วันวิสาขบูชา ๒๕๖๔

 

วันวิสาขบูชา ๒๕๖๔

วันวิสาขบูชา ๒๕๖๔ ปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔

วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ๓ ประการ คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และปรินิพพาน

วิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ วิสาขบูชา ย่อมาจาก วิสาขบุรณมีบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน ๗

ความสำคัญ วันวิสาขบูชา

เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือ เกิด ตรัสรู้ คือ สำเร็จ ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง ๓ คราว คือ

ประสูติ เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเดิมของพระนาง เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ครั้นพระกุมารประสูติได้ ๕ วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า สิทธัตถะ ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ออกบวช จนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณอันประเสริฐสูงสุด) สำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือว่าวันนี้เป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า

ตรัสรู้ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ ณ ร่มพระศรีมหาโพธิบัลลังก์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี การตรัสอริยสัจสี่ คือของจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ของพระพุทธเจ้า เป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน วันตรัสของพระพุทธเจ้า จึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่ให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกชาวพุทธทั่วไป จึงเรียกวันวิสาขบูชาว่า วันพระพุทธ(เจ้า) อันมีประวัติว่า พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่า การเข้าฌาน เพื่อให้บรรลุ ญาณ จนเวลาผ่านไปจนถึง ยามต้น ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสานุติญาณ คือ ทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเอง และผู้อื่น, ยามสอง ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย และยามสาม ทรงบรรลุ อาสวักขญาณ คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจสี่ ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ขณะนั้น พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา

พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ, สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์, นิโรธ คือ ความดับทุกข์ และมรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์ เป็นสัจธรรม เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทรงค้นพบ เป็นสัจธรรมชั้นสูง ประเสริฐกว่าสัจธรรมสามัญทั่วไป

ปรินิพพาน เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ร่มไม้รัง (ต้นสาละ) คู่ ในสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ถือเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลกเพราะชาวพุทธทั่วโลกได้สูญเสียดวงประทีป ของโลก เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และครั้งสำคัญชาวพุทธทั่วไปมีความเศร้าสลด เสียใจและอาลัยสุดจะพรรณนา อันมีประวัติว่าเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ และแสดงธรรมมาเป็นเวลานานถึง ๔๕ ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก

ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ราตรีนั้น ได้มีปริพาชกผู้หนึ่ง ชื่อ สุภัททะ ขอเข้าเฝ้า และได้อุปสมบทเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้าย เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน ๖

ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย

วันวิสาขบูชา นี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ.๔๒๐ พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่ สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมาก เพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

หนังสือนางนพมาศ กล่าวว่า บรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คือ พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน

ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาว

สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๖๐) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๖๐ และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน

ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุค ทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๘ พฤษภาคม รวม ๗ วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล ๕ หรือศีล ๘ ตามศรัทธาตลอดเวลา ๗ วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม ๒,๕๐๐ รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๔ พฤษภาคม รวม ๓ วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ ๒,๕๐๐ รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ ๒๐๐,๐๐๐ คน เป็นเวลา ๓ วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นๆ

ความสำคัญของวันวิสาขบูชา

พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานเวียนมาบรรจบในวัน และเดือนเดียวกัน คือ วันเพ็ญเดือนวิสาขะ จึงถือว่าเป็นวันที่สำคัญของพระพุทธเจ้า หลักธรรมอันเกี่ยวเนื่องจากการประสูติ ตรัสรู้และเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ความกตัญญู อริยสัจ ๔ และความไม่ประมาท

วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่สุดของพุทธศาสนา เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓ อย่าง เกิดขึ้นในวันเดียวกัน คือ ประสูติ ตรัสรู้ธรรม และปรินิพพาน วันวิสาขบูชาตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖

ชาวพุทธศาสนิกชนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชา นี้ และเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ สหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก และเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติ เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติเมื่อ ๒๖๐๐ กว่าปี ล่วงมาแล้ว

พระ บิดาพระนามว่าพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดาพระนามว่าพระนางสิริมหามายา ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เป็นเจ้าชายในราชสกุลโคตมะ แห่งเมืองกบิลพัสดุ์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย คำว่า 'พุทธ' หรือ 'พุทธิ' ในภาษาบาลีและสันสกฤตมีความหมายเหมือนกัน แปลว่า ปัญญา หรือ การตรัสรู้

พระไตรปิฎก กล่าวว่า พระพุทธเจ้า คือ ผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงเป็นผู้รู้สัจธรรม และทรงมีพระญาณทัศนะกว้างไกลที่พระองค์ทรงรู้เห็นกำเนิด และความเป็นไปของสัตว์โลกตลอดภพสาม มีพระพุทธเจ้านับไม่ถ้วนพระองค์ได้อุบัติขึ้นในโลกนี้ เมื่อแต่ละพระองค์ตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐแล้ว ทรงสั่งสอนธรรมะเพื่อให้ชาวโลกพ้นจากวัฏสงสารด้วยมหากรุณา ในอปทานสูตร และพุทธวงศ์ กล่าวถึงการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ นานนับอสงไขยกว่าที่จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

ขุททกนิกาย ชาดก ได้กล่าวถึง ๕๔๗ ชาติของพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ มาตลอดกว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเป็นผู้มีบุญที่เพียบพร้อมด้วยสติปัญญา และความเมตตา หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้เพียง ๗ วัน พระมารดาก็สวรรคต พระน้านาง คือ พระนางปชาบดีโคตมี เป็นผู้บำรุงเลี้ยงรักษา หลังจากประสูติได้ไม่นาน พระบิดาได้อัญเชิญอสิตดาบสมาทำนายอนาคตของเจ้าชายสิทธัตถะ อสิตดาบสแสดงอาการประหลาดต่อหน้าพระที่นั่งคือ หัวเราะและร้องไห้ หัวเราะเพราะดีใจที่ได้เห็นเจ้าชายสิทธัตถะ และได้ทำนายว่าเจ้าชายจะตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน แต่ร้องไห้เพราะอสิตดาบสนั้นจะมีอายุไม่ยืนยาวทันรับฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์นี้ คำทำนายนี้ได้รับการยืนยันจาก โกณฑัญญะ ซึ่งเป็นดาบสอีกท่านหนึ่งที่ทำนายว่า เจ้าชายสิทธัตถะจะสละราชสมบัติ เมื่อผนวชแล้วจะบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ส่วนดาบสอื่นๆ ล้วนทำนายว่า ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะไม่ทรงผนวช จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ คำทำนายดังกล่าวสร้างความตระหนกพระทัยแก่พระเจ้าสุทโธทนะเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงปรารถนาจะให้เจ้าชายสิทธัตถะปกครองแว่นแคว้นสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ และเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ จึงทรงป้องกันเจ้าชายสิทธัตถะไม่ให้เห็นความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวดต่างๆ ที่จะทำให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงรู้สึกเบื่อหน่าย และอยากออกบวช

พระเจ้าสุทโธทนะ จึงทรงมีพระบัญชาให้เหล่าอำมาตย์เสนาบดี ช่วยกันสร้างปราสาทสามฤดูแก่เจ้าชาย ปราสาทแต่ละแห่งแวดล้อมด้วยเหล่าสนมกำนัลที่สวยงาม ชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนทรงออกผนวช จึงเป็นชีวิตที่เพียบพร้อมด้วย รูปสมบัติ และทรัพย์สมบัติอย่างแท้จริง เมื่อเจ้าชายทรงพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา พระมเหสี คือ พระนางยโสธรา พิมพาประสูติพระโอรส พระนามว่า ราหุล วันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงรถม้าประพาสสวนนอกเมือง ทรงเห็นคนแก่ คนป่วย คนตาย และนักบวช ภาพคนแก่ คนป่วย และคนตายทำให้พระองค์นึกถึงความทุกข์ และความไม่เที่ยงแท้ของสังขารมนุษย์

เจ้าชายสิทธัตถะจึงทรงออกจากวัง ถือเพศเป็นนักบวชเที่ยวภิกขาจารไปเพื่อแสวงหาโมกขธรรม วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อมีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้ธรรม ณ ใต้ควงต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะบรรลุธรรม เจ้าชายสิทธัตถะได้แสวงหาผู้สอนวิธีหลุดพ้นแก่พระองค์ ๒ คนคือ อาฬารดาบส และอุทกดาบส ซึ่งทั้งสองนี้สอนพระองค์ให้ได้ญานชั้นสูง แต่ไม่บรรลุธรรม เมื่อพระองค์บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงประกาศธรรม เผยแผ่คำสอนที่สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติตามพ้นทุกข์ตามพระองค์ไปได้ พระพุทธองค์ ทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นเวลา ๔๕ ปี ทรงวางรากฐานพระพุทธศาสนา และมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ซึ่งในสมัยนั้นมีตั้งแต่ กษัตริย์ เจ้าชาย พ่อค้า แม่ค้า พราหมณ์ เศรษฐี ยาจกเข็ญใจ และชนทุกชั้นในสังคม

หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ

๑. กตัญญู กตเวที ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว้ก่อนเป็นคุณธรรมคู่กับ ความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการะคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้นผู้ที่ทำอุปการรคุณก่อนเรียกว่า บุพการี ขอยกมากล่าวในที่นี้คือ บิดามารดา และครูอาจารย์ บิดามารดา มีอุปการะคุณแก่บุตร ธิดา ในฐานะเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ให้การศึกษา อบรมสั่งสอน ให้ละเว้นจากความชั่ว มั่นคงในการทำความดี เมื่อถึงคราวมีคู่ครองได้จัดหาคู่ครอบที่เหมาะสมให้และมอบทรัพย์สมบัติให้ ไว้เป็นมรดก บุตร ธิดา

เมื่อรู้อุปการะคุณที่บิดามารดาทำไว้ย่อมตอบแทนด้วยการ ประพฤติตัวดี สร้างชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล เลี้ยงดูท่าน และช่วยทำงานของท่าน และเมื่อล่วงลับไปแล้วก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน ครูอาจารย์ มีอุปการะคุณแก่ศิษย์ในฐานะเป็นผู้ประสาทความรู้ให้ ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดีสอนศิลปวิทยาให้อย่างไม่ปิดบัง ยกย่องให้ปรากฎแก่คนอื่นและช่วยคุ้มครองศิษย์ทั้งหลาย ศิษย์เมื่อรู้อุปการคุณที่ครูอาจารย์ทำไว้ย่อมตอบแทนด้วยการตั้งใจเรียน ให้เกียรติ และให้ความเคารพไม่ล่วงละเมิดโอวาทของครู ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนดีส่งผลให้ครอบครัว และสังคมมีความสุขได้ เพราะบิดามารดาจะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน และบุตร ธิดา ก็จะรู้จัก หน้าที่ของตนเองด้วยการทำดีตอบแทน

ครูอาจารย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณ คือ สอนศิลปวิทยาอย่างเต็มที่ และศิษย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเอง ด้วยการตั้งใจเรียน และให้ความเคารพเป็นการตอบแทน นอกจากจะใช้ในกรณีของบิดามารดากับบุตรธิดา และครูอาจารย์กับศิษย์แล้ว คุณธรรมข้อนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้แม้ระหว่าง พระมหากษัตริย์กับพสกนิกร นายจ้างกับลูกจ้าง เพื่อนกับเพื่อน และบุคคลทั่วไป รวมทั้งมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

ทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุพการีในฐานะที่ทรงสถาปนาพุทธศาสนา และทรงสอนทางพ้น ทุกข์ให้แก่เวไนยสัตว์ พุทธศาสนิกชน รู้พระคุณอันนี้ จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา กล่าวคือ การจัดกิจกรรมในวันวิสาขบูชา เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ ด้วยการทำนุบำรุงส่งเสริม พุทธศาสนา และประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อดำรงอายุพุทธศาสนาสืบไป

๒. อริยสัจ ๔ อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึง ความจริงที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคนมี ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า มนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกันทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐาน และทุกข์เกี่ยวกับการ ดำเนินชีวิตประจำวัน

ทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่ และการตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวันคือ ทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการไม่ได้ตามใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ สมุทัย คือ เหตุแห่งปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาของชีวิตล้วนมีเหตุให้เกิดเหตุนั้น คือ ตัณหา อันได้แก่ ความอยากได้ต่างๆ

ซึ่งประกอบไปด้วย ความยึดมั่น นิโรธ คือ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิตทั้งหมดนั้นแก้ไขได้ โดยการดับตัณหา คือ ความอยากให้หมดสิ้น มรรค คือ ทางหรือวิธีแก้ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็ เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิตทั้งหมดที่สามารถแก้ไขได้นั้นต้องแก้ไขตามมรรคมีองค์ ๘

๓. ความไม่ประมาท ความไม่ประมาท คือ การมีสติทั้งขณะทำ ขณะพูด และขณะคิด สติ คือ การระลึกรู้ทัน ที่คิด พูดและทำ ในภาคปฏิบัติเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หมายถึง การระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหวอิริยาบถ ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน การฝึกให้เกิดสติ ทำได้โดยตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวอิริยาบถกล่าวคือ ระลึกรู้ทันในขณะยืน เดิน นั่งและนอน รวมทั้งระลึกรู้ทันในขณะพูด ขณะคิด และขณะทำงานต่างๆ

ในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุอัน ได้แก่ พระธาตุเจดีย์หรือพระพุทธปฏิมา ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเครื่องบูชามีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ด้วยบทสวดมนต์ตามลำดับดังนี้คือ

บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปนโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะธัมมะสาระถิ สัตถาเทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ

สวากขาโต ภะคะวา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ. บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสสะ ยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลีกะระนีโย อะนุตตะรัง ปุญญะเขตตัง โลกัสสาติ

จากนั้นก็จะกระทำ ประทักษิณ หรือที่เรียกว่า เวียนเทียน รอบพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฎิมาในพระอุโบสถ ด้วยการเดินเวียนขวาสามรอบ รอบแรกจะสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ รอบที่สองจะสวดบทสรรเสริญพระธรรมคุณ และรอบที่สามสวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ เมื่อครบ ๓ รอบแล้วจึงนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธรูปในพระอุโบสถ ณ ที่บูชาอันควรเป็นอันเสร็จพิธีเวียนเทียน

แสดงพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถ ซึ่งปกติจะมีเทศน์ ปฐมสมโพธิ ซึ่งเป็นเรื่องพระพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน พิธีเริ่มตั้งแต่ประชุมฟังพระทำวัตรสวดมนต์ แล้วจึงฟังเทศน์ซึ่งจะมีไปตลอดรุ่ง

วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ คือ วันสำคัญของโลก ( Vesak Day )

ภูมิหลัง

๑. ในการประชุม International Buddhist Conference ณ กรุงโคลัมโบ ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากเข้าร่วม อาทิ บังคลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฐาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ได้ตกลงกันที่จะเสนอให้สมัชชาสหประชาชาติรับรองข้อมติประกาศวัน วิสาขบูชาให้เป็นวันหยุดของสหประชาชาติ

๒. ในการเยือนของประเทศต่างๆ ในอินโดจีนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา ในปี ๒๕๔๒ ก็ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือ และได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ ได้ด้วยดี

๓. คณะทูตถาวรศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กได้จัดเตรียมร่างข้อมติ และได้ขอเสียงสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ เพื่อให้มีการรับรองข้อมติเรื่องการประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดของสหประชาชาติในที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๔

๔. โดยที่สหประชาชาติประกาศวันหยุดเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และจะเป็นปัญหาในเรื่องงบประมาณและการบริหารแก่ สหประชาชาติ หากประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุด ศรีลังกาจึงได้ตัดสินใจที่จะเสนอร่างข้อมติ ขอให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลที่สหประชาชาติ ทั้งที่สำนักงานใหญ่ และสำนักงานต่าง ๆ แทนการเสนอให้เป็นวันหยุดซึ่ง ออท. ผู้แทนถาวรประเทศต่าง ๆ รวม ๑๖ ประเทศ ได้แก่ ศรีลังกา บังคลาเทศ ภูฐาน กัมพูชา ลาว มัลดีฟส์ มองโกเลีย พม่า เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สเปน อินเดีย ไทย และยูเครน ได้ร่วมลงนามในหนังสือถึงประธานสมัชชาฯ เพื่อให้นำเรื่องวันวิสาขบูชาเข้าเป็นระเบียบวาระการประชุมของสมัชชาฯ

๕. ต่อมาเมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ General Committee ของสมัชชาฯ ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดย ออท.ผู้แทน ถาวรศรีลังกาได้กล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนหนังสือร้องขอให้ที่ประชุมบรรจุระเบียบวาระดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสมัชชาเต็มคณะ ออท.ผู้แทนถาวรไทย อินเดีย สเปน บังคลาเทศ ปากีสถาน ไซปรัส ลาว และภูฐาน ได้กล่าวถ้อย แถลงสนับสนุน ซึ่งที่ประชุม General Committee ได้มีมติให้บรรจุเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาเต็มคณะ

ปัจจุบัน

๑. เมื่อ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๔ ได้พิจารณาระเบียบวาระที่ ๑๗๔ International recognition of the Day of Visak โดยการเสนอของศรีลังกา

๒. ในการพิจารณา ประธานสมัชชาฯ ได้เชิญผู้แทนศรีลังกาขึ้นกล่าวนำเสนอร่างข้อมติ และเชิญผู้แทนไทย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฐาน สเปน พม่า เนปาล ปากีสถาน อินเดียขึ้นกล่าวถ้อยแถลง สรุปความว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ทรงตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรม ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของ สหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึง (observance) ตามความเหมาะสม

๓. ที่ประชุมฯ ได้รับรองร่างข้อมติโดยฉันทามติ เหตุผลที่ องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของโลก เนื่องจากคณะกรรมมาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมพิจารณาและมีมติเห็นพ้องต้องกันประกาศให้วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลกทั้งนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวล มนุษย์ทั้งหลายในโลก จะเห็นได้จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ ให้รู้จักช่วยเหลือสัตว์ เหตุผลสำคัญ อีกประการหนึ่งคือ พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ โดย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธและทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณสอนโดยไม่คิดค่าตอบแทน

-----------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

ความรู้เกี่ยวกับวันสำคัญไทย (เสฐียรโกเศศ และ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ,๒๕๔๑ : ๓๙ - ๕๙)

วันวิสาขบูชา ๒๕๖๔ ปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔,

https://www.sanook.com/campus/๙๒๑๗๔๘/

พระโมคคัลลานเถระ

 

พระโมคคัลลานเถระ


จิตติเทพ นาอุดม.

พธ.บ.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทาลัย,

ศศ.ม.สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา(ปรัชญาและศาสนา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

 

พระโมคคัลลานเถระ ชื่อเดิมว่า โกลิตะ เป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้ เพราะเป็นบุตรของ ตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในโกลิตคาม บิดา ไม่ปรากฎชื่อ กล่าวเพียงว่าเป็นหัวหน้าในโกลิตคาม มารดา ชื่อ โมคคัลลี หรือมุคคลี ทั้งคู่เป็นวรรณะพราหมณ์ เกิดที่ บ้านโกลิตคาม ไม่ไกลจากนครราชคฤห์ ก่อนการอุบัติแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ทั้งหลาย (แก่กว่าพระพุทธเจ้า)

  โกลิตะ มีชื่อที่ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณี อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า โมคคัลลานะ เพราะเกิดโดยโมคคัลลีโคตร อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า โมคคัลลานะ เพราะเป็นผู้อาจ คือ สามารถในการได้ ในการถือเอา ในการรู้แจ้งมรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น เขามีสหายที่รักใคร่สนิทสนมกันมากคนหนึ่งชื่อ อุปติสสะ เป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหนัาในอุปติสสคาม ไปมาหาสู่และไปเที่ยวด้วยกันเป็นประจำ

อยู่มาวันหนึ่ง สหายทั้งสองนั้นกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ เห็นมหาชนมาประชุมกันเพื่อชมมหรสพ เพราะญาณของทั้งสองถึงความแก่กล้า จึงเกิดความคิดขึ้นโดยแยบคาย ได้ความสังเวชว่า คนเหล่านี้ทั้งหมดภายในร้อยปีเท่านั้นก็จะเข้าไปสู่ปากของมัจจุราช จึงทำการตัดสินใจว่า เราทั้งหลายควรแสวงหาโมกขธรรม และเมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมนั้น ควรได้บรรพชาสักอย่างหนึ่ง จึงพากันไปบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชก พร้อมกับมาณพ ๕๐๐ คน ตั้งแต่สองสหายนั้นบวชแล้ว สัญชัยปริพาชกได้มีลาภและยศอันเลิศ

โกลิตะพร้อมกับสหาย เรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมดโดยเวลาไม่นานนัก ไม่เห็นสาระของลัทธินั้น รู้สึกเบื่อหน่าย จึงคิดแสวงหาโมกขธรรมต่อไป โดยทำกติกากันว่า ใครบรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง อุปติสสปริพาชกได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาปัตติผล จึงกลับมาบอกโกลิตะผู้สหาย และแสดงธรรมให้ฟัง โกลิตะได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาปัตติผลเช่นเดียวกัน จึงพากันไปลาอาจารย์สัญชัยเพื่อไปเฝ้าพระศาสดา

พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นสองสหายพร้อมกับบริวารแต่ไกล ได้ตรัสว่า นี้จะเป็นคู่สาวกชั้นเลิศของเรา ทรงแสดงธรรมตามจริยาแห่งบริวารของสหายทั้งสองให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พวกเขาว่า เธอทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอทั้งหลาย จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์ โดยชอบเถิด

พระมหาโมคคัลลานเถระ บวชได้ ๗ วัน เข้าไปอาศัยบ้านกัลลวาลคาม ในมคธรัฐ บำเพ็ญสมณธรรม ถูกถีนมิทธะ คือ ความท้อแท้และความโงกง่วงครอบงำ ไม่สามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้ พระศาสดาได้เสด็จไปโปรดให้สลดใจ ด้วยพระดำรัสมีอาทิว่า โมคคัลลานะ ความพยายามของเธอ อย่าได้ ไร้ผลเสียเลย แล้วสอนธาตุกรรมฐาน ให้ท่านพิจารณาร่างกายแยกออกเป็นธาตุ ๔ คือ ปฐวี ธาตุดิน อาโป ธาตุน้ำ เตโช ธาตุไฟ วาโย ธาตุลม เนื้อและหนังเป็นต้นเป็นธาตุดิน เลือดเป็นต้นเป็นธาตุน้ำ ความอบอุ่น ในร่างกายเป็นธาตุไฟ ลมหายใจเป็นต้นเป็นธาตุลม แต่ละส่วนนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่ตัวตนของเรา ท่านกำจัดความท้อแท้และความโงกง่วงได้แล้ว ส่งใจไปตามกระแสเทศนา ได้บรรลุมรรคทั้ง ๓ เบื้องบนโดย ลำดับแห่งวิปัสสนา แล้วถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณในขณะ ได้บรรลุผลอันเลิศ คือ อรหัตผล

พระโมคคัลลานเถระ เป็นกำลังสำคัญของพระศาสดาในการประกาศพระศาสนา เพราะท่าน มีฤทธิ์มาก จนทำให้เจ้าลัทธิอื่น ๆ เสื่อมลาภสักการะ โกรธแค้นคิดกำจัดท่าน ดังคำปรึกษากันของ เจ้าลัทธิเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายทราบหรือไม่ว่า เพราะเหตุไร ลาภสักการะจึงเกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม เป็นจำนวนมาก พวกเดียรถีย์ที่รู้ตอบว่า พวกข้าพเจ้าทราบ ลาภสักการะเกิดขึ้นเพราะอาศัยพระเถระ รูปหนึ่งชื่อ มหาโมคคัลลานะ เพราะพระเถระนั้นไปยังเทวโลก ถามกรรมที่พวกเทวดาทำแล้ว กลับมาบอกกับพวกมนุษย์ว่า ทวยเทพทำกรรมชื่อนี้ ย่อมได้สมบัติอย่างนี้ ท่านไปยังนรกถามกรรม ของหมู่สัตว์ผู้เกิดในนรกแล้วกับมาบอก พวกมนุษย์ว่า พวกเนริยกสัตว์ทำกรรมชื่อนี้ ย่อมเสวยทุกข์ อย่างนี้ พวกมนุษย์ได้ฟังคำของพระเถระนั้นแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงนำลาภสักการะเป็นอันมากไปถวาย นี้นับว่าท่านเป็นกำลังสำคัญของพระศาสดา

อนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระ ยังทำงานประกาศพระศาสนาสัมพันธ์เป็นอันดีกับพระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ดังจะเห็นได้จากพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิดแก่บุตร โมคคัลลานะเปรียบเหมือน นางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณที่สูงขึ้นไป

พระมหาโมคคัลลานเถระ เมื่อสำเร็จพระอรหัตแล้ว เป็นผู้มีฤทธิ์มาก สามารถท่องเที่ยวไปยังเทวโลกและในนรกได้ ปราบผู้ร้ายทั้งหลาย เช่น นันโทปนันทนาคราช เป็นต้น จึงได้รับการยกย่องจากพระศาสดา ว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางเป็นผู้มีฤทธิ์

ในอดีตกาลนานหนึ่งอสงไขยกับอีกแสนกัปป์ ในพุทธุปบาทกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี พระมหาโมคคัลลานะบังเกิดในตระกูลคหบดีมหาศาลชื่อ สิริวัฒนกุฏุมพี มีสหายชื่อ สรทมาณพ

สรทมาณพ ออกบวชเป็นดาบสได้ทำบุญแล้วปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๑ ในศาสนาของพระสมณโคดม ได้รับพยากรณ์ คือ การรับรองจากพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าว่า จะสำเร็จแน่แล้ว จึงไปชวนสิริวัฒนกุฏุมพีให้ปรารถนาตำแหน่ง สาวกที่ ๒ สิริวัฒนกุฏุมพีได้ตกลงตามนั้น แล้วได้ถวายมหาทานแก่พระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นเวลา ๗ วัน วันสุดท้ายได้ถวายผ้ามีราคามาก แล้วปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๒ พระศาสดาทรงเห็นความสำเร็จของเขา แล้วได้พยากรณ์ว่า อีกหนึ่งอสงไขยกับแสนกัปป์ จะได้เป็นสาวกที่ ๒ ของพระโคดมพุทธเจ้า มีนามว่า โมคคัลลานะ เขาได้ทำกุศลกรรมตลอดมา จนถึงชาติสุดท้าย เกิดในครรภ์ของนางโมคคัลลีพราหมณี มีชื่อว่า โมคคัลลานะ ออกบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้รับตำแหน่งอัครสาวกตามปรารถนาที่ตั้งไว้

ไฟไม่ได้ตั้งใจเลยว่า เราจะเผาไหม้คนโง่เขลา คนโง่เขลาต่างหากเข้าไปหาไฟที่กำลังลุกอยู่แล้วให้ไฟไหม้ตนเอง ดูก่อนมารผู้ใจบาป ท่านเข้าไปหาพระพุทธเจ้า แล้วเผาตัวของท่านเอง เหมือนกับคนโง่ที่ไปจับไฟ ดูก่อนมารผู้ใจบาป ท่านเข้าไปหาพระพุทธเจ้า แต่กลับได้บาปกลับมาซ้ำยังเข้าใจผิดว่า ไม่เห็นจะบาปอะไร (บาปแล้วยังโง่อีก)

พระมหาโมคคัลลานเถระ นิพพานที่ตำบลกาฬศิลา แคว้นมคธ นิพพานก่อน พระศาสดา แต่นิพพานภายหลังพระสารีบุตร ๑๕ วัน พระศาสดาเสด็จไปทำฌาปนกิจแล้ว ให้นำอัฐิธาตุมาก่อเจดีย์ บรรจุไว้ที่ใกล้ประตูเวฬุวันวิหาร

 

---------------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘, ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา,

https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8478&Z=8642.

พระสารีบุตรเถระ

 

พระสารีบุตรเถระ


จิตติเทพ นาอุดม.

พธ.บ.มหวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย,

ศศ.ม.สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา(ปรัชญาและศาสนา) มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์.


พระสารีบุตรเถระ ชื่อเดิมว่า อุปติสสะ เป็นชื่อที่บิดามารดาตั้งให้ เพราะเป็นบุตรของตระกูล ผู้เป็นหัวหน้าในอุปติสสคาม บิดาชื่อ วังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อ นางสารีหรือรูปสารี เกิดที่อุปติสสคาม ไม่ไกลพระนครราชคฤห์ ก่อนการอุบัติแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย การศึกษา ได้สำเร็จศิลปศาสตร์หลายอย่าง เพราะเป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม ศึกษาได้รวดเร็ว อุปติสสะมีชื่อที่ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สารีบุตร เพราะเป็นบุตรของนางสารี แต่เมื่อเข้ามาบวชในพุทธศาสนา เพื่อนสพรหมจารีเรียกท่านว่า พระสารีบุตร อุปติสสะมีสหายคนหนึ่งชื่อ โกลิตะ เป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในโกลิตคาม ทั้งสองมีฐานะทางครอบครัวเสมอกัน จึงไปมาหาสู่และไปเที่ยวด้วยกันเป็นประจำ

อยู่มาวันหนึ่ง คนทั้งสองนั้นกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ เห็นมหาชนประชุมกัน เพราะญาณของทั้งสองถึงความแก่กล้า จึงเกิดความคิดขึ้นโดยแยบคายได้ความสังเวชว่า คนเหล่านี้ทั้งหมด ภายในร้อยปีเท่านั้นก็จะเข้าไปสู่ปากของมัจจุราช จึงทำการตัดสินใจว่า เราทั้งหลาย ควรแสวงหาโมกขธรรม และเมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมนั้น ควรได้บรรพชาสักอย่างหนึ่ง จึงพากันไปบวช ในสำนักของสัญชัยปริพาชกพร้อมกับมาณพ ๕๐๐ คน ตั้งแต่สองสหายนั้นบวชแล้ว สัญชัยปริพาชก ได้มีลาภ และยศอันเลิศ

อุปติสสะ และโกลิตะปริพาชก ทั้งสองนั้นเรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมดโดยเวลาไม่นานนัก ไม่เห็นสาระของลัทธินั้น จึงไปถามปัญหากับสมณพราหมณ์ที่เขาสมมติกันว่า เป็นบัณฑิตในที่นั้นๆ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกคนทั้งสองถามแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ แต่คนทั้งสองนั้นแก้ปัญหาของสมณพราหมณ์ทั้งหลายได้ เมื่อเป็นอย่างนั้น คนทั้งสองนั้น เมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมต่อไป จึงได้ทำกติกากันว่า ใครบรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง

วันหนึ่ง อุปติสสปริพาชกไปยังปริพาชการามเห็นท่านพระอัสสชิเถระเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ คิดว่า บรรพชิตผู้สมบูรณ์ด้วยมรรยาทอย่างนี้ เราไม่เคยเห็น ชื่อว่าธรรมอันละเอียด น่าจะมีในบรรพชิตนี้ จึงเกิดความเลื่อมใสมองดูท่าน ได้ติดตามไปเพื่อจะถามปัญหา พระเถระได้บิณฑบาตแล้ว ได้ยังโอกาสอันเหมาะสม เพื่อจะฉันอาหาร ปริพาชกได้ตั้งตั่งของตนถวายเมื่อพระเถระฉันเสร็จแล้วได้ถามถึงศาสดา พระเถระอ้างเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปริพาชกถามอีกว่าศาสดาของท่านมีวาทะอย่างไร พระเถระตอบว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และเหตุแห่งความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะตรัสอย่างนี้

อุปติสสปริพาชก ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาปัตติผล ด้วยการฟังธรรมนี้แล้วกลับไปบอกเพื่อน และแสดงธรรมให้ฟัง โกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือนกัน จึงพากันไปลาอาจารย์สัญชัย เพื่อไปเฝ้าพระศาสดา

พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นสองสหายพร้อมกับบริวารแต่ไกล ได้ตรัสว่านี้จะเป็นคู่สาวกชั้นเลิศของเรา ทรงแสดงธรรมตามจริยาแห่งบริวารของสหายทั้งสองให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พวกเขา พร้อมกับอุปติสสะและโกลิตะด้วย เมื่อทั้งสองบวชแล้ว ภิกษุทั้งหลายเรียก อุปติสสะว่า สารีบุตร เรียกโกลิตะว่า โมคคัลลานะ

พระสารีบุตร บวชได้กึ่งเดือน อยู่ในถ้ำสุกรขตะกับพระศาสดา เมื่อพระศาสดาทรงแสดงเวทนาปริคคหสูตรแก่ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลานของตน ส่งญาณไปตามพระธรรมเทศนาได้บรรลุพระอรหัตถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ เหมือนบุคคลบริโภคภัตที่เขาคดมาเพื่อผู้อื่น

พระอัครสาวกทั้งสองบรรลุพระอรหัต ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณในที่ใกล้ พระศาสดาทั้งคู่ คือ พระสารีบุตรฟังเวทนาปริคคหสูตรในถ้ำสุกรขตะ พระโมคคัลลานะฟังธาตุกรรมฐานที่กัลลวาลคาม

พระสารีบุตรเถระ นับว่าได้เป็นกำลังสำคัญยิ่งในการช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา มีคำเรียกท่านว่า พระธรรมเสนาบดี ซึ่งคู่กับคำเรียกพระศาสดาว่า พระธรรมราชา ท่านเป็นที่ไว้วางพระทัยของพระศาสดามากที่สุด ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเสพ จงคบ สารีบุตร และโมคคัลลานะเถิด ทั้ง ๒ รูปนี้เป็นบัณฑิต อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจรรย์ สารีบุตร เปรียบเหมือนผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะ เปรียบเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะ ย่อมแนะนำในผลชั้นสูงขึ้นไป

พระเทวทัตประกาศแยกตนจากพระพุทธเจ้า พาพระวัชชีบุตรผู้บวชใหม่ มีปัญญาน้อย ไปอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ ไปนำพระเหล่านั้นกลับมา ท่านทั้งสองได้ทำงานสำเร็จตามพุทธประสงค์ ท่านได้ทำให้ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเกิดความเลื่อมใส และผู้ที่มีความเลื่อมใสอยู่แล้ว มีความเลื่อมใสมั่นคงยิ่งขึ้น ด้วยการชักนำ และการปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่ดี เช่นชักนำน้องชาย และน้องสาวของท่านให้เข้ามาบวชโปรดบิดา และมารดาให้เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นอุปัชฌาย์บวชสามเณร และภิกษุจำนวนมาก ซึ่งต่อมาหลายท่านมีชื่อเสียง นับเข้าจำนวนอสีติมหาสาวก เช่น สามเณรราหุล สามเณรสังกิจจะ พระราธะ พระลกุณฑกภัททิยะ เป็นอาทิ

พระสารีบุตรเถระเป็นผู้มีความกตัญญูอย่างยิ่ง ท่านได้บรรลุโสดาบัน และได้บวชในพระพุทธศาสนา เพราะได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิตั้งแต่นั้นมาท่านนับถือพระอัสสชิว่า เป็นอาจารย์ของท่าน ทำการเคารพกราบไหว้เสมอ ทราบว่า พระอัสสชิอยู่ทางทิศใด จะยกมือไหว้ และนอน ผินศีรษะไปทางทิศนั้น อีกเรื่องหนึ่ง พราหมณ์ขัดสน ชื่อ ราธะ ได้เคยแนะนำคนให้ใส่บาตรท่านทัพพีหนึ่ง ภายหลัง พราหมณ์นั้นศรัทธาจะบวช พระศาสดาตรัสถามในที่ประชุมสงฆ์ว่า ใครระลึกถึงอุปการะที่พราหมณ์นี้ ทำได้บ้าง พระสารีบุตรทูลว่า ข้าพระองค์ระลึกได้ พราหมณ์นี้ เคยแนะนำคนให้ถวายภิกษาข้าพระองค์ทัพพีหนึ่ง พระศาสดาประทานสาธุการแก่ท่านแล้วตรัสว่า สารีบุตร เธอเป็นสัตบุรุษที่มีความกตัญญูกตเวที แล้วตรัสสอนให้คนอื่นได้ถือเป็นแบบอย่าง และมอบให้ท่านเป็นอุปัชฌาย์บวช พราหมณ์นั้น

พระสารีบุตรเถระ ภายหลังจากบรรลุพระอรหัตแล้วเป็นผู้มีปัญญามากสามารถแสดงธรรม ได้ใกล้เคียงกับพระศาสดาและสามารถโต้ตอบกำราบปราบปรามพวกลัทธิภายนอกที่มาโต้แย้งคัดค้าน พระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาได้อย่างดี พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องขวา และเอตทัคคะว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญามาก ดังพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรนี้ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญามาก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า อโนมทัสสี เสด็จอุบัติในโลก พระสารีบุตรเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ได้เห็นพระนิสภเถระ พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระองค์ได้กล่าวอนุโมทนา อาสนะดอกไม้ แก่ดาบสทั้งหลาย มีความเลื่อมใส ปรารถนาฐานันดรนั้นในใจว่า โอหนอ แม้เราก็พึงเป็น พระสาวกของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต เหมือนพระนิสภเถระนี้ จึงถวายบังคมพระศาสดา แล้วกระทำความปรารถนาอย่างนั้น พระศาสดาทรงเห็นว่า ความปรารถนาของเขาจะสำเร็จโดย ไม่มีอันตราย จึงพยากรณ์ว่า เมื่อเวลาล่วงไปหนึ่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปป์แต่กัปป์นี้ไป จักได้เป็นอัครสาวกของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า มีนามว่าสารีบุตร ท่านได้บำเพ็ญบารมี มีทานเป็นต้น มาตลอดมิได้ขาด จนชาติสุดท้ายได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางรูปสารีในอุปติสสคาม ไม่ไกลจากพระนครราชคฤห์ ก่อนการอุบัติแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย และได้รับเอตทัคคะตามความปรารถนาทุกประการ

คนที่ทูนของหนักไว้บนศีรษะตลอดเวลา ต้องลำบากด้วยภาระ ฉันใด ภาระที่เราแบกอยู่ก็ ฉันนั้น เราถูกไฟ ๓ กอง เผาอยู่ เป็นผู้แบกภาระ คือ ภพ เหมือนยกภูเขาพระสุเมรุมาวางไว้บนศีรษะ ท่องเที่ยวไปในภพ คนผู้มีใจต่ำ เกียจคร้าน ทิ้งความเพียรมีสุตะน้อย ไม่มีมรรยาท อย่าได้สมาคมกับเรา ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ส่วนคนผู้มีสุตะมาก มีปัญญา ตั้งมั่นในศีลเป็นผู้ประกอบด้วยความสงบใจ ขอจงตั้งอยู่บนกระหม่อมของเราตลอดเวลา ข้าพระองค์จะย่ำยีพวกเดียรถีย์ ประกาศศาสนาของพระชินเจ้า จะเป็นธรรมเสนาบดีในศาสนา ของพระศากยบุตรตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

พระสารีบุตรเถระ ปรินิพพานก่อนพระศาสดา โดยได้กลับไปนิพพานที่บ้านเกิดของท่าน ก่อนจะนิพพาน ท่านได้ไปทูลลาพระศาสดา แล้วเดินทางไปกับพระจุนทเถระน้องชาย ได้เทศนาโปรดมารดาของท่านให้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วนิพพานด้วยโรคปักขันทิกาพาธ พระจุนทเถระพร้อมด้วยญาติ พี่น้องทำฌาปนกิจสรีระของท่านแล้ว เก็บอัฐิธาตุไปถวายพระศาสดา ที่เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ทรงโปรดให้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ที่เชตวันมหาวิหารนั้น

--------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อรหันตวรรคที่ ๗,

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=17&p=6.

พระอุรุเวลกัสสปเถระ

 

พระอุรุเวลกัสสปเถระ

จิตติเทพ นาอุดม.

พธ.บ.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,

ศศ.ม.สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา(ปรัชญาและศาสนา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.


พระอุรุเวลกัสสปะ ท่านมีชื่อตามโคตรว่า กัสสปะ ต่อมาบวชเป็นฤาษี ตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา จึงได้นามว่า อุรุเวลกัสสปะ บิดาและมารดา เป็นคนวรรณะพราหมณ์ ไม่ปรากฏชื่อในตำนาน เกิดที่ กรุงพาราณสี ก่อนหน้าที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายทรงอุบัติ การศึกษา เรียนจบไตรเพท

อุรุเวลกัสสปะ มีน้องชาย ๒ คน ชื่อตามโคตรว่า กัสสปะ เหมือนกันทั้ง ๒ คน แต่ต่อมา เมื่อออกบวชเป็นฤาษี คนกลางได้ตั้งอาศรมอยู่ที่ทางโค้งแม่น้ำคงคา จึงได้นามว่า นทีกัสสปะ คนเล็กได้ ตั้งอาศรมอยู่ที่ ตำบลคยาสีสะ จึงได้นามว่า คยากัสสปะ

อุรุเวลกัสสปะ มีบริวาร ๕๐๐ คน นทีกัสสปะ มีบริวาร ๓๐๐ คน คยากัสสปะ มีบริวาร ๒๐๐ คน ต่างสอนไตรเพทแก่บริวารของตน ต่อมาคนทั้ง ๓ นั้นตรวจดูสาระประโยชน์ในคัมภีร์ทั้งหมดของตน ได้เห็นแต่เพียงประโยชน์ในปัจจุบันเท่านั้น เกิดความยินดีในการบวช จึงชักชวนกันออกบวชเป็นฤาษี บำเพ็ญพรตด้วยการบูชาไฟ ตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ไปประกาศ พระศาสนายังแคว้นต่างๆ แล้วพระองค์ได้เสด็จดำเนินไปลำพังพระองค์เดียวมุ่งสู่แคว้นมคธ ทรงทราบดีว่า ท่านอุรุเวลกัสสปะ เป็นผู้มีอายุมาก เป็นที่เคารพนับถือของชาวมคธ จึงทรงมุ่งหมายไปที่ท่าน เพราะถ้าสามารถโปรดท่านได้แล้ว จะได้ชาวมคธอีกเป็นจำนวนมาก ในระหว่างทางได้ทรงเทศนาโปรดภัททวัคคีย์กุมาร ๓๐ คน ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้แล้ว ส่งไปประกาศพระศาสนา จึงเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ตรัสขอที่พักกับอุรุเวลกัสสปะๆ ไม่เต็มใจต้อนรับ จึงบอกให้ไปพักในโรงไฟ ชึ่งมีนาคราชดุร้าย มีฤทธิ์มีพิษร้ายแรง พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เสด็จเข้าไปยังโรงไฟ ทรงปูลาดสันถัดหญ้า ประทับนั่งคู้บัลลังก์ตั้งพระกายตรงดำรงพระสติไว้ เฉพาะหน้าอย่างมั่นคง นาคราชไม่ได้ทำอันตรายใดๆ จนถึงรุ่งเช้าวันใหม่ อุรุเวลกัสสปะก็ยังคิดว่า ถึงอย่างไรพระมหาสมณะนี้ก็คงไม่ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสกับเขาว่า กัสสปะ เธอยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์หรอก และแม้แต่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้เป็นอรหันต์ของเธอก็ยังไม่มีเลย อุรุเวลกัสสปะได้ซบศีรษะลงที่พระบาทแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด พระศาสดาตรัสว่า กัสสปะ เธอเป็นนายก เป็นผู้เลิศ เป็นประมุข เป็นประธานของชฎิล ๕๐๐ คน เธอจงบอกลาชฎิลเหล่านั้นเสียก่อน อุรุเวลกัสสปะ จึงเข้าไปหาชฎิลเหล่านั้นแล้วกล่าวว่า ชาวเราเอ่ย เราต้องการจะประพฤติพรหมจรรย์ ในพระมหาสมณะ ขอพวกท่านจงทำตาม ที่เข้าใจเถิด พวกชฎิลกล่าวว่า แม้พวกเราทั้งหมดก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะนั้นด้วยเหมือนกัน ได้พากันปล่อยบริขาร และเครื่องบูชาไฟลอยไปในน้ำ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา และอุปสมบท ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด พระวาจานั้นแลได้เป็นอุปสมบท ของท่านผู้มีอายุเหล่านั้น

พระอุรุเวลกัสสปะ พร้อมทั้งบริวาร ลอยบริขาร และเครื่องบูชาไฟไปในแม่น้ำ น้องชายทั้งสองทราบ จึงมาขอบวชในสำนักของพระศาสดา พร้อมกับบริวารทั้งหมด ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ แล้วทรงพาภิกษุ ๑๐๐๓ รูปนั้น เสด็จไปยังคยาสีสะตำบล ประทับนั่งบนแผ่นหิน ทรงให้สมณะทั้งหมดนั้นดำรงอยู่ในพระอรหัต ด้วยอาทิตตปริยายเทศนา ใจความย่อแห่งอาทิตตปริยายเทศนาว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะ ไฟ คือโทสะ ไฟ คือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ เพราะความตาย เพราะความเศร้าโศก เพราะความคร่ำครวญ เพราะความทุกข์ เพราะความโทมนัส เพราะความคับแค้นใจ

พระอุรุเวลกัสสปะ เป็นกำลังสำคัญยิ่งในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ ตามตำนานเล่าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพาภิกษุ ๑๐๐๓ รูปนั้น เสด็จไปถึงเมืองราชคฤห์ ประทับที่สวนตาลหนุ่ม ชื่อ ลัฏฐิวัน พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธทรงทราบข่าว จึงพร้อมด้วยข้าราชบริพารเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้า พระพุทธองค์ ทอดพระเนตรเห็นข้าราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร มีกิริยาอาการไม่อ่อนน้อม จึงตรัสสั่งให้พระอุรุเวลกัสสปะ ประกาศให้คนเหล่านั้นทราบว่า ลัทธิของท่านไม่มีแก่นสาร ท่านได้ทำตามพระพุทธดำรัส คนเหล่านั้นสิ้นความสงสัย ตั้งใจฟังพระเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ เวลาจบเทศนา พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร ๑๑ ส่วน ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาปัตติผล อีก ๑ ส่วน ดำรงอยู่ในสรณคมน์

พระอุรุเวลกัสสปะ ได้รับยกย่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีบริวารมาก เพราะท่านสามารถอบรมสั่งสอนเขาด้วยคุณต่างๆ ได้ และเพราะท่านได้ทำบุญเอาไว้ใน พระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน

สมัยที่พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ เสด็จอุบัติในโลก พระอุรุเวลกัสสปะ ได้เกิดเป็นพราหมณ์ชาวเมืองหังสวดี ได้ไปฟังธรรมของพระองค์ และได้เห็นพระองค์ทรงตั้งพระสาวกในตำแหน่ง เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีบริวารมาก เกิดความพอใจ อยากได้ฐานันดรนั้นบ้าง จึงได้ทำบุญมีทานเป็นต้น กับพราหมณ์อีก ๑๐๐๐ คน แล้วตั้งความปรารถนา พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นว่า ความปรารถนาของเขาจะสำเร็จ จึงได้พยากรณ์ว่าต่อไปนี้อีกแสนกัปป์ จักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาทรง พระนามว่าโคดม และได้ฐานันดรนั้น ท่านได้บำเพ็ญบารมีตลอดมาถึงสมัยของพระศาสดาทรงพระนามว่า ผุสสะ ทั้ง ๓ พี่น้อง ได้เป็นราชอำมาตย์ในพระนครพาราณสี ได้บำเพ็ญกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการให้บริบูรณ์ และอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าด้วยความศรัทธา และความเคารพ ชาติสุดท้ายจึงได้เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ผู้มีความสุข สมบูรณ์ในพระนครพาราณสี และได้รับฐานันดรตามที่ปรารถนาไว้

การบูชายัญ ล้วนแต่มุ่งหมาย รูป เสียง กลิ่น รส และสตรี ข้าพระพุทธเจ้ารู้ว่า นั่นเป็นมลทินในขันธ์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวง และการบูชายัญ ส่วนพระอุรุเวลกัสสปะ ได้เป็นกำลังสำคัญช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาในแคว้นมคธ สุดท้ายได้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ดุจดวงประทีปที่โชติช่วงชัชวาลแล้วมอดดับไป

-------------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๔ ,https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&&i=149&p=2.

 

พระอัญญาโกณฑัญญเถระ

 

พระอัญญาโกณฑัญญเถระ


จิตติเทพ นาอุดม.

พธ.บ.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,

ศศ.ม.สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา(ปรัชญาและศาสนา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

 

พระอัญญาโกณฑัญญะ ชื่อเดิมว่า โกณฑัญญะ ตามโคตรของท่าน บิดา และมารดา เป็นพราหมณ์มหาศาล ไม่ปรากฏชื่อ เกิดที่ บ้านพราหมณ์ชื่อ โทณวัตถุ อยู่ไม่ห่างจากกรุงกบิลพัสดุ์ การศึกษา เรียนจบไตรเพท และรู้ตำราทำนายลักษณะ

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มารับประทานอาหาร เพื่อเป็นมงคล และทำนายลักษณะพระราชโอรสตามราชประเพณี แล้วได้ คัดเลือกพราหมณ์ ๘ คน จากจำนวน ๑๐๘ คนนั้น ให้เป็นผู้ทำนายลักษณะพระราชกุมาร โกณฑัญญะซึ่งเป็นพราหมณ์หนุ่มที่สุดได้รับคัดเลือกอยู่ในจำนวน ๘ คนนั้นด้วย พราหมณ์ ๗ คน ได้ทำนายพระราชกุมารว่า มีคติ ๒ อย่าง คือ ถ้าอยู่ครองเรือน จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ, ถ้าเสด็จออกผนวช จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกในโลก

โกณฑัญญพราหมณ์ มีความมั่นใจในตำราทำนายลักษณะของตน ได้ทำนายไว้อย่างเดียวว่า พระราชกุมารจะเสด็จออกผนวช และจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกแน่นอน ตั้งแต่นั้นมา โกณทัญญพราหมณ์ได้ตั้งใจไว้ว่า ถ้าตนยังมีชีวิตอยู่ พระราชกุมารเสด็จออกผนวชเมื่อไร จะออกบวชตาม ต่อมาเมื่อพระราชกุมารเสด็จออกผนวช และบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ โกณฑัญญพราหมณ์ ทราบข่าว จึงได้ชักชวนพราหมณ์อีก ๔ คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ซึ่งล้วนแต่เป็นบุตรของพราหมณ์ในจำนวน ๑๐๘ คน ที่ได้รับเชิญไปรับประทานอาหารในพระราชพิธีทำนายพระลักษณะของพระราชกุมารทั้งสิ้น รวมเป็น ๕ คนด้วยกัน เรียกว่า ปัญจวัคคีย์ แปลว่า กลุ่มคน ๕ คน ได้ติดตามรับใช้ใกล้ชิดด้วยคิดว่า ถ้าพระองค์ได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว จะได้เทศนาสั่งสอนตนให้ได้บรรลุธรรมนั้นบ้าง

พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาถึง ๖ ปี แต่ไม่ได้ตรัสรู้ ทรงแน่พระทัยว่า นั้นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ จึงทรงเลิกการทำทุกกรกิริยา มาทำความเพียรทางใจ ปัญจวัคคีย์ซึ่งมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า หมดความเลื่อมใสเพราะเข้าใจว่า กลับมาเป็นคนมักมากจึงพากันหนีไป อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ครั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงตัดสินพระทัยที่จะแสดงพระธรรมเทศนา อันดับแรกทรงคิดถึงอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร แต่ท่านทั้งสองได้ถึงแก่กรรมแล้ว จึงทรงคิดถึงปัญจวัคคีย์ แล้วได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ปัญจวัคคีย์ ครั้นเห็นพระพุทธองค์เสด็จมาแต่ไกล คิดว่าคงจะมาหาคนอุปัฏฐาก จึงนัดหมายกันว่า จะไม่ไหว้ ไม่ต้อนรับ ไม่รับบาตรและจีวรของพระองค์แต่ได้ปูอาสนะเอาไว้ แต่พอพระพุทธองค์เสด็จไปถึง กลับลืมกติกาที่ได้ทำกันไว้ เพราะความเคารพที่เคยมีต่อพระองค์ ทั้งหมดได้ลุกขึ้นต้อนรับ และทำสามีจิกรรม เหมือนที่เคยปฏิบัติมา แต่ยังสนทนากับพระองค์ด้วยถ้อยคำอันไม่เคารพโดยการออกพระนาม และใช้คำว่า อาวุโส พระพุทธองค์ทรงห้ามไม่ให้ใช้คำพูดอย่างนั้น และตรัสบอกว่า เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฟัง และปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่ช้าจะได้บรรลุอมตธรรมนั้นปัญจวัคคีย์ได้ปฏิเสธพระพุทธองค์ถึง ๓ ครั้งว่า พระองค์เลิกความเพียรแล้วจะบรรลุอมตธรรมได้อย่างไร พระพุทธองค์จึงได้ทรงเตือนสติพวกเขาว่า เมื่อก่อนนี้ท่านทั้งหลายเคยได้ฟังคำที่เราพูดนี้บ้างไหม ทำให้พวกเขาระลึกได้ว่า พระวาจาเช่นนี้ พระองค์ไม่เคยตรัสมาก่อนเลย จึงยอมฟังพระธรรมเทศนา พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ชื่อ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนาแก่พวกเขา ในเวลาจบพระธรรมเทศนา โกณฑัญญะเกิดธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผล เพราะเกิดธรรมจักษุนี้ พระพุทธองค์ทรงทราบ จึงทรงเปล่งอุทานว่า โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ ๆ ท่านจึงได้ชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ เพราะรู้ธรรมก่อนใคร ๆ

โกณฑัญญะได้เห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรมหมดความสงสัยในคำสอนของพระศาสดาแล้ว จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด การอุปสมบทอย่างนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านได้เป็นภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา

ครั้นพระพุทธองค์ทรงสั่งสอนปัญจวัคคีย์อีก ๔ ท่านให้ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาบันแล้ว ทรงประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเช่นเดียวกัน วันหนึ่ง ตรัสเรียกทั้ง ๕ รูปมาตรัสสอนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นอนัตตาไม่ใช่เป็นอัตตา เพราะถ้าเป็นอัตตา แล้วไซร้ ก็จะไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ และต้องได้ตามปรารถนาว่า ขอจงเป็นอย่างนี้ จงอย่าเป็นอย่างนั้น แต่เพราะทั้ง ๕ นั้น เป็นอนัตตาใคร ๆ จึงไม่ได้ตามปรารถนาของตนว่า ขอจงเป็นอย่างนี้ จงอย่าเป็นอย่างนั้น ทั้ง ๕ รูปได้เห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ทุกชนิดไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่สิ่งนั้น และสิ่งนั้นก็ไม่ใช่ตัวของเรา จึงเบื่อหน่ายใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เมื่อหน่ายย่อมหมดกำหนัด ครั้นหมด กำหนัดย่อมหลุดพ้น ทั้ง ๕ รูปจึงได้บรรลุอรหัตผล ด้วยพระเทศนานี้ ๆ ชื่อว่า อนัตตลักขณสูตร

พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งในการช่วยประกาศพระศาสนา เพราะอยู่ในจำนวนพระอรหันต์ ๖๐ รูป ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระศาสนาครั้งแรกด้วยพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ผลงานที่สำคัญของท่าน คือ ทำให้นายปุณณะบุตรของนางมันตานี ผู้เป็นหลานชายได้บวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยประกาศพระศาสนา มีกุลบุตรบวชในสำนักของท่านจำนวนมาก

พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้รัตตัญญู แปลว่า ผู้รู้ราตรี หมายความว่า รู้ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสสอนก่อนใครทั้งหมด

สมัยแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้รัตตัญญูรู้แจ้งธรรมก่อนใคร ๆ จึงปรารถนาฐานันดรนั้น แล้วได้ทำบุญมีทาน เป็นต้น พระปทุมุตตรศาสดาทรงเห็นว่า ความปรารถนาของเขาจะสำเร็จแน่นอน จึงได้พยากรณ์วิบากสมบัติของเขา จนมาถึงศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี เขาได้เกิดเป็นกุฏุมพี ชื่อว่า มหากาล ได้ถวายทานอันเลิศ ๙ ครั้ง ด้วยบุญญาธิการดังกล่าว จึงได้รับเอตทัคคะนี้จากพระบรมศาสดา

อรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน ชื่อ วิสุทธชนวิลาสินี กล่าวไว้ว่า พระเถระได้แสดงธรรมแก่ ท้าวสักกะ อันมีห้องแห่งอริยสัจ ๔ ถูกไตรลักษณ์กระทบ ประกอบด้วยสุญญตา วิจิตรด้วยนัยต่างๆ หยั่งลงสู่อมตะ ด้วยพุทธลีลา ท้าวสักกะทรงสดับธรรมนั้นแล้ว เมื่อจะประกาศความเลื่อมใสของพระองค์จึงได้ทรงสรรเสริญว่า เรานี้ได้ฟังธรรมอันมีรสยิ่งใหญ่ จึงเลื่อมใสยิ่งนัก พระเถระแสดงธรรมอันคลายกำหนัด ไม่ยึดมั่นโดยประการทั้งปวง

พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้ช่วยพระบรมศาสดาประกาศพระศาสนาอยู่ระยะหนึ่ง บั้นปลายชีวิต ได้ทูลลาเข้าไปอยู่ในป่าหิมวันต์ จำพรรษาอยู่ที่ฝั่งสระฉัททันต์ ๑๒ พรรษา เมื่อกาลจะปรินิพพานใกล้เข้ามา จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ขอให้ทรงอนุญาตการปรินิพพาน แล้วกลับไปยังที่นั้น ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

 

-----------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๑, https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=146&p=2.

เมตตาอัปปนา ๕๒๘

 


เมตตาอัปปนา ๕๒๘

ก็แหละในวิธีการแผ่เมตตา โดยไม่เจาะจงได้อาการ ๕ โดยเจาะจงได้อาการ ๗ นั้น อาการภาวนาอันหนึ่งๆ เป็นเหตุให้ได้อัปปนาฌาน ๔ อัปปนา โดยอาศัยบทภาวนา แต่ละบทๆ ดังนี้

บทภาวนาว่า (สัพเพ สัตตา) อะเวรา โหนตุ ขอสัตว์ทั้งปวงจงอย่าผูกเวรกัน นี้เป็นเหตุให้ได้ อัปปนาอันหนึ่ง

บทภาวนาว่า อัพยา ปัชชา โหนตุ ขอสัตว์ทั้งปวง จงอย่าเบียดเบียนกัน นี้เป็นเหตุให้ได้ อัปปนาอันหนึ่ง

บทภาวนาว่า อะนีฆา โหนตุ ขอสัตว์ทั้งปวง จงอย่ามีทุกข์ นี้เป็นเหตุให้ได้ อัปปนาอันหนึ่ง

บทภาวนาว่า สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ขอสัตว์ทั้งปวง จงมีสุข ประคองตนไปให้รอดเถิด นี้เป็นเหตุให้ได้ อัปปนาอันหนึ่ง

แม้ในการลงมือภาวนครั้งแรก โยคีบุคคลต้องส่งจิตไปตามบทภาวนาทั้ง ๔ บท ก็จริง แต่เมื่อถึงวาระภาวนาจะเข้าถึงขั้นสำเร็จอัปปนาฌาน โยคีบุคคลก็สำรวมจิตก็สำรวมจิตอยู่เฉพาะแต่ในบทภาวนาที่ปรากฎชัดคล่องแคล้วกว่าเพียงบทเดียวเท่านั้น ฉะนั้น อัปปนาจึงสำเร็จขึ้นที่ละบทเป็นอัปปนาฌานอาการละ ๔ อัปปนา เมื่อโยคีบุคคลเจริญหรือแผ่เมตตาได้สำเร็จอัปปนาทั้ง ๔ บท โดยอาการ ๕ จึงได้อัปปนาฌานในอโนธิโสผรณา คือ แผ่เมตตาโดยไม่เจาะจงนี้ ๒๐ อัปปนา (๕x= ๒๐)

----------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร). แปลและเรียบเรียง  คัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสเถระ รสจนา, พิมพ์ครั้งที่ ๑๐, บริษัท ธนาเพรส จำกัด, พ.ศ.๒๕๕๔.(ปริจเฉทที่ ๙ พรหมวิหารนิเทศ หน้า ๕๓๑.)

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML