ความหมายของสวรรค์ในพระไตรปิฎก
สวรรค์ เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา
เป็นที่แห่งความสุข ความดี ทุกคนจึงต้องการที่จะไปเสวยสุขในสวรรค์กันทั้งนั้น
มีผู้รู้หลายท่านได้กล่าวถึงความหมาย ดังนี้
พระเทพมุนี (วิลาศ ญาณวโร) (2527: 525) กล่าวถึงความหมายของสวรรค์ว่า สวรรค์
หมายถึง เทวโลกหรือแดนสุขาวดี กล่าวคือ โลกที่เต็มไปด้วยความสุขล้วนๆ
โลกที่ปราศจากความทุกข์ ความเดือดร้อนโดยสิ้นเชิง
โลกที่เต็มไปด้วยความสุขในโลกียารมณ์ โลกทิพย์ที่อยู่อาศัยของพวกมีกายทิพย์หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
เทวภูมิ คือ ภูมิเป็นที่อยู่ของผู้เพลิดเพลินสนุกสนานไปด้วยเบญจพิธกามคุณารมณ์
พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (2528: 306) กล่าวว่า สวรรค์ หมายถึง แดนอันดีเลิศ
ภพที่เลิศด้วยกามคุณ 5 หรือโลกที่มีแต่ความสุข โลกของเทวดา
โดยทั่วไปแล้ว หมายถึง กามาพจรสวรรค์ คือ
สวรรค์ที่ยังต้องเกี่ยวข้องอยู่กับการเสพกามคุณ
พระบาฬีลิปิกรม (2532: 1647)
ได้ให้ความหมายของสวรรค์ว่า สวรรค์ คือ ที่อันเลิศด้วยสมบัติทั้งหลาย มีรูป
เป็นต้น กล่าวคือ โลกที่ล้ำเลิศสมบูรณ์พูนสุขด้วยกามคุณ 5
พุทธทาสภิกขุ (2541: 41) กล่าวว่า สวรรค์ หมายถึง
โลกของผู้เสวยกามารมณ์ และสุขเวทนาที่เลิศ กล่าวคือ
ผู้อาศัยอยู่ในโลกนี้ยังมีการเสพกาม และเสวยเวทนา ด้วยอายตนะทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ดุจเดียวกับมนุษย์โลก
เพียงแต่บัญญัติให้ประณีต และดีกว่าเท่านั้น แต่ก็จัดเป็นโลกิยวิสัย
เพราะยังติดอยู่ในเกลียวของวัฏฏสงสาร
พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ) (2542: 19) ให้ความหมายคำว่า สวรรค์ หมายถึง
สถานที่เพลิดเพลิน รื่นเริง มีความสุข โดยให้ความหมายไว้สองนัย คือ
ผู้ที่เกิดในสถานที่เพลิดเพลิน รื่นเริงบันเทิง ชื่อว่า เกิดในสวรรค์ และจิตใจของผู้ใดมีความเพลิดเพลิน
บันเทิง มีความสุข ผู้นั้นชื่อว่า ได้อยู่บนสวรรค์
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน (2546: 1143) นิยามคำว่า สวรรค์ไว้
คือ โลกของเทวดา เมืองฟ้า ซึ่งสมบูรณ์พูนสุข ด้วยความสะดวกสบายที่ดีเลิศ
จากความหมายที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายได้กล่าวไว้
สามารถสรุปได้ว่า สวรรค์ หมายถึง โลกอีกโลกหนึ่งที่เพียบพร้อมไปด้วยกามสุขทั้ง 5 หรือสถานที่อยู่ของเทวดาทั้งหลายในสวรรค์ชั้นกามาพจร
ยังมีสวรรค์ชั้นรูปพรหม และอรูปพรหมอีก
ประเภทของสวรรค์ในพระไตรปิฎก สวรรค์ในพระไตรปิฎกนั้น
ก็เป็นไปตามภูมิหรือบุญกรรมที่ได้ทำไว้ในครั้งยังเป็นมนุษย์ซึ่งแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ 1 สวรรค์ชั้นกามาวจร 6 ชั้น
ซึ่งมีข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในจูฬนีสูตร คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์
ยามา ดุสิต นิมานรดี ปรนิมมิตวสวัสดี (อัง.ติ. 20/275)
สวรรค์ชั้นกามาวจรมี 6 ชั้นเป็นสวรรค์ประเภทที่
1 คือ จาตุมหาราชิกา
ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมานรดี ปรนิมมิตวสวัสดี
ส่วนประเภทที่ 2 นั้นเป็นสวรรค์ชั้นรูปาวจร
ปรากฎข้อความในสังขารูปปัตติสูตรว่า
สวรรค์ชั้นรูปาวจรปฐมฌาน 3 ชั้น คือ
พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา, สวรรค์ชั้นรูปาวจรทุติยฌาน 3 ชั้น
คือ ปริตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา, สวรรค์ชั้นรูปาวจรตติยฌาน 3 ชั้น คือ ปริตตสุภา
อัปปมาณสุภา สุภกิณหา, สวรรค์ชั้นรูปาวจรจตุตถฌาน 7 ชั้น คือ เวหัปผลา อสัญญสัตว์
อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฎฐา (ม.อุ. 14/192-198)
สวรรค์ชั้นรูปาวจรมี 16 ชั้น เป็นสวรรค์ประเภทที่ 2 โดยที่ขั้นปฐมฌานมี 3 ชั้น คือ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา,
ขั้นทุติยฌานมี 3 ชั้น คือ ปริตาภา อัปปมาณาภา
อาภัสสรา, ขั้นตติยฌานมี 3 ชั้น คือ ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา, ขั้นจตุตถฌานมี
7 ชั้น คือ เวหัปผลา อสัญญสัตว์ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฎฐา
สวรรค์ชั้นอรูปภูมิเป็นสวรรค์ประเภทที่
3 มี 4 ชั้น คือ อากาสานัญจายตนภูมิ
วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ และ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ มีข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในอาเนญชสูตรว่า
. . . อากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า
“อากาศไม่มีที่สุด” . . . หลังจากตายแล้วเข้าถึง. . .ชั้นอากาสานัญจายตนะ . . . แล้วปรินิพพานในภพนั้นแล
. . . (องฺ.ติก. (ไทย) 20/117/359), . . . วิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า
“วิญญาณไม่มีที่สุด” . . . หลังจากตายแล้วเข้าถึง. . .ชั้นวิญญาณัญจายตนะ . . . สิ้นอายุ.
. . แล้วปรินิพพานในภพนั้นแล . . ., . . . อากิญจัญญายตนฌานโดยกำหนดว่า
“ไม่มีอะไร” อยู่ . . . หลังจากตายแล้วเข้าถึง. . .ชั้นอากิญจัญญายตนะ . . . ดำรงอยู่ในชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นจนสิ้นอายุ
. . . ส่วนสาวกของพระผู้มีพระภาคดำรงอยู่ในชั้นอากิญจัญญายตนะนั้นจนสิ้นอายุ . . .
(องฺ.ติก. (ไทย) 20/117/360), . . .อากาสานัญจายตนฌานว่าเป็นอากาสานัญจายตนฌาน
ในวิญญาณัญจายตนฌานว่าเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน ในอากิญจัญญายตนฌานว่าเป็นอากิญจัญญายตนฌาน
ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานว่าเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ในโลกนี้ว่าเป็นโลกนี้ ในโลกหน้าว่าเป็นโลกหน้า
แต่ต้องมีสัญญา” (องฺ.ทสก. (ไทย) 24/6/10)
อรูปภูมิเป็นสวรรค์ประเภทที่ 3 มี 4 ชั้น คือ อากาสานัญจายตนภูมิ
วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ และ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ
สรุปแล้วว่า ประเภทของสวรรค์ในพระไตรปิฎกนั้นมี
3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่
1 สวรรค์ชั้นกามาวจร 6 ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา
ดุสิต นิมานรดี ปรนิมมิตวสวัสดี ส่วนประเภทที่ 2 นั้นเป็นสวรรค์ชั้นรูปาวจร
ปฐมฌาน 3 ชั้น คือ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา, สวรรค์ชั้นรูปาวจรทุติยฌาน
3 ชั้น คือ ปริตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา, สวรรค์ชั้นรูปาวจรตติยฌาน
3 ชั้น คือ ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา, สวรรค์ชั้นรูปาวจรจตุตถฌาน 7 ชั้น คือ
เวหัปผลา อสัญญสัตว์ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฎฐา และสวรรค์ชั้นอรูปภูมิเป็นสวรรค์ประเภทที่
3 มี 4 ชั้น คือ
อากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ และ
เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ
------------------------------------------------------
เอกสารและสิ่งอ้างอิง
พระไตรปิฎกภาษาไทย
ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2539. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง. 2521. กรุงเทพมหานคร:
กรมศาสนา.
พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต).
2528. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์.
กรุงเทพมหานคร:
โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ).
2542. พรรณนาสวรรค์. กรุงเทพมหานคร:
โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.
พุทธทาสภิกขุ.
2541. คู่มือมนุษย์ ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพมหานคร:
สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.
พระเทพมุนี (วิลาศ ญาณวโร).
2527. วรรณกรรมไทยเรื่องภูมิวิลาสินี. กรุงเทพมหานคร:
โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม.
พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตสถาน. 2542. กรุงเทมหานคร:
สำนักพิมพ์นานมีบุ๊ค.
พระบาฬีลิปิกรม.
2532. กรุงเทพมหานคร:
โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น