พระปิลินทวัจฉเถระ นามเดิม ปิลินทะ
วัจฉะเป็นชื่อของโคตรต่อมาได้ชื่อว่า ปิลินทวัจฉะ โดยนำเอาชื่อโคตรไปรวมด้วย บิดา และมารดาเป็นพราหมณ์ไม่ปรา
กฏนาม
เป็นชาวเมืองสาวัตถี ชีวิตก่อนบวช ก่อนที่จะมาบวชในพระพุทธศาสนา
ท่านเป็นผู้ที่มากไปด้วยความสังเวช (ความสลดใจที่ประกอบกับโอตตัปปะ)
จึงบวชเป็นปริพาชก สำเร็จวิชา ๓ ชื่อว่า จูฬคันธาระ
เหาะเหินเดินอากาศได้และรู้ใจของผู้อื่น มีลาภและยศมาก อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์
มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อพระศาสดาของเราทั้งหลายได้ตรัสรู้แล้ว
เสด็จไปประทับในเมืองราชคฤห์ อานุภาพแห่งวิชาของเขาก็เสื่อมไป
ลาภยศของเขาก็หมดไปด้วย เขาคิดว่า พระสมณโคดมต้องรู้คันธารวิชาอย่างแน่นอน
จึงไปยังสำนักของพระศาสดาขอเรียนวิชา พระศาสดาตรัสว่า
ท่านต้องบวชในสำนักของเราจึงจะเรียนได้ เขาก็ยอมบวชตามพระพุทธดำรัส
การบรรลุธรรม เมื่อท่านบวชแล้ว
พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขา และได้ประทานกรรมฐานอันสมควรแก่จริยา
เพราะท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยที่สมบูรณ์ เริ่มตั้งความเพียรในกรรมฐาน
ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
งานประกาศพระศาสนา เพราะผู้ที่ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านสมัยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์
ได้ไปเกิดเป็นเทวดามากมาย เทวดาเหล่านั้นอาศัยความกตัญญู มีความนับถือท่านมาก
เข้าไปหาท่านทั้งเช้าเย็น แต่ท่านมักจะมีปัญหากับภิกษุ และชาวบ้าน
เพราะท่านชอบใช้วาจาไม่ไพเราะ ต่อมาพระศาสดาทรงแก้ไขให้ทุกคนเข้าใจ
ก็ไม่มีใครถือสากลับศรัทธาเลื่อมใสยิ่งขึ้น ท่านเป็นพระที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์
เล่ากันว่า ชายคนหนึ่งถือถาดดีปลีมา ท่านถามว่า ถาดอะไรไอ้ถ่อย ชายคนนั้นโกรธ
คิดว่า พระอะไรพูดคำหยาบ จึงตอบไปว่า ถาดขี้หนู พอผ่านท่านไปดีปลีเป็นขี้หนูจริงๆ
ต่อมามีคนแนะนำเขาว่า ให้เดินสวนทางกับท่านใหม่ ถ้าท่านถามอย่างนั้น จงตอบท่านว่า ดีปลี
ก็จะกลายเป็นดีปลีดังเดิม เขาได้ทำตามคำแนะนำ ปรากฏว่า มูลหนูกลับเป็นดีปลีดังเดิม
เอตทัคคะก็เพราะเทวดาผู้ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านในชาติก่อน
แล้วเกิดในสวรรค์เป็นอันมาก เทวดาเหล่านั้นมีความกตัญญูมีความเคารพนับถือบูชา จึงมาหาท่านทั้งเช้าเย็น
เพราะฉะนั้น
พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย
บุญญาธิการ แม้พระปิลินทวัจฉเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน
ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดาได้เห็นพระองค์ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศโดยเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย
จึงปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้บำเพ็ญบุญเป็นอันมาก
ต่อมาได้รับพยากรณ์จากพระศาสดาแล้วได้สำเร็จดังประสงค์
ในสมัยแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ดังกล่าวแล้ว
ธรรมวาทะ การที่เรามาในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นการมาที่ดี
ไม่ได้ปราศจากประโยชน์ การตัดสินใจบวชของเรา เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
บรรดาธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกไว้ เราได้บรรลุธรรมอันประเสริฐที่สุดแล้ว
การนิพพานของพระปิลินทวัจฉเถระ
ครั้นดำรงเบญจขันธ์พอสมควรแก่กาล ก็ได้นิพพานดับไป โดยไม่มีอาลัย
-----------------------------------------------------
เอกสารและสิ่งอ้างอิง
คณาจารย์เลี่ยงเชียงจงเจริญ.
วิชาอนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ ฉบับสมบูรณ์, พ.ศ.๒๕๔๓.
https://sites.google.com/site/dmamatri/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น