สมมติสัจจะมีอยู่จริง
สิ่งที่มีอยู่จริงในพุทธศาสนานิกายเถรวาทมีอยู่
2 ระดับ สิ่งที่มีอยู่จริงในระดับเบื้องต้นหรือระดับสมมติสัจจะนี้ พุทธศาสนายอมรับว่า
เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แต่ยอมรับว่า มีอยู่จริงอย่างสมมติเท่านั้น
เพราะโดยสภาวะที่แท้จริงของความจริงในระดับนี้ไม่มี
เป็นเพียงความจริงที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อความหมายให้เข้าใจกันในหมู่มนุษย์
ในพระไตรปิฎกไม่ได้แบ่งความจริง 2
ระดับนี้ คือ สมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะไว้อย่างชัดเจน
เพียงแต่กล่าวถึงลักษณะของความจริงด้วยคำว่า สัจจะบ้าง สัจฉิกัตถปรมัตถ์บ้าง
ปรมัตถสัจจะบ้าง อริยสัจบ้าง
แต่เมื่อพิจารณาถึงลักษณะคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างละเอียดแล้ว ก็จะพบความจริง 2
ระดับนี้ในคำสอนของพระพุทธเจ้าการที่ท่านไม่ได้แบ่งความจริง 2
ระดับนี้ไว้ชัดเจนในครั้งนั้น คงเป็นเพราะว่าคนในสมัยนั้นคงเข้าใจความจริงทั้ง 2
ระดับนี้อย่างแจ่มแจ้งแล้วหรือคงจะไม่มีใครสงสัยความจริง 2
ระดับนี้ในคำสอนของพระพุทธเจ้า
ต่อมาภายหลังเพื่อที่จะไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องความจริงทั้ง 2 ประเภทนี้
ท่านจึงแบ่งไว้อย่างชัดเจนในคัมภีร์ชั้นรองลงมาจากพระไตรปิฎก
คำว่า สมมติสัจจะ แยกเป็น 2 คำ คือ
สมมติ + สัจจะ สัจจะ แปลว่า ความจริง สมมติ แปลว่า การรู้ร่วมกัน การตกลงกัน
การมีมติร่วมกันหรือยอมรับร่วมกัน(1) ดังนั้น สมมติสัจจะ จึงแปลว่า
ความจริงที่มีมติร่วมกัน รู้ร่วมกัน ตกลงกัน และยอมรับร่วมกันอย่างนั้น
คำบัญญัติว่า “สมมติสัจจะ” นี้ปรากฏในพระไตรปิฏกเพียงแห่งเดียว คือ ในสัมมติญาณกถาว่า ป.
บุคคลผู้เข้าสมาบัติมีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ มีญาณและปฐวีกสิณเป็นสมมติสัจจะ
มิใช่หรือ ส. ถูกแล้ว ป. หากว่า บุคคลผู้เข้าสมาบัติมีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์
มีญาณและปฐวีกสิณ เป็นสมมติสัจจะ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงต้องกล่าวว่า
ญาณในสมมติมีสัจจะเป็นอารมณ์เท่านั้น ไม่มีธรรมอื่นเป็นอารมณ์(2)
สมมติสัจจะ (Conventional Reality) คือ
ความจริงโดยสมมติ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โวหารสัจจะ
ความจริงโดยโวหารหรือโดยสำนวนพูด คือ จริงตามมติร่วมกัน ตามที่ได้ ตกลงกันไว้
หรือหมายรู้ร่วมกัน เป็นเครื่องมือสื่อสาร พอให้สำเร็จประโยชน์ในชีวิต ประจำวัน
เช่น คน สัตว์ คนดี คนชั่ว โต๊ะ เก้าอี้ หนังสือ เป็นต้น เช่น ภาษาสามัญพูดว่า น้ำ
ว่าเกลือ เป็นต้น(3)
พระพุทธเจ้าทรงใช้ภาษาที่มนุษย์ใช้พูดกันในสมัยพุทธกาลเป็นเครื่องมือในการแสดงธรรมของพระองค์
เพื่อให้มนุษย์เข้าใจในพระธรรมเทศนาเท่านั้น แต่ไม่ให้ยึดติดในสมมติภาษานั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในโปฏฐปาทสูตรที่แสดงถึงการได้อัตตาหยาบหรือละเอียดนั้นว่า
เป็นชื่อตามโวหารของโลกเท่านั้นว่า ดูกรจิตตะ เหล่านี้แลเป็นชื่อตามโลก
เป็นภาษาของโลก เป็นโวหารของโลก เป็นบัญญัติของโลก ที่ตถาคตกล่าวอยู่ มิได้ยึดถือ(4)
และดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ในปุปผสูตร
พระสูตรที่ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงไม่ขัดแย้งกับโลกว่า …ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราย่อมไม่ขัดแย้งกับโลก แต่โลกย่อมขัดแย้งกับเราผู้กล่าวเป็นธรรมย่อมไม่ขัดแย้งกับใครๆ
ในโลก สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่าไม่มี แม้เราก็กล่าวสิ่งนั้นว่า ไม่มี
สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่า มีแม้เราก็กล่าวสิ่งนั้นว่า มี(5)
ความจริงในระดับเบื้องต้นในพุทธศาสนานี้
เป็นความจริงที่เนื่องด้วยประสาทสัมผัสที่ทุกคนรับรู้แล้วสมมติศัพท์บัญญัติขึ้นใช้เรียกกันโดยทั่วไป
เรียกว่า ความจริงโดยการสมมติ (สมมติสัจจะ)
ซึ่งเป็นความจริงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา และสิ่งแวดล้อม
หรือองค์ประกอบต่างๆ
สมมติสัจจะเป็นความจริงที่เกิดขึ้นเพราะมนุษย์เป็นผู้กำหนดแต่งตั้งขึ้น
แต่การกำหนดแต่งตั้งนี้ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับของบุคคลโดยทั่วไป ยิ่งนานวันสิ่งที่มนุษย์บัญญัติสมมติขึ้นมีอยู่มากมายจนนับไม่ถ้วน
และในบรรดาสิ่งที่มนุษย์บัญญัติสมมติเรียกนั้น
บางครั้งเราจะสังเกตเห็นว่ามนุษย์ต่างภาษาต่างเผ่าพันธุ์ต่างก็สมมติเรียกวัตถุชนิดเดียวกันต่างกันออกไปอีก
เช่น วัตถุชนิดหนึ่งสำหรับใช้เป็นที่บันทึกตัวอักษรให้รู้ เรื่องราว
คนไทยสมมติเรียกวัตถุชนิดนี้ว่า หนังสือ แต่วัตถุชนิดเดียวกันที่คนไทยเรียกว่าหนังสือนี้
คนอีกชาติหนึ่ง เช่น คนอังกฤษสมมติเรียกวัตถุชนิดนี้ว่า Book อย่างนี้เป็นต้น
ก็แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ต่างภาษาต่างเผ่าพันธุ์ ต่างก็สมมติเรียกวัตถุต่าง ๆ นั้นแตกต่างกัน
ออกไป เพราะภาษาในโลกนี้มีมากมายจนนับไม่ถ้วน
และภาษาที่สมมติเรียกกันนั้นก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้อีกตามกาลเวลา และการยอมรับของบุคคลในสังคมนั้นๆ
และในยุคนั้น ๆ ด้วยเรื่องภาษาถือว่า มีความสำคัญมากประการหนึ่ง
เราจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ได้อย่างเข้าใจแจ่มแจ้งก็ด้วยอาศัยภาษาที่มนุษย์บัญญัติขึ้น
แม้กระทั่งการเรียนรู้คำสอนในทางศาสนาก็ต้องอาศัยภาษาที่เป็นสมมติบัญญัตินี้เอง
มนุษย์บัญญัติภาษาขึ้นเรียกสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงคือภาษาพูด อักษร คือ ภาษาเขียนหรือสัญลักษณ์ใดๆ
ก็ตาม ล้วนบัญญัติขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสารให้รู้ความหมายในระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง
ดังนั้น
ภาษาที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกันในระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั้นถือว่า
มีความสำคัญ และจำเป็นเป็นอย่างมาก เพราะถ้าขาดสมมติบัญญัตินี้แล้ว
มนุษย์ก็สื่อความหมายกันไม่รู้เรื่อง ดังนั้น
ความจริงในระดับภาษาสมมตินี้จึงเรียกว่า ความจริงในระดับสมมติ (สมมติสัจจะ) สมมติสัจจะ
เป็นความจริงที่คนเรายึดถือกันอยู่ตามปกติและใช้เป็นที่หมายรู้กันการหมายรู้กันนี้ภาษาบาลีเรียกว่า
ปญฺญตฺติ = บัญญัติ แปลว่า การแต่งตั้ง บัญญัติ คือ สิ่งที่มนุษย์แต่งตั้งขึ้นแล้วกล่าวถึงกัน
รู้กัน ใช้กัน และนำมาคิดกันอย่างนั้นๆ สมมติสัจจะนี้เรียก อีกอย่างหนึ่งว่า ความจริงแบบบัญญัติก็ได้
คำว่า บัญญัติ แยกได้เป็น 2 คำ คือ ป . ญตฺติ สามารถวิเคราะห์ได้ 2 นัย ดังนี้ 1.
ปกาเรน ญาปิยตีติ ปญฺญตฺติ แปลว่า ย่อมรู้ได้ด้วยปการะ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า ปัญญัตติ
ได้แก่ อัตถบัญญัติโดยตรง และ2. ปกาเรน ญาเปตีติ ปญฺญตฺติ แปลว่า
ทำให้รู้ได้โดยปการะ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า ปัญญัตติ ได้แก่ สัททบัญญัติหรือนามบัญญัติ(6)
อีกนัยหนึ่ง บัญญัติ คือ คำเรียกขาน
ชื่อเรียก คำกำหนดที่วางไว้ เช่น ชื่อ เรียกว่า พื้นดิน ภูเขา รถ คน ทิศเหนือ หลุม
บ่อ เกาะ แหลม เป็นต้น ซึ่งตัวจริงของสิ่งที่บัญญัติเรียกนั้น เป็นของมีจริงก็มี
ไม่มีจริงก็มี แต่จะมีหรือไม่มีก็ตาม คำบัญญัตินั้นก็เป็นกาลวินิมุต คือ ไม่ขึ้นต่อกาล
และไม่พินาศ เช่น ช่องว่างที่ลึกลงไปในแผ่นดินเราเรียกว่า หลุม
ช่องเช่นนั้นมีที่ไหนเมื่อใดก็เรียกว่า หลุมคงที่เสมอไป แต่หลุมต่างหากจากช่องในแผ่นดินหามีไม่
และหลุมเองทุกๆ หลุมย่อมตื้นเขินย่อมพังย่อมเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นอื่นได้หรือ เช่น
สิ่งที่เรียกว่า สัญญาย่อมเกิดดับเสื่อมสลายไป แต่บัญญัติว่า สัญญาหาเสื่อมสลายไม่
เพราะสิ่งที่มีภาวะเช่นนั้นเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อใดก็เรียกว่า สัญญาเสมอไป (ถ้าได้ตกลงไว้เช่นนั้น)หรือเช่น
สิ่งที่เป็นร่างกายย่อมทรุดโทรมแตกสลายได้ แต่บัญญัติว่า กายย่อมคงที่
ของอย่างนั้นเกิดที่ไหนพบที่ไหนก็เรียกอย่างนั้นตามบัญญัติ(7)
สรุปว่า สิ่งที่มีอยู่จริงในระดับสมมติ
คือ ความจริงที่มนุษย์สมมติขึ้น
บัญญัติหรือแต่งตั้งขึ้นเป็นภาษาสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อความหมายให้เข้าใจกัน
สมมติสัจจะนี้มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น โลกบัญญัติ โลกสมัญญา โวหารสัจจะ
สมมติบัญญัติ ภาษาสมมติ เป็นต้น
ล้วนเป็นคำที่แสดงถึงความจริงในระดับสมมตินี้ทั้งสิ้น
สิ่งที่มนุษย์สมมติเรียกกันนี้กล่าวโดยย่อแล้วก็มีเพียง 2 อย่างเท่านั้น คือ นาม
กับ รูป มนุษย์สมมติเรียกนามรูปนี้ว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
และได้ยึดถือนามรูปนี้ว่า เป็นตัวเรา และของเรา จึงได้ชื่อว่า สมมติสัจจะ คือ
เป็นจริงในฐานะเป็นสิ่งสมมติ
ประเภทของสมมติสัจจะ ในพระไตรปิฏกท่านไม่ได้จัดประเภทของสมมติสัจจะไว้อย่างชัดเจนทีเดียว
แต่ปรากฏในคัมภีร์ชั้นรองลงมา ในอภิธัมมัตถสังคหบาลีท่านแบ่งสมมติสัจจะนี้ออกเป็น 2
ประเภท ดังนี้ 1. ปัญญาปิยัตตาบัญญัติ หรืออัตถบัญญัติ และ2. ปัญญาปนโตบัญญัติ
หรือนามบัญญัติ (สัททบัญญัติ)
ในอภิธัมมัตถสังคหบาลีว่า ตโต
อวเสสา ปญฺญตฺติฯ สา ปน ปญฺญาปิยตฺตา ปญฺญตฺติ ปญฺญา ปนโต ปญฺญตฺตีติ จ ทุวิธา
โหติ(8) แปลว่า ธรรมที่เหลือจากรูปนามทั้ง 2 ที่กล่าวมาแล้วนั้น
ท่านเรียกว่าบัญญัติ ฯ ก็ บัญญัตินั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ ปัญญาปิยัตตาบัญญัติ
(การแต่งตั้งเพราะต้องการรู้ความหมาย) 1 ปัญญาปนโนบัญญัติ
(การแต่งตั้งโดยให้รู้อรรถตามเสียง) 1 ปัญญาปิยัตตาบัญญัติ เป็นอรรถที่บัณฑิตพึงรู้โดยประการนั้นๆ
ได้แก่ อัตถบัญญัติที่รู้เนื้อความของโวหาร คือ ย่อมรู้ได้โดยประการของภาษาหรือสิ่งที่ทำให้รู้เนื้อความปัญญาปนโตบัญญัติ
รู้อรรถบัญญัติโดยประการทั้งหลาย ได้แก่ สัททบัญญัติ คือ รู้ได้ด้วยสัททะ (เสียง)
หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นามบัญญัติ(9)
ในอภิธัมมัตถสังคหบาลีท่านได้ให้ความหมายของบัญญัติทั้ง
2 ประเภทนี้ไว้ว่า บรรดาบัญญัตินามและรูปนั้น ฯ บัญญัติมี 2 อย่าง
ต่างโดยเป็นอรรถที่บัณฑิตควรกล่าว และเป็นศัพท์กล่าวอรรถ (ต่างโดยเป็นความหมาย และเสียง
คือ เนื้อความ และเสียง) เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์จึงได้กล่าวคำเป็นต้นว่า ปญฺญาปิยตฺตา
ดังนี้ ฯ คำว่า ปญฺญาปิยตฺตา ความว่า เพราะเป็นอรรถที่บัณฑิตพึงรู้ได้โดยประการนั้นๆ
ฯ ด้วยคำอันเป็นกัมมสาธนะนี้ ท่านอาจารย์กล่าวอรรถบัญญัติ คือ อุปาทาบัญญัติ
อันเป็นสมมติสัจจะ ซึ่งต่างโดยเป็นความประชุม และความสืบต่อเป็นต้น
แห่งธรรมทั้งหลายมีรูป เป็นต้น และความกำหนดพิเศษเป็นต้น ฯ แท้จริง ชื่อว่า
ปญฺญาปนโต คือ เพราะรู้อรรถบัญญัติโดยประการทั้งหลาย ฯ จริงอยู่
ด้วยคำที่เป็นกัตตุสาธนะนี้ ท่านกล่าวนามบัญญัติ คือ ชื่อของอรรถทั้งหลายอันได้นามว่า
บัญญัติ เพราะอรรถว่าให้รู้ได้(10)
วิธีสังเกตบัญญัติทั้ง 2 ประการนี้
ท่านกล่าวว่า ครั้งแรกเราได้ยินเสียงก่อนตามไวยากรณ์เรียกว่า สัททะ
ตามพระอภิธรรมเรียกว่า ปัญญาปนโตปัญญัตติ ต่อไปมโนทวารวิถีย่อมรู้ว่า เป็นเสียงเท่านั้น
เมื่อถึงตติยมโนทวารวิถีสามารถที่จะรู้นามเท่านั้น
เมื่อถึงวาระแห่งจตุตถวิถีก็รู้เนื้อความที่ได้ยิน คือ
ผู้ได้ยินสามารถเข้าใจข้อความทุกประการ ดังข้อความที่ปรากฏในแบบเรียนพระปรมัตถธรรมว่า
สทฺทํ ปฐมจิตฺเตน ตีตํ ทุติยเจตสา นามํ ตติยจิตฺเตน อตฺถํ จตุตฺถเจตสา.(11) แปลว่า
ได้ยินเสียงด้วยวิถีที่ 1 เมื่อเสียงดับไปแล้วเป็นอดีต
แต่ยังรับรู้ต่อไปได้อีกด้วยวิถีที่ 2 รู้จักชื่อด้วยวิถีที่ 3
รู้เนื้อความด้วยวิถีที่ 4 รวม 4 วิถี
ดังนั้น บัญญัติทั้ง 2
อย่างนี้มีความสัมพันธ์ที่อิงอาศัยซึ่งกัน และกัน
ศัพท์ทั้งหลายที่บัญญัติขึ้นต้องประกอบไปด้วยอัตถบัญญัติ และนามบัญญัติทั้ง 2
อย่างนี้ด้วยกันเสมอ จึงจะใช้สื่อสารเพื่อรู้ความหมายได้อย่างสมบูรณ์ บัญญัติ 2 ประการ
ดังนี้
ปัญญาปิยัตตาบัญญัติหรืออัตถบัญญัติ
ปัญญาปิยัตตาบัญญัติหรืออัตถบัญญัติ หมายถึง
การบัญญัติความหมายของสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยถือเอาเนื้อหาหรือเนื้อความของสิ่งนั้นเป็นหลักในการสร้างคำขึ้นมาออกเสียงเรียกชื่อ
เพื่อจะหมายรู้หรือทดแทนเนื้อความของสิ่งนั้นๆ หมายความว่า การบัญญัติตามใจความโดยถือเอาอรรถะของสิ่งที่ต้องการจะกล่าวถึงเป็นหลักในการบัญญัติ
เพื่อให้เกิดความเข้าใจโดยเนื้อความ ท่านจึงเรียกบัญญัติชนิดนี้ว่า อัตถบัญญัติ เมื่ออัตถบัญญัติเกิดขึ้นแล้ว
หลังจากนั้นมนุษย์ก็สร้างภาษา สร้างคำ สร้างวลีขึ้นเพื่อสมมติเรียกอัตถบัญญัตินั้น
เป็นชื่อต่างๆ การสร้างชื่อต่างๆ นี้ ท่านเรียกว่า นามบัญญัติ ปัญญาปิยัตตาบัญญัติหรืออัตถบัญญัตินี้เป็นบัญญัติชนิดหนึ่งที่อาศัยอาการของสิ่งต่างๆ
ที่วิปริตอยู่หรืออาศัยรูปร่างสัณฐานของสิ่งต่างๆ คือ ทั้งสิ่งที่มีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิต
เป็นหลักในการบัญญัติ ดังนั้น อัตถบัญญัติจึงแบ่งออกได้อีกเป็น 6 ประการ ดังนี้ 1.
สันตานบัญญัติ บัญญัติที่อาศัยการวิปริต คือความเปลี่ยนแปลง และสืบต่อของมหาภูตรูป
4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วสมมติบัญญัติศัพท์ขึ้นไว้ด้วยอาการนั้นๆ เช่น สมมติบัญญัติว่า
ภูมิ (แผ่นดิน ), ปัพพตะ (ภูเขา),
รุกขะ (ต้นไม้) เป็นต้น, 2. สมุหบัญญัติ
บัญญัติที่อาศัยการประชุมกันแห่งสัมภาระทั้งหลายแล้วสมมติบัญญัติศัพท์ไว้ด้วยอาการนั้นๆ
เช่น สมมติบัญญัติว่า รถะ (รถ), สกฏะ (เกวียน), เคหะ (บ้าน) เป็นต้น, 3. สัตตบัญญัติ
บัญญัติที่อาศัยการประชุมกันของขันธ์ทั้ง 5 แล้วสมมติบัญญัติศัพท์ไว้ด้วยอาการนั้นๆ
เช่น สมมติบัญญัติว่า ปุริสะ (บุรุษ), อิตถี (หญิง), ปุคคละ (บุคคล) เป็นต้น, 4. ทิสากาลาทิบัญญัติ
บัญญัติที่อาศัยความหมุนเวียนของพระอาทิตย์ และพระจันทร์ ยกย้ายเข้าออกแล้วสมมติบัญญัติศัพท์ไว้ด้วยอาการนั้นๆ
เช่น สมมติบัญญัติทิศว่า ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก เป็นต้น ชื่อว่า ทิสาบัญญัติ บัญญัติกาลเวลาว่า
เวลาเช้า, เวลาเย็น เป็นต้น ชื่อว่า กาลบัญญัติ บัญญัติเดือนว่า
วิสาขมาส เป็นต้น ชื่อว่า มาสาทิบัญญัติ, 5. อากาสบัญญัติ
บัญญัติที่อาศัยอาการที่มหาภูตรูปทั้ง 4 ไม่ติดต่อกันแล้ว คือ ไม่จดถึงกันแล้วสมมติบัญญัติศัพท์ไว้ด้วยอาการนั้นๆ
เช่น สมมติบัญญัติว่า กูปะ (หลุม), คูหะ (ถ้ำ) เป็นต้น และ6.
นิมิตตบัญญัติ บัญญัติที่อาศัยนิมิตของกัมมัฏฐาน และอาการวิเศษของภาวนาแล้วสมมติบัญญัติไว้ด้วยอาการนั้นๆ
เช่น สมมติบัญญัติว่า ปริกรรมนิมิต (นิมิตในบริกรรม),
อุคคหนิมิต (นิมิตติดตา), ปฏิภาคนิมิต (นิมิตเทียบเคียง) เป็นต้น(12)
ปัญญาปิยัตตาบัญญัติหรืออัตถบัญญัติที่ท่านจำแนกไว้เป็น
6 ประการนี้ เป็นการแสดงถึงที่มาของการเกิดขึ้นของอรรถบัญญัติในลักษณะต่างๆ
แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอรรถะทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้ซึ่งมีอยู่มากมาย
แต่ถึงอัตถบัญญัติจะมีอยู่มากเพียงใดก็ตาม
อัตถบัญญัติทั้งหมดนั้นก็มีลักษณะร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ
เป็นสิ่งที่มนุษย์บัญญัติสร้างขึ้น เพื่อแสดงเนื้อความหรือความหมาย เพื่อให้เป็นเหตุกล่าวกัน
เข้าใจกัน ร้องเรียกกันให้รู้ความหมายกันในระหว่างมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น
โดยผ่านทางสัททบัญญัติหรือนามบัญญัติบัญญัติทั้ง 6 ประการที่กล่าวมา
ล้วนเป็นโวหารที่อาศัยเนื้อความของอรรถะทุกอย่าง เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า
อัตถบัญญัติหรือปัญญาปิยัตตาปัญญัตติ
ปัญญาปนโตบัญญัติหรือนามบัญญัติ
(สัททบัญญัติ) หมายถึง บัญญัติที่ไม่ได้อาศัยเนื้อความเรียก
แต่อาศัยเสียงของผู้พูด คือ นามที่ผู้พูดส่งมาด้วยเสียง เช่น โค (โค) , หตฺถี (ช้าง) , อสฺโส (ม้า) เป็นต้น หมายความว่า นามบัญญัติเป็นสิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้นในลักษณะเป็นนาม
ชื่อ คำ วลีหรือเป็นสัญลักษณ์อื่นใดเพื่อที่จะสามารถสื่อความหมายของอรรถบัญญัติได้
นามบัญญัติ นี้ท่านแสดงด้วยนาม
นามกรรม นามเธยยะ นามนิรุตติ นามพยัญชนะ และนามภิลาปะ ในอภิธัมมัตถสังคหบาลีว่า ปญฺญาปนโต
ปญฺญตฺติ ปน นามนามกมฺมาทินาเมน ปริทีปิตา. แปลว่า ปัญญาปนโตบัญญัติ ย่อมแสดงด้วยนาม
นามกรรม เป็นต้น คำว่า นามกมฺมาทินาเมน ความว่า โดยชื่อ 6 อย่างนี้ คือ นาม
นามกรรม นามเธยยะ นิรุตติ พยัญชนะ และอภิลาป ฯ บรรดานาม เป็นต้น
สัททรูป ที่มีชื่อว่า นาม
เพราะอรรถว่าน้อมไปในอรรถทั้งหลาย ฯ นามนั้นมี 2 อย่าง
ด้วยอำนาจแห่งนามที่คล้อยตามอรรถและนามตามนิยมมี 4 อย่าง ด้วยสามารถแห่งสามัญญนาม
(ชื่อทั่วไป) คุณนาม (ชื่อตามคุณ) กิริยานาม (ชื่อตามการกระทำ) และยถิจฉนาม
(ชื่อตามใจชอบ) ฯ กรรม คือ นาม ชื่อว่า นามกรรม ฯ นามเธยยะ ก็อย่างนั้น ฯ การพูด
คือ การกล่าวอรรถออกโดยทางอักขระ ชื่อว่า นิรุตติ ฯ นามที่ชื่อว่า พยัญชนะ เพราะอรรถว่า
ประกาศอรรถ ฯ เสียงที่ชื่อว่า อภิลาป เพราะอรรถว่า (เป็นเสียง) ที่บุคคลพูด คือ
ลำดับแห่งการประชุมของอักษรที่ไปตามเสียง(13)
นามบัญญัตินี้ท่านแสดงโดยชื่อ มี 6
อย่าง คือ 1. นาม คือ สิ่งที่อรรถบัญญัติไหลมาสู่สัททบัญญัติ หมายความว่า เมื่อเราพูดหรือได้ยินเสียง
จิตใจของเราน้อมไปสู่คำแปล และเนื้อความ เสียงที่ได้ยินหรือได้พูดนั้น เรียกว่า นาม,
2. นามกรรม คือ การกระทำหรือกรรมนั่นเองชื่อว่า นามกรรม ได้แก่ นามบัญญัติที่คนสมัยโบราณได้กระทำไว้
เช่น คำว่า อิตฺถี, ปุริส เป็นต้น, 3.
นามเธยยะ คือนามบัญญัติที่คนสมัยโบราณตั้งไว้ เช่น คำว่า โค (โค), อสฺโส (ม้า) เป็นต้น, 4. นิรุตติ คือ นามบัญญัติที่ยังไม่ปรากฏ
บัญญัตินามขึ้นแล้วกล่าวไว้ เช่น คำว่า สุริโย (พระอาทิตย์), จนฺโท (พระจันทร์) เป็นต้น, 5. พยัญชนะ คือ สิ่งที่ท่านแสดงอรรถไว้ ได้แก่
อัตถบัญญัติต่างๆ เช่น ปพฺพโต (ภูเขา), วน (ป่า) เป็นต้น และ6.
อภิลาป คือ สิ่งที่มุ่งหมายไว้ ได้แก่ สัททบัญญัติต่างๆ
ที่มุ่งหมายอรรถหรือลำดับแห่งการประชุมของอักษรที่เป็นไปตามเสียง เช่น คำว่า
มนุสฺโส (มนุษย์), เทโว (เทวดา) เป็นต้น(14)
ปัญญาปนโตบัญญัติหรือนามบัญญัติจำแนกออกได้
6 ประเภท ด้วยอำนาจของ วิชชมานบัญญัติและอวิชชมานบัญญัติ ในอภิธัมมัตถสังคหบาลีว่า
นามบัญญัตินั้นมี 6 อย่าง คือ วิชชมานบัญญัติ (แต่งตั้งสิ่งที่มีอยู่) 1 อวิชชมานบัญญัติ
(แต่งตั้งสิ่งที่ไม่มีอยู่) 1 วิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ (แต่งตั้งสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่มี)
1 อวิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ (แต่งตั้งสิ่งที่มีกับสิ่งที่ไม่มี) 1
วิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ (แต่งตั้งสิ่งที่มีกับสิ่งที่มี) 1 อวิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ
(แต่งตั้งสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่ไม่มี) 1 ก็บรรดาบัญญัติ 6 นั้น ในเวลาใด
บัณฑิตทั้งหลายแต่งตั้ง (ประกาศ) รูปเวทนา เป็นต้น ซึ่งมีอยู่โดยปรมัตถ์ด้วยบัญญัตินี้
ในเวลานั้นบัญญัตินี้ท่านเรียกว่า วิชชมานบัญญัติ ฯ แต่ในเวลาใดบัณฑิตแต่งตั้ง
(ประกาศ) แผ่นดิน ภูเขา เป็นต้น ซึ่งไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ด้วยบัญญัตินี้
ในเวลานั้นบัญญัตินี้ ท่านเรียกว่า อวิชชมานบัญญัติ ฯ
ส่วนบัญญัติที่เหลือบัณฑิตทั้งหลายพึงทราบด้วยอำนาจแห่งการผสมกันของบัญญัติทั้งสองว่า
ผู้มีอภิญญา 6 เสียงของหญิง จักษุวิญญาณ และว่าโอรสของพระราชาตามลำดับ(15)
ปัญญาปนโตบัญญัติหรือนามบัญญัติ 6
ประเภท ดังนี้
1. วิชชมานบัญญัติ
เป็นคำบัญญัติสำหรับเรียกสภาวธรรมที่มีจริง เช่น คำว่า รูป เวทนา , สัญญา , สังขาร
, วิญญาณ เป็นต้น
เป็นการบัญญัติแต่งตั้งสิ่งที่มีปรมัตถสภาวธรรมรองรับนามบัญญัตินั้นอยู่จริง
เป็นการกำหนดนามบัญญัติให้กับสภาวธรรมทั้งหลายที่มีอยู่จริง เช่น คำว่า รูป
เป็นชื่อหรือนามบัญญัติที่เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่มนุษย์แต่งตั้งเรียกว่ารูปซึ่งรูปก็มีอยู่จริงๆ
สามารถที่จะศึกษาคุณสมบัติของรูปนั้นได้ ดังนี้เป็นต้น
การแต่งตั้งสิ่งที่มีสภาวธรรมรองรับอยู่จริงเช่นนี้ เรียกว่า วิชชมานบัญญัติ
2. อวิชชมานบัญญัติ
เป็นคำบัญญัติสำหรับเรียกสิ่งที่ไม่มีสภาวธรรมที่แท้จริงรองรับ เช่น คำว่า ไทย
ฝรั่ง แขก หนังสือ ต้นไม้ บ้าน รถยนต์ เป็นต้น เป็นการบัญญัติแต่งตั้งสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นวิชชมานบัญญัติ
ตัวอย่างเช่น เพราะอาศัยธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม และขันธ์ 5 คือ รูป เวทนาสัญญา
สังขาร และวิญญาณ ซึ่งเป็นวิชชมานบัญญัติมาประชุมกันเกิดเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้น
ก็บัญญัติแต่งตั้งนามของสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะการรวมตัวกันของธาตุ 4 ขันธ์ 5
นั้นว่า มนุษย์ คำว่า มนุษย์นั้นเป็นอวิชชมานบัญญัติ เพราะคำว่า มนุษย์ไม่มีสภาวธรรมที่เรียกว่า
มนุษย์อยู่อย่างแท้จริง สภาวธรรมที่แท้จริง คือ ธาตุ 4 ขันธ์ 5
ซึ่งมาประชุมรวมกันประกอบกันขึ้นเป็นมนุษย์ และบางครั้งเราจะพบว่า มนุษย์ยังสมมติชื่อเรียกนามบัญญัติที่เป็นสมมตินั้นซ้อนลงไปอีกหลายชั้น
เช่น สมมติเรียกมนุษย์คนนี้ว่า บุรุษ คนนี้ว่า สตรี
ในบุรุษและสตรีนั้นก็ยังสมมติเรียกชื่อซ้อนลงไปอีกว่า บุรุษคนนี้หล่อ สตรีคนนี้สวย
บุรุษคนนี้เป็นพ่อ สตรีคนนี้เป็นแม่ คนนี้ขาว คนนี้ดำ อย่างนี้ เป็นต้น
ล้วนเป็นการบัญญัติสิ่งที่ไม่มีสภาวธรรมรองรับอยู่จริง
การบัญญัติแต่งตั้งสิ่งที่ไม่มีสภาวธรรมรองรับอยู่จริงเช่นนี้ เรียกว่า อวิชชมานบัญญัติ
3. วิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ
เป็นนามบัญญัติที่มีรูปศัพท์ที่เกิดขึ้นจาก อวิชชมานบัญญัติ และวิชชมานบัญญัติรวมอยู่ด้วยกัน
เป็นคำบัญญัติที่ไม่มีสภาวธรรมที่แท้จริงกับนามที่มีสภาวธรรมที่แท้จริง 2
คำผสมเรียกรวมกันอยู่ คือ
บัญญัติสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่มีสภาวธรรมที่แท้จริงผสมกัน เช่นคำว่า ฉฬภิญโญ
(บุคคลผู้มีอภิญญา 6), ฌานลาภี
(บุคคลผู้ได้ฌาน) เป็นต้น คำว่า อภิญญา และฌาน เป็นนามที่มีสภาวธรรมรองรับอยู่จริง
ส่วนคำว่า บุคคล ผู้มีอภิญญา และฌานนั้นเป็นนามที่ปราศจากสภาวธรรมที่แท้จริง คือ
เป็นนามที่ไม่มีสภาวธรรมรองรับอยู่จริงอภิญญา และฌานมีอยู่ แต่บุคคลผู้มีอภิญญา และบุคคลผู้ได้ฌาน
ไม่มี การบัญญัติแต่งตั้งสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่มีสภาวธรรมรองรับเช่นนี้ เรียกว่า วิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ
4. อวิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ
เป็นนามบัญญัติที่มีรูปศัพท์เกิดขึ้นจากวิชชมานบัญญัติ และอวิชชมานบัญญัติผสมรวมอยู่ด้วยกัน
เป็นคำบัญญัติที่มีสภาวธรรมที่แท้จริงกับนามที่ปราศจากสภาวธรรม 2
คำผสมเรียกกันอยู่ คือ บัญญัติสิ่งที่มีกับสิ่งที่ไม่มีสภาวธรรมผสมรวมกันอยู่ เช่นคำว่า
อิตถีสัทโท (เสียงของหญิง), ปุริสวายาโม
(ความเพียรของบุรุษ) เป็นต้น เสียงของหญิงนั้น คำว่า เสียง มีสภาวธรรมที่แท้จริงรองรับอยู่
คือ สัททารมณ์ ส่วนคำว่า หญิง นั้น หาเป็นนามที่มีสภาวธรรมรองรับอยู่จริงไม่
ความเพียรของบุรุษนั้น คำว่า ความเพียร เป็นนามที่มีสภาวธรรมรองรับอยู่จริง
ส่วนคำว่า บุรุษ นั้นไม่มีสภาวธรรมรองรับอยู่จริง
การบัญญัติแต่งตั้งสิ่งที่มีกับสิ่งที่ไม่มีสภาวธรรมรองรับเช่นนี้ เรียกว่า
อวิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ
5. วิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ
เป็นนามบัญญัติที่เกิดขึ้นจากวิชชมานบัญญัติ และวิชชมานบัญญัติผสมรวมอยู่ด้วยกัน
คือ บัญญัติสิ่งที่มีสภาวธรรมที่แท้จริงทั้ง 2 คำผสมกันอยู่ เช่น คำว่า
จักษุวิญญาณ เป็นต้น คำว่า จักษุ เป็นนามที่มีสภาวธรรมรองรับอยู่จริง และคำว่า
วิญญาณ ก็เป็นนามที่มีสภาวธรรมรองรับอยู่จริงเช่นเดียวกัน การบัญญัติสิ่งที่มีกับสิ่งที่มีสภาวธรรมที่แท้จริงรองรับอยู่เช่นนี้
เรียกว่า วิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ
6. อวิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ
เป็นนามบัญญัติที่เกิดขึ้นจากอวิชชมานบัญญัติ และอวิชชมานบัญญัติทั้ง 2 คำผสมรวมกันอยู่
คือ บัญญัติสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่ไม่มีสภาวธรรม 2 คำผสมรวมกันอยู่ เช่น คำว่า
ราชปุตโต (พระโอรสของพระราชา), ราชรโถ (รถของพระราชา) เป็นต้น คำว่า พระโอรส และรถ ไม่มีสภาวธรรมที่แท้จริงรองรับอยู่จริง
และ คำว่า พระราชา ก็ไม่มีสภาวธรรมที่แท้จริงรองรับอยู่เช่นเดียวกัน ดังนั้น คำว่า
พระราชา, พระโอรส และรถไม่มี
เป็นแต่เพียงนามที่สมมติบัญญัติขึ้นมาเท่านั้น
การบัญญัติสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่ไม่มีสภาวธรรมที่แท้จริงรองรับเช่นนี้ เรียกว่า
อวิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ
ดังนั้น นามบัญญัติที่ได้นามว่า วิชชมานบัญญัติ
ได้แก่ นามของปรมัตถธรรมทั้งหมด เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นต้น
นามเหล่านี้เป็นบัญญัติก็จริง แต่ปรากฏอยู่ด้วยปรมัตถสภาวธรรม คือ
มีปรมัตถสภาวธรรมที่แท้จริงรองรับ ส่วนนามบัญญัติที่ได้นามว่า อวิชชมานบัญญัตินั้น
ได้แก่ นามหรือโวหารที่ชาวโลกแต่งตั้งไว้โดยไม่ได้อาศัยปรมัตถสภาวธรรมที่แท้จริงรองรับ
หากแต่อิงอาศัยสภาวธรรมที่เป็นวิชชมานบัญญัติเหล่านั้นมารวมกันจึงเกิดเป็นสิ่งสมมติต่างๆ
ขึ้น เช่น ดิน น้ำ ภูเขา ป่าไม้ ชาย หญิง เป็นต้น นามเหล่านี้เป็นบัญญัติที่ไม่ได้เกี่ยวกับปรมัตถสภาวธรรม
ส่วนนามบัญญัติที่เหลืออีก 4 ประเภทเกิดขึ้นก็ด้วยอาศัยนามบัญญัติที่เป็นวิชชมานบัญญัติ
และอวิชชมานบัญญัติมาประกอบรวมกันเข้าจึงเกิดเป็นนามบัญญัติที่เหลืออีก 4
ประเภทดังกล่าวแล้วมนุษย์สร้างบัญญัติขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อความหมายให้เข้าใจซึ่งกัน
และกัน ดังนั้น
สิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้นต้องประกอบไปด้วยอัตถบัญญัติและนามบัญญัติดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเสมอ
จึงจะสามารถสื่อความหมายได้อย่างสมบูรณ์ คือ สิ่งที่บัญญัตินั้นต้องมีทั้งนาม คือ ชื่อ
และความหมาย คือ เนื้อความของนามนั้นด้วย มนุษย์ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันต่างก็สร้างสมมติบัญญัติของสิ่งต่างๆ
ด้วยภาษาของตนๆ ปรากฏเป็นบัญญัติต่างๆ มากมายเหลือคณานับยากที่จะเรียนรู้ได้หมดทุกภาษา
แต่ถึงบัญญัติจะมีมากเท่าไหร่ก็ตามบัญญัติเหล่านั้นล้วนต้องประกอบไปด้วยนามบัญญัติ
และอัตถบัญญัติด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น การใช้ภาษาที่บัญญัติขึ้นจึงต้องเรียนรู้ทั้งนามบัญญัติ
และอรรถบัญญัติให้เข้าใจไปพร้อมกันจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้
และบัญญัติทั้งหมดนั้นก็ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อความหมายให้เข้าใจตรงกัน
ธรรมที่มีอยู่ในโลกล้วนเต็มไปด้วยบัญญัติ
คือ ครั้งแรกก็ต้องมีบัญญัติก่อน เพราะอะไรๆ ก็ต้องใช้ชื่อต้องใช้โวหารทั้งนั้น
ถ้าไม่มีบัญญัติหรือโวหารแล้วการไปการมา เป็นต้น
ก็ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการไปมาหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในโลก ดังนั้น
มนุษย์เราจึงต้องสมมติชื่อต่างๆ ขึ้นไว้ใช้เพื่อให้เข้าใจภาษาที่ใช้พูดกันหรือรู้จักความต้องการต่างๆ
ที่จำเป็น ถ้าไม่มีชื่อสมมติเรียกมนุษย์ก็ไม่สามารถที่จะรู้ และเข้าใจอะไรได้เลย
เพราะแม้ปรมัตถธรรมที่มีสภาวธรรมที่แท้จริงในตนเอง ถ้าไม่มีสมมติบัญญัติเรียก
มนุษย์ก็ไม่สามารถที่จะเรียนรู้ และเข้าถึงปรมัตถธรรมนั้นได้เลย ดังนั้น แม้ปรมัตถธรรมเองก็ต้องอาศัยสมมติบัญญัติ
เป็นเครื่องมือในการเปิดเผยตนเอง
เพราะมนุษย์ไม่มีภาษาสำหรับใช้เรียกปรมัตถธรรมโดยตรง
ถึงแม้ภาษาที่ใช้เรียกปรมัตถธรรมจะมีความจำกัดของภาษาก็ตาม
แต่มนุษย์ก็ต้องอาศัยภาษานั้นสำหรับเรียนรู้ เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์สามารถเข้าถึงปรมัตถธรรมที่แท้จริงได้แล้ว
สมมติบัญญัติต่างๆ ก็ไม่มีในปรมัตถสภาวธรรมนั้น คือ สามารถแยกสมมติบัญญัติออกจากปรมัตถสภาวธรรมได้
แม้พระพุทธเจ้าเองพระองค์ก็ทรงอาศัยสมมติบัญญัตนี้ในการแสดงธรรมเพื่อให้บุคคลรู้และเข้าใจความจริงของสภาวธรรมตลอดจนเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นจุดมุ่งหมาย
สูงสุดในทางพุทธศาสนา
สรุปว่า
สิ่งที่มีอยู่จริงในระดับสมมติหรือสมมติสัจจะนี้ เป็นความจริงที่มนุษย์บัญญัติขึ้น
ซึ่งมีความจำเป็น และสำคัญเป็นอย่างมากต่อมนุษย์ เพราะสมมติบัญญัตินี้เกี่ยวข้องผูกผันกับชีวิตมนุษย์ทั้งในรูปแบบของนามบัญญัติ
และอัตถบัญญัติ ถ้ามนุษย์ปฏิเสธความจริงในระดับสมมตินี้
มนุษย์จะต้องประสบปัญหามากมายโดยเฉพาะการสื่อความหมายของสิ่งต่างๆ ให้เข้าใจกัน
ถ้าไม่มีความจริงในระดับนี้มนุษย์อาจไม่สามารถที่จะสื่อความหมายแก่กัน และกันเลยก็ได้
ถึงแม้จะมีผู้บรรลุปรมัตถธรรมก็คงจะเป็นประโยชน์แก่บุคคลคนนั้นแต่เพียง ผู้เดียว
คงจะไม่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นเท่าใดนัก
เพราะเขาคงไม่สามารถที่จะสื่อความหมายให้บุคคลอื่นรู้ และเข้าใจในปรมัตถธรรมนั้นได้อย่างแน่นอน
การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเองก็คงเป็นเพียงการตรัสรู้ธรรมเฉพาะพระองค์เอง
ถ้าไม่มีสมมติบัญญัตินี้พระองค์ก็จะไม่ทรงสามารถที่จะประกาศธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วนั้นให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งได้
ถ้าเป็นเช่นนั้น พุทธศาสนาก็คงไม่แพร่หลายอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ได้อย่างแน่นอน
ดังนั้น ความจริงในระดับสมมตินี้จึงมีความจำเป็น และสำคัญเป็นอย่างมากในการประกาศเผยแผ่พุทธศาสนา
แต่ความจริงในระดับสมมตินี้ก็ยังมีความจำกัดในตนเอง เพราะปรมัตถสัจจะ เป็นสภาวธรรมที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อน
ปรมัตถสภาวธรรมบางอย่างเราไม่สามารถที่จะรู้ และเข้าใจได้ด้วยภาษาสมมติ จะต้องรู้ และเข้าใจด้วยการปฏิบัติธรรมหรือด้วยประสบการณ์ที่ต้องประสบด้วยตนเองเท่านั้น
เพราะเป็นของอันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน แต่ถึงแม้ว่า
สมมติสัจจะหรือภาษาที่ใช้สื่อความหมายกันนั้นจะมีความจำกัด ดังกล่าวมาแล้วก็ตาม
สมมติภาษานั้นก็ยังคงเป็นประโยชน์ เป็นสิ่งจำเป็น และสำคัญเป็นมากสำหรับมนุษย์ที่ต้องใช้สมมติภาษานั้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมนุษย์เราอยู่ในโลกแห่งสมมตินานเข้า
จึงเห็นสิ่งสมมติเป็นของจริง และยึดติดลุ่มหลงอยู่ในสิ่งสมมติเหล่านั้น ยื้อแย่ง
แข่งขัน แสวงหาต่อสิ่งสมมติ จนไม่สามารถหลุดพ้นไปจากสิ่งสมมติเหล่านั้นได้
ไม่อาจนำพาตนเองให้เข้าถึงปรมัตถสัจจะ คือ ความจริงอันสูงสุดได้พุทธศาสนาได้เห็นความสำคัญของเรื่องความจริงในระดับสมมตินี้
จึงได้อธิบายลักษณะของสมมติสัจจะ และแบ่งประเภทของสมมติสัจจะไว้เป็นระบบ เพื่อให้เข้าใจง่าย
และจะได้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับความจริงในระดับสมมติ
(สมมติสัจจะ) นี้ตามที่เป็นจริง จะได้ไม่หลงยึดติดอยู่กับสมมติบัญญัติทั้งหลายโดยขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในสมมติบัญญัตินั้นๆ
คือ พุทธศาสนาสอนให้รู้เท่าทันสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็นนั่นเอง
คำสอนในระดับสมมติสัจจะ สมมติสัจจะ
เป็นความจริงในระดับสมมติที่เกิดขึ้นจากการสมมติบัญญัติแต่งตั้งโดยมนุษย์ ดังนั้น
ลักษณะคำสอนของพระพุทธเจ้าในระดับสมมติสัจจะนี้จึงเป็นคำสอนที่สอดคล้องกับสิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้น
ซึ่งเป็นลักษณะคำสอนที่สามารถสื่อให้มนุษย์เข้าใจความหมายของคำสอนนั้นได้
และสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตนเอง และสังคมได้
หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในพระไตรปิฏก
และคัมภีร์ทางพุทธศาสนานิกายเถรวาททั้งหมด จัดเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท ดังนี้
1. โลกิยธรรม
ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก เป็นธรรมที่ปุถุชน และกัลยาณชนทั้งหลายจะพึงรู้และปฏิบัติได้
เช่น เบญจศีล เบญจธรรม อิทธิบาท 4 สัปปุริสธรรม 7 อบายมุข 4 เหล่านี้เป็นต้น
ซึ่งเป็นธรรมอันเป็นไป เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกผู้หวังความสุขในโลกิยวิสัย
เป็นคำสอนในระดับสมมติสัจจะ
2. โลกุตตรธรรม
ธรรมอันพ้นวิสัยของโลก
เป็นธรรมชั้นสูงพ้นขีดขั้นของโลกเป็นธรรมที่พระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นจะพึงรู้
และปฏิบัติ ได้แก่ ธรรม 9 ประการ คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1
ธรรมในระดับนี้สามารถกำจัดทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง เป็นคำสอนในระดับปรมัตถสัจจะ(16)
ลักษณะคำสอนในระดับสมมติสัจจะ คือ ลักษณะคำสอนอันเป็นโลกิยธรรมทั้งหมด
คือ ธรรมที่เป็นวิสัยที่ชาวโลกจะพึงรู้ และปฏิบัติได้
โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่มนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติเท่านั้น
แต่ไม่ได้มุ่งหวังนิพพานสมบัติอันเป็นจุดม่งหมายสูงสุดในระดับโลกุตตรธรรม
สรุปว่า ลักษณะคำสอนในระดับสมมติสัจจะหรือความจริงในระดับเบื้องต้นนี้ คือ คำสอนที่แสดงถึงสิ่งที่เป็นเพียงสมมติบัญญัติที่มนุษย์แต่งตั้งขึ้นเท่านั้น มีลักษณะเป็นโลกิยธรรม คือ ธรรมอันเป็นวิสัยของชาวโลก เป็นธรรมสำหรับปุถุชนผู้อยู่ในวิสัยของโลกจะพึงรู้ และนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม สามารถดำเนินชีวิตของตนให้มีความสุขได้โดยสอดคล้องกับความจริงในระดับสมมติ ความจริงในลักษณะเช่นนี้พระพุทธเจ้าจะทรงแสดงด้วยสมมติเทศนาหรือด้วยปุคคลาธิษฐานอันก่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในหลักธรรมในระดับสมมติสัจจะนี้ได้อย่างชัดแจ้ง เราจะสังเกตเห็นว่า หลักคำสอนในทางพุทธศาสนาต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังจึงจะสามารถอำนวยประโยชน์สุขให้แก่มนุษย์ได้ ถ้าเพียงแต่รู้อย่างเดียวแล้วไม่นำไปปฏิบัติก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรมากนัก และคำสอนในระดับสมมติสัจจะนี้ยังเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับบุคคลผู้ปรารถนาจะได้สัมผัสความสุขในระดับปรมัตถสัจจะหรือระดับโลกุตตรธรรมอีกด้วย ผู้หวังความสุขในระดับโลกุตตรธรรมก็ต้องปฏิบัติธรรมขั้นโลกิยธรรมให้ได้เป็นพื้นฐานเสียก่อนแล้วจึงค่อยพัฒนาขึ้นไปปฏิบัติธรรมในระดับโลกุตตระต่อไป
-----------------------------------------------
เอกสารและสิ่งอ้างอิง
(1) พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) , พจนานุกรมพุทธศาสน์ , (กรุงเทพฯ : บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด , 2531) ,
หน้า 301., (2) อภิ. ก. 37 / 1062 / 338., (3) พระเทพเวที (ประยุทธ์
ปยุตโต) , พุทธธรรม, กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์มหาจุฬาลง กรณราชวิทยาลัย , 2532, หน้า 55., (4) ที. สีล. 9 / 312 / 248., (5) สํ. ขนฺธ. 17 / 239 / 169., (6)
ส.สายเกษม , แบบเรียนพระปรมัตถธรรมหรือพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ ,
พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : ไม่ปรากฏโรงพิมพ์
, 2490., หน้า 227., (7) พระเทพเวที
(ประยุทธ์ปยุตฺโต) , อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 3 , หน้า 47., (8) มหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ , อภิธัมมัตถสังคหบาลีและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ฉบับแปลเป็นไทย , พิมพ์น้อมถวายเป็นพระมหาราชานุสรณ์ เฉลิมพระเกียรติ, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย , 2506.,
หน้า 384., (9) ส.สายเกษม , แบบเรียนพระปรมัตถธรรมหรือพระอภิธรรม
7 คัมภีร์ , พิมพ์ครั้งที่ 2 , กรุงเทพฯ
: ไม่ปรากฏโรงพิมพ์ , 2490., หน้า 230.,
(10) มหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ , อ้างแล้วเชิงอรรถที่
8 , หน้า 422., (11) ส.สายเกษม , อ้างแล้วเชิงอรรถที่
9 , หน้า 231., (12) มหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ,
อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 10 , หน้า 422 - 424., (13)
เรื่องเดียวกัน , หน้า 424., (14) ส.สายเกษม , อ้างแล้วเชิงอรรถที่11 , หน้า 232., (15) มหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์,
อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 13 , หน้า 385 - 386., (16)
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), อ้างแล้วเชิงอรรถที่1 ,
หน้า 261., (17) ที. สี. 9 / 312 / 248., (18) สํ. ส. 15 / 554 / 198.,
(19) ที. สี. 9 / 235 / 188., (20) พระโสภณคณาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) , พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย, กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย , 2522., หน้า
3., (21) ที. มหา. 10 / 54 / 57., (22) ที.ปา. 11 / 331 / 264.
พระเทพเวที. (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ , พิมพ์ครั้งที่ 4 , บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด : กรุงเทพมหานคร , 2531.
-----------. พุทธธรรม , พิมพ์ครั้งที่ 5 , โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย: กรุงเทพมหานคร , 2532.
พระธรรมปิฏก. (ประยุทธ์ปยุตฺโต) ไตรลักษณ์ , พิมพ์ครั้งที่ 3 , สำนักพิมพ์ธรรมสภา: กรุงเทพมหานคร , 2541.
มหามกุฏราชวิทยาลัย ,มูลนิธิ. พระไตรปิฎก , พิมพ์ครั้งที่ 4 , โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย : กรุงเทพมหานคร , 2538.
---------. มิลินทปัญหา , พิมพ์งานฉลองพระชนมายุ 80 ปี สมเด็จพระญาณสังวร
(สุวัฑฒนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
: กรุงเทพมหานคร , 2536.
---------. อภิธัมมัตถสังคหบาลีและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ฉบับแปลเป็นไทย
พิมพ์น้อมถวายเป็นพระมหาราชานุสรณ์ เฉลิมพระเกียรติ,โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย : กรุงเทพมหานคร , 2506.
มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย . ทีฆนิกายฏฺฐกถา(สุมงฺคลวิลาสินี) , มชฺฌิมนิกายฏฺฐกถา (ปปญฺจสูทนี) ,
อภิธมฺมฏฺฐกถา วิภงฺควณฺณนา (สมฺโมหวิโนทนี) ,โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร
, 2533.
สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์, ธรรมานุกรม, จัดพิมพ์ในงานวชิรญาณวงศานุสรณ์
ครบ 100 ปี,โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย:กรุงเทพมหานคร, 2527.
ส.สายเกษม. แบบเรียนพระปรมัตถธรรมหรือพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ , พิมพ์ครั้งที่ 2, (ไม่ปรากฏโรงพิมพ์) : กรุงเทพมหานคร , 2490.
พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ. ปรมัตถโชติกะ หลักสูตรจูฬอาภิธัมมิกะตรี
: จิตเจตสิก รูป นิพพาน , พิมพ์ครั้งที่ 2 ,โรงพิมพ์ไพศาลวิทยา:กรุงเทพมหานคร ,2501.
พระโสภณคณาภรณ์. (ระแบบ ฐิตญาโณ) พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย , โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย :
กรุงเทพมหานคร , 2522.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น