อนัตตาสิ่งที่มีอยู่จริง
สิ่งที่มีอยู่จริงตามทรรศนะของพุทธศาสนานิกายเถรวาท
จะพบความจริงอยู่ 2 ระดับ คือ 1. ความจริงในระดับสมมติหรือความจริงแบบบัญญัติ
2. ความจริงในระดับปรมัตถ์ อันได้แก่ความจริง 4 ประการ คือ จิต
เจตสิก รูป นิพพาน ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ความจริงทั้ง 2 ระดับนั้น มีลักษณะที่เหมือนกันอยู่ลักษณะหนึ่ง
คือ อนัตตลักษณะ กล่าวได้ว่า ไม่มีธรรมชนิดใดเลย ที่นอกเหนือไปจากอนัตตลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นสังขตธรรม
คือ ธรรมที่ยังถูกปัจจัยปรุงแต่ง และอสังขตธรรม คือ ธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่
พระนิพพาน ไม่ว่าจะเป็นโลกิยธรรมหรือโลกุตตรธรรม ตลอดทั้งสิ่งที่เรียกว่า นามธรรม และรูปธรรม
สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดล้วนมีลักษณะเป็นอนัตตาทั้งสิ้น เมื่อมองถึงกระบวนการในการปฏิบัติธรรม
เพื่อบรรลุถึงความจริงสูงสุด คือ นิพพานแล้ว ท้ายที่สุดจะพบว่า พระอริยบุคคลจะต้องละ
อัตตสัญญา ความสำคัญว่าเป็นตัวเป็นตนให้ได้ และต้องพิจารณาเห็นอนัตตลักษณะในธรรมทั้งปวงให้ได้
จึงจะบรรลุธรรม พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ศึกษาหลักอนัตตาทางพุทธศาสนาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว
คงจะทำให้มองเห็นความจริงอย่างสมมติ และความจริงอย่างปรมัตถ์ทั้งสองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
และเรื่องอนัตตานี้ เป็นลักษณะพิเศษ และเด่นที่สุดอย่างหนึ่งของพุทธศาสนาที่ไม่สามารถจะเรียนรู้ได้จากลัทธิศาสนาอื่นใดในโลก
เพราะเมื่อกล่าวถึงความจริงสูงสุดของแต่ละศาสนาแล้ว ลัทธิศาสนาส่วนใหญ่จะยืนยันว่า
มีอัตตาที่เที่ยงแท้ถาวรที่เรียกว่า Godหรือพระเจ้า บ้าง เรียกว่า
พรหมัน บ้าง เป็นต้น สิ่งที่มีอยู่จริงอย่างอนัตตาในพุทธศาสนา มีจุดเด่นที่สุดของพุทธศาสนาที่ไม่มีในศาสนาใดหรือปรัชญาสำนักใดในโลก
จึงทำให้พุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่นๆ ในเรื่องจุดยืนของคำสอน และเป้าหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา
นิพพาน จึงมีลักษณะเป็นความสงบที่เกิดขึ้นจากการดับกิเลส และกองทุกข์ทั้งปวง โดยการรู้แจ้งในหลักของอนัตตา
ในที่นี้จะกล่าวถึงลักษณะของอัตตาและอนัตตาในทางพุทธศาสนา ดังนี้
อัตตาตามทรรศนะของพุทธศาสนา
คำว่า อัตตา แปลว่า ตัวหรือตน พระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายของคำว่า อัตตาไว้ว่า
อัตตา เป็นคำบาลี รูปสันสฤตเป็นอาตมัน แปลว่า ตนตัวหรือตัวตนปุถุชนย่อมยึดมั่นมองเห็นขันธ์
5 อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดว่า เป็นอัตตาหรือยึดถือว่า มีอัตตาเนื่องด้วยขันธ์
5 โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งพุทธธรรมสอนว่า ตัวตนหรืออัตตานี้ ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นสิ่งที่สมมติขึ้น
เพื่อสะดวกในการสื่อสาร เพื่อความหมายรู้ร่วมกันของมนุษย์ในความเป็นอยู่ประจำวัน กำหนดตามชื่อที่บัญญัติขึ้นหรือตั้งขึ้นสำหรับเรียกหน่วยรวมหรือภาพหนึ่งๆ
อัตตานี้จะเกิดปัญหาขึ้น ก็ต่อเมื่อคนหลงผิดเกิดความยึดถือขึ้นมาว่า มีตัวตนจริงๆ หรือเป็นตัวตนจริงๆ
เรียกว่า รู้ไม่เท่าทันความเป็นจริงหรือหลงสมมติ(1)
พุทธทาสภิกขุ ได้ให้ทรรศนะเรื่อง
อัตตา ไว้ว่า คำว่า อัตตาหรืออาตมัน ที่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธนั้น ส่วนมากที่สุดเราพบกันแต่เพียงเค้าเงื่อนที่แสดงฝ่ายอนัตตา
เช่น ที่ทรงแสดงขันธ์ทั้ง 5 ว่า เป็นอนัตตาในบาลีอนัตตลักขณสูตร มีใจความว่า สิ่งไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปเสมอ
ไม่ตามใจเราเลย นี่เป็นอนัตตา แต่ไม่ได้ทรงแสดงไว้ว่า สิ่งที่ตรงกันข้ามเป็นอัตตา ถึงอย่างนั้น
เราก็ยอมรับกันโดยนัยแห่งตรรกว่า สิ่งที่ตรงกันข้ามควรจัดเป็นอัตตาได้ ข้อนี้ทำให้เกิดการเข้าใจเขวได้บางอย่าง
คือ พวกที่อยากจะมีอัตตา ก็อ้างขึ้นทันทีว่า ธรรมที่เป็นประเภทอสังขตธรรม เช่น นิพพานเป็นต้นนั้น
เที่ยง และไม่เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น ควรจัดว่า เป็นอัตตาแน่นอน และคำว่า อัตตาๆ ที่พระองค์ทรงตรัสถึงในเรื่องตนพึ่งตน
เป็นต้น หมายถึง อัตตานี้เอง เลยทำให้เกิดการยึดถือเอานิพพานว่า เป็นอัตตาขึ้นมาทุกทีลืมไปว่า
นิพพานไม่ได้อยู่ในอำนาจของใครได้ ปรารถนาจะเอาอย่างไรก็ไม่ได้ มิหนำซ้ำยังอยู่เหนือความปรารถนาของใครๆ
เสียด้วย การจะยึดเอานิพพานหรืออสังขตธรรมเป็นอัตตา โดยอ้างหลักอนัตตลักขณสูตรโดยนัยอันกลับกันจึงฟังไม่ขึ้น(2)
สมเด็จพระสังฆราช
กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระองค์ทรงให้ความหมายเรื่องอัตตา ดังนี้ ศัพท์ว่า อัตตา แปลว่า
ตัวหรือตน อัตตาโดยสมมติมรรค (ทางสมมติ)หรือโดยสามัญโวหาร
พุทธศาสนาแสดงอัตตา (ตัวตน) เป็นผู้ทำ และเป็นผู้รับผล
ดังเช่นว่า ทำบาปด้วยตน เศร้าหมองด้วยตน ไม่ทำบาปด้วยตน หมดจดด้วยตน โดยทางสมมตินี้
ท่านใช้คำว่า สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา ในการแสดงธรรม เพราะถ้าไม่ใช้ ก็แสดงธรรมให้เข้าใจกันไม่ได้แต่ท่านก็แสดงว่า
เป็นเพียงสมมติเท่านั้น แปลว่า เพราะประกอบส่วน รถ ต่างๆ เข้า เสียงว่า รถก็มี ฉันใด
เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สมมติว่า สัตว์ก็มี ฉันนั้น(3)
คำว่า อัตตา ที่แปลว่า
ตัวตนนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในระดับสมมติสัจจะเท่านั้น คือ เป็นความจริงที่มนุษย์แต่งตั้งขึ้นบัญญัติศัพท์ขึ้นสมมติเรียกขันธ์
5 ที่รวมตัวกันว่าเป็นมนุษย์ แล้วยึดสิ่งที่รวมตัวกันเป็นมนุษย์นั่นแหละว่า เป็นตัว
เป็นตน เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา พอนานเข้ามนุษย์ก็หลงยึดติด มัวเมาในตัวตนนั้น
จนแยกไม่ออกว่า อะไรเป็นสมมติบัญญัติ อะไรเป็นปรมัตถสัจจะ เมื่อว่าโดยสมมติสัจจะแล้วพุทธศาสนาก็ยอมรับว่า
อัตตามีอยู่จริง แต่มีอยู่จริงในระดับสมมติเท่านั้น โดยปรมัตถสัจจะแล้วอัตตานี้ไม่มี
เพราะไม่มีปรมัตถสภาวธรรมรองรับอยู่จริง เป็นเพียงสิ่งสมมติ แต่สิ่งที่มีอยู่จริงในระดับสมมติสัจจะนี้
พุทธศาสนายอมรับว่า มีอยู่ และสอนต่อไปว่า ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะสิ่งเหล่านี้
เมื่อพิจารณาตามสภาวะที่แท้จริงแล้วมันไม่มี เนื่องจากว่า สมมติสัจจะนั้นเป็นความจริงที่ชาวโลกยึดถือกันอยู่
เพื่อให้สอดคล้องกับความจริงแบบโลกิยธรรม เวลาแสดงธรรมพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงด้วยสมมติภาษา
เพื่อให้มนุษย์เข้าใจง่าย จึงต้องสมมติว่า มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีกษัตริย์
มีพราหมณ์ มีแพศย์ มีศูทร มีเศรษฐี มียาจก เป็นผู้ทำกรรม เป็นผู้รับผลของกรรม เพื่อให้เข้าใจในเนื้อความแห่งพระธรรมเทศนา
จะทรงแสดงว่า ขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 4 เป็นผู้ทำกรรม เป็นผู้รับผลของกรรม คงไม่มีใครเข้าใจความหมายของพระธรรมเทศนา
ดังนั้น ในระดับสมมติสัจจะ จึงมีคำสอนที่แสดงว่า มีตัวตนที่เป็นสมมติสัจจะนี้เป็นผู้ทำ
เป็นผู้รับผลของกรรม ลักษณะคำสอนที่แสดงถึงอัตตาในระดับสมมติสัจจะนั้นมีอยู่มากมาย
ดังเช่น พระพุทธดำรัสที่พระ พุทธเจ้าตรัสกับภัททวัคคีย์ 30 คน ซึ่งกำลังตามหาหญิงโสเภณีคนหนึ่งที่จ้างมาบำเรอเพื่อนคนหนึ่งว่า
ดูกรกุมารทั้งหลาย
พวกเธอสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ข้อที่พวกเธอแสวงหาหญิงหรือแสวงหาตนนั้น อย่างไหนเป็นความดีของพวกเธอเล่า
ภัททวัคคีย์ 30 ทูลตอบว่า ข้อที่พวกข้าพระองค์แสวงหาตนนั่นแลเป็นความดีของพวกข้าพเจ้า
เจ้าข้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูกรกุมารทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นพวกเธอนั่งลงเถิด เราจักแสดงธรรมแก่พวกเธอพวกสหายภัททวัคคีย์เหล่านั้น
รับพระพุทธาณัติพจน์ว่า อย่างนั้นเจ้าข้า ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่พวกเขา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ
ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลายและอานิสงส์ในความออกจากกาม เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า
พวกเขามีจิตสงบมีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง
คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พวกเขา ณ ที่นั่งนั่นแล ดุจผ้าที่สะอาด
ปราศจากมลทินควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว
ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้วข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัยถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า
ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า
พวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาค …(4)
คำว่า ตน ในที่นี้เป็นภาษาสมมติที่พระพุทธเจ้าทรงใช้แสดงธรรมเพื่อให้ภัททวัคคีย์
30 สนใจที่จะฟังธรรม ซึ่งในที่สุดพอได้บรรลุธรรมแล้ว ตนในที่นี้ก็ไม่มี เพราะมีธรรมเป็นที่พึ่งแล้ว
และดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า …พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ
มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด ฯ ดูกรอานนท์ อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่า
มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่งมิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง
มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก อย่างนี้แล อานนท์ ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง
มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่
ดูกรอานนท์ ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี โดยที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ
มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง
มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุของเราที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาจักปรากฏอยู่ในความเป็นยอดยิ่ง
ฯ(5)
คำว่า มีตนเป็นเกาะ
มีตนเป็นที่พึงนี้ คำว่า ตนเป็นสมมติภาษาที่ทรงใช้แสดงธรรม เพื่อให้เข้าใจง่าย เพราะท้ายที่สุดพระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมต่อไปว่า
คำว่า มีตน เป็นที่พึ่งนั้น คือ จงมีธรรมเป็นที่พึง พึงตนก็คือพึ่งธรรมนั่นเอง หมายความว่า
ต้องปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง จะไปหวังพึ่งให้คนอื่นมาปฏิบัติแทนตนไม่ได้ ปฏิบัติธรรมจนสามารถมีธรรมเป็นที่พึ่งได้
ต่อจากนั้นพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงต่อไปว่า การพึ่งธรรมนั้นพึงอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
พึงพิจารณาสติปัฏฐาน 4 เช่นพิจารณาว่า กายสักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน (อัตตา) เรา เขา ดังนี้เป็นต้น ก็แสดงว่าท้ายที่สุดอัตตาตัวตนนั้นไม่มี
จะมีอยู่ก็เพียงเป็นคำสมมติบัญญัติขึ้นในการแสดงธรรมในระดับสมมติสัจจะ เพื่อเป็นพื้นฐานขึ้นไปสู่ธรรมในระดับปรมัตถสัจจะเท่านั้น
สรุปว่า อัตตา
ตัวตนจริงๆ ไม่มี มีแต่อัตตาที่เป็นสมมติสัจจะ คือ มีอยู่จริงตามที่ชาวโลกเขาสมมติเรียกกันหรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า
ในระดับสมมติสัจจะทุกคนต้องมีตนเป็นที่พึ่ง แต่เมื่อปฏิบัติธรรมโดยมุ่งความหลุดพ้นในระดับปรมัตถสัจจะ
คือ ความจริงที่อยู่เบื้องหลังสมมติสัจจะนั้นแล้ว อัตตาตัวตนก็ไม่มีหรือไม่มีอัตตาตัวตนอยู่จริงนั่นเอง
ดังนั้น พุทธศาสนานิกายเถรวาทจึงมีทรรศนะเกี่ยวกับเรื่องอัตตาว่า อัตตาหรือตัวตนมีอยู่แต่ในความยึดถือของคน
ซึ่งเป็นสมมติบัญญัติ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เมื่อคนมีความยึดถือ จึงเกิดเป็นอัตตา
ถ้าไม่มีการยึดถือ อัตตาก็ไม่มี
อนัตตาตามทรรศนะของพุทธศาสนา
คำว่า อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่อัตตา, หาตัวตนไม่ได้หรือไม่ใช่ตัวใช่ตน
อนัตตา คือ สิ่งที่ตรงกันข้ามกับอัตตา คำว่า อนัตตามีปรากฏอยู่มากมายในพระไตรปิฎกมีทั้งหมด
936 ศัพท์ ในปฏิสัมภิทามรรคท่านแสดงอรรถของอนัตตาไว้อย่างเดียวว่า เป็นอนัตตาเพราะความว่าหาแก่นสารมิได้(6)
คำว่า หาแก่นสารมิได้ คือ ไม่มีแก่นสาร ไม่มีแก่น ไม่มีสิ่งที่เป็นตัวแท้ที่ยืนยงคงตัวเองอยู่อย่างนั้นตลอดไป
โดยความหมายแล้ว คือ ไม่มีสาระ คือ ตัวตนที่คาดคิดกันเอาเองว่า เป็นอัตตา ที่ว่ามันเป็นอนัตตา
เพราะว่าเราไม่สามารถห้ามความไม่เที่ยงหรือความบีบคั้นด้วยความเกิดขึ้น และความสิ้นไปของตัวมันเองได้
ดังข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดง ในอนัตตลักขณสูตรว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
รูปเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว รูปนี้ไม่พึงเป็นเพื่ออาพาธ
และบุคคลพึงได้ในรูปว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูปว่า
รูปของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูปของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลยเวทนาเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ถ้าเวทนานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว เวทนานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในเวทนาว่า
เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด เวทนาของเราจงอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็เพราะเวทนาเป็นอนัตตา ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในเวทนาว่า
เวทนาของเรา จงเป็นอย่างนั้นเถิด เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลยสัญญา เป็นอนัตตา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสัญญานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว สัญญานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
และบุคคลพึงได้ในสัญญาว่า สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสัญญาเป็นอนัตตา ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธและบุคคลย่อมไม่ได้ในสัญญาว่า
สัญญาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด สัญญาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลยสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าสังขารเหล่านี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว สังขารเหล่านี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
และบุคคลพึงได้ในสังขารทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด สังขารทั้งหลายของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา ฉะนั้น สังขารทั้งหลายจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
และบุคคลย่อมไม่ได้ในสังขารทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิดสังขารทั้งหลายของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลยวิญญาณเป็นอนัตตา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าวิญญาณนี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว วิญญาณนี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ
และบุคคลพึงได้ในวิญญาณว่า วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลยดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็เพราะวิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในวิญญาณว่า
วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย(7)
ตรัสในฉฉักกสูตรว่า
ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า จักษุเป็นอัตตา คำของผู้นั้นไม่ควร จักษุย่อมปรากฏแม้ความเกิด
แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแล ปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อมสิ่งนั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า
อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไป เพราะฉะนั้นคำของผู้ที่กล่าวว่าจักษุเป็นอัตตานั้นจึงไม่ควร
ด้วยประการฉะนี้ จักษุจึงเป็นอนัตตา ผู้ใดกล่าวว่า รูปเป็นอัตตา คำของผู้นั้นไม่ควร
รูปย่อมปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแล ปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อมสิ่งนั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า
อัตตาของเราเกิดขึ้น และเสื่อมไป เพราะฉะนั้นคำของผู้ที่กล่าวว่า รูปเป็นอัตตานั้นจึงไม่ควร
ด้วยประการฉะนี้ จักษุจึงเป็นอนัตตา รูปจึงเป็นอนัตตา ผู้ใดกล่าวว่า จักษุวิญญาณเป็นอัตตา
คำของผู้นั้นไม่ควร จักษุวิญญาณ ย่อมปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแลปรากฏแม้ความเกิด
แม้ความเสื่อม สิ่งนั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้น และเสื่อมไป เพราะฉะนั้น
คำของผู้ที่กล่าวว่าจักษุวิญญาณเป็นอัตตานั้น จึงไม่ควร ด้วยประการฉะนี้ จักษุจึงเป็นอนัตตารูปจึงเป็นอนัตตา
จักษุวิญญาณจึงเป็นอนัตตา…(8)
เห็นได้ว่า เมื่อพิจารณาโดยปรมัตถสภาวะอย่างละเอียดถึงที่สุดแล้ว
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีสาระในตัว คือ เป็นลักษณะของอนัตตาทั้งสิ้น เพราะเราดลบันดาลให้เป็นไปตามใจของเราไม่ได้
ไม่มีอำนาจในตัว ถ้าเกิดว่า มีตัวตนที่ยั่งยืนอยู่เป็นแกนอยู่จริงแล้ว ก็ย่อมฝืนต่อความเปลี่ยนแปลงได้
ไม่ต้องเป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงนั้น ยิ่งถ้ามองในแง่มีอัตตาเป็นผู้ครอบครองด้วยแล้ว
ก็ย่อมจะต้องมีอำนาจบังคับสิ่งที่ถูกครอบนั้นให้เป็นไปตามปรารถนาอย่างไรก็ได้ แต่ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
เพราะหาตัวตนที่แท้จริงที่คงที่อยู่อย่างนั้นไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปตามกระบวนธรรม
คือ กระบวนการแห่งรูปธรรม และนามธรรม ที่เกิดจากองค์ประกอบต่างๆ มาประชุมกัน และองค์ประกอบของสิ่งต่างๆ
นั้น ก็ล้วนมีการเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง และเสื่อมสลายไปในที่สุด เป็นไปโดยอาการที่สัมพันธ์สืบเนื่อง
และส่งต่อกันไปเป็นทอดๆ ต่างเป็นเหตุ และปัจจัยให้แก่กัน และกัน เมื่อส่วนประกอบทั้งหลายรวมตัวกันเข้า
ปรากฏเป็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง มนุษย์ก็บัญญัติชื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สมมติเรียกไปต่างๆ
เป็นคน ม้า แพะ แกะ รถ บ้าน นาฬิกา ปากกา เป็นต้น เพื่อใช้เป็นเครื่องสื่อความหมายกัน
เป็นที่เข้าใจกันอย่างนั้น ตามสมมติโวหารของโลก แต่เมื่อองค์ประกอบทั้งหลายที่รวมตัวขึ้นมาเป็นรูปร่างของสิ่งต่างๆ
นั้นแตกแยกสลายเปลี่ยนแปลงไปในที่สุด สภาพที่เป็นตัวตนของสิ่งนั้นก็หายไป บ้านเมื่อถูกเผาก็เหลือแต่เถ้าไฟ
เราจะเรียกสิ่งนั้นว่า บ้านอีกไม่ได้แล้ว และแม้ส่วนประกอบต่างๆ ที่รวมตัวกันนั้น ที่สุดก็เสื่อมสลายไปเช่นเดียวกัน
เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาได้อย่างชัดเจน ดังข้อความในมหาหัตถิปโทปมสูตรว่า
ดูกรท่านมีอายุทั้งหลาย
อากาศอาศัยไม้และอาศัยเถาวัลย์ ดินเหนียวและหญ้าแวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า เป็นเรือนฉันใด
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยกระดูกและอาศัยเอ็นเนื้อและหนังแวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่า
รูป ฉันนั้นเหมือนกันแล(9) มีอยู่คราวหนึ่งมารถามนางวิชิราภิกษุณีว่า สัตว์นี้ ใครสร้าง
ผู้สร้างเป็นใครอยู่ที่ไหน สัตว์เกิดที่ไหน สัตว์ดับที่ไหน นางวชิราภิกษุณีตอบว่า
ดูกรมาร เพราะเหตุไรหนอ
ความเห็นของท่านจึงหวนกลับมาว่า สัตว์ ฯ ในกองสังขารล้วนนี้ ย่อมไม่ได้นามว่า สัตว์
ฯ เหมือนอย่างว่า เพราะคุมส่วนทั้งหลายเข้า เสียงว่า รถย่อมมี ฉันใด ฯ เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่
การสมมติว่า สัตว์ ย่อมมีฉันนั้น ฯ ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์ย่อมตั้งอยู่
และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ ฯ(10)
ปัญหาเดียวกันนี้
นางเสลาภิกษุณีตอบว่า รูปนี้ ไม่มีใครสร้าง อัตภาพนี้ ไม่มีใครก่อ รูปเกิดขึ้น เพราะอาศัยเหตุ
ดับไป เพราะเหตุดับ ฯ พืชชนิดใดชนิดหนึ่งที่บุคคลหว่านลงในนา ย่อมงอกขึ้น เพราะอาศัยเหตุ
2 ประการ คือ รสในแผ่นดิน และยางในพืช ฉันใด ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ 6 เหล่านี้ ก็เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุ
ดับไป เพราะเหตุดับ ฉันนั้น ฯ(11)
แสดงให้เห็นว่า
ที่ได้ชื่อว่า สัตว์ ว่า อัตภาพหรืออัตตา นี้เพราะการสมมติบัญญัติขึ้นของมนุษย์ แท้ที่จริงเมื่อว่า
โดยปรมัตถ์แล้วไม่มีอยู่เลยลักษณะของอนัตตา พุทธศาสนานิกายเถรวาทได้แสดงลักษณะของอนัตตา
คือ ลักษณะที่ให้เห็นว่า มิใช่ตัวมิใช่ตน โดยสรุปแล้ว มีอยู่ 5 ลักษณะด้วยกัน คือ 1. เป็นของสูญ (สุญฺญโต) คือ เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆ
ทั้งหลาย ว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือการสมมติเป็นต่างๆ ไม่มีตัวผู้สิงสู่อยู่ครอง
ไม่มีตัวผู้สร้างสรรค์บันดาล ไม่มีตัวผู้เสวย นอกเหนือจากกระบวนธรรมแห่งองค์ประกอบทั้งหลายที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยและอยู่นอกเหนือจากการสมมติ
พูดง่ายๆ ว่า ว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคลตัวตนเราเขา จากความเป็นนั่น เป็นนี่ที่กำหนดหมายกันขึ้นนั่นเอง,
2. เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ (อสฺสามิกโต) ไม่เป็นของใครจริง คือไม่เป็นตัวตนของใคร
และไม่เป็นของของตัวตนใดๆ ไม่มีตัวตนอยู่ต่างหากที่จะเป็นเจ้าของครอบครองสังขารธรรมทั้งหลาย
มันเป็นเพียงกระบวนการของธรรมเองล้วนๆ ซึ่งเป็นไปโดยลำพังตามเหตุปัจจัย, 3. ไม่อยู่ในอำนาจ (อวสวตฺตนโต)
ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆ ไม่อยู่ในอำนาจของใคร
ไม่ขึ้นต่อผู้ใด ไม่มีใครมีอำนาจบังคับมันจะเรียกร้องหรือปรารถนาให้มันเป็นอย่างใดๆ
ไม่ได้ นอกจากทำการตามเหตุปัจจัย เช่น มันเกิดขึ้นแล้วจะสั่งว่าอย่าตั้งอยู่ มันตั้งอยู่แล้วจะสั่งว่าอย่าโทรม
มันโทรมไปแล้วจะสั่งว่า อย่าเสื่อมสลายไม่ได้, 4. เป็นสภาวธรรมอันเป็นไปตามเหตุปัจจัย (ยถาปจฺจยปวตฺติโต)
คือ เป็นสิ่งที่ขึ้นต่อเหตุปัจจัย ไม่มีอยู่โดยลำพังตัวเอง แต่เป็นไปโดยสัมพันธ์อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ
ต่างเป็นปัจจัยแก่กันและกัน เรียกรวมๆ ว่า กระบวนธรรมนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของใคร
และไม่อาจมีตัวตน ไม่ว่าจะเป็นตัวแกนภายในหรือตัวการภายนอก ที่จะขวางขืนหรือบงการบังคับมันได้
และ5. โดยสภาวะของมันเองก็แย้งหรือค้านต่อความเป็นอัตตา
(อตฺตปฏิกฺเขปโต) มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา
หมายความว่า ความเป็นกระบวนธรรม คือ การที่องค์ประกอบทั้งหลายสัมพันธ์กันดำเนินไปโดยความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง
เป็นการปฏิเสธอยู่ในตัวว่า ไม่มีตัวตนต่างหากซ้อนอยู่ที่จะมาแทรกบงการหรือแม้แต่ขวางขืนความเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ตัวตนต่างหากเช่นนั้นมีไม่ได้ เพราะถ้ามี ก็ไม่อาจเป็นไปตามความบังคับบงการของตัวตนนั้นหรือกระบวนธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นมีความสำเร็จสมบูรณ์พร้อมในตัวอยู่แล้ว
ไม่จำเป็น และไม่อาจจะมีตัวการอย่างอื่นที่จะเข้ามาแทรกแซงสั่งการอีกได้(12)
สรุปว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันเองตามธรรมดา
เหตุปัจจัยมี มันก็เกิดขึ้น เหตุปัจจัยหมด มันก็ดับ ทรงตัวอยู่ไม่ได้ เรื่องอัตตา อนัตตานี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายควรที่จะทำความเข้าใจให้รู้
ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตามิใช่อัตตา เมื่อเรารู้ว่าสิ่งทั้งหลายมิใช่ตัวตนแล้ว
ก็พยายามลดละมานะความถือตัวถือตนไม่ทะนงตนว่า สำคัญกว่าคนอื่น สูงกว่าคนอื่น อันจะเป็นเหตุปัจจัยนำตัวเราให้คลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนที่หาความจีรังยั่งยืนไม่ได้เลย
จะได้ใช้ชีวิตอยู่กับความจริงในโลกนี้อย่างรู้เท่าทัน ไม่หลงยึดติดในสิ่งสมมติ อันจะเป็นเหตุให้เข้าถึงนิพพานในที่สุดได้ดังพระพุทธพจน์ว่า
ผู้ที่ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุนิพพาน อันถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะ ในปัจจุบันทีเดียว
ฯ(13)
มูลเหตุที่ทำให้เข้าใจผิดในเรื่องตัวตน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์เข้าใจผิดคิดว่า มีตัวมีตน ทำให้มีทรรศนะไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
เกิดจากมูลเหตุหลายประการ โดยสรุปแล้วก็มี 2 ประเด็น(14) ดังนี้
1. สมมติบัญญัติ สาเหตุประการหนึ่งที่เป็นเครื่องอำพรางมนุษย์ปุถุชนให้หลงยึดติดว่า
เป็นตัวเป็นตนขึ้น นั่นก็คือ บัญญัติ (Concept) แห่งอัตตา คือ
มโนภาพของตัวตนที่เป็นคราบติดมาตั้งแต่ครั้งยึดติดในตัวตนอยาบระดับร่างกาย แม้มโนภาพนี้จะละเอียดประณีตขึ้นมากเพียงใดมันก็เป็นภาพอันเดียวกันหรือเทือกเถาเดียวกัน
และเป็นภาพแห่งความหลงผิด ซึ่งเมื่อเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับสภาวะใดๆ เขาก็จะเอาบัญญัติหรือมโนภาพอันนี้ไปป้ายหรือฉาบทาสภาวะนั้น
ทำให้มีสิ่งกั้นบัง เกิดความพร่ามัวหรือบิดเบือน และทำให้สภาวะที่เขาเข้าใจไม่ใช่สภาวะจริงแท้
คำว่า บัญญัติ
แปลว่า แต่งตั้ง มีสิ่งที่มนุษย์แต่งตั้งชื่อ (นามบัญญัติ) เพื่อให้หมายรู้เนื้อความ (อัตถบัญญัติ) มีทั้งวิชชมานบัญญัติ คือ การบัญญัติสิ่งที่มีสภาวะธรรมรองรับ
เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นต้น และอวิชชมานบัญญัติ การบัญญัติแต่งตั้งสิ่งที่ไม่มีสภาวธรรมรองรับ
เช่น มนุษย์ บ้าน รถ หนังสือ ปากกา เป็นต้น สำหรับใช้เรียกสิ่งที่ตนเองต้องการจะสื่อความหมาย
เพื่อเป็นที่เข้าใจกัน รู้กัน และนำมาใช้กันอย่างนั้นมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน
เรื่องบัญญัตินั้นได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องสมมติสัจจะ ยิ่งนานวันก็มีบัญญัติที่มนุษย์บัญญัติสมมติเรียกเกิดขึ้นมากมาย
บางทีต่างชาติ ต่างภาษา ต่างเผ่าพันธุ์ ต่างก็เรียกชื่อของวัตถุสิ่งเดียวกันไม่เหมือนกัน
มนุษย์เกิดมาท่ามกลางสิ่งที่เป็นสมมติบัญญัติเหล่านี้ และถูกสอนให้ยึดติดอยู่กับสิ่งที่เป็นสมมติบัญญัติเหล่านี้มากขึ้นทุกวันจากคนรุ่นก่อนถึงคนรุ่นปัจจุบัน
ทำให้มนุษย์หลงยึดติดคิดว่า สิ่งสมมตินั้นเป็นสิ่งแท้จริงที่ตนเองควรยึดถือเอาไว้ โดยไม่ได้พิจารณาตามเป็นจริงว่า
สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมันเป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์สมมติบัญญัติแต่งตั้งขึ้น ตัวอย่าง เช่น
เพราะการรวมตัวของขันธ์ 5 จึงเกิดสมมติเรียกว่า มนุษย์ขึ้นได้ ตัวตนของมนุษย์ที่แท้จริงแล้วไม่มีอยู่เลยเมื่อเจอะลึกลงไปก็จะพบว่า
มีแต่ ธาตุ 4 ขันธ์ 5 เท่านั้น จะหยิบฉวยส่วนใดส่วนหนึ่งขึ้นว่าสิ่งนี่ คือ มนุษย์ก็หาได้ไม่
และธาตุ 4 ขันธ์ 5 ที่เป็นสภาวะมูลฐานที่แท้จริงของมนุษย์เอง เป็นสภาวธรรมที่เป็นไปตามธรรมชาติของสิ่งนั้นเอง
มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เสื่อมสลายไปในที่สุด ไม่มีส่วนใดเลยที่เราจะไปยึดถือว่า
เป็นตัวเป็นตน เป็นตัวเราของเรา เพราะสิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้เป็นไปตามอำนาจความต้องการของเรา
เช่น เมื่อถึงเวลาแก่ เราจะห้ามไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ ถึงเวลาตาย เราจะห้ามว่าอย่าเพิ่งตาย
ห้ามตายไม่ได้ เพราะมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และจะต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด ตามเหตุปัจจัย
ตามธรรมดาของตัวมันเอง คือ มันเป็นใหญ่ในตัวเอง เราไปบังคับอะไรมันไม่ได้ เมื่อเราพิจารณาอยู่อย่างนี้ก็จะทำให้ไม่ไปหลงยึดติดอยู่กับสิ่งที่เป็นสมมติบัญญัติว่า
เป็นตัวเป็นตนของเราขึ้นมาจริงๆ ดังนั้น เราจะเห็นว่า บัญญัตินี้เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อความยึดมั่นว่า
เป็นตัวเป็นตนของมนุษย์ ถือว่า เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ปิดบังอำพรางให้มนุษย์หลงยึดติดอยู่กับสิ่งที่เป็นเพียงมายา
หาสภาวะที่แท้จริงในตนเองไม่มี นั่นเพราะมนุษย์หลงสมมติบัญญัติติดอยู่กับภาพแห่งสมมติบัญญัติจนเป็นเหตุให้เข้าใจผิดในเรื่องตัวตน
2. อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เข้าใจผิดในเรื่องตัวตน
คือความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) ทางพุทธศาสนาถือว่า
เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องภายในจิตใจของมนุษย์เอง ความยึดติดถือมั่น
(อุปาทาน) มีมาแต่เดิมตั้งแต่ยึดติดในอัตตาหยาบๆ
ขั้นต้นซึ่งเป็นความหลงผิดอยู่แล้ว มนุษย์ก็ยังพาเอาความยึดติดนี้ไปด้วย และนำไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสภาวะที่แท้จริง
ความยึดติดในภาพตัวตนนี้ จึงกลายเป็นเครื่องฉุดรั้งมนุษย์ไว้ให้ไม่อาจเข้าถึงสภาวะที่แท้จริงนั้นได้เราจะสังเกตเห็นว่า
มนุษย์เกิดมาท่ามกลางสิ่งที่เป็นบัญญัติทั้งหลายมาตั้งแต่เกิด พอเกิดมาก็มีสัญชาติญาณที่รับรู้ต่อสิ่งที่มากระทบสัมผัส
เมื่อเกิดความรู้สึกพอใจกับสัมผัสนั้นก็เป็นบวก แต่เมื่อรู้สึกไม่พอใจก็เป็นลบ คือ
รับอารมณ์ 2 ฝ่ายอันเป็นโลกธรรมนั่นเองฝ่ายที่ชอบใจเรียกอิฏฐารมณ์ เป็นต้นว่า ลาภ ยศ
สรรเสริญ สุข และฝ่ายที่ไม่ชอบเรียกว่า อนิฏฐารมณ์ เมื่อมนุษย์เกิดสัญชาติญาณชอบหรือไม่ชอบขึ้นต่อสิ่งที่ได้สัมผัสมนุษย์ก็ยึดเอาสิ่งที่ชอบว่า
เป็นของตน พุทธทาสภิกขุ ท่านเรียกสัญชาติญาณตัวนี้ว่า ตัวกูของกู ซึ่งเป็นเป็นเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนอันเกิดจากอวิชชาคือ
ความไม่รู้ของมนุษย์ เมื่อมนุษย์เกิดสัญชาติญาณยึดถือเป็นเป็นตน ของตนแล้ว ยิ่งนานวันมนุษย์ก็ยิ่งมีอุปาทานในสิ่งที่เป็นสมมติบัญญัติมากขึ้น
ทางพุทธศาสนาถือว่า ตัวอุปาทานนี้เองเป็นสาเหตุสำคัญมากประการหนึ่งที่ให้มนุษย์เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสารอย่างไม่รู้จักจบสิ้น
อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส และอวิชชาที่ครอบงำมนุษย์อยู่นั้นอุปาทานในทางพุทธศาสนามีอยู่
4 ประการ(15) ดังนี้ 1. กามุปาทาน ความถือมั่นในกาม คือ ความยึดติดถือมั่นในกาม
ยึดถือว่า เป็นของเราหรือจะต้องเป็นของเรา จะเป็นเหตุให้เกิดริษยาหรือหวงแหน ลุ่มหลง
เข้าใจผิด และทำผิด, 2. ทิฏฐุปาทาน ความถือมั่นในทิฏฐิ
คือ ความถือมั่นในทิฏฐิ ความยึดติดฝังใจในลัทธิ ทฤษฎี และหลักความเชื่อต่างๆ,
3. สีลัพพตุปาทาน ความถือมั่นในศีล และพรต คือ
ความยึดมั่นในศีล และวัตรด้วยอำนาจกิเลส ความถือมั่นศีลพรต คือ ธรรมเนียมที่ประพฤติกันมาจนชินโดยเชื่อว่า
ขลังเป็นเหตุให้งมงาย บางที่ท่านก็เรียกว่า สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดถือว่า บุคคลจะหลุดพ้นได้ด้วยศีล
และวัตร โดยถือว่า เพียงประพฤติศีล และวัตรให้เคร่งครัดก็พอที่จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ไม่ต้องอาศัยสมาธิ
และปัญญาก็ได้หรือถือศีลพรตโดยสักว่า ทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย และนิยมว่า ขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ด้วยเข้าใจว่า
จะหลุดพ้นได้ด้วยศีล และพรตอย่างนั้นๆ และ4. อัตตวาทุปาทาน ความถือมั่นวาทะว่า
ตน คือ การถือมั่นว่า ตน คือ ความยึดถือสำคัญมั่นหมายว่า นั่นนี่เป็นตัวตน เช่น มองเห็นเบญจขันธ์เป็นอัตตา
อย่างหยาบขึ้นมา เช่น ยึดถือมั่นหมายว่า นี่เรา นั่นของเรา จนเป็นเหตุแบ่งแยกเป็นพวกเรา
พวกเขา และเกิดความถือพวกขึ้น เพราะมนุษย์ยึดมั่นในอุปาทานทั้ง 4 ประการดังกล่าวนี้
จึงเป็นเหตุให้มนุษย์ต้องเวียนว่ายตายเกิด ในวัฏฏสงสารไม่รู้จักจบสิ้น และเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้มนุษย์หลงเข้าใจผิดในเรื่องตัวตน
(อัตตา) จนไม่สามารถที่จะถอนภาพแห่งอัตตาของตนออกจากสมมติบัญญัติได้
สรุปว่า มูลเหตุที่ทำให้มนุษย์หลงเข้าใจผิดในเรื่องตัวตนนั้นมีอยู่
2 ประการใหญ่ๆ บัญญัติ เป็นสิ่งที่อำพรางให้มนุษย์ไม่เห็นสภาวะที่แท้จริงของตนเอง เห็นแต่เพียงสิ่งที่เป็นมายา
อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นของมนุษย์นั่นเองก็เป็นมูลเหตุให้เกิดความเข้าใจว่า มีตัวตนของตนขึ้นมาจริงๆ
ทางพุทธศาสนาสอนให้ละความยึดมั่นว่า เป็นตัว เป็นตน คือ สอนให้ละภาพแห่งอัตตา เพราะอัตตาไม่มีอยู่จริงเป็นเพียงมายาเป็นเพียงสิ่งสมมติ
และสอนให้เข้าใจถึงสิ่งที่เป็นสมมติบัญญัติว่า เป็นสิ่งที่หาสภาวะที่แท้จริงในตนเองไม่ได้
มันเป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นเท่านั้น เมื่อพิจารณาเห็นสมมติสัจจะได้อย่างชัดเจนแล้ว
ก็จะเป็นพื้นฐานให้เข้าใจสิ่งที่เป็นปรมัตถสัจจะอันจะเป็นเหตุให้รีบปฏิบัติธรรมอันจะนำตนเองให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดของปรมัตถธรรม
คือ พระนิพพานในที่สุดได้
ปัญหาที่เกิดจากการมีอัตตา
ตามทรรศนะของพุทธศาสนานิกายเถรวาท เมื่อมนุษย์มีความเห็นในสิ่งที่เป็นเพียงสมมติบัญญัติว่า
เป็นตัวเป็นตนที่แท้จริงของตนเองแล้ว อาจสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่มนุษย์ด้วยกันเองหลายประการ
สามารถแยกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท ดังนี้
1. สร้างปัญหาทางโลกทำให้มนุษย์เห็นแก่ตัว เมื่อมองจากปัญหาทางโลกแล้ว ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์ยึดถือความเป็นตัวเป็นตน
จะเป็นเหตุให้มนุษย์เห็นแก่ตัวกันมากขึ้นทุกวัน ยกตัวอย่าง เช่น 1) ทำให้เอาเปรียบคนอื่น เพราะเห็นแก่ตัว และคำนึงถึงแต่ประโยชน์ของตัวเองมนุษย์ก็คิดแต่จะเอาเปรียบคนอื่น
ทำงานในที่ทำงานเดียวกัน พอนึกถึงแต่ประโยชน์ตนก็เบียดบังเวลาทำงานไปทำธุระส่วนตัว
โดยวานให้คนอื่นทำแทนให้เสมอ เป็นครูอาจารย์ก็ขี้เกียจสอนหรือรับสอนเพียงไม่กี่ชั่วโมง
เพราะมัวแต่เอาเวลาที่จะสอนไปทำธุระส่วนตัวอย่างอื่น เป็นพ่อค้าแม่ค้าก็คิดเอาเปรียบลูกค้า
ขายสินค้าในราคาแพง เพราะเห็นแก่ประโยชน์ตน โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น
เป็นต้น นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งของความเห็นแก่ตัวที่เกิดจากการยึดถือตัวตน (อัตตา), 2) ทำให้เป็นคนมองโลกในแง่ร้าย
เพราะความเห็นแก่ตัว มนุษย์ก็คิดระแวงสงสัยกลัวคนอื่นจะมาทำอันตรายตนเอง มักมองโลกในแง่ร้ายเสมอไป
บางทีเรื่องราวมีนิดเดียวแต่ก็ขยายให้มันมีเรื่องราวมากขึ้น เรื่องไม่ควรที่จะไปโกรธ
ก็โกรธ เรื่องที่ไม่ควรกลัวก็กลัว เรื่องไม่เป็นเรื่องก็จะให้เป็นเรื่อง เพราะรักตัวตน
และยึดมั่นตัวเองมากจึงทำให้ระแวง และสาเหตุก็เกิดจากความเห็นแก่ตัวของมนุษย์นั่นเอง,
3) ทำให้เป็นคนไม่รักษากฎระเบียบของสังคม เพราะความเห็นแก่ตัว
ทำให้มนุษย์ไม่รักษากฎระเบียบของสังคม ยึดเอาความสะดวกสบายของตนเองเป็นที่ตั้ง เช่น
ขับรถไม่เคารพกฎจราจรของอภิสิทธิ์ชนบางคน ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ทำให้บ้านเมืองสกปรก
เป็นต้น สาเหตุก็มาจากความเห็นแก่ตัวนั่นเอง, 4) ทำให้ไม่เคารพสิทธิ์ของบุคคลอื่น เพราะความเห็นแก่ตัว ทำให้มนุษย์ไม่รู้จักเกรงใจคนอื่น
มักทำอะไรตามอำเภอใจ อยากเปิดเพลงเสียงดังลั่นบ้านก็ได้ อยากจะพูดจาไม่เข้าหูใครก็ได้
อยากจะเป็นนักเลงอันธพาลก็ได้ เพราะเห็นแก่ชีวิตของตัวเอง ไม่เคารพชีวิตของผู้อื่นสัตว์อื่น
มนุษย์จึงทำลายล้างชีวิตของมนุษย์ด้วยกันเอง และขยายวงกว้างไปทำลายล้างชีวิตของสัตว์อื่นๆ
เพื่อนำมาเป็นอาหารสำหรับมนุษย์เองโดยไม่เคารพต่อชีวิตของสัตว์เหล่านั้น ว่าเขาก็มีสิทธิ์ที่จะอยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกับมนุษย์เหมือนกัน
แต่เพราะความเห็นแก่ตัวจึงทำให้มนุษย์คิดว่า ตนเองเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้,
5) ทำให้เกิดมีมนุษย์อกตัญญู เพราะความเห็นแก่ตัวเกินไป
ไม่รู้จักแยกแยะว่าอะไรควรไม่ควร ทำให้มนุษย์ไม่รู้จักบุญคุณของผู้มีพระคุณ ลูกไม่รู้จักบุญคุณของพ่อแม่ที่มีต่อตน
ถึงรู้อยู่บางทีก็ไม่รู้จักตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ พอพ่อแม่แก่ชราก็ไม่ดูแล บางคนนำไปฝากไว้ที่บ้านพักคนชราบ้าง
ปล่อยให้อยู่เองตามลำพังบ้าง เวลาเห็นประโยชน์ตนก็มาหา พอหมดประโยชน์ที่ตนจะได้ก็ไม่มาให้เห็นหน้า
เหล่านี้ล้วนเป็นผลิตผลของความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ทั้งสิ้น และ6) ทำให้เกิดความไม่สามัคคีขึ้นในสังคม เพราะความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง
จึงทำให้มนุษย์ ไม่รู้จักคิดที่จะทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เวลามีศึกสงครามมนุษย์ที่เห็นแก่ตัว
ก็ไม่ช่วยกันออกไปรบเพื่อชาติ สุดท้ายก็ทำให้สิ้นชาติ สิ้นแผ่นดินเวลาเลือกตั้งไม่ออกไปแสดงพลัง
มัวนอนหลับทับสิทธิ์ ก็พลอยทำให้ประชาธิปไตยเสียไปเวลามีปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นในสังคม
ก็เอาตัวรอดแต่เพียงผู้เดียว ไม่สามัคคีกันช่วยกันแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
นั่นก็เพราะความเห็นแก่ตัวของมนุษย์นั่นเองปัญหาทางโลกที่เกิดจากความยึดมั่นในอัตตาตัวตนจนเป็นเหตุให้มนุษย์เห็นแก่ตัวนั้น
สร้างปัญหามากมายให้เกิดขึ้นแก่สังคม ที่กล่าวมานั้นเพียงเล็กน้อยพอเป็นทรรศนะเท่านั้น
2. สร้างปัญหาทางธรรม ทำให้มนุษย์สะสมกิเลสมากขึ้น เมื่อมนุษย์ยึดมั่นในอัตตาตัวตนของตนเอง
ก็ทำให้มนุษย์เห็นแก่ตัว ถ้ามองจากปัญหาในด้านธรรมะแล้วถือว่า เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะความที่มนุษย์เห็นแก่ตัว
จึงทำให้มนุษย์สะสมเพิ่มพูนกิเลส ที่เป็นรากเหง้าของอกุศลทั้งปวง มนุษย์จะมีความโลภ
(โลภะ) อยากได้สิ่งต่างๆ มากขึ้น เมื่ออยากได้ก็แสวงหามาให้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
บางทีขอให้ได้มาสมใจอยากก็ไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามทำนองคลองธรรมอะไร ทำไปตามความอยากที่คอยสั่งการอยู่เบื้องหลัง
ทำให้มนุษย์มีความโกรธ (โทสะ) มากยิ่งขึ้นถ้ามนุษย์ไม่ได้ในสิ่งที่ตนประสงค์
ประสบสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ และหลงงมงาย (โมหะ) ในสิ่งที่ตนเองได้แล้วว่า ประเสริฐที่สุดแล้ว มัวเมาในกามคุณทั้ง 5 คือ รูป
เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ยิ่งนานวันมนุษย์ยิ่งสะสมกิเลสมากขึ้นทุกวัน
จนเป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในสันดานมากขึ้นทุกวัน เมื่อกิเลสมากขึ้นอวิชชา คือ ความไม่รู้ก็ครอบงำมนุษย์มากขึ้น
ทุกวัน จนมนุษย์เต็มไปด้วยความโลภความโกรธ และความหลงงมงาย ไม่สามารถที่จะใช้ความรู้ของตนเองแยกแยะได้ว่าอะไร
คือ สิ่งสมมติ อะไร คือ สิ่งที่จริง อะไรควร อะไรไม่ควร เมื่อมนุษย์ถูกอวิชชาเข้าครอบงำ
ก็เหมือนการปิดประตูแห่งพระนิพพาน เพราะถูกอวิชชาครอบงำ มนุษย์ก็มองไม่เห็นทางที่จะปฏิบัติดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นได้
นอกจากเมื่อไหร่ มนุษย์สามารถกะเทาะเปลือกอวิชชาออกได้ มนุษย์ก็จะเห็นทางดำเนินไปสู่พระนิพพาน
แล้วเร่งรีบปฏิบัติธรรม เพื่อนำตนเองให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง คือ พระนิพพาน อันเป็นความสงบเย็นอย่างยิ่ง
แต่จะกะเทาะเปลือกอวิชชาได้ ก็ต้องกำจัดความเห็นว่า เป็นตัวเป็นตน (อัตตา) ที่เป็นเหตุให้เกิดความเห็นแก่ตัว และเป็นเหตุให้มนุษย์สะสมกิเลสให้ได้เสียก่อน
แล้วการปฏิบัติธรรมก็จะดำเนินไปตามวิถีทางที่ถูกต้อง จนถึงจุดหมายปลายทางในที่สุดได้นั่นเอง
ประโยชน์ที่เกิดจากการไม่มีอัตตา (อนัตตา) เมื่อมนุษย์เข้าใจเรื่องอนัตตาในทางพุทธศาสนา
และเข้าใจได้อย่างถ่องแท้แล้วย่อมนำมา ซึ่งประโยชน์อย่างมากมายแก่บุคคลผู้นั้น เช่น
1. ทำให้ละความเห็นแก่ตัว (ตัณหา)
เมื่อมนุษย์พิจารณาเห็นว่า ตัวตนที่แท้ของเราไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร มนุษย์จะเริ่มคิดถึงสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนเองอย่างแท้จริงนั่น
คือ คุณงามความดี ก็จะพากันเร่งสร้างแต่บุญกุศล และคุณงามความดี เพราะพิจารณาเห็นอนัตตาแห่งสังขารนั่นเองทำให้มนุษย์ลดความเห็นแก่ตัวลงไป
จากที่เคยมีความโลภ (โลภะ) มาก อยากได้โน่น
อยากได้นี่ อยากเป็นโน้น อยากเป็นนี้ ก็ลดลง เพราะไม่รู้จะอยากได้มาทำไม เพราะแม้กระทั่งตนเองก็ยังแปรเปลี่ยนหาสาระในตัวตนไม่ได้
และสิ่งที่อยากได้นั่นเองมันก็ไม่ยั่งยืน มีการแปรเปลี่ยนไป และดับสลายไปในที่สุด เหมือนกับตัวเราเช่นกัน
เมื่อพิจารณาเห็นอนัตตาเช่นนี้ ก็จะทำให้มนุษย์ไม่ประมาทในชีวิตเร่งสร้างแต่ความดีรู้จักทำประโยชน์ให้แก่สังคมมากขึ้น
สามารถละความเห็นแก่ตัวได้อย่างเด็ดขาด ความโกรธ (โทสะ)
และความหลง (โมหะ) ก็จะยิ่งลดน้อยลงไป
เพราะเมื่อพิจารณาเห็นอนัตตาแล้ว มานะที่ยึดถือว่า เป็นตัวเป็นตนก็หายไปจะเป็นคนไม่โกรธง่าย
จะไม่ถูกโมหะเข้าครอบงำ จะเป็นคนมีจิตใจมั่นคง ไม่กลัวผีที่คนทั่วไปกลัวกัน เพราะไม่มีตัวตนให้กลัวอีกต่อไป
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า เมื่อมนุษย์รู้ และเข้าใจเรื่องอนัตตาได้อย่างถ่องแท้แล้ว
ย่อมทำให้ลดละความโลภ ความโกรธ ความหลงได้อย่างแน่นอน โดยไม่ถือเอาแต่ประโยชน์ตนเองเป็นประมาณ
ทำให้เห็นประโยชน์ในวงกว้างอันจะก่อประโยชน์ให้เกิดแก่สังคมโดยส่วนรวมด้วย
2. ทำให้มองโลกด้วยความเข้าใจอย่างถูกต้อง เมื่อเข้าใจในอนัตตาได้อย่างชัดแจ้งแล้ว
ความคิดของบุคคลนั้นจะกว้างไกล มีเหตุผลวางตนเป็นกลาง เพราะพิจารณาเห็นภาวะของสิ่งทั้งปวงในโลกนี้
มันเป็นไปตามเหตุ และปัจจัยของมันเอง เราไม่มีอำนาจไปบังคับบัญชาให้เป็นไปตามอำนาจของเราได้
จึงทำให้เป็นคนที่วางตนเป็นกลางไม่เอาตนเองเป็นใหญ่ในการตัดสินใจทำอะไร เมื่อจะทำก็ทำไปตามหลักของเหตุ
และผลตามธรรมชาติของสิ่งทั้งปวงโดยไม่ยึดตัวเองเป็นใหญ่ และจะเข้าใจในชีวิตอย่างถ่องแท้ว่า
ชีวิตของเราแท้ที่จริงก็ประกอบขึ้นมาจากส่วนต่างๆ ของธาตุ 4 ขันธ์ 5 อายตนะ 6 เป็นต้น
เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ไม่มีสิ่งใดส่วนใดเลยที่เราจะยึดถือว่า เป็นตัวตนของเรา
เมื่อพิจารณาได้เช่นนี้ก็จะทำให้มองโลก และชีวิตมนุษย์ด้วยความเข้าใจ ไม่ทำลายล้างซึ่งกัน
และกัน ใช้ชีวิตได้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ทำลายธรรมชาติให้เสียสมดุล มีชีวิตอยู่รวมกับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างสงบสุข
ไม่แก่งแย่งชิงดี ชิงเด่นกัน ไม่ประหัตประหารซึ่งกัน และกัน อยู่อย่างเมตตาเอื้ออารีต่อกัน
อันจะทำให้สังคมที่น่าปรารถนาเกิดขึ้นได้ในโลกใบนี้ ถ้าทุกคนพิจารณาเห็นหลักอนัตตาได้อย่างเข้าใจแล้วนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแต่ละบุคคล
3. ทำให้เข้าใจปรมัตถธรรมที่เป็นสภาวธรรมที่แท้จริงได้ เมื่อมนุษย์เข้าใจหลักอนัตตาได้อย่างชัดแจ้งแล้ว
ก็จะสามารถละความยึดมั่นถือมั่น (อุปาทาน) ในสิ่งทั้งปวง เพราะพิจารณาเห็นความไม่แน่นอน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปในที่สุด
แม้จิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ที่เป็นสภาวธรรมที่แท้จริง ก็ยังมีความแปรปรวน
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเช่นเดียวกัน แล้วเราจะหาสาระอะไรกับสิ่งที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกขณะเช่นนี้เล่า ก็จะเป็นเหตุให้เร่งปฏิบัติธรรมในระดับโลกุตตรธรรมมุ่งไปที่ความหลุดพ้นจากกิเลส
และกองทุกข์ทั้งปวง ในที่สุดก็จะได้พบจุดมุ่งหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน
อันเป็นความสงบอย่างยิ่ง ไม่สามารถหาได้ในโลกแห่งโลกิยวิสัยทั่วๆ ไปได้
4. เป็นเครื่องยืนยันความถูกต้องของกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย (อิทัปปัจจยตา) เมื่อเข้าใจหลักอนัตตาได้อย่างชัดแจ้งแล้ว
เรื่องอนัตตาจะเป็นเครื่องยืนยันความถูกต้องแห่งหลักจริยธรรมอื่น ๆ เช่น หลักกรรม หลักความหลุดพ้น
โดยพิจารณาเห็นความจริงตามแนวแห่งปฏิจจสมุปบาท ว่าเพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ดับ
สิ่งนี้จึงดับเพราะสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตน ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเป็นไปตามรูปกระแสแห่งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์สืบเนื่องอิงอาศัยซึ่งกันและกันจึงเป็นไปได้
กรรมจึงเกิดมีขึ้นได้ เพราะสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีตัวตน ความหลุดพ้นจึงเกิดมีได้
อันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าหลักอนัตตานั่นเองเป็นเครื่องยืนยันกระบวนแห่งเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น
ประโยชน์ที่เกิดจากอนัตตานั้นมีมากมายที่นำมาแสดงไว้ที่นี้พอสังเขป
ในพระไตรปิฏกมีพุทธพจน์ที่แสดงถึงเรื่องของอนัตตาไว้มากมายทั้งที่เป็นสมมติสัจจะ
และปรมัตถสัจจะ ดังนี้
1. พุทธพจน์ที่แสดงว่า ทิฏฐิสุดโต่ง 2 สาย ที่ควรละเว้น พระผู้มีพระภาคตรัสสั่งสอนภิกษุกัจจานโคตรว่า
ดูกรกัจจานะโลกนี้ โดยมากอาศัยส่วน 2 อย่าง คือ ความมี 1 ความไม่มี 1 ก็เมื่อบุคคลเห็นเหตุเกิดแห่งโลก
ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอยู่ ความไม่มีในโลกย่อมไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลก
ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอยู่ ความมีในโลกย่อมไม่มี โลกนี้โดยมากยังพัวพันด้วยอุบายเป็นเหตุ
ถือมั่น และความยึดมั่น แต่อริยสาวกย่อมไม่เข้าถึง ไม่ถือมั่น ไม่ตั้งไว้ ซึ่งอุบายเป็นเหตุถือมั่น
มีความยึดมั่นด้วยความตั้งจิตไว้เป็นอนุสัยว่า อัตตาของเรา ย่อมไม่เคลือบแคลงสงสัยว่า
ทุกข์นั่นแหละ เมื่อบังเกิดขึ้นย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับย่อมดับ อริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย
ดูกรกัจจานะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล จึงชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ ดูกรกัจจานะ ส่วนสุด ที่
1 นี้ว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่ ส่วนสุดที่ 2 นี้ว่า สิ่งทั้งปวงไม่มี ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลาง
ไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย
จึงมีวิญญาณ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ เพราะอวิชชานั่นแหละดับด้วยการสำรอกโดย
ไม่เหลือสังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้
ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้(16)
คำว่า ส่วน 2 อย่าง
คือ 1. ความมี (อตฺถิตา) หมายถึง สัสสตทิฏฐิความเห็นว่าเที่ยง คือ เห็นว่า มีตัวตน (อัตตา) 2. ความไม่มี (นตฺถิตา) หมายถึง อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่า ขาดสูญ พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้เกี่ยวข้องกับทิฏฐิสองสายนี้
และเรื่องทิฏฐิ 2 ประการนี้ บางครั้งแม้พระพุทธเจ้าเองก็ทรงระมัดระวังในการตอบปัญหาที่ว่า
มีอัตตาหรือไม่ เพราะคนอาจเข้าใจผิด มีอยู่ครั้งหนึ่ง วัจฉโคตรปริพาชก ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า
อัตตามีอยู่หรือพระพุทธเจ้าทรงดุษณีนิ่งเสีย วัจฉโคตรปริพาชกทูลถามอีกว่า ถ้าเช่นนั้น
ก็อัตตาไม่มีหรือ พระพุทธเจ้าก็ทรงนิ่งเสียเหมือนกัน ครั้น วัจฉโคตรปริพาชกลุกจากไปแล้วไม่นาน
พระอานนท์ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ทำไมพระองค์จึงไม่ทรงพยากรณ์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตรปริพาชก
ถามว่า อัตตามีอยู่หรือถ้าจะพึงพยากรณ์ว่า อัตตามีอยู่ไซร้ คำพยากรณ์นั้นก็จักไปร่วมกับลัทธิของพวกสมณพราหมณ์ผู้เป็นสัสสตทิฐิ
ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า อัตตาไม่มีหรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่า อัตตาไม่มีไซร้
คำพยากรณ์นั้นก็จักไปร่วมกับลัทธิของพวกสมณพราหมณ์ผู้เป็นอุจเฉททิฐิ ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า
อัตตามีอยู่หรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่า อัตตามีอยู่ไซร้ คำพยากรณ์ของเรานั้น จักอนุโลม
เพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งญาณว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาบ้างหรือหนอ ฯ อา. หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ ถ้าหากเราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า
อัตตาไม่มีหรือ จะพึงพยากรณ์ว่า อัตตาไม่มีไซร้ คำพยากรณ์นั้นคงจักเป็นไป เพื่อความหลงงมงายแก่วัจฉโคตรปริพาชกผู้งมงายอยู่แล้วว่า
เมื่อก่อนอัตตาของเราได้มีแล้วแน่นอน บัดนี้ อัตตานั้นไม่มี ดังนี้ ฯ(17)
แสดงให้เห็นว่า
ทิฏฐิ 2 สายนั้น ควรละเสีย คือ ทำความเห็นให้ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา จากพุทธพจน์ดังกล่าวแสดงว่า
อัตตามีอยู่ในระดับสมมติสัจจะ แต่ไม่มีอยู่ในระดับปรมัตถสัจจะ
2. พุทธพจน์ที่แสดงว่า จะละอหังการ และมมังการได้ด้วยอนัตตา ดูกรราหุล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต
อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ บุคคลพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเราแล้ว ย่อมหลุดพ้น
เพราะไม่ถือมั่น เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด
เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้บุคคลพิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
อย่างนี้ว่า นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเราแล้ว ย่อมหลุดพ้น
เพราะไม่ถือมั่น ดูกรราหุล เมื่อบุคคลรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล ใจจึงจะปราศจากอหังการ
มมังการ และมานานุสัย ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในสรรพนิมิตภายนอก เป็นของก้าวล่วงด้วยดีในส่วนแห่งมานะ
สงบแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว(18)
3. พุทธพจน์นี้แสดงว่า สัตว์ และอัตตา เป็นเพียงความจริงในระดับสมมตินางวิชิราภิกษุณีถูกมารถามว่า
สัตว์เกิดมาจากที่ไหน ใครเป็นผู้สร้าง นางวชิราภิกษุณี ตอบว่า กึ นุ สตฺโตติ ปจฺเจติ
มาร ทิฏฺฐิคตํ นุ เต สุทฺธสงฺขารปุญฺโช ยํ นยิธ สตฺตุปลพฺภติ ยถา หิ องฺคสมฺภารา โหติ
สทฺโท รโถ อิติ เอวํ ขนฺเธสุ สนฺเตสุ โหติ สตฺโตติ สมฺมติ ทุกฺขเมว หิ สมฺโภติ ทุกฺขํ
ติฏฺฐติ เวติ จ นาญฺญตฺร ทุกฺขา สมฺโภติ นาญฺญตฺร ทุกฺขา นิรุชฺฌตีติ ฯ (19)
แปลว่า ดูกรมาร
เพราะเหตุไรหนอ ความเห็นของท่านจึงหวนกลับมาว่าสัตว์ฯ ในกองสังขารล้วนนี้ ย่อมไม่ได้นามว่า
สัตว์ ฯ เหมือนอย่างว่า เพราะคุมส่วนทั้งหลายเข้า เสียงว่ารถย่อมมี ฉันใด ฯ เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่
การสมมติว่า สัตว์ย่อมมีฉันนั้น ฯ ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิด ทุกข์ย่อมตั้งอยู่
และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ ฯ
แสดงให้เห็นว่า
คำว่า สัตว์ คำว่า อัตตาตัวตน เกิดขึ้น เพราะการสมมติบัญญัติของมนุษย์ เพราะอาศัยการประกอบกันเข้าของขันธ์
5 เท่านั้น แท้จริงเป็นสิ่งหา ตัวตนไม่ได้
4. พุทธพจน์ที่แสดงว่า อายตนะภายใน และอายตนะภายนอก ทั้งในอดีต และในอนาคต ก็เป็นอนัตตา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุที่เป็นอดีต และอนาคต เป็นอนัตตา จะกล่าวไปไยถึงจักษุที่เป็นปัจจุบันเล่า
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ย่อมไม่มีเยื่อใยในจักษุที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินจักษุที่เป็นอนาคต
ย่อมปฏิบัติ เพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับซึ่งจักษุที่เป็นปัจจุบัน หู
จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นอดีตและอนาคต เป็นอนัตตา จะกล่าวไปไยถึงใจที่เป็นปัจจุบันเล่า
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่มีเยื่อใยในใจที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินใจที่เป็นอนาคต
ย่อมปฏิบัติ เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับซึ่งใจที่เป็นปัจจุบัน ฯ(20)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้นแหละ รูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียดเลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ ในที่ไกลหรือใกล้ รูปทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้
เวทนาทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า
นั้นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต
อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้สัญญาทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ
ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเราสังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง
ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ สังขารทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย
พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน
เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ไกลหรือใกล้ วิญญาณทั้งหมดนั้น
เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา(21)
5. พุทธพจน์ที่แสดงความเป็นอนัตตาแห่งขันธ์ 5 ใน 3 กาล …ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่เป็นอดีต รูปที่เป็นอนาคต เป็นอนัตตา จักกล่าวถึงรูปที่เป็นปัจจุบันไปไยเล่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความอาลัยในรูปที่เป็นอดีต
ไม่เพลิดเพลินในรูปที่เป็นอนาคตย่อมเป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อความดับรูปที่เป็นปัจจุบัน เวทนาที่เป็นอดีต เวทนาที่เป็นอนาคต เป็นอนัตตา ฯลฯ
สัญญาที่เป็นอดีต สัญญาที่เป็นอนาคต เป็นอนัตตา ฯลฯ สังขารที่เป็นอดีต สังขารที่เป็นอนาคต
เป็นอนัตตา ฯลฯ วิญญาณที่เป็นอดีต วิญญาณที่เป็นอนาคต เป็นอนัตตา จักกล่าวถึงวิญญาณที่เป็นปัจจุบัน
ไปไยเล่า ดูกรภิกษุทั้งหลายอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความอาลัยในวิญญาณที่เป็นอดีต
ไม่เพลิดเพลินวิญญาณที่เป็นอนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อความดับวิญญาณที่เป็นปัจจุบัน(22)
6. พุทธพจน์ที่แสดงความเป็นอนัตตาแห่งเหตุปัจจัย …ดูกรภิกษุทั้งหลาย
รูปเป็นอนัตตาแม้เหตุปัจจัยที่ให้รูปเกิดขึ้น ก็เป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเกิดจากสิ่งที่เป็นอนัตตาที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า
เวทนาเป็นอนัตตา ฯลฯ สัญญาเป็นอนัตตา ฯลฯ สังขารเป็นอนัตตา ฯลฯ วิญญาณเป็นอนัตตา แม้เหตุปัจจัยที่ให้วิญญาณเกิดขึ้น
ก็เป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เกิดจากสิ่งที่เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเป็นอัตตา
เล่า อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี(23)
7. พุทธพจน์ที่แสดงกรรมที่อนัตตากระทำจะถูกต้องอัตตาได้อย่างไร ครั้งหนึ่ง มีภิกษุรูปหนึ่งเกิดความปริวิตกว่า
ได้ยินว่า รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตากระทำ
จักถูกต้องอนัตตา คือ กรรม ได้อย่างไร พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุนั้นด้วยพระทัยแล้ว
ได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า …ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคน
ในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจอวิชชา มีใจถูกตัณหาครอบงำ จะพึงสำคัญสัตถุศาสน์ว่า
เป็นคำสอนที่ควรคิดให้ตระหนักว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายได้ยินว่า ด้วยประการดังนี้แล
รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตากรรมที่อนัตตากระทำ จักถูกต้องอัตตา
คือ กรรมได้อย่างไร นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย อันเราได้แนะนำไว้แล้ว
ด้วยการทวนถามในธรรม นั้นๆ ในบาลีประเทศนั้นๆ จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า พ. เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ภิ.
เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์
มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา
นั่นเป็นตัวตนของเรา ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า พ.
เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า
ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี(24)
8. พุทธพจน์ที่แสดงว่า จะละสังโยชน์ได้ก็ต้องเห็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่
เห็นอยู่ซึ่งจักษุ โดยความเป็นอนัตตา สังโยชน์จึงจะถึงความเพิกถอน เมื่อบุคคลรู้อยู่
เห็นอยู่ซึ่งรูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้น
เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นอนัตตา สังโยชน์จึงจะถึงความเพิกถอนเมื่อบุคคลรู้อยู่
เห็นอยู่ซึ่ง หู จมูก ลิ้น กาย ใจธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนาหรืออทุกขมสุขเวทนา
ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นอนัตตาสังโยชน์จึงจะถึงความเพิกถอน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้เห็นอยู่อย่างนี้แล สังโยชน์จึงจะถึงความเพิกถอน(25)
9. พุทธพจน์ที่แสดงว่า ให้ละความเห็นว่า เป็นอัตตาด้วยอนัตตา ดูกรภิกษุ บุคคลรู้เห็นจักษุแล
โดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้ รู้เห็นรูปโดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้
รู้เห็นจักษุวิญญาณโดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้ รู้เห็นจักษุสัมผัสโดยความเป็นอนัตตา
จึงจะละอัตตานุทิฐิได้รู้เห็นแม้สุขเวทนา ทุกขเวทนาหรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย
โดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้ บุคคลรู้เห็นหู ... รู้เห็น จมูก ... รู้เห็นลิ้น... รู้เห็นกาย ... รู้เห็นใจโดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้
รู้เห็นธรรมารมณ์โดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้ รู้เห็นมโนวิญญาณโดยความเป็นอนัตตา
จึงจะละอัตตานุทิฐิได้ รู้เห็นมโนสัมผัสโดยความเป็นอนัตตา จึงจะละอัตตานุทิฐิได้ รู้เห็นแม้สุขเวทนา
ทุกขเวทนาหรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นอนัตตา
จึงจะละอัตตานุทิฐิได้ ดูกรภิกษุ เมื่อบุคคลรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แลจึงจะละอัตตานุทิฐิได้(26)
10. พุทธพจน์ที่แสดงว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม
ไม่อุบัติขึ้นก็ตามธาตุนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง
ตถาคตตรัสรู้บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ
แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา
ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
ครั้นแล้ว จึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนกทำให้เข้าใจง่ายว่า สังขาร ทั้งปวงเป็นทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตามธาตุนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดาความเป็นไปตามธรรมดา
ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ครั้นแล้วจึงบอก
แสดงบัญญัติ แต่งตั้งเปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา(27)
11. พุทธพจน์ที่แสดงว่า พระอริยบุคคลก็ต้องรู้แจ้งอนัตตา ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล
7 จำพวกนี้ เป็นผู้ควรของคำนับ ฯลฯ เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า 7 จำพวกเป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ พิจารณาเห็นว่า เป็นอนัตตา มีความสำคัญว่า เป็นอนัตตา ทั้งรู้ว่า
เป็นอนัตตา ในธรรมทั้งปวง ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล 7 จำพวกนี้แล เป็นผู้ควรของคำนับ
ฯลฯ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า(28)
พระอรหันตขีณาสพท่านกล่าวว่า
มีสังขาตธรรม เพราะเหตุว่า พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น มีธรรมอันนับแล้ว คือ มีธรรมอันรู้แล้ว
มีธรรมอันพินิจแล้ว มีธรรมอันพิจารณาแล้ว มีธรรมอันเป็นแจ้งแล้ว มีธรรมอันแจ่มแจ้งแล้ว
คือ มีธรรมอันนับแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ... สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ... ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
... เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับ ไปเป็นธรรมดา อนึ่ง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ คติ อุปบัติ ปฏิสนธิ
ภพ สงสาร วัฏฏะ อันพระอรหันตขีณาสพเหล่านั้นนับพร้อมแล้ว อนึ่ง พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น
ตั้งอยู่แล้ว ในที่สุดแห่งขันธ์ ในที่สุดแห่งธาตุ ในที่สุดแห่งอายตนะ ในที่สุดแห่งคติ
ในที่สุดแห่งอุปบัติในที่สุดแห่งปฏิสนธิในที่สุดแห่งภพ ในที่สุดแห่งสงสาร ในที่สุดแห่งวัฏฏะ
ตั้งอยู่ในภพอันมีในที่สุดตั้งอยู่ในอัตภาพอันมีในที่สุด เป็นพระอรหันต์ผู้ทรงไว้ซึ่งกายอันมีในที่สุด
ภพ และอัตภาพ คือ ความเกิด ความตาย และสงสารนี้ของพระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น มีเป็นครั้งสุดท้าย
ท่านไม่มีการเกิดในภพใหม่อีก(29)
12. พุทธพจน์ที่แสดงความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย ดูกรอานนท์ ก็อนัตตสัญญาเป็นไฉน
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี
ย่อมพิจารณาเห็น ดังนี้ว่า จักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา
จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา
ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตาย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย
ทั้งภายใน และภายนอก 6 ประการเหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่า อนัตตสัญญา(30)
13. พุทธพจน์ที่แสดงว่า จะละอุปาทาน 3 ได้ด้วยอนัตตา อนัตตานุปัสนาญาณ ย่อมพ้นจากอุปาทาน
3 เป็นไฉน อนัตตานุปัสนาญาณ ย่อมพ้นจากอุปาทาน 3 คือ ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทานอัตตวาทุปาทาน
อนัตตานุปัสนาญาณย่อมพ้นจากอุปาทาน 3 เหล่านี้(31)
14. พุทธพจน์ที่แสดงว่า จะหลุดพ้นได้ด้วยอนัตตา ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดีอยู่ที่โคนไม้ก็ดี
อยู่ในเรือนว่างก็ดี พิจารณาเห็นดังนี้ว่า นามรูปนี้ว่างจากความเป็นตัวตน และจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน
เธอย่อมไม่ทำความยึดมั่นในนามรูปนั้น เพราะเหตุนั้น วิโมกข์ของภิกษุนั้นจึงเป็นวิโมกข์ว่างเปล่า
นี้เป็นสุญญตวิโมกข์ ฯ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดีย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
นามรูปนี้ว่างจากความเป็นตัวตน และจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน เธอย่อมไม่ทำเครื่องกำหนดหมายในนามรูปนั้น
เพราะเหตุนั้นวิโมกข์ของภิกษุนั้นจึงเป็นวิโมกข์ไม่มีเครื่องกำหนดหมายนี้ เป็นอนิมิตตวิโมกข์
ฯ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดีย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
นามรูปนี้ว่างจากความเป็นตัวตน และจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน เธอย่อมไม่ทำความปรารถนาในนามรูปนั้น
เพราะเหตุนั้นวิโมกข์ของภิกษุนั้นจึงเป็นวิโมกข์ไม่มีความปรารถนานี้ เป็นอัปปณิหิตวิโมกข์
ฯ(32)
15. พุทธพจน์ที่แสดงว่า ต้องพิจารณาเห็นนิพพาน เป็นอนัตตา เมื่อพิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น
ย่อมละกิเลสที่ควรละได้ เมื่อพิจารณาเห็นเวทนา ... สัญญา
... สังขาร ... วิญญาณ ...จักษุ ... ชรา และมรณะ โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น
ย่อมละกิเลสที่ควรละได้ เมื่อพิจารณาเห็นนิพพานอันหยั่งลงสู่อมตะ [ด้วยความเป็นอนัตตา] ด้วยความว่า เป็นที่สุด ย่อมละกิเลสที่ควรละได้
ธรรมใดๆ เป็นธรรมที่ละได้แล้วธรรมนั้นๆ เป็นอันสละได้แล้ว ชื่อว่า ญาณ เพราะอรรถว่า
รู้ธรรมนั้น ชื่อว่า ปัญญา เพราะอรรถว่า รู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว
คือเครื่องรู้ชัดธรรมที่ได้สดับมาแล้วนั้นว่า ธรรมเหล่านี้ ควรละ ชื่อว่า สุตมยญาณ(33)
16. พุทธพจน์ที่แสดงว่า จะรู้แจ้งอริยสัจ 4 ก็ต้องรู้แจ้งอนัตตา ปัญญาอันเป็นเครื่องทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว
คือ เครื่องรู้ชัดธรรมที่ได้สดับมาแล้วนั้นว่า ธรรมเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง ธรรมเหล่านี้ควรกำหนดรู้
ธรรมเหล่านี้ควรละ ธรรมเหล่านี้ควรให้เจริญ ธรรมเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง ธรรมเหล่านี้เป็นไปในส่วนแห่งความเสื่อม
ธรรมเหล่านี้เป็นไปในส่วนแห่งความตั้งอยู่ ธรรมเหล่านี้ เป็นไปในส่วนแห่งความวิเศษ
ธรรมเหล่านี้ เป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลสสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา นี้ทุกขอริยสัจ นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
เป็นสุตมยญาณ(34)
17. พุทธพจน์ที่แสดงว่า แม้พระพุทธเจ้าก็ต้องรู้แจ้งอนัตตา พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ว่า
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ตรัสรู้ว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ตรัสรู้ว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา
ตรัสรู้ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ฯลฯ ตรัสรู้ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา
และมรณะ ตรัสรู้ว่า เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ ฯลฯ เพราะชาติดับ ชรา และมรณะจึงดับ
ตรัสรู้ว่า นี้ทุกข์ ตรัสรู้ว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ตรัสรู้ว่านี้ความดับทุกข์ ตรัสรู้ว่า
นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ ตรัสรู้ว่า เหล่านี้อาสวะ ตรัสรู้ว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ
ตรัสรู้ว่า นี้ความดับอาสวะตรัสรู้ว่า นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับอาสวะ ตรัสรู้ว่า ธรรมเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง
ตรัสรู้ว่า ธรรมเหล่านี้ ควรกำหนดรู้ ตรัสรู้ว่า ธรรมเหล่านี้ควรละ ตรัสรู้ว่า ธรรมเหล่านี้ควรให้เจริญ
ตรัสรู้ว่า ธรรมเหล่านี้ควรทำให้แจ้ง ตรัสรู้ความเกิดความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ
6 ตรัสรู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ 5 ตรัสรู้ความเกิด
ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งมหาภูตรูป 4 ตรัสรู้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ ตามตรัสรู้
ตรัสรู้เฉพาะ ตรัสรู้พร้อม ตรัสรู้ชอบ ทรงบรรลุ ทรงได้เฉพาะทรงถูกต้อง ทรงทำให้แจ้ง
ซึ่งธรรมที่ควรตรัสรู้ ควรตรัสรู้เฉพาะ ควรตรัสรู้พร้อม ควรบรรลุ ควรถูกต้อง ควรทำให้แจ้งทั้งปวงด้วยโพธิญาณนั้น
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นบุคคลผู้เอก เพราะอรรถว่า เป็นผู้เดียวตรัสรู้ ซึ่งสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมอย่างนี้(35)
18. พุทธพจน์ที่แสดงว่า ผู้ที่เห็นว่า มีอัตตาเป็นความหลงผิด ดูกรโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ
พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่าเถิด จงถอนความตามเห็นว่า เป็นตัวตนเสียแล้ว
พึงเป็นผู้ข้ามพ้นมัจจุราชได้ด้วยอาการอย่างนี้ บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้
มัจจุราชจึงจะไม่เห็น ฯ(36)
สัสสตทิฏฐิ ชื่อว่า
อัตตา ในคำว่า อัตตทิฏฐิก็ดี นิรัตตทิฏฐิก็ดี ย่อมไม่เข้าไปได้ในบุคคลนั้น ดังนี้ ย่อมไม่มี
อุจเฉททิฏฐิ ชื่อว่า นิรัตตา ย่อมไม่มีสิ่งที่ยึดถือชื่อว่า อัตตาย่อมไม่มี สิ่งที่พึงปล่อยวางชื่อว่า
นิรัตตา ย่อมไม่มีสิ่งที่ยึดถือย่อมไม่มีแก่บุคคลใด สิ่งที่พึงปล่อยวางก็ไม่มีแก่บุคคลนั้น
สิ่งที่พึงปล่อยวางย่อมไม่มีแก่บุคคลใด สิ่งที่พึงยึดถือก็ไม่มีแก่บุคคลนั้น บุคคลนั้นผู้เป็นพระอรหันต์
ก้าวล่วงความถือ และปล่อยวางแล้ว ล่วงเลยความเจริญ และความเสื่อมแล้ว บุคคลนั้นอยู่จบแล้ว
มีจรณะอันประพฤติแล้ว ฯลฯ ภพใหม่ ย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อัตตทิฏฐิก็ดี
นิรัตตทิฏฐิก็ดี ย่อมไม่เข้าไปได้ในบุคคลนั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
บุตร ปศุสัตว์ ไร่นา และที่ดิน ย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น อัตตทิฏฐิก็ดี นิรัตตทิฏฐิก็ดี
ย่อมไม่เข้าไปได้ในบุคคลนั้น(37)
19. พุทธพจน์ที่แสดงว่า สังขตธรรม และอสังขตธรรม เป็นอนัตตา สังขารทั้งปวงที่ปัจจัยปรุงแต่ง
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พระนิพพาน และบัญญัติ ท่านวินิจฉัยว่า เป็นอนัตตาเมื่อดวงจันทร์
คือ พระพุทธเจ้ายังไม่เกิดขึ้น เมื่อดวงอาทิตย์ คือ พระพุทธเจ้า ยังไม่อุทัยขึ้นมา
เพียงแต่ชื่อของสภาคธรรมเหล่านั้น ก็ยังไม่มีใครรู้จัก พระมหาวีรเจ้าทั้งหลายเป็นผู้มีพระจักษุ
ทรงทำทุกกรกิริยามีอย่างต่างๆ ทรงบำเพ็ญบารมีแล้วเสด็จอุบัติในโลกเป็นไปกับพรหมโลก
พระองค์ทรงแสดงพระสัทธรรม อันดับเสียซึ่งทุกข์ นำมาซึ่งความสุข…(38)
พุทธพจน์ที่นำมาแสดงไว้ข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อยที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของสิ่งทั้งปวง
ไม่ว่าจะเป็นสังขตธรรมหรืออสังขตธรรม ก็มีลักษณะเป็นอนัตตาทั้งสิ้น
ความจริงที่มีอัตตา
คำว่า อัตตา (ATTA) เป็นภาษาบาลี แปลว่า ตัวตน ในภาษาอังกฤษท่านใช้คำในความหมายของอัตตาหลายคำ
เช่น Ego , Self เป็นต้น พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ
-ไทย ได้ให้ความหมายของคำว่า อัตตา ไว้ว่า Egoหรืออัตตา
หมายถึง องค์ประกอบหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวร ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรับรู้
และแสดงปัจเจกภาพของแต่ละคน สำนักปรัชญาบางสำนักยอมรับว่า อัตตาที่เที่ยงแท้ถาวรนี้มีอยู่จริง(39)
อัตตา โดยนัยนี้
ส่วนมากจะหมายถึงอัตตาที่เป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่ง มีตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร ไม่เปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเพราะเหตุปัจจัย
เป็นอยู่ มีอยู่โดยตัวของมันเอง คือ สมบูรณ์ในตัว อัตตาในลักษณะเช่นนี้ โดยสรุปแล้วจะมีลักษณะเฉพาะอย่างน้อย
3 ลักษณะ คือ 1. เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย, 2.
เป็นสิ่งที่มีอยู่ด้วยตัวมันเองโดยอิสระ และ3. เป็นความจริงสูงสุด(40)
เราจะพบลักษณะอัตตาเช่นนี้มากมายในปรัชญาตะวันตกหลายสำนัก
และในปรัชญาตะวันออกบ้าง เช่น ในปรัชญาอินเดีย ก็กล่าวถึง อาตมันหรืออัตตาตัวตนที่แท้จริงไว้อย่างชัดเจน
เพื่อเป็นการให้เห็นภาพในการมองต่างมุมในเรื่องอัตตาในทางพุทธศาสนากับปรัชญาสาขาอื่นๆ
ผู้เรียบเรียงขอเสนอทรรศนะในเรื่องอัตตาที่มีกล่าวไว้ในปรัชญาสาขาอื่นๆ โดยเฉพาะปรัชญาอินเดียนำมากล่าวไว้ที่นี้พอเป็นตัวอย่างให้เห็นเท่านั้น
คำว่า อัตตา ในลักษณะเช่นนี้
ส่วนมากจะหมายถึง สิ่งที่เป็นความจริงสูงสุด (Ultimate
Reality) ของปรัชญาแต่ละสำนักทั้งปรัชญาตะวันตก และปรัชญาตะวันออกบางสำนัก
ที่ได้แสดงถึงลักษณะของความจริงสูงสุดของตนว่า มีลักษณะเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ ไม่เปลี่ยนแปลง
มีอยู่ เป็นอยู่ด้วยตนเองโดยอิสระ ผู้เรียบเรียงขอเสนอเป็นแนวทางพอสังเขปเท่านั้น อัตตาที่มีลักษณะดังกล่าวสามารถขยายเป็นลักษณะใหญ่ๆ
2 ประเภท คือ 1. อัตตาทางวัตถุธรรม ทรรศนะที่ถือว่า สสารหรือพลังงานเป็นพื้นฐานของสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงสูงสุด
นอกจากสสารพลังงานแล้วไม่เชื่อว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง คือ กลุ่มที่เชื่อว่า สสารหรือวัตถุเท่านั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
เช่น ทรรศนะปรมาณูนิยมของเดโมคริตัส ทรรศนะเรื่องธาตุ 4 ของปรัชญาจารวาก ทรรศนะเรื่องสสารนิยมของคาร์ลมาร์กซ์
เป็นต้น และ2. อัตตาทางนามธรรม ทรรศนะที่ถือว่า จิตหรือวิญญาณเป็นมูลฐานที่แท้จริงของชีวิต
เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงสูงสุดนอกจากจิต และวิญญาณแล้วไม่เชื่อว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
เช่น ปรัชญาที่ว่า ด้วยพระเจ้าของศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม และปรัชญาที่ว่า ด้วยอาตมันในปรัชญาอินเดีย
เป็นต้น
ทรรศนะที่เชื่อมั่นอัตตาทางวัตถุธรรม
นักปรัชญากลุ่มที่มีทรรศนะว่า สสารหรือพลังงานเป็นพื้นฐานของสรรพสิ่งในโลกนี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงสูงสุด
นอกจากสสารพลังงานแล้วไม่เชื่อว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ก็คือกลุ่มที่เชื่อว่า สสารหรือวัตถุเท่านั้น
เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง นักปรัชญากลุ่มที่เชื่อมั่นอัตตาทางวัตถุธรรมหรือกลุ่มสสารนิยมนี้มีมากมาย
จะนำมากล่าวไว้ที่นี้พอเป็นตัวอย่างเท่านั้น ผู้สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าได้จากหนังสือปรัชญาทั่วๆ
ไป
1. ทรรศนะเรื่องธาตุ 4 ของปรัชญาจารวาก เป็นปรัชญาวัตถุนิยม
(Materialism) มีทรรศนะที่ยืนยันว่า สสารหรือวัตถุเท่านั้น เป็นความจริงอันติมะ
ปฏิเสธ นรก สวรรค์ ชีวิตในโลกหน้า วิญญาณหรืออาตมัน สิ่งที่มีอยู่จริงตามทรรศนะของปรัชญาจารวาก
คือ วัตถุ และสมบัติเท่าที่รับรู้ได้ของวัตถุเท่านั้น เนื้อหาอภิปรัชญาของจารวาก แบ่งออกเป็น
3 หัวข้อใหญ่ๆ คือ 1. ยืนยันว่า สรรพสิ่งเกิดจากการรวมตัวของธาตุ
4, 2. ปฏิเสธการมีอยู่ของโลกหน้า และตัวตนหรืออาตมัน และ3.
ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเป็นเจ้า(41) ในเรื่องธาตุ 4 ปรัชญาจารวากถือว่า
โลก และสิ่งต่างๆ ในโลกประกอบขึ้นด้วยธาตุเพียงธาตุ 4 คือ ธาตุดิน (earth) ธาตุน้ำ (water) ธาตุลม (air) ธาตุไฟ
(fire) โดยไม่ยอมรับการมีอยู่ของอากาสธาตุ (ether) ดังที่ปรัชญาอินเดียระบบอื่นเชื่อถือกัน จารวากถือว่า อากาสธาตุนั้นเรารับรู้ด้วยประสาทสัมผัสไม่ได้
รู้ได้จากการอนุมานเพียงอย่างเดียว จารวากเองก็ปฏิเสธการอนุมานด้วยวัตถุธาตุทั้ง 4
นี้ผสมกันเองโดยบังเอิญ ไม่มีใครหรือผู้ที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ มาบังคับหรือทำให้มันรวมตัวกันได้
ปรัชญาจารวากถือว่า เมื่อธาตุ 4 มารวมตัวกันอย่างถูกส่วนก็เกิดผลต่างกัน 2 ชนิด ดังนี้
1. การรวมตัวชนิดหนึ่งก่อให้เกิดชีวิตขึ้นมา เช่น คน สัตว์ พืช
และ2. การรวมตัวอีกชนิดหนึ่งไม่ก่อให้เกิดชีวิต เช่น กรวด หิน
ดิน ทราย แผ่นดิน(42)
ธาตุทั้ง 4 ที่รวมตัวกันขึ้นเป็นสิ่งเที่ยงแท้
และดำรงอยู่ชั่วนิรันดร แต่สิ่งที่เกิดจากการรวมตัวของธาตุ 4 นั้นไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้น
เปลี่ยนแปลงและเสื่อมสลายไปในที่สุด ดังนั้น ความตายของพืชพันธุ์ มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายก็เกิดจากการแยกตัวออกจากกันของธาตุทั้ง
4 นั่นเอง ชัดเจนว่า จารวาก ถือว่า ชีวิตเป็นเพียงผลิตผลของวัตถุธาตุเท่านั้น ดังนั้น
ชีวิตจึงไม่มีอยู่จริง ตลอดถึงวิญญาณของคน และสัตว์ทั้งหลายก็ไม่มีอยู่จริง พิสูจน์ทางประสาทสัมผัสทั้ง
5 ไม่ได้ ทรรศนะดังกล่าวจึงทำให้ปรัชญาจารวากปฏิเสธการมีอยู่ของโลกหน้า และการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าด้วย
ธาตุ 4 ของจารวากนั้น แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่จารวากยึดถือว่า เป็นความจริงสูงสุดมีอย่างเดียวเท่านั้น
คือ ธาตุ 4 แสดงว่า วัตถุธาตุหรือสสารเท่านั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงนอกนั้นไม่มีจริง
ทรรศนะเช่นนี้ คือทรรศนะที่เชื่อถืออัตตาทางวัตถุธรรม
2. ทรรศนะเรื่องปรมาณูนิยมของเดโมคริตัส เดโมคริตัส เป็นนักปรัชญากรีกสมัยโบราณ
เป็นนักปรัชญาคนแรกที่แสดงมติออกมาในด้านปรมาณูนิยม (The atomists) มีทรรศนะว่า สิ่งทั้งหลายสามารถทอนลงจนถึงที่สุด เป็นอนุภาคที่เล็กที่สุด มีลักษณะต่างๆ
กัน เรียกว่า อะตอม (Atoms) หรือเรียกว่า ปรมาณูภาค ปรมาณูนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจสัมผัสได้
ปรากฏการณ์ของสิ่งทั้งหลายที่สร้างขึ้นจาก ปรมาณูภาคนี้มีลักษณะต่างๆ กันแต่นั่นก็เป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นทีหลัง
เป็นคุณลักษณะขั้นรอง ปรากฏการณ์นั้นเป็นผลที่เกิดจากการประกอบขึ้นในรูปแบบต่างๆ ของปรมาณูแบบต่างๆ
เพราะอัตราที่ตกลงมาแตกต่างกัน ปุ่มปมของปรมาณูภาคที่แตกต่างกันทำให้มันเกาะเป็นกลุ่มกันได้
โดยการปะทะกันโดยบังเอิญ และการหมุนตัวของมันเองมนุษย์ประกอบด้วยปรมาณู และมีวิญญาณที่ประกอบด้วยปรมาณู
ปรมาณูวิญญาณที่ละเอียดที่สุด กลมที่สุด และเบาที่สุดกระจัดกระจายอยู่ทั่วร่างกาย ทำให้ร่างกายเคลื่อนที่ได้
เมื่อมนุษย์ตาย ปรมาณูวิญญาณก็กระจัดกระจายไป(43) ดังนั้น สิ่งที่มีอยู่จริงตามทรรศนะของเดโมคริตัส
คือ ปรมาณูหรืออะตอม (Atoms) มนุษย์เป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นจากปรมาณู
และปรมาณูวิญญาณ ความตายของมนุษย์เป็นเพียงการแยกตัวออกของปรมาณูวิญญาณเท่านั้น ทรรศนะเช่นนี้
คือ ทรรศนะที่เชื่ออัตตาทางวัตถุธรรม คือ เชื่อว่า วัตถุสสารเท่านั้นมีอยู่จริงสูงสุด
3. ทรรศนะเรื่องสสารนิยมของคาร์ลมาร์กซ์ คาร์ลมาร์กซ์ เป็นนักปรัชญาชาวเยอรมัน
ปรัชญาของเขาเป็นปรัชญาสสารนิยมวิภาษวิธี คาร์ลมาร์กซ์มีทรรศนะว่า “กระบวนการของโลกเคลื่อนที่เป็นวงกลมผ่านบทตั้ง (Thesis) , บทแย้ง (Anti – thesis) , และบทสรุป
(Synthesis) อย่างไม่ขาดสาย และเป็นกระบวนการเปิดไม่ใช่กระบวนการปิด
วงกลมการเคลื่อนที่นี้มีลักษณะเป็นวงสว่าน ไม่ได้ซ้ำรอยเดิม บทสรุปใหม่ กลายเป็นบทตั้งปะทะสังสรรค์กับบทแย้ง
กลายเป็นบทสรุปใหม่ เรื่อยๆ ฉะนั้น สถาบันมนุษย์จึงวิวัฒน์ไปไม่หยุดยั้ง และไม่มีขั้นใดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เปลี่ยนแปลงได้(44)
ดังนั้น สิ่งที่มีอยู่จริงตามทรรศนะของคาร์ล
มาร์กซ์แล้ว มาร์กซ์ถือว่า โลกเป็นวัตถุอยู่แล้วโดยธรรมชาติ พัฒนามาตามกฎของการเคลื่อนที่ของสสาร
ไม่ได้อาศัยวิญญาณสัมบูรณ์แต่อย่างใด สสารเป็นความแท้จริงเชิงวัตถุวิสัย ไม่ขึ้นอยู่กับจิต
สสารเป็นสิ่งปฐมภูมิ เพราะเป็นที่มาของเพทนาการ จิตเป็นสิ่งทุติยภูมิ เพราะเป็นผลของสสารทัศนะของคาร์ล
มาร์กซ์เช่นนี้ ถือว่า เป็นพวกที่ถือว่า วัตถุหรือสสารเท่านั้นเป็นความจริงสูงสุดไม่ขึ้นอยู่กับจิต
ก็จัดเป็นทรรศนะที่เชื่อมั่นอัตตาทางวัตถุธรรม
ทรรศนะที่เชื่อมั่นอัตตาทางนามธรรม
เป็นกลุ่มที่มีทรรศนะว่า จิตหรือวิญญาณที่เป็นมูลฐานที่แท้จริงของชีวิตเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงสูงสุด
นอกจากจิต และวิญญาณแล้วไม่เชื่อว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงสูงสุด จะนำมากล่าวไว้ที่นี้พอเป็นตัวอย่างเท่านั้น
ผู้สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าได้จากหนังสือด้านศาสนาและปรัชญาทั่วไป
1. ทรรศนะเรื่องพระเจ้าของศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลามๆ เป็นศาสนาประเภทเทวนิยม
(Theism) คือ เชื่อในอำนาจการสร้างโลกและสิ่งทั้งปวงของพระเจ้า
(God) พระเจ้าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการสร้างสรรค์และการทำลายล้างเพียงพระองค์เดียว
พระเจ้าเป็นผู้รู้เห็นสิ่งทั้งปวงและเป็นผู้ตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้แก่ธรรมชาติ ดังนั้นจุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนาคริสต์
และศาสนาอิสลามจึงอยู่ที่พระเจ้า คือหลังจากตายไปแล้วมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การได้ไปอยู่สวรรค์กับพระเจ้าชั่วนิรันดร
พระเจ้าในศาสนาคริสต์ คือ พระยะโฮวา ส่วนพระเจ้าในศาสนาอิสลาม คือ พระอัลเลาะห์ ชีวิตที่เป็นอยู่ในโลกนี้มีเพียงครั้งเดียว
วิธีการปฏิบัติให้เข้าถึงจุดมุ่งหมายสูงสุด คือ พระเจ้าของแต่ศาสนาแตกต่างกันออกไปบ้าง
คือ ศาสนาคริสต์มีวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดด้วยการทำตามบัญญัติของพระเจ้า
10 ประการ ซึ่งพระเยซูย่อลงเหลือ 2 ข้อ คือ 1. จงรักพระเจ้าอย่างสุดจิตสุดใจ
และ2. จงรักเพื่อนบ้านเหมือนตนเอง(45) ศาสนาอิสลามมีวิธีการปฏิบัติ
เพื่อให้เข้าถึงจุดหมายสูงสุดด้วยการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติ 5 ประการ ดังนี้ 1.
มีความเชื่อในพระอัลละห์ และทูตของพระองค์ คือ พระนบีมหมัด, 2.
ทำละหมาด คือ สวดมนต์หันหน้าไปทางเมืองเมกกะ, 3. ให้ทาน, 4. อดอาหารในเวลากลางวัน ในเดือนระมะดานหรือรอมฎอม
(กลางคืนไม่ห้าม) และ5. จาริกไปยังนครเมกกะ(46)
ทรรศนะเรื่องของพระเจ้าในศาสนาคริสต์
และอิสลามดังกล่าวมาแล้วนั้น สิ่งที่มีอยู่จริงสูงสุดคือ พระเจ้า ซึ่งเป็นจิตวิญญาณที่มีอำนาจสูงสุดสถิตย์อยู่
ณ สรวงสวรรค์ชั่วนิรันดร ดังนั้น ทรรศนะเรื่องพระเจ้าของศาสนคริสต์ และศาสนาอิสลามดังกล่าวนั้น
จึงเป็นทรรศนะที่เชื่อมั่นอัตตาทางนามธรรม คือ เชื่อว่า สิ่งที่มีอยู่จริงสูงสุด คือ
พระเจ้า ซึ่งเป็นจิตที่เที่ยงแท้ถาวร
2. อาตมัน ในปรัชญาอินเดีย
เป็นปรัชญาตะวันตกที่มีลักษณะพิเศษกว่าปรัชญาตะวันตกโดยทั่วไป คือ เป็นปรัชญาที่มีทฤษฎี
และวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายได้ด้วย มีทั้งทฤษฎี และวิธีการปฏิบัติ
อาจกล่าวได้ว่า ปรัชญาอินเดีย เป็นปรัชญาศาสนาก็ได้ ปรัชญาอินเดียแบ่งออกเป็น 2 สายใหญ่ๆ
ด้วยกัน ดังนี้ 1. ปรัชญากลุ่มนาสติก คือ กลุ่มที่คัดค้านความขลังความศักดิ์สิทธิ์
และความถูกต้องของคัมภีร์ พระเวทอย่างที่ชาวฮินดูเชื่อถือ ปรัชญาสายนาสติกนี้ ได้แก่
ปรัชญาจารวาก ปรัชญาเชน พุทธปรัชญา และ2. ปรัชญากลุ่มอาสติก คือ
กลุ่มที่มีความเชื่อในความขลังความศักดิ์สิทธิ์และความถูกต้องของคัมภีร์พระเวทโดยไม่ต้องพิสูจน์
มี 6 สำนัก คือ 1. ปรัชญานยายะ 2. ปรัชญาไวเศษิกะ
3. ปรัชญาสางขยะ 4. ปรัชญาโยคะ 5.
ปรัชญามีมางสา และ 6. ปรัชญาเวทานตะ
ทรรศนะเรื่องอาตมัน (อัตตา) มีกล่าวไว้อย่างชัดเจนในคัมภีร์พระเวท และคัมภีร์อุปนิษัท
แต่ในที่นี้ผู้เรียบเรียงขอนำเสนอเฉพาะเรื่องอาตมันในคัมภีร์อุปนิษัทพอเป็นตัวอย่างเท่านั้น
ผู้สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากหนังสือปรัชญาอินเดียทั่วไป คัมภีร์อุปนิษัท
เป็นคัมภีร์ตอนสุดท้ายของคัมภีร์พระเวท มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เวทานตะ ให้ความสำคัญในเรื่องอาตมันไว้มาก
เพราะถ้าไม่รู้จักอาตมันดีพอก็ไม่สามารถหลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้
คำว่า อาตมันหรืออัตตา
ในคัมภีร์อุปนิษัท สามารถแบ่งออกเป็นลักษณะใหญ่ๆ ได้ 2 ลักษณะ(47) ดังนี้ 1. ตัวตนสากล และ2. ตัวตนย่อย ตัวตนสากล หมายถึง สิ่งที่เป็นความจริงสูงสุด
(อันติมสัจจะ) มีชื่อเรียกอยู่หลายคำ เรียกว่าอาตมันบ้าง
ปรมาตมันบ้าง พรหมันบ้าง อปรพรหมบ้าง ปรพรหมบ้าง ถ้ากล่าวถึงตัวตันสากลและตัวตนย่อย
ท่านจะเรียกตัวสากลว่า ปรมาตมัน ถ้ากล่าวถึงความจริงสูงสุดในฐานะที่เป็นอัตวิสัย คือ
ผู้รู้สรรพสิ่ง ท่านจะเรียกว่า อาตมัน ถ้ากล่าวถึงความจริงสูงสุดในฐานะที่เป็นสิ่งที่ถูกรู้
ท่านเรียกว่า พรหมัน ถ้ากล่าวถึงพรหมันในแง่โลกิยะ ท่านเรียกว่า “อปรพรหมหรืออีศวร” ถ้ากล่าวถึงพรหมันในแง่โลกุตตระ ท่านเรียกว่า
ปรพรหม พรหมันหรือปรมาตมัน ซึ่งเป็นความจริงสูงสุดนั้น ลักษณะของพรหมันว่า มี 3 ลักษณะ(48)
คือ 1. สัต หมายถึง ความมีอยู่ (existence) ของพระพรหม คือ แสดงให้รู้ว่าพรหมนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ไม่ใช่ไม่มีอยู่
2. จิต หมายถึง พรหมันนั้น มีอยู่ในลักษณะที่เป็นจิตบริสุทธิ์หรือสัมปชัญญะบริสุทธิ์
(Pure consciousness) 3. อานันทะ หมายถึง พรหมันที่มีอยู่ในลักษณะของจิตบริสุทธิ์หรือสัมปชัญญะนั้นมีสภาพเป็นความสุขหรือความบันเทิงสูงสุด
เรียกว่า นิรามิสสสุข ลักษณะ 3 ประการนี้เป็นลักษณะของพรหมันในภาวะที่เป็นสิ่งสัมบูรณ์ที่ดำรงอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง
(อุตตรภาวะ) และดำรงอยู่ในสิ่งทั้งปวง
(อันตรภาวะ) ตัวตนย่อย หมายถึง ชีวาตมันที่เป็นส่วนหนึ่งของอาตมันสากล
ตัวตนย่อยหรือชีวาตมันนี้ถูกจำกัดด้วยร่างกาย มนุษย์ทุกคนมีแกนกลางของชีวิต ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมสลายไปในที่สุด
แต่ชีวาตมันที่เป็นแกนกลางของชีวิตนั้นจะคงสภาพเดิมอยู่ตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลงหรือสลายตามร่างกายไปด้วย
ทั้งนี้ก็เพราะชีวาตมันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของอาตมันสากลหรือปรมาตมันนั่นเอง ในเวลาที่คนตายชีวาตมันจะละทิ้งร่างเก่าแล้วไปอาศัยร่างใหม่
เหมือนคนเปลี่ยนเสื้อผ้าจากชุดเก่าเป็นชุดใหม่ ในฉานโทคยอุปนิษัทกล่าวว่า ชีวาตมันเกิดขึ้นจากการผสมของดิน
น้ำ ไฟ และเป็นส่วนหนึ่งของอาตมันสากล ตามทรรศนะของอุปนิษัทแล้ว มนุษย์เป็นสิ่งสำแดงออกของพรหมันใน
4 สถานะ(49) ดังนี้ 1. สถานะที่กำลังตื่นอยู่เรียกว่า วิศวะ,
2. สถานะแห่งการฝันเรียกว่า ไตชัส, 3. สถานะแห่งการนอนหลับสนิทปราศจากการฝันเรียกว่า
ปราชญะ และ4. สถานะซึ่งชีวาตมันเข้าถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพรหมันเรียกว่า
ตุรียะ
พรหมัน 4 สถานะนี้
3 สถานะแรกเป็นการจำกัดชีวาตมันด้วยร่างกายทั้งที่หยาบ ละเอียด และกรรมที่ได้กระทำไว้ในชีวิตที่แล้วมา
แต่สถานะที่ 4 ชีวาตมันหลุดพ้นจากการถูกจำกัดโดยประการ ทั้งปวง บรรลุความเป็นเอกภาพกับพรหมัน
ความจำเป็นที่จะต้องเรียกว่า ชีวาตมันก็หมดไป คงเรียกว่า พรหมันหรืออาตมันที่เป็นสิ่งสมบูรณ์เท่านั้น
อาตมันหรือพรหมันในภาวะที่เป็นความสมบูรณ์แห่งเอกภาพมี 4 สถานะ ดังนี้ 1. สถานะที่กำลังตื่นอยู่ของชีวาตมัน เรียกว่า วิราต, 2. สถานะที่แห่งการนิมิตฝันของชีวาตมัน เรียกว่า หิรัณยครรภ, 3. สถานะแห่งการหลับสนิทของชีวาตมัน เรียกว่า อีศวร และ4. สถานะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชีวาตมัน เรียกว่า พรหมัน
สถานะของอาตมันหรือพรหมันดังกล่าวแล้ว
แสดงว่า สิ่งทั้งปวงในโลกนี้เป็นร่างกายของพรหมัน แม้ชีวาตมันหรืออาตมันย่อยก็เป็นส่วนหนึ่งของพรหมันเช่นเดียวกัน
แต่ชีวาตมันสามารถอยู่ได้ในหลายสถานะ คือ อยู่ในสถานะกำลังตื่นอยู่ อยู่ในสถานะกำลังฝัน
อยู่ในสถานะกำลังนอนหลับสนิท และอยู่ในสถานะที่มีสัมปชัญญะสัมบูรณ์ เมื่อชีวาตมันหรือตัวตนย่อยเข้าถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับปรมาตมันซึ่งเป็นตัวตนสากลแล้ว
ก็ได้ชื่อว่า พรหมันหรืออาตมันที่สัมบูรณ์ ในอาตมันหรือพรหมันที่สัมบูรณ์นั้นไม่มีผู้รู้
และสิ่งที่ถูกรู้ เพราะว่า สิ่งเหล่านั้นต่างก็เป็นการสำแดงให้ปรากฎของพรหมันหรืออาตมัน
ซึ่งเป็นสิ่งสัมบูรณ์ทั้งสิ้น แสดงว่า สรรพสิ่งเกิดมาจากพรหมัน และท้ายที่สุดก็กลับไปสู่พรหมันซึ่งเป็นสิ่งสัมบูรณ์ที่สุดนั่นเอง
ดังที่ไตตติรียอุปนิษัทได้ให้คำนิยามพรหมันเอาไว้ว่า พรหมัน คือ สิ่งซึ่งเป็นที่เกิดขึ้นแห่งสรรพสิ่ง
เป็นที่อิงอาศัยแห่งสรรพสิ่ง และเป็นที่กลับไปสู่แห่งสรรพสิ่ง(50)
สรุปว่า อาตมันหรือพรหมัน
คือ การสำแดงให้ปรากฏของตัวตนสากลที่เรียกว่า ปรมาตมัน และตัวตนย่อยที่เรียกว่า ชีวาตมัน
ปรมาตมันไม่ได้ถูกจำกัดด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เป็นสิ่งสัมบูรณ์ เป็นความจริงขั้นสูงสุด
ในขณะที่ตัวตนย่อยหรือชีวาตมันถูกจำกัดด้วยร่างกายที่เปรียบเสมือนอาภรณ์ที่ห่อหุ้มชีวาตมันเอาไว้
จนกว่าชีวาตมันจะหลุดพ้นจากการจำกัดของสิ่งทั้งปวงนั้น ด้วยการบรรลุถึงความเป็นเอกภาพ
คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งสัมบูรณ์ ที่เรียกว่า พรหมันหรืออาตมัน จากทรรศนะเรื่องอาตมันหรือพรหมันของปรัชญาอุปนิษัทดังกล่าวแล้ว
สิ่งที่ปรัชญาอุปนิษัทถือว่า เป็นความจริงสูงสุด คือ อาตมันหรือพรหมันที่เป็นสิ่งสัมบูรณ์มีอยู่ในลักษณะที่เป็นจิตบริสุทธิ์หรือสัมปชัญญะบริสุทธิ์
(Pure Consciousness) ก็แสดงถึงทรรศนะที่เชื่อมั่นในอัตตาทางนามธรรมที่ชัดที่สุดนั่นเอง
--------------------------------------------------
เอกสารและสิ่งอ้างอิง
(1) พระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) , ไตรลักษณ์ , (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมสถา , 2541) , หน้า 90., (2) พุทธทาสภิกฺขุ
, อนัตตาของพระพุทธเจ้า , (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ธรรมสภา ,2542) , หน้า
59., (3) สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ , ธรรมานุกรม , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย
, 2527) , หน้า 51 - 52., (4) วิ. มหา. 4 / 36 / 44., (5) ที. มหา. 10 / 93 / 119., (6) ขุ. ปฏิ. 31 / 79 / 53., (7) วิ. มหา. 4 / 20 / 24., (8) ม. อุปริ. 14 /818 / 512., (9) ม. มู. 12 / 346 / 358., (10) สํ. ส. 15 / 554 / 198., (11) สํ. ส. 15 / 551 / 197., (12) พระเทพเวที (ประยุทธ์
ปยุตฺโต) , พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลศัพท์, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
, 2531 ) , หน้า 366., (13)
อง. นวก. 23 / 205
/ 365., (14) พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) , อ้างแล้วเชิงอรรถที่1 , หน้า 78 - 79., (15) พระเทพเวที
(ประยุทธ์ ปยุตฺโต) , อ้างแล้วเชิงอรรถที่12
, หน้า 433., (16) สํ. ข.
17 / 234 / 165., (17) สํ. สฬ. 18 / 802 / 486., (18) สํ. ข. 17 / 236 / 167., (19) สํ. ส. 15 / 554 / 195., (20) สํ. ส. 18 / 9 / 5., (21) สํ. ข. 17 / 129 / 84., (22) สํ. ข. 17 / 38 / 26., (23) สํ. ข. 17 / 47 / 30., (24) สํ. ข. 17 / 192 / 126., (25) สํ. สฬ. 18 / 58 / 38., (26) สํ. สฬ. 18 / 256 / 186., (27) อง. ติก. 20 / 576 / 368., (28) อง. สตฺตก. 23 / 17 / 14., (29) ขุ. จู. 30 / 91 / 23., (30) อง. ทสก. 24 / 60 / 116., (31) ขุ. ปฏิ. 31 / 486 / 371., (32) ขุ. ปฏิ. 31 / 470 / 354., (33) ขุ. ปฏิ. 31 / 66 / 39., (34) ขุ. ปฏิ. 31 / 1 / 5., (35) ขุ. ม. 29 / 891 / 558., (36) ขุ. ขุ. 25 / 439 / 549., (37) ขุ. มหา. 29 / 428 / 297., (38) วิ. ปริ. 8 / 826 / 224., (39) ราชบัณฑิตยสถาน
, พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ - ไทย ,
(กรุงเทพฯ :อรุณการพิมพ์ , 2540) , หน้า 30 - 31., (40) นพดล พิมพลา , พุทธปรัชญาฝ่ายเถรวาท ,
(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง
, 2523) , หน้า 124., (41)
รศ.ดร.สุนทร ณ รังษี , ปรัชญาอินเดีย : ประวัติและลัทธิ , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,
2530) , หน้า 71., (42) ผศ.วิธาน สุชีวคุปต์ , อภิปรัชญา METAPHYSICS ,
(กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง
, 2525 ) , หน้า 135., (43)
เรื่องเดียวกัน , หน้า 63., (44) เรื่องเดียวกัน
, หน้า 121., (45) สุชีพ ปุญญานุภาพ , ศาสนาเปรียบเทียบ , (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บรรณาคาร, 2509) , หน้า
218., (46) เรื่องเดียวกัน , หน้า 465., (47) รศ.ดร.สุนทร ณ รังษี
, อ้างแล้วเชิงอรรถที่41 , หน้า 41., (48) เรื่องเดียวกัน , หน้า 40., (49) เรื่องเดียวกัน , หน้า 41., (50) เรื่องเดียวกัน , หน้า 38.
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์
, พิมพ์ครั้งที่ 4 , บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์
จำกัด : กรุงเทพมหานคร , 2531.
----------. พุทธธรรม , พิมพ์ครั้งที่
5 , โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย: กรุงเทพมหานคร
, 2532.
พระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ปยุตฺโต) ไตรลักษณ์
, พิมพ์ครั้งที่ 3 , สำนักพิมพ์ธรรมสภา:
กรุงเทพมหานคร , 2541.
นพดล พิมพลา. พุทธปรัชญาฝ่ายเถรวาท , โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง
:กรุงเทพมหานคร , 2523.
พุทธทาสภิกฺขุ. อนัตตาของพระพุทธเจ้า , สำนักพิมพ์ธรรมสภา : กรุงเทพมหานคร,2542.
มหามกุฏราชวิทยาลัย ,มูลนิธิ. พระไตรปิฎก
, พิมพ์ครั้งที่ 4 , โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย
: กรุงเทพมหานคร , 2538.
----------. มิลินทปัญหา , พิมพ์งานฉลองพระชนมายุ
80 ปี สมเด็จพระญาณสังวร (สุวัฑฒนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
: กรุงเทพมหานคร , 2536.
---------. อภิธัมมัตถสังคหบาลีและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกาฉบับแปลเป็นไทย
พิมพ์น้อมถวายเป็นพระมหาราชานุสรณ์ เฉลิมพระเกียรติ,โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย
: กรุงเทพมหานคร , 2506.
มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย . ทีฆนิกายฏฺฐกถา(สุมงฺคลวิลาสินี) , มชฺฌิมนิกายฏฺฐกถา (ปปญฺจสูทนี) , อภิธมฺมฏฺฐกถา วิภงฺควณฺณนา (สมฺโมหวิโนทนี)
,โรงพิมพ์การศาสนา :กรุงเทพมหานคร , 2533.
พระราชธรรมนิเทศ (ระแบบ ฐิตญาโณ). นิเทศธรรม,ธีรพงษ์การพิมพ์:
กรุงเทพมหานคร, 2537.
ราชบัณฑิตยสถาน.พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ
- ไทย,พิมพ์ครั้งที่2,บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ
จำกัด:กรุงเทพมหานคร, 2540.
สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ธรรมานุกรม. จัดพิมพ์ในงานวชิรญาณวงศานุสรณ์
ครบ 100 ปี,โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย:กรุงเทพมหานคร
,2527.
วิธาน สุชีวคุปต์ , ผศ.อภิปรัชญา
MATAPHISICS , พิมพ์ครั้งที่ 4 , โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง
: กรุงเทพมหานคร , 2538.
พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ. ปรมัตถโชติกะ หลักสูตรจูฬอาภิธัมมิกะตรี : จิต เจตสิก
รูป นิพพาน , พิมพ์ครั้งที่ 2 ,โรงพิมพ์ไพศาลวิทยา:กรุงเทพมหานคร ,2501.
สุจินต์ บริหารรวนเขตต์. ปรมัตถธรรมสังเขป จิตตสังเขปและภาคผนวก , โรงพิมพ์จงเจริญการพิมพ์
: กรุงเทพมหานคร , 2530.
สุชีพ ปุญญานุภาพ. ศาสนาเปรียบเทียบ , พิมพ์ครั้งที่ 2 , สำนักพิมพ์บรรณาคาร:กรุงเทพมหานคร , 2509.
สุนทร ณ รังษี , รศ. ดร. ปรัชญาอินเดีย
: ประวัติและลัทธิ , โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
: กรุงเทพมหานคร , 2530.
พระโสภณคณาภรณ์ . (ระแบบ ฐิตญาโณ) พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย , โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย
: กรุงเทพมหานคร , 2522.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น