พุทธศาสนสุภาษิต อัตตวรรค คือ หมวดตน

 

อัตตวรรค คือ หมวดตน

อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย.          ขุ.ธ. ๒๕/๒๙

ชนะตนนั่นแหละเป็นดี.

ในโลกนี้ไม่มีใครต้องการที่จะเป็นผู้พ่ายแพ้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ทุกคนต่างก็มุ่งหวังที่จะเป็นผู้ชนะร่ำไป เช่น ต้องการชนะเหล่าศัตรู ต้องการเล่นชนะพนัน เป็นต้น แต่การชนะเหล่านี้ ถือว่าเป็นการชนะไม่เด็ดขาด เพราะยังต้องกลับมาแพ้ได้อีก แต่สำหรับผู้ที่ชนะตนเองได้ คือ สามารถตัดความโลภ ความโกรธ ความหลงของตนเสียได้ จนเข้าถึงสันติสุข คือ พระนิพพาน จึงจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ชนะที่แท้จริง ไม่ต้องกลับมาแพ้อีก.

อตฺตา หิ กิร ทุทฺทโม.          ขุ.ธ. ๒๕/๓๖

ได้ยินว่าตนแลฝึกได้ยาก.

 การฝึกหัดตนให้อยู่ในอำนาจ คือ ให้ดำรงมั่นในวิถีทางที่ดี ที่ถูกต้อง และฝึกให้ยิ่งขึ้นไป จนสามารถละกิเลสได้นั้นเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง เพราะว่าตนตัวเรามันวอกแวกไปตามอารมณ์ที่รับทราบ และยินดีในอารมณ์ฝ่ายต่ำได้ง่าย ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ก่อความทุกข์ให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการที่จะฝึกหัดให้ตนเองชนะอารมณ์เหล่านี้ให้มาดำรงอยู่ในทางที่ดีทางเดียว จึงทำได้ยากยิ่ง.

อตฺตา สุทนฺโต ปุริสสฺส โชติ.          สํ.ส. ๑๕/๒๔๘

ตนที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นแสงสว่างของบุรุษ.

การฝึกตนนั้น หมายถึง ทำให้เรียบ ทำให้ละพยศ ทำให้ตรง เมื่อฝึกไปโดยสม่ำเสมอ ก็สามารถจะดัดตนไม่ให้หลงมัวเมาในทางที่คด คือ กิเลสตัณหา และไม่ให้กิเลสตัณหาครอบงำได้ บุคคลผู้ฝึกตนได้อย่างนี้ย่อมรุ่งเรือง มีปัญญาเป็นแสงสว่างกำจัดความมืด คือ อวิชชา และรู้จักทางที่ประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีต่อไป ไม่ให้ตกลงไปในหลุมพราง คือ กิเลส และตัณหาอีก.

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ.          ขุ.ธ. ๒๕/๓๖, ๖๖

ตนแล เป็นที่พึ่งของตน.

ตน ในที่นี้ หมายถึง กุศลกรรมที่เราได้ประพฤติปฏิบัติมา กุศลกรรมหรือความดีเท่านั้น จึงจะเป็นที่พึ่งของเราได้ เช่น บุคคลผู้ตั้งในศีลธรรม หมั่นประกอบความดี มีชื่อเสียงเกียรติยศปรากฎเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป และเมื่อเวลาตายไปแล้วย่อมไปสู่สุคติ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ใครทำกรรมใดไว้ คนนั้นก็ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น.

อตฺตา หิ อตฺตโน คติ.          ขุ.ธ. ๒๕/๖๖    

ตนเทียว เป็นคติของตน.

คติ หมาถึง ทางเป็นที่ไปมีอยู่ ๒ ทาง คือ สุคติ ทางดี และทุคติ ทางชั่ว บุคคลจะไปสู่ทางดีหรือชั่วก็ขึ้นอยู่กับกรรม คือ การกระทำของตน ถ้าตนทำดีก็จะไปสู่ทางที่ดี ถ้าทำชั่วก็ไปสู่ทางที่ไม่ดี สัตว์โลกล้วนไปตามกรรมของแต่ละคน กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ให้ดี เลว และประณีต เพราะฉะนั้น เราจงทำตัวของเราให้ตั้งอยู่ในคุณความดี เพราะว่าตนเท่านั้นเป็นคติของตน.

อตฺตา หิ ปรมํ ปิโย.          องฺ.สตฺตก. ๒๓/๙๙

ตนแล เป็นที่รักอย่างยิ่ง.

ตน ในที่นี้ หมายถึง กายกับใจมารวมกัน คนเราทุกวันนี้รักตัวเองมาก จนถึงกับเห็นแก่ตัว พยายามทุกอย่างเพื่อสนองความสุขความสบายของตัวเอง ถึงแม้จะทำสิ่งที่ผิดต่อศีลธรรม และกฎหมายก็ย่อมทำ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เป็นการรักตนเองที่ถูกต้องเลย บุคคลผู้รักตนเองที่แท้จริงนั้น ต้องทำความดีแก่ตนเอง และพยายามนำตนเองออกจากวังวน คือ วัฏสงสารให้ได้ จึงจะชื่อว่า รักตนเองอย่างถูกต้อง.

นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ.          สํ.ส. ๑๕/๙

ความรัก (อื่น) เสมอด้วยตนไม่มี.

ความรักตนเอง คือ การพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่ตน เพื่อจะทำตนให้สุขสบายไม่ต้องลำบาก ถึงแม้เราจะรักคนอื่นหรือวัตถุสิ่งอื่นสักเพียงใด แต่ก็ไม่เท่ากับการที่เรารักตนเอง เมื่อตนหิวเราก็หาอาหารมาปรนปรือหรือต้องการอะไรก็หามาให้ เอาอกเอาใจทุกอย่าง แต่นี้เป็นเพียงการรักตนเองอย่างธรรมดาเท่านั้น ถ้ารักมาก และรักอย่างถูกต้อง ต้องพยายามหาหนทางที่จะนำตนเองออกจากกิเลสตัณหาให้ได้ ถึงจะเป็นการรักตนเองอย่างแท้จริง.

อตฺตนา ว กตํ ปาปํ อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ.          ขุ.ธ. ๒๕/๓๗

ตนทำบาปเอง ย่อมเศร้าหมองเอง.     ขุ.มหา. ๒๙/๓๗, ขุ.จู. ๓๐/๑๑๖

การทำบาป หมายถึง การทำความชั่วร้าย ความเลว ความไม่ดีทุกชนิดที่เรียกว่า ทุจริต มี ๓ อย่าง คือ กายทุจริต ทำความชั่วด้วยกาย, วจีทุจริต ทำความชั่วด้วยวาจาและมโนทุจริต ทำความชั่วด้วยใจ มนุษย์ทั้งหลายรู้ทั้งรู้ว่า บาปมันไม่ดี ก็ยังขืนทำอยู่อีก เพราะมันฝึกตนเองไม่ได้ บาปนั้น ถ้าเราทำมันเอง มันก็เปื้อนตัวเราเองฉันนั้นเช่นกัน.

อตฺตนา อกตํ ปาปํ อตฺต ว วิสุชฺฌติ.          ขุ.ธ. ๒๕/๓๗

ตนไม่ทำบาปเอง ย่อมหมดจดเอง.     ขุ.มหา. ๒๙/๓๗, ขุ.จู. ๓๐/๑๑๖

บาป หมายถึง ความชั่วทุกชนิด ที่บุคคลไปทำเข้าแล้วนำความเดือดร้อนมาให้ บาปจะให้ผลเฉพาะแก่ผู้กระทำเท่านั้น ชนทั้งหลายทั้งที่รู้ว่า บาปมันไม่ดีแต่ก็ยังทำ มีสาเหตุมาจากยังไม่สามารถฝึกหัดหรือดัดตนได้ จึงตกไปอยู่ใต้อำนาจอกุศลมูล ๓ อย่าง คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ชักนำให้ทำแต่ความชั่ว เมื่อตนสามารถดัดตนได้แล้ว ก็จะสามารถบังคับตนไม่ให้ตกไปในอำนาจของอกุศลมูลอีก จึงทำให้เป็นผู้หมดจดบริสุทธิ์ เพราะไม่ได้ก่อกรรมทำบาปอีกต่อไปแล้ว.

อตฺตตฺถปญฺญา อสุจี มนุสฺสา.          ขุ.สุ. ๒๕/๓๓๙

มนุษย์ผู้เห็นแก่ประโยชน์ตน เป็นคนไม่สะอาด.

ประโยชน์ ในที่นี้ หมายถึง ผลตอบแทนจากการกระทำนั้นๆ มี ๒ ชนิด คือ ประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์ส่วนรวม มนุษย์ทั้งหลายถ้าจะอยู่ร่วมกันเป็นสุข ต้องทำประโยชน์ทั้งของส่วนตัวทั้งของส่วนรวม คนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวอย่างเดียวนั้น เขาจะทำเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเท่านั้น ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนผู้อื่น เรียกว่า คนเห็นแก่ตัว เป็นคนสกปรกไม่สะอาด จึงเป็นคนที่ถูกตำหนิติเตียน.

อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา.          ม.ม. ๑๓/๔๘๗

บัณฑิต ย่อมฝึกตน.     ขุ.ธ. ๒๕/๒๕, ขุ.เถร. ๒๖/๓๘๙ 

คำว่า ฝึก หมายถึง การทำให้เรียบ ให้ละพยศ ทำให้ตรง เหมือนนายช่างไม้ดัดไม้ฉะนั้น ในทางโลก การฝึก หมายถึง การฝึกตนให้ตรงต่อเวลา ตรงต่อหน้าที่ ให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม และทำใจให้เข้มแข็งพอที่จะสู้กับอำนาจฝ่ายต่ำได้ เป็นต้น ในทางธรรม หมายถึง การฝึกกาย วาจา ใจ ให้ตามทางที่ถูกต้อง ธรรมดาจิตมักกวัดแกว่ง ดิ้นรน วอกแวก และระวังได้ยาก จึงต้องหมั่นสำรวมกาย วาจา ใจ ให้มากไว้ เมื่อหมั่นสำรวมระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา ย่อมพ้นจากทุกข์ได้ และบัณฑิตท่านก็ทำเช่นนั้น.

อตฺตานํ ทมยนฺติ สุพฺพตา.          ขุ.ธ. ๒๕/๓๔

ผู้ประพฤติดี ย่อมฝึกตน.

คำว่า ประพฤติดี ทางโลก หมายถึง การทำคุณงามความดี ทำประโยชน์แก่ตนเอง และผู้อื่น ประกอบหน้าที่การงานที่ไม่ผิดกฎหมาย เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ เป็นต้น ส่วนทางธรรม หมายถึง การตั้งอยู่ในศีลธรรม หมั่นสำรวมกาย วาจา ใจ ให้หมดจดจากกิเลส เป็นต้น บุคคลผู้ประพฤติดีเหล่านี้ ต้องผ่านการฝึกฝนตนเองมาแล้วทั้งนั้น จากที่ไม่เคยประพฤติดีมาเลย ก็ค่อยๆ ฝึกทีละนิด ให้ยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่จนถึงขั้นสูงสุด คือ นิพพาน ไม่ให้ตนตกไปในบ่วงแห่งมารได้ จึงชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติดี.

อตฺตนา หิ สุทนฺเตน   นาถํ ลภติ ทลฺลภํ.          ขุ.ธ. ๒๕/๓๖

ผู้มีตนฝึกดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งซึ่งหาได้ยาก.    

ผู้ฝึกตนดีแล้ว คือ ผู้ที่ทำตนให้เรียบ ให้ละพยศ ให้ตรงได้แล้ว และกำจัดกิเลส คือ ละความโลภ ความโกรธ ความหลงได้แล้ว รู้เท่าทันตามสะภาวะแห่งความเป็นจริง คลายอุปาทาน ความยึดมั่นว่าเราว่าเขาเสียได้ แล้วจะได้ที่พึ่งซึ่งหาได้ยาก คือ มรรค ผล นิพพาน ทำให้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า นอกจากจะได้ที่พึ่งอันเป็นที่พึ่งที่หาได้ยากแล้ว ยังได้ชื่อว่า เป็นผู้ประเสริฐในหมู่มวลมนุษย์อีกด้วย.

โย รกฺขติ อตฺตานํ   รกฺขิโต ตสฺส พาหิโร.          องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๔๑๗

ผู้ใดรักษาตนได้แล้ว ภายนอกของผู้นั้นก็เป็นอันรักษาด้วย.

คำว่า ตน ในที่นี้ หมายถึง จิตหรือใจ ดังนั้น การรักษาตนในที่นี้จึงหมายถึง การรักษาจิตใจให้เบาบางจากเรื่องที่เป็นอกุศล คือ สามารถระมัดระวังควบคุมจิต ซึ่งอยู่ภายในให้ดำเนินถูกทางได้แล้ว ภายนอก คือ กายกับวาจา ก็เป็นอันถูกควบคุมรักษาได้ไปด้วย ให้แสดงแต่พฤติกรรมที่กุศลตามที่จิตดำเนินอยู่ เพราะว่า ตัวตนเรานี้มีใจเป็นประธาน มีใจเป็นใหญ่.

อตฺตานญฺเจ ปิยํ ชญฺญา   รกฺเขยฺย น สุรกฺขิตํ.          ขุ.ธ. ๒๕/๓๖

ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ควรรักษาตนนั้นให้ดี.

การรักษาตน ในที่นี้ ได้แก่ การประกอบตนมิให้ตกไปในอบายมุขหรืออุปกิเลส พยายามถนอมรักษาตนเหมือนมารดาถนอมบุตร ฉะนั้น ถ้าสามารถถนอมตนให้ดีตลอดทั้ง ๓ วัย คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย ก็ชื่อว่า รักษาตนด้วยดีตลอดไป อย่าหลงประมาท และหลงมัวเมา ในวัยใดวัยหนึ่ง ประการสำคัญ ต้องหมั่นฝึกอบรมตนให้ตั้งอยู่ในคุณความดี อันเป็นคุณธรรมอันประเสริฐในหมู่มนุษย์ด้วยกัน และรักษาความดีของตนได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย.

ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ   จิตฺตเกฺลเสหิ ปณฺฑิโต.          สํ.มหา. ๑๙/๒๙

บัณฑิตพึงทำตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองจิต.     ขุ.ธ. ๒๕/๒๖

บัณฑิต ในที่นี้ หมายถึง ท่านผู้มีปรีชาญาณ อีกนัยหนึ่งได้แก่ ท่านผู้มีปัญญา ฉลาด รอบรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ ประพฤติตนให้หมดจดจากกิเลสทั้งปวง คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เพราะคนเราเมื่อถูกกิเลสครอบงำแล้ว ก็ทำให้จิตเศร้าหมอง เมื่อจิตเศร้าหมองขุ่นมัวแล้ว จะพูดก็ตาม คิดก็ตาม ย่อมเป็นไปแต่ในทางที่ผิด เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองจิตอยู่เสมอ.

อตฺตานญฺเจ ตถา กยิรา   ยถญฺญมนุสาสติ.          ขุ.ธ. ๒๕/๓๖

ถ้าพร่ำสอนผู้อื่นฉันใด ก็ควรทำตนฉันนั้น.

ผู้พร่ำสอนที่ดีนั้น ต้องเป็นทั้งผู้แนะ และผู้นำ ผู้แนะ คือ ผู้ชี้ทางให้รู้ว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ เป็นผู้นำ คือ ทำตัวให้เป็นแบบฉบับที่ดี ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม หาเลี้ยงชีพโดยสุจริต เป็นต้น เมื่อทำได้ดังนี้ จะพร่ำสอนใครเขาก็จะยินดีรับฟัง และปฏิบัติตาม แต่การที่จะปฏิบัติตนให้ได้ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จะต้องเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ลืมตัว มีสติอยู่เสมอ จึงชื่อว่า เป็นผู้พร่ำสอนที่ดี.

อตฺตนา โจทยตฺตานํ.          ขุ.ธ. ๒๕/๖๖

จงเตือนตนด้วยตนเอง.

การเตือนตน คือ การพร่ำสอนตนให้มีสติสัมปชัญญะขึ้นมา เพื่อเพื่อเตือนตนให้รู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควรทำหรือไม่ควรทำ และพยายามคอยสอดส่องดูโทษ ความผิดพลาด และข้อบกพร่องของตนเองอยู่เสมอ ไม่ต้องให้ใครมาคอยเตือน พร้อมทั้งอย่ามัวไปคอยเพ่งดูโทษหรือความผิดของผู้อื่นอยู่ จงหมั่นตรวจดูความผิดของตนเองอยู่ทุกเมื่อ เมื่อเราพยายามเพ่งจับผิดตนบ่อยๆ ความผิดมันก็จะไม่เกิดขึ้นหรือถ้าเกิดก็เกิดขึ้นน้อย และเมื่อพบแล้วต้องใช้สติปัญญาแก้ไขความผิดนั้นให้หมดไป โดยไม่ทำความผิดขึ้นอีก.

ปฏิมํเสตมตฺตนา.          ขุ.ธ. ๒๕/๖๖

จงพิจารณาตนด้วยตนเอง.

เบื้องต้นพึงเข้าใจการพิจารณาเสียก่อน การพิจารณา หมายถึง การเอาสติปัญญาไปเพ่งเพื่อให้รู้ชัด ให้เข้าใจในสิ่งนั้นๆ แต่ในที่นี้ หมายความถึงการพิจารณาตน ตน ในที่นี้ หมายถึง กายกับใจรวมกัน เพื่อให้รู้แจ้งว่า ตอนนี้มันเป็นอย่างไร ทำอะไรอยู่ พอรู้แล้วก็พยายามฝึกบังคับ คือ ชักดึงให้มันดำเนินไปในทิศทางที่ดี ไม่ให้หลงไปในทางเสื่อมเสียได้ จึงได้ชื่อว่า พิจารณาตนอย่างถูกต้อง.

ทุคฺคา อุทฺธรถตฺตานํ   ปงฺเก สนฺโน กุญฺชโร.          ขุ.ธ. ๒๕/๕๘

จงถอนตนขึ้นจากหล่ม เหมือนช้างตกหล่มถอนตนขึ้นฉะนั้น.

คำว่า หล่ม ในที่นี้ หมายถึง กิเลสตัณหานั่นเอง การที่จะถอนตนขึ้นจากหล่มนั้น ต้องพิจารณาดูความประพฤติทางกาย วาจา ใจ ถ้าเห็นว่า ประพฤติไปในทางที่ชั่ว ก็พยายามถอนตนขึ้นจากหล่ม คือ ความชั่วนั้น ด้วยการประกอบสุจริต ๓ คือ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต แต่ถ้าเห็นว่า ประพฤติตนไปในทางที่ดี ก็พยายามทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั้งถอนตนขึ้นจากหล่ม คือ กิเลสได้โดยเด็ดขาด เหมือนช้างที่ตกหล่มแล้วถอนตัวขึ้นจากหล่มฉะนั้น.

อตฺตานุรกฺขี ภว มา อฑยฺหิ.          ขุ.ชา. ปกิณฺณก. ๒๗/๓๗๒

จงเป็นผู้ตามรักษาตนอย่าให้เดือดร้อน.

กายกับใจรวมกัน เรียกว่า ตน ฉะนั้น การรักษาตน ก็คือ การรักษากายและใจนั้นเอง ซึ่งมีอยู่ ๒ ทาง คือ ภายนอก และภายใน ภายนอก ได้แก่ การที่พยายามหลีกเว้นจากการพูด และการทำ ซึ่งเป็นเหตุก่อความทุกข์ ความเดือดร้อนมาให้ รวมทั้งดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์อยู่เสมอ ภายใน ไดแก่ รักษาจิตใจให้สะอาด ปราศจากมลทิน คือ กิเลสตัณหา ทั้งอย่างหยาบไปจนกระทั่งถึงอย่างละเอียด ไม่ให้ครอบงำได้ จึงจะเป็นการรักษาตนให้สะอาดทั้งภายนอก และภายใน.

อตฺตานญฺจ น ฆาเตสิ.          ขุ.ชา. มหา. ๒๘/๒๗๙

อย่าฆ่าตนเสีย.

คำว่า ฆ่า หมายถึง การทำให้ตาย แต่ในที่นี้ การฆ่าตน หมายถึง การทำให้ตายจากคุณความดี ทำตนให้เลวลงกว่าเดิม คือ เป็นคนหลงมัวเมาในอบายมุข เช่น เป็นนักเลงสุรา เป็นต้น เขาเรียกคนแบบนี้ว่า ตายทั้งเป็น เพราะฉะนั้น เราอย่าฆ่าตนเองด้วยการทำความชั่วหรือทำตัวให้เลวลงเลย ควรส่งเสริมตนด้วยการประกอบคุณงามความดีตลอดทั้ง ๓ วัย คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย โดยสม่ำเสมอ.

อตฺตานํ น ทเท โปโส.          สํ.ส. ๑๕/๖๐

บุรุษไม่พึงให้ซึ่งตน.

ไม่พึงให้ซึ่งตน หมายความว่า ไม่พึงปล่อยตนเอง อธิบายว่า การปล่อยตน คือ การไม่รักษาภาวะของตนให้คงที่หรือให้ยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม มีแต่ทำตนให้ตกอยู่ในทางที่ต่ำเสมอ ตนมีดีอยู่แล้วก็ไม่รักษาความดีให้ยั่งยืน ฉะนั้น จงหมั่นฝึกตนอย่าให้ใจของตนไปหลงใหลในสิ่งที่ไม่ดีด้วยการข่มไว้ฝืนไว้ การฝึกใจตนได้ดังนี้แล้วจะมีตน คือ คุณความดีเป็นที่พึ่งไปตลอดกาล.

                                                         อตฺตานํ น ปริจฺจเช.          สํ.ส. ๑๕/๖๐

บุรุษไม่พึงสละเสียซึ่งตน.

การไม่สละตน คือ ไม่ปล่อยตนให้ไปตามอำนาจกิเลสหรือไม่ปล่อยเวลาอันมีค่าของตนโดยเปล่าประโยชน์ เพราะว่าผู้ที่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป ชื่อว่า อยู่ด้วยความประมาท ผู้ที่ปล่อยตนไปตามอำนาจกิเลส ชื่อว่า ปล่อยตนเป็นทาส ปล่อยกาย วาจา และใจ ให้กิเลสเป็นผู้ชักนำ บัญชาการ เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมจะมีแต่ความเสื่อมโดยส่วนเดียว เพราะกิเลสจะทำให้เลวลงกว่าเดิม ควรจะสละตนไปในทางที่ดี มีการประกอบสุจริต ๓ เป็นต้น จึงจะทำตนให้ดำเนินไปสู่ทางที่ดี ที่เจริญ.

อตฺตานํ นาติวตฺเตยฺย.          ขุ.ชา. ตึส. ๒๗/๕๐๓

บุคคลไม่ควรลืมตน.

คำว่า ลืมตัวลืมตน พูดตามหลัก คือ เป็นคนหลงมัวเมา ไม่รู้เท่าทันความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ท้ายที่สุดก็ต้องดับต้องสลายไปตามกาลเวลา หากไม่รีบขวนขวายทำความดีแล้ว ผู้ที่ลืมตัวมักไม่นึกถึงฐานะของตนว่าแค่ไหน เพียงไร มักทำเกินฐานะที่เป็นอยู่ เคยทุกข์กลับมั่งมีก็มักจะลืมภาวะเดิม กลายเป็นคนเมาลาภ เมายศ เมาอำนาจ ไม่นึกว่า สิ่งที่ตนได้มานั้นจะต้องเสื่อมไปในภายหลัง เพราะฉะนั้น บุคคลที่ไม่หลงตน ต้องประกอบด้วยสติ และความไม่ประมาทอยู่ตลอดเวลา.

อตฺตทตฺถํ ปรตฺเถน   พหุนาปิ น หาปเย.          ขุ.ธ. ๒๕/๓๗

ไม่ควรพร่ำประโยชน์ตน เพราะประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก.

ประโยชน์ แปลว่า สิ่งที่พึงได้พึงถึง มี ๓ อย่าง คือ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ภพนี้, สัมปรายิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ในภพหน้า และปรมัตถประโยชน์ ประโยชน์อย่างยอดเยี่ยม รวมกันเป็นประโยชน์ส่วนตัว และประโยชน์ส่วนรวม ท่านสอนว่า ให้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน ทำประโยชน์ส่วนตนให้สำเร็จก่อน แล้วจึงไปทำประโยชน์ของผู้อื่นตามสมควรแก่กำลังความสามารถของตนอย่างเต็มที่ในภายหลัง.  

อตฺตานญฺเจ ปิยํ ชญฺญา   น นํ ปาเปน สํยุเช.          สํ.ส. ๒๕/๑๐๔

ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ไม่ควรประกอบตนนั้นด้วยความชั่ว.

ถ้าจะเปรียบความรักระหว่างตัวเอง และผู้อื่นแล้ว ความรักตัวเองนั้นมีมากยิ่งกว่ารักผู้อื่น และวัตถุอื่นๆ ทั้งหมด เมื่อรักตนเองมาก ก็จงรักตัวเองให้ถูกทาง ไม่ให้ไปหลงมัวเมาในสิ่งอันนำมาซึ่งความทุกข์ ความเดือดร้อน มียาเสพติด เป็นต้น อันเป็นความชั่ว เป็นการทำตัวเองให้ตกต่ำลง จงพยายามพาตนให้ได้รับแต่สิ่งที่ดีๆ เช่น ฝึกหัดบังคับตนให้ทำความดี ถึงว่ามันจะยากก็ตาม ก็ไม่ท้อถอย ไม่เอนเอียงไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาที่ชักนำให้ทำแต่ความชั่ว เช่นนี้จึงจะได้ชื่อว่า เป็นผู้รักตนอย่างแท้จริง.

ยทตฺตครหึ ตทกุพฺพมาโน.          ขุ.สุ. ๒๕/๔๘๖

ติตนเองเพราะเหตุใด ไม่ควรทำเหตุนั้น.

การที่จะติเตียนหรือสั่งสอนอบรมตนเอง จะต้องไม่ลำเอียงเข้าข้างตน ต้องวางตนให้เป็นกลาง พิจารณาตนเองโดยเหตุผล ถ้าพบความผิดหรือความไม่ดีของตนก็ติเตียนตนเองด้วยให้สัญญาสิ่งใดไว้กับตนแล้วก็จงรักษาสัญญานั้น เช่น สัญญาว่าจะไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ก็ต้องไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า จึงจะนำพาตนให้มีความสุข ความเจริญได้.

-------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

คณาจารย์แห่งโรงพิมพ์เลี่ยงเชียง. พุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๑ ฉบับมาตรฐาน, กรุงเทพ

: โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง, ๒๕๕๐.

จันทรุปราคาในวันวิสาขบูชา 26 พฤษภาคม 2564

 

จันทรุปราคาในวันวิสาขบูชา 26 พฤษภาคม 2564 

เวลาหัวค่ำของวันพุธที่ 26 พฤษภาคม 2564 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา จะเกิดจันทรุปราคาซึ่งเป็นผลจากดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเข้าไปในเงาโลก ประเทศไทยสามารถสังเกตเห็นได้ทั่วทุกภาค โดยจันทรุปราคากำลังดำเนินอยู่ขณะดวงจันทร์ขึ้นเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก และส่วนใหญ่ของประเทศเห็นได้ในช่วงที่เป็นจันทรุปราคาบางส่วนเท่านั้น ไม่เห็นในช่วงที่เป็นจันทรุปราคาเต็มดวง เนื่องจากจันทรุปราคาเต็มดวงสิ้นสุดลงก่อนดวงจันทร์ขึ้น

เงาโลกแบ่งได้เป็นสองส่วน ได้แก่ เงามืดและเงามัว เงามืดมีความทึบแสงมากกว่าเงามัวหลายเท่า ช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ในเงามัวจะแทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ช่วงที่เริ่มเห็นดวงจันทร์แหว่งได้ชัดเจนคือเมื่อดวงจันทร์เริ่มสัมผัสเงามืด (เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน) ครั้งนี้เกิดขึ้นเวลา 16.45 น. เวลานั้นดวงอาทิตย์ยังอยู่บนท้องฟ้า และดวงจันทร์ยังไม่ขึ้น

จันทรุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นในช่วงที่ดวงจันทร์ทั้งดวงอยู่ในเงามืด ตรงกับเวลา 18.11-18.26 น. ช่วงเวลาดังกล่าว พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังไม่เห็นดวงจันทร์ บริเวณที่ดวงจันทร์ขึ้นแล้ว ได้แก่ ด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปลายสุดของภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่างสุด อย่างไรก็ตาม การสังเกตการณ์แทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากตรงกับช่วงที่ดวงอาทิตย์เพิ่งจะตก ท้องฟ้ายังสว่างอยู่ และดวงจันทร์เพิ่งจะโผล่พ้นขอบฟ้า อาจมีเมฆหมอกมาบดบัง

หลังจากสิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวงแล้ว พื้นที่บางส่วนของดวงจันทร์ยังอยู่ในเงามืด โดยจันทรุปราคาบางส่วนจะสิ้นสุดในเวลา 19.52 น. เวลาสัมผัสเงาในแต่ละขั้นตอนของจันทรุปราคาเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ แต่ตำแหน่งดวงจันทร์ที่มองเห็นจากแต่ละสถานที่ไม่เหมือนกัน และเวลาดวงจันทร์ขึ้นก็ต่างกันด้วย ดังที่แสดงตัวอย่างของกรุงเทพฯ และบางจังหวัดในตารางต่อไปนี้


การเกิดจันทรุปราคา 26 พฤษภาคม 2564

สถานที่

ดวงจันทร์ขึ้น * 

มุมเงย 18.26 น.

มุมเงย 19.52 น.

กรุงเทพฯ

18.41

-

15°

ขอนแก่น

18.36

-

16°

จันทบุรี

18.33

-

17°

เชียงใหม่

18.57

-

11°

นครพนม

18.30

-

17°

นครราชสีมา

18.37

-

16°

นราธิวาส

18.24

19°

ประจวบคีรีขันธ์

18.41

-

15°

ภูเก็ต

18.40

-

15°

สงขลา

18.30

-

18°

อุบลราชธานี 

18.26

18°

       *คำนวณต่างจากกรณีทั่วไปที่วัดจากขอบบนของดวงจันทร์ ในที่นี้แสดงเวลาที่ดวงจันทร์ทั้งดวงเริ่มขึ้นมาอยู่เหนือขอบฟ้า

จากตารางจะเห็นว่า ดวงจันทร์อยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก การสังเกตจันทรุปราคาในวันนี้จึงจำเป็นต้องหาสถานที่ซึ่งท้องฟ้าด้านทิศตะวันออกเปิดโล่ง ไม่มีอะไรมาบดบัง นอกจากนี้ ในช่วงแรกหลังจากดวงจันทร์เพิ่งจะขึ้น ท้องฟ้าที่ยังไม่มืดดีนักจะเป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่ง

ดวงจันทร์เต็มดวงขณะใกล้โลกที่สุด

จันทรุปราคาครั้งนี้เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุดหรือที่บางคนเรียกว่า ซูเปอร์มูน (supermoon) โดยขนาดของดวงจันทร์จะใหญ่กว่าค่าเฉลี่ยราว 7-8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้แตกต่างมากจนสังเกตได้ชัดด้วยตาเปล่า อย่างไรก็ตาม ทุกคนจะรู้สึกว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ผิดสังเกตเสมอเมื่อเห็นดวงจันทร์อยู่ใกล้ขอบฟ้า โดยไม่จำเป็นต้องเกิดซูเปอร์มูน อันเกิดจากการที่มีฉากหน้า เช่น สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ภูเขา มาอยู่ใกล้ดวงจันทร์ให้เกิดการเปรียบเทียบ หากคำนวณแล้ว ในคืนนั้น ดวงจันทร์เมื่ออยู่สูงสุดบนท้องฟ้าราวเที่ยงคืน มีระยะทางที่ใกล้กับผู้สังเกตซึ่งอยู่บนผิวโลกมากกว่าเวลาที่ดวงจันทร์เพิ่งจะขึ้นเหนือขอบฟ้าหรือใกล้จะตกลับขอบฟ้าเสียอีก

ปีนี้จะมีจันทรุปราคาเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งตรงกับเทศกาลลอยกระทง เป็นจันทรุปราคาบางส่วนที่เห็นได้ในบางพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะซีกด้านตะวันออกของประเทศ

------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

วรเชษฐ์ บุญปลอด, สมาคมดาราศาสตร์ไทย,

 ,http://thaiastro.nectec.or.th/skyevent/article/lunareclipse-may2021/

วันวิสาขบูชา ๒๕๖๔

 

วันวิสาขบูชา ๒๕๖๔

วันวิสาขบูชา ๒๕๖๔ ปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔

วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ๓ ประการ คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และปรินิพพาน

วิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ วิสาขบูชา ย่อมาจาก วิสาขบุรณมีบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน ๗

ความสำคัญ วันวิสาขบูชา

เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือ เกิด ตรัสรู้ คือ สำเร็จ ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง ๓ คราว คือ

ประสูติ เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ลุมพินีสถาน เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระสวามี ให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเดิมของพระนาง เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ครั้นพระกุมารประสูติได้ ๕ วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า สิทธัตถะ ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ออกบวช จนบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณอันประเสริฐสูงสุด) สำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือว่าวันนี้เป็นวันประสูติของพระพุทธเจ้า

ตรัสรู้ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมโพธิญาณ ณ ร่มพระศรีมหาโพธิบัลลังก์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี การตรัสอริยสัจสี่ คือของจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ของพระพุทธเจ้า เป็นการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม ไม่มีผู้เสมอเหมือน วันตรัสของพระพุทธเจ้า จึงจัดเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันที่ให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลกชาวพุทธทั่วไป จึงเรียกวันวิสาขบูชาว่า วันพระพุทธ(เจ้า) อันมีประวัติว่า พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่า การเข้าฌาน เพื่อให้บรรลุ ญาณ จนเวลาผ่านไปจนถึง ยามต้น ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสานุติญาณ คือ ทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเอง และผู้อื่น, ยามสอง ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย และยามสาม ทรงบรรลุ อาสวักขญาณ คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจสี่ ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ขณะนั้น พระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา

พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ, สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์, นิโรธ คือ ความดับทุกข์ และมรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์ เป็นสัจธรรม เรียกว่า อริยสัจ เพราะเป็นสิ่งที่พระอริยเจ้าทรงค้นพบ เป็นสัจธรรมชั้นสูง ประเสริฐกว่าสัจธรรมสามัญทั่วไป

ปรินิพพาน เป็นวันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ร่มไม้รัง (ต้นสาละ) คู่ ในสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน การปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ถือเป็นวันสำคัญของชาวพุทธทั่วโลกเพราะชาวพุทธทั่วโลกได้สูญเสียดวงประทีป ของโลก เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และครั้งสำคัญชาวพุทธทั่วไปมีความเศร้าสลด เสียใจและอาลัยสุดจะพรรณนา อันมีประวัติว่าเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ และแสดงธรรมมาเป็นเวลานานถึง ๔๕ ปี ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก

ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๖ พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ราตรีนั้น ได้มีปริพาชกผู้หนึ่ง ชื่อ สุภัททะ ขอเข้าเฝ้า และได้อุปสมบทเป็นพระพุทธสาวกองค์สุดท้าย เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน ๖

ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย

วันวิสาขบูชา นี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ.๔๒๐ พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่ สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมาก เพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

หนังสือนางนพมาศ กล่าวว่า บรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คือ พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน

ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาว

สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๖๐) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๖๐ และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน

ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุค ทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๘ พฤษภาคม รวม ๗ วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล ๕ หรือศีล ๘ ตามศรัทธาตลอดเวลา ๗ วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม ๒,๕๐๐ รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๔ พฤษภาคม รวม ๓ วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ ๒,๕๐๐ รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ ๒๐๐,๐๐๐ คน เป็นเวลา ๓ วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นๆ

ความสำคัญของวันวิสาขบูชา

พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานเวียนมาบรรจบในวัน และเดือนเดียวกัน คือ วันเพ็ญเดือนวิสาขะ จึงถือว่าเป็นวันที่สำคัญของพระพุทธเจ้า หลักธรรมอันเกี่ยวเนื่องจากการประสูติ ตรัสรู้และเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ความกตัญญู อริยสัจ ๔ และความไม่ประมาท

วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่สุดของพุทธศาสนา เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓ อย่าง เกิดขึ้นในวันเดียวกัน คือ ประสูติ ตรัสรู้ธรรม และปรินิพพาน วันวิสาขบูชาตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖

ชาวพุทธศาสนิกชนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชา นี้ และเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ สหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก และเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติ เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติเมื่อ ๒๖๐๐ กว่าปี ล่วงมาแล้ว

พระ บิดาพระนามว่าพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดาพระนามว่าพระนางสิริมหามายา ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เป็นเจ้าชายในราชสกุลโคตมะ แห่งเมืองกบิลพัสดุ์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย คำว่า 'พุทธ' หรือ 'พุทธิ' ในภาษาบาลีและสันสกฤตมีความหมายเหมือนกัน แปลว่า ปัญญา หรือ การตรัสรู้

พระไตรปิฎก กล่าวว่า พระพุทธเจ้า คือ ผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงเป็นผู้รู้สัจธรรม และทรงมีพระญาณทัศนะกว้างไกลที่พระองค์ทรงรู้เห็นกำเนิด และความเป็นไปของสัตว์โลกตลอดภพสาม มีพระพุทธเจ้านับไม่ถ้วนพระองค์ได้อุบัติขึ้นในโลกนี้ เมื่อแต่ละพระองค์ตรัสรู้ธรรมอันประเสริฐแล้ว ทรงสั่งสอนธรรมะเพื่อให้ชาวโลกพ้นจากวัฏสงสารด้วยมหากรุณา ในอปทานสูตร และพุทธวงศ์ กล่าวถึงการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ นานนับอสงไขยกว่าที่จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

ขุททกนิกาย ชาดก ได้กล่าวถึง ๕๔๗ ชาติของพระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ มาตลอดกว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเป็นผู้มีบุญที่เพียบพร้อมด้วยสติปัญญา และความเมตตา หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้เพียง ๗ วัน พระมารดาก็สวรรคต พระน้านาง คือ พระนางปชาบดีโคตมี เป็นผู้บำรุงเลี้ยงรักษา หลังจากประสูติได้ไม่นาน พระบิดาได้อัญเชิญอสิตดาบสมาทำนายอนาคตของเจ้าชายสิทธัตถะ อสิตดาบสแสดงอาการประหลาดต่อหน้าพระที่นั่งคือ หัวเราะและร้องไห้ หัวเราะเพราะดีใจที่ได้เห็นเจ้าชายสิทธัตถะ และได้ทำนายว่าเจ้าชายจะตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน แต่ร้องไห้เพราะอสิตดาบสนั้นจะมีอายุไม่ยืนยาวทันรับฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์นี้ คำทำนายนี้ได้รับการยืนยันจาก โกณฑัญญะ ซึ่งเป็นดาบสอีกท่านหนึ่งที่ทำนายว่า เจ้าชายสิทธัตถะจะสละราชสมบัติ เมื่อผนวชแล้วจะบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ส่วนดาบสอื่นๆ ล้วนทำนายว่า ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะไม่ทรงผนวช จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ คำทำนายดังกล่าวสร้างความตระหนกพระทัยแก่พระเจ้าสุทโธทนะเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงปรารถนาจะให้เจ้าชายสิทธัตถะปกครองแว่นแคว้นสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ และเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ จึงทรงป้องกันเจ้าชายสิทธัตถะไม่ให้เห็นความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวดต่างๆ ที่จะทำให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงรู้สึกเบื่อหน่าย และอยากออกบวช

พระเจ้าสุทโธทนะ จึงทรงมีพระบัญชาให้เหล่าอำมาตย์เสนาบดี ช่วยกันสร้างปราสาทสามฤดูแก่เจ้าชาย ปราสาทแต่ละแห่งแวดล้อมด้วยเหล่าสนมกำนัลที่สวยงาม ชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนทรงออกผนวช จึงเป็นชีวิตที่เพียบพร้อมด้วย รูปสมบัติ และทรัพย์สมบัติอย่างแท้จริง เมื่อเจ้าชายทรงพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา พระมเหสี คือ พระนางยโสธรา พิมพาประสูติพระโอรส พระนามว่า ราหุล วันหนึ่งเจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงรถม้าประพาสสวนนอกเมือง ทรงเห็นคนแก่ คนป่วย คนตาย และนักบวช ภาพคนแก่ คนป่วย และคนตายทำให้พระองค์นึกถึงความทุกข์ และความไม่เที่ยงแท้ของสังขารมนุษย์

เจ้าชายสิทธัตถะจึงทรงออกจากวัง ถือเพศเป็นนักบวชเที่ยวภิกขาจารไปเพื่อแสวงหาโมกขธรรม วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อมีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้ธรรม ณ ใต้ควงต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะบรรลุธรรม เจ้าชายสิทธัตถะได้แสวงหาผู้สอนวิธีหลุดพ้นแก่พระองค์ ๒ คนคือ อาฬารดาบส และอุทกดาบส ซึ่งทั้งสองนี้สอนพระองค์ให้ได้ญานชั้นสูง แต่ไม่บรรลุธรรม เมื่อพระองค์บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงประกาศธรรม เผยแผ่คำสอนที่สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติตามพ้นทุกข์ตามพระองค์ไปได้ พระพุทธองค์ ทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นเวลา ๔๕ ปี ทรงวางรากฐานพระพุทธศาสนา และมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ซึ่งในสมัยนั้นมีตั้งแต่ กษัตริย์ เจ้าชาย พ่อค้า แม่ค้า พราหมณ์ เศรษฐี ยาจกเข็ญใจ และชนทุกชั้นในสังคม

หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ

๑. กตัญญู กตเวที ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว้ก่อนเป็นคุณธรรมคู่กับ ความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการะคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้นผู้ที่ทำอุปการรคุณก่อนเรียกว่า บุพการี ขอยกมากล่าวในที่นี้คือ บิดามารดา และครูอาจารย์ บิดามารดา มีอุปการะคุณแก่บุตร ธิดา ในฐานะเป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ให้การศึกษา อบรมสั่งสอน ให้ละเว้นจากความชั่ว มั่นคงในการทำความดี เมื่อถึงคราวมีคู่ครองได้จัดหาคู่ครอบที่เหมาะสมให้และมอบทรัพย์สมบัติให้ ไว้เป็นมรดก บุตร ธิดา

เมื่อรู้อุปการะคุณที่บิดามารดาทำไว้ย่อมตอบแทนด้วยการ ประพฤติตัวดี สร้างชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล เลี้ยงดูท่าน และช่วยทำงานของท่าน และเมื่อล่วงลับไปแล้วก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน ครูอาจารย์ มีอุปการะคุณแก่ศิษย์ในฐานะเป็นผู้ประสาทความรู้ให้ ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดีสอนศิลปวิทยาให้อย่างไม่ปิดบัง ยกย่องให้ปรากฎแก่คนอื่นและช่วยคุ้มครองศิษย์ทั้งหลาย ศิษย์เมื่อรู้อุปการคุณที่ครูอาจารย์ทำไว้ย่อมตอบแทนด้วยการตั้งใจเรียน ให้เกียรติ และให้ความเคารพไม่ล่วงละเมิดโอวาทของครู ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนดีส่งผลให้ครอบครัว และสังคมมีความสุขได้ เพราะบิดามารดาจะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน และบุตร ธิดา ก็จะรู้จัก หน้าที่ของตนเองด้วยการทำดีตอบแทน

ครูอาจารย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณ คือ สอนศิลปวิทยาอย่างเต็มที่ และศิษย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเอง ด้วยการตั้งใจเรียน และให้ความเคารพเป็นการตอบแทน นอกจากจะใช้ในกรณีของบิดามารดากับบุตรธิดา และครูอาจารย์กับศิษย์แล้ว คุณธรรมข้อนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้แม้ระหว่าง พระมหากษัตริย์กับพสกนิกร นายจ้างกับลูกจ้าง เพื่อนกับเพื่อน และบุคคลทั่วไป รวมทั้งมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

ทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุพการีในฐานะที่ทรงสถาปนาพุทธศาสนา และทรงสอนทางพ้น ทุกข์ให้แก่เวไนยสัตว์ พุทธศาสนิกชน รู้พระคุณอันนี้ จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา กล่าวคือ การจัดกิจกรรมในวันวิสาขบูชา เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ ด้วยการทำนุบำรุงส่งเสริม พุทธศาสนา และประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อดำรงอายุพุทธศาสนาสืบไป

๒. อริยสัจ ๔ อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึง ความจริงที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคนมี ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า มนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกันทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐาน และทุกข์เกี่ยวกับการ ดำเนินชีวิตประจำวัน

ทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่ และการตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวันคือ ทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการไม่ได้ตามใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ สมุทัย คือ เหตุแห่งปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาของชีวิตล้วนมีเหตุให้เกิดเหตุนั้น คือ ตัณหา อันได้แก่ ความอยากได้ต่างๆ

ซึ่งประกอบไปด้วย ความยึดมั่น นิโรธ คือ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิตทั้งหมดนั้นแก้ไขได้ โดยการดับตัณหา คือ ความอยากให้หมดสิ้น มรรค คือ ทางหรือวิธีแก้ปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็ เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิตทั้งหมดที่สามารถแก้ไขได้นั้นต้องแก้ไขตามมรรคมีองค์ ๘

๓. ความไม่ประมาท ความไม่ประมาท คือ การมีสติทั้งขณะทำ ขณะพูด และขณะคิด สติ คือ การระลึกรู้ทัน ที่คิด พูดและทำ ในภาคปฏิบัติเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หมายถึง การระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหวอิริยาบถ ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน การฝึกให้เกิดสติ ทำได้โดยตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวอิริยาบถกล่าวคือ ระลึกรู้ทันในขณะยืน เดิน นั่งและนอน รวมทั้งระลึกรู้ทันในขณะพูด ขณะคิด และขณะทำงานต่างๆ

ในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุอัน ได้แก่ พระธาตุเจดีย์หรือพระพุทธปฏิมา ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเครื่องบูชามีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ด้วยบทสวดมนต์ตามลำดับดังนี้คือ

บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปนโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะธัมมะสาระถิ สัตถาเทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ

สวากขาโต ภะคะวา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ. บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสสะ ยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชะลีกะระนีโย อะนุตตะรัง ปุญญะเขตตัง โลกัสสาติ

จากนั้นก็จะกระทำ ประทักษิณ หรือที่เรียกว่า เวียนเทียน รอบพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฎิมาในพระอุโบสถ ด้วยการเดินเวียนขวาสามรอบ รอบแรกจะสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ รอบที่สองจะสวดบทสรรเสริญพระธรรมคุณ และรอบที่สามสวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ เมื่อครบ ๓ รอบแล้วจึงนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธรูปในพระอุโบสถ ณ ที่บูชาอันควรเป็นอันเสร็จพิธีเวียนเทียน

แสดงพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถ ซึ่งปกติจะมีเทศน์ ปฐมสมโพธิ ซึ่งเป็นเรื่องพระพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน พิธีเริ่มตั้งแต่ประชุมฟังพระทำวัตรสวดมนต์ แล้วจึงฟังเทศน์ซึ่งจะมีไปตลอดรุ่ง

วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ คือ วันสำคัญของโลก ( Vesak Day )

ภูมิหลัง

๑. ในการประชุม International Buddhist Conference ณ กรุงโคลัมโบ ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากเข้าร่วม อาทิ บังคลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฐาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ได้ตกลงกันที่จะเสนอให้สมัชชาสหประชาชาติรับรองข้อมติประกาศวัน วิสาขบูชาให้เป็นวันหยุดของสหประชาชาติ

๒. ในการเยือนของประเทศต่างๆ ในอินโดจีนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา ในปี ๒๕๔๒ ก็ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือ และได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ ได้ด้วยดี

๓. คณะทูตถาวรศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กได้จัดเตรียมร่างข้อมติ และได้ขอเสียงสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ เพื่อให้มีการรับรองข้อมติเรื่องการประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดของสหประชาชาติในที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๔

๔. โดยที่สหประชาชาติประกาศวันหยุดเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และจะเป็นปัญหาในเรื่องงบประมาณและการบริหารแก่ สหประชาชาติ หากประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุด ศรีลังกาจึงได้ตัดสินใจที่จะเสนอร่างข้อมติ ขอให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลที่สหประชาชาติ ทั้งที่สำนักงานใหญ่ และสำนักงานต่าง ๆ แทนการเสนอให้เป็นวันหยุดซึ่ง ออท. ผู้แทนถาวรประเทศต่าง ๆ รวม ๑๖ ประเทศ ได้แก่ ศรีลังกา บังคลาเทศ ภูฐาน กัมพูชา ลาว มัลดีฟส์ มองโกเลีย พม่า เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สเปน อินเดีย ไทย และยูเครน ได้ร่วมลงนามในหนังสือถึงประธานสมัชชาฯ เพื่อให้นำเรื่องวันวิสาขบูชาเข้าเป็นระเบียบวาระการประชุมของสมัชชาฯ

๕. ต่อมาเมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ General Committee ของสมัชชาฯ ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดย ออท.ผู้แทน ถาวรศรีลังกาได้กล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนหนังสือร้องขอให้ที่ประชุมบรรจุระเบียบวาระดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสมัชชาเต็มคณะ ออท.ผู้แทนถาวรไทย อินเดีย สเปน บังคลาเทศ ปากีสถาน ไซปรัส ลาว และภูฐาน ได้กล่าวถ้อย แถลงสนับสนุน ซึ่งที่ประชุม General Committee ได้มีมติให้บรรจุเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาเต็มคณะ

ปัจจุบัน

๑. เมื่อ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๔ ได้พิจารณาระเบียบวาระที่ ๑๗๔ International recognition of the Day of Visak โดยการเสนอของศรีลังกา

๒. ในการพิจารณา ประธานสมัชชาฯ ได้เชิญผู้แทนศรีลังกาขึ้นกล่าวนำเสนอร่างข้อมติ และเชิญผู้แทนไทย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฐาน สเปน พม่า เนปาล ปากีสถาน อินเดียขึ้นกล่าวถ้อยแถลง สรุปความว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ทรงตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรม ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของ สหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึง (observance) ตามความเหมาะสม

๓. ที่ประชุมฯ ได้รับรองร่างข้อมติโดยฉันทามติ เหตุผลที่ องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของโลก เนื่องจากคณะกรรมมาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมพิจารณาและมีมติเห็นพ้องต้องกันประกาศให้วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลกทั้งนี้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวล มนุษย์ทั้งหลายในโลก จะเห็นได้จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ ให้รู้จักช่วยเหลือสัตว์ เหตุผลสำคัญ อีกประการหนึ่งคือ พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ โดย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธและทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณสอนโดยไม่คิดค่าตอบแทน

-----------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

ความรู้เกี่ยวกับวันสำคัญไทย (เสฐียรโกเศศ และ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ,๒๕๔๑ : ๓๙ - ๕๙)

วันวิสาขบูชา ๒๕๖๔ ปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔,

https://www.sanook.com/campus/๙๒๑๗๔๘/

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML