อัตตวรรค คือ หมวดตน
อตฺตา หเว ชิตํ
เสยฺโย. ขุ.ธ. ๒๕/๒๙
ชนะตนนั่นแหละเป็นดี.
ในโลกนี้ไม่มีใครต้องการที่จะเป็นผู้พ่ายแพ้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ทุกคนต่างก็มุ่งหวังที่จะเป็นผู้ชนะร่ำไป เช่น ต้องการชนะเหล่าศัตรู ต้องการเล่นชนะพนัน เป็นต้น แต่การชนะเหล่านี้ ถือว่าเป็นการชนะไม่เด็ดขาด เพราะยังต้องกลับมาแพ้ได้อีก แต่สำหรับผู้ที่ชนะตนเองได้ คือ สามารถตัดความโลภ ความโกรธ ความหลงของตนเสียได้ จนเข้าถึงสันติสุข คือ พระนิพพาน จึงจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ชนะที่แท้จริง ไม่ต้องกลับมาแพ้อีก.
อตฺตา หิ กิร
ทุทฺทโม. ขุ.ธ. ๒๕/๓๖
ได้ยินว่าตนแลฝึกได้ยาก.
การฝึกหัดตนให้อยู่ในอำนาจ คือ ให้ดำรงมั่นในวิถีทางที่ดี ที่ถูกต้อง และฝึกให้ยิ่งขึ้นไป จนสามารถละกิเลสได้นั้นเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง เพราะว่าตนตัวเรามันวอกแวกไปตามอารมณ์ที่รับทราบ และยินดีในอารมณ์ฝ่ายต่ำได้ง่าย ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ก่อความทุกข์ให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการที่จะฝึกหัดให้ตนเองชนะอารมณ์เหล่านี้ให้มาดำรงอยู่ในทางที่ดีทางเดียว จึงทำได้ยากยิ่ง.
อตฺตา สุทนฺโต
ปุริสสฺส โชติ. สํ.ส. ๑๕/๒๔๘
ตนที่ฝึกดีแล้ว
ย่อมเป็นแสงสว่างของบุรุษ.
การฝึกตนนั้น หมายถึง ทำให้เรียบ ทำให้ละพยศ ทำให้ตรง เมื่อฝึกไปโดยสม่ำเสมอ ก็สามารถจะดัดตนไม่ให้หลงมัวเมาในทางที่คด คือ กิเลสตัณหา และไม่ให้กิเลสตัณหาครอบงำได้ บุคคลผู้ฝึกตนได้อย่างนี้ย่อมรุ่งเรือง มีปัญญาเป็นแสงสว่างกำจัดความมืด คือ อวิชชา และรู้จักทางที่ประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีต่อไป ไม่ให้ตกลงไปในหลุมพราง คือ กิเลส และตัณหาอีก.
อตฺตา หิ อตฺตโน
นาโถ. ขุ.ธ. ๒๕/๓๖, ๖๖
ตนแล
เป็นที่พึ่งของตน.
ตน ในที่นี้ หมายถึง กุศลกรรมที่เราได้ประพฤติปฏิบัติมา กุศลกรรมหรือความดีเท่านั้น จึงจะเป็นที่พึ่งของเราได้ เช่น บุคคลผู้ตั้งในศีลธรรม หมั่นประกอบความดี มีชื่อเสียงเกียรติยศปรากฎเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป และเมื่อเวลาตายไปแล้วย่อมไปสู่สุคติ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ใครทำกรรมใดไว้ คนนั้นก็ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น.
อตฺตา หิ อตฺตโน คติ. ขุ.ธ. ๒๕/๖๖
ตนเทียว
เป็นคติของตน.
คติ หมาถึง ทางเป็นที่ไปมีอยู่ ๒ ทาง คือ สุคติ ทางดี และทุคติ ทางชั่ว บุคคลจะไปสู่ทางดีหรือชั่วก็ขึ้นอยู่กับกรรม คือ การกระทำของตน ถ้าตนทำดีก็จะไปสู่ทางที่ดี ถ้าทำชั่วก็ไปสู่ทางที่ไม่ดี สัตว์โลกล้วนไปตามกรรมของแต่ละคน กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ให้ดี เลว และประณีต เพราะฉะนั้น เราจงทำตัวของเราให้ตั้งอยู่ในคุณความดี เพราะว่าตนเท่านั้นเป็นคติของตน.
อตฺตา หิ ปรมํ ปิโย. องฺ.สตฺตก. ๒๓/๙๙
ตนแล
เป็นที่รักอย่างยิ่ง.
ตน ในที่นี้ หมายถึง กายกับใจมารวมกัน คนเราทุกวันนี้รักตัวเองมาก จนถึงกับเห็นแก่ตัว พยายามทุกอย่างเพื่อสนองความสุขความสบายของตัวเอง ถึงแม้จะทำสิ่งที่ผิดต่อศีลธรรม และกฎหมายก็ย่อมทำ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เป็นการรักตนเองที่ถูกต้องเลย บุคคลผู้รักตนเองที่แท้จริงนั้น ต้องทำความดีแก่ตนเอง และพยายามนำตนเองออกจากวังวน คือ วัฏสงสารให้ได้ จึงจะชื่อว่า รักตนเองอย่างถูกต้อง.
นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ. สํ.ส. ๑๕/๙
ความรัก (อื่น) เสมอด้วยตนไม่มี.
ความรักตนเอง คือ การพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่ตน เพื่อจะทำตนให้สุขสบายไม่ต้องลำบาก ถึงแม้เราจะรักคนอื่นหรือวัตถุสิ่งอื่นสักเพียงใด แต่ก็ไม่เท่ากับการที่เรารักตนเอง เมื่อตนหิวเราก็หาอาหารมาปรนปรือหรือต้องการอะไรก็หามาให้ เอาอกเอาใจทุกอย่าง แต่นี้เป็นเพียงการรักตนเองอย่างธรรมดาเท่านั้น ถ้ารักมาก และรักอย่างถูกต้อง ต้องพยายามหาหนทางที่จะนำตนเองออกจากกิเลสตัณหาให้ได้ ถึงจะเป็นการรักตนเองอย่างแท้จริง.
อตฺตนา ว กตํ ปาปํ
อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ. ขุ.ธ. ๒๕/๓๗
ตนทำบาปเอง
ย่อมเศร้าหมองเอง. ขุ.มหา. ๒๙/๓๗, ขุ.จู.
๓๐/๑๑๖
การทำบาป หมายถึง การทำความชั่วร้าย ความเลว ความไม่ดีทุกชนิดที่เรียกว่า ทุจริต มี ๓ อย่าง คือ กายทุจริต ทำความชั่วด้วยกาย, วจีทุจริต ทำความชั่วด้วยวาจาและมโนทุจริต ทำความชั่วด้วยใจ มนุษย์ทั้งหลายรู้ทั้งรู้ว่า บาปมันไม่ดี ก็ยังขืนทำอยู่อีก เพราะมันฝึกตนเองไม่ได้ บาปนั้น ถ้าเราทำมันเอง มันก็เปื้อนตัวเราเองฉันนั้นเช่นกัน.
อตฺตนา อกตํ ปาปํ อตฺต
ว วิสุชฺฌติ. ขุ.ธ. ๒๕/๓๗
ตนไม่ทำบาปเอง
ย่อมหมดจดเอง. ขุ.มหา. ๒๙/๓๗, ขุ.จู.
๓๐/๑๑๖
บาป หมายถึง ความชั่วทุกชนิด ที่บุคคลไปทำเข้าแล้วนำความเดือดร้อนมาให้ บาปจะให้ผลเฉพาะแก่ผู้กระทำเท่านั้น ชนทั้งหลายทั้งที่รู้ว่า บาปมันไม่ดีแต่ก็ยังทำ มีสาเหตุมาจากยังไม่สามารถฝึกหัดหรือดัดตนได้ จึงตกไปอยู่ใต้อำนาจอกุศลมูล ๓ อย่าง คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ชักนำให้ทำแต่ความชั่ว เมื่อตนสามารถดัดตนได้แล้ว ก็จะสามารถบังคับตนไม่ให้ตกไปในอำนาจของอกุศลมูลอีก จึงทำให้เป็นผู้หมดจดบริสุทธิ์ เพราะไม่ได้ก่อกรรมทำบาปอีกต่อไปแล้ว.
อตฺตตฺถปญฺญา อสุจี
มนุสฺสา. ขุ.สุ. ๒๕/๓๓๙
มนุษย์ผู้เห็นแก่ประโยชน์ตน
เป็นคนไม่สะอาด.
ประโยชน์ ในที่นี้ หมายถึง ผลตอบแทนจากการกระทำนั้นๆ มี ๒ ชนิด คือ ประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์ส่วนรวม มนุษย์ทั้งหลายถ้าจะอยู่ร่วมกันเป็นสุข ต้องทำประโยชน์ทั้งของส่วนตัวทั้งของส่วนรวม คนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวอย่างเดียวนั้น เขาจะทำเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเท่านั้น ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนผู้อื่น เรียกว่า คนเห็นแก่ตัว เป็นคนสกปรกไม่สะอาด จึงเป็นคนที่ถูกตำหนิติเตียน.
อตฺตานํ ทมยนฺติ
ปณฺฑิตา. ม.ม. ๑๓/๔๘๗
บัณฑิต ย่อมฝึกตน. ขุ.ธ. ๒๕/๒๕, ขุ.เถร. ๒๖/๓๘๙
คำว่า ฝึก หมายถึง การทำให้เรียบ ให้ละพยศ ทำให้ตรง เหมือนนายช่างไม้ดัดไม้ฉะนั้น ในทางโลก การฝึก หมายถึง การฝึกตนให้ตรงต่อเวลา ตรงต่อหน้าที่ ให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม และทำใจให้เข้มแข็งพอที่จะสู้กับอำนาจฝ่ายต่ำได้ เป็นต้น ในทางธรรม หมายถึง การฝึกกาย วาจา ใจ ให้ตามทางที่ถูกต้อง ธรรมดาจิตมักกวัดแกว่ง ดิ้นรน วอกแวก และระวังได้ยาก จึงต้องหมั่นสำรวมกาย วาจา ใจ ให้มากไว้ เมื่อหมั่นสำรวมระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา ย่อมพ้นจากทุกข์ได้ และบัณฑิตท่านก็ทำเช่นนั้น.
อตฺตานํ ทมยนฺติ สุพฺพตา. ขุ.ธ. ๒๕/๓๔
ผู้ประพฤติดี
ย่อมฝึกตน.
คำว่า ประพฤติดี ทางโลก หมายถึง การทำคุณงามความดี ทำประโยชน์แก่ตนเอง และผู้อื่น ประกอบหน้าที่การงานที่ไม่ผิดกฎหมาย เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ เป็นต้น ส่วนทางธรรม หมายถึง การตั้งอยู่ในศีลธรรม หมั่นสำรวมกาย วาจา ใจ ให้หมดจดจากกิเลส เป็นต้น บุคคลผู้ประพฤติดีเหล่านี้ ต้องผ่านการฝึกฝนตนเองมาแล้วทั้งนั้น จากที่ไม่เคยประพฤติดีมาเลย ก็ค่อยๆ ฝึกทีละนิด ให้ยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่จนถึงขั้นสูงสุด คือ นิพพาน ไม่ให้ตนตกไปในบ่วงแห่งมารได้ จึงชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติดี.
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทลฺลภํ. ขุ.ธ. ๒๕/๓๖
ผู้มีตนฝึกดีแล้ว
ย่อมได้ที่พึ่งซึ่งหาได้ยาก.
ผู้ฝึกตนดีแล้ว คือ ผู้ที่ทำตนให้เรียบ ให้ละพยศ ให้ตรงได้แล้ว และกำจัดกิเลส คือ ละความโลภ ความโกรธ ความหลงได้แล้ว รู้เท่าทันตามสะภาวะแห่งความเป็นจริง คลายอุปาทาน ความยึดมั่นว่าเราว่าเขาเสียได้ แล้วจะได้ที่พึ่งซึ่งหาได้ยาก คือ มรรค ผล นิพพาน ทำให้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า นอกจากจะได้ที่พึ่งอันเป็นที่พึ่งที่หาได้ยากแล้ว ยังได้ชื่อว่า เป็นผู้ประเสริฐในหมู่มวลมนุษย์อีกด้วย.
โย รกฺขติ อตฺตานํ รกฺขิโต ตสฺส พาหิโร. องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๔๑๗
ผู้ใดรักษาตนได้แล้ว
ภายนอกของผู้นั้นก็เป็นอันรักษาด้วย.
คำว่า ตน ในที่นี้ หมายถึง จิตหรือใจ ดังนั้น การรักษาตนในที่นี้จึงหมายถึง การรักษาจิตใจให้เบาบางจากเรื่องที่เป็นอกุศล คือ สามารถระมัดระวังควบคุมจิต ซึ่งอยู่ภายในให้ดำเนินถูกทางได้แล้ว ภายนอก คือ กายกับวาจา ก็เป็นอันถูกควบคุมรักษาได้ไปด้วย ให้แสดงแต่พฤติกรรมที่กุศลตามที่จิตดำเนินอยู่ เพราะว่า ตัวตนเรานี้มีใจเป็นประธาน มีใจเป็นใหญ่.
อตฺตานญฺเจ ปิยํ ชญฺญา รกฺเขยฺย น สุรกฺขิตํ. ขุ.ธ. ๒๕/๓๖
ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก
ก็ควรรักษาตนนั้นให้ดี.
การรักษาตน ในที่นี้ ได้แก่ การประกอบตนมิให้ตกไปในอบายมุขหรืออุปกิเลส พยายามถนอมรักษาตนเหมือนมารดาถนอมบุตร ฉะนั้น ถ้าสามารถถนอมตนให้ดีตลอดทั้ง ๓ วัย คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย ก็ชื่อว่า รักษาตนด้วยดีตลอดไป อย่าหลงประมาท และหลงมัวเมา ในวัยใดวัยหนึ่ง ประการสำคัญ ต้องหมั่นฝึกอบรมตนให้ตั้งอยู่ในคุณความดี อันเป็นคุณธรรมอันประเสริฐในหมู่มนุษย์ด้วยกัน และรักษาความดีของตนได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย.
ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ จิตฺตเกฺลเสหิ ปณฺฑิโต. สํ.มหา. ๑๙/๒๙
บัณฑิตพึงทำตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองจิต. ขุ.ธ. ๒๕/๒๖
บัณฑิต ในที่นี้ หมายถึง ท่านผู้มีปรีชาญาณ อีกนัยหนึ่งได้แก่ ท่านผู้มีปัญญา ฉลาด รอบรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ ประพฤติตนให้หมดจดจากกิเลสทั้งปวง คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เพราะคนเราเมื่อถูกกิเลสครอบงำแล้ว ก็ทำให้จิตเศร้าหมอง เมื่อจิตเศร้าหมองขุ่นมัวแล้ว จะพูดก็ตาม คิดก็ตาม ย่อมเป็นไปแต่ในทางที่ผิด เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองจิตอยู่เสมอ.
อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา ยถญฺญมนุสาสติ. ขุ.ธ. ๒๕/๓๖
ถ้าพร่ำสอนผู้อื่นฉันใด
ก็ควรทำตนฉันนั้น.
ผู้พร่ำสอนที่ดีนั้น ต้องเป็นทั้งผู้แนะ และผู้นำ ผู้แนะ คือ ผู้ชี้ทางให้รู้ว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ เป็นผู้นำ คือ ทำตัวให้เป็นแบบฉบับที่ดี ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม หาเลี้ยงชีพโดยสุจริต เป็นต้น เมื่อทำได้ดังนี้ จะพร่ำสอนใครเขาก็จะยินดีรับฟัง และปฏิบัติตาม แต่การที่จะปฏิบัติตนให้ได้ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จะต้องเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ลืมตัว มีสติอยู่เสมอ จึงชื่อว่า เป็นผู้พร่ำสอนที่ดี.
อตฺตนา
โจทยตฺตานํ. ขุ.ธ. ๒๕/๖๖
จงเตือนตนด้วยตนเอง.
การเตือนตน คือ การพร่ำสอนตนให้มีสติสัมปชัญญะขึ้นมา เพื่อเพื่อเตือนตนให้รู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควรทำหรือไม่ควรทำ และพยายามคอยสอดส่องดูโทษ ความผิดพลาด และข้อบกพร่องของตนเองอยู่เสมอ ไม่ต้องให้ใครมาคอยเตือน พร้อมทั้งอย่ามัวไปคอยเพ่งดูโทษหรือความผิดของผู้อื่นอยู่ จงหมั่นตรวจดูความผิดของตนเองอยู่ทุกเมื่อ เมื่อเราพยายามเพ่งจับผิดตนบ่อยๆ ความผิดมันก็จะไม่เกิดขึ้นหรือถ้าเกิดก็เกิดขึ้นน้อย และเมื่อพบแล้วต้องใช้สติปัญญาแก้ไขความผิดนั้นให้หมดไป โดยไม่ทำความผิดขึ้นอีก.
ปฏิมํเสตมตฺตนา. ขุ.ธ. ๒๕/๖๖
จงพิจารณาตนด้วยตนเอง.
เบื้องต้นพึงเข้าใจการพิจารณาเสียก่อน การพิจารณา หมายถึง การเอาสติปัญญาไปเพ่งเพื่อให้รู้ชัด ให้เข้าใจในสิ่งนั้นๆ แต่ในที่นี้ หมายความถึงการพิจารณาตน ตน ในที่นี้ หมายถึง กายกับใจรวมกัน เพื่อให้รู้แจ้งว่า ตอนนี้มันเป็นอย่างไร ทำอะไรอยู่ พอรู้แล้วก็พยายามฝึกบังคับ คือ ชักดึงให้มันดำเนินไปในทิศทางที่ดี ไม่ให้หลงไปในทางเสื่อมเสียได้ จึงได้ชื่อว่า พิจารณาตนอย่างถูกต้อง.
ทุคฺคา
อุทฺธรถตฺตานํ ปงฺเก สนฺโน กุญฺชโร. ขุ.ธ. ๒๕/๕๘
จงถอนตนขึ้นจากหล่ม
เหมือนช้างตกหล่มถอนตนขึ้นฉะนั้น.
คำว่า หล่ม ในที่นี้ หมายถึง กิเลสตัณหานั่นเอง การที่จะถอนตนขึ้นจากหล่มนั้น ต้องพิจารณาดูความประพฤติทางกาย วาจา ใจ ถ้าเห็นว่า ประพฤติไปในทางที่ชั่ว ก็พยายามถอนตนขึ้นจากหล่ม คือ ความชั่วนั้น ด้วยการประกอบสุจริต ๓ คือ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต แต่ถ้าเห็นว่า ประพฤติตนไปในทางที่ดี ก็พยายามทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั้งถอนตนขึ้นจากหล่ม คือ กิเลสได้โดยเด็ดขาด เหมือนช้างที่ตกหล่มแล้วถอนตัวขึ้นจากหล่มฉะนั้น.
อตฺตานุรกฺขี
ภว มา อฑยฺหิ. ขุ.ชา. ปกิณฺณก. ๒๗/๓๗๒
จงเป็นผู้ตามรักษาตนอย่าให้เดือดร้อน.
กายกับใจรวมกัน เรียกว่า ตน ฉะนั้น การรักษาตน ก็คือ การรักษากายและใจนั้นเอง ซึ่งมีอยู่ ๒ ทาง คือ ภายนอก และภายใน ภายนอก ได้แก่ การที่พยายามหลีกเว้นจากการพูด และการทำ ซึ่งเป็นเหตุก่อความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้ รวมทั้งดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์อยู่เสมอ ภายใน ไดแก่ รักษาจิตใจให้สะอาด ปราศจากมลทิน คือ กิเลสตัณหา ทั้งอย่างหยาบไปจนกระทั่งถึงอย่างละเอียด ไม่ให้ครอบงำได้ จึงจะเป็นการรักษาตนให้สะอาดทั้งภายนอก และภายใน.
อตฺตานญฺจ
น ฆาเตสิ. ขุ.ชา. มหา. ๒๘/๒๗๙
อย่าฆ่าตนเสีย.
คำว่า ฆ่า หมายถึง การทำให้ตาย แต่ในที่นี้ การฆ่าตน หมายถึง การทำให้ตายจากคุณความดี ทำตนให้เลวลงกว่าเดิม คือ เป็นคนหลงมัวเมาในอบายมุข เช่น เป็นนักเลงสุรา เป็นต้น เขาเรียกคนแบบนี้ว่า ตายทั้งเป็น เพราะฉะนั้น เราอย่าฆ่าตนเองด้วยการทำความชั่วหรือทำตัวให้เลวลงเลย ควรส่งเสริมตนด้วยการประกอบคุณงามความดีตลอดทั้ง ๓ วัย คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย โดยสม่ำเสมอ.
อตฺตานํ
น ทเท โปโส. สํ.ส. ๑๕/๖๐
บุรุษไม่พึงให้ซึ่งตน.
ไม่พึงให้ซึ่งตน หมายความว่า ไม่พึงปล่อยตนเอง อธิบายว่า การปล่อยตน คือ การไม่รักษาภาวะของตนให้คงที่หรือให้ยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม มีแต่ทำตนให้ตกอยู่ในทางที่ต่ำเสมอ ตนมีดีอยู่แล้วก็ไม่รักษาความดีให้ยั่งยืน ฉะนั้น จงหมั่นฝึกตนอย่าให้ใจของตนไปหลงใหลในสิ่งที่ไม่ดีด้วยการข่มไว้ฝืนไว้ การฝึกใจตนได้ดังนี้แล้วจะมีตน คือ คุณความดีเป็นที่พึ่งไปตลอดกาล.
อตฺตานํ น ปริจฺจเช. สํ.ส. ๑๕/๖๐
บุรุษไม่พึงสละเสียซึ่งตน.
การไม่สละตน คือ ไม่ปล่อยตนให้ไปตามอำนาจกิเลสหรือไม่ปล่อยเวลาอันมีค่าของตนโดยเปล่าประโยชน์ เพราะว่าผู้ที่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป ชื่อว่า อยู่ด้วยความประมาท ผู้ที่ปล่อยตนไปตามอำนาจกิเลส ชื่อว่า ปล่อยตนเป็นทาส ปล่อยกาย วาจา และใจ ให้กิเลสเป็นผู้ชักนำ บัญชาการ เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมจะมีแต่ความเสื่อมโดยส่วนเดียว เพราะกิเลสจะทำให้เลวลงกว่าเดิม ควรจะสละตนไปในทางที่ดี มีการประกอบสุจริต ๓ เป็นต้น จึงจะทำตนให้ดำเนินไปสู่ทางที่ดี ที่เจริญ.
อตฺตานํ
นาติวตฺเตยฺย. ขุ.ชา. ตึส. ๒๗/๕๐๓
บุคคลไม่ควรลืมตน.
คำว่า ลืมตัวลืมตน พูดตามหลัก คือ เป็นคนหลงมัวเมา ไม่รู้เท่าทันความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ท้ายที่สุดก็ต้องดับต้องสลายไปตามกาลเวลา หากไม่รีบขวนขวายทำความดีแล้ว ผู้ที่ลืมตัวมักไม่นึกถึงฐานะของตนว่าแค่ไหน เพียงไร มักทำเกินฐานะที่เป็นอยู่ เคยทุกข์กลับมั่งมีก็มักจะลืมภาวะเดิม กลายเป็นคนเมาลาภ เมายศ เมาอำนาจ ไม่นึกว่า สิ่งที่ตนได้มานั้นจะต้องเสื่อมไปในภายหลัง เพราะฉะนั้น บุคคลที่ไม่หลงตน ต้องประกอบด้วยสติ และความไม่ประมาทอยู่ตลอดเวลา.
อตฺตทตฺถํ
ปรตฺเถน พหุนาปิ น หาปเย. ขุ.ธ. ๒๕/๓๗
ไม่ควรพร่ำประโยชน์ตน
เพราะประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก.
ประโยชน์ แปลว่า สิ่งที่พึงได้พึงถึง มี ๓ อย่าง คือ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ภพนี้, สัมปรายิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ในภพหน้า และปรมัตถประโยชน์ ประโยชน์อย่างยอดเยี่ยม รวมกันเป็นประโยชน์ส่วนตัว และประโยชน์ส่วนรวม ท่านสอนว่า ให้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน ทำประโยชน์ส่วนตนให้สำเร็จก่อน แล้วจึงไปทำประโยชน์ของผู้อื่นตามสมควรแก่กำลังความสามารถของตนอย่างเต็มที่ในภายหลัง.
อตฺตานญฺเจ
ปิยํ ชญฺญา น นํ ปาเปน สํยุเช. สํ.ส. ๒๕/๑๐๔
ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก
ก็ไม่ควรประกอบตนนั้นด้วยความชั่ว.
ถ้าจะเปรียบความรักระหว่างตัวเอง และผู้อื่นแล้ว ความรักตัวเองนั้นมีมากยิ่งกว่ารักผู้อื่น และวัตถุอื่นๆ ทั้งหมด เมื่อรักตนเองมาก ก็จงรักตัวเองให้ถูกทาง ไม่ให้ไปหลงมัวเมาในสิ่งอันนำมาซึ่งความทุกข์ ความเดือดร้อน มียาเสพติด เป็นต้น อันเป็นความชั่ว เป็นการทำตัวเองให้ตกต่ำลง จงพยายามพาตนให้ได้รับแต่สิ่งที่ดีๆ เช่น ฝึกหัดบังคับตนให้ทำความดี ถึงว่ามันจะยากก็ตาม ก็ไม่ท้อถอย ไม่เอนเอียงไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาที่ชักนำให้ทำแต่ความชั่ว เช่นนี้จึงจะได้ชื่อว่า เป็นผู้รักตนอย่างแท้จริง.
ยทตฺตครหึ
ตทกุพฺพมาโน. ขุ.สุ. ๒๕/๔๘๖
ติตนเองเพราะเหตุใด
ไม่ควรทำเหตุนั้น.
การที่จะติเตียนหรือสั่งสอนอบรมตนเอง จะต้องไม่ลำเอียงเข้าข้างตน ต้องวางตนให้เป็นกลาง พิจารณาตนเองโดยเหตุผล ถ้าพบความผิดหรือความไม่ดีของตนก็ติเตียนตนเองด้วยให้สัญญาสิ่งใดไว้กับตนแล้วก็จงรักษาสัญญานั้น เช่น สัญญาว่าจะไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ก็ต้องไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า จึงจะนำพาตนให้มีความสุข ความเจริญได้.
-------------------------------------------
เอกสารและสิ่งอ้างอิง
คณาจารย์แห่งโรงพิมพ์เลี่ยงเชียง. พุทธศาสนสุภาษิต
เล่ม ๑ ฉบับมาตรฐาน, กรุงเทพ
ฯ : โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง,
๒๕๕๐.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น