มนุษย์กับพุทธศาสนา

 


มนุษย์กับพุทธศาสนา

มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มีคุณสมบัติในการรู้คิดสิ่งที่เกี่ยวกับระบบคุณค่า และสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งลักษณะพิเศษดังกล่าวนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำ ให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อย่างสิ้นเชิง ระบบคุณค่าดังกล่าว ได้แก่ ความดี ความถูกต้อง คุณธรรม รวมถึงความสุข ความสุขนั้นสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิต มนุษย์ทุกคนย่อมปรารถนาชีวิตที่มีความสุขมากกว่าความทุกข์ แต่ก่อนที่เราจะได้ทราบถึงทัศนะเกี่ยวกับมนุษย์ของพุทธศาสนา และจริยศาสตร์สุขนิยมนั้น เราควรทราบถึงทัศนะต่อมนุษย์จากทั้ง 2 แนวคิดเสียก่อน เพราะการเข้าใจเกี่ยวกับความสุขได้นั้นย่อมมีพื้นฐานมาจากความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์โดยรวม

มนุษย์ในทัศนะของพุทธศาสนา มีดังนี้ 1.  ธรรมชาติของมนุษย์ ทัศนะของพุทธศาสนามนุษย์ประกอบขึ้นด้วยขันธ์ 5หรือกอง 5 กอง ที่เรียกว่า เบญจขันธ์ อันได้แก่ รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร และวิญญาณ ฉะนั้นขันธ์ 5 จึงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งอธิบายความหมายของขันธ์แต่ละอย่างดังที่ปรากฏในขัชชนิยสูตร ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอะไรจึงเรียกว่า รูป เพราะสลายไป จึงเรียกว่า รูป สลายไปเพราะอะไร สลายไป เพราะหนาวบ้าง เพราะร้อนบ้าง เพราะหิวบ้าง เพราะกระหายบ้าง เพราะสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง..เพราะอะไรจึงเรียกว่า เวทนา เพราะอะไรจึงเรียกว่า เวทนา เพราะเสวย เรียกว่า เวทนา เสวยอะไร เสวยอารมณ์สุขบ้าง เสวยอารมณ์ทุกข์บ้าง เสวยอารมณ์ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุขบ้าง เพราะอะไรจึงเรียกว่า สัญญา เพราะจำได้หมายรู้ จึงเรียกว่า สัญญา จำได้หมายรู้อะไร จำได้หมายรู้สีเขียวบ้าง สีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง สีขาวบ้าง เพราะอะไรจึงเรียกว่า สังขาร เพราะปรุงแต่งสังขตธรรม จึงเรียกว่า สังขาร ปรุงแต่งสังขตธรรมอะไร ปรุงแต่งสังขตธรรม คือ รูป โดยความเป็นรูปปรุง แต่สังขตธรรม คือ เวทนา โดยความเป็นเวทนา ปรุงแต่งสังขตธรรม คือ สัญญา โดยความเป็นสัญญา ปรุงแต่งสังขตธรรม คือ วิญญาณ โดยความเป็นวิญญาณ เพราะอะไรจึงเรียกว่า วิญญาณ เพราะรู้แจ้ง จึงเรียกว่า วิญญาณ รู้แจ้งอะไร รู้แจ้งรสเปรี้ยวบ้าง รสขมบ้าง รสเผ็ดบ้าง รสหวานบ้าง รสขื่นบ้าง รสเค็มบ้าง รสไม่เค็มบ้าง (สํ. ข. 17/79/108-109)

การที่พุทธศาสนาจัดมนุษย์อยู่ในรูปของขันธ์ 5 แสดงว่า พุทธศาสนามองมนุษย์ในรูปของส่วนประกอบต่างๆ ที่มาประชุมเข้าด้วยกัน คือ โดยแท้จริงแล้วเมื่อทำการแยกส่วนต่างๆ ที่มาประกอบกันจะไม่พบอะไรเลย ซึ่งก็เท่ากับมนุษย์ไม่มีตัวตนที่แท้ เราสามารถทำความเข้าใจในเรื่องขันธ์ 5 ได้ชัดเจนขึ้นจากหลักธรรมใหญ่ 2 หมวดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฏธรรมชาติ คือ ไตรลักษณ์ และ ปฏิจจสมุปบาท (พระธรรมปิฎก, 2543: 67)

กฏไตรลักษณ์ ขันธ์ 5 อยู่ในลักษณะที่ไม่คงที่ (อนิจจตา) ไม่มีส่วนใดที่มีตัวตนแท้จริง (อนัตตา) และถูกบีบคั้นอยู่ทุกขณะ (ทุกขตา) พุทธพจน์ที่แสดงถึงความเป็นไปของขันธ์ 5 ตามกฎไตรลักษณ์ กล่าวไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา หากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักเป็นอัตตา (ตัวตน) แล้วไซร้ มันก็จะไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามปรารถนาในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณว่า ขอรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย แต่เพราะเหตุที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา ฉะนั้น รูป เวทนา สังขาร วิญญาณ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และใครๆ ไม่อาจได้ตามความปรารถนา ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่า ขอรูป ขอเวทนา ขอสัญญา ขอสังขาร ขอวิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย (สํ.ข. 17/96/173)

ตามกฏปฏิจจสมุปบาท ขันธ์ 5 อยู่ในรูปของกระแสแห่งปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์สืบต่อกัน ไม่มีสิ่งใดที่อยู่ในกระแสจะสามารถคงที่อยู่ได้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง จึงมีแต่การเกิดขึ้นแล้วสลายตัวไปพร้อมกับที่เป็นปัจจัยให้มีการเกิดขึ้นแล้วสลายตัวต่อๆ ไปอีก ส่วนต่างๆ สัมพันธ์กันเนื่องอาศัยกัน เป็นปัจจัยแก่กัน ในกรณีของชีวิตมนุษย์ปุถุชน หากยึดถือเอารูปปรากฏของกระแส หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของกระแสว่าเป็นตัวตน และปรารถนาให้ตัวตนนั้นมีอยู่ หรือเป็นไปในรูปใดรูปหนึ่งตามที่ตนต้องการ ในขณะเดียวกับที่ความเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนที่เกิดขึ้นในกระแสก็ขัดแย้งต่อความปรารถนาของตนก็จะยิ่งเป็นการบีบคั้น และเร่งเร้าให้เกิดความอยากรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อไม่เป็นไปตามที่อยาก ความบีบคั้นย่อมแสดงผลเป็นความผิดหวัง ความทุกข์ รุนแรงขึ้นตามลำดับ ภาวะจิตเหล่านี้ คือ อวิชชา (ความไม่รู้ตามความเป็นจริง หลงผิดว่า มีตัวตน) ตัณหา (ความอยากให้ตัวตนที่หลงว่า มีนั้นได้ เป็นหรือไม่เป็นต่างๆ) อุปาทาน (ความยึดถือผูกติดตัวตนในความหลงผิดนั้นไว้กับสิ่งต่างๆ) กิเลสเหล่านี้แฝงลึกซับซ้อนอยู่ในจิตใจ และเป็นตัวคอยบังคับบัญชาพฤติกรรมทั้งหลายของบุคคลให้เป็นไปต่างๆ ตามอำนาจของมัน ทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว ตลอดจนเป็นตัวหล่อหลอมบุคลิกภาพ และมีบทบาทสำคัญในการชี้กรรมของบุคคลนั้นๆ ซึ่งเป็นที่มาแห่งความทุกข์ของมนุษย์ปุถุชนทุกคน ดังพุทธพจน์ที่ว่า อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ ไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้ อริยสาวก พึงเห็นด้วยสัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ เวทนาเป็นทุกข์ ฯลฯ สัญญาเป็นทุกข์ ฯลฯ สังขารเป็นทุกข์ ฯลฯ วิญญาณเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำ เสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี (สํ.ข.17/95/58)

สรุปได้ว่า มนุษย์มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นร่างกาย (รูป) และส่วนที่เป็นจิตใจ (นาม) ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

อนึ่งเนื่องจากกระบวนการของขันธ์ 5 นั้นก็ตกอยู่ภายใต้กฏแห่งเหตุปัจจัยหรือปฏิจจสมุปบาทซึ่งพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากแต่มนุษย์โดยทั่วไปมักจะมีความคิดยึดถือในตัวตนว่ามีตัวตนที่เที่ยงแท้ ซึ่งความยึดถือว่ามีตัวตนนี้ย่อมมีประจำอยู่ในสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย(พุทธทาส, 2541: 102) แต่ขณะเดียวกันนั้น ความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวเป็นตน (อัตตวาทุปาทาน) นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ในการดำเนินชีวิต มนุษย์ คือ ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ปรัชญาทั้งตะวันออก และตะวันตกจะเกี่ยวข้องกับปัญหาอภิปรัชญาเสียเป็นส่วนใหญ่ที่ได้พยายามหาคำตอบเกี่ยวกับกำเนิดของโลก และชีวิต โดยเข้าใจว่าเมื่อทราบปัญหาพื้นฐานดังกล่าวนี้ได้แล้วจะทำให้ทราบความลี้ลับทั้งปวงที่มนุษย์ยังไม่เข้าใจได้ เช่นปัญหาเกี่ยวกับโลกหน้า ปัญหาเกี่ยวกับความดี-ชั่ว ปัญหาว่า มนุษย์ควรประพฤติอย่างไรจึงจะเหมาะสม เป็นต้น ในสมัยพุทธกาลเมื่อมีผู้มาถามปัญหาอภิปรัชญาเหล่านี้กับพระพุทธเจ้า จะไม่ทรงตอบ แต่กลับทรงชี้ไปที่ปฏิจสมุปบาทว่า เมื่อมนุษย์เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามกระบวนของเหตุปัจจัยแล้วจะไม่สงสัยในปัญหาอภิปรัชญาเหล่านี้ ดังปรากฏใน ปัจจสูตร ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล อริยสาวกเห็นด้วยดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาท และธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นเหล่านี้ ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงแล้ว เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นจักแล่นเข้าถึงที่สุดเบื้องต้นว่า ในอดีตกาลเราได้เป็นหรือหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไรหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอย่างไรหนอ ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไร แล้วได้มาเป็นอะไรหนอ หรือว่าจักแล่นเข้าถึงที่สุดเบื้องปลายว่า ในอนาคตกาลเราจักเป็นหรือหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไรหนอ ในอนาคตกาลเราจักเป็นอย่างไรหนอหรือว่าจักยังมีความสงสัยในปัจจุบันกาลเป็นภายใน ณ บัดนี้ว่า เราเป็นอยู่หรือหนอ หรือไม่เป็นอยู่หนอ เราเป็นอะไรอยู่หนอ เราเป็นอย่างไรอยู่หนอ สัตว์นี้มาแต่ไหนหนอ เขาจักไปในที่ไหนหนอ ดังนี้ ข้อนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เพราะเหตุไร เพราะว่า อริยสาวกเห็นด้วยดีแล้ว ซึ่งปฎิจจสมุปบาท และธรรมอาศัยกันเกิดขึ้นเหล่านี้ ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง (สํ.นิ. 16/20/33)

ตามหลักของปฏิจจสมุปบาทนั้นได้แสดงให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งขันธ์ 5 เกิดขี้นด้วยเหตุปัจจัย ดำรงอยู่ด้วยเหตุปัจจัย และเสื่อมไปด้วยเหตุปัจจัย กระบวนการแห่งเหตุปัจจัย คือกระบวนการธรรมชาติที่มีอยู่และเป็นอยู่ด้วยตนเอง ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน กำ เนิดขึ้นมาเป็นอยู่ และเสื่อมสลายไปด้วยเหตุปัจจัย มนุษย์จึงไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่น ทั้งในเรื่องของกำเนิด การเป็นอยู่ และการเสื่อมสลาย หากพิจารณากำเนิดของมนุษย์แต่ละคน จะเห็นว่า มีเหตุปัจจัยต่างๆ มาเกี่ยวข้องมากมาย ยังมิรวมถึงชีวิตของมนุษย์ในสังคมที่เกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยอย่างอื่นอย่างไรบ้าง เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในแต่ละวันหรือจนตลอดชีวิต

ธรรมชาติในทัศนะของพุทธศาสนา คือ อะไร ก็สามารถตอบได้ว่า คือ กระบวนการที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่ไม่ได้อยู่แยกต่างหากจากตัวมนุษย์ หากแต่ดำเนินควบคู่ไปกับชีวิตมนุษย์ ที่กล่าวว่าดำ เนินควบคู่กันไปกับมนุษย์นั้นจะเห็นได้จากความหมายของธรรมชาติที่อาจจำแนกออกได้ 4 ความหมาย ตามที่ท่านพุทธทาสได้อธิบายในหัวข้อธรรมชาติ คือ อะไร (พุทธทาส, มปป ก.: 10-12) คือ 1. ตัวธรรมชาติ, 2. ตัวกฎธรรมชาติ, 3. ตัวการปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติ และ4. ตัวผลที่ได้รับจากการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ

จากความหมายของธรรมชาติทั้ง 4 ความหมายข้างต้นนี้ ทั้งตัวมนุษย์ และการดำเนินชีวิตของมนุษย์จึงต้องเป็นไปตามกฎของ อิทัปปจยตาหรือปฏิจจสมุปบาท กล่าวคือ สิ่งต่างๆ นั้นดำเนินไปในลักษณะเป็นปัจจัยที่เนื่องอาศัยต่อกัน ตามกระแสของเหตุผล มิใช่เกิดขึ้นอย่างลอยๆหรือโดยบังเอิญ ดังเช่นพุทธพจน์ต่อไปนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิจจสมุปบาทเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ พระตถาคตทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุอันนั้น คือ ธัมมฐิติ (ความตั้งอยู่ตามธรรมดา) ธัมมนิยาม (ความแน่นอนของธรรมดา) อิทัปปัจจัย (มูลเหตุอันแน่นอน) ก็ยังดำรงอยู่ พระตถาคตย่อมตรัสรู้ ย่อมตรัสรู้ทั่วถึงซึ่งธาตุอันนั้น ครั้งแล้ว ย่อมตรัสบอก ทรงแสดงบัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำ แนก กระทำ ให้ตื้น และตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงดู ดังนี้ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา และมรณะ ฯลฯ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ ฯลฯ เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ ฯลฯ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ฯลฯ เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา ฯลฯ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา ฯลฯ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ ฯบฯ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ ฯลฯ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ฯลฯ เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯลฯ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร . ดังนี้ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ภิกษุทั้งหลาย ความจริงแท้ ความไม่คลาดเคลื่อน ความไม่เป็นอย่างอื่น มูลเหตุอันแน่นอนในธาตุอันนั้น ดังพรรณามาฉะนี้แล เราเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท (สํ.นิ./16/20/32) สรุปได้ว่า อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, อิมสฺสุป ปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด, อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี, อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ เพราะดับสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับ (ขุ.สุ. 25/3/105) (ขุ.สุ. 25/3/112)

ฉะนั้น มนุษย์จึงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ หากปราศจากการเกี่ยวข้องกับสิ่งธรรมชาติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนมนุษย์ สัตว์โลก และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แล้ว มนุษย์จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เลย เมื่อความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อธรรมชาติเป็นไปในลักษณะข้างต้นแล้ว การกระทำเหตุปัจจัยเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจถึงตัวเหตุปัจจัยนั้นๆ พร้อมกับรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุปัจจัยต่างๆ ภายในกระบวนการของธรรมชาตินั้นอย่างถูกต้อง เหล่านี้ยิ่งเป็นการตอกยํ้าถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติโดยหมายรวมถึงสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิต ที่อยู่แวดล้อมตัวมนุษย์ ว่ามีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กัน และกัน ดังนั้น การปฏิบัติตัวของมนุษย์ต่อธรรมชาติจึงควรเป็นไปในลักษณะเกื้อกูลต่อกัน ดังที่ พระธรรมปิฎกได้แสดงทัศน์ ดังนี้ (พระธรรมปิฎก, 2541:188-191) 1. มนุษย์ควรมองเห็น และชื่นชมในความงามของธรรมชาติ มีความสุขกับการได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ, 2. มนุษย์ควรมองว่าสิ่งทั้งหลายในธรรมชาตินั้นอยู่ในกฎเดียวกัน เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน จึงควรมีความรู้สึกเมตตาต่อกัน และ3. มนุษย์ควรมองเห็นความสำคัญของธรรมชาติที่มีต่อการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์

ธรรมชาติมีคุณค่าต่อมนุษย์เนื่องจากคอยเกื้อกูลมนุษย์ด้วยท่าทีต่อธรรมชาติที่ถูกต้องข้างต้นนี้ จะสามารถทำให้มนุษย์ดำรงตนได้อย่างสงบ สันติอย่างถาวร ต่างจากท่าทีในการนำธรรมชาติมาเป็นเครื่องรับใช้ตัณหาของมนุษย์ซึ่งรังแต่จะทำ ให้เกิดความเสื่อมโทรมทั้งภายนอก คือ ตัวธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ และภายใน คือ จิตวิญญาณของมนุษย์ อันเป็นต้นตอของปัญหาที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ ทั้งกับวิกฤติทางสังคม และสิ่งแวดล้อมดังเช่นปัจจุบัน

ความต้องการของมนุษย์ในที่นี้ หมายถึง การสนองความต้องการเพื่อความอยู่รอดของตนในเมื่อมนุษย์มีธรรมชาติ 2 อย่าง คือ ส่วนที่เป็นร่างกาย (รูป) และส่วนที่เป็นจิตใจ (นาม) ตามคำอธิบายของขันธ์ 5 แสดงว่า ความต้องการของมนุษย์ในทัศนะของพุทธศาสนาย่อมมี 2 ส่วน ด้วยกัน คือ อาหารกาย และอาหารใจ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงถึงอาหารอันเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตไว้ 4 ประเภท (ม.มู 12/90/84) ได้แก่ 1. กวฬิงการาหาร อาหาร คือ คำ ข้าว หยาบหรือละเอียด, 2. ผัสสาหารอาหาร คือ ผัสสะ, 3. มโนสัญเจตนาหาร อาหาร คือ ความคิดอ่าน และ4. วิญญาณาหาร อาหาร คือ วิญญาณ

อาหารทั้งสี่เหล่านี้เกิดจากตัณหา (ความทะยานอยาก) ตัณหาเกิดจากเวทนา (เรื่อยไปตามหลักปฏิจจสมุปปบาท) จนถึงสังขารเกิดจากอวิชชาปัจจัย และตรัสสรุปว่า อวิชชาเป็นต้นเหตุให้เกิดกองทุกข์ (เป็นลูกโซ่ไปโดยลำดับ) พระเทพเวที (พระเทพเวที, 2533: 417) อธิบายว่า อาหารชนิดแรกตรงกับพระบาลี คือ หมายถึง คำข้าว อาหารชนิดที่ 2 หมายถึง ผัสสะ เป็นปัจจัยอุดหนุนหล่อเลี้ยงให้เกิดเวทนา ได้แก่ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณกระทบกัน ทำ ให้เกิดเวทนา คือ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เป็นอุเบกขาบ้าง, อาหารชนิดที่ 3 หมายถึง ความจงใจเป็นอาหาร เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดกรรม คือ ทำให้พูดให้คิด ให้ทำการต่างๆ และอาหารชนิดที่ 4 หมายถึง วิญญาณเป็นปัจจัยอุดหนุนให้เกิดนามรูป

อาหารชนิดแรกเป็นอาหาร เพื่อสนองความต้องการทางร่างกาย ส่วนอาหารอีก 3 ชนิด เป็นอาหารเพื่อสนองความต้องการทางจิตใจ สุขภาพร่างกายจะแข็งแรง ย่อมอาศัยอาหารกายที่ถูกสุขลักษณะฉันใด สุขภาพจิตจะเป็นไปด้วยดีก็ย่อมอาศัยอาหารที่ถูกสุขลักษณะทางจิตฉันนั้น ฉะนั้น ในเมื่อพูดถึงความต้องการของมนุษย์ในทัศนะของพุทธศาสนาจึงไม่ได้ หมายถึง มิติทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงมิติทางจริยธรรมซึ่งเป็นเรื่องทางจิตใจด้วย

นอกจากนี้พุทธศาสนาได้ยอมรับและยืนยันถึงความจำ เป็นทางวัตถุที่เรียกว่า ปัจจัย 4 อัน ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ดังพุทธพจน์ที่ว่า สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฐิติกา สัตว์ทั้งปวงดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร หากแต่พุทธศาสนาให้ยอมรับปัจจัยเท่าที่จำ เป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขคือ ไม่ให้ขาดแคลนจนทำ ให้เกิดโรคภัย และไม่ให้สะสมปัจจัยต่างๆ มากเกินไป เนื่องจากพุทธศาสนาไม่ได้มองว่า ปริมาณของวัตถุที่มากจะทำให้ทุกคนเป็นสุขหรือมีชีวิตที่ดีงามได้ เห็นได้จากการที่พระพุทธเจ้าได้ให้แนวคิดในการปฏิบัติต่อปัจจัยสี่ ของภิกษุ ไว้ดังนี้

ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ใช้สอยจีวร เพียงเพื่อกำจัดหนาว ร้อน สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียง เพื่อปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ

ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ฉันบิณฑบาตมิใช่เพื่อจะเล่น มิใช่เพื่อมัวเมามิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตบแต่ง เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้เป็นไปเพื่อกำจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยคิดว่า จะกำจัดเวทนาเก่าด้วย จะไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย ความเป็นไป ความไม่เป็นโทษ และความอยู่สบายจักมีแก่เรานี้

ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ใช้สอยเสนาสนะ เพียงเพื่อกำจัดหนาว ร้อน สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อบรรเทาอันตรายแต่ฤดู เพื่อรื่นรมย์ในการหลีกเร้น

ภิกษุพิจารณาโดยแยบคาย เสพบริขาร คือ ยาอันเป็นปัจจัยบำบัดไข้ เพียงเพื่อกำจัดเวทนาที่เกิดแต่อาพาธต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธเบียดเบียนเป็นอย่างยิ่ง (ม.มู.12/23/18-19)

กล่าวได้ว่า พุทธศาสนายอมให้มีวัตถุเสพเสวยตามความพร้อมและพัฒนาการทางจิตปัญญา ภายในขอบเขตเท่าที่จะไม่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นข้อนี้หมายความว่า บุคคลที่มีพัฒนาการทางจิตปัญญาตํ่าย่อมต้องการวัตถุเสพเสวยหรือมีชีวิตที่ขึ้นต่อความพรั่งพร้อมปรนเปรอทางวัตถุมากกว่าบุคคลที่มีพัฒนาการทางจิตปัญญาสูงกว่า (พระธรรมปิฎก, 2543: 791)

เกี่ยวกับการสนองความต้องการทั้งด้านร่างกาย และจิตใจนั้น พุทธศาสนาจะให้ความสำคัญแก่การสนองความต้องการทางจิตมากกว่าการสนองความต้องการทางกาย เพราะจิตเป็นตัวนำในการทำกิจกรรมต่างๆ หากใครมีสุขภาพจิตที่ดีหรือมีธรรมะ กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ก็จะเป็นไปในทางที่ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นเวลาก่อนกระทำ ขณะกระทำหรือผลที่เกิดจากการกระทำหากสุขภาพจิตไม่ดีหรือไม่มีธรรมมะ กิจกรรมต่างๆ ที่ทำย่อมบกพร่องและอาจสร้างความเดือดร้อนแก่ตนและสังคมได้ พระพุทธพจน์ที่ให้ความสำคัญแก่จิตใจดังกล่าว เช่น ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจชั่วแล้ว จะพูดหรือทำก็ตาม ทุกข์ย่อมติดตามเขาไป เพราะทุจริต 3 อย่างนั้น (คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต) เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคตัวกำลังลากเกวียนไป ฉะนั้น ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ก็ตาม ทำ อยู่ก็ตาม สุขย่อมติดตามเขาไปเพราะสุจริต 3 อย่าง (คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต) เหมือนเงาที่ไม่พรากจากตน (ขุ.ธ.25/1-2/17) และอีกแห่งหนึ่งว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ปรากฏแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่เหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่ไม่อบรมแล้ว ไม่ปรากฏแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์อย่างใหญ่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่อบรมแล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ เหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่อบรมแล้ว ปรากฏแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างใหญ่ (องฺ.เอก. 20/25-26/6)

ฉะนั้น แนวปฏิบัติต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาที่สรุปได้ตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา จึงเป็นหลักเพื่อการบริหารจิต เพื่อเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามอุดมคติของพุทธศาสนาส่วนของการตอบสนองความต้องการทางกายนั้น พุทธศาสนาสอนให้ตอบสนองเท่าที่จำเป็นเพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ เพื่อเกื้อกูลแก่การปฏิบัติธรรม โดยเรียกการตอบสนองทางกายว่า ปัจจัยหรือสิ่งจำเป็นพื้นฐานของชีวิต 4 อย่าง ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งปัจจัยทั้ง 4 นี้ คือ สิ่งที่จำเป็น และขาดไม่ได้สำหรับชีวิตคนเรื่องปัจจัย 4 มีปรากฏในวินัยปิฎก พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงว่าสิ่งที่จำ เป็นสำ หรับภิกษุมี 4 อย่าง คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช (วิ.มหา. 4/73/105) และได้ทรงแสดงปัจจัย 4 ของภิกษุในลักษณะสันโดษ คือ 1. บรรพชาอาศัยโภชนะ คือ คำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตามสลาก ภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ ภัตถวายในวันปาฏิบท, 2. บรรพชาอาศัยบังสกุลจีวร เธอพึงทำอุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิตอดิเรกลาภ คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าเจือกัน (เช่นผ้าด้ายแกมไหม), 3. บรรพชาอาศัยโคนไม้เป็นเสนาสนะ เธอพึงทำ อุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถํ้าและ4. บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นยา เธอพึงทำ อุตสาหะในสิ่งนั้นตลอดชีวิต อดิเรกลาภ คือ เเนยใส เนยข้น นํ้ามัน นํ้าผึ้ง นํ้าอ้อย

ส่วนแนวทางที่ใช้ปฏิบัติตัวต่อปัจจัย 4 ตามที่พระภิกษุยึดถือนั้น ปรากฏในบทสวดที่พระภิกษุจะต้องพิจารณาเป็นประจำหรือที่เรียกว่า ตขณิกปัจจเวกขณปาฐะ ดังนี้ ก. จุดมุ่งหมายที่จำเป็นสำหรับอาหาร 1. เพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ได้ และ2. เพื่อกำจัดความหิวอาหาร, ข. จุดหมายที่จำเป็นของเครื่องนุ่งห่ม 1. เพื่อกำจัดความหนาว, 2. เพื่อกำจัดความร้อน, 3. เพื่อกำจัดสัมผัสแห่งเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน และ4. เพื่อปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบ, ค. จุดมุ่งหมายที่จำเป็นสำหรับเสนาสนะหรือที่อยู่อาศัย 1. เพื่อกำจัดความหนาว, 2. เพื่อกำจัดความร้อน, 3. เพื่อกำจัดสัมผัสแห่งเหลือบยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน และ4. เพื่อบรรเทาอันตราย คือ ฤดูกาล และง. จุดมุ่งหมายที่จำเป็นสำหรับคิลานเภสัช 1. เพื่อกำจัดเวทนาอันเกิดจากอาหาร และ2. เพื่อความเป็นผู้ไม่มีอาพาธ

กล่าวได้ว่า สำหรับปัจจัยพื้นฐานต่อร่างกายนั้นเราต้องอิงอาศัยวัตถุ ส่วนปัจจัยพื้นฐานทางจิตนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องฝึกฝนให้เกิดขึ้นด้วยตัวเองเนื่องจากเป็นเรื่องทางนามธรรมจึงไม่สามารถอาศัยปัจจัยภายนอกซึ่งเป็นเรื่องทางรูปธรรมได้ จึงเป็นเรื่องที่มนุษย์ ในฐานะเป็นสัตว์ที่พิเศษกว่าสัตว์ชนิดอื่นตรงที่ มิได้ใช้เพียงสัญชาตญาณเพียงอย่างเดียวในการดำเนินชีวิตดังสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นหากแต่การแสดงถึงความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นทั่วไป คือ การสามารถฝึกฝนตน และพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทางจิตวิญญาณ (Spiritual Development) เช่น การนำหลักไตรสิกขา ในพุทธศาสนาซึ่งเป็นการพัฒนาพฤติกรรม จิตใจ และปัญญา ให้ควบคู่ไปกับความสามารถในการดำรงตนหาเลี้ยงชีพ ซึ่งจะทำให้มนุษย์ก้าวไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในที่สุด

แนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ในปรัชญาตะวันตก ความแตกต่างทั้งทางด้านสภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ระหว่างโลกตะวันตก และตะวันออกมาจากพื้นฐานทางความคิดที่แตกต่างกัน โลกฝั่งตะวันออกมีแนวคิดว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์จำต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติในการดำรงชีวิต แนวคิดลักษณะดังกล่าวอาจสังเกตได้จากวัฒนธรรมตะวันออก 2 กระแสหลัก คือ จีน และอินเดีย ในวัฒนธรรมชาวจีน มีประเพณีการทำความเคารพบูชาบรรพบุรุษรวมถึงธรรมชาติ และในอินเดียมีประเพณีที่ให้ธรรมชาติเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า เช่น พิธีชำระบาปในแม่นํ้าคงคา

ส่วนแนวคิดทางตะวันตกที่มีต่อธรรมชาติ และมนุษย์นั้นเป็นไปในลักษณะที่มองมนุษย์เป็นศูนย์กลางของธรรมชาติ และจักรวาล มนุษย์สามารถควบคุม และจัดการกับธรรมชาติได้ตามขีดความสามารถของตน ยิ่งมนุษย์สามารถจัดการกับธรรมชาติให้สนองประโยชน์ของตนได้มากเท่าไรยิ่งเป็นการแสดงถึงศักยภาพอันสูงส่งของมนุษย์เพียงนั้น แนวความคิดที่จะเอาชนะหรือพิชิตธรรมชาตินี้เนื่องจากการที่มนุษย์มองตัวเองแยกต่างหากจากธรรมชาติ อาจกล่าวได้ว่า สภาพจิตใจในลักษณะที่มุ่งแสวงหาเอาจากธรรมชาติ (frontier mentality) นั้นเป็นลักษณะสำคัญของอารยธรรมตะวันตก (พระธรรมปิฎก, 2514: 154) โดยแนวคิดว่ามนุษย์มีความสามารถที่การได้พิชิตธรรมชาติ เช่น นี้ที่ทำให้สังคมตะวันตกมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีลํ้าหน้ากว่าตะวันออก

ก่อนยุคปรัชญากรีก ซึ่งเริ่มนับว่า มีแนวคิดที่เป็นระบบนั้น เป็นยุคของตำนาน และความเชื่อ(Mythology) เนื่องจากมนุษย์ในยุคนั้นยังไม่มีความรู้พอที่จะเข้าใจว่า อะไร คือ สิ่งที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ จึงได้สร้างตำนาน และเรื่องราวในการอธิบายถึงความเชื่อถือที่มีต่อวีรบุรุษ รวมถึงเทพเจ้าของตน ตำนานดังกล่าวจะบอกเล่าเกี่ยวกับเทพเจ้า การสร้างโลก กำเนิดของชนชาติ รวมไปถึงการอธิบายสิ่งลี้ลับต่างๆ ที่มนุษย์ยังไม่สามารถเข้าใจได้เมื่อถึงยุคที่ปรัชญามีความเป็นระบบมากขึ้น นักปรัชญาแต่ละยุคแต่ละสมัยต่างพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ นับตั้งแต่สมัยกรีกโบราณที่มีความเห็นว่าไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าการที่มนุษย์สามารถทำความเข้าใจตัวเองได้ดังคำกล่าวของ โสกราตีส นักปราชญ์ชาวกรีกว่า จงรู้จักตนเอง (Know thyself) เพราะชีวิตที่ไม่รู้จักตนเองนั้นเป็นชีวิตที่ปราศจากคุณค่า .An unexamined life is not worth living. คุณค่าของชีวิตจึงอยู่ที่การได้สำรวจตรวจสอบตัวเอง ได้รู้ว่าชีวิต คือ อะไร กำลังทำอะไรอยู่ และดำรงอยู่เพื่ออะไรซึ่งจะทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตตนได้อย่างแท้จริง

ในยุคกรีกโบราณ คือ เมื่อประมาณ 546 ปีก่อนคริสตกาล ขณะนั้นมนุษย์ได้มีความพยายามที่จะอธิบาย และทำความเข้าใจเรื่องของตนเอง และธรรมชาติรอบตัวในแบบที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งเป็นการอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ในลักษณะเทพกำหนด (pantheism) หรือวิญญาณนิยม (animism) โดยที่การอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในลักษณะดังกล่าวนั้น เป็นการทำ ให้เทพมีอำนาจเหนือมนุษย์ มนุษย์จึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้เทพพึงพอใจจนกระทั่งนักปรัชญาคนแรกชื่อ ธาเลส ได้ตั้งข้อเสนอเกี่ยวกับธาตุแท้ของธรรมชาติ หรือสิ่งที่เป็นปฐมธาตุว่าทุกสิ่งในโลกนั้น มี นํ้า เป็นปฐมธาตุ และพยายามอธิบายจักรวาลโดยวิธีการทางธรรมชาติวิทยา ไม่อิงอาศัยนิยายปรัมปราหรือความเชื่อเรื่องเทพเจ้ามาใช้ดังเดิม นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทัศนคติต่อมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ความสำ คัญของธาเลสนั้นจึงมิได้อยู่ที่คำตอบของธาเลสที่ได้เสนอไว้ หากแต่เป็นวิธีการที่ธาเลสได้เสนอปัญหา และแสวงหาคำตอบที่แสดงถึงลักษณะที่เชื่อมั่นต่อความสามารถของมนุษย์มากขึ้น

แนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ในปรัชญากรีกยุครุ่งเรืองทัศนะที่มีต่อมนุษย์ ของปรัชญากรีกนั้น มีปรากฏในแนวคิดของโสกราตีส ที่เห็นว่า มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ตรงที่มนุษย์มีปัญญา ดังนั้น ชีวิตที่ดีสำหรับมนุษย์ก็ คือ ชีวิตที่ใช้ปัญญา ไม่ทำตามอารมณ์หรือความอยากไปอย่างโง่เขลา ชีวิตที่มีปัญญาจึงเป็นชีวิตที่ได้รับการตรวจสอบการตรวจสอบชีวิตทำให้มนุษย์รู้จักตัวเองดียิ่งขึ้น และเป็นความรู้ที่สำคัญ เพราะหากมนุษย์ไมรู่จั้กตัวเองแล้วก็ไม่สามารถจะปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นได้ และความรู้ชนิดที่จะทำ ให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีก็คือ ความรู้เกี่ยวกับคุณธรรมหรือความดี (ชเอิญศรี, มปป.: 67) ดังที่โสกราตีสกล่าวว่า คุณธรรม คือ ความรู้ (Virtue is Knowledge) โสกราตีสเชื่อว่า คนเราไม่อาจจะทำอะไรได้ถูกต้องจนกว่าจะมีความรู้ที่ถูกต้องเสียก่อน ดังนั้น ในการกระทำดี มนุษย์จึงต้องทำด้วยความรู้ว่า มันเป็นสิ่งที่ดี เพราะการที่มนุษย์ทำ ชั่วนั้นเกิดจากความไม่รู้ว่า มันชั่ว นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนในงานประพันธ์ของเพลโต

เพลโต ได้อธิบายเกี่ยวกับหลักพื้นฐานแรกของสิ่งทั้งหลาย ตั้งแต่กำเนิดโลก เทพเจ้าผู้สร้าง ผู้ลิขิตโลก วิญญาณโลก และวิญญาณมนุษย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับมนุษย์นั้นเพลโต มีความเห็นว่า มนุษย์ตามธรรมชาตินั้นมีข้อจำกัด เนื่องจากมนุษย์ได้เสื่อมถอย (a fall from grace) จากสภาพสมบูรณ์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพระผู้เป็นเจ้า ที่มีความสมบูรณ์ และไม่มีข้อจำกัด ดังนั้น มนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้จึงต้องพยายามทำความดี เพื่อจะได้มีโอกาสกลับไปสู่จุดที่จากมา ชีวิตในโลกปัจจุบันไม่มีความหมายอะไรสำหรับมนุษย์ และอธิบายถึงปัญญาของมนุษย์ อันเป็นลักษณะที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นว่าในวิญญาณมนุษย์แบ่งได้เป็น 2 ส่วน และส่วน 1 ในสองส่วนนี้ยังแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ส่วนที่สูงที่สุด คือ ปัญญา (ปรีชา, 2514: 119) ดังนั้น วิญญาณของมนุษย์จึงมี 3 ภาคด้วยกัน ดังนี้ 1. วิญญาณแห่งปัญญาหรือเหตุผล ทำให้มนุษย์สามารถค้นพบเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต และทำตนให้ไปสู่จุดหมายนั้น วิญญาณในส่วนนี้นี่เองที่ทำให้มนุษย์สูงส่ง และแตกต่างจากสัตว์อื่น, 2. วิญญาณแห่งอารมณ์ คือ ความรู้สึกทางใจที่เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุทางวัตถุ เช่น ความกล้าหาญ ความเสียสละ ความมีวินัย วิญญาณในส่วนนี้มีลักษณะเป็นกลางๆ คือ สามารถจะพาเราไปสู่เป้าหมายตามปัญญาที่ตั้งไว้หรือจะเป็นไปตามความต้องการตามความต้องการทางร่างกายก็เป็นได้ทั้งสองกรณี และ3. วิญญาณแห่งความอยากจะดำเนินสวนทางกับวิญญาณแห่งปัญญา อันเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งในจิตใจมนุษย์ วิญญาณในระดับนี้ทำได้มนุษย์ได้รับความสุขที่เทียบแล้วไม่ต่างจากสัตว์ แม้จะละเอียดซับซ้อนกว่า แต่ก็ยังเป็นความสุขประเภทเดียวกัน

แนวคิดของเพลโตต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้นแตกต่างกับของอริสโตเติล อริสโตเติลอธิบายว่า ธรรมชาติมีวิวัฒนาการ ไม่มีสิ่งใดในธรรมชาติเป็นไปอย่างไร้จุดหมาย กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ หรือสัตว์ ต่างก็มีจุดหมายในตัวของมันเองทั้งสิ้น ในทัศนะของเพลโตสิ่งมีชีวิตทั้งหมดนั้นแบ่งเป็น 3 ระดับ และมนุษย์จัดอยู่ในระดับสูงสุด กล่าวคือ ในระดับตํ่าที่สุดนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตประเภท พืช ที่มีวิญญาณในการรับอาหาร เจริญเติบโต และขยายพันธุ์ ระดับกลาง คือ พวกสัตว์เดรัจฉาน มีลักษณะที่เหนือกว่าพืชตรงที่มีความรู้สึกทั้งความรู้สึกพอใจ (pleasure) และความเจ็บปวด (pain) (ชเอิญศรี, มปป.: 104) และวิญญาณในระดับสูงได้แก่มนุษย์ ที่นอกจากจะมีวิญญาณส่วนพื้นฐานเหมือนพืช และสัตว์แล้วยังมีส่วนพิเศษที่เรียก

ว่า เหตุผลอีกด้วย

ทัศนะเรื่องระดับวิญญาณของมนุษย์จะคล้ายคลึงกัน จนไปสู่คำถามว่าอะไร คือ สิ่งที่ดีที่สุดสำ หรับมนุษย์ หากแต่ข้อแตกต่างของอริสโตเติลกับเพลโตนั้นอยู่ที่คำตอบ เนื่องจากอริสโตเติลไม่ได้มุ่งหมายที่ความดีในอุดมคติที่ไม่มีอยู่ในโลกปัจจุบันเช่นเพลโต ความดีสูงสุดในทัศนะของอริสโตเติลจึงเป็นความดีที่มนุษย์สามารถเข้าถึงได้ในโลกนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่จะพัฒนาตนเองขึ้นไปเรื่อยๆ ดังเช่น ในเรื่องความสุข ที่ไม่ได้เกิดจากความพึงพอใจทางผัสสะเท่านั้นแต่ การกระทำความดีอันเป็นสิ่งที่มาจากการใช้เหตุผลของมนุษย์นั้นจะทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้

แม้ว่ามนุษย์ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากขณะมีชีวิตอยู่ แต่มนุษย์ควรพยายามใช้เหตุผลของมนุษย์แก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ให้ดีขึ้นตามลำดับ อริสโตเติลอธิบายถึงลักษณะของมนุษย์ว่ามีความแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น โดยเห็นว่าสัตว์ที่มีสำนึกในจุดจบของตัวเองอย่างเดียวในโลกก็ คือ มนุษย์ ถึงแม้สัตว์ชนิดต่างๆ เช่น ผึ้ง และมด จะดูเสมือนว่า ทำงานอย่างเป็นไปตามเหตุผล และมีเค้าโครงที่แน่นอนแต่ก็เป็นเพียงการทำงานที่เป็นไปตามสัญชาตญาณ ถึงแม้ว่า ผึ้งและมด จะมีการเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนมีจุดมุ่งหมาย แต่แท้จริงแล้วก็ทำไปอย่างไม่ได้มีความจงใจหรือความสำนึกต่อกิจกรรมที่ตนกำลังกระทำต่างจากมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระดับสูงกว่า พืช และสัตว์ชนิดอื่นๆ ตรงที่มนุษย์มีปัญญา และปัญญา ตัวนี้ที่ทำให้มนุษย์ต้องมีหน้าที่พิเศษที่แตกต่างจาก พืช และสัตว์

ปรัชญากรีกเริ่มต้นด้วยแนวคิดแบบสสารนิยมในการอธิบายธรรมชาติของมนุษย์ด้วยการทอนมนุษย์ไปสู่หน่วยมูลฐานที่สุดที่ไม่สามารถลดทอนลงได้อีก แต่ด้วยแนวคิดข้างต้นก็ยังไม่สามารถอธิบายถึงความสลับซับซ้อนในพฤติกรรมของมนุษย์ได้ ต่อมาจึงเกิดมีปรัชญาแนวจิตนิยม สำหรับอธิบายโลก และชีวิตในแนวที่แตกต่างจากปรัชญาสสารนิยม ซึ่งยอมรับสิ่งที่อยู่นอกเหนือไปจากประสาทสัมผัสของเรา

แนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ในปรัชญายุคกลางถึงยุคใหม่ เซนต์ออกัสติน (ค.ศ.354-330) และเซนต์อควินัส (ค.ศ.1225-1274) ซึ่งเป็นนักปรัชญาในยุคกลางนั้นได้ตีความท่าทีของศาสนาคริสต์ต่อมนุษย์ และ ธรรมชาติในลักษณะที่มนุษย์นั้นเป็น ผู้ทำหน้าที่ดูแลแทนพระเจ้า (Stewardship) (เนื่องน้อย, 2537: 32) และมีการจัดลำดับความสัมพันธ์ระหว่าง พระเจ้า มนุษย์ และธรรมชาติ จากหลักฐานในคัมภีร์พันธสัญญา โดยลำ ดับแรก คือ พระเจ้าที่เป็นจุดศูนย์รวมของความสักดิ์สิทธิ์ มีสภาพที่เหนือไปจากธรรมชาติทั้งปวง จากนั้น คือ มนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวในโลกที่ถูกสร้างขึ้นมาในฉายาของพระเจ้า มนุษย์จึงได้รับสิทธิ์ในการครอบครองธรรมชาติ และขยายเผ่าพันธุ์ของตน ขณะที่ธรรมชาติ ไม่มีคุณค่าในตัวเอง เนื่องจากถูกสร้างขึ้นเพื่อรับใช้ความต้องการของมนุษย์

จากคัมภีร์ปฐมกาลทำให้เราได้ทราบทัศนะของคริสต์ศาสนาต่อมนุษย์ว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากดำริของพระเจ้า มนุษย์คู่แรก คือ อาดัม และอีวา จากเดิมที่เคยมีชีวิตอย่างสุขสบาย แต่เมื่อทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำ สั่งของพระเจ้า เนื่องจากได้ลิ้มลองผลไม้จากต้นที่ทำให้รู้จักความดี ความชั่ว มนุษย์คู่แรกจึงต้องถูกสาบให้รับบาปอย่างไรก็ตามบาปดังกล่าวที่มนุษย์คู่แรกได้ก่อไว้จะไม่มีวันหมดไปหากพระเจ้าไม่ทรงพระกรุณาที่จะให้โอกาสมนุษย์กลับตนเป็นคนดี โดยการที่พระเจ้าได้เลือกชนเผ่าซึ่งเป็นประชากรของพระองค์ (the chosen people) ซึ่งจะนำความรอดมาสู่มนุษย์ด้วยการทำให้มนุษย์กลับไปมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าดังเดิม จากนั้นพันธสัญญาระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าจึงเกิดขึ้น โดยผ่านประกาศก (messiah) ที่พระเจ้าได้สั่งมาเพื่อนำ บัญญัติ 10 ประการมาประกาศให้มนุษย์ปฏิบัติ (ปรีชา และสมภาร, 2543: 204)

เซนต์ออกัสตินใช้เหตุผลเรื่อง ความสามารถที่จะรอดพ้นบาป (salvation) ของจิตวิญญาณมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ออกัสตินเชื่อว่า ทำให้มนุษย์สูงส่งต่างจากสิ่งอื่นใน จึงทำให้ความถูกต้องทางศีลธรรมจำกัดอยู่แต่ในมนุษย์ไม่นับรวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่น เซนต์โทมัส อควินัส ได้ยกข้อความหลายตอนจากคัมภีร์พันธสัญญาเดิมมาใช้อ้างถึงความชอบธรรมของมนุษย์ในการนำธรรมชาติอื่นมารับใช้ตนหรือแม้แต่แนวคิดที่เห็นว่า ไม่เป็นเรื่องบาปที่มนุษย์จะฆ่าสัตว์ ดังเช่นที่ปรากฏในงานเขียนเรื่อง Summa Contra Gentiles ความว่า ด้วยพระเมตตาของพระเจ้า สัตว์เหล่านี้มีอยู่ก็เพื่อให้มนุษย์ใช้ มันเป็นไปตามลำดับโดยธรรมชาติ ดังนั้น จึงไม่ผิดที่มนุษย์จะใช้ประโยชน์จากสัตว์ ไม่ว่าจะด้วยการฆ่าหรือด้วยวิธีการใดๆ (เนื่องน้อย, 2537: 21)

การถือว่า ตนเองมีศักดิ์ศรีสูงส่งกว่าสิ่งทั้งหลายที่พระเจ้าได้สร้างมานั้นมีปรากฏให้เห็นในพระคัมภีร์ดังที่แสดงไว้ข้างต้นซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้คริสตศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่นๆ ในตะวันออก ดังเช่น พุทธศาสนาที่ไม่ยอมรับในเรื่องความเป็นนายเหนือธรรมชาติของมนุษย์ แต่ถือว่า มนุษย์นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีสิ่งใดอยู่เหนือธรรมชาติมีแต่ที่เกี่ยวข้องอย่างหนึ่งอย่างใดกับความเป็นไปในธรรมชาติ ส่วนการที่มนุษย์คิดว่า ตนสามารถบังคับควบคุมธรรมชาติได้นั้น มาจากการที่มนุษย์รู้เหตุปัจจัยต่างๆ แล้วนำตัวเองเข้าร่วมผลักดันปัจจัยต่างๆ ให้เกิดเป็นกระบวนการสืบเนื่องต่อกันจนทำให้เกิดผลตามที่ตนต้องการ

บุคคลที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ก่อตั้งปรัชญา และวิธีการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ คือ ฟรานซิส เบคอน ที่พยายามใช้ตรรกวิทยาบนรากฐานของประสบการณ์ มีขั้นตอนของการทดลองสมมติฐาน การพิสูจน์สมมติฐานมาใช้อธิบายสิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจน จากขั้นตอนนี้ทำให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะทดลอง และพัฒนาวิชาความรู้ในแขนงต่างๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ผ่านรากฐานความคิดแบบประสบการณ์นิยมซึ่งมีผลกระทบต่อความคิดของคนในยุคปัจจุบันจนถึง เดส์คาร์ตส์ ที่ได้ชื่อว่า เป็นบิดาของปรัชญาสมัยใหม่ เขาได้เสนอทัศนะว่า ธรรมชาติดำเนินไปตามกฎที่เป็นกลไล และทุกสิ่งทุกอย่างในโลกสามารถอธิบายได้ด้วยหลักทางคณิตศาสตร์ (วราพร, 2539: 3) เขาจึงพยายามสรุปปรากฏการณ์ทางกายภาพทุกชนิดเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นอนทางคณิตศาสตร์ ทัศนะเช่นนี้ย่อมทำให้มนุษย์เกิดความมั่นใจในศักยภาพทางสติปัญญาของตนที่มีเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น จนทำให้มนุษย์เข้าใจว่า เมื่อตนสามารถเข้าใจ และอธิบายกฎเกณฑ์ของธรรมชาติได้บางส่วน จะทำให้ตนเข้าใจ และอธิบายธรรมชาติทั้งหมดได้

เมื่อมนุษย์มาถึงจุดที่มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีดังที่เราเห็นในยุคปัจจุบัน ซึ่งมาพร้อมๆ กับโลกทัศน์แบบจักรกล (mechanistic view) ที่มองสิ่งทั้งหลายไปในเชิงวัตถุแบบแยกส่วน ทำให้มนุษย์ไม่เห็นความสัมพันธ์ของตนเองกับผู้อื่น ตนเองกับธรรมชาติ เป็นที่มาของการทำให้มนุษย์ต้องเผชิญกับวิกฤติทั้งด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม วิกฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องชี้ให้มนุษย์เห็นว่า ตนเองไม่ได้รับความสุขตามที่เคยคาดหมายไว้จากการพึ่งพาวิทยาศาสตร์

มนุษย์จึงเริ่มแสวงหาความหมายของอำนาจตนเองที่อยู่เหนือธรรมชาติว่า มีความหมายต่อการดำ รงชีวิตอยู่อย่างไร เนื่องจากหนทางที่นำธรรมชาติมารับใช้ตนนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดความสุขแก่มนุษย์อย่างถาวร ซํ้าร้ายมนุษย์กลับต้องเผชิญกับสภาวะแปลกแยก (alienation) ต่อธรรมชาติ ความพยายามของมนุษย์ที่จะเป็นนายเหนือทุกสิ่งนั้นทำให้มนุษย์ใช้เสรีภาพออกนอกลู่นอกทาง การถือว่า ตนเองเหนือกว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนั้น ทำให้มนุษย์แสดงตัวออกมาในลักษณะที่ขาดความประสานกลมกลืนต่อธรรมชาติ ตลอดจนหลงลืมวิถีชีวิตที่มนุษย์ชนควรประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสันติสุขในสังคม

วิวัฒนาการทางความคิดที่นักปรัชญาสมัยต่างๆ มีต่อ มนุษย์ นั้นเมื่อประมวลแล้วสามารถจำแนกมนุษย์ออกมาได้ 2 แนวคิดที่สำคัญ คือ สสารนิยม และจิตนิยม 1. แนวคิดแบบสสารนิยม เป็นแนวคิดที่อธิบายธรรมชาติของมนุษย์ทอนลงได้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่เป็นสสาร เช่น เป็นธาตุ 4หรืออะตอม เป็นต้น เห็นว่าประสาทสัมผัสเท่านั้น เป็นที่มาของความรู้ และมีจริยศาสตร์แบบสุขนิยม และ2. แนวคิดแบบจิตนิยม เป็นแนวคิดที่อธิบายว่า มนุษย์ทอนลงได้เป็นจิต ซึ่งเป็นสิ่งนามธรรม บางกลุ่มเรียกว่า พระเจ้า และบางกลุ่มเรียกว่า วิญญาณ ที่เป็นอมตะนิรันดร์ และไม่ขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงใดๆ กลุ่มนี้จะสนับสนุนการใช้ความคิดว่าเป็นที่มาของความรู้ และมีจริยศาสตร์แบบอสุขนิยม

วิธีมองมนุษย์ในแบบที่ใช้เหตุผลตามปรัชญาตะวันตก ซึ่งทั้ง 2 แนวคิดนั้นยังไม่สามารถให้คำตอบของความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกายได้ เนื่องจากใช้ฐานจากความคิดสุดขั้ว (extreamism) คือ ถ้าหากมิใช่สิ่งนี้ก็จะต้องเป็นสิ่งนั้น ซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าถึงความจริงของธรรมชาติได้สรุปแนวคิดมนุษย์ในทัศนะของพุทธศาสนา และปรัชญาตะวันตก

มนุษย์ในทัศนะของพุทธศาสนา พุทธศาสนาได้อธิบายถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่าเกิดจากการประกอบกันขึ้นของขันธ์ 5 นั่นคือ แท้จริงแล้วมนุษย์ไม่ได้เป็นอะไรอื่นนอกจากการประกอบกันเข้าของปัจจัยต่างๆ และต้องแตกสลายไปตามเหตุปัจจัยเช่นกัน เนื่องจากธรรมชาติดังกล่าวของมนุษย์นั้นดำเนินไปตามหลักไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นสัจจธรรมสำหรับทุกสิ่ง ได้แก่ ลักษณะที่ไม่คงที่ ต้องเปลี่ยนแปลง ลักษณะที่เป็นทุกข์ ต้องดิ้นรน และลักษณะที่ไม่มีตัวตนที่แท้จริง

ในประเด็นของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ พุทธศาสนาไม่ได้มองมนุษย์แยกจากธรรมชาติ เนื่องจากสิ่งทั้งหลายทั้งปวงย่อมต้องอิงอาศัยและเป็นปัจจัยต่อกันตามกฎของปฏิจจสมุปปาท ด้านความต้องการของมนุษย์ พุทธศาสนาสนับสนุนให้มนุษย์มีปัจจัย 4 ให้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ไม่ให้ขาดแคลนหรือมีมากเกินความจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้เกื้อกูลแก่การพัฒนาคุณธรรมในระดับสูงต่อไป ดังนั้น เมื่อมนุษย์พัฒนาส่วนต่างๆ อย่างได้ดุลยภาพตามคือทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และปัญญาตามแนวพุทธศาสนาแล้วนั้น ย่อมส่งผลให้เกิดสภาพชีวิตที่เป็นสุขในที่สุด

มนุษย์ในทัศนะของปรัชญาตะวันตก ปรัชญาตะวันตกได้แสดงให้เห็นว่า มนุษย์มีศักยภาพเหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และได้รับการยกย่องให้เป็นสิ่งมีชีวิตในระดับสูง เพราะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่ใช้เหตุผลเป็นคุณลักษณะพิเศษดังกล่าวนี้ พบได้จากแนวคิดของนักปรัชญากรีกยุครุ่งเรืองทุกคนที่กล่าวถึงระดับสติปัญญาและเหตุผลของมนุษย์ที่ไม่มีในสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และที่ทำ ให้มนุษย์มีอำนาจในการตัดสินใจกระทำการต่างๆ ได้ จากการเน้นยํ้าให้เห็นถึงศักยภาพทางเหตุผลของมนุษย์นี้เอง ทำให้มนุษย์เข้าใจไปว่าตนมีสิทธิจัดการสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของตนด้วย

แนวคิดที่ยกย่อง เชิดชูมนุษย์ให้ยิ่งใหญ่ และเหนือกว่าธรรมชาติ (Anthropocentric) ตลอดจนสิ่งมีชีวิตอื่นนั้น ยิ่งปรากฏเด่นชัดมากขึ้นในยุคกลางโดยที่นักปรัชญาในยุคนั้นพยายามตีความพระคัมภีร์ในศาสนาคริสต์ให้สอดคล้องกับความเชื่อของตนว่า มนุษย์สมควรได้รับสิทธิ์ในการครอบครอง และจัดการกับธรรมชาติ เพื่อรับใช้ความต้องการของมนุษย์ จนกระทั่งถึงยุคของปรัชญาสมัยใหม่ที่พยายามทำความเข้าใจกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติโดยใช้ศักยภาพทางสติปัญญาของมนุษย์มาพัฒนาจนเกิดเป็นความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของปรัชญาตะวันตก ซึ่งมีมนุษยนิยมแบบกรีกเป็นรากฐานได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติในลักษณะที่มนุษย์เป็นนายเหนือธรรมชาตินั้นได้ก่อให้เกิดเป็นความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดประดิษฐกรรมที่อำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งแสดงออกถึงความพยายามในการที่จะเอาชนะธรรมชาติของมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็เป็นการตอกยํ้าถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ และธรรมชาติในลักษณะที่มนุษย์เป็นนายธรรมชาติเป็นทาสที่สามารถใช้ธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่จุดหมายของตนเอง มนุษย์มีความมุ่งหวังที่จะได้รับความสะดวกสบายจากเทคโนโลยี ซึ่งเป็นแนวคิดการสนองความต้องการเพื่อให้ตนเกิดความสุข กระทั่งมนุษย์ลืมไปว่า แท้จริงแล้วการมีชีวิตที่เกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติต่างหากจะนำมนุษย์ไปสู่ชีวิตที่ได้สมดุลย์ และเป็นชีวิตที่มนุษย์ได้พัฒนาศักยภาพภายในตนเองให้เกิดอิสรภาพที่แท้จริงจำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์ต้องกลับมาทบทวนตนเองว่า ได้ทำให้ตนเข้าถึงความสุขที่แท้จริงตามที่มุ่งหวังไว้หรือไม่

----------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. พระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่

16. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

_____ . พระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 25. 2530. กรุงเทพมหานคร:

โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 4. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 10. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 12-16. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การ

ศาสนา.

กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 17. 2530.

กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 19-21. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การ

ศาสนา.

_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 23. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 25. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

_____. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 29. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

_____ . พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา. เล่มที่ 31. 2530. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา.

ชเอิญศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา. มปป. ปรัชญาตะวันตกสมัยโบราณ (ปรัชญากรีก).

กรุงเทพมหานคร: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำ แหง.

เนื่องน้อย บุณยเนตร. 2537. จริยศาสตร์สภาวะแวดล้อม: โลกทัศน์ในพุทธปรัชญาและปรัชญาตะวันตก.

กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปรีชา ช้างขวัญยืน และสมภาร พรมทา (บรรณาธิการ). 2543. มนุษย์กับศาสนา.

กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). 2533. พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.

กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระธรรมปิฎก. 2541. การพัฒนาที่ยั่งยืน. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มูลนิธิพุทธธรรม.

______. 2543. พุทธธรรม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พุทธทาสภิกขุ. 2541. ปรมัตถธรรมสำหรับดำเนินชีวิต. กรุงเทพมหานคร: บริษัทเคล็ดไทยจำกัด.

ธรรมสภา.

พุทธทาสภิกขุ. ม.ป.ป.ก วิธีแก้ปัญหาชีวิต. กรุงเทพมหานคร: รุ่งแสงการพิมพ์.

วราพร ศรีสุพรรณ. 2539. สิ่งแวดล้อมศึกษา. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์โอเอสพริ้นติ้งเฮาส์.

 

ไฟกับมนุษย์

 



ไฟกับมนุษย์ 

พุทธศาสนาเถรวาทมีความโดดเด่นประการหนึ่ง คือ การเรียนรู้สรรพสิ่งเพื่อการดำรงอยู่อย่างกลมกลืน การรู้ธรรมชาติมีผลต่อมนุษย์ในการที่จะดำรงอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งในจักรวาล เนื่องจากสรรพสิ่งต่างมีธรรมชาติเดียวกัน และต่างมีความเกี่ยวเนื่องทางปัจจัยต่อกัน เป็นสาเหตุให้ สรรพสิ่งดำรงอยู่ในฐานะเป็นมิตรต่อกัน แต่ละสิ่งมีความสมบูรณ์ และมีค่าในการดำรงอยู่ และมีผลต่อสิ่งอื่นด้วย ดังนั้น มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหมดในจักรวาลจึงมีความเกี่ยวเนื่องถึงกันพุทธศาสนาเถรวาทมองมนุษย์ในฐานะเป็นสังขตธรรม(1) ที่เกิดจากการปรุงแต่งกันของปัจจัยแห่งชีวิตมนุษย์ ปัจจัยที่ปรุงแต่งก่อให้เกิดเป็นรูปธรรม และนามธรรม จำแนกอีกอย่างหนึ่ง คือ ขันธ์ 5 อันได้แก่ ส่วนที่เป็น รูป หรือ รูปธรรม คือ ส่วนที่เป็นร่างกาย และระบบทางกายภาพทั้งหมด และส่วนที่นามธรรม คือ จิต หรือวิญญาณ พร้อมทั้งคุณลักษณะอื่นๆ ที่ประกอบเป็นจิต คือ เวทนา สัญญา และสังขาร(2) บุคคลที่เกี่ยวข้องกับขันธ์ 5 นี้ มี 26 ภพภูมิ คือ อบายภูมิ  ได้แก่ 1. นิรยภูมิ, 2. เปรตวิสัย, 3. อสุรกายภูมิ และ4. ดิรัจฉานภูมิ ทั้ง 4 ภูมิ เป็นภูมิที่มีความทุกข์

มนุสสภูมิ 1 คือ โลก มนุษย์ หรือมนุษย์ในจักรวาลอื่น เทวภูมิ 6 ชั้น (ภูมิของเทวดา)(3) รูปภูมิ 15 ชั้น (ภูมิของพระพรหม)(4) ทั้งหมดนี้มีขันธ์ 5 เป็นส่วนประกอบสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในภพภูมิที่ตนเกิดทั้งหมดนี้มีขันธ์ 5 เป็นส่วนประกอบสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในภพภูมิที่ตนเกิด ขันธ์ 5 นี้ถ้าจัดเข้าในจำพวกธาตุแล้ว รูปขันธ์ คือ รูปจำนวน 28 ได้แก่ ภูตรูป 4 คือ 1. ปฐวีธาตุ, 2. อาโปธาตุ, 3. เตโชธาตุ และ4. วาโยธาตุ อุปาทายรูป 24 คือ 1. ตา, 2. หู, 3. จมูก, 4. ลิ้น, 5. กาย, 6. รูป, 7. เสียง, 8. กลิ่น, 9. รส, 10. อิตถินทรีย์, 11. ปุริสินทรีย์, 12. ชีวิตินทรีย์, 13. หทยวัตถุ, 14. กายวิญญัติ, 15. วจีวิญญัติ, 16. อากาสธาตุ, 17. รูปัสสะ ลหุตา (ความเบาแห่งรูป), 18. รูปัสสะ มุทุตา (ความอ่อนแห่งรูป), 19. รูปัสสะ กัมมัญญตา (ความคล่องแห่งรูป), 20. รูปัสสะ อุปจยตา (ความเติบขึ้นแห่งรูป), 21. รูปัสสะ สันตติ (ความสืบต่อแห่งรูป), 22. รูปัสสะ ชรตา (ความทรุดโทรมแห่งรูป), 23. รูปัสสะ อนิจจตา (ความไม่ยั่งยืนแห่งรูป) และ24. กวฬิงการาหาร(5)

ไฟกับสิ่งที่มีชีวิต สรุปได้ว่า ขันธ์ 5 คือ ธาตุนั่นเอง เป็นกองแห่งธาตุ ทำหน้าที่ต่างๆ ไปตามกฎของธรรมชาติ ในโลกนี้มนุษย์เกี่ยวข้องกับธาตุอยู่ตลอดเวลา เวลาหลับมนุษย์มีภวังคจิตที่เป็นวิญญาณธาตุ คอยรักษาภพไว้ไม่ให้เจ้าของชีวิตตาย และลมหายใจของมนุษย์มีอยู่ทุกขณะก็เป็นธาตุ คือ วาโยธาตุ อาหารทุกชนิดของมนุษย์ก็เป็นธาตุ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน คือ ธาตุ ตัวมนุษย์เองก็เป็นธาตุ

ไฟหรือธาตุไฟในร่างกายของมนุษย์ในทัศนะพุทธศาสนาเถรวาทนี้ เป็นการพิจารณาหลักการต่างๆ สำหรับการพัฒนาชีวิต เพื่อให้สอดคล้องความจริงของธรรมชาติจึงจำต้องมีความรู้ และเข้าใจในกฎแห่งธรรมชาติ 5 ประการของสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิตทั้งหลาย ที่เรียกว่า นิยาม 5 ประการ ได้แก่ 1. อุตุนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ โดยเฉพาะดิน น้ำ อากาศ และฤดู อันเป็นสิ่งแวดล้อมสำหรับมนุษย์ เช่น มนุษย์อยู่ในครรภ์ของมารดา 9-10 เดือนจึงคลอด ต้นไม้ก็ออกดอกออกผลตามฤดูกาลของมันเอง, 2. พีชนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ มีพันธุกรรมเป็นต้น เช่น มนุษย์ก็คลอดลูกเป็นมนุษย์ มะม่วงก็ออกผลเป็นมะม่วง, 3. จิตตนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต เป็นไปตามการกำหนดของจิต การแสดงพฤติกรรมทางกายบางอย่าง เช่น การพูด เป็นต้นก็เป็นไปตามกำหนดของจิต, 4. กรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ คือ กระบวนการให้ผลของการกระทำ ใครทำดีก็ได้รับผลดี ใครทำชั่วก็ได้รับผลที่ไม่ดี และ5. ธรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันแห่งสรรพสิ่งในโลกมนุษย์(6)

นิยาม 4 ข้อข้างต้นสามารถรวมลงในนิยามข้อสุดท้าย คือ ธรรมนิยามได้ กล่าวคือ เมื่อมนุษย์ และสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เกิดมาก็ด้วยนิยาม 4 ข้างต้นซึ่งมีนิยามข้อที่ 5 เป็นตัวควบคุมอีกชั้นหนึ่งจึงเกิดมาตามสภาพที่ควรจะเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เกื้อหนุนส่งเสริม ฉะนั้น การมีตนแห่งการเรียนรู้ การรู้จักตนเอง ฟังดูง่ายแต่ทำยาก ในปัจจุบัน เราจะพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของปัจเจกบุคคลหรือระหว่างบุคคลด้วยกันในสังคม ล้วนสืบเนื่องมาจากการไม่รู้จัดตนเองเป็นปฐม เพราะเมื่อไม่รู้จักตนเอง จึงไม่เข้าใจตนเอง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจผู้อื่นเมื่อไม่เข้าใจกันก็จะเกิดความขัดแย้ง ทำให้มีปัญหาทางด้านมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น ทำให้เป็นคนเห็นแก่ตัว บางคนที่ไม่รู้จักตัวเองมากเพราะอวิชชาเข้าครอบงำ หลงใหลในทรัพย์สินวัตถุสิ่งของเต็มไปด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลง ขาดสติปัญญาในการพิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองเรื่องต่างๆ ผู้มีอำนาจที่ยึดตนเกินขอบเขตไปในทางรังแกทำร้ายทำลายคนอื่น บางคนกว่าจะรู้ตัวก็สายเกินแก้เสียแล้ว

การรู้จักตนเอง คือ อย่างไร แท้จริงการรู้จักตนเอง คือ การรู้จักธรรมชาติ เพราะธรรมชาติ คือ ความจริงของชีวิต การรู้จักตนเอง คือ การมองเห็นชีวิตตามความเป็นจริง นั่นคือ รู้ว่าเรา และคนอื่นๆ สัตว์ สิ่งของ ที่อยู่รอบๆ ตัวนั้นล้วนมีธรรมชาติที่มีองค์ประกอบอย่างเดียวกัน คือ ธาตุ 4 ได้แก่ ธาตุดิน น้ำ ไฟ และลม(7) เหมือนๆ กัน เมื่อร่างกายของมนุษย์เราประกอบกันขึ้นด้วยแร่ธาตุ เราประทานอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นแร่ธาตุชนิดต่างๆ เข้าไปเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้ มองในแง่ชีววิทยา ชีวิตนี้เกิดมาจากเซลล์สืบพันธุ์ของบิดามารดา (พันธุกรรม) ทำให้มีอวัยวะต่างๆ ตามเผ่าพันธุ์ และเจริญเติบโตขึ้นมาได้ด้วยสารอาหารแร่ธาตุ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งดีและไม่ดี ซึ่งมองโดยรวมโครงสร้างร่างกายนี้มี 3 ส่วน คือ มีโครงกระดูกเป็นแกน มีเนื้อหุ้ม และมีหนังฉาบคลุมไว้ และหากมองชีวิตของมนุษย์ทุกคนตามสภาพแห่งธรรมชาติก็ประกอบด้วยสิ่ง 5 อย่างที่เรียกว่า เบญจขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณเท่านั้น ความรู้สึกในความเป็นตัวตนหรือความเป็นเจ้าของ สืบเนื่องมาจากผัสสะหรือการสัมผัสของอายตนะ 6 ที่ได้รับรู้สิ่งต่างๆ ผ่านทางอายตนะภายในทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ(8) เมื่อบวกเข้ากับขันธ์ 5 โดยเฉพาะสัญญา = การจำได้หมายรู้ และ สังขาร = การปรุงแต่ง ทำให้เกิดความยึดมั่น เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของขึ้นมา และถ้าหากมีอวิชชา มีความโลภ ความโกรธ และความหลงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะหลงตัวหลงตนไปกันใหญ่ กลายเป็นมนุษย์ที่ดุร้าย เห็นแก่ตัว มีจิตใจมากไปด้วยความประมาทมัวเมาในสิ่งต่างๆ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเท่านั้นเป็นที่พึ่งแห่งตนได้จริง(9) ผู้นั้นต้องรู้จักตนเองหรือมีตนแห่งการเรียนรู้ด้วยสติเป็นเครื่องอยู่ มีความรู้ความเข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ บุคคลที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยธรรมประจำใจ ก็ย่อมจะเป็นที่พึ่งพิงของผู้อื่นได้ แล้วเราจะเอาอะไรเป็นที่พึ่งเอาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชีวิตของเรา การประพฤติปฏิบัติพัฒนาชีวิตของมนุษย์คนใดสักคนล้วนขึ้นอยู่กับตัวของมนุษย์คนนั้นเอง ไม่มีการทำแทนกันได้ ใครทำก็ย่อมได้รับผลของการกระทำนั้นเอง สมดังพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าแม้พระองค์ก็เป็นได้เพียงผู้บอกทางหรือชี้ทางให้ ดังพุทธพจน์ว่า อกฺขาโต โว มยา มคฺโค อญฺญาย สลฺลสตฺถนํ ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺ ขาตาโร ตถาคตา ฯ เราทราบชัดธรรมเป็นที่สลัดกิเลสเพียงดังลูกศรออก บอกทางแก่เธอทั้งหลายแล้ว เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเครื่องยังกิเลสให้เร่าร้อนด้วยตนเอง เพราะพระตถาคตทั้งหลายเป็นแต่เพียงผู้บอกทางให้เท่านั้น(10)

การที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ความจริงในการกำเนิดของชีวิตและตรัสไว้ว่า มีตัณหา (ความอยาก) ก็มีชาติ (การเกิด) สิ้นตัณหาก็สิ้นชาติ กล่าวคือ เมื่อมนุษย์ยังมีกรรม วิญญาณ และตัณหาอยู่ ก็ยังจะต้องไปเกิดในภพต่างๆ ซึ่งเป็นการอธิบายถึงจุดกำเนิดของชีวิตมนุษย์ที่เป็นไปตามกระแสแห่งกฎธรรมชาติทั้งสิ้น ที่ต้องประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ ที่มาสัมพันธ์กัน ที่เกิดขึ้นสืบต่อกันไปอย่างมิได้ขาดสาย อันเป็นภาวะที่ไม่เที่ยง ตรงนี้เองที่ชี้ให้ทราบว่า เราต่างเกิดมาแล้วหลายชาติไม่มีสิ้นสุด แต่พุทธศาสนาก็ให้ความสำคัญอดีตกรรมเพียงข้อเดียวเท่านั้น นอกจากนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องพยายามทำเอาเองในชาติปัจจุบัน ซึ่งมีความสำคัญกว่าชาติที่แล้ว ในกรณีของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน ภาวะแห่งการมีชีวิตของมนุษย์นั้นเกิดจากการรวมตัวขององค์ประกอบพื้นฐาน ที่เรียกว่า ขันธ์ 5 หรือเบญจขันธ์ และธาตุ 4 ดังกล่าวมาแล้ว

องค์ประกอบของไฟในร่างกายมนุษย์ ซึ่งสรุปได้ว่า พุทธศาสนาเถรวาทได้อธิบายองค์ประกอบของร่างกายมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย โดยแบ่งองค์ประกอบหลักของร่างกายมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลายออกเป็น 4 ส่วน คือ 1. ส่วนที่เป็นดินเรียกว่า ปฐวีธาตุ มีองค์ประกอบย่อยที่สำคัญ 19 ประการ, 2. ส่วนที่เป็นน้ำเรียกว่า อาโปธาตุ มีองค์ประกอบย่อยที่สำคัญ 12 ประการ, 3. ส่วนที่เป็นไฟเรียกว่า เตโชธาตุ มีองค์ประกอบย่อย 4 ประการ และ4. ส่วนที่เป็นลมเรียกว่า วาโยธาตุ มีองค์ประกอบย่อยที่สำคัญ 6 ประการ ดังนั้น ร่างกายมนุษย์จึงประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลักที่สำคัญ 4 ประการ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และองค์ประกอบย่อยอีก 41 ประการ โดยแต่ละส่วนก็จะทำหน้าที่ของตนประสานกันทำให้ร่างกายสามารถดำรงชีวิตอยู่ และดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข

ความสัมพันธ์ของไฟกับธาตุอื่นๆ ธาตุ 4 และธาตุ 6(11) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ค้นพบเรื่องราวความเป็นจริงของโลก และชีวิต ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งปวง ซึ่งทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น เนื่องจากการอธิบายสิ่งต่างๆ ในพุทธศาสนาเป็นการอธิบายด้วยเหตุ และผล ไม่ใช่การใช้ศรัทธานำหน้า ไม่มีการบังคับให้เชื่อตาม แต่สามารถรู้ได้ด้วยตนเองโดยการพิสูจน์ ซึ่งพุทธศาสนาก็ได้แสดงวิธีพิสูจน์ไว้ให้แล้ว ต่อจากนี้ควรทำความรู้จัก และเข้าใจสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของสรรพสิ่งทั้งหลาย ซึ่งพุทธศาสนาเถรวาทเรียกว่า ธาตุ

คำว่า ธาตุนี้ ไม่ได้ หมายถึง ธาตุที่ปรากฏในตารางธาตุ ในวิชาวิทยาศาสตร์หรือวิชาเคมีจำพวก ธาตุฮีเลี่ยม ธาตุอาร์กอน ธาตุไนโตรเจน ดังที่เราเคยเรียนเคยรู้จักกันมา แต่ธาตุในที่นี้เป็นธาตุที่เป็นองค์ประกอบแท้จริงหรือองค์ประกอบดั้งเดิมของสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือสิ่งใดๆ ก็ตาม ทั้งที่เป็นสิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิตก็ล้วนมีองค์ประกอบนี้อยู่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานชั้นต้นที่ละเอียดที่สุดที่ไม่สามารถจะแยกย่อยให้ละเอียดไปกว่านี้ได้อีก โดยมีความหมายของธาตุไว้ในที่ต่างๆ ดังนี้

ธาตุ หมายถึง สิ่งที่ทรงสภาวะของตนอยู่เอง คือ มีอยู่โดยธรรมดา เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีอัตตา มิใช่สัตว์ มิใช่ชีวะ(12) ธาตุ หมายถึง ผู้ทรงไว้ ผู้ตั้งอยู่ ผู้ดำรงอยู่ ธาตุ หมายถึง สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดาจะแยกออกไปอีกไม่ได้ สิ่งที่เป็นต้นเดิมเป็นมูลเดิม ธาตุ หมายถึง วัตถุซึ่งเป็นส่วนผสมดั้งเดิมของสิ่งต่างๆ

ความหมายของธาตุ สรุปได้ว่า ธาตุ หมายถึง สิ่งที่เป็นองค์ประกอบชั้นต้นสุดของสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต โดยไม่สามารถจะแยกให้ลึกหรือละเอียดลงไปได้อีก และทำหน้าที่ ทรงไว้หรือทำให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงดำรงอยู่ได้ เกี่ยวกับเรื่องธาตุนี้ เราสามารถแบ่งธาตุออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ธาตุ 4 และ ธาตุ 6 ซึ่ง มีอธิบายว่า ธาตุที่ทรงแสดงไว้ มีอยู่สองนัย คือ ทรงแยกเป็น 4 ธาตุ กับ 6 ธาตุ ที่แยกเป็น 4 ธาตุนั้นคือ ทรงชี้เฉพาะธาตุใหญ่ๆ ที่เป็นแม่ธาตุจริงๆ โดยทรงมุ่งหมายให้นักปฏิบัติเห็นได้ง่าย ในทำนองว่าให้ใช้เป็นเครื่องประกอบกรรมฐาน (ธาตุกัมมัฏฐาน) ส่วนที่แยกออกเป็น 6 ธาตุ เป็นการแยกชั้นละเอียดสูงขึ้นไป

ธาตุ 4 นี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ภูตรูป 4 หรือมหาภูต 4 ประกอบด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม ซึ่งในภาษาบาลีมีชื่อเรียกว่าธาตุดินว่าปฐวีธาตุ เป็นธาตุที่ตั้งของธาตุทั้งหลาย เพราะสิ่งทั้งหลายจะเป็นรูปร่างต่างๆ ต้องมีธาตุดินเป็นองค์ประกอบจึงจะเป็นรูปร่างได้ เรียกธาตุน้ำว่า อาโปธาตุ คือ ธาตุที่ทำให้เกิดการเกาะกุมจับรวมตัวเข้าด้วยกัน ทำให้มีลักษณะเอิบอาบและเคลื่อนที่หรือไหลไปมาได้ เรียกธาตุไฟว่า เตโชธาตุ เป็นธาตุที่ทำให้ร้อนหรือเย็น และทำให้เกิดการย่อย และเรียกธาตุลมว่า วาโยธาตุ เป็นธาตุที่ทำหน้าที่ค้ำจุนธาตุอื่น ทำให้สิ่งต่างๆ เคร่งตึง หรือสั่นไหว

ธาตุทั้ง 4 นี้เป็นองค์ประกอบของสรรพสิ่งต่างๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ พืช วัตถุสิ่งของทั้งปวง ทั้งที่อยู่ในโลก และนอกโลกหรือจะกล่าวว่าในทุกสิ่งที่มีอยู่ในจักรวาลก็ได้ โดยที่ ธาตุ 4 นี้ เป็นวัตถุพื้นฐานหรือดั้งเดิมของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะว่าสิ่งต่างๆ ทั้งหลายนั้นเกิดจากธาตุทั้ง 4 นี้ผสมกัน

ธาตุ 6 ได้แก่ ธาตุ 4 หรือมหาภูต 4 คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ นั้นกับเพิ่มอีก 2 อย่าง คือ อากาสธาตุ สภาวะที่ว่าง โปร่งไป เป็นช่อง วิญญาณธาตุ สภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ ธาตุรู้ ได้แก่ วิญญาณธาตุ 6 คือ จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนวิญญาณธาตุ(13)

ความแตกต่าง และความเหมือนกัน ระหว่างธาตุทั้ง 2 กลุ่ม คือ ธาตุ 4 กับธาตุ 6 สรุปได้ว่า ธาตุ 4 มีอยู่ในทุกสรรพสิ่งไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่ก็ตาม แต่ธาตุ 6 จะปรากฏมีเฉพาะในสิ่งมีชีวิตเท่านั้น โดยที่สิ่งมีชีวิตในที่นี้ หมายถึง มนุษย์ และสัตว์เท่านั้นไม่ได้หมายรวมถึงต้นไม้ ทั้งนี้ เพราะว่าต้นไม้แม้จะเป็นสิ่งมีชีวิต ที่สามารถมีการเจริญเติบโตเปลี่ยนรูปร่างได้ แต่ต้นไม้ไม่มีธาตุรับรู้ จึงไม่มีความรู้สึกนึกคิด เช่น มนุษย์ และสัตว์

ลักษณะ และคุณสมบัติของธาตุทั้งหลาย มีดังนี้ ปฐวีธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุดินในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ดินทั่วๆไปอย่างที่เราคุ้นเคย และเรียกกันติดปากอย่าง ดินร่วน ดินเหนียว ดินทราย ตามท้องไร่ท้องนาหรือดินในบริเวณที่อยู่อาศัยอะไรอย่างนั้น แต่ธาตุดินในที่นี้ หมายถึง ธาตุที่มีลักษณะแข็งหรือทำให้สิ่งต่างๆ มีลักษณะแข็ง โดยเมื่อนำไปเทียบกับธาตุที่เหลืออีก 3 ธาตุแล้ว ธาตุดินจะมีลักษณะแข็ง และมีคุณสมบัติทำให้แข็ง เมื่อวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีปฐวีธาตุเป็นองค์ประกอบหลัก คือมีความเข้มข้นหรืออัตราส่วนที่มากกว่าธาตุอื่นอีก 3 ธาตุ จะทำให้วัตถุสิ่งของนั้น มีลักษณะแข็งปรากฏขึ้น เช่นการที่เหล็ก หิน ไม้ เป็นต้น มีลักษณะแข็งเป็นเพราะว่า มีธาตุดินในอัตราส่วนที่มากกว่าธาตุอื่น ในขณะเดียวกัน ถ้าวัตถุสิ่งใด ๆ ก็ตาม มีองค์ประกอบเป็นธาตุดินในปริมาณน้อยหรือมีอัตราส่วนที่น้อยกว่าธาตุอื่น ลักษณะแข็งที่ปรากฏในวัตถุสิ่งของนั้นก็ปรากฏไม่มาก แต่จะมีลักษณะอ่อน ความแข็งความอ่อนของวัตถุสิ่งของทั้งปวงจึงขึ้นอยู่กับปริมาณของของปฐวีธาตุที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งนั้นๆ และปฐวีธาตุนี้เท่านั้นที่ทำให้สิ่งต่างๆ แข็งหรืออ่อน โดยที่ธาตุอื่นไม่มีคุณสมบัติเช่นนี้

ธาตุดินหรือปฐวีธาตุนี้ มีทั้งที่อยู่ภายในร่างกาย และที่อยู่ภายนอกร่างกาย โดยปฐวีธาตุภายในร่างกาย คือ อวัยวะและสิ่งต่างๆ ในร่างกายเราที่มีลักษณะแข็ง หรือรวมตัวกันเป็นก้อนจนสามารถกำหนดได้ ซึ่งได้แก่ อวัยวะน้อยใหญ่ คือ ผม ขนเล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังพืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่าหรือสิ่งอื่นๆ ที่มีลักษณะแข่นแข็ง

ปฐวีธาตุภายนอก คือ สิ่งต่างๆ ที่เป็นของแข็งหรือมีลักษณะแข็ง กระด้าง ได้แก่ วัตถุ สิ่งของ ทั้งปวง เป็นต้นว่า บ้าน รถยนต์ เรือ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลาย ปฐวีธาตุนี้ เป็นที่ตั้งที่อาศัยของธาตุอื่น และสรรพสิ่งทั้งหลาย ถ้าปราศจากปฐวีธาตุแล้วสิ่งอื่นไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เปรียบเหมือนสิ่งต่างๆ ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยแผ่นดินรองรับ ถ้าปราศแผ่นดิน สิ่งต่างๆ ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ หรือเปรียบปฐวีธาตุเป็นเช่นกับแก้ว ส่วนธาตุอื่นเปรียบเสมือนน้ำตามธรรมชาติของน้ำไม่สามารถคงรูปได้ แต่เมื่อเรานำน้ำมาใส่ในแก้วที่มีรูปทรงต่างๆ ทำให้น้ำสามารถคงรูปเป็นลักษณะต่างๆ ได้เพราะอาศัยแก้ว ทำนองเดียวกันที่เราเห็นเป็นสิ่งต่างๆ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นอาศัยปฐวีธาตุหรือธาตุดินจึงมีรูปร่างต่างๆ นาๆ

อาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ เช่นเดียวกัน ธาตุน้ำในที่นี้ก็ไม่ได้จำเพราะเจาะจงว่า เป็นน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ ที่เรารู้จัก ไม่ว่าจะเป็นน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำบาดาล หรือน้ำในทะเล แต่ธาตุน้ำในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่มีลักษณะไหลหรือเกาะกุมรวมตัวได้ และมีคุณสมบัติทำให้วัตถุหรือสิ่งต่างๆ เกาะกุมรวมตัวเข้าเป็นกลุ่มก้อนหรือไหลได้ โดยที่ธาตุน้ำนี้ ถ้ามีอยู่เป็นจำนวนมากในวัตถุสิ่งใดๆ ก็ตาม จะทำให้สิ่งของเหล่านั้นเหลว และไหลไปได้ แต่ถ้ามีจำนวนน้อยจะทำให้วัตถุสิ่งของต่างๆ เกาะกุมกันเป็นกลุ่มก้อน อุปมาเหมือนยางเหนียว ที่สามารถเชื่อมประสานวัตถุสิ่งของให้ติดกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้หากว่า ในวัตถุใดมีจำนวนธาตุน้ำมากกว่าธาตุดิน อำนาจของธาตุน้ำจะทำให้ธาตุดินมีอำนาจน้อยลง จึงเป็นเหตุให้วัตถุนั้นอ่อนเหลว และสามารถไหลไปมาได้ดังเช่นน้ำ ที่น้ำไหลไปมาได้ เพราะว่ามีธาตุน้ำมาก ธาตุดินน้อย เมื่อธาตุดินน้อยจึงถูกอำนาจของธาตุน้ำทำให้ธาตุแข็งซึ่งปกติมีลักษณะแข็งไหลไปมาได้ แต่หากว่าธาตุน้ำมีจำนวนน้อยกว่าธาตุดิน อำนาจของธาตุน้ำจะทำให้ปรมาณูธาตุดินเกาะกุมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เหมือนกับการประพรมน้ำลงไปบนผงแป้งหรือผงฝุ่นทำให้ผงแป้งหรือผงฝุ่นจับตัวกันเป็นก้อนได้

อาโปธาตุหรือธาตุน้ำนี้ มีทั้งที่อยู่ภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต และที่อยู่ภายนอก ธาตุน้ำที่อยู่ภายในร่างกาย คือ ส่วนต่างๆ ภายในร่างกายที่มีลักษณะเอิบอาบ ซึมซาบไหลได้ ได้แก่ ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร และสิ่งอื่น ๆ ที่มีลักษณะเอิบอาบ ซึมซาบไป ส่วนธาตุน้ำที่อยู่ภายนอก คือ สิ่งต่างๆ ภายนอกร่างกายที่มีลักษณะเอิบอาบ เหนียวเกาะกุม ได้แก่ รสที่มีอยู่ในส่วนต่างๆ ของพืชผักและผลไม้ สิ่งต่างๆ นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น น้ำที่อยู่ในพื้นดิน น้ำที่อยู่ในอากาศ

เตโชธาตุ คือ ธาตุไฟ มีลักษณะร้อนและเย็น ลักษณะร้อนชื่อว่า อุณหเตโช ลักษณะเย็นชื่อว่า สีตเตโช เตโชธาตุทั้ง 2 ชนิดมีสภาวลักษณะเป็นไอ โดยอุณหเตโช มีไอร้อนเป็นลักษณะ และสีตเตโช มีไอเย็นเป็นลักษณะ ซึ่งเตโชธาตุทั้ง 2 ชนิด มีหน้าที่ทำให้วัตถุต่างๆ สุก และละเอียดนุ่มนวล ดังจะเห็นได้จาก เมื่อวัตถุต่างๆ ส่วนมาก เช่น อาหาร ทำให้สุกด้วยความร้อน แต่อาหารบางอย่างก็ทำให้สุกด้วยความเย็นได้เหมือนกัน

วาโยธาตุ คือ ธาตุลม มีลักษณะเคร่งตึง และเคลื่อนไหว โดยธาตุลมที่มีลักษณะเคร่งตึงเรียกว่า วิตถัมภนวาโย เป็นวาโยธาตุที่ทำให้สิ่งต่างๆ ที่เกิดพร้อมกับตัววาโยธาตุเองตั้งมั่น ไม่ให้คลอนแคลนเคลื่อนไหวไปได้ ในร่างกายของคนเรา ถ้าวิตถมภนวาโยปรากฏขึ้นในผู้ใดเข้า จะทำให้ผู้นั้นรู้สึก ตึง เมื่อย ปวด ตามร่างกายหรือขณะที่มีการเก็งตามส่วนต่างๆ ของร่างกายหรือเพ่งตาเป็นเวลานานๆ โดยไม่กระพริบตา จะทำให้วิตถัมภนวาโยปรากฏขึ้นโดยการกระทำของผู้นั้นเอง

แต่สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นในภายนอกนั้น วัตถุสิ่งของต่างๆ ที่ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคงหรือทำให้ตึงขึ้นก็เป็นเพราะวาโยธาตุลักษณะนี้เช่นกัน เช่น ลูกบอลที่ลูกอัดลมเข้าไปภายใน การที่ลูกบอลตึงขึ้นก็เพราะวาโยที่เป็นวิตถัมภนวาโย ธาตุลมที่มีลักษณะเคลื่อนไหวเรียกว่า สมีรณวาโย นี้ทำให้รูปที่เกิดพร้อมกันกับตนเคลื่อนไหวไปมาได้ เช่น สัตว์ทั้งหลายที่เคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ ได้หรือกระพริบตา กลอกตา กระดิกมือ กระดิกเท้า การถ่ายเทสิ่งโสโครกออกจากร่างกาย การคลอดบุตรต่างๆ เหล่านี้ เป็นด้วยอำนาจสมีรณวาโยทั้งสิ้น ส่วนสมีรณวาโยที่อยู่ภายนอกสัตว์นั้น ทำให้วัตถุสิ่งต่างๆ เคลื่อนจากที่เดิมไปได้ วาโยธาตุหรือธาตุลม มีทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกร่างกาย ธาตุลมที่อยู่ภายในร่างกาย คือ สิ่งที่มีลักษณะพัดผันไปในร่างกาย ได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้ ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า และสิ่งอื่นๆ ที่พัดผันในร่างกาย

ธาตุลมภายนอก คือ ความพัดไปมา ความเคร่งตึงของวัตถุสิ่งของต่างๆ ได้แก่ ลมในลักษณะต่างๆ เช่น ลมตะวันตก ลมตะวันออก ลมเหนือ ลมใต้ ลมมีฝุ่นละออง ลมไม่มีฝุ่นละออง ลมหนาว ลมร้อน ลมจากการกระพือปีก(14)

อากาสธาตุหรือธาตุอากาศ คือ ช่องว่าง ที่ว่าง ความว่างเปล่า สถานที่ที่ไม่มีปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุหรือช่องว่างที่อยู่ระหว่างธาตุต่างๆ ซึ่งอากาสธาตุนี้มีทั้ง อากาสธาตุที่อยู่ภายใน และภายนอกร่างกาย

อากาสธาตุภายใน คือ ช่องว่างต่างๆ ที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งเป็นที่เนื้อและเลือดไม่ถูกต้อง ได้แก่ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องทางเดินอาหาร ช่องว่างในกระเพาะอาหาร และช่องทางขับถ่ายอาหารออกจากร่างกาย หรือ ความว่างเปล่า ช่องว่างอื่นๆ ที่อยู่ภายในร่างกาย

อากาสธาตุภายนอก คือ ความว่างเปล่า ช่องว่าง ต่างๆ ที่มหาภูตรูป 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่สัมผัสถูกต้องที่อยู่ภายนอกร่างก่าย

วิญญาณธาตุ คือ ธาตุรู้ วิญญาณธาตุนี้เมื่อเข้าไปอยู่ในธาตุทั้ง 5 จะทำให้สิ่งนั้นมีชีวิต แต่โดยปกติแล้ว จะมีเฉพาะในคนและสัตว์เท่านั้น และมีอยู่ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ดังนั้น เมื่อมนุษย์ และสัตว์ตายแล้ว คงเหลือเพียงธาตุ 5 หรือมหาภูตรูปเท่านั้น ส่วนวิญญาณธาตุจะหายไปร่างกายของมนุษย์ที่ตายแล้ว จึงไม่ต่างจากสรรพสิ่งทั้งปวง

วิญญาณธาตุนี้ ทำหน้าที่รู้ จึงทำให้บุคคลรู้สิ่งต่างๆ ได้ คือ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง การที่เรารู้เรื่องราวต่างๆ หรือมีความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ก็เพราะเรามีวิญญาณธาตุนั่นเอง โดยรู้นี้รู้ด้วยวิญญาณธาตุทั้ง 6 ซึ่งประกอบด้วย จักขุวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ทางตาโสตวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ทางหู ฆานวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ทางจมูก ชีวหาวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ทางลิ้น กายวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ทางกาย มโนวิญญาณธาตุ ธาตุรับรู้ทางใจ โดยเมื่อเราได้รับสิ่งต่างๆ ภายนอกผ่านช่องทางการรับรู้ต่างๆ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะเกิดกระบวนการรับรู้ขึ้นด้วยการทำงานของวิญญาณธาตุ ซึ่งเราจะเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ได้ก็ต่อไปเมื่อได้ศึกษา และลงมือปฏิบัติสมาธิ

เรื่องธาตุนี้ เพื่อจะได้ทำให้เราเข้าใจว่า สิ่งต่างๆ ทั้งหลาย ทั้งที่มีอยู่ในโลก และนอกโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ก็ตาม ล้วนเกิดจากการที่ธาตุทั้งหลายมารวมตัวกันด้วยสัดส่วนที่แตกต่างกันไป จึงเกิดเป็นสิ่งต่างๆ มากมายหลากหลายชนิด และมีอายุจำกัด เนื่องจากคงสภาพได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อถึงคราวธาตุต่างๆ เหล่านี้ ก็ต้องแตกแยกกระจัดกระจายออกจากกัน ไม่สามารถคงทนถาวรอยู่ได้

ดังนั้น เราจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ เลย ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีคุณสมบัติหรือลักษณะใดๆ ก็ตาม เพราะแม้ว่าเราจะจะมีสิ่งที่ชื่นชมพออกพอใจเพียงใด แต่เราก็ไม่สามารถที่จะรักษา และครอบครองสิ่งนั้นได้ตลอดไป เมื่อถึงเวลาสิ่งเหล่านั้นก็เสื่อมสลายแปรสภาพกลับกลายเป็นธาตุ 4 ซึ่งเป็นส่วนประกอบดั้งเดิมของสิ่งของทั้งหลายทั้งปวง การยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงรังแต่นำมาซึ่งความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจ และเป็นเหตุแห่งความขัดแย้ง เกิดการแก่งแย่งแข็งขัน เบียดเบียนกันและกัน และไม่สามารถหลุดพ้นจากวงเวียนแห่งทุกข์ได้

การที่โลกของเราสับสนวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะว่า ชาวโลกไม่มีความเข้าใจเรื่องธาตุเลย จึงทำให้ไม่มีความรู้ และเข้าใจ ในความเป็นจริงว่าทุกสิ่งไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ต่างก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไปในที่สุด ด้วยเหตุนี้เอง ชาวโลกจึงต่างก็อ้างความเป็นเจ้าของในสิ่งต่างๆ เกิดความเห็นแก่ตัว มีการเอารัดเอาเปรียบกันขึ้นในสังคม ที่ร้ายไปกว่านั้นเกิดการรบราฆ่าฟันกลายเป็นสงครามในหลายภูมิภาคทั่วโลก นำมาซึ่งความเสียหายของชีวิต และทรัพย์สิน

หากว่ามนุษย์เราได้ศึกษาในเรื่องธาตุนี้ ก็จะเข้าใจได้ว่าสิ่งต่างๆ ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน จึงไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่น เพระแม้แต่ตัวเราเองก็ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่หรือร่ำรวยสักปานใด สักวันหนึ่งทุกคนก็ต้องตาย ต้องจากโลกนี้ไปโดยที่ไม่มีใครนำสิ่งใดติดตัวไปได้เลย เมื่อทุกคนรู้อย่างนี้ ก็จะไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ดูถูกเหยียดหยาม แก่งแย่งแข่งขันและทำร้ายกันและกัน แต่จะมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เข้าอกเข้าใจกัน เพราะต่างก็รู้ว่าแต่ละคนก็มีทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น ที่สำคัญที่สุด จะทำให้เราเห็นว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ ตราบใดที่เรายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เราก็ยังต้องเผชิญหน้ากับทุกข์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นเมื่อทราบว่าโลกนี้มีแต่ทุกข์ ไม่มีสิ่งใดมั่นคงที่เราจะยึดมั่นถือมั่นได้เลย เราก็ควรปล่อยวางทุกสิ่ง และควรหาทางที่จะทำให้ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ด้วยการสั่งสมบุญกุศลให้มากจนกระทั่ง เกิดความบริสุทธิ์บริบูรณ์หมดกิเลสไม่ต้องกลับมาเกิดอีกในที่สุด

ธาตุ 4 และธาตุ 6 พอสรุปได้ว่า ธาตุไฟกับธาตุ 4 และธาตุ 6 ที่ประกอบกันเป็นรูปกายหรือตัวตนนั้น ถ้าพิจารณากันอย่างวิทยาศาสตร์ก็กล่าวได้ ว่าสารประกอบอย่างหนึ่งของธาตุทั้ง 4 นั่นเอง ตัวธาตุอันเป็นเหตุของรูปที่มาเป็นปัจจัยกันก็ยังล้วนมีความไม่เที่ยง มีความแปรปรวน เป็นทุกข์ ทนอยู่ด้วยยากหรือคงทนอยู่ไม่ได้นั่นเอง และเป็นอนัตตาในที่สุด กล่าวคือ แม้ธาตุดินหนึ่งๆเข้าไปในกายแล้วก็ล้วนแปรปรวนไปเป็นธาตุดินอื่นๆ คงทนอยู่ไม่ได้ขับถ่าย และหลุดล่วงเสื่อมดับไป ไม่คงสภาพของธาตุดินต้นกำเนิดแต่อย่างใด ส่วนนํ้านั้นเล่า เมื่อเข้าไปสู่กายก็ยังเป็นนํ้าดีๆ อยู่ แต่ก็ต้องแปรปรวนไม่เที่ยงไปเป็นนํ้าต่างๆ ในร่างกาย เป็นของเสียบ้าง นํ้ามูก นํ้าเลือด นํ้าหนองต่างๆ นานา ไม่คงรูปของธาตุนํ้าเดิมๆ อีกต่อไป และคงทนอยู่ไม่ได้ถูกขับออกมาตลอดเวลา เป็นอนัตตาในที่สุด ส่วนธาตุลมเล่า เมื่อเข้าไปก็แปรปรวนจาก O2 เป็น CO2 เสียด้วยความไม่เที่ยง และคงทนอยู่ยากต้องหายใจออกมา แสดงอนัตตาในลักษณะเดียวกัน ส่วนธาตุไฟเล่า ก็ไม่คงที่คงทน เมื่อธาตุใดแปรปรวนก็ร้อนเกินปกติบ้าง ร้อนน้อยกว่าปกติบ้าง ต้องวิ่งหาหมอกันให้วุ่นว่าย แล้วก็ดับๆ เกิดๆ ทดแทนกันอยู่ตลอดเวลา จนในที่สุดก็ดับไปอย่างถาวร ก็เป็นอนัตตา อากาสธาตุหรือธาตุอากาศ คือ ช่องว่าง ที่ว่าง ความว่างเปล่า ก็มีความแปรเปลี่ยนไป ส่วน วิญญาณธาตุ คือ ธาตุรู้นั้น จะมีเฉพาะในคน และสัตว์เท่านั้น และมีอยู่ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ดังนั้นเมื่อมนุษย์ และสัตว์ตายแล้ว คงเหลือเพียงธาตุ 5 หรือมหาภูตรูปเท่านั้นส่วนวิญญาณธาตุจะหายไป

ขันธ์ 5 คำสอนในพุทธศาสนาเถรวาท มองสิ่งทั้งหลายในรูปของส่วนประกอบต่างๆ ที่ มาประชุมกันเข้า ตัวตนแท้ๆ ของสิ่งทั้งหลายไม่มี เมื่อแยกส่วนต่างๆ ที่มาประกอบกันเข้านั้นออกไปให้หมดก็จะไม่พบตัวตนของสิ่งนั้นเหลืออยู่ ตัวอย่างง่ายๆ ที่ยกขึ้นอ้างกันบ่อยๆ คือ รถ เมื่อนำส่วนประกอบต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกันตามแบบที่กำหนด ก็บัญญัติเรียกว่า รถ แต่ถ้าแยกส่วนประกอบทั้งหมดออกจากกัน ก็จะหาตัวตนของรถไม่ได้ มีแต่ส่วนประกอบทั้งหลายซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กันจำเพาะแต่ละอย่างอยู่แล้ว คือ ตัวตนของรถมิได้มีอยู่ต่างหากจากส่วนปะกอบเหล่านั้น มีแต่เพียงคำบัญญัติว่า รถ สำหรับสภาพที่มารวมตัวกันเข้าของส่วนประกอบเหล่านั้น แม้ส่วนประกอบแต่ละอย่างๆ นั้นเองก็ปรากฏขึ้นโดยการรวมกันเข้าของส่วนประกอบย่อย ๆ ต่อๆ ไปอีก และหาตัวตนที่แท้ไม่พบเช่นเดียวกัน เมื่อจะพูดว่า สิ่งทั้งหลายมีอยู่ ก็ต้องเข้าใจในความหมายว่า มีอยู่ในฐานะมีส่วนประกอบต่างๆ มาประชุมเข้าด้วยกันเมื่อมองเห็นสภาพของสิ่งทั้งหลายในรูปของการประชุมส่วนประกอบนี้ พุทธธรรมจึงต้องแสดงต่อไปว่า ส่วนประกอบต่างๆ เหล่านั้นเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง อย่างน้อยก็พอเป็นตัวอย่าง และโดยที่พุทธธรรมมีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องชีวิต โดยเฉพาะในด้านจิตใจ การแสดงส่วนประกอบต่างๆ จึงต้องครอบคลุมทั้งวัตถุ และจิตใจ หรือทั้งรูปธรรมและนามธรรม และมักแยกแยะเป็นพิเศษในด้านจิตใจการแสดงส่วนประกอบต่างๆ นั้น ย่อมทำได้หลายแบบ สุดแต่วัตถุประสงค์จำเพาะของการแสดงแบบนั้นๆ

แต่ในที่นี้ จะแสดงแบบขันธ์ 5 ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในพระสูตรโดยวิธีแบ่งแบบขันธ์ 5 พุทธธรรมแยกแยะชีวิตพร้อมทั้งองคาพยพทั้งหมดที่บัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ออกเป็นส่วนประกอบต่างๆ 5 ประเภทหรือ5 หมวด เรียกทางธรรมว่า เบญจขันธ์(15) คือ 1. รูป ได้แก่ ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด ร่างกายและพฤติกรรมทั้งหมดของร่างกายหรือสสารและพลังงานเหล่านั้น

2. เวทนา ได้แก่ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ ซึ่งเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง 5 และทางใจ การเสวยอารมณ์ หรือการเสพรสของอารมณ์ คือ ความรู้สึกต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการรับรู้ เป็นความรู้สึกสุข สบาย ถูกใจ ชื่นใจ หรือทุกข์ บีบคั้น เจ็บปวด หรือไม่ก็เฉย ๆอย่างใดอย่างหนึ่งข้อที่ควรทำความเข้าใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกันเวทนา เพื่อป้องกันความสับสนกับสังขาร คือ เวทนาเป็นกิจกรรมของจิตในขั้นรับ กล่าวคือเกี่ยวข้องกับผลที่อารมณ์มีต่อจิตเท่านั้น ยังไม่ใช่ขั้นที่เป็นฝ่ายจำนงหรือกระทำต่ออารมณ์ ซึ่งเป็นกิจกรรมของสังขาร ดังนั้น คำว่า ชอบ ไม่ชอบ ชอบใจ ไม่ชอบใจ ตามปกติจะใช้เป็นคำแสดงกิจกรรมในหมวดสังขาร โดยเป็นอาการสืบเนื่องจากเวทนาอีกต่อหนึ่ง เพราะคำว่า ชอบ ไม่ชอบ ชอบใจ ไม่ชอบใจ แสดงถึงอาการจำนงหรือกระทำตอบต่ออารมณ์ ดังจะเห็นได้ในลำดับกระบวนธรรม

3. สัญญา ได้แก่ ความกำหนดได้ หรือหมายรู้ คือ กำหนดรู้อาการเครื่องหมายลักษณะต่างๆ อันเป็นเหตุให้จำอารมณ์นั้นๆ ได้ หมายถึง การหมายรู้หรือกำหนดรู้อาการของอารมณ์ เช่น ลักษณะ ทรวดทรง สี สัณฐาน ตลอดจนชื่อเรียก และสมมติบัญญัติต่างๆ ว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา การหมายรู้หรือกำหนดนั้น อาศัยการจับเผชิญ หรือ การเทียบเคียงระหว่างประสบการณ์หรือความรู้เก่ากับประสบการณ์หรือความรู้ใหม่ ถ้าประสบการณ์ใหม่ตรงกับประสบการณ์เก่า เช่น พบเห็นคนหรือสิ่งของที่เคยรู้จักแล้ว ได้ยินเสียงที่เคยได้ยินแล้วถ้าประสบการณ์ใหม่ไม่ตรงกับประสบการณ์เก่า เราย่อมนำเอาประสบการณ์หรือความรู้เก่าที่มีอยู่แล้วนั้นเองมาเทียบเคียงว่า เหมือนกัน และไม่เหมือนกันในส่วนไหน อย่างไร แล้วหมายรู้สิ่งนั้นตามคำบอกเล่าหรือตามที่ตนกำหนดเอาว่าเป็นนั่น เป็นนี่ ไม่ใช่นั่น ไม่ใช่นี่ อย่างนี้เรียกว่า กำหนดหมายหรือหมายรู้ เป็น 2 ระดับ คือ 1. สัญญาระดับสามัญ ซึ่งกำหนดหมายอาการของอารมณ์ที่เกิดขึ้นหรือเป็นไปอยู่ตามปกติธรรมดาของมันอย่างหนึ่ง และ2. สัญญาสืบทอด หรือสัญญาอย่างซับซ้อน ที่บางคราวก็ใช้คำเรียกให้ต่างออกไป เฉพาะอย่างยิ่ง ปปัญจสัญญา อันหมายถึงสัญญาเนื่องด้วยอารมณ์ที่คิดปรุงแต่งขึ้นให้ซับซ้อนพิสดารด้วยแรงผลักดันของตัณหามานะ และทิฏฐิซึ่งเป็นสังขารชั้นนำในฝ่ายร้ายอีกอย่างหนึ่งการแยกเช่นนั้นจะช่วยให้มองเห็นความหมายของสัญญาที่กำลังแสดงบทบาทอยู่ พร้อมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสัญญากับขันธ์อื่นภายในกระบวนธรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

4. สังขาร ได้แก่ องค์ประกอบหรือคุณสมบัติต่างๆ ของจิตมีเจตนาเป็นตัวนำ ซึ่งแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลาง ๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิดในใจ และการแสดงออกทางกายวาจา ให้เป็นไปต่างๆ เป็นที่มาของกรรม เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นต้น เรียกรวมอย่างง่ายๆ ว่าเครื่องปรุงของความคิดหรือเครื่องปรุงของกรรม หมายรวมทั้งเครื่องแต่งคุณภาพของจิตหรือเครื่องปรุงของจิต ซึ่งมีเจตนาเป็นตัวนำ และกระบวนการแห่งเจตจำนงที่ชักจูงเลือกรวบรวมเอาเครื่องแต่งคุณภาพเหล่านั้นมาประสบปรุงแต่งความนึกคิด การพูด การทำ ให้เกิดกรรมทางกาย วาจา ใจ

5. วิญญาณ ได้แก่ ความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง 5 และทางใจ คือ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่นการรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ แปลตามแบบว่า ความรู้แจ้ง คือ รู้แจ้งอารมณ์ หมายถึง ความรู้ประเภทยืนพื้นหรือความรู้ที่เป็นตัวยืนเป็นฐานและเป็นทางเดินให้แก่นามขันธ์อื่นๆ เกี่ยวข้องกับนามขันธ์อื่นทั้งหมด เป็นทั้งความรู้ต้น และความรู้ตาม ที่ว่าเป็นความรู้ต้น คือ เป็นความรู้เริ่มแรก เมื่อเห็น ได้ยิน (เกิดวิญญาณขึ้น) จึงจะรู้สึกชื่นใจ หรือบีบคั้นใจ (เวทนา) จึงจะกำหนดได้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (สัญญา) จึงจะจำนงตอบ และคิดปรุงแต่งไปต่างๆ (สังขาร) เช่น เห็นท้องฟ้า(วิญญาณ) รู้สึกสบายตาชื่นใจ (เวทนา) หมายรู้ว่า ท้องฟ้า สีคราม สดใส ฟ้าสวย (สัญญา) ขันธ์ 4 ข้อหลัง คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นพวกนามขันธ์สิ่งที่เราเรียกว่า สัตว์หรือบุคคลประกอบด้วยขันธ์ 5 และเมื่อนำขันธ์ 5 นี้มาวิเคราะห์ และตรวจสอบแล้วไม่มีสิ่งใดอยู่เบื้องหลังที่สามารถยึดถือได้ว่าเป็น เรา ตัวตนหรือเป็นแก่นสารที่คงทน ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แบบนี้เป็นวิธีอธิบายในเชิงวิเคราะห์ผล เช่น เดียวกันนั้นก็สรุปได้เมื่อใช้กับหลักปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นการใช้วิธีอธิบายเป็นเชิงสังเคราะห์ และตามหลักการนี้ คือ ทฤษฎีสัมพันธภาพของพุทธศาสนาเถรวาท พุทธศาสนาเถรวาทเรียกสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ว่า สังขาร แปลว่า สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งขึ้น แม้ในตัวของเราคนหนึ่งนี้ก็เรียกว่า สังขาร แบ่งสังขารร่างกายออกเป็น 5 กอง เรียกว่า เบญจขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ รวมเรียกว่า กองหรือขันธ์

สรุปได้ว่า ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณย่อลงได้ 2 กอง คือ รูป คงเรียกว่า กองรูปหรือรูปขันธ์ ส่วน เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ รวมเรียกว่า กองนาม หรือ นามขันธ์ พระพุทธเจ้าทรงวางหลักคำสอนลงในคน คือ ลงในรูปกับนามนี้เอง ถ้าจิตของคนเข้าไปยึดถือรูปนามว่า เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา ว่าเป็นเขา เป็นของเขา ผลของการยึดถือที่ให้เกิดความทุกข์ ดังพระพุทธวจนะในอนัตตลักขณสูตร(16) ว่า สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา โดยสรุปแล้ว การเข้าไปยึดถือในขันธ์ 5 เป็นตัวทุกข์เราไม่ต้องการทุกข์ก็ต้องถอนอุปาทานนั้น ก็จะต้องเริ่มต้นจากการปล่อยวางเสียสละตั้งแต่ทรัพย์สินภายนอกด้วยทาน เสียสละความสะดวกสบายหรือความสุขส่วนตัวด้วยการรักษาศีล แล้วถอนอุปาทานที่ละเอียดในใจด้วย การเจริญสมถ และวิปัสสนาภาวนา สามารถยกขันธ์ 5 ขึ้นสู่ไตรลักษณ์ พิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงจากจิตจริงๆ ว่า ขันธ์ 5 นั้น ตกอยู่ในสามัญญลักษณะ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราก็จะถอนอุปาทานในขันธ์ 5 ได้

ไฟ ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตายร่างกายของเราไม่เคยหยุดการทำงานเลยแม้แต่นาทีเดียว ร่างกายของมนุษย์เกิดจากการรวมตัวกันอย่างสลับซับซ้อนของหน่วยชีวิต มากกว่า 50,000 ล้านหน่วย มีเซลล์ชนิดต่างๆ ประมาณ 200 ชนิด รวมทั้งเซลล์ประสาท และเซลล์ที่มีหน้าที่เฉพาะอย่าง เซลล์ที่ทำงานคล้ายคลึงกันจะรวมเข้าด้วยกันเป็นเนื้อเยื่อ เช่น เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อประสาท ส่วนเนื้อเยื่อก็รวมกลุ่มกันอีกเป็นอวัยวะต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของร่างกายที่แยกกันออกไป เช่น ปอด หัวใจ ตับ และไต อวัยวะจะทำงานรวมกันเป็นระบบแต่ระบบมีหน้าที่หลักที่สำคัญ

คำสอนทางพุทธศาสนาเถรวาทมีการกล่าวอ้างเอาไฟหรือธาตุไฟมาเป็นเครื่องมือในการสอนธรรมแก่พุทธบริษัททั้งหลาย โดยแยกเป็นประเภทได้ ดังนี้ คำสอนเรื่องไฟเปรียบกับความชั่วที่จำต้องละเว้น ทำลายให้หมดสิ้นเป็นคำสอนที่มุ่งเน้นให้พุทธบริษัทกำจัดกิเลสอันเป็นต้นตอของความทุกข์ โดยยกเอาไฟมาเปรียบเทียบว่า เป็นสิ่งชั่วร้าย เช่น เปรียบอกุศลมูล รากเง้าของความชั่วว่าเป็นไฟ (อัคคิ ไฟ 3) ที่เผาไหม้สรรพสัตว์ตลอดเวลา 1. ราคัคคิ ไฟ คือ ราคะ, 2. โทสัคคิ ไฟ คือ โทสะ และ3. โมหัคคิ ไฟ คือ โมหะ(17)

ไฟ หมายถึง สิ่งที่มีการแผดเผา ทำให้เกิดความเร่าร้อนจนถึงกับทำลายล้างสิ่งต่างๆ ลงไป พระพุทธเจ้าทรงอุปมากิเลสทั้ง 3 กอง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ว่ามีลักษณะเหมือนกับเป็นไฟ เพราะเมื่อกิเลสทั้ง 3 กองนี้ กองใดกองหนึ่ง เกิดขึ้นภายในใจของบุคคล จะแผดเผาก่อให้เกิดความเร่าร้อนขึ้นภายในจิตใจ ถ้าหากว่าความรู้สึกที่ประกอบด้วย ราคะ โทสะ โมหะ รุนแรงก็แสดงออกมาในรูปของการล้างผลาญทำลายทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง เป็นพฤติกรรมที่เรียกว่า ทุจริตทั้งหลายในโลกนี้

ราคัคคิ ได้แก่ ความรู้สึกที่เกิดความกำหนัด รักใคร่ ยินดี ที่เกิดขึ้นจากการกำหนดอารมณ์ที่ตนได้ประสบ ว่ารูปสวย เสียไพเราะ กลิ่นหอมรสอร่อย โผฏฐัพพะน่าจับต้อง มีความมุ่งมาดปรารถนา ที่จะได้สิ่งเหล่านั้นมาไว้ภายในครอบครองของตน การเกิดขึ้นนั้น อาจจะเกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ผ่านมาในขณะนั้นๆ บุคคลไปกำหนดโดยลักษณะดังกล่าวหรืออาจจะเกิดจากการเหนี่ยวนึกขึ้นภายใน นึกถึงรูปที่สวย เสียงไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สิ่งที่น่าจับต้องในอดีตที่ตนเก็บไว้ภายในใจ ซึ่งกลายเป็นธาตุ เป็นเชื้อที่มีอยู่ภายในใจ บุคคลจะมีการจำหมายว่า รูปอย่างนั้นสวยเสียงอย่างนี้ไพเราะ กลิ่นอย่างนั้นหอม รสอย่างนี้อร่อย สิ่งอย่างนั้นน่าจับ ต้อง แล้วก็จะคิดถึง ตรึกนึกถึง หมกมุ่นครุ่นคิดในเรื่องเหล่านั้น จนก่อให้เกิดความเร่าร้อนขึ้นภายในใจ คือ มีความต้องการที่จะได้สิ่งเหล่านั้นไว้ในครอบครอง เมื่อความรู้สึกแรงขึ้นก็จะกลายเป็นความเร่าร้อนภายในใจ เผาลนใจของบุคคล ถ้าหากว่าเกิดขึ้นมากก็จะเผาลนมากจนจิตใจกระสับกระส่ายเร่าร้อน บุคคลสามารถสังเกตได้ว่า เมื่อใจไปตรึกนึกถึงอารมณ์ในลักษณะนี้ก็จะทำให้ไขว่คว้าปรารถนา จนถึงเป็นการแสวงหา ถ้าความรู้สึกกำหนัดรุนแรงก็ออกมาในลักษณะของการประพฤติผิด ในทางประเวณี เป็นต้น จากนั้นก็อาจจะถึงกับมีการต่อสู้กัน ประหัตประหารกัน เพลิงราคะก็แผดเผาจิตใจจนถึงกับเสียอวัยวะ ชีวิต ร่างกายของบุคคลนั้นในที่สุด

โทสัคคิ ไฟ คือ โทสะ ได้แก่ ความเร่าร้อนที่เกิดขึ้นเพราะความไม่ยินดีไม่พอใจ ความหงุดหงิด ความโกรธ คือ ความอาฆาต พยาบาท โดยกำหนดหมายรูปว่าไม่ดี เสียงไม่ไพเราะกลิ่นไม่หอม รสไม่อร่อย สิ่งนั้นไม่น่าจับต้อง แล้วก็จะตรึกด้วยความไม่พอใจ ไม่ยินดีในสิ่งเหล่านั้น บางครั้งอาจจะกระจายออกไปอย่างที่ทรงแสดงในรูปของ อาฆาตวัตถุ คือ วัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาตพยาบาท เช่น คิดว่าคนนั้นเคยทำอันตรายแก่เรา คนนั้นได้เคยทำอันตรายต่อญาติมิตรของเรา คนนั้นได้เคยทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ศัตรูของเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว แต่ก็นำมาคิดด้วยความโกรธ ความไม่พอใจ บางครั้งก็จะคิดว่าคนนั้นกำลังจะทำอันตรายต่อเรา คนนั้นกำลังทำอันตรายต่อญาติมิตรของเรา คนนั้นกำลังทำประโยชน์เกื้อกูลแก่คนที่เป็นศัตรูของเรา ความโกรธเกิดขึ้นเพราะปรารภการกระทำของบุคคลอื่นในขณะปัจจุบัน และซ้ำร้ายไปยิ่งกว่านั้นบางครั้งจะมีการคิดในลักษณะของการคาดหมายว่าคนนั้นอาจจะทำอันตรายต่อเรา คนนั้นอาจจะทำอันตรายต่อญาติมิตรของเรา คนนั้นอาจจะทำประโยชน์เกื้อกูลแก่คนที่เป็นศัตรูของเรา จากนั้น ไฟ คือ ความโกรธ ความประทุษร้าย ความอาฆาตพยาบาท ก็จะเกิดขึ้นเผาลนใจของบุคคล

โมหัคคิ ไฟ คือ โมหะ จะสำแดงตัวออกมาในลักษณะของความเซื่องซึม หงอยเหงา ท้อถอย หดหู่ จนถึงกับรู้สึกชาเย็นในอารมณ์ทั้งหลาย บางครั้นก็จะออกมาในรูปของความฟุ้งซ่านซัดส่ายไปของจิตใจ บางครั้งก็ออกมาในรูปของความไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องต่างๆ จนถึงกับไม่รู้ว่าอะไรเป็นบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ไม่ใช่ประโยชน์ไฟทั้ง 3 ประการนี้ ไฟ คือ ราคะ มีโทษน้อยแต่คลายได้ช้า เกิดขึ้นแล้วจะเป็นสนิมใจกัดกร่อนใจอยู่เป็นเวลานาน ไฟ คือ โทสะ มีโทษมากแต่คลายได้เร็ว ซึ่งจะสังเกตได้ว่า เวลาเกิดความโกรธขึ้นมา คนนั้นจะโกรธอยู่นานไม่ได้ ความโกรธจะเริ่มลดแต่ถ้าปริมาณความโกรธแรง คนหยุดความโกรธไว้ไม่ได้ จะทำจะพูดออกมาในลักษณะที่รุนแรง ความเดือดร้อนก็จะเกิดขึ้นติดตามมา ส่วนไฟ คือ โมหะ นั้นเป็นความหลง ความงมงาย ความไร้เหตุผล มีโทษมากจนถึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ และจะหายไปจากจิตใจของบุคคลได้ช้าที่สุด

พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกประเภทของราคะออกเป็น 2 สาย คือ ราคะกับโลภะ ราคะตามปกติแล้วจะทรง สอนบรรชิต โลภะจะสอนฆราวาสเป็นหลักซึ่งเป็นกิเลสประเภทไขว่คว้าปรารถนาแสวงหาที่จะได้สิ่งต่างๆ มาไว้ในครอบครอง อย่างเดียวกันกิเลสทั้ง 3 กองนี้ ทรงสอนสำหรับชาวบ้านในชั้นของการบรรเทา คือ ลดความ รุนแรงของกิเลสลงไป ซึ่งก็เปรียบเหมือนไฟที่มีคุณอนันต์ แต่มีโทษมหันต์การที่ไฟจะมีคุณหรือโทษนั้น อยู่ที่บุคคลสามารถควบคุมไฟได้ ก็ใช้ประโยชน์จากไฟได้ แต่ยามใดที่บุคคลคุมไฟไม่ได้ ไฟก็จะลุกไหม้ เป็นพิษ เป็นภัย เป็นอันตรายต่อทรัพย์สิน ชีวิต ร่างกายของบุคคล ไฟ คือ กิเลส ซึ่งแยกออกเป็น ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน

ราคะ คือ เรื่องของการครองเรือน ชีวิตคู่ ถ้าหากว่ารุนแรงเกินไปก็จะมีการผิดศีลข้อที่ 3 ถ้าแต่ละฝ่ายไม่มีความรุนแรงก็สามารถครองเรือน ครองสุขกันได้ แต่ให้เจือจางเบาบางลงไป ใจของบุคคลก็จะถ่ายถอนออกจากการครองเรือน แสวงหาความสุขด้วยการออกบวช

โลภะ เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมุ่งเสริมสร้างสถานะของตนเองให้มั่งคั่งร่ำรวยในทรัพย์สมบัติ พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้ขั้นบรรเทาอย่าให้ถึงกับโลภ อยากได้ของของบุคคลอื่นแต่บุคคลสามารถใช้ความเพียรพยายามกำลังสติ กำลังทรัพย์ กำลังความคิด กำลังเงินของตน เพื่อสร้างสถานะความร่ำรวยได้ ตราบใดที่ยังไม่ไปละเมิดในทางทรัพย์สินผลประโยชน์ของบุคคลอื่นตราบนั้นก็ยังชื่อว่า อยู่ในขอบข่ายของศีลธรรม

โทสะ ไม่ได้หมายความเฉพาะความโกรธเท่านั้น แม้ความที่จิตใจไม่ปลอดโปร่ง ไม่แช่มชื่น ขุ่นมัว ก็ชื่อว่าโทสะ แต่เป็นโทสะที่ไม่รุนแรง ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน แต่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ไม่สบายใจ แม้ความริษยาไม่อยากเห็นใครได้ดีหรือดีกว่า ก็อาศัยความไม่ชอบใจเช่นกันความโกรธนั้นเกิดขึ้น เพราะได้กระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจ เมื่อเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้ว ผู้นั้นย่อมลืมตัว ลงมือทำในสิ่งที่ไม่เคยทำได้ ความโกรธปิดบังปัญญาเสียสิ้น ขาดการพิจารณาว่า อะไรถูก อะไรควร หากความโกรธนั้นรุนแรง ก็อาจฆ่าพ่อฆ่าแม่ ทำร้ายผู้มีพระคุณย่อมฆ่า และทำร้ายได้แม้ตนเอง ตลอดจนทำอะไรที่ร้ายแรงเป็นบาปอกุศลได้ทั้งสิ้น(18)

โมหะ คือ เป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วขณะในจิตใจมนุษย์ที่หลงผิดคิดว่า สิ่งนี้เท่านั้นถูก สิ่งนั้นผิดสิ่งนี้ควร สิ่งนี้ไม่ควรเป็นอาการที่ใจไม่รู้ ไม่ยอมรับรู้ ความถูกต้องของสิ่งใดๆ เป็นเหมือนความมืดที่ปิดบังปัญญาไว้ เป็นสาเหตุให้ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี โมหะมีมูลเหตุมาจากอวิชชา ความไม่รู้เหตุไม่รู้ผลอันแท้จริง โมหะ เข้าครอบงำจิตใจใครเข้าแล้วทำให้เป็นคนชอบเสี่ยง เชื่อง่าย เชื่อโชคลาง เชื่อพรหมลิขิต ทำให้คนทะเลาะกัน ทำให้เป็นคนงมงาย เอาชีวิตฝากไว้กับโชคลาง และดวงดาวต่างๆ

สรุปได้ว่า ไฟทั้งสามประการนี้ ในชั้นของการครองเรือน ครองสุขทรงสอนให้บรรเทาคือ ลดความรุนแรง แต่ว่าในขั้นของการประพฤติปฏิบัติธรรมะเบื้องสูงขึ้นไปนั้น ทรงสอนให้บุคคลพยาบาทบรรเทา พยายามระงับพยายามดับ พยายามละไปโดยลำดับ จนถึงหมดสิ้นไปในที่สุด(19)

ในอาทิตตปริยายสูตร(20) พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงแก่เหล่าพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีเนื้อความที่แสดงให้ทราบว่าการยึดถืออย่างผิด ๆ ว่าตน ของตนถือว่าเป็นของร้อนเปรียบได้กับไฟอันร้อนแรง 3 กอง ดังพระพุทธพจน์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ก็อะไรเล่าชื่อว่าสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็นของร้อน รูปทั้งหลายเป็นของร้อน วิญญาณอาศัยจักษุเป็นของร้อน สัมผัสอาศัยจักษุเป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์เป็นสุขเป็นทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้นั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร เรากล่าวว่าร้อนเพราะไฟ คือ ราคะ เพราะไฟ คือ โทสะ เพราะไฟ คือ โมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และความตาย ร้อนเพราะความโศก เพราะความรำพัน เพราะทุกข์กายเพราะทุกข์ใจ เพราะความคับแค้นฯ(21) แม้หู จมูก ลิ้น กาย และใจก็มีนัยเหมือนกันตาว่าเป็นของร้อนที่เกิดจากการยึดมั่นถือมั่นที่ผิดๆ มาปรุงแต่ง ทำให้ชีวิตต้องประสบกับความทุกข์ร่ำไป เปรียบดังความร้อนของไฟที่แผดเผากายใจของสรรพสัตว์ผู้ตกเป็นทาสของราคะ โทสะ และโมหะ อันเป็นที่มาของทุกข์ด้วยการเกิด แก่ เจ็บ และตายในสังสารวัฏอันยาวนาน

ใจความแห่งอริยสัจ 4 ว่าด้วยทุกขสัจ(22) ได้แสดงความทุกข์ของสรรพสัตว์ผู้ยังวนเวียนเกิดตายในห้วงอวิชชาว่ามีอยู่ 10 ประการ ได้แก่ 1. สภาวะทุกข์หรือทุกข์ประจำสังขาร เช่น เกิด แก่ เจ็บ และ ตาย, 2. ปกิณณกทุกข์หรือทุกข์จร เช่น ความเศร้าโศก ความเสียใจ เป็นต้น, 3. นิพัทธทุกข์ หรือทุกข์เนืองนิตย์ เช่น หนาว ร้อน ปวดท้อง เป็นต้น, 4. พยาธิทุกข์ หรือทุกขเวทนา มีประเภทต่างๆ ตามสมุฏฐาน คือ อวัยวะอันเป็นเจ้าการไม่ทำหน้าที่โดยปกติ, 5. สันตาปทุกข์ ทุกข์ คือ ความร้อนรุ่ม หรือทุกข์ร้อน ได้แก่ ความกระวนกระวายใจ เพราะถูกไฟ คือ กิเลส ราคะ โทสะ โมหะเผา, 6. วิปากทุกข์ หรือผลกรรม ได้แก่ วิปปฏิสาร คือ ความร้อนใจ, 7. สหคตทุกข์ ทุกข์ไปด้วยกันหรือทุกข์กำกับกัน ได้แก่ ทุกข์มีเนื่องมาจากวิบุลผล ดังแสดงในโลกธรรมสูตร(23) ว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มีทุกข์ละอย่างๆ คือ เมื่อมีลาภ ได้แก่ ทรัพย์สมบัติแล้ว ต้องคอยเฝ้าระวังรักษาเพื่อไม่ให้เสียหาย จนไม่เป็นอันหลับอันนอนได้โดยปกติต้องเสียชีวิตในการป้องกันทรัพย์ก็มี เป็นต้น, 8. อาหารปริเยฏฐิทุกข์ คือ ทุกข์ในการหากิน, 9. วิวาทมูลกทุกข์ คือ ทุกข์มีวิวาทเป็นมูล เนื่องมาจากทะเลาะกัน เป็นต้น และ10. ทุกขขันธ์ หรือทุกข์รวบยอด หมายเอาสังขาร คือ ประชุมเบญจขันธ์นั่นเอง

ไฟเปรียบกับสิ่งที่น่ากลัว พึงหลีกเว้นเสียให้ไกล เป็นคำสอนที่มุ่งเน้นให้พุทธบริษัทพึงหลีกเว้นเพราะสามารถนำมาซึ่งภัยอันตรายได้โดยยกเอาไฟมาเปรียบเทียบว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย เช่น ในอาสีวิสสูตร พระพุทธเจ้าตรัสแก่เหล่าพระภิกษุสงฆ์ว่า ครั้งนั้น บุรุษนั้นกลัวอสรพิษทั้ง 4 กลัวเพชฌฆาตทั้ง 5 กลัวเพชฌฆาตคนที่ 6 และกลัวโจรผู้คอยฆ่าชาวบ้าน จึงหนีไปในที่อื่น เขาไปพบห้วงน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ฝั่งข้างนี้น่ารังเกียจ เต็มไปด้วยภัยอันตราย ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัย เรือแพ หรือสะพานที่จะข้ามไปฝั่งโน้นไม่มีฯ ครั้งนั้น บุรุษนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ห้วงน้ำนี้ใหญ่นัก ฝั่งข้างนี้เป็นที่น่ารังเกียจ เต็มไปด้วยภัยอันตราย ฝั่งข้างโน้นเป็นที่เกษมปลอดภัยเรือแพหรือสะพานที่จะข้ามไปฝั่งโน้นก็ไม่มี ผิฉะนั้น เราควรจะมัดหญ้ากิ่งไม้ และใบไม้ผูกเป็นแพ เกาะแพนั้น พยายามไปด้วยมือ และด้วยเท้า ก็พึงถึงฝั่งโน้นได้โดยความสวัสดี ครั้นแล้ว บุรุษนั้นทำตามความคิดของตน ก็ว่ายข้ามฟากถึงฝั่งข้างโน้นแล้ว เป็นพราหมณ์ขึ้นบกไปฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้ออุปมานี้ เราสมมติขึ้นเพื่อจะให้รู้เนื้อความโดยง่ายในข้อนั้นมีเนื้อความดังนี้ คำว่า อสรพิษที่มีฤทธิ์แรงกล้าทั้ง 4 จำพวกนั้น เป็นชื่อแห่งมหาภูตรูป 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม คำว่าเพชฌฆาตทั้ง 5คนที่เป็นข้าศึกนั้น เป็นชื่อแห่งอุปาทานขันธ์ 5 คือ รูปขันธ์เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ คำว่าเพชฌฆาตคนที่ 6 ซึ่งเที่ยวไปในอากาศเงื้อดาบอยู่นั้น เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ คำว่า บ้านร้างนั้น เป็นชื่อแห่งอายตนะภายใน 6ฯ(24)

ในอรกานุสาสนีสูตร พุทธศาสนาเถรวาทได้เปรียบเทียบชีวิตว่าเป็นเหมือนสิ่ง 7 สิ่ง กล่าวคือ ชีวิตของมนุษย์นั้นเกิดมาแล้วย่อมต้องตาย ช่วงมีชีวิตมนุษย์อยู่นั้นสั้นมีประมาณนิดหน่อย เปลี่ยนแปลงเร็ว มีทุกข์มาก มีความตายรออยู่ข้างหน้า ได้แก่ 1. ชีวิตมนุษย์อุปมาเหมือนหยาดน้ำค้าง เป็นชีวิตที่สั้น มีประมาณนิดหน่อยมีทุกข์มาก, 2. อุปมาเหมือนฝนตกหนัก มีฟองน้ำที่ตั้งขึ้น ย่อมแตกกระจายไม่ได้เร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน, 3. อุปมาเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำไม่ตั้งอยู่นานฉะนั้น, 4. อุปมาเหมือนน้ำที่ไหลลงจากภูเขา มีกระแสเชี่ยวกราดฉะนั้น, 5. อุปมาเหมือนก้อนน้ำลายที่จะพึงถ่มไปได้โดยง่าย ดับง่าย ตายง่าย, 6. อุปมาเหมือนก้อนเนื้อที่ถูกไฟเผาอยู่ตลอดวัน ตั้งอยู่ไม่นาน และ7. อุปมาเหมือนแม่โคที่ถูกเขาต้อนไปสู่ที่ฆ่าฉะนั้น(25)

สรุปได้ว่า การอุปมาชีวิตทั้ง 7 ข้อข้างต้นแจ่มชัดแล้วว่า ชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันสั้นนัก ไม่ควรเลยที่มนุษย์จะพากันประมาทและแสวงหาวัตถุนอกกายมากกว่าคุณงามความดี ซึ่งถือเป็นสมบัติที่แท้จริงของมนุษย์ ดังพระพุทธพจน์ว่า ชีวิตนี้น้อยหนอ มนุษย์ย่อมตายภายในร้อยปี แม้หากว่ามนุษย์ใดย่อมเป็นอยู่เกินไป มนุษย์ผู้นั้นย่อมตาย เพราะชราโดยแท้แลฯ(26) อายุของพวกมนุษย์น้อย บุรุษผู้ใคร่ความดี พึงดูหมิ่นอายุที่น้อยนี้ พึงรีบประพฤติให้เหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น เพราะความตายจะไม่มาถึงมิได้มี วันคืนย่อมล่วงเลยไป ชีวิตก็กระชั้นเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลายย่อมสิ้นไป เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อยย่อมสิ้นไป ฉะนั้นฯ(27)

ไฟ ยังถูกนำไปประกอบกับสิ่งต่างๆ อีกเช่น บ้านเรือน โดยเปรียบคนพาล (คนชั่วว่ามีสภาพเหมือนกับบ้านเรือนที่ไฟไหม้ จะอยู่อาศัยก็ไม่มีความสุข มีแต่นำความทุกข์มาให้ ดังคำอธิบายว่า คนพาลทั้งหลาย อันผู้มีปรีชา พึงทราบว่าเป็นเหมือนเรือนที่ถูกไฟไหม้ ด้วยว่า คนพาลเหล่านั้น เป็นผู้สามารถในการนำทุกข์มีภัยเป็นต้นทุกชนิดมาให้ แก่บุคคลทั้งหลายผู้ทำตามคำของตนฯ(28)

ในมงคลัตถทีปนี แปล เล่ม 4 กล่าวเปรียบไฟไม่สามารถให้เต็มอิ่มได้ เปรียบกับบุคคลผู้มีความมักมากไม่รู้จักพอไว้ดังนี้จริงอยู่ สภาพ 3 อย่าง อันใครๆ ไม่อาจจะให้เต็มได้ คือ ไฟไม่อาจให้เต็มได้ด้วยเชื้อ มหาสมุทรไม่อาจให้เต็มได้ด้วยน้ำ คนมักมาก ไม่อาจให้เต็มได้ด้วยปัจจัยทั้งหลายฯ(29)

ไฟเปรียบกับความดีที่จำต้องปฏิบัติ พุทธศาสนาเถรวาทกล่าวถึงไฟ 3 กอง ที่มวลมนุษย์พึงทำการบูชา พึงปรนนิบัติให้ดีตามสมควรแก่ฐานะความเป็นอยู่ ได้แก่ 1. ไฟ คือ มารดาบิดาที่ควรเคารพบูชา (อาหุเนยฺยคฺคิ), 2. ไฟ ที่ควรแก่ทักษิณา ได้แก่ สมณพราหมณ์ (ทกฺขิเณยฺยคฺคิ) และ3. ไฟ คือ บุตรภรรยา และคนในปกครอง (คหปตคฺคิ)(30)

ไฟ ประเภทที่ 1 คือ มารดาบิดาที่ควรเคารพบูชา (อาหุเนยฺยคฺคิ) ผู้ที่บุตรธิดาพึงทำการบูชาปฏิบัติต่อท่านทั้งสองให้อยู่ดีกินดี มีความยำเกรง เชื่อฟังคำสอนของท่าน ดังพระพุทธพจน์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มารดาและบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูลเหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้น ชื่อว่า มีพรหม มารดา และบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูลเหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้น ชื่อว่า มีบุรพาจารย์ มารดาและบิดา เป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูลเหล่าใด บูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้นชื่อว่ามีบุรพเทพ มารดาและบิดาเป็นผู้อันบุตรทั้งหลายของตระกูลเหล่าใดบูชาแล้วภายในเรือน ตระกูลเหล่านั้นชื่อว่า มีอาหุเนยยบุคคล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า พรหมบุรพาจารย์ บุรพเทพอาหุเนยยบุคคล นี้เป็นชื่อของมารดา และบิดา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะมารดา และบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้ประคบประงมเลี้ยงดูบุตร เป็นผู้แสดงโลกนี้แก่บุตรฯ(31)

พุทธพจน์ที่แสดงถึงไฟ ประเภทที่ 1 อาหุเนยยัคคิบุคคลข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของบิดามารดาว่า ประกอบด้วยบทบาท และหน้าที่ในการเลี้ยงดูอบรมบุตรธิดาด้วยฐานะ 4 ประการ ได้แก่

1. เป็นพระพรหมของบุตรธิดา ผู้สร้างชีวิตของบุตรธิดา ด้วยการแสดงโลก นำเสนอโลกนี้แก่บุตรธิดาอย่างถูกต้องอันจะเป็นพื้นฐานสำหรับเตรียมบุตรธิดาให้พร้อมที่จะเข้าสู่สังคม และเลี้ยงลูกด้วยคุณธรรม คือ พรหมวิหารครบ 4 ประการ ได้แก่ - เมตตา ความรักใคร่ ความปรารถนาจะให้เป็นสุข มิใช่รักเกี่ยวข้องกับกามราคะ, - กรุณา ความหวั่นใจ ความสงสาร, - มุทิตา ความบันเทิงหรือเบิกบานใจ และ- อุเบกขา ความวางเฉย(32) ที่ว่าเป็นพรหม ก็เพราะบิดามารดามีพรหมวิหารทั้ง 4 ในบุตร เช่น - ปรารภถึงบุตรในครรภ์ว่าเมื่อไรจะได้เห็นบุตรซึ่งหาโรคมิได้หนอ ดังนี้ ได้แก่เมตตา, - เมื่อบุตรยังอ่อนอยู่ เหลือบยุงเป็นต้นกัด นอนหลับยากหรือร้องไห้ ความสงสารก็เกิดขึ้นแก่บิดามารดา ดังนี้ ได้แก่ กรุณา, - เมื่อเห็นบุตรวิ่งเล่นไปมาได้หรือเมื่อตั้งอยู่ในวัยอันงาม ก็ย่อมมีจิตเบิกบาน ดังนี้ ได้แก่ มุทิตา และ- เมื่อบุตรธิดา มีภรรยา และสามี อยู่ครองเหย้าเรือนต่างหากแล้ว ความวางเฉยย่อมมีแก่บิดามารดาด้วยเหตุเห็นบุตรสามารถตั้งตนได้แล้ว ดังนี้ ได้แก่ อุเบกขา(33), 2. เป็นบุรพเทพของบุตรธิดา เพราะท่านคอยป้องกันคุ้มภัย และคอยเอาใจใส่ ไม่ให้บุตรธิดาได้รับอันตรายใดๆ ทุกอย่างทุกประการ ท่านเลี้ยงดูมาก่อนผู้มีความปรารถนาดีคนอื่นๆ, 3. เป็นบุรพาจารย์ของบุตรธิดา เป็นครูอาจารย์คนแรก ผู้สอนความรู้พื้นฐานในการดำเนินชีวิต และ4. เป็นอาหุไนยบุคคลหรือพระอรหันต์ของบุตรธิดา โดยมีความสุจริตบริสุทธิ์ใจต่อลูก และเป็นตัวอย่างในทางคุณธรรมความดีงามควรค่าแก่การเคารพบูชาของบุตรธิดา

บุตรพึงปฏิบัติชอบต่อบิดามารดา 5 ประการ ได้แก่ 1. ท่านได้เลี้ยงเรามาแล้ว เราเลี้ยงท่านตอบ, 2. ช่วยทำงานให้ท่าน, 3. สืบทอดวงศ์ตระกูล, 4. ประพฤติตนให้เป็นคนควรรับทรัพย์มรดก และ5. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

บิดามารดาพึงปฏิบัติต่อบุตรธิดา 5 ประการ ได้แก่ 1. ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว, 2. สอนให้ตั้งอยู่ในความดี, 3. ให้ศึกษาศิลปะวิทยาการต่างๆ, 4. หาคู่ครองที่เหมาะสมให้ และ5. มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันสมควร(34)

ไฟ ประเภทที่ 2 ได้แก่ สมณพราหมณ์ ที่ควรแก่ทักษิณา (ทักขิเณยยัคคิบุคคล)ในสิงคาลกสูตร พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงบทบาทหน้าที่ของพระภิกษุและชาวบ้านที่ต้องปฏิบัติต่อกันจึงจะได้ชื่อว่า ได้ช่วยกันรักษาสถาบันพระพุทธศาสนาเถรวาทให้มั่นคงไว้ได้ กล่าวคือ พระองค์ทรงจัดพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นทิศเบื้องบน (อุปริมทิศ) ได้แก่ พระภิกษุสามเณร ชาวบ้านพึงปฏิบัติบำรุงท่านด้วยหลัก 5 อย่าง ดังนี้ 1. จะทำอะไรต่อท่านก็ทำด้วยเมตตา, 2. จะพูดสิ่งใดก็พูดด้วยเมตตา, 3. จะคิดสิ่งใดก็คิดด้วยเมตตา, 4.ไม่ปิดประตู คือ ไม่ห้ามไม่ให้เข้าบ้าน และ5. ให้อามิสทาน คือ สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค

ฝ่ายพระภิกษุสามเณรเองเมื่อได้รับบำรุงเช่นนี้จากชาวบ้านแล้ว ก็ต้องอนุเคราะห์ชาวบ้านทั้งหลายด้วยหลัก 5 อย่าง ดังนี้ 1. สอนห้ามมิให้ทำความชั่ว, 2. สอนให้ตั้งอยู่ในความดี, 3. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจที่งาม, 4. ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง หรือที่ฟังแล้วให้แจ้งชัดขึ้น และ5. บอกทางสวรรค์ให้ คือ สอนให้ทำความดี เช่น ให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น(35)

ทิศที่ 6 นี้จัดเป็นทิศที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมแรง เสียสละทั้งฝ่ายพระสงฆ์ และชาวบ้านอย่างมากทีเดียวจึงจะสามารถดำรงพุทธศาสนาไว้ได้ ขณะที่ชาวบ้านอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ด้วยปัจจัย 4 โดยตั้งจิตกุศล มุ่งหมายใจจะทำวัดให้ดีเป็นแหล่งนาบุญ และเปิดประตูทั้งประตูบ้าน และประตูใจที่จะรับพระธรรมคำสอน พระสงฆ์ก็ตั้งจิตอนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงามคิดหวังให้ชุมชนหรือหมู่บ้านอยู่กันด้วยดีมีความสุข ปราศจากการเบียดเบียน และใส่ใจให้ความรู้แนะนำสั่งสอนพ่อบ้านแม่เรือน และลูกหลานของเขาให้เจริญงอกงามในบุญที่จะทำชีวิตให้ดี มีความสัมพันธ์อันเกื้อกูล แต่ไม่เลยเถิดจนกลายเป็นคลุกคลี(36)

ไฟ ประเภทที่ 3 คือ บุตรภรรยา และคนในปกครอง (คหปตคฺคิ) ส่วนสามีภรรยาพึงปฏิบัติต่อกันตามหลักปฏิบัติ ดังนี้

สามีพึงปฏิบัติชอบต่อภรรยา 5 ประการ ได้แก่ 1. ยกย่องให้เกียรติในฐานะที่เป็นภรรยา, 2. ไม่ดูหมิ่นดูแคลน, 3. ไม่นอกใจ, 4. มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้ และ5. ให้เครื่องประดับตามโอกาสอันควร

ภรรยาพึงปฏิบัติชอบต่อสามี 5 ประการ ได้แก่ 1. จัดการงานบ้านให้เรียบร้อย, 2. สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งฝ่ายสามีและฝ่ายตนด้วยดี, 3. ไม่นอกใจ, 4. รักษาทรัพย์สมบัติที่สามีหามาไว้ด้วยดี และ5. ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานทั้งปวง(37)

หลักธรรมตามทิศ 6 นี้ หากสามารถปฏิบัติตามได้ ก็จะเป็นพื้นฐานที่ดีต่อการปฏิบัติธรรมอื่นๆ ได้ง่าย ดังนั้น หลักธรรมอันเป็นเครื่องเชื่อมโยงยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในสังคมให้เกิดความสัมพันธ์ประสานจิตใจเป็นหนึ่งเดียว (สังคหวัตถุ 4) ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ ได้แก่ 1. สงเคราะห์กันด้วยปัจจัย 4 (ทาน), 2. พูดจากันด้วยคำสุภาพไพเราะ เป็นประโยชน์ (ปิยวาจา), 3. ทำประโยชน์ต่อส่วนรวมร่วมกัน (อัตถจริยา) และ4. รู้จักวางตนให้ถูกต้องตามฐานะ โอกาส สถานที่ (สมานัตตตา)(38)

สรุปได้ว่า ไฟทั้ง 3 กองที่มนุษย์พึงทำการบูชา พึงปรนนิบัติให้ดีตามสมควรแก่ฐานะความเป็นอยู่ คือ อาหุเนยฺยคฺคิ มารดาบิดาที่บุตรควรเคารพบูชา ควรปฏิบัติเลี้ยงดูให้ดีตามคำสั่งสอนของพุทธศาสนาว่าบุตรต้องรู้จักหน้าที่ของบุตรว่า ต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างไร เพราะการบำรุงมารดาบิดาถือว่า เป็นมงคลอันสูงสุดของลูกๆ ถ้าหากว่าบุตรทั้งหลายปฏิบัติผิดในมารดา และบิดาทั้ง 2 นั้น ย่อมบังเกิดในอบาย มีนรกเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ถึงแม้มารดา และบิดา จะมิได้ตามเผาผลาญอยู่ก็จริง ถึงกระนั้นท่านทั้ง 2 ก็ยังเป็นปัจจัยแก่การตามเผาผลาญ อยู่ ดังนั้น ท่านเรียก มารดาบิดาว่า อยู่ ดังนั้น ท่านเรียก มารดาบิดาว่า อาหุเนยยัคคิ ที่เรียกว่าอัคคิ เพราะเป็นเหตุให้บุตรผู้ปฏิบัติผิดต่อตนต้องถูกเผาไหม้ในนรกได้ ทักขิเณยยัคคิ ไฟที่ควรแก่ทักษิณา ได้แก่ สมณพราหมณ์

ภิกษุสงฆ์ชื่อว่า เป็นผู้ควรรับทักษิณา ภิกษุสงฆ์นั้น ย่อมเป็นผู้มีอุปการะมาก แก่พุทธศาสนาสนิกชนทั้งหลายการประกอบไว้ในกัลยาณธรรมทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือ ในสรณะ 3 ศีล 5 ศีล 10 การบำรุงสมณะ และพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม คฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติผิดในภิกษุสงฆ์นั้น ด่า บริภาษซึ่งภิกษุสงฆ์ ย่อมบังเกิดในอบายทั้งหลาย ภิกษุสงฆ์นั้น ท่านจึงเรียกว่า ทกฺขิเณยฺยคฺคิ ไฟ คือ ทักขิเณยยบุคคล เพราะเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติไม่ถูกต้องในภิกษุสงฆ์ถูกไฟเผาไหม้ในนรกได้ คหปตคฺคิ ไฟ คือ คหบดีในโลกนี้มีบุตร ภรรยา ทาส คนใช้ หรือกรรมกร สามีควรดูแลให้เสื้อผ้า ให้ที่อยู่ที่อาศัยแก่บุตรภรรยา และคนรับใช้ ภรรยาควรปฏิบัติต่อสามีเปรียบดังพ่อคนที่ 2 ไม่ประพฤตินอกใจทำหน้าที่ของภรรยาให้ถูกต้องถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือประพฤติผิดในสามี ไฟ คือ คหปตคฺคิ ก็จะไหม้ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า

ไฟกับการบรรลุธรรมในพุทธศาสนาเถรวาท หลักคำสอนเกี่ยวกับไฟนี้ พุทธศาสนาเถรวาทได้นำมาใช้ในการสั่งสอนประพฤติปฏิบัติตนเพื่อความรู้แจ้งแทงตลอด ซึ่งธาตุ 4 ขันธ์ 5 เพื่อการบรรลุธรรม ซึ่งมีหลักประพฤติปฏิบัติ ดังนี้

หลักปฏิบัติสมถกรรมฐาน การปฏิบัติธรรมตามหลักสมถกรรมฐานหรือสมถภาวนา ได้แก่ การฝึกอบรมพัฒนาจิตใจให้เกิดความสงบ คือ การฝึกสมาธิ เพื่อให้จิตใจมีความมั่นคง กล่าวคือ การเอาจิตหรือสติ ความระลึกรู้ไปจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การนึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น มีการบริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือกำหนดลมหายใจเข้าออกก็ได้ สิ่งที่เอาจิตไปจดจ่อนี้เรียกว่า อารมณ์กรรมฐาน จิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่เป็นขั้นตามลำดับเรียกว่าฌาน โดยมีวิธีการปฏิบัติ 40 อย่าง ที่เรียกว่าอารมณ์กัมมัฏฐาน 40 ประการ(39) มีอสุภะ 10 อนุสสติ 10 เป็นต้น ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะหมวดกสิณ 10 ประการ และจตุธาตุววัฏฐาน 4 ซึ่งมีเรื่องไฟ (เตโชกสิณ และธาตุไฟ) ดังนี้

กสิณ คือ การเพ่งดูธรรมชาติเป็นอารมณ์มีการเพ่งธรรมชาติ 10 อย่างเหล่านี้ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว แสงสว่าง และอากาศเป็นอารมณ์ เพื่อสงบระงับจิตที่ฟุ้งซ่าน คนที่ชอบมองโลกในแง่ร้ายเห็นอะไรเป็นสิ่งเลวร้ายไปหมด ชอบอยู่คนเดียวเพราะเกิดความเครียดจากงานจากชีวิตที่ไม่สมหวัง เมื่อมาฝึกเพ่งธรรมชาติ 10 อย่างนี้ เป็นอารมณ์จะทำให้จิตใจดีขึ้น

กสิณ 10 เป็นวัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ มี 10 อย่าง ได้แก่ หมวดที่ 1 ภูตกสิณ คือ มหาภูตรูป 4 ได้แก่ ธาตุดิน (ปฐวี) ธาตุน้ำ (อาโป) ธาตุไฟ (เตโช) และธาตุลม (วาโย), หมวดที่ 2 วรรณกสิณ คือ สี 4 ได้แก่ สีเขียว (นีละ) สีเหลือง (ปีตะ) สีแดง (โลหิตะ) และสีขาว (โอทาตะ) และหมวดที่ 3 กสิณอื่น ๆ ได้แก่ แสงสว่าง (อาโลก) และช่องว่าง (ปริจฉินนากาส)(40)

กสิณ 10 นี้ จะใช้ของที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือจะทำขึ้นเองให้เหมาะกับการใช้เพ่ง โดยเฉพาะก็ได้ อนึ่ง การเพ่งกสิณมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1. การเพ่ง, 2. การหลับตานึงถึงภาพกสิณ และ3. ภาวนาหรือบริกรรมในใจ

ฝ่ายพระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญเตโชกสิณ พึงถือเอานิมิตในไฟ ในเตโชกสิณนั้นสำหรับพระโยคาวจรผู้มีบุญมีอธิการได้สร้างไว้ เมื่อถือเอานิมิตในไฟที่มิได้แต่ง แลดูเปลวไฟที่ตะเกียง ที่เตา ที่ๆ ระบมบาตรหรือที่ไฟไหม้ป่าที่ใดที่หนึ่งก็ตาม นิมิตก็เกิดขึ้นได้ ดังพระจิตตคุตตเถระ ฉะนั้น เล่ากันว่า เมื่อท่านผู้นั้นเข้าไปสู่โรงอุโบสถในวันธรรมสวนะ แลดูเปลวตะเกียงเท่านั้นนิมิตก็เกิดขึ้น ส่วนพระโยคาวจรนอกนี้ (คือ ผู้ไม่มีบุญญาธิการ) ต้องแต่งกสิณนิมิตขึ้น ในการแต่ง (กสิณนิมิต) นั้น พึงผ่าฟืนไม้แก่นที่แห้งสนิท (ให้ใช้ฟืนไม้แก่น เพื่อให้ติดไฟอยู่ทน ที่ว่าสนิท หมายความว่าไม่มียางแล้ว) ผึ่งแดดไว้แล้วตัดทำเป็นท่อนๆ หอบ ไปสู่โคนไม้หรือมณฑปที่เหมาะสม กองฟืน เข้าโดยอาการดุจระบมบาตร ก่อไฟขึ้น แล้วทำให้เป็นช่อง (กว้าง) ประมาณคืบ 4 นิ้ว (เป็นวงกลม) เข้าที่เสื่อลำแพนหรือแผ่นหนังหรือผืนผ้าก็ได้ ตั้งเสื่อลำแพนหรือแผ่นหนังหรือผืนผ้านั้นไว้ข้างหน้า นั่งโดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล อย่าใส่ใจถึงหญ้าและไม้ข้างใต้ (ช่อง) หรือควันและเปลวข้างบน (ช่อง) ถือเอานิมิตที่เปลวทึบตรงกลาง (ช่อง) ไม่ต้องพิจารณาสี (ของไฟ) โดยว่ามันเป็นสีขาว หรือว่าสีเหลืองเป็นต้น ไม่ต้องใส่ใจลักษณะ (ของเตโชธาตุ) โดยว่า มันร้อน พึงทำให้มันเป็นสิ่งเสมอกันกับที่อาศัย (ของมัน คือ นึกเสียว่าสีนั้นมันเป็นอันเดียวกันกับไฟ ซึ่งที่อาศัยของมัน )ตั้งจิตไว้ในบัญญัติธรรม (คือ โลกโวหาร ) ตามที่เป็นคำใช้กันมาก ภาวนาเตโช เตโช โดยที่เป็นนามเด่นในบรรดานาม ของไฟทั้งหลาย เช่น ปาวโก กณฺหวตฺตนิ ชาตเวโท หุตาสโน เมื่อเธอภาวนาไปอย่างนั้น นิมิตทั้ง 2 ย่อมจะเกิดขึ้นตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นโดยลำดับ อุคคหนิมิตในเตโชกสิณนั้น ปรากฏเป็นเช่นกับเปลวไฟขาดตกลงไปๆ แต่สำหรับผู้ถือเอา (นิมิต) ในไฟที่มิได้แต่งกสิณโทษย่อมจะปรากฏ คือ ท่อนฟืนบ้าง ก้อนถ่านบ้าง เถ้าบ้างควันบ้าง ย่อมปรากฏ (ส่วน) ปฏิภาคนิมิตปรากฏนิ่ง ดุจท่อนผ้ากัมพลแดงที่วางไว้ในอากาศ และดุจพัดใบตาลสีทองดุจเสาทองฉะนั้น พร้อมกับความปรากฏแห่งปฏิภาคนิมิตนั้นแหละ พระโยคาวจรนั้นก็จะบรรลุอุปจารฌาน และจตุตกฌาน ปัญจกฌาน โดยนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล(41)

ส่วนจตุธาตุววัฏฐาน ได้แก่ การพิจารณาว่าร่างกายประกอบด้วยธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สักวันหนึ่งก็ต้องกลับไปสู่ดินน้ำลมไฟ เมื่อพิจารณาได้อย่างนี้เป็นประจำก็จะไม่รู้สึกเสียใจ โดยพิจารณากายของตนให้เห็นเป็นของปฏิกูลพึงรังเกียจให้พิจารณาเห็นอาการ 32 คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า และมันสมอง รวม 20 อย่างนี้ จัดเป็นธาตุดิน แล้วพิจารณา ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อและน้ำมูตร รวม 12 อย่างนี้เป็นธาตุน้ำ นอกจากนี้ยังมีธาตุไฟ ธาตุลมอีก ให้พิจารณาส่วนต่างๆ เหล่านี้ในกาย ถ้าพิจารณาโดยความเป็นของปฏิกูลจัดเป็นสมถกัมมัฏฐาน ถ้าพิจารณาโดยความเป็นธาตุต่างๆ มารวมกันจัดเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในการพิจารณาท่านให้พิจารณาบ่อย ๆ จนเกิดความชำนาญ เมื่อใจคุ้นกับความปฏิกูลหรือความเป็นสักแต่ว่าธาตุของส่วนต่างๆ ของร่างกายเหล่านั้น ย่อมคลายความยึดมั่นถือมั่น โดยความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เห็นแต่เพียงวัตถุที่ปฏิกูลหรือเป็นธาตุเท่านั้น เมื่อเห็นอยู่เช่นนี้ ใจย่อมเป็นอิสระไม่ผูกพัน ไม่ยึดมั่นในร่างกายของตน และในร่างกายของผู้อื่น จตุธาตุววัฏฐานนี้นั้น มี 2 อย่างคือ อย่างสังเขป และอย่างพิสดาร จตุธาตุววัฏฐาน อย่างสังเขปนั้นมาในมหาสติปัฏฐานสูตร อย่างพิสดารมาในมหาหัตถิปทุปมสูตร ราหุโลวาทสูตร และธาตุวิงภังคสูตร

จตุธาตุววัฏฐานอย่างสังเขป จตุธาตุววัฏฐานในมหาสติปัฏฐานสูตร โดยเป็นธรรมสำหรับผู้เจริญธาตุกรรมฐานที่มีปัญญากล้า ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย โคฆาตก์ผู้ชำนาญหรือลูกมือโคฆาตก์ ฆ่าโคแล้ว (ชำแหละ) แบ่ง (เนื้อ) ออกเป็นส่วน ๆ แล้วพึงนั่ง (ขาย) อยู่ที่ทางใหญ่สี่แพร่ ฉันใดก็ดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ก็ฉันนั้น พิจารณาดูกายนี้นี่แหละ ที่มันตั้งอยู่เท่าไร ที่เธอตั้งไว้เท่าไร (ก็ตาม) โดยธาตุว่ามีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมฯ(42)

ในมหาหัตถิปทุปมสูตร มาอย่างพิสดารโดยเป็นธรรมสำหรับผู้เจริญธาตุกรรมฐานที่มิใช่ผู้มีปัญญากล้านัก ดังนี้ว่าดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ธาตุไฟภายในเป็นอย่างไร สิ่งใดที่มีอยู่ในตนอาศัยตนอยู่ เป็นของร้อนเผาไหม้ไป ซึ่งบุคคลยึดถือ (เป็นของตน) สิ่งนี้ คือ อะไร สิ่งนี้คือสิ่งที่เป็นเหตุอบอุ่น(แห่งกาย) 1 เป็นเหตุทรุดโทรม (แห่งกาย) 1 เป็นเหตุกระวนกระวาย (แห่งกาย) 1 เป็นเครื่องย่อยไปดีแห่งของที่กินดื่มเคี้ยวลิ้มเข้าไป 1 หรือว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งอื่นอีกที่มีอยู่ในตน อาศัยตนอยู่ เป็นของร้อนเผาไหม้ไป ซึ่งบุคคลยึดถือ (เป็นของตน) ดูกรอาวุโสทั้งหลายนี่เรียกว่าธาตุไฟภายใน(43)

อานิสงส์แห่งธาตุววัฏฐาน ภิกษุผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งจตุธาตุววัฏฐานนี้ ย่อมจะหยั่งลงถึงสุญญตา (ความว่างจากตัวตน) ถอนสัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นสัตว์บุคคล) เสียได้ เพราะถอนสัตตสัญญได้ เธอไม่ถึงกำหนดแยกว่า พาฬมฤค ว่ายักษ์ ว่ารากษส เป็นต้น ย่อมเป็นผู้ข่มความกลัวภัยได้ ข่มความยินร้าย และยินดีได้ ไม่ถึงซึ่งความฟูขึ้น และความยุบลงในเพราะอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ทั้งหลายอีกทั้งจะเป็นผู้มีปัญญามาก มีพระอมตะ (นิพพาน) เป็นที่สุด หรือมิฉะนั้นก็จะมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้าแลผู้มีปัญญาพึงเสพธาตุววัฏฐาน อันมีอานุภาพมากอย่างนี้ (ที่นับว่าเป็นกีฬา) ซึ่งพระโยคีผู้เป็นสีหะประเสริฐเล่นกันแล้วนั่น เป็นนิตย์เทอญฯ(44)

สรุปได้ว่า ผู้หมั่นฝึกฝนอบรมตามหลักอารมณ์กัมมัฏฐาน 40 เหล่านี้อยู่เนืองๆ โดยเลือกปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งหมดก็ได้ขึ้นอยู่ที่ว่ากัมมัฏฐานอย่างใดจะถูกกับจริตของตน ก็ย่อมได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ คือ ความยินดียินร้ายไม่อาจครอบงำจิตของผู้นั้นได้ เป็นผู้อดทนต่ออันตรายที่น่าพรั่นพรึง มีจิตเข้มแข็ง อดทนต่ออารมณ์ยั่วยวนต่างๆ ได้มาก ไม่ประมาท ไม่มีความสงสัยต่อเรื่องต่างๆ พร้อมยังก่อให้เกิดคุณประโยชน์ที่จะพึงได้รับหลังจากการปฏิบัติตนตามหลักสมถภาวนา 4 ประการ ได้แก่ ย่อมเป็นไปเพื่อความสุขในปัจจุบัน, ย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ, ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ และย่อมเป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ(45)

หลักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานหรือวิปัสสนาภาวนา ได้แก่ วิธีการบำเพ็ญบุญทางปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ทำให้แก้ไขปัญหาไปตามแนวทางเหตุผลรู้เท่าทันโลก และชีวิตจนสามารถทำจิตให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากความโลภ และความยึดถือมั่นในสิ่งต่างๆ ได้ในที่สุด โดยมีวิธีการปฏิบัติตนตามบ่อเกิดของปัญญาเพื่อมีความรู้ถูกต้องเมื่อกล่าวถึงแหล่งกำเนิดแห่งปัญญาในพุทธศาสนาแล้ว ก็มีแหล่งกำเนิดใหญ่ๆ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในสังคีติสูตร 3 แหล่ง ได้แก่ 1. สุตมยปัญญา ปัญญาสำเร็จด้วยการฟัง หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากการสดับตรับฟัง เช่น ฟังธรรมในวันธัมมัสสวนะที่วัด เป็นต้น, 2. จินตามยปัญญา ปัญญาสำเร็จด้วยการคิด หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากการคิด การพิจารณาด้วยเหตุผลตามความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ จนสามารถรู้และเข้าใจได้อย่างชัดเจน และ3. ภาวนามยปัญญา ปัญญาสำเร็จด้วยการอบรม หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากการฝึกฝนอบรมจิตใจด้วยหลักวิปัสสนาภาวนา เป็นต้น(46)

ปัญญาทั้ง 3 นี้จัดเป็นวิธีการขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนาเถรวาท เมื่อเกิดปัญญาที่ถูกต้องแล้ว ก็จะมีความเห็นที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมซึ่งเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ และปัจจัยที่ถือว่า เป็นปัจจัยเพื่อความเกิดขึ้นแห่งปัญญาอันเป็นสัมมาทิฏฐินั้นมีอยู่ 2 ประการ(47) ได้แก่ 1. ปรโตโฆสะ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ เสียงจากผู้อื่น เป็นการกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก เช่น การได้ฟังธรรมจากพระภิกษุสงฆ์เป็นประจำจนสามารถมีความรู้ ความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้ในระดับถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ เช่น รู้ว่า ความโลภมีผลเป็นความทุกข์ความไม่โลภสามารถทำให้ชีวิตประสบกับความสุขได้ ทานที่ให้นั้นล้วนมีผล บุญ บาป นรก สวรรค์มีอยู่จริง เป็นต้น แล้วละเลิกกรรมชั่ว ประกอบแต่กรรมดี และ2. โยนิโสมนสิการ ปัจจัยภายใน ได้แก่ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย เป็นการใช้ปัญญาณพิจารณาสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ 1. อุปายมนสิการ การพิจารณาโดยอุบาย ได้แก่ การพิจารณาด้วยปัญญาอย่างถูกวิธีการจนสามารถทำให้หยั่งรู้ความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย เช่นว่า ความโลภเป็นกิเลสที่สามารถทำให้เกิดกรรมชั่วต่างๆ ได้ ความโลภจึงเป็นสิ่งที่ควรละเว้น, 2. ปถมนสิการ การพิจารณาด้วยปัญญาอย่างถูกทาง ถูกวิธีการ เช่น การกำจัดความโลภ ก็คือ การไม่โลภด้วยการเสียสละ ให้ทาน, 3. การณมนสิการ การพิจารณาด้วยปัญญาอย่างมีตามเหตุผล เช่นว่า ความโลภมีแต่จะสร้างความทุกข์ให้แก่ตนเอง และผู้อื่น ฉะนั้น ควรดำเนินชีวิตด้วยความพอดีดีกว่า เป็นต้น และ4. อุปปาทกมนสิการ การพิจารณาด้วยปัญญาให้รู้จริง เช่น พิจารณาได้ว่า มนุษย์ทุกคนสักว่าเป็นที่รวมของธาตุ 4 ขันธ์ 5 เท่านั้น ไม่มีอะไรเป็นของตนหรือของใครอย่างแท้จริง ทุกอย่างเป็นเพียงสมมติขึ้นมา วัตถุสิ่งของเช่นกัน ไม่ควรไปหลงใหล ยึดติดให้มันมากนัก เพราะจะมีแต่ความทุกข์(48)

สรุปได้ว่า การวิปัสสนากรรมฐานนั้น ตัวอย่างของวิธีการบำเพ็ญด้วยการพิจารณาปัญญาในขันธ์ 5 คือ การพิจารณาเห็นขันธ์ 5 ได้แก่ รูป (ธาตุ 4) เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยความเป็นไตรลักษณ์ คือ ความเป็นของไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์หรือความที่ถูกปัจจัยบีบคั้น และความเป็นอนัตตา ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง เมื่อพิจารณาเห็นอยู่ ก็เกิดความเบื่อหน่าย (นิพพิทา) ในขันธ์ 5 คลายกำหนัด (วิราคะ) จึงหลุดพ้น (วิมุตติ) เกิดมีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ซึ่งก็มีวิธีพิจารณาเห็นขันธ์ 5 โดยยกเอารูป เป็นตัวอย่าง ดังนี้(49)

การพิจารณาโดยความเป็นอนิจจังว่า รูป (ธาตุ 4) ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา การพิจารณาโดยความเป็นทุกข์ ว่า รูปเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา การพิจารณาโดยความเป็นอนัตตาว่า รูปเป็นอนัตตา รูปนั้นไม่ใช่ของเราไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเราหรือจะพิจารณาเห็นขันธ์ 5 โดยความเป็นไตรลักษณ์ด้วยปฏิสังขารนุปัสสนาญาณ ให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ด้วยเหตุต่างๆ เมื่อสามารถปฏิบัติได้ดังนี้ จิตใจก็จะเกิดความรู้แจ้งได้ว่า ชีวิตเราและคนอื่นรวมทั้งสรรพสัตว์น้อยใหญ่นั้น แท้จริงแล้ว ไม่มีจริง ไม่ใช่ของเราหรือของใครทั้งนั้น ดังนั้นเราไม่ควรยึดมั่นถือมั่นจนเกินไป เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนที่แท้จริงที่จะครอบครอง หลัก คือ อารมณ์ เชือก คือ สติ ลูกโค คือ จิตใจ เจ้าของโค คือ ผู้ฝึกสมาธิ คนที่ฝึกสมาธิจนชำนาญแล้ว พอนึกตั้งใจเท่านั้น จิตก็เป็นสมาธิทันที วิธีฝึกสมาธิก็มีเพียงเท่านี้ ความสำคัญอยู่ที่การทำจริง มีความเพียรพยายามไม่ย่อท้อ งานทางจิตเป็นงานหนัก และเหน็ดเหนื่อย แต่พอฝึกได้แล้วก็มีผลคุ้มค่าเหนื่อย(50)

ในวิสุทธิมรรคแปล ภาค 2 ตอน 2 มีการกล่าวถึงวพระโยคาวจร (ผู้บำเพ็ญธรรม) ไว้ว่า พระโยคาวจร ครั้นยังมนสิการให้เป็นไปในปฐวีโกฏฐาสและอาโปโกฏฐาสทั้งหลาย มีผม ขน เป็นต้น ดังกล่าวมานี้แล้ว พึงยังมนสิการให้เป็นไปในเตโชโกฏฐาสทั้งหลายอย่างนี้ว่า ร่างกายย่อมเร่าร้อนเพราะไฟใด ไฟ (อันเป็นเหตุเร่าร้อนแห่งกาย) นี้เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือ วิญญาณ) มิได้ มีอาการเผาไหม้ เป็นเตโชธาตุร่างกายย่อมทรุดโทรมเพราะไฟใด ไฟ (อันเป็นเหตุทรุดโทรมแห่งกาย) นี้ เป็นโกฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือ วิญญาณ) มิได้ มีอาการเผาไหม้ เป็นเตโชธาตร่างกายย่อมกระสับกระส่ายเพราะไฟใด ไฟ (อันเป็นเหตุกระสับกระส่ายแห่งกาย) นี้ เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิดเป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือ วิญญาณ) มิได้ มีอาการเผาไหม้ เป็นเตโชธาตุของที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มเข้าไปแล้ว ย่อมถึงความย่อยไปด้วยดี เพราะไฟใด ไฟ (อันเป็นเหตุย่อยดีแห่งของที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม) นี้เป็นโกฏฐาสแผนกหนึ่งในร่างกายนี้ ไม่มีความคิด เป็นอัพยากฤตว่างเปล่า (จากอัตตา) หาสัตว์ (คือ วิญญาณ) มิได้ มีอาการเผาไหม้เป็นเตโชธาตุ ดังนี้(51)ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏแก่พระโยคาวจรนั้น ผู้มีมนสิการเป็นไปอย่างนี้ เมื่อเธออาวัชนาการไป มนสิการไปซึ่งธาตุเหล่านั้น แล้วๆ เล่าๆ อุปจารสมาธิย่อมจะเกิดขึ้น โดยนัยที่กล่าวมาแล้วนั่นแล แต่เมื่อพระโยคาพจรผู้ใดเจริญไปอย่างนั้น กรรมฐานยังไม่สำเร็จ พระโยคาวจรผู้นั้นพึงเจริญโดยสลักขณสังเขปเถิด

การเจริญโดยสลักขณสังเขป พึงกำหนดเอาลักษณะที่แข้นแข็งในโกฏฐาส 20 ว่า ธาตุดิน พึงกำหนดเอาลักษณะที่ซึมซาบได้ในโกฏฐาส 20 นั้นแหละว่า ธาตุน้ำ พึงกำหนดเอาลักษณะที่ร้อนในโกฏฐาส 20 นั้นแหละว่า ธาตุไป พึงกำหนดเอาลักษณะทีเขยื้อนได้ในโกฏฐาส 20 นั้นแหละว่า ธาตุลมพึงกำหนดเอาลักษณะที่ซึบซาบในโกฏฐาส 12 ว่า ธาตุน้ำ พึงกำหนดเอาลักษณะที่ร้อนในโกฏฐาส 12 นั้นแหละว่า ธาตุไฟ พึงกำหนดเอาลักษณะที่เขยื้อนได้ในโกฏฐาส 12 นั้นแหละว่า ธาตุลม พึงกำหนดเอาลักษณะที่แข้นแข็งในโกฏฐาส 12 นั้นแหละว่า ธาตุดิน พึงกำหนดเอาลักษณะที่ร้อนในโกฏฐาส 4 ว่า ธาตุไฟ พึงกำหนดเอาลักษณะที่เขยื้อนได้ ที่แยกออกจากธาตุไฟนั้นไม่ได้ ว่า ธาตุ ลม พึงกำหนดเอาลักษณะที่แข้นเข็ง ที่แยกออกจากธาตุไฟนั้นไม่ได้ว่า ธาตุดิน พึงกำหนดเอาลักษณะที่ซึมซาบที่แยกออกจากธาตุไฟนั้นไม่ได้ว่า ธาตุน้ำ พึงกำหนดเอาลักษณะทีเขยื้อนได้ในโกฏฐาส 6 ว่า ธาตุลม พึงกำหนดเอาลักษณะที่แข้นแข็งในโกฏฐาส 6 นั้นแหละว่า ธาตุดิน พึงกำหนดเอาลักษณะที่ซึมซาบได้ในโกฏฐาส 6 นั้นแหละว่า ธาตุน้ำ พึงกำหนดเอาลักษณะทีร้อยในโกฏฐาส 6 นั้นแหละว่า ธาตุไฟเมื่อพระโยคาวจรนั้นกำหนดไปอย่างนั้น ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏ อุปจารสมาธิย่อมจะเกิดขึ้นแก่เธอผู้อาวัชชนาการไป มนสิการไปซึ่งธาตุทั้งหลายนั้นแล้วๆ เล่าๆ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแลแต่เมื่อพระโยคาพจรผู้ใดแม้เจริญไปอย่างนั้น กรรมฐานก็ยังไม่สำเร็จ พระโยคาวจรผู้นั้นพึงเจริญโดยสลักขณวิภัติ ต่อไป

การเจริญโดยสลักขณวิภัติ พึงจับเอาโกฏฐาสทั้งหลายมีผมเป็นอาทิ โดยนัยที่กล่าวมาก่อน (ในสสัมภารวิภัติ) นั้นแล มากำหนดดูลักษณะที่แข้นเข็งในผมว่า ธาตุดิน พึงกำหนดดูลักษณะที่ซึมซาบในผมนั้นแหละว่า ธาตุน้ำ พึงกำหนดดูลักษณะที่ร้อนในผมนั้นแหละว่า ธาตุไฟ พึงกำหนดดูลักษณะที่เขยื้อนได้ในผมนั้นแหละว่าธาตุลม พึงกำหนดดูธาตุ 4 ๆ ในโกฏฐาส 1 ๆ ไปทุกโกฏฐาสอย่างนี้ เมื่อเธอกำหนดไปอย่างนั้น ธาตุทั้งหลายย่อมจะปรากฏ อุปจารสมาธิย่อมจะเกิดขึ้นแก่เธอผู้อาวัชนาการไป นมสิการไป ซึ่งธาตุทั้งหลายนั้น แล้วๆ เล่าๆ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล

มนสิการโดยอาการ 13 มนสิการโดยอาการ คือ การกระทำไว้ในใจโดยอาการมีลักษณะเป็นอย่างนี้ว่า ปฐวีธาตุ มีความเป็นของหยาบเป็นลักษณะ มีความเป็นที่อาศัยอยู่ (แห่งธาตุอื่น) เป็นรส มีความรับเอา (ธาตุอื่น) ไว้ได้เป็นเครื่องปรากฏอาโปธาตุ มีความไหลได้เป็นลักษณะ มีความช่วยเพิ่มพูน (ธาตุอื่น) เป็นรส มีความยึดเอา (ธาตุอื่น) ไว้ได้ เป็นเครื่องปรากฏเตโชธาตุ มีความร้อนเป็นลักษณะ มีความทำให้ย่อยเป็นรส มีการให้ความอ่อน (แก่ร่างกาย) ไว้เรื่อย เป็นเครื่องปรากฏวาโยธาตุ มีความพะยุงไว้เป็นลักษณะ มีความเคลื่อนไหวเป็นต้นรส มีความแสดงท่าทาง (ต่าง ๆ) ได้ เป็นเครื่องปรากฏ(52)

กล่าวได้ว่า พุทธศาสนาเถรวาทให้น้ำหนักในการศึกษาปฏิบัติอย่างจริงจังบนฐานแห่งความรู้ที่ถูกต้อง ความเพียรที่พอเหมาะ ก็จะสามารถบรรลุธรรมได้ ซึ่งไฟกับการบรรลุธรรมนี้ได้ยกตัวอย่างพอสังเขปดังนี้

ในอาทิตตยปริยายสูตร (แสดงโปรดชฏิล 3 พี่น้อง) ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้า ทรงส่งสาวกให้กระจายกันไปประกาศพระศาสนาในทิศานุทิศแล้ว ทรงพิจารณาเห็นความบริบูรณ์แห่งอุปนิสัยของชนชาวมคธเป็นอันมาก มีพระพุทธประสงค์จะทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาตั้งขึ้น ณ แคว้นนั้น ทรงพระพุทธดำริพาท่านอุรุเวลกัสสปะผู้มีอายุมาก เป็นที่นับถือของมหาชนมานาน ไปปลูกศรัทธาแห่งมหาชน เสด็จพระพุทธดำเนินไปลำพังพระองค์เดียว โดยหนทางที่ไปสู่อุรุเวลานิคมตรัสขอสำนักอาศัย ท่านอุรุเวลกัสสปะมิเต็มใจรับ แต่มิกล้าขัดโดยตรง จึงบ่ายเบี่ยงว่า ที่อันจะพึงให้อยู่มีแต่โรงที่บูชาเพลิงที่มีนาคร้าย อธิบายว่า เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป มีนาคบัลลังก์ เช่น พระนาคปรกอันพวกชฎิลนับถือว่า ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดกล้ำกราย อาจทำอันตรายแก่ผู้นั้น พระพุทธเจ้าทรงขอเสด็จเข้าอาศัยในที่นั้น ครั้นไม่มีอันตราย พวกชฎิลสำคัญเห็นเป็นพระอภินิหารนี้เป็นทางปลูกความยำเกรงเป็นเบื้องต้น ต่อนั้นมาทรงแสดงอภินิหารอย่างอื่นๆ ถอนทิฏฐิมานะแห่งท่านอุรุเวลกัสสปะกับบริวารลงทุกทีจนได้ปรีชาหยั่งเห็นว่าลัทธิของตนนั้นหาแก่นสารมิได้ หลงถือตนว่าเป็นผู้วิเศษฉันใด หาเป็นฉันนั้นไม่ ได้ความสลดใจพร้อมกันลอยบริขารแห่งชฎิลเสียในแม่น้ำแล้ว ทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าประทานอุปสมบททรงพระอนุญาตให้เป็นภิกษุทั้งมวล

ฝ่ายนทีกัสสปะน้องชายกลาง ตั้งอาศรมอยู่ภายใต้ ได้เห็นบริขารชฎิลลอยมาตามกระแสน้ำ สำคัญว่า เกิดอันตรายแก่พี่ชายตน พร้อมทั้งบริวาร รีบไปถึง เห็นพระอุรุเวลกัสสปะผู้พี่ชายถือเพศเป็นภิกษุแล้ว ถามทราบความว่า พรหมจรรย์นี้ประเสริฐแล้ว ลอยบริขารชฎิลเสียในแม่น้ำ พร้อมด้วยบริวารเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลขออุปสมบทพระองค์ก็ประทานอุปสมบทแก่เธอทั้งหลาย โดยนัยหนหลัง

ฝ่ายคยากัสสปะน้องชายคนสุดท้อง ได้เห็นบริขารชฎิลลอยมาตาม กระแสน้ำ สำคัญว่า เกิดอันตรายแก่พี่ชายทั้ง 2 พร้อมกับบริวารรีบ มาถึง เห็นพี่ชายทั้ง 2 ถือเพศภิกษุแล้ว ถามทราบความว่า พรหมจรรย์นี้ประเสริฐแล้ว ลอยบริขารของตนเสียในแม่น้ำพร้อมด้วยบริวาร เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลขออุปสมบท พระองค์ก็ประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุ โดยนัยหนหลัง

พระพุทธเจ้า เสด็จอยู่ในตำบลอุรุเวลา ตามควรแก่ความต้องการแล้ว พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ชฎิลเหล่านั้น เสด็จไปยังตำบลคยาสีสะใกล้แม่น้ำคยา ประทับอยู่ ณ ที่นั้น ตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นมาพร้อมกันแล้วทรงแสดงธรรมว่า ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน อะไรเล่าชื่อว่า สิ่งทั้งปวง จักษุ คือ นัยน์ตา รูป วิญญาณอาศัยจักษุ สัมผัส คือ ความถูกต้องอาศัยจักษุ เวทนาที่เกิดเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย คือ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์บ้าง (หมวดหนึ่ง) โสต คือ หูเสียง วิญญาณอาศัยโสต สัมผัสอาศัยโสต เวทนาที่เกิดเพราะโสต-สัมผัสเป็นปัจจัย สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์บ้าง (หมวดหนึ่ง) ฆานะ คือ จมูก กลิ่น วิญญาณอาศัยฆานะ สัมผัสอาศัยฆานะเวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้างไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์บ้าง (หมวดหนึ่ง) ชิวหา คือลิ้น รส วิญญาณอาศัยชิวหา สัมผัสอาศัยชิวหาเวทนาที่เกิดเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์บ้าง (หมวดหนึ่ง) กายโผฏฐัพพะ คือ อารมณ์ที่จะพึงถูกต้องด้วยกายวิญญาณ อาศัยกาย สัมผัสอาศัยกาย เวทนาที่เกิดเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัย สุขบ้าง ทุกข์บ้างไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์บ้าง (หมวดหนึ่ง) มนะ คือ ใจ ธรรม วิญญาณ อาศัยมนะ สัมผัสอาศัยมนะ เวทนาที่เกิดเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์บ้าง (หมวดหนึ่ง) ชื่อว่า สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อนร้อนเพราะอะไร อะไรมาเผาให้ร้อน เรากล่าวว่าร้อนเพราะไฟ คือราคะ ความกำหนัด โทสะ ความโกรธ โมหะความหลง ร้อนเพราะความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศกร่ำไรรำพัน เจ็บกาย เสียใจ คับใจ ไฟกิเลส ไฟทุกข์ เหล่านี้มาเผาให้ร้อน ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งทั้งปวงนั้น ตั้งแต่ในจักษุ จนถึงเวทนาที่เกิดเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมปราศจากกำหนัดรักใคร่เพราะปราศจากกำหนัดรักใคร่ จิตก็พ้นจากความถือมั่น เมื่อจิตพ้นแล้วก็เกิดญาณรู้ว่า พ้นแล้ว ดังนี้ อริยสาวกนั้น ทราบชัดว่า ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีฯ(53) เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนานี้อยู่จิตของภิกษุเหล่านั้นพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปทาน กล่าวคือ ภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุพระอรหัตเป็นพระขีณาสพพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโปรดชฎิล 3 พี่น้องพร้อมด้วยบริวารนี้ได้ชื่อว่า อาทิตตปริยายสูตร ด้วยเหตุแสดงสภาวธรรมอันเป็นของร้อน พระพุทธเจ้าตรัสเพื่อเหมาะแก่บุรพจรรยาของพวกปุราณชฎิล ผู้อบรมมาในการบูชาเพลิง (ไฟ)

พุทธเจ้าทรงปรารภนางกีสาโคตมีเถรี มีเรื่องเบื้องต้นว่าทรัพย์ 40 โกฏิของเศรษฐีคนหนึ่ง ในเมืองสาวัตถี กลายเป็นถ่านไปหมด เศรษฐีนั้นเศร้าโศกเสียใจ มีสหายมาบอกอุบายให้ว่า เอาทรัพย์ที่กลายเป็นถ่านนี้ไปกองขายที่ตลาด เมื่อมีใครทักว่า เงิน ทอง ถ้าเป็นหญิง ท่านจงขอให้กับบุตรชายของท่าน ถ้าเป็นชาย ก็ยกบุตรหญิงให้ มอบทรัพย์ทั้งหมดให้ผู้นั้น เศรษฐีกระทำตามคนอื่นๆ ได้เห็นแล้วกว่าว่าถ่านทั้งนั้น แต่นางกีสาโคตมีคนเดียว กล่าวว่า เงินทอง เศรษฐีจึงขอให้อยู่กับบุตรของตน ยกทรัพย์อันนั้นให้ทั้งหมด เมื่อนางอยู่กับสามี มีบุตรคนหนึ่งพอเดินได้ก็ตาย นางไม่เคยเห็นคนตาย อุ้มบุตรไปเที่ยวหายา เพื่อรักษาให้กลบเป็นขึ้นใครเห็นก็เหมาว่า เป็นบ้า ครั้งนั้นบัณฑิตผู้หนึ่ง แนะนำให้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า นางก็ไปเฝ้าทูลขอยา พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมเทศนาให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วนางจึงขอบรรพชาอยู่ในสำนักนางภิกษุณี วันหนึ่งได้นั่งดูดวงประทีป (ดวงไฟ) อันชัชวาลแล้วเสื่อมไปจึงนำมาเทียบกับอัตภาพตน พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในคันธกุฎี ทรงทราบโดยทิพยจักษุ จึงเปล่งพระโอภาสไป แล้วจึงตรัสพระคาถาว่า ก็ผู้ใด เมื่อไม่เห็นทางอันไม่ตาย พึงเป็นอยู่ 100 ปี ความเป็นอยู่ของท่านที่เห็นทางอันไม่ตาย อยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของผู้นั้นฯ(54)

พระพุทธเจ้าทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่งชื่อ อัญญตรภิกขุ ได้เรียนพระกรรมฐานในสำนักของพระองค์แล้วทูลลาไปบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่า เมื่อไม่อาจเพื่อบรรลุพระอรหันต์ จึงกลับมาหวังจะทูลขอเปลี่ยนพระกรรมฐานใหม่ พบไฟป่าไหม้เชื้อใหญ่น้อยอยู่ในระหว่างทาง ได้ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า นั่นฉันใด ไฟ คือ อริยมัคคญาณ ก็เผาสังโยชน์ใหญ่น้อยฉันนั้น พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในคันธกุฎีทรงทราบ จึงทรงเปล่งพระโอภาสรัศมีไป ประดุจประทับอยู่ในที่เฉพาะหน้า แล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า ภิกษุผู้ยินดีแล้วในความไม่ประมาทหรือเป็นผู้เห็นภัยในความประมาท ย่อมเผาสังโยชน์น้อยใหญ่ไป เหมือนไฟเผาเชื้อน้อยใหญ่ไปฉะนั้นฯ(55)

พระพุทธเจ้าทรงปรารภการตายของเหล่าสตรีสองพวก คือ พวกนางสามาวดี และพวกนางมาคันทิยา กล่าวคือ นางสามาวดีและนางมาคันทิยาทั้งสองนี้ เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุทนราชาในพระนครโกสัมพี ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ พระนครนั้น พวกนางสามาวดีได้สำเร็จโสดาปัตติผล พวกนางมาคันทิยาไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า และคอยหาเหตุประทุษร้ายในพระพุทธเจ้ากับพวกนางสามาวดีต่างๆ ให้คนลอบไปเผาปราสาทของนางสามาวดีๆ กับบริวารก็มรณะในเพลิงนั้นสิ้น โดยที่พระนางสามาวดีได้ให้โอวาทแก่หญิงเหล่านั้นว่า การกำหนดอัตภาพ ซึ่งถูกไฟเผาอย่างนี้ของพวกเราผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสงสารอันมีส่วนสุดไม่ปรากฏแล้ว แม้พุทธญาณก็ไม่ทำได้โดยง่าย ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด หญิงเหล่านั้น เมื่อตำหนักถูกไฟไหม้อยู่ มนสิการซึ่งเวทนาปริคคหกัมมัฏฐาน บางพวกบรรลุผลที่ 2 (สกทาคามิผล) บางพวกบรรลุผลที่ 3 (อนาคามิผล)(56)

พระมหากาล มีจิตเลื่อมใสในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อออกบวชแล้วได้บำเพ็ญธุดงค์ 13 ในข้อโสสานิกธุดงค์ คือ ต้องอยู่ในป่าช้า และได้เจริญอสุภกัมมัฏฐาน ในคราวนั้นมีหญิงสาว คนหนึ่ง ได้ป่วยเสียชีวิตลงในเวลาเย็น ร่างกายยังเต่งตึง สดอยู่ พวกญาติได้หามศพหญิงสาวคนนั้นไปป่าช้า พร้อมด้วยเครื่องเผาต่างๆ มีฟืน และน้ำมัน เป็นต้น และได้ให้ค่าจ้างแก่หญิงเฝ้าป่าช้า เพื่อให้ทำการเผาศพแล้วก็กลับไป หญิงที่เฝ้าป่าช้านั้นได้ถอดเสื้อผ้าของหญิงสาวคนนั้นออกแล้ว เห็นร่างกายเพิ่งตายใหม่ๆ ยังสดอยู่ งดงามจึงคิดว่า ร่างกายนี้ควรจะบอกแก่พระคุณเจ้า จึงเข้าไปหา พระเถระแล้วกล่าวว่า ท่านเจ้าขา อารมณ์เห็นปานนี้มีอยู่ ขอพระคุณเจ้า ไปพิจารณาเถิด พระเถระรับคำแล้วได้ไปพิจารณาซากศพ โดยให้เลิกผ้าห่มออกแล้ว พิจารณาตั้งแต่ฝ่าเท้าถึงปลายผมแล้ว พูดว่า รูปนี้ประณีตยิ่งนัก มีสีดุจทองคำ นางพึงใส่รูปนั้นในไฟ ในกาลที่รูปนั้น ถูกเปลวไฟลวกแล้ว จึงบอกแก่อาตมา ดังนี้แล้วจึงกลับไปยังที่อยู่ของตน นางทำอย่างนั้นแล้ว จึงแจ้งแก่พระเถระ พระเถระไปพิจารณา ในที่ถูกเปลวไฟเผาไหม้แล้ว สีแห่งร่างกายได้เป็นดัง แม่โคด่าง เท้าทั้งสองงอหงิกห้อยลง มือทั้งสองกำเข้า หนังที่หน้าผากได้ลอกออก พระเถระพิจารณาว่า สรีระนี้เป็นธรรมชาติทำให้ไม่วายกระสันแก่บุคคลผู้แลดูอยู่ในบัดเดี๋ยวนี้เอง แต่ บัดนี้ (กลับ) ถึงความสิ้น ถึงความเสื่อมไป แล้วกลับไปที่พักกลางคืน นั่งพิจารณาถึงความสิ้น และความเสื่อมว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีอันเกิดขึ้น และเสื่อมไปเป็นธรรมดาเกิดขึ้นแล้วย่อม ดับไป ความสงบแห่งสังขารนั้นเป็นสุข(57) เมื่อพิจารณาอย่างนั้นแล้วเจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุพระอรหันต์

สรุปได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนมวลมนุษย์ให้เข้าใจในเรื่องตนเอง และธรรมชาติ ธาตุ 4 ขันธ์ 5 ทรงสอนตามความเชื่อเดิมของตน เช่น ทรงสอนชฎิล 3 พี่น้องพระองค์ทรงยกไฟขึ้นเปรียบกับอินทรีย์ 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ว่าเป็นของร้อน ซึ่งชฎิล 3 พี่น้องเป็นพราหมณ์บูชาไฟมาก่อนทำให้ชฎิล 3 พี่น้อง และบริวารหนึ่งพันมีจิตใจคล้อยตามธรรมเทสนาจนสามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ พระองค์ทรงสอนนางกีสาโคตรมี ซึ่งไม่รู้เท่าทันชีวิต ด้วยการให้พิจารณาชีวิตซึ่งเป็นขันธ์ 5 ประกอบกันขึ้นจากธาตุทั้ง 4 นางเลื่อมใสขอบรรพชาในสำนักภิกษุนีนั่งเพ่งกสิณไฟ จากเปลวเทียนจนได้บรรลุธรรมในที่สุดตัวอย่างต่อๆ มาก็ล้วนมีไฟในพุทธศาสนาทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบรรลุธรรมทั้งสิ้น

---------------------------

 

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

 

(1) องฺ.ติก.(ไทย) 20/487/192., (2) อภิ.วิ.(ไทย) 35/1/1., (3) ที.ปา.(ไทย) 11/281/195., (4) องฺ.นวก.(ไทย) 23/272/373., (5) อภิ.สํ.(ไทย) 34/504/168-173., (6) อภิ.สงฺ..(ไทย) 76/82-84., (7) ที..(ไทย) 10/278/219., (8) ที.ปา.(ไทย) 11/304/207., (9) ขุ..(ไทย) 25/22/36., (10) ขุ..(ไทย) 25/30/51., (11) ที..(ไทย) 10/278/219., (12) พระธรรมปิฎก (.. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 9,(กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2543), หน้า 139., (13) เรื่องเดียวกัน; หน้า 141., (14) มหามกุฏราชวิทยาลัย, อภิธัมมัตถสังคหบาลี และอภิธัมมัตถวิภาวินีฏีกา ฉบับแปลเป็นไทย, พิมพ์ครั้งที่ 6, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2539), หน้า 270-273., (15) อภิ.วิ.(ไทย) 35/1/1., (16) วิ..(ไทย) 4/20-24/20-24., (17) ที.ปา.(ไทย) 11/228/169., (18) นิตยา โชคสวัสดิ์, คู่มือการศึกษาหลักสูตรจุฬาอาภิธรรมิกะโท,http://dpc5ddc.moph.go.th/News/dharma36.pdf (24 /3 /2010), (19) พระเทพดิลก, ธรรมปริทรรศน์, พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2544), หน้า 60-63., (20) วิ..(ไทย) 4/55/49-50., (21) วิ..(ไทย) 4/55/49., (22) วิ..(ไทย) 4/14/16., (23) องฺ.อฏฺฐก.(ไทย) 23/95/122-123., (24) สํ.สฬา.(ไทย) 18/313-315/194., (25) องฺ.สตฺตก.(ไทย) 23/71/107-108., (26) ขุ.สุ.(ไทย) 29/181/109., (27) ขุ.สุ.(ไทย) 29/182/111., (28) มหามกุฏราชวิทยาลัย, มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 13, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2530), หน้า 43., (29) มหามกุฏราชวิทยาลัย, มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม 5, พิมพ์ครั้งที่ 13, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2540), หน้า 84., (30) ที.ปา.(ไทย) 11/228/169., (31) องฺ.จตุกฺก.(ไทย) 21/63/69., (32) ที.ปา.(ไทย) 11/228/174., (33) มหามกุฏราชวิทยาลัย, มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม 2, พิมพ์ครั้งที่ 10, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2538), หน้า 200., (34) ที.ปา.(ไทย) 11/199/203., (35) ที.ปา.(ไทย) 11/204/205206., (36) พระธรรมปิฎก (.. ปยุตฺโต), บุญ-บารมีที่จะกู้แผ่นดินไทย, (กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์การศาสนา, 2543), หน้า 86., (37) ที.ปา.(ไทย) 11/201/204., (38) ที.ปา.(ไทย) 11/140/120-121., (39) มหามกุฏราชวิทยาลัย, สมถกัมมัฏฐาน หลักสูตรนักธรรม และ ธรรมศึกษาชั้นเอก, พิมพ์ครั้งที่ 20, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2534), หน้า 30., (40) องฺ.ทสก.(ไทย) 24/25/48-49., (41) มหามกุฏราชวิทยาลัย, วิสุทธิมรรคแปล ภาค 1 ตอน 2, พิมพ์ครั้งที่ 9, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2540), หน้า 194-195., (42) ที..(ไทย) 10/273-310/216-233., (43) ม.มู.(ไทย) 12/340-346/245-255., (44) มหามกุฏราชวิทยาลัย, สุทธิมรรคแปล ภาค 2 ตอน 2, พิมพ์ครั้งที่ 7, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์,มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2540), หน้า 78., (45) ที.ปา.(ไทย) 11/233/177., (46) ที.ปา.(ไทย) 11 /228/171., (47) องฺ.ติก.(ไทย) 20/371/82., (48) พระธรรมปิฎก (.. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ, หน้า 669., (49) มหามกุฏราชวิทยาลัย, วิปัสสนากัมมัฏฐาน หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นเอก,พิมพ์ครั้งที่ 22, (กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2538), หน้า 5-7., (50) วศิน อินทสระ, หลักคำสอนสำคัญในพระพุทธศาสนา (พุทธปรัชญาเถรวาท), พิมพ์ครั้งที่ 2,(กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์บรรณาคาร, 2535), หน้า 359-361., (51) มหามกุฏราชวิทยาลัย, สุทธิมรรคแปล ภาค 2 ตอน 2, หน้า 52-53., (52) เรื่องเดียวกัน, หน้า 57-73., (53) วิ.. (ไทย) 4/55/49-50., (54) มหามกุฏราชวิทยาลัย, พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 4, พิมพ์ครั้งที่ 17, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2549), หน้า 216-221., (55) มหามกุฏราชวิทยาลัย, พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 2, พิมพ์ครั้งที่ 12, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2531), หน้า 167-168., (56) เรื่องเดียวกัน, หน้า 82 - 90., (57)  มหามกุฏราชวิทยาลัย, พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 1, พิมพ์ครั้งที่ 19, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2548), หน้า 95-96.

 

กรมการศาสนา. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสยามรัฐ พุทธศักราช 2525. กรุงเทพมหานคร :

โรงพิมพ์การศาสนา, 2525.

_________ . อรรถกถาบาลี ฉบับสยามรัฐ พุทธศักราช 2525. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา, 2525.

มหามกุฏราชวิทยาลัย. พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 1. พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพมหานคร :

โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2536.

_________ . พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 2. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหา

มกุฏราชวิทยาลัย, 2531.

_________ . พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 3. พิมพ์ครั้งที่ 16. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหา

มกุฏราชวิทยาลัย, 2539.

_________ . สมถกัมมัฏฐาน หลักสูตรนักธรรม และ ธรรมศึกษาชั้นเอก. พิมพ์ครั้งที่ 20.

กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2534.

_________ . วิปัสสนากัมมัฏฐาน หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นเอก. พิมพ์ครั้งที่ 22.

กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2538.

_________ . วิสุทธิมรรคแปล ภาค 1 ตอน 2. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏ

ราชวิทยาลัย, 2540.

_________ . วิสุทธิมรรคแปล ภาค 2 ตอน 1. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏ

ราชวิทยาลัย, 2536.

_________ . วิสุทธิมรรคแปล ภาค 2 ตอน 2. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหา

มกุฏราชวิทยาลัย, 2540.

_________ . วิสุทธิมรรคแปล ภาค 3 ตอน 1. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏ

ราชวิทยาลัย, 2540.

_________ . วิสุทธิมรรคแปล ภาค 3 ตอน 2. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหา

มกุฏราชวิทยาลัย, 2540.

_________ . พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 2. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหา

มกุฏราชวิทยาลัย, 2531.

_________ . พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 3, พิมพ์ครั้งที่ 15, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหา

มกุฏราชวิทยาลัย, 2535.

_________ . พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 4, พิมพ์ครั้งที่ 17, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหา

มกุฏราชวิทยาลัย, 2549.

_________ . มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราช

วิทยาลัย, 2530.

_________ . มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม 2. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราช

วิทยาลัย,2538.

_________ . มังคลัตถทีปนี แปล เล่ม 5. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราช

วิทยาลัย, 2540.

_________ . อภิธัมมัตถสังคหบาลี และอภิธัมมัตถวิภาวินีฏีกา ฉบับแปลเป็นไทย. พิมพ์ครั้งที่ 6.

กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2539.

วศิน อินทสระ. หลักคำสอนสำคัญในพระพุทธศาสนา (พระพุทธศาสนาเถรวาท).

พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์บรรณาคาร, 2535.

 

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML