พระโมคคัลลานเถระ

 

พระโมคคัลลานเถระ


จิตติเทพ นาอุดม.

พธ.บ.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทาลัย,

ศศ.ม.สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา(ปรัชญาและศาสนา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

 

พระโมคคัลลานเถระ ชื่อเดิมว่า โกลิตะ เป็นชื่อที่บิดาและมารดาตั้งให้ เพราะเป็นบุตรของ ตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในโกลิตคาม บิดา ไม่ปรากฎชื่อ กล่าวเพียงว่าเป็นหัวหน้าในโกลิตคาม มารดา ชื่อ โมคคัลลี หรือมุคคลี ทั้งคู่เป็นวรรณะพราหมณ์ เกิดที่ บ้านโกลิตคาม ไม่ไกลจากนครราชคฤห์ ก่อนการอุบัติแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ทั้งหลาย (แก่กว่าพระพุทธเจ้า)

  โกลิตะ มีชื่อที่ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณี อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า โมคคัลลานะ เพราะเกิดโดยโมคคัลลีโคตร อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า โมคคัลลานะ เพราะเป็นผู้อาจ คือ สามารถในการได้ ในการถือเอา ในการรู้แจ้งมรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น เขามีสหายที่รักใคร่สนิทสนมกันมากคนหนึ่งชื่อ อุปติสสะ เป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหนัาในอุปติสสคาม ไปมาหาสู่และไปเที่ยวด้วยกันเป็นประจำ

อยู่มาวันหนึ่ง สหายทั้งสองนั้นกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ เห็นมหาชนมาประชุมกันเพื่อชมมหรสพ เพราะญาณของทั้งสองถึงความแก่กล้า จึงเกิดความคิดขึ้นโดยแยบคาย ได้ความสังเวชว่า คนเหล่านี้ทั้งหมดภายในร้อยปีเท่านั้นก็จะเข้าไปสู่ปากของมัจจุราช จึงทำการตัดสินใจว่า เราทั้งหลายควรแสวงหาโมกขธรรม และเมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมนั้น ควรได้บรรพชาสักอย่างหนึ่ง จึงพากันไปบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชก พร้อมกับมาณพ ๕๐๐ คน ตั้งแต่สองสหายนั้นบวชแล้ว สัญชัยปริพาชกได้มีลาภและยศอันเลิศ

โกลิตะพร้อมกับสหาย เรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมดโดยเวลาไม่นานนัก ไม่เห็นสาระของลัทธินั้น รู้สึกเบื่อหน่าย จึงคิดแสวงหาโมกขธรรมต่อไป โดยทำกติกากันว่า ใครบรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง อุปติสสปริพาชกได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาปัตติผล จึงกลับมาบอกโกลิตะผู้สหาย และแสดงธรรมให้ฟัง โกลิตะได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาปัตติผลเช่นเดียวกัน จึงพากันไปลาอาจารย์สัญชัยเพื่อไปเฝ้าพระศาสดา

พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นสองสหายพร้อมกับบริวารแต่ไกล ได้ตรัสว่า นี้จะเป็นคู่สาวกชั้นเลิศของเรา ทรงแสดงธรรมตามจริยาแห่งบริวารของสหายทั้งสองให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พวกเขาว่า เธอทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอทั้งหลาย จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์ โดยชอบเถิด

พระมหาโมคคัลลานเถระ บวชได้ ๗ วัน เข้าไปอาศัยบ้านกัลลวาลคาม ในมคธรัฐ บำเพ็ญสมณธรรม ถูกถีนมิทธะ คือ ความท้อแท้และความโงกง่วงครอบงำ ไม่สามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้ พระศาสดาได้เสด็จไปโปรดให้สลดใจ ด้วยพระดำรัสมีอาทิว่า โมคคัลลานะ ความพยายามของเธอ อย่าได้ ไร้ผลเสียเลย แล้วสอนธาตุกรรมฐาน ให้ท่านพิจารณาร่างกายแยกออกเป็นธาตุ ๔ คือ ปฐวี ธาตุดิน อาโป ธาตุน้ำ เตโช ธาตุไฟ วาโย ธาตุลม เนื้อและหนังเป็นต้นเป็นธาตุดิน เลือดเป็นต้นเป็นธาตุน้ำ ความอบอุ่น ในร่างกายเป็นธาตุไฟ ลมหายใจเป็นต้นเป็นธาตุลม แต่ละส่วนนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่ตัวตนของเรา ท่านกำจัดความท้อแท้และความโงกง่วงได้แล้ว ส่งใจไปตามกระแสเทศนา ได้บรรลุมรรคทั้ง ๓ เบื้องบนโดย ลำดับแห่งวิปัสสนา แล้วถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณในขณะ ได้บรรลุผลอันเลิศ คือ อรหัตผล

พระโมคคัลลานเถระ เป็นกำลังสำคัญของพระศาสดาในการประกาศพระศาสนา เพราะท่าน มีฤทธิ์มาก จนทำให้เจ้าลัทธิอื่น ๆ เสื่อมลาภสักการะ โกรธแค้นคิดกำจัดท่าน ดังคำปรึกษากันของ เจ้าลัทธิเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลายทราบหรือไม่ว่า เพราะเหตุไร ลาภสักการะจึงเกิดขึ้นแก่พระสมณโคดม เป็นจำนวนมาก พวกเดียรถีย์ที่รู้ตอบว่า พวกข้าพเจ้าทราบ ลาภสักการะเกิดขึ้นเพราะอาศัยพระเถระ รูปหนึ่งชื่อ มหาโมคคัลลานะ เพราะพระเถระนั้นไปยังเทวโลก ถามกรรมที่พวกเทวดาทำแล้ว กลับมาบอกกับพวกมนุษย์ว่า ทวยเทพทำกรรมชื่อนี้ ย่อมได้สมบัติอย่างนี้ ท่านไปยังนรกถามกรรม ของหมู่สัตว์ผู้เกิดในนรกแล้วกับมาบอก พวกมนุษย์ว่า พวกเนริยกสัตว์ทำกรรมชื่อนี้ ย่อมเสวยทุกข์ อย่างนี้ พวกมนุษย์ได้ฟังคำของพระเถระนั้นแล้ว เกิดความเลื่อมใสจึงนำลาภสักการะเป็นอันมากไปถวาย นี้นับว่าท่านเป็นกำลังสำคัญของพระศาสดา

อนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระ ยังทำงานประกาศพระศาสนาสัมพันธ์เป็นอันดีกับพระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ดังจะเห็นได้จากพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิดแก่บุตร โมคคัลลานะเปรียบเหมือน นางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณที่สูงขึ้นไป

พระมหาโมคคัลลานเถระ เมื่อสำเร็จพระอรหัตแล้ว เป็นผู้มีฤทธิ์มาก สามารถท่องเที่ยวไปยังเทวโลกและในนรกได้ ปราบผู้ร้ายทั้งหลาย เช่น นันโทปนันทนาคราช เป็นต้น จึงได้รับการยกย่องจากพระศาสดา ว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางเป็นผู้มีฤทธิ์

ในอดีตกาลนานหนึ่งอสงไขยกับอีกแสนกัปป์ ในพุทธุปบาทกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า อโนมทัสสี พระมหาโมคคัลลานะบังเกิดในตระกูลคหบดีมหาศาลชื่อ สิริวัฒนกุฏุมพี มีสหายชื่อ สรทมาณพ

สรทมาณพ ออกบวชเป็นดาบสได้ทำบุญแล้วปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๑ ในศาสนาของพระสมณโคดม ได้รับพยากรณ์ คือ การรับรองจากพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าว่า จะสำเร็จแน่แล้ว จึงไปชวนสิริวัฒนกุฏุมพีให้ปรารถนาตำแหน่ง สาวกที่ ๒ สิริวัฒนกุฏุมพีได้ตกลงตามนั้น แล้วได้ถวายมหาทานแก่พระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นเวลา ๗ วัน วันสุดท้ายได้ถวายผ้ามีราคามาก แล้วปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๒ พระศาสดาทรงเห็นความสำเร็จของเขา แล้วได้พยากรณ์ว่า อีกหนึ่งอสงไขยกับแสนกัปป์ จะได้เป็นสาวกที่ ๒ ของพระโคดมพุทธเจ้า มีนามว่า โมคคัลลานะ เขาได้ทำกุศลกรรมตลอดมา จนถึงชาติสุดท้าย เกิดในครรภ์ของนางโมคคัลลีพราหมณี มีชื่อว่า โมคคัลลานะ ออกบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้รับตำแหน่งอัครสาวกตามปรารถนาที่ตั้งไว้

ไฟไม่ได้ตั้งใจเลยว่า เราจะเผาไหม้คนโง่เขลา คนโง่เขลาต่างหากเข้าไปหาไฟที่กำลังลุกอยู่แล้วให้ไฟไหม้ตนเอง ดูก่อนมารผู้ใจบาป ท่านเข้าไปหาพระพุทธเจ้า แล้วเผาตัวของท่านเอง เหมือนกับคนโง่ที่ไปจับไฟ ดูก่อนมารผู้ใจบาป ท่านเข้าไปหาพระพุทธเจ้า แต่กลับได้บาปกลับมาซ้ำยังเข้าใจผิดว่า ไม่เห็นจะบาปอะไร (บาปแล้วยังโง่อีก)

พระมหาโมคคัลลานเถระ นิพพานที่ตำบลกาฬศิลา แคว้นมคธ นิพพานก่อน พระศาสดา แต่นิพพานภายหลังพระสารีบุตร ๑๕ วัน พระศาสดาเสด็จไปทำฌาปนกิจแล้ว ให้นำอัฐิธาตุมาก่อเจดีย์ บรรจุไว้ที่ใกล้ประตูเวฬุวันวิหาร

 

---------------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘, ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา,

https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8478&Z=8642.

พระสารีบุตรเถระ

 

พระสารีบุตรเถระ


จิตติเทพ นาอุดม.

พธ.บ.มหวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย,

ศศ.ม.สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา(ปรัชญาและศาสนา) มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์.


พระสารีบุตรเถระ ชื่อเดิมว่า อุปติสสะ เป็นชื่อที่บิดามารดาตั้งให้ เพราะเป็นบุตรของตระกูล ผู้เป็นหัวหน้าในอุปติสสคาม บิดาชื่อ วังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อ นางสารีหรือรูปสารี เกิดที่อุปติสสคาม ไม่ไกลพระนครราชคฤห์ ก่อนการอุบัติแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย การศึกษา ได้สำเร็จศิลปศาสตร์หลายอย่าง เพราะเป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม ศึกษาได้รวดเร็ว อุปติสสะมีชื่อที่ชาวบ้านเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สารีบุตร เพราะเป็นบุตรของนางสารี แต่เมื่อเข้ามาบวชในพุทธศาสนา เพื่อนสพรหมจารีเรียกท่านว่า พระสารีบุตร อุปติสสะมีสหายคนหนึ่งชื่อ โกลิตะ เป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในโกลิตคาม ทั้งสองมีฐานะทางครอบครัวเสมอกัน จึงไปมาหาสู่และไปเที่ยวด้วยกันเป็นประจำ

อยู่มาวันหนึ่ง คนทั้งสองนั้นกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ เห็นมหาชนประชุมกัน เพราะญาณของทั้งสองถึงความแก่กล้า จึงเกิดความคิดขึ้นโดยแยบคายได้ความสังเวชว่า คนเหล่านี้ทั้งหมด ภายในร้อยปีเท่านั้นก็จะเข้าไปสู่ปากของมัจจุราช จึงทำการตัดสินใจว่า เราทั้งหลาย ควรแสวงหาโมกขธรรม และเมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมนั้น ควรได้บรรพชาสักอย่างหนึ่ง จึงพากันไปบวช ในสำนักของสัญชัยปริพาชกพร้อมกับมาณพ ๕๐๐ คน ตั้งแต่สองสหายนั้นบวชแล้ว สัญชัยปริพาชก ได้มีลาภ และยศอันเลิศ

อุปติสสะ และโกลิตะปริพาชก ทั้งสองนั้นเรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมดโดยเวลาไม่นานนัก ไม่เห็นสาระของลัทธินั้น จึงไปถามปัญหากับสมณพราหมณ์ที่เขาสมมติกันว่า เป็นบัณฑิตในที่นั้นๆ สมณพราหมณ์เหล่านั้นถูกคนทั้งสองถามแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ แต่คนทั้งสองนั้นแก้ปัญหาของสมณพราหมณ์ทั้งหลายได้ เมื่อเป็นอย่างนั้น คนทั้งสองนั้น เมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมต่อไป จึงได้ทำกติกากันว่า ใครบรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง

วันหนึ่ง อุปติสสปริพาชกไปยังปริพาชการามเห็นท่านพระอัสสชิเถระเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ คิดว่า บรรพชิตผู้สมบูรณ์ด้วยมรรยาทอย่างนี้ เราไม่เคยเห็น ชื่อว่าธรรมอันละเอียด น่าจะมีในบรรพชิตนี้ จึงเกิดความเลื่อมใสมองดูท่าน ได้ติดตามไปเพื่อจะถามปัญหา พระเถระได้บิณฑบาตแล้ว ได้ยังโอกาสอันเหมาะสม เพื่อจะฉันอาหาร ปริพาชกได้ตั้งตั่งของตนถวายเมื่อพระเถระฉันเสร็จแล้วได้ถามถึงศาสดา พระเถระอ้างเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปริพาชกถามอีกว่าศาสดาของท่านมีวาทะอย่างไร พระเถระตอบว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และเหตุแห่งความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะตรัสอย่างนี้

อุปติสสปริพาชก ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาปัตติผล ด้วยการฟังธรรมนี้แล้วกลับไปบอกเพื่อน และแสดงธรรมให้ฟัง โกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือนกัน จึงพากันไปลาอาจารย์สัญชัย เพื่อไปเฝ้าพระศาสดา

พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นสองสหายพร้อมกับบริวารแต่ไกล ได้ตรัสว่านี้จะเป็นคู่สาวกชั้นเลิศของเรา ทรงแสดงธรรมตามจริยาแห่งบริวารของสหายทั้งสองให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว ได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พวกเขา พร้อมกับอุปติสสะและโกลิตะด้วย เมื่อทั้งสองบวชแล้ว ภิกษุทั้งหลายเรียก อุปติสสะว่า สารีบุตร เรียกโกลิตะว่า โมคคัลลานะ

พระสารีบุตร บวชได้กึ่งเดือน อยู่ในถ้ำสุกรขตะกับพระศาสดา เมื่อพระศาสดาทรงแสดงเวทนาปริคคหสูตรแก่ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลานของตน ส่งญาณไปตามพระธรรมเทศนาได้บรรลุพระอรหัตถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ เหมือนบุคคลบริโภคภัตที่เขาคดมาเพื่อผู้อื่น

พระอัครสาวกทั้งสองบรรลุพระอรหัต ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณในที่ใกล้ พระศาสดาทั้งคู่ คือ พระสารีบุตรฟังเวทนาปริคคหสูตรในถ้ำสุกรขตะ พระโมคคัลลานะฟังธาตุกรรมฐานที่กัลลวาลคาม

พระสารีบุตรเถระ นับว่าได้เป็นกำลังสำคัญยิ่งในการช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา มีคำเรียกท่านว่า พระธรรมเสนาบดี ซึ่งคู่กับคำเรียกพระศาสดาว่า พระธรรมราชา ท่านเป็นที่ไว้วางพระทัยของพระศาสดามากที่สุด ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงเสพ จงคบ สารีบุตร และโมคคัลลานะเถิด ทั้ง ๒ รูปนี้เป็นบัณฑิต อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจรรย์ สารีบุตร เปรียบเหมือนผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะ เปรียบเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะ ย่อมแนะนำในผลชั้นสูงขึ้นไป

พระเทวทัตประกาศแยกตนจากพระพุทธเจ้า พาพระวัชชีบุตรผู้บวชใหม่ มีปัญญาน้อย ไปอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะ ไปนำพระเหล่านั้นกลับมา ท่านทั้งสองได้ทำงานสำเร็จตามพุทธประสงค์ ท่านได้ทำให้ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเกิดความเลื่อมใส และผู้ที่มีความเลื่อมใสอยู่แล้ว มีความเลื่อมใสมั่นคงยิ่งขึ้น ด้วยการชักนำ และการปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่ดี เช่นชักนำน้องชาย และน้องสาวของท่านให้เข้ามาบวชโปรดบิดา และมารดาให้เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นอุปัชฌาย์บวชสามเณร และภิกษุจำนวนมาก ซึ่งต่อมาหลายท่านมีชื่อเสียง นับเข้าจำนวนอสีติมหาสาวก เช่น สามเณรราหุล สามเณรสังกิจจะ พระราธะ พระลกุณฑกภัททิยะ เป็นอาทิ

พระสารีบุตรเถระเป็นผู้มีความกตัญญูอย่างยิ่ง ท่านได้บรรลุโสดาบัน และได้บวชในพระพุทธศาสนา เพราะได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิตั้งแต่นั้นมาท่านนับถือพระอัสสชิว่า เป็นอาจารย์ของท่าน ทำการเคารพกราบไหว้เสมอ ทราบว่า พระอัสสชิอยู่ทางทิศใด จะยกมือไหว้ และนอน ผินศีรษะไปทางทิศนั้น อีกเรื่องหนึ่ง พราหมณ์ขัดสน ชื่อ ราธะ ได้เคยแนะนำคนให้ใส่บาตรท่านทัพพีหนึ่ง ภายหลัง พราหมณ์นั้นศรัทธาจะบวช พระศาสดาตรัสถามในที่ประชุมสงฆ์ว่า ใครระลึกถึงอุปการะที่พราหมณ์นี้ ทำได้บ้าง พระสารีบุตรทูลว่า ข้าพระองค์ระลึกได้ พราหมณ์นี้ เคยแนะนำคนให้ถวายภิกษาข้าพระองค์ทัพพีหนึ่ง พระศาสดาประทานสาธุการแก่ท่านแล้วตรัสว่า สารีบุตร เธอเป็นสัตบุรุษที่มีความกตัญญูกตเวที แล้วตรัสสอนให้คนอื่นได้ถือเป็นแบบอย่าง และมอบให้ท่านเป็นอุปัชฌาย์บวช พราหมณ์นั้น

พระสารีบุตรเถระ ภายหลังจากบรรลุพระอรหัตแล้วเป็นผู้มีปัญญามากสามารถแสดงธรรม ได้ใกล้เคียงกับพระศาสดาและสามารถโต้ตอบกำราบปราบปรามพวกลัทธิภายนอกที่มาโต้แย้งคัดค้าน พระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาได้อย่างดี พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องขวา และเอตทัคคะว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญามาก ดังพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรนี้ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญามาก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า อโนมทัสสี เสด็จอุบัติในโลก พระสารีบุตรเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ได้เห็นพระนิสภเถระ พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระองค์ได้กล่าวอนุโมทนา อาสนะดอกไม้ แก่ดาบสทั้งหลาย มีความเลื่อมใส ปรารถนาฐานันดรนั้นในใจว่า โอหนอ แม้เราก็พึงเป็น พระสาวกของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต เหมือนพระนิสภเถระนี้ จึงถวายบังคมพระศาสดา แล้วกระทำความปรารถนาอย่างนั้น พระศาสดาทรงเห็นว่า ความปรารถนาของเขาจะสำเร็จโดย ไม่มีอันตราย จึงพยากรณ์ว่า เมื่อเวลาล่วงไปหนึ่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปป์แต่กัปป์นี้ไป จักได้เป็นอัครสาวกของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า มีนามว่าสารีบุตร ท่านได้บำเพ็ญบารมี มีทานเป็นต้น มาตลอดมิได้ขาด จนชาติสุดท้ายได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางรูปสารีในอุปติสสคาม ไม่ไกลจากพระนครราชคฤห์ ก่อนการอุบัติแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย และได้รับเอตทัคคะตามความปรารถนาทุกประการ

คนที่ทูนของหนักไว้บนศีรษะตลอดเวลา ต้องลำบากด้วยภาระ ฉันใด ภาระที่เราแบกอยู่ก็ ฉันนั้น เราถูกไฟ ๓ กอง เผาอยู่ เป็นผู้แบกภาระ คือ ภพ เหมือนยกภูเขาพระสุเมรุมาวางไว้บนศีรษะ ท่องเที่ยวไปในภพ คนผู้มีใจต่ำ เกียจคร้าน ทิ้งความเพียรมีสุตะน้อย ไม่มีมรรยาท อย่าได้สมาคมกับเรา ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ส่วนคนผู้มีสุตะมาก มีปัญญา ตั้งมั่นในศีลเป็นผู้ประกอบด้วยความสงบใจ ขอจงตั้งอยู่บนกระหม่อมของเราตลอดเวลา ข้าพระองค์จะย่ำยีพวกเดียรถีย์ ประกาศศาสนาของพระชินเจ้า จะเป็นธรรมเสนาบดีในศาสนา ของพระศากยบุตรตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

พระสารีบุตรเถระ ปรินิพพานก่อนพระศาสดา โดยได้กลับไปนิพพานที่บ้านเกิดของท่าน ก่อนจะนิพพาน ท่านได้ไปทูลลาพระศาสดา แล้วเดินทางไปกับพระจุนทเถระน้องชาย ได้เทศนาโปรดมารดาของท่านให้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วนิพพานด้วยโรคปักขันทิกาพาธ พระจุนทเถระพร้อมด้วยญาติ พี่น้องทำฌาปนกิจสรีระของท่านแล้ว เก็บอัฐิธาตุไปถวายพระศาสดา ที่เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ทรงโปรดให้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ที่เชตวันมหาวิหารนั้น

--------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อรหันตวรรคที่ ๗,

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=17&p=6.

พระอุรุเวลกัสสปเถระ

 

พระอุรุเวลกัสสปเถระ

จิตติเทพ นาอุดม.

พธ.บ.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,

ศศ.ม.สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา(ปรัชญาและศาสนา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.


พระอุรุเวลกัสสปะ ท่านมีชื่อตามโคตรว่า กัสสปะ ต่อมาบวชเป็นฤาษี ตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา จึงได้นามว่า อุรุเวลกัสสปะ บิดาและมารดา เป็นคนวรรณะพราหมณ์ ไม่ปรากฏชื่อในตำนาน เกิดที่ กรุงพาราณสี ก่อนหน้าที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายทรงอุบัติ การศึกษา เรียนจบไตรเพท

อุรุเวลกัสสปะ มีน้องชาย ๒ คน ชื่อตามโคตรว่า กัสสปะ เหมือนกันทั้ง ๒ คน แต่ต่อมา เมื่อออกบวชเป็นฤาษี คนกลางได้ตั้งอาศรมอยู่ที่ทางโค้งแม่น้ำคงคา จึงได้นามว่า นทีกัสสปะ คนเล็กได้ ตั้งอาศรมอยู่ที่ ตำบลคยาสีสะ จึงได้นามว่า คยากัสสปะ

อุรุเวลกัสสปะ มีบริวาร ๕๐๐ คน นทีกัสสปะ มีบริวาร ๓๐๐ คน คยากัสสปะ มีบริวาร ๒๐๐ คน ต่างสอนไตรเพทแก่บริวารของตน ต่อมาคนทั้ง ๓ นั้นตรวจดูสาระประโยชน์ในคัมภีร์ทั้งหมดของตน ได้เห็นแต่เพียงประโยชน์ในปัจจุบันเท่านั้น เกิดความยินดีในการบวช จึงชักชวนกันออกบวชเป็นฤาษี บำเพ็ญพรตด้วยการบูชาไฟ ตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ รูป ไปประกาศ พระศาสนายังแคว้นต่างๆ แล้วพระองค์ได้เสด็จดำเนินไปลำพังพระองค์เดียวมุ่งสู่แคว้นมคธ ทรงทราบดีว่า ท่านอุรุเวลกัสสปะ เป็นผู้มีอายุมาก เป็นที่เคารพนับถือของชาวมคธ จึงทรงมุ่งหมายไปที่ท่าน เพราะถ้าสามารถโปรดท่านได้แล้ว จะได้ชาวมคธอีกเป็นจำนวนมาก ในระหว่างทางได้ทรงเทศนาโปรดภัททวัคคีย์กุมาร ๓๐ คน ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้แล้ว ส่งไปประกาศพระศาสนา จึงเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ตรัสขอที่พักกับอุรุเวลกัสสปะๆ ไม่เต็มใจต้อนรับ จึงบอกให้ไปพักในโรงไฟ ชึ่งมีนาคราชดุร้าย มีฤทธิ์มีพิษร้ายแรง พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เสด็จเข้าไปยังโรงไฟ ทรงปูลาดสันถัดหญ้า ประทับนั่งคู้บัลลังก์ตั้งพระกายตรงดำรงพระสติไว้ เฉพาะหน้าอย่างมั่นคง นาคราชไม่ได้ทำอันตรายใดๆ จนถึงรุ่งเช้าวันใหม่ อุรุเวลกัสสปะก็ยังคิดว่า ถึงอย่างไรพระมหาสมณะนี้ก็คงไม่ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสกับเขาว่า กัสสปะ เธอยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์หรอก และแม้แต่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้เป็นอรหันต์ของเธอก็ยังไม่มีเลย อุรุเวลกัสสปะได้ซบศีรษะลงที่พระบาทแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด พระศาสดาตรัสว่า กัสสปะ เธอเป็นนายก เป็นผู้เลิศ เป็นประมุข เป็นประธานของชฎิล ๕๐๐ คน เธอจงบอกลาชฎิลเหล่านั้นเสียก่อน อุรุเวลกัสสปะ จึงเข้าไปหาชฎิลเหล่านั้นแล้วกล่าวว่า ชาวเราเอ่ย เราต้องการจะประพฤติพรหมจรรย์ ในพระมหาสมณะ ขอพวกท่านจงทำตาม ที่เข้าใจเถิด พวกชฎิลกล่าวว่า แม้พวกเราทั้งหมดก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะนั้นด้วยเหมือนกัน ได้พากันปล่อยบริขาร และเครื่องบูชาไฟลอยไปในน้ำ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์พึงได้การบรรพชา และอุปสมบท ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด พระวาจานั้นแลได้เป็นอุปสมบท ของท่านผู้มีอายุเหล่านั้น

พระอุรุเวลกัสสปะ พร้อมทั้งบริวาร ลอยบริขาร และเครื่องบูชาไฟไปในแม่น้ำ น้องชายทั้งสองทราบ จึงมาขอบวชในสำนักของพระศาสดา พร้อมกับบริวารทั้งหมด ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ แล้วทรงพาภิกษุ ๑๐๐๓ รูปนั้น เสด็จไปยังคยาสีสะตำบล ประทับนั่งบนแผ่นหิน ทรงให้สมณะทั้งหมดนั้นดำรงอยู่ในพระอรหัต ด้วยอาทิตตปริยายเทศนา ใจความย่อแห่งอาทิตตปริยายเทศนาว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะ ไฟ คือโทสะ ไฟ คือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ เพราะความตาย เพราะความเศร้าโศก เพราะความคร่ำครวญ เพราะความทุกข์ เพราะความโทมนัส เพราะความคับแค้นใจ

พระอุรุเวลกัสสปะ เป็นกำลังสำคัญยิ่งในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ ตามตำนานเล่าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพาภิกษุ ๑๐๐๓ รูปนั้น เสด็จไปถึงเมืองราชคฤห์ ประทับที่สวนตาลหนุ่ม ชื่อ ลัฏฐิวัน พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธทรงทราบข่าว จึงพร้อมด้วยข้าราชบริพารเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้า พระพุทธองค์ ทอดพระเนตรเห็นข้าราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสาร มีกิริยาอาการไม่อ่อนน้อม จึงตรัสสั่งให้พระอุรุเวลกัสสปะ ประกาศให้คนเหล่านั้นทราบว่า ลัทธิของท่านไม่มีแก่นสาร ท่านได้ทำตามพระพุทธดำรัส คนเหล่านั้นสิ้นความสงสัย ตั้งใจฟังพระเทศนาอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ เวลาจบเทศนา พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร ๑๑ ส่วน ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาปัตติผล อีก ๑ ส่วน ดำรงอยู่ในสรณคมน์

พระอุรุเวลกัสสปะ ได้รับยกย่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีบริวารมาก เพราะท่านสามารถอบรมสั่งสอนเขาด้วยคุณต่างๆ ได้ และเพราะท่านได้ทำบุญเอาไว้ใน พระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อน

สมัยที่พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ เสด็จอุบัติในโลก พระอุรุเวลกัสสปะ ได้เกิดเป็นพราหมณ์ชาวเมืองหังสวดี ได้ไปฟังธรรมของพระองค์ และได้เห็นพระองค์ทรงตั้งพระสาวกในตำแหน่ง เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีบริวารมาก เกิดความพอใจ อยากได้ฐานันดรนั้นบ้าง จึงได้ทำบุญมีทานเป็นต้น กับพราหมณ์อีก ๑๐๐๐ คน แล้วตั้งความปรารถนา พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นว่า ความปรารถนาของเขาจะสำเร็จ จึงได้พยากรณ์ว่าต่อไปนี้อีกแสนกัปป์ จักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาทรง พระนามว่าโคดม และได้ฐานันดรนั้น ท่านได้บำเพ็ญบารมีตลอดมาถึงสมัยของพระศาสดาทรงพระนามว่า ผุสสะ ทั้ง ๓ พี่น้อง ได้เป็นราชอำมาตย์ในพระนครพาราณสี ได้บำเพ็ญกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการให้บริบูรณ์ และอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าด้วยความศรัทธา และความเคารพ ชาติสุดท้ายจึงได้เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ผู้มีความสุข สมบูรณ์ในพระนครพาราณสี และได้รับฐานันดรตามที่ปรารถนาไว้

การบูชายัญ ล้วนแต่มุ่งหมาย รูป เสียง กลิ่น รส และสตรี ข้าพระพุทธเจ้ารู้ว่า นั่นเป็นมลทินในขันธ์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้น จึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวง และการบูชายัญ ส่วนพระอุรุเวลกัสสปะ ได้เป็นกำลังสำคัญช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนาในแคว้นมคธ สุดท้ายได้ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ดุจดวงประทีปที่โชติช่วงชัชวาลแล้วมอดดับไป

-------------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๔ ,https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&&i=149&p=2.

 

พระอัญญาโกณฑัญญเถระ

 

พระอัญญาโกณฑัญญเถระ


จิตติเทพ นาอุดม.

พธ.บ.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,

ศศ.ม.สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา(ปรัชญาและศาสนา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

 

พระอัญญาโกณฑัญญะ ชื่อเดิมว่า โกณฑัญญะ ตามโคตรของท่าน บิดา และมารดา เป็นพราหมณ์มหาศาล ไม่ปรากฏชื่อ เกิดที่ บ้านพราหมณ์ชื่อ โทณวัตถุ อยู่ไม่ห่างจากกรุงกบิลพัสดุ์ การศึกษา เรียนจบไตรเพท และรู้ตำราทำนายลักษณะ

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มารับประทานอาหาร เพื่อเป็นมงคล และทำนายลักษณะพระราชโอรสตามราชประเพณี แล้วได้ คัดเลือกพราหมณ์ ๘ คน จากจำนวน ๑๐๘ คนนั้น ให้เป็นผู้ทำนายลักษณะพระราชกุมาร โกณฑัญญะซึ่งเป็นพราหมณ์หนุ่มที่สุดได้รับคัดเลือกอยู่ในจำนวน ๘ คนนั้นด้วย พราหมณ์ ๗ คน ได้ทำนายพระราชกุมารว่า มีคติ ๒ อย่าง คือ ถ้าอยู่ครองเรือน จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ, ถ้าเสด็จออกผนวช จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกในโลก

โกณฑัญญพราหมณ์ มีความมั่นใจในตำราทำนายลักษณะของตน ได้ทำนายไว้อย่างเดียวว่า พระราชกุมารจะเสด็จออกผนวช และจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกแน่นอน ตั้งแต่นั้นมา โกณทัญญพราหมณ์ได้ตั้งใจไว้ว่า ถ้าตนยังมีชีวิตอยู่ พระราชกุมารเสด็จออกผนวชเมื่อไร จะออกบวชตาม ต่อมาเมื่อพระราชกุมารเสด็จออกผนวช และบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ โกณฑัญญพราหมณ์ ทราบข่าว จึงได้ชักชวนพราหมณ์อีก ๔ คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ซึ่งล้วนแต่เป็นบุตรของพราหมณ์ในจำนวน ๑๐๘ คน ที่ได้รับเชิญไปรับประทานอาหารในพระราชพิธีทำนายพระลักษณะของพระราชกุมารทั้งสิ้น รวมเป็น ๕ คนด้วยกัน เรียกว่า ปัญจวัคคีย์ แปลว่า กลุ่มคน ๕ คน ได้ติดตามรับใช้ใกล้ชิดด้วยคิดว่า ถ้าพระองค์ได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว จะได้เทศนาสั่งสอนตนให้ได้บรรลุธรรมนั้นบ้าง

พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาถึง ๖ ปี แต่ไม่ได้ตรัสรู้ ทรงแน่พระทัยว่า นั้นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ จึงทรงเลิกการทำทุกกรกิริยา มาทำความเพียรทางใจ ปัญจวัคคีย์ซึ่งมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า หมดความเลื่อมใสเพราะเข้าใจว่า กลับมาเป็นคนมักมากจึงพากันหนีไป อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ครั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงตัดสินพระทัยที่จะแสดงพระธรรมเทศนา อันดับแรกทรงคิดถึงอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร แต่ท่านทั้งสองได้ถึงแก่กรรมแล้ว จึงทรงคิดถึงปัญจวัคคีย์ แล้วได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ปัญจวัคคีย์ ครั้นเห็นพระพุทธองค์เสด็จมาแต่ไกล คิดว่าคงจะมาหาคนอุปัฏฐาก จึงนัดหมายกันว่า จะไม่ไหว้ ไม่ต้อนรับ ไม่รับบาตรและจีวรของพระองค์แต่ได้ปูอาสนะเอาไว้ แต่พอพระพุทธองค์เสด็จไปถึง กลับลืมกติกาที่ได้ทำกันไว้ เพราะความเคารพที่เคยมีต่อพระองค์ ทั้งหมดได้ลุกขึ้นต้อนรับ และทำสามีจิกรรม เหมือนที่เคยปฏิบัติมา แต่ยังสนทนากับพระองค์ด้วยถ้อยคำอันไม่เคารพโดยการออกพระนาม และใช้คำว่า อาวุโส พระพุทธองค์ทรงห้ามไม่ให้ใช้คำพูดอย่างนั้น และตรัสบอกว่า เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฟัง และปฏิบัติตามที่เราสอน ไม่ช้าจะได้บรรลุอมตธรรมนั้นปัญจวัคคีย์ได้ปฏิเสธพระพุทธองค์ถึง ๓ ครั้งว่า พระองค์เลิกความเพียรแล้วจะบรรลุอมตธรรมได้อย่างไร พระพุทธองค์จึงได้ทรงเตือนสติพวกเขาว่า เมื่อก่อนนี้ท่านทั้งหลายเคยได้ฟังคำที่เราพูดนี้บ้างไหม ทำให้พวกเขาระลึกได้ว่า พระวาจาเช่นนี้ พระองค์ไม่เคยตรัสมาก่อนเลย จึงยอมฟังพระธรรมเทศนา พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา ชื่อ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนาแก่พวกเขา ในเวลาจบพระธรรมเทศนา โกณฑัญญะเกิดธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ท่านได้บรรลุโสดาปัตติผล เพราะเกิดธรรมจักษุนี้ พระพุทธองค์ทรงทราบ จึงทรงเปล่งอุทานว่า โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ ๆ ท่านจึงได้ชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ เพราะรู้ธรรมก่อนใคร ๆ

โกณฑัญญะได้เห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรมหมดความสงสัยในคำสอนของพระศาสดาแล้ว จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด การอุปสมบทอย่างนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านได้เป็นภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา

ครั้นพระพุทธองค์ทรงสั่งสอนปัญจวัคคีย์อีก ๔ ท่านให้ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาบันแล้ว ทรงประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเช่นเดียวกัน วันหนึ่ง ตรัสเรียกทั้ง ๕ รูปมาตรัสสอนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นอนัตตาไม่ใช่เป็นอัตตา เพราะถ้าเป็นอัตตา แล้วไซร้ ก็จะไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ และต้องได้ตามปรารถนาว่า ขอจงเป็นอย่างนี้ จงอย่าเป็นอย่างนั้น แต่เพราะทั้ง ๕ นั้น เป็นอนัตตาใคร ๆ จึงไม่ได้ตามปรารถนาของตนว่า ขอจงเป็นอย่างนี้ จงอย่าเป็นอย่างนั้น ทั้ง ๕ รูปได้เห็นด้วยปัญญาตามความเป็นจริงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ทุกชนิดไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่สิ่งนั้น และสิ่งนั้นก็ไม่ใช่ตัวของเรา จึงเบื่อหน่ายใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เมื่อหน่ายย่อมหมดกำหนัด ครั้นหมด กำหนัดย่อมหลุดพ้น ทั้ง ๕ รูปจึงได้บรรลุอรหัตผล ด้วยพระเทศนานี้ ๆ ชื่อว่า อนัตตลักขณสูตร

พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งในการช่วยประกาศพระศาสนา เพราะอยู่ในจำนวนพระอรหันต์ ๖๐ รูป ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระศาสนาครั้งแรกด้วยพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ผลงานที่สำคัญของท่าน คือ ทำให้นายปุณณะบุตรของนางมันตานี ผู้เป็นหลานชายได้บวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยประกาศพระศาสนา มีกุลบุตรบวชในสำนักของท่านจำนวนมาก

พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้รัตตัญญู แปลว่า ผู้รู้ราตรี หมายความว่า รู้ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสสอนก่อนใครทั้งหมด

สมัยแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้รัตตัญญูรู้แจ้งธรรมก่อนใคร ๆ จึงปรารถนาฐานันดรนั้น แล้วได้ทำบุญมีทาน เป็นต้น พระปทุมุตตรศาสดาทรงเห็นว่า ความปรารถนาของเขาจะสำเร็จแน่นอน จึงได้พยากรณ์วิบากสมบัติของเขา จนมาถึงศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี เขาได้เกิดเป็นกุฏุมพี ชื่อว่า มหากาล ได้ถวายทานอันเลิศ ๙ ครั้ง ด้วยบุญญาธิการดังกล่าว จึงได้รับเอตทัคคะนี้จากพระบรมศาสดา

อรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน ชื่อ วิสุทธชนวิลาสินี กล่าวไว้ว่า พระเถระได้แสดงธรรมแก่ ท้าวสักกะ อันมีห้องแห่งอริยสัจ ๔ ถูกไตรลักษณ์กระทบ ประกอบด้วยสุญญตา วิจิตรด้วยนัยต่างๆ หยั่งลงสู่อมตะ ด้วยพุทธลีลา ท้าวสักกะทรงสดับธรรมนั้นแล้ว เมื่อจะประกาศความเลื่อมใสของพระองค์จึงได้ทรงสรรเสริญว่า เรานี้ได้ฟังธรรมอันมีรสยิ่งใหญ่ จึงเลื่อมใสยิ่งนัก พระเถระแสดงธรรมอันคลายกำหนัด ไม่ยึดมั่นโดยประการทั้งปวง

พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้ช่วยพระบรมศาสดาประกาศพระศาสนาอยู่ระยะหนึ่ง บั้นปลายชีวิต ได้ทูลลาเข้าไปอยู่ในป่าหิมวันต์ จำพรรษาอยู่ที่ฝั่งสระฉัททันต์ ๑๒ พรรษา เมื่อกาลจะปรินิพพานใกล้เข้ามา จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ขอให้ทรงอนุญาตการปรินิพพาน แล้วกลับไปยังที่นั้น ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.

 

-----------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๑, https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=146&p=2.

เมตตาอัปปนา ๕๒๘

 


เมตตาอัปปนา ๕๒๘

ก็แหละในวิธีการแผ่เมตตา โดยไม่เจาะจงได้อาการ ๕ โดยเจาะจงได้อาการ ๗ นั้น อาการภาวนาอันหนึ่งๆ เป็นเหตุให้ได้อัปปนาฌาน ๔ อัปปนา โดยอาศัยบทภาวนา แต่ละบทๆ ดังนี้

บทภาวนาว่า (สัพเพ สัตตา) อะเวรา โหนตุ ขอสัตว์ทั้งปวงจงอย่าผูกเวรกัน นี้เป็นเหตุให้ได้ อัปปนาอันหนึ่ง

บทภาวนาว่า อัพยา ปัชชา โหนตุ ขอสัตว์ทั้งปวง จงอย่าเบียดเบียนกัน นี้เป็นเหตุให้ได้ อัปปนาอันหนึ่ง

บทภาวนาว่า อะนีฆา โหนตุ ขอสัตว์ทั้งปวง จงอย่ามีทุกข์ นี้เป็นเหตุให้ได้ อัปปนาอันหนึ่ง

บทภาวนาว่า สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ขอสัตว์ทั้งปวง จงมีสุข ประคองตนไปให้รอดเถิด นี้เป็นเหตุให้ได้ อัปปนาอันหนึ่ง

แม้ในการลงมือภาวนครั้งแรก โยคีบุคคลต้องส่งจิตไปตามบทภาวนาทั้ง ๔ บท ก็จริง แต่เมื่อถึงวาระภาวนาจะเข้าถึงขั้นสำเร็จอัปปนาฌาน โยคีบุคคลก็สำรวมจิตก็สำรวมจิตอยู่เฉพาะแต่ในบทภาวนาที่ปรากฎชัดคล่องแคล้วกว่าเพียงบทเดียวเท่านั้น ฉะนั้น อัปปนาจึงสำเร็จขึ้นที่ละบทเป็นอัปปนาฌานอาการละ ๔ อัปปนา เมื่อโยคีบุคคลเจริญหรือแผ่เมตตาได้สำเร็จอัปปนาทั้ง ๔ บท โดยอาการ ๕ จึงได้อัปปนาฌานในอโนธิโสผรณา คือ แผ่เมตตาโดยไม่เจาะจงนี้ ๒๐ อัปปนา (๕x= ๒๐)

----------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร). แปลและเรียบเรียง  คัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสเถระ รสจนา, พิมพ์ครั้งที่ ๑๐, บริษัท ธนาเพรส จำกัด, พ.ศ.๒๕๕๔.(ปริจเฉทที่ ๙ พรหมวิหารนิเทศ หน้า ๕๓๑.)

พิธีลอยอังคาร (สำหรับผู้ที่อยู่ใกล้ทะเล)

 

พิธีลอยอังคาร (สำหรับผู้ที่อยู่ใกล้ทะเล)


จิตติเทพ นาอุดม.

พธ.บ.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย,

ศศ.ม.สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา(ปรัชญาและศาสนา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.


เมื่อเสร็จพิธีฌาปนกิจเรียบร้อยแล้ว หมายถึง การบังสุกุล การเก็บอัฐิ และห่อขี้เถ้าอัฐิส่วนที่จะนำไปลอยอังคาร (หรือจะลอยทั้งหมด) เมื่อหมดพิธีกรรมของสงฆ์แล้ว ผู้ประกอบพิธี(ไม่ต้องนิมนต์พระสงฆ์ลงเรือไปด้วย)ใช้ผ้าขาวห่อเถ้าอัฐิหรือใส่อุ้ง เพื่อลอยอังคารในทะเล อันดับแรกเตรียมเรือที่จะทำพิธี ขนาดของเรือก็ดูตามความเหมาะสม ผู้ประกอบพิธี และสิ่งของที่ใช้ในพิธีการลอยอังคาร

เครื่องใช้ประกอบพิธี

เครื่องบูชาแม่ย่านางเรือ สิ่งที่ต้องเตรียม (ควรปรึกษาเจ้าของเรือ)

              ดอกไม้สด ๑ กำ  หรือพวงมาลัย ๑ พวง

              ธูป ๗ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม

              พานเล็ก ๑ ใบ (ใส่ดอกไม้ ธูปเทียน ขณะบูชาแม่ย่านางเรือ)

              เชือก ๑ เส้น (สำหรับมัดธูปดอกไม้ที่เสาหัวเรือ)

เครื่องไหว้อังคาร

              ห่อผ้าอังคารหรือลุ้งใส่อังคาร (ควรเป็นลุ้งดินห่อผ้าขาวหรือห่ออังคารด้วยผ้าขาว) ๑ ลุ้ง

              ดอกมะลิ กลีบกุหลาบ หรือดอกไม้อื่นๆ (สำหรับผู้ร่วมพิธีโรยบนอังคาร)

              น้ำอบไทย ๑ ขวด

              ดอกกุหลาบหรือดอกไม้ที่มีอยู่เท่าจำนวนผู้ร่วมพิธี

              ธูป ๑ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๒ เล่ม

             สายสิญจน์ ๑ ม้วน

             เงินเหรียญ

             เครื่องบูชาเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร

            กระทงดอกไม้ ๗ สี ๑ กระทง (หรือดอกไม้ที่เตรียมมา)

            ธูป ๗ ดอก เทียนหนัก ๑ บาท ๑ เล่ม

การบูชาแม่ย่านางเรือ (ควรปรึกษาเจ้าของเรือ)

             คณะญาติมิตรนำอังคารไปสู่ท่าเทียบเรือ

             ผู้ประกอบพิธีควรเป็นญาติอาวุโส ลงเรือก่อนนอกนั้นรอที่ท่าเทียบเรือ

             ผู้ประกอบพิธี นำดอกไม้ ธูปเทียน (ใส่รวมในพาน) จุดบูชาแม่ย่านางเรือที่หัวเรือ

             กล่าวบูชา และขออนุญาตแม่ย่านางเรือ โดยผู้ประกอบพิธีกล่าวนำ

คำกล่าวบูชา / ขออนุญาตแม่ย่านางเรือ

(ตั้งนะโม ๓ จบ)

นะมัตถุ  นาวานิวาสินิยา  เทวะตายะ  อิมินา สักกาเรนะ  นาวานิวาสินิง  เทวะตัง  ปูเชมิ.

ข้าพเจ้าขอน้อมไหว้บูชา  แม่ย่านางเรือ  ผู้คุ้มครองรักษาเรือลำนี้  ด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้

ด้วยข้าพเจ้า พร้อมด้วยญาติมิตร ขออนุญาตนำอัฐิ และอังคารของ ………………………………… ………..ลงเรือลำนี้ ไปลอยในทะเล ขอแม่ย่านางเรือ ได้โปรดอนุญาต ให้นำอัฐิและอังคารลงเรือได้ และได้โปรดคุ้มครองรักษา ให้ข้าพเจ้าและญาติมิตร กระทำพิธีลอยอัฐิและอังคาร ด้วยความสะดวกและปลอดภัย โดยประการทั้งปวงเทอญ.

             คณะญาติมิตรลงเรือพร้อมห่ออังคารลงเรือ

             ออกเรือไปยังจุดที่จะลอยอังคาร

       การไหว้อังคาร สามารถทำการไหว้อังคารได้ในคราวเดียวกับการบำเพ็ญกุศลก่อนนำอังคารลงเรือ หรือจะทำการไหว้อังคารบนเรือก่อนทำพิธีลอยลงน้ำก็ได้ ดังนี้

           ไหว้อังคารบนเรือก่อนทำพิธีลอยลงน้ำ

            เมื่อเรือแล่นถึงจุดหมายแล้วให้หยุดเรือลอยลำ

            ผู้ประกอบพิธีเปิดห่ออังคารจุด ธูป เทียนไหว้อังคาร สรงด้วยน้ำอบไทย โรยดอกมะลิ, กลีบกุหลาบ, ดอกไม้อื่นๆ ผู้ประกอบพิธีกล่าวนำ(กล่าวเกี่ยวกับ....เช่น ขอให้ดวงวิญญาณไปสู่สุคติ.....................)

            เมื่อทุกคนไหว้อังคารเสร็จแล้ว ผู้ประกอบพิธีห่อลุ้ง(ห่อผ้า)อังคารรวบมัดด้วยสายสิญจน์

            ผู้ประกอบพิธีแจกดอกกุหลาบหรือดอกไม้ที่มีให้คณะญาติมิตร

             การบูชาเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร

             ผู้ประกอบพิธีจัดเครื่องบูชาเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร

             ประธานในพิธีจุดเทียน ๑ เล่ม และธูป ๗ ดอก ที่กระทงดอกไม้ ๗ สี

             กล่าวบูชา กล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นทีท้าวสีทันดร โดยผู้ประกอบพิธีกล่าว

คำกล่าวบูชา  กล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นทีท้าวสีทันดร

(ตั้งนะโม ๓ จบ)

นะมัตถุ  อิมิสสัง  มะหานะทิยา  อะธิวัตถานัง  สุรักขันตานัง  สัพพะเทวานัง  อิมินา สักกาเรนะ  สัพพะเทเว  ปูเชมะ.

ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมไหว้บูชา เจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร และเทพยดาทั้งหลาย ผู้สถิตคุ้มครองรักษาอยู่ ในทะเลแห่งนี้ ด้วยเครื่องสักการะเหล่านี้

ด้วยข้าพเจ้าทั้งหลาย ได้ประกอบกุศลกิจ อุทิศส่วนบุญแก่………………………………….…….  ผู้วายชนม์ ณ บัดนี้ จักได้ประกอบพิธี ลอยอัฐิและอังคาร ของ……………………………………  พร้อมกับขอฝากไว้ ในความอภิบาลของเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร เจ้าแห่งทะเล และเหล่าทวยเทพทั้งปวง ขอเจ้าแม่นที ท้าวสีทันดร แม่ย่านางเรือ และเทพยดาทั้งหลาย ได้โปรดอนุโมทนา ดลบันดาล ให้ดวงวิญญาณของ……………………………………….  จงเข้าถึงสุคติ ในสัมปรายภพ ประสบสุข ในทิพยวิมาน ชั่วนิจนิรันดร์กาลเทอญ.

             วิธีการลอย

             เมื่อกล่าวบูชา กล่าวฝากอังคารกับเจ้าแม่นทีท้าวสีทันดรเสร็จแล้ว ผู้ประกอบพิธีเชิญทุกคนยืนขึ้นไว้อาลัย

             ผู้ประกอบพิธีโยนเงินเหรียญ (ตามสมควร) ลงทะเล เพื่อซื้อที่ตามธรรมเนียม แล้วลงบันไดเรือทางกราบซ้าย ลอยกระทงดอกไม้ ๗ สี โดยใช้มือประคอง ค่อย ๆ วางบนผิวน้ำ ต่อจากนั้น อุ้มประคองห่อลุ้งหรือห่อผ้าอังคารค่อย ๆ วางบนผิวน้ำ โดยให้ผู้ร่วมพิธีทุกคนถือสายสิญจน์ด้วย

             หากกราบเรือสูงจากผิวน้ำมากเกินไป และไม่มีบันไดลงเรือ ให้ใช้สายสิญจน์ทำเป็นสาแหรก ๔ สาย จำนวน ๒ สาแหรก คือ ใส่กระทงดอกไม้ ๗ สี ๑ สาแหรก และใส่ห่อลุ้ง(ห่อผ้า)อังคาร ๑ สาแหรกหย่อนลอยลงไป (ห้ามโยนลง)

             เมื่อห่อลุ้งหรือห่ออังคารลงสู่ผิวน้ำแล้ว ให้โรยดอกกุหลาบ ธูป เทียน ตามลงไป และสิ่งของสำหรับไหว้บูชาที่เหลือทั้งหมดก็ให้โรยตามลงไปด้วย

             เรือวนซ้าย ๓ รอบ

เสร็จพิธีลอยอังคาร

-------------------------------------------

จิตสำนึกทางสังคมในพุทธศาสนา

 


จิตสำนึกทางสังคมในพุทธศาสนา

พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับจิต เพราะความเป็นอารยะของมนุษย์ทั้งในส่วนของปัจเจกชนและสังคมวัดกันที่ความก้าวหน้าของจิต พุทธศาสนาได้วิเคราะห์ธรรมชาติของจิต และวางหลักการพัฒนาจิตไว้อย่างเป็นระบบ ควรที่จะทำความเข้าใจจิต ทำความเข้าใจในจิตสำนึกทางสังคมของพุทธศาสนา ในเมื่อมนุษย์ คือ ผู้ทำมาหากรรม ซึ่งก็หมายความว่า มนุษย์จะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากกิจกรรมไม่ได้ คำว่า กรรมในพุทธศาสนา คือ กิจกรรมการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั้งในเรื่องส่วนตน และชีวิตทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตระดับใดล้วนอาศัยเจตนา ซึ่งจะสะท้อนจิตสำนึกของมนุษย์ที่มีต่อโลก

อย่างไรก็ดี การอธิบายเรื่องกรรมที่คุ้นเคยกันมักจะเริ่มต้นที่ปัจเจกชน มากกว่าระดับสังคมเพราะสังคมเป็นผลรวมของปัจเจกชน หากเข้าใจหลักกรรมผ่านชีวิตปัจเจกชน ก็ย่อมจะเข้าใจหลักกรรมระดับสังคม ด้วยไปในตัว อย่างที่พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) กล่าวว่า กรรมนี้ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องภายนอก ไม่ใช่การกระทำที่แสดงออกมาทางกาย ทางวาจาเท่านั้น ต้องมองเข้าไปถึงกระบวนการทำงานในจิตใจ ผลที่เกิดขึ้นในจิตแต่ละขณะๆ ทีเดียว ความหมายที่แท้จริงของกรรมมุ่งเอาที่นั่น คือ ความเป็นไปในจิตของแต่ละคนแต่ละขณะกรรมที่จะแสดงออกมาทางกาย ทางวาจาอะไรๆ ก็ต้องเริ่มขึ้นในใจก่อนทั้งนั้น ฉะนั้นหลักกรรม จะเป็นหลักในการศึกษาจิตหรือจิตสำนึกของมนุษย์ในการกระทำต่อโลกได้เป็นอย่างดี

หลักพุทธศาสนา มนุษย์นั้นประกอบด้วย ๒ ส่วน อันได้แก่ กายกับจิตหรือรูปกับนาม ซึ่งต่างก็มีความสำคัญอิงอาศัยซึ่งกันและกัน โดยจิตหรือวิญญาณ (Consciousness) นั้น คือ การรับรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายใน และ อายตนะภายนอก มากระทบกัน พุทธศาสนาถือว่า พฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกมาทางกาย และวาจานั้นมี จิตหรือวิญญาณเป็นตัวสั่งการ ตามหลัก ปฏิจจสมุปบาทวิญญาณในที่นี้มาจาก สังขาร และสังขารมาจากอวิชชา ซึ่งจิตหรือวิญญาณ เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นและเป็นไปตามอำนาจของเหตุปัจจัย ดังนั้น โลกของแต่ละคนจึงเป็นไปตามอำนาจของจิตของแต่ละคนที่มีการรับรู้อารมณ์ในขณะนั้นๆ

ธรรมบท ขุททกนิกาย ได้อธิบายว่า เหล่าชนรู้จักสำรวมจิตที่ไม่มีรูปร่าง มีซอกหทัยเป็นที่อยู่อาศัย ดวงเดียวเที่ยวไปไกลก็จะพ้นจากบ่วงมารได้ หมายความว่า จิต คือ ธรรมชาติไปที่ไกล ไปด้วยการคิด เที่ยวไปดวงเดียว คือ การที่จิตคิดได้ทีละอย่างแต่มีการเกิดขึ้นต่อเนื่องกันเร็วมากจนเราเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ แสดงว่าจิตไม่ได้เป็นตัวการอิสระที่อยู่ภายนอกร่างกาย และคอยบังคับบัญชาร่างกาย แต่เป็นธรรมชาติ ที่เนื่องด้วยร่างกาย คือ อาศัยร่างกายจึงมีจิต ซึ่งตรงกับวิญญาณในขันธ์ ๕

พุทธศาสนาสอนว่า ชีวิตประกอบขึ้นจากส่วนสำคัญ ๕ ส่วน อันเรียกว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ หรือว่าโดยย่อ มีสองส่วนคือ รูปธรรม และนามธรรมหรือรูปขันธ์ และนามขันธ์ ขันธ์ ๕ นี้ เป็นกฎแห่งปฎิจจสมุปบาท คือ มีอยู่ในรูปกระแสแห่งปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยสืบต่อกัน ไม่มีส่วนใดในกระแสที่อยู่ได้มีแต่การเกิดขึ้นแล้วสลายไป พร้อมกับที่เป็นปัจจัยให้มีการเกิดขึ้นแล้วสลายตัวต่อๆ ไปดังพุทธพจน์ที่ว่า เมื่อปัจจัยนี้มีอยู่ ผลนี้ย่อมมี เพราะการบังเกิดขึ้นแห่งปัจจัยนี้ ผลนี้จึงบังเกิดขึ้น เมื่อปัจจัยนี้ไม่มีอยู่ ผลนี้ย่อมไม่มี เพราะการดับแห่งปัจจัยนี้ ผลนี้จึงดับ คำสอนของพุทธศาสนา ที่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงระหว่าง กายกับจิตนั้นมีมาก เช่น เมื่อเราตรึกตรองอยู่นานเกินไป ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อยจิตก็ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ และถ้าบุคคลมีใจชั่วแล้ว จะพูดหรือทำก็ตาม ทุกข์ย่อมตามเขาไป...ถ้าบุคคลมีใจดีแล้ว จะพูดหรือทำก็ตาม สุขย่อมตามเขาไป

จะเห็นได้ว่า ทั้งจิตและกายต่างก็มีความสำคัญด้วยกัน และอิงอาศัยกัน รวมกันเป็นชีวิต ถ้ามีร่างกายหรือจิตเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ เพราะจิตใจก็ต้องอาศัยร่างกาย และร่างกายก็เป็นไปตามความรู้สึกนึกคิดของจิตใจเช่นกัน แม้จะถือว่าทั้งร่างกาย และจิตต่างก็มีความสำคัญด้วยกัน

พุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่จิตมากกว่าร่างกาย พุทธภาษิตในขุททกนิกาย ธรรมบทว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจชั่วแล้วจะพูดหรือทำก็ตามทุกข์ย่อมตามเขาไปเพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น (คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต) เหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคตัวกำลังลากเกวียนไป และธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจดีแล้ว จะพูดหรือทำก็ตามสุขย่อมตามเขาไปเพราะสุจริต ๓ อย่างนั้น (คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต) เหมือนเงาที่ไม่พรากจากตน

ความสำคัญของจิตมีมากในชีวิตประจำวันของเรา เช่น ร่างกายใดไม่ว่าจะเป็นร่างกายของคนหรือสัตว์ ถ้าปราศจากจิตหรือมีจิตแยกออกไปแล้ว ร่างกายนั้นก็ไม่ผิดอะไรกับก้อนหินหรือท่อนไม้ เป็นร่างกายที่ไร้ชีวิต และไม่อาจดำรงอยู่ในสภาพของสิ่งมีชีวิตได้ต่อไป ต้องเปื่อยเน่าผุพังไปในเวลาอันรวดเร็ว แต่ถ้ายังเป็นร่างกายที่ยังมีจิตประกอบอยู่ ร่างกายนั้นก็ปรากฏเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างตัวเราเวลานี้ ไม่เปื่อยเน่าผุพังไปในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อได้อาศัยเหตุปัจจัยเหมาะสมค้ำจุนสนับสนุนร่างกาย ซึ่งปรากฏเป็นสิ่งมีชีวิตนั้นก็อาจดำรงอยู่ได้โดยไม่เปื่อยเน่านับเวลาเป็นเดือนเป็นปีหรือเป็นสิบๆ ปี สภาพดังกล่าวมานี้เป็นสิ่งที่เราอาจพิจารณาเห็นได้จากปรากฏการณ์ และประสบการณ์ในชีวิตประจำวันตามปกติทั่วไป

อันการกระทำต่างๆ ของมนุษย์มโนกรรมเป็นจุดเริ่มต้น บุคคลก็ดี สังคมก็ดี จะเป็นอย่างไรก็เป็นไปตามมโนกรรมส่วนใหญ่ มโนกรรมเป็นตัวกำหนดวิถีชี้แนวทางให้ความคิด ความนิยม ความเชื่อถือ เป็นตัวกำกับการที่สำคัญ เช่น ชีวิตคนๆ หนึ่งมีความชอบอะไร ใฝ่ในอะไร ก็จะดำเนินไปตามวิถีทางที่ชอบที่ใฝ่นั้น สมมติว่า เด็กคนหนึ่งเกิดชอบบวชพระ ชอบผ้าเหลือง เห็นเณรแล้วก็อยากเป็นเณรบ้าง ความฝักใฝ่พอใจ อันนี้ก็มาหล่อหลอมทำให้เขาคิดที่จะบวช ต่อมาเขาก็อาจจะบวช แล้วก็อยู่ในศาสนาไป แต่อีกคนหนึ่งจิตชอบใฝ่ไปในทางที่อยากได้ของๆ คนอื่นโดยไม่ต้องทำอะไร ก็อาจจะไปลักขโมย วิถีชีวิตก็จะหันเหไปอีกแบบหนึ่ง นี้ก็คือเรื่องของมโนกรรม ที่มีผลบันดาลชีวิตทั้งชีวิตให้เป็นไป ความนิยม ความชอบ ความเชื่อถือต่างๆ นี้เป็นเครื่องกำหนดชีวิตของคน พุทธศาสนามองในขั้นลึกซึ้งอย่างนี้จึงถือว่ามโนกรรมสำคัญ

ความใฝ่ความชอบอะไรต่างๆ ที่อยู่ในจิตใจเป็นตัวนำ เป็นเครื่องกำหนดวิถีชีวิตของบุคคลและเป็นเครื่องชี้นำ ชะตากรรมของสังคม สังคมใดมีค่านิยมที่ดีงาม เอื้อต่อการพัฒนาสังคมนั้นก็มีทางที่จะพัฒนาไปได้ดี สังคมใดมีค่านิยมต่ำทราม ขัดถ่วงการพัฒนาสังคมนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเสื่อมโทรมพัฒนาได้ยาก เรื่องค่านิยมนี้ตัวอย่างเด่นชัดอย่างหนึ่งของมโนกรรม มโนกรรมเป็นสิ่งสำคัญมาก มีผลระยะยาว ลึกซึ้ง และกว้างไกล ครอบคลุมไปหมด พุทธศาสนาถือว่าค่านิยมนี้ เป็นสิ่งสำคัญมาก และมองที่จิตใจเป็นจุดเริ่มต้น เรื่องกรรมจะต้องเข้าใจถึงหลักการของพุทธศาสนาที่ถือว่า มโนกรรมสำคัญที่สุด

การรับรู้ที่เรียกว่า วิญญาณ การยึดถือในอารมณ์ ที่เรียกว่า เวทนา จากนั้นความคิดปรุงแต่งหรือการกระทำ ก็เกิดขึ้นตามความเข้าใจในอารมณ์หรือเวทนาที่ตนมี ผัสสะเป็นจุดที่จะรับรู้ของจิตอันเป็นข้อมูลจากโลกภายนอก เมื่อจิตรับรู้อารมณ์ภายนอกแล้ว เวทนา สัญญา จะเกิดขึ้นตามมา จิตไม่ได้เป็นผู้รับรู้แต่ฝ่ายเดียวหากยังคิดปรุงแต่ง สิ่งที่ตนรับรู้นั้นด้วยอำนาจกิเลสตัณหาอีกด้วย จากธรรมเหล่านี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า สิ่งแวดล้อมภายนอกมีผลต่อกระบวนการทำกรรมของมนุษย์เรา และสะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ที่มีต่อโลกภายนอก ดังคำเทศนาของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่ว่า จิตปรุงกิเลส คือ การที่จิตบังคับให้กาย วาจา ใจ กระทำสิ่งภายนอก ให้มี ให้เป็น ให้เลว ให้เกิดวิบาก แล้วยึดติดอยู่ว่า นั่นเป็นตัว นั่นเป็นตน ของเราของเขา และกิเลสปรุงจิต คือ การที่สิ่งภายนอกเข้ามาทำให้จิตเป็นไปตามอำนาจของมันแล้วยึดว่า มีตัวมีตนอยู่ สำคัญผิดจากความเป็นจริงอยู่ร่ำไป

การเรียนรู้การทำงานของสมอง และจิต สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองได้ เช่น ขณะที่ตั้งใจคิดเรื่องที่เป็นสุข สมองก็จะนึก และคิดปรุงแต่งเรื่องที่เป็นสุข จึงเกิดความรู้สึกเป็นสุขไปตามเนื้อหาที่กำลังคิด ขณะเดียวกันก็จะจำเรื่องที่คิด และรู้เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ หรือในขณะที่ใจคิดเรื่องน่ากลัว สมองก็จะนึกคิดปรุงแต่งเรื่องที่น่ากลัวขึ้น จึงเกิดความรู้สึกกลัวไปตามเนื้อหาที่กำลังคิด ขณะเดียวกันก็จดจำเรื่องที่คิด และรู้เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ ซึ่งการจดจำเรื่องต่างๆ เหล่านี้ไว้ในจิต ทำให้จิตเราสามารถคิดนึกถึงเรื่องเหล่านี้ได้เสมอเมื่อมีปัจจัยต่างๆ กระตุ้นให้เกิดขึ้น

ชีวิตประจำวันของคนทั่วไป เมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสอะไรก็ตามที่ตนไม่ชอบใจหรือไม่ถูกใจ หรือไม่พอใจเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้มันเกิดขึ้นรวดเร็วคล้ายอัตโนมัติ การคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยความไม่ชอบใจ หรือไม่ถูกใจ หรือไม่พอใจ ซ้ำแล้วซ้ำอีกจะทำให้จดจำความคิดดังกล่าวมากขึ้น ยิ่งสะสมมากก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นความขัดเคืองใจ หรือความโกรธขณะคิดที่ไม่ถูกใจมาก หรือไม่พอใจมาก จะเกิดการบีบคั้นทางจิตมากๆ จนถึงขั้นการระบายออกมาเป็นการเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่นเพื่อให้ได้มาหรือเป็นไปตามความคิดนั้นๆ คนที่มีการสะสมอกุศลมูล ความคิดที่ไม่ดีไว้ในจิตเป็นจำนวนมาก เช่น ความเห็นแก่ตัว ก้าวร้าว อบายมุข เสียดสี ป้ายสี ติดสินบน รับสินบน ปล้นจี้ รีดไถ กลั่นแกล้งโกงกิน ลักขโมย เหล่านี้ เป็นการสะสมไว้ในความจำของแต่ละคน เมื่อคุ้นชินกับอารมณ์ไม่ดีเหล่านี้จนกลายเป็นนิสัย ย่อมทำให้เกิดพฤติกรรมการคิดไม่ดี ทำไม่ดีได้โดยง่าย เช่น นักเล่นการพนัน โจรผู้ร้าย พ่อค้ายาเสพติด นักทุจริต ผู้มีอิทธิพล เป็นต้น จากที่กล่าวมานี้เมื่อมีการสะสมด้านใดมาก โอกาสที่จะเกิดการกระทำในด้านนั้นๆ ก็เป็นไปได้มากเช่นกัน จะเห็นได้ว่า ความจำมีอิทธิพลต่อการคิด และพฤติกรรมของคนเราด้วย

กรรมในพุทธศาสนา หมายเอาการกระทำทางกาย การกระทำทางวาจา และการกระทำทางใจ และในบรรดากรรมทั้ง ๓ ชนิด พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนตปัสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม

การให้ความสำคัญกับมโนกรรมในพุทธพจน์ ก็คือ การให้ความสำคัญกับจิตสำนึกในกระบวนทำกรรมของมนุษย์นั่นเอง เพราะคำว่า มโน และจิต อรรถกถาจารย์กล่าวว่า เป็นสิ่งเดียวกันดังที่ สุนทร ณ รังษี กล่าวว่า จิต ที่ได้ชื่อว่า มโน เพราะกำหนดรู้อารมณ์นั้น เพราะธรรมชาติของจิตเมื่อขึ้นสู่วิถีทางอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมน้อมไปรับรู้อารมณ์ที่เป็นวิสัยของอายตนะภายในแต่ละอย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่เรียกว่า อายตนะภายนอก

เหตุที่มโนกรรมสำคัญที่สุด ก็เพราะเป็นจุดเริ่มต้น คนคิดก่อนแล้วจึงพูดจึงกระทำ คือ การแสดงออกทางกายและวาจา ดังนั้น วจีกรรมและกายกรรม จึงขยายออกมาจากมโนกรรมนั่นเองและที่ว่ามีผลกว้างขวางรุนแรงที่สุด ก็เพราะว่ามโนกรรมรวมถึง ความเชื่อถือ ความเห็น ทฤษฎีแนวความคิดและค่านิยมต่างๆ ที่เรียกว่า ทิฏฐิ นี้เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทั่วไปของบุคคล ความเป็นไปในชีวิตของบุคคล และคติของสังคมทั้งหมด เมื่อเชื่อ เมื่อเห็น หรือนิยมอย่างไร ก็คิดการ พูดจาสั่งสอนชักชวนกัน และทำการต่างๆ ไปตามที่เชื่อที่เห็นที่นิยมอย่างนั้น ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ การดำริ พูดจา และทำการก็ดำเนินไปในทางผิดเป็นมิจฉาไปด้วย ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ การดำริ พูดจา และทำการต่างๆ ก็ดำเนินไปในทางถูกต้องเป็นสัมมาไปด้วย เช่น คน และสังคมที่เห็นว่า ความพรั่งพร้อมทางวัตถุมีค่าสูงสุดเป็นจุดหมายที่พึงใฝ่ประสงค์ ก็จะเพียรพยายามแสวงหาวัตถุให้พรั่งพร้อม และถือเอาความพรั่งพร้อมด้วยวัตถุนั้น เป็นมาตรฐานวัดความเจริญรุ่งเรืองเกียรติยศ และศักดิ์ศรี วิถีชีวิตของคน และแนวทางของสังคมนั้นก็จะเป็นไปในรูปแบบหนึ่ง ส่วนคน และสังคมที่ถือความสงบสุขทางจิตใจเป็นที่หมาย ก็จะมีวิถีชีวิต และความเป็นไปอีกแบบหนึ่ง

แนวคิด ทฤษฎีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น ก็คือ มโนกรรมนั่นเอง เมื่อเกิดมีการเห็นดีเห็นงามกับแนวคิดทฤษฎีใดๆ ก็ย่อมนำไปสู่การปฏิบัติโดยอาศัยเจตนาของปัจเจกชนหลายๆ คนที่มีความคิดเห็นตรงกัน การกระทำของสังคมจึงเกิดขึ้น รวมถึงวิบากกรรมของสังคมก็เกิดตามมา

จิตสำนึกทางสังคมของพุทธศาสนา เป็นผลรวมของปัจเจกชนทั้งหลาย ในวาเสฏฐสูตรว่า ดูก่อนวาเสฏฐะ ก็ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยการรักษาโคเลี้ยงชีวิต ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นชาวนา ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดเลี้ยงชีวิตด้วยศิลปะอย่างมาก ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นศิลปิน ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นพ่อค้าไม่ใช่พราหมณ์ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดเลียงชีวิตด้วยการรับใช้ผู้อื่น ท่านจงรู้อย่างนี้ว่าผู้นั้นเป็นคนรับใช้ ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยการที่เขาไม่ให้เลี้ยงชีวิต ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นโจร ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่งในหมู่มนุษย์ผู้ใดอาศัยศาสตราวุธเลี้ยงชีวิต ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นทหาร ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยการงานของปุโรหิต ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ผู้นั้นเป็นเจ้าหน้าที่การบูชา ไม่ใช่พราหมณ์ ดูก่อนวาเสฏฐะ อนึ่ง ในหมู่มนุษย์ผู้ใดปกครองบ้านและเมือง ท่านจงรู้อย่างนี้ว่าผู้นั้นเป็นพระราชา ไม่ใช่พราหมณ์

กรรมระดับสังคม คือ จิตสำนึกทางสังคมนั้นเอง อันเป็นผลมาจากการที่มนุษย์มีเจตจำนงร่วมกัน และรับผลของการกระทำร่วมกัน และเจตจำนงอันนี้ย่อมมาจากผลสะท้อนขึ้นในสิ่งภายนอก ที่เกิดขึ้น กระทบกับประสาทสัมผัสของมนุษย์ ได้แก่ สภาพการณ์ทางสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัย ส่วนเจตจำนงร่วมนั้น อาจอยู่ในรูปของกฎหมายวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ค่านิยมทางสังคม ทฤษฎีทางเศรษฐกิจ และนโยบายของรัฐ เป็นต้น

สรุปได้ว่า จิตสำนึกทางสังคมของพุทธศาสนา คือ เจตจำนงร่วมหรือหลักกรรมระดับสังคมทั้งในส่วนของการปฏิบัติการ และ ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติการนั้น อันจะส่งผลต่อชีวิตของคนในสังคม ตามเหตุปัจจัยนั้นๆ

------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

ขุ.ธ. ๒๕/๑-๒/๑๗

ม.มู. ๑๒/๒๐๙/๒๒๑

ม.ม. ๑๓/๔๕๗/๕๕๙

สัง.น. ๑๖/๒๑-๒๒/๓๕-๓๖

กรมศาสนา.  พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับสังคายนาในพระบรมราชูปถัมภ์. กรุงเทพมหานคร

: โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๓๐.

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). พุทธธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๑๑. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหาจุฬา

ลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖.

       . กรรม นรก สวรรค์ สำหรับคนรุ่นใหม่. กรุงเทพมหานคร: ธรรมสภา. ม.ป.ป.

สุนทร ณ รังษี. พุทธปรัชญาจากพระไตรปิฎก. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์แห่งมหาจุฬาลงกรณ์

มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓.

 

 

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML