พุทธศาสนากับการเมืองการปกครอง

 


พุทธศาสนากับการเมืองการปกครอง

ระบอบการปกครองโดยมีพระราชาเป็นใหญ่ ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนา เป็นระบอบที่มีมาแต่สมัยสัตว์จุติจากพรหมโลกลงมาสู่โลกมนุษย์ เกิดเป็นเพศหญิงเพศชายแล้วสมสู่กันเกิดเป็นมนุษย์แล้วแก่งแย่งสะสมอาหาร เกิดการลักขโมย ทุบตีทำร้ายกัน พวกมนุษย์ในครั้งนั้น จึงประชุมกันคัดเลือกหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้นำปกครอง ในครั้งนั้น เกิดมนุษย์ ที่มีความรู้ความสามารถที่จะปกครองดูแลมนุษย์ทั้งหลายได้ พวกเขาได้แต่งตั้งผู้ปกครองจากมหาชน จึงมีพระนามว่า พระเจ้ามหาสมมต เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้วมหาชนก็ได้แบ่งที่นาให้ มอบให้เป็นใหญ่แห่งพื้นที่นาทั้งหลาย จึงเรียกกันว่า กษัตริย์ หมายถึง ผู้เป็นเจ้าของนา วิวัฒนาการของระบบสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เกิดขึ้นมาในโลกนับแต่นั้นมา การเมืองการปกครองที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา เป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารแว่นแคว้น ในยุคพุทธกาลนี้มีการปกครองทั้งสองระบบ คือ ระบบราชาธิปไตยกับระบบสามัคคีธรรม

ระบบการปกครองประชาธิปไตย ของไทยเป็นแบบมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คณะผู้บริหารมีทั้งข้าราชการประจำ และข้าราชการนักการเมือง จะมีผู้บริหารรัฐแบบไหนก็ตาม จำเป็นต้องมีกฎระเบียบในการบริหาร และที่สำคัญจำเป็นต้องสุจริตในหน้าที่ จะเป็นผู้บริหารที่สุจริตได้ ก็ต้องศึกษาหลักธรรมทางศาสนา โดยเฉพาะจากพุทธศาสนา ซึ่งมีพระราชามหากษัตริย์และข้าราชบริพารพ่อค้าประชาชน การนำหลักธรรมในพุทธศาสนามาใช้ในการบริหารบ้านเมืองนั้นได้มีมาแต่เริ่มประวัติศาสตร์ชาติไทย

การเมืองการปกครองในคัมภีร์พุทธศาสนานั้น เริ่มปรากฏเมื่อคราวที่มนุษย์ต้นกัปพากันแต่งตั้งบุคคลผู้เหมาะสมเป็นผู้นำในครั้งนั้น ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก และแต่งตั้งให้เป็นผู้นำบริหารเขตแดนในครั้งนั้น คือ พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลาย มีนามว่า พระเจ้ามหาสมมต คำว่า การเมืองการปกครอง เป็นภาษาบาลี ที่นักประพันธ์ไทย ใช้พูดกันในทางการเมืองการปกครองว่า รฏฺฐปสาสน รฏฺฐปสาสโนปาย รฏฺฐปสาสน ประกอบขึ้นจากคำว่า รฏฺฐ+ปสาสน คำว่า รฏฺฐ แปลว่า รัฐ แคว้น ประเทศ คำว่า ปสาสน แปลว่า ปกครอง นำคำว่า รฏฺฐ สมาสกันเข้าเป็น รฏฺฐปสาสน ใช้ในภาษาไทยแผลงเป็นรัฐประศาสน ความหมายกำหนดตามปัจจุบัน หมายถึง การบริหารรัฐกิจ เรียกทับศัพท์ว่า รัฐประศาสนศาสตร์ ว่าด้วยการบริหารภาครัฐ, การบริหารจัดการภาครัฐ, การจัดการภาครัฐ, การบริหารราชการ, การบริหารราชการแผ่นดิน

คำว่า การเมือง ในภาษาอังกฤษตรงกับคำว่า Polis มาจากภาษากรีก แปลว่า นครรัฐ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันทางการเมืองที่ใหญ่กว่า ระดับครอบครัวหรือเผ่าพันธ์ นครรัฐในกรีกสมัยโบราณ ได้แก่ เมืองเอเธนส์ และสปาร์ตา เป็นต้น

คำว่า การเมืองการปกครอง ในนิยาม และความหมายตามตัวอักษรว่าวิธีการดูแลบริหารรัฐในด้านต่างๆ

คำว่า การเมือง ในทางรัฐศาสต์มีความหมายค่อนข้างกินความไปได้อย่างกว้างขวางมาก โดยยากที่จะกำหนดให้แน่นอนตายตัว และชัดเจนลงไปได้ นักปรัชญาหรือผู้รู้ทางการเมืองจึงมีความเห็นที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปจะนิยาม คำว่า การเมือง ด้วยการอธิบายถึงลักษณะการเมืองหรือองค์ประกอบของการเมือง ส่วนคำว่า การปกครอง เป็นคำที่ใช้ในการบริหารบ้านเมืองในลักษณะที่มีผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองสูงสุดเรียกว่า พ่อเมืองหรือเจ้าเมือง กรมที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องการปกครองให้มีความสุข และดูแลทุกข์ของประชาชนเป็นสำคัญ ก็ยังคงเรียกว่า กรมการปกครอง เพลโต้ ( Plato ) นักปรัชญาการเมือง ชาวกรีกได้ให้ความหมายเกี่ยวกับการเมืองไว้ว่า การเมือง คือ พฤติกรรมของรัฐ ที่รัฐจำเป็นจะต้องทำเพื่อให้เกิดกิจกรรมต่างๆ การกระทำใดๆ ที่รัฐควรทำ และต้องทำทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ตั้งแต่การวางนโยบาย ออกกฎหมาย และบริหารงานต่างๆ ของรัฐ เพื่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นในสังคม

คำว่า การเมืองการปกครอง ในนิยาม และความหมายตามทัศนะของนักวิชาการ ว่าหมายถึง การดูแลจัดการให้มนุษย์อยู่กันอย่างเป็นธรรม และเป็นระเบียบ

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต ) ได้กล่าวถึง การปกครอง ในนิยาม และความหมายตามทัศนะทางพุทธศาสนาว่า เป็นการปกครองเพื่อการศึกษา การปกครอง และความสงบเรียบร้อยที่เกิดจากการปกครองนั้น มิใช่เป็นจุดหมายในตัว แต่เป็นเพียงปัจจัย คือ สภาพเอื้อ เพื่อช่วยให้แต่ละบุคคลบรรลุจุดหมายแห่งการศึกษาหรือเพื่อเป็นหลักประกันแห่งการศึกษา จึงถือเป็นคติไว้ว่า การปกครองที่มีขึ้นเป็นเรื่องของการศึกษาทั้งสิ้น คือ ถ้าไม่ปกครองด้วยการศึกษา ก็ต้องปกครองด้วยอำนาจ เมื่อปกครองด้วยอำนาจก็เกิดความรู้สึกในเชิงปฏิปักษ์ ในเชิงที่ขัดแย้งกัน ก็เกิดปัญหา เริ่มตั้งแต่เกิดความขัดแย้งในจิตใจ ทำให้ยิ่งต้องใช้อำนาจ ใช้อาญา และเน้นการลงโทษมากขึ้นเป็นลำดับ ไม่ใช่เป็นการปกครองแบบสร้างคนดี แต่เป็นการปกครองแบบพยามกำจัดคนเลวนั่นเอง

การเมืองการปกครอง ในนิยาม และความหมายตามนัยพุทธศาสนา ว่าหมายถึง การปกครองเพื่อการศึกษา เป็นการปกครองที่ทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยใช้ธรรมะ เมื่อกล่าวถึงคำว่า บริบท ความหมายจะครอบคลุมเนื้อหาหลายอย่าง ซึ่งบริบทมีความสำคัญจะขาดเสียมิได้ เพราะบริบทจะช่วยให้เข้าใจถึงแนวคิดเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในคัมภีร์พุทธศาสนาที่ต้องการศึกษาว่า ทำไมบางครั้งในสถานการณ์อย่างเดียวกัน แต่ท่าทีที่แสดงออกมาไม่เหมือนกันข้อนี้ก็เป็นเพราะบริบทไม่เหมือนกันนั่นเอง เช่น ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสถึงการเมืองในลักษณะเช่นนี้ ซึ่งเมื่อกล่าวเรื่องการเมืองก็จะต้องรวมถึงสังคมและเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นผู้วิจัยจึงแบ่งบริบทเป็น 3 ประการ คือ 1. บริบททางการเมืองในคัมภีร์พุทธศาสนา 2. บริบททางสังคมในคัมภีร์พุทธศาสนา และ3. บริบททางเศรษฐกิจในคัมภีร์พุทธศาสนา

ภาษาบาลี คำว่า รัฐ ตรงกับคำว่า รฏฺฐ แปลว่า แว่นแคว้น หรือประเทศ เท่าที่สังเกตในพระไตรปิฎกโดยส่วนมากแล้วมักจะใช้คำว่า แคว้น เช่น เขตการปกครองในชมพูทวีปแบ่งออกเป็น 16 แคว้น (รัฐ) ได้แก่ อังคะ มคธ กาสี . . . อวันตี คันธาระ กัมโพชะ นอกจากนี้ยังมีคำที่ใช้แทนกันได้ ที่ใช้ในพระไตรปิฎกเช่น มหาชนบท ราชธานี มหานคร พระนครหรือ เมือง ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคำที่มีความหมายเดียวกันกับรัฐ ทั้งสิ้น

การกำเนิด และวิวัฒนาการของรัฐ มาเป็นขั้นๆ มีกล่าวไว้ในอัคคัญญสูตร เริ่มแรกนั้นโลกเต็มไปด้วยความร้อนแล้วค่อยๆ เย็นลง และเป็นผืนโลก มีแผ่นดิน มีพื้นน้ำ มีอากาศ และฤดูกาลต่อจากนั้น จึงมีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น มีพืชสัตว์ และมนุษย์เกิดขึ้น ขณะนั้น ยังไม่มีรัฐ ยังไม่มีการปกครอง ยังไม่รู้จักการสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ยังไม่มีการครอบครองที่ดินเป็นของตนเองไม่มีการสั่งสมอาหาร มนุษย์จึงดำเนินชีวิตตามธรรมชาติ ต่อมาเมื่อจำนวนของประชากรมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ก็มีปัญหาในการเป็นอยู่ กิเลส คือ ความโลภก็เกิดขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ที่สามารถเป็นที่ยอมรับในการดูแลทรัพย์สินเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ดังนั้น ผู้เรียบเรียงได้นำเสนอการกำเนิด และวิวัฒนาการของรัฐตามลำดับ คือ 1. ความพินาศ และความอุบัติของโลก 2. การปรากฏแห่งอาหารครั้งแรก 3. การปรากฏแห่งดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ 4. การปรากฏแห่งอาหารครั้งต่อมา 5. การปรากฏแห่งสถาบันครอบครัว 6. การอุบัติของมหาสมมตราช

ในพระสูตรว่าไว้ คำทั้งสาม คือ มหาสมมต กษัตริย์ และราชานั้น เป็นชื่อของผู้ปกครองสังคมในยุคนั้น มีหน้าที่จัดสรรผลประโยชน์แก่ประชาชนด้วยความยุติธรรม เพื่อสร้างความสงบสุขให้กับประชาชน เราจะเห็นว่าวัตถุประสงค์ของระบอบปกครองได้ถูกรักษาสืบทอดเจตนารมณ์มาตลอดตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน

เดิมที่มนุษย์ยังไม่มีการปกครอง ไม่รู้จักสร้างบ้านเรือน ไม่มีการยึดครองที่ดิน ไม่มีการสะสมอาหาร มีความเป็นกับธรรมชาติ แต่เมื่อมนุษย์มีมากขึ้น ปัญหาต่างๆ ก็ตามมา ความจำเป็นในการที่ต้องมีองค์กรเพื่อเข้ามาดูแลให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมจึงตามมาด้วย จากการที่ไม่มีรัฐ พัฒนาไปสู่การมีรัฐ และหากเราจะวิเคราะห์ดูข้อความในอัคคัญญสูตร จะเห็นได้ชัดเจนว่า ปัญหาพื้นฐานที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในช่วงแรกๆ นั้น จะเกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 โดยเฉพาะเรื่องของอาหาร นับเป็นปัจจัยเบื้องต้นที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว ในพระสูตรดังกล่าวมีการพรรณนาถึงการที่มนุษย์เริ่มรู้จักเก็บตุนส่วนของตน และไปหยิบฉวยเอาส่วนที่เป็นของคนอื่นจึงก่อให้เกิดการประทุษร้ายกันทั้งทางกาย และทางวาจา หากพิจารณาในแง่ของศีล 5 จะเห็นว่า เริ่มจากปัญหาเรื่องอทินนาทานก่อน แล้วจึงนำไปสู่มุสาวาท และปาณาติบาตในที่สุด พร้อมกันนั้น ปัญหาก็เริ่มขยายขอบเขต จากแค่เรื่องปากท้อง ก็นำไปสู่ปัญหาเรื่องกาม เรื่องเกียรติ

สมัยพุทธกาล ชมพูทวีปมีอาณาเขตที่กว้างใหญ่ สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมีความเป็นอยู่เหลื่อมล้ำสูงต่ำต่างกัน ลักษณะการเมืองการปกครองจึงขาดเอกภาพ มีการแบ่งรัฐออกเป็นรัฐใหญ่ รัฐเล็กกระจัดกระจายกันออกไป รัฐเหล่านี้ปกครองโดยราชา ซึ่งได้อำนาจโดยการสืบตระกูลบ้าง โดยอาศัยการคัดเลือกจากนักรบบ้าง โดยพระราชาที่ทรงอำนาจสูงสุดบ้างรัฐเหล่านั้นมีทั้งที่เป็นรัฐอิสระ และรัฐที่ตกเป็นเมืองขึ้น ในพระบาลี มีกล่าวถึงรัฐสำคัญๆ ในพุทธกาลนั้นมี 16 รัฐ หรือเรียกรวมกันว่า โสฬสมหาชนบท ประกอบด้วย รัฐอังคะ มคธ กาสี โกศล วัชชี มัลละ เจตี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ และที่ปรากฏในที่อื่นๆ อีก 5 รัฐ คือ สักกะ โกลิยะ ภัคคะ วิเทหะ และอังคุตตราปะ แต่ละรัฐมีผู้ปกครองอิสระไม่ขึ้นต่อกัน มีอาณาเขตที่แน่นอน ทำให้เศรษฐกิจบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง มีความมั่นคง และมั่งคั่ง แต่ด้วยเหตุผล และสภาพของสังคมย่อมจะต้องมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง จนก่อให้เกิดเป็นกรณีพิพาทถึงกับเกิดสงครามแย่งชิงบุกรุกยึดครองอาณาเขตอยู่เสมอๆ แต่ละแคว้นมีอิสระ ซึ่งการเกิดขึ้นของแคว้นเหล่านี้ เกิดจากการรวมตัวกันเข้าของชนเผ่าพื้นเมือง รวมตัวกันเป็นหมู่บ้านกลายมาเป็นเมือง และรวมเมืองเล็กๆ กลายมาเป็นแคว้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะเป็นบุคคล ซึ่งเป็นที่นับถือของกลุ่มหนึ่ง อาจจะใช้กำลัง และอำนาจในการเข้าไปยึดครองก็ได้ ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

แคว้นต่างๆ ดังกล่าวนี้ (16 รัฐ) เป็นรัฐอิสระ ซึ่งจัดเป็นวิวัฒนาการของการปกครองในระยะแรกๆ รัฐหรือแคว้นใดนั้น อาจเป็นหัวหน้าชน กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่เป็นที่นับถือของชนกลุ่มอื่นๆ หรืออาจด้วยการใช้กำลังเข้ายึดครอง ดังนั้นเราจึงพบแคว้นที่เป็น ราชาธิปไตย เช่น แคว้นกาสีและแคว้นโกศล กับแคว้นที่เป็นสมาพันธรัฐแคว้นวัชชีเป็นตัวอย่างของ (การปกครอง) แคว้นนี้ แคว้นมัลละซึ่งเคยเป็นแคว้นที่ปกครองแบบราชาธิปไตย ภายหลัง ก็เป็นแคว้นแบบสมาพันธรัฐ

การสู้รบระหว่างรัฐเหล่านี้ ทำให้เกิดความยากลำบากแก่ประชาชนเหตุการณ์ต่าง ๆ พึ่งมาสงบลงเมื่อตอนที่รัฐมคธ สามารถยึดอำนาจรัฐโกศลได้อย่างเด็ดขาดนี้เอง เหตุการณ์นี้อยู่ในช่วงตอนปลายพุทธกาลแล้ว

คำว่า อำนาจ คือ พละ หมายถึง กำลัง ใน พละ 4 แสดงถึงลักษณะของผู้มีอำนาจว่าต้องประกอบไปด้วยทรัพยากรแห่งพลัง หมายถึง กำลัง 4 ประการ คือ 1. ปัญญาพละ กำลัง คือ ปัญญา, 2. วิริยพละ กำลัง คือ ความเพียร, 3. อนวัชชพละ กำลัง คือ กรรมที่ไม่มีโทษ และ4. สังคหพละ กำลัง คือ การสงเคราะห์

จะเห็นได้ว่า เมื่อผู้ปกครองดี มีศีลธรรม เข้าใจระบบการปกครองของผู้ใต้การปกครองการปกครองจะสมบูรณ์ ผู้ใต้ปกครองต้องมีศีลธรรม จริยธรรม ต่อระเบียบกฎเกณฑ์ของการบริหารบ้านเมืองด้วย เมื่อเป็นธรรมทั้งผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครอง การปกครองก็จะดี และพัฒนาไปสู่ความสงบสุขได้

คำสอนในพุทธศาสนา ได้แสดงหลักความจริง เกี่ยวกับการใช้อำนาจที่เป็นจริงอยู่ในโลกของผู้ปกครอง คือ หลักอธิปไตย 3 คำว่า อธิปไตย แปลตามตัวอักษรว่า ความเป็นใหญ่ ในทางการปกครอง หมายถึง อำนาจสูงสุด (Sovereignty) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของความเป็นรัฐ ซึ่งจะขาดเสียมิได้ โดยพระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องอธิปไตย 3 ประการ คือ 1. อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่, 2. โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่, 3. ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่

ผู้ปกครองก็มีความสำคัญต่อบ้านเมือง ในฐานะเป็นผู้นำ และผู้บริหารบ้านเมือง อัคคัญญสูตร กล่าวถึงความสำคัญของผู้นำว่า สัตว์เหล่านั้นเข้าไปหาท่านรูปงาม น่าดูกว่า น่าเลื่อมใสกว่า น่าเกรงขามกว่า แล้วจึงกล่าวดังนี้ว่า มาเถิดท่านผู้เจริญ ขอท่านจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียน จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบเถิด

เห็นได้ว่า ผู้นำมีความสำคัญในฐานะกษัตริย์ ราชา ผู้บริหารรัฐ ผู้ดูแลความสงบสุข และสร้างสันติให้เกิดขึ้นแก่ราษฎรเป็นหลักทั้งนี้ก็เพราะว่า บ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุข มีระเบียบวินัย ก็เพราะมีผู้นำเป็นที่รวมจิตใจ มีผู้บริหารบ้านเมืองคอยเอาใจใส่แล หลักที่ว่า พระราชาเป็นเครื่องปรากฏของแว่นแคว้น

คุณลักษณะของผู้ปกครองตามหลักของพุทธศาสนา คือ เป็นผู้ทรงธรรม ผู้ปกครองอยู่ในฐานะเป็นผู้นำ, มีความยุติธรรม ความยุติธรรมของสังคมเป็นสิ่งที่จำเป็น, มีความรอบรู้ รอบรู้ทั้งในเรื่องการบริหารงาน และรอบรู้ในเรื่องการบริหารคน อย่างน้อยที่สุด ผู้เปกครองจะต้องมีองค์คุณแห่งความรู้ และมีคุณสมบัติของความเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ผู้เป็นใหญ่ มีหน้าที่บริหารงานบ้านจะต้องมีคุณสมบัติของความเป็นผู้ใหญ่พื้นฐาน

สรุปได้ว่า การสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใด หน้าที่หลักของผู้ปกครองคือ บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ผู้ใต้ปกครองอย่างถูกต้อง และเป็นธรรม

ในกูฏทันตสูตร พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ปัญหาความมั่นคง ปัญหาอาชญากรรม มีความเชื่อมโยงกับปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนจะเลิกก่ออาชญากรรม ถ้าเขามีความเป็นอยู่ที่ดี พระสูตรนี้จึงได้เสนอหลักการที่ผู้ปกครองพึงปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ คือ พระราชาต้องพระราชทานพันธุ์พืช และอาหารแก่พลเมืองผู้ขมักเขม้นในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเลี้ยงปศุสัตว์, พระราชาจะต้องพระราชทานทุนทรัพย์ให้แก่พลเมือง ผู้ที่ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม และพระราชาต้องพระราชทานอาหาร และเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็งในการทำงาน

การปกครองจำเป็นต้องมีหลักการ เพราะต้องเกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก เพื่อให้การปกครองนั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และบรรลุจุดประสงค์ตามที่ได้หวังไว้ หลักการปกครอง คือ หลักกฎหมาย และหลักศีลธรรม พระพุทธเจ้า พระองค์ไม่ได้ทรงคิดที่จะสร้างระบบ เพื่อเรียกร้องสิทธิ และความรับผิดชอบทางสังคมให้กับบ้านเมือง แต่สังคมสงฆ์ที่พระองค์ปกครองอยู่ พระองค์ได้วางระบบไว้อย่างชัดเจน วินัยสงฆ์ คือ ระบบเรียกร้องความรับผิดชอบต่อสังคมสงฆ์

พระองค์บัญญัติพระวินัย มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของคณะสงฆ์เอง เพื่อประโยชน์แก่บุคคล เพื่อประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน เพื่อประโยชน์แก่ศาสนาโดยรวม ซึ่งขั้นตอน และวิธีการในการบัญญัติกฎหมาย (สิกขาบท) พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่า เมื่อใดควรจะบัญญัติ โดยคำนึงถึง คือ สงฆ์ตั้งได้เป็นเวลายาวนานพอสมควร, สังคมขยายใหญ่ขึ้น และมีผลประโยชน์มากขึ้น

สงฆ์ในสมัยพุทธกาล มีอำนาจตามขอบเขตของตน ไม่ว่าจะเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ คือ อำนาจนิติบัญญัติ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท เพื่อใช้ปกครองสงฆ์ เป็นพุทธบัญญัติทั้งหมด ทรงบัญญัติอย่างเปิดเผย ทั้งต่อหน้าสงฆ์ วัตถุ และบุคคล โดยมีสังคมสงฆ์ให้ความเห็นชอบ, อำนาจบริหาร เดิมทีนั้น พระสงฆ์ยังมีไม่มาก พระองค์จึงทรงบริหารงานเอง ต่อมาเมื่อพระสงฆ์มีจำนวนมากขึ้น พระองค์ก็ทรงมอบอำนาจให้แก่สงฆ์ ดังจะเห็นได้จากการบรรพชา อุปสมบท การกรานกฐิน การระงับอธิกรณ์ และอำนาจตุลาการ สถาบันตุลาการของพุทธจักร มีกฎระเบียบที่วางไว้เป็นบรรทัดฐานแห่งการกระทำของบุคคลในสังคม ป้องกันมิให้ประพฤติผิด และมีวิธีการลงโทษ แต่การลงโทษผู้กระทำความผิดในทัศนะของพุทธปรัชญาเถรวาท มิใช่เพื่อการแก้แค้น หากเป็นการให้บทเรียนเพื่อให้ผู้กระทำความผิดกลับตัวเป็นคนดีในสังคม เห็นได้จากการปรับอาบัติตั้งแต่สังฆาทิเสสลงมา การลงโทษมีจุดมุ่งหมาย คือ เพื่อให้ผู้กระทำความผิดกลับตัวเป็นคนดี และเพื่อช่วยป้องกันความชั่วร้ายทำนองเดียวกันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การลงโทษทางวินัย ของสงฆ์จะเข้ามาจัดการ เพราะเป็นปัญหาที่กระทบถึงสังคมโดยส่วนรวม ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม เห็นได้ว่า พระวินัย เป็นธรรมนูญการปกครองที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้นใช้กับคณะสงฆ์ แต่ก็สามารถเทียบเคียงได้กับหลักกฎหมายทางอาณาจักร อย่างน้อยก็สะท้อนแนวความคิดที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงยอมรับว่า กฎหมาย มีความจำเป็นในการปกครอง ไม่ว่าจะในส่วนของคณะสงฆ์หรือฝ่ายบ้านเมือง

อินเดียตั้งแต่โบราณมา มีการแบ่งโครงสร้างทางสังคมออกเป็น 3 ระดับ คือ นักรบ นักบวช และสามัญชน ซึ่งการแบ่งโครงสร้างทางสังคมเช่นนี้ เป็นเพียงการจัดกลุ่มทางสังคมแบบง่ายๆ เท่านั้น ในช่วงนี้ ยังไม่มีการแบ่งชนชั้นตามวรรณะ การแบ่งชนชั้นเป็นวรรณะ เกิดขึ้นในช่วงที่อารยันเข้ามารุกดินแดนพวกดราวิเดียน และได้ครอบครองดินแดนของพวกดราวิเดียน พร้อมกันนี้ก็ตั้งข้อรังเกียจ แยกพวกดราวิเดียน ไปเป็นคนชั้นอีกต่างหาก ในที่สุดก็มีการแบ่งคนออกเป็นวรรณะและยังมีคนอีกวรรณะหนึ่งซึ่งถือว่า เป็นพวกต่ำสุด คือ จัณฑาล ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ต่างวรรณะกัน ถือเป็นพวกจัณฑาล ซึ่งจะถูกรังเกียจ และเหยียดหยาม ไม่มีคนในวรรณะอื่นคบหาสมาคมด้วย สมัยพุทธกาล เป็นสังคมระบบทาส อันสืบเนื่องมาจากการกีดกันระหว่างอารยัน และดราวิเดียน อารยันซึ่งอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าเกิดความหยิ่งผยอง ลืมหลักมนุษยธรรม ทำให้เกิดความแตกแยกทางสังคมโดยภาพรวม ประชาชนได้รับความทุกข์อย่างหนัก โดยเฉพาะพวกดราวิเดียน

สภาพโดยทั่วไปทางครอบครัวของสังคมในยุคนี้ ประชาชนมีสิทธิในการครอบครองที่ดินในการทำไร่นา ผู้ชายมีภรรยาหนึ่งคน และมีภรรยาทาสหลายคน รวมทั้งมีทาสกรรมกรรับใช้ตามฐานะของแต่ละคน ทำให้เกิดครอบครัวขนาดใหญ่ พิธีกรรมทางศาสนาส่วนใหญ่ก็ยังเป็นรูปแบบที่ยึดถือกันตามๆ มา ยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน ทุกคนมีอิสระจะเลือกนับถือโดยไม่มีการจำกัดเสรีภาพ

สมัยพุทธกาล ความเชื่อตกอยู่ภายใต้อำนาจของศาสนาพราหมณ์มีความเชื่อหลัก คือ เชื่อว่า ตายแล้วเกิด และเชื่อว่า ตายแล้วสูญ จึงมีการบวงสรวงเทพเจ้าต่างๆ เช่นเชื่อว่า ในดิน น้ำ ลม ไฟ มีเทพเจ้าประจำอยู่ รวมไปถึงความเชื่อในพระพรหม พระวิษณุ พระนารายณ์ตามคติของฮินดูด้วย ความเชื่อนี้ นำไปสู่พิธีกรรมทางศาสนา ตามคติความเชื่อ คือ การบูชายัญ ในคัมภีร์พุทธศาสนา มีระบุถึงพิธีกรรมดังกล่าวว่า เป็นพิธีกรรมที่สำคัญ และศักดิ์สิทธิ์ มีการนำสัตว์ต่างๆ รวมกระทั่งถึงนำคนมาฆ่าสังเวยหรือบูชายัญตามความเชื่อนี้ด้วย ผู้ที่มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมดังกล่าวก็คือ พราหมณ์ พวกพราหมณ์ได้แต่งคัมภีร์ขึ้นมาเพื่อใช้สวดในพิธีกรรมทางศาสนาดังกล่าว กลายเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดถือกันมา จนกลายเป็นความเชื่อว่า คัมภีร์นี้ได้รับการประทานมาจากพระเจ้า

สภาพเศรษฐกิจสมัยพุทธกาล เป็นการผสมผสานระหว่างการเลี้ยงสัตว์ และกสิกรรมเป็นหลัก ดังจะเห็นได้จากพระนามของชนชั้นปกครอง โดยเฉพาะเชื้อพระวงศ์ของพระพุทธเจ้าล้วนมีพระนามที่ลงท้ายด้วยคำว่า โอทนะ ซึ่งแปลว่า ข้าวสุก ในยุคนี้แคว้นที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ คือ แคว้นมคธ แผ่ไปไกลถึงขนาดที่แคว้นต่างๆ ต้องเข้ามาสวามิภักดิ์ ในด้านเศรษฐกิจมั่นคงที่สุด มีมหาเศรษฐีมากมาย เช่น โชติยเศรษฐี ชฎิลเศรษฐี เมณฑกเศรษฐี ปุณณกเศรษฐี

หลักในการปกครองของผู้ปกครองทั่วไป จะต้อยึดเป็นข้อปฏิบัติในการปกครองเป็นสำคัญ พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ได้แก่ หลักทศพิธราชธรรม, จักรวรรดิวัตร 12, ราชสังคหวัตถุ 4,อปริหานิยธรรม 7, อคติ 4, พรหมวิหาร 4, สัปปุริสธรรม 7, หลักการทูต 8, จริต 6 และทิศ 6

ทศพิธราชธรรม แปลว่า ธรรมของพระราชาหรือธรรมสำหรับผู้นักปกครอง 10 ประการ ที่พระมหากษัตริย์ และผู้ปกครองจะต้องเสริมสร้างให้มีขึ้นเป็นคุณสมบัติประจำตัว เพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจสมาชิกในกลุ่ม ให้ดำเนินไปบรรลุถึงเป้าหมาย

ผู้มีทศพิธราชธรรม ย่อมทำให้สมาชิกในกลุ่มรักใคร่ เชื่อฟัง เคารพนับถือ เชื่อมั่น และให้ความร่วมมือร่วมใจ อันจะเป็นผลช่วยให้บรรลุถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของผู้นำ จึงมีประโยชน์มากต่อนักปกครอง เนื่องจากผู้ปกครองก็เหมือนกับคนทั่วๆไป และที่สำคัญเมื่อขึ้นไปสู่ตำแหน่งสูงๆ การบริหารวินิจฉัยสั่งการต่างๆ ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องเชื่อฟัง จะต้องทำตามในเบื้องต้นก่อน เพราะเขาอยู่ในฐานะผู้บังคับบัญชา ผู้ปกครองหมู่คณะหรือประชาชน

---------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

ขุ.ชา.(ไทย) 28/175/33.

ขุ.อุ. (ไทย) 25/45/266.

ที.ปา. (ไทย) 11 / 305 / 274.

ที.ปา. (ไทย) 11/119131/8997.

ที.ปา. (ไทย) 11/130/96.

ที.ปา. (ไทย) 11/130.

ที.สี. (ไทย) 9/338/131.

ม.ม. (ไทย) 13/315/380.

สํ.ม. (ไทย) 19/1003/502-503.

องฺ.นวก. (ไทย) 23 / 5 / 439.

องฺ.ติก. (ไทย) 20/71/288.

องฺ.จตุกฺก. (ไทย) 21/70/114.

ดานุภา  ไชยพรธรรม. การเมืองการปกครอง (ฉบับชาวบ้าน). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มายิก,2537.

เดโช  สวนานนท์. พจนานุกรมศัพท์ทางการเมือง. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์หน้าต่างสู่โลกกว้างจำกัด, 2545.

ปรีชา  ช้างขวัญยืน. ทรรศนะทางการเมืองของพระพุทธศาสนา. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2538.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต ). นิติศาสตร์แนวพุทธ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: บริษัทสหธรรมิก จำกัด, 2538.

           .พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2543.

พระราชธรรมมุนี (เกียรติ สุกิตฺติ). เกี่ยวกับอินเดีย. กรุงเทพมหานคร: ..., 2550.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร). คัมภีร์วิสุทธิมรรค 100 ปี. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประยูรวงศ์พริ้นติ้ง จำกัด, 2546.

สมภาร  พรมทา.สิทธิในทัศนะของพุทธศาสนาใน พุทธศาสน์ศึกษา. (ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2537)

 .ศีลธรรมกับกฎหมาย มุมมองจากพุทธศาสนาใน พุทธศาสน์ศึกษา. (ปีที่ 5 ฉบับที่ 2-3 พฤษภาคม-ธันวาคม 2541) http://th.wikipedia.org/wiki (25 มกราคม 2553).

Prof. S.N.. Modern Comparative Politics. New Delhi : Prentice Hall of India Prive Ltd., 1999.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML