สิ่งที่มีอยู่จริง

 



สิ่งที่มีอยู่จริง

คำว่า สิ่งที่มีอยู่จริง นั้น พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทย ใช้คำในภาษาอังกฤษว่า Reality คำว่า Reality นั้น มีความหมายอยู่ 2 ประการ คือ 1. ความเป็นจริง หมายถึง ภาวะที่มีอยู่จริง ภาวะที่เป็นอย่างนั้นแน่แท้ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น และ2. สิ่งเป็นจริง หมายถึง สิ่งที่มีอยู่จริง เป็นอยู่จริง ซึ่งอาจรู้ได้หรือไม่อาจรู้ได้ทางประสาทสัมผัส สิ่งที่มีอยู่จริง คือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีอยู่จริง เป็นอยู่จริง จะมีสิ่งอื่นรับรู้ว่ามีอยู่จริงเป็นอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม ก็มีอยู่ และเป็นอยู่โดยภาวะของสิ่งนั้นเอง สิ่งที่มีอยู่จริงบางอย่างอาจรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส บางอย่างอยู่นอกเหนือประสาทสัมผัส คำว่า สิ่งที่มีอยู่จริง ดังกล่าว คือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีอยู่จริงเป็นอยู่จริง จะมีสิ่งอื่นรับรู้ว่า มีอยู่จริงเป็นอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม ก็มีอยู่ และเป็นอยู่โดยภาวะของสิ่งนั้นเอง สิ่งที่มีอยู่จริงบางอย่างอาจรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส บางอย่างอยู่นอกเหนือประสาทสัมผัส อะไร คือ สิ่งที่มีอยู่จริงในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท การที่จะชี้ว่า อะไร คือ สิ่งที่มีอยู่จริงในพุทธศาสนา ก็ต้องศึกษาหลักคำสอนในพุทธศาสนา ซึ่งกล่าวไว้ ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และอนุฎีกา ตลอดจนกระทั่งบทความทางพุทธศาสนาที่นักปราชญ์ได้อธิบายเอาไว้แล้ว เมื่อเรามองไปที่ผู้ให้กำเนิดหรือผู้ก่อตั้งพุทธศาสนา คือ พระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงแสวงหาสัจธรรม และตรัสรู้สัจธรรมจึงทำให้พระองค์ทรงได้พระนามว่า สัมมาสัมพุทธเจ้า ดังพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในสัมมาสัมพุทธสูตรว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะได้ตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการนี้แล ตามความเป็นจริง ตถาคตจึงกล่าวว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า(3) ดังนั้น พุทธศาสนาจึงเกิดขึ้นจากการตรัสรู้สัจธรรมของพระพุทธเจ้า แล้วทรงนำเอาสัจธรรมนั้นมาแสดง เปิดเผย เพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เมื่อเจาะลึกลงไปที่คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า พระธรรม เราจะพบว่า พระธรรม หมายถึง สัจธรรมนั่นเองเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงๆ ในพุทธศาสนา เพราะว่า พระพุทธเจ้าเกิดจากพระธรรม คือ ตรัสรู้สัจธรรม และพระอริยสงฆ์หนึ่งในพระรัตนตรัยก็เกิดขึ้นมาจากการบรรลุสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ ดังนั้น สิ่งที่มีอยู่จริงๆ ในพุทธศาสนา คือ สัจธรรมสิ่งที่มีอยู่จริงหรือความจริงในพุทธศาสนา เรียกสิ่งที่มีอยู่จริงหรือความจริงนี้ว่า สัจจะ คำว่า สัจจะ แปลว่า ความจริง เมื่อรวมกับคำว่า ธรรม ซึ่งแปลว่า สภาพที่ดำรงตัวเองไว้ คำว่า ธรรม นั้น มีความหมายหลายประการ เช่น หมายถึง สิ่ง สภาพปรากฏการณ์ธรรมชาติ คำสอนสภาวะที่ทรงสัตว์ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว เหตุ ต้นเหตุ อารมณ์ที่ปรากฏกับใจ (ธรรมารมณ์) คุณธรรม ความดี ความถูกต้อง เป็นต้น(4) ดังนั้น คำว่า สัจจธรรม แปลว่า สภาพที่เป็นจริง หรือธรรมชาติที่เป็นจริง เป็นต้น

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ทรงให้ความหมายของคำว่า สัจจะ ไว้ว่า สัจจะ คือ สภาพที่จริงหรือสิ่งที่จริงนั้น ตามธรรมดามีอยู่เสมอมิได้หลบเลี่ยงไปไหน กล่าวสั้นๆ คือ รูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่ได้สูดดม รสที่ได้ลิ้ม โผฏฐัพพะที่ได้ถูกต้อง ธรรม คือ เรื่องที่นึกคิด ย่อมมีอยู่เป็นสัจธรรม คือ ธรรมที่เป็นจริงอยู่ตามธรรมดา(5) สิ่งที่มีอยู่จริงหรือสัจธรรมในทางพุทธศาสนานั้น คือ คำสอนที่เกี่ยวกับสภาวะของสิ่งทั้งหลายหรือธรรมชาติ และความเป็นไปโดยธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย หรือกฎของธรรมชาตินั้นเอง(6)

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สัจธรรม และทรงนำสัจธรรมที่ได้ตรัสรู้แล้วนั้นมาแสดงนำมาเปิดเผยจนเกิดเป็นพระพุทธศาสนาขึ้นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้ คือ หลักสัจธรรมนั่นเอง ลักษณะพิเศษที่เด่นชัดที่สุดประการหนึ่งของพระพุทธศาสนา คือ การเน้นความจริง (ยถาภูตวาที) เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงแสวงหาความจริง และเมื่อทรงค้นพบความจริงแล้วก็นำมาประกาศ เพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่ชาวโลกอันหาประมาณมิได้ตลอดระยะเวลา 45 พรรษาหลังจากตรัสรู้โดยที่ไม่ทรงเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยพระวรกายของพระองค์แต่ประการใด พระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งความจริง และทรงประพฤติปฏิบัติให้สอดคล้องกับความจริงนั้นด้วย (วิชฺชาจรณ สมฺปนฺโน) พระองค์กระทำอย่างที่พระองค์ตรัส และตรัสอย่างที่พระองค์ทรงกระทำ (ยถาวาที ตถาการี) ดังข้อความที่ท้าวสักกเทวราชกล่าวสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าว่า

พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น มีปรกติตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใดตรัสอย่างนั้น เหตุนั้น พระองค์จึงเชื่อว่า ตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น เราไม่เคยเห็นพระศาสดาผู้ประกอบด้วยองค์คุณเช่นนี้ ทรงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอย่างนี้ ในอดีตกาลเลย ถึงในบัดนี้ก็ไม่เห็นนอกจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น(7)

ในเรื่องที่เกี่ยวกับสัจธรรมหรือความจริงนี้ มีพระพุทธพจน์ที่ตรัสแสดงถึงความสำคัญของความจริงไว้มากมาย เช่น

ภิกษุผู้รู้บทแห่งสัจจะทั้งหลาย ตรัสรู้ธรรม เห็นการละอาสวะทั้งหลายเป็นวิวัฏฏะ (นิพพาน) ไม่ข้องอยู่ในภพไหน เพราะความหมดสิ้นไปแห่งอุปธิทั้งปวง พึงเว้นรอบโดยชอบในโลก(8)

จักษุเป็นธรรม ความเห็นเป็นอรรถ ญาณเป็นธรรม ความรู้เป็นอรรถปัญญาเป็นธรรม ความรู้ทั่วเป็นอรรถ วิชชาเป็นอรรถ ความแทงตลอดเป็นธรรม แสงสว่างเป็นธรรม ความสว่างไสวเป็นอรรถ ธรรม 5 ประการ อรรถ 5 ประการนี้ เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งสัจจะ มีสัจจะเป็นอารมณ์ มีสัจจะเป็นโคจร สงเคราะห์เข้าในสัจจะ นับเนื่องในสัจจะ เข้ามาประชุมในสัจจะ ตั้งอยู่ในสัจจะ ประดิษฐานอยู่ในสัจจะ(9)

สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมกล่าวว่า ความหมดจดย่อมมีในธรรมนี้เท่านั้น ไม่กล่าวความหมดจดวิเศษในธรรมเหล่าอื่น อาศัยสิ่งใดแล้ว กล่าวสิ่งนั้นว่างามในเพราะทิฏฐิของตนนั้น สมณพราหมณ์เป็นอันมาก เป็นผู้ตั้งมั่นในสัจจะเฉพาะอย่างหนึ่ง ๆ(10)

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้ละองค์ 5 ได้แล้วประกอบด้วยองค์ 6 มีธรรมอย่างเดียวเป็นเครื่องรักษา มีธรรมเป็นพนักพิง 4 ด้าน มีสัจจะเฉพาะอย่างอันบรรเทาแล้ว มีความแสวงหาทุกอย่างอันสละแล้วโดยชอบ มีความดำริไม่ขุ่นมัว มีกายสังขารอันระงับแล้ว มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว มีปัญญาหลุดพ้นดีแล้ว(11)

ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี ก็เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่า เป็นมุนีเพราะรู้ (สัจจะ 4) รู้แล้วด้วยตน เมื่อนั้น พราหมณ์ย่อมหลุดพ้นจากรูป และอรูปจากสุข และทุกข์(12)

สัตว์ทั้งหลายผู้มีความสำคัญในเรื่องที่พูดกัน ตั้งอยู่เฉพาะแล้วในเรื่องที่พูดกัน ย่อมเข้าถึงข่าย คือ ความฉิบหาย และข่ายคือกิเลสเครื่องประกอบแห่งมัจจุ เพราะไม่กำหนดเรื่องที่พูดกัน พระขีณาสพย่อมไม่สำคัญผู้พูด เพราะกำหนดรู้เรื่องที่พูดกัน เพราะท่านถูกต้องวิโมกข์ด้วยใจ ท่านถูกต้องสันติบทอันยอดเยี่ยม พระขีณาสพนั้นแล ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยเรื่องที่พูดกัน ผู้ระงับแล้ว ยินดีแล้วในสันติบท พิจารณาแล้วมีปกติเสพ ตั้งอยู่ในธรรม ผู้ถึงฝั่งแห่งเวท คือ สัจจะ 4 ย่อมไม่เข้าถึงการนับว่า เป็นมนุษย์ และเทวดา(13)

สรุปว่า สิ่งที่มีอยู่จริงหรือความจริงในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท คือ ความจริงที่เรียกว่า สัจธรรมหรือสัจจะ นั่นเอง ซึ่งถูกค้นพบโดยการตรัสรู้อริยสัจธรรมของพระพุทธเจ้า ดังนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด คือ คำสอนที่แสดงถึงความจริง คือ ความจริงทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม ทั้งที่เป็นโลกิยธรรมและโลกุตตรธรรม และทั้งที่เป็นสังขตธรรม และอสังขตธรรม ล้วนเป็นคำสอนที่แสดงถึงความจริงในพุทธศาสนาทั้งสิ้นสิ่งที่มีอยู่จริงหรือความจริงในพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 1. สิ่งที่มีอยู่จริงในระดับสมมติ (สมมติสัจจะ)และ2. สิ่งที่มีอยู่จริงในระดับปรมัตถ์ (ปรมัตถสัจจะ)(14)

ในอรรถกถาทีฆนิกาย สุมังคลวิลาสินี ว่า ทุเว สจฺจานิ อกฺขาสิ สมฺพุทฺโธ วทตํ วโร สมฺมตึ ปรมตฺถญฺจ ตติยํ นูปลพฺภติ สงฺเกตวจนํ สจฺจํ โลกสมฺมติการณํ ปรมตฺถวจนํ สจฺจํ ธมฺมานํ ภูตลกฺขณํ.(15)

แปลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ประเสริฐกว่าผู้สอนทั้งหลาย ได้ตรัสสัจจะไว้ 2 อย่าง คือ สมมติสัจจะ 1 ปรมัตถสัจจะ 1 ไม่มีสัจจะอย่างที่ 3 พระพุทธดำรัสเกี่ยวกับสมมติ (สังเกต) ชื่อว่า เป็นสัจจะ เพราะเหตุที่เป็นที่สมมติของโลก ส่วนพระพุทธดำรัสเกี่ยวกับปรมัตถ์ ชื่อว่า เป็นสัจจะ เพราะเป็นลักษณะที่เป็นจริงของธรรมทั้งหลาย.

ดังนั้น พุทธศาสนายอมรับว่า ความจริงมีอยู่ 2 ประเภท ดังนี้ ประเภทแรก ความจริงในระดับสมมติ เรียกว่า สมมติสัจจะ คือ ความจริงที่เนื่องด้วยประสาทสัมผัสที่ทุกคนรับรู้แล้วสมมติศัพท์บัญญัติขึ้นใช้ เช่น ต้นไม้ ภูเขา มนุษย์ สัตว์ สุนัข แมว เป็นต้น เหล่านี้เป็นความจริงโดยสมมติ ซึ่งเป็นความจริงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา และสิ่งแวดล้อม หรือองค์ประกอบต่างๆ ความจริงในระดับสมมตินี้ พุทธศาสนายอมรับว่า มีอยู่จริง แต่ก็มีอยู่อย่างสมมติเท่านั้น สมมติสัจจะ คือ ความจริงที่คนยึดถือกันอยู่ตามปกติ และใช้เป็นที่หมายรู้สืบต่อกันมา การหมายรู้นี้ภาษาบาลีเรียกว่า ปัญญัตติ หรือ บัญญัติ บัญญัติคือสิ่งที่กล่าวถึงกัน ใช้กัน และนำมาคิดกันอย่างนั้นๆ เช่นเมื่อเห็นสุนัขตัวหนึ่ง ก็หมายรู้กันว่า อย่างนั้นเป็นสุนัข และกล่าวถึงกัน รู้กัน ใช้กัน และนำมาคิดอย่างนั้นๆ ตามปรมัตถสัจจะแล้ว สุนัขเป็นรูป และนาม แต่เราก็กล่าวถึงมันว่าเป็น สุนัข สุนัขจึงเป็นความหมายรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งโดยลักษณะที่หมายรู้กันนี้เรียกว่า อัตถบัญญัติ และโดยการออกเสียงแทนการหมายรู้นี้ว่า สุนัข คือ สัททบัญญัติ คำว่า สุนัข บนกระดาษเป็นอรรถพยัญชนะที่แทนเสียงพูดว่า สุนัข(16) และประเภทที่สอง ความจริงในระดับปรมัตถ์ เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ คือ ความจริงที่ลึกซึ้ง อันเป็นความจริงแท้ คงเป็นสัจจะอยู่ตลอดไป ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา สิ่งแวดล้อม และการยอมรับหรือการปฏิเสธของบุคคล ความจริงในระดับนี้บุคคลจะรู้แจ้งได้เฉพาะตนเองเท่านั้น (ปัจจัตตัง) อยู่เหนือคำพูด อยู่เหนือสมมติบัญญัติและสัญลักษณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น (อนีรวจนียะ) ความจริงในระดับปรมัตถ์นี้ตามนัยแห่งพระอภิธรรมท่านกล่าวว่า ความจริงแท้มีอยู่ 4 ประการ คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน จิต คือ สภาวธรรมที่เป็นใหญ่ในการรับรู้สิ่งที่ปรากฏ เช่น ได้เห็น ได้ยิน ดมกลิ่น ลิ้มรส เป็นต้น จิตทั้งหมด มี 89 หรือโดยพิสดารมี 121 ประเภท, เจตสิก คือ สภาวธรรมที่เกิดร่วมกับจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต ดับพร้อมกับจิต และเกิดที่เดียวกันกับจิต เจตสิกแต่ละประเภทมีลักษณะและกิจต่างกันตามประเภทของเจตสิกนั้นๆ เจตสิกทั้งหมด มี 52 ประเภท, รูป คือ สภาวธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ เช่น สี เสียง กลิ่น รส เป็นต้น รูปทั้งหมดมี 28 ประเภท และนิพพาน คือ ธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์ นิพพานไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นนิพพานจึงไม่เกิดดับ ปรมัตถธรรมทั้ง 4 ประการนี้ สามารถย่อลงเป็น 2 ประการได้ คือ รูปธรรมกับนามธรรม คือ รูปจัดเป็นรูปธรรม จิต เจตสิก และนิพพาน จัดเป็นนามธรรม

สรุปว่า สิ่งที่มีอยู่จริงในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนั้นมีอยู่ 2 ประเภท ดังนี้ 1. สิ่งที่มีอยู่จริงในระดับสมมติ (สมมติสัจจะ) 2. สิ่งที่มีอยู่จริงในระดับปรมัตถ์ (ปรมัตถสัจจะ) จุดมุ่งหมายของการกล่าวถึงความจริง 2 ระดับนี้ ก็เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดของบุคคลผู้สดับคำสอนในพุทธศาสนาอาจเกิดความสับสน เมื่อได้อ่านได้ฟังข้อความบางอย่าง เช่น บางแห่งว่าไม่ควรคบคนพาล ควรคบบัณฑิต คนพาลมีลักษณะอย่างนี้ บัณฑิตมีลักษณะอย่างนี้ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ดังนี้เป็นต้น แต่บางแห่งกลับกล่าวว่า พึงพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า กายนี้สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา พึงรู้เท่าทันตามความเป็นจริงว่านั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ของเรา สิ่งทั้งปวงเป็นอนัตตา ดังนี้ เป็นต้น แล้วอาจมองไปว่า คำสอนในทางพุทธศาสนาขัดแย้งกันเอง เกิดความเข้าใจที่สับสนแล้วปฏิบัติผิดพลาด ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงได้ อันอาจทำให้เกิดความวุ่นวาย และเสียหายทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่นได้ พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงปัญหานี้ดี

ดังนั้น ลักษณะพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าจึงมีอยู่ 2 ลักษณะ ดังนี้ 1. สมมติเทศนาหรือปุคคลาธิษฐาน คือ เทศนาที่แสดงถึงสิ่งที่เป็นสมมติ เช่น บุคคล สัตว์ ชาย หญิง กษัตริย์ พราหมณ์ เทวดา มาร บ้าน รถ ต้นไม้ ภูเขา หนังสือ เป็นต้น และ2. ปรมัตถเทศนา หรือธรรมาธิษฐาน คือ เทศนาที่แสดงถึงสิ่งที่เป็นปรมัตถสัจจะ เช่น แสดงเรื่อง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น ดังข้อความที่ปรากฏในอรรถกถามัชฌิมนิกาย ปปัญจสูทนีว่า

พุทฺธสฺส ภควโต ทุวิธา เทสนา สมฺมติเทสนา ปรมตฺถเทสนา จาติ. ตตฺถ ปุคฺคโล สตฺโต อิตฺถี ปุริโส ขตฺติโย พฺราหฺมโณ เทโว มาโรติ เอวรูปา สมฺมติเทสนา. อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ขนฺธา ธาตู อายตนาสติปฏฺฐานาติ เอวรูปา ปรมตฺถเทสนา. ตตฺถ ภควา เย สมฺมติวเสน เทสนํ สุตฺวา อตฺถํ ปฏิวิชฺฌิตฺวา โมหํ ปหาย วิเสสมธิคนสมตฺถา , เตสํ สมฺมติเทสนํ เทเสติ. เย ปน ปรมตฺถ-วเสน เทสนํ สุตฺวา อตฺถํ ปฏิวิชฺฌิตฺวา โมหํ ปหาย วิเสสมธิคนฺสมตฺถา. เตสํ ปรมตฺถเทสนํ เทเสติ.(17)

แปลว่า พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า มี 2 อย่าง คือ สมมติเทศนา และปรมัตถเทศนา , ในพระธรรมเทศนา 2 อย่างนั้น สมมติเทศนา มีรูป (เนื้อความ) อย่างนี้ คือ บุคคล สัตว์ หญิง ชาย กษัตริย์ พราหมณ์ เทพ มาร เป็นต้น ปรมัตถเทศนา มีรูปอย่างนี้ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ สติปัฏฐาน เป็นต้น ในพระธรรมเทศนา 2 อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสมมติเทศนาแก่เหล่าเวไนยสัตว์ ผู้ที่ฟังพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องสมมติแล้วเข้าใจเนื้อความทะลุปรุโปร่งสามารถละโมหะบรรลุคุณวิเศษได้ , ส่วนคนเหล่าใด ฟังพระธรรมเทศนาว่า ด้วยเรื่องปรมัตถ์แล้วเข้าใจเนื้อความทะลุปรุโปร่งสามารถละโมหะบรรลุคุณวิเศษได้ พระองค์ก็ทรงแสดงปรมัตถเทศนาให้คนเหล่านั้นฟังได้.

สิ่งที่มีอยู่จริงตามทัศนะของปรัชญาตะวันตกก็ดี สิ่งที่มีอยู่จริงตามทัศนะของวิทยาศาสตร์ก็ดี สิ่งที่มีอยู่จริงตามทรรศนะของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทก็ดี ต่างก็เป็นลักษณะของความจริงที่มนุษย์แสวงหาและค้นพบที่ปรากฎอยู่ในโลกนี้ทั้งสิ้น จะต่างกันก็ตรงที่ใครจะเข้าถึงหรืออยู่ใกล้ชิดความจริงมากกว่ากันเท่านั้น พุทธศาสนาสงเคราะห์ความจริงที่มีอยู่ในโลกทั้งหมดลงในความจริง 2 ประการ คือ 1. ความจริงในระดับสมมติ (สมมติสัจจะ) และ 2. ความจริงในระดับปรมัตถ์ (ปรมัตถสัจจะ) พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทยืนว่าสิ่งที่เป็นความจริงในอดีต ความจริงในปัจจุบันและจะเป็นความจริงในอนาคต ก็คงจะไม่มีอะไรจริงไปกว่าความจริงทั้ง 2 ประการนี้อีกแล้ว

--------------------------------------------------

 

เอกสารและสิ่งอ้างอิง 

(1) สํ. ม. 19 / 1703 / 543., (2) พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) , พจนานุกรมพุทธศาสน์ , กรุงเทพฯ : บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด , 2531. , หน้า 105., (3) สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ , ธรรมานุกรม , กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย , 2527. , หน้า 451., (4) พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) , พุทธธรรม , กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย , 2532. , หน้า 10., (5) ที. มหา. 10 / 211 / 255., (6) ขุ. ขุ. 25 / 331 / 398., (7) ขุ. ปฏิ. 31 / 614 / 524., (8) ขุ. ม. 29 / 272 / 197., (9) ที. ปา. 11 / 472 / 338., (10) ขุ. ขุ. 25 / 50 / 85., (11) ขุ. ขุ. 25 / 241 / 271., (12) พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) , พจนานุกรมพุทธศาสน์ , กรุงเทพฯ : บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด , 2531. , หน้า 318., (13) ที. อ. 439 / 317., (14) สมัคร บุราวาศ , พุทธปรัชญา 25 ศตวรรษ , กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรศิลป์ ,2500. , หน้า 70, (15) ม. อ. 57 / 149.

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) , พจนานุกรมพุทธศาสน์ , กรุงเทพฯ : บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด , 2531.

---------------. พุทธธรรม , กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย , 2532.

สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ , ธรรมานุกรม , กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย , 2527.

สมัคร บุราวาศ , พุทธปรัชญา 25 ศตวรรษ , กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรศิลป์ ,2500.

มหามกุฏราชวิทยาลัย ,มูลนิธิ. พระไตรปิฎก , พิมพ์ครั้งที่ 4 , โรงพิมพ์มหามกุฏราช

วิทยาลัย : กรุงเทพมหานคร , 2538.

---------. มิลินทปัญหา , พิมพ์งานฉลองพระชนมายุ 80 ปี สมเด็จพระญาณสังวร (สุวัฑฒนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย : กรุงเทพมหานคร , 2536.

----------. อภิธัมมัตถสังคหบาลีและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกาฉบับแปลเป็นไทยพิมพ์น้อมถวายเป็นพระมหาราชานุสรณ์ เฉลิมพระเกียรติ,โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย : กรุงเทพมหานคร , 2506.

มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย . ทีฆนิกายฏฺฐกถา(สุมงฺคลวิลาสินี) , มชฺฌิมนิกายฏฺฐกถา (ปปญฺจสูทนี) , อภิธมฺมฏฺฐกถา วิภงฺควณฺณนา (สมฺโมหวิโนทนี) ,โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร , 2533.

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML