จริยศาสตร์คุณธรรมปรัชญาและศาสนา
ความประพฤติย่อมเป็นกระจกเงาส่องให้เราเห็นอุปนิสัย
และนิสัยของคน จริยศาสตร์จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยตีคุณค่าของความเป็นมนุษย์
โดยการมองทางอุปนิสัย นิสัยใจคอ และความประพฤติ
ตามที่บุคคลนั้นแสดงออกมาด้วยความสมัครใจในการกระทำนั้น
มนุษย์ทุกคนเกิดมาไม่ว่าชายหรือหญิง เด็กหรือผู้ใหญ่
ล้วนแล้วแต่มีหน้าที่ที่ต้องทำ และรับผิดชอบด้วยกันทั้งนั้น เช่น
บิดามารดามีหน้าที่เลี้ยงดูบุตร และอบรมสั่งสอนแต่ในทางที่ดี เป็นต้น
แสดงให้เห็นว่า อะไรควรทำไม่ควรทำ เช่น การเสียสละชีพ เพื่อชาติ ศาสนา
และพระมหากษัตริย์ เหล่านี้เป็นอุดมการณ์อันสูงสุดของปวงชนชาวไทย โสเครตีส
นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงของกรีก ยอมดื่มยาพิษตาย เพื่อรักษาเหตุผลหรืออุดมการณ์
ความดีอันสูงสุดในที่นี้ หมายถึง ความเหมาะสมในหน้าที่ที่พึงกระทำก่อน
หรือหน้าที่เฉพาะหน้าที่สำคัญกว่า ความรู้สึกต่อความเหมาะสมในหน้าที่นี้ เป็นแรงผลักดันให้เรารีบทำหน้าที่เฉพาะหน้าก่อนหน้าที่อย่างอื่น
เช่น เมื่อมีหน้าที่หลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่อาจทำหน้าที่พร้อมกันได้
ต้องเลือกทำสิ่งที่มีคุณค่าดีกว่า สูงกว่า
นักเทววิทยา กล่าวว่า จริยศาสตร์ คือ ศาสตร์แห่งความดี
มิใช่ศาสตร์แห่งความถูกต้อง กฎต่างๆ นั้นมิใช่มีไว้เพื่อประโยชน์ของกฎ
แต่มีไว้เพื่อบรรลุถึงความดี จะเห็นได้ว่า จริยศาสตร์ คือ
ศาสตร์แห่งพฤติกรรมมนุษย์ที่ว่าด้วยความดี ความถูกต้อง สิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ
ทั้งนี้เพื่อให้มนุษย์ดำเนินชีวิตของตนเองอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข (ประเวศ อินทองปาน, 2553: 243)
ดังนั้น จริยศาสตร์จึงมุ่งไปเพื่อความดีสูงสุดของมนุษย์
การกระทำอะไรก็ตาม ที่นำไปสู่ความดีอันสูงสุดนี้ คือ ความดี ส่วนการกระทำใดๆ
ก็ตามที่ขัดขวางต่อความเจริญก้าวหน้าถือว่า เป็นความชั่ว ด้วยเหตุนี้
จริยศาสตร์จึงมุ่งไปที่ความดีเลิศแห่งชีวิตของมนุษย์ ความถูกต้อง ส่วนกฎต่างๆ นั้น
เป็นเพียงอุบายเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายเท่านั้น
ความหมายของจริยศาสตร์ คำว่า
จริยศาสตร์ ตามหลักนิรุกติศาสตร์ เป็นภาษาสันสกฤต (จริย + ศาสตร์)
แปลตามตัวอักษรว่า ศาสตร์ที่ว่าด้วยความประพฤติ หรือศาสตร์แห่งความประพฤติ จริยศาสตร์ตรงกับภาษาลาตินว่า
อีธอส (Ethos) ซึ่งหมายถึง อุปนิสัย
หรือหลักของการประพฤติ บางทีก็เรียกว่า ปรัชญาจริยธรรม (Moral Philosophy) หรือหลักจริยธรรม จริยธรรมตรงกับภาษาลาตินว่า มอเรส (Mores) หมายถึง ระเบียบแบบแผนหรือข้อปฏิบัติ จริยศาสตร์ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า
เอธิคส์ (Ethics) หมายถึงศาสตร์ที่ว่าด้วยศีลธรรม
หลักศีลธรรม กฎที่ว่าด้วยความประพฤติ และพฤติกรรม
จริยศาสตร์ของโซฟิสท์ บทบาทของพวกโซฟิสท์
มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของจริยศาสตร์ ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ 1. จริยศาสตร์ของพวกโซฟิสท์
เกิดขึ้นจากความปรารถนาที่จะวิจารณ์ทฤษฎีความรู้ และทฤษฎีศีลธรรมอย่างเสรี, 2. พวกโซฟิสท์ เป็นบุคคลคณะแรกในประวัติศาสตร์ของจริยศาสตร์
ที่พยายามแสวงหาวิธีการเพื่อความดีอันสูงสุดของมนุษย์ และ3.
คณะบุคคลเป็นจุดเด่นในคำสอนของพวกโซฟิสท์ คือ
ได้แสวงหาความจริงที่สำคัญออกมาให้ปรากฏ และถือว่า
คนที่มีเหตุผลต้องแสวงหาความดีเพื่อประโยชน์ของตนเอง โซฟิสท์ เห็นว่า
คุณธรรมเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ด้วยตนเอง และมีลักษณะสัมพันธ์ดีชั่ว
ผิดถูก เป็นเรื่องต่างจิตต่างใจ ความจริงที่แน่นอน และตายตัวไม่มีในโลกนี้
สรุปได้ว่า ทัศนะของพวกโซฟิสท์ ความดี ความชั่ว ความถูก ความผิด ความจริง ฯลฯ
เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจะกำหนดเอาเอง
จริยศาสตร์ของสโตอิค นั้น ได้แก่
คุณธรรมเรื่องการอยู่ดีกินดี มีอยู่ในการกระทำที่มีเหตุผล
หรือมีอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ ธรรมชาติบางส่วนกำหนดตัวเองได้
บางส่วนถูกกำหนดโดยกฎที่เป็นนิรันดรของจักวาล กฎต่างๆ แสดงออกมาในรูปของเหตุผล
ประกอบด้วยคุณธรรมทางศีลธรรมเป็นสิ่งเดียวกัน สำหรับปัจเจกชน
ผลของการกระทำที่มีเหตุผล คือ การพึ่งตนเอง และการมีอิสรภาพ
ซึ่งเกิดจากการควบคุมอารมณ์ ดังนั้น คุณธรรมไม่ใช่ความเพลิดเพลิน
แต่เป็นประทีปส่องทางชีวิตให้แก่มนุษย์
จริยศาสตร์ของไซนิคส์ จุดมุ่งหมายสูงสุด คือ คุณธรรม
บุคคลผู้มีคุณธรรม คือ บุคคลผู้มีความสมบูรณ์ในตัวเองเป็นพลเมืองของสากลโลก
และมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ ปัญญาเป็นคุณสมบัติของบุคคล ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์
และความอยากให้อยู่ในระดับพอดี ส่วนหลักศีลธรรมที่สำคัญของไดโอจีเนส คือ
การดำรงชีวิตตามธรรมชาติ และการควบคุมตนเองเป็นคุณสมบัติอันสูงสุด
จริยศาสตร์ของไซเรนนิคส์ ถือว่า ความรู้และวัฒนธรรม
เป็นคุณธรรมที่มีคุณค่านำไปสู่ความสุข คนฉลาดไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความสุขอันเป็นบ่อเกิดแห่งความประมาท
ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น ไม่ใช่มีอยู่ตามธรรมชาติ
จริยศาสตร์ของเอปิคิวเรียน ถือว่า
เหตุผลมีความสำคัญมากในชีวิตทางศีลธรรมของเรา
เพราะทำให้เราได้บรรลุถึงความสุขที่แท้จริง ความสุขุมรอบคอบเป็นคุณธรรมที่สำคัญ
เพราะว่า มีคุณประโยชน์ในการเลือกสรรค์ความสุขที่เหมาะสม
ความรู้จักประมาณสอนให้รู้จักความพอดีในการแสวงหาความสุข
ไม่หลงมัวเมาจมปลักอยู่กับความสุขจนลืมตัว
มิตรภาพเป็นคุณธรรมที่มีคุณค่าสูงส่งกว่าปัญญา
จริยศาสตร์ของโสเครตีส ปัญหาที่โสเครตีสสนใจมากที่สุด
คือ ปัญหาเรื่องการดำรงชีวิตให้เป็นสุข โสเครตีส กล่าวว่า
ปัญหาอันเป็นหัวใจของปรัชญา ก็คือ การวางกฎเกณฑ์ของชีวิตสำหรับปฏิบัติ
เพื่อให้เกิดความสุขสมบูรณ์ในชีวิต คนที่มีคุณธรรมเรื่องความดี
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้เป็นเครื่องรักษาความดีที่ตนมีอยู่นั้นให้มั่นคงดำรงอยู่
ความรู้และความดีมีความสัมพันธ์กันใกล้ชิด การกระทำความดีต้องอาศัยความรู้
อาศัยตนเองและคนอื่น โดยสรุปแล้ว จริยศาสตร์ของโสเครตีส ก็คือ
ความรู้เป็นความดีสูงสุด
จริยศาสตร์ของเพลโต เพลโต มีทัศนะเกี่ยวกับ ความดี ความชั่ว ความดี
คือ โลกแห่งความบริสุทธิ์เป็นความคิดไม่เปลี่ยนแปลง ความดีมีจุดหมายในตัวเอง
เราทำความดีเพื่อความดี มิใช่เพื่อจุดประสงค์อย่างอื่น ความชั่ว คือ
โลกแห่งประสาทสัมผัสเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเหตุผลเป็นความดีอันสูงสุดของมนุษย์
จุดมุ่งหมายของชีวิต คือ การปลดเปลื้องวิญญาณออกจากความทุกข์
ชีวิตที่ประกอบด้วยเหตุผล เป็นชีวิตที่สูงที่สุดของมนุษย์ ในเรื่องความสุข เพลโต
กล่าวว่า มนุษย์ไม่ควรแสวงหาความสุขตอนใกล้จะสิ้นชีวิต
ความสุขควรแสวงหาเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ เพลโต
มีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะแสดงให้เห็นว่า ความยุติธรรมในความหมายที่บริสุทธิ์
คือ ความดี
จริยศาสตร์รัฐหรือขั้นพื้นฐานของเพลโต คือ
การฝึกฝนอบรมของพลเมืองให้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมเกี่ยวกับความดี
และมีการอยู่ดีกินดี
จริยศาสตร์ของปัจเจกชน ซึ่งเพลโตกล่าวไว้ ได้แก่ การที่ประชาชนต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของพลเมืองดีด้วยการเชื่อฟังกฎหมายของรัฐ (ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์: 106.)
จริยศาสตร์ของอริสโตเติล ตามทัศนะของอริสโตเติลถือว่า
จริยศาสตร์เป็นศาสตร์ที่สูงที่สุด และความดีที่สูงสุดในชีวิตมนุษย์ คือ ความสุข (Happiness) ความสุขที่อริสโตเติลหมายถึงนั้นไม่ใช่ความเพลิดเพลิน (Pleasure) ความเพลิดเพลินเป็นผลชั้นสองของการกระทำความดีจึงรวมอยู่ในความดีสูงสุด
แต่ไม่เป็นอันเดียวกันกับความดีสูงสุด อริสโตเติลยอมรับว่า
จริยศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์ที่แน่นอนเหมือนคณิตศาสตร์หรือตรรกวิทยา
ผลของจริยศาสตร์เป็นเพียงผลทั่วๆ ไป และมักจะให้ผลที่แน่นอนไม่ได้
บุคคลที่จะตอบปัญหาทางจริยศาสตร์จะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในชีวิต
ได้รับการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องทั่วๆ ไป และบังคับหรือควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ อริสโตเติลได้วิจารณ์ทฤษฎีทางจริยศาสตร์บางทฤษฎีว่า
บุคคลทั่วไปมักจะมีความเข้าใจการอยู่ดีกินดีเป็นอันเดียวกันกับความเพลิดเพลิน
ความร่ำรวย เกียรติยศ และชื่อเสียง
แต่สิ่งเหล่านี้ตามทัศนะทางจริยศาสตร์ของโสเครตีส เพลโต และอริสโตเติลแล้ว
ไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางของชีวิตแต่ประการใด เพราะความร่ำรวยเป็นเพียงวิธีการดำเนินไปสู่ความอยู่ดีกินดีเท่านั้น
คุณธรรมเรื่องการอยู่ดีกินดีนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็คือ
ความสมบูรณ์ในหน้าที่ และเป็นความดีที่ไม่มีเงื่อนไข มนุษย์มีวิญญาณของอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งเป็นวิญญาณที่มีเหตุผล ได้แก่ จิตสำนึก
และอีกส่วนหนึ่งเป็นวิญญาณที่ ได้แก่ จิตไร้สำนึก
คนที่มีคุณธรรมตามทัศนะของอริสโตเติล คือ
คนที่มีการอยู่ดีกินดีมีการทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ไม่บกพร่อง ในส่วนคุณธรรมเรื่องการอยู่ดีกินดี
เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจไปตลอดชีวิต และการจะทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ได้นั้น
จะต้องมีวิญญาณประกอบไปด้วยคุณธรรม
เรื่องคุณธรรม อริสโตเติลได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า คุณธรรม คือ
สิ่งกลางๆ ระหว่างความพอเหมาะพอดีกับความเกินพอดี เช่น
ความกล้าหาญอยู่ระหว่างความบ้าบิ่นกับความขี้ขลาด ฯลฯ คุณธรรมตามตัวอักษรกรีก
หมายถึง คุณงามความดี และได้ให้คำจำกัดความไว้อีกว่า คุณธรรม คือ
สภาวะทางจิตใจที่มั่นคง
อริสโตเติล ได้จำแนกคุณธรรมออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.
คุณธรรมทางสติปัญญา หมายถึง ความรู้ทั้งทางภาคทฤษฎี
และภาคปฏิบัติอันเป็นส่วนของวิญญาณที่มีเหตุผล หน้าที่ของวิญญาณ ก็คือ การรู้
และการค้นพบความจริง และ2. คุณธรรมทางศีลธรรม เช่น ความรู้จักประมาณ
และความกล้าหาญ ฯลฯ คุณธรรมทางศีลธรรมนั้นเกิดขึ้นมาจากนิสัยของบุคคลแต่ละคน
ซึ่งมีพื้นฐานแตกต่างกัน และคุณธรรมทางศีลธรรมโดยทั่วไปแล้ว
ยังอยู่ในรูปแบบของคำสอน
อริสโตเติล ได้ให้ทัศนะเรื่องทางสายกลางไว้ว่า
คนดี คือ คนที่ดำเนินชีวิตตามสายกลาง เช่น มีความกล้าหาญ รู้จักประมาณ
เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีอารมณ์ดี และสุภาพ การมีชีวิตที่ดีตามความคิดเห็นของอริสโตเติล
ก็คือ มนุษย์ต้องดำเนินชีวิตไปตามหลักเหตุผล จึงจะได้ชื่อว่า เป็นมนุษย์ที่ดี
เป็นผู้ยุติธรรม เป็นผู้รู้จักยั้งคิด และสามารถเป็นตัวอย่างชีวิตที่ดีแก่บุคคลอื่นได้
คนที่มีความสุข ตามทัศนะของอริสโตเติล คือ คนที่มีคุณธรรมประจำใจ
โดยปฏิบัติตามทางสายกลาง
อริสโตเติล แบ่งชีวิตไว้ 3 ระดับ คือ 1.
ชีวิตประจำวันที่เราจะต้องเอาใจใส่ 2.
ชีวิตที่กำลังเป็นไปในสังคม และ3. ชีวิตที่ต้องการความสงบ
อริสโตเติล ได้แบ่งความดี โดยทั่วไปออกเป็น 3 ชนิด คือ 1.
ความดีภายนอก เช่น เกียรติยศ และชื่อเสียง ฯลฯ 2.
ความดีทางวิญญาณ เช่น สติปัญญา ความสุข และคุณธรรม ฯลฯ และ3.
ความดีทางร่างกาย เช่น ความเป็นผู้มีสุขภาพดี
ความเป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์รูปร่างสวยงาม ฯลฯ
คุณธรรมพิเศษ 4 ประการ ของอริสโตเติล คือ 1.
ความรู้จักประมาณ 2. ความกล้าหาญ 3.
ความยุติธรรม และ4. มิตรภาพ อริสโตเติล
ได้แบ่งมิตรภาพออกเป็น 3 แบบ คือ 1.
มิตรภาพที่เกิดจากความมีประโยชน์ 2.
มิตรภาพที่เกิดจากความเพลิดเพลิน และ3.
มิตรภาพที่เกิดจากความดี และอริสโตเติล ได้จำแนกมิตรภาพออกเป็น 4 ประเภท คือ 1. มิตรภาพระหว่างผู้ไม่เท่าเทียมกัน 2. มิตรภาพระหว่างบิดามารดา และบุตร 3.
มิตรภาพระหว่างเจ้านาย และผู้ใต้บังคับบัญชา และ4.
มิตรภาพระหว่างผู้หญิง และผู้ชาย อริสโตเติล ถือว่า
ความรู้กับคุณธรรมเป็นสิ่งที่ออกจากกันไม่ได้ ต้องอาศัยกัน และกัน
ควบคู่กันไปในกระบวนการทุกอย่าง เพราะกิจกรรมทุกอย่างต้องใช้ทั้งความรู้
และคุณธรรม
ชีวิตในอุดมคติตามทัศนะของอริสโตเติล คือ ชีวิตที่มีความสมบูรณ์ในหน้าที่ มีเหตุผล และมีคุณธรรม (ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์: 130-133)
จริยศาสตร์ของฮอบส์ จริยศาสตร์ขั้นมูลฐานของฮอบส์ คือ
การรักษาผลประโยชน์ของตนเอง และการแสวงหาความดีเพื่อตนเอง
สิ่งเหล่านี้ก็เป็นไปเพื่อเจริญก้าวหน้าแห่งความสมบูรณ์พูนสุข ความกลมกลืนทางสังคมมีส่วนสำคัญต่อความสุขส่วนบุคคลมาก
ความสุขชนิดนี้เกิดจากการเชื่อฟังกฎของธรรมชาติ กฎเหล่านี้ถือว่า
เป็นกฎของจริยธรรมทางสังคมเหมือนกัน การไม่ละเมิดกฎเหล่านี้นับว่า เป็นสิ่งดีงาม
ความดีทางสังคมตามที่ฮอบส์เข้าใจ คือ
เป็นเพียงแบบที่มีประโยชน์ชนิดหนึ่งเท่านั้น คือ
เป็นเพียงวิธีการแต่ไม่ใช่จุดประสงค์ในตัวเอง สำหรับปัจเจกชนทั่วไป
ระบบจริยศาสตร์ของฮอบส์ มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์จริยศาสตร์ คือ ฮอบส์ ยืนยันว่า ลักษณะของความดีของบุคคลก็เหมือนกันกับลักษณะความดีของโปรทากอรัส ที่กล่าวถึงความดีของปัจเจกชน และความดีของสังคม ไม่มีความดีของสังคมที่ปราศจากความดีของสมาชิกในสังคม ความสุขตามทัศนะของฮอบส์ คือ สิ่งที่เป็นเครื่องสนับสนุนให้ชีวิตมีความก้าวหน้า และมีชีวิตที่ยืนยาว ส่วนความทุกข์ตามทัศนะของฮอบส์ คือ สิ่งที่ขัดขวางความก้าวหน้า และความไม่ยั่งยืนของชีวิต (ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์: 145-147,158)
จริยศาสตร์ของสปิโนซ่า สปิโนซ่า กล่าวไว้ว่า ไม่มีความแตกต่างระหว่างความดี
และความชั่ว แต่ว่าความดี และความชั่วเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เพราะฉะนั้น
ความแตกต่างระหว่างความดี และความชั่ว
หากจะมีได้ก็เป็นความเข้าใจผิดของบุคคลนั่นเอง อันสืบเนื่องมาจากความไม่รู้ว่า
เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงๆ ด้วยเหตุนี้คุณธรรมเรื่องความอยู่ดีกินดี
จึงเกิดขึ้นมาจากความรู้ และความรู้ที่สูงสุด คือ ความรู้เกี่ยวกับเรื่องพระเจ้า
สปิโนซ่ามีจริยศาสตร์ที่คล้ายคลึงกับจริยศาสตร์ของเพลโต และอริสโตเติล สปิโนซ่า กล่าวไว้ว่า ความรู้เรื่องความแท้จริงเป็นความดีที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ และความรู้นี้ไม่เป็นเพียงความเข้าใจด้วยสติปัญญาถึงความแท้จริง เป็นความแท้จริงแบบเนื้อหาของปัจจัยต่างๆ แต่เป็นการเชื่อมต่อระหว่างวิญญาณกับความจริง นอกจากนั้น สปิโนซ่ายังได้แสดงทัศนะทางจริยศาสตร์ไว้อีกว่า จริยศาสตร์ คือ การดำรงชีวิตอย่างมีเหตุผล และการพัฒนาเหตุผลในชีวิตให้สมบูรณ์เท่าที่จะเป็นไปได้ (ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์: 147-149)
จริยศาสตร์ของอิมมานูเอล คานท์ จริยศาสตร์ของคานท์ มีลักษณะเป็นเหตุผลนิยม
เหตุผลนิยมถือว่า อุดมคติของชีวิต คือ การปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์
โดยมีเหตุผลเป็นเครื่องนำทาง ส่วนสุขนิยมถือว่า อุดมคติของชีวิต คือ
การได้รับความเพลิดเพลิน อันเกิดจากประสาทสัมผัส
และต้องการให้มนุษย์มีศีลธรรมตามธรรมชาติ
จริยศาสตร์ของคานท์ คือ ความแตกต่างเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์
ความแตกต่างเกี่ยวกับความคิดทางศีลธรรม
ปัญหาทางจริยศาสตร์ของคานท์ ได้แก่ เรื่องเจตจำนงที่ดี
เรื่องกฎศีลธรรม เรื่องคุณธรรมหรือความดี เรื่องการกระทำที่ถูกต้อง
และความหมายของหน้าที่
หลักจริยศาสตร์ที่สำคัญของคานท์ ได้แก่ อิสรภาพของเจตจำนง อมตฤภาพของวิญญาณ ความมีอยู่ของพระเจ้า จุดมุ่งหมายอันสูงสุด และเสรีภาพของปัจเจกชน (ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์: 157,158)
จริยศาสตร์ของขงจื้อ โดยหลักการแล้ว คือ การถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน หรือ
เอาใจเขามาใส่ใจเรา ขงจื้อได้แบ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องกันไว้ 5 คู่ คือ 1. ผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง 2. บิดากับบุตร 3. สามีกับภรรยา 4. พี่กับน้อง 5. เพื่อนกับเพื่อน
ขงจื้อ สอนไว้ว่า สิ่งใดที่ท่านไม่ต้องการให้ใครทำต่อท่าน
ก็จงอย่าทำสิ่งนั้นต่อผู้อื่น ส่วนคุณงามความดีต่างๆ ที่ขงจื้อสอน เช่น
การทำตนให้เหมาะสม ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ ความรักการศึกษา ความยุติธรรม
การบำเพ็ญประโยชน์ ความเคารพ ความรู้จักประมาณ ความสงบ และการค้นหาความจริง
ขงจื้อ สอนเรื่องการตอบแทนความดี และความชั่ว ไว้ว่า
“จงตอบแทนความดีด้วยความดี และตอบแทนความชั่วด้วยความยุติธรรม” (คัมภีร์ลิกี 14 36)
“ปัญญา การบำเพ็ญประโยชน์ ความเป็นผู้มีกำลังใจเข้มแข็ง
สิ่งเหล่านี้เป็นคุณธรรมประจำโลก” (คัมภีร์ลิกี 28 2)
ขงจื้อ สอนไว้ว่า “ความดีที่แท้จริงอยู่ที่ใจของคนมีหลัก 2 ประการ คือ 1.
การยอมรับความดีของคนอื่นตามฐานะที่เขาเป็นอยู่ และ2.
ประพฤติต่อเขาเหล่านั้น”
ขงจื้อได้กล่าวไว้ว่า คุณธรรมของนักปกครองมี 5 ข้อ คือ 1. การบำเพ็ญประโยชน์ หมายถึง การทำงาน
เพื่อความผาสุกสวัสดีของประชาชน 2. ความถูกต้อง
ไม่พึงทำสิ่งที่ท่านไม่ต้องการให้ผู้อื่นทำแก่ท่าน 3.
ความเหมาะสม จงประพฤติต่อประชาชนที่ท่านปกครองด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดีงามอยู่เสมอ 4. ปัญญา จงใช้ปัญญา และความเข้าใจเป็นเครื่องนำทาง และ5. ความจริงใจ จงมีความจริงใจต่อทุกคนที่ท่านเกี่ยวข้อง เพราะว่า
“ปราศจากความจริงใจเสียแล้วโลกก็จะเกิดขึ้นไม่ได้”
ทัศนะของขงจื้อที่มีต่อรัฐบาล รัฐบาลที่ดีควรยึดถือหลัก 3 ประการ คือ 1. ดูแลให้เห็นว่า
มีอาหารเพียงพอสำหรับประชาชน 2. มีกำลังทหารพอสมควร และ3. มีความมั่นใจในประชาชน
ขงจื้อพยามยามหล่อหลอมคุณลักษณะของคนดีที่โลกต้องการรวมไว้ในความหมายของคำว่า
เกียรติ คนมีเกียรติ คือ คนที่ไม่ยอมเป็นเครื่องมือของใคร ผู้มีเกียรติ คือ
บุคคลที่ทำตนให้เป็นที่เชื่อถือในที่ทุกสถาน
ทุ่มเทความเพียรพยายามลงไปในการศึกษาหาความรู้
ยึดมั่นอยู่ในความดีจนกระทั่งชีพสลาย ผู้มีเกียรติ ย่อมจะเย่อหยิ่ง แต่ไม่อวดดี
แต่ผู้ไม่มีเกียรติย่อมจะอวดดี แต่ไม่เย่อหยิ่งจริง
สิ่งที่อับอายขายหน้าสำหรับผู้มีเกียรติ คือ เขาทำไม่ได้อย่างที่เขาพูด
ขงจื้อได้กล่าวถึงคุณสมบัติสำหรับนักปกครองไว้ 4 ประการ คือ 1. มีความเที่ยงธรรมไม่เอนเอียง 2. ไม่ทำการตัดสินอะไรเอาแต่ใจตนเอง 3. เป็นผู้ถือเหตุผลเป็นสำคัญกว่าทิฏฐิ และ4. เป็นผู้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนร่วม (ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์: 269-270)
จริยศาสตร์ของมหาตมะคานธี มีลักษณะที่เด่น คือ
มีจุดมุ่งหมายอันสูงสุดของศีลธรรม การเข้าใจพระเจ้าอย่างแจ่มแจ้ง พระเจ้า คือ
ความสันติสุข สัจธรรม แสงสว่าง ความรัก และความกล้าหาญ และพระเจ้าไม่ใช่ตัวบุคคล
พระองค์ คือ ดวงวิญญาณของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย คานธี กล่าวว่า “หน้าที่ของข้าพเจ้า
คือ การรับใช้พระเจ้า เพราะฉะนั้น จงรับใช้มนุษย์ชาติ”
คานธี ได้สงเคราะห์จริยศาสตร์ และศาสนาเข้าด้วยกัน แนวความคิดทางจริยศาสตร์เป็นพื้นฐานแห่งแนวความคิดทางศาสนา
ดังนั้น จริยศาสตร์ และศาสนาจึงเป็นส่วนสมบูรณ์ของกัน และกัน
เมื่อเราละทิ้งหลักศีลธรรม เราก็กลายเป็นคนไม่มีศาสนาไปทันที
คานธี ได้สงเคราะห์จริยศาสตร์ และรัฐศาสตร์เข้าด้วยกัน
ด้วยหลักการที่ว่า “อำนาจ คือ ความถูกต้อง เป็นของเก่าแก่โบราณ
และปัจจุบันนี้ไม่ได้นำมาใช้กันอีกแล้ว การไม่เบียดเบียน และความเมตตา
เป็นหลักศีลธรรมที่สำคัญ” หลักศีลธรรมที่สูงสุด คือ เราควรทำงานโดยไม่หยุดหย่อน
เพื่อความดีของมนุษยชาติ”
คานธี กล่าวไว้ว่า หลักศีลธรรมเป็นหลักที่มั่นคง แน่นอน และตายตัว
เป็นสิ่งประเสริฐ เป็นสิ่งสากล และทุกคนเข้าใจโดยทั่วไป
ผลของการปฏิบัติตามหลักศีลธรรม ย่อมเป็นความดีโดยแท้จริง ส่วนมโนธรรม คือ
ดวงประทีปอันประเสริฐ ดังนั้น มโนธรรมจึงเป็นผู้พิทักษ์หลักศีลธรรม
และเจตนาเป็นเครื่องตัดสินความดี ความชั่ว ผลแห่งความดี และความชั่วพระเจ้าเป็นผู้ประทานให้แก่มนุษย์
คานธี กล่าวว่า
“ถ้าท่านตอบแทนความดีด้วยความดีนั้น เป็นการตกลงต่อลองกันตามธรรมดา
แต่ถ้าท่านตอบแทนความชั่วด้วยความดี จึงเป็นอำนาจในการถ่ายถอน
อกุศลมูลจะมอดมลายลงโดยสิ้นเชิง”
คานธี ถือว่า การกระทำที่มีเจตนาอย่างเดียวเท่านั้น
เป็นเครื่องตัดสินทางศีลธรรม การกระทำความดีที่จะได้ดีนั้น ต้องมีความตั้งใจดี
อหิงสา และสัตยาเคราะห์ ตามทัศนะของคานธี
อธิบายความแท้จริงว่า มีค่าเท่ากับพระเจ้าหรือความความแท้จริง คือ พระเจ้า
ความแท้จริงนั้นมีอยู่ในจิตใจ คำพูด และการกระทำ (ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์: 267,270-271)
จริยศาสตร์ของพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น 3
ระดับ คือ 1. จริยศาสตร์ขั้นมูลฐาน 2.
จริยศาสตร์ชั้นกลาง และ3. จริยศาสตร์ชั้นสูง
1. จริยศาสตร์ขั้นมูลฐาน คือ เบญจศีล ได้แก่ ศีลห้า และเบญจธรรม ได้แก่ ธรรม
5 เป็นข้อปฏิบัติฝ่ายศีล และธรรมจุนเจือกัน
2. จริยศาสตร์ชั้นกลาง ได้แก่ หลักกุศลกรรมบถ 10
ประการ แยกเป็นทางกาย วาจา และใจ คือ 1. ทางกายมี 3 คือ เว้นการฆ่าสัตว์ เว้นการลักทรัพย์ และเว้นการประพฤติผิดในกาม 2. ทางวาจามี 3 คือ เว้นการพูดปด เว้นการพูดส่อเสียด
และเว้นการพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ และ3. ทางใจมี 3 คือ ไม่โลภอยากได้ของคนอื่น ไม่คิดปองร้ายใคร
และไม่เห็นผิดจากทำนองครองธรรม คือ เห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
พ่อแม่มีบุญคุณ สัตว์โลกเกิดโดยอุบัติมี พระอริยบุคคลมี และพระอรหันต์มี
3. จริยศาสตร์ชั้นสูง คือ ข้อปฏิบัติสำหรับบรรลุมรรคผลนิพพานโดยตรง
ข้อปฏิบัตินี้เรียกว่า อริยมรรค แปลว่า ทางอันประเสริฐ
หรือทางทำผู้ปฏิบัติให้เป็นผู้ประเสริฐ มีองค์ประกอบ 8 ข้อ
คือ 1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ หมายถึง ความรู้เห็นอริยสัจ 4 ชัดแจ้งทุกประการ เชื่อมโยงเข้าสู่อริยสัจ 2.
สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ หมายถึง ดำริปลดเปลื้องจิตจากอารมณ์โลกีย์
จากความพยาบาท จากการเบียดเบียน 3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
หมายถึง วาจาสุจริต 4
ในกุศลกรรมบถตามที่กล่าวมาในจริยศาสตร์ชั้นกลาง 4.
สัมมากัมมันตะ การงานชอบ หมายถึง การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์
และเป็นพรหมจารีบุคคลไม่เกี่ยวข้องกับกาม 5. สัมมาอาชีวะ
เลี้ยงชีพชอบ หมายถึง การเลี้ยงชีวิตไม่ผิดกฎหมาย และศีลธรรม
เว้นการเลี้ยงสัตว์เพื่อฆ่า 6. สัมมาวายามะ เพียรชอบ หมายถึง
เพียรไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น แต่ให้ความดีเกิดขึ้นแทน และเพียรรักษาความดีไว้ 7. สัมมาสติ ระลึกชอบ หมายถึง ระลึกแล้วให้เกิดสติสมบูรณ์ขึ้น จนกลายเป็นปัญญาแก่กล้า
และตัดกิเลสได้ และ8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ หมายถึง
การบำเพ็ญณานให้เกิดขึ้นเป็นพื้นฐานการบรรลุอริยสัจในสัมมาทิฏฐิข้อต้น
องค์ประกอบ 8 อย่าง ของอริยมรรคเหล่านี้สงเคราะห์ลงในไตรสิกขา คือ
ศีล สมาธิ และปัญญา คือ ข้อที่ 1-2
เป็นปัญญา ข้อที่ 3-4-5 เป็นศีล และข้อที่ 6-7-8 เป็นสมาธิ
จริยศาสตร์ทั่วไปของพุทธศาสนา
เป็นหลักจริยธรรมสำหรับบุคคลทุกอาชีพจะได้นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
เพื่อให้เกิดความสุข ความสำเร็จ และสันติโดยทั่วกัน
จริยศาสตร์ทั่วไปส่วนใหญ่เป็นจริยธรรมทางสังคม ซึ่งมนุษย์ควรปฏิบัติต่อกันด้วยเมตตาจิต
เพื่อให้เกิดความสัมฤทธิ์ในกิจการทั่วไป ทั้งในด้านส่วนตัว และสังคม (ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์: 235-237,249-250)
จริยศาสตร์ของศาสนาชินโต ในหนังสือ An Outline of
Shinto Teachings (สังเขปคำสอนของศาสนาชินโต)
ของคณะกรรมการศาสนาชินโต พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1957) กล่าวถึงปัญหาเรื่องจริยศาสตร์ โดยชี้ไปที่จิตใจอันดีงาม 4 ลักษณะ คือ 1. หัวใจที่แจ่มใส (อากากิ
โกโกโร) ย่อมฉายแสงแจ่มใสเหมือนดวงอาทิตย์ 2.
หัวใจที่บริสุทธิ์ (กิโยกิ โกโกโร) ย่อมผ่องแผ้วเหมือนเพชรสีขาวบริสุทธิ์ 3. หัวใจที่ถูกต้อง (ดาดาชิกิ โกโกโร) 4. หัวใจที่ตรง
(นาโอกิ โกโกโร) ย่อมน่ารัก และปราศจากความยึดมั่นในทางที่ผิด
ลักษณะที่ดีงามทั้ง 4 ประการนี้
ย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเทพเจ้า นอกจากนั้นได้มีการรวมลักษณะทั้ง 4 ประการนี้ ในคำญี่ปุ่นคำเดียวกัน คือ เซอิเมอิ-ซิน ความต้องการอย่างยิ่งในศาสนาชินโต คือ
เชื่อฟังคำสอนของเทพเจ้าทั้งหลาย และทำหน้าที่ของตนให้บริบูรณ์ ด้วยความซื่อสัตย์
ภายใต้ความปกป้องของวิญญาณแห่งบรรพบุรุษ ฉะนั้น
บุคคลจึงต้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่อเทพเจ้า
และวิญญาณแห่งบรรพบุรุษของตนก่อนกิจกรรมอย่างอื่น
ในคัมภีร์ศาสนาของชินโต มีข้อความแสดงถึงจริยศาสตร์
ดังตัวอย่างต่อไปนี้
“ผู้พูดความจริง จะไม่เป็นอันตราย
ผู้พูดความเท็จจะต้องประสบหายนะอย่างแน่นอน” (นิฮอน – คิ 1 : 317)
“จงเว้นความตะกละตะกลาม และสละความละโมบโลภมากเสีย, การทำร้าย
(ผู้อื่น) เป็นความชั่ว, ความกล้าหาญเป็นการดี. จงเว้นความโกรธเคือง
และเว้นจากกิริยาท่าทางที่แสดงความโกรธเคือง. อย่าเป็นคนริษยา.” (นิฮอน – คิ 2 : 130 - 131)
จริยศาสตร์ของศาสนาเต๋า คุณธรรมฝ่ายจริยศาสตร์ในคัมภีร์เต๋าเตกเกงแห่งศาสนาเต๋า
คือ ความสงบ ไม่วุ่นวาย ความง่ายๆ
นอกจากนั้นยังสอนให้ใช้ความดีต่อทั้งคนชั่วและคนดี ส่วนความอ่อนโยนก็เป็นหลักคำสอนที่สำคัญ
ดังข้อความในคัมภีร์เต๋าเตกเกง ดังต่อไปนี้
อ่อนโยนชนะแข็งกร้าว “เมื่อคนเกิดนั้น เขาอ่อน และไม่แข็งแรง แต่เมื่อตาย
เขาแข็งและกระด้าง เมื่อสัตว์ และพืชยังมีชีวิตก็อ่อน และดัดได้ แต่เมื่อตายก็เปราะและแห้ง
เพราะฉะนั้น ความแข็งและความกระด้าง จึงเป็นพวกพ้องของความตาย ความอ่อน และความสุภาพจึงเป็นพวก
จึงเป็นพวกพ้องของความเป็น เพราะฉะนั้น เมื่อกองทัพ แข็งกร้าว จึงแพ้ในสงคราม
เมื่อต้นไม้แข็ง จึงถูกโค่นลง สิ่งที่ใหญ่ และแข็งแรงจะอยู่ข้างล่าง สิ่งที่สุภาพ
และอ่อนจะอยู่ข้างบน”
ตอบชั่วด้วยดี “คนที่ดีต่อเรา เราก็ดีต่อ คนที่ไม่ดีต่อเรา
เราก็ดีต่อเขาด้วย เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงควรเป็นคนดี คนที่ซื่อสัตย์ต่อเรา
เราก็ซื่อสัตย์ต่อด้วย คนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อเรา เราก็ซื่อสัตย์ต่อด้วยเพราะฉะนั้น
ทุกคนจึงควรเป็นคนซื่อสัตย์”
สมบัติ 3 ประการ “ข้าพเจ้ามีสมบัติอยู่ 3
ประการ ควรดูแล และรักษามันไว้ให้ดี ได้แก่ ข้อที่ 1 คือ เมตตา เพราะมีความรักบุคคลก็ไม่ต้องกลัว
ถ้าละทิ้งเมตตา และความกล้าหาญ ข้อที่ 2 คือ ไม่มากเกินไป เพราะไม่ทำมากเกินไป บุคคลก็มีความสมบูรณ์
ถ้าละทิ้งความสำรวม รักษาไว้แต่อำนาจ และข้อที่ 3 คือ
อย่าเป็นผู้นำของโลก เพราะไม่คิดจะเป็นเอกในโลก
บุคคลก็อาจทำให้สติปัญญาเจริญเต็มที่ ถ้าละทิ้งการตามหลัง แต่ชอบรุดออกหน้า
เขาก็ตาย.” (สุชีพ
ปุญญานุภาพ: 156-239. อ้างในชัยวัฒน์ อัตพัฒน์: 280-281)
จริยศาสตร์ของศาสนาเต๋ารักสงบ ไม่นิยมความฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิม
ไม่นิยมการคิดจะเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในโลก พอใจความถ่อมตัว การไม่วางตัวสูงกว่าคนอื่น
รักษาความดีไว้ให้คงที่ มุ่งหน้าทำประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยไม่แฝงความเห็นแก่ตัวไว้
จริยศาสตร์ของศาสนาเชน ศาสนาเชน
มีหลักจริยศาสตร์ คือ ข้อปฏิญญา 5 ข้อ ในการเว้นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ดังต่อไปนี้ 1. อหิงสา การไม่เบียดเบียนตลอดจนการไม่ทำลายชีวิต, 2.
สัตยะ ความสัตย์ ไม่พูดเท็จ, 3. อัสตียะ การไม่ลักขโมย,
4. พรหมจริยะ การประพฤติพรหมจรรย์ (เว้นจากการเสพกาม), 5. อปริครหะ การไม่ละโมบ ไม่อยากได้สิ่งใดๆ
การเว้นจากดื่มสุราเมรัย สงเคราะห์เข้าในข้อที่ 4 ข้อปฏิญญาทั้ง 5 นี้เรียกว่า อนุพรต หลักการ 5 ข้อนี้สำหรับนักบวชโดยตรง สำหรับคฤหัสถ์ คือ ผู้ครองเรือนธรรมดา
มีการผ่อนในข้อที่ 4 ลงมาเป็นเพียงเว้นจากประพฤติผิดในกาม และการอยู่ร่วมกับโสเภณี
หลักจริยศาสตร์ของศาสนาเชน เมื่อรวมเป็นข้อเดียว คือ “อหึสา ปรโม ธรมะ
ความไม่เบียดเบียน เป็นธรรมะอย่างยิ่ง”
ศาสนาเชน มีหลักจริยศาสตร์ชั้นสูง
อันเป็นเหตุให้เข้าถึง โมกษะ หรือนิรวาณ 3 ประการ คือ 1. ความเชื่อที่ถูกต้อง 2. ความรู้ที่ถูกต้อง และ3. ความประพฤติที่ถูกต้อง (ชัยวัฒน์
อัตพัฒน์: 281-283)
จริยศาสตร์ในพระเวท คัมภีร์ฤคเวท
สอนพระมหากษัตริย์ ให้ปฏิบัติต่อประชาชนผู้อยู่ในปกครองอย่างพี่อย่างน้อง
จึงควรอยู่ร่วมกับประชาชนอย่างอ่อนโยนต่อเขาอย่าเบียดเบียนเขา
จึงเป็นเพื่อนของประชาชน เข้ากันกับประชาชนได้ในการบำเพ็ญกิจทางศาสนา คือ
การบูชายัญ จงพูดกับประชาชนด้วยดี (1 : 170)
คัมภีร์อถรรพเวท กล่าวว่า “เราได้ให้หัวใจ และศรีษะแก่เจ้า เพื่อมิให้มีความปรารถนาร้ายต่อผู้อื่น
บุคคลควรประพฤติต่อกันและกัน เหมือนแม่โคปฏิบัติต่อลูกโคออกใหม่.
“เราให้จิตใจทั้งหมดแก่เจ้า เพื่อให้เป็นคนดี
และเพื่อให้ดำเนินไปสู่จุดหมายโดยสามัคคี
ผู้มีปัญญาย่อมถนอมรักษาน้ำอมฤตแห่งชีวิตไว้ฉันใด ขอเวลาเย็นและเวลาเช้า ทั้งหลายของเจ้าจงเป็นอู่แห่งสันติ
และความเจริญแก่เจ้าฉันนั้นเถิด.” (Vedas, Holy
Scriptures of Aryans : 21 - 22)
จริยศาสตร์ในคัมภีร์อุปนิษัท คัมภีร์อุปนิษัท
ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระเวท แบ่งออกเป็นมันตระ พราหมณะ และอุปนิษัท
ในคัมภีร์อุปนิษัทเน้นทางปรัชญาเกี่ยวกับเทวนิยม เช่น กำเนิดของสากลโลก
สภาพเทพเจ้า สภาพของอาตมัน และเกี่ยวกันระหว่างจิตใจกับวัตถุ ฉะนั้น
จริยศาสตร์ในคัมภีร์อุปนิษัท มีว่า “ขอให้มารดาของเจ้า จงเป็นเทพเจ้าของเจ้า,
ขอบิดาของเจ้าจงได้รับการปฏิบัติเสมือนหนึ่งเทพเจ้า,
ขอให้อาจารย์ของเจ้าจงได้รับเกียรติดั่งเทพเจ้า, ขอให้แขกของเจ้า
จงได้รับการต้อนรับเอาใจใส่ประหนึ่งเทพเจ้า.” (ไตตติริย-อุปนิษัท: 64)
จริยศาสตร์ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์
จัดอยู่ในหลักฐานชั้นที่สอง หลักฐานชั้นที่ 1
คือ พระเวท และส่วนประกอบที่เรียกว่า ศรุติ หลักฐานชั้นที่ 2
คือ คัมภีร์ทั้ง 4 เรียกว่า สมฤติ คัมภีร์มนูธรรมศาสตร์
มีคำสอนเรื่องจริยศาสตร์ ว่า “อย่าทำผู้อื่นให้บาดเจ็บ,
ไม่พึงทำร้ายผู้อื่นทางใจหรือทางกาย
ไม่พึงเปล่งวาจาที่ก่อความเจ็บใจแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย.” (มนูธรรมศาสตร์:
2.163)
“จงอดกลั้นถ้อยคำที่กล่าวล่วงเกิน ไม่พึงด่าตอบใครๆ
ไม่พึงเป็นศัตรูของใครๆ เพราะเหตุแห่งกายอันเปื่อยเน่าทรุดโทรมได้
อย่าแสดงอาการโกรธ จงให้พรคนที่สาปแช่ง และอย่าเปล่งวาจาที่ไร้สัจจะ.” (มนูศาสตร์:
6.47-48)
จริยศาสตร์ในคัมภีร์มหาภารตะ มหาภารตะ จัดเป็นหลักฐานชั้นที่ 2 เช่นเดียวกับคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ คือ อยู่ในประเภทสมฤติ
และอยู่ในหัวข้อว่า อิติหาสะ (นิยาย)
“การไม่ทำร้ายใครๆ ทางใจ ทางวาจา หรือทางกาย การให้แก่ผู้อื่น
และมีความกรุณาต่อทุกผู้ นี้คือ หน้าที่อันยั่งยืนของคนดี คนที่มีใจสูง พอใจในการทำความดี
โดยไม่คิดถึงประโยชน์ของตนเอง เมื่อปรึกษาหารือถึงการทำประโยชน์ให้คนอื่น เขามิได้คิดถึงประโยชน์ตอบแทนเลย”
(มหาภารตะ 3: 16782-16797)
“การไม่ทำร้าย,
การมีสัจจะ, การเว้นจากขโมย, การเว้นจากความกำหนัดยินดี,
การเว้นจากความโกรธและความละโมบ การพยายามทำสิ่งที่พอใจ
และเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงนี้เป็นหน้าที่เสมอกันของบุคคลในทุกวรรณะ.” (ศรีมัท
ภควัทคีตา 11, 17, 21) (ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์:
283-286)
จริยศาสตร์ของศาสนาสิกข์ ย้ำมากในเรื่องจงรักภักดีต่อพระเจ้า
คัมภีร์ของศานาสิกข์เกือบไม่มีเรื่องอื่นนอกจากข้อความพรรณนาเรื่องพระเจ้า
ศาสนาสิกข์รับรองความดี ความชั่วทั่วๆ ไป ท่านอมรทาส ศาสดาองค์ที่ 3 ได้สอนไว้ว่า
“ไม่มีตบะใด จะยิ่งใหญ่กว่าความอดทน
ไม่มีความสุขใดจะยิ่งใหญ่กว่าความสันโดษ ไม่มีความชั่วใดจะยิ่งใหญ่กว่าความโลภ
ไม่มีบุญใดจะยิ่งใหญ่กว่าความกรุณา ไม่มีอาวุธใดจะมีอำนาจยิ่งกว่าการให้อภัย
คนหว่านพืชเช่นใดก็เก็บเกี่ยวผลเช่นนั้น ถ้าเขาหว่านความทุกข์ ความทุกข์ก็จะเป็นผลเก็บเกี่ยวของเขา
ถ้าคนหว่านยาพิษ เขาก็ไม่อาจหวังอาหารทิพย์ได้เลย” (อมรทาส ศาสดาองค์ที่ 3) (M.A Macauliffe : 18.)
“บุคคล ควรระมัดระวังแม้แต่บาปที่ทำไปโดยมิรู้สึกตัว” (เตฆพาหาทุระ
ศาสดาองค์ที่ 9)
“บุคคล ไม่พึงก้าวขึ้นเตียงแห่งภริยาของคนอื่น แม้ในความฝัน” (Teja
Singh M.A. : 17) (ชัยวัฒน์
อัตพัฒน์: 286-289)
จริยศาสตร์ของศาสนาโซโรอัสเตอร์ มีคำสอน ดังนี้
“ผู้ใดปรารถนาจะรักพระอหุรมัสตะ ในโลกนี้
พึงรักคนที่ประพฤติถูกต้อง เนื่องด้วยคนที่ประพฤติถูกต้อง
ย่อมเป็นเสมือนแบบจำลองของพระอหุรมัสตะผู้เป็นเจ้า” (ศยัษฏณะ ศยัษฏะ 15 : 7-8)
“ความสมบูรณ์ ข้อที่ 1
คือ ความคิดที่ดี ข้อที่ 2 คือ วาจาที่ดี ข้อที่ 3 คือ การกระทำที่ดี” (สัท สปารัน 21 : 15)
“การกระทำที่ดีทุกอย่างที่เจ้าอาจทำได้ในวันนี้
จงอย่าผัดไปไว้ทำพรุ่งนี้ จงทำให้เสร็จด้วยมือของเจ้า
และปรึกษากับวิญญาณของเจ้าเอง” (สัท ทาร 81: 10)
“ความยากจน เพราะมีความซื่อสัตย์ ดีกว่าความมั่งคั่ง
อันเนื่องมาจากทรัพย์ของคนอื่น” (เมนอคอิชรัท 15: 4)
“คนที่พูดสัตย์จริงเพียงคนเดียว ดีกว่าคนทั้งโลกที่พูดเท็จ” (สัท ทาร 62: 5)
“การสร้างนิสสัย 4 อย่างเหล่านี้ คือ
หลักแห่งศาสนาของซารากุสต์ (โซโรอัสเตอร์) คือ 1.
เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อบุคคลผู้สมควร 2. มีความยุติธรรม 3. เป็นมิตรกับทุกๆ คน 4.
กีดกันความอสัตย์ไปจากตัวเจ้าอย่างจริงใจ” (สัท ทาร 65: 7)
“ผู้ช่วยเหลือคนยากจน คือ คนที่ถือพระอหุระ เป็นพระราชา” (SBE.
4: 210, 250)
จริยศาสตร์ของศาสนาอิสลาม มีคำสอน ดังนี้
1. “ถ้อยคำที่ให้อภัยอย่างอ่อนหวาน
ย่อมดีกว่าการให้ทานแล้วทำร้ายที่หลัง” (ซูเราะห์ที่ 2: 263)
2. “ถ้าเจ้าประกาศให้ทานของเจ้า นั่นเป็นการดี
แต่ถ้าเจ้าปกปิดการให้ทานของเจ้า และให้แก่คนยากจน ก็จะเป็นการดีกว่านั้น
ทั้งจะเป็นการไถ่โทษ สำหรับการกระทำชั่วบางอย่างของเจ้าด้วย
พระอัลเลาะห์ทรงรู้ถึงสิ่งที่เจ้าทำ” (ซูเราะห์ที่ 2: 271)
3. “อย่าบูชาผู้ใด เว้นพระอัลเลาะห์
จงเป็นคนดีต่อมารดาบิดา ต่อญาติต่อเด็กกำพร้า และคนยากจน จงพูดไพเราะต่อมนุษยชาติ
จงตั้งการบูชา และจ่ายค่าช่วยเหลือคนจน” (ซูเราะห์ที่ 2: 42, 43, 44)
4. “ผู้ใดประกอบกรรมชั่ว ย่อมเชื่อว่าทำชั่วเพื่อปฏิปักษ์ต่อตนเองเท่านั้น
พระอัลเลาะห์ทรงรู้ และฉลาดเสมอ” (ซูเราะห์ที่ 4: 111)
5. “ดูก่อนผู้มีศรัทธา สุรา และการพนันเป็นสิ่งชั่วที่เป็นฝีมือของพญามาร
จงละทิ้งเสีย เพื่อว่าเจ้าจะเจริญ” (ซูเราะห์ที่ 5: 90)
6. “สำหรับขโมย ไม่ว่าชายหรือหญิง จงตัดมือของมันเสีย
นั่นเป็นสิ่งตอบแทนแห่งการกระทำของมันเองเป็นการลงโทษ เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างจากพระอัลเลาะห์.
พระอัลเลาะห์ทรงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ผู้ฉลาด” (ซูเราะห์ที่ 5: 38)
7. “(อาหาร) ที่ห้ามสำหรับเจ้า คือ เนื้อสัตว์ที่ตายเอง เลือด เนื้อหมู
สิ่งที่อุทิศแกผู้อื่นนอกจากพระอัลเลาะห์ เนื้อสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย ถูกตีตาย
ตกจากที่สูง ที่ถูกขวิดด้วยเขา ที่ถูกสัตว์ป่ากัดกิน (บางส่วน)
เว้นไว้แต่เนื้อสัตว์ ซึ่งเจ้าสามารถฆ่าได้เอง สิ่งที่บูชายัญแก่รูปเคารพ
และแบ่งได้มาโดยใช้ลูกศรเสี่ยงโชคเป็นของพึงรังเกียจ.” (ส่วนหนึ่งแห่งซูเราะห์ที่ 3.5)
8. “จงต่อสู้ จนกว่าการบีบคั้นทางศาสนาจะไม่มีอีกต่อไป และจนกว่าศาสนาจะเป็นไปเพื่อพระอัลเลาะห์.
แต่ถ้ามันหยุดต่อสู้ก็อย่าให้มีการสู้รบอีกต่อไป เว้นไว้แต่กับบุคคลผู้กระทำผิด”
(ซูเราะห์ที่ 2: 193)
9. “จงต่อสู้ในทางของอัลเลาะห์ ต่อผู้ที่ต่อสู้เจ้า
แต่จงอย่าก่อการสู้รบ(ก่อน)โอ พระอัลเลาะห์ไม่ทรงรักผู้รุกราน” (ซูเราะห์ที่ 2:
190)
จริยศาสตร์ของศาสนาอิสลาม มุ่งสอนให้คนนับถือความสัตย์ ไม่โลภ
ไม่ริษยากัน เคารพสัญญาที่มีต่อกัน งดเว้นสุรา และการพนัน (ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์: 296-267,289-291)
จริยศาสตร์ของศาสนายิว บัญญัติ 10 ประการ ดังนี้ 1.
อย่าได้มีพระเจ้าอื่นต่อหน้าเราเลย, 2. อย่าทำรูปเคารพสำหรับตน
เป็นสัญฐานรูปสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งมีอยู่ในฟ้าดินอากาศเบื้องบน
หรือซึ่งมีอยู่ที่แผ่นดินเบื้อง หรือซึ่งมีอยู่ในน้ำใต้แผ่นดิน อย่ากราบไหว้
หรือปฏิบัติรูปเหล่านั้น ด้วยเรายะโฮวาพระเจ้าของเจ้า เป็นพระเจ้าหวงแหน
ให้โทษของบิดาที่ชังเรานั้น ติดเนื่องจนถึงลูกหลานกระทั้งสามสี่ชั่วอายุคน
แต่แสดงความกรุณาแก่ผู้ที่รักเรา และรักษาบัญญัติของเราถึงหลายพันชั่วอายุคน, 3. อย่าออกนามยะโฮวา พระเจ้าของเจ้าเปล่าๆ
ด้วยผู้ที่ออกนามของพระองค์เล่นเปล่าๆ นั้น ยะโฮวาจะไม่ปรับโทษหามิได้, 4. จงนับถือวันซะบาโต ถือเป็นวันบริสุทธิ์ตามคำยะโฮวา
พระเจ้าของเจ้าได้ตรัสสั่งไว้แก่เจ้า จงทำการงานของเจ้าให้สำเร็จ ในระหว่างหกวัน
ในวันที่เจ็ดนั้น เป็นซะบาโตของยะโฮวา พระเจ้าของเจ้า. ในวันนั้นอย่ากระทำการใดๆ
คือ เจ้าเองหรือบุตราบุตรีของเจ้าหรือทาสาทาสีของเจ้า หรือตัวโคของเจ้าหรือตัวลาของเจ้า
หรือบรรดาสัตว์ใช้ของเจ้า หรือแขกที่มาอาศัยอยู่ข้างในประตูเมืองของเจ้า
เพื่อทาสาทาสีของเจ้าจะหยุดการหายเหนื่อยเหมือนตัวเจ้า จงระลึกว่า เจ้าเป็นทาสในประเทศอายฆุปโต
(อียิปต์) และยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า ได้พาเจ้าออกมาจากที่นั้น
ด้วยพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ และด้วยพระกรเหยียดออกนั้น เหตุฉะนี้
ยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าได้บัญชาสั่งให้เจ้ารักษาวันซะบาโตนั้น, 5. จงนับถือบิดามารดาของตน ตามคำยะโฮวาตรัสสั่งนั้น
เพื่อเจ้าจะมีชีวิตยืนนาน และจำเริญอยู่บนแผ่นดิน
ซึ่งยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าประทานให้แก่เจ้า, 6. อย่าฆ่าคน, 7. อย่าล่วงประเพณี สามีภรรยา, 8. อย่าลักทรัพย์, 9. อย่าเป็นพยานกล่าวความเท็จต่อเพื่อนบ้าน, 10.
อย่าโลภ ภรรยาของเพื่อนบ้าน อย่าโลภเรือนของเพื่อนบ้านหรือไร่นาของเขา
หรือทาสาของเขาหรือทาสีของเขา ตัวโคหรือตัวลาของเขา
หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นของเพื่อนบ้าน
จริยศาสตร์ของศาสตร์ยิว ได้แก่ บัญญัติ 10 ประการ ซึ่งพระยะโฮวาสั่งโมเสสให้มาเปิดเผย
เพื่อเป็นข้อปฏิบัติโดยเคร่งครัด (ชัยวัฒน์
อัตพัฒน์: 291-292,297)
จริยศาสตร์ของคริสต์ศาสนาในคัมภีร์ใหม่ จริยศาสตร์ ปรากฏในคัมภีร์ใหม่
ตามบันทึกต่างๆ ของสาวกพระเยซู ซึ่งพระเยซูได้กล่าวไว้แก่ผู้ฟังคำสอน ว่า
“ผู้ใดตบแก้มของท่านข้างหนึ่ง จงหันอีกข้างหนึ่งให้เขาด้วย
และผู้ใดแย่งเอาเสื้อคลุมของท่านไป (ถ้าเขาจะเอาเสื้อธรรมดาด้วย)
ก็อย่าดึงไว้จากเขา จงให้แก่ทุกคนที่ขอจากท่าน และถ้าใครเอาของท่านไปก็อย่าท้วงคืน
ท่านทั้งหลายปรารถนาจะให้เขาทำแก่ท่านอย่างไร
ท่านทั้งหลายจงกระทำอย่างนั้นแก่เขาเหมือนกัน.” (ลูกา 5.29-31)
จริยศาสตร์ในคัมภีร์ใหม่ มีลักษณะใฝ่สงบ สร้างสันติ มีเมตตากรุณา
เข้ากันได้กับหลักการของหลายศาสนา รวมทั้งพระพุทธศาสนาด้วย
แต่ที่ต่างกันในประเด็นสำคัญก็คือ ศาสนายิว
และคริสต์ศาสนามีคำสอนให้เว้นการฆ่าเฉพาะมนุษย์ ส่วนพระพุทธศาสนา และเชน
สอนให้แผ่เมตตากรุณาไปยังสัตว์ด้วย ความแตกต่างกันในเรื่องการห้ามฆ่าสัตว์หรือไม่นี้
สืบเนื่องมาจากหลักการที่ว่า ศาสนาฝ่ายเทวนิยม คือ ที่ถือว่า มีพระเจ้าสร้างโลก
ถือว่า พระเจ้าสร้างสัตว์มาเพื่อเป็นอาหารมนุษย์ มนุษย์จึงควรฆ่ากินได้ตามปรารถนา
ส่วนศาสนาประเภทอเทวนิยม คือ
ที่ไม่นับถือพระเจ้าหรือไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าสร้างโลก อันได้แก่ ศาสนาเชน
และพระพุทธศาสนานั้น ถือหลักว่า สัตว์ก็รู้จักกลัวตาย
รู้จักรักสุขเกลียดทุกข์เหมือนมนุษย์
จะเห็นได้ว่า หลักจริยศาสตร์หรือศีลธรรมของศาสนา
จะต่างกันในข้อปลีกย่อยบ้าง แต่หลักการทางจริยศาสตร์ของแต่ละศาสนา
ก็เป็นไปเพื่อความดีงาม ความเมตตากรุณาต่อกัน และความเห็นอกเห็นใจซึ่งกัน และกัน
-----------------------------------------------------
เอกสารและสิ่งอ้างอิง
ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์, รศ.. จริยศาสตร์ ETHICS
(MORAL PHILOSOPHY). ภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ประเวศ อินทองปาน, ผศ.ดร.. (2553). พุทธปรัชญาในพระไตรปิฎก. ภาควิชาปรัชญาและศาสนา
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น