นไว้ ก็ไม่สามารถที่จะเรียกขานกันตามรูปร่างสัณฐานต่างๆ ได้ เพราะรูป เหล่านั้นจะติดกันไปหมดจนไม่สามารถจะแยกว่า อะไรเป็นรูปอะไร เพราะแต่ละรูปไม่มีเขตแดนเป็นของตนเอง ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมายอากาสธาตุไว้ว่า อากาศ ธรรมชาติอันนับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติอันนับว่า ความว่างเปล่า ช่องว่าง ธรรมชาติอันนับว่าช่องว่าง อันมหาภูตรูป 4 ไม่ถูกต้องแล้วอันใด รูปทั้งนี้เรียกว่า อากาสธาตุ(72)

อากาศธาตุมี 2 อย่าง คือ อากาศธาตุภายใน อากาศธาตุภายนอก อากาศธรรมชาติอันนับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติอันนับว่า ความว่างเปล่า ช่องว่าง ธรรมชาติอันนับว่าช่องว่าง ที่อันเนื้อและเลือดไม่ถูกต้อง เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนรูปข้างใน ได้แก่ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องสำหรับกลืนของกินของดื่มของเคี้ยวของลิ้มช่องที่พักอยู่แห่งของกินของดื่มของเคี้ยวของลิ้ม และช่องสำหรับของกินของดื่มของเคี้ยวของลิ้มไหลออกเบื้องต่ำหรืออากาศ ธรรมชาติอันนับว่า อากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติอันนับว่า ความว่างเปล่า ช่องว่างธรรมชาติอันนับว่า ช่องว่าง ที่อันเนื้อ และเลือดไม่ถูกต้อง เป็นภายในเฉพาะตน เป็นอุปาทินนรูปข้างใน แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า อากาศธาตุภายในอากาศ ธรรมชาติอันนับว่า อากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติอันนับว่า ความว่างเปล่า ช่องว่าง ธรรมชาติอันนับว่าช่องว่าง ที่อันมหาภูตรูป 4 ไม่ถูกต้อง เป็นภายนอก เป็น อนุปาทินนรูปข้างนอก นี้เรียกว่า อากาสธาตุภายนอก อากาสธาตุภายใน อากาสธาตุภายนอก ประมวลทั้ง 2 อย่างนั้นเข้าเป็นหมวดเดียวกัน นี้เรียกว่า อากาสธาตุ(73)

สรุปได้ว่า เมื่อมหาภูตรูปเกิดขึ้นแล้ว อากาสรูปก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีลักษณะปริจเฉทตัดขั้นรูปต่อรูปไว้เป็นช่องๆ มีหน้าที่แสดงสัดส่วนของรูป ทำให้เกิดการจำแนกรูปออกเป็นตอนๆ ได้ ดังนั้น อากาสธาตุก็คืออากาศเป็นที่กำหนดรูปว่า สูง ต่ำ กว้าง ยาว เป็นต้นนั่นเอง บางทีท่านก็เรียกว่า ปริจเฉทรูป คือ ช่องว่างระหว่างรูปทั้ง 2 เพื่อไม่ให้ติดต่อกัน

รูปชนิดที่ 20 กายวิญญัติรูป รูปเคลื่อนไหวให้รู้ทางกาย ได้แก่ กิริยาที่ไหวกายได้ หมายถึง อาการกิริยาทางกายที่แสดงออกเพื่อให้รู้ความหมาย เช่น พยักหน้ารับคำ สั่นศีรษะปฏิเสธหรือความเคลื่อนไหวแห่งกาย มีการก้าวหน้าและถอยหลัง เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นเพราะอาศัยวาโยธาตุผลักดันให้กายเคลื่อนขยับ ไหวไป ไหวมา เรียกว่า กายวิญญัติรูป รูปที่แสดงออกให้รู้ความหมายทางกายมีอยู่ 2 ชนิด คือ 1. โพธนกายวิญญัตติ แสดงให้รู้ซึ่งความหมายโดยจงใจ และ2. ปวัตตนกายวิญญัตติ แสดงออกซึ่งกิริยาอาการเป็นไปของกายตามธรรมดาโดยไม่มีความจงใจ เช่น การกระพริบตา ขยับไหวกายเอง เป็นต้น(74)

ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมายของกายวิญญัติรูปไว้ว่า ความเคร่งตึง กิริยาที่เคร่งตึงด้วยดี ความเคร่งตึงด้วยดี การแสดงให้รู้ความหมาย กิริยาที่แสดง ให้รู้ความหมาย ความแสดงให้รู้ความหมายแห่งกายของบุคคลผู้มีจิตเป็นกุศลหรือมีจิตเป็นอกุศล หรือมีจิตเป็นอัพยากฤต ก้าวไปอยู่ ถอยกลับอยู่ แลดูอยู่ เหลียวซ้ายแลขวาอยู่ คู้เข้าอยู่หรือเหยียดออกอยู่ อันใด รูปทั้งนี้เรียกว่า กายวิญญัติ(75)

สรุปว่า เมื่อจิตตชวาโย ลมอันเกิดจากจิตสั่งจิตเกิดขึ้นแล้ว กายวิญญัติรูปก็เกิดขึ้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วแสดงให้รู้ความหมาย เป็นผลทำให้กายเคลื่อนไหวไปมาตามเหตุของความต้องการเสมอ

รูปชนิดที่ 21 วจีวิญญัติรูป รูปที่ไหววาจาแล้วพูดให้รู้ความหมายตามภาษาต่างๆ ได้แก่ กิริยาที่ไหววาจา คือ พูดได้ หมายถึง อาการแห่งวาจาที่เปล่งออกให้รู้ความหมาย เช่น การเรียก หรือขานรับ เป็นต้น ซึ่งเกิดจากจิตสั่งให้เคลื่อนไหว โดยมีปฐวีธาตุ ธาตุดินกระทบกันช่วยให้เกิดเสียงขึ้น สำเร็จการแสดงออกให้รู้ความหมายทางวาจา ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมายของวจีวิญญัติรูปไว้ว่า การพูด การเปล่งวาจา การเจรจา การกล่าว การป่าวร้อง การโฆษณา วาจา วจีเภท แห่งบุคคลผู้มีจิตเป็นกุศล หรือมีจิตเป็นอกุศล หรือมีจิตเป็นอัพยากฤต อันใด นี้เรียกว่า วาจา, การแสดงให้รู้ความหมาย กิริยาที่แสดงให้รู้ความหมาย ความแสดงให้รู้ความหมายด้วยวาจานั้น อันใด รูปทั้งนี้เรียกว่า วจีวิญญัติ(76)

สรุปว่า เมื่อจิตเป็นสมุฏฐานสั่งให้ปฐวีธาตุกระทบกับส่วนแข็ง เกิดเสียงขึ้นได้เบาบ้าง ดังบ้าง สุดแล้วแต่ว่าผัสสะนั้นเบาหรือหนัก ทำให้วจีวิญญัติรูปเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วเปล่งวาจาให้รู้ความหมาย ให้รู้เรื่องราวต่างๆ ตามต้องการรูป 2 ชนิดดังกล่าวมาแล้วนี้ คือ กายวิญญัติรูป 1 วจีวิญญัติรูป 1 เรียกว่า วิญญัติรูป หมายถึง รูปที่เคลื่อนไหวเพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้กันทางกาย และวาจา เป็นธรรมชาติที่แสดงออกให้รู้ซึ่งความหมายอันเป็นกิริยาอาการหรือภาษาต่างๆ เช่น การไหวกาย และการพูดของคนทั้งหลาย เป็นต้น เป็นรูปที่มีความสำคัญมาก เพราะถ้าไม่มีวิญญัติรูปทั้ง 2 นี้แล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะรู้กิริยาอาการต่างๆ ที่แสดงออกมาได้เลย

รูปชนิดที่ 22 รูปลหุตา ความเบาแห่งรูป คือ รูปที่เบา เกิดขึ้นได้เพราะมีธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมเป็นปกติอย่างพอดีกัน ถ้าธาตุทั้ง 4 ไม่สมดุลกันยิ่งหย่อนกว่ากัน ลหุตารูป รูปเบาก็เกิดขึ้นไม่ได้ จะทำให้รูปหนักไปเป็นครุธาตุ ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมายของรูปลหุตาไว้ว่า ความเบา ความรวดเร็ว ความไม่เชื่องช้า ความไม่หนัก แห่งรูป อันใด รูปทั้งนี้ เรียกว่า รูปลหุตา(77)

สรุปได้ว่า เมื่อธาตุทั้ง 4 ประชุมกันอย่างสมดุล ลหุตารูป รูปเบาก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมแสดงลักษณะเบา สละสลวย ไม่หนัก มีหน้าที่ทำลายความหนักแห่งรูปให้บรรเทา ทำให้มีเกิดความคล่องแคล่วว่องไว

รูปชนิดที่ 23 รูปมุทุตา ความอ่อนสลวยแห่งรูป ได้แก่ ความอ่อนโยนสุภาพไม่ใช่อ่อนแอ เมื่อธาตุที่ประชุมอยู่ในร่างกายมีสภาพปกติ รูปนั้นก็อ่อนโยนดี แต่เมื่อธาตุเกิดไม่ปกติขึ้น สภาพของรูปก็เปลี่ยนไปฉับพลัน เช่น เป็นแข็งกระด้างเป็นต้น ในพระอภิธรรมท่านได้ให้ความหมายของรูปมุทุตาไว้ว่า ความอ่อน ภาวะที่อ่อน ความไม่แข็ง ความไม่กระด้าง แห่งรูป อันใดรูปทั้งนี้เรียกว่า รูปมุทุตา(78)

สรุปแล้วว่า รูปที่อ่อนโยนเกิดขึ้น เพราะมหาภูตรูปเป็นปกติเป็นที่สบายเกิดขึ้นแล้ว รูปมุทุตามีลักษณะไม่แข็งกระด้าง เกิดขึ้นมีหน้าที่ทำลายความกระด้างแห่งรูป เป็นผลให้ปรากฏโดยไม่มีความขัดข้องในกิริยาทั้งปวง

รูปชนิดที่ 24 รูปกัมมัญญตา ความควรแก่การงานของรูป เมื่อสภาพของธาตุทั้ง 4 ได้ประชุมกันเป็นปกติ อยู่ในสภาพที่เหมาะสมที่รูปกัมมัญญตาจะเกิดขึ้นรูปกัมมัญญตามีหน้าที่ทำลายความไม่ควรแก่การงาน เป็นผลให้เกิดกำลังดี ไม่เสียกำลังอยู่เสมอ ถ้าธาตุทั้ง 4 ไม่ปกติ ความควรแก่การงานของรูปก็เกิดขึ้นไม่ได้ ดังข้อความในพระอภิธรรมว่า กิริยาที่ควรแก่การงาน ความควรแก่การงาน ภาวะที่ควรแก่การงาน แห่งรูป อันใด รูปทั้งนี้เรียกว่า รูปกัมมัญญตา(79)

เห็นได้ว่า รูป 3 ชนิด คือ รูปลหุตา 1 รูปมุทุตา 1 และรูปกัมมัญญตา 1 เรียกว่า วิการรูป คือ รูปที่เป็นอาการของรูป (นิปผันนรูป) ต่างๆ ดังกล่าว เป็นรูปที่ไม่สภาวลักษณะเป็นของตนเองโดยเฉพาะ

รูปชนิดที่ 25 อุปจยรูป รูปเกิด (ความรู้จักเติบโตขึ้น) คือ รูปที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ อุปาทะขณะจิต ตลอดจนเจริญเติบโตปรากฏเป็นรูปร่างลักษณะสมบูรณ์ ที่เรียกว่า ชาติรูป คือ เริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงมีอวัยวะครบบริบูรณ์ ดังข้อความในพระอภิธรรมว่า ความสั่งสมแห่งอายตนะทั้งหลาย อันใด อันนั้น เป็นความเกิดแห่งรูป รูปทั้งนี้ เรียกว่า รูปอุปจยะ(80)

ท่านกล่าวว่า สถานที่เกิดครั้งแรกของอุปจยรูปนี้ เรียกว่า โยนิ กำเนิดมี 4 ประเภท ดังนี้ 1. คพฺภเสยฺยก เกิดในครรภ์ คือ อาศัยครรภ์มารดาเกิด เช่น เกิดเป็นมนุษย์ เป็นต้น, 2. อณฺฑช เกิดในไข่ คือ เกิดจากไข่ของสัตว์ต่างๆ เช่น เกิดเป็นนก เป็ด ไก่ เป็นต้น, 3. สํเสทช เกิดในเถ้าไคล คือ เกิดจากที่เปียกชื้น เช่น เกิดเป็นหนอน เป็นต้น, 4. อุปปาติก เกิดผลุดขึ้น คือ เกิดเป็นรูปสำเร็จ เช่น เกิดเป็นเทวดา เป็นต้น(81)

ท่านกล่าวว่า ความเกิดขึ้นในครรภ์ เช่น มนุษย์ เป็นต้น ต้องอยู่ในครรภ์มารดาตลอดเวลา 42สัปดาห์หรือ9 เดือน 24 วัน ซึ่งมีความเกิดขึ้น ดังนี้ กลลสตฺตาห ทรงอยู่ในสภาพหยดน้ำใส 1 สัปดาห์, อพฺพุทสตฺตาห ทรงอยู่ในสภาพฟองน้ำ 1 สัปดาห์, เปสิสตฺตาห ทรงอยู่ในสภาพเมือกไข่ 1 สัปดาห์, ฆนสตฺตาห ทรงอยู่ในสภาพเป็นก้อน 1 สัปดาห์, ปสาขสตฺตาห ทรงอยู่ในภาวะของปุ่มทั้ง 5, 1 สัปดาห์, ปริปากสตฺตาห ทรงอยู่ในระยะขยายตัวของปุ่มทั้ง 5 คือ ศีรษะ 1, แขน 2, ขา 2, 5 สัปดาห์, จกฺขาทิสตฺตาห อายตนะทางตา หูจมูก ลิ้น เกิด 1 สัปดาห์, ปริปากสตฺตาห อายตนะทั้ง 4 อยู่ในระยะเจริญ 30 สัปดาห์, เกสาทิสตฺตาห โกฏฐาสะอันมีผมเป็นต้นเกิด 1 สัปดาห์(82)

พุทธพจน์ที่ตรัสถึงเรื่องกำเนิดของสัตว์ไว้ว่า ปฐมํ กลลํ โหติ กลลา โหติ อพฺพุทํ อพฺพุทา ชายเต เปสิ เปสิ นิพฺพตฺตตี ฆโน ฆนา ปสาขา ชายนฺติ เกสา โลมา นขาปิ จ ยญฺจสฺส ภุญฺชติ มาตา อนฺนํ ปานญฺจ โภชนํ เตน โส ตตฺถ ยาเปติ มาตุกุจฺฉิคฺคโต นโรติ(83) แปลว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า รูปนี้เป็นกลละก่อน จากกลละเป็นอัพพุทะ จากอัพพุทะเกิดเป็นเปสิ จากเปสิเกิดเป็นฆนะ จากฆนะเกิดเป็น 5 ปุ่ม (ปัญจสาขา) ต่อจากนั้น มีผมขน และเล็บ (เป็นต้น) เกิดขึ้น มารดาของสัตว์ในครรภ์บริโภคข้าวน้ำโภชนาหารอย่างใด สัตว์ผู้อยู่ในครรภ์มารดา ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารอย่างนั้นในครรภ์นั้น ฯ.

สรุปว่า เมื่อรูปที่กำลังจะเกิดมีขึ้น ย่อมเป็นเหตุให้อุปจยรูปเกิดขึ้น มีการเกิดขึ้นครั้งแรกเป็นลักษณะ มีหน้าที่ทำการเกิดขึ้นแห่งรูป ยังผลให้มีรูปเกิดขึ้นอย่างบริบูรณ์

รูปชนิดที่ 26 สันตติรูป รูปเจริญ (ความสืบเนื่องกัน) คือ รูปที่เจริญสืบต่อจากอุปจยรูปอย่างไม่ขาดสาย โดยไม่เข้าไปตัดรอนรูปเก่า เจริญขึ้น เกิดขึ้นแทนรูปเก่า เช่น ขนเก่าหลุดร่วงไป ขนใหม่ขึ้นมาแทน หรือความเป็นเด็กเล็กหายไป ความเป็นเด็กโตเกิดขึ้นมาแทน ความเป็นเด็กโตหายไป ความเป็นหนุ่มสาวเกิดขึ้นมาแทน เป็นต้น ความต่อเนื่องกันโดยไม่ทำลายตัดรอนรูปเก่าให้ปรากฏเช่นนี้ เรียกว่า สันตติรูป คือ ความสืบเนื่องกันแห่งรูป ดังข้อความในพระอภิธรรมว่า ความเกิดแห่งรูป อันใด อันนั้น เป็นความสืบต่อแห่งรูป รูปทั้งนี้เรียกว่า รูปสันตติ(84)

รูปชนิดที่ 27 ชรตารูป รูปเสื่อม (ความรู้จักทรุดโทรม) เป็นลักษณะรูปที่แสดงความคร่ำคร่า ทรุดโทรมแห่งรูป เป็นอาการที่เข้าไปตัดรอนสันตติไม่ให้เป็นไปด้วยดี เป็นข้าศึกต่อสันตติรูป ทำให้สันตติรูปปรากฏความเปลี่ยนแปลง เช่น ความแก่หงอมแห่งรูป ความเหี่ยวย่นเป็นริ้วรอยแห่งผิวหนัง ความลดน้อยถอยเสื่อมแห่งเรี่ยวแรง เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า สันตติรูปทำหน้าที่ของตนไม่ได้เต็มที่หรือเสื่อมกำลังลงเป็นโอกาสให้ชรตารูป เกิดขึ้นทำให้รูปธรรมถึงความทรุดโทรมลงตามลำดับ ดังข้อความว่า ความชรา ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนังเหี่ยว ความเสื่อมอายุ ความหง่อมแห่งอินทรีย์ แห่งรูปอันใด รูปทั้งนี้ เรียกว่า รูปชรตา(85)

รูปชนิดที่ 28 อนิจจตารูป รูปดับ (ความไม่ยั่งยืน) คือ รูปที่ดับ เพราะความไม่เที่ยงแท้ถาวร ตั้งอยู่ตามสภาพเดิมของตนไม่ได้ มีความปรากฏขึ้นแล้ว ย่อมมีความเสื่อมสลายแตกดับไปเป็นธรรมดา เพราะรูปธรรมนี้อาศัยเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยดับสลายไป รูปธรรมที่เกิดจากเหตุปัจจัยนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นสภาพที่ต้องแตกสลายไป มีระยะเวลาน้อยมาก ไม่มีความเที่ยงแท้ถาวร เกิดขึ้นชั่ว อุปาทะฐีติภังคะเท่านั้น ความตั้งอยู่นานไม่ได้แห่งรูปขันธ์ที่ต้องดับไปนี้ เรียกว่า อนิจจตารูป ดังข้อความในพระอภิธรรมว่า ความสิ้นไป ความเสื่อมไป ความแตก ความทำลาย ความไม่เที่ยง ความอันตรธานแห่งรูป อันใด รูปทั้งนี้เรียกว่า รูปอนิจจตา(86) รูป 4 ชนิด ดังกล่าวมาแล้วนี้ คือ อุปจยรูป 1 สันตติรูป 1 ชรตารูป 1 อนิจจตารูป 1 เรียกว่า ลักขณรูป คือ รูปที่เป็นลักษณะปรากฏของรูปทั้งปวง หมายถึง รูปที่มีกาลเป็นที่กำหนดในการชี้ขาดรูป 28 ชนิดนี้ ในบางแห่งท่านนับอุปาทายรูป 25 โดยเพิ่มโผฏฐัพพารมณ์เข้ามา จึงเป็นรูป 29 ชนิด

สรุปว่า รูป 28 ชนิดดังกล่าวมาแล้วนั้น เป็นการจำแนกรูปโดยรูปสมุทเทสนัย คือ เป็นนัยที่แสดงให้เห็นคุณลักษณะต่างๆ ของรูปธรรมทั้งหมด ตั้งแต่มหาภูตรูป 4 ซึ่งเป็นรูปใหญ่มีลักษณะปรากฏเห็นได้ชัดสังเกตได้ง่าย และเป็นที่อาศัยเกิดขึ้นของอุปาทายรูป 24 ที่เหลือด้วย จะสังเกตเห็นว่ามหาภูตรูป 4 จะประชุมกันอยู่ในวัตถุหรือสสารทุกชนิด ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ที่ไหน จะต้องปรากฏครบทั้ง 4 เสมอ จะต่างกันก็ตรงที่ว่าในที่นั้นจะมีธาตุไหนมากกว่ากันเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ไม้ท่อนหนึ่ง ที่ปรากฏเป็นรูปร่างขึ้นมาได้ก็ด้วยอาศัยมหาภูตรูป 4 ประชุมกัน แต่อาจจะมีปฐวีธาตุมากกว่าธาตุอื่น ท่อนไม้จึงมีลักษณะของปฐวีธาตุชัดเจน คือ มีลักษณะแข็ง ส่วนอาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุก็แฝงอยู่ในท่อนไม้นั้น เพียงแต่ไม่ปรากฏธาตุให้เห็นชัดเท่านั้นเอง

พุทธศาสนานิกายเถรวาทแสดงสภาวธรรมที่เรียกว่า รูปหรือรูปธรรมนี้ไว้อย่างระเอียด และชัดเจน ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของสิ่งทั้งปวงในโลกนี้ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิตว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีเหตุปัจจัยที่ทำให้มันเกิดขึ้น และท้ายที่สุดมันก็ดับสลายไปตามเหตุปัจจัยที่เสื่อมสลายไปตามธรรมชาติ สิ่งใดมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมมีความเสื่อมสลายไปในที่สุดตามเหตุปัจจัย สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา(87) แสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยงแท้ถาวรของสภาวธรรมที่เรียกว่า รูป

บ่อเกิดของรูป 28 กล่าวว่า รูป 28 ชนิดนี้เกิดมาจากสมุฏฐาน 4 ประการ ดังนี้ 1. กัมมชรูป คือ รูปที่อาศัยกรรมเป็นสมุฏฐานเกิดขึ้น เรียกว่า กัมมสมุฏฐาน, 2. จิตตชรูป คือ รูปที่อาศัยจิตเป็นสมุฏฐานเกิดขึ้น เรียกว่า จิตตสมุฏฐาน, 3. อุตุชรูป คือ รูปที่อาศัยฤดูเป็นสมุฏฐานเกิดขึ้น เรียกว่า อุตุสมุฏฐาน, 4. อาหารรูป คือ รูปที่อาศัยโอชาแห่งอาหารเป็นสมุฏฐานเกิดขึ้น เรียกว่า อาหารสมุฏฐาน(88)

รูป 28 ชนิดดังกล่าวมาแล้วนั้น แต่ละรูปจะต้องเกิดจากสมุฏฐานใดสมุฏฐานหนึ่ง ใน 4 สมุฏฐานนี้ รูปบางรูปเกิดจากสมุฏฐานเดียวบ้าง 2 สมุฏฐานบ้าง 3 สมุฏฐานบ้างหรือทั้ง 4 สมุฏฐานบ้าง จะสังเกตได้โดยสังเขป ดังนี้ อวินิพโภครูป 8 เกิดจากสมุฏฐาน 4 คือ บางกลาปก็มีกรรมเป็นสมุฏฐาน บางกลาปก็มีจิตเป็นสมุฏฐาน บางกลาปก็มีอุตุเป็นสมุฏฐาน บางกลาปก็มีอาหารเป็นสมุฏฐาน, ปสาทรูป 5 เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานเท่านั้น, ภาวรูป 2 เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานเท่านั้น, หทยรูป 1 เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานเท่านั้น, ชีวิตินทรียรูป 1 เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานเท่านั้น

วิการรูป 3 เกิดจาก 3 สมุฏฐาน คือ บางกลาปเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน บางกลาปเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน บางกลาปเกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน, วิญญัติรูป 2 เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว, สัททรูป 1 เกิดจากสมุฏฐาน 2 คือ บางกลาปเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน บางกลาปเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน

ปริจเฉทรูป 1 เกิดจากสมุฏฐาน 4 คือ บางกลาปเกิดจากกรรม เป็นสมุฏฐาน เมื่อเกิดคั่นระหว่างกลาปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน บางกลาปเกิดจากจิต เป็นสมุฏฐาน เมื่อเกิดคั่นระหว่างกลาปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน บางกลาปเกิดจากอุตุ เป็นสมุฏฐาน เมื่อเกิดคั่นระหว่างกลาปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน บางกลาปเกิดจากอาหาร เป็นสมุฏฐาน เมื่อเกิดคั่นระหว่างกลาปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน

ลักขณรูป 4 ไม่เกิดจากสมุฏฐานใดเลย เพราะเป็นเพียงลักษณะอาการของสภาวรูป 18 รูป รูป 28 ที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง 4 ที่กล่าวมาแล้วนี้ นำมาแสดงไว้พอเป็นตัวอย่างของรูปที่เกิดจากสมุฏฐาน 4 เท่านั้น ส่วนรายละเอียดยังมีอีกมาก ไม่สามารถจะนำมากล่าวไว้ที่นี้ได้ทั้งหมด ผู้สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากคัมภีร์ทางพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่ท่านอธิบายถึงพระอภิธรรม และพระปรมัตถธรรมซึ่งมีปรากฎอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น คัมภีร์พระไตรปิฎกที่ว่า ด้วยเรื่องพระอภิธรรม คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหบาลี และอภิธัมมัตถสังคหฎีกา เป็นต้น

ลักษณะของนิพพาน สภาวธรรมที่เรียกว่า จิต เจตสิก และรูป 3 ประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นสังขตธรรม เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และเป็นไปตามอำนาจแห่งการปรุงแต่งของเหตุปัจจัย ส่วนลักษณะของสิ่งที่มีอยู่จริงอย่างปรมัตถ์ (ปรมัตถสัจจะ) ประเภทที่ 4 คือ นิพพาน เป็น อสังขตธรรม ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยเหตุปัจจัย เป็นปรมัตถธรรมที่ดับกิเลส และกองทุกข์ทั้งปวง และเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพุทธศาสนานิกายเถรวาท

คำว่า นิพพาน เมื่อแยกศัพท์ออกแล้ว มีอยู่ 2 บท คือ นิ + วาน นิ แปลว่าพ้น , วาน แปลว่า ตัณหาอันเป็นเครื่องร้อยรัด เมื่อรวม 2 บทเข้าด้วยกันแล้วเป็น นิวาน แปลว่า ธรรมอันพ้นแล้วจากตัณหาอันเป็นเครื่องร้อยรัด

วิเคราะห์ว่า วินติ สํสิพฺพตีติ วานํ ธรรมชาติใดย่อมเป็นผู้เกี่ยวไว้ เหตุนั้นธรรมชาตินั้น ชื่อว่า วานะ (ได้แก่ ตัณหา) วานโต นิกฺขนฺตนฺติ นิพฺพานํ ธรรมชาติใดย่อมพ้นจากเครื่องเกี่ยวโยง คือ ตัณหา เหตุนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า นิพพาน(89)

ในอภิธัมมัตถสังคหบาลีท่านกล่าวถึงนิพพานไว้ว่า ธรรมชาติที่ชื่อว่า นิพพาน เพราะอรรถว่า ออกจากตัณหาที่ท่านเรียกว่า วานะ เพราะร้อยรัด คือ เย็บไว้ ซึ่งภพน้อและภพใหญ่หรือเพราะอรรถว่เป็นเครื่องดับไฟ มีไฟ คือ ราคะ เป็นต้นฯ(90)

ดังนั้น นิพพานจึงมีลักษณะที่พ้นแล้วจากตัณหาเครื่องร้อยรัด สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ผ่านการเกิดการตายมามากมายจนนับครั้งไม่ถ้วน จนไม่สามารถจะคำนวณได้ว่า เคยผ่านการเกิดการตายมาแล้วเท่าไร และจะต้องเกิดต้องตายในวันภพข้างหน้าอีกสักเท่าไร และไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะสิ้นสุดการเกิดการตายเมื่อไร สิ่งที่ทำให้เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะอาศัยตัณหา คือ ความทะยานอยากในอารมณ์ต่างๆ นั่นเอง เป็นตัวเกี่ยวโยงสัตว์ทั้งหลายไว้ไม่ให้หลุดพ้นไปจากความเกิดความตายไปได้ เพราะตัณหาจะเป็นตัวเกี่ยวสัตว์ทั้งหลายในภพเก่าให้ติดต่อกันกับภพใหม่เรื่อยๆ ไป จนกว่าเราจะพัฒนาจิตให้เข้าถึงพระนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมชาติที่พ้นแล้วจากตัณหาซึ่งเป็นเครื่องเกี่ยวโยงสัตว์ทั้งหลายไว้ในภพนั้นลักษณะของนิพพานเป็นสิ่งที่ยากในการอธิบาย เพราะนิพพานเป็นธรรมอันลึกซึ้งเป็นลักษณะของธรรมที่เป็นโลกุตตระ คือ พ้นจากวิสัยของโลกแห่งปุถุชนที่เต็มไปด้วยกิเลส และถูกครอบงำไปด้วยอวิชชา นิพพานเป็นธรรมอันบุคคลผู้ยังไม่ได้บรรลุ ยังไม่ได้เข้าถึงไม่สามารถจะรู้และเข้าใจนิพพานนั้นได้อย่างถ่องแท้ได้เลย เพราะนิพพานเป็นสภาพธรรมที่บุคคลใดๆ จะคิดคาดคะเนเอา อนุมานเอาไม่ได้ทั้งสิ้น นอกจากว่าจะแสดงไปตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้เท่านั้น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในนิพพานสูตรว่า ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยากชื่อว่านิพพาน ไม่มีตัณหา นิพพานนั้นเป็นธรรมจริงแท้ ไม่เห็นได้โดยง่ายเลย ตัณหาอันบุคคลแทงตลอดแล้ว กิเลสเครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ฯ(91)

ดังนั้น นิพพานจึงไม่เหมือนสิ่งใดในโลกที่มนุษย์ปุถุชนเคยเห็น ความจริงใครๆ ก็คาดคะเนได้ แต่ไม่มีการคาดคะเนของใครถูก นิพพานมีอยู่ แต่ก็ไม่มีอยู่อย่างที่ปุถุชนเข้าใจนิพพานเป็นภาวะที่ผู้ทำลายกิเลสทำลายอวิชชาแล้วเท่านั้นจึงจะรู้ และเข้าใจภาวะของนิพพานว่าเป็นเช่นไร และผู้ที่บรรลุถึงนิพพานแล้วก็อธิบายให้คนอื่นเข้าใจอย่างที่ตนเองรู้ และเข้าใจไม่ได้ เพราะความจำกัดของภาษา นิพพานอยู่เหนือภาษาสมมติบัญญัติทั้งหลายที่มนุษย์ใช้พูดกัน การที่ผู้บรรลุนิพพานแล้วจะอธิบายได้ก็เป็นเพียงอุปมาเปรียบเทียบให้ฟังเท่านั้นว่ามีลักษณะเป็นเช่นไร แต่ถึงจะอธิบายอย่างไรสิ่งที่อธิบายก็ไม่ใช่นิพพานแท้เสียทีเดียว เหมือนกับอธิบายเรื่องสีต่างๆ ให้คนมีจักษุบอดแต่กำเนิดฟังนั่นเอง อธิบายเปรียบเทียบอย่างไรก็คงจะเข้าใจเรื่องสีไม่ได้ สุดท้ายสีที่คนมีจักษุบอดเข้าใจกับสีที่เราต้องการให้เขาเข้าใจมันคนละอย่างกัน เช่นเดียวกัน นิพพานผู้บรรลุถึงก็อธิบายให้คนที่ยังไม่บรรลุฟังให้เข้าใจอย่างที่ตนเองเข้าใจ อย่างที่ตนเองรู้นั้นยากมาก ดังนั้น ปุถุชนจะเข้าใจนิพพานได้อย่างแจ่มแจ้งจะต้องลงมือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างจริงจัง และบรรลุนิพพานด้วยตนเองเท่านั้น เพราะนิพพานเป็นของเฉพาะตน บรรลุแทนกันไม่ได้เหมือนทานข้าวจะทานให้อิ่มแทนกันไม่ได้ ดังข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสกับชานุสโสณีพราหมณ์ในนิพพุตสูตรว่าดูกรพราหมณ์ ในเมื่อบุคคลนี้เสวยธรรมเป็นที่สิ้นราคะอันไม่มีส่วนเหลือเสวยธรรมเป็นที่สิ้นโทสะอันไม่มีส่วนเหลือ เสวยธรรมเป็นที่สิ้นโมหะอันไม่มีส่วนเหลือ นิพพานย่อมเป็นคุณชาติอันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ดังได้กล่าวมาแล้วแล ฯ(92)

นิพพาน เป็นธรรมอันลึกซึ้ง เป็นของเฉพาะตนก็จริง แต่ก็มีข้อความที่แสดงถึงลักษณะของนิพพานและยืนยันถึงความมีอยู่ของนิพพานในเชิงอุปมาเปรียบเทียบ ซึ่งมีปรากฏอยู่มากมายในพระไตรปิฎก และคัมภีร์ทางพุทธศาสนานิกายเถรวาท แสดงไว้ ณ ที่นี้แต่พอสังเขปเท่านั้น

นิพพาน แปลว่า ดับ หมายถึง การดับกิเลส และกองทุกข์เป็นโลกุตตรธรรม และเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา บางคนอาจเข้าใจผิดว่า นิพพาน หมายถึง ธรรมชาติที่ดับแล้ว พระนิพพานคงไม่มี แท้ที่จริงคำว่าดับนี้ นิพพานไม่ได้หมายถึงดับตัวเอง แต่หมายถึงว่าเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ดับไป เปรียบเหมือนไฟดับไป แต่สภาพที่ดับยังมีอยู่หรือเปรียบเหมือนโรคที่หายแล้ว ความไม่มีโรคก็มีอยู่นิพพาน เมื่อว่าโดยลักษณะแล้วนิพพานมีเพียงลักษณะเดียว คือ สันติลักษณะ ลักษณะแห่งความสงบ หมายถึงสงบจากกิเลสอาสวะทั้งปวง นิพพาน มีรสเพียงอย่างเดียว คือ ไม่ตาย (อจฺจุติรสํ) นิพพาน มีผลปรากฏอย่างเดียว คือ ไม่มีนิมิต (อนิมิตฺตปจฺจุปฏฺฐานํ)(93)

นิพพานธาตุไม่ใช่สิ่งใดในโลกนี้ และโลกหน้า ไม่ใช่ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) ไม่ใช่อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) ไม่ใช่เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) ไม่ใช่วาโยธาตุ (ธาตุลม) ไม่ใช่อากาสธาตุ ไม่ใช่วิญญาณธาตุ ไม่ใช่มโนธาตุ ไม่ใช่มโนวิญญาณธาตุ ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ (ความว่าง) ไม่ใช่ วิญญาณัญจายตนะ (ความรู้) ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ (ความไม่มีอะไร) ไม่ใช่เนวสัญญานา-สัญญายตนะ (สัญญาที่สงบและประณีต) ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่ดวงจันทร์ ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ ไม่มีการมา ไม่มีการไป ไม่มีการยืน ไม่มีการจุติ ไม่มีการเกิด หาที่ตั้งอาศัยไม่ได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในนิพพานสูตรว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะโลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอาตยนะนั้นว่าเป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ(94)

นิพพานเป็นปรมัตถธรรมที่มีอยู่จริง นิพพานเป็นวิสังขาร คือ ปราศจากสังขาร นิพพานเป็นอสังขตธรรม คือ ธรรมอันปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้ อสังขตลักษณะ 3 ประการ คือ ไม่เกิด 1 ไม่เปลี่ยนแปลงแปรผันเป็นอย่างอื่น 1 ไม่แตกสลายดับไป 1 นิพพานเป็นธรรมธาตุมีอยู่ เป็นอายตนะและอารมณ์ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ธรรมชาตินั้นเป็นที่สิ้นสุด เป็นที่ดับทุกข์ ดังที่พระพุทธดำรัสที่ตรัสยืนยันว่า นิพพานมีอยู่ไว้ในนิพพานสูตรว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้วอันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลายก็เพราะธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้วปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ฉะนั้น การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้วจึงปรากฏ ฯ(95)

ความไม่หวั่นไหวย่อมไม่มีแก่ผู้อันตัณหา และทิฐิไม่อาศัยเมื่อความหวั่นไหวไม่มี ก็ย่อมมีปัสสัทธิ เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ย่อมไม่มีความยินดีเมื่อไม่มีความยินดี ก็ย่อมไม่มีการมาการไป เมื่อไม่มีการมาการไป ก็ไม่มีการจุติ และอุปบัติ เมื่อไม่มีการจุติและอุปบัติ โลกนี้โลกหน้าก็ไม่มี ระหว่างโลกทั้งสองก็ไม่มี นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ(96)

นิพพาน สามารถค้นพบได้ในโลก คือ ร่างกายนี้ ดังพระพุทธดำรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสกับโรหิตัสสเทวบุตรว่าเราย่อมบัญญัติโลก เหตุเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งโลก ในอัตภาพอันมีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญาและมีใจนี้เท่านั้น ฯ ในกาลไหนๆ ที่สุดแห่งโลก อันใครๆ ไม่พึงถึงด้วยการไป และการเปลื้องตนให้พ้นจากทุกข์ ย่อมไม่มีเพราะไม่ถึงที่สุดแห่งโลก เพราะฉะนั้นแล ท่านผู้รู้แจ้งโลก มีเมธาดีถึงที่สุดแห่งโลก มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว เป็นผู้มีบาปอันสงบรู้ที่สุดแห่งโลกแล้ว ย่อมไม่หวังโลกนี้ และโลกหน้า ฯ(97)

นิพพานเป็นธรรมอันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก ดังพระพุทธพจน์ว่า คมฺภีโร จายํ ธมฺโม ทุทฺทโส ทุรนุโพโธ สนฺโต ปณีโต อตกฺกาวจโร นิปุโณ ปณฺฑิตเวทนีโย(98) แปลว่า ธรรมนี้เป็นของลึกซึ้ง เห็นได้โดยยาก รู้ตามได้โดยยาก เป็นของระงับเป็นของประณีต ไม่เป็นที่เที่ยวไปแห่งวิตก เป็นของละเอียด เป็นธรรมอันบัณฑิตพึงรู้แจ้ง

นิพพานธาตุเป็นธาตุอันสงบระงับอย่างยิ่ง เพราะปราศจากความทุกข์ที่เกิดจากตัณหา และราคะ ดังที่พระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ยทิทํ สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค ตณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานํ (99)แปลว่า ธรรมชาตินั่นสงบแล้ว ธรรมชาตินั่นประณีตแล้ว คือ ธรรมชาติที่เป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง ธรรมชาติที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ปราศจากความกำหนัด เป็นที่ดับสนิท คือ นิพพาน นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง สุขที่เกิดจากความสิ้นทุกข์ไม่ใช่สุขแบบโลกิยะทั่วๆ ไปเมื่อว่าโดยผลแล้วนิพพาน คือ ความสิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง มีผลอย่างเดียว คือ สันติสุขหรือบรมสุข ดังพระพุทธดำรัสว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ(100) แปลว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง, นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา(101) แปลว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมกล่าวว่า นิพพานยอดเยี่ยม และดังข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในคาถาธรรมบทว่า ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะ ไม่มีทุกข์เช่นด้วยขันธ์ไม่มี สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง บัณฑิตทราบเนื้อความนี้ตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ลาภทั้งหลาย มีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่งทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ญาติทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง(102)

นิพพานเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ประเสริฐกว่าสังขตธรรมและอสังขตธรรมทั้งหลาย ดังพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ในปสาทสูตรว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี มีประมาณเท่าใดวิราคะ คือ ธรรมเป็นที่บรรเทาความเมา นำเสียซึ่งความระหาย ถอนขึ้นด้วยดีซึ่งอาลัย ตัดซึ่งวัฏฏะ สิ้นไปแห่งตัณหา สิ้นกำหนัด ดับ นิพพาน บัณฑิตกล่าวว่า เลิศกว่าสังขตธรรม และอสังขตธรรมเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใด เลื่อมใสในวิราคธรรม ชนเหล่านั้น ชื่อว่าเลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ก็ผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ฯ(103)

นิพพานเป็นปรมัตถธรรมที่ปราศจากตัณหาและอุปาทาน เป็นธรรมชาติอันตัณหาอุปาทานและทิฏฐิเข้ายึดถือไม่ได้เพราะกำจัดอวิชชาเสียได้ ดังพระพุทธดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุละอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้วในกาลนั้น ภิกษุนั้นก็ไม่ทำกรรมเป็นบุญ ไม่ทำกรรมเป็นบาป ทำกรรมเป็นอเนญชา เพราะสำรอกอวิชชาเสีย เพราะมีวิชชาเกิดขึ้น เมื่อไม่ทำเมื่อไม่คิด ก็ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่น ก็ไม่สะดุ้งกลัว เมื่อไม่สะดุ้งกลัว ก็ปรินิพพานเฉพาะตน ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ภิกษุนั้นถ้าเสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหาอันตนไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา ถ้าเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา อันตนไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง อันตนไม่ยึดถือแล้วด้วยตัณหา อันตนไม่เพลิดเพลินแล้วด้วยตัณหา ภิกษุนั้นถ้าเสวยสุขเวทนาก็วางใจเฉยเสวยไป ถ้าเสวยทุกขเวทนาก็วางใจเฉยเสวยไปถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็วางใจเฉยเสวยไป ภิกษุนั้นเมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางกาย เมื่อเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่ปรากฏทางชีวิต รู้ชัดว่า เวทนาทั้งปวงอันตัณหา ไม่เพลิดเพลินแล้ว จักเป็นของเย็น สรีรธาตุจักเหลืออยู่ในโลกนี้เท่านั้นเบื้องหน้าตั้งแต่สิ้นชีวิต เพราะความแตกแห่งกาย ฯ(104)

นิพพานมีลักษณะเป็นอนัตตา เพราะไม่มีตัวตนในการรับรู้ เพราะถ้านิพพานยังมีตัวตนก็ยังไม่ชื่อว่าหลุดพ้นเพราะยังติดอยู่ที่ตัวตน เหมือนอย่างว่าไฟดับ ต้องไม่มีตัวตนของไฟ ถ้ายังมีตัวตนของไฟอยู่เราก็เห็นได้ และไม่เรียกว่า ไฟดับ นิพพานจึงมีลักษณะเป็นอนัตตา เพราะไม่มีตัวตนในการรับรู้ ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ในพาหิยสูตรว่า ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็น จักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่า ฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่า ทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่า รู้แจ้ง ดูกรพาหิยะ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแลเมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่า เห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่า ทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่า รู้แจ้ง ในกาลนั้นท่านย่อมไม่มี ในกาลใดท่านไม่มี ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่ง ทุกข์ ฯ(105)

นิพพานเป็นปรมัตถธรรมที่พ้นจากรูป และอรูปจากสุขและทุกข์ที่มีอยู่ในโลก ดังพระพุทธดำรัสว่า ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี ก็เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่า เป็นมุนีเพราะรู้ (สัจจะ 4) รู้แล้วด้วยตน เมื่อนั้น พราหมณ์ย่อมหลุดพ้นจากรูปและอรูป จากสุขและ ทุกข์ฯ(106)

นิพพานคือธรรมที่พ้นไปจากเหตุ และผล อริยสัจเป็นธรรมที่ประกอบไปด้วยเหตุ และผล ส่วนพระนิพพาน คือ ธรรมที่พ้นไปจากเหตุผล เปรียบเทียบเช่น การเดินทางไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง การเดินทาง คือเหตุ การถึง คือ ผล แต่สถานที่ถึงนั้นไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผล ในอภิธัมมัตถสังคหบาลี ท่านได้แสดงลักษณะของพระนิพพานไว้ 4 ประการ ดังนี้ ปทมจฺจุตมจฺจนฺตํ อสงฺขาตมนุตฺตรํ นิพฺพานมีติ ภาสนฺติ วานมุตฺตา มเหสโย ฯ(107) แปลว่า พระมเหสีเจ้าทั้งหลาย (ผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่) ผู้พ้นแล้วจากตัณหาชื่อว่า วานะ (ตัณหาเครื่องร้อยรัด) ย่อมตรัสเรียกบทอันไม่มีจุติ อันล่วงเสียซึ่งที่สุด อันปัจจัยอะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้ อันยอดเยี่ยมว่า นิพพาน ดังนี้ ฯ

ลักษณะของนิพพาน 4 ประการ ดังนี้

ลักษณะที่ 1 คือ อจฺจุตํ แปลว่า ธรรมอันไม่จุติ คือ ธรรมที่ไม่ตายหมายความว่า ธรรมที่ไม่มีการเกิดและการตาย เมื่อไม่มีการเกิด การตายก็มีไม่ได้ ธรรมชนิดนี้เรียกว่า นิพพาน

ลักษณะที่ 2 คือ อจฺจนฺตํ แปลว่า ธรรมอันล่วงเสียซึ่งที่สุดแห่งกิเลสมีราคะเป็นต้น คือ ธรรมที่ก้าวล่วงขันธ์ 5 หมายความว่า ธรรมที่ก้าวล่วงขันธ์ 5 ทั้งที่เป็นอดีต และอนาคต ธรรมชนิดนี้เรียกว่า นิพพาน เพราะว่า นิพพานนั้นก้าวล่วงขันธ์ 5 ที่ดับไปแล้วในอดีต ที่เรียกว่า ปุพพันตขันธ์ และก้าวล่วงขันธ์ 5 ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่เรียกว่า อปรันตขันธ์ เสียได้ นิพพานเป็นธรรมที่พ้นจากขันธ์ เรียกว่า ขันธวิมุตติ และเป็นธรรมที่พ้นจากกาลทั้ง 3 เรียกว่า กาลวิมุตติ

ลักษณะที่ 3 คือ อสงฺขตํ แปลว่า ธรรมอันปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้ คือ ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัย 4 อย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรมชนิดนี้เรียกว่า นิพพาน นิพพานนี้เป็นธรรมที่ไม่ใช่ จิต เจตสิก รูป เพราะจิต เจตสิก รูป ทั้ง 3 อย่างนี้เกิดขึ้นได้ก็โดยมีปัจจัย 4 คือ กรรม , จิต , อุตุ , อาหาร อย่างใดอย่างหนึ่งปรุงแต่งขึ้นที่เรียกว่า สังขตธรรม แต่นิพพานเป็นอสังขตธรรม เป็นธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยทั้ง 4 ดังกล่าวมาแล้ว

ลักษณะที่ 4 คือ อนุตฺตรํ แปลว่า ธรรมอันยอดเยี่ยม คือ ไม่มีสิ่งที่ประเสริฐไปกว่านี้แล้ว หมายความว่า ไม่มีธรรมชนิดอื่นๆ ใดที่จะประเสริฐกว่าธรรมชนิดนี้อีกแล้วธรรมชนิดนี้ เรียกว่า นิพพาน

สรุปว่า นิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในระดับปรมัตถสัจจะ มีลักษณะสงบระงับอย่างยิ่ง มีความสุขอย่างประณีต อันเกิดจากการดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง นิพพานเป็นอสังขตธรรม และเป็นวิสังขาร เพราะไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง นิพพานไม่ใช่สิ่งใดในโลกนี้ และไม่ใช่สิ่งใดๆ ในจักรวาล ไม่ใช่สิ่งนี้ ไม่ใช่สิ่งนั้น ไม่ใช่สสาร ไม่ใช่พลังงาน รับรู้ทางประสาทสัมผัสไม่ได้ ไม่จุติ ไม่อุปบัติ ไม่มีเหตุปัจจัย ไม่มีการสร้างสรรค์ ไม่มีการทำลาย ไม่ได้ประกอบขึ้นมาจากสิ่งใด ไม่มีที่ตั้งอาศัย นิพพานไม่มีความพร่อง นิพพานเป็นธรรมธาตุที่มีอยู่ แต่ภาวะของนิพพานไม่สามารถอธิบายได้ จะอธิบายได้ก็เป็นเพียงการอุปมาอุปมัยเปรียบเทียบเท่านั้น ดังที่พระนาคเสนทูลถวายวิสัชชนาเรื่องรูปพรรณสัณฐานหรือขนาดของนิพพานแก่พระเจ้ามิลินท์ว่า อาตมภาพแสดงถวายเช่นนั้นไม่ได้ เพราะพระนิพพานไม่มีตัวตน ไม่มีเหตุปัจจัย อย่างเดียวกับผู้ที่ถูกถามว่า ปลาในทะเลมีเท่าไร แล้วตอบไม่ได้ฉะนั้นแต่อาตมภาพย่อมแสดงคุณแห่งพระนิพพานถวายได้โดยอุปมาพระนิพพานเปรียบเหมือนดอกบัว คือ ธรรมดาดอกบัวน้ำไม่ติดอยู่ได้ ฉันใด พระนิพพานก็ไม่มีกิเลสติดอยู่ ฉันนั้นแล พระนิพพานเปรียบเหมือนน้ำ อธิบายว่า น้ำเป็นของเย็นดับเสียซึ่งความร้อนกระวนกระวาย ฉันใด พระนิพพานก็เป็นของเย็นดับความกระวนการะวายที่เกิดจากกิเลสเสียได้ฉันนั้น อนึ่งน้ำเป็นของบำบัดความระหายเสียได้ พระนิพพานก็ดับความดิ้นรนทะเยอทะยานเสียได้เช่นเดียวกันพระนิพพานเปรียบเหมือนคุณแห่งทะเล

อธิบายว่า คุณแห่งทะเลมี 4 คือ 1. เป็นที่ไม่มีซากศพ พระนิพพานก็เป็นที่ไม่มีซากศพ คือ กิเลส 2. ทะเลเป็นที่กว้างขวาง ไม่มีฝั่งเป็นที่กำหนด ไม่เต็มด้วยน้ำที่ไหลมา ฉันใด พระนิพพานก็เป็นที่กว้างขวาง ไม่มีฝั่ง ไม่เต็มไปด้วยหมู่สัตว์ฉันนั้นเหมือนกัน 3. ทะเลเป็นที่อยู่ของฝูงภูตพระนิพพานก็เป็นที่อยู่ของพระขีณาสพเช่นเดียวกัน 4. ทะเลเป็นที่เบิกบานด้วยระลอกคลื่น ฉันใด พระนิพพานก็เบิกบานด้วยวิชชา และวิมุติฉันนั้นเหมือนกันพระนิพพานเปรียบเหมือนคุณของยอดภูเขา อธิบายว่า ยอดภูเขาย่อมมีคุณ 5 อย่าง คือ 1. เป็นที่สูง 2. เป็นที่ไม่หวั่นไหว 3. เป็นที่ยากที่จะขึ้นได้ 4. พืชพรรณงอกขึ้นไม่ได้ 5. พ้นจากความยินดียินร้ายทุกอย่าง พระนิพพานก็มีคุณเช่นเดียวกับยอดภูเขานี้แล(108)และพระนาคเสนทูลถวายวิสัชชนาเรื่องที่ตั้งแห่งนิพพานว่า ไม่มีที่ตั้งเปรียบเหมือนไฟว่า พระนิพพานมีอยู่ แต่ที่ตั้งแห่งพระนิพพานไม่มี อาตมภาพจะเปรียบเทียบถวาย ธรรมดาไฟตามปกติไม่ปรากฏว่าตั้งอยู่ที่ไหน แต่เมื่อบุคคลเอาไม้มาสีกันเข้า ไฟก็เกิดมีขึ้นได้นี้ ฉันใด แม้พระนิพพานก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ ไม่ปรากฏว่า มีที่ตั้ง แต่ว่าเมื่อบุคคลพยายามบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญาให้แก่กล้าแล้ว พระนิพพานก็เกิดมีขึ้นได้เช่นไฟนั้นแล(109)

จากข้อความข้างต้นแสดงว่า ภาวะของนิพพานเป็นสิ่งที่ยากในการอธิบายว่า คือ สิ่งหนึ่งสิ่งใดในโลกนี้หรือในโลกไหนๆ เพราะนิพพานเป็นภาวะที่อยู่นอกเหนือจากประสาทสัมผัสเป็นโลกุตตรธรรมที่ไม่มีปรากฏอยู่ในโลกิยวิสัย ปุถุชนไม่สามารถที่จะรู้ และเข้าใจด้วยการเพียงการตีความตามภาษาสมมติบัญญัติหรือด้วยการคิดคาดคะเนเอา แต่นิพพานนั้นจะรู้ และเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งก็ด้วยอาศัยการปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าในระดับโลกุตตรธรรมเท่านั้น

คำอธิบายต่างๆ เกี่ยวกับนิพพานดังกล่าวมาแล้วนั้น จะสังเกตเห็นว่า มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ 1. เป็นคำอธิบายถึงลักษณะของนิพพานว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เช่น นิพพานมีอยู่ แต่ที่ตั้งแห่งนิพพานไม่มี ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลส และกองทุกข์ทั้งมวลมีอยู่เป็นต้น 2. เป็นคำอธิบายในเชิงปฏิเสธว่า นิพพานไม่ใช่สิ่งนั้น ไม่ใช่สิ่งนี้ เช่น นิพพานไม่ใช่โลกนี้ นิพพานไม่ใช่โลกหน้า นิพพานไม่ใช่พระจันทร์ ไม่ใช่พระอาทิตย์ นิพพานไม่ใช่ที่ไหนๆ การอธิบายเช่นนี้อาจไม่ให้อะไรแก่เรามากนัก เพราะสุดท้ายก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่านิพพาน คือ สิ่งใด แต่การอธิบายเช่นนี้ก็ทำให้เรารู้ว่า ภาวะของนิพพานไม่ใช่สิ่งที่เราจะรู้ และเข้าใจได้ด้วยประสาทสัมผัสหรือด้วยประสบการณ์ของปุถุชนที่เป็นโลกิยวิสัย เพราะนิพพานเป็น โลกุตตรธรรม คือ ธรรมที่พ้นจากวิสัยของชาวโลก ยากที่จะอุปมาเปรียบเทียบให้เหมือนได้ เหมือนการอธิบายรสทุเรียนให้คนที่ไม่เคยกินทุเรียนฟัง จะอุปมาเปรียบเทียบอย่างไรก็คงทำให้เข้าใจไม่ได้ นอกเสียจากว่าเขาคนนั้นจะกินทุเรียนเองเท่านั้นถึงจะรู้จักรสชาติของทุเรียนว่า เป็นเช่นไร และรสชาติของทุเรียนก็คงไม่เหมือนกับรสชาติของผลไม้อื่นใดในโลกเพราะเป็นรสชาติเฉพาะตน พระนิพพานก็เช่นเดียวกัน ยากที่จะอุปมาเปรียบเทียบให้เหมือนสิ่งใดในโลกนี้ได้เลย นอกเสียจากว่าจะตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างจริงจังแล้ว เมื่อบรรลุถึงพระนิพพานก็จะรู้ และเข้าใจเองว่า ภาวะของนิพพานเป็นเช่นไร เพราะเป็นของเฉพาะตน อธิบายให้คนอื่นฟังให้เข้าใจอย่างที่ตนเองรู้ และเข้าใจไม่ได้

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คำว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งนั้น บางคนอาจจะมองไปว่า เมื่อนิพพานไม่มีความสุขอย่างโลกๆ ไม่มีหนัง ไม่มีลครหรือไม่มีความสนุกสนานอะไรแล้วก็ไม่น่าปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานเลย ความรู้สึกเช่นนี้คงเกิดขึ้นกับมนุษย์ปุถุชนผู้ยังเคยชินอยู่กับความสุขอย่างโลกๆ แล้วเอาความรู้สึกนั้นไปตัดสินพระนิพพาน ท่านอุปมาเหมือนหนอนที่กินอุจจาระเอร็ดอร่อย ถ้าเอาความชินของหนอนมาวัด มันก็จะเห็นเป็นว่า ในที่ใดไม่มีอุจจาระให้มันกิน ในที่นั้นก็คงไม่มีความสุขหรือสุนัขชอบกินซากศพ ชอบคลุกเกลือกอยู่กับสิ่งของเน่าๆ ถ้าเอาความเคยชินของสุนัขมาวัดแล้ว มันก็เห็นว่า ซากศพนั้นดีที่สุดแล้ว มันกลับเห็นว่า การที่มนุษย์มาหลงดมน้ำอบนั้นเป็นการโง่ เราลองเอาน้ำหอมให้มันดม มันจะเบนจมูกหนีทันที แต่ถ้ามันถอยใจให้สูงมากขึ้นกว่านั้น มันจะเห็นได้ว่า ความสุขที่มันหลงยึดติดอยู่นั้น เป็นของต่ำช้า และน่ารังเกียจสำหรับมนุษย์ ในหมู่มนุษย์เองก็เช่นเดียวกัน บางคนจะเกณฑ์ให้พระนิพพานดี ก็ต่อเมื่อมีความสุขอย่างที่เราเคยประสบในโลกมนุษย์ ถ้านิพพานไม่ใช่ความสุขอย่างที่ตนเองเคยชินก็ไม่อยากที่จะเข้าถึงความสุขเช่นนั้น ทำให้ปิดโอกาสที่จะเข้าไปสู่ประตูแห่งพระนิพพาน ฉะนั้น จึงควรศึกษาพระนิพพานด้วยใจที่สูงแล้วจะเข้าใจว่า พระนิพพานนั้นเป็นความสุขสงบประณีตยิ่งนัก ยากที่จะหาความสุขอื่นใดเสมอเหมือนได้ เหมือนกับตอนเราเป็นเด็ก ชอบเล่นตุ๊กตาหรือเล่นขายของ พอโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็รู้สึกหัวเราะเยาะเด็กๆ ที่เล่นตุ๊กตา เล่นขายของว่า ไม่น่าสนุกตรงไหนเลย(110)

ลักษณะของนิพพานดังกล่าวมาแล้วนั้นมีนัยต่างๆ มากมายยากที่จะสรุปได้ว่า นิพพาน คือ อะไรกันแน่ เพราะนิพพานเป็นโลกุตตรธรรม ไม่เหมือน และไม่ใช่สิ่งใดในโลกที่เราจะเปรียบเทียบอุปมาให้เหมือนได้ แต่ก็พอสรุปได้ว่า นิพพานนั้นมีลักษณะสงบสุขที่เกิดขึ้นจากการดับกิเลส และกองทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น

ประเภทของนิพพาน พุทธศาสนานิกายเถรวาท แบ่งประเภทของนิพพานออกเป็นหลายนัย คือ แบ่งเป็น 1 ประเภทบ้าง 2 ประเภทบ้าง 3 ประเภทบ้าง ตามลักษณะอาการ และบุคคลที่เกี่ยวกับนิพพาน ดังนี้ นิพพาน 1 ประเภท นิพพาน เมื่อว่า โดยสภาวะก็มีอย่างเดียว คือ สันติลักษณะ ลักษณะแห่งความสงบ หมายถึง สงบจากกิเลสและอาสวะทั้งปวง, นิพพาน 2 ประเภท นิพพาน เมื่อว่าโดยปริยายแห่งเหตุ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนิพพาน ก็จำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. สอุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง ดับกิเลสได้แล้ว แต่ยังมีเบญจขันธ์อยู่, 2. อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง ดับกิเลสได้แล้ว และดับเบญจขันธ์ด้วย

ดังข้อความที่ท่านกล่าวไว้ในอภิธัมมัตถสังคหบาลีว่า ตเทตํ สภาวโต เอกวิธมฺปิ สอุปาทิเสสนิพฺพานธาตุ อนุปาทิเสสนิพฺพาน ธาตุ เจติ ทุวิธํ โหติ การณปริเยน ฯ(111)แปลว่า นิพพานนั้นนั่นแล โดยสภาพแม้มีอย่างเดียว โดยปริยายแห่งเหตุมี 2 อย่าง คือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ 1, อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ 1 ฯ

นิพพาน ซึ่งมีสันติลักษณะอย่างเดียวนั้น เมื่อกล่าวโดยปริยายแห่งเหตุ คือ เหตุที่ดับกิเลสอย่างหนึ่ง เหตุที่ดับอุปาทานขันธ์อย่างหนึ่ง จึงมี 2 ประเภท ดังนี้

1. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ คือ นิพพานธาตุดับกิเลส แต่ยังมีเบญจขันธ์อันกรรม และกิเลสมีตัณหาเป็นต้นเข้าไปยึดถือโดยความเป็นผลยังเหลืออยู่ หมายความว่า การดับกิเลสแต่ยังมีอุปาทานขันธ์เหลืออยู่ คำว่า อุปาทานขันธ์ในที่นี้ หมายถึง ขันธ์ คือ ร่างกายที่เกิดขึ้นด้วยอุปาทานเก่ายังมีอยู่หรือยังไม่ตาย เพราะสัตว์ย่อมเกิดด้วยอุปาทาน ถ้าไม่มีอุปาทานจะไม่มีการเกิดอุปาทานขันธ์ คือ กัมมชรูป วิปากจิต และเจตสิก ดังข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธาตุสูตรแสดงถึงสอุปาทิเสสนิพพานไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ 2 ประการนี้ 2 ประการเป็นไฉน คือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ 1 อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สอุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพนี้สิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมเสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจ และไม่พึงใจ ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่ เพราะความที่อินทรีย์ 5 เหล่าใดเป็นธรรมชาติไม่บุบสลาย อินทรีย์ 5 เหล่านั้นของเธอยังตั้งอยู่นั่นเทียว ดูกรภิกษุทั้งหลายความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะของภิกษุนั้น นี้เราเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ(112)

2. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ คือ นิพพานธาตุอันกรรม และกิเลสมีตัณหาเป็นต้นไม่เข้าไปยึดถือโดยความเป็นผล หมายความว่า การดับกิเลสพร้อมทั้งอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 ไม่มีเหลือ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธาตุสูตรที่แสดงถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อนุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบเวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของภิกษุนั้น เป็นธรรมชาติอันกิเลสทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้นให้เพลิดเพลินมิได้แล้ว จัก (ดับ) เย็น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ 2 ประการนี้แล ฯ(113)

อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นการดับกิเลสพร้อมทั้งเบญจขันธ์ จิต และเจตสิกธรรมก็เกิดขึ้นไม่ได้อีก ดังข้อความที่พระอนุรุทธเถระกล่าวไว้ว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ ผู้ไม่มีตัณหาเป็นเครื่องทำใจให้หวั่นไหว ทรงทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ คือ เสด็จออกจากจตุตถฌานแล้วจึงจะเสด็จปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคทรงอดกลั้นเวทนา ด้วยพระหฤทัยอันเบิกบาน ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคผู้เป็นดวงประทีปของชาวโลกกับทั้งเทวโลก เสด็จดับขันธปรินิพพาน ความพ้นพิเศษแห่งพระหฤทัยได้มีขึ้นแล้ว บัดนี้ธรรมเหล่านี้ อันมีสัมผัสเป็นที่ 5 ของพระมหามุนีได้สิ้นสุดลงแล้ว ในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว จิต และเจตสิกธรรมเหล่าอื่นจักไม่มีอีกต่อไป(114)

นิพพาน 3 ประเภท นิพพาน ว่าโดยความต่างแห่งอาการ มี 3 ประเภท ดังนี้ 1. สุญญตนิพพาน ดับกิเลสด้วยเห็นอนัตตาแล้วถอนความยึดมั่นได้ มองเห็นความว่าง, 2. อนิมิตตนิพพาน ดับกิเลสด้วยเห็นอนิจจังแล้วถอนนิมิตได้, 3. อัปปณิหิตนิพพาน ดับกิเลสด้วยเห็นทุกข์แล้วถอนความปรารถนาได้

ดังข้อความที่ท่านกล่าวไว้ในอภิธัมมัตถสังคหบาลีว่า ตถา สุญฺญตํ อนิมิตฺตํ อปฺปณิหิตญฺเจติ ติวิธํ โหติ อาการเภเทน ฯ(115)แปลว่า อีกอย่างหนึ่ง ว่าโดยความต่างแห่งอาการ มี 3 อย่าง คือ สุญญตะ 1 อนิมิตตะ 1 อัปปณิหิตะ 1 ฯ.

นิพพาน ซึ่งมีธาตุดับกิเลส และดับทุกข์อย่างเดียวนั้น เมื่อกล่าวโดยอาการที่จะเข้าถึงพระนิพพานแล้ว นิพพานก็มีอยู่ 3 ประเภท ดังนี้

1. สุญญตนิพพาน คือ นิพพาน (ดับ) เพราะเป็นธรรมชาติที่ว่างจากราคะ โทสะ โมหะหรือว่างจากสังขารทั้งปวง โดยอารมณ์ และสัมปโยค คือ เป็นการสูญสิ้นจากกิเลส และอุปาทานขันธ์ เป็นอารมณ์ของอริยมรรคที่เกิดขึ้นต่อจากวุฏฐานคามินีวิปัสสนา อันรู้อนัตตลักษณะของรูป และนามที่กำลังเกิดดับ ซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อมัคคญาณได้เข้าถึงสุญญตนิพพานแล้ว ต่อจากนั้นโดยไม่มีอะไรขั้นในระหว่าง ผลญาณก็เกิดทันที ได้สุญญตนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่ออริยผลเกิดขึ้นแล้ว 2 - 3 ขณะ ต่อจากนั้นเมื่อปรารถนาจะเข้าผลสมาบัติ ก็เจริญวิปัสสนากรรมฐานจนมีญาณเกิดขึ้นเห็นรูปนามเกิดดับมีอนัตตลักษณะไม่ใช่ตน เพราะไม่มีอำนาจจะบังคับบัญชาได้ จนถึงที่สุดผลญาณเกิดขึ้นประกอบผลจิต แจ้งชัดในสุญญต-นิพพานแล้ว ก็เข้าอยู่ในผลสมาบัตินั้นๆ ด้วยอำนาจแห่งสมาธิ และอธิษฐานเป็นบรมสุข ถ้าหากว่า การถึงสุญญตนิพพานนี้เป็นการถึงด้วยอรหัตตมรรคจิตแล้ว การพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิงแห่งอรหัตตมรรคจิตนั้น เรียกว่า สุญญตวิโมกข์ คือ พ้นด้วยการสูญสิ้นกิเลสเด็ดขาด ดังข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายถึงสุญญตวิโมกข์ไว้ว่า สุญญตวิโมกข์เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี พิจารณาเห็นดังนี้ว่า นามรูปนี้ว่างจากความเป็นตัวตน และจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน เธอย่อมไม่ทำความยึดมั่นในนามรูปนั้น เพราะเหตุนั้น วิโมกข์ของภิกษุนั้นจึงเป็นวิโมกข์ว่างเปล่า นี้เป็นสุญญตวิโมกข์ ฯ(116)

2. อนิมิตตนิพพาน คือ นิพพาน (ดับ) เพราะเว้นจากนิมิต มีราคะ เป็นต้น โดยอาการอย่างนั้น ได้แก่ เพราะหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นนิมิตเครื่องหมายมิได้ เป็นธรรม-ชาติที่ไม่มีนิมิต คือ สังขารทั้งปวง ได้แก่ ไม่มีนิมิตเครื่องหมายรูปร่างสัณฐานต่างๆ คือ รูปนาม เป็นต้น เป็นอารมณ์ของอริยมรรค ที่เกิดขึ้นต่อจากวุฏฐานคามินีวิปัสสนาที่มีญาณเห็นอนิจจลักษณะ คือ ลักษณะของรูปนามที่กำลังเกิดดับ ไม่เที่ยง ตั้งอยู่ไม่ได้เมื่อมัคคญาณได้อนิมิตตนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว โดยไม่มีระหว่างขั้น ผลญาณอันประกอบกับผลจิตก็เกิดขึ้นเอาอนิมิตตนิพพานเป็นอารมณ์ทันที เมื่ออริยผลเกิดขึ้น 2 3 ขณะ แล้วดับลง ต่อจากนั้นปัจจเวกขณญาณก็พิจารณามรรค ผล นิพพาน จนมีญาณเกิดขึ้น เห็นรูปนามเกิดดับ เป็นอนิจจลักษณะ มีลักษณะไม่เที่ยงจนถึงที่สุด คือ ผลญาณเกิดขึ้นประกอบกับผลจิตแจ้งในอนิมิตตนิพพานแล้ว ก็เข้าอยู่ในผลสมาบัตินั้นๆ ด้วยอำนาจแห่งสมาธิ และอธิษฐาน เป็นบรมสุข ถ้าหากการบรรลุอนิมิตตนิพพานนี้ เป็นการบรรลุด้วยอรหัตตมัคคจิตแล้วไซร้ การพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิงด้วยอรหัตตมัคคจิตนั้น เรียกว่า อนิมิตตวิโมกข์ คือ พ้นด้วยการไม่มีนิมิตเครื่องหมายดังข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายถึงอนิมิตตวิโมกข์ไว้ว่า อนิมิตตวิโมกข์เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดีอยู่ในเรือนว่างก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า นามรูปนี้ว่างจากความเป็นตัวตนและจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน เธอย่อมไม่ทำเครื่องกำหนดหมายในนามรูปนั้น เพราะเหตุนั้น วิโมกข์ของภิกษุนั้นจึงเป็นวิโมกข์ไม่มีเครื่องกำหนดหมายนี้ เป็นอนิมิตตวิโมกข์ ฯ(117)

3. อัปปณิหิตนิพพาน คือ นิพพาน (ดับ) เพราะไม่มีที่ตั้ง คือ สังขารทั้งปวง ได้แก่ เพราะหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นปณิธิ คือ ที่ตั้งมิได้ ได้แก่ เป็นที่ตั้งแห่งความปรารถนาด้วยโลภะ เพราะนิพพานย่อมกำจัดอำนาจตัณหา คือ ความอยากหรือความปรารถนาด้วยอำนาจโลภะ โทสะ และโมหะให้ปราศจากไปได้ เพราะเป็นคุณชาติกำจัดความอยากเสียได้ ฉะนั้นจึงชื่อว่า นิพพาน อันตัณหาเป็นปณิธิไม่ได้ ซึ่งเป็นอารมณ์ของอริยมรรคที่เกิดขึ้นต่อจากวุฏฐานคามินีวิปัสสนา มีญาณเห็นทุกขลักษณะ คือ ลักษณะของรูปธรรมและนามธรรม ที่กำลังเกิดดับอยู่เป็นทุกข์ ทนได้ยาก ทนอยู่ไม่ได้ เพราะอาศัยบุพพาธิการในกาลก่อน ซึ่งแรงด้วยสมาธิแก่กล้าเป็นปัจจัยส่ง เมื่อมัคคญาณได้อัปปณิหิตนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว โดยไม่มีระหว่างขั้น ผลญาณอันประกอบกับผลจิตดวงใดดวงหนึ่งก็เกิดขึ้น เอาอัปปณิหิตนิพพานเป็นอารมณ์ทันที เมื่ออริยผลเกิดขึ้น 2 - 3 ขณะแล้วดับไป ต่อจากนั้น ปัจจเวกขณญาณก็พิจารณามรรค ผล นิพพาน และกิเลสที่เหลือ ตามสมควรแก่ภาวะของผลที่ได้มา ต่อจากนั้น เมื่อปรารถนาจะเข้าผลสมาบัติ ก็เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนมีญาณเกิดขึ้นเห็นรูปนามเกิดดับเป็นทุกขลักษณะ มีลักษณะเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้จนถึงที่สุด คือ ผลญาณเกิดขึ้นประกอบกับจิตแจ้งในอัปปณิหิตนิพพานแล้ว ก็เข้าอยู่ในผลสมาบัตินั้นๆ ด้วยอำนาจแห่งสมาธิและอธิษฐานเป็นบรมสุข ถ้าหากการบรรลุอัปปณิหิตนิพพานนี้ เป็นการบรรลุด้วยอรหัตตมัคค์แล้ว การพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิงด้วยอรหัตตมัคคจิตนั้น เรียกว่า อัปปณิหิตวิโมกข์ คือ พ้นด้วยหาราคะ โทสะ และโมหะเป็นที่ตั้งมิได้(118)

ดังข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายถึงอัปปณิหิตวิโมกข์ไว้ว่า อัปปณิหิตวิโมกข์เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า นามรูปนี้ว่างจากความเป็นตัวตน และจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน เธอย่อมไม่ทำความปรารถนาในนามรูปนั้น เพราะเหตุนั้น วิโมกข์ของภิกษุนั้นจึงเป็นวิโมกข์ไม่มีความปรารถนานี้เป็นอัปปณิ-หิตวิโมกข์ ฯ(119)

คำว่า วิโมกข์ หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลส เป็นไวพจน์ คือ เป็นคำสำหรับเรียกแทนพระนิพพาน วิโมกข์ มี 3 ประเภท ดังนี้ 1. สุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นอนัตตาแล้วถอนความยึดมั่นได้ มองเห็นความว่าง, 2. อนิมิตตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจัง แล้วถอนนิมิตได้, 3. อัปปณิหิตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นทุกข์ แล้วถอนความปรารถนาได้(120)

พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงลักษณะของบุคคลผู้ได้บรรลุวิโมกข์ทั้ง 3 ประเภทไว้ว่า ความเร่าร้อนย่อมไม่มีแก่ผู้ที่มีทางไกลอันถึงแล้ว ผู้มีความโศกปราศไปแล้วผู้พ้นวิเศษแล้วในธรรมทั้งปวง ผู้มีกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวงอันละได้แล้วท่านผู้มีสติย่อมขวนขวาย ท่านย่อมไม่ยินดีในที่อยู่ ท่านละความห่วงใยเสียเหมือนหงส์สละเปือกตมไป ฉะนั้น ชนเหล่าใดไม่มีการสั่งสมมีโภชนะอันกำหนดแล้ว มีสุญญตวิโมกข์ และอนิมิตตวิโมกข์เป็นโคจร คติของชนเหล่านั้น รู้ได้โดยยาก เหมือนคติฝูงนกในอากาศ ฉะนั้น ภิกษุใดมีอาสวะสิ้นแล้ว อันตัณหา และทิฐิไม่อาศัยแล้วในอาหาร มีสุญญตวิโมกข์ และอนิมิตตวิโมกข์เป็นโคจร รอยเท้าของภิกษุนั้นไปตามได้โดยยากเหมือนรอยเท้าของฝูงนกในอากาศ ฉะนั้น อินทรีย์ของภิกษุใดถึงความสงบระงับ เหมือนม้าอันนายสารถีฝึกดีแล้ว แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อภิกษุนั้น ผู้มีมานะอันละได้แล้ว หาอาสวะมิได้ ผู้คงที่ ภิกษุผู้มีอาสวะสิ้นแล้วมีใจเสมอด้วยแผ่นดิน ผู้คงที่ เปรียบดังเสาเขื่อน มีวัตรดีปราศจากกิเลสเพียงดังเปือกตม ผ่องใส เหมือนห้วงน้ำที่ปราศจากเปือกตมมีน้ำใส ย่อมไม่พิโรธ สงสารทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้คงที่ มีอาสวะสิ้นแล้ว เช่นนั้น ใจ วาจา และกายกรรมของภิกษุผู้ขีณาสพนั้น ผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ สงบระงับ คงที่ เป็นธรรมชาติสงบแล้ว นรชนใดไม่เชื่อต่อผู้อื่น รู้นิพพานอันปัจจัยอะไร ๆ ทำไม่ได้ ผู้ตัดที่ต่อมีโอกาสอันขจัดแล้ว มีความหวังอันคลายแล้ว นรชนนั้นแลเป็นบุรุษผู้สูงสุด พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมอยู่ในที่ใด คือ บ้านหรือป่า ที่ลุ่มหรือที่ดอน ที่นั้นเป็นภาคพื้นอันบุคคลพึงรื่นรมย์ ชนไม่ยินดีในป่าเหล่าใด ป่าเหล่านั้น ควรรื่นรมย์ ผู้มีราคะไปปราศแล้วทั้งหลาย จักยินดีในป่าเห็นปานนั้น เพราะว่า ท่านไม่ใช่ผู้แสวงหากาม ฯ(121)

ลักษณะคำสอนในระดับปรมัตถสัจจะ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่แสดงถึงสิ่งที่มีอยู่จริงในระดับปรมัตถสัจจะนี้ มีปรากฏอยู่มากมายในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีมากในพระอภิธรรมปิฎก เป็นลักษณะคำสอนที่แสดงถึงสภาวธรรมที่แท้จริง เป็นจริง และมีอยู่จริงโดยตัวของมันเองตามธรรมชาติโดยเฉพาะเน้นถึงสภาวธรรมที่แท้จริงของมนุษย์เป็นการแสดงถึงความจริงที่อยู่เบื้องหลังสมมติสัจจะ คือ สิ่งที่มีอยู่จริงอย่างสมมติ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สมมติบัญญัติขึ้น เพื่อเป็นที่เข้าใจกัน เป็นที่รู้กัน และใช้กันอย่างนั้น ภายใต้สิ่งที่มนุษย์สมมติบัญญัติขึ้น ก็มีสิ่งที่สมมติซ้อนสมมติลงไปอีกหลายชั้น จนบางทีมนุษย์ไม่สามารถที่แยกสมมติบัญญัติออกจากสภาวะที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้ จึงทำให้มนุษย์ลุ่มหลงมัวเมายึดติดอยู่กับสิ่งสมมติเหล่านั้น ซึ่งเป็นเหตุให้มนุษย์เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสารอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

พระพุทธเจ้าทรงเห็นความไม่แน่นอน และความเปลี่ยนแปลงของสังขารทั้งหลาย จึงเสด็จออกผนวชเพื่อแสวงหาสัจธรรม และในที่สุดก็ทรงค้นพบสัจธรรมที่แท้จริงของสรรพสิ่งในโลกนี้ ด้วยการตรัสรู้อริสัจธรรมทั้ง 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระองค์จึงทรงได้รับการขนานพระนามว่า พระสัพพัญญู ผู้รู้ทุกอย่าง โลกวิทู ผู้รู้แจ้งโลก หลังจากทรงค้นพบสัจธรรมแล้ว ด้วยอาศัยพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า จึงทรงนำเอาความจริงที่ทรงค้นพบ ที่อยู่เบื้องหลังความจริงอย่างสมมตินั้นมาเปิดเผย นำมาแสดงเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อมนุษย์ทั้งหลายจะได้รู้และเข้าใจถึงสิ่งที่มีอยู่จริงในโลกนี้ว่อะไรเป็นสมมติสัจจะ ความจริงที่มนุษย์บัญญัติแต่งตั้งขึ้น อะไรเป็นความจริงแท้ของสิ่งทั้งหลาย เมื่อมนุษย์รู้เท่าทันสมมติสัจจะ จะได้วางตัว และประพฤติปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับความจริงทั้งสองประการนั้น ดังนั้น ลักษณะคำสอนของ พระพุทธเจ้าจึงมีลักษณะคำสอนที่เป็นทั้งสมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ ก็เพื่อที่จะให้มนุษย์เลือกนำเอาไปประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเอง และสังคม อันจะเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติเป็นส่วนมากนั่นเอง

ลักษณะคำสอนที่เป็นสมมติสัจจะในระดับโลกิยธรรมนั้น ได้แสดงไว้แล้วในเรื่องสมมติสัจจะ ในที่นี้จะกล่าวถึงลักษณะคำสอนที่เป็นปรมัตถสัจจะตลอดถึงหลักธรรมสำหรับปฏิบัติในระดับปรมัตถสัจจะเป็นลำดับไป แต่เนื่องจากเนื้อหาของคำสอนในระดับปรมัตถสัจจะนี้มีมาก ผู้เรียบเรียงนำมาแสดงแต่พอสังเขปเท่านั้นสำหรับผู้เริ่มศึกษาหลักคำสอนในทางพุทธศาสนานั้น บางทีอาจจะมีปัญหากับศัพท์เฉพาะซึ่งเป็นศัพท์ที่แสดงถึงสภาวธรรมในทางพุทธศาสนา ซึ่งมีความหมายที่แตกต่างไปจากความเข้าใจโดยทั่วไปตามภาษาที่ชาวโลกใช้พูดกัน เข้าใจกัน เพราะฉะนั้นผู้แรกศึกษาจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์เฉพาะเหล่านี้ให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงก่อนโดยเฉพาะเมื่อจะศึกษาลักษณะคำสอนในระดับปรมัตถสัจจะ เนื่องจากคำสอนในระดับปรมัตถสัจจะนี้ เป็นการใช้ภาษาที่เป็นสมมติสัจจะแสดงถึงสภาวธรรมที่มีอยู่จริงในระดับปรมัตถ์ โดยปรมัตถสภาวะแล้วไม่มีภาษาไม่มีบัญญัติ เพราะเป็นความจริงที่ไม่ขึ้นอยู่กับการสมมติบัญญัติของมนุษย์ แต่เพื่อที่จะทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับปรมัตถสัจจะนั้นพระพุทธเจ้าจึงต้องอาศัยภาษาที่เป็นสมมติสัจจะแสดงถึงปรมัตถสัจจะ การบัญญัติศัพท์เรียกปรมัตถสัจจะนี้เรียกว่า วิชชมานบัญญัติ เป็นการบัญญัติสิ่งที่มีสภาวธรรมรองรับอยู่จริง

ดังนั้น เมื่อใช้ภาษาที่เป็นสมมติสัจจะสื่อถึงสิ่งที่เป็นปรมัตถสัจจะโดยเฉพาะพระนิพพานนั้นก็เป็นเพียงการแสดงเปรียบเทียบให้เห็นเท่านั้น ส่วนตัวปรมัตถสัจจะที่แท้จริง มนุษย์จะเข้าถึงได้ก็ด้วยอาศัยวิธีการปฏิบัติธรรมขั้นสูงเพื่อมุ่งความหลุดพ้นเท่านั้น เมื่อบรรลุถึงปรมัตถ-สัจจะแล้วก็จะรู้และเข้าใจเองว่าปรมัตถสัจจะนั้นเป็นอย่างไร เหมือนคนไม่เคยกินทุเรียนก็ไม่รู้ว่า รสทุเรียนเป็นอย่างไร จะมีคนอธิบายให้ฟังสักเท่าไหร่ก็เป็นเพียงการพูดเปรียบเทียบให้ฟังเท่านั้น หลังจากอธิบายเสร็จก็ไม่รู้ชัดเจนอยู่ดีว่า รสทุเรียนเป็นอย่างไรต่อเมื่อได้กินทุเรียนเองแล้วก็จะรู้เองว่า รสชาติของทุเรียนเป็นอย่างไร โดยไม่ต้องการคำอธิบายอะไรอีก ความจริงในระดับ ปรมัตสัจจะนี้ก็เช่นเดียวกัน ต้องอาศัยการปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้น เมื่อบรรลุถึงปรมัตถสัจจะ คือ พระนิพพานแล้วก็จะรู้ และเข้าเองว่าพระนิพพานนั้นเป็นอย่างไร โดยไม่มีความสงสัยอีก เพราะพระนิพพานเป็นสภาวธรรมที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อน อยู่เหนือโลก เกินวิสัยที่มนุษย์ปุถุชนจะรู้ และเข้าใจได้ด้วยเพียงการคิดคาดคะเนเอาได้

ดังนั้น การที่จะศึกษาให้เข้าใจในเบื้องต้นตามภาษาสมมติเรียกปรมัตถสัจจะ ก็ควรที่จะทำความเข้าใจในศัพท์เฉพาะในทางพุทธศาสนาเสียก่อน เพราะมิฉะนั้นอาจทำให้เข้าใจความหมายของสภาวธรรมผิดเพี้ยนไป ยิ่งทำให้ไกลห่างไปจากความจริงในระดับปรมัตถสัจจะมากยิ่งขึ้นอีก มีศัพท์หลายศัพท์ที่มีความหมายเฉพาะของตนเองในทางพุทธศาสนา เช่น คำว่า สัญญา ทางโลกที่เข้าใจกันโดยทั่วไป หมายถึง หนังสือที่ทำขึ้นเพื่อให้ผูกพันกันทั้งสองฝ่ายตามสัญญานั้น แต่ทางพุทธศาสนา สัญญา นั้นหมายถึง ความจำได้หมายรู้ เช่น จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรสได้ เป็นต้น คำว่า เวทนา ทางโลกที่เข้าใจกันโดยทั่วไปหมายถึงความสงสาร เช่น พูดว่า คนนี้น่าเวทนาเหลือเกิน แต่ทางพุทธศาสนา คำว่า เวทนา หมายถึง ความรู้สึก ถ้าเป็นสุขเรียกว่า สุขเวทนา ถ้าเป็นทุกข์เรียกว่า ทุกขเวทนา ถ้าไม่ทุกข์ไม่สุขเรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา

คำว่า สังขาร ทางโลกที่เข้าใจกันโดยทั่วไปหมายถึง รูปร่างน่าตาของมนุษย์ แต่ทางพุทธศาสนา คำว่า สังขาร หมายถึง สิ่งปรุงแต่ง ความคิดปรุงแต่งให้ดีเรียกว่า กุศล ปรุงแต่งให้ตกต่ำเลวลงเรียกว่า อกุศล ถ้าปรุงแต่งในลักษณะเป็นกลางๆ เรียกว่า อัพยากฤต คำว่า วิญญาณ ทางโลกที่เข้าใจกันโดยทั่วไป หมายถึง วิญญาณที่ออกจากร่างของมนุษย์หลังจากตายแล้วหรือหมายถึงจิตวิญญาณของภูตผีที่ที่สามารถให้คุณ และโทษแก่มนุษย์ได้ แต่คำว่า วิญญาณ ทางพุทธศาสนา หมายถึง ความรู้ คือ ตัวรู้อารมณ์เมื่อรูปมากระทบตา เป็นต้น และคำว่า อารมณ์ ทางโลกที่เข้าใจกันโดยทั่วไป หมายถึง ความรู้สึกรัก ชอบ เกลียดชัง เป็นต้น แต่ทางพุทธศาสนา คำว่า อารมณ์ หมายถึง สิ่งที่เป็นเครื่องยึดหน่วงของจิต หรือสิ่งที่จิตยึดหน่วง สิ่งที่จิตรู้หรือถูกรับรู้ก็ได้ ได้แก่ อายตนะภายนอก 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ เป็นต้น ความหมายของศัพท์เฉพาะที่ยกมาแสดงนี้พอเป็นตัวอย่างเท่านั้น ศัพท์ที่มีความหมายเฉพาะในทางพุทธศาสนานั้นมีมากมาย โดยเฉพาะศัพท์ที่บัญญัติขึ้นใช้เรียกสิ่งที่มีอยู่จริงแบบปรมัตถ์ เช่น คำว่า จิต เจตสิก กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจร จิต โลกุตตรจิต อินทรีย์ เป็นต้น ผู้แรกศึกษาพุทธศาสนาจะต้องทำความเข้าใจความหมายของศัพท์เหล่านั้นให้ชัดแจ้งก่อน ถึงจะเข้าใจความหมายของหลักธรรม คำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ลักษณะคำสอนในระดับปรมัตถสัจจะ มีลักษณะใหญ่ๆ ที่จะพอสังเกตได้ 3 ลักษณะด้วยกัน ดังนี้

1. ลักษณะคำสอนที่มุ่งแสดงสภาวธรรมที่เป็นพื้นของสรรพสิ่งคำสอนที่แสดงถึงสภาวธรรมที่แท้จริงของสรรพสิ่ง กล่าวได้ว่า สิ่งที่ปรากฎอยู่ในโลกนี้ล้วนมีสภาวธรรมที่เป็นพื้นฐานที่แท้จริงอยู่เพียง 2 อย่างเท่านั้น คือ รูปกับนามไม่มี สิ่งใดในโลกที่จะนอกเหนือไปจากรูปกับนามนี้อีกแล้ว ปรมัตถธรรมทั้ง 4 คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ซึ่งเป็นความจริงในระดับปรมัตถสัจจะ ก็สรุปลงในนามรูปนี้เหมือนกัน คือ รูป จัดเป็น รูป (รูปธรรม) จิต เจตสิก และนิพพาน จัดเป็นนาม (นามธรรม) ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งเป็นสภาวะที่เป็นพื้นฐานของมนุษย์ และสัตว์ ทั้งหลาย ก็สรุปลงในนามรูปนี้ คือ รูป จัดเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จัดเป็นนาม ลักษณะคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แสดงถึงสภาวะที่เป็นพื้นฐานนี้มีมากมาย เช่น ธาตุ ขันธ์ อายตนะ อินทรีย์ เป็นต้น บางครั้งอาจจะทรงสอนโดยใช้ชื่อต่างกันก็จริง แต่เมื่อว่าโดยเนื้อหาสาระของสิ่งที่ทรงสอนแล้วก็มีสภาวธรรมที่เป็นพื้นฐานของสิ่งนั้นเหมือนกันอยู่นั่นเอง ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นสภาวธรรมของปรมัตถสัจจะทั้งสิ้น

ตัวอย่างคำสอนที่ทรงแสดงสภาวธรรมที่เป็นพื้นฐานของสิ่งที่สมมติเรียกว่า มนุษย์ เมื่อศึกษาวิเคราะห์ให้ลึกลงไปถึงองค์ประกอบที่สำคัญที่แท้จริงที่ทำให้เกิดการสมมติเรียกว่า มนุษย์แล้ว มนุษย์ประกอบขึ้นมาจากขันธ์ 5 กอง คือ กองรูป เรียกว่า รูปขันธ์ กองเวทนา เรียกว่า เวทนาขันธ์ กองสัญญา เรียกว่า สัญญาขันธ์ กองสังขาร เรียกว่า สังขารขันธ์ และกองวิญญาณ เรียกว่า วิญญาณขันธ์ ประกอบรวมตัวกันเข้าจึงสมมติเรียกว่า มนุษย์ ดังข้อความใน มิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์ ตรัสถามพระนาคเสน ว่ากินฺนาโมสิ พระผู้เป็นเจ้าชื่ออะไร พระนาคเสนถวายพระพรว่า นาคเสโนติ สมุทาจรนฺติเพื่อนพรหมจรรย์ร้องเรียกท่านว่านาคเสน อะไรชื่อว่า นาคเสน เกสา ผมพระผู้เป็นเจ้าหรือชื่อ นาคเสนหรือมํสํ เนื้อทั้งหลายในกายนั้นหรือชื่อนาคเสน และตรัสถามไล่ไปทุกอย่างในอาการ 32 ขันธ์5 และธาตุ 6 ว่านั่นคือนาคเสนใช่ไหม พระนาคเสนทูลตอบปฏิเสธ ทั้งหมดว่า สิ่งเหล่านี้จะได้ชื่อว่า นาคเสนก็หามิได้ พระนาคเสนจึงทูลพระเจ้ามิลินท์ โดยอุปมาเปรียบเทียบว่า เปรียบเหมือนสิ่งที่เราเรียกว่า รถ หรือ เรือน อะไร คือ รถ อะไร คือ เรือน งอนหรือเป็นรถ เพลาหรือล้อหรือ เมื่อพระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบปฏิเสธทีละอย่างแล้ว พระนาคเสนทูลถามว่า ถ้าอย่างนั้น รถไม่มีหรือ พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า เมื่อรวมทุกอย่างเข้าแล้วจึงเรียกว่า รถ พระนาคเสนทูลตอบว่า ทำนองเดียวกันเมื่อรวมนาม และรูปทั้งหมดแล้วจึงสมมติเรียกว่า นาคเสนบ้าง อย่างอื่นบ้าง แต่เมื่อว่า โดยปรมัตถ์แล้วไม่มีตัวบุคคลที่จะค้นคว้าหาได้ในชื่อนั้น ดังข้อความที่นางวชิราภิกษุณีได้ภาษิตไว้เฉพาะพระพักตร์แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ยถาปิ องฺคสมฺภาโร โหติ สพฺโพ รโถ อิติ เอวํ ขนฺเธสุ สนฺเตสุ โลโก สตฺโตติ สมฺมตีติ(122)แปลว่า เหมือนอย่างว่า เพราะอาศัยสัมภาระต่างๆ รวมกัน จึงมีเสียงเรียกว่า รถ ดังนี้เป็นต้น ฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ก็สมมติเรียกว่า สัตว์ เป็นต้น ฉันนั้น.

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอุปมาเปรียบเทียบขันธ์ 5 ไว้ในเผณปิณฑสูตรอย่างชัดเจน คือ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาใกล้อยุชฌบุรี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคานี้ พึงนำกลุ่มฟองน้ำใหญ่มา บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่งพิจารณากลุ่มฟองน้ำใหญ่นั้น โดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย กลุ่มฟองน้ำนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่าหาสาระมิได้เลย สาระในกลุ่มฟองน้ำ พึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลายรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็นเพ่ง พิจารณารูปนั้นโดยแยบคาย เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย รูปนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่าหาสาระมิได้ สาระในรูปพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเมล็ดหยาบตกอยู่ในสรทสมัย ฟองน้ำในน้ำ ย่อมบังเกิดขึ้น และดับไป บุรุษผู้มีจักษุ พึงเห็น เพ่ง พิจารณาฟองน้ำนั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคายฟองน้ำนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในฟองน้ำนั้นพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่งพิจารณาอยู่โดยแยบคาย เวทนานั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในเวทนาพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนยังอยู่ พยับแดดย่อมเต้นระยิบระยับในเวลาเที่ยง บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณา พยับ-แดดนั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย พยับแดดนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า ฯลฯ สาระในพยับแดดพึงมีได้อย่างไรแม้ฉันใด สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีความต้องการด้วยไม้แก่น เสาะหาไม้แก่น เที่ยวแสวงหาไม้แก่นอยู่ ถือเอาจอบอันคม พึงเข้าไปสู่ป่า บุรุษนั้นพึงเห็นต้นกล้วยใหญ่ ตรง ใหม่ ยังไม่เกิดแก่นในป่านั้น พึงตัดโคนต้นกล้วยนั้นแล้วจึงตัดปลาย แล้วจึงปอกกาบใบออก บุรุษนั้นปอกกาบใบออกไม่พึงได้แม้กระพี้ในต้นกล้วยใหญ่นั้น จะพึงได้แก่นแต่ที่ไหน บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย ซึ่งต้นกล้วยใหญ่นั้น เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย ต้นกล้วยใหญ่นั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาแก่นมิได้ แก่นในต้นกล้วยพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาสังขารนั้นโดยแยบคาย เมื่อภิกษุนั้นเห็นเพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย สังขารนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในสังขารทั้งหลายพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้น เหมือนกันแล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักเล่นกลหรือลูกมือนักเล่นกล พึงแสดงกลที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง บุรุษผู้จักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณากลนั้นโดยแยบคายเมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย กลนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในกลพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย เมื่อภิกษุเห็นเพ่งพิจารณาวิญญาณนั้นโดยแยบคาย วิญญาณนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในวิญญาณพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกันแล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้(123)

พระพุทธเจ้าหลังจากทรงแสดงอุปมาขันธ์ 5 จบลงแล้ว ได้ตรัสสรุปเป็นคาถาว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้วว่า รูปอุปมาด้วยกลุ่มฟองน้ำ เวทนาอุปมาด้วยฟองน้ำ สัญญาอุปมาด้วยพยับแดด สังขารอุปมาด้วยต้นกล้วย และวิญญาณ อุปมาด้วยกล ภิกษุย่อมเพ่งพิจารณาเห็นเบญจขันธ์นั้นโดยแยบคายด้วยประการใดๆ เบญจขันธ์นั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า ด้วยประการนั้นๆ ก็การละธรรม 3 อย่าง อันพระพุทธเจ้า ผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน ปรารภกายนี้ทรงแสดงแล้ว ท่านทั้งหลาย จงดูรูปอันบุคคลทิ้งแล้ว อายุ ไออุ่น และวิญญาณย่อมละกายนี้เมื่อใด เมื่อนั้น กายนี้อันเขาทอดทิ้งแล้วย่อมเป็นเหยื่อแห่งสัตว์อื่น หาเจตนามิได้ นอนทับถมแผ่นดิน นี้เป็นความสืบต่อเช่นนี้ นี้เป็นกลสำหรับหลอกลวงคนโง่ เบญจขันธ์เพียงดังว่า เพชฌฆาตผู้หนึ่ง เราบอกแล้ว สาระย่อมไม่มีในเบญจขันธ์นี้ ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วมีสัมปชัญญะ มีสติ พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน ภิกษุเมื่อปรารถนาบทอันไม่จุติ (นิพพาน) พึงละสังโยชน์ทั้งปวง พึงกระทำที่พึ่งแก่ตนพึงประพฤติ ดุจบุคคลผู้มีศีรษะอันไฟไหม้ ดังนี้(124)

เห็นได้ว่า องค์ประกอบที่แท้จริงของมนุษย์ คือ ขันธ์ 5 คำว่า มนุษย์ เมื่อว่าโดยปรมัตถ์แล้วไม่มี ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีแต่ธาตุ 4 ขันธ์ 5 อายตนะ 6 ฯลฯ ดังกล่าวแล้ว จะสังเกตเห็นว่า ลักษณะคำสอนเช่นนี้แม้พระ พุทธเจ้าจะทรงแสดงโดยใช้ชื่อต่างกันก็จริง แต่เมื่อว่าโดยเนื้อหาสาระที่แท้จริงแล้ว ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงสภาวธรรมที่แท้จริงนั่นเอง ขันธ์ 5 นี้ สามารถจัดแบ่งลงในปรมัตถธรรมได้ คือ รูปขันธ์ จัดเป็นรูป เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ จัดเป็น เจตสิก วิญญาณขันธ์ จัดเป็นจิต ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง ลักษณะคำสอนที่มุ่งแสดงสภาวธรรมที่แท้จริงของสรรพสิ่งนี้ บางทีพระพุทธเจ้าจะทรงแสดงให้เห็นสิ่งที่มีอยู่จริงอย่างสมมติ (สมมติสัจจะ) ก่อนแล้วจึงทรงแสดงสิ่งที่มีอยู่จริงอย่างปรมัตถ์ในลำดับต่อไป ถึงแม้บางทีจะแสดงพร้อมกันแต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาแล้วก็สามารถเข้าใจสมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะได้เช่นเดียวกัน ซึ่งในที่สุดก็เป็นการแสดงถึงสภาวธรรมที่มีอยู่จริงของสิ่งทั้งปวงนั่นเอง

2. ลักษณะคำสอนที่แสดงแบบธรรมาธิษฐาน แสดงธรรมล้วนๆ ลักษณะคำสอนในระดับปรมัตถสัจจะอีกประการหนึ่ง ก็คือ กลุ่มธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเป็นแบบธรรมล้วนๆ คือ ยกหัวธรรมขึ้นกล่าวแล้วอธิบายหัวข้อธรรมนั้นตามลำดับ ไม่มีการอุปมาเปรียบกับสิ่งที่เป็นสมมติสัจจะ ลักษณะคำสอนเช่นนี้เราจะพบมากในพระอภิธรรมปิฎก กลุ่มธรรมเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์อริยสัจ 4 เป็นต้น

หัวข้อธรรมเรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นลักษณะคำสอนที่แสดงแต่หัวข้อธรรมล้วนๆ แสดงถึงกระบวนการเกิด และดับของทุกข์ทั้งสายเกิด (อนุโลม) และสายดับ (ปฏิโลม) เป็นสภาวธรรมที่มีความสัมพันธ์กันดุจลูกโซ่ ธรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกฎของธรรมชาติ ที่มีอยู่เป็นอยู่ตามธรรมดาของมันเอง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า เมื่อเหตุนี้มี ผลนี้จึงมี เพราะเหตุนี้เกิดขึ้น ผลนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มี เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส อย่างนี้เป็นความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ แต่เพราะอวิชชานั่นแลดับด้วยวิราคะไม่มีส่วนเหลือจึงดับสังขารได้ เพราะสังขารดับจึงดับวิญญาณได้ เพราะวิญญาณดับจึงดับนามรูปได้ เพราะนามรูปดับจึงดับสฬายตนะได้ เพราะสฬายตนะดับจึงดับผัสสะได้ เพราะผัสสะดับจึงดับเวทนาได้ เพราะเวทนาดับจึงดับตัณหาได้ เพราะตัณหาดับจึงดับอุปาทานได้ เพราะอุปาทานดับจึงดับภพได้ เพราะภพดับจึงดับชาติได้ เพราะชาติดับจึงดับชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสอุปายาสได้ อย่างนี้เป็นความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ดูกรอานนท์ ด้วยเหตุเท่านี้แล จึงควรเรียกได้ว่า ภิกษุผู้ฉลาดใน ปฏิจจสมุปบาท ฯ(125)

หลักคำสอนเรื่องไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นลักษณะคำสอนที่แสดงถึงความจริงที่เสมอกันแก่สังขารทั้งปวง ก็เป็นลักษณะของการสอนที่แสดงแต่ธรรมล้วนๆ ตามลำดับเช่นกันดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเรื่องของไตรลักษณ์ไว้ในอนิจจสูตรว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น เวทนาไม่เที่ยง ...สัญญาไม่เที่ยง ...สังขารไม่เที่ยง ...วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความจริงอย่างนี้ จิตย่อม คลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น(126)

หลักคำสอนเรื่องอริยสัจ 4 ซึ่งเป็นลักษณะคำสอนที่แสดงถึงความจริงอันประเสริฐในทางพุทธศาสนา ก็เป็นการแสดงความจริงของปรมัตถสัจจะเหมือนกับปฏิจจสมุปบาท และไตรลักษณ์ ต่างกันตรงที่เนื้อความในอริยสัจนั้น แสดงความจริงด้วย แสดงคุณ และโทษของความจริงด้วย และแสดงวิธีการให้เข้าถึงความจริงอันประเสริฐสูงสุด คือ พระนิพพานเอาไว้ด้วย ดังข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในขันธสูตรว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ 4 เหล่านี้ อริยสัจ 4 เป็นไฉน ? คือ ทุกข-อริยสัจ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินี ปฏิปทาอริยสัจ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน ? ควรจะกล่าวได้ว่า อุปาทานขันธ์ 5 อุปาทานขันธ์ 5 เป็นไฉน ได้แก่ อุปาทานขันธ์ คือ รูป อุปาทานขันธ์ คือ เวทนา อุปาทานขันธ์ คือ สัญญา อุปาทานขันธ์ คือ สังขาร อุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ

ก็ทุกขสมุทยอริยสัจเป็นไฉน ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ

ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัยตัณหานั้น นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ

ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 นี้แหละ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ 4 เหล่านี้แล เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(127)

ลักษณะคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงเป็นแบบธรรมาธิษฐานมีปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะในอภิธรรมปิฏกเกือบทั้งสิ้น จะเป็นการสอนแบบแสดงธรรมล้วนๆ เท่าที่ยกมาแสดงไว้ที่นี้พอเป็นตัวอย่างเท่านั้น

3. ลักษณะคำสอนที่เป็นโลกุตตรธรรมมุ่งความหลุดพ้น ลักษณะคำสอนที่เป็นปรมัตถสัจจะที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ เป็นคำสอนที่เป็นโลกุตตรธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ความพ้นทุกข์ คือ เข้าถึงนิพพาน ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คำสอนที่เป็นโลกุตตรธรรม ก็คือหลักธรรมสำหรับปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น อันได้แก่ ไตรสิกขา อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาท ไตรลักษณ์ สติปัฏฐาน 4 วิปัสสนาญาณ 9 เป็นต้น ล้วนเป็นหลักธรรมสำหรับปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่ภาวะของความพ้นทุกข์ได้ในที่สุด เรียกว่า โลกุตตรธรรม ธรรมอันไม่ใช่วิสัยของโลก เป็นสภาวะที่พ้นโลก อันได้แก่ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 สำหรับหลักธรรมสำหรับปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงโลกุตตรธรรมหรือปรมัตถสัจจะนั้นจะกล่าวถึงต่อไปในหัวข้อข้างหน้า

สรุปว่า ลักษณะคำสอนในระดับปรมัตถสัจจะนั้น เป็นคำสอนที่แสดงถึงลักษณะของ สภาวธรรมที่แท้จริงของสิ่งทั้งปวง มีเนื้อหาครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมทั้งหมด เราจะสังเกตลักษณะคำสอนที่เป็นปรมัตถสัจจะได้ 3 ลักษณะใหญ่ๆ คือ 1. ลักษณะคำสอนที่มุ่งแสดงถึงสภาวธรรมของสิ่งทั้งปวง 2. ลักษณะคำสอนที่แสดงเป็นแบบธรรมาธิษฐาน ที่แสดงด้วยธรรมล้วน ๆ 3. ลักษณะคำสอนที่เป็นโลกุตตรธรรมมุ่งเน้นไปสู่ความพ้นทุกข์ คือ เข้าถึงพระนิพพานเป็นสำคัญ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ลำดับต่อไปจะได้กล่าวถึงหลักธรรมสำหรับปฏิบัติในระดับปรมัตถสัจจะ พอเป็นแนวทางสำหรับปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

หลักธรรมสำหรับปฏิบัติในระดับปรมัตถสัจจะสิ่งที่มีอยู่จริงในพุทธศาสนามี 2 ระดับ ดังกล่าวแล้ว คือ 1. สิ่งที่มีอยู่จริงในระดับสมมติ (สมมติสัจจะ) เป็นความจริงที่มนุษย์สมมติบัญญัติแต่งตั้งขึ้น ลักษณะคำสอนในระดับสมมติสัจจะ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้มนุษย์ปุถุชนผู้ปรารถเพียงแค่ความสุขในระดับโลกิยะประพฤติปฏิบัติ ดังได้กล่าวมาแล้วในเรื่องหลักธรรมสำหรับปฏิบัติในระดับสมมติสัจจะ 2. สิ่งที่มีอยู่จริงในระดับปรมัตถ์ (ปรมัตถสัจจะ) เป็นความจริงแท้ที่มีอยู่ เป็นอยู่ตามสภาวะที่แท้จริงของตนเอง เป็นความจริงที่ไม่ขึ้นอยู่กับการแต่งตั้ง การรับรู้หรือการปฏิเสธของมนุษย์ ซึ่งได้แก่ความจริง 4 ประการ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ความจริงทั้ง 4 ประการนี้ว่าโดยแนวทางแห่งการปฏิบัติธรรมในระดับปรมัตถสัจจะนี้ จุดมุ่งหมายอยู่ที่นิพพาน ซึ่งเป็นภาวะของความสิ้นทุกข์ โดยพิจารณาปรมัตถธรรมทั้ง 3 ประการให้เห็นตามความเป็นจริงตามสภาวธรรมของสิ่งนั้น จนได้ข้อสรุปว่า จิต เจตสิก รูป เป็นสภาว-ธรรมที่มีอยู่จริง แต่เป็นสังขตธรรม คือ ยังเป็นธรรมที่ยังถูกปัจจัยปรุงแต่ง มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามเหตุปัจจัย ตกอยู่ในสามัญญลักษณะ 3 ประการ คือ ไม่เที่ยง (อนิจฺจํ) เป็นทุกข์ (ทุกฺขํ) และเป็นสิ่งที่หาตัวตนไม่ได้ (อนตฺตา) จนสามารถพัฒนาจิตให้ละเอียดจนบรรลุถึงนิพพาน อันเป็นที่สิ้นสุดของกิเลส และความทุกข์ทั้งปวง

ดังนั้น จุดมุ่งหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรมในทางพุทธศาสนาก็เพื่อให้เข้าถึงความจริงสูงสุด คือ นิพพาน แต่เนื่องจากนิพพานเป็นสภาวธรรมที่สุขุมคัมภีรภาพ ยากที่มนุษย์ปุถุชนที่หนาไปด้วยกิเลสจะเข้าถึงได้โดยง่าย และวิธีการที่จะรู้และเข้าใจเข้าถึงนิพพานได้นั้นไม่ใช่สิ่งที่จะกระทำได้โดยง่าย แต่จะรู้และเข้าใจนิพพานได้อย่างแจ่มแจ้ง ก็ด้วยอาศัยการปฏิบัติในหลักธรรมชั้นสูงซึ่งเป็นโลกุตตรธรรมเท่านั้น วิธีการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงนิพพานนั้น ไม่มีใครสามารถปฏิบัติแทนกันได้ใครต้องการจะดับทุกข์ให้ได้อย่างเด็ดขาดก็ต้องปฏิบัติเอาเอง พระพุทธเจ้าเองพระองค์ก็ทรงยืนยันว่า พระองค์เป็นแต่เพียงผู้บอกทางให้เท่านั้น ส่วนใครจะเดินไปบนเส้นทางไปสู่พระนิพพานนั้นก็เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละบุคคลที่จะลงมือปฏิบัติเอง ดังพระพุทธดำรัสว่า ตุมเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา ปฏิปนฺนา ปโมกฺขนฺติ ฌายิโน มารพนฺธนา ฯ(128)แปลว่า ท่านทั้งหลายพึงทำความเพียรเครื่องยังกิเลสให้เร่าร้อนพระตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้บอก ชนทั้งหลายผู้ดำเนินไปแล้วผู้เพ่งพินิจ จะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมารได้.

เมื่อว่าถึงทางหรือวิธีปฏิบัติเพื่อที่จะเข้าถึงนิพพานนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้หลายทางตามจริตและอุปนิสัยบารมีของแต่ละบุคคลที่มีไม่อินทรีย์แก่อ่อนไม่เท่ากัน บางคนฟังธรรมแค่เพียงหัวข้อที่ยกขึ้นแสดงก็ได้บรรลุธรรมแล้ว บุคคลประเภทนี้เรียกว่า อุคฆติตัญญูบุคคล แต่ยังมีบุคคลที่ยังต้องการคำอธิบายอีก 2 ประเภท คือ วิปจิตัญญูบุคคล และเนยยบุคคล ส่วนบุคคลประเภทที่ 4 อธิบายอย่างไรก็เหนื่อยเปล่าเพราะไม่มีประโยชน์อะไร เรียกว่า ปทปรมบุคคล ดังนั้น การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าเพื่อให้เข้าถึงพระนิพพานนั้น จึงมีหลายทางตามความเหมาะสมของบุคคลนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางไปเชียงใหม่ ก็ไม่ได้มีทางไปทางเดียว เราสามารถไปได้หลายทาง เช่น จะเดินทางด้วยเครื่องบินก็ได้ เดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางก็ได้ เดินทางไปด้วยรถยนต์ส่วนตัวก็ได้เดินทางไปด้วยพาหนะอย่างอื่นก็ได้หรือจะเดินทางไปด้วยเท้าก็ได้ ตามความสะดวก และความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ถ้าบุคคลตั้งใจที่จะเดินทางไปแล้ว ท้ายที่สุดก็ถึงเชียงใหม่เหมือนกัน วิธีการปฏิบัติธรรมโดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่นิพพานนั้นก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงวิธีปฏิบัติสำหรับเข้าถึงนิพพานนั้นหลายทาง ตามความเหมาะสมของอุปนิสัยบารมีของแต่ละบุคคลที่มีไม่เท่ากัน แต่ทุกทางก็รวมลงอยู่ในหลักของไตรสิกขา

ไตรสิกขา ได้แก่ ปฏิปทาที่ตั้งไว้เพื่อศึกษา คือ ข้อปฏิบัติเพื่อฝึกหัดดัดกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยดีงามตามลำดับ จนสามารถบรรลุถึงพระนิพพานในที่สุด มี 3 ประการ ดังนี้ 1. สีลสิกขา ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกฝน อบรม ควบคุมรักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อยดีงาม ปราศจากโทษแก่ตนเอง และบุคคลอื่น เป็นการปรับสภาพกายวาจาให้สมดุลเสมอภาคกัน เมื่อรักษากายวาจาได้แล้ว ก็จะเป็นพื้นฐานในการเจริญสมาธิได้ดี, 2. จิตตสิกขา ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกฝน อบรม ควบคุม รักษาจิตให้เข้มแข็งมั่นคงแน่วแน่ เหมาะแก่การใช้งานในการคิดพิจารณา เมื่อจิตมั่นคงแน่วแน่ก็จะเป็นพื้นฐาน คือ เหมาะที่จะเจริญปัญญาต่อไป, 3) ปัญญาสิกขา ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกหัดอบรมปัญญา ให้รู้บาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น ตลอดถึงรอบรู้สภาวธรรมตามตามความเป็นจริง อันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งนั้นเอง จนจิตหลุดพ้นเป็นอิสระ ปราศจากกิเลส และความทุกข์ทั้งปวง(129)

สิกขาทั้ง 3 ประการนี้ เมื่อปฏิบัติขั้นอุกกฤษฎ์อย่างสูง เพื่อมุ่งความหลุดพ้นแล้วท่านเรียกว่า อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ซึ่งเมื่อปฏิบัติให้ได้ครบทั้ง 3 ประการอย่างสมบูรณ์แล้ว ก็จะสามารถที่บรรลุถึงพระนิพพานได้ ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ในภวสูตรว่า ไตรสิกขาเป็นไฉน คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ควรศึกษาในไตรสิกขานี้ ดูกรภิกษุทั้งหลายเธอเป็นผู้มีสิกขาอันได้ศึกษาแล้วในไตรสิกขานี้ เมื่อนั้น ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า ได้ตัดตัณหาขาดแล้ว คลายสังโยชน์ได้แล้ว ได้ทำที่สุดทุกข์ เพราะละมานะได้โดยชอบฯ(130)

หลักของไตรสิกขานี้เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาแล้ว สามารถสงเคราะห์ลงในอริยมรรคมีองค์ 8 ได้เพราะทางที่จะดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์เข้าถึงพระนิพพาน ส่วนใหญ่จะต้องปฏิบัติไปตามทางของอริยมรรคมีองค์ 8 ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ว่าทางมีองค์แปด ประเสริฐกว่าทางทั้งหลาย ธรรมอันพระอริยะเจ้าพึงถึง 4 ประการประเสริฐกว่าสัจจะทั้งหลายวิราคธรรมประเสริฐกว่าธรรมทั้งหลาย พระตถาคตผู้มีจักษุประเสริฐกว่าสัตว์สองเท้และอรูปธรรมทั้งหลาย ทางนี้เท่านั้นเพื่อความหมดจดแห่งทัศนะ ทางอื่นไม่มี เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายจงดำเนินไปตามทางนี้แหละ เพราะทางนี้เป็นที่ยังมารและเสนามารให้หลง ด้วยว่าท่านทั้งหลายดำเนินไปตามทางนี้แล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เราทราบชัดธรรมเป็นที่สลัดกิเลสเพียงดังลูกศรออก บอกทางแก่ท่านทั้งหลายแล้ว(131)

ดังนั้น ในที่นี้จะกล่าวถึงวิธีปฏิบัติหรือหลักธรรมสำหรับปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทาง คือ พระนิพพานนั้นแต่เพียงทางเดียว คือ วิธีการปฏิบัติตามทางแห่งอริยมรรคมีองค์ 8 ก่อนที่จะกล่าวถึงวิธีปฏิบัติให้เข้าถึงความจริงสูงสุดนั้น ควรที่จะทำความเข้าใจในความจริงอันประเสริฐในพระพุทธศาสนา 4 ประการ ที่เรียกว่า อริยสัจ เบื้องต้นก่อนเพราะเป็นความจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นความจริงที่ห่างไกลจากข้าศึกคือกิเลสได้อย่างสิ้นเชิง นิพพานซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรมก็จัดเป็นอริยสัจข้อหนึ่งในอริยสัจ 4 คือ นิโรธสัจ และอริยมรรคมีองค์ 8 ที่จะกล่าวถึงต่อไปก็เป็นอริยสัจข้อหนึ่งในอริยสัจ 4 คือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาหรือมรรคสัจนั่นเองอริยสัจ 4 สิ่งที่มีอยู่จริงหรือความจริงอย่างประเสริฐในพุทธศาสนา เรียกว่า อริยสัจ คือความจริงอย่างยิ่ง ความจริงของพระอริยเจ้า เป็นความจริงที่ทำปุถุชนให้เป็นพระอริยะได้มี 4 ประการ ดังนี้ 1. ทุกข์ ความจริงคือทุกข์ ได้แก่ สภาพที่ทนได้ยาก สภาพที่คงทนอยู่ไม่ได้เพราะถูกบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้น และความดับสลาย เนื่องจากต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ไม่ขึ้นต่อตัวมันเอง, 2. ทุกขสมุทัย ความจริงคือสมุทัย ได้แก่ เหตุให้เกิดทุกข์ หมายถึง ตัณหา 3 คือ กามตัณหา 1 ภวตัณหา 1 วิภวตัณหา 1, 3. ทุกขนิโรธ ความจริงคือนิโรธ คือ ความดับทุกข์ หมายถึง พระนิพพาน เรียก สั้น ๆ ว่านิโรธ

4) ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความจริง คือ มรรค ได้แก่ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หมายถึง มรรคมีองค์ 8

อริยสัจทั้ง 4 ประการนี้ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า เป็นความจริงที่แท้จริง ทรงแนะนำชักชวนให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายศึกษาความจริงทั้ง 4 ประการนี้อย่างจริงจังเพราะถ้าศึกษาเข้าใจแล้วนำไปปฏิบัติตามอริยสัจทั้ง 4 นี้แล้วย่อมสามารถพ้นจากความทุกข์ได้ อริยสัจ 4 ประการนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตราบใดที่พระองค์ยังไม่ทรงรู้แจ้งในอริยสัจทั้ง 4 ประการนี้ พระองค์จะยังไม่ปฏิญญาว่าเป็น สัมมาสัมพุทธะ ตราบนั้น ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ในสัมมาสัมพุทธสูตรว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ 4 ประการนี้ 4 ประการเป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ อริยสัจ 4 ประการนี้แลดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะได้ตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการนี้แล ตามความเป็นจริง ตถาคตเขาจึงกล่าวว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(132)

และทรงแสดงอริยสัจว่า เป็นความจริงอันประเสริฐที่มีอยู่คู่กับโลกนี้ไม่ว่า พระพุทธเจ้าในอดีตหรือพระพุทธเจ้าที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคตก็ต้องตรัสรู้อริยสัจ 4 นี้ ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ในอรหันตสูตรว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดในอดีตกาลตรัสรู้แล้วตามความเป็นจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นตรัสรู้แล้วซึ่งอริยสัจ 4 ตามความเป็นจริง ถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล จักตรัสรู้ตามความเป็นจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดแล้ว จักตรัสรู้อริยสัจ 4 ตามความเป็นจริง ถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบัน ตรัสรู้อยู่ตามความเป็นจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดนั้น ตรัสรู้อยู่ซึ่งอริยสัจ 4 ตามความเป็นจริง อริยสัจ 4 เป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ ... ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ก็พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล ตรัสรู้แล้วตามความเป็นจริง ... จักตรัสรู้ตรัสรู้อยู่ตามความเป็นจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดนั้น ตรัสรู้อยู่ซึ่งอริยสัจ 4 ตามความเป็นจริง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตาม ความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(133)

อริยสัจทั้ง 4 ประการดังกล่าวมาแล้วนั้น ถือว่า เป็นหลักคำสอนที่สมบูรณ์ที่สุดในตัว คือ มีสภาพที่เป็นปัญหา คือ ทุกข์ มีสาเหตุของทุกข์ คือ สมุทัย มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนคือนิโรธ หรือนิพพาน มีวิธีการสำหรับปฏิบัติให้เข้าถึงนิโรธนั้นได้ด้วยมรรค ดังนั้นหลักธรรมสำหรับปฏิบัติเพื่อเข้าถึงนิพพานสามารถดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง ก็คือ อริยมรรคมีองค์ 8

วิธีปฏิบัติตามทางแห่งอริยมรรคมีองค์ 8 ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ที่เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ 8  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง พระพุทธเจ้าทรงแสดงครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงทางสุดโต่ง 2 สายอันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ

1. กามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตนให้พัวพันหมกมุ่นอยู่ในกามสุข เป็นทางสุดโต่งสายหนึ่ง

2. อัตตกิลมถานุโยค การประกอบตนให้ลำบากเปล่า คือ ความพยายามเพื่อบรรลุผลที่หมายด้วยวิธีทรมานตนเองเป็นทางสุดโต่งอีกสายหนึ่งทางสุดโต่ง 2 สายนี้พระพุทธเจ้าได้เคยปฏิบัติมาแล้วก่อนที่จะได้ตรัสรู้ แต่ทาง 2 สายนั้นก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ได้เลย ทางสุดโต่งสายที่1 คือ กามสุขัลลิกานุโยคนั้น เป็นเหตุให้คนมัวเมาลุ่มหลงอยู่แต่ในกามสุข เป็นทางที่ย่อหย่อนเกินไป ทางสุดโต่งสายที่ 2 คือ อัตตกิลมถานุโยคนั้น เป็นทางที่ทำให้ตนเองทรมานเปล่าๆ เป็นเหตุให้จิตใจฟุ้งซ่านกระสับกระส่ายไม่เป็นสมาธิ เป็นการประกอบตนให้ลำบากเปล่า

พระพุทธเจ้าทรงแสดงทางสายใหม่ที่ทรงค้นพบ คือ ทางสายกลางที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาเป็นทางสายตรงสายเดียวที่จะนำบุคคลให้ไปสู่โมกขธรรมคือความหลุดพ้นได้ ดังข้อความที่ปรากฏใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรว่า พระผู้มีพระภาครับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คืการประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชนไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1 การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ 1 ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.(134)

มัชฌิมาปฏิปทาหรืออริยมรรคมีองค์ 8 นั้น คือปฏิปทาทางสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ 8 นี้แหละ คือปัญญาอันเห็นชอบ 1 ความดำริชอบ 1 เจรจาชอบ 1 การงานชอบ 1 เลี้ยงชีวิตชอบ 1 พยายามชอบ 1 ระลึกชอบ 1 ตั้งจิตชอบ 1 ดูกรภิกษุทั้งหลายนี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่งทำดวงตาให้เกิดทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพาน(135)

อริยมรรคมีองค์ 8 นี้ เป็นทางดำเนินไปสู่ความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสยืนยันถึงผลของการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ 8 ว่า ตราบใดที่ยังมีคนปฏิบัติอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8 นี้ ตราบนั้น โลกนี้จักไม่ว่างจากพระอริยบุคคลเลย ดังข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่สุภัททปริพาชกไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัย ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่1 สมณะที่ 2 สมณะที่ 3 หรือสมณะที่ 4 ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 หรือที่ 4 ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3หรือที่ 4 ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบโลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ.(136)

อริยมรรคมีองค์ 8 ประกา ร(137) มีดังนี้

1. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจ 4 ประการ คือ 1. ความรู้ในทุกข์ (ทุกขอริยสัจ), 2. ความรู้ในเหตุเกิดแห่งทุกข์ (ทุกขสมุทัยอริยสัจ), 3. ความรู้ในความดับทุกข์ (ทุกขนิโรธอริยสัจ), 4. ความรู้ในข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ)

2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ มี 3 ประเภท คือ 1. เนกขัมมสังกัปปะ ดำริจะออกจากกาม คือ ดำริในการออกบวชเพื่อแสวงหาความหลุดพ้น, 2. อัพยาปาทสังกัปปะ ดำริในอันไม่พยาบาทปองร้ายใคร, 3. อวิหิงสาสังกัปปะ ดำริในอันไม่เบียดเบียนใคร

3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริต 4 อย่าง คือ 1. เว้นจากการพูดเท็จ, 2. เว้นจากการพูดส่อเสียด, 3. เว้นจากการพูดคำหยาบ, 4. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

4. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ คือ การกระทำที่เว้นจากความประพฤติชั่วทางกาย ที่เรียกว่ากายทุจริต 3 อย่าง คือ 1. เว้นจากการฆ่าสัตว์ทุกชนิด, 2. เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้, 3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม คือ เว้นจากความประพฤติที่ไม่เป็นพรหมจรรย์

5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากการเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด เช่น โกงเขา หลอกลวงเขา สอพลอ บีบบังคับขู่เข็ญ ค้าคน ค้ายาเสพติด ค้ายาพิษ เป็นต้น และสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ

6. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือ เพียรในที่ 4 สถาน ได้แก่ สัมมัปปธาน 4 คือ 1. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน คือ ตั้งใจสำรวมอินทรีย์ 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้ความยินดี ยินร้ายเกิดขึ้น เมื่อตาเห็นรูป หูฟังเสียง เป็นต้น, 2. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วในสันดาน คือ ตั้งใจละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วในสันดานให้หมดสิ้นไป, 3. ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน คือ ตั้งใจสร้างคุณความดี คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ที่ยังไม่เกิด ก็ทำให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็ทำให้เจริญมากขึ้น, 4. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วในสันดานให้คงอยู่ตลอดไป คือ ตั้งใจรักษาความดี รักษากุศลที่มีอยู่แล้วไม่ให้เสื่อมไป

7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือระลึกในสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ มี 4 ประการ คือ

1) กายานุปัสสนา การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย คือ การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันกายและเรื่องทางกาย โดยตั้งสติพิจารณากายเป็นอารมณ์ว่า กายนี้สักแต่ว่ากายไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเรา เขา

2) เวทนานุปัสสนา การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา คือ การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันเวทนา ทั้งที่เป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนาเป็นอารมณ์ว่า เวทนานี้ก็สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา

3) จิตตานุปัสสนา การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต คือ การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันจิตว่าเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ว่า จิตนี้ก็สักแต่ว่าจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา และการตั้งสติพิจารณาอาการของจิตที่ประกอบไปด้วยกิเลสว่าหดหู่หรือฟุ้งซ่าน เผื่อแผ่หรือคับแคบ ขยันหรือเกียจคร้าน เป็นต้น ตามความเป็นจริง

4) ธัมมานุปัสสนา การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม คือ การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันธรรม ทั้งที่เป็นกุศลธรรม และอกุศลธรรม ที่เกิดกับใจเป็นอารมณ์ว่าธรรมนี้ก็สักแต่ว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา

8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ จิตมั่นชอบคือสมาธิที่เจริญตามแนวทางของฌาน 4 ด้วยการเจริญสมถกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานเป็นอุบายสงบใจ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสมถ-ภาวนาภาวนาเป็นอุบายสงบใจ ธรรมที่เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐานหรือสมถภาวนานั้น เช่น กสิน 10 (วัตถุอันเป็นเครื่องจูงใจหรือทำใจให้ผูกอยู่ในอารมณ์) อสุภะ 10 (อารมณ์อันไม่งาม เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด) อนุสติ 10 (อารมณ์ที่ควรระลึก) พรหมวิหาร หรือ อัปป- มัญญา 4 (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของท่านผู้ใหญ่) อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 (พิจารณาอาหารที่บริโภคให้เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด) จตุธาตุววัตถาน 1 (พิจารณาธาตุ 4 ที่ปรากฏใน ร่างกาย) อรูปกัมมัฏฐาน 4 (การเพ่งพิจารณาในอรูปฌาน 4 )

เมื่อพิจารณาอารมณ์ของกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งจนจิตตั้งมั่นแน่วแน่ดิ่งลงไปในอารมณ์กัมมัฏฐานประเภทนั้น ๆ ไม่กลับกลอก ละเอียดสุขุมจนเกิดอารมณ์เป็นหนึ่ง เรียกว่า เอกัคคตารมณ์ เป็นอัปปนาสมาธิ จนจิตบรรลุฌาน 4 คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ตามลำดับ จิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิในฌานนั้นย่อมมีกำลัง พร้อมที่จะเกิดปัญญาญาณอันจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสถึงสัมมาสมาธิว่า สัมมาสมาธิเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอบรรลุ ทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้นเพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไปบรรลุ ตติยฌานที่พระอริยทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ฯ.(138)

ทางดำเนินไปของอริยมรรคมีองค์ 8 นี้ เป็นทางสำหรับปฏิบัติไปสู่ความหลุดพ้นอริมรรคมีองค์ 8 นั้นไม่ใช่มี 8 ทาง ทางที่จะดำเนินไปมีทางเดียว แต่คนที่จะเดินทางไปบนเส้นทางแห่งความหลุดพ้นนั้น จะต้องประกอบไปด้วยอริยมรรคทั้ง 8 ประการ อริยมรรคมีองค์ 8 นั้นต้องประกอบพร้อมกันเสมอ จะเลือกปฏิบัติเพียงข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ เราจะสังเกตเห็นว่า อริยมรรคมีองค์ 8 นั้น มีข้อปฏิบัติทั้งที่เป็นสมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ คือ อริยมรรคที่เป็นส่วนของสีลสิกขา คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นหลักปฏิบัติในระดับสมมติสัจจะ ซึ่งกำหนดไว้ก็เพื่อเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติในระดับปรมัตถสัจจะในขั้นสูงต่อไป คือ ก่อนที่จะขัดเกลากิเลสอย่างละเอียดก็ต้องขัดเกลากิเลสอย่างหยาบให้ได้เสียก่อน ด้วยการอบรมกาย และวาจาให้เรียบร้อยด้วยสีลสิกขา คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ เมื่ออบรมกายวาจาให้ได้แล้วก็อบรมจิตให้มั่นคงเป็นสมาธิด้วยจิตตสิกขา คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ และในที่สุดก็เจริญปัญญาด้วยสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ อริยมรรคมีองค์ 8 นี้ ต้องปฏิบัติให้ได้ครบทั้ง 8 ประการ จนรวมเป็นหนึ่งเกิดเป็นองค์สามัคคี เรียกว่า มัคคสมังคี แล้วจึงขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อทำลายกิเลสและกองทุกข์ต่อไป ในอริยมรรคมีองค์ 8 ข้อที่สำคัญที่สุดคือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ถ้าสัมมาทิฏฐิไม่เกิดท่านกล่าวว่า อริยมรรคข้ออื่นก็ไม่เกิด เมื่อสัมมาทิฏฐิเกิดอริยมรรคข้ออื่นก็เกิดตามมาเอง ดังพระพุทธดำรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง 7 นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ เมื่อมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ จึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึง พอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะจึงพอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการนี้แล พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ 8 จึงเป็นพระอรหันต์ประกอบด้วย องค์ 10 ฯ.(139)

ดังนั้นท่านจึงจัดสัมมาทิฏฐิเป็นข้อต้น อริยมรรคมีองค์ 8 จะขับเคลื่อนไปได้ก็ด้วยสัมมาวายามะ ความเพียรชอบเป็นตัวขับเคลื่อนไป โดยมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวชี้ทางเป็นตัวคุมในการเดินทางไปตลอดสาย และมีอริยมรรคที่เหลือทั้งหมดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของพาหนะในการเดินทาง จนกว่าจะเดินไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง คือ ความดับทุกข์เข้าถึงนิโรธ คือ พระนิพพานในที่สุด

หน้าที่ของมรรค 8 เมื่อปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยมรรคเกิดขึ้นแล้วย่อมทำหน้าที่ 4 ประการ ดังนี้ 1. นิยยานัตถะ ในอรรถว่าขนสัตว์ออกจากวัฏฏสงสาร คือ การเวียนว่ายตายเกิด, 2. เหตวัตถะ ในอรรถว่าเป็นเหตุแห่งพระนิพพานอันเป็นการดับเพลิงกิเลส และเพลิงทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง, 3. ทัสสนัตถะ ในอรรถว่า ให้เห็นพระนิพพาน ด้วยดวงตา คือ ปัญญาที่ทำหน้าที่ขจัดอวิชชาออกไปจากใจได้อย่างแท้จริง, 4. อธิปปเตยยะ ในอรรถว่า เป็นอธิบดีในวิมุตติญาณทัสสนะ คือ ความรู้และความเห็นในวิมุตติ ได้แก่ สภาพจิตที่หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส และความทุกข์ ที่ทำให้กิเลสและความทุกข์ไม่เกิดขึ้น ภายในใจของท่านตลอดไป ไม่ว่าจะประสบกับอารมณ์ที่รุนแรงอย่างไรก็ตาม(140)

อริยมรรคทั้ง 8 ประการนี้เป็นภาเวตัพพธรรม เป็นธรรมที่ควรทำให้มีขึ้นให้เกิดขึ้นให้ได้เพื่อความดับทุกข์ เพื่อก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดของการปฏิบัติตามโลกุตตรธรรม ไตรลักษณ์เมื่อจิตเป็นสมาธิมีกำลังแก่กล้า ด้วยผ่านการปฏิบัติตามอริยมรรคจนจิตบรรลุถึงขั้นจตุตถฌานแล้ว ต่อจากนั้นก็ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาด้วยการพิจารณาไตรลักษณ์ คือ ลักษณะ3 ประการ ดังนี้ 1. อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง และแตกสลายไปในที่สุด, 2. ทุกขตา ความเป็นทุกข์หรือความเป็นของทนอยู่ไม่ได้ สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ เพราะทนอยู่ตามสภาพเดิมของตนเองไม่ได้ ถูกบีบคั้นด้วยความเปลี่ยนแปลง และมีความขัดแย้งในตนเอง, 3. อนัตตตา ความเป็นของไม่ใช่ตัวตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา คือ ทั้งที่สังขาร และวิสังขารเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพราะไม่มีตัวตนที่แท้จริง และไม่มีใครบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาของตนได้

พระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ ในอนิจจสูตร ว่าด้วยความเป็นไตรลักษณ์แห่งขันธ์ 5 ว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น เวทนาไม่เที่ยง ... สัญญาไม่เที่ยง ... สังขารไม่เที่ยง ... วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตาสิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรานั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเราเมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความจริงอย่างนี้ จิตย่อมคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้นจากอาสวะ ทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.(141)

คำสอนเรื่องไตรลักษณ์นี้เป็นหลักคำสอนที่ให้ละความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องตัวตน อันเป็นเหตุให้เกิดความยึดถือว่าเป็นตัวตน (อหังการ) เป็นของของตน (มมังการ) ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว เป็นเหตุให้มนุษย์เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอย่างไม่รู้จักจบสิ้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องไตรลักษณ์ไว้ก็เพื่อให้พิจารณาละความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน)ว่าเป็นตัวเป็นตนให้ได้เสียก่อน จึงจะสามารถพ้นจากความทุกข์ได้วิปัสสนาญาณ 9 เมื่อจิตเป็นสมาธิที่แน่วแน่มั่นคงจากอริยมรรคแล้ว ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาพิจารณาไตรลักษณ์ ในที่สุดก็เกิดปัญญาญาณ เกิดญาณในวิปัสสนาตามลำดับวิปัสสนาญาณ คือ ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนามี 9 ประการ ดังนี้

1. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป, 2. ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมา, 3. ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว, 4. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นโทษ, 5. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นความหน่าย, 6. มุจจิตุกัมยตาญาณ ญาณหยั่งรู้อันให้ใคร่จะพ้นไปเสีย, 7. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง, 8. สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร, 9. สัจจานุโลกมิกญาณ ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจ(142) บางทีท่านก็สงเคราะห์วิปัสสนาญาณ 9 นี้ลงในวิสุทธิ 7

วิสุทธิ 7 วิสุทธิ คือ หลักธรรมสำหรับปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์ มี 7 ประการ ดังนี้ 1. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีลที่รักษาตามภูมิของตน, 2. จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต คือ จิตที่สงบบริสุทธิ์ปราศจากนิวรณธรรม, 3. ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ, 4. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย, 5. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่า ทางหรือมิใช่ทาง, 6. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติเมื่อปฏิบัติถึงวิสุทธิลำดับที่ 6 นี้ก็เป็นการได้วิปัสสนาญาณ 9 ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นตามลำดับ เกิดความบริสุทธิ์หมดจดสะอาดดีแห่งปัญญาเป็นเครื่องเห็นทางดำเนินไปแห่งวิปัสสนาที่จะทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งและตัดกิเลสได้, 7. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ ได้แก่ อริยมรรคญาณทั้ง 4 คือ โสดาปัตติมัคคญาณ 1 สกทาคามิมรรคญาณ 1 อนาคามิมัคคญาณ 1 อรหัตตมัคคญาณ 1 เป็นญาณลำดับสุดท้ายของวิปัสสนา เมื่ออรหัตตมัคคญาณเกิดขึ้น ก็ทำหน้าที่กำจัดอวิชชาได้อย่าง สิ้นเชิง สามารถทำลายกิเลส และกองทุกข์ลงได้อย่างเด็ดขาด วิสุทธิ 7 ประการนี้ เป็นหลักธรรมที่ต้องปฏิบัติต่อเนื่องกันโดยลำดับ วิสุทธิ 7 แต่ละข้อย่อมเป็นปัจจัยส่งต่อกันไป จนถึงพระนิพพาน ท่านเปรียบเหมือนรถ 7 พลัด ส่งต่อกันเป็นลำดับ ดังพระพุทธดำรัสว่า สีลวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่จิตตวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ทิฏฐิวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิเป็นประโยชน์แก่กังขาวิตรณวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นประโยชน์แก่ญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณทัสสนวิสุทธิเป็นประโยชน์แก่อนุปาทาปรินิพพาน(143)

สัมมาญาณ 3 หลังจากผ่านวิปัสสนาญาณทั้ง 9 มาตามลำดับแล้ว เมื่อญาณที่หยั่งรู้อริสัจเกิดขึ้น สัมมาญาณ คือ ความรู้ในทางที่ชอบก็เกิดขึ้นเป็นลำดับต่อมา สัมมาญาณ 3 คือ 1. สัจจญาณ รู้ว่า อะไรเป็นอะไร ในอริยสัจ 4 ประการนั้น รู้ว่า นี้เป็นทุกข์ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี้เป็นความดับทุกข์ นี้เป็นปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์, 2. กิจจญาณ รู้กิจหรือหน้าที่ที่ควรทำในอริยสัจแต่ละข้อว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นสิ่งที่ควรละ นิโรธเป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง และมรรคเป็นสิ่งที่ควรเจริญให้มีขึ้น ให้เกิดขึ้น, 3. กตญาณ รู้ว่า ได้ทำแล้ว คือ รู้ว่า ทุกข์ที่ควรกำหนดรู้ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยที่ควรละได้ละแล้ว นิโรธที่ควรทำให้แจ้งได้ทำให้แจ้งแล้ว มรรคที่ควรเจริญให้มีขึ้นให้เกิดขึ้นก็ได้เจริญแล้ว

เมื่อญาณทั้ง 3 นี้เกิดขึ้นในอริยสัจ 4 ครบเป็นอาการ 4 วน 3 เป็น 12 ญาณแล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น เมื่อวิชชาเกิดขึ้น อวิชชาก็ดับไป เมื่อวิชชาเกิดขึ้น แสงสว่างก็เกิดขึ้น เมื่อแสงสว่างเกิดขึ้นความมืดก็ดับไป ในที่สุดจิตก็เข้าไปสู่กระแสพระนิพพานบรรลุ โลกุตตรธรรมทั้ง 9 ประการ คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับ อันเป็นการสิ้นสุดกระบวนการของกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง การปฏิบัติตามหลักธรรมในระดับปรมัตถสัจจะเพื่อมุ่งไปสู่ความหลุดพ้นก็เป็นอันเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนานิกายเถรวาท

สรุปได้ว่า หลักธรรมสำหรับปฏิบัติในระดับปรมัตถสัจจะนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีเนื้อหาที่ลึกซึ้ง เพราะเป็นธรรมในระดับโลกุตตรธรรม ต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้โดยตลอดเสียก่อนแล้ว คือ ศึกษาให้เกิดความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) ให้ได้เสียก่อน แล้วจึงปฏิบัติตามหลักธรรมในระดับปรมัตถสัจจะนั้นอย่างจริงจัง

คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติ ถ้าไม่นำไปปฏิบัติอย่างจริงจังก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรมากนัก คงไม่แตกต่างอะไรจากคัมภีร์ที่อยู่ในตู้แล้วไม่ได้นำมาศึกษาให้รู้ และเข้าใจ โดยเฉพาะถ้าจะปฏิบัติธรรมในระดับปรมัตถสัจจะหรือในระดับโลกุตตรธรรมแล้ว จะต้องตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังจึงจะเกิดผลเป็นความหลุดพ้น คือ เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่จริงสูงสุดในทางพุทธศาสนานิกายเถรวาท คือ พระนิพพานได้ จากพระพุทธพจน์ที่ว่า ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 หรือที่ 4 ….ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8 ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3หรือที่ 4 ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบโลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ.(144)

สรุปได้ว่า ตราบใดที่ยังมีบุคคลประพฤติปฏิบัติอยู่ในอริยมรรคมีองค์ 8 ตราบนั้นโลกนี้จะก็จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลายเลย จากข้อความข้างต้นนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้ามีบุคคลปฏิบัติธรรมในระดับปรมัตถสัจจะอย่างจริงจังแล้ว ก็ย่อมสามารถที่จะสัมผัสความสงบสุขที่เกิดจากการได้บรรลุโลกุตตรธรรมนั้นอย่างแน่นอน

------------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

(1) ม. . 13 / 657 / 602 - 605., (2) พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) , พุทธธรรม , พิมพ์ครั้งที่ 5 , กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย , 2532., หน้า 55., (3) สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ , ธรรมานุกรม , กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย , 2515., หน้า 265., (4) อง. ติก. 20 / 576 / 368., (5) ที. มหา. 10 / 89 / 111., (6) มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , อภิธัมมัตถสังคหบาลีและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ฉบับแปลเป็นไทย , กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ,2506., หน้า 1., (7) พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) , พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์,พิมพ์ครั้งที่ 4 , (กรุงเทพฯ : บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์จำกัด , 2531) , หน้า 43., (8) เรื่องเดียวกัน , หน้า 49., (9) เรื่องเดียวกัน , หน้า 253., (10) เรื่องเดียวกัน , หน้า 125., (11) มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 6, หน้า 21., (12) พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต), อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 7 , หน้า 411., (13) ขุ. . 29 / 807 / 501., (14) ขุ. . 29 / 319 / 214., (15) มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 11 , หน้า 22., (16) พระอาจารย์ประเดิม (โกมโลภิกขุ) , อธิบายพระปรมัตถธรรม , กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์บริษัทคณะช่าง จำกัด , 2499. หน้า 12 - 13., (17) สํ. . 17 / 259 / 184., (18) สํ. . 15 / 180 / 54., (19) อง. เอก. 20 / 50 - 51 / 11., (20) อง. เอก. 20 / 49 / 11., (21) มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 15 , หน้า 163., (22) สุจินต์ บริหารวนเขตต์ , ปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขปและภาคผนวก ,กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จงเจริญการพิมพ์ , 2530. หน้า 130 - 138., (23) เรื่องเดียวกัน , หน้า 352 - 353., (24) พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ , ปรมัตถโชติกะ หลักสูตรจูฬอาภิธัมมิกะตรี :จิต เจตสิก รูป นิพพาน ,กรุงเทพ : โรงพิมพ์ไพศาลวิทยา , 2501. หน้า 9., (25) บุญมี เมธางกูร , วรรณสิทธิ์ ไวทยะเสวี , คู่มือการศึกษาพระอภิธรรมมัตถสังคหะปริจเฉทที่1 - 9 , พิมพ์ครั้งที่1 , (กรุงเทพฯ : สุทธิสารการพิมพ์ , 2521) ,หน้า 30 - 31., (26) มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 21 , หน้า 2., (27) เรื่องเดียวกัน , หน้า 2., (28) พระอาจารย์ประเดิม (โกมโลภิกขุ) , อ้างแล้วเชิงอรรถที่16 , หน้า 57., (29) มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 27 , หน้า 3., (30) พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) , อ้างแล้วเชิงอรรถที่12 , หน้า 253., (31) มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 29 , หน้า 5., (32) เรื่องเดียวกัน , หน้า 6., (33) พระอาจารย์ประเดิม (โกมโลภิกขุ) , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 28 , หน้า 184., (34) มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่31 , หน้า 7., (35) เรื่องเดียวกัน , หน้า 8., (36) เรื่องเดียวกัน , หน้า 9., (37) พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 30 , หน้า 386., (38) มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 34 , หน้า 76., (39) เรื่องเดียวกัน , หน้า 77., (40) มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 34 , หน้า 23 - 24., (41) พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 37 , หน้า 253., (42) สํ. . 17 / 105 / 66., (43) อภิ. สํ. 34 / 503 / 184., (44) อภิ. สํ. 34 / 501 / 184., (45) มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 40 , หน้า 280., (46) พระมหาแสวง โชติปาโล , อภิธัมมัตถสังเขป, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บริษัท ส.พยุงพงศ์ จำกัด , 2503., หน้า 254., (47) มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 45 , หน้า 281., (48) เรื่องเดียวกัน , หน้า 282., (49) อภิ. วิ. 35 / 115 / 101., (50) อภิ. วิ. 35 / 116 / 102., (51) อภิ. วิ. 35 / 117 / 103., (52) พระอาจารย์ประเดิม โกมโลภิกฺขุ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 33 , หน้า 202., (53) อภิ. วิ. 35 / 118 / 104., (54) พระอาจารย์ประเดิม โกมโลภิกฺขุ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 52 , หน้า 215., (55) อภิ. สํ. 34 / 516 / 195., (56) อภิ. สํ. 34 / 517 / 197., (57) อภิ. สํ. 34 / 518 / 199., (58) อภิ. สํ. 34 / 519 / 200., (59) อภิ. สํ. 34 / 520 / 202., (60) อภิ. สํ. 34 / 521 / 204., (61) อภิ. สํ. 34 / 522 / 207., (62) อภิ. สํ. 34 / 523 / 209., (63) อภิ. สํ. 34 / 524 / 210., (64) พระอาจารย์ประเดิม โกมโลภิกฺขุ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 54 , หน้า 245 - 246., (65) อภิ. สํ. 34 / 525 / 212., (66) พระอาจารย์ประเดิม โกมโลภิกฺขุ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 64 , หน้า 248., (67) อภิ. สํ. 34 / 526 / 213., (68) พระอาจารย์ประเดิม โกมโลภิกฺขุ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 68 , หน้า 251., (69) อภิ. สํ. 34 / 527 / 213., (70) ที. ปา. 11 / 244 / 240., (71) อภิ. สํ. 34 / 538 / 214., (72) อภิ. สํ. 34 / 530 / 213., (73) อภิ. วิ. 35 / 119 / 105., (74) พระอาจารย์ประเดิม โกมโลภิกฺขุ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 68 , หน้า 266., (75) อภิ. สํ. 34 / 528 / 213., (76) อภิ. สํ. 34 / 529 / 213., (77) อภิ. สํ. 34 / 531 / 214., (78) อภิ. สํ. 34 / 532 / 214., (79) อภิ. สํ. 34 / 533 / 214., (80) อภิ. สํ. 34 / 534 / 214., (81) พระอาจารย์ประเดิม โกมโลภิกฺขุ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 74 , หน้า 282., (82) เรื่องเดียวกัน , หน้า 282 - 283., (83) สํ. . 15 / 803 / 303., (84) อภิ. ธมฺม. 34 / 535 / 214., (85) อภิ. สํ. 34 / 536 / 214., (86) อภิ. สํ. 34 / 537 / 214., (87) วิ. มหา. 4 / 16 / 22., (88) พระอาจารย์ประเดิม โกมโลภิกฺขุ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 81 , หน้า 186., (89) พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 24 , หน้า 174., (90) มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 88 , หน้า 24 - 25., (91) ขุ. ขุ. 25 / 159 / 207., (92) อง. ติก. 20 / 495 / 202., (93) อภิ. . วิภงฺค. 189 / 91., (94) ขุ. ขุ. 25 / 158 / 206., (95) ขุ. ขุ. 25 / 160 / 207., (96) ขุ. ขุ. 25 / 161 / 208., (97) อง. จตุกฺก. 21 / 45 / 62., (98) ม. มู. 12 / 321 / 323., (99) สํ. . 19 / 1014 / 298., (100) ม. . 13 / 287 / 281., (101) ที. มหา. 10 / 54 / 57., (102) ขุ. . 25 / 25 / 42., (103) ขุ. อิติ. 25 / 270 / 298., (104) สํ. นิ. 16 / 192 / 91., (105) ขุ. อุ. 25 / 49 / 83., (106) ขุ. อุ. 25 / 50 / 85., (107) มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 90 , หน้า 290., (108) กรมศิลปากร , ปัญหาพระยามิลินท์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ , กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ รุ่งเรืองธรรม , 2506., หน้า 290 - 294., (109) เรื่องเดียวกัน , หน้า 296., (110) สุชีโวภิกฺขุ , หลักพระพุทธศาสนา (คู่มือผู้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา), กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย , 2500., หน้า 74., (111) มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 107 , หน้า 289., (112) ขุ. ขุ. 25 / 222 / 258., (113) ขุ. ขุ. 25 / 222 / 258., (114) ขุ. เถร. 26 / 393 / 392., (115) มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 111 , หน้า 289., (116) ขุ. ปฏิ. 31 / 470 / 354., (117) ขุ. ปฏิ. 31 / 470 / 354., (118) พระอาจารย์ประเดิม (โกมโลภิกขุ) , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 115 , หน้า 309 -313., (119) ขุ. ปฏิ. 31 / 470 / 354., (120) พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) , อ้างแล้วเชิงอรรถที่41 , หน้า 281., (121) ขุ. ขุ. 25 / 17 / 27., (122) มหามกุฏราชวิทยาลัย , มิลินทปัญหา , พิมพ์งานฉลองพระชนมายุ 80 ปี สมเด็จพระญาณสังวร (สุวัฑฒนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก , กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย , 2536., หน้า 34 - 41., (123) สํ. . 17 / 242 - 246 / 171 - 174., (124) สํ. . 17 / 247 / 174., (125) ม. อุ. 14 / 244 / 169., (126) สํ. . 17 / 91 / 56., (127) สํ. . 19 / 1678 - 1682 / 534., (128) ขุ. ขุ. 25 / 30 / 51., (129) ที. ปา. 11 / 228 / 231., (130) อง. ปญฺจก. 22 / 376 / 494., (131) ขุ. . 25 / 30 51., (132) สํ. . 19 / 17031704 / 543 ., (133) สํ. . 19 / 1704 / 543., (134) วิ. มหา. 4 / 13 / 17., (135) วิ. มหา. 4 / 13 / 17., (136) ที. มหา. 10 / 138 / 175., (137) ที. มหา. 10 / 299 / 348., (138) ที. มหา. 10 / 299 / 349., (139) ม. อุ. 14 / 279 / 187., (140) พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ), นิเทศธรรม, กรุงเทพฯ : ธีรพงษ์การพิมพ์ , 2537 , หน้า 322., (141) สํ. . 17 / 91 / 56., (142) พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตโต) , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 120 , หน้า 276 -277., (143) ม. มู. 12 / 298 / 295., (144) ที. มหา. 10 / 138 / 175.

 

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ , พิมพ์ครั้งที่ 4 , บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด : กรุงเทพมหานคร , 2531.

-----------. พุทธธรรม , พิมพ์ครั้งที่ 5 , โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย: กรุงเทพมหานคร , 2532.

บุญมี เมธางกูร , วรรณสิทธิ์ ไวทยะเสวี. คู่มือการศึกษาพระอภิธรรมมัตถสังคหะปริจเฉทที่ 1 - 9 , พิมพ์ครั้งที่1 , สุทธิสารการพิมพ์ : กรุงเทพมหานคร, 2521.

พระอาจารย์ประเดิม. (โกมโลภิกขุ) อธิบายพระปรมัตถธรรม , โรงพิมพ์บริษัทคณะช่างจำกัด : กรุงเทพมหานคร , 2499.

มหามกุฏราชวิทยาลัย ,มูลนิธิ. พระไตรปิฎก , พิมพ์ครั้งที่ 4 , โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย : กรุงเทพมหานคร , 2538.

----------. มิลินทปัญหา , พิมพ์งานฉลองพระชนมายุ 80 ปี สมเด็จพระญาณสังวร (สุวัฑฒนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย : กรุงเทพมหานคร , 2536.

-----------. อภิธัมมัตถสังคหบาลีและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกาฉบับแปลเป็นไทยพิมพ์น้อมถวายเป็นพระมหาราชานุสรณ์ เฉลิมพระเกียรติ,โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย : กรุงเทพมหานคร , 2506.

มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย . ทีฆนิกายฏฺฐกถา(สุมงฺคลวิลาสินี) , มชฺฌิมนิกายฏฺฐกถา(ปปญฺจสูทนี) , อภิธมฺมฏฺฐกถา วิภงฺควณฺณนา (สมฺโมหวิโนทนี) ,โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร , 2533.

พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ) นิเทศธรรม,ธีรพงษ์การพิมพ์: กรุงเทพมหานคร, 2537.

กรมศิลปากร. ปัญหาพระยามิลินท์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ , โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม:กรุงเทพมหานคร , 2506.

พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ. ปรมัตถโชติกะ หลักสูตรจูฬอาภิธัมมิกะตรี : จิต เจตสิก รูป นิพพาน , พิมพ์ครั้งที่ 2 ,โรงพิมพ์ไพศาลวิทยา:กรุงเทพมหานคร , 2501.

สุจินต์ บริหารรวนเขตต์. ปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขปและภาคผนวก , โรงพิมพ์จงเจริญการพิมพ์ : กรุงเทพมหานคร , 2530.

สุชีโวภิกฺขุ.หลักพระพุทธศาสนา ( คู่มือผู้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา ) , โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย : กรุงเทพมหานคร , 2500.

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ , ธรรมานุกรม , กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย , 2515.

พระมหาแสวง โชติปาโล. อภิธัมมัตถสังเขป , โรงพิมพ์บริษัท ส.พยุงพงศ์ จำกัด :กรุงเทพมหานคร , 2503.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML