ประวัติ พระนันทกเถระ

 

ประวัติ พระนันทกเถระ

พระนันทกเถระ นามเดิม นันทกะ บิดา และมารดา ไม่ปรากฏนาม เป็นพราหมณ์ ชาวเมืองสาวัตถี ชีวิตก่อนบวช พระนันทกเถระ อรรถกถาต่างๆ ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตฆราวาสของท่าน

มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา นันทกมาณพ ได้ยินกิตติศัพท์ของพระศาสดาว่า เป็นพระอระหันต์ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงธรรมไพเราะ ชี้แจงประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้าได้อย่างแจ่มแจ้ง วันหนึ่ง เมื่อมีโอกาสจึงไปเฝ้าพระศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนา เกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช จึงทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ๆ ได้ทรงบวชให้เขาตามความประสงค์

การบรรลุธรรมของพระนันทกเถระ ครั้นบวชแล้ว ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและพากเพียร ปฏิบัติ ในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นผู้ชำนาญในญาณระลึกรู้บุพเพนิวาส

งานประกาศพระศาสนา ในตำนานไม่ได้บอกว่าท่านได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกบ้าง บอกว่า ท่านเป็นผู้ฉลาดในการสอนนางภิกษุณี มีเรื่องเล่าว่า นางมหาปชาบดีโคตมีได้พาภิกษุณี ๕๐๐ รูป มาฟังธรรม พระศาสดาจึงมอบให้ภิกษุเปลี่ยนกันแสดงธรรมแก่ภิกษุณี ภิกษุรูปอื่นแสดงธรรม ภิกษุณีทั้งหลายก็ไม่ได้บรรลุอะไร เมื่อถึงวาระของพระนันทกะแสดงธรรม ภิกษุณีเหล่านั้นจึงได้บรรลุอรหัตผล

เอตทัคคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยเหตุที่ท่านสามารถแสดงธรรมให้แก่ภิกษุณีทั้งหลายได้บรรลุอรหัตผลนี้เอง จึงได้ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทแก่นางภิกษุณี

บุญญาธิการ แม้พระนันทกเถระนี้ ก็ได้สร้างความดีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน จนถึงกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทนางภิกษุณี จึงทำความดีแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น อันพระศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะได้สมประสงค์ในสมัยพระพุทธองค์ทรงพระนามว่าโคดม และก็ได้สมจริงทุกประการ

ธรรมวาทะ ม้าอาชาไนยชั้นดีพลาดล้มลงไป ยังกลับลุกขึ้นยืนใหม่ได้ ครั้นได้ความสลดใจ ไม่ย่อท้อ ย่อมแบกภาระได้หนักยิ่งขึ้นอีก ฉันใด ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้า ว่าเป็นบุรุษชาติอาชาไนย ฉันนั้น เหมือนกัน

การนิพพานของพระนันทกเถระ ได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของตน แล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ดำรงพระพุทธศาสนา อยู่มาตามสมควรแก่เวลาของท่าน สุดท้ายได้ปรินิพพานจากไป

--------------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

คณาจารย์เลี่ยงเชียงจงเจริญ. วิชาอนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ ฉบับสมบูรณ์, พ.ศ.๒๕๔๓.

https://sites.google.com/site/dmamatri/

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML