ไวพจน์ของนิพพาน

 

ไวพจน์ของนิพพาน

คำว่า “ไวพจน์” มาจากภาษาบาลีว่า “เววจน” แปลว่า คำที่มีรูปต่างกันเหมือนกัน แต่ความหมายเหมือนกัน ....(พระอุดมคณาธิการ (ชวินทร์  สระดำ), รศ.ดร.จำลอง  สารพัดนึก. 2530 : 775)

 

ไวพจน์ของนิพพานและความหมาย

ไวพจน์ของนิพพานและความหมาย

๑. นิพฺพาน ออกจากเครื่องร้อยรัด คือ ตัณหา

๒. อชาตํ ไม่เกิด

๓. อนุตฺตรํ ไม่มีอะไรยิ่งกว่า

๔. โยคกฺเขมํ ธรรมอันเกษมจากโยคะ

๕. อชรํ ไม่แก่

๖. อพฺยาธิ อัศจรรย์

๗. อมตํ ไม่ตาย

๘. อโสกํ ไม่มีความโศก

๙. อกิสิฏฺฐํ ไม่เศร้าหมอง

๑๐. สนฺติวรปทํ ทางสงบระงับอันประเสริฐ[1]

๑๑. คมฺภีโร ลุ่มลึก

๑๒. ทุทโส เห็นได้โดยยาก

๑๓. ทุรนฺโพโธ รู้ตามได้ยาก

๑๔. สนฺโต เป็นธรรมสงบ

๑๕. ปณีโต เป็นธรรมประณีต

๑๖. อตกฺกาวจโร อันความตรึกหยั่งไม่ถึง(คิดเอาไม่ได้)

๑๗. นิปฺโณ เป็นธรรมละเอียด

๑๘. ปณฺฑิตเวทนีโย รู้ได้แต่บัณฑิต

๑๙. สพฺพสงฺขารสมโถ เป็นธรรมที่สงบสังขารทั้งปวง

๒๐. สพฺพูปธิปฏินิสฺสตฺโต เป็นธรรมสลัดอุปธิทั้งปวง

๒๑. ตณฺหกฺขโย เป็นที่สิ้นตัณหา

๒๒. วิราโค ความสิ้นราคะ

๒๓. นิโรโธ ความดับ

๒๔. ปฏิโสตคามี ความทวนกระแสโลก[2]

๒๕. สีติภูโต เป็นธรรมเย็น

๒๖. นิพฺพุโต ดับกิเลส

๒๗. วิมุตฺโต พ้นจากกิเลส

๒๘. อนูปวิตฺโต เป็นธรรมอันตัณหาไม่ติด

๒๙. อนนุตชิโน เป็นธรรมที่ชนะอันยิ่งใหญ่[3]

๓๐. อสงฺขตํ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง [4](ไม่มีราคะ,โทสะ,โมหะ)

๓๑. อนตํ ที่สุด[5] (ไม่มีตัณหาเครื่องร้อยรัด)

๓๒. อนาสวํ ธรรมอันหาอาสวะมิได้(ไม่มีอาสวะ)

๓๓. สจฺจํ ธรรมที่จริงแท้(เป็นปรมัตถะสัจจ์)

๓๔. ปารํ ธรรมอันเป็นฝั่ง(ฝั่งตรงข้าม)

๓๕. ธุวํ ธรรมอันเป็นยั่งยืน มั่นคง

๓๖. อปโลกินํ ธรรมอันไม่ทรุดโทรม

๓๗. อทิสฺสนํ ธรรมไม่เห็นด้วยจักขุวิญญาณ(ไม่เห็นด้วยตา)

๓๘. นิปฺปปญฺจํ ธรรมอันไม่มีกิเลสเครื่องให้เนิ่นช้า(ไม่มีเครื่องถ่วง)

๓๙. สิวํ ธรรมอันเยือกเย็น

๔๐. เขมํ ธรรมอันปลอดภัย

๔๑. อจฺฉริยํ ธรรมอันอัศจรรย์

๔๒. อพฺภูตํ ธรรมอันไม่เคยมีเคยเป็น(ไม่เกิด)

๔๓. อนีติกํ ไม่มีทุกข์

๔๔. อนีติกธมฺมํ ธรรมอันหาทุกข์มิได้

๔๕. อพฺยาปชฺฌํ ธรรมอันหาความเบียดเบียนมิได้

๔๖. สุทฺธิ ความบริสุทธิ์

๔๗. อนาลโย ธรรมอันหาความอาลัยมิได้

๔๘. ทิปํ ที่พึ่ง

๔๙. เลณํ ที่หลีกเร้น

๕๐. ตาณํ ที่ต้านทาน

๕๑. อชชฺชรํ ไม่คร่ำคร่า

๕๒. สรณํ เป็นที่กำจัดภัย[6]

๕๓. ปรายนํ ธรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้า[7] (ฝั่งอื่น)

๕๔. มทนิมฺมทโน ธรรมอันย่ำยีความเมา

๕๕. ปิปาสวินโย ธรรมเครื่องกำจัดความกระหาย

๕๖. อาลยสมุคฺฆาโต ความถอนเสียซึ่งความอาลัย

๕๗. วฏฺฏปจฺเฉโท ความเข้าไปตัดวัฏฏะ[8]

๕๘. สนฺทิฏฐิโก ธรรมที่บุคคลพึงเห็นได้เอง

๕๙. อากาลิโก เป็นธรรมที่ไม่ประกอบด้วยกาล

๖๐. เอหิปสฺสสิโก เป็นธรรมที่ควรเรียกให้มาดู

๖๑. โอปนยิโก เป็นธรรมที่ควรน้อมเข้าในตน

๖๒. ปจฺจตฺตํ เป็นธรรมที่วิญญูพึงรู้แจ้งได้เฉพาะตน[9]

๖๓. ทุกฺกรํ เป็นสมณธรรมอันบุคคลทำได้ยาก

๖๔. ทุลฺลภํ เป็นธรรมที่ได้โดยยาก

๖๕. ทุกฺกโม เป็นธรรมที่ไปยาก

๖๖. สโม เป็นทางที่เสมอสำหรับพระอริยะเจ้า[10]

๖๗. วิรชํ เป็นธรรมที่ปราศจากธุลี

๖๘. อกมฺปกา ไม่หวั่นไหว[11]

๖๙. อสฺพาโธ ไม่คับแคบ

๗๐. อเวโร ไม่มีเวร

๗๑. อสปตฺโต ไม่มีศัตรู[12]

๗๒. อนาตฺรา ไม่มีความเร่าร้อน

๗๓. อนุสฺสุกา ไม่มีความขวนขวาย

๗๔. อกิญฺจนํ ไม่มีกิเลสชาติเครื่องกังวล

๗๕. อุปสนฺโตเป็นธรรมที่เข้าไปสงบ

๗๖. สนฺติปรํ ยิ่งกว่าความสงบ

๗๗. ปรมสุขํ สุขอย่างยิ่ง

๗๘. อาโรคฺยา ไม่มีโรค

๗๙. นิปฺปโป ไม่มีบาป[13]

๘๐. อนกฺขาตํ บอกกันไม่ได้(ต้องปฏิบัติเอง)

๘๑. อุทฺธํโสโต มีกระแสในเบื้องบน[14]

๘๒. อหีสกา ไม่มีการเบียดเบียน

๘๓. อุจฺจตํ สถานที่ไม่มีจุติ

๘๔. อตฺถํ ความไม่มี(ไม่มีอาสวะ)[15]

๘๕. อนงฺคโณ ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน[16]

๘๖. วนฺตมโล มีมลทินอันคลาย[17]

๘๗. อนีโฆ ไม่มีทุกข์[18]

๘๘. ขีณาพีชา มีพีชสิ้นแล้ว[19]

๘๙. ปารคู ผู้ถึงฝั่ง[20]

๙๐. วิโมกฺโข ความหลุดพ้น[21]

๙๑. อุชู เที่ยงตรง[22]

๙๒. ถาวโร มั่นคง[23]

๙๓. อปฺปมาโณ ไม่มีประมาณ[24]

๙๔. อรูโป ไม่มีรูป[25]

๙๕. ตาทิโส คงที่[26]

๙๖. อเนโช ไม่หวั่นไหว[27]

๙๗. นิราโส หมดความหวัง[28]

๙๘. อนุปาทา ไม่ยึดมั่น[29]

๙๙. อภิภูโต ครอบครัว[30]

๑๐๐. อุปธิวิเวโก สงัดจากตัณหาเครื่องร้อยรัด[31]

 

ภิกษุ ท. เราจักแสดง ซึ่ง นิพพาน แก่พวกเธอทั้งหลาย, พวกเธอทั้งหลาย จงฟังความข้อนั้น.

ภิกษุ ท. นิพพาน เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ความสิ้นไปแห่งราคะ, ความสิ้นไปแห่งโทสะ, ความสิ้นไปแห่งโมหะ, อันใด ;

ภิกษุ ท. อันนี้แล เราเรียกว่า นิพพาน.

 

- สฬา. สํ. ๑๘/๔๕๒/๗๔๑

 (พระพรหมคุณาภรณ์  ปยุตฺโต, ๒๕๔๙. พุทธธรรมกับปรัชญาการศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์. นนทบุรี : เอส อาร์ พริ้นติ้ง.หน้า ๒๓๔-๒๓๕.อ้างใน พระครูสุธรรมนาถ  ศรีศรทอง. การวิเคราะห์บริบทของอนัตตาที่เป็นปัจจัยให้บรรลุนิพพาน : กรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก. มหาวิทยาลัยศิลปากร,๒๕๕๑. หน้า ๒๗-๒๘.)

พระอุดมคณาธิการ (ชวินทร์  สระดำ), รศ.ดร.จำลอง  สารพัดนึก.  พจนานุกรมบาลีไทย ฉบับนักศึกษา, 2530.พิมพ์ครั้งที่ 2 ,กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ประเภทของนิพาน

พระพรหมคุณาภรณ์  ปยุตฺโต (๒๕๔๙ : ๒๖๒) ได้จำแนกประเภทของนิพพานไว้ดังนี้

จำแนกตามอุปาทิ (ขันธ์ ๕)

๑. สอุปาทิเสสนิพพาน = นิพพานธาตุมีอุปาทิ (มีขันธ์ ๕) เหลือ

๒. อนุปาทิเสสนิพพาน = นิพพานธาตุไม่มีอุปาทิ (ไม่มีขันธ์ ๕) เหลืออยู่

ประเภทและระดับของผู้บรรลุนิพพาน

๑. เพราะสำรอกอวิชชา ได้ชื่อว่า ปัญญาวิมุตติ

๒. เพราะสำรอกราคะ ได้ชื่อว่า เจโตวิมุตติ

ในอรรถกถาจัดเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. ปัญญาวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยปัญญา

๒. เจโตวิมุตติ ความหลุดพ้นแห่งจิตจากราคะ

ผู้ได้ทั้ง ปัญญาวิมุตติและเจโตวิมุตติ เรียกว่า อุภโตภาควิมุตติ

ในอรรถกถายังจัดเป็น ๔ ประเภท คือ

๑. สุขวิปัสสโก มีสุขแบบแห้งแล้ง

๒. เตวิชโช ได้วิชชา ๓ คือ

๒.๑ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้

๒.๒ จุตูปปาตญาณ รู้ความเกิดและดับของสัตว์

๒.๓ อาสวักขยญาณ รู้ความที่อาสวะสิ้นไป

๓. ฉฬภิญโญ ได้อภิญญา ๖ คือ

๓.๑ อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้

๓.๒ ทิพพโสต หูทิพย์

๓.๓ เจโตปริยญาณ กำหนดใจคนอื่นได้

๓.๔ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้

๓.๕ ทิพพจักษุ ตาทิพย์

๓.๖ อาสวักขยญาณ ทำให้อาสวะสิ้นไป

๔. ปฏิสัมภิทัปปัตโต ได้ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือ

๔.๑ อัตถปฏิสัมภิทา มีความแตกฉานในเรื่องเหตุ

๔.๒ ธัมมปฏิสัมภิทา มีความแตกฉานในเรื่องผล

๔.๓ นิรุตติปฏิสัมภิทา มีความแตกฉานในเรื่องภาษา

๔.๔ ปฏิภานปฏิสัมภิทา มีความแตกฉานในปฏิภาน

ลักษณะสำคัญ ๓ อย่างแห่งนิพพาน

๑. ดับอวิชชา (ความไม่รู้) เพราะดับอวิชชาสังโยชน์ (เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ คือ ความไม่รู้) ได้จึงกล่าวได้ว่า นิพพาน

๒. ดับกิเลส กิเลส คือ สังโยชน์นั้นต้องดับหมดจึงจะนิพพาน

๓. ดับทุกข์ เบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕ คือ ๑. รูป ๒. เวทนา ๓. สัญญา ๔. สังขาร ๕. วิญญาณ) เป็นทุกข์ ความยินดีในเบญจขันธ์เป็นสังโยชน์

สังโยชน์นั้นดับไป เบญจขันธ์จึงดับ

เบญจขันธ์ดับ ชื่อว่า ทุกข์ดับ

ความทุกข์ดับ ชื่อว่า นิพพาน

 

 

 

 

 

 

 

 



[1] ม.มู. 12/319/225, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[2] ม.มู 12/321/226, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[3] ม.มู. 12/325/229, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[4] สํ.ส. 18/674/362, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[5] สํ.ส. 18/720/370, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[6] สํ.ส. 18/721-750/370-373, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[7] สํ.ส. 18/75/373, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[8] องฺ. จตุกฺก. 21/34/34, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[9] สํ.ส. 15/865/264, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[10] สํ.ส. 15/232-235/56-60, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[11] ขุ.ขุ. 25/6/3, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[12] ขุ.ขุ. 25/10/9, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[13] ขุ.ธ. 25/25/29-30, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[14] ขุ.ธ. 25/26/30-31, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[15] ขุ.ธ. 25/27/31-32, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[16] ขุ.ธ. 25/28/32, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[17] ขุ.ธ. 25/29/34, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[18] ขุ.ธ. 25/31/37, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[19] ขุ.ขุ. 25/7/5, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[20] ขุ.อุ. 25/44/56, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[21] ขุ.ขุ. 25/15/15, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[22] ขุ.ขุ. 25/10/9, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[23] ขุ.ข. 25/10/9, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[24] องฺ. จตุ. 21/67/72, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[25] ขุ.อุ. 25/50/60, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[26] ขุ.อุ. 25/66/74, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[27] ขุ.อุ. 25/75/80, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[28] ขุ.อุ. 25/83/86, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[29] ขุ.อุ. 25/84/88, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[30] ขุ.อุ. 25/84/88, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

[31] ขุ.มหา. 29/33/25, พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง, 2525.

ศีล ๕หรือเบญจศีล

 


ศีล ๕หรือเบญจศีล

ปาณาติปาตา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ)

- เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งปวง รวมถึงการทำร้ายสัตว์ หรือมนุษย์ด้วย แม้แต่คิด หรือวางแผน ก็ถือว่าผิดศีลข้อนี้แล้ว

อทินฺนาทานา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ)

- เว้นจากการลักทรัพย์ เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ รวมถึงการเบียดบัง ฉ้อราษฎร์บังหลวง เอาเปรียบคนอื่นด้วย แม้แต่คิด หรือวางแผน ก็ถือว่า ผิดศีลข้อนี้แล้ว

กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ)

- เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ข้อนี้เพียงแค่คิดก็ผิดแล้ว

มุสาวาทา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ)

- เว้นจากการพูดเท็จ คำหยาบ หรือพูดส่อเสียด รวมถึงการพูดให้คนแตกสามัคคีกันด้วย

สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ)

- เว้นจากการดื่มน้ำเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท...

เบญจศีล

การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น จำเป็นที่แต่ละคน ซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมจะต้องทำตนให้เป็นคนเต็มคน ที่เรียกว่า เป็นมนุษย์หรือเป็นคน ๑๐๐% เพื่อให้การอยู่ร่วมกันดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย มีความสงบสุข เกิดศานติสุข ไม่มีเวรภัยต่อกันและกันหลักธรรมที่จะทำคนให้เป็นให้เต็มคนอันยังผลให้การอยู่ร่วมกันมีความสุขมีความสงบสุขนั้นก็คือ เบญจศีลเบญจธรรม อันได้แก่

เบญจศีล แปลว่า ศีล ๕ ได้แก่..

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่า การเบียดเบียน การทำร้ายร่างกายคนและสัตว์ แล้วมีจิตใจประกอบด้วยเมตตากรุณา มีความปรารถนาดี และสงสารเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสัตว์อื่น

๒. อทินนาทานา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมยหรือโจร อันได้แก่ ลัก ฉก ชิง วิ่งราว ขู่กรรโชก ขู่เข็ญ ปล้น จี้ ตู่ ฉ้อโกง หลอก ลวง ปลอม ตระบัด เบียดบัง สับเปลี่ยน ลักลอบ ยักยอก และรับสินบน แล้วเป็นผู้มีความขยันประกอบสัมมาชีพ บริจาคทาน และเคารพในกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น

๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

บุคคลต้องห้ามสำหรับฝ่ายชาย คือ

(๑) ภรรยาคนอื่น

(๒) ผู้หญิงที่ยังอยู่ในความอุปการะของผู้อื่น (ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอยู่)

(๓) ผู้หญิงที่จารีตต้องห้าม (แม่ ย่า ยาย พี่สาว น้องสาว ลูกสาว ชี หญิงผู้เยาว์

บุคคลที่ต้องห้ามสำหรับฝ่ายหญิง คือ

(๑) สามีคนอื่น

(๒) ชายจารีตต้องห้าม (พ่อ ปู่ ตา พี่ชาย น้องชาย ลูกชาย พระภิกษุ สามเณร ชายผู้เยาว์)

ทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงไม่ใช่เฉพาะ ห้ามแต่ร่วมสังวาสเท่านั้น แม้แต่การเคล้าคลึง การพูดเกี้ยวพาราสี หรือการแสดงอาการ ปฏิพัทธ์แม้แต่ด้วยสายตาเนตรสบเนตร เป็นต้น ก็ชื่อว่า การละเมิดศีลข้อนี้แล้ว เมื่อไม่ล่วงละเมิดศีลข้อนี้แล้วเป็นผู้สำสวมในกามยินดีแต่ในภรรยาของตนเท่านั้น (สทารสันโดษ) จงรักภักดีแต่ในสามีของตน (ปติวัตร) ถ้ายังไม่ได้แต่งงานก็ต้องมีกามสังวร ตั้งตนอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม มีวัฒนธรรมอันดีชนิดที่ว่า เข้าตามตรอกออกตามประตู

๔. มุสาวาทา เวรมณี เจตนาเป็นเครืองงดเว้นจากการพูดเท็จ อันได้แก่คำปด ทวนสาบาน ทำเล่ห์กระเท่ห์ มารยา ทำกิเลส เสริมความสำรวมคำพูดเสียดแทง สับปลับ ผิดสัญยา เสียสัตย์ และคืนคำ แล้ว เป็นผู้รักสัจจะจะพูดแต่คำสัตย์จริงด้วยความจริงใจและปรารถนาดี มุ่งหวังดีต่อผู้ฟัง

๕. สุราเมรยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ได้แก่ น้ำสุรา เมรัย เครื่องดื่มมึนเมาอื่นๆ และการเสพยาเสพติดอื่นๆ เช่น ฝิ่น เฮโรอีน กัญชา ยาบ้า หรือแม้แต่บุหรี่ แล้วเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะในการประกอบกิจการทั้งปวง และเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตในการงาน ในวัย ในเพศ

ผู้จะเป็นคนเต็มคน คือ ๑๐๐% จะต้องเป็นผู้มีการดำเนินชีวิตประจำวันที่ประกอบด้วยเบญจศีลเบญจธรรมทั้ง ๕ ประเด็นดังกล่าวแล้ว ถ้าขาด ๑ ประเด็นก็เป็นคนเพียง ๘๐ % หรือขาด ๒ ประเด็นก็เป็นคนเพียง ๖๐ % เป็น นับว่าเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน มุ่งเน้นให้พุทธศาสนิกชนได้ประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อความเป็นมนุษย์อันจะได้เป็นสมาชิกที่ของสังคม ความสงบสุขในสังคมแต่ละวันจะเกิดขึ้นได้ก็อาศัยหลักมนุษยธรรม หรือ แต่ละคนเป็นคนเต็มคนนั่นเอง

---------------------------------------------------

 

 

 

 

 

ประวัติ พระปิลินทวัจฉเถระ

 



ประวัติ พระปิลินทวัจฉเถระ

พระปิลินทวัจฉเถระ นามเดิม ปิลินทะ วัจฉะเป็นชื่อของโคตรต่อมาได้ชื่อว่า ปิลินทวัจฉะ โดยนำเอาชื่อโคตรไปรวมด้วย บิดา และมารดาเป็นพราหมณ์ไม่ปรา
กฏนาม เป็นชาวเมืองสาวัตถี ชีวิตก่อนบวช ก่อนที่จะมาบวชในพระพุทธศาสนา ท่านเป็นผู้ที่มากไปด้วยความสังเวช (ความสลดใจที่ประกอบกับโอตตัปปะ) จึงบวชเป็นปริพาชก สำเร็จวิชา ๓ ชื่อว่า จูฬคันธาระ เหาะเหินเดินอากาศได้และรู้ใจของผู้อื่น มีลาภและยศมาก อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์

มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อพระศาสดาของเราทั้งหลายได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จไปประทับในเมืองราชคฤห์ อานุภาพแห่งวิชาของเขาก็เสื่อมไป ลาภยศของเขาก็หมดไปด้วย เขาคิดว่า พระสมณโคดมต้องรู้คันธารวิชาอย่างแน่นอน จึงไปยังสำนักของพระศาสดาขอเรียนวิชา พระศาสดาตรัสว่า ท่านต้องบวชในสำนักของเราจึงจะเรียนได้ เขาก็ยอมบวชตามพระพุทธดำรัส

การบรรลุธรรม เมื่อท่านบวชแล้ว พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขา และได้ประทานกรรมฐานอันสมควรแก่จริยา เพราะท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยที่สมบูรณ์ เริ่มตั้งความเพียรในกรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

งานประกาศพระศาสนา เพราะผู้ที่ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านสมัยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ได้ไปเกิดเป็นเทวดามากมาย เทวดาเหล่านั้นอาศัยความกตัญญู มีความนับถือท่านมาก เข้าไปหาท่านทั้งเช้าเย็น แต่ท่านมักจะมีปัญหากับภิกษุ และชาวบ้าน เพราะท่านชอบใช้วาจาไม่ไพเราะ ต่อมาพระศาสดาทรงแก้ไขให้ทุกคนเข้าใจ ก็ไม่มีใครถือสากลับศรัทธาเลื่อมใสยิ่งขึ้น ท่านเป็นพระที่มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ เล่ากันว่า ชายคนหนึ่งถือถาดดีปลีมา ท่านถามว่า ถาดอะไรไอ้ถ่อย ชายคนนั้นโกรธ คิดว่า พระอะไรพูดคำหยาบ จึงตอบไปว่า ถาดขี้หนู พอผ่านท่านไปดีปลีเป็นขี้หนูจริงๆ ต่อมามีคนแนะนำเขาว่า ให้เดินสวนทางกับท่านใหม่ ถ้าท่านถามอย่างนั้น จงตอบท่านว่า ดีปลี ก็จะกลายเป็นดีปลีดังเดิม เขาได้ทำตามคำแนะนำ ปรากฏว่า มูลหนูกลับเป็นดีปลีดังเดิม

เอตทัคคะก็เพราะเทวดาผู้ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านในชาติก่อน แล้วเกิดในสวรรค์เป็นอันมาก เทวดาเหล่านั้นมีความกตัญญูมีความเคารพนับถือบูชา จึงมาหาท่านทั้งเช้าเย็น เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย

บุญญาธิการ แม้พระปิลินทวัจฉเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน ในกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดาได้เห็นพระองค์ทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศโดยเป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย จึงปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้บำเพ็ญบุญเป็นอันมาก ต่อมาได้รับพยากรณ์จากพระศาสดาแล้วได้สำเร็จดังประสงค์ ในสมัยแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ดังกล่าวแล้ว

ธรรมวาทะ การที่เรามาในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นการมาที่ดี ไม่ได้ปราศจากประโยชน์ การตัดสินใจบวชของเรา เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง บรรดาธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกไว้ เราได้บรรลุธรรมอันประเสริฐที่สุดแล้ว

การนิพพานของพระปิลินทวัจฉเถระ ครั้นดำรงเบญจขันธ์พอสมควรแก่กาล ก็ได้นิพพานดับไป โดยไม่มีอาลัย

-----------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

คณาจารย์เลี่ยงเชียงจงเจริญ. วิชาอนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ ฉบับสมบูรณ์, พ.ศ.๒๕๔๓.

https://sites.google.com/site/dmamatri/

 

 

ประวัติ พระนันทกเถระ

 

ประวัติ พระนันทกเถระ

พระนันทกเถระ นามเดิม นันทกะ บิดา และมารดา ไม่ปรากฏนาม เป็นพราหมณ์ ชาวเมืองสาวัตถี ชีวิตก่อนบวช พระนันทกเถระ อรรถกถาต่างๆ ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตฆราวาสของท่าน

มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา นันทกมาณพ ได้ยินกิตติศัพท์ของพระศาสดาว่า เป็นพระอระหันต์ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง ทรงแสดงธรรมไพเราะ ชี้แจงประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้าได้อย่างแจ่มแจ้ง วันหนึ่ง เมื่อมีโอกาสจึงไปเฝ้าพระศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนา เกิดศรัทธาปรารถนาจะบวช จึงทูลขอบวชกับพระพุทธองค์ๆ ได้ทรงบวชให้เขาตามความประสงค์

การบรรลุธรรมของพระนันทกเถระ ครั้นบวชแล้ว ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและพากเพียร ปฏิบัติ ในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นผู้ชำนาญในญาณระลึกรู้บุพเพนิวาส

งานประกาศพระศาสนา ในตำนานไม่ได้บอกว่าท่านได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกบ้าง บอกว่า ท่านเป็นผู้ฉลาดในการสอนนางภิกษุณี มีเรื่องเล่าว่า นางมหาปชาบดีโคตมีได้พาภิกษุณี ๕๐๐ รูป มาฟังธรรม พระศาสดาจึงมอบให้ภิกษุเปลี่ยนกันแสดงธรรมแก่ภิกษุณี ภิกษุรูปอื่นแสดงธรรม ภิกษุณีทั้งหลายก็ไม่ได้บรรลุอะไร เมื่อถึงวาระของพระนันทกะแสดงธรรม ภิกษุณีเหล่านั้นจึงได้บรรลุอรหัตผล

เอตทัคคะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยเหตุที่ท่านสามารถแสดงธรรมให้แก่ภิกษุณีทั้งหลายได้บรรลุอรหัตผลนี้เอง จึงได้ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทแก่นางภิกษุณี

บุญญาธิการ แม้พระนันทกเถระนี้ ก็ได้สร้างความดีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมานาน จนถึงกาลแห่งพระปทุมุตตรศาสดา ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ให้โอวาทนางภิกษุณี จึงทำความดีแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น อันพระศาสดาทรงพยากรณ์ว่าจะได้สมประสงค์ในสมัยพระพุทธองค์ทรงพระนามว่าโคดม และก็ได้สมจริงทุกประการ

ธรรมวาทะ ม้าอาชาไนยชั้นดีพลาดล้มลงไป ยังกลับลุกขึ้นยืนใหม่ได้ ครั้นได้ความสลดใจ ไม่ย่อท้อ ย่อมแบกภาระได้หนักยิ่งขึ้นอีก ฉันใด ขอท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้า ว่าเป็นบุรุษชาติอาชาไนย ฉันนั้น เหมือนกัน

การนิพพานของพระนันทกเถระ ได้บรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประโยชน์สูงสุดของตน แล้วได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้ดำรงพระพุทธศาสนา อยู่มาตามสมควรแก่เวลาของท่าน สุดท้ายได้ปรินิพพานจากไป

--------------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

คณาจารย์เลี่ยงเชียงจงเจริญ. วิชาอนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ ฉบับสมบูรณ์, พ.ศ.๒๕๔๓.

https://sites.google.com/site/dmamatri/

 

 

 

ประวัติ พระขทิรวนิยเรวตเถระ

 


ประวัติ พระขทิรวนิยเรวตเถระ

พระขทิรวนิยเรวตเถระ นามเดิม เรวตะ แต่เมื่อบวชแล้วท่านพำนักอยู่ในป่าไม้ตะเคียน จึงมีชื่อว่า ขทิรวนิยเรวตะ บิดาชื่อ วังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อ นางสารีพราหมณี เกิดที่บ้านนาลันทา แคว้นมคธ เป็นคนวรรณะพราหมณ์ ชีวิตก่อนบวชของ เรวตะ เป็นบุตรชายคนเล็กของครอบครัว เหลืออยู่คนเดียว ส่วนคนอื่นบวชกันหมดแล้ว บิดาและมารดาจึงหาวิธีผูกมัด โดยจัดให้แต่งงานตั้งแต่มีอายุได้ ๘ ขวบ

มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา ครั้นถึงวันแต่งงาน บิดาและมารดาแต่งตัวให้เรวตะอย่างภูมิฐาน นำไปยังบ้านของนางกุมาริกา ขณะทำพิธีมงคลสมรสรดน้ำสังข์ ได้นำญาติผู้ใหญ่ทั้ง ๒ ฝ่ายไปอวยพร ถึงลำดับยายแห่งนางกุมาริกา ซึ่งมีอายุ ๑๒๐ ปี เข้ามาอวยพร คนทั้งหลายให้พรคู่สมรสทั้งสองว่า ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืนเหมือนกับยายนี้ เรวตะได้ฟังดังนั้น มองดูคุณยาย ผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยว หลังโกง เนื้อตัวสั่นเทา รู้สึกสลดใจกับการที่ตนเองจะต้องอยู่ในสภาพเช่นนั้นในวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อเสร็จพิธีญาติจึงพาเขากลับบ้าน ในระหว่างทางเขาได้หาอุบายหนีไปยังสำนักของภิกษุผู้อยู่ป่า ขอบรรพชากับท่าน ภิกษุนั้นก็จัดการบวชให้ เพราะพระสารีบุตรได้สั่งไว้ว่า ถ้าน้องชายของท่านมาขอบวชให้บวชได้เลย เพราะโยมบิดา และมารดาของท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิ

การบรรลุธรรม สามเณรเรวตะ ครั้นอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ เรียนกรรมฐานในสำนักอุปัชฌาย์อาจารย์แล้ว ได้ไปอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน บำเพ็ญเพียรภาวนา ในไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์

งานประกาศพระศาสนา พระเรวตเถระนี้ แม้ตำนานไม่ได้กล่าวว่า ท่านได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกก็ตาม แต่ปฏิปทาเกี่ยวกับการอยู่ป่าของท่าน ก็นำมาซึ่งความเลื่อมใสของผู้ที่ได้รู้จักในสมัยนั้น และได้ศึกษาประวัติของท่านในภายหลังต่อมา แม้แต่องค์พระศาสดาและมหาสาวกยังไปเยี่ยมท่านถึงป่าไม้ตะเคียนที่ท่านจำพรรษาอยู่

เอตทัคคะ เพราะท่านพระขทิรวนิยเรวตเถระนี้ ชอบอาศัยอยู่ในป่า องค์พระศาสดาจึงทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า

บุญญาธิการ แม้พระขทิรวนิยเรวตเถระนี้ ก็ได้เห็นพระปทุมุตตรศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า สนใจอยากได้ตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง จึงได้สร้างกุศลมีทานเป็นต้น อันพระทศพลทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จแน่นอน ในกาลแห่งพระสมณโคดม จึงได้สร้างสมความดีอีกช้านาน แล้วได้สมดังปณิธานที่ตั้งไว้ทุกประการ

ธรรมวาทะ ตั้งแต่อาตมภาพ สละเรือนออกบวช ยังไม่เคยรู้จักความคิดอันเลวทราม ประกอบด้วยโทษ ไม่เคยรู้จักความคิดว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงเดือดร้อน จงถูกฆ่า จงประสบความทุกข์ อาตมภาพรู้จักแต่การเจริญเมตตาจิต อย่างหาประมาณมิได้ ซึ่งอาตมภาพค่อย ๆ สะสมมาโดยลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้

การนิพพานของพระขทิรวนิยเรวตเถระ ครั้นสำเร็จพระอรหัตผลแล้ว ได้ปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชนตามสมควรแก่เวลา แล้วได้นิพพานจากไปตามสัจธรรมของชีวิต

------------------------------------------------

เอกสารและสิ่งอ้างอิง

คณาจารย์เลี่ยงเชียงจงเจริญ. วิชาอนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ ฉบับสมบูรณ์, พ.ศ.๒๕๔๓.

https://sites.google.com/site/dmamatri/

 

 

 

 

 

 

โลกทัศน์ทางพุทธศาสนา

ยกยอ เหมาหลงน้ำยมบ้านดู่ ►Fishing lifestyle Ep.755#HTML