ปรัชญานาคารชุน (Nagarajuna)

 


ปรัชญานาคารชุน (Nagarajuna)

 นาคารชุน ที่มาของชื่อของท่านนั้น มีข้อสันนิษฐานหลายประการ กล่าวคือ บางทัศนะมีความเห็นว่า การที่ท่านได้ชื่อว่า นาคารชุน เพราะท่านสามารถปราบเหล่าพญานาคทั้งหลายได้ บางทัศนะเห็นว่า ท่านเกิดมาพร้อมกับสัจธรรมที่ลึกซึ้งเช่นเดียวกับพญานาคที่ออกมาจากมหาสมุทร บางทัศนะเห็นว่า ท่านมีหลักปรัชญาที่ลึกซึ้งเหมือนกับมหาสมุทร บางทัศนะเห็นว่า ท่านเกิดใต้ต้นไม้ที่มีชื่อคล้ายพญานาค จึงได้ชื่อว่า นาคารชุน เป็นต้น

ประวัติของท่านนาคราชุนนั้น ไม่มีความชัดเจน มีความคิดที่เห็นขัดแย้งกันจากหลายแหล่งข้อมูล บางแห่งก็แสดงไว้ในเชิงประวัติศาสตร์ซึ่งก็มีข้อมูลที่ต่างกัน ส่วนบางแห่งก็แสดงไว้ในฐานะเป็นตำนานที่ประกอบด้วยอภินิหารและเรื่องอัศจรรย์ต่างๆมากกว่าข้อเท็จจริง ดังนั้น จึงจะขอนำเสนอเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์และประเด็นที่เป็นตำนานตามลำดับดังต่อไปนี้

1) ประเด็นทางประวัติศาสตร์ แสดงไว้ว่า ท่านนาคารชุน เกิดที่เมืองวิทารภะ แคว้นโกศล ในรัชสมัยของพระเจ้าโคตรมีบุตรแห่งราชวงศ์อันธระ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 -7 หรือราวคริสตศตวรรษที่ 2 (A.D. 150-250) (Kalupahana, David J., 1992 : 160) แต่ชีวประวัติในตอนที่เกี่ยวกับการสิ้นชีวิตของท่านนั้นไม่มีความชัดเจน บางข้อมูลแสดงไว้ว่า ท่านมีอายุยืนยาวมากนับได้ร้อยๆ ปี บางแห่งแสดงว่า ท่านสิ้นชีวิต ณ มหาวิหารแห่งหนึ่งที่เมืองอมราวดี ในแคว้นอันธระ ปัจจุบันในอินเดียตอนใต้ยังมีโบราณสถานแห่งหนึ่งซึ่งมีซากสถูปเจดีย์ชื่อว่า นาคารชุนโกณฑะ (อภิชัย โพธิประสิทธิ์ศาสตร์, 2527 : 160) บางทัศนะแสดงไว้ว่า ในบั้นปลายชีวิตท่านอาศัยอยู่ที่ วัดศรีปรวตะ แคว้นอันธระ (Santina, P.D., 1986 : 17)

2) ประเด็นที่เป็นตำนานที่บันทึกเป็นภาษาทิเบตแสดงไว้ว่า นาคารชุนออกบวชตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงคำทำนายว่า ท่านจะอายุสั้น เมื่อบวชแล้วได้ศึกษาศิลปวิทยาการต่างๆ จนแตกฉานเป็นที่ยอมรับนับถือ จนกระทั่งครั้งหนึ่งพญานาคได้นิมนต์ท่านให้ไปแสดงธรรม ณ เมืองบาดาล ท่านนาคารชุนจึงได้ไปพบคัมภีร์ปรัชญา ปารมิตาสูตร ซึ่งเป็นคัมภีร์มหายานที่เก่าแก่ และมีชื่อเสียงมากที่สุด ท่านจึงนำคัมภีร์ดังกล่าวมาเผยแผ่ในโลกมนุษย์ เพราะท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถจึงเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์ และชนชั้นสูง ท่านช่วยให้คนเหล่านั้นมีอายุยืนนาน จนเป็นที่ไม่พอใจของพระราชวงศ์บางองค์ ท่านเหล่านั้นจึงขอให้พระนาคารชุนสละชีวิตเพื่อถวายเป็น พระราชกุศล ท่านนาคารชุนก็ยินยอม หลังจากท่านเสียชีวิตแล้วได้ไปอุบัติในแดนสุขาวดีพุทธเกษตรของพระอมิตาภพุทธเจ้า เพื่อรอคอยเวลาที่จะกลับมาช่วยเหลือสรรพสัตว์ในอนาคตกาล ซึ่งตรงกับยุคของพระพุทธเจ้าพระนามว่า ศรีอาริยเมตไตรย (Williams Paul, 1989 : 56)

ส่วนอีกตำนานหนึ่งแสดงไว้ว่า นาคารชุน เกิดในตระกูลพราหมณ์ ก่อนที่ท่านจะมีอายุได้ 7 ขวบบิดามารดาได้ตัดสินใจส่งท่านออกบวชเพื่อหลีกเลี่ยงคำทำนายว่านาคารชุนจะอายุสั้น ท่านได้เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา และได้เข้าศึกษาเล่าเรียนในสำนักของท่านราหุลภัทระ ซึ่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยนาลันทา ท่านมีความเก่งกาจ ความเชี่ยวชาญในทุกศาสตร์ที่ศึกษาจนเป็นที่ไม่พอใจเพราะความอิจฉาริษยาของภิกษุกลุ่มอื่น วันหนึ่งในขณะที่ท่านกำลังอภิปรายปัญหาธรรมอยู่ มีพญานาคสองตนแปลงกายเป็นเด็กมาเที่ยวเล่นบนโลกมนุษย์ เมื่อได้ยินเสียงท่านอภิปรายธรรมจึงหนีลงไปยังเมืองบาดาล ท่านนาคารชุนได้ตามพญานาคลงไป และได้ไปพบคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาจึงได้นำมาเผยแผ่ยังโลกมนุษย์

หลักการของท่านนาคารชุนเป็นเรื่องยากต่อการเข้าใจของคนทั่วไป เพราะเต็มไปด้วยการโต้แย้งเชิงเหตุผลที่ซับซ้อนและลึกซึ้ง บรรดานักปราชญ์ชาวตะวันตกยุคหลังที่ได้อ่านคัมภีร์ของนาคารชุนแล้ว ต่างก็ต้องยอมรับว่า นาคารชุนเป็นนักตรรกวิทยา ที่ยิ่งใหญ่ของโลกไม่มีปราชญ์ชาวตะวันตกผู้ใดจะเทียบได้ แม้แต่พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานเองต่างก็ยอมรับในอัจฉริยภาพด้านพุทธปรัชญาของท่าน และยกย่องท่านไว้อย่างสูงสุดในฐานะ พระพุทธเจ้าองค์ที่สอง

นาคารชุน มีลูกศิษย์ที่สำคัญ คือ อารยเทวะ ซึ่งมีงานเขียนที่สำคัญคือคัมภีร์จตุศตกะ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่วิพากษ์แนวความคิดระบบอื่นๆ ของพระพุทธศาสนา และระบบปรัชญาฮินดู 6 สำนัก โดยปกติถือว่า นาคารชุนและอารยเทวะเป็นผู้ก่อตั้งนิกายมาธยมิกะที่แท้จริง

ท่านนาคารชุนมีผลงานการแต่งคัมภีร์มหายานที่สำคัญมากมาย ดังต่อไปนี้

1) คัมภีร์มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ มีเหลืออยู่เพียงฉบับภาษาจีนที่ กุมารชีวะได้แปลไว้ คัมภีร์เล่มนี้หากถือเอาตามตำนานแสดงไว้ว่า ท่านนาคารชุนไปค้นพบ ณ เมืองบาดาล

2) คัมภีร์มูลมัธยมิกะการิกา ส่วนใหญ่เรียกว่า มัธยมิกะการิกา ทั้งสองคัมภีร์นี้ถือว่านับเป็นผลงานที่สำคัญที่สุดของนิกายมาธยมิกะ

3) คัมภีร์ทวาทศทวารศาสตร์

4) คัมภีร์ศูนยตาสัปตติ

5) คัมภีร์วิครหวยาวรตนี

6) คัมภีร์ยุกติศศติกา

7) คัมภีร์รัตนาวลี

8) คัมภีร์ประตีตยสมุตปาทหฤทยการิกา (Hajime Nakamura, 1999 : 236-243)

นิกายมาธยมิกะมีความเห็นขัดแย้งกับแนวคิดในพระอภิธรรมที่ยอมรับว่า จิต เจตสิก รูป และนิพพาน เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงหรือมีแก่นแท้ (สวภาวะ) โดยปฏิเสธความมีอยู่ของสภาวธรรมเหล่านั้น เพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นความจริงสมมติ ไม่มีอยู่จริง ไม่มีสิ่งใดเลยที่มีอยู่เอง เป็นอยู่เองอย่างอิสระโดยไม่ต้องอิงอาศัยสิ่งอื่นๆ สรรพสิ่งล้วนต้องอาศัยสิ่งอื่นเกิดขึ้นและเป็นไป (สัมพัทธ์)เมื่อสภาวธรรมเหล่านั้นไม่มีแก่นแท้ เกิดขึ้นด้วยตัวเองไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ว่างเปล่า ซึ่งเป็นที่มาของคำสอนสำคัญ คือ สุญญตา (ศูนยตา) ปฏิจจสมุปบาท และเรื่องความจริง ดังจะนำเสนอตามลำดับ ดังต่อไปนี้

นาคารชุนใช้คำว่า สุญญตา (ภาษาสันสกฤต คือ ศูนยตา) เรียกการที่สรรพสิ่งไม่มีลักษณะที่เป็นแก่นสารในตัวเอง ไม่มีสิ่งใดที่มีอยู่จริงๆ หรือเป็นอยู่อย่างอิสระจากสิ่งอื่นๆ (สวภาวะ) ความมีอยู่ของสิ่งหนึ่งๆ ต้องขึ้นอยู่กับความมีอยู่ของสิ่งหนึ่งๆ การมีอยู่ของสรรพสิ่งล้วนต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกันที่เรียกว่า สัมพัทธภาวะ ดังนั้น สรรพสิ่งจะว่าไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่ แต่จะว่ามีอยู่แบบที่คนทั่วๆไปเข้าใจก็ไม่ใช่ เพราะคนทั่วไปมักเข้าใจว่า สรรพสิ่งมีอยู่จริงด้วยตัวมันเองหรือมีอยู่อย่างอิสระ ดังนั้น สิ่งใดก็ตามที่ต้องอาศัยสิ่งอื่นเพื่อความมีอยู่ สิ่งนั้นเรียกว่า ว่าง หรือ สุญญตา เป็นสิ่งสมมติ และเป็นทางสายกลาง (สุมาลี มหณรงค์ชัย, 2546 : 65) ดังนั้น สิ่งใดก็ตามอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น สิ่งนั้นเป็นสุญญตา สิ่งใดเป็นสุญญตา แสดงว่าสิ่งนั้นอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น

นอกจากคำว่า สุญญตา จะหมายถึง การที่สภาวธรรมทุกอย่างไม่มีความเป็นจริงในตัวเองหรือมีแก่นแท้ในตัวเองแล้ว นิกายมาธยมิกะยังใช้คำว่า สุญญตา ในความหมายสิ่งที่เป็นความจริงสูงสุดอีกด้วย กล่าวคือ สุญญตา เป็นความจริงเสมอในการใช้วิเคราะห์ความมีอยู่ของสรรพสิ่ง ในความหมายนี้สุญญตาไม่ใช่แนวความคิดหรือทฤษฎีอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นแต่เพียงคำอธิบายความมีอยู่ของสรรพสิ่งเท่านั้น เพราะถ้ามองว่าสุญญตาเป็นแนวความคิดอย่างหนึ่งจะทำให้เกิดการตีความในฐานะสิ่งที่มีอยู่อีกภาวะหนึ่ง ยิ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นอีกมากมาย

สุญญตาจึงไม่ใช่แนวความคิดทฤษฎีแบบใดแบบหนึ่ง เป็นเพียงคำที่นิกายมาธยมิกะใช้เรียกความไม่มีแก่นแท้ของสรรพสิ่งเท่านั้น สุญญตาไม่ใช่ตัวภาวะหรือสิ่งที่มีอยู่อีกภาวะหนึ่ง เป็นทางสายกลางระหว่างแนวความคิดที่ยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่า มี และแนวความคิดที่ยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่าไม่มี คือสูญ สุญญตาจึงไม่เอนเอียงไปทางยืนยันหรือปฏิเสธใดๆ เพราะการกล่าวว่า มีอยู่ แสดงถึงความเที่ยงแท้ (สัสสตทิฏฐิ) ส่วนการกล่าวว่า ไม่มีอยู่ ก็แสดงถึงความขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ) ดังนั้น จึงไม่ควรยึดมั่นทั้งการมีอยู่ และการไม่มีอยู่ทั้งสองอย่าง (Kalupahana, David J., 1992 : 354) ดังนั้น หลักสุญญตา จึงใช้เพื่อหลักเลี่ยงการโน้มเอียงไปในสองแนวความคิดหลัก คือ พวกที่ยืนยันความมีอยู่แบบเที่ยงแท้แน่นอนที่เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ และพวกที่ปฏิเสธความมีอยู่ของสรรพสิ่ง ที่เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ

มีบางกลุ่มเข้าใจว่าสุญญตาเป็นอุจเฉททิฏฐิเช่นเดียวกัน แต่เมื่อว่าโดยความจริงแล้ว สุญญตาไม่ได้มีความหมายในเชิงปฏิเสธแบบขาดสูญเพราะไม่ได้บอกว่าไม่มีอะไร เพียงแต่แสดงว่า สรรพสิ่งๆไม่มีแก่นแท้ เพราะต้องอิงอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น

คำว่า ปฏิจจสมุปบาท มาจากภาษาบาลีว่า ปฏิจจ (ปฏิจฺจ) แปลว่า อิงอาศัยกันและกัน และคำว่า สมุปบาท (สมุปฺปาท) แปลว่า เกิดขึ้นพร้อม แปลรวมทั้งสองศัพท์ว่า การที่ธรรมทั้งหลายอาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น (พระพรหมคุณาภรณ์, 2550 : 189) หมายถึง การที่สรรพสิ่งเป็นปัจจัยเอื้อแก่กันในการเกิดขึ้น หรือ การอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้นของสรรพสิ่ง

นิกายมาธยมิกะก็ให้ความสำคัญกับหลักปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกัน โดยการนำหลักการนี้มาใช้ในการทำความเข้าใจสภาวะทุกสิ่งที่ปรากฏแก่เราว่า ไม่มีแก่นสารในตัวเอง บางครั้งใช้คำว่า ปรากฏการณ์หรือบางครั้งก็ใช้คำว่า มายา แทนสรรพสิ่งล้วนเกิดจากเงื่อนไขต่างๆ ประกอบกันขึ้นมาเช่นเดียวกับหลักการของปฏิจจสมุปบาท ถึงแม้ สิ่งนั้นๆ จะมีอยู่ก็มีอยู่แบบอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น (สัมพัทธ์) ดังนั้น จึงไม่สามารถยึดถืออะไรได้เลย เพราะว่างเปล่าจากตัวตน และว่างเปล่าจากการยึดถือใดๆ

ตามทัศนะของนิกายมาธยมิกะ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น และเป็นไปตามกระบวนการของเหตุและปัจจัย เหตุและผลลัพธ์จะต้องเกิดขึ้นร่วม และเป็นไปควบคู่กันไปอย่างไม่ขาดสาย ไม่มีสิ่งใดพิเศษแยกต่างหากจากสิ่งอื่น เมื่อบุคคลเข้าใจกระบวนการปฏิจจสมุปบาท ก็เท่ากับเข้าใจกระบวนการเกิดและการดับของความทุกข์ เพราะการเข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาท ก็คือ การหยั่งรู้อริยสัจ 4 โดยตรง ดังคำกล่าวที่ว่า บุคคลใดหยั่งเห็นการอิงอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เท่ากับว่าบุคคลนั้นหยั่งเห็นความทุกข์ การเกิดขึ้นของความทุกข์ การดับไปของความทุกข์ และหนทางที่จะนำไปสู่ความทุกข์ (Kalupahana, David J., 1992 : 354) ดังนั้น ทางสายกลาง (มาธยมิกะ) ก็คือ การหยั่งรู้ปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือ การอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น และเป็นไปของสรรพสิ่ง เพราะสรรพสิ่งปราศจากการมีอยู่ด้วยตัวเอง (สวภาวะ) ซึ่งเรียกว่า ว่างจากสิ่งที่เป็นแก่นแท้ นั่นคือ ทางสายกลาง คือ ความว่างจากแก่นแท้หรือการยึดถือเอาแก่นสารไม่ได้ ซึ่งก็คือ กระบวนการของปฏิจจสมุปบาท ดังนั้น ทางสายกลาง ความว่าง (สุญญตา) และกระบวนการอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น (ปฏิจจสมุปบาท) จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงอริยสัจ 4 เช่นเดียวกัน จึงมีฐานะเป็นความจริงอันเดียวกัน

สรุปแล้วว่า นิกายมาธยมิกะยอมรับหลักการเรื่องปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกันกับพุทธศาสนานิกายเถรวาท เพื่อใช้ในการอธิบายลักษณะที่ไม่มีแก่นแท้ที่แท้จริง (สวภาวะ) ของสรรพสิ่ง เพราะทุกสิ่งล้วนต้องอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้นเป็นไปทั้งสิ้น จึงว่างเปล่าจากความมีอยู่ในตนเองอย่างแท้จริงที่เรียกว่า สุญญตา ดังนั้น หลักการเรื่องปฏิจจสมุปบาทและสุญญตาจึงเป็นหลักการที่อธิบายถึงความปราศจากลักษณะที่ไร้แก่นสารที่แท้จริงของสรรพสิ่งเช่นเดียวกัน ปฏิจจสมุปบาทและสุญญตาจึงอาจเรียกได้ว่า ทางสายกลางของมาธยมิกะ ซึ่งแตกต่างจากจากทางสายกลางตามหลักคำสอนของนิกายเถรวาทที่มีความหมายไปในเชิงจริยธรรมหรือเป็นแนวทางเพื่อการปฏิบัติ แต่ทางสายกลางของนิกายมาธยมิกะนั้นมีความหมายในเชิงอภิปรัชญา เป็นแนวคิดที่ไม่เกี่ยวกับ การปฏิบัติเท่าใดนัก

ตามทัศนะของนิกายมาธยมิกะ สิ่งที่เรียกว่า ความจริง มีอยู่ 2 ระดับ คือ

1) ความจริงสมมติหรือสมมติสัจ หมายถึง ความจริงที่เราเข้าใจหรือสมมติกันว่าจริง แต่ไม่ใช่ความจริงแท้ ได้แก่ การที่เรารับรู้สิ่งต่างๆว่ามีแก่นสารหรือมีอยู่จริงจากกระบวนการทำงานของความคิด จนทำให้เราเข้าใจไปเองว่าสิ่งที่เรารับรู้นั้นมีแก่นสาร เกิดขึ้นตั้งอยู่แยกต่างหากจากกัน นิกายมาธยมิกะมีทัศนะว่า สรรพสิ่งไม่มีแก่นแท้หรือมีความเป็นจริงในตัวมันเอง สิ่งที่ปรากฏอยู่จะตั้งอยู่ชั่วขณะเท่านั้น ทุกสิ่งจึงมีเพียงลักษณะจำกัด คือ มีแต่รับรู้ไม่ได้ว่าคืออะไร แต่การที่เรารับรู้การมีอยู่ของตัวเราเองและสิ่งต่างๆภายนอกตัวเราล้วนแต่เป็นความคิดที่เราสร้างขึ้นทั้งนั้น กระบวนการทำงานของจิตทำให้เกิดการรับรู้ การยึดมั่นถือมั่น ตลอดจนความรู้สึกต่างๆขึ้น ดังนั้น สรรพสิ่งที่ปรากฏในโลกล้วนเป็นกระบวนการทำงานของจิตทั้งสิ้น จึงไม่มีความเป็นจริงหรือมีแก่นแท้อะไร เป็นสิ่งที่เราให้ค่าความจริงแก่มัน ความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏจึงเป็นเพียงความคิด ไม่ใช่ความจริง เพราะโลกที่ปรากฏเป็นสุญญตาหรือว่างเปล่าจากสิ่งที่เป็นแก่นแท้

2) ความจริงแท้หรือปรมัตถสัจ หมายถึง การหยั่งรู้ปรากฏการณ์ทั้งหลายว่าเป็นสิ่งสมมติ รวมทั้งกฎธรรมชาติ หลักคำสอนและนิพพานก็ล้วนแต่เป็นสิ่งสมมติ แต่คำว่า สมมติ ในที่นี้ หมายถึงการอิงอาศัยปัจจัยอื่นในการมีอยู่ และรับรู้ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น โลกนี้ไม่ได้ว่างเปล่าหรือไม่มีอยู่ในฐานะสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่างจากสิ่งที่เป็นแก่นแท้ โลกเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นไปตามกระบวนการของเหตุและผล กรรมจึงเป็นสิ่งที่ให้ผลได้จริง หลักคำสอนของพุทธศาสนาก็สามารถนำบุคคลให้หลุดพ้นได้จริง เพราะความจริงปรมัตถ์ ก็คือ การหยั่งรู้ความเป็นไปตามธรรมดาของโลก ไม่ใช่ความจริงที่เป็นภาวะสูงสุด และไม่ใช่ความจริงสูงสุดใดๆ ความจริงปรมัตถ์จึงเกิดขึ้นได้ เพราะการรู้ความจริงสมมตินั่นเอง ดังนั้น ความจริงทั้งสองระดับจึงเป็นความจริงในเรื่องเดียวกัน

สรุปได้ว่า ความจริงหรือสัจจะตามทัศนะของนิกายมาธยมิกะมี 2 ชนิด คือ ความจริงสมมติหรือสมมติสัจจะ และความจริงแท้หรือปรมัตถสัจ โดยสมมติสัจจะ หมายถึง ความไม่รู้จริงซึ่งปิดบังความเป็นจริงจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปว่าทุกสิ่ง ทุกอย่างนั้นมีแก่นสาร ส่วนปรมัตถสัจ หมายถึง การหยั่งเห็นปรากฏการณ์ทั้งหลายว่าเป็นสิ่งสมมติ สรรพสิ่งไม่มีอยู่จริง เปรียบเหมือนภาพลวงตาหรือมายา แม้แต่ความหลุดพ้น ก็เป็นสิ่งสมมติ เมื่อยังละสมมติสัจจะไม่ได้ก็ยังบรรลุปรมัตถสัจไม่ได้ ดังนั้น ความจริงแท้ตามทัศนะของนิกายมาธยมิกะจึงไม่มีแก่นสารสาระใดๆ แต่เป็นอิสรภาพหรือความหลุดพ้นจากแก่นสารทั้งปวง

จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้ สรุปหลักการสำคัญของนิกายมาธยมิกะได้ว่า นาคารชุนและสานุศิษย์พยายามที่จะเข้าถึงจุดกึ่งกลางที่ปราศจากนามและรูป อยู่เหนือความคิดและคำพูดทั้งปวง โดยการใช้ตรรกวิทยาอย่างเข้มงวด เพื่อแสดงความเป็นไปไม่ได้หรือความไม่สมเหตุผลของสถานะทางปรัชญาต่างๆ รวมทั้งปรัชญาฮินดูและ พุทธศาสนาสำนักอื่นๆ โดยถือว่า อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกัน (สัมพัทธภาวะ) และขัดกันย่อมเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ในเชิงตรรกวิทยา ด้วยวิธีการที่กล่าวอ้างความไม่สมเหตุสมผลหรือสิ่งที่ขัดแย้งกันนี้ นาคารชุนพยายามพิสูจน์ว่า ความคิดที่มีในโลกนี้ทั้งหมดเป็นความว่างเปล่า (สุญญตา) หรือเป็นสิ่งสัมพัทธ์ (Relative) และชี้ให้เห็นความเชื่อของท่านว่า หนทางที่แท้จริง ก็คือ ทางสายกลาง ได้แก่ หนทางที่อยู่ระหว่างกลาง กล่าวคือ อยู่เหนือจุดปลายสุดทั้งสอง ความเชื่อนี้เรียกว่า ทฤษฏีความว่างเปล่าของสรรพสิ่ง ซึ่งต้องอยู่เหนือประสบการณ์ธรรมดา อย่างไรก็ตาม ความคิดนี้ก็ยังไม่ตายตัว และจัดว่าเป็นเพียงวิธีของการโต้แย้งเท่านั้น

นาคารชุนเสนอทางสายกลางที่อยู่เหนือจุดปลายทั้งสองได้อย่างชัดเจน ในคำกล่าวที่ท่านถือว่าเป็นความจริง 8 ประการของพระพุทธศาสนา คือ ไม่มีอะไรที่จะเกิด ไม่มีอะไรสูญ ไม่มีอะไรเป็นนิรันดร ไม่มีอะไรพบจุดสิ้นสุด ไม่มีอะไรเป็นอย่างเดียวกัน ไม่มีอะไรแตกต่างกัน ไม่มีสิ่งใดเคลื่อนที่มาที่นี้ ไม่มีสิ่งใดเคลื่อนที่ไปสู่ที่นั้น ในการนำเสนอจุดตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ นี้ นาคารชุนสอนว่า อะไรก็ตามที่เรา อาจคิดถึงได้หรืออธิบายเป็นคำพูดได้นั้นเป็นสิ่งไม่สมบูรณ์หรือมีข้อผูกพันกับสิ่งอื่น สิ่งนี้ทำให้นาคารชุนถือว่า การที่คนทั่วไปเห็นว่านิรวาณ (นิพพาน) และสังสาระเป็นสิ่งตรงข้ามกันนั้นเป็นสิ่งผิดพลาด เพราะนิรวาณและสังสาระเป็นศูนยตาเหมือนกัน

เมื่อพิสูจน์ว่า โลกเป็นสิ่งว่างเปล่าหรือมีความสัมพัทธ์ทำให้เกิดปัญหาว่า คนเราจะไปสู่เหนือจุดที่ว่านี้ได้อย่างไร นาคารชุนตอบคำถามข้อนี้ว่า มนุษย์ไม่ได้ถูกตรึงไว้ในโลกนี้ เพราะโลกนี้สามารถเป็นบันไดนำไปสู่สิ่งสัมบูรณ์ กล่าวคือ อยู่เหนือทวิภาวะได้ การเปลี่ยนตำแหน่งซึ่งสามารถมีได้จากโลกนี้ไปสู่ความหลุดพ้น เรียกว่า ทฤษฏีความจริงแท้ 2 อย่าง เป็นความจริงที่มีข้อผูกพัน คือ ความเป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยวิธีการ ทางตรรกวิทยา ข้อเสนอทุกอย่างสามารถหักล้างได้ ลักษณะนี้นำไปสู่การรู้แจ้งว่า ทุกอย่างคือ ความว่างเปล่า และจากความคิดนี้นำไปสู่ความคิดเกี่ยวกับสิ่งสัมบูรณ์ที่อยู่เหนือความคิดทุกอย่าง จุดเชื่อมระหว่างความจริงสองอย่าง (ความจริงสัมพัทธ์และความจริงสูงสุด) ก็คือ พระพุทธเจ้า พระองค์มีประสบการณ์บรรลุความจริงสัมบูรณ์ ซึ่งเป็น สิ่งแสดงด้วยคำพูดไม่ได้ และไม่สามารถรู้แจ้งได้ด้วยความคิดธรรมดา แต่กระนั้นพระองค์ก็กลับมาชี้แจงความจริงนี้ในโลก โดยการกระทำตามทางเส้นนี้ บุคคลสามารถหลุดพ้นได้

ดังนั้น นาคารชุนจึงสอนว่า โดยทางสายกลางของนิกายมาธยมิกะซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกันกับคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า บุคคลจะถูกนำไปสู่ประสบการณ์ที่อยู่เหนือการยืนยันและการปฏิเสธ เหนือความมีอยู่จริงและความไม่มีอยู่จริง นิกายมาธยมิกะจัดเป็นปรัชญาที่เรียกตนเองว่า เป็นหลักแห่งการหลุดพ้น เพราะอ้างว่า สามารถชี้ให้มนุษย์รู้วิธีการที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นได้(อภิชัย  โพธิ์ประสิทธิ์ศาสตร์, 2527 : 107-114)

นาคารชุนได้ใคร่ครวญตรวจสอบท่าทีที่นิ่งเงียบของพระพุทธองค์ต่ออัพยากตปัญหา แล้วสรุปว่า ความเงียบนั้นแหละ คือ สัจภาวะที่อยู่เหนือความคิด จึงใช้วิภาษวิธีนี้ในการอภิปรายปัญหาทุกอย่าง เรียกวิธีนี้ว่า จตุกโกฏิ หรือ จตุกโกณะ แปลว่า สี่มุม (Tetra-Lemma, or Four Coners, or Four Alternatives) มีโครงสร้างสากลดังนี้

1. It is A (Positive Thesis)

2. It is not A (Negative Counter- Thesis)

3. It is both A and not A (Conjunctive Affirmation of the first two)

4. It is neither A nor nor A (Disjunctive Denial of the first two)

 

- ยืนยัน

- ปฏิเสธ

- ทั้งยืนยันและปฏิเสธ

- ทั้งไม่ยืนยันและไม่ปฏิเสธ

เช่น ปัญหาที่ว่าโลกเที่ยงหรือไม่ ก็จะจัดลำดับคำตอบออกมาเป็น ๔ หัวข้อดังนี้

- โลกเที่ยง

- โลกไม่เที่ยง

- โลกทั้งเที่ยงและไม่เที่ยง

- จะว่าโลกเที่ยงก็ไม่ใช่ ไม่เที่ยงก็ไม่ใช่(พระครูสังฆรักษ์จิตรกร สนฺตจิตฺโต (พลเยี่ยม), 2554.)

ทฤษฎีจตุกโกฏิถูกสร้างขึ้นมาก็เพื่อที่จะบอกว่า การตอบปัญหาเกี่ยวกับโลกและชีวิตโดยใช้คำว่า ใช่ (Yes) หรือ ไม่ใช่ (No) นั้น ไม่สามารถให้เข้าถึงคำตอบที่ถูกต้องได้ เป็นการให้คำตอบที่ไม่ยุติธรรมต่อสัจภาวะ จตุกโกฏิของนาคารชุนก็เพื่อจะพิสูจน์ว่าทรรศนะใดๆ ก็ตามที่ใครก็ตามแสดงออกมาไม่ถูกต้อง นาคารชุนสร้างจตุกโกฏิขึ้นมาไม่ได้

จุดประสงค์ที่จะพิสูจน์ทรรศนะของตนเอง เขากล่าวว่า

ถ้าข้าพเจ้าสร้างสมมติฐาน (เหมือนบทตั้ง) ขึ้นมา พวกท่านก็อาจจะพบความบกพร่องเกี่ยวกับสมมติฐานนั้นได้ เนื่องจากข้าพเจ้าไม่มีสมมติฐานที่จะสร้างปัญหาที่จะพิสูจน์ว่ามันจริงหรือไม่จริง จึงไม่เกิดขึ้น

นาคารชุนนำวิภาษวิธีแบบจตุกโกฏิไปใช้ตอบโต้คน 2 พวก คือ

1. พวกยึดถือคัมภีร์หรือศรัทธาโดยไม่ต้องพิสูจน์ (Dogmatist=พวกสิทธันตนิยม)

2. พวกเหตุผลนิยมที่ยืนยันทรรศนะที่แน่นอนเกี่ยวกับสัจภาวะ (Rationalist)

คำว่า ศูนยตา แปลว่า ความว่าง มีความพยายามที่จะอธิบายโยงไปถึงว่าความว่างเป็นสภาวะที่โยคีผู้บำเพ็ญฌานทุกท่านต่างประสบมาทั้งนั้น แนวความคิดของเถรวาทที่ดูเหมือนจะอธิบายศูนยตาก็คือ ทฤษฎีเรื่องรูปฌานและอรูปฌาน โดยความว่างนี้มีอยู่แล้วตั้งแต่เริ่มลงมือปฏิบัติ ในปฐมฌาน โยคีย่อมว่างจากกิเลสอย่างหยาบ ทุติฌาน ว่างจากความคิด ตติยฌาน ว่างจากปีติ สุข และจตุตถฌานว่างจากอารมณ์ ต่อจากนั้น ความว่าง (ศูนยตา) ก็ใช้เป็นชื่อเรียกขอบเขตแห่งอากาศอันไม่มีที่สุดเรียกว่า ขั้นอากาสนัญจายตนะ วิญญาณอันไม่มีที่สุดเรียกว่า ขั้นวิญญาณัญจายตนะ ภาวะที่ไม่มีอะไรเรียกว่า ขั้นอากิญจัญญายตนะ ขอบเขตที่เรียกว่าจะเป็นความหยั่งรู้ทางประสาทสัมผัสก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ความหยั่งรู้ทางประสาทสัมผัสก็ไม่ใช่เรียกว่า ขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ (อรูปภูมิ 4,2556.(ออนไลน์)) ศูนยตาตามนัยแห่งคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทจึงไม่ใช้สภาพแห่งการไม่คิดคำนึงอะไร แต่อยู่ในประเด็นดังกล่าวนี้

 อย่างไรก็ตาม ศูนยตาได้กลายเป็นประเด็นหลักที่ปรากฏในวรรณคดีมหายานในยุคต่อมา คัมภีร์ปรัชญาปารมิตากล่าวว่า ศูนยตา ได้แก่ ความว่าง สรรพสิ่งว่าง ศูนยตามีลักษณะเดียวกันกับ อภาวะ ประเด็นนี้ทำให้มีข้ออภิปรายตามมาอีกหลายนัย เช่น ถ้ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็น อภาวะ เราก็ไม่สามารถยืนยันหรือปฏิเสธความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นอภาวะได้

 นาคารชุนกล่าวว่า ปัญหาที่ว่า ศูนยตา คืออะไร เป็นอย่างไร สรรพสิ่งเป็นศูนยะอย่างไร การที่จะตอบปัญหานี้ได้ชัดเจนต้องใช้วิธีแห่งการปฏิเสธ 4 บท คือ

 1). นั่นคือศูนยตา

 2) นั่นไม่ใช่ศูนยตา

 3.)นั่นคือศูนยตาและไม่ใช่ศูนยตา

 4.) นั่นคือศูนยตาก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ศูนยตาก็ไม่ใช่

หรือ

It is A

It is not A

It is both A and not A

It is neither A nor nor A

รูปแบบการนำเสนอทั้ง 4 บทนี้ มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่นาคารชุนบอกปฏิเสธทั้งหมด เพราะฉะนั้น สรรพสิ่งในทรรศนะของนาคารชุนจึงไม่ได้อยู่ในรูปแบบภาวะ (มีอยู่) อภาวะ (ไม่มีอยู่) ภาวะและอภาวะ (มีอยู่และไม่มีอยู่) และเนวภาวนาภาวะ (มีอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่) แต่สรรพสิ่งอยู่ตรงที่เส้นตรง 2 เส้นตัดกัน

ความจริง นาคารชุนนำเสนอทฤษฎีว่าด้วย ศูนยตา ก็เพื่ออธิบายทฤษฎี สรฺวมฺ ศูนฺยมฺ ของสำนักไวภาษิกะ และทฤษฎีอาลยวิชญาณ ของสำนักโยคาจารตามนัยแห่ง มัชฌิมาปฏิปทา ตามรูปแบบปรัชญามาธยมิกะนั่นเอง แนวความคิดนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ มูลมาธยมิกการิกา ซึ่งเขียนโดยนาคารชุนเอง หนังสือเล่มนี้แต่งขึ้นในคริสต์ศักราชที่ 300 โดยประมาณ เป็นงานเขียนเล่มแรกที่ว่าด้วยเรื่องปรัชญามาธยมิกะ มี 27 บท จำนวน 400 การิกา (หรือคาถา) บางทีก็เรียกว่า ชุด มาธยมิกศาสตร์ หลักการสำคัญที่บรรจุอยู่ในงานเขียนนี้ก็คือ หลักการที่เป็นการอภิปรายโลก และชีวิตในรูปแบบทางสายกลาง ที่เรียกว่า ทางสายกลาง เพราะมีนัย 4 ประการ คือ

1. เพราะตรงกันข้ามกับที่สุดโต่งด้านเดียว

2. เพราะเว้นเสียซึ่งที่สุดโต่งด้านเดียว

3. เพราะเป็นเอกภาพในพหุภาพ

4. เพราะเป็นปรมัตถสัจจะ

เนื่องจากเราไม่สามารถรับรู้ภาวะโดยอิสระจากอภาวะ ถ้าเราพูดว่า โลกมีอยู่หรือพูดว่า โลกไม่มีอยู่ ซึ่งว่าเรากำลังยึดถือทรรศนะด้านเดียว ทางสายกลางแตกต่างตรงกันข้ามกับทางสุดโต่งนี้โดยเว้นที่สุดโต่งทั้ง 2 ด้าน คือ ภาวะและอภาวะ นี้คือ นัยที่ 1 แห่งทางกายกลาง (มัชฌิมมรรค) เมื่อปฏิเสธที่สุดโต่งทั้ง 2 แล้ว ทางสายกลางก็เปิดเผยตัวเองออกมาโดยความกลมกลืนอย่างสนิทระหว่างภาวะและอภาวะ นั่นคือ มันอยู่เหนือที่สุดโต่งทั้ง 2 คือ ภาวะและอภาวะที่ถูกรวมเข้าด้วยกัน นี้คือ นัยที่ 2 แห่งทางสายกลาง ทางสายกลางที่รวมเอาสรรพสิ่งเข้าไว้ ไม่ได้อยู่เหนือสรรพสิ่ง สิ่งทั้งหลายมีลักษณะเฉพาะของตัวเองขึ้นมาได้ก็โดยอาศัยการที่เรารับรู้เอกภาพในสิ่งเหล่านั้น ถ้าไม่มีหลักแห่งเอกภาพ สิ่งทั้งหลายก็จะไม่เป็นอย่างนั้น นี้เป็นนัยที่ 3 แห่งทางสายกลาง คำว่า ทางสายกลาง นี้ ต้องไม่เข้าใจว่า มีบางสิ่งบางอย่างอยู่ในระหว่างที่สุดโต่งทั้ง 2 คือภาวะและอภาวะ ความจริงต้องละทิ้งไม่เฉพาะที่สุดโต่งทั้ง 2 เท่านั้น แต่ต้องละทิ้งสายกลางด้วย ทางสายกลาง ซึ่งปราศจากข้อจำกัดทุกอย่างนั้น แสดงให้เห็นถึงแนวคิดของมนุษย์เกี่ยวกับอันติมสัจจะ นี้เป็นนัยที่ 4 แห่งทางสายกลาง อันติมสัจจะ (ศูนยตา) ปรากฏออกมาโดยการกำหนดสัจจะ 2 ระดับ คือ สมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ เมื่อว่าโดยปรมัตถสัจจะ ไม่มีอะไรเกิดเป็นภาวะหรือกลายเป็นอภาวะ ว่าโดยสมมติสัจจะเท่านั้น เราจึงสามารถกล่าวถึงความมีหรือความไม่มีแห่งวัตถุ ความจริง ไม่มีสิ่งใดมีภาวะของตัวเอง

ที่ใดมีสังขตสภาวะ ที่นั้นไม่มีสัจจะ สังขตสภาวะกับสัจจะย่อมไปด้วยกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น เพื่อบรรลุสัจจะ บุคคลต้องละทิ้งสังขตสภาวะโดยสิ้นเชิง เมื่อจิตใจของเราบริสุทธิ์จากมลทินคือสังขตสภาวะแล้ว ย่อมปรากฏแสงจันทร์อันเย็นสนิท คือ ตถตาหรือปรมัตถสัจจะ หรือศูนยตา

อาจจะมีคำถามว่า สิ่งที่เรียกว่า ตถตาปรมัตถสัจจะ หรือ ศูนยตา นั้นมีจริงหรือไม่ คำตอบก็คือ สิ่งที่อยู่เหนือสังขตสภาวะ ย่อมไม่สามารถแสดงออกมาโดยคำว่า มี และ ไม่มี ภาวะ หรือ อภาวะ สิ่งที่ว่ามานี้ (หรือสิ่งที่เรียกว่าศูนยตานี้) ก็คือ นิพพาน เป็นสภาวะที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง เป็นแหล่งที่รวมเอาความขัดแย้งทั้งมวลเข้าด้วยกัน ได้มีความพยายามที่จะแสดงสภาวะนี้ออกมาโดยคำว่า สัสสตะ คัมภีระ อสังขตะ อันติมะ หรือ ปรมสุข แต่ความเป็นจริงก็คือ ไม่มีภาษาใดที่จะแสดงความหมายได้เพียงพอกับสิ่งที่ว่านี้ ยิ่งอธิบายความก็ยิ่งห่างไกลความจริง(Satish Chandra Vidybhusana,1988 : 251 - 256)

นาคารชุน กล่าวไว้ในมูลมาธยมกการิกาว่า ศูนยตา ไม่ใช่อุจเฉทะ สังสาระก็ไม่ใช่สัสสตะ นี้เป็นธรรมเก่าที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้(David J. Kalupahana, Tran. MKV 20, Chapter 17,1991 : 254) สรรพสิ่งย่อมควรแก่บุคคลใด บุคคลนั้นย่อมมีศูนยตา สรรพสิ่งย่อมไม่ควรแก่บุคคลใด ศูนยะก็ไม่ควรแก่บุคคลนั้น(Tran. MKV 14, Chapter 24, 1991 : 337) ถ้าสรรพสิ่งว่าง ย่อมไม่มีทั้งความเกิดขึ้นและความดับ เพราะละและสลัดทิ้งไป ซึ่งความเกิดขึ้นและความดับนั่นแหละ บุคคลจึงหวังความหลุดพ้นได้(Tran. MKV 14, Chapter 25, 1991 : 335) เมื่อสรรพสิ่งว่าง เพราะเหตุไรจึงต้องพูดว่า อันตะ อนันตะ อันตานันตะ เนวอันตนานันตะ เพราะเหตุไรจึงต้องพูดว่า สิ่งเดียวกัน ต่างกัน สัสสตะ อสัสสตะ เนวสัสสตนาสัสสตะ(Tran. MKV 22-23, Chapter 25, 1991: 368) ข้อความนี้หมายความว่า ถ้าพูดถึงคำว่า ศูนยตา หรือ ศูนยะ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงอะไรอีก ถือเป็นการสิ้นสุดแห่งทฤษฎี ทรรศนะ หรือคำบรรยายทั้งหมด เพราะยิ่งบรรยายก็ยิ่งห่างไกลจากความเป็นจริง เราพอจะกำหนดได้ว่า นาคารชุน ประสงค์จะตั้ง ศูนยตา ไว้ในฐานะเป็นสัจจะสากล เป็นความจริงที่เหนือความจริงเป็นสิ่งสูงสุดที่เหนือกว่าสิ่งสุดทั้งปวงนี่ คือ กระบวนการที่จะทำให้ศูนยตาเป็นสภาวะอย่างหนึ่งที่เหมือนจะมีชีวิตจิตใจ มีอำนาจสร้างสรรค์ และอยู่เหนือคำบรรยาย ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วในโลกนี้ ไม่มีอะไรคงอยู่ นอกจากสาระหนึ่งเดียวที่เป็นการสำแดงตัวออกมาของสัสสตภาวะ

 ปรัชญามาธยมิกะมีนัยที่ท้าทายภูมิปัญญาของนักวิจารณ์อย่างยิ่ง ในแต่ละยุคสมัย ทฤษฎีมาธยมิกะ ทฤษฎีศูนยตา จึงไม่ว่างเว้นจากการถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในทุกกาลเทศะ และไม่น่าแปลกใจเลยที่หลังจากยุคของนาคารชุนประมาณ 400 ปี ปรัชญามาธยมิกะได้แตกออกเป็น 2 สาขา คือ (1) ประสังคิกะ (2) สวตันตริกะ ความจริง พัฒนาการแห่งแนวความคิดของนาคารชุนแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ

 ขั้นที่ 1 เป็นขั้นการจัดระบบปรัชญามาธยมิกะ โดยนาคารชุนได้แต่งหนังสือสำคัญหลายเล่ม โดยเฉพาะอรรถกาชื่อ ปรัชญาปารมิตาศาสตร์ อธิบายความปรัชญาปารมิตา ซึ่งท่านกุมารชีพผู้เป็นปราชญ์ในยุค พ.ศ. 900 (ประมาณ ค.ศ. 400) ได้แปลเป็นภาษาจีน และหนังสือ มูลมาธยมิกการิกาหรือมาธยมิกศาสตร์ นอกจากนี้ อารยเทพผู้เป็นศิษย์ของท่านเองได้อธิบายปรัชญามาธยมิกะในรูปแบบ จตุสตกะ (Catuh – Sataka)

ขั้นที่ 2 เป็นขั้นที่มีการแบ่งระบบปรัชญามาธยมิกะออกเป็น 2 สาขา คือ ประสังคิกะ และสวตันตริกะ

นาคารชุนใช้วิธีการแบบประสังคิกะในการสร้างปรัชญามาธยมิกะของท่านเอง ประสังคิกะ หรือ ประสังคะ ก็คือ วิธีการใช้คำพูด ซึ่งหมายถึงวิธีการใช้เหตุผลโต้แย้งแบบ reductic ad dbsurdum (พิสูจน์ให้เห็นว่าข้อโต้แย้งใด ๆ ไร้สาระ) เพื่อพิสูจน์ว่า ทฤษฏีทั้งหลายที่คู่โต้แย้งของท่านหยิบยกขึ้นมานั้น ล้วนแล้วแต่ไร้สาระ นาคารชุนเองจะไม่หยิบยกทฤษฏีใด ๆ ขึ้นมา เพราะฉะนั้น จึงไม่มีข้อโต้แย้งเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีของท่าน ในช่วงนี้ ศิษย์สำนักมาธยมิกะชื่อ พุทธปาลิต ซึ่งเป็นปราชญ์ในยุค พ.ศ. 1100 (ประมาณ ค.ศ.600) เห็นด้วยกับวิธีการประสังคิกะ และตัวเขาเองก็ใช้วิธีการนี้ในการพูดและงานเขียน เขาได้แต่งหนังสือชื่อ มาธยมกพฤติ อธิบายหนังสือ มาธยมิกศาสตร์ ของนาคารชุน ศิษย์คนสำคัญอีกท่านหนึ่งคือ ภาวะวิเวกะ ภาวะวิเวกะค่อนข้างจะไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบประสังคิกะ เพราะในบางกรณีอาจจะไม่สามารถทำให้คู่โต้แย้งจนมุมได้ แต่วิธีการแบบ สวตันจตริกะ น่าจะดีกว่า ก็คือ วิธีการให้เหตุผลหรือโต้แย้งเชิงตรรกะแบบอิสระ ภาวะวิเวกะแต่งหนังสือสำคัญ คือ มหายาน กรตละ รัตนศาสตร์, หนังสือชุดมาธยมิกหฤทยะพร้อมอรรถกถา ชื่อ ตรรกชวาลา, มาธยมารถสังคหะ, และปรัชญาประทีป โดยมีเนื้อหาอธิบายความหนังสือ มูลมาธยมิกการิกา จึงสรุปได้ว่า ในยุคนี้ท่านพุทธปาลิตเป็นผู้นำคนสำคัญแห่งสาขาประสังคิกะ ส่วนท่านภาวะวิกะเป็นผู้นำคนสำคัญแห่งสาขาสวตันตริกะ

 ขั้นที่ 3 เป็นขั้นการประกาศเผยแผ่ประสังคิกะ นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียง 2 ท่าน คือ ท่านจันทรกีรติ และท่านศานติเทพ (ประมาณ พ.ศ. 1200=ค.ศ.700) ได้แต่งอรรถกถาจำนวนมากอิบายมาธยมิกศาสตร์ งานเขียนเหล่านี้ปรากฏอยู่ในภาคภาษาทิเบตเท่านั้น มีเพียงงานเขียนชื่อ ประสันนปทา ของท่านจันทรกีรติพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่เป็นภาคภาษาสันสกฤต

 จันทรกีรติ ปกป้องสาขาประสังคิกะอย่างเต็มที่ โดยเน้นไปที่หลักปฏิจจสมุปบาท ท่านกล่าวว่า ความเกิดขึ้นแห่งสิ่งทั้งหลายขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย สิ่งซึ่งปราศจากความสัมพันธ์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตัวมันเอง จันทรกีรติมักจะวิจารณ์สวตันตริกะของท่านภาวะวิเวกะอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังวิจารณ์หลักที่ว่าด้วย สวลักษณะ วิจารณ์หลักที่ว่า ด้วยสัญชานที่ว่างจากกำหนดพิจารณา (กัลปนาโปฒ) และวิจารณ์วิชญาณวาทิน (โยคาจาร) ว่า วิชญาณที่ปราศจากอารมณ์ย่อมเป็นไปไม่ได้

ศานติเทพ เป็นปราชญ์คนสำคัญอีกท่านหนึ่งแห่งสาขาประสังคิกะ เป็นศิษย์แห่งมหาวิทยาลัยนาลันทาอีกท่านหนึ่งที่ใช้วิธีการประสังคิกะวิจารณ์สำนักวิชญาณวาทินอย่างรุนแรงอยู่เสมอ เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงหนังสือ ศึกษสมุจจยะ และแต่งหนังสือ โพธิจริยาวตาร มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องการปลุกโพธิจิต ท่านศานติเทพนอกจากจะเป็นนักปรัชญาแล้ว ยังเป็นกวีชั้นยอดอีกด้วย เป็นเชี่ยวชาญในการใช้บทกวีเพื่อสื่อความหมายกับคนทั่วไปได้อย่างแยบยล แม้หนังสือโพธิจริยาวตารก็เขียนเป็นบทกวี(Jangh,1978 : 11-13)

ศูนยตาของคุรุนาคารชุน คือ สภาพรับรู้ ความมีก็ไม่ใช่ ความไม่มีก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ความมีก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ความไม่มีก็ไม่ใช่  ทั้ง 4 สภาวะสุดขั้วนี้มิใช่ ศูนยตา สภาพการรับรู้ตรงกลางนั้นคือ ศูนยตา หรือจะกล่าวว่า ในโลกแห่งสมมุตินี้ การรับรู้สภาพที่สรรพสิ่งเป็นมายา เป็นความว่าง นี่คือ ศูนยตา ในโลกปรมัตถ์ของพุทธะ สรรพสิ่งอิงอาศัยกันมี นาคารชุนยอมรับหลักการเรื่องปฏิจจสมุปบาทเช่นเดียวกันกับพุทธศาสนานิกายเถรวาท เพื่อใช้ในการอธิบายลักษณะที่ไม่มีแก่นแท้ที่แท้จริง (สวภาวะ) ของสรรพสิ่ง เพราะทุกสิ่งล้วนต้องอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้นเป็นไปทั้งสิ้น จึงว่างเปล่าจากความมีอยู่ในตนเองอย่างแท้จริงที่เรียกว่า สุญญตา และยอมรับความจริง 2 ระดับ คือ ระดับสมมติสัจจะ และระดับปรมัตถสัจจะ ซึ่งเหมือนกับหลักแห่งพระพุทธศาสนาตั้งเดิม ที่แปลกออกไปก็คือ แนวการอธิบายโลกและชีวิต มาธยมิกะยอมรับความจริง 2 ระดับนั้นแล้ว สรุปลงว่า พื้นฐานแห่งความจริง 2 ระดับนั้นคือ ศูนยตา เป็นความว่างสูงสุดแห่งสรรพสิ่ง ไม่มีสิ่งใดที่พวกเราสามารถจะกล่าวได้

 

------------------------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

 

ปรัชญา : Philosophy,

http://wirotephilosophy.blogspot.com/2010/01/blog-post_5134.html/9/7/2556.(ออนไลน์)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). 2550. คติ- จตุคามรามเทพ. พิมพลักษณ์ กรุงเทพฯ :

มูลนิธิบรรจงสนิท และสหปฏิบัติฯ.

พระครูสังฆรักษ์จิตรกร สนฺตจิตฺโต (พลเยี่ยม), 2554. การศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องสุญญ

          ตาของนาคารชุนกับพุทธทาสภิกขุ. สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ระวี  ภาวิไล. อภิธรรมสำหรับคนรุ่นใหม่,2536., หน้า 152-115 อ้างใน ปรัชญา :

 Philosophy,http://wirotephilosophy.blogspot.com/2010/01/blog-            post_5134.   html/9/7/2556.(ออนไลน์)

สุมาลี  มหณรงค์ชัย.2546. ฮินดู-พุทธ จุดยืนที่แตกต่าง. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ.

อรูปภูมิ 4,http://buddhism-online.org/Section06B_15.htm/2556.(ออนไลน์)

อภิชัย  โพธิ์ประสิทธิ์ศาสตร์, 2527.พระพุทธศาสนามหายาน สภาการศึกษามหามกุฏราชวิลยาลัย.

 

David J. Kalupahana, Mulamadhyamokakarika of Nagarjuna : The Philosophy of

the Middle Way, Tran. MKV 20, Chapter 17,1991,pp.254

Jangh, An Introduction to Madhyamaka Philosophy, 1978, pp. 11-13

Kalupahana, D. J. (1992) A History of Buddhist Philosophy,pp. 160.

Natamura and Hajime Nakamura, A History of the Development of Japanese Thought,

 (Nov 15, 1999)

Paul Williams,1989.Mahyna Buddhism: The Doctrinal Foundations.

London and New York: Routledge.

Santina, P. D. (1986) Madhyamaka Schools in India. Delhi: Motilal Banarsidass, pp.17.

Satish Chandra Vidyabhusana , A History of Indian Logic, 1988, pp.251-252.

 

 

 

 

 

 

ปรัชญาบัคจื๊อ(Bug-Tzu)หรือม่อจื๊อ(Mo-Tzu)

 


ปรัชญาบัคจื๊อ (Bug - Tzu) หรือม่อจื๊อ (Mo - Tzu)

บรรดา ปรัชญาเมธีร้อยคน ของจีนสมัยโบราณนั้น ม่อจื๊อ นับว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ เมื่อ เม่งจื๊อ (Mencius) รู้สึกว่าจะต้องป้องกัน และทำให้ลัทธิขงจื๊อกลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ท่านได้ตัดปรัชญาของม่อจื๊อออกในฐานะที่อยู่ในกลุ่มศัตรูที่เป็นอันตรายที่สุดของลัทธิขงจื๊อ แม้ว่าลัทธิของม่อจื๊อจะตั้งหลักมั่นอยู่ได้ไม่นานนัก แต่ม่อจื๊อและคำสอนของท่านก็ได้ทิ้งรอยประทับไว้ในจิตใจของชาวจีนจนไม่อาจสามารถที่จะลบให้หมดไปได้ ทุกวันนี้คำสอนของม่อจื๊อ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้เตือนให้ระลึกถึงว่าเราจะบรรลุถึงความสุขสูงสุดอันเป็นนิรันดรแห่งความคิดเห็นแบบขงจื๊อ โดยอาศัยการละเลยต่อหน้าที่หรือความเฉื่อยชาในด้านพุทธิปัญญาได้ไม่ง่ายเลย แต่เราจะชนะได้ก็โดยอาศัยการต่อสู้ดิ้นรนอย่างยากเย็นกับฝ่ายตรงข้ามที่มีคุณค่าสูงเท่านั้น(จำนง  ทองประเสริฐ. 2537 : 49)

ปรัชญาม่อจื๊อมีความเกี่ยวพันอย่างมากกับเหตุการณ์ทางการเมือง สังคม และจริยธรรมของสังคมในสมัยนั้น สังคมจีนในช่วงระยะที่มีการปกครองแบบระบบขุนนาง (Feudalism) ในสมัยราชวงศ์โจว กษัตริย์ เจ้าฟ้าและพวกขุนนาง ต่างมีทหารประจำตัวหรือประจำตระกูล แต่ในช่วงปลายของราชวงศ์โจวระบบศักดินาเสื่อมอำนาจลง พวกทหารประจำตัวหรือประจำตระกูลก็พลอยสูญเสียฐานะตำแหน่งไปด้วย จึงออกท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ หาเลี้ยงชีพโดยการรับจ้างรบสุดแล้วแต่ผู้จ้าง กลุ่มชนพวกนี้เป็นที่รู้จักกันว่า พวกเฉีย (Hsieh)หรือยู เฉีย (Yu Hsieh) แปลว่า อัศวินพเนจร (Knight - Arrant) พวกนี้มีพฤติกรรมที่ประวัติศาสตร์บันทึกเอาไว้ว่า “คำพูดของพวกเขาซื่อตรง และเชื่อถือได้ การกระทำของพวกเขาเป็นไปอย่างรวดเร็วและชาญฉลาด พวกเขาซื่อตรงต่อคำสัญญาและปฏิบัติหน้าที่โดยไม่หวั่นต่ออันตราย”(Shih Chi Ch. 124 อ้างจาก Fung Yu-Lan,1970.P. 50) และพวกอัศวินเหล่านี้ยังถือหลักในการทำงานร่วมกันอยู่อีกอย่างหนึ่งคือ “ยามสุขสุขร่วมกัน คราวทุกข์ทุกข์ร่วมกัน”(Enjoy equally, Suffer equally) เหล่านี้คือจรรยาในอาชีพของพวกเขา ปรัชญาส่วนใหญ่ของม่อจื๊อจึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ประเพณีเก่าๆ และอธิบายขยายความจรรยาของกลุ่มอัศวินดังกล่าว

แต่ม่อจื๊อและพวกศิษยานุศิษย์ก็มีลักษณะอันเป็นข้อแตกต่างจากพวกอัศวินอยู่ 2 ประการ คือ

1. พวกเฉียหรืออัศวินนั้นพร้อมเสมอที่จะทำการรบต่อสู้ เมื่อมีผู้จ้างหรือถูกบังคับโดยพวกขุนนาง

ส่วนพวกม่อจื้อนั้นไม่นิยมการรบ การสงครามที่มีลักษณะเป็นการรุกรานซึ่งกันและกัน จะต่อสู้ก็ต่อเมื่อเห็นความจำเป็น เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของบ้านเมืองหรือป้องกันตัวเองเท่านั้น

2. พวกอัศวินยึดหลักจรรยาในอาชีพอย่างเหนียวแน่น ปราศจากเหตุผลและไม่คำนึงถึงเหตุผลอื่นใด

ส่วนพวกม่อจื๊อนั้นวางใจเป็นกลางในจรรยาเหล่านั้น ศึกษาหาเหตุผลและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ตามสภาพความเป็นจริง

แม้ว่าปรัชญาม่อจื๊อจะมีพื้นฐานมาจากจรรยาของพวกอัศวิน แต่ในขณะเดียวกันก็นับได้ว่า เป็นผู้สร้างระบบปรัชญาในแนวใหม่ขึ้น (น้อย  พงษ์สนิท.ผศ.,ม.ป.ป. : 37-38)

ม่อจื๊อหรือบัคจื๊อ(เสถียร  โพธินันทะ,2544 : 115) เป็นชาวรัฐลู้ เกิดหลังมรณกรรมของขงจื๊อไม่นาน เป็นคนรุ่นเดียวกับหยางจื๊อ แต่ไม่ปรากฎว่าเขาเกิดปีใดแน่ สันนิษฐานกันว่าคงจะเกิดระหว่าง พ.ศ. 63 – 76 และถึงแก่กรรมราว พ.ศ. 153 – 168 คำว่า ม่อ เป็นแซ่ ส่วนชื่อของเขา คือ เต็กหรือตี่ (Ti) แต่คนนิยมเรียกแซ่ของเขามากกว่า เพราะฉะนั้นคำว่า ม่อจื๊อ ก็คือท่านอาจารย์แซ่ม่อนั่นเอง แต่ภายหลังได้มีนักปราชญ์บางท่านมีความเห็นว่า คำว่า ม่อ ไม่ใช่แซ่ หากแต่เป็นคำเรียกคนพวกหนึ่ง ซึ่งมีรอยสักเป็นเครื่องหมาย ได้แก่ พวกทาส กรรมกรหรือเชลยสงคราม ม่อจื๊อก็เป็นกรรมกรช่างฝีมือคนหนึ่ง จึงมีรอยสักเช่นกัน ส่วนคำว่า ตี่ ก็ไม่ใช่ชื่อจริง คำนี้หมายถึงขนนกก็ได้ เพราะเชื่อกันว่า ม่อจื๊อชอบปักขนนกตามความนิยมของคนทั่วไปในสมัยนั้น(ซิวไช,2523 : 258.อ้างใน ฟื้น  ดอกบัว,2555 : 104) หากเป็นตามความเห็นดังกล่าวก็แสดงว่า ม่อจื๊อมีกำเนิดเป็นกรรมกร แตกต่างจากหยางจื๊อและขงจื๊อ ซึ่งเป็นตระกูลขุนนาง และก็น่าจะเป็นจริงอย่างนั้น เพราะม่อจื๊อได้รณรงค์อย่างมากให้เลิกล้มการแบ่งชนชั้นยกฐานะกรรมกรให้สูงขึ้นเสมอคนทั้งหลาย ปรัชญาของม่อจื๊อมีชื่อเสียงและสำคัญพอๆ กับปรัชญาของขงจื๊อ ทั้งมีอิทธิพลอย่างมากในหมู่กรรมกร ม่อจื๊อเคยศึกษาปรัชญาเต๋าและเคยอยู่ในสำนักปรัชญาขงจื๊อ แต่ม่อจื๊อไม่เห็นด้วยกับปรัชญาของเหลาจื๊อ และปรัชญาขงจื๊อหลายอย่าง จึงปลีกตัวออกมาตั้งสำนักสอนปรัชญาตามทรรศนะของตนขึ้น เขาได้ตั้งกฎระเบียบต่างๆ ของสำนักขึ้นมา ทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม ใครละเมิดจะถูกลงโทษ และถือว่าสาวกทุกคนเป็นองคาพยพของสำนัก ใครทำงานมีรายได้จะต้องแบ่งบำรุงสำนัก นอกจากนี้ยังมีการสืบทอดตำแหน่งเจ้าสำนักอีกด้วย ตำแหน่งนี้เรียกว่า กื้อจื๊อ แปลว่า มหาคุรุ(ฟื้น  ดอกบัว, 2555 : 103-104)

ม่อจื๊อเป็นคนบูชาอุดมคติของตนมาก ไม่ยอมขายอุดมคติของตนแลกยศศักดิ์เงินทอง อย่างเช่น คราวหนึ่ง ม่อจื๊อเขียนหนังสือแสดงความเห็นทางการเมืองไปถวายพระเจ้าฌ้อฮุ้ยอ๊วง แห่งรัฐฌ้อ พระองค์ทรงพอพระทัยในความรู้ของม่อจื๊อมาก ถึงกับตรัสว่า “หนังสือของท่านประเสริฐนัก ถึงข้าพเจ้าไม่อาจนำมาปฏิบัติได้ แต่ก็จักแต่งตั้งท่านให้เป็นขุนนางศักดินา”

ม่อจื๊อ ทูลตอบว่า “ถ้าอุดมคติของข้าพเจ้ามิอาจนำไปปฏิบัติให้บังเกิดผลได้ ข้าพเจ้าก็มิอาจรับรางวัลจากพระองค์”(เสถียร  โพธินันทะ, 2506 : 212. อ้างใน ฟื้น  ดอกบัว,2555 : 105.)

จากพฤติกรรมของม่อจื๊อดังกล่าว เราย่อมสามารถคาดถึงหัวใจของปรัชญาของม่อจื๊อได้ว่า เป็นหัวใจอันเดียวกันกับหัวใจของปรัชญาขงจื๊อ คือ ศูนย์กลางของความสำคัญอยู่ที่มนุษย์ ทั้งนี้ ม่อจื๊อยึดถือคำสอนที่ว่า ก่อให้เกิดสวัสดิภาพแก่คนส่วนใหญ่ และทำลายสิ่งชั่วร้าย(Moore, Charles A. ed. 1968. p 42. อ้างใน ปานทิพย์  ศุภนคร,ผศ.,2534 : 33)

ปรัชญาของม่อจื๊อมีหลายอย่างที่แตกต่างกับปรัชญาเต๋าและปรัชญาขงจื๊อ จะเห็นได้จากปรัชญาชีวิต ปรัชญาเศรษฐกิจ และปรัชญาการเมืองของม่อจื๊อ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

ม่อจื๊อเชื่อว่า ทุกคนต้องการความสุขเกลียดความทุกข์ดัวยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นทุกคนจึงเหมือนกันดุจดังคำที่ว่า “ในสายตาของพระเจ้าแล้ว มนุษย์ทุกคนย่อมเท่าเทียมกัน” เมื่อธรรมชาติของทุกคนเหมือนกันอย่างนี้ ก็ควรที่จะปฏิบัติดีต่อกัน ช่วยเหลือกันโดยดำเนินการดังต่อไปนี้(ฟื้น  ดอกบัว, 2555 : 105-106)

หัวใจของปรัชญาม่อจื๊ออยู่ที่ ความรัก ความรักดังกล่าว เป็นคุณธรรมสูงสุด และกว้างกว่าความเห็นอกเห็นใจหรือคุณธรรมแห่งความเมตตากรุณาของลัทธิขงจื๊อ ทั้งนี้เพราะถึงแม้ขงจื๊อจะสอนเรื่องความรักและความเมตตาระหว่างมนุษย์ แต่ความรักระหว่างมนุษย์ดังกล่าวไม่สามารถอยู่ในระดับที่เสมอภาคกันได้ การรักบิดามารดาของตนเองย่อมแตกต่างจากการรักบิดามารดาของเพื่อน การรักบิดาก็ย่อมแตกต่างจากการรักพี่รักน้อง แต่สำหรับม่อจื๊อ ความรักที่มนุษย์พึงมีต่อมนุษย์ต้องมีความเท่าเทียมกันหมด ไม่มีการลดหลั่นกันแต่ประการใดทั้งสิ้น ซึ่งเม่งจื๊อเคยกล่าววิจารณ์ว่า เป็นการทำลายธรรมชาติ และสัมพันธภาพในครอบครัว(ปานทิพย์  ศุภนคร,ผศ.,2534 : 37)

แผ่ความรักความเมตตาอย่างเท่าเทียมกันต่อมนุษยชาติทั้งมวล หรือที่เรียกว่า ความรักสากล ม่อจื๊อมีความเห็นว่า คนเราควรมีความเห็นอกเห็นใจกัน เห็นทุกคนเป็นเสมือนตนเอง เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นก็ฉันนั้น หากใครทำใจได้ดังกล่าว การที่จะไปเบียดเบียนทำร้ายคนอื่นก็จะไม่เกิดขึ้น มีแต่จะเห็นใจกันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน(ฟื้น  ดอกบัว, 2555 : 106) หรือหลักแผ่ความรักร่วมกัน มีประโยชน์สัมพันธ์กัน เรียกว่า เกียมเซียงไอ่เกาเซียงหลี(เสถียร  โพธินันทะ,2544 : 123)

การแผ่ความรักความเมตตาไปยังมนุษยชาติทั้งมวล จะสามารถกำจัดความเห็นแก่ตัวเสียได้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนทั่วไป ดังที่ม่อจื๊อกล่าวว่า

“บุคคลจะรักแคว้นอื่นเหมือนแคว้นของตน รักครอบครัวอื่นเหมือนครอบครัวของตน รักบุคคลอื่นเสมือนตัวเอง ถ้าพระเจ้าแผ่นดินของแคว้นทั้งหลายมีความรักต่อกันแล้ว การสงครามก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าเสนาบดีมีความรักต่อกัน การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจก็จะไม่มี ถ้าบุคคลมีความรักต่อกันแล้ว การลักขโมยก็จะไม่มี โจรที่ปล้นคนอื่นก็เพราะโจรมีความรักตนอย่างเดียว เห็นแก่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว หากโจรเห็นผู้อื่นเสมือนตัวเองแล้ว เขาก็จะไม่ปล้น และหากเห็นประโยชน์ของคนอื่นเสมือนประโยชน์ของตนแล้ว โจรก็เลิกเป็นโจร”

ดังนั้น ม่อจื๊อจึงสอนให้ทุกคนก่อนทำอะไรก็ขอให้ตั้งคำถาม ถามตัวเองก่อนว่า การกระทำนั้นเป็นความรักผู้อื่นด้วยหรือไม่ เป็นประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมด้วยหรือไม่ ถ้าใช่ก็จงทำ ถ้าไม่ใช่ก็ขอให้ละเว้น อย่าไปคิดแต่ว่าตนเองจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง ขอให้คิดว่าการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นก็เสมือนกับทำให้ตนเอง เพราะตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เกี่ยวเนื่องกับสังคม หากสังคมเป็นปกติสุข ตัวเองก็พลอยเป็นสุขไปด้วย ตรงกันข้าม ถ้าสังคมเดือดร้อน ตัวเองก็จะต้องมีความทุกข์เช่นกัน(ฟื้น  ดอกบัว, 2555 : 107-108)

เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ก็จะต้องมีคุณธรรม คือ แผ่ความรักความเมตตาอย่างเท่าเทียมกันต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นพื้นฐานมาก่อน หากปราศจากความความเมตตาสากลเสียแล้ว การมุ่งบำเพ็ญประโยชน์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นคุณธรรมข้อนี้จึงเป็นผลของคุณธรรมข้อที่ 1 และก็เพราะการบำเพ็ญประโยชน์นี้เอง โลกจึงมีชีวิตชีวาน่าอยู่อาศัย ไม่มีคนอดอยากผอมโซหรือภาพที่น่าเวทนาทั้งหลาย ทั้งนี้ก็เพราะทุกคนจะคอยช่วยเหลือกัน ดังที่ม่อจื๊อกล่าวว่า

“หูจะคอยฟัง ดวงตาจะคอยจ้องมอง เพื่อช่วยเหลือกัน แขนขาก็เสริมกำลังกันเพื่อทำงานช่วยเหลือ เมื่อเป็นเช่นนั้น คนสูงอายุ และหญิงม่ายก็จะได้รับการดูแลเลี้ยงดูตลอดอายุขัย เด็กกำพร้าที่อ่อนแอ และยากจนก็จะได้รับการอุปถัมภ์เลี้ยงดู”(ฟื้น  ดอกบัว, 2555 : 108)

ม่อจื๊อดูจะเป็นนักปรัชญาคนเดียวของจีนที่เชื่อว่ามีฟ้า หรือเทพเจ้า ตลอดถึงเชื่อว่ามีผีสางเทวดาคอยดูแลความเป็นไปของมนุษย์ เทพเจ้าจะประทานรางวัลให้แก่คนที่ทำความดี อย่างที่เรียกกันว่า สวรรค์บันดาล และลงโทษแก่คนที่ทำความชั่ว ดังที่เรียกว่า สวรรค์ลงทัณฑ์ ทั้งนี้ก็เพราะเทพเจ้าทรงมีพระประสงค์จะให้ทุกคนรักกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วยกัน ม่อจื๊อเชื่อว่า สุขทุกข์ของมนุษย์มาจากพระเจ้า พระองค์สามารถบันดาลให้ใครสุขใครทุกข์ก็ได้

ม่อจื๊อเชื่อว่า การที่โลกวุ่นวาย คนทำความชั่วมากขึ้นทุกทีก็เนื่องมาจากการไม่เชื่อว่ามีเทพเจ้าผีสางเทวดาเป็นต้นเหตุ เพราะการไม่เชื่อทำให้คนกล้าทำความชั่วมากขึ้นเรื่อยๆ ผิดกับคนสมัยก่อนที่เชื่อในเรื่องผีสางเทวดาจึงมีคนดีมาก บ้านเมืองสงบสุขร่มเย็น ผู้คนไม่กล้าทำความชั่ว เพราะกลัวผีสางเทวดา ดังคำที่ว่า ถึงคนไม่รู้ไม่เห็น แต่ผีสางเทวดาท่านรู้ท่านเห็น ม่อจื๊อได้ตำหนิคนสมัยนั้นอย่างรุนแรงที่ไม่ยอมเชื่อในเรื่องผีสางเทวดา ซึ่งกษัตราธิราชในอดีตเคยเคารพนับถือมาก่อน ม่อจื๊อได้ให้ข้อพิสูจน์ถึงความมีอยู่ของเทพเจ้าไว้อย่างง่ายๆ ว่า คนที่ทำความดีจะมีความสุข ส่วนคนที่ทำความชั่วจะมีความทุกข์ ได้รับความทุกข์ทรมาน ทั้งนี้ก็เพราะเทพเจ้าท่านบันดาลให้เป็นไปเช่นนั้น เพราะฉะนั้นคนจึงควรเคารพยำเกรงเทพเจ้า เห็นความสำคัญของเทพเจ้า.. ความเห็นของม่อจื๊อในเรื่องนี้จึงตรงกันข้ามกับขงจื๊อ ที่ถือว่าเรื่องดังกล่าวตัวมนุษย์เองเป็นผู้กำหนด และไม่สนับสนุนให้เชื่อในเรื่องเทพเจ้ามากนัก แต่ม่อจื๊อกับสอนให้คนเชื่อเทพเจ้า และปฏิบัติตามประสงค์ของเทพเจ้า โดยเฉพาะผู้นำของประเทศจะต้องตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นพิเศษ ม่อจื๊อได้วางกฎไว้ 3 ข้อ สำหรับผู้นำของรัฐที่จะต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

1. เคารพและปฏิบัติตามความประสงค์ของเทพเจ้า

2. เคารพและปฏิบัติตามความประสงค์ของผีสางเทวดา

3. มีความเมตตาปราณีต่อเพื่อนมนุษย์(ฟื้น  ดอกบัว, 2555 : 108-110)

ม่อจื๊อมีความเห็นว่า เรื่องปากท้องของมนุษย์นั้นสำคัญที่สุด การช่วยเหลือประชาชนอย่างรีบด่วนก็คือ การช่วยให้เขามีกินมีใช้ เมื่อแก้ปัญหาเรื่องปากท้องได้แล้ว เรื่องอื่นก็ง่ายที่จะแก้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจเป็นรากเหง้าของปัญหาทั้งปวง ปัญหามีว่าคนเราจะอิ่มปากอิ่มท้องได้อย่างไร เรื่องนี้ม่อจื๊อสอนให้ขยันหมั่นเพียร ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก วิธีสำคัญที่จะบรรลุถึงจุดหมายนั่นก็คือ เลิกประเพณีนิยมและดนตรี ซึ่งอาจแบ่งเป็นข้อย่อยๆ ดังต่อไปนี้

สังคมในประเทศจีนสมัยก่อนและสมัยม่อจื๊อแบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ ชนชั้นสูงกับสามัญชน พวกชนชั้นสูง ได้แก่ ผู้ปกครองและพวกผู้มีการศึกษาดี เป็นผู้มีฐานะอยู่เหนือสามัญชน มีความเป็นอยู่แตกต่างกันมาก ส่วนพวกสามัญชน ได้แก่ ชาวนา ชาวไร่ และกรรมกรทั้งหลาย พวกนี้ไม่มีความเจริญก้าวหน้า มุ่งแต่ทำงานหารายได้มาเลี้ยงชนชั้นสูง

ม่อจื๊อมีความเห็นว่า การแบ่งชนชั้นทำให้เกิดการแตกแยกและเป็นการกดขี่ ฝ่ายถูกปกครองจึงรณรงค์ต่อต้านเรื่องการแบ่งชนชั้น ประกาศถึงความเป็นธรรมในสังคม นอกนี้ม่อจื๊อก็เหมือนกับเหลาจื๊อ คือ ต่อต้านระบบศักดินาและชีวิตอันหรูหราของคนชั้นสูงในสมัยนั้น แต่จุดมุ่งหมายของม่อจื๊อก็แตกต่างกับเหลาจื๊อกล่าวคือ เหลาจื๊อสอนให้คนกลับเข้าหาธรรมชาติ ดำรงชีวิตอยู่แบบธรรมชาติ แต่ม่อจื๊อมีความเห็นว่า สังคมอย่างนั้นมีแต่ความวุ่นวายไม่สงบ สู้มีสังคมแบบมีระเบียบที่ดีงามไม่ได้  

ม่อจื๊อคัดค้านการจัดงานศพอย่างใหญ่โต และประเพณีการไว้ทุกข์ให้คนตาย ผิดกับขงจื๊อที่ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญที่บุตรหลานจะพึงกระทำ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการี หากแสดงความอาลัยให้เต็มที่ก็จะต้องไว้ทุกข์ถึง 3 ปี ม่อจื๊อมีความเห็นว่า การกระทำเช่นนั้นไม่ใช่การแสดงความกตัญญูกตเวที แต่เป็นการสิ้นเปลืองไร้สาระ แค่ฝังศพคนตายก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างฮวงซุ้ยให้ใหญ่โตสูญเงินไปเปล่าๆ ม่อจื๊อได้กล่าวถึงความสิ้นเปลืองของการจัดพิธีศพในยุคสมัยของเขาไว้ว่า

“แม้แต่สามัญชนธรรมดาตายลง ค่าใช้จ่ายในการทำพิธีศพนั้นก็มากมาย จนทำให้ครอบครัวยากจนแทบเป็นขอทาน ยิ่งกษัตริย์สิ้นพระชนม์ด้วยแล้ว จะต้องนำเอาทองและหยก ไข่มุกและเพชรนิลจินดามาวางไว้ข้างพระศพ ห่อศพด้วยผ้าแพรพรรณอันวิจิตร พร้อมทั้งนำรถม้า โต๊ะ เก้าอี้ กลอง ตุ่มไห ถ้วยชาม ขวานมีด ม่าน ฉาก ธง และวัตถุต่างๆ ที่ทำด้วยงาและหนัง เข้าไปฝังบรรจุไว้ในที่ฝังพระศพด้วย  ผลก็ คือ บ้านเมืองแทบจะไม่มีทรัพย์สินเหลืออยู่เลย” (ซิวไช,2523 : 287-288.อ้างใน ฟื้น  ดอกบัว, 2555 : 112) เพราะเหตุนี้ พิธีการทำศพ ม่อจื๊อจึงเห็นว่า เป็นประเพณีที่หายนะที่สุด (ฟื้น  ดอกบัว, 2555 : 110-112)

ม่อจื๊อกล่าวว่า การประกอบพิธีกรรมที่งดงาม รวมทั้งการไว้ทุกข์ที่ยาวนาน ย่อมนำไปสู่ผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ความยากจนของประเทศชาติ และความไร้ระเบียบของรัฐบาล(Moore, Charles A. ed. 1968. p 42-3. อ้างใน ปานทิพย์  ศุภนคร,ผศ.,2534 : 34)

ม่อจื๊อถึงแม้จะเชื่อเรื่องเทพเจ้า แต่เขาก็ปฏิเสธเรื่องพรหมลิขิต พรหมลิขิตนั้นไม่มี มีก็แต่ตนลิขิตให้ตนเองเท่านั้น ใครทำกรรมอะไรไว้ก็จักได้รับผลกรรมนั้น กรรมหรือการกระทำจัดเป็นเครื่องมือบันดาลให้เป็นไป ทุกอย่างแก้ไขได้ให้ร้ายกลายเป็นดี ดังที่ม่อจื๊อยกตัวอย่างว่า

ในสมัยโบราณกาล พระเจ้าเจีย (Chieh) กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์แห่ หรือเซีย ทำให้บ้านเมืองระส่ำระสาย แต่กาลก่อนต่อมา พระเจ้าถัง (Tang) ผู้สถาปนาราชวงศ์เซียงก็สามารถทำให้สงบลงได้หรือเมื่อพระเจ้าโจ่ว (Chow) กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซ้องทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน พระเจ้าหวู (Wu) พระราชโอรสของพระเจ้าเหวิน (Wen) ผู้สถาปนาราชวงศ์โจ่วก็สามารถจัดการให้สงบลงได้ ก็ในเมื่อบ้านเมืองเดือดร้อนวุ่นวายอย่างแสนสาหัสในสมัยของพระเจ้าเจียและพระเจ้าโจ่ว กลับสงบลงได้เพราะพระเจ้าถังและพระเจ้าหวู เมื่อเป็นอย่างนี้จะเรียกว่า มีพรหมลิขิตได้อย่างไร

ม่อจื๊อได้กล่าวถึงความเสียหายของการเชื่อพรหมลิขิตไว้ว่า

“ถ้าผู้ปกครองบ้านเมืองเชื่อในเรื่องพรหมลิขิต เขาก็จะไม่สนใจปกครองบ้านเมือง พวกเสนาบดีก็จะละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ประชาชนทั่วไปก็จะไม่เอาใจใส่ในการประกอบอาชีพ สตรีทั้งหลายก็จะไม่ใส่ใจเรื่องทอหูกปั่นฝ้าย ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามพรหมลิขิต ผลก็คือ โลกจะระส่ำระสาย ผู้คนจะเดือดร้อนเพราะขาดแคลนอาหารและเครื่องนุ่งห่ม”

ทรรศนะของม่อจื๊อในเรื่องพรหมลิขิตแตกต่างจากทรรศนะของขงจื๊อ กล่าวคือ บางครั้งขงจื๊อจะพูดทำนองเชื่อว่ามีพรหมลิขิต พรหมลิขิตหรือชะตากรรม (หมิง-Ming) เป็นโองการสวรรค์ ดังที่ขงจื๊อกล่าวว่า

“คำสอนของข้าพเจ้าจะเผยแผ่ไปทั่วโลกได้หรือไม่ก็เป็นเรื่องชะตากรรม ทำนองเดียวกันกับคำสอนของข้าพเจ้าจะเสื่อมสูญสลายไปหรือไม่ ก็เป็นเรื่องสุดแต่ชะตากรรมเช่นกัน”

ส่วนม่อจื๊อสอนว่า “ใครก็ตามหากมีความขยันหมั่นเพียรประกอบอาชีพ ไม่งอมืองอเท้ารอคอยพรหมลิขิตแล้ว ก็จะสามารถมีกินมีใช้อิ่มปากอิ่มท้องและตั้งเนื้อตั้งตัวได้” (ฟื้น  ดอกบัว, 2555 : 112-113)  

ม่อจื๊อมีความเห็นว่า ดนตรีเป็นเรื่องสำรวยสำราญ เป็นความฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น จึงเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของคน เพราะฉะนั้น ม่อจื๊อจึงไม่สนับสนุนให้เรียนหรือหมกมุ่นกับดนตรี เพราะเป็นสิ่งเกินความจำเป็น ม่อจื๊อได้แสดงโทษของดนตรีไว้ 4 ข้อ คือ

1. ทำให้สิ้นเปลืองเงินทอง

2. ช่วยประชาชนให้พ้นจากความอดอยากไม่ได้

3. ไม่สามารถช่วยป้องกันไม่ให้สงครามเกิดขึ้นได้

4. ทำให้ติดนิสัยเคยชินความเป็นบุคคลเจ้าสำราญฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม

ความเห็นของม่อจื๊อต่อเรื่องดนตรีผิดกับทรรศนะของขงจื๊อกล่าวคือ ขงจื๊อให้ความสำคัญแก่ดนตรีมาก ถึงกับเข้าไปศึกษาดนตรีในรัฐชี้ ในขณะที่ศึกษาอยู่นั้น ขงจื๊อดื่มด่ำในดนตรีถึงกับลืมรสอาหารถึง 3 เดือน ชั่วชีวิตของเขาโดยเฉพาะก็ในคราวทุกข์ยาก ขงจื๊อจะใช้ดนตรีเป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากตลอดมา ขงจื๊อมีความรู้เรื่องดนตรีมากจนได้รับเกียรติว่า เป็นปรมาจารย์แห่งดนตรี ขงจื๊อเชื่อว่า ดนตรีสามารถกล่อมเกลาจิตใจคนให้เป็นคนอ่อนโยน และเป็นคนดีได้ ส่วนม่อจื๊อเห็นว่า ทั้งดนตรีและพิธีทำศพเป็นการทำลายเศรษฐกิจ ทั้งเป็นการแบ่งแยกชนชั้นอีกด้วย(ฟื้น  ดอกบัว, 2555 : 113-114)

ดังนี้ จะเห็นว่า เหตุผลที่ม่อจื๊อไม่ชอบใจดนตรีก็มิใช่สาเหตุมาจากเสียงของเครื่องดนตรีแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่เป็นเพราะดนตรีไม่สิ่งเสริมต่อสวัสดิภาพของประชาชน และขจัดสิ่งชั่วร้ายได้ หรืออีกนัยหนึ่ง ม่อจื๊อเน้นผลประโยชน์ (benefits) ที่เป็นรูปธรรมมากนั่นเอง(ปานทิพย์  ศุภนคร,ผศ.,2534 : 34)

นอกจากนี้ ม่อจื๊อยังกล่าวถึงผลเสียของดนตรีว่า ดนตรีที่ผู้ปกครองพอใจย่อมนำไปสู่การขูดรีดภาษีประชาชน ทำให้เกิดความยุ่งยากต่องานผลิตโดยการดึงนักดนตรีออกไปจากงานผลิตอื่นๆ และทำให้เสียเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เกิดความสับสนขึ้นในรัฐบาล(Moore, Charles A. ed. 1968. p 43. อ้างใน ปานทิพย์  ศุภนคร,ผศ.,2534 : 35)

ม่อจื๊อมีความเห็นว่า รัฐที่มีพลเมืองมากจะกลายเป็นรัฐใหญ่มีความมั่งคั่งและจะเจริญรุ่งเรือง เพราะพลเมืองจะช่วยกันให้พัฒนา เหตุนี้รัฐจึงจำต้องมีพลเมืองเพื่อเป็นกำลังของชาติ วิธีที่รัฐจะมีพลเมืองมากขึ้นก็โดยการที่รัฐออกกฎหมาย ให้ชายอายุ 20 ปี กับหญิงอายุ 15 ปี ควรมีครอบครัว ทรรศนะเรื่องเพิ่มประชากรของม่อจื๊อก็ทำนองเดียวกับขงจื๊อ คือ ขงจื๊อสนับสนุนชายอายุ 30 หญิงอายุ 20 แต่งงานกันเพื่อสืบสกุลเป็นกำลังของชาติ ข้อนี้ผิดกับทรรศนะของเหลาจื๊อที่ต้องการให้แต่ละรัฐมีพลเมืองน้อย ทั้งมีอาณาเขตไม่กว้างนัก จะได้ปกครองดูแลทั่วถึง ความเห็นเรื่องการเพิ่มจำนวนประชากรของม่อจื๊ออาจจะเหมาะสมกับสมัยนั้น เพราะพลเมืองของประเทศจีนยังมีน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ของประเทศ แต่ทฤษฎีนี้ผิดพลาดมากหากจะนำมาใช้ในปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพราะประเทศจีนในปัจจุบันมีพลเมืองมากที่สุดในโลกคือ มีจำนวนมากกว่า 1,000 ล้านคน จนรัฐบาลจีนต้องรณรงค์ให้คุมกำเนิดในรูปแบบต่างๆ เช่น ลงโทษแก่คนที่มีลูกมาก เป็นต้น(ฟื้น  ดอกบัว, 2555 : 114-115)

ปรัชญาการเมืองของขงจื๊อและม่อจื๊อถึงแม้จะแตกต่างกัน แต่นักปรัชญาทั้ง 2 ต่างก็ได้รับความบันดาลใจมาจากราชสำนักเช่นกัน กล่าวคือ ขงจื๊อนิยมยกย่องจิวก่ง ผู้สำเร็จราชการจากแคว้นโจว แต่ม่อจื๊อไม่เห็นด้วยกับขงจื๊อที่ใช้ฟื้นฟูธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรมของราชวงศ์จิวหรือโจวมาปฏิบัติ ม่อจื๊อเห็นว่า สู้วัฒนธรรมของราชวงศ์แห่หรือเซีย(Hsia)ไม่ได้ วัฒนธรรมประเพณีของราชวงศ์แห่ดีที่สุด บุคคลในอุดมคติของม่อจื๊อ ก็คือ พระเจ้าอู๊หรือยู้ (Yu) ผู้สถาปนาราชวงศ์เซีย (ประมาณก่อน พ.ศ. 1762-1223 ปี) พระองค์ทรงเป็นที่กล่าวขานถึงความเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม และทรงมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของพระองค์สูงมาก กล่าวกันว่า ในขณะที่พระองค์กำลังครุ่นคิดหาทางแก้ไขอุทกภัยอยู่นั้น พระองค์ถึงกับลืมเสวยอาหาร ไม่สนพระทัยแต่งพระกาย ดังคำที่ว่า “พระเจ้ายู้ทรงถือเอาการกรำฝนเป็นการสนานพระกาย ทรงถือเอาสายลมที่พัดผ่านมาเป็นหวีสยายพระเกศา ทรงถือเอาการตรากตรำลำบากจากการเดินทางเป็นเครื่องนวดพระกายให้อ่อนนุ่ม” น้ำพระทัยเสียสละของพระเจ้ายู้เป็นที่ประทับใจของม่อจื๊อมาก ม่อจื๊อจึงอุทิศตนเองดำเนินรอยตามพระเจ้ายู้ ด้วยเหตุนี้ ม่อจื๊อจึงดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย มุ่งมั่นสละความสุขส่วนตัวออกบำเพ็ญประโยชน์ต่อมนุษยชาติโดยเฉพาะผู้ยากไร้ ปรัชญาการเมืองของม่อจื๊อมีหัวข้อใหญ่ๆ ดังนี้ (ฟื้น  ดอกบัว,2555 : 115-116.)

ม่อจื๊อมีความเห็นว่า ความทุกข์ความเดือดร้อนของสังคมมาจากความเห็นแก่ตัว เมื่อคนมีความเห็นแก่ตัว เมื่อคนมีความเห็นแก่ตัวจะทำอะไรก็ทำแบบเห็นแก่ตัว ผลก็คือ ผู้อื่นจะเดือดร้อน และยิ่งขยายความเห็นแก่ตัวออกไป ความเดือดร้อนก็จะขยายตามไปด้วย เช่น ขยายออกมาสู่ครอบครัว สังคม ประเทศ เป็นต้น ก็กลายเป็นครอบครัวเห็นแก่ตัว สังคมเห็นแก่ตัว และประเทศเห็นแก่ตัว หากเป็นเช่นนี้ สันติภาพก็เป็นอันสิ้นหวัง แต่ตรงข้าม หากคนเราขจัดความเห็นแก่ตัวเสียได้ โลกก็จะประสบสันติสุขอย่างแน่นอน เหตุนี้ม่อจื๊อจึงสอนให้คนปลูกความรักให้เกิดขึ้นต่อมนุษยชาติ โดยปลูกความรักให้เกิดขึ้นในตัวก่อน จากนั้นจึงขยายออกไปสู่ครอบครัว สังคม ประเทศ ตลอดถึงโลก ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน แล้วจะได้ไม่นำความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้กัน ทั้งนี้ก็เพราะรักผู้อื่นเสมอกับตน รักครอบครัวอื่นอย่างกับครอบครัวของตน รักประเทศอื่นท่ากับประเทศของตน ตัวเองได้รับประโยชน์อย่างไรก็จงทำให้คนอื่นได้รับประโยชน์อย่างนั้น ครอบครัวของตนได้รับประโยชน์อย่างไรก็ต้องให้ครอบครัวอื่นได้ประโยชน์อย่างนั้น และประเทศของตนได้รับประโยชน์อย่างไรก็จะต้องให้ประเทศอื่นได้ผลประโยชน์อย่างนั้นด้วย (ฟื้น  ดอกบัว,2555 : 116-117.)

สมัยที่ม่อจื๊อยังมีชีวิตอยู่ ผู้ปกครองบ้านเมืองเล่นพรรค เล่นพวก ใครที่ไม่ใช่ญาติหรือพวกพ้อง ถึงจะมีความรู้ความสามารถเพียงไรก็จะไม่มีโอกาสเข้ารับราชการ หรือเข้ามาได้แล้วก็ไม่ได้เลื่อนให้มีตำแหน่งใหญ่โต ม่อจื๊อจึงสอนให้เลิกเล่นพรรคเล่นพวก แต่ให้ถือตัวคนที่มีความรู้ความสามารถเป็นสำคัญ ม่อจื๊อเสนอให้รัฐบาลนำคนดีมีความรู้มาใช้ และปูนบำเหน็จยศถาบรรดาศักดิ์ให้ตามความเหมาะสม หลักการของม่อจื๊อในข้อนี้ดี จะทำให้บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรือง แต่ทรรศนะของม่อจื๊อในเรื่องนี้ก็ขัดกับปรัชญาเหลาจื๊อที่สอนว่า ความยุ่งยากของสังคมเกิดมาจากคนฉลาด เพราะฉะนั้นจึงไม่สนับสนุนให้คนศึกษาเล่าเรียน (ฟื้น  ดอกบัว,2555 : 117)

ม่อจื๊อถือว่า ผู้นำไม่ใช่เรื่องที่มนุษย์สมมติบัญญัติขึ้นเท่านั้น หากแต่เป็นความจริงตามธรรมชาติที่จะต้องมีขึ้น ดุจเดียวกับสัตว์เดรัจฉานทุกจำพวกจะต้องมีจ่าฝูงหรือหัวหน้า มันเป็นความจำเป็นโดยแท้ที่ต้องมีผู้นำในสังคมมนุษย์ เพราะสังคมมนุษย์จะขาดผู้นำหรือหัวหน้าไม่ได้ เพราะผู้นำย่อมเป็นที่รวมจิตใจของคนในสังคมนั้น ผู้นำเป็นหลักประกันความมั่นคงและความสงบสุขของสังคม หากขาดผู้นำเสียแล้ว ต่างคนต่างก็เอาแต่ใจตัวเองเป็นประมาณ ทำให้เกิดความวุ่นวายไร้ระเบียบในสังคม ดังที่ม่อจื๊อกล่าวว่า

“ในสมัยปฐมบรรพ์นั้น มนุษย์ยังไม่มีกฎหมายและการปกครองไม่มีระเบียบประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติกัน แต่ละคนจึงปฏิบัติตามใจของตน โดยนัยนี้ยิ่งมีคนมากก็มีความเห็นแตกต่างกันมาก และแต่ละคนขัดแย้งกัน ซึ่งนำไปสู่การเกลียดชังและการเป็นศัตรูกัน ผลก็คือ การเบียดเบียนกันจนถึงประหัตประหารกันก็ตามมา โลกจึงเต็มไปด้วยความโกลาหลวุ่นวาย ต่อมาคนเกิดความเข้าใจว่า สาเหตุของความไม่สงบวุ่นวายนั้น มาจากการขาดหัวหน้าหรือผู้นำ เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงช่วยกันคัดเลือกบุคคลที่ฉลาด และสามารถที่สุดขึ้นเป็นโอรสแห่งสวรรค์หรือพระเจ้าจักรพรรดิ หลังจากนั้นก็ช่วยกันสรรหาบุคคลที่ฉลาดและสามารถรองลงมาเป็นเสนาบดี และอื่นๆ ตามลำดับ คอยช่วยเหลือผู้นำ ทั้งนี้ก็เพื่อให้พวกหัวหน้าจนถึงประมุข ช่วยกันขจัดความวุ่นวาย นำความสงบสุขร่มเย็นมาให้ประชาชน(ซิวไช, 2523 : 300-301.อ้างใน ฟื้น  ดอกบัว, 2555 : 118.)

ด้วยเหตุนี้ม่อจื๊อจึงถือว่า ผู้นำสำคัญที่สุดของประเทศ แต่โดยเหตุที่ผู้นำสามารถบันดาลได้ทั้งความเจริญหรือความเสื่อมให้แก่ประชาชน ประชาชนจึงจำต้องให้ความสำคัญในการคัดเลือกบุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าเป็นพิเศษ ประชาชนจะต้องร่วมมือกันเฟ้นหาบุคคลที่ดีเด่นด้วยคุณธรรมและความรู้มาเป็นผู้นำ บุคคลที่จะมาร่วมทำงานกับผู้นำก็จะต้องคัดเลือกมาจากคนดีมีความรู้ดีเด่นเช่นกัน ตำแหน่งผู้นำสูงสุดตามปรัชญาขงจื๊อ ก็ทำนองเดียวกับประธานาธิบดี แต่ม่อจื๊อเรียกว่า จักรพรรดิหรือโอรสแห่งสวรรค์ แต่ม่อจื๊อไม่ได้บอกว่า เมื่อผู้นำสูงสุดสิ้นชีพแล้วจะดำเนินการอย่างไร จะเลือกตั้งใหม่หรือใช้แบบสืบสันติวงศ์(ฟื้น  ดอกบัว,2555 : 119)

ม่อจื๊อ สอนให้ทำตามผู้นำ เรียกว่า เสียงท้ง สอนให้เชื่อผู้นำ ทำตามคำสั่งของผู้นำ เขาเห็นว่า ถ้ารัฐได้ผู้นำที่ดี ปฏิบัติตามกฎรัฐร่วมกัน มีประโยชน์สัมพันธ์กันก็เป็นใช้ได้ (เสถียร  โพธินันทะ,2544 : 126)

ม่อจื๊อเทิดทูลสันติภาพ และความยุติธรรมเป็นอย่างมาก จึงถือเป็นหน้าที่ที่ต้องดำรงรักษาสันติภาพและความยุติธรรมไว้ให้ได้ ม่อจื๊อมีความเห็นว่า สงครามเป็นการทำลายล้างทั้งสันติภาพและความยุติธรรม สงครามจึงเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุดที่จำต้องกำจัดให้หมดไป และการที่จะให้สัมฤทธิ์ผลดังกล่าวก็เห็นมีอยู่วิธีเดียว คือ การใช้กำลังทหารเข้าสนับสนุนการพูด และเนื่องจากม่อจื๊อมีความรู้ทางพิชัยสงคราม และชำนาญในการช่าง เขาจึงตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพชั้นเยี่ยมขึ้นมาได้ กองกำลังก็ไม่ได้เอามาจากไหน ก็ใช้สาวกของตนนั่นเอง ม่อจื๊อมีสาวก 300 คน และในจำนวนนี้มีผู้ยอมเสียสละทุกอย่างแม้ชีวิตก็สละได้เพื่อม่อจื๊อถึง 180 คน

ม่อจื๊อคิดว่า การใช้กำลังเป็นอำนาจต่อรองนั้นแหละจึงจะได้ผล ทำนองเดียวกับเจรจากับโจรไม่ให้ปล้นบ้าน เจ้าของบ้านก็จำต้องแสดงกำลังให้โจรเกรงกลัวจึงจะสามารถยับยั้งโจรได้ ม่อจื๊อจึงทำตัวเหมือนตำรวจโลก คอยสอดส่องว่ารัฐไหนจะไปรุกรานรัฐอะไร เมื่อทราบแล้วม่อจื๊อก็จะรีบไปเกลี้ยกล่อมรัฐที่จะไปรุกรานให้เห็นโทษของสงครามแล้วล้มเลิกเสีย หากรัฐนั้นไม่ยอมฟัง ม่อจื๊อก็จะใช้กองกำลังของตนเข้าช่วยเหลือรัฐที่รุกราน(ฟื้น  ดอกบัว,2555 : 121)

ม่อจื๊อ ค้านการสงครามรุกราน แบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก โดยชี้ให้เห็นโทษของการรุกราน ด้วยเหตุผลน่าฟัง ดังต่อไปนี้

“มีคนหนึ่งเข้าไปในสวนผลไม้ของคนอื่น แล้วลักผลไม้มาเป็นของตน ชาวบ้านรู้เข้าย่อมไม่พอใจขโมยคนนั้น รัฐก็ต้องลงโทษตามระบิลเมือง ข้อนี้ก็เพราะเป็นการกระทำที่เสียหายต่อผู้อื่น ต่อมามีคนที่ 2 เข้าไปลักปศุสัตว์ของชาวบ้าน ผู้นั้นชื่อว่าได้ทำผิดยิ่งกว่าคนที่ 1 ต่อมามีคนที่ 3 เข้ามาทำการปล้นทรัพย์ฆ่าฟันทำร้ายผู้อื่น ก็ชื่อว่าทำความผิดร้ายแรงยิ่งกว่ารายก่อนๆ ข้อนี้เป็นเพราะอะไร ก็เพราะเป็นการทำความเสียหายให้แก่ผู้อื่นเป็นอย่างมาก คนยิ่งทำความเสียหายแก่คนอื่นมากเท่าไร ก็ย่อมแสดงว่าใจขาดความดีงามมากขึ้นเท่านั้น โทษที่พึงจะได้รับก็จะต้องหนักขึ้นตามไปด้วย คนที่ทำความไม่ดี ย่อมเป็นที่ติเตียนของคนดีทั้งหลาย แต่ยังมีความเลวร้ายที่หนักกว่าการกระทำดังกล่าวมาทั้งหมด นั่นก็คือ รัฐที่ชอบเที่ยวทำสงครามรุกรานรัฐอื่น แต่เรากลับทำเป็นไม่เห็น มิหนำยังกลับสรรเสริญว่า เป็นการกระทำที่ชอบธรรมเสียอีก ช่างน่าเศร้าใจจริงๆ”(ฟื้น  ดอกบัว,2555 : 124)

ม่อจื๊อบำเพ็ญตนเป็นผู้พิทักษ์ความยุติธรรม โดยถือเอาความเสียหายมากน้อยของสังคมเป็นเครื่องกำหนดโทษ ในทรรศนะของม่อจื๊อแล้ว พวกนักรุกรานทั้งหลาย คือ จอมปล้นประเทศ(ฟื้น  ดอกบัว,2555 : 125.) ม่อจื๊อไม่ย่อมสดุดีชัยชนะของคนเหล่านี้ว่าเป็นวีระกรรมเป็นอันขาด เขาเรียกพวกนี้ว่าเป็นนักโทษของมนุษยชาติ(เสถียร  โพธินันทะ,2544 : 125)

จริยมาตรฐาน หมายถึง เกณฑ์การวินิจฉัยว่าอะไรดีอะไรชั่ว ในปรัชญาของม่อจื๊อมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องคือ ในการที่จะตัดสินใจลงไปว่า สิ่งใดดี สิ่งใดชั่วนั้น จะยึดถืออะไรเป็นเกณฑ์วินิจฉัยต่อปัญหานี้ ม่อจื๊อแสดงทรรศนะว่า จะต้องถือหลัก 3 ประการเป็นเกณฑ์วินิจฉัยหรือตรวจสอบ

1. ไม่ขัดกับเจตจำนงของสวรรค์ของเทพวิญญาณ และจรรยาวัตรของพระบูรพมหากษัตริยาธิราช (The ancient sage-kings)

2. ไม่ขัดกับเจตจำนงสาธารณะ นั่นคือข้อเท็จจริงอันเป็นมติมหาชน

3. เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน

บรรดาเกณฑ์ตรวจสอบทั้งสามประการนี้ เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ถือว่าเป็นข้อสำคัญที่สุดและเป็นเกณฑ์ที่ม่อจื๊อใช้พิสูจน์ตรวจสอบคุณค่าด้านต่างๆ เสมอมา จึงอาจกล่าวได้ว่า ทรรศนะของม่อจื๊อในเรื่องว่าด้วยเกณฑ์การวินิจฉัยคุณค่านี้มีลักษณะเป็น ประโยชน์นิยม (Utilitarianism)คือ ปรัชญาที่ถือเอาผลของการกระทำ หรือผลที่พึงจะได้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่า ดี-ชั่ว (น้อย  พงษ์สนิท.ผศ.,ม.ป.ป. : 43)

ม่อจื๊อโจมตีขงจื๊อที่พูดถึงสวรรค์น้อย คุณธรรมเยิ้น ของขงจื๊อจึงไม่มีพื้นฐานรองรับที่แน่นหนา เพราะคุณธรรมดังกล่าวอยู่ในตัวมนุษย์ มนุษย์เป็นศูนย์กลางของความดี และเป็นต้นกำเนิดของคุณธรรม แต่ ความรักสากล ของม่อจื๊อ เป็นคุณธรรมที่มีพื้นฐานมาจากพระเจ้า กล่าวคือ ความรักสากลเป็นเจตจำนงแห่งสวรรค์ (The Will of Heaven) ม่อจื๊อจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้พิทักษ์ศาสนา หรือรื้อฟื้นเรื่องสวรรค์ให้มีชีวิตชีวา หลังจากที่ฝ่ายลัทธิขงจื๊อเอ่ยถึงน้อยเกินไป

เนื่องจากหลักประโยชน์นิยม และหลักการศาสนาของเขา ทำให้ม่อจื๊อมีวิถีชีวิตในทางทุกข์นิยม(asceticism) มีแต่ระเบียบและปฏิเสธตนเองและค่อนข้างยากที่จะหาบุคคลผู้อุทิศตนเพื่อคนอื่น เช่นม่อจื๊อ และการจะนำมนุษย์ไปสู่ความสงบและสันติสุขตามวิถีทางของม่อจื๊อคงเป็นไปได้ยาก ลัทธิม่อจื๊อ (Moism หรือ Moist School)ได้พัฒนาขึ้นหลังจากม่อจื๊อเสียชีวิตและกลายเป็นสำนักทางศาสนาไป เป็นสำนักที่มีระเบียบปฏิบัติที่เข้มงวด ภายใต้การนำของหัวหน้าสำนัก แต่ความเข้มงวดของหลักปฏิบัติ ทำให้สำนักนี้สืบต่อได้ประมาณสองศตวรรษก็สลายตัว (ปานทิพย์  ศุภนคร,ผศ.,2534 : 37)

สรุปได้ว่า หัวใจของปรัชญาม่อจื๊ออยู่ที่ความรักความเมตตาต่อมนุษยชาติ ปรารถนาจะให้ทุกคนมีความสุข โดย ให้คนเห็นคุณค่าของความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ แล้วปลูกฝังหลักปรัชญานี้ให้เกิดมีขึ้นในสันดาน เลิกการแบ่งแยกชนชั้น ให้ถือทุกคนเป็นพี่น้องกัน มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ขยันหมั่นเพียร ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย และประหยัด การขยันทำให้มีทรัพย์สินเพิ่ม การประหยัดก็ช่วยเพิ่มทรัพย์ได้เช่นกัน เลิกการใช้ฟุ่มเฟือย และล้มเลิกประเพณีที่สิ้นเปลือง โดยเฉพาะก็พิธีทำศพ ซึ่งสิ้นเปลืองมากทั้งเงินและเวลา เรื่องดนตรีก็เช่นกันควรละเว้นเสีย เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองทั้งเงินทั้งเวลาแล้ว ยังเป็นการเพาะนิสัยความสำรวยสำราญอีกด้วย นอกจากนี้ ประเพณีหรูหราฟุ่มเฟือย และดนตรียังเป็นการแบ่งแยกชนชั้นทำให้คนชั้นสูงหาความสุขบนความทุกข์ของคนชั้นต่ำอีกด้วย เลิกเชื่อโชคชะตาหรือพรหมลิขิต แต่ให้เชื่อว่า ตนนั่นแหละเป็นผู้ลิขิตทุกอย่าง ไม่ว่าเป็นความเจริญหรือความเสื่อมตนเองเป็นผู้บันดาลให้ทั้งนั้น  และเชื่อในเรื่องของเทพเจ้า ผีสาง เทวดา เพราะความเชื่อเรื่องการมีอยู่ของผีสางเทวดาเท่านั้น จะทำให้คนรักทำความดี หนีการทำความชั่วทั้งต่อหน้า และลับหลัง อันจะเป็นผลให้การแผ่ความรักเมตตาเป็นไปได้อย่างจริงจัง ดังนั้น หลักปฏิบัติดังกล่าวของม่อจื๊อ คือ หลักประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ของ Stuart Mill นั่นเอง ม่อจื๊อจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้พัฒนาปรัชญาประโยชน์นิยมขึ้นในระบบปรัชญาจีนนั่นเอง

------------------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

 

จำนง  ทองประเสริฐ. 2537. บ่อเกิดลัทธิประเพณีจีน ภาค 1 – 3, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

ซิวไซ. 2523. ปรัชญาจีน, แปลโดย สกล  นิลวรรณ จาก The Story of Chinese Philosophy.พระนคร : โอเดียนสโตร์.

น้อย  พงษ์สนิท,ผศ.,ม.ป.ป. ปรัชญาจีน. กรุงเทพมหานคร : โอ.เอส.พริ้นติ้ง, ศูนย์ส่งเสริมตำรา

และเอกสารวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ปานทิพย์  ศุภนคร,ผศ.,2534. ปรัชญาจีน CHINESE PHILOSOPHY PY 225, พิมพ์ครั้งที่ 3,

กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ฟื้น  ดอกบัว. 2555. ปางปรัชญาจีน, พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์.

เสถียร  โพธินันทะ. 2506. เมธีตะวันออก. พิมพ์ครั้งที่ 1, พระนคร : สำนักพิมพ์บรรณาคาร,ก.ศ.ม.

----------------------. 2544. เมธีตะวันออก. พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ : สรรค์บุ๊ค.

 

Fung, Yu-Lan. 1970. The Spirit of Chinese Philosophy. Westport, Connecticut :

Greenwood Press.

Moore, Charles A. ed. 1968.  The Chinese Mind. Honolulu, East – West Center Press.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML