ศีล ๕หรือเบญจศีล

 


ศีล ๕หรือเบญจศีล

ปาณาติปาตา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ)

- เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งปวง รวมถึงการทำร้ายสัตว์ หรือมนุษย์ด้วย แม้แต่คิด หรือวางแผน ก็ถือว่าผิดศีลข้อนี้แล้ว

อทินฺนาทานา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ)

- เว้นจากการลักทรัพย์ เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ รวมถึงการเบียดบัง ฉ้อราษฎร์บังหลวง เอาเปรียบคนอื่นด้วย แม้แต่คิด หรือวางแผน ก็ถือว่า ผิดศีลข้อนี้แล้ว

กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ)

- เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ข้อนี้เพียงแค่คิดก็ผิดแล้ว

มุสาวาทา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ)

- เว้นจากการพูดเท็จ คำหยาบ หรือพูดส่อเสียด รวมถึงการพูดให้คนแตกสามัคคีกันด้วย

สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ)

- เว้นจากการดื่มน้ำเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท...

เบญจศีล

การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น จำเป็นที่แต่ละคน ซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมจะต้องทำตนให้เป็นคนเต็มคน ที่เรียกว่า เป็นมนุษย์หรือเป็นคน ๑๐๐% เพื่อให้การอยู่ร่วมกันดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย มีความสงบสุข เกิดศานติสุข ไม่มีเวรภัยต่อกันและกันหลักธรรมที่จะทำคนให้เป็นให้เต็มคนอันยังผลให้การอยู่ร่วมกันมีความสุขมีความสงบสุขนั้นก็คือ เบญจศีลเบญจธรรม อันได้แก่

เบญจศีล แปลว่า ศีล ๕ ได้แก่..

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่า การเบียดเบียน การทำร้ายร่างกายคนและสัตว์ แล้วมีจิตใจประกอบด้วยเมตตากรุณา มีความปรารถนาดี และสงสารเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสัตว์อื่น

๒. อทินนาทานา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมยหรือโจร อันได้แก่ ลัก ฉก ชิง วิ่งราว ขู่กรรโชก ขู่เข็ญ ปล้น จี้ ตู่ ฉ้อโกง หลอก ลวง ปลอม ตระบัด เบียดบัง สับเปลี่ยน ลักลอบ ยักยอก และรับสินบน แล้วเป็นผู้มีความขยันประกอบสัมมาชีพ บริจาคทาน และเคารพในกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น

๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

บุคคลต้องห้ามสำหรับฝ่ายชาย คือ

(๑) ภรรยาคนอื่น

(๒) ผู้หญิงที่ยังอยู่ในความอุปการะของผู้อื่น (ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอยู่)

(๓) ผู้หญิงที่จารีตต้องห้าม (แม่ ย่า ยาย พี่สาว น้องสาว ลูกสาว ชี หญิงผู้เยาว์

บุคคลที่ต้องห้ามสำหรับฝ่ายหญิง คือ

(๑) สามีคนอื่น

(๒) ชายจารีตต้องห้าม (พ่อ ปู่ ตา พี่ชาย น้องชาย ลูกชาย พระภิกษุ สามเณร ชายผู้เยาว์)

ทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงไม่ใช่เฉพาะ ห้ามแต่ร่วมสังวาสเท่านั้น แม้แต่การเคล้าคลึง การพูดเกี้ยวพาราสี หรือการแสดงอาการ ปฏิพัทธ์แม้แต่ด้วยสายตาเนตรสบเนตร เป็นต้น ก็ชื่อว่า การละเมิดศีลข้อนี้แล้ว เมื่อไม่ล่วงละเมิดศีลข้อนี้แล้วเป็นผู้สำสวมในกามยินดีแต่ในภรรยาของตนเท่านั้น (สทารสันโดษ) จงรักภักดีแต่ในสามีของตน (ปติวัตร) ถ้ายังไม่ได้แต่งงานก็ต้องมีกามสังวร ตั้งตนอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม มีวัฒนธรรมอันดีชนิดที่ว่า เข้าตามตรอกออกตามประตู

๔. มุสาวาทา เวรมณี เจตนาเป็นเครืองงดเว้นจากการพูดเท็จ อันได้แก่คำปด ทวนสาบาน ทำเล่ห์กระเท่ห์ มารยา ทำกิเลส เสริมความสำรวมคำพูดเสียดแทง สับปลับ ผิดสัญยา เสียสัตย์ และคืนคำ แล้ว เป็นผู้รักสัจจะจะพูดแต่คำสัตย์จริงด้วยความจริงใจและปรารถนาดี มุ่งหวังดีต่อผู้ฟัง

๕. สุราเมรยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ได้แก่ น้ำสุรา เมรัย เครื่องดื่มมึนเมาอื่นๆ และการเสพยาเสพติดอื่นๆ เช่น ฝิ่น เฮโรอีน กัญชา ยาบ้า หรือแม้แต่บุหรี่ แล้วเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะในการประกอบกิจการทั้งปวง และเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตในการงาน ในวัย ในเพศ

ผู้จะเป็นคนเต็มคน คือ ๑๐๐% จะต้องเป็นผู้มีการดำเนินชีวิตประจำวันที่ประกอบด้วยเบญจศีลเบญจธรรมทั้ง ๕ ประเด็นดังกล่าวแล้ว ถ้าขาด ๑ ประเด็นก็เป็นคนเพียง ๘๐ % หรือขาด ๒ ประเด็นก็เป็นคนเพียง ๖๐ % เป็น นับว่าเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน มุ่งเน้นให้พุทธศาสนิกชนได้ประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อความเป็นมนุษย์อันจะได้เป็นสมาชิกที่ของสังคม ความสงบสุขในสังคมแต่ละวันจะเกิดขึ้นได้ก็อาศัยหลักมนุษยธรรม หรือ แต่ละคนเป็นคนเต็มคนนั่นเอง

---------------------------------------------------

 

 

 

 

 

ประวัติ พระปิลินทวัจฉเถระ

 



ประวัติ พระปิลินทวัจฉเถระ

พระปิลินทวัจฉเถระ นามเดิม ปิลินทะ วัจฉะเป็นชื่อของโคตรต่อมาได้ชื่อว่า ปิลินทวัจฉะ โดยนำเอาชื่อโคตรไปรวมด้วย บิดา และมารดาเป็นพราหมณ์ไม่ปรา
กฏนาม เป็นชาวเมืองสาวัตถี ชีวิตก่อนบวช ก่อนที่จะมาบวชในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้ที่มากไปด้วยความสังเวช (ความสลดใจที่ประกอบกับโอตตัปปะ) จึงบวชเป็นปริพาชก สำเร็จวิชา ๓ ชื่อว่า จูฬคันธาระ เหาะเหินเดินอากาศได้และรู้ใจของผู้อื่น มีลาภและยศมาก อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์

มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อพระศาสดาของเราทั้งหลายได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จไปประทับในเมืองราชคฤห์ อานุภาพแห่งวิชาของเขาก็เสื่อมไป ลาภยศของเขาก็หมดไปด้วย เขาคิดว่า พระสมณโคดมต้องรู้คันธารวิชาอย่างแน่นอน จึงไปยังสำนักของพระศาสดาขอเรียนวิชา พระศาสดาตรัสว่า ท่านต้องบวชในสำนักของเราจึงจะเรียนได้ เขาก็ยอมบวชตามพระพุทธดำรัส

การบรรลุธรรม เมื่อท่านบวชแล้ว พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขา และได้ประทานกรรมฐานอันสมควรแก่จริยา เพราะท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยที่สมบูรณ์ เริ่มตั้งความเพียรในกรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

งานประกาศพระศาสนา เพราะผู้ที่ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านสมัยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ได้ไปเกิดเป็นเทวดามากมาย เทวดาเหล่านั้นอาศัยความกตัญญู มีความนับถือท่านมาก เข้าไปหาท่านทั้งเช้าเย็น แต่ท่านมักจะมีปัญหากับภิกษุ และชาวบ้าน เพราะท่านชอบใช้วาจาไม่ไพเราะ ต่อมาพระศาสดาทรงแก้ไขให้ทุกคนเข้าใจ ก็ไม่มีใครถือสากลับศรัทธาเลื่อมใสยิ่งขึ้น ท่านเป็นพระที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ เล่ากันว่า ชายคนหนึ่งถือถาดดีปลีมา ท่านถามว่า ถาดอะไรไอ้ถ่อย ชายคนนั้นโกรธ คิดว่า พระอะไรพูดคำหยาบ จึงตอบไปว่า ถาดขี้หนู พอผ่านท่านไปดีปลีเป็นขี้หนูจริงๆ ต่อมามีคนแนะนำเขาว่า ให้เดินสวนทางกับท่านใหม่ ถ้าท่านถามอย่างนั้น จงตอบท่านว่า ดีปลี ก็จะกลายเป็นดีปลีดังเดิม เขาได้ทำตามคำแนะนำ ปรากฏว่า มูลหนูกลับเป็นดีปลีดังเดิม

เอตทัคคะก็เพราะเทวดาผู้ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านในชาติก่อน แล้วเกิดในสวรรค์เป็นอันมาก เทวดาเหล่านั้นมีความกตัญญูมีความเคารพนับถือบูชา จึงมาหาท่านทั้งเช้าเย็น เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย

บุญญาธิการ แม้พระปิลินทวัจฉเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดาได้เห็นพระองค์ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศโดยเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย จึงปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้บำเพ็ญบุญเป็นอันมาก ต่อมาได้รับพยากรณ์จากพระศาสดาแล้วได้สำเร็จดังประสงค์ ในสมัยแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ดังกล่าวแล้ว

ธรรมวาทะ การที่เรามาในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นการมาที่ดี ไม่ได้ปราศจากประโยชน์ การตัดสินใจบวชของเรา เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง บรรดาธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกไว้ เราได้บรรลุธรรมอันประเสริฐที่สุดแล้ว

การนิพพานของพระปิลินทวัจฉเถระ ครั้นดำรงเบญจขันธ์พอสมควรแก่กาล ก็ได้นิพพานดับไป โดยไม่มีอาลัย

-----------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

คณาจารย์เลี่ยงเชียงจงเจริญ. วิชาอนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ ฉบับสมบูรณ์, พ.ศ.๒๕๔๓.

https://sites.google.com/site/dmamatri/

 

 

ประวัติ พระนันทกเถระ

 

ประวัติ พระนันทกเถระ

พระนันทกเถระ นามเดิม นันทกะ บิดา และมารดา ไม่ปรากฏนาม เป็นพราหมณ์ ชาวเมืองสาวัตถี ชีวิตก่อนบวช พระนันทกเถระ อรรถกถาต่างๆ ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตฆราวาสของท่าน

มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา นันทกมาณพ ได้ยินกิตติศัพท์ของพระศาสดาว่า เป็นพระอระหันต์ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงธรรมไพเราะ ชี้แจงประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้าได้อย่างแจ่มแจ้ง วันหนึ่ง เมื่อมีโอกาสจึงไปเฝ้าพระศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนา เกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช จึงทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ๆ ได้ทรงบวชให้เขาตามความประสงค์

การบรรลุธรรมของพระนันทกเถระ ครั้นบวชแล้ว ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและพากเพียร ปฏิบัติ ในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นผู้ชำนาญในญาณระลึกรู้บุพเพนิวาส

งานประกาศพระศาสนา ในตำนานไม่ได้บอกว่าท่านได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกบ้าง บอกว่า ท่านเป็นผู้ฉลาดในการสอนนางภิกษุณี มีเรื่องเล่าว่า นางมหาปชาบดีโคตมีได้พาภิกษุณี ๕๐๐ รูป มาฟังธรรม พระศาสดาจึงมอบให้ภิกษุเปลี่ยนกันแสดงธรรมแก่ภิกษุณี ภิกษุรูปอื่นแสดงธรรม ภิกษุณีทั้งหลายก็ไม่ได้บรรลุอะไร เมื่อถึงวาระของพระนันทกะแสดงธรรม ภิกษุณีเหล่านั้นจึงได้บรรลุอรหัตผล

เอตทัคคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยเหตุที่ท่านสามารถแสดงธรรมให้แก่ภิกษุณีทั้งหลายได้บรรลุอรหัตผลนี้เอง จึงได้ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทแก่นางภิกษุณี

บุญญาธิการ แม้พระนันทกเถระนี้ ก็ได้สร้างความดีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน จนถึงกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทนางภิกษุณี จึงทำความดีแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น อันพระศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะได้สมประสงค์ในสมัยพระพุทธองค์ทรงพระนามว่าโคดม และก็ได้สมจริงทุกประการ

ธรรมวาทะ ม้าอาชาไนยชั้นดีพลาดล้มลงไป ยังกลับลุกขึ้นยืนใหม่ได้ ครั้นได้ความสลดใจ ไม่ย่อท้อ ย่อมแบกภาระได้หนักยิ่งขึ้นอีก ฉันใด ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้า ว่าเป็นบุรุษชาติอาชาไนย ฉันนั้น เหมือนกัน

การนิพพานของพระนันทกเถระ ได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของตน แล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ดำรงพระพุทธศาสนา อยู่มาตามสมควรแก่เวลาของท่าน สุดท้ายได้ปรินิพพานจากไป

--------------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

คณาจารย์เลี่ยงเชียงจงเจริญ. วิชาอนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ ฉบับสมบูรณ์, พ.ศ.๒๕๔๓.

https://sites.google.com/site/dmamatri/

 

 

 

ประวัติ พระขทิรวนิยเรวตเถระ

 


ประวัติ พระขทิรวนิยเรวตเถระ

พระขทิรวนิยเรวตเถระ นามเดิม เรวตะ แต่เมื่อบวชแล้วท่านพำนักอยู่ในป่าไม้ตะเคียน จึงมีชื่อว่า ขทิรวนิยเรวตะ บิดาชื่อ วังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อ นางสารีพราหมณี เกิดที่บ้านนาลันทา แคว้นมคธ เป็นคนวรรณะพราหมณ์ ชีวิตก่อนบวชของ เรวตะ เป็นบุตรชายคนเล็กของครอบครัว เหลืออยู่คนเดียว ส่วนคนอื่นบวชกันหมดแล้ว บิดาและมารดาจึงหาวิธีผูกมัด โดยจัดให้แต่งงานตั้งแต่มีอายุได้ ๘ ขวบ

มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา ครั้นถึงวันแต่งงาน บิดาและมารดาแต่งตัวให้เรวตะอย่างภูมิฐาน นำไปยังบ้านของนางกุมาริกา ขณะทำพิธีมงคลสมรสรดน้ำสังข์ ได้นำญาติผู้ใหญ่ทั้ง ๒ ฝ่ายไปอวยพร ถึงลำดับยายแห่งนางกุมาริกา ซึ่งมีอายุ ๑๒๐ ปี เข้ามาอวยพร คนทั้งหลายให้พรคู่สมรสทั้งสองว่า ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืนเหมือนกับยายนี้ เรวตะได้ฟังดังนั้น มองดูคุณยาย ผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยว หลังโกง เนื้อตัวสั่นเทา รู้สึกสลดใจกับการที่ตนเองจะต้องอยู่ในสภาพเช่นนั้นในวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อเสร็จพิธีญาติจึงพาเขากลับบ้าน ในระหว่างทางเขาได้หาอุบายหนีไปยังสำนักของภิกษุผู้อยู่ป่า ขอบรรพชากับท่าน ภิกษุนั้นก็จัดการบวชให้ เพราะพระสารีบุตรได้สั่งไว้ว่า ถ้าน้องชายของท่านมาขอบวชให้บวชได้เลย เพราะโยมบิดา และมารดาของท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิ

การบรรลุธรรม สามเณรเรวตะ ครั้นอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ เรียนกรรมฐานในสำนักอุปัชฌาย์อาจารย์แล้ว ได้ไปอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน บำเพ็ญเพียรภาวนา ในไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์

งานประกาศพระศาสนา พระเรวตเถระนี้ แม้ตำนานไม่ได้กล่าวว่า ท่านได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกก็ตาม แต่ปฏิปทาเกี่ยวกับการอยู่ป่าของท่าน ก็นำมาซึ่งความเลื่อมใสของผู้ที่ได้รู้จักในสมัยนั้น และได้ศึกษาประวัติของท่านในภายหลังต่อมา แม้แต่องค์พระศาสดาและมหาสาวกยังไปเยี่ยมท่านถึงป่าไม้ตะเคียนที่ท่านจำพรรษาอยู่

เอตทัคคะ เพราะท่านพระขทิรวนิยเรวตเถระนี้ ชอบอาศัยอยู่ในป่า องค์พระศาสดาจึงทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า

บุญญาธิการ แม้พระขทิรวนิยเรวตเถระนี้ ก็ได้เห็นพระปทุมุตตรศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า สนใจอยากได้ตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง จึงได้สร้างกุศลมีทานเป็นต้น อันพระทศพลทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จแน่นอน ในกาลแห่งพระสมณโคดม จึงได้สร้างสมความดีอีกช้านาน แล้วได้สมดังปณิธานที่ตั้งไว้ทุกประการ

ธรรมวาทะ ตั้งแต่อาตมภาพ สละเรือนออกบวช ยังไม่เคยรู้จักความคิดอันเลวทราม ประกอบด้วยโทษ ไม่เคยรู้จักความคิดว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงเดือดร้อน จงถูกฆ่า จงประสบความทุกข์ อาตมภาพรู้จักแต่การเจริญเมตตาจิต อย่างหาประมาณมิได้ ซึ่งอาตมภาพค่อย ๆ สะสมมาโดยลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้

การนิพพานของพระขทิรวนิยเรวตเถระ ครั้นสำเร็จพระอรหัตผลแล้ว ได้ปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชนตามสมควรแก่เวลา แล้วได้นิพพานจากไปตามสัจธรรมของชีวิต

------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

คณาจารย์เลี่ยงเชียงจงเจริญ. วิชาอนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ ฉบับสมบูรณ์, พ.ศ.๒๕๔๓.

https://sites.google.com/site/dmamatri/

 

 

 

 

 

 

ประวัติ พระโกณฑธานเถระ

 


ประวัติ พระโกณฑธานเถระ

พระโกณฑธานเถระ นามเดิม ธานะ ต่อมามีภาพลวงตาเป็นสตรีติดตามท่าน เพราะผลบาปในชาติก่อนภิกษุ และสามเณรทั้งหลายเห็นภาพนั้นเป็นประจำจึงตั้งชื่อท่านเพิ่มว่า กุณฑธานะ คำว่า กุณฑะ แปลว่า เหี้ย บิดา และมารดาไม่ปรากฏนาม เป็นคนวรรณะพราหมณ์ ชาวเมืองสาวัตถี ชีวิตก่อนบวชของธานมานพ ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากบิดา และมารดา ต่อมาครั้นเติบโตควรแก่การศึกษา จึงได้ศึกษาตามลัทธิพราหมณ์ เขาเรียนจบไตรเพท หลังจากเรียนจบแล้วก็ไม่ได้ตั้งตัวเป็นอาจารย์สอนใคร

มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา ครั้นอายุย่างเข้าปัจฉิมวัย เขาไปฟังธรรมของพระศาสดาเป็นประจำเกิดศรัทธาอยากบวชในพระพุทธศาสนา จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระพุทธองค์ ซึ่งก็ทรงประทานให้ตามปรารถนา ตั้งแต่วันที่ท่านบวชแล้ว เพราะบาปกรรมในชาติก่อนของท่าน เวลาท่านอยู่ที่วัดก็ดี เข้าบ้านเช่น ไปบิณฑบาตก็ดี จะมีคนเห็นภาพสตรีคนหนึ่งตามหลังท่านไปเสมอ แต่ตัวท่านเองไม่ทราบ และไม่เคยเห็นสตรีนั้นเลย เวลาคนใส่บาตรบางคนก็บอกว่า ส่วนนี้ของท่าน ส่วนนี้สำหรับหญิงสหาย

พระภิกษุ และสามเณรก็เห็นภาพนั้นเป็นประจำ วันหนึ่งพากันไปล้อมกุฏิของท่าน พูดเยาะเย้ยว่า พระธานะมีเหี้ยเกิดแล้ว ท่านอดกลั้นไว้ไม่อยู่จึงได้ตอบโต้ไปว่า พวกท่านก็เป็นเหี้ย ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจึงไปฟ้องพระพุทธเจ้าๆ ตรัสเรียกท่านไปพบแล้วแสดงธรรมว่า เธออย่ากล่าวคำหยาบต่อใครๆ เพราะผู้ที่ถูกเธอด่า ย่อมด่าตอบเธอบ้าง จะกลายเป็นการแข่งดีกันไป (สุดท้าย) ก็จะมีการทำร้ายกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ท่านลำบากใจ และลำบากเรื่องอาหารบิณฑบาตมาก ต่อมามีการพิสูจน์ความจริง โดยมีพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นประธาน ทรงเห็นว่าเป็นเรื่องไม่จริง เป็นเรื่องเวรกรรมของท่านๆ จึงได้รับความอุปถัมภ์จากพระราชา เมื่อท่านได้ความอุปถัมภ์จากพระราชา ได้อาหารเป็นที่สัปปายะ พากเพียรภาวนาเจริญวิปัสสนาไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับอภิญญา ๖

งานประกาศพระพุทธศาสนาของพระโกณฑธานเถระนี้ บวชเมื่อมีอายุมากแล้ว คงไม่มีกำลังช่วยประกาศพระศาสนาได้มากนัก แต่บาปกรรมที่ท่านได้ทำเอาไว้ในชาติหนึ่ง น่าจะเป็นคติสอนใจคนในภายหลังได้ จะกล่าวพอได้ใจความดังนี้ ในกาลแห่งพระกัสสปทศพล เขาได้เกิดเป็นภุมเทวดาเห็นพระเถระ ๒ รูป รักใคร่กันมาก อยากจะทดลองว่า รักกันจริงแค่ไหน ในวันอุโบสถวันหนึ่ง ทั้งสองรูปนั้นเดินทางไปลงอุโบสถ ระหว่างทางรูปหนึ่งเข้าไปทำธุระส่วนตัว ณ พุ่มไม้แห่งหนึ่ง เสร็จแล้วก็เดินออกมา เทวดานั้นได้แปลงกายเป็นหญิงสาวสวยเดินตามหลังออกมา พร้อมทำท่านุ่งผ้า เกล้าผม และปัดฝุ่นตามตัว พระเถระผู้สหายเห็นเช่นนั้นก็โกรธด่าว่าต่างๆ นานา แม้อีกรูปจะชี้แจงว่า ผมไม่รู้ไม่เห็นอะไรอย่างที่ท่านพูดเลย ก็ไม่ยอมรับฟัง ตัดขาดไมตรีต่อกัน ไม่ยอมลงอุโบสถร่วมกัน

เทวดารู้สึกสลดใจ จึงแปลงเป็นอุบาสกเข้าไปเล่าเหตุการณ์ให้ฟังทั้งหมด ทำให้ พระเถระผู้สหายเข้าใจหายโกรธ แล้วกลับสามัคคีรักใคร่กันเหมือนเดิม เทวดานั้นได้ทำบาปนั้นไว้ จะไปเกิดในชาติใด ที่เป็นมนุษย์กรรมไม่ดีทั้งหลายก็จะตกมาถึงตน โดยที่ตนเองไม่รู้เรื่องเลย ในชาติสุดท้ายเกิดเป็นมนุษย์บวชในพระพุทธศาสนา ก็มีภาพลวงตาเป็นสตรีคอยติดตาม สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างมาก ดังกล่าวแล้ว เรื่องนี้ให้ความคิดทั้งแก่ผู้ทำกรรม และผู้จะลงโทษใครควรพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อนจึงค่อยทำ และค่อยลงโทษผู้อื่น

เอตทัคคะของพระโกณฑธานเถระเป็นผู้มีบุญในเรื่องของการจับสลากเพื่อไปในกิจนิมนต์ ท่านจะเป็นผู้ได้จับสลากก่อนเสมอ พระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้จับสลากก่อน

บุญญาธิการ แม้พระโกณฑธานเถระนี้ ก็ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าก่อนๆ หลายพระองค์ ในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้าเขาได้ไปฟังธรรม เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้จับสลากก่อน ปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้ทำบุญอันสมควรแก่ฐานันดร แล้วได้รับพยากรณ์จากพระศาสดาว่า จะได้สมประสงค์ในสมัยแห่งพุทธองค์พระนามว่า โคดม จึงได้สร้างสมบารมีตลอดมา ชาติสุดท้ายเขาได้สมปรารถนาตามพุทธวาจาทุกประการ

ธรรมวาทะ ผู้เห็นภัย ตัดบ่วงผูกเข้าเท้า ๕ อย่าง (สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕) แก้บ่วงผูกคอ ๕ อย่าง (สังโยชน์เบื้องสูง ๕) เจริญธรรม ๕ อย่าง (สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) พ้นกิเลสเครื่องข้อง ๕ อย่าง (ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ) ท่านเรียกว่า ผู้ข้ามพ้นห้วงกิเลส

การนิพพานของพระโกณฑธานเถระ ได้บรรลุผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา ดำรงชีวิตต่อมาจนถึงอายุขัย แล้วได้นิพพานจากไป เหมือนกับไฟที่หมดเชื้อแล้วดับไป

--------------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

คณาจารย์เลี่ยงเชียงจงเจริญ. วิชาอนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ ฉบับสมบูรณ์, พ.ศ.๒๕๔๓.

https://sites.google.com/site/dmamatri/

 

 

 

ประวัติ พระกุมารกัสสปเถระ

 

 


ประวัติ พระกุมารกัสสปเถระ

พระกุมารกัสสปเถระ นามเดิมว่า กัสสปะ เป็นนามที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตั้งให้ ต่อมาท่านบวชในพระพุทธศาสนา เวลาพระศาสดาตรัสเรียกภิกษุชื่อ กัสสปะ จะถูกทูลถามว่า กัสสปะไหน จึงตรัสว่า กุมารกัสสปะ เพราะท่านบวชมาตั้งแต่ยังเด็กๆ บิดา และมารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นชาวเมืองสาวัตถี มารดาของท่านศรัทธาจะบวชตั้งแต่ยังไม่ได้แต่งงาน แต่บิดาและมารดาไม่อนุญาต หลังจากแต่งงานแล้วขออนุญาตสามี ในที่สุดสามีอนุญาตให้บวช เธอจึงบวชเป็นภิกษุณีโดยไม่รู้ตัวว่า ตั้งครรภ์ ครั้นอยู่มาครรภ์ได้ใหญ่ขึ้น ภิกษุณีทั้งหลายรังเกียจเธอ จึงนำไปให้พระเทวทัตตัดสิน พระเทวทัตตัดสินว่า เธอศีลขาด แม้เธอจะชี้แจงเหตุผลอย่างไรก็ไม่ยอมรับฟัง ภิกษุณีทั้งหลายจึงพาไปเฝ้าพระศาสดาๆ ทรงมอบหมายให้อุบาลีเถระตัดสิน พระอุบาลีเชิญตระกูลใหญ่ๆ ชาวสาวัตถี และนางวิสาขามาพิสูจน์ได้ว่า นางตั้งครรภ์มาก่อนบวช ศีลของนางบริสุทธิ์

ชีวิตก่อนบวช นางภิกษุณีนั้นคลอดบุตรเป็นชาย หน้าตาน่ารัก ผิวพรรณดุจทองคำ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงให้เลี้ยงดูไว้ และทรงตั้งชื่อให้ว่า กัสสปะ อีกอย่างหนึ่ง คนทั้งหลายรู้จักท่านในนามว่า กุมารกัสสปะ เพราะเป็นเด็กที่พระราชาทรงชุบเลี้ยงอย่างราชกุมาร

มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อเขาเจริญวัยแล้ว พระราชาทรงประดับประดาเขาอย่างสมเกียรติ แล้วนำไปบวชยังสำนักของพระศาสดา ตั้งแต่ท่านบวชแล้ว ก็ได้เจริญวิปัสสนาและเรียนพุทธพจน์ แต่ไม่ได้บรรลุมรรคผลแต่อย่างใด

การบรรลุธรรม ครั้งนั้น สหายของท่านเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาส เห็นท่านลำบากในการเจริญวิปัสสนา จึงผูกปัญหา ๑๕ ข้อ แล้วบอกว่า นอกจากพระศาสดา ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหานี้ได้ รุ่งขึ้นท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามปัญหาเหล่านั้น พระศาสดาทรงแก้ให้ท่านจนถึงพระอรหัต พระเถระเรียนเองตามที่พระศาสดาตรัส เข้าไปยังป่าอัมพวัน เจริญวิปัสสนาไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต ที่จัดว่า เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์

งานประกาศพระศาสนาของพระกุมารกัสสปเถระ กล่าวธรรมกถาได้อย่างวิจิตร สมบูรณ์ด้วยอุปมาและเหตุผล เช่น การโต้ตอบกับพระเจ้าปายาสิผู้ไม่เชื่อว่า โลกอื่นมีจริง เป็นต้น

พระเจ้าปายาสิเห็นว่า นรกไม่มี เพราะไม่เคยเห็นญาติคนไหนตกนรกแล้วมาบอก พระเถระอุปมาว่า เหมือนคนทำความผิดร้ายแรง ถูกตัดสินจำคุกจะออกมานอกคุกได้อย่างไร

พระเจ้าปายาสิเห็นว่า สวรรค์ไม่มี เพราะไม่มีญาติที่ขึ้นสวรรค์กลับมาบอก พระเถระอุปมาว่า เหมือนคนพลัดตกลงไปในหลุมคูถ ครั้นขึ้นมาได้ ชำระร่างกายสะอาดแล้ว คงไม่มีใครอยากลงไปนอนในหลุมคูถอีก

พระเจ้าปายาสิตรัสว่า เคยฆ่าคนโดยเอาใส่ในหม้อ แล้วปิดฝาจนสนิทถมทั้งเป็นให้คนช่วยดูรอบๆ หม้อ ก็ไม่เห็นชีวะของผู้นั้นออกมา พระเถระอุปมาว่า เหมือนพระองค์เคยบรรทมหลับท่ามกลางผู้อารักขาและนางสนม แล้วทรงสุบินว่า เสด็จประพาสสถานที่ต่างๆ แต่ก็ไม่เคยมีใครเห็นชีวะของพระองค์ที่ออกไป

พระเจ้าปายาสิตรัสว่า เคยฆ่าคนโดยไม่ทำลายอินทรีย์ทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ครั้นเขาตายแล้ว ทรงตรวจดู ไม่พบว่า ทั้ง ๖ นั้นรู้สึกอะไรเลย พระเถระอุปมาว่า เหมือนคนเป่าสังข์ คนโง่ได้ยินเสียงสังข์ จึงมาขอดูเสียงของสังข์ ค้นหาอย่างไรก็ไม่พบเสียงในตัวสังข์ จึงบอกว่า สังข์ไม่มีเสียง

ยังมีเรื่องอีกมากมายที่แสดงถึงความฉลาดสามารถของพระกุมารกัสสปเถระ ในการอธิบายหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ท่านสามารถโต้ตอบกับผู้ที่มาโต้แย้งคัดค้านคำสอนได้อย่างดี จึงนับว่าเป็นกำลังที่สำคัญรูปหนึ่งในการประกาศพระพุทธศาสนา

เอตทัคคะ เพราะพระกุมารกัสสปเถระ กล่าวธรรมกถาได้อย่างวิจิตรสมบูรณ์ด้วยการอุปมา และเหตุผล พระทศพลจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ใช้ถ้อยคำอันวิจิตร (กล่าวถ้อยคำที่ไพเราะ)

บุญญาธิการ แม้พระกุมารกัสสปเถระนี้ ก็ได้สร้างสมบุญญาธิการอันเป็นอุปนิสัยแห่งมรรคผลนิพพานมานาน ในพุทธกาลแห่งพระปทุมุตตระ ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้กล่าวถ้อยคำอันวิจิตร จึงได้ปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้สร้างสมความดีที่สนับสนุนเกื้อกูลแก่ความปรารถนามาตลอดเวลา แล้วได้มาสมความปรารถนาในสมัยพระศาสดาของเราทั้งหลายดังกล่าวแล้ว

ธรรมวาทะ เปรียบเหมือนชาย ๒ คน ชวนกันไปหาทรัพย์ ไปพบตะกั่วจึงห่อผ้านำไป ครั้นไปพบทอง ชายคนหนึ่งไม่ยอมทิ้งตะกั่วเพราะถือว่าหอบหิ้วมานานแล้ว อีกคนหนึ่ง ทิ้งตะกั่วเพราะรู้ว่ามีราคาน้อย แล้วห่อเอาทองไปเพราะรู้ว่ามีราคามาก เมื่อกลับไปถึงบ้าน คนที่นำห่อทองไปย่อมเป็นที่ชื่นชอบยินดีของครอบครัวและญาติมิตรมากว่าคนที่นำห่อตะกั่วไป ขอพระองค์ได้โปรดสละความเห็นผิดเดิมเสียเถิด

การนิพพานของพระกุมารกัสสปเถระ ครั้นอยู่จบพรหมจรรย์ของท่านแล้ว ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระศาสนา อยู่มาตามสมควรแก่เวลาของท่าน แล้วได้นิพพานจากโลกไป

----------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

คณาจารย์เลี่ยงเชียงจงเจริญ. วิชาอนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ ฉบับสมบูรณ์, พ.ศ.๒๕๔๓.

https://sites.google.com/site/dmamatri/

 

 

 

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

Amazing🤩 Our Second Day We Stay In The Deep Sea And Caught Lot Of Tuna F...#HTML